ฉบับที่ 274 สายการบินทำกระเป๋าพัง ทรัพย์สินเสียหาย

        เมื่อคุณโดยสารเครื่องบิน แล้วพอถึงที่หมายพบว่าสายการบินทำกระเป๋าเดินทางพังจากการขนส่ง สิ่งแรกที่ควรทำคือถ่ายรูปความเสียหายทั้งหมดไว้ และติดต่อเคาน์เตอร์สายการบินที่คุณเดินทางมา หรือเจ้าหน้าที่ของสนามบินเพื่อขอเอกสารบันทึกความเสียหายของกระเป๋าเก็บไว้เป็นหลักฐาน และรีบขอเคลมค่าเสียหายกับสายการบินทันที หรือเมื่อสะดวกหลังจากการเดินทาง แต่ก็ต้องเผื่อใจว่าค่าชดเชยที่สายการบินเสนอให้เบื้องต้นอาจดูไม่สมน้ำสมเนื้อกับความเสียหายที่เกิดขึ้น         คุณเจนเป็นคนหนึ่งที่เจอประสบการณ์สุดเซ็งแบบนี้เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2566 เธอเล่าว่าซื้อตั๋วเครื่องบินของสายการบินที่ให้บริการภายในประเทศแห่งหนึ่ง เส้นทางดอนเมือง-ร้อยเอ็ด ราคา 2,499 บาท และซื้อน้ำหนักสัมภาระเพิ่มอีกต่างหาก เดินทางจากสนามบินดอนเมืองตอน 11โมงเช้า มาถึงร้อยเอ็ดตอนเที่ยงครึ่ง ทุกอย่างดูราบรื่นดี แต่พอเธอเดินไปรับกระเป๋าสัมภาระของตัวเองก็ต้องถึงกับอึ้ง เมื่อเห็นกระเป๋าพังยับเยินเกินเยียวยา ทำให้เครื่องสำอางและน้ำหอมราคาแพงที่อยู่ในกระเป๋านั้นเละตุ้มเป๊ะหมด ตอนนั้นตกใจมาก จนเธอไม่ทันได้ฉุกคิดเลยว่าจะต้องถ่ายรูปความเสียหายเก็บไว้         คุณเจนรีบไปติดต่อแผนกเคลมกระเป๋าสัมภาระ เจ้าหน้าที่ได้เสนอทางเลือกให้ว่าจะรับเป็นค่าชดเชย 800 บาท หรือกระเป๋าผ้าใบใหม่ไป เมื่อเธอปฏิเสธเพราะคิดว่าข้อเสนอนี้ไม่เป็นธรรม เจ้าหน้าที่ก็ให้ถุงดำมาใส่สัมภาระแทน คุณเจนไม่พอใจในการบริการของสายการบินนี้อย่างมากและต้องการเรียกร้องค่าชดเชยที่เหมาะสม จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ ทางช่องทางไลน์ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการไขแก้ปัญหา         ในกรณีนี้ ถ้าผู้โดยสารทำประกันการเดินทาง หรือประกันกระเป๋าเดินทางไว้ ก็จะสามารถเคลมได้ตามเงื่อนไขของประกัน แต่คุณเจนไม่ได้ทำไว้ ทางมูลนิธิฯ จึงให้ส่งข้อมูลมาเพิ่มเติม ดังนี้         1.สรุปค่าเสียหายที่ต้องการเรียกร้องกับสายการบิน (ค่ากระเป๋า 5,000 บาท ค่าโหลดกระเป๋าที่ซื้อเพิ่ม 2,000 บาท ค่าเครื่องสำอางและน้ำหอม 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 22,000 บาท)         2.ภาพถ่ายสินค้าที่เสียหาย (ใช้ภาพสินค้าที่ได้ซื้อมาจากอินเตอร์เน็ต พร้อมราคาสินค้าก็ได้)         เมื่อมีข้อมูลครบ มูลนิธิฯ ได้ออกหนังสือถึงบริษัทสายการบินแห่งนี้ เพื่อขอให้พิจารณาชดเชยความ         เสียหายให้กับคุณเจนแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 คุณหมอเตือนภัย กล่องสวยซ่อนคม ชวนสังคมเรียกร้องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ปลอดภัย

...เช้าวันหนึ่งในห้องทำงาน คุณหมอแคนหยิบกล่องเหล็กลายน่ารักออกมาจากกระเช้าของขวัญ นึกชมว่ากล่องหนาดี ลายน่ารักน่าเก็บ ก่อนจะตัดสินใจเปิดออกดูว่าข้างในมีอะไร โดยไม่คาดคิดว่าจะโดนฝากล่องด้านในที่คมราวมีดคัตเตอร์นั้นบาดจนนิ้วโป้งขวาต้องพิการชั่วคราว...         ฉลาดซื้อฉบับนี้พาไปพบกับหมอแคนหรือผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงสายพิณ หัตถีรัตน์ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของเรื่องชวนหวาดเสียวนี้ ในฐานะผู้เสียหายที่พร้อมเปิดใจเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นเพื่อเตือนภัยผู้บริโภค และเรียกร้องให้ผู้ประกอบการเข้มงวดในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ปลอดภัยมากขึ้นด้วย   ตอนโดนบาดยังงงว่าบาดได้ยังไง         เช้าวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน หมอหยิบกล่องเหล็กใส่เครื่องดื่มซองที่เป็นสี่เหลี่ยมลายการ์ตูนน่ารักๆ มาเปิด เห็นฝาหนาๆ เหมือนจะปลอดภัย แต่ฝาที่ทำหนาๆ นี่คือเป็นสองชั้นที่งับกันอยู่ แล้วคงจะประกอบมาไม่ดี ฝาที่ดูหนาๆ นี้ไปติดกับตัวกล่องเอง จึงเปิดไม่ออก พอพยายามจะเปิด ฝามันเลยแยกออกจากกัน ฝาท่อนล่างก็สะบัดมาบาดนิ้วโป้งขวาเป็นแผล ตอนนั้นยังงงๆ อยู่ว่าบาดได้ยังไง แล้วก็เพิ่งมาเห็นว่าฝาชั้นล่างนี้คมบางเหมือนมีดเลย        ตอนแรกก็คิดว่าโดนบาดธรรมดา แผลประมาณ 1 เซนติเมตร ก็ไปล้างน้ำแล้วกดไว้ พอดีอยู่โรงพยาบาลก็เลยลงไปห้องพยาบาลทำแผล แล้วรีบไปตรวจคนไข้ครึ่งวันเช้าก่อน เสร็จแล้วก็ไปเปิดแผลดูว่าหายหรือยัง ปรากฏว่าเลือดก็ยังออกอยู่ เอ๊ะ ชักยังไง คราวนี้ไปห้องฉุกเฉินเลย คุณหมอมาตรวจ เลือดยังออกอยู่ แล้วพอกระดกปลายนิ้วไม่ได้ ก็เลยรู้ว่าเอ็นขาด ขาดเกือบ 90% เหลือติ่งอยู่นิดเดียว คุณหมอศัลกรรมพลาสติกก็มาเย็บเอ็นให้ หลังจากเย็บแล้วต้องให้เอ็นกระดกขึ้น ไม่ให้ขยับจนกว่าเอ็นจะติด จึงต้องใส่เฝือกนิ้วโป้งอยู่ 2 เดือน        จริงๆ อยากแนะนำว่าต่อไปถ้าใครโดนบาดในลักษณะแบบนี้ ให้สังเกตว่าหากเลือดไม่หยุด หรือกระดกนิ้วไม่ได้ ควรหาหมอเพื่อประเมินว่าแผลนั้นลึกขนาดไหน อย่าชะล่าใจ เพราะเห็นแค่แผลเล็กๆ แล้วปิดไว้เฉยๆ อาจช้าเกินไป ถ้าเกิดบาดลึกจนเอ็นขาด เอ็นจะหดแล้วเย็บไม่ได้         หลังจากถอดเฝือกออกแล้ว หมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูกับทางกายภาพบำบัด เขาก็มีวิธีรักษาหลายอย่าง มีอัลตราซาวด์เพื่อให้แผลไม่ตึงมากไป ทำเลเซอร์ที่ใต้ชั้นผิวหนังเพื่อไม่ให้พังผืดมาเกาะจนนิ้วขยับไม่ได้ ต้องมีแช่น้ำร้อน มีดัด ขยับข้อ หมอให้ทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ  2-3 ครั้งต่ออาทิตย์ ครั้งละราว 2 ชั่วโมง เจ็บนิ้วเดียว สะเทือนถึงงานและชีวิตหลายอย่าง         แคนเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัวค่ะ ตรวจคนไข้ทั่วไป แล้วช่วงนั้นโควิดกำลังระบาดพอดี ใครๆ ก็แบบว่ามะรุมมะตุ้ม แต่มือขวาเราใส่เฝือกอยู่ เขียนหนังสือไม่ได้เลย ไปโรงพยาบาลบ้างแต่ว่าตรวจคนไข้ไม่ได้ ทำให้ช่วยทีมงานได้ไม่ค่อยเต็มที่ ทำได้แต่งานเอกสารหรืองานอะไรที่ใช้คอมพิวเตอร์แทน ช่วงนั้นแคนใช้เป็นวันลาป่วย แล้วต้องยกให้อาจารย์คนอื่นทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าภาคแทนด้วย เพราะลงลายเซ็นไม่ได้ เซ็นสั่งการอะไรไม่ได้เลย         การใช้ชีวิตประจำวันยากมาก เวลาจะทำอะไรก็ต้องใช้มือซ้ายที่ไม่ถนัดเป็นหลัก หัวไหล่ทั้งสอง ข้างก็เจ็บอยู่ก่อนแล้วด้วย ยิ่งจำเป็นต้องใช้หัวไหล่ซ้ายมากขึ้น ก็ยิ่งเจ็บเพิ่มอีก ทีนี้พอใส่เฝือกแล้วข้อมือมันต้องแอ่นๆ เพื่อให้เอ็นที่เย็บไว้ไม่ตึง เฝือกก็จะอยู่ในท่าที่ไม่ปกติ ก็ทำให้มือเราเจ็บเป็นทีๆ นอนไม่ค่อยได้ขับรถก็ไม่ได้ เวลาไปไหนมาไหนต้องรบกวนคนอื่นเขา อย่างถ้าเจ้าหน้าที่เขาจะไปโรงพยาบาลแล้วทางเดียวกัน ก็ให้เขาช่วยมารับเราไปด้วยกัน         แม้ตอนนี้จะถอดเฝือกออกมาสักระยะแล้ว แต่นิ้วโป้งก็ยังงอได้ไม่เต็มที่ หยิบของชิ้นใหญ่ๆ พอได้ จับปากกาได้แต่ยังเขียนหนังสือไม่ค่อยคล่อง อยากเตือนภัยเรื่องนี้ เรื่องที่เหมือนจะไม่มีอะไร         วันหนึ่งได้คุยกับเจ้าหน้าที่ที่มาทำกายภาพให้ เขาก็บอกว่าเคยโดนกล่องแบบนี้บาดเหมือนกัน แต่เขาโดนอีกด้านหนึ่งของนิ้วโป้ง เป็นแค่แผลเฉยๆ ไม่โดนเอ็น อ้าวแสดงว่าเรื่องนี้ไม่ธรรมดาแล้วก็เลยฉุกคิดว่านี่ไม่ใช่แค่เราโดนคนเดียวนะ คนอื่นก็โดนมาแล้วด้วย น่าจะต้องเตือนกันแล้วล่ะ โดยเฉพาะที่เป็นห่วงคือเด็กๆ เพราะกล่องดีไซน์น่ารัก เด็กๆ น่าจะไปหยิบจับได้บ่อย แล้วขนาดมือเรายังเจ็บขนาดนี้ ถ้ามือเด็กนี่ขาดแน่นอน จึงรู้สึกว่ากล่องแบบนี้ไม่ปลอดภัย การออกแบบการผลิตน่าจะมีปัญหา         ทีแรกนั้นแคนจะทิ้งกล่องใบนี้ไปแล้วนะ แต่นึกได้ว่าน่าจะต้องเก็บเอาไว้เตือน ใครมาถามก็เอาให้ดูว่ากล่องหน้าตาแบบนี้ระวังด้วยนะ เพราะหลังจากโดนบาด ทุกคนในภาควิชาก็ตกใจว่าโดนบาดได้ไงเนี่ย แต่พอมาดูกล่อง ทุกคนก็บอกว่ามันคมยังกับมีดโกน การประกอบแบบนี้ไม่ค่อยดีเลย น่าจะต้องแก้ไข        แคนคิดว่าถ้าเราเจอผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย ก็ควรจะมีช่องทางแจ้งกลับไปที่บริษัทผู้ผลิต เพื่อให้เขาแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่อย่างนั้นถ้าเกิดผลิตมาในจำนวนมหาศาล ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดอันตรายกับผู้บริโภคคนอื่นๆ มากขึ้นไปอีก           ในเคสนี้ แคนเป็นหมอจึงเข้าถึงการตรวจรักษาได้เร็ว แล้วก็ใช้สิทธิ์ข้าราชการเบิกค่ารักษาได้ แต่ก็ยังคิดว่าจริงๆ แล้วผู้ประกอบการควรชดเชยความเสียหายให้ด้วยไหม เพราะแคนก็ถามกับตัวแทนประกันที่ทำไว้ เขาก็บอกว่าอาจารย์ไม่ได้แอดมิด ก็เบิกไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนที่คิดว่าประกันจะจ่าย ก็อาจไม่จ่าย ซึ่งแคนไม่ได้ติดใจเรื่องเงินนะ แต่หมายความว่าถ้าเป็นคนอื่นที่เขาไม่มีเงินเดือน ไม่มีอะไรอื่น แล้วเขาไม่สามารถทำงานได้ตั้ง 2 เดือนอย่างนี้ มันก็จะยาก ของแคนไม่เป็นไรก็อยู่บ้านไป รู้ว่าตัวเองใช้สิทธิผู้บริโภคได้ แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง         แคนคิดว่าน่าจะมีผู้บริโภคอีกหลายคนที่บาดเจ็บจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย บางคนเจ็บน้อยก็ปล่อยผ่านไป แม้บางคนเจ็บมากก็ยังเงียบ ไม่ใช่ว่าเขากลัวอะไรหรอก แต่เพราะว่าไม่อยากยุ่งยากมากกว่า แคนเองก็ต้องการเรียกร้องตามสิทธิ์ แต่ไม่รู้ขั้นตอนว่าต้องทำยังไงบ้าง ก็เลยรู้สึกว่าขนาดเรายังไม่รู้ แล้วคนอื่นเขาจะรู้ไหม ถ้าเป็นคนอื่นก็คงจะรู้สึกว่า ช่างมันเถอะ เย็บแล้วก็เย็บไป เบิกค่ารักษาก็เบิกได้ แต่ว่ามันไม่ถูกไหม ไม่ควรจะต้องให้เป็นภาระของเราอยู่คนเดียว                  จริงๆ แล้วควรมีการส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้เรื่องการใช้สิทธิ์ของตนมากขึ้นว่า ถ้าเขาใช้ผลิตภัณฑ์แล้วไม่ปลอดภัย เขาควรจะต้องทำยังไง หนึ่ง-เก็บวัตถุที่เป็นอันตรายไว้ก่อน สอง-ใบรับรองแพทย์ หรือว่าอะไรที่จะมารับรองเหตุการณ์ว่ามีความเสียหายที่เกิดขึ้น การรักษาต่อเนื่องต้องยาวนานแค่ไหน อะไรอย่างนี้ ซึ่งแคนก็เก็บไว้หมดนะ ทีนี้พอเก็บแล้วจะให้ร้องเรียนไปที่ไหนยังไงล่ะ         ตอนนี้แคนก็กำลังปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าจะมีช่องทางดำเนินการอย่างไรต่อไป ผู้ประกอบการน่าจะเข้มงวดในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยมากขึ้น        หากลองไปเทียบกับกล่องเหล็กอื่นๆ คือความจริงถ้าเป็นฝาชั้นเดียว เปิดแล้วก็จบกันไป แต่ว่าอันนี้ตอนแรกยังชมเลยว่าอุตส่าห์ทำฝาหนาน่าจะดี ดูปลอดภัย แล้วก็น่าเก็บด้วย         ถ้าจะถามว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากความประมาทของเราหรือเปล่า ตอบเลยว่าไม่ใช่แน่นอน        เพราะดูจากภายนอกกล่องไม่เห็นเลยว่าจะมีส่วนไหนที่คมหรืออันตรายจนต้องระวัง เราก็เปิดเหมือนเปิดฝากล่องธรรมดา ไม่ได้เปิดพิสดารตรงไหน ไม่ได้ไปงัดมุมอะไร เมื่อเราเปิดปกติ มันก็ควรจะเปิดออกได้ปกติ แต่ทีนี้พอผลิตภัณฑ์มันประกอบมาไม่แน่นหนา หรือไม่รู้อะไรที่มันทำให้เปิดแล้วฝามันแยกออกจากกัน แล้วมางับมือเราได้อย่างนี้ แถมข้างล่างมันคมมากไง ถ้าเขาจะทำฝาหนาขนาดนี้ ตัวชั้นล่างเขาอาจจะไม่ทำขอบคมก็ได้         เราจะต้องเตือนผู้ประกอบการ ไม่งั้นผู้ประกอบการจะไม่แก้ไขผลิตภัณฑ์ รอให้มีคนบาดเจ็บรายถัดๆ ไปนี่มันก็อาจไม่ได้เป็นแค่แบบแคนไง ถ้าเขาสูญเสียนิ้วโป้ง จะเสียหายมาก ยิ่งถ้าเป็นนิ้วโป้งข้างที่ถนัดด้วย         ตอนที่แคนใส่เฝือกอยู่ก็คิดว่าจะบอกบริษัทยังไง บางทีเขาอาจไม่รู้ว่าของๆ เขาไม่ปลอดภัย เราก็อยากจะบอกพร้อมแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ที่คุณคิดว่าปลอดภัย แต่จริงๆ แล้วมันไม่ปลอดภัยนะ คุณควรจะปรับปรุงแก้ไขผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยมากขึ้น จริงๆ ถ้าผลิตออกมาให้ปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางได้ก็จะดีที่สุด ผู้บริโภคทุกคนควรได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์         เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้แคนคิดว่า        หนึ่ง ทุกคนควรจะช่วยกันดูผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพื่อให้สังคมปลอดภัยขึ้น อะไรที่เราประสบเหตุ เราต้องสามารถเรียกร้องได้ว่ามันไม่ควรจะเกิดไหม สังคมควรปลอดภัยกว่านี้        สอง ทางบริษัทต่างๆ ควรจะมีช่องทางที่เป็นสาธารณะ ให้ผู้บริโภคบอกได้ว่า ถ้าคุณเจออะไรแบบนี้ให้คุณบอกมาที่ตรงไหน พร้อมพยานหลักฐานอะไรบ้าง หรือว่าพร้อมรูปถ่าย หรือว่าพร้อมรายละเอียดอะไรบ้างที่ต้องการ เพื่อให้เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น แล้วก็ทำให้สังคมดีขึ้น         แคนเชื่อว่าทุกเสียงสะท้อนของผู้บริโภคมีพลังพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ และผู้บริโภคทุกคนควรได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้นด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ตีแผ่อาหารเสริม "ถังเช่า" บำรุงร่างกายจริงหรือตัวเร่งตับ-ไตพัง

        “ถังเช่า” รุกคืบโฆษณาอ้างสรรพคุณ คนกิน “ตับ ไต” พัง “หมอลี่” ตีแผ่ที่มาถังเช่าดั้งเดิมได้จากซากหนอน ผิดกับอาหารเสริม ใช้การเพาะเห็ดสกัดถังเช่า คาดสรรพคุณต่างกัน  กสทช.-อย. ตรวจสอบพบโฆษณาอวดครึ่งหมื่นรายการ มพบ. จี้ออกเอกสารคำเตือนหวังเป็นข้อมูลตัดสินใจ “หมอยา” แนะหลักการกิน อยู่ ไม่ต้องฟอกไต             กรณีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงนั้น มีปัญหามาอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยเฉพาะในระยะหลังที่มีเทคโนโลยีการสื่อสารหลากหลายช่องทาง ทำให้การตรวจสอบติดตามเป็นไปได้อย่างยากลำบาก และตามหลังปัญหาอยู่มาก โดยที่เห็นชัดในขณะนี้คือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสวนผสมของถังเช่า สารสกัดถังเช่า ที่มีอยู่เกลื่อนตามอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งการโฆษณาผ่านสถานีโทรทัศน์ ทั้งในรูปแบบของการโฆษณาโดยตรงและการโฆษณาแฝง ทำให้ประชาชนซื้อหามารับประทานจำนวนมาก และก็พบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาสุขภาพตามมา           เรื่องนี้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) บอกว่า อันดับแรกตนขอให้ข้อมูล “ในฐานะแพทย์” ซึ่งจากข้อมูลดั้งเดิมของจีน “ถังเช่า” เป็นสิ่งมีชีวิต คือ ตัวหนอนที่เกิดขึ้นในภูเขา ที่ประเทศจีน ซึ่งเมื่อถึงฤดูหนาวจะมีเชื้อรา หรือว่าเห็ดไปเจริญงอกงามในตัวหนอนกลายเป็น “ซาก” คนจีนจึงบริโภคซากตัวหนอนและจากเชื้อราไปในคราวเดียวกัน ถือเป็นยาจีนอย่างหนึ่ง สรรพคุณในตำราแพทย์แผนจีนคือรักษาไอเรื้อรัง  บำรุงไต มีฤทธิ์ร้อน ใช้กับคนที่ร่างกายมีความเย็น ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน และระบุชัดเจนว่ามีผลกระทบกับการเกาะตัวของเลือด  ห้ามกินในคนที่ต้องผ่าตัด และยังมีผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือด จึงห้ามกินในคนที่เป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น         แต่ถังเช่าที่ขายในประเทศไทยไม่ได้มาจากตัวหนอน แต่มาจากการเอาเห็ดประเภทที่เป็นเชื้อราแบบเดียวกับที่อยู่ในตัวหนอน ซึ่งอาจจะเป็นคนละสายพันธุ์ แต่อยู่ในตระกูลเดียวกันมาเพาะและสกัดออกมา ซึ่งเมื่อเป็นการสกัด ก็จะไม่เหมือนกับถังเช่าดั้งเดิม          ดังนั้นการจะอวดอ้างว่าบำรุงไตได้หรือไม่เป็นประเด็นที่ต้องพิสูจน์ต่อไป แต่แน่นอนว่าเวลามีการนำอาหารเสริมเหล่านี้มาจำหน่ายและบริโภค ก็จะมีการติดตามผลข้างเคียงว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง เช่นปี 2561 ที่รพ. เชียงราย มีอายุรแพทย์ด้านไตเตือนว่าการทานสมุนไพรรวมถึงถังเช่า อาจทำให้เกิดไตวายเพิ่มขึ้น และมีเภสัชกรทำการทดสอบพบว่าคนที่กินถังเช่าทำให้ค่าไตผิดปกติ แต่เมื่อหยุดกินค่าไตก็ดีขึ้น         “จึงยังไม่มีข้อมูลสรุปว่าเป็นพิษต่อไต หรือบำรุงไต แต่ก็เพียงพอที่จะเตือนผู้บริโภคว่าอาหารเสริมไม่กินก็ไม่เสียหายเพราะไม่ใช่อาหารหลัก แล้วกรณีถังเช่านั้น ไม่ได้ขาดสารอาหารอะไรทั้งสิ้น แต่เราไปทานเข้าไป ดังนั้นมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดพิษหรือผลข้างเคียงได้ และหลักการกินในจีนไม่ได้กินตลอดชีวิต แต่กินเป็นช่วงเวลา เช่น กิน 1 เดือนแล้วหยุดกิน ไม่เคยมีคำแนะนำให้กินอาหารเสริมไปเรื่อยๆ จน 50-60 ปี แบบนี้ไม่ใช่ หลักการแพทย์แผนจีน ก็เหมือนของไทยก็คือบริโภคให้ครบหมู่ บริโภคให้ครบถ้วน ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน แต่ที่ไทยเวลาเอามาสกัดขายพูดอย่างกับว่าถังเช่าเป็นอาหารเสริมครอบจักรวาล”         นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าให้พูดในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้ก็ต้องบอกว่า ในภาพรวมประเทศไทยมี อย. ดูแลเรื่องอยู่ ส่วน กสทช.มีอำนาจในการดูแลเนื้อหาการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ เท่านั้น ซึ่งในแต่ละเรื่อง หาก อย.มีการยืนยันว่าเป็นโฆษณาเกินจริง ทางกสทช.ก็สั่งระงับโฆษณา หากฝ่าฝืนก็มีโทษปรับ แต่ถ้า อย. ไม่ยืนยัน กสทช. ไปสั่งก็จะมีปัญหาข้อกฎหมายทันที         ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการพบกลยุทธ์ในการโฆษณาของบริษัทเหล่านี้ โดยใช้โทรทัศน์ วิทยุ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้คนติดตามเท่านั้น เนื้อหาจึงไม่ค่อยมีอะไรที่ส่อไปในทางผิดกฎหมาย แต่จะเปิดทางให้คนไปติดตามช่องทางอื่น มีการโฆษณาโอ้อวด เกินจริง แต่กสทช.ดูแลไม่ถึง เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์         ดังนั้นคำเตือนคือ 1 ถ้ามีใครกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถังเช่าเป็นประจำและมีอาการผิดปกติ ให้แจ้งแพทย์ด้วยว่ามีอาการผิดปกติอะไร กินอะไรไปบ้าง เพราะในอดีตก็เคยมีการทำสารสกัดใบขี้เหล็ก หลังพบว่าใบขี้เหล็กมีสรรพคุณเป็นยายาระบาย แต่พอทำเป็นสารสกัดแล้วกินเข้าไปทำให้เกิดตับอักเสบ จึงนำมาสู่การถอนทะเบียน  ก็เช่นเดียวกับถังเช่าที่เดิมคือสมุนไพรที่ได้จากซากหนอน ไม่ใช่สารสกัดจากถังเช่า ดังนั้นสมุนไพรดั้งเดิมมีฤทธิ์อย่างหนึ่ง พอเป็นสารสกัดก็ให้ฤทธิ์อีกแบบหนึ่ง หากมีผลกระทบอะไรก็ให้แจ้งกับแพทย์ ซึ่งแพทย์จะแจ้งเตือนมาที่อย. ให้ตรวจสอบต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าสารสกัดถั่งเช่าบำรุงสุขภาพจริงๆ แต่มีข้อจำกัด ว่ากระทบกับการทำงานของไตซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป         “ในระหว่างนี้สิ่งที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้คือ หากยี่ห้อไหนโฆษณาว่าบำรุงไต ให้สงสัยไว้เลยว่าเป็นการโอ้อวด เพราะอาหารเสริมจริงๆ เป็นอาหารเสริมสุขภาพทั่วไป จะมาบอกว่าบำรุงเฉพาะส่วนไม่ได้ จะรักษาเฉพาะส่วนไม่ได้  ที่จริงควรจะมีคำเตือนด้วยว่าอาหารเสริมนี้ใครกินได้ ใครกินไม่ได้ ยิ่งคนที่สุขภาพไม่แข็งแรงยิ่งต้องระวัง ก่อนกินให้ถามตัวเองก่อนว่ากินเพื่ออะไร และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกินไปตลอดชีวิต”          ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับถังเช่าขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกว่า 427 รายการ บางรายการเพิกถอนทะเบียนไปแล้วโดยที่ขึ้นทะเบียนนั้นมีทั้งถังเช่าสกัดอย่างเดียว ถังเช่าสกัดผสมอย่างอื่น เช่นผสมวิตามินซี ผสมโสม ผสมกาแฟ ผสมสมุนไพรอีกหลายประเภท หรือผสมผลไม้ เรียกว่ามีสารพัดที่มีถังเช่าไปผสมอยู่ ซึ่งคำถามต่อมาคือการที่ผสมสิ่งเหล่านี้จำนวนมาก แล้วมีการเสริมฤทธิ์ หรือว่าต้านฤทธิ์กันหรือไม่ หรือผลเป็นอย่างไร         อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิฯ ได้รับการสอบถามจากประชาชนจำนวนมากว่า “ถังเช่า” ที่มีการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ จำนวนมากอยู่ในขณะนี้ สามารถเชื่อถือได้หรือไม่ มีสรรพคุณตามที่โฆษณาจริงหรือไม่ จริงๆ ก่อนหน้านี้ราวๆ ปี 2562 มีรายงานของ รศ.ดร.ภญ.มยุรี  มีกรณีผู้บริโภค 3 ราย ร้องเรียนว่ารับประทานถังเช่าและเกิดปัญหาว่ามีผลกระทบต่อการทำงานของไต โดยมี 1 คนเกิดปัญหาไตวายเรื้อรัง และปี 63 เจออีก 8 ราย ทั้งหมดรวมเป็น 11 ราย         ดังนั้น เมื่อมีรายงานว่ามีผลกระทบต่อการทำงานของไต ทางมูลนิธิฯ จึงอยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบเรื่องของการออกฤทธิ์ด้วย รวมถึงควรมีการเขียนคำเตือนบนฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจ เพราะถ้าดูข้อมูลจะพบว่าที่ประเทศจีน จะรับประทานกันหน้าหนาว ในคนที่ต้องการฤทธิ์ร้อน และไม่ได้รับประทานทุกวัน แต่ที่โฆษณาในประเทศไทยกลับบอกว่าต้องทานทุกวันเพื่อบำรุงร่างกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และขอให้ กสทช. พิจารณาเรื่องการลงโทษสื่อที่มีการโฆษณาเกินจริง หรือการโฆษณาแฝงเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคด้วย มีระยะเวลาในการโฆษณาผิดกฎหมายอยู่ โดยกสทช. อาจจะชวนดิจิทัลทีวีหรือสื่อต่างๆ มาทำข้อตกลงได้ไปในแนวทางการป้องปราม         น.ส.สารี ยังบอกอีกว่า ทั้งนี้หากผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์มาแล้ว พบว่าตัวเราเองไม่สามารถใช้ได้ เพราะมีโรคประจำตัวอยู่ สิ่งแรกคือถ้าสามารถคืนได้ก็ให้นำไปขอเงินคืน แต่หากคืนไม่ได้ก็ไม่แนะนำให้รับประทาน อย่างไรก็ตาม มีหลายคนอยากให้มูลนิธิฯ ช่วยฟ้องร้องคดีกรณีที่รับประทานแล้วเกิดปัญหาต่อตับและไต ซึ่งจริงๆ มีกฎหมายหลายตัวที่จะช่วยผู้บริโภค เช่น ว่าด้วยเรื่องสินค้าที่ไม่ปลอดภัยคือความรับผิดของบริษัท เมื่อมีสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้นในส่วนนี้หากทางบริษัทไม่ได้เขียนคำเตือนไว้ในฉลากผลิตภัณฑ์ก็สามารถฟ้องร้องได้ แต่หากเขียนเอาไว้ชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้นอาจจะส่งผลต่อการทำงานของไต ก็ถือว่าเตือนเราแล้วโอกาสที่ผู้บริโภคจะไปฟ้องคดีก็ลำบาก         “หลักที่ผู้บริโภคจะต้องคิดไว้คือเมื่อเป็นอาหารห้ามโฆษณาเป็นยา ถ้าโฆษณาว่ารักษาโรค บำรุง สิ่งต่างๆ จะผิดพ.ร.บ.อาหาร ทันที นี่คือหลักการเบื้องต้นที่ผู้บริโภคจะเอาไปใช้ได้เลย  ดังนั้น ผู้บริโภคอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ สุขภาพของเราไม่ใช่เรื่องพวกนี้แน่นอน การมีสุขภาพดีมีอีกหลายเรื่องที่ควรทำไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อนนอนหลับที่เพียงพอ และคุณภาพชีวิตโดยภาพรวมของเรา ไม่ใช่เรื่องของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่อย่างนั้นเราคงต้องอยู่กับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ออกมาจำนวนมาก”           ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ม.ค.  พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (.กสทช) เปิดเผย ว่า จากการที่ กสทช. ร่วมมือกับ อย. กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ตั้งแต่กลางปี 2561 มีการพัฒนากระบวนการทำงานร่วมกัน ได้แก่ การบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย โดย กสทช. ทำการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาทางโทรทัศน์ และ อย. เป็นผู้วินิจฉัยข้อความการโฆษณานั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และมีการขยายผลการดำเนินการไปยังส่วนภูมิภาค โดยได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในการตรวจวินิจฉัยเนื้อความการโฆษณาทางสื่อวิทยุกระจายเสียง         ผลพบว่าสามารถตรวจจับการโฆษณาทางโทรทัศน์ดิจิตอลได้ 17 ราย 77 กรณีโฆษณา โทรทัศน์ดาวเทียม 90 ราย 190 กรณีโฆษณา และวิทยุ 2,150 ราย 4,058 กรณี        แบบที่พบว่ามีการโฆษณานั้น บางรายที่เคยโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยมีอาจารย์ภาษาจีนชื่อดังเป็นพรีเซนเตอร์ มีการใช้ตัวแสดงลักษณะคล้ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นอนติดเตียง หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก แต่เมื่อรับประทานถั่งเช่าของอาจารย์ มีอาการดีขึ้น เดินได้ ลุกไปเข้าห้องน้ำเองได้ ใช้ยาแผนปัจจุบันน้อยลง หรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  เห็ดหลินจือโดยพรีเซนเตอร์นักแสดง-พิธีกรสาวสองพันปี          บ้างก็กล่าวอ้างว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์แล้วจะมีอาการดีขึ้น ถึงขั้นปีนต้นไม้ และขี่จักรยานได้ เป็นการจัดฉากการโฆษณาลวงโลก ซึ่งเคยถูกจับดำเนินคดีแล้วแต่ก็กลับมาอีกครั้ง แต่ทำโดยผู้โฆษณารายใหม่ ซึ่งมีบุคคลในแวดวงบันเทิงเป็นพรีเซนเตอร์ จัดฉากลวงโลกแบบเดิม อ้างว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าดังกล่าว สามารถรักษาได้สารพัดโรค เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต และโรคเรื้อรังต่างๆ มีนักแสดง แสดงเป็นผู้ป่วยอาการหนัก สภาพร่างกายทรุดโทรม แต่เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว กลับหายจากอาการป่วยได้อย่างมหัศจรรย์ ซึ่งไม่เป็นความจริง                 กสทช ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคครั้งใหญ่กลับมา เราจะจับมือกับ อย. ให้แน่นกว่าเดิมและร่วมกันกวาดล้างการโฆษณาอีกครั้ง เพื่อกำจัดโฆษณาลวงโลกเหล่านี้ให้สิ้นซาก ผู้ประกอบกิจการเหล่านี้ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ประสงค์ต่อรายได้ และประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม แม้จะได้รับคำสั่งเตือนให้ระงับการโฆษณาไปแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ลงโทษโดยการปรับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเป็นเงิน 5 แสนบาท ไปแล้ว 1 ราย         และมีอีก 2 ราย ที่ อย. วิจิฉัยมาแล้วว่าเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เตรียมเสนอต่อบอร์ด กสทช. เพื่อลงโทษปรับอีกรายละ 5 แสนบาท และนอกจากจะดำเนินการปรับสถานีโทรทัศน์แล้ว กสทช. จะส่งเรื่องไป อย. เพื่อดำเนินคดีกับพิธีกร พรีเซนเตอร์ และพิจารณาเกี่ยวกับการเพิกถอนทะเบียนตำรับอาหารด้วย เนื่องจากกฎหมายของ กสทช. ให้อำนาจ ในการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์เท่านั้น มิได้ครอบคลุมถึงพิธีกร และเจ้าของผลิตภัณฑ์         “ค่าปรับของ กสทช. นั้นแพง กฎหมายกำหนดไว้สูงถึง ไม่เกิน 5 ล้านบาท  และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาท ไม่เพียงแค่สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเท่านั้นที่โดนลงโทษปรับ แต่ยังมีสถานีวิทยุอีก 2 ราย ที่โดนลงโทษปรับ รายละ 1 แสนบาท เนื่องจากมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงซ้ำ ภายหลังได้รับคำสั่งเตือนด้วย อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า อัตราค่าปรับของ กสทช. นั้นสูง ยิ่งเป็นวิทยุรายเล็กๆ โดนปรับ ก็อาจส่งผลให้ยกเลิกการประกอบกิจการได้ มีข้อมูลว่า มีผู้ประกอบการวิทยุ ขอยกเลิกใบอนุญาตไปแล้วกว่า 260 ราย และนอกจากจะโดนปรับแล้ว ประวัติการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ จะถูกบันทึกไว้ เมื่อมาขอต่อใบอนุญาต จะถูกลดอายุใบอนุญาตลง อย่างในกรณีของวิทยุ จะเหลืออายุใบอนุญาตเพียง 6 เดือน ซึ่งขณะนี้มีสถานีถูกลดอายุใบอนุญาตไปแล้ว 150 ราย”         อย่างไรก็ตาม นอกจากการโฆษณาถั่งเช่าแล้ว ยังมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกี่ยวกับดวงตา อ้างรักษาสารพัดโรคตา ทั้งโรคต้อทุกชนิด กระจกตาเสื่อม สายตาสั้น-ยาว ตาแห้ง  เคืองตา แสบตา บ้างอ้างว่าเพียงแค่รับประทานอาหารเสริมเหล่านี้แล้ว สายตากลับมาเป็นปกติ ไม่ต้องผ่าตัด มองเห็นได้ชัดเจน ในกรณีนี้ กสทช. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ในการวินิจฉัยและให้ความเห็นเกี่ยวกับเนื้อความการโฆษณา จนนำไปสู่การลงโทษปรับสถานีวิทยุที่มีการโฆษณาในลักษณะนี้ ไปแล้ว 6 ราย รายละ 5 หมื่นบาท และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอปรับอีก 3 ราย         ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย.ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าที่ อย. อนุญาตมี 2 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ยาแผนโบราณ) และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่งเช่าเป็นส่วนประกอบ เพื่อบำรุงร่างกายทั่วไป เสริมจากการรับประทานอาหารตามปกติ ดังนั้น การโฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่าสามารถรักษาสารพัดโรค ทั้งเสริมภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาภูมิแพ้ เบาหวาน ไต ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เป็นต้น จึงเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ในปี 2563 ที่ผ่านมา อย. ดำเนินคดีโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทอื่น ทางสื่อต่าง ๆ 1,388 คดี ทั้งนี้ ในส่วนความร่วมมือในการจัดการปัญหาโฆษณาผิดกฎหมาย อย. จะเป็นผู้วินิจฉัยความผิดที่พบทางสื่อ และดำเนินคดีกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้ทำการโฆษณาตามกฎหมายที่ อย. รับผิดชอบ ส่วน กสทช. จะเป็นผู้ดำเนินการกับสถานีที่ออกอากาศตามกฎหมายที่ กสทช. รับผิดชอบ โดยตั้งแต่ปี 2561-2563 อย. ได้วินิจฉัยความผิดที่พบส่งให้ กสทช. ดำเนินการแล้ว 250 เรื่อง เป็นผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่า 58 เรื่อง ซึ่งผู้โฆษณามักใช้จุดอ่อนของผู้ซื้อ นำเสนอภาพหรือคลิปวีดีโอสัมภาษณ์ผู้ป่วยให้ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น จากที่เป็นผู้ป่วย ผู้ป่วยติดเตียง  เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าแล้วหายจากโรค สามารถกลับมาชีวิตได้เหมือนคนปกติ จึงขอเตือนไปยังผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้สูงอายุ อย่าหลงเชื่อโฆษณาเหล่านี้ เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังอาจทำให้โรคหรืออาการที่เป็นอยู่แย่ลง เสียโอกาสในการรักษา เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยแพทย์ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง         ขณะที่ รศ.ดร.ภญ.มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระบุว่า ในการดูแลผู้ป่วยโรคตับ โรคไตนั้น พบว่าปัญหาหนึ่งที่เจอในปัจจุบัน คือผู้ป่วยมีการกินยาแก้ปวด ยาชุด ยาลูกกลอนที่ผสมสเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการปลอมปม ใส่ยาต่างๆ ลงไป รวมถึงสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใส่สมุนไพรที่ทำให้เกิดพิษต่อตับหรือไตได้ เช่น ที่เมืองไทยพบทั้งในน้ำมันกัญชา สารสกัดมะระขี้นก สารสกัดเห็ดหลินจือ หนานเฉาเหว่ย และถังเช่าที่พบความถี่มากขึ้น โดยพบว่ามีทั้งการกินมากเกินไป หรือกินหลายตัวที่มีพิษต่อตับหรือไตเหมือน ๆ กัน ทำให้เกิดปัญหา สมุนไพรบางชนิดตีกับยาบางตัว ทำให้ฤทธิ์ของยาเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ เป็นต้น ถัดมาคือคอลลาเจนที่มีการใช้เยอะในผู้สูงอายุและปัญหากำลังจะตามมา         ทั้งนี้ ส่วนใหญ่พบในกลุ่มผู้สูงอายุ ราวๆ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาโรคตับ โรคไต ส่วนประชาชนทั่วไปอายุน้อย 20 30 หรือ 40 ปีต้นๆ จะไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่มีโรคประจำตัวหรืออายุน้อย คิดว่าตัวเองแข็งแรงจะกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นจะต้องใช้ให้ถูกใช้ให้เป็น          รศ.ดร.ภญ.มยุรี บอกว่า หลักการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็ต้องใช้ให้ถูก ใช้ให้เป็น คือใช้ 3 เดือนแล้วหยุด 1 เดือน ก็จะค่อนข้างปลอดภัย แต่จะกินของเหล่านี้ต้องดูว่ากินเพื่ออะไร มีงานวิจัยในคนรับรองหรือไม่ว่ามีประโยชน์หรือปลอดภัย แต่ถ้าบอกว่าอยากจะกินเพื่อความสบายใจ ไม่ได้หวังผลอะไร ในส่วนนี้ไม่น่าจะเป็นอะไร เพียงแต่ต้องกินตามที่ฉลากแนะนำ ไม่ควรกินเกินกว่านั้น และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนกับทางอย.อย่างถูกต้อง ผู้ใช้ควรตรวจสอบเลขสารระบบให้ชัดว่าถูกต้องก่อนซื้อมาใช้         “อย่างไรก็ตาม กินแล้วต้องหยุด อย่ากินยาวเป็นปี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ออกมาใหม่ๆ เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่ ไม่มีการทำวิจัย ว่ากิน 6 เดือน หรือ 1 ปี ผลจะเป็นอย่างไร โดยมากจะทำวิจัย 3 เดือน ดังนั้น จึงไม่มีข้อมูลความปลอดภัยระยะยาว”         อย่างไรก็ตาม จากการติดตามพบว่าผู้บริโภคในประเทศไทย รวมถึงทั่วโลก พบว่าส่วนหนึ่งที่นิยมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือสมุนไพรต่างๆ นั้น เนื่องจากมองว่าของที่มาจากธรรมชาติย่อมปลอดภัย ซึ่งต้องชี้แจงก่อนว่าเป็นความเชื่อที่ผิดเพราะไม่มีอะไรปลอดภัย 100% ยกตัวอย่าง ถ้ากินโปรตีนเยอะก็สามารถทำให้ไตวายได้ กินเกลือเยอะก็เป็นโรคไตได้         “หลักการง่ายๆ ขนาดอาหารที่กินกันทั่วไปนั้น ถ้ากินเกินพอดี เกินความต้องการของร่างกายก็เป็นอันตรายได้ ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงผลิตภัณฑ์อะไรหลายอย่าง นี่คือหลักการเบื้องต้น เพราะฉะนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพรต่างๆ ใช้ได้ แต่ต้องรู้วิธีใช้ให้ปลอดภัย สำหรับคนทั่วไป         คือ 1. เลือกผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง ไม่มีการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตร โลหะหนัก เชื้อรา เชื้อจุลชีพต่างๆ              2. เนื่องจากเราไม่ได้ใช้เพื่อการรักษาโรค แต่เพื่อเสริมอาหาร ซึ่งปกติเราก็ไม่ได้กินอาหารชนิดเดิมๆ ซ้ำๆ เพราะถ้ากินซ้ำๆ ก็จะได้สารอาหารเดิมๆ ดังนั้นให้กินสลับประเภทอาหาร บางคนปั่นน้ำผลไม้กิน ก็ปั่นอย่างเดิมทุกวัน อันตราย เพราะอาจมียาฆ่าแมลงปนอยู่ กินทุกวันก็จะได้ยาฆ่าแมลงนั้นทุกๆ วัน หรือพวกเกลือแร่บางอย่างอาจจะได้เยอะเกิน เพราะฉะนั้นวิธีการคือ ต้องสลับชนิดการกิน และกินในปริมาณปกติ ไม่มาก ไม่น้อยเกินไปในแต่ละวัน”         ด้าน น.ส.สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า           “ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ควรตรวจสอบกับเลขสารบบของอย. ให้แน่ชัด ถึงแม้ว่าจะพบปัญหาการปลอมเลขอย. แต่อย่างน้อย การที่เราตรวจสอบ และดูรายชื่อ หน้าตาผลิตภัณฑ์จากเว็บไซต์ของอย.ก่อน ก็น่าจะช่วยคัดกรอง และเป็นทางเลือกที่ทำให้เราอันตรายน้อยที่สุด”          ปัญหาหนึ่งของการตรวจสอบดูแลผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมาจากช่องว่างของกฎหมาย ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.อาหาร ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกิดขึ้นทุกวัน และมีการโฆษณาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทุกวันนี้ทำได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องผ่านเอเจนซี่แล้ว โดยผู้ทำผลิตภัณฑ์สามารถออกผลิตภัณฑ์แล้วสามารถโฆษณาได้เองผ่านสื่อโซเชียลมีเดียของตัวเอง ทำให้เกิดปัญหามากขึ้น         ในขณะกระบวนการร้องเรียนผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายไปยังหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็น อย. หรือหน่วยงานอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับดูแล ค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น เมื่อประชาชนโทรศัพท์เข้าไปแจ้งเบาะแส แล้วถูกขอหลักฐาน เอกสารการบันทึกเทปต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานทำเนินการเปรียบเทียบต่อ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำให้ประชาชนรู้สึกยุ่งยาก ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหาช่องทางากรมีส่วนร่วม ให้ประชาชนร่วมเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายโดยไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไป เพื่อให้การแก้ไขปัญหาทันต่อสถานการณ์         ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ มูลนิธิฯ เคยเสนอเรื่องการให้รางวัลนำจับ และปัจจุบัน อย.เริ่มเปิดให้มีการเข้าถึงระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพบ้างแล้ว แต่ยังไม่ทั้งหมด หรือจะมีวิธีการอะไรที่ อย.ไปบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นหรือไม่ เช่น ออกประกาศให้สาธารณชนรับทราบเลยว่าโฆษณาอะไรบ้างที่เป็นโฆษณาเข้าข่ายผิดกฎหมาย ทำไม่ได้ ประชาชนอย่าหลงเชื่อดาราอย่าไปรีวิว influencer ก็อย่าไปเชื่อมากนัก และแต่ละหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลก็มีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลการเข้าถึงฐานข้อมูลของอย. ได้ซึ่งหากหน่วยงานสามารถคลิกเข้าไปดูได้ แล้วแต่ละหน่วยงานสามารถเรียกปรับได้เอง โดยไม่ต้องส่งเรื่องย้อนกลับไปที่อย.เพื่อวินิจฉัยก่อน อาทิ กรณีประชาชนไปร้องเรียนที่สถานีตำรวจ เมื่อก่อนถูกตำรวจไล่กลับมาให้ไปเคลียร์กันเอง แต่หากตำรวจสามารถคีย์ไปยังข้อมูลฐานระบบได้แล้วเรียกปรับได้เลย ตรงนี้ประชาชนก็มีส่วนร่วม เมื่อแจ้งหลักฐานเสร็จก็ให้รางวัลนำจับคิดว่าตรงนี้ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 สินค้าใหม่ ใช้ครั้งแรกก็พังแล้ว

แม้จะเป็นสินค้าใหม่ แต่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาการชำรุดบกพร่อง หากเราซื้อสินค้าที่มีปัญหาเช่นนี้ขึ้นมา จะสามารถแก้ไขได้อย่างไรบ้างไปดูกันคุณสมัยกำลังจะไปเที่ยวต่างประเทศ จึงไปเดินเลือกซื้อกระเป๋าเดินทางที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังแถวรังสิต เธอตัดสินใจซื้อกระเป๋ายี่ห้อหนึ่ง ราคาประมาณ 2,000 บาทกลับบ้านมา แต่เมื่อนำไปใช้งานในวันเดินทางจริง กลับพบว่าหูกระเป๋าด้านข้างและด้านบนหลุดออกมา ทำให้ไม่สามารถถือหรือลากกระเป๋าได้ ส่งผลให้ได้รับความลำบากในการเดินทางอย่างมากเมื่อกลับมาประเทศไทย คุณสมัยจึงรีบติดต่อไปยังบริษัท เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งได้รับการตอบกลับมาว่า ทางบริษัทยินดีจะซ่อมกระเป๋าดังกล่าว ด้วยการเปลี่ยนหูกระเป๋าให้ใหม่ คุณสมัยไม่รับข้อเสนอดังกล่าวเพราะรู้สึกว่าหูกระเป๋าสามารถใส่และหลุดออกได้ง่าย จึงอาจทำให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำอีกหากนำไปใช้งาน แต่เนื่องจากบริษัทไม่ได้เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างอื่นเพิ่มเติม เธอจึงตัดสินใจส่งเรื่องไปร้องเรียนยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พร้อมโทรศัพท์มายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธ์ได้แนะนำผู้ร้องว่า ตามมาตรา 472 ประมวลกฎหมายแพ่งฯ กรณีสินค้าชำรุดบกพร่อง จนเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่มุ่งจะใช้เป็นปกติ ผู้ขายต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้หากผู้ร้องไม่ยอมรับข้อเสนอของบริษัท ก็สามารถแจ้งความประสงค์ขอคืนสินค้าได้ ส่งผลให้ภายหลังก่อนการเจรจาที่ สคบ. ทางบริษัทก็ได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมมาว่า ยินดีจะเปลี่ยนกระเป๋ารุ่นอื่นให้ แต่หากมีราคาแพงกว่าก็จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม ทั้งนี้ผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรนั้น ผู้ร้องยินดีไปเจรจาที่ สคบ. ต่อด้วยตนเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 รถใหม่ป้ายแดง ใช้ได้แค่ 6 เดือน กุญแจพัง!

ข่าวครึกโครมกรณี  รถยนต์ยี่ห้อดัง  เชฟโรเลต รุ่นครูซ ที่ผลิตปี 2011-2012 เกียร์พัง   ทำให้ คุณสุษมา  โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเช่นกัน ว่าตนได้รับความเสียหายจากการใช้รถยนต์ยี่ห้อนี้เหมือนกัน  แต่เป็นรุ่นแคปติวา  ผลิตปี 2013 ที่ใช้ชื่อพี่ชายเป็นผู้ซื้อมาตั้งแต่เดือนเมษายน 56  ในงานมอเตอร์โชว์ และซื้อเป็นเงินสดถึงหนึ่งล้านหกแสนกว่าบาทรถยนต์ใช้ไปได้ประมาณ  6  เดือน  คุณสุษมาขับรถไปทำธุระ พอจะขับรถกลับบ้าน  เปิดรีโมทกุญแจพบว่า ไม่ปลดล็อก  จึงใช้กุญแจไขเข้าไป แต่กลับใช้กุญแจสตาร์ทรถไม่ได้ และมีไฟสัญลักษณ์ต่างขึ้นบนหน้าปัดรถเต็มไปหมด  จึงโทรเรียก Call Center 1734บริษัทฯ รีบส่งทีมช่างมาตรวจ แต่แก้ไขไม่ได้   จึงส่งเข้าศูนย์บริการสาขาแจ้งวัฒนะในวันรุ่งขึ้น   ช่างที่ศูนย์ตรวจสอบ  3 สัปดาห์ หาสาเหตุไม่พบ   ศูนย์ได้ประสานให้ช่างจากสำนักงานใหญ่มาตรวจสอบ ได้ทำการรื้อเบาะและคอนโซลรถออกทั้งหมด  จึงพบว่า ชุดสายไฟที่อยู่ด้านล่างมีปัญหา(น่าจะเกิดจากความบกพร่องของวัสดุสายไฟและจากการผลิตรถยนต์)“ดิฉันได้สอบถามที่ Call Center   ทางนั้นชี้แจงว่ามีการสั่งอะไหล่จากศูนย์ฯ แล้ว แต่ยังไม่มีกำหนดส่งให้ศูนย์ฯ  ดิฉันก็พยายามติดต่อกับบริษัทอีกหลายครั้ง(เพราะรถต้องใช้งาน) ทั้งทางโทรศัพท์และทำหนังสือสอบถามและเร่งให้ดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมส่งทางเมล์  ไม่ได้รับการติดต่อกลับหรือมีความคืบหน้าใดๆ เลย” ล่าสุดประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 57  ได้รับแจ้งว่า ซ่อมระบบไฟแล้ว แต่เมื่อใส่เบาะกลับไปพบว่าสตาร์ทไม่ติดอีก  คุณสุษมาจึงขอให้บริษัทส่งรถทดแทนให้ใช้  แต่สุดท้ายต้องนำไปคืนเพราะรถเบรกไม่อยู่ เหตุการณ์นี้นอกจากจะมีความรู้สึกที่แย่กับการให้บริการของบริษัท ยังสร้างความเสียหายให้แก่คุณสุษมาเป็นอย่างมาก  จนอยากให้บริษัทซื้อรถคืนไป การแก้ไขปัญหาเมื่อมูลนิธิฯ ได้รับโทรศัพท์จากผู้ร้อง จึงแนะนำให้ผู้ร้องเก็บหลักฐานการซ่อมรถและทำหนังสือถึงศูนย์บริการสาขาแจ้งวัฒนะสอบถามว่า เหตุใดจึงซ่อมไม่ได้  เสียเพราะอะไร  และเชิญผู้ร้องมาที่ศูนย์พิทักษ์เพื่อพูดคุยและสอบถามถึงวัตถุประสงค์ว่าต้องการเรียกร้องอย่างไร  ซึ่งผู้ร้องและพี่ชายเข้ามาที่มูลนิธิฯ ขอให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย   โดยผู้ร้องยังประสงค์ใช้รถต่อ  แต่ขอให้บริษัทขยายการรับประกันเป็น 7 ปี หรือ 200,000 กม. จ่ายค่าชดเชยที่ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์วันละ 1,500 บาทหลังการเจรจาไกล่เกลี่ย  คุณสุษมายอมรับข้อเสนอของบริษัทฯ ที่ยอมขยายระยะเวลารับประกันเป็น 5 ปีหรือ 150,000  กม. แล้วแต่เงื่อนไขใดถึงก่อน และได้รับเงินชดเชยค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ เดือนละ 35,000  บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงิน 105,000 บาทก็ต้องขอขอบคุณบริษัทฯ ที่มองเห็นความสำคัญและพร้อมแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 136 รองเท้าแตะคู่ 3 พัน ใช้ไม่กี่วันเจ๊ง

“ดิฉันได้ไปซื้อรองเท้า FITFLOP ที่ห้างสรรพสินค้าพารากอน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2554” คุณเสาวรินทร์เริ่มเรื่องเธอบอกว่ารองเท้าคู่นี้ ราคา 3,290 บาท เป็นรองเท้าแตะ...“บ๊ะ!” เจ้าหน้าที่รับเรื่องของมูลนิธิฯ ร้อง รองเท้าแตะอะไรจะแพงขนาดนั้นเปิดดูภาพรองเท้าที่คุณเสาวรินทร์ส่งมาให้ ก็เห็นเป็นรองเท้าแตะหูหนีบ พื้นหนาหน่อย สไตล์โฉบเฉี่ยวเพรียวเท้าถูกใจสาวรุ่น คิดในใจก็ว่าราคายังไม่น่าถึงสามพัน ดูที่สายรองเท้าเห็นลวดลายมองได้เป็นทั้งหนังงูหรือไม่ก็หนังตัวเงินตัวทอง ดูใกล้เคียงกัน ไม่แน่ใจ“คงจะสายรองเท้ามั๊ง ที่ทำให้สมราคาสามพัน” เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนคิดในใจคุณเสาวรินทร์เล่าปัญหาของเธอต่อไปว่า รู้ว่าเป็นรองเท้าราคาแพง พอซื้อมาก็สวมใส่ใช้งานอย่างทะนุถนอม ถามว่าทะนุถนอมยังไงเธอบอกว่า ใช้ใส่เดินในห้างเดินในตึกอย่างเดียว ไม่เคยเอามาใส่เดินบนถนน บนฟุตบาทให้แปดเปื้อนศักดิ์ศรีรองเท้าจากพารากอนเลยสักครั้ง เพราะเดี๋ยวเกิดไปสะดุดปุ่ม สะดุดตออะไรเข้าจะเกิดรอยฉีกรอยขาดเสียหายได้  เวลาเก็บก็เช็ดวางเข้าชั้นวางรองเท้าอย่างดี เรียกว่าแทบจะอัญเชิญเข้าหิ้งก็ไม่ปานอุตส่าห์ทะนุถนอมถึงขนาดนั้น ปรากฏว่าใส่ขึ้นห้างได้แค่ 6 วัน สายหนีบรองเท้าข้างหนึ่งก็ฉีกขาดเสียแล้ว จะปลอบใจตัวเองว่ายังเหลืออีกข้างราคาพันห้าทนใส่ข้างเดียวมันก็ยังไงๆ อยู่ จึงเอาใบเสร็จขึ้นมาดู ปรากฏข้อความเด่นหราว่า“รับประกันสินค้าภายใน 14 วัน” อ่านแล้วเหมือนได้รับข้อความจากสวรรค์ รีบโทรติดต่อไปที่บริษัท สตาร์แฟชั่น(2551) จำกัด ซึ่งเป็นชื่อที่ปรากฏอยู่ในใบเสร็จรับเงินว่าเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายและนำเข้ารองเท้า ได้รับคำตอบว่า รองเท้ายังอยู่ในเงื่อนไขระยะเวลารับประกันขอให้ส่งใบเสร็จและนำรองเท้าส่งไปที่ร้านคุณเสาวรินทร์จึงได้ส่งรองเท้าและใบเสร็จไปและรอการติดต่อกลับมาเป็นเวลา 20 วัน แต่ต้องผิดหวังกับคำตอบที่ได้รับเป็นอย่างมาก“ดิฉันได้รับคำตอบว่า การฉีกขาดของหูรองเท้าไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของตัวสินค้า แต่เกิดจากการสวมใส่ จึงไม่สามารถรับผิดชอบ หรือซ่อม หรือเปลี่ยนรองเท้าให้ได้แต่อย่างใด”“ด้วยการสวมใส่ของดิฉันไม่ได้สะดุด หรือมีการกัดของสัตว์เลี้ยงแต่อย่างใด ดิฉันมั่นใจว่า รองเท้าของดิฉันมีปัญหาจากโรงงานเนื่องจากการผลิต อยากทราบว่า ถ้าทางบริษัทฯ รับประกันสินค้า และสินค้าเกิดความชำรุดภายในระยะเวลากำหนด และทางบริษัทฯ ไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ดิฉันสามารถดำเนินการใดๆ ได้บ้างคะ” คุณเสาวรินทร์ร้องถามความเป็นธรรมให้เท้าของตนเอง แนวทางแก้ไขปัญหาขอว่าด้วยเรื่องหลักกฎหมายเป็นความรู้กันก่อนในความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กล่าวไว้ในมาตรา 472 ว่า กรณีสินค้าที่ขายชำรุดบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่จะใช้ได้เป็นปกติก็ดี หรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี กฎหมายกำหนดให้ผู้ขายต้องรับผิด ไม่ว่าในความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้นผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องนั้นมีอยู่กรณีที่ผู้ขายสินค้าไม่ต้องรับผิดก็มีเช่นกัน กล่าวในมาตรา 473 ของกฎหมายฉบับเดียวกัน คือ(1)  ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน(2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยไม่อิดเอื้อน(3) ถ้าทรัพย์นั้นได้ขายทอดตลาดทั้งนี้ ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น กฎหมายห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่องนั้น (ป.พพ. มาตรา 474)สำหรับกรณีจึงสรุปได้ว่า เมื่อผู้ขายไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ความชำรุดบกพร่องของสินค้าเกิดจากการใช้ของผู้บริโภค ก็คงต้องรับผิดชอบในสินค้าที่ชำรุดเสียหายนั้น แม้จะมีเงื่อนไขว่ารับคืนหรือเปลี่ยนสินค้าภายใน 14 วัน แต่ในหลักกฎหมายก็ยังให้สิทธิในการฟ้องร้องในอายุความ 1ปี แต่นี่คือหลักกฎหมายเพราะในชีวิตมีเพียงน้อยรายที่จะยอมเสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อแลกกับค่าเสียหายระดับหลักพันบาทเช่นนี้ดังนั้น การเจรจาไกล่เกลี่ยจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมในสถานการณ์เช่นนี้ มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือร้องเรียนสินค้าชำรุดบกพร่องถึงบริษัท สตาร์แฟชั่น(2551) จำกัด ในฐานะผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย และยังส่งหนังสือร้องเรียนอีกฉบับไปที่บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในฐานะเจ้าของพื้นที่ขายสินค้า เพื่อให้ช่วยกดดันลูกค้าของตนเองให้แสดงความรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการของห้างผลปรากฏว่า บริษัท สตาร์แฟชั่น(2551) ยอมเยียวยาความเสียหายให้กับคุณเสาวรินทร์เป็น Gift Voucher มูลค่า 3,500 บาท มากกว่ามูลค่าราคารองเท้าที่เสียหายเล็กน้อย (รองเท้าซื้อราคา 3,290 บาท) คุณเสาวรินทร์บอกแค่นี้ก็พอใจมากแล้ว เพราะไม่คาดว่าจะเรียกร้องกับบริษัทได้ หลังจากนั้นจึงนำ Gift Voucher ไปแลกซื้อรองเท้าคู่ใหม่ทันที

อ่านเพิ่มเติม >