ฉบับที่่ 269 กระแสต่างแดน

เอาที่ไหนมาพูด          Champstudy แพลตฟอร์มติวข้อสอบเจ้าดังของเกาหลีใต้ ถูกคณะกรรมาธิการการค้าที่เป็นธรรม สั่งปรับเป็นเงิน 285 ล้านวอน (ประมาณ 7.6 ล้านบาท) หลังปล่อยโฆษณาที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเขาเป็นแพลตฟอร์มที่มีสถิตินักเรียนสอบผ่านสูงที่สุด         บริษัท Hackers Language Institute ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดังกล่าว อ้างว่าเป็น “อันดับหนึ่ง” ในเรื่องการสอบเข้ารับราชการและการสอบเป็นตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ โดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจความพึงพอใจของผู้บริโภค (ไม่ใช่การเก็บสถิติอย่างเป็นทางการ)         นอกจากนี้ยังโฆษณายังอ้างว่าผู้เรียนจะสอบผ่านได้ “เร็วที่สุด” โดยไม่ได้ให้รายละเอียด คณะกรรมาธิการฯ จึงลงความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรมทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดคอร์สออนไลน์ของเกาหลี ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านวอน (ประมาณ 1,340 ล้านบาท) ในปี 2021         ก่อนหน้านี้บริษัท Eduwill ก็เคยถูกสั่งปรับด้วยความผิดนี้มาแล้วเช่นกัน  ขับสบาย นั่งสบาย         กระทรวงคมนาคมจีนขอให้แพลตฟอร์มเรียกรถปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานและการจัดการเพราะรัฐบาลตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน         ผู้โดยสารจะต้องได้รับบริการและประสบการณ์การเดินทางที่ราบรื่นปลอดภัย ไม่ถูกละเมิดสิทธิ บริษัทจะต้องเข้มงวดกับการขึ้นทะเบียนคนขับและยานพาหนะที่ใช้ และหากมีปัญหาก็ต้องสามารถร้องเรียนให้เกิดการแก้ไขได้         ขณะเดียวกัน คนขับก็ต้องมีสภาพการทำงานที่ดี ไม่ถูก “กดดัน” ให้ใช้ความเร็วสูง ทำงานเลยเวลา หรือทำงานต่อเนื่องนานเกินไป และพวกเขาควรได้รับข้อมูลการจราจรและสภาพอากาศอย่างทันท่วงที  นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังขอให้บริษัทพิจารณาลดค่าคอมฯ ที่เรียกเก็บจากคนขับทุกครั้งที่รับงานด้วย         อุตสาหกรรมนี้ในจีนเติบโตมาก ขณะนี้มีบริษัทขนส่งที่ได้รับอนุญาตถึง 318 ราย (ในจำนวนนี้มี 15 แพลตฟอร์ม) มีคนขับขึ้นทะเบียน 5.79 ล้านคน ยานพาหนะขึ้นทะเบียน 2.43 ล้านคัน ในเดือนมิถุนายนมีการเรียกใช้บริการถึง 763 ล้านครั้ง ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 4 ต่อเดือน  ย่อยนานไป ไม่ผ่าน         ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป ไต้หวันจะ “แบน” ช้อน ส้อม จาน ชาม และภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจาก “พลาสติกชีวภาพ”         หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไต้หวันกล่าวว่าได้ปรับปรุงกฎระเบียบให้เพิ่มการห้ามใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติกชนิดโพลีแลคไทด์ (PLA) ที่เคยเชื่อกันว่าสามารถ “ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ”        เพราะพลาสติกชนิดนี้ใช้เวลาย่อยสลายนานเกินไปจนเป็นภาระต่อระบบรีไซเคิล และยังเป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายของไต้หวันที่ต้องการลดการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วย        กฎหมายดังกล่าวห้ามหน่วยงานรัฐ โรงเรียน (ทั้งรัฐบาลและเอกชน) ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านฟาสต์ฟู้ด ใช้แก้ว ชาม จาน จานรอง กล่องอาหาร และถาดที่ทำจากพลาสติก PLA        ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1,200 – 6,000 เหรียญไต้หวัน (ประมาณ 1,375 – 6,900 บาท)    ต่ำกว่าเป้า         สองปีก่อนเนเธอร์แลนด์เปิดตัวเลนจักรยานฝังโซลาเซลล์ที่ยาวที่สุดในโลก (350 เมตร) ที่หมู่บ้าน Maartensdijk อย่างยิ่งใหญ่         โครงการนำร่องซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาเมืองอูเทรคต์ และบริษัทก่อสร้าง Strukton ใช้เงินลงทุนมากถึง 1.3 ล้านยูโร (ประมาณ 49 ล้านบาท) เจ้าของโครงการยืนยันว่าถ้าประสบความสำเร็จ ต้นทุนในการสร้างเลนแบบนี้จะถูกลงเพราะจะทำให้เกิดความต้องการและการผลิตเป็นจำนวนมาก         แต่การณ์ไม่เป็นดังคาด จากที่ตั้งเป้าจะผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ 137 kWh ต่อปี ผลประกอบการในปีที่แล้วกลับทำได้เพียงร้อยละ 27 ของเป้าหมาย ทั้งที่ฤดูใบไม้ผลิในปีนั้นแดดค่อนข้างแรงจัด ในขณะที่ตัวเลขของปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 26 เท่านั้น         ผู้เชียวชาญบอกว่าอาจเป็นเพราะพื้นผิวไม่เรียบลื่นเท่าที่ควร เพราะเลนจักรยานต้องการความฝืดเพื่อป้องกันการลื่นล้มของผู้ขับขี่ ประกอบกับฝุ่นหรือโคลนจากล้อรถที่มาบดบังแสงอาทิตย์ด้วย         โครงการนี้จะได้ไปต่อหรือไม่ เดือนมิถุนายนปีหน้าจะได้รู้กัน  บำบัดไม่ทัน         เมื่อการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงกลายเป็นทางเลือกในการเดินทางอันดับหนึ่งของชาวจีน ระบบบำบัด “ของเสียจากมนุษย์” ต้องทำงานเกินความสามารถจนอาจถึงขั้น “ล่ม” ได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยด่วน        การตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟความเร็วสูงในปักกิ่งเป็นเวลาหนึ่งปี พบว่า ระดับสารประกอบออกานิก (ที่แสดงถึงการปนเปื้อนจากของเสียจากมนุษย์) ในแหล่งน้ำเหล่านี้สูงกว่าในน้ำเสียจากครัวเรือนทั่วไปหลายร้อยหลายพันเท่า อาจส่งผลให้สาหร่ายเติบโตอย่างรวดเร็วจนปริมาณออกซิเจนในแหล่งน้ำลดลง และอาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิชนิดต่างๆ อีกด้วย         ส้วมในรถไฟไฮสปีดนั้นทั้งสะอาดและสะดวก แต่ของเสียในถังเก็บไม่มีเวลาและพื้นที่เพียงพอที่จะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติด้วยความเร็วของรถไฟและจำนวนผู้ใช้บริการ และระบบบำบัดน้ำเสียที่สถานีก็ยังไม่ได้รับการอัปเกรดให้จัดการกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 สำรวจ ฟู้ดเดลิเวอรี ใครมีตัวเลือกรักษ์โลก (ครั้งที่ 2)

        ปัจจุบันการกดสั่งอาหารออนไลน์ ทำได้ง่ายสะดวก รวดเร็ว เพราะมีผู้ให้บริการให้เลือกมากมาย ตลอดช่วงการระบาดของโรคโควิด -19 ประชาชนหันมาใช้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่กันมากขึ้น   และทั้งด้วยการจัดโปรโมชัน คูปอง การสะสมแต้มต่างๆ ยิ่งทำให้ผู้บริโภคนิยมสั่งอาหารเดลิเวอร์รีมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง          อีกด้านหนึ่ง ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอร์รี่กำลังสร้างปัญหาสำคัญคือ ขยะพลาสติกจำนวนมาก ที่สำคัญคือขยะจากฟู้ดเดลิเวอรีเหล่านี้ปะปนกับเศษอาหาร จึงไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้             ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 242  นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มสำรวจตัวอย่างแอปพลิเคชันสั่งอาหารทางออนไลน์(ฟู้ดเดลิเวอรี) จำนวน 36 แอปพลิเคชัน ในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อสำรวจว่าแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรีนั้นมีตัวเลือก ‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’ ให้กับลูกค้าหรือไม่         ดังนั้นเพื่อการเฝ้าระวังต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันฟู้ดดิลิเวอรีมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาอีกหลายราย และเพื่อให้ผู้บริโภคที่มีใจของนักอนุรักษ์ได้มีข้อมูลว่า มีผู้ประกอบการรายใดที่ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกนี้บ้าง ฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และ สสส. จึงทำการสำรวจบริการสั่งอาหารออนไลน์อีกครั้ง  โดยครั้งนี้สำรวจ ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ ทั้งที่ให้บริการทั้งในพื้นที่กรุงเทพ และต่างจังหวัดดังเดิมและเพิ่มเติมรายใหม่รวมจำนวนทั้งหมด 41 ราย   สำรวจผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีรายใหม่ จำนวน 9 ราย คือ  Shopee Food TH , 1376 Delivery,  AirAsia Food ,True Food, Foodhunt , Texas Chicken Thailand, Aolaimai ,Frabbit ,Fast Delivery Ubon ระยะเวลาสำรวจ เดือนธันวาคม 2565สรุปผลการสำรวจ        - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แบบแอปพลิเคชัน  ที่มีตัวเลือก “ลดการใช้พลาสติก”  มีจำนวน 5 ราย คือ  Burger King, Food Panda, Grab Food , Line Man , AirAsia Food  (หรือ Gojek เดิม)      - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ผ่านแอปพลิเคชัน แต่ไม่มีตัวเลือก “ลดการใช้พลาสติก” มีจำนวน 22   ราย  คือ  Shopee Food TH , Foodhunt ,Truefood , 1112 Delivery ,  7- Eleven ,  KFC  Thailand ,  Mc Donald’s  , Robinhood , S&P Delivery,The Pizza company, Aolaimai, Ant Delivery, Foodman Delivery Service , Fastfood  Delivery ,Weserve ,Win Food Delivery ,Big Food Delivery,Captain Food Delivery,   Finvery,FooDee Delivery ,Coffee  World  Station , Starbucks  Thailand       - ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ออนไลน์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ผ่านช่องทาง เว็บไซต์ ไลน์ และ call center   และไม่มีตัวเลือกเพื่อลดการใช้พลาสติกที่ชัดเจน  มีจำนวน  8  ราย  คือ 1376 Delivery ,Domino’s  Pizza ,Fast Delivery Ubon ,Frabbit  ,Texas Chicken Thailand , Fuji Japanese Restaurant ,MK  delivery,Neo  Suki        และ แอปพลิเคชันยอดนิยมที่สำรวจแล้วพบว่า ไม่ใช่บริการ ฟู้ดเดลิเวอร์รี่ มีจำนวน  6   แอป คือ  CP Fresh Mart , Happy Fresh, Lalamove ,Skootar ,Wongnai ,ครัวคุณต๋อย    ข้อสังเกต      -   ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ทั้งผ่านแอปพลิเคชัน และสั่งซื้อผ่าน เว็บไซต์ ไลน์ และ call center  ที่ไม่มีตัวเลือกกดไม่รับพลาสติกแต่จะมีช่อง ‘คำขอพิเศษ’  ‘โน้ตไปยังร้านอาหาร’ ‘หมายเหตุ’  ‘ใส่รายละเอียดเพิ่มเติม (ถ้ามี)’ ซึ่งผู้บริโภคสามารถใช้ช่องทางนี้ ปฏิเสธไม่รับพลาสติก  รวมไปถึงสื่อสารถึงร้านอาหารได้โดยตรงว่า ไม่ต้องการรับพลาสติกที่ไม่จำเป็น           -   ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ มีโปรโมชั่นเพื่อจูงใจให้กดสั่งซื้อมากมาย ทั้ง มีการจัดส่งฟรี การสะสมแต้ม การลดราคาเมื่อซื้อจำนวนมากหรือ ลดราคาในวันพิเศษต่างๆ เหล่านี้เพื่อกระตุ้นยอดขายแต่ยังไม่พบว่า มีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายพร้อมๆ กับการสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคลดปริมาณขยะจากอาหารเดลิเวอร์รี่ เช่น  การสะสมแต้มจากการไม่รับช้อน ซ่อม พลาสติก ,  คูปองส่วนลดสำหรับลูกค้าที่เลือกไม่รับช้อนส้อมเป็นประจำ เป็นต้น        -   ร้านอาหารจำนวนมากมีแอปพลิเคชัน และช่องทางรับคำสั่งซื้อออนไลน์ในช่องทางอื่นๆ เช่น เว็บไซต์  ไลน์ Call center ของตนเองแต่ยังมักประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคสั่งซื้อผ่าน ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่ เช่น Grab Food , Line Man เนื่องจากจะได้รับความนิยมได้มากกว่า        -   ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ที่มีทางเลือกให้ผู้บริโภคกดไม่รับพลาสติกทั้งหมดเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่    อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่ หลายรายที่ยังไม่มีการพัฒนาระบบตั้งค่าลดการใช้พลาสติดดังกล่าว การที่ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่เห็นความสำคัญมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยให้สังคมตระหนักถึงปัญหาขยะจากอาหารเดลิเวอร์รี่ เพราะผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่รายใหญ่ รายหนึ่งเป็นหน้าร้านของร้านอาหารอีกเป็นจำนวนมาก เช่น  Foodhunt ที่ให้บริการจัดส่งอาหารให้แก่ Mister Donut , Auntie anne’s , โอโตยะ, ไทยเทอเรส ฯลฯ  และ  1112 Delivery  ที่ให้บริการจัดส่งอาหาร  The Pizza , Bonchon และอีกนับสิบร้านชื่อดัง       -   ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รีในต่างจังหวัดรายหนึ่งสะท้อนว่า “เคยให้บริการผ่านแอปพลิเคชันที่สามารถกดไม่รับพลาสติกได้ เมื่อได้ปรับเป็นการรับคำสั่งซื้อผ่านช่องทางไลน์เพื่อลดต้นทุน ผู้บริโภคมักไม่ระบุวัสดุการจัดส่ง  จึงมองว่าระบบการกดไม่รับพลาสติกในแอปพลิเคชันมีส่วนสำคัญที่กระตุ้นผู้บริโภคให้ลดขยะและตระหนักในปัญหาขยะจากอาหารเดลิเวอร์รีได้”  ข้อแนะนำ     -   ผู้บริโภค ควรใช้ตัวเลือกลดขยะพลาสติกในแอปฯ (ถ้ามี) เพื่อเป็นการช่วยในเรื่องการลดปัญหาขยะ    -   ปัญหาสำคัญของขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี คือเป็นขยะพลาสติกที่ปะปนกับเศษอาหารทำให้ไม่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ ผู้บริโภคจึงควรคัดแยกขยะก่อนทิ้งและรวบรวมนำไปให้ในจุดที่บริการรับขยะพลาสติกเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์  หรืออย่างน้อยควรชำระให้ปนเปื้อนน้อยที่สุดก่อนทิ้ง       -   ปัจจุบัน ร้านอาหารหลายร้าน หากไม่ให้ถุงพลาสติกก็อาจพัฒนาถุงพลาสติกเพื่อให้ผู้บริโภคไปใช้ซ้ำได้นานมากขึ้นที่สุด เมื่อได้รับวัสดุ /ถุงพลาสติกจึงควรนำกลับมาใช้ซ้ำหรือหาทางใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด    -   เลือกใช้บริการ ร้านอาหาร / ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี ที่มีความรับผิดชอบต่อปัญหาขยะอาหารเดลิเวอร์รีหรือปรับเปลี่ยนมาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม    การใช้บริการจัดส่งสั่งอาหารออนไลน์ อาจได้เป็นวิถีใหม่ของคนไทยไปแล้ว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการและผู้บริโภคควรได้ตระหนักร่วมกันถึงปริมาณขยะจากอาหารเดลิเวอร์รี่กำลังเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล  การลดขยะหรือการทำให้ขยะกลับมาใช้ได้จริง จึงต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน 2665

ภาชนะพลาสติกสำหรับอาหารจะเป็นสินค้าควบคุม         สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศเพิ่มเติมให้สินค้าประเภทพลาสติกที่ใช้กับอาหารเป็นสินค้าควบคุม เนื่องจากภาชนะที่ใช้สัมผัสอาหารโดยตรงอาจมีความเสี่ยงให้ก่อสารมะเร็งได้ เช่น สีที่ใช้ทาเคลือบภายนอก สารที่ใช้ทำพลาสติก         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จำนวน 136 รายการ ที่ทาง สมอ. ประกาศเป็นสินค้าควบคุม และกำลังจะเพิ่มอีก 5 รายการ ได้แก่ 1.ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากพอลิเอทิลีน พอลิพรอพิลีน พอลิสไตรีน พอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลต พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ และพอลิเมทิลเพนทีน  2. ภาชนะเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากพอลิไวนิลคลอไรด์ พอลิคาร์บอเนต พอลิแอไมด์ และพอลิเมทิลเมทาคริเลต 3. ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากอะคริโลไนไทรล์-บิวทะไดอีน-สไตรีน และสไตรีน-อะคริโลไนไทรล์  4. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่น (ใช้ซ้ำได้)  5. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่นครั้งเดียว เพิ่มเติม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งทั้ง 5 รายการที่กล่าวมาจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 มกราคม 2565 นี้ ทวงหนี้ผิดกฎหมายระบาด         นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยว่า พบแก๊งมิจฉาชีพส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ทวงหนี้เงินกู้มากขึ้น และชักชวนให้กู้วงเงินเพิ่ม โดยมี 3 ข้ออ้าง ดังนี้ 1.ขู่ว่าเป็นหนี้ไม่จ่ายจะติดคุก ความจริงคือ ไม่จ่ายหนี้ไม่ใช่ความผิดทางอาญา แต่เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ 2.จะมีการยึดทรัพย์ทันทีหากไม่ยอมจ่ายหนี้ ความจริงคือ เจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีถึงที่สุดก่อน 3.การทวง เช้า กลางวัน เย็น ไม่สามารถทำได้ ทางกฎหมายให้ทวงนี้แค่วันละ 1 ครั้งเท่านั้น หากใครได้รับการข่มขู่ลักษณะข้างต้นให้ตั้งสติแล้วบันทึกข้อมูลเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ เช่น ข้อมูลสนทนา ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เพื่อใช้ดำเนินคดีอย่าเพิกเฉย         การทวงหนี้ตามกฎหมายหากมีลักษณะการข่มขู่ ดุหมิ่น เปิดเผยข้อมูลของลูกหนี้ หรือใช้ความรุนแรงทำให้เสียทรัพย์ใดๆ อาจถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และ ผู้ประประกอบการสินเชื่อที่ไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000 – 500,000 บาท เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ห้ามโอนลอยรถ เสี่ยงได้รถผิดกฎหมาย                    กรมการขนส่งทางบก แจ้งเตือนประชาชนที่ ซื้อ-ขาย รถมือสองว่าไม่ควรซื้อ-ขาย โดยวิธีการโอนลอย เช่น การเซ็นเอกสารแล้วมาดำเนินการทีหลัง เพราะอาจจะก่อให้เกิดปัญหาสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายได้ เช่น ผู้ซื้อไม่ยอมชำระภาษีประจำปี รถเกิดอุบัติเหตุ หรือเคยนำรถไปกระทำโดยผิดกฎหมายอาจจะสร้างปัญหาผู้ขายได้ เนื่องจากชื่อเจ้าของรถยังคงปรากฎเป็นเจ้าของรายเดิมอยู่ในระบบ         ทั้งนี้การไม่นำรถมาโอนทางทะเบียน อาจทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของรถได้ว่าเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมาหรือไม่ อย่างไรก็ตามทางกรมการขนส่งทางบกได้กำชับทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขายว่าต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของรถก่อนการซื้อทุกครั้ง และต้องตรวจสอบหลักฐานทะเบียนรถให้ครบถ้วน โดยเฉพาะคู่มือรถฉบับจริงที่มีชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สีรถถูกต้องตรงกับที่ซื้อขายทุกรายการ ที่สำคัญควรตรวจสอบว่ามีการชำระภาษีประจำปีถูกต้องครบถ้วน สั่งอาหารออนไลน์ระวังเชื้อรา        กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนผู้บริโภคที่นิยมสั่งซื้ออาหารผ่านทางออนไลน์ ว่า ระวังเสี่ยงเชื้อราและให้สังเกตบรรจุภัณฑ์ หรือดูวันหมดอายุก่อนบริโภคทุกครั้ง         นายแพทย์เอกชัย  เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกรมอนามัย เผยว่า ปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านแอปพลิเคชันทางออนไลน์กันมากขึ้น เพราะสะดวก ประหยัดน้ำมัน และไม่เสียเวลาในการเดินทาง ผู้ผลิตยังนิยมจัดกลยุทธ์การตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย ทำให้ผู้บริโภคสั่งซื้ออาหารนั้นบ่อยและมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว จึงควรระวังสินค้าเก่าเก็บที่อาจเสี่ยงเชื้อรา เพราะหากเก็บรักษาไม่เหมาะสม เช่น เก็บไว้ในที่ชื้นเกินไปหรือไม่มีการอบให้แห้งดีพอ จะก่อให้เกิดสาร “อะฟลาทอกซิน” หากมีการบริโภคเข้าไปสะสมในปริมาณมากก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้ ดังนั้น เมื่อได้รับสินค้าควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ว่าสะอาด มีฝาปิดมิดชิด ซองบรรจุไม่มีรูรั่ว และอ่านฉลากให้ครบถ้วน ตั้งแต่ชนิด ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดคุณภาพ         สำหรับอาหารสดก่อนที่จะนำมาปรุง ประกอบอาหาร ควรล้างให้สะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อน และควรตรวจสอบวันหมดอายุก่อนนำมาบริโภคทุกครั้ง นอกจากผู้บริโภคควรสังเกตเรื่องความปลอดภัยของอาหารแล้ว หากพบอาหารที่สั่งมามีกลิ่นหรือสีที่เปลี่ยนไปถึงแม้จะมองไม่เห็นว่ามีเชื้อราก็ไม่ควรนำมาบริโภค ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ “สารอะฟลาทอกซิน” เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง โดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัมสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง ศาลปกครองกลาง "รับฟ้อง" คดีควบรวมธุรกิจทรู-ดีแทค        จากที่ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ยื่นคำร้อง ให้เพิกถอนมติ กสทช. “รับทราบ” การควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว และทาง สอบ.ได้นำรายชื่อผู้บริโภค 2,022 ราย ที่ได้ร่วมรณรงค์คัดค้านและสนับสนุนเรื่องดังกล่าวยื่นต่อศาลปกครองอีกด้วย         กรณีที่ผู้บริโภคยื่นคำขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ศาลได้รับคำขอดังกล่าวไว้ และรอให้ ทรู-ดีแทค มาเป็นผู้ร้องสอดในคดีจึงจะเริ่มพิจารณา เนื่องจากศาลมองว่า 2 บริษัทเป็นบุคคลภายนอกที่อาจมีผลกระทบจากการพิพากษา นอกจากนี้ สาเหตุที่ สอบ.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางนั้นมาจากที่ มติในการประชุมของ กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งด้านเนื้อหาและกระบวนการเพราะก่อนลงมติฯ กสทช.ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการก่อน ทั้งนี้มติดังกล่าวกระทบกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากกว่า 118 ล้านเลขหมาย โดยเฉพาะผู้ใช้บริการของทรูและดีแทคที่มีจำนวนสูงถึง 60 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 พบพลาสติกในถุงบ๊วยสามรส

        อาหาร ขนม หรือผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพต่างๆ ที่มีขายในร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าทั่วไป คนส่วนมากจะมั่นใจว่าขั้นตอนในการผลิตนั้นจะต้องปลอดภัยแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะว่ามีมาตรฐานการผลิตหรือ อย. รับรองอยู่ แต่บางครั้งก็อาจจะมีผิดพลาดกันได้ เมื่อเกิดเหตุขึ้นจะมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไร มาดูกัน         คุณน้ำตาลได้เข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเองซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์สินค้า “บ๊วยสามรส” ชื่อให้อารมณ์ประมาณกินแล้วตื่นแน่นอน โดยเรื่องมีอยู่ว่า วันนั้นเธอไปซื้อบ๊วยยี่ห้อโปรดที่เธอกินเป็นประจำจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เมื่อได้บ๊วยของโปรดมาก็นำกลับบ้าน ตอนที่เธอแกะบ๊วยและส่งเข้าปาก ในขณะที่กำลังเคี้ยวๆ บ๊วยสุดโปรดนั้น ก็พบว่า ทำไมมีสัมผัสแปลกๆ แข็งๆ อยู่ในปาก ตอนนั้น “ตกใจมาก”         เมื่อคายสิ่งแปลกปลอมนั้นออกมาดูก็ต้องเจอกับพลาสติกขนาด 1 เซนติเมตร (ซึ่งไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่มาจากห่อบ๊วย) คุณน้ำตาลคิดในใจ “ดีนะ ที่ไม่กลืนไปเสียก่อน” เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบคุณน้ำตาลจึงได้โทรศัพท์ไปร้องเรียนกับทางผู้ผลิตสินค้า เพื่อตามหาความรับผิดชอบ        ทางบริษัทไม่ได้ปฏิเสธแต่แสดงความรับผิดชอบต่อกรณีนี้ว่า บริษัทฯ จะติดต่อกลับพร้อมมอบกระเช้าและทำหนังสือขอโทษให้คุณน้ำตาลเพื่อเป็นการเยียวยา ซึ่งคุณน้ำตาลคิดว่าน่าจะไม่ใช่แบบนี้ แค่นี้ก็พอหรือ คุณน้ำตาลต้องการให้ทางบริษัทแสดงความรับผิดชอบโดยจ่ายเป็นเงินเยียวยาพร้อมทั้งคำขอโทษเป็นลายลักษณ์อักษรของบริษัท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อคุณน้ำตาลเจรจากับทางบริษัทก็ยังหาขอสรุปไม่ได้สักที เนื่องจากทางบริษัทยืนยันที่จะชดเชยโดยการมอบกระเช้าและทำหนังสือขอโทษเพียงเท่านั้น จึงได้เข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา                ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ติดต่อไปทางบริษัทเพื่อสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งทางบริษัทได้ตอบกลับมาว่า ได้มีผู้คนมาร้องเรียนกรณีดังกล่าวและได้เรียกเงินชดเชย 5,000 บาทจริง อย่างไรก็ตามทางบริษัทมองว่ามากเกินไป ยืนยันจะให้กระเช้าพร้อมกับคำขอโทษเหมือนเดิมหรือถ้าหากไม่เอากระเช้าก็จะขอชดเชยเยียวยาเงินคืนให้เท่ากับราคาสินค้ามากกว่าเดิมประมาณ 5 เท่า ถุงละ 120x5 = 600 บาท         เมื่อทางมูลนิธิฯ ได้รับข้อมูลดังนั้น จึงโทรไปสอบถามทางผู้ร้องอีกรอบ ซึ่งผู้ร้องก็ยังคงยืนยันที่ต้องการให้บริษัทชดเชยเงินเยียวยาจำนวน 2,000 - 5,000 บาท พร้อมทำหนังสือขอโทษส่งมาทางอีเมลหรือเฟซบุ๊ก หลังจากแจ้งเจตนาของผู้ร้องและประสานงานเพื่อไกล่เกลี่ยกันแล้ว ทางบริษัทผู้ผลิตยอมรับข้อเสนอโดยตกลงว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ทางผู้เสียเป็นเงิน 2,000 บาท พร้อมทั้งผู้ผลิตฝากขอโทษไปถึงผู้ร้องอีกรอบถึงเรื่องที่เกิดขึ้น อันเป็นว่าจบไปได้โดยดี         อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคเจอเรื่องดังกล่าวถึงขั้นได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์หรือสินค้า เมื่อต้องเข้ารับการรักษาควรที่จะต้องขอใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลและเก็บไว้ด้วยเพื่อเป็นหลักฐาน นอกจากนี้ ถ้าผู้บริโภคเจอเรื่องดังกล่าวก็ควรที่จะเรียกร้องสิทธิและค่าชดเชยเยียวยา เพราะหากผู้ผลิตรับทราบก็จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2565

นายกฯ สั่งปฏิรูปรถเมล์ไทย         5 เมษายน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้าของโครงการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาดเพื่อมาให้บริการประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่า “จะสามารถให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565”  โดยการปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้ ต้องการให้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะยกระดับมาตรฐานบริการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งกรมการขนส่งทางบก จะมีการประเมินผลการประกอบการด้วยดัชนีชี้วัด 12 ข้อ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ รถโดยสารใหม่จะต้องมี GPS  CCTV หรือระบบ E-Ticket เก็บข้อมูลผู้โดยสาร ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ช่วงเวลาไหนผู้โดยสารแน่นหรือคนน้อย หรือช่วงไหนรถติด โดยข้อมูลจะถูกนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว โฟม-พลาสติกใช้ครั้งเดียว ห้ามนำเข้าอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช         ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง นำเข้าเขตอุทยานแห่งชาติ  ทั้งนี้เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง ระบบนิเวศ และเป็นการควบคุมลดปริมาณขยะในอุทยานแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังนี้         ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว ได้แก่ พลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องบรรจุอาหารพลาสติก แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) หลอดพลาสติก และช้อน-ส้อมพลาสติก เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มีผล 6 เมษายน 2565 เป็นต้นไป)  ตำรวจสอบสวนกลางเตือนภัย “มิจฉาชีพ แอบอ้างเป็นบริษัทเงินกู้”         ตำรวจสอบสอบสวนกลาง ได้โพสต์เตือนภัย โดยมีข้อความระบุว่า ปัจจุบันเราจะพบเห็นกลุ่มมิจฉาชีพหลากหลายกลุ่มใช้กลลวงต่างๆ หลอกลวงประชาชน เพื่อให้ได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนตัวต่างๆ รวมไปถึงทรัพย์สินของมีค่าของประชาชน ตำรวจสอบสวนกลางจึงขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ทราบถึงรูปแบบหนึ่งของมิจฉาชีพที่จะแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของท่านไป เพื่อนำไปใช้ในการถอนเงินในบัญชี ซึ่งมิจฉาชีพจะติดต่อผ่านช่องทาง SMS Line Facebook หรืออื่นๆ และแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกลวงให้โอนค่าธรรมค้ำประกัน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว เลขหน้า-หลังบัตรประชาชน เลขหน้า-หลังบัตรเครดิต  วันเดือนปีเกิด หลังจากนั้นนำข้อมูลไปใช้เพื่อถอนเงินในบัญชี เพื่อความปลอดภัยเราควรตรวบสอบข้อมูลให้แน่ใจ ว่าบริษัทบริการเงินกู้นั้นได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ https://bit.ly/3rW26VF   (เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศ) หากพลาดโอนเงินให้มิจฉาชีพสามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ หรือติดต่อได้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร.1599 กรมอนามัยเผยคนไทยบริโภคน้ำตาลสูงเสี่ยงโรค NCDs          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าปัจจุบันคนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ คือไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มากยิ่งขึ้น         สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 ที่ระบุว่า โดยเฉลี่ยคนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาล 3 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะเด็กอายุ 6-14 ปี ซึ่งคือกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด  ทั้งนี้เครื่องดื่มผสมน้ำตาลที่ขายทั่วไปนั้น พบว่ามีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 9-19 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ปริมาณที่เหมาะสมจริงๆ แล้วคือไม่ควรมีน้ำตาลเกินกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินน้ำตาลของคนไทย สามารถเปลี่ยนได้ โดยเริ่มจากการลดการดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมาเป็นดื่มน้ำเปล่า 6-8 แก้วต่อวันแทน  และขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ร้านเครื่องดื่ม ร้านกาแฟที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ขอให้ช่วยกันในการคิดค้นหาเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยจำหน่ายในร้าน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ลดเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง ผู้บริโภคต้องการยกเลิกจองทัวร์ท่องเที่ยว “สามารถขอเงินคืนได้”          วันที่ 14 เมษายน 2565 นางนฤมล เมฆบรสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจมีผู้บริโภคที่จองทัวร์ท่องเที่ยวไว้ แต่ด้วยความที่ช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้น ผู้บริโภคที่จองทัวร์สามารถใช้สิทธิของผู้บริโภคในการยกเลิกทัวร์ที่จองไว้ได้ ตามประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ในกรณีมีเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางได้เฉพาะตัว ให้นักท่องเที่ยวแจ้งขอรับเงินค่าบริการคืนจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องจ่ายเงินคืนในอัตรา ดังนี้  1. หากนักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 30 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 100 ของเงินค่าบริการ 2. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 15 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าบริการ 3. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อนน้อยกว่า 15 วัน ไม่ต้องคืนเงินค่าบริการ กรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยไม่ใช่ความผิดผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายค่าบริการคืนในอัตรา ร้อยละ 100 ขอเงินค่าบริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ผลทดสอบสารทาเลตและบีพีเอในผลิตภัณฑ์พลาสติกบรรจุอาหาร

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภคสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลและโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ          ทาเลท (Phthalates) เป็นสารเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกลซึ่งเมื่อเติมลงในพลาสติกแล้วจะทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น (ATSDR, 2002) phthalates ส่วนใหญ่โดยเฉพาะ DEHP และ DINP (ชนิดของทาเลท) ผลิตและใช้สำหรับการเคลือบของโพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ซึ่งเป็นสารพลาสติกทั่วไปที่ใช้มากที่สุดในโลก ผลที่ตามมาต่อสุขภาพของมนุษย์ที่เกิดจากการสัมผัสกับสารเหล่านี้เป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน ความเป็นพิษของทาเลทมุ่งเป้าไปที่การรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysruptor) มีผลต่อฮอร์โมนทัยรอยด์ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Boas et al.)  ฮอร์โมนอินซูลิน ฮอร์โมนเพศ และส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์         นอกจากนี้ยังมีสารที่อยู่ในภาชนะบรรจุอาหาร น้ำดื่ม อีกชนิดหนึ่งที่มีผลรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysrupter)  ได้แก่ สารบีพีเอ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือบีพีเอเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง และเป็นสารทำให้พลาสติกแข็งขึ้น พบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นขวดน้ำดื่มโพลีคาร์บอเนต ขวดนมพลาสติกแข็ง ถ้วยน้ำสำหรับเด็ก ภาชนะบรรจุอาหารภาชนะใส่น้ำและยังใช้เคลือบในกระป๋องอาหาร ทั้งนี้มนุษย์อาจจะได้รับสารบีพีเอจากอาหารน้ำดื่มที่สัมผัสอยู่บนพื้นผิวภาชนะพลาสติกที่มีสารบีพีเอ โดยสารบีพีเอสามารถหลุดออกจากภาชนะเข้าสู่อาหารน้ำดื่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีของเหลวที่ถูกทำให้ร้อนหรือภาชนะที่มีรอยขีดข่วน         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยในสินค้าแก่ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค, สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกที่นำมาบรรจุอาหาร จำนวนทั้งหมด 30 ตัวอย่าง ประกอบด้วยภาชนะพลาสติกที่มีแบรนด์ ไม่มีแบรนด์ ซื้อจากห้าง ซื้อจากตลาด ซื้อจากร้าน 20 บาท ภาชนะที่บรรจุอาหารปรุงเสร็จในร้านสะดวกซื้อ และภาชนะที่จัดมาให้ในอาหารสำเร็จรูป เพื่อดำเนินการตรวจวิเคราะห์หาสารทาเลตอันตรายทั้ง 7 ชนิด และ สารบีพีเอ โดยวิธีการทดสอบทาเลตอ้างอิงตาม EN 14372: 2004, Extraction with organic solvent, determination by GC-MS. ส่วนการทดสอบ บีพีเอ (Bisphenol A); CAS No. 80-05-7 ทดสอบโดยสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์และวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือ Liquid Chromatography-Mass Spectrometry (LC-MS) โดยบริษัท TUV เป็นผู้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ ผลการทดสอบ         ผลไม่พบสารทาเลททั้ง 7 ชนิด ที่ระดับ 60 มก./กก. (.006%) หรือสูงกว่าเลย (ดูตารางที่ 1) และการทดสอบหาการปนเปื้อนของสารบิสฟีนอล (เอ) ผล ไม่พบสารดังกล่าวที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมหรือมากกว่า สรุป         ภาชนะบรรจุอาหารที่อยู่ในตลาดและได้รับการสุ่มตรวจ 30 ตัวอย่างทั้งแบบราคาสูงและราคาต่ำ ไม่พบสารทาเลทหรือ บีพีเอเกินกว่าค่ามาตรฐาน         อย่างไรก็ตามสารทาเลทในพลาสติกยังอาจก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับตัวพลาสติกเอง เนื่องจากกระบวนการผลิตมีการปล่อยสารพิษเข้าไปในอากาศและน้ำทำให้เกิดภาวะมลพิษ และต้องอาศัยพลังงานสูง นอกจากนี้พลาสติกยังเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก การรีไซเคิลจะมีคุณภาพด้อยลงจากผลิตภัณฑ์ก่อนการรีไซเคิล ดังนั้นจึงไม่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมได้ ซึ่งในกระบวนการรีไซเคิลนี้ต้องมีการเพิ่มวัตถุดิบหรือต้นทุนด้านอื่นๆ อีกด้วย ส่วนการเผาขยะพลาสติกชนิดพีวีซีจะเป็นตัวก่อให้เกิดสารไดออกซิน ผู้บริโภคจึงควรลดการใช้ภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ผลิตควรมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ในการดำเนินการเรื่องการจัดการขยะพลาสติก รวมทั้งการลงทุนในงานวิจัยด้านภาชนะบรรจุอาหารที่ปลอดภัยทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อคนโดยเฉพาะสำหรับเด็ก   ตารางที่ 1          ทาเลทเป็นสารเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกลซึ่งเมื่อเติมลงในพลาสติกแล้วจะทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น (ATSDR, 2002) phthalates ส่วนใหญ่โดยเฉพาะDEHP และ DINP ผลิตและใช้สำหรับการเคลือบของโพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ซึ่งเป็นสารพลาสติกทั่วไปที่ใช้มากที่สุดในโลก มีการใช้งานตั้งแต่อุตสาหกรรมยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ของเล่นและผลิตภัณฑ์ในการดูแลเด็ก สหภาพยุโรปได้รับกำหนดทาเลท 5 ชนิดที่มีความสำคัญและต้องควบคุม ได้แก่ ทาเลทที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง: di-isononyl phthalate (DINP), di-isodecyl phthalate (DIDP) เป็น 80% ของทาเลทที่ใช้ในยุโรป ทาเลทที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ: dibutyl phthalate (DBP), benzyl-butyl phthalate (BBP), di-2-ethyl-hexyl phthalate (DEHP) ซึ่งมีอันตรายมากกว่าและเป็นพิษ         ผลที่ตามมาต่อสุขภาพของมนุษย์ที่เกิดจากการสัมผัสกับสารเหล่านี้เป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน ความเป็นพิษของทาเลทมุ่งเป้าไปที่การรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysruptor) มีผลต่อฮอร์โมนทัยรอยด์ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Boas et al.)  ฮอร์โมนอินซูลิน ฮอร์โมนเพศ และส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ ตัวอ่อนในครรภ์มารดาที่ได้รับทาเลทพบว่าระยะห่างระหว่างรูทวารกับอวัยวะเพศมีลักษณะแคบกว่าเด็กปกติ (anogenital distance) (Swan et al.,Environ Health Perspect. 2005)  ทารกที่ได้รับสารทาเลทจากนมแม่ มีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของฮอร์โมนเพศโดยลดฮอร์โมนเพศชาย และเกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง (Main et al., Environ Health Perspect. 2006) และยังมีความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับสารทาเลท(ทั้งในครรภ์และระหว่างผู้ใหญ่) กับน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น (Tang-Peronard et al., Obesity Reviews, 2011) และโรคเบาหวาน (Swensson et al., Envir. Res.) ในเพศชายที่ได้รับสารทาเลทสูงพบเชื้ออสุจิมีรูปร่างผิดปกติและมี DNA เสียหาย รวมทั้งพบการหลั่งฮอร์โมนของการสร้างน้ำนม (โปรแลคติน) (Duty et al., Hauser et al) พบว่าความเข้มข้นของสารเมตาโบไลต์ของทาเลทที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยาก (Trafno G. et al. tox. lett., 2011) อย่างมีนัยสำคัญ        แต่ก็อาจเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ กระบวนการก่อมะเร็งและแม้กระทั่งในความผิดปกติของออทิสติกสเปกตรัม พบว่า การได้รับทาเลทในวัยเด็กมีความเกี่ยวข้องกับโรคเยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรัง และโรคหอบหืด (Bornehag et al., 2004) (Jaakkola et al., 1999) การให้ DEHP ทำให้เกิดมะเร็งตับ (Ito et al., 2007) และตับอ่อนในหนู (Selenskas et al.,1995) พบเนื้องอกของระบบสืบพันธ์เช่น endometriosis และ uterine leiomyomata มีความสัมพันธ์กับระดับของสารทาเลท (Weuve et al., Environ Health Perspect. 2010) นอกจากนั้นยังมีการศึกษาในเด็กออทิสติก 48 คน พบว่าปัสสาวะของเด็กเหล่านี้มีสาร DEHP สูงกว่าเด็กปกติอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นในมาตรฐานสากลและในหลายประเทศได้มีการควบคุมสารทาเลท        นับวันประชากรทั่วโลกจะได้รับสารทาเลทมากขึ้น การศึกษาการได้รับสาร DEHP ซึ่งเป็นทาเลทชนิดหนึ่ง ในประชากรผู้ใหญ่ชาวเยอรมันที่ไม่ได้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง 85 ราย (Koch et al., 2003) และเด็กๆ 254 ราย (Becker et al., 2004) พบว่าเด็กได้รับสาร DEHP เข้าสู่ร่างกายสูงกว่าปริมาณอ้างอิง (RfD, 20 ไมโครกรัม/กก/วัน) ถึง 26 คน (ร้อยละ 10.23) ขณะที่ผู้ใหญ่พบสารสูงกว่าค่าอ้างอิง 7 คน (ร้อยละ 5.95) จึงสันนิษฐานได้ว่าเด็กมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการได้รับ DEHP มากว่าผู้ใหญ่ และอาจเป็นเพราะการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้นในเงื่อนไขต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว ในสหภาพยุโรปได้จำกัดการใช้ทาเลทในภาชนะอาหารหรืออุปกรณ์การกินทั้งหลายที่สัมผัสกับอาหารที่นำเข้าปากมาเป็นเวลาหลายปี  เนื่องจากอาจเกิดการเคลื่อนย้ายสารทาเลทจากภาชนะพลาสติกไปยังอาหาร พบว่ากระบวนการนี้จะถูกเร่งให้เร็วขึ้นโดยให้ความร้อน (Directive 2002/72/EC) และอาหารที่มีไขมัน         สารที่อยู่ในภาชนะบรรจุอาหาร น้ำดื่ม อีกชนิดหนึ่งที่มีผลรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysrupter)  ได้แก่ สารบีพีเอ บีพีเอเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง และเป็นสารทำให้พลาสติกแข็งขึ้น พบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นขวดน้ำดื่มโพลีคาร์บอเนต ขวดนมพลาสติกแข็ง ถ้วยน้ำสำหรับเด็ก ภาชนะบรรจุอาหารภาชนะใส่น้ำและยังใช้เคลือบในกระป๋องอาหาร มนุษย์ได้รับสารบีพีเอจากอาหารน้ำดื่มที่สัมผัสอยู่บนพื้นผิวภาชนะพลาสติกที่มีสารบีพีเอ สารบีพีเอสามารถหลุดออกจากภาชนะเข้าสู่อาหารน้ำดื่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีของเหลวที่ถูกทำให้ร้อนหรือภาชนะที่มีรอยขีดข่วน บีพีเอถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย         การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า คนส่วนใหญ่จะมีปริมาณสารบีพีเอวัดได้ในปัสสาวะ ในสัตว์ทดลองพบว่าสารบีพีเอเป็นสารก่อกวนต่อมไร้ท่อที่เลียนแบบผลของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งจะรบกวนการทำงานของฮอร์โมนหลายอย่างของร่างกายเช่น ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน ฮอร์โมนทัยรอยด์ นอกจากนั้นยังพบว่า มีผลรบกวนระบบเผาผลาญอาหารได้แก่การทำงานของอินซูลิน และมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ การแท้งบุตรซ้ำ ความผิดปกติของโครโมโซมในทารกในครรภ์         ส่วนสารทาเลทยังถูกพบว่า ได้ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั้งในดินและน้ำ. อาจส่งผลรบกวนระบบฮอร์โมนต่อมไร้ท่อของมนุษย์ได้ในห่วงโซ่อาหารและน้ำ (Rzybylinska P A and WyszkowskI M, ECOL CHEM ENG S. 2016)         มาตรฐานความปลอดภัยชองสารทั้งสองชนิดในผลิตภัณฑ์เด็กรวมทั้งภาชนะบรรจุอาหารและน้ำดื่ม ที่เด็กเป็นผู้ใช้ ได้กำหนดค่าปริมาณสารทาเลตต่อน้ำหนักวัสดุ และปริมาณสารทาเลทหรือบีพีเอที่สามารถเคลื่อนตัวออกมาจากพลาสติกมาปนเปื้อนกับอาหารหรือสามารถสัมผัสได้ทางผิวหนัง สูดดมหรือทางปาก หากเป็นภาชนะอาหารเพื่อดูว่าจะมีสารนี้รั่วไหลออกมาสัมผัสกับอาหารได้มากน้อยเพียงใด         ตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2020 สหภาพยุโรปได้เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสารทาเลทในของเล่นและผลิตภัณฑ์ของใช้กับเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาชนะและอุปกรณ์ที่สัมผัสอาหารและนำเข้าปาก โดยให้รวม สารทาเลท 4 ชนิด (จากเดิม 3 ชนิด) ได้แก่ DBP/ BBP/ DEHP + DIBP แล้วต้องน้อยกว่า 0.1% ของน้ำหนักวัสดุ และกำหนดค่าสารทาเลทที่เคลื่อนตัวออกมาจากพลาสติก (SML: specific migration limit) กำหนดไว้ที่ 60 มก./กก. (.006%)         สำหรับสารบีพีเอ ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นโมโนเมอร์ในการผลิตวัสดุสัมผัสอาหารพลาสติก และยังใช้เพื่อผลิตวัสดุและสิ่งของอื่นๆ ที่สัมผัสกับอาหาร รวมทั้งอีพอกซีเรซินที่ใช้ในเคลือบเงา เมื่อเร็วๆ นี้ ค่า SML ใหม่ถูกกำหนดไว้ที่ 0.05 มก. (หรือ 50ไมโครกรัม) /กก. โดยระเบียบคณะกรรมาธิการ (EU) และไม่อนุญาติให้มีส่วนประกอบของสารนี้ในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอายุน้อยกว่าสามปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ร่วมมือสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตรวจกล่องพลาสติกบรรจุอาหารร้อน เผยทุกตัวอย่างผ่าน ต้องระวังการเลือกเก็บชนิดพลาสติกในการบรรจุอาหารเพื่อการบริโภค

        ฉลาดซื้อ ร่วมมือสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตรวจกล่องพลาสติกบรรจุอาหารร้อน เผยทุกตัวอย่างผ่าน ต้องระวังการเลือกเก็บชนิดพลาสติกในการบรรจุอาหารเพื่อการบริโภค         วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2565) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสภาองค์กรของผู้บริโภค สุ่มเก็บกล่องพลาสติกบรรจุอาหารร้อน จำนวน 30 ตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบสารทาเลท และแถลงผลการสำรวจสารทาเลท สารอันตรายต่อระบบสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกายในภาชนะบรรจุอาหารพลาสติก         รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ดำเนินการตรวจสอบสารทาเลท 7 ชนิด ในภาชนะบรรจุอาหารแบบพลาสติก และสาร BPA ทั้งหมด 30 ตัวอย่าง โดยมีทั้งภาชนะพลาสติกที่มีแบรนด์ ไม่มีแบรนด์ ซื้อจากห้าง ซื้อจากตลาด ซื้อจากร้าน 20 บาท ภาชนะที่บรรจุอาหารปรุงเสร็จในร้านสะดวกซื้อ และภาชนะที่จัดมาให้ในอาหารสำเร็จรูป โดยมีวิธีการเลือกกล่องภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ดังนี้ เลือกกล่องภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ชนิดที่มีสัญลักษณ์มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือไม่มีสัญลักษณ์ที่ถูกต้อง เพื่อสำรวจระดับความเข้มข้นของสารทาเลท วิเคราะห์การปลดปล่อยสารทาเลท, BPA & BPA Substitutes, PVC ที่มีผลออกฤทธิ์ต้านแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชาย และระดับความเข็มข้นของสารทาเลท โดยส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน เพื่อหาสารทาเลทอันตรายทั้ง 7 ชนิด และ สาร BPA โดยวิธีการทดสอบทาเลทอ้างอิงตาม EN 14372: 2004, Extraction with organic solvent, determination by GC-MS. โดยสุ่มเก็บตัวอย่างและส่งทดสอบที่ห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ในเดือนตุลาคม 2564         สรุปผลการวิเคราห์เป็นสิ่งที่น่ายินดีว่า กล่องพลาสติกบรรจุอาหารทั้งแบบราคาสูงและราคาต่ำ ไม่พบสารบีพีเอ และสารทาเลท เกินกว่าค่ามาตรฐาน ไม่พบสารทาเลททั้ง 7 ชนิด ดังกล่าวที่ระดับ 60 มก./กก. (.006%) หรือสูงกว่าตามตารางและรูป และการทดสอบ สารบิสฟีนอล (เอ) (Bisphenol A); CAS No. 80-05-7 ทดสอบโดยสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ และวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือ Liquid Chromatography-Mass Spectrometry (LC-MS) ผลไม่พบสารดังกล่าวที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมหรือมากกว่าสารทาเลท 5 ชนิดที่สหภาพยุโรปอนุญาตให้ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหาร ได้แก่            1. DBP (dibutyl phthalate)            2. BBP (butyl benzyl phthalate)            3. DEHP (Bis(2-ethylhexyl)phthalate)            4. DINP (diisononyl phthalate)             5. DIDP (diisodecyl phthalate)         ตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2020 สหภาพยุโรปจำกัดการใช้ DBP/ BBP/ DEHP ในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคทุกชนิด ที่ไม่เกิน 0.1% ของน้ำหนักวัสดุที่ผสมสารพลาสติไซเซอร์ (ก่อนหน้านั้น เกณฑ์ดังกล่าวใช้กับของเล่นและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเท่านั้น) โดยมีข้อเสนอจากผู้เชี่ยวชาญของ EFSA หรือ European Food Safety Authority เรื่องข้อกำหนดปริมาณการบริโภคต่อวัน (Tolerable Daily Intake) กำหนดให้รับทาเลท DBP, BBP, DEHP และ DINP เข้าร่างกายไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม  (µg/kg) โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์          ส่วน DIDP ไม่ส่งผลกระทบต่อระดับเทสโตสเตอโรนในตัวอ่อน จึงเสนอใช้มาตรฐาน 150 µg/kg ต่อวัน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อตับแทน (อ้างอิงจากข้อมูล https://www.efsa.europa.eu/en/news/faq-phthalates-plastic-food-contact-materials)         รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทาเลทเป็นกลุ่มของสารที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกชนิดพีวีซีเพื่อเพิ่มภาวะการคืนรูป ทาเลทไม่มีพันธะทางเคมีที่เชื่อมต่อกับพลาสติก ดังนั้นสารนี้จึงสามารถเคลื่อนย้ายออกจากผลิตภัณฑ์ไปเกาะติดกับสิ่งอื่นเช่นมือเมื่อมีการสัมผัสได้ ทาเลทมีหลายชนิด บางชนิดจัดว่าเป็นพิษต่อระบบการสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย โดยกลไกการออกฤทธิ์จะต้านแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชาย ดังนั้นในมาตรฐานสากลและในหลายประเทศได้มีการควบคุมสารทาเลท           อย่างไรก็ตามสารทาเลทในพลาสติกยังอาจก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น เดียวกับตัวพลาสติกเอง เนื่องจากกระบวนการผลิตมีการปล่อยสารพิษเข้าไปในอากาศและน้ำทำให้เกิดภาวะมลพิษ และต้องอาศัยพลังงานสูง นอกจากนี้พลาสติกยังเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก การรีไซเคิลจะมีคุณภาพด้อยลงจากผลิตภัณฑ์ก่อนการรีไซเคิล ดังนั้นจึงไม่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมได้ ซึ่งในกระบวนการรีไซเคิลนี้ต้องมีการเพิ่มวัตถุดิบหรือต้นทุนด้านอื่นๆอีกด้วย ส่วนการเผาขยะพลาสติกชนิดพีวีซี จะเป็นตัวก่อให้เกิดสารไดออกซิน ดังนั้นจึงควรลดการใช้ภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ผลิตควรมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ในการดำเนินการเรื่องการจัดการขยะพลาสติก รวมทั้งการลงทุนในงานวิจัยด้านภาชนะบรรจุอาหารที่ปลอดภัยทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อคนโดยเฉพาะสำหรับเด็ก         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และนักวิชาการศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า เราใช้กล่องบรรจุอาหารพลาสติกมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปัจจุบันมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ผู้บริโภคซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้าน การสั่งอาหารเดลิเวอรี หรือจากแอปสั่งอาหาร ทำให้ภาชนะบรรจุอาหารเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมาก และจากข้อมูลผู้บริโภคชาวกรุงเทพฯ ร้อยละ 22.7 ต้องการให้ทดสอบสำรวจบริการนำส่งอาหาร และถ้าผู้บริโภคต้องการให้นิตยสารฉลาดซื้อทดสอบอะไรก็แจ้งเข้ามาได้ เพราะเสียงของทุกท่านมีความหมายและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้  ในอนาคตอันใกล้นี้ฉลาดซื้อมีแผนจะทดสอบโคยใช้ข้อมูลความคิดเห็นของกลุ่มผู้บริโภคจำนวน 1,143 กลุ่มตัวอย่าง จากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร ที่เราได้ให้ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา บอกเราว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการเฝ้าระวัง และต้องการให้การทดสอบสินค้าและบริการเพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ มากถึงร้อยละ 77.2 และคิดว่าจะสามารถใช้ผลการทดสอบสินค้าและบริการเพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ร้อยละ 67.2  ซึ่งก็ตรงกับอำนาจและหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เข้ามาสนับสนุนให้นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เฝ้าระวังสินค้าบริการผ่านการทดสอบและสำรวจ        ด้านนายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า การเฝ้าระวังสินค้าและบริการเป็นหน้าที่หนึ่งของสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยสอบ. จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้สภาฯ มีฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภค และมีอำนาจดำเนินการเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ภายใต้ยุทธศาสตร์การสนับสนุนและดำเนินการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค สอบ. มีแผนงานสำคัญในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค โดยจัดทำโครงการสนับสนุนและดำเนินการเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ เตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่กระทบต่อสิทธิผู้บริโภค เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคทันต่อสถานการณ์ กำหนดให้มีการสนับสนุนการทดสอบ สำรวจข้อมูลและวิเคราะห์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลจากการสำรวจหรือทดสอบ เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลอย่างรอบด้าน เพียงพอต่อการตัดสินใจบริโภคสินค้าหรือบริการ และหลีกเลี่ยงสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัยหรืออาจกระทบต่อสุขภาพ อนามัยของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 กระแสต่างแดน

ดราม่า (ไก่) เกาหลี        สิ่งที่คนทั่วโลกรู้จักมากที่สุดเกี่ยวกับประเทศเกาหลี นอกจากดราม่าที่ดูแล้วติดหนึบ ก็เห็นจะเป็น “KFC” Korean Fried Chicken หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า “ไก่ทอดเกาหลี” นั่นเอง เมนูไก่ทอดที่ว่านี้เป็น “อาหารเกาหลี” ที่คนชอบมากที่สุด อ้างอิงจากผลสำรวจความคิดเห็นของคน 8,500 คนจาก 17 เมืองใหญ่ทั่วโลก โดยสถาบันส่งเสริมอาหารและกระทรวงเกษตรของเกาหลี ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา   แต่การโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนในสังคมออนไลน์เริ่มขึ้นเมื่อนักวิจารณ์ชื่อดังคนหนึ่งถามในเฟสบุ๊กว่า “เรื่องนี้น่าภูมิใจจริงหรือ” ไม่เห็นมีส่วนผสมที่เป็นของเกาหลีดั้งเดิม แถมไก่เลี้ยงในเกาหลีก็ตัวเล็กและเนื้อน้อยจนต้องปรุง “ซอส” ให้เป็นจุดขายแทน แล้วยังบอกอีกว่า “คนมีเงิน” เขาไม่กินหรอก แน่นอนว่าสมาคมผู้ผลิตไก่ไม่ถูกใจสิ่งนี้ ส่วน “คนมีเงิน” ที่ถูกพาดพิงก็รีบแสดงตัวเป็นแฟนพันธุ์แท้ไก่ทอดเกาหลีทันที (ไก่เนื้อที่เกาหลี จะถูกจับขายเมื่อมีอายุได้ 1 เดือน และมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม)  ไม่หวาน ขายไม่ออก?        บริษัทมอนเดลีซ เปิดตัว “โอรีโอ ซีโร่” ในประเทศจีนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองเทรนด์จากโซเชียลมีเดียที่แสดงให้เห็นว่า อาหารที่ “ลด” หรือ “ปราศจาก” น้ำตาล กำลังมาแรง ในขณะที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์นี้ในตลาดมากนัก ที่เลือกทดลองในตลาดจีนก่อนก็เพราะโอรีโอที่ขายในจีนเป็นสูตรที่หวานน้อยกว่าที่ขายในอเมริกาอยู่แล้ว  การเปลี่ยนผ่านไปสู่ “คุกกี้ไร้น้ำตาล” จึงน่าจะไม่ยาก บริษัทบอกว่าสารที่ใช้แทนคือ “มอลทิทอล” ที่ไม่ได้ทำให้รสชาติเปลี่ยนไปมากนัก ถ้าไม่ได้กินเป็นประจำ ก็แทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง แต่คุกกี้ดังกล่าวกลับไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร ข้อมูลจากบริษัทการตลาดในจีนระบุว่า คำว่า “ไม่มีน้ำตาล” ที่แสดงบนฉลากอาหาร ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคนจีนมากนัก เครื่องดื่มประเภทไร้น้ำตาลในจีนมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 1.25 เท่านั้น (ข้อมูลปี 2019) แต่บริษัทยืนยันจะขายขนมสูตรใหม่นี้ต่อไป เพราะเชื่อมั่นว่าในอนาคตมันจะปังแน่นอน  อีกกลุ่มเสี่ยง        ในในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาหนึ่งในสิบอันดับต้นๆ ของสาเหตุที่ทำให้คนเราไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างอย่างปกติได้คือโรคสมองเสื่อม ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าในปี 2019 ทั่วโลกมีคนเป็นโรคนี้ไม่ต่ำกว่า 55.2 ล้านคน ร้อยละ 75 ของประเทศทั่วโลกยังได้รับผลกระทบจาก “ดิสรัปชั่น” ทางด้านบริการทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยหรือความบกพร่องทางสมอง เมื่อเกิดการระบาดของโคโรนาไวรัสในปี 2020 นั่นหมายความว่า “ผู้ป่วย” โรคสมองเสื่อมในระยะแรก จะไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ทันเวลา นอกจากจะไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐได้เพราะไม่มีผลการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมยังทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการแย่ลงเพราะต้องอยู่โดดเดี่ยวจากญาติพี่น้อง และองค์การอนามัยโลกยังพบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและโรคสมองเสื่อม มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป และมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตด้วย  หมดทางสู้        ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ศรีลังกาปฏิเสธปุ๋ยออกานิก 20,000 ตันที่สั่งซื้อมาจากจีน โดยให้เหตุผลว่าปุ๋ยล็อตดังกล่าวมีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย Erwinia ที่เป็นสาเหตุของโรคเน่า ธนาคารประชาชนแห่งศรีลังกาก็ระงับการชำระเงินค่าปุ๋ย 4.9 ล้านเหรียญให้กับบริษัทชิงเต่า ซีวิน ไบโอเทค (Qingtao Seawin Biotech) ตามคำสั่งศาล จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นบัญชีดำธนาคารนี้ ส่วนชิงเต่าฯ ซึ่งส่งออก “ปุ๋ยสาหร่าย” ไปยัง 50 กว่าประเทศ รวมถึงอเมริกาและออสเตรเลีย ก็เรียกร้องค่าชดเชยที่ “เสียชื่อ” ไปถึง 8 ล้านเหรียญ เขายืนยันว่าปุ๋ยดังกล่าวผ่านการทดสอบโดยหน่วยงานภายนอกแล้ว  ในที่สุดศรีลังกา (ซึ่งเป็นหนี้จีนอยู่ 5,000 ล้านเหรียญ) ก็ยอมจ่ายเงิน 6.7 ล้านเหรียญให้บริษัทชิงเต่าฯ นำปุ๋ยล็อตดังกล่าวซึ่งยังอยู่ในเรือบรรทุกสินค้ากลับคืนไป แล้วจัดส่งปุ๋ยล็อตใหม่มาแทน ผู้บริโภคที่นั่นกำลังเผชิญกับภาวะอาหารขาดแคลนและราคาแพง ซ้ำร้ายยังหมดโอกาสที่จะได้กินอาหารปลอดภัย เพรารัฐฯ ยกเลิกแผนการทำเกษตรแบบออกานิกอีกด้วย  แผนสละแชมป์        สหรัฐอเมริกาคว้าตำแหน่งประเทศที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก มากกว่าสหภาพยุโรปรวมกัน และมากกว่าจีนถึงสองเท่า รายงานที่นำเสนอต่อรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ระบุว่าในปี 2016 อเมริกาสร้างขยะพลาสติกถึง 42 ล้านตัน เฉลี่ยประมาณคนละ 130 กิโลกรัมต่อปี ตามด้วยอังกฤษและเกาหลีใต้ (99 และ 88 กิโลกรัมตามลำดับ) รายงานซึ่งจัดทำขึ้นตามกฎหมาย Save Our Seas 2.0 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2020 ยังระบุอีกว่า ทุกปีทั่วโลกจะมีขยะประมาณ 8 ล้านตันถูกทิ้งลงสู่ทะเล เท่ากับการเทขยะหนึ่งคันรถลงทะเลทุกหนึ่งนาที และหากการทิ้งยังเป็นไปในอัตรานี้ เราจะมีขยะพลาสติกในทะเลปีละ 53 ล้านตัน ภายในปี 2030 หรือประมาณร้อยละ 50 ของน้ำหนักปลาทั้งหมดในมหาสมุทรผู้จัดทำรายงานนี้เรียกร้องให้อเมริกามียุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งรวมถึงการเก็บข้อมูลขยะอย่างเป็นระบบ และการติดตามควบคุมการทิ้งอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2022 ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ปัญหาขาดแคลนถุงพลาสติกทำให้การผลิตวัคซีนของโลกชะงัก

        การขาดแคลนถุงพลาสติกเฉพาะทางซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิตวัคซีนกลายเป็นปัญหาคอขวดที่ไปชะงักการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เพียงพอใช้ทั่วโลก เมื่อมองย้อนกลับไปปลายปี 2019 โลกก็เริ่มที่จะประสบปัญหาการขาดแคลนฟิล์มพลาสติกที่ใช้ทำถุงพลาสติกเฉพาะทางเหล่านี้ก่อนที่โควิด-19 จะเริ่มระบาดอยู่แล้ว และเมื่อโควิด-19 ระบาดหนักในช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา  วัสดุสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19  เช่น ขวดแก้ว พลาสติก จุกปิดขวดและสารเคมีประเภทต่างๆ ก็เริ่มที่จะขาดตลาด ซึ่งทำให้เป็นจุดเริ่มในการเกิดปัญหาการขาดแคลนครั้งใหญ่ทั่วโลกครั้งนี้         กระบวนการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19  เช่น BioNTech / Pfizer, Moderna และ Novavax  ต่างต้องใช้ถุงพลาสติกเฉพาะทางในกระบวนการผลิตกันทั้งนั้น โดยจะใช้ถุงพลาสติกเฉพาะทางเหล่านี้ในการเป็นท่อที่ถูกฆ่าเชื้อเพื่อทำการประกอบส่วนผสมของสารเคมีในวัคซีนขึ้น  ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ รวมไปถึง  CSL หรือบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพท้องถิ่นในออสเตรเลียที่กำลังเร่งผลิตวัคซีนอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า (Oxford-Astrazeneca) จำนวน 50 ล้านโดสให้ทันต่อความต้องการของประชากรในประเทศก็ถูกชะงักลงเนื่องจากขาดวัสดุอุปกรณ์เฉพาะทางที่สำคัญในกระบวนการผลิต  เนื่องด้วยวัสดุเหล่านี้ต้องได้รับการผลิตด้วยมาตรฐานการฆ่าเชื้อที่สูงมาก จึงทำให้มีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่สามารถผลิตมันได้          ตัวอย่างเช่นในยุโรป ดร.เจอร์เกน ลินเนอร์ หัวหน้าสมาคมผู้ผลิตส่วนผสมทางเภสัชกรรมแห่งออสเตรเลียกล่าวว่า  “เท่าที่ฉันทราบ ในยุโรปมีผู้ผลิตขวดแก้วแค่สามที่”  มากไปกว่านั้นวัสดุหลายประเภทต้องใช้ระยะเวลาในการผลิตเนื่องด้วยความซับซ้อนในกระบวนการผลิตของมัน  จึงทำให้บริษัทในหลายแห่งไม่สามารถผลิตมันออกมาได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ ได้ อีกทั้งตัววัคซีนเองก็จำเป็นต้องใช้สารเคมีหลายร้อยชนิดในการผลิต เช่น กระบวนการผลิตวัคซีน Pfizer ที่ต้องใช้ส่วนผสมในการผลิตมากกว่า 280 ชนิด  จึงทำให้ไม่แปลกที่ทั่วโลกจะเกิดอุปทานที่มากขึ้นกับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตวัคซีน         ดังนั้นจาก “ความต้องการที่ไม่เคยมีมาก่อน” นี้เองที่ทำให้บริษัทที่สามารถผลิตวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนต่างก็ตื่นตัวและพยายามอย่างเต็มที่ในการขยายความสามารถในการผลิตของตนให้มีได้ในปริมาณที่มากที่สุด  เพื่อให้ทันต่อปริมาณอุปทานที่ล้นหลามจากทั่วโลก โดยกระบวนการผลิตนั้นจะยังคงต้องรักษาระดับมาตรฐานคุณภาพเอาไว้ให้ได้อีกด้วย  ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่สำคัญเหล่านี้สามารถเห็นได้ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่กระบวนการผลิตวัคซีนถูกชะลอให้ช้าลง ดังจะเห็นได้จาก สถาบันเซรั่มรายใหญ่ของอินเดียได้ออกมากล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนถุงพลาสติกทำให้พวกเขาผลิตวัคซีน Novavax  อย่างยากลำบาก ซึ่งทำให้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทางบริษัทได้ออกมาเตือนถึงข้อจำกัดในการผลิตวัคซีนเนื่องจากกำลังประสบปัญหาการสรรหาวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต ทำให้เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาอินเดียทำลายสถิติโลกของผู้ติดเชื้อโควิด-19         วัตถุดิบที่ใช้เพื่อผลิตวัคซีนส่วนใหญ่มาจาก 13 ประเทศ นำโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อังกฤษ อาร์เจนตินา รัสเซีย บราซิล ออสเตรเลีย แคนาดา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้รวมตัวกันก่อตั้ง “วัคซีนคลับ” ตามที่ธนาคารโลกได้ขนานนามไว้ขึ้น  โดยเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อผลิตวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดรวมไปถึงตัวผลิตภัณฑ์วัคซีน “นั่นทำให้พวกเขาได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ เป็นสองเท่า”  ศ.ไซมอน อีเว็ตต์ ผู้เขียนรายงานกล่าวถึงความได้เปรียบของประเทศสมาชิกใน “วัคซีนคลับ”   จากความได้เปรียบนี้เองที่ทำให้การกระทำของประเทศที่ร่ำรวยบางประเทศส่งผลให้ส่วนที่เหลือของโลกมีความเสี่ยง เพราะประเทศที่เหลือนอกจากประเทศสมาชิกเข้าถึงสิทธิ์ในการฉีดวัคซีนได้ยากเนื่องจากต้องจ่ายเงินเพื่อนำเข้าวัคซีนมาใช้ เช่นประเทศที่ยังไม่พัฒนาหรือประเทศที่มีรายได้ต่ำ           ขณะที่จีน อินเดียและสหภาพยุโรปพยายามจัดหาวัตถุดิบและผลิตวัคซีนให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศตนเองและประเทศเพื่อนบ้าน สหรัฐอเมริกาเลือกที่จะปฏิเสธการส่งออกวัคซีนไปยังส่วนที่เหลือของโลกถึงแม้ว่าวัคซีนหลายล้านโดสในประเทศตัวเองจะไม่ได้ถูกใช้ก็ตาม เนื่องด้วยสาเหตุจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตวัคซีนและจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องหยุดการส่งออกวัคซีนเพื่อเก็บไว้ให้ประชากรในประเทศของตนเองใช้  อย่างไรก็ตามเมื่อยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียใต้หรืออินเดียต้องต่อสู้กับยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในทุกวัน  บวกกับแรงกดดันจากนานาชาติที่เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาแบ่งปันส่วนหนึ่งของวัคซีนในประเทศเพื่อช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติในสหรัฐอเมริกาจึงได้ออกมากล่าวให้การสนับสนุนสถานการณ์โควิด-19 ในอินเดีย โดยจะจัดหาวัตถุดิบเพื่อผลิตวัคซีน ตลอดจนหนทางการรักษาและอุปกรณ์ป้องกันโรคที่สำคัญกับอินเดียโดยทันที นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังมีแผนส่งออกวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) กว่า 60 ล้านโดสไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ทั่วทุกประเทศรวมไปถึงประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง นอกจากนี้ ประเทศตะวันตกหลายประเทศ นำโดย อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดาและเยอรมนีได้ให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือสถานการณ์วิกฤตของโควิด-19 ในอินเดียที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างเต็มที่         ถึงแม้ว่าการร่วมมือกันของหลายประเทศมหาอำนาจที่ตั้งใจจะพัฒนาและผลิตจำนวนวัคซีนให้เพียงพอเพื่อที่จะจัดจำหน่ายให้บริการทั่วถึงทั้งโลกจะเกินกว่าหนึ่งพันล้านโดสแล้วก็ตาม  ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น และปริมาณอุปทานในการผลิตวัคซีนก็ยังคงมีอยู่  จากการคาดเดาปริมาณที่ทั่วโลกต้องการผลิตวัคซีนภายในปีหน้าพบว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าแรงกดดันในการจัดหาวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง Reference Aime Williams and Kiran Stacey, (2021, May 1).Is there a ban on Covid vaccine exports in the US?.https://www.ft.com/content/82fa8fb4-a867-4005-b6c2-a79969139119Belinda Smith, (2021, February 12).Inside CSL, where Australia's Oxford-AstraZeneca vaccines are being made.https://www.abc.net.au/news/science/2021-02-12/covid-19-vaccine-oxford-astrazeneca-adenovirus-csl-manufacturing/13140104 Liam Mannix, (2021, May 7).Why a worldwide shortage of plastic bags is choking vaccine production.https://www.smh.com.au/national/why-a-worldwide-shortage-of-plastic-bags-is-choking-vaccine-production-20210506-p57phk.html Hannah Kuchler and Joe Miller, (2021, February 17).Shortage of giant plastic bags threatens global vaccines rollout.https://www.ft.com/content/b2f4f9cf-af80-428f-a198-2698ceb4c701

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 “ฮาวทูทิ้ง?”

        คุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและพยายามแยกขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติก แต่บางครั้งก็ไม่รู้ว่าจะจัดการกับขวด กล่อง หรือกระป๋องเปล่าพวกนั้นอย่างไร สัญลักษณ์ที่แต่ละเจ้าใช้ก็ไม่เหมือนกัน คิดมากก็เพลียจิต คุณเลยทำเท่าที่ทำได้... แล้วก็ทำใจ         ใจเย็นๆ คนทั้งโลกก็พบกับปัญหาเดียวกัน         เพื่อรับมือกับเรื่องนี้ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNDP), สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International), และ One Planet Network จึงได้สำรวจและจัดทำรายงาน “CAN I RECYCLE THIS?” A global mapping and assessment of standards, labels, and claims on plastic packaging เพื่อทำแผนผังและประเมิน “ตรามาตรฐาน” “โลโก” รวมถึง “คำกล่าวอ้าง” ของผู้ผลิตบนฉลากบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ว่าด้วยวัสดุที่ใช้ กระบวนการผลิต ความเป็นไปได้ในการรีไซเคิล และการทิ้งอย่างถูกต้อง        (อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://www.consumersinternational.org/media/352255/canirecyclethis-finalreport.pdf)         การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญใน 33 ประเทศ และสำรวจ “โลโก” และ “คำกล่าวอ้าง” บนฉลากบรรจุภัณฑ์พลาสติกใน 22 ภาษาจากเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงการลงพื้นที่ในประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเคนยา ทำให้พบประเด็นปัญหาและเกิดข้อเสนอแนะที่สำคัญ 5 ประการ ในการสื่อสารเรื่องพลาสติกกับผู้บริโภค ดังนี้        ·      การศึกษาครั้งนี้พบว่ายังมีสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุงอีกมาก ปัจจุบันมีความแตกต่างหลากหลายในการสื่อสารด้วยโลโกบนฉลากและคำกล่าวอ้างบนบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ระดับความน่าเชื่อถือ ความชัดเจนโปร่งใส การเข้าถึงข้อมูล รวมถึงการที่ผู้ผลิตให้ข้อมูลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้จึงเสนอให้ภาคธุรกิจใช้ “แนวปฏิบัติว่าด้วยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์” ที่ตีพิมพ์โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติและศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ (ITC) ในการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกกับผู้บริโภค        ·      สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการศึกษาครั้งนี้คือ บรรดาฉลากและคำกล่าวอ้างล้วนสร้างความสับสนให้ผู้บริโภค จึงควรมีการกำหนด “ความหมาย” ให้ตรงกัน เช่น สัดส่วนปริมาณพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือการทิ้งที่ถูกต้อง เพื่อที่ผู้ประกอบการจากทั่วโลกจะได้ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน        ·      มาตรฐานอ้างอิง โลโก และคำกล่าวอ้าง ต้องสะท้อนสภาพตามความเป็นจริงมากขึ้น คำจำกัดความ และข้อกำหนดทางเทคนิคที่ใช้ในมาตรฐานเกี่ยวกับระดับความสามารถในการถูกรีไซเคิล การย่อยสลาย ไม่ว่าจะโดยตัวของมันเองหรือจากฝีมือของจุลินทรีย์ในดิน ควรเป็นสิ่งที่สามารถวัดประเมินได้และทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายด้วย         ·    การใช้สัญลักษณ์ “ลูกศรวิ่งไล่กัน” ควรถูกจำกัดไว้สำหรับการแสดงว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกนั้นสามารถนำไปรีไซเคิลได้เท่านั้น งานสำรวจพบว่าปัจจุบันมีการนำสัญลักษณ์ดังกล่าวไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น ทำให้ผู้บริโภคสับสน นำไปสู่การคัดแยกขยะที่ไม่ถูกต้อง และกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภค ผู้ประกอบการจึงควรเลิกใช้สัญลักษณ์นี้ในตราสินค้า เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด        ·      ควรมีการนำโลโกรีไซเคิลที่ผ่านการออกแบบอย่างดีและให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภคมาใช้ โลโกที่ดีสามารถส่งเสริมพฤติกรรมการทิ้งขยะอย่างรับผิดชอบของผู้บริโภคได้ แน่นอนว่าภาคธุรกิจควรใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่รีไซเคิลได้ แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าแสดงโลโกที่เข้าใจง่ายด้วย ด้านองค์กรกำกับดูแลควรออกกฎระเบียบให้ชัดเจนเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคใช้และ “ทิ้ง” บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง ในขณะที่ภาครัฐเองก็ต้องจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิลไว้รองรับด้วย                 ขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่เราร่วมกันสร้างและต้องร่วมกันแก้ แม้ในปัจจุบันภาคธุรกิจและภาครัฐจะให้ความสนใจกับการจัดการขยะพลาสติกมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายในการทำให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคและรูปแบบการผลิตที่ยั่งยืน ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 9 ของพลาสติกที่ผลิตออกมาทั้งหมดเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล         สิ่งที่เราต้องช่วยกันทำอย่างเร่งด่วนคือการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่วัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์อย่างพลาสติกจะได้รับการคงคุณค่าทางเศรษฐกิจไว้ในนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก่อนจะถูกลดชั้นไปเป็น “ขยะ” และเป็นส่วนหนึ่งของ “ขยะพลาสติก” ที่รั่วไหลลงสู่ทะเลประมาณปีละ 8 ล้านตัน และทำให้เกิดไมโครพลาสติกที่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ชายฝั่ง         ปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่มักถูกมองข้ามคือผู้บริโภค สินค้าที่เราเลือกซื้อและวิธีการ “ทิ้ง” ของเรามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อกระบวนการผลิตสินค้าและการรั่วไหลของพลาสติกเข้าสู่สิ่งแวดล้อม หากเราได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าใจง่าย ไม่สับสน เราจะเป็นกำลังสำคัญในขบวนการกู้โลกได้อย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ทำไมต้องคัดค้านการนำเข้าขยะพลาสติก

        คนไทยทุกภาคส่วนทำงานหนักเพื่อลดการใช้พลาสติก และรณรงค์ให้ใช้พลาสติกให้น้อยที่สุด ไม่รับถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้าทั้งหลาย หรือแม้แต่การใช้แก้วน้ำส่วนตัวแทนแก้วพลาสติก         การจัดการหรือการกำจัดขยะพลาสติกทำได้ยาก ทำให้ประเทศพัฒนาแล้ว ทำการแยกขยะพลาสติกอย่างละเอียดลออ เพราะการกำจัดขยะพลาสติกมีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่ออาชีพของกลุ่มซาเล้ง ประมาณ 1.5 ล้านคน และร้านรับซื้อของเก่าทั้งประเทศที่จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยอีกไม่น้อยกว่า 3 หมื่นร้านค้า        ปัจจุบันประเทศไทยยังอนุญาตให้นำเข้าขยะพลาสติก โดยที่คนไทยรับรู้เรื่องนี้น้อยมาก ภาพคอนเทนเนอร์ใส่ขยะจำนวนมาก ที่ไม่สามารถกดดันให้คืนกลับสู่ประเทศต้นทาง ทำให้ต้องแบกรับภาระในการจัดการขยะพลาสติกเหล่านั้น เนื่องจากการนำเข้าขยะพลาสติกรัฐยังผ่อนผันให้สามารถนำเข้าได้ 2 ปี โดยกำหนดปริมาณให้นำเข้าในปริมาณที่ลดลง เช่น ในปี 2562 กำหนดเป้าหมายไม่เกินจำนวน 7 หมื่นล้านตัน แต่พบว่า มีการนำเข้าจริงสูงถึง 3 แสนล้านตัน หรือแม้แต่ในปี 2563 ได้รับการผ่อนผันเพียง 4 หมื่นล้านตัน แต่กลับพบว่านำเข้าในระดับแสนล้านเช่นเดียวกันความล้มเหลวในการควบคุมการกำกับดูแลปริมาณการนำเข้าทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งจัดการขยะพลาสติกอันตราย ต้นเดือนกันยายนหลายภาคส่วนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการนำเข้าขยะพลาสติกทันที ไม่มีการผ่อนผันอีกต่อไป ตามมติคณะรัฐมนตรีเหมือนกับที่กระทรวงพานิชย์ มีมาตรการห้ามนำเข้าขยะอิเลคโทรนิกส์ไปเมื่อ 15 กันยายนที่ผ่านมา และต้องกำหนดให้ประเทศไทยยกเลิกการนำเข้าขยะหรือเศษพลาสติกและซากอิเล็กทรอนิกส์ 100% ภายในปี 2563ให้ได้ไม่ใช่ผ่อนผันต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด         ขยะพลาสติกเหล่านี้มาจากไหนขยะเหล่านี้มาจากการยุติการห้ามนำเข้าขยะของประเทศจีน ส่งผลให้ขยะพลาสติกทะลักมาสู่กลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากจีนประสบปัญหาการลักลอบนำเข้าเข้าสารอันตรายที่ปะปนมากับขยะพลาสติกและขยะอื่นหลายชนิดที่นำมาเป็นวัตถุดิบเพื่อรีไซเคิลและผลิตสิ่งของในประเทศ จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐบาลจีนจึงออกประกาศห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศเป็นการเร่งด่วน รวมทั้งสิ้น 32 รายการมาตรการนี้ส่งผลให้ขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลไหลทะลักสู่ประเทศอื่นในอาเซียนรวมถึงประเทศไทย เช่น พบว่า ในปี พ.ศ.2561 มีการนำเข้าเศษพลาสติกสูงถึง552,912 ตัน เทียบกับปีพ.ศ. 2559ก่อนประเทศจีนประกาศห้าม มีการนำเข้ามาเพียง 69,500 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า         นโยบายที่ขัดแย้งกันเองของรัฐบาล จะทำอย่างไรที่จะช่วยกันแก้ปัญหาต้นน้ำ ซึ่งคงหนีไม่พ้นการห้ามนำเข้าขยะพลาสติก เพราะนอกจากเป็นปัญหากับซาเล้ง ส่งผลต่อสุขภาพสิ่งแวดล้อม ยังเกิดปัญหาการแย่งน้ำของชุมชุนในการทำโรงไฟฟ้าชุมชนจากขยะพลาสติก ตลอดจนความไม่เป็นธรรมในโครงสร้างราคาพลังงาน ที่โรงงานพลาสติกขายไฟฟ้าได้ 5.5 บาทต่อหน่วย ขณะที่ ไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์มีรับซื้อเพียง 1.68 บาทเท่านั้น เร่งจัดการปัญหาขยะพลาสติกในประเทศเราเถิด ไม่ควรมีตำแหน่งรับกำจัดขยะพลาสติกทั่วโลก

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 227 กระแสต่างแดน

เข้มได้อีก        กรุงโซลแบนการใช้ถุงและภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารมาได้สองปีแล้ว และเพื่อเพิ่มอัตราการรีไซเคิลพลาสติก ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ปี 2563 โซลได้เพิ่มกฎการแยกขยะขวดน้ำพลาสติก(ขวด PET) ด้วย         ครัวเรือนในอพาร์ตเมนท์จะต้องลอกฉลากขวดออก แล้วนำมาทิ้งในที่ๆ ส่วนกลางจัดไว้ ส่วนผู้อยู่อาศัยในบ้านเดี่ยวต้องไปรับ “ถุงทิ้งขวด PET” จากเทศบาล เมื่อใส่ขวดดังกล่าวจนเต็มแล้วก็นำไปทิ้งในจุดที่กำหนด ในวันพฤหัสเท่านั้น         เดนมาร์กก็เช่นกัน ก่อนหน้านี้อียูแบนถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งและห้ามร้านค้าแจกถุงพลาสติกหูหิ้วแล้ว ลูกค้าที่ต้องการใช้ต้องซื้อและจ่ายแพงขึ้นด้วย รายงานบอกว่าถุงหูหิ้ว ไม่ว่าจะเป็นกระดาษหรือพลาสติกชนิดหนากว่า 0.33 มม. จะมีราคาไม่ต่ำกว่า 4 โครน (ประมาณ 5 บาท)        ทั้งนี้ด้วยเหตุผลทางสุขอนามัย เขายังอนุญาตให้ร้านแจกถุงบางๆ สำหรับใส่ผักผลไม้หรือขนมปังได้         ถูกและไว        รถไฟ AVLO หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า “รถไฟความเร็วสูงต้นทุนต่ำ” พร้อมจะเปิดให้บริการระหว่างเมืองมาดริดและบาเซโลนา (ระยะทาง 621 กิโลเมตร) ในเดือนเมษายนนี้แล้ว         รถไฟดังกล่าวมีให้บริการวันละ 5 เที่ยวจากแต่ละเมือง ด้วยค่าโดยสารในอัตรา 10 ถึง 60 ยูโร (ประมาณ 345 ถึง 2,000 บาท) ต่อเที่ยว ทั้งนี้ AVLO สามารถให้บริการได้ในราคาที่ถูกกว่า AVE รถไฟความเร็วสูง (310 กม./ชม.) ของสเปนที่ให้บริการอยู่ก่อนหน้านี้ในราคา 41 ถึง 152 ยูโร (ประมาณ 1,400 ถึง 5,200 บาท) ต่อเที่ยว        AVLO ซึ่งมีพื้นที่ระหว่างที่นั่งเท่ากับ AVE จะไม่มีบริการอาหารและไม่มีไวฟายฟรี         Renfe หรือการรถไฟสเปนระบุว่า แต่ละปีมีผู้คนเดินทางระหว่างสองเมืองนี้ถึง 10 ล้านคน (4 ล้านคนเดินทางด้วยรถยนต์ 4 ล้านคนใช้บริการ AVE และอีก 2 ล้านคนใช้เครื่องบิน) เขาคาดหวังว่าในสองปีแรกที่เปิดดำเนินการจะมีผู้ใช้บริการ 1 ล้านคน โดยเน้นไปที่คนหนุ่มสาวที่เคยเดินทางด้วยรถยนต์        ไม่มีพี่วิน         ผู้คนในเมืองลากอส เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดของไนจีเรีย ออกมาแสดงความไม่พอใจกันอย่างกว้างขวางหลังรัฐบาลประกาศให้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นสิ่งผิดกฎหมาย         การจราจรในลากอสหนาแน่นไม่แพ้ใครในโลก ด้วยปริมาณรถ 200 คันต่อระยะทางหนึ่งกิโลเมตร บวกกับบริการรถ/เรือโดยสารสาธารณะที่ยังมีไม่เพียงพอ มอเตอร์ไซค์รับจ้างจึงเป็นทางเลือกที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดสำหรับคนที่เดินทางไปทำงาน         แต่รัฐบาลให้เหตุผลว่ามอเตอร์ไซค์เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในอันดับต้นๆ สร้างความวุ่นวายไม่เป็นระเบียบบนท้องถนน และมักถูกใช้เป็นพาหนะพาอาชญากรหลบหนีการจับกุม         การแบนครั้งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสตาร์ทอัปที่ให้บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์อย่าง Okada และ ORide ในขณะเดียวกันบริการเรียกรถยนต์อย่าง Uber และ Bolt ที่ผู้คนต้องหันไปพึ่งพาก็มีอัตราค่าบริการเพิ่มขึ้นหลังการประกาศ        เกินควบคุม        ที่อยู่อาศัยในปารีสนั้นขึ้นชื่อว่าหายากและราคาแพงสุดๆ รัฐบาลจึงออกกฎหมายกำหนดเพดานค่าเช่า ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 เพื่อคุ้มครองไม่ให้ผู้เช่าถูกเอาเปรียบ        แต่การสำรวจประกาศโฆษณาบ้านเช่าในปารีส 1,000 ชิ้นโดย CLCV องค์กรผู้บริโภคของฝรั่งเศส พบว่า ร้อยละ 44 ของโฆษณาเหล่านั้นยัง “ผิดกฎหมาย” และชนิดของที่อยู่อาศัยที่มีการละเมิดผู้บริโภคมากที่สุดคืออพาร์ตเมนต์แบบห้องนอนเดียว ตามด้วยอพาร์ตเมนต์แบบ 2-3 ห้องนอน และแบบ 4 ห้องนอน         โดยเฉลี่ยแล้วค่าเช่ารายเดือนที่ระบุในโฆษณา สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดอย่างน้อย 120 ยูโร (4,100 บาท) และเขายังพบว่า เจ้าของบ้านที่ติดประกาศเองมีอัตราการเอาเปรียบผู้เช่าสูงกว่าบริษัทนายหน้าด้วยซ้ำ (ร้อยละ 52 และ ร้อยละ 30 ตามลำดับ)         แม้จะเปิดช่องให้มีการร้องเรียน แต่จนถึงธันวาคม 2562 มีผู้ร้องเข้ามาแค่ 21 รายเท่านั้น CLCV บอกว่าผู้บริโภคอาจยังไม่รู้กฎหมาย หรืออาจยอมจ่ายแพงเพราะหาบ้านจนท้อแล้วก็ได้        มีต้นทุน        พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนีกำลังผลักดันให้เบอลินออกตั๋วโดยสารรายปีในราคา 365 ยูโร (12,540 บาท) เรื่องนี้ถูกใจคนเดินทางที่ปัจจุบันจ่าย 728 ยูโร (25,000 บาท) แน่นอน         แต่สมาคมการขนส่งและค่าโดยสารแห่งมิวนิคค้านว่า “แผนตั๋วถูก” นี้ต้องใช้เงินสนับสนุนถึงปีละ 160 ล้านยูโร (54,000 ล้านบาท) และตั้งคำถามว่าเงินนี้จะมาจากไหน สมาคมฯ ระบุว่ากรุงเวียนนา ในออสเตรียสามารถทำตั๋ววันละ 1 ยูโรได้ตั้งแต่ 7 ปีก่อน เพราะมีระบบรองรับที่ดีบวกกับมีค่าจอดรถที่แพงจนผู้คนไม่อยากใช้รถ         ก่อนหน้านี้แคว้นบาวาเรียเคยเสนอแผนดังกล่าวแต่ก็พับเก็บไป มีเพียงนักเรียนและผู้ที่อยู่ระหว่างฝึกงานเท่านั้นที่มีสิทธิใช้ตั๋ว 365 ยูโรได้             ในเบอลิน นักเรียนนักศึกษาได้รับยกเว้นค่าโดยสาร คนว่างงานมีสิทธิซื้อตั๋วเดือนราคาพิเศษ (27.5 ยูโร หรือ 950 บาท) และพนักงานบริษัทที่เซ็นสัญญาร่วมจ่ายกับรัฐในโครงการ Job Ticket สามารถซื้อตั๋วราคาพิเศษได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน 2562

ปฏิรูปห้องฉุกเฉิน สปสช. พร้อมจัดบริการนอกเวลาราชการ        สปสช. แถลงผลการประชุม วันที่ 13 พฤศจิกายน ระบุที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอการใช้สิทธิบริการสาธารณสุขตามนโยบาย ‘บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ’ ซึ่งนำเสนอโดย นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ ว่า เพื่อลดความแออัดในห้องฉุกเฉินเพื่อให้ผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินวิกฤตและเร่งด่วนได้รับบริการมีคุณภาพมากขึ้น แยกการบริการเจ็บป่วยไม่รุนแรงและเจ็บป่วยทั่วไปออก เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการที่ไม่ถึงเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนมีสิทธิ์เข้ารับบริการนอกเวลาราชการ         โดยมีการออกประกาศตามข้อ 10 วรรคสอง ของข้อบังคับมาตรา 7 กำหนดเพิ่ม ‘เหตุสมควรอื่นเพื่อลดความแออัดในห้องฉุกเฉินและเพิ่มคุณภาพในการใช้บริการนอกเวลาราชการ’ เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) และผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน กำหนดเงื่อนไขจัดบริการนอกเวลาราชการเฉพาะหน่วยบริการเฉพาะที่มีศักยภาพตามแนวทางบริการฉุกเฉินคุณภาพ ซึ่งจะแยกจัดบริการเป็น 2 ห้องชัดเจนตามมาตรฐานคือ ห้องฉุกเฉินคุณภาพเพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและเจ็บป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีแดงและสีเหลือง) และห้องฉุกเฉินไม่รุนแรงเพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) และที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลา พร้อมแยกระบบข้อมูลบริการนอกเวลาราชการ         นอกจากนี้ได้เพิ่มค่าบริการสาธารณสุขนอกเวลาราชการในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง และผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการเป็นรายการบริการใหม่ โดยกำหนดอัตราชดเชยค่าบริการ 150 บาทต่อครั้ง ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 คาดว่าจะมีการรับบริการประมาณ 1.05 ล้านครั้ง หรือร้อยละ 10 ของการรับบริการผู้ป่วยนอก ใช้งบประมาณไม่เกิน 157.50 ล้านบาท โดยในระหว่างนี้จะเป็นการใช้เงินกองทุนรายการรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสมในการดำเนินการหมอเผยพบมะเร็งเต้านมในสาวอายุน้อยเพิ่มขึ้น!         ในงานเสวนา “Save Your BREAST” จัดโดยมูลนิธิถันยรักษ์ รพ.ศิริราช กลุ่มอาร์ตฟอร์แคนเซอร์ และชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย เผยข้อมูลสำคัญว่า มะเร็งเต้านมคร่าชีวิตของผู้ป่วยสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ดังนั้นผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพเต้านมของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นและมีอายุน้อยลง         รศ.ดร.นพ.สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากตรวจพบเร็วในระยะแรกจะเป็นผลดีต่อการรักษา เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทั้งการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องเมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ที่ทันสมัยสามารถตรวจพบตั้งแต่ก้อนเล็ก ทั้งวิธีการผ่าตัด การฉายรังสีรักษา การให้ยาคีโม ยาต้านฮอร์โมน และยารักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) ที่พัฒนาก้าวหน้า สามารถรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกให้มีโอกาสหายได้ หรือรักษาผู้ป่วยระยะลุกลามให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นปีหน้าลด-เลิกถุงพลาสติก ก่อนประกาศกฎหมายห้ามใช้เต็มตัว        มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอใช้กลไกขับเคลื่อนการงดใช้ถุงพลาสติก โดยจะมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และภาคเอกชน         “ภายในวันที่ 1 ม.ค. 63 จะลดและเลิกใช้ถุงพลาสติกที่ใช้กันทั่วไปอยู่ในทุกวันนี้แบบครั้งเดียวทิ้ง หรือที่ทุกคนเรียกกันว่า “ถุงก๊อบแก๊บ” เพื่อให้หันไปใช้ถุงกระดาษหรือถุงผ้า จากนั้นในวันที่ 1 ม.ค. 64 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะขอให้ประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการห้ามใช้ถุงพลาสติก แบบครั้งเดียวทิ้งด้วย” นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวกสทช.ยืนยันประเทศไทยจะมี 5G ใช้อย่างแน่นอน ภายในเดือน ก.ค. 2563        นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในช่วงต้นเดือน ก.พ. 2563 คาดว่าจะเปิดประมูลคลื่นสำหรับทำ 5G พร้อมกัน 4 คลื่น ได้แก่ 700 MHz,1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz เพื่อให้สามารถออกใบอนุญาตได้ไม่เกิน 20 ก.พ. 2563 และเริ่มลงทุนโครงข่ายในช่วงต้นเดือน มี.ค. 2563 เพื่อภายในเดือนก.ค. 2563 ผู้ชนะการประมูลจะสามารถเปิดให้บริการ 5G ในบางพื้นที่ที่มีความต้องการได้ ระวังภัยโรคเอ็มเอส (MS) หรือ Multiple Sclerosis         สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ออกโรงเตือนคนวัยทำงาน ระวังภัยโรคเอ็มเอส (MS) หรือ Multiple Sclerosis ทำให้แขนขาอ่อนแรง ชาตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ตามองไม่เห็นหรือมองภาพซ้อน พบมากในช่วงอายุ 20-40 ปี         นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคเอ็มเอส คือโรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นประสาทในสมองและไขสันหลัง สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่แน่ชัด แต่เกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่น ความไม่สมดุลของภูมิคุ้มกัน การติดเชื้อไวรัสบางชนิด พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในช่วงอายุ 20-40 ปี ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ตามองไม่เห็นหรือมองภาพซ้อน ปัญหาเกี่ยวกับการกลืน การออกเสียง สะอึก ปวดแสบร้อน หรือคล้ายไฟช็อต การทรงตัวที่ผิดปกติ ภาวะเมื่อยล้า ปัญหาด้านความจำ อารมณ์ ความคิด และการควบคุมการขับถ่าย         ทั้งนี้ โรคดังกล่าวไม่ใช่โรคติดต่อ ผู้ป่วยแต่ละคนจะแสดงอาการแตกต่างกัน บางคนอาการหนัก หรือบางคนแสดงอาการเป็นครั้งคราว และไม่สามารถคาดเดา จึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีการรักษาแบบให้หายขาด แต่เป็นการรักษาเพื่อฟื้นฟูร่างกายและควบคุมอาการไม่ให้แย่ลง โดยแพทย์ให้คำแนะนำว่า ผู้ป่วยควรงดสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงความเครียด         โรคเอ็มเอส เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ควรหมั่นสังเกตร่างกายของตนเอง หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาได้อย่างทันท่วงที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ห้างไทยเขาจัดการอย่างไรกับถุงก๊อบแก๊บ

            ทุกวันนี้นักช้อปทั่วโลกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วหรือถุงก๊อบแก๊บปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านใบ เฉลี่ยคนละ 150 ใบ พันรอบโลกได้ถึง 4,200 รอบ (www.oceancrusaders.org) และที่น่าเป็นห่วงคือพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวเหล่านี้ถูกใช้งานเฉลี่ยเพียงแค่ใบละ12 นาที แต่อาจยังเป็นขยะอยู่บนผิวโลกได้ถึง 400 ปี           แม้มันจะทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้น แต่สถานการณ์ขยะล้นทั้งบนดินและในทะเลทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการกินการใช้เพื่อลดการพึ่งพาพลาสติกลง รัฐบาลหลายๆ ประเทศเริ่มประกาศแบนถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง ประเทศไทยซึ่งรั้งอันดับ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ก็จะเริ่มแบนตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 (ยกเว้นถุงใส่แกง ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์) ในขณะที่หลายประเทศก็ใช้วิธีทำให้ถุงพลาสติกไม่ใช่ของ “ฟรี” อีกต่อไป    “แล้วผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกในบ้านเรามีความตื่นตัวเรื่องการลดขยะพลาสติกอย่างไรบ้าง” จากการสอบถามไปยังผู้ประกอบการห้างค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศไทย ฉลาดซื้อ ได้รับคำตอบดังนี้ เทสโก้ โลตัส  เทสโก้ โลตัส เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายแรกในประเทศไทยที่รณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกใน โครงการภูมิใจไม่ใช้ถุง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 บริษัทลดการใช้ถุงพลาสติกได้ 190 ล้านใบ และมอบแต้มคลับการ์ดให้กับลูกค้าที่ไม่รับถุงไปทั้งสิ้น 5,900 ล้านแต้ม ยกเลิกการใช้ถาดโฟมในทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562  มีนโยบายงดใช้ถุงพลาสติกสำหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้า 1-2 ชิ้นในร้านเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส และ เทสโก้ โลตัส ตลาด ทั้งหมด 1,800 สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่ 15 สิงหาคม 2562 เปิดตัว “กรีนเลน” ช่องทางชำระเงินพิเศษปลอดถุงพลาสติก ในสาขาใหญ่ 200 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 บริษัทมีแผนขยายสาขาร้านค้าปลอดถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบัน 10 แห่ง  ................ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ห้างงดใช้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือนและทุกวันพุธ  รวมทั้งงดการแจกถุงพลาสติกทั่วประเทศในวันสิ่งแวดล้อมไทย (4 ธันวาคม)  ตั้งเป้าลดการใช้ถุงพลาสติก 100 ล้านใบ ภายใน 5 ปี ให้คะแนนพิเศษเมื่อลูกค้าช้อปสินค้าที่บิ๊กซีครบตามกำหนด และ ลูกค้าใช้ “ถุงผ้า” หรือ “ตะกร้า” หรือ ลูกค้านำถุงผ้ารักษ์โลกบิ๊กซี กลับมาใช้  หรือ “วิธีการอื่นที่ไม่ใช้ถุงพลาสติก”  ใช้กาบกล้วย ใบตอง วัสดุธรรมชาติแทนการใช้ภาวชนะโฟม ใน 25 สาขา เช่น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาราชดำริ รัชดา พระราม 4 และวางแผนขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรมีแผนยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์โฟม สำหรับสินค้าที่บิ๊กซีเป็นผู้ผลิตหรือบรรจุ ในทุกสาขาตั้งแต่ปี 2563เป็นศูนย์กลางรับบริจาคกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้ว เช่น กล่องนม น้ำผลไม้ ชา กาแฟ และ กล่องน้ำดื่ม ที่บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ทั้ง 107 สาขาทั่วประเทศ เพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ประกอบเป็นแผ่นหลังคาเพื่อผู้ประสบภัย อันเป็นการช่วยลดปริมาณขยะ และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม............... ซีพี ออลล์  เซเว่น อีเลฟเว่น เริ่มโครงการรณรงค์ลดและเลิกใช้ถุงพลาสติก ผ่านโครงการ 7 Go Green (เซเว่น โก กรีน) ตั้งแต่ปี 2550  โครงการ “ลดวันละถุง คุณทำได้” ลดการใช้ถุงพลาสติกไปแล้วกว่า 663  ล้านใบ คิดเป็นยอดบริจาคกว่า 132 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2562) โดยได้ส่งมอบเงินบริจาคเพื่อสมทบทุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้กับ 77 โรงพยาบาลใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ  เปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษและแก้วแบบย่อยสลายได้ ใน 300 สาขา ในมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และแหล่งท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ และจะขยายผลไปยังสาขาอื่นๆ ต่อไป โครงการ “รักษ์อันดามัน ร่วมใจลดใช้ถุงพลาสติก” ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มูลนิธิโลกสีเขียว เครือเจริญโภคภัณฑ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อุทยานแห่งชาติบนเกาะต่างๆ ชุมชนในท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ดำเนินการแล้วบนเกาะลันตา เกาะยาวน้อย-เกาะยาวใหญ่ เกาะหลีเป๊ะ เกาะพีพี รวมถึงเกาะเต่า เกาะเสม็ด และเกาะพีพี โครงการ “คิดถุ๊ง คิดถุง ผ่านการสร้างเครือข่ายเยาวชนไทย ลดใช้ถุงพลาสติก”  ขยายโครงการไปสู่สถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ 30 มหาวิทยาลัยเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นโครงการนำร่องและเป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนและสังคม โครงการ “ปฏิเสธถุง...ได้บุญ” หนึ่งในการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกในร้านเซเว่นฯ ในโรงพยาบาล เมื่อลูกค้าปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติก ร้านจะสะสมยอดค่าใช้จ่ายไว้ 0.20 บาทต่อถุง และมอบให้กับโรงพยาบาล ปัจจุบันดำเนินงานในโรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์  และจะมีการขยายผลอย่างต่อเนื่อง  การนำขยะพลาสติกกลับมาให้ชุมชนใช้ประโยชน์ Recycled Plastic Road จากแนวคิดเศรษฐกิจ หมุนเวียนหรือ Circular Economy ซึ่งนอกจากผลต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังได้ช่วยพัฒนาชุมชน เริ่มที่สาขาสายไหม ซอย 3 และสาขาราษฎร์ พัฒนา ซอย 24 โดยจะพัฒนาและขยายในสาขาต่อๆไป    ........................... เดอะมอลล์ กรุ๊ป ประกาศเจตนารมณ์เป็นห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตปลอดถุงพลาสติกแห่งแรกในประเทศไทย ด้วยโครงการ THE MALL GROUP GO GREEN ; GREEN EVERYDAY ที่งดบริการถุงพลาสติกทุกวัน และรณรงค์ให้ลูกค้านำถุงผ้ามาเอง หากมีความจำเป็นต้องใช้ ขอความร่วมมือบริจาค 1 บาทต่อถุง 1 ใบ เพื่อนำไปสนับสนุนการทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับ WWF-ประเทศไทย............................ กลุ่มเซ็นทรัล จัดแคมเปญ Central Love the Earth ‘Say No to Plastic Bags’ เพื่องดแจกถุงพลาสติกพร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562 ตั้งเป้าลดถุงพลาสติกให้ได้กว่า 150 ล้านใบ จัด Green Checkout แคชเชียร์ช่องพิเศษ สำหรับลูกค้าที่งดรับถุงหรือนำถุงผ้ามาเอง    ..................................... สถานการณ์ปัจจุบันในไทย -          คนกรุงเทพฯ ใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวัน (ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ) -          คนไทยสร้างขยะวันละ 1.14 กิโลกรัม มากกว่าร้อยละ 60 เป็นขยะอาหารซึ่งสร้างก๊าซมีเทนที่เป็นสาเหตุของโลกร้อนเช่นกัน -          ทุกวันมีขยะพลาสติกและโฟมเกิดขึ้น 7,000 ตัน สถานการณ์โลก-          ร้อยละ 50 ของพลาสติกที่มีอยู่ในโลกขณะนี้ ถูกผลิตขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จากเคยผลิตได้เพียง 2.3 ล้านตันในปี 1950 เราผลิตพลาสติกได้ถึง 448 ล้านตันในปี 2015-          ชาวโลกผลิตขยะพลาสติกปีละ 300 ล้านตัน-          โดยรวมแล้ว ประชากรในประเทศที่ร่ำรวยจะสร้างขยะพลาสติกมากกว่าประเทศที่ยากจน คนเยอรมันและคนอเมริกันทิ้งขยะมากกว่าคนในอินเดียและเคนย่าถึง 10 เท่า แน่นอนขยะที่เกิดขึ้นมักถูกส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา แต่แนวโน้มนี่อาจเปลี่ยนไปเมื่อหลายประเทศประกาศยกเลิกการนำเข้าขยะ-          ในปี 2017 คนยุโรปสร้างขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์เฉลี่ยปีละ 32.74 กิโลกรัม ในนั้นมีถ้วยกาแฟแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอยู่ 16,000 ล้านใบ (www.statista.com)  และถึงแม้จะบริหารจัดการขยะได้ดีกว่าที่อื่นๆ ร้อยละ 60 ของขยะในยุโรปก็ยังไม่ถูกนำมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล-          ร้อยละ 30 ของขยะจากครัวเรือนและสำนักงานในอเมริกา เป็นขยะจากบรรจุภัณฑ์-          ข้อมูลจาก Ocean Conservancy ในปี 2017 ระบุว่าร้อยละ 60 ของขยะพลาสติกในทะเล มาจากจีน และสี่ประเทศในอาเซียน (ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย)  -          แม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิแห่งชมพูทวีป รองรับขยะพลาสติกปีละ 540 ล้านกิโลกรัม -          ข้อมูลจาก Alliance to end plastic ระบุว่า มีเพียงร้อยละ 9 ของพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาเท่านั้นที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่  --- “อย่าลืม” โปรดพกถุงผ้าติดตัวไว้เสมอ เพราะห้างร้านส่วนใหญ่เริ่มการรณรงค์งดให้ถุงพลาสติกแล้ว บางห้างงดทุกวัน บางแห่งงดในวันที่ 4 ของเดือน---

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2562

รู้ยัง ตรวจสอบราคายา รพ.เอกชนได้แล้ว        ‘กรมค้าภายใน’ จัดให้ระบบตรวจสอบราคายา 356 โรงพยาบาลออนไลน์ขึ้นเว็บ-คิวอาร์โค้ด แบ่งระดับสี เขียว-เหลือง-แดง เทียบระหว่างโรงพยาบาลได้ โดยผ่านลิงค์เว็บไซต์กรมการค้าภายใน หรือสแกนคิวอาร์โค้ดที่โรงพยาบาล จากนั้นจะต้องพิมพ์คำค้นเป็นชื่อยาภาษาอังกฤษ และสามารถเลือกเปรียบราคายาระหว่างโรงพยาบาลได้ https://hospitals.dit.go.th/app/drug_price_search.php คลิกเลย กทม. ลุยตรวจ 48 สวนสนุกในกรุงเทพฯ พบ 16.67% สอบตกเกณฑ์มาตรฐาน         ผลสำรวจสวนสนุกในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 48 แห่ง พบว่ามีใบอนุญาตก่อสร้างและใบอนุญาตประกอบกิจการ 33 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 15 แห่ง และในจำนวนนี้มีที่ไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินสุขลักษณะ 8 แห่ง ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไข เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน          กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตต่างๆ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจการและตรวจสุขลักษณะ ความปลอดภัย และอาชีวอนามัย ประเภทกิจการสวนสนุกในกรุงเทพ ฯ จำนวน 48 แห่ง ในพื้นที่ 26 เขต ตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและใบอนุญาตประกอบกิจการ 33 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 15 แห่ง จึงได้แจ้งให้ดำเนินการขอใบอนุญาตให้ถูกต้องภายใน 15 วัน หากไม่สามารถดำเนินการให้เรียบร้อยจะสั่งระงับการให้บริการ และมีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท นอกจากนี้ยังมีสวนสนุกที่ตั้งเป็นการชั่วคราวตามลานกิจกรรมหรืองานต่างๆ ประมาณ 7-30 วัน ที่ต้องขออนุญาตเช่นกัน ซึ่งต้องเข้าไปกวดขันดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโครงสร้างชั่วคราวมีข้อจำกัดด้านอายุการใช้งาน กทม. จึงได้กำชับให้เขตดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวด สสส. เผยไทยมีนักดื่ม 22.5 ล้านคนสูงสุดในรอบ 5 ปี ชี้รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยการดื่มลง 10%         กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาของทุกปี  โดยจากการสำรวจพบว่านักดื่มไทยมีกว่า 22.5 ล้านคน สูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยการดื่มลง 10% ประเทศประหยัดถึง 10,724 ล้านบาท          ปี 2562 สสส.หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รณรงค์ผ่านแคมเปญ “ตับจะกลับมาดี พรรษานี้เริ่มงดเหล้า” จากการสำรวจสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ช่วงปี 2544 - 2560 พบว่าคนไทยมีแนวโน้มการดื่มลดลงจาก 32.7% ในปี 2544 เหลือ 28.4% ในปี 2560 ประกอบกับการสำรวจภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทยโดยวิธีการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557 มีผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในระดับอันตรายลดลงเหลือ 3.4% ลดจากปี 2547 ที่อยู่ที่ 9.1% ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของคนไทยโดยรวมลดลง สอดคล้องกับข้อมูลค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ลดลงจาก 151,607 ล้านบาท ในปี 2548 เหลือ 142,230 ล้านบาท ในปี 2560 ขณะที่การรณรงค์ให้คนไทยลด ละ เลิก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีทิศทางที่ดี โดยเฉพาะโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางและมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในทุกปีสคบ.อำนาจล้น ดีเดย์ 25 สิงหาคม กม.คุ้มครองผู้บริโภคบังคับใช้แล้ว        พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่นี้ เพิ่มเรื่องความคล่องตัวด้วยการมอบอำนาจแก่ท้องถิ่นมากขึ้น มีการปรับโครงสร้างกรรมการบริหารใหม่และเพิ่มอำนาจของกรรมการให้มากขึ้นเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม   รวมถึงยังมี กรรมการด้านความปลอดภัยที่เข้ามาดูแลเรื่องสินค้าบริการและเฝ้าระวังให้ผู้บริโภค ด้วย  นอกจากนั้นยังมีการกำหนดเรื่องการโฆษณาในมาตรา 29 ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นและเพิ่มโทษปรับ 2 - 10 เท่าในกรณีการทำผิดเมื่อเปรียบเทียบกับพ.ร.บ. ฉบับปี พ.ศ. 2556         พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค(ฉบับที่4) พ.ศ. 2562 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 สิงหาคม นี้ โดยเพิ่มอำนาจให้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ถูกปรับโครงสร้างใหม่ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดในทุกกระทรวงรวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 8 คนและผู้แทนความรู้ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาการภาคประชาชนและภาคผู้ประกอบธุรกิจอย่างน้อยภาคละ 2 คน ด้วยโครงสร้างนี้ หน่วยงานจะจัดการปัญหาได้เร็วขึ้น เพราะจะมีตัวแทนจากทุกกระทรวงเข้ามาจัดการปัญหาได้โดยตรง อีกทั้งยังให้อำนาจกับเลขาธิการสคบ. สามารถพิจารณาและสั่งดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการหากพบว่าปัญหานั้นเข้าเกณฑ์ความผิด         สองมีการเพิ่มอัตราโทษปรับให้สูงขึ้นหนึ่งเท่าในทุกมาตรา อีกทั้งกรณีสินค้าและบริการที่เป็นอันตรายจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรการ   ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบธุรกิจผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตหรือร่างกายก็ต้องมั่นใจว่าสินค้าหรือบริการนั้นปลอดภัยเพราะ พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดให้เมื่อผู้ประกอบธุรกิจทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าหรือบริการ บทลงโทษจะเปรียบเทียบความผิดไม่ได้ กล่าวคือเมื่อพบความผิดของผู้ประกอบธุรกิจจะมีการเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาและฟ้องดำเนินคดีทันที         สามการให้อำนาจกับท้องถิ่นเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ต้องส่งเรื่องมายังหน่วยงานกลางซึ่งทำให้ล่าช้า และเงินค่าปรับที่ได้มาจากการกระทำผิดไม่ต้องส่งให้ส่วนกลางแต่ให้กับพื้นที่เพื่อจะได้นำไปสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่และยังทำให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ไทยติดกลุ่มผู้นำเข้าขยะพลาสติกสูงสุดในโลก         แต่ละปีคนไทยทิ้งขยะรวมกันกว่า 27 ล้านตัน เทียบเท่ากับช้างกว่า 5.56 ล้านตัว เฉพาะ กทม. ทิ้งมากเกือบถึง 1 ใน 5 ของทั้งประเทศ ที่ชวนให้ต้องตื่นตัวคือไทยอยู่ในกลุ่มผู้นำเข้าขยะพลาสติกมากที่สุดของโลก          ขยะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติที่ยังหาทางกำจัดให้หมดสิ้นไม่ได้ ซึ่งเมื่อดูจากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าปริมาณขยะในไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2561 มีกว่า 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.64% จากปี 2560 ปัจจัยจากการมีประชากรเพิ่มขึ้น ชุมชนเมืองขยายตัว รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น เฉพาะในกรุงเทพฯ มีปริมาณ 4.85 ล้านตัน คิดเป็น 17% ของขยะมูลฝอยทั้งประเทศ         อย่างไรก็ดีพบว่า การจัดการขยะมูลฝอยถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ถึงอย่างนั้นมีขยะพลาสติกเพียง 5 แสนตันจาก 2 ล้านตันที่ถูกรีไซเคิล ที่น่าตกใจคือมีขยะที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องถึง 27% ประกอบกับการลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ทำให้ขยะจากบกปะปนสู่ทะเล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก จึงส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตดังที่เกิดเหตุการณ์เป็นข่าวเศร้าต่างๆ         ในส่วนของเสียอันตรายจากชุมชนก็เพิ่มขึ้น 3.2% จากปี 2560 ส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 13% เท่านั้น นอกจากนี้ มีกากของเสียอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการจัดการยังลดลง 33% โดยมากเป็นกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย โดยได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า         นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า แม้การจัดการขยะอย่างถูกต้องจะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะยังไม่มีกฎระเบียบการคัดแยกของเสียอันตรายออกจากขยะทั่วไป รวมถึงมีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ซึ่งมีผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงนำไปสู่การยกเลิกนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 422 รายการ รวมถึงยกเลิกการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว ยกเว้นกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นชอบ และได้จัดทำโรดแมป การจัดการขยะพลาสติกปี 2562-2570 โดยลดและเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด ภายในปี 2565

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 กระแสต่างแดน

รถไฟไฉไลกว่า        ผู้คนหันมาเดินทางด้วยรถไฟกันมากขึ้นในภูมิภาคยุโรป ตัวอย่างเช่นในสวีเดน ยอดขายตั๋ว Interrail ในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปี เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า         นี่อาจเป็นผลจากการรณรงค์ “flight shame” (หรือ flygskam ในภาษาสวีดิช) โดยสาวน้อยนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม เกรต้า ธันเบิร์ก และคุณแม่ของเธอ ที่เรียกร้องให้ผู้คนเปลี่ยนจากการเดินทางโดยเครื่องบินมาเป็นรถไฟ (ขณะเขียนข่าวนี้ เกรต้ากำลังเดินทางด้วยเรือยอทช์พลังแสงอาทิตย์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังนิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมการประชุมเรื่องสภาพอากาศ)         องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรประบุว่า การเดินทางด้วยเครื่องบินสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ 285 กรัมต่อหนึ่งกิโลเมตร สำหรับผู้โดยสารหนึ่งคน ในขณะที่ผู้โดยสารรถไฟจะสร้างคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 14 กรัมในระยะทางที่เท่ากัน         ตัวแทนขายตั๋วบอกว่าอีกเหตุผลสำคัญคือนักเดินทางเริ่มตระหนักว่าการเดินทางด้วยรถไฟสามารถเป็นไฮไลท์ของการเดินทางทริปนั้นได้ด้วยมีขยะขึ้นคันนี้         หากคุณจะไปไหนมาไหนในเมืองสุราบายา อย่าลืมพกแก้วหรือขวดพลาสติกที่ใช้แล้วไปด้วย เพราะมันสามารถใช้แลกตั๋วรถได้        รถบัสปรับอากาศเที่ยวพิเศษที่คิดค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสายนี้มีให้บริการทั้งสิ้น 20 คัน คุณจะเลือกจ่ายค่าตั๋วเป็นขวดพลาสติกขนาดใหญ่ 3 ขวด หรือขวดขนาดกลาง 5 ขวด หรือแก้วพลาสติก 10 ใบก็ได้         สุราบายา ซึ่งมีประชากรประมาณ 2.9 ล้านคน ทดลองโครงการนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เพื่อลดขยะและแก้ปัญหาการจราจรหนาแน่น ถึงตอนนี้เสียงตอบรับเป็นที่น่าพอใจ แต่ละสัปดาห์มีคนใช้บริการประมาณ 16,000 คน และบริษัทรถก็มีรายได้เป็นขวดพลาสติกเดือนละ 6,000 กิโลกรัม        ก่อนหน้านี้บาหลีได้ประกาศห้ามใช้หลอดพลาสติก ในขณะที่จาการ์ตาก็กำลังเล็งแผนงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง นี่คือส่วนหนึ่งของความพยายามของอินโดนีเซียที่จะลดปริมาณพลาสติกในทะเลลงให้ได้ร้อยละ 70 ภายในปี 2025        อินโดนีเซียก่อมลพิษทางทะเลมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีนยังมีความเสี่ยง         ปรากฎการณ์ฟาสต์แฟชั่นยังดำเนินต่อไป บังคลาเทศยังคงเป็นประเทศผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน และร้อยละ 16 ของเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมนี้ซึ่งมีการจ้างงานผู้คนไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน         แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างหลังเหตุการณ์ตึกรานาพลาซ่าถล่ม เมื่อปี 2013         โศกนาฎกรรมที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,100 คนทำให้บรรดาเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตในบังคลาเทศร่วมกันลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการปรับปรุงความปลอดภัยของอาคารโรงงาน และร่วมกันลงขันเพื่อช่วยให้เกิดการปรับปรุงดังกล่าวด้วย โดยมีกำหนดเวลาห้าปี         สมาคมผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของบังคลาเทศ เปิดเผยว่าขณะนี้มีโรงงานเพียง 200 แห่ง จาก 1,600 แห่ง ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย และมีอย่างน้อย 400 โรงงานที่ยังอยู่ในสภาพแย่มากจนต้องถูกสั่งห้ามรับออเดอร์จากต่างประเทศชีวิตติดจอ         ผลการวิจัยล่าสุดโดย The Shift Project องค์กรรณรงค์ด้านการใช้พลังงานทางเลือก พบว่า ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการดูวิดีโอออนไลน์ในปี 2018 มีมากถึง 300 ล้านตัน(เท่ากับการปล่อยก๊าซนี้จากประเทศขนาดเท่าสเปนในเวลาหนึ่งปี)         เขาคาดการณ์ว่าในอีกสามปีข้างหน้า ร้อยละ 60 ของประชากรโลกจะเข้าสู่สังคมออนไลน์ และร้อยละ 80 ของการใช้อินเทอร์เน็ตของคนเหล่านี้จะเป็นการดูวิดีโอ โดยร้อยละ 60 ของวิดีโอที่ดูจะมาจากบริการสตรีมมิ่ง เช่น ยูทูบ เน็ทฟลิกซ์ และวิมีโอ นั่นเอง         เขาพบว่าการรับ-ส่งข้อมูลไอทีแบบนี้ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าธุรกิจการบินด้วยซ้ำ นักวิจัยแนะนำว่าหากต้องการประหยัดพลังงาน เราควร... 1. ดูหนังจากโทรทัศน์แทนโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ (ถ้าเป็นไปได้) 2. ดูผ่านเครือข่ายไฟเบอร์ออปติก 3. ดูในจอเล็ก 4. ดูผ่านไวไฟ และ 5. เลือกความคมชัดธรรมดา เพราะความละเอียดที่มากขึ้นหมายถึงการใช้พลังงานมากขึ้นด้วยอย่าถามเยอะ         การใช้เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์อย่างกว้างขวางในการเสนอขายสินค้าหรือบริการ รวมถึงการสนับสนุนการจับจ่ายแบบไม่ใช้เงินสดทำให้ผู้บริโภคในประเทศจีนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น แต่มีคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว         สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีน (CCA) ระบุว่าร้อยละ 91 ของแอปพลิเคชันมือถือ กำหนดให้ผู้บริโภคกรอกข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริการนั้นเลย เช่น แอปฯ ซื้อตั๋วหนังที่ขอข้อมูลเกี่ยวกับการทำงาน         เมื่อไม่ให้ข้อมูล ผู้บริโภคก็จะซื้อตั๋ว สั่งอาหาร หรือจ่ายค่าสินค้าไม่ได้ ถ้าเป็นเมืองอื่นก็พอจะทำธุรกรรมแบบออฟไลน์ได้ แต่ในเมืองเทคโนโลยีล้ำอย่างเซินเจิ้น ผู้บริโภคแทบจะไม่มีทางเลือกเพราะต้องทำทุกอย่างผ่านแอปฯ เท่านั้น            การสำรวจระบุว่าร้อยละ 80 ของประชากรเคยมีประสบการณ์เบอร์มือถือหรือเบอร์โทรศัพท์ “รั่วไหล” ไปอยู่ในมือของพวกสแปมหรือโทรศัพท์มารบกวน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2562

คนกรุงจ่ายค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ย 28.30 บาท/เที่ยว        ผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทางถนนและประเภทอื่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ผู้โดยสารไทยต้องควักเงินจ่ายค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าเฉลี่ยขั้นต่ำ 28.30 บาทต่อเที่ยว ซึ่งนับว่าแพงเกินไปกว่ากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลางและรายได้สูง โดยอัตราค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าเฉลี่ยของคนกรุงอยู่ที่เดือนละ 1,000-1,200 บาท หรือคิดเป็นเงินกว่า 12,000 บาทต่อปี        ขณะที่ข้อสรุปค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทาง พบว่า ไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศอื่น เทียบกับประเทศในภูมิภาค เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ รวมถึงไทยมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด โดยค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของไทยอยู่ที่ 2.14 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 67.10 บาท ทั้งนี้ เมื่อคิดค่าโดยสารเฉลี่ยต่อกิโลเมตรเดินทาง พบว่า ค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรของผู้โดยสารในไทยอยู่ที่ 0.478 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ หรือ 14.99 บาท สูงกว่าประเทศ อื่นๆ อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และอังกฤษ  "เมื่อยล้าหมดไฟ” โรคที่ต้องได้รับการรักษา"        หลังองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ(Burnout) เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะวิธีจัดการภาวะดังกล่าว หลักคือต้องจัดการสองด้าน ได้แก่ 1.ด้านการจัดการกับตัวเอง และ 2.การจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงาน        1.ด้านการจัดการกับตัวเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน, ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น นอนดูหนัง ฟังเพลง หรือชอปปิ้ง เพื่อให้รางวัลกับตนเอง, พูดคุยขอคำปรึกษากับผู้อื่น ว่าคุณรู้สึกหมดแรงหรือเบื่อ หากมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ ต้องการความช่วยเหลือหรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้        2.คำแนะนำของ WHO ในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยการปรับสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้มีความรู้สึกทางบวกมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้บริหาร เช่น สร้างเป้าหมายเส้นทางอาชีพให้พนักงานอย่างชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน นโยบายดูแลสุขภาพกายและใจของพนักงาน เพื่อช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม        ลักษณะอาการที่เข้าข่ายภาวะเมื่อยล้าหมดไฟที่เกิดขึ้นจากการทำงาน คือ 1.รู้สึกหมดไฟ เหนื่อยล้า พลังชีวิตหดหาย 2.มีความรู้สึกไม่อยากทำงาน ต้องการมีระยะห่างจากงานหรือมีทัศนคติเชิงลบต่องาน 3.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากความเครียดในการทำงานหรือการทำงานไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น ประกันสังคมเตรียมแก้กฎหมายเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได        สำนักงานประกันสังคม เตรียมพิจารณาแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมอีกรอบ โดยให้เก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได คือ ค่อยๆ ขยายเพดานเงินเดือนสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบ คาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะสามารถเก็บเงินสมทบได้เดือนละ 1,000 บาท ตามเป้าหมาย        นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้มีการเก็บเงินสมทบเพิ่มโดยขยายเพดานจากเดือนละ 750 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท เพื่อให้มีเงินไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ และทำให้เพิ่มเงินบำนาญหลังเกษียณ แต่หลังจากที่มีการนำไปรับฟังความเห็นมาแล้วพบว่า มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงยังไม่ได้เดินหน้าต่อ แต่ไม่ได้ล้มเลิก ขณะนี้กำลังพิจารณาเรื่องการเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได อย่างไรก็ตามอาจจะต้องดูนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่และรัฐบาลชุดใหม่อีกครั้งว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่        เหตุที่ต้องเก็บเงินสมทบเพิ่ม สปส.ระบุว่า “สปส.เริ่มเก็บเงินสมทบ 5% โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 1,650 บาท สูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท ทำให้มีการเก็บเงินสมทบสูงสุดอยู่ที่ 750 บาทต่อเดือน ซึ่งเก็บอัตรานี้มาตั้งแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบันโดยไม่ได้เก็บเพิ่มเลย ขณะที่แต่ละปีมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากขึ้นรวมถึงสิทธิประโยชน์อีกหลายอย่างที่มีการเรียกร้องกันอยู่ นอกจากนี้ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกันสังคมเริ่มเข้าสู่ช่วงจ่ายเงินบำนาญให้ผู้ประกันตน มีการคาดการณ์ว่า หากไม่เก็บเพิ่มในปี 2579 จะทำให้เงินเข้ากองทุนน้อยกว่าเงินที่ต้องจ่ายออก กระทบกับเสถียรภาพของกองทุน"พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชนโขกค่ารักษา-ค่ายา"        "พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชน เคสคิดค่ารักษาพยาบาลอาการท้องเสีย 3 หมื่น และค่ายาแพงเกินจริงแล้ว ในข้อหาค้ากำไรเกินควร พร้อมเดินหน้าทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ หลังทำข้อมูลราคายาเสร็จแล้ว        ทางกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เคสดังกล่าวผู้ป่วยมาด้วยอาการท้องเสีย การคิดราคาถึง 3 หมื่น เป็นการรักษาที่มากเกินกว่าความจำเป็น และมีการคิดราคาเกินสมควร และกรณีค่ายา เมื่อเปรียบเทียบกับราคาในบัญชียาที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) พบว่า มีการคิดราคาสูงเกินจริงมาก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย จึงต้องส่งดำเนินคดี ส่วนที่กรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ออกมายืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่ผิดนั้น ก็เป็นส่วนการดำเนินการของ สบส. เพราะกรมการค้าภายใน พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น        ขณะนี้กรมการค้าภายในยังได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ เช่น จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้เป็นระบบ ก่อนที่จะนำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ ที่ www.dit.go.th เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบราคา และเปรียบเทียบราคาของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับการรักษาได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้จัดทำฐานข้อมูลราคายาเสร็จสิ้น และพร้อมเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ แล้ว คาดว่าน่าจะทำให้แล้วเสร็จได้ภายใน 2-3 เดือน        สำหรับประชาชน ต่อไปหากพบว่าถูกคิดค่าใช้จ่ายในราคาสูงเกินจริง สูงกว่าที่มีการแจ้งราคาไว้กับกรมการค้าภายใน ก็สามารถร้องเรียนมาที่สายด่วน โทร 1569 หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีคิดราคาสูงเกินจริง จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับห้างดังร่วมลดปัญหาขยะ งดแจกถุงพลาสติก และแพคเกจจิงโฟม        ขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ติดอันดับประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด เป็นอันดับ 6 ของโลก ด้วยปริมาณขยะพลาสติกกว่า 2 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าต่างๆ เริ่มมีมาตรการในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และปริมาณขยะพลาสติกมากขึ้น        เริ่มที่ กลุ่มเซ็นทรัล ได้ผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจในเครือ จัดแคมเปญ Central Love the Earth ‘Say No to Plastic Bags’ เพื่องดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้าอย่างจริงจัง พร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562 โดยจะเริ่มปฏิบัติการนี้ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 นี้เป็นวันแรก พร้อมตั้งเป้าว่าปีนี้จะลดให้ได้กว่า 150 ล้านใบ        Tesco Lotus เริ่มรณรงค์งดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้ามาแล้วตั้งแต่ปี 2553 โดยใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจ ที่ว่าถ้าลูกค้าปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติก หรือนำถุงผ้ามาชอปปิงเอง จะได้รับแต้มในคลับการ์ดเพิ่ม 20 แต้ม และได้มีการเพิ่มขึ้นจนในปัจจุบันเป็น 50 แต้ม และในปีนี้ก็ได้ประกาศยกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมทั้งหมด(100%) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป        จากนโยบายของธุรกิจค้าปลีก อย่าง กลุ่มเซ็นทรัล ที่ตั้งเป้าจะลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้กว่า 150 ล้านใบ และเทสโก้ โลตัส ที่มีเป้าหมายลดแพคเกจจิ้งโฟม อีก 11.24 ล้านถาดในปีนี้ คาดว่าจะสามารถช่วยให้ประเทศไทยลดขยะพลาสติกและโฟมไปได้ถึง 161.24 ล้านชิ้นภายใน 1 ปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 จากขยะพลาสติกถึงไมโครพลาสติก ปัญหาใหญ่ที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด

                การลดใช้ถุงพลาสติกเป็นกระแสที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัว ในประเทศไทยมีการรณรงค์ประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง บริษัทห้างร้านต่างๆ ก็พยายามลดการใช้ถุงพลาสติกใส่สินค้าให้ลูกค้า นับเป็นเรื่องน่ายินดีแทนสิ่งแวดล้อมของโลกที่ป่วยหนักขึ้นทุกวัน ถึงกระนั้นก็ยังต้องอาศัยเวลาอีกไม่น้อยเพื่อลดการใช้พลาสติกลงอย่างมีนัยสำคัญ        นอกจากนี้ ยังมีการใช้ถุงพลาสติกที่ระบุว่าย่อยสลายได้ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า         ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะพาไปสำรวจสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกพลาสติกคุกคาม ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤต อาจมีคำถามว่าวิกฤตอย่างไร? มันวิกฤตถึงขั้นว่า คุณ-หมายถึงคุณผู้อ่าน-อาจมีพลาสติกตกค้างอยู่ในร่างกายโดยไม่รู้ตัว ขยะพลาสติก: ความอลังการทางตัวเลข        - ตั้งแต่มีการคิดค้นพลาสติกขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน คาดการณ์ว่ามีพลาสติกเกิดขึ้นแล้ว 8,000 ล้านตัน ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เทียบเท่ากับน้ำหนักของช้าง 1,000 ล้านเชือกที่อยู่บนโลกนี้        - มีการคาดการณ์ปริมาณขยะพลาสติกที่ลงสู่ท้องทะเลว่าสูงถึง 13 ล้านตันต่อปีหรือเทียบเท่ารถบรรทุก 1 คันขนขยะพลาสติกทิ้งลงทะเลทุกๆ 1 นาที         - ขยะพลาสติก 13 ล้านตันต่อปีก่อให้เกิดแพขยะพลาสติกขนาดใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือ Great Pacific Garbage Patch มันใหญ่กว่าประเทศเยอรมนี สเปน และฝรั่งเศสรวมกัน หรือ 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าประเทศไทย 3 เท่า         - ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ประมาณ150,000-400,000 ตันต่อปี รองจากประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และศรีลังกา         - ประเทศไทยมีการผลิตและใช้ถุงพลาสติกกว่า 45,000 ล้านใบต่อปี         - ประเทศไทยในปี 2560 ปริมาณขยะพลาสติกประเภทถุงพลาสติกหูหิ้วเท่ากับ 517,054 ตัน แก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 241,233 ตัน หลอดพลาสติก 3,873 ตัน และกล่องโฟมบรรจุอาหาร 29,248 ตัน        - ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ของปริมาณขยะทั้งหมดหรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน ในจำนวนนี้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียงปีละ 0.5 ล้านตันหรือร้อยละ 25 ที่เหลืออีก 1.5 ล้านตันถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบหรือเผา บางส่วนตกค้างในสิ่งแวดล้อม        - 5 อันดับปากแม่น้ำที่มีปริมาณขยะลอยน้ำไหลลงทะเลมากที่สุดคือ แม่น้ำเจ้าพระยา 1,425 ตันต่อปี 137,452,011 ชิ้นต่อปี แม่น้ำท่าจีน 361 ตันต่อปี 13,504,287 ชิ้นต่อปี แม่น้ำแม่กลอง 173 ตันต่อปี 12,603,264 ตันต่อปี แม่น้ำบางปะกง 166 ตันต่อปี 6,630,835 ชิ้นต่อปี และแม่น้ำบางตะบูน (เป็นสาขาของแม่น้ำเพชรบุรี) 48 ตันต่อปี 3,055,653 ชิ้นต่อปี พลาสติกที่มองเห็นและมองไม่เห็น        ตัวเลขข้างต้นฉายให้เห็นวิกฤตขยะพลาสติกที่กำลังคุกคามโลกอย่างเงียบๆ และมันยังคุกคามสิ่งมีชีวิตในทะเลดังที่มักเห็นเป็นข่าวอยู่เสมอ เช่น การพบขยะพลาสติกในกระเพาะของวาฬ ปลอกพลาสติกที่รัดกระดองของเต่าทะเลจนผิดรูป ภาพของปลาที่ติดตายอยู่ในถุงพลาสติก เป็นต้น เหล่านี้เป็นตัวอย่างของปัญหาขยะพลาสติกที่จับต้องได้                  ทว่า ยังมีขยะพลาสติกอีกรูปแบบหนึ่งที่มองไม่เห็นและกำลังเป็นที่สนใจศึกษามากขึ้น มันถูกเรียกว่าไมโครพลาสติก มันคืออะไร                  ไมโครพลาสติกคือพลาสติกหรือเศษพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งแม้จะมีขนาดเล็กมากแล้ว แต่มันก็ยังเล็กได้อีกถึงระดับนาโนเมตร โดยเราสามารถแบ่งไมโครพลาสติกได้เป็น 2 ประเภทคือ Primary Microplastic หรือพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นมาให้มีขนาดเล็กตั้งแต่ต้น เช่น เม็ดพลาสติกที่เป็นวัสดุตั้งต้นของการผลิตพลาสติก หรือเม็ดพลาสติกที่อยู่ในเครื่องสำอางหรือไมโครบีดส์ ที่มักเรียกกันว่า เม็ดสครับ นอกจากนี้ ยังเกิดจากการถลอกหรือการขีดข่วนจากกระบวนการผลิตพลาสติกขนาดใหญ่ จากยางรถยนต์บนท้องถนน จนถึงเส้นใยสังเคราะห์จากเสื้อผ้า                  อีกชนิดคือ Secondary Microplastic หรือไมโครพลาสติกที่เกิดจากการหลุดลอก แตกหัก จากพลาสติกชนิดต่างๆ คงพอนึกภาพออก ถ้าทิ้งพลาสติกไว้กลางแจ้งนานๆ มันจะเกิดการล่อนและเปราะ จนแตกหักเป็นเศษพลาสติกได้       องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติได้ทำการศึกษาปริมาณ Primary Microplastics ในทะเลเมื่อปี 2560 พบว่า Primary Microplastics ถูกพบในแม่น้ำและทะเลทั่วโลกในรูปแบบขยะประมาณ 0.8-2.5 ล้านตันต่อปี โดยร้อยละ 98 ของปริมาณที่พบเกิดจากกิจกรรมทางบก โดย Primary Microplastics มากกว่าครึ่งที่ลงสู่ทะเลคือเส้นใยสังเคราะห์จากการซักล้างหรือไมโครไฟเบอร์ (นึกถึงเสื้อที่ทำจากใยสังเคราะห์ เมื่อใช้ไปนานๆ เราจะพบขุยผ้าเป็นเส้นใยเล็กๆ) ร้อยละ 34.8 และจากยางรถยนต์ที่สึกหรอขณะขับขี่ร้อยละ 28.3                  ขณะที่รายงานของ Eunomia ระบุว่า พบ Primary Microplastics ในทะเลประมาณ 0.95 ล้านตัน โดย 3 อันดับแรกคือยางรถยนต์ที่สึกหรอขณะขับขี่ เม็ดพลาสติก และเส้นใยสังเคราะห์ ส่วนเส้นทางที่นำพวกมันลงสู่ท้องทะเลเรียงจากมากที่สุดถึงน้อยที่สุดคือ จากการชะล้างถนน ระบบบำบัดน้ำเสีย และการพัดพาของลม Oxo ถุงไม่รักโลก          ยังมีแหล่งกำเนิดไมโครพลาสติกอีกประเภทที่ผู้บริโภคอาจไม่รู้ เพราะมันถูกเคลือบด้วยภาพลักษณ์ของการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยบอกว่าเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่                 ก่อนอื่นต้องจำแนกแยกแยะเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ปัจจุบันมีถุงพลาสติกเรียกว่า Biodegradable Plastic ซึ่งสามารถย่อยสลายทางชีวภาพตามธรรมชาติ เพราะใช้วัตถุดิบจากแป้งของอ้อย และมันสำปะหลัง และ Polybulyene succinate (PBS) ที่ดัดแปลงจากวัตถุดิบทางปิโตรเลียม กลุ่มนี้ไม่ใช่ปัญหา                  แต่มีพลาสติกอีกกลุ่มที่เรียกว่า Degradable Plastic ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้ มันเพียงแค่แตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ จนกลายเป็นไมโครพลาสติก หรือที่รู้จักกันในชื่อ Oxo-degradable หรือที่เรียกสั้นๆ ถุง Oxo เจ้าถุงพลาสติกชนิดนี้เองที่ถูกใช้ตามห้างสรรพสินค้าและประกาศตัวว่าเป็นถุงพลาสติกที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นอีกหนึ่งต้นตอของปัญหาไมโครพลาสติก ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า                  “ถุง Oxo ไม่ถูกยอมรับว่าเป็นอีดีพี (Environmentally Degradable Plastic: EDP) หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ในสภาวะธรรมชาติ ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่า อีดีพี คือ พลาสติกที่ย่อยสลายได้ในทางชีวภาพซึ่งสามารถทำเป็นปุ๋ยได้ ต้องได้มาตรฐานการทำเป็นปุ๋ย ซึ่งถุง Oxo ไม่ผ่านมาตรฐานนี้ กระบวนการของมันคือการเติมสารเติมแต่งประเภทแป้งลงไปในเนื้อพลาสติก                 “ขณะที่ถุงพลาสติกที่ได้มาตรฐานทำปุ๋ยได้ มีผู้ผลิตอยู่ แต่ขายไม่ได้เพราะราคาแพงกว่าพลาสติกทั่วไป 3-4 เท่า ผู้ผลิตก็ส่งออก แต่เจ้า Oxo ที่บอกว่าเป็นถุงรักษ์โลก แพงกว่าพลาสติกทั่วไปประมาณร้อยละ 20 ทำให้ทุกคนมาซื้อ ซึ่งยิ่งเร่งให้เกิดไมโครพลาสติก เพราะมันแตกสลายเร็วกว่าพลาสติกทั่วไป” ไมโครพลาสติก จากทะเลถึงกระเพาะ                  คำถามก็คือทำไมเราจึงต้องใส่ใจกับปัญหาไมโครพลาสติก แค่ขยะพลาสติกอย่างเดียวก็ชวนปวดหัวแล้ว ที่ต้องใส่ใจก็เพราะมันเป็นพลาสติกที่กำจัดยาก ดร.สุจิตรา อธิบายว่า ถ้าไมโครพลาสติกลงไปในแหล่งน้ำหรือทะเลจะไม่สามารถบำบัดได้ เพราะมันมีขนาดเล็กมาก ล่องลอยอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก ถ้าจะเก็บมันขึ้นมาก็ต้องหาตะแกรงที่รูเล็กมากๆ มาตัก ซึ่งสัตว์ทะเลต่างๆ ก็จะถูกตักขึ้นมาด้วย มันจึงยากมากที่จะกำจัดไมโครพลาสติกในทะเล                  ที่สำคัญ ณ เวลานี้ มนุษย์โลกจำนวนหนึ่งมีไมโครพลาสติกอยู่ในร่างกายแล้ว นั่นอาจรวมถึงตัวเราด้วย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งกรุงเวียนนา (Medical University of Vienna) และสำนักสิ่งแวดล้อมของออสเตรีย ได้เก็บตัวอย่างอุจจาระของกลุ่มตัวอย่างไปทำการตรวจสอบและพบว่า ตัวอย่างอุจจาระทุกตัวอย่างของผู้เข้าร่วมการศึกษาพบพลาสติกที่แตกต่างกันถึง 9 ชนิด มีขนาดตั้งแต่ 50-500 ไมโครเมตร โดยพบโพลิโพรไพลีน (Polypropylene: PP) และโพลิเอทิลีน (Polyethylene Terephthalate: PET) มากที่สุด                  อีกงานวิจัยที่ศึกษาปัญหาขยะพลาสติกในทะเลยังพบด้วยว่า 3 ใน 4 ของปลาทะเลชนิดต่างๆ รวมทั้ง ปลาหมึก และปลากระโทงดาบที่ขายในตลาดทั่วโลกพบไมโครพลาสติกอยู่ภายใน              ถึงจุดนี้ คุณผู้อ่านคงเริ่มตกใจและสงสัยว่าเจ้าไมโครพลาสติกที่ว่ามันเข้าไปอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้อย่างไร ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอบว่า เป็นไปได้ว่าเราอาจมีไมโครพลาสติกอยู่ในร่างกายอยู่แล้ว เนื่องจากไมโครพลาสติกมีแพร่กระจายอยู่ในธรรมชาติ แต่จุดที่ต้องให้ความสำคัญคือ ห่วงโซ่อาหาร หมายความว่าแพลงตอนหรือสัตว์ทะเลที่กินไมโครพลาสติกเข้าไป และถูกกินต่อมาเรื่อยๆ ตามห่วงโซ่อาหาร จนกระทั่งมันถูกจับขึ้นมาเป็นอาหารของมนุษย์ แล้วมนุษย์ก็กินทั้งเนื้อปลาและไมโครพลาสติกเข้าไปด้วย                  “การมีสารประกอบพลาสติกอยู่ในร่างกายก็ยังไม่มีใครชี้ชัดได้ว่าทำให้เกิดโรคอะไร เพียงแต่องค์การอนามัยโลกชี้ว่ามันมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรค ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถระบุฟันธงได้” ดร.ธรณ์ กล่าว                 แล้วเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็นของปริมาณไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำ ในสัตว์ หรือในร่างกายมนุษย์คือเท่าไหร่ ดร.ธรณ์ กล่าวว่า เนื่องจากเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ ยังอยู่ในช่วงการเร่งศึกษาเพื่อสร้างองค์ความรู้ ทำให้ยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานพอจะกำหนดได้                อย่างไรก็ตาม ดร.สุจิตราให้ข้อมูลว่า แม้ตัวพลาสติกไม่ใช่สารอันตรายเพราะเป็นโพลีเมอร์และมีความเฉื่อย แต่ผู้ผลิตพลาสติกมักจะใส่สารเติมแต่งลงไป ซึ่งสารบางตัวก็เป็นอันตราย อีกประการหนึ่งคือพลาสติกสามารถดูดซับมวลสารอื่นๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ เช่น โลหะหนัก สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน และนี่ทำให้มันเป็นตัวอันตราย ลด ละ เลิก และมาตรการต่างๆ                  ปลายปี 2561 คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกมีมติต่อร่างแผนพลาสติก 20 ปี ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้ปรับลดระยะเวลาในโร้ดแม็ปเป็น 13 ปี โดยกำหนดเป้าหมายในการลดเลิกใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกจำนวน 7 ประเภท                 Cap Seal หรือพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม, ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภท Oxo และไมโครบีสด์ จะเลิกใช้ในปี 2562               ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และหลอดพลาสติกจะเลิกการใช้ในปี 2565                  ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาว่าจะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ ดร.ธรณ์ กล่าวว่า                  “ผมคิดว่าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ประเทศไทยค่อนข้างกระตือรือร้นกับขยะพลาสติกและขยะทะเล เราไปประกาศกับยูเอ็นว่าเราสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ มีการจัดประชุมระดับอาเซียนเมื่อเดือนมีนาคม เสนอประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นปฏิญญากรุงเทพ ต่อสู้กับขยะพลาสติกในทะเล แล้วก็จะเข้าที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนมิถุนายน บทบาทของส่วนกลางทั้งในระดับภูมิภาคและนานาประเทศ เราทำค่อนข้างเยอะ”                  แต่เพียงพอหรือไม่ที่จะยับยั้งปัญหาขยะพลาสติก ดร.สุจิตรา กล่าวว่า                      “ทางออกคือการลดตั้งแต่กระบวนการผลิตและการลดการบริโภค ถ้าให้ดีต้องออกกฎหมายให้ลดการใช้พลาสติกใหม่และส่งเสริมการใช้พลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) เพิ่มสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์ที่ต้นทาง อีกส่วนต้องลดการผลิตและบริโภคพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หามาตรการต่างๆ เช่นการเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม เพื่อลดทอนความต้องการพลาสติก                  “อีกด้านหนึ่ง รัฐต้องมีระบบการจัดการขยะที่ดี มีการแยกขยะที่ต้นทาง ขยะพลาสติกที่แยกได้นำกลับไปรีไซเคิล หรือนำไปผลิตสิ่งของต่างๆ ไปทำถนน เป้าหมาย คือ ลดการตกค้างของขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ข้อมูลการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลคาดการณ์จากระดับการจัดการขยะของประเทศที่ต้องทำให้ดีขึ้น ทำไมไทยติดอันดับ 6 ก็เพราะเรามีการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้องบนบกค่อนข้างเยอะ ขาดวินัยในการทิ้งขยะให้ลงถังและการแยกขยะ ทั้งที่จริงๆ แล้วเราผลิตขยะพลาสติกน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ในยุโรปหรือญี่ปุ่นสร้างขยะเยอะกว่าเรา แต่เขามีการแยกขยะ แล้วปลายทางก็เอาไปเผา ฝังกลบ ปรับวินัยของประชาชน จึงไม่มีหลุดรอดลงทะเลเท่าไหร่”                  แหล่งของขยะพลาสติกในทะเลมาจากบนบกถึงร้อยละ 80 ดังนั้น การจะลดปัญหาจึงต้องเริ่มตั้งแต่บนแผ่นดิน มาตรการทางเศรษฐศาสตร์อย่างการจัดเก็บภาษีผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าถุงพลาสติก และเพื่อให้มาตรการทางภาษีมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อัตราภาษีจะต้องถูกผ่องถ่ายจากผู้ผลิตไปยังผู้จัดจำหน่ายจนถึงผู้บริโภค หรือจัดเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ เช่น ค่าถุงพลาสติก เพื่อให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรม ควบคู่ไปกับการจัดการขยะที่ดีและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างจิตสำนึกแก่ผู้บริโภคให้เกิดการตระหนักรู้ว่าการบริโภคของตนส่งผลต่อโลกที่เราอยู่อย่างไร มูลนิธิโลกสีเขียวแนะใช้ชีวิตอย่างมีสติ ช่วยลดการใช้พลาสติก                  มูลนิธิโลกสีเขียวซึ่งทำงานด้านการให้การศึกษา เฝ้าระวังต้นน้ำ ชายหาด พบว่าปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่มาเนิ่นนาน มีการใช้พลาสติกสูงมากๆ นิตยา วงษ์สวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า                  “แต่ปัญหาไม่ลดลง มีแต่เพิ่มขึ้น ถามใคร ใครไม่รู้บ้างเรื่องปัญหาขยะพลาสติก แต่รู้แล้วยังไง จะทำอะไรต่อ เปลี่ยนแปลงตัวเองหรือไม่ ประกอบกับนโยบายก็ไม่ชัดเจนที่จะออกกฎกติกาในการทำให้ลดลง เป็นการขอความร่วมมือเสียส่วนใหญ่ เลยไม่ค่อยเห็นผลที่ชัดเจนมากนัก แต่มันก็อาจจะดีขึ้น เพราะห้างร้าน ร้านค้าปลีกก็เห็นความสำคัญ เริ่มทำด้วยตัวเอง แต่ถ้าภาครัฐออกมาชัดเจน มีการลดภาษีให้กับหน่วยงานที่ลดใช้ถุงพลาสติกก็จะช่วยได้เยอะ มันต้องนโยบายทั้งจูงใจและบังคับ                  “บางทีเรานึกภาพไม่ออกว่าขยะที่เราทิ้งมันไปสู่ทะเลได้ยังไง ลองนึกภาพว่าคนเมืองเอาขยะใส่ถุงพลาสติกมาทิ้งถังใหญ่ริมถนนเพื่อให้ กทม. มาจัดเก็บ แต่พอมันลับสายตาแล้ว มันไม่ได้ไปตามกระบวนการของมัน เช่น ถ้าเก็บไม่ดี ฝนตกมันก็หลุดร่วง หรือถังขยะล้ม ฝนก็ชะขยะลงท่อ บ้านเราไม่ได้มีการบำบัดทั้งหมด มันก็หลุดรอดลงทะเล               “เราต้องมีสติในการใช้ชีวิตประจำวัน มีถุงผ้า ขวดน้ำ กล่องข้าว ลดหลอด แต่ถ้าไม่สะดวกก็ต้องหาวิธีใช้ให้น้อยที่สุด ลองนับก็ได้ว่าวันหนึ่งผลิตขยะกี่ชิ้น”

อ่านเพิ่มเติม >