ฉบับที่ 198 พลาดเพราะแพทย์

หลายคนมักหมดห่วงหากผู้ป่วยถึงมือหมอแล้ว แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ เพราะผู้ป่วยบางคนกลับต้องได้โรคเพิ่มจากการรักษาพยาบาลของแพทย์ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมพรเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกที่โรงพยาบาลไทยนครินทร์ แต่ระหว่างการผ่าตัดแพทย์ผ่าตัดผิดพลาดจนไปโดนไตกับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้หลังผ่าตัดเธอไม่สามารถปัสสาวะเองได้ ทางโรงพยาบาลจึงยอมรับผิดและยินดีชดเชยเยียวยาให้เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมรับรักษาต่อจนกว่าจะหายเป็นปกติ ซึ่งเธอก็ตกลงยอมรับข้อเสนอ อย่างไรก็ตามเมื่อรักษาไปสักระยะหนึ่ง ทางโรงพยาบาลกลับยื่นข้อเสนอใหม่ว่า จะเพิ่มเงินเยียวยาให้อีก 50,000 บาท แล้วให้ไปรักษาตัวต่อเอง เพราะประเมินว่าคุณสมพรอาการดีขึ้นแล้ว แต่เธอกลับไม่รู้สึกเช่นนั้น จึงไม่รับข้อเสนอดังกล่าวและไปทำเรื่องร้องเรียนที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) โดยภายหลังได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งเธอยื่นข้อเสนอให้โรงพยาบาลเยียวยาเป็นจำนวนเงิน 3 ล้านบาท แต่ถูกปฏิเสธ ดังนั้นเมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ ทาง สบส. จึงแนะนำให้เธอไปฟ้องร้องดำเนินคดีต่อ คุณสมพรจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำว่าสามารถใช้สิทธิอย่างไรได้บ้างแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า ในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ผู้ร้องสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ โดยสามารถให้แพทย์ประเมินค่ารักษาพยาบาลจะต้องใช้ในการรักษาพยาบาลทั้งหมด รวมถึงการรักษาต่อในอนาคตได้ จากนั้นควรนัดเจรจาเพื่อเรียกค่าเสียหายตามจริง แต่หากพบว่าเจรจาไม่สำเร็จก็สามารถฟ้องดำเนินคดีต่อได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวจะมีอายุความ 1 ปี ทั้งนี้ศูนย์ฯ จะช่วยให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยอีกครั้ง เพื่อลดภาระให้กับผู้บริโภคในการฟ้องคดี โดยให้ผู้ร้องส่งประวัติการรักษาและหนังสือข้อตกลงที่ทำไว้กับโรงพยาบาล พร้อมสรุปค่ารักษาพยาบาลที่ผ่านมา เพื่อทำหนังสือและเจรจากับโรงพยาบาลก่อนเบื้องต้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 หมอผ่าตัดผิดพลาด ต้องรับผิดชอบ !

คดีนี้ถือเป็นคดีตัวอย่างที่ผู้เขียนอยากจะเผยแพร่ เพื่อให้เห็นถึงการวินิจฉัยและการใช้กฎหมายที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภคอย่างแท้จริง...เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2554 นางกรวรรณ ได้ไปโรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ด้วยอาการปวดท้องมาหลายวัน แต่อาการไม่ดีขึ้น เบื้องต้นแพทย์เวรได้ตรวจโดยการเอ็กซ์เรย์ปอดและเจาะเลือดพร้อมสังเกตอาการไปด้วย  ต่อมา นายแพทย์ ก. แพทย์ประจำแผนกสูตินรีเวช ผู้ทำการรักษาได้ตรวจนางกรวรรณด้วยวิธีใช้มือกดที่บริเวณท้องและแจ้งว่าน่าจะเป็นเนื้องอกขนาดใหญ่มาก จึงรีบดำเนินการผ่าตัดโดยด่วนโดยไม่มีการตรวจอัลตราซาวน์ก่อน  ภายหลังการผ่าตัดโดยเปิดหน้าท้องปรากฏว่านางกรวรรณ ตั้งครรภ์ มิใช่ก้อนเนื้องอกตามที่ นายแพทย์ ก. คิดไว้ จึงได้เย็บแผลผ่าตัดให้ปิดดังเดิม หลังจากนั้นนายแพทย์ ข. ผู้ทำการร่วมตรวจได้ส่งตัวนางกรวรรณไปฝากครรภ์ต่อที่โรงพยาบาลภูมิพลต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 นางกรวรรณ ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 อีกครั้ง ด้วยภาวะวิกฤตเลือดออกมากทางช่องคลอดเนื่องจากรกเกาะต่ำและเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ประกอบกับนางกรวรรณป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง นายแพทย์ ข. ผู้ทำการรักษาและคณะได้ร่วมกันตรวจวินิจฉัยและตัดสินใจต้องผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัดพบว่าทารกในครรภ์ได้เสียชีวิตแล้ว ส่วนนางกรวรรณเสียเลือดมาก แต่คณะแพทย์ที่ทำการผ่าตัดได้ช่วยกันจนห้ามเลือดไว้และเฝ้าดูอาการจนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2557 นางกรวรรณ ก็ถึงแก่ความตาย...คดีนี้ โจทก์ทั้งสี่ โดยนายวิเชียร หนูมา สามีผู้ตาย ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายกับ นายแพทย์ ก. เป็นจำเลยที่ 1 และ นายแพทย์ ข. เป็นจำเลยที่ 2 และโรงพยาบาลนวมินทร์ 9 เป็นจำเลยที่ 3  ในคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 3557/2555  ต่อศาลจังหวัดมีนบุรี ระหว่างพิจารณาคดี คู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าสืบหักล้างกัน  ต่อมาศาลชั้นต้นพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งหมดแล้วจึงมีคำพิพากษา ซึ่งผู้เขียนขอสรุปเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้ ศาลเห็นว่า นายแพทย์ ก. และ ข. ได้ทำการรักษานางกรวรรณอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า นายแพทย์ ก. และ ข. ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นางกรวรรณถึงแก่ความตาย ดังนั้นเมื่อ นายแพทย์ ก และ ข. ในฐานะ จำเลยที่ 1 ที่ 2  ไม่มีความผิด  โรงพยาบาลนวมินทร์  9 จำเลยที่ 3  จึงไม่มีความผิดด้วย จึงมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์  ประการแรกว่า นายแพทย์ ข. จำเลยที่ 2 ที่ผ่าตัดครั้งที่ 2  ต้องรับผิด ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีพยานบุคคลนายแพทย์ผู้ร่วมทำการผ่าตัดมาเบิกความประกอบกันว่า นางกรวรรณ ผู้ตายได้เข้ามารักษาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 ด้วยภาวะวิกฤตเลือดออกมากทางช่องคลอด นายแพทย์ ข. จึงต้องทำการผ่าตัดโดยด่วน ซึ่งการผ่าตัดต้องเสียเลือดมาก ผลการผ่าตัดพบว่าทารกเสียชีวิตแล้ว เมื่อล้วงคลอดรกพบว่ารกเกาะทะลุมดลูก จึงต้องตัดมดลูกที่ทะลุออก และยังพบว่ารกยังเกาะอยู่กับอวัยวะใกล้เคียงและเลือดออกมาก จึงให้ศัลยแพทย์เข้าร่วมผ่าตัดด้วย ทั้งที่กระเพาะปัสสาวะ ผนังอุ้งเชิงกราน เมื่อเลาะรกออกแล้วมีเลือดซึมออกไม่หยุด จึงห้ามเลือด เย็บบาดแผลปิดหน้าท้อง และเฝ้าดูอาการ  แต่ผู้ตายยังมีเลือดออกมาก แพทย์จึงให้เลือดและยาตามอาการ จนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 นางกรวรรณ ก็ถึงแก่ความตาย ดังนั้นการเสียชีวิตของผู้ตายจึงเป็นไปตามพยาธิสภาพ นายแพทย์ ข. ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจและรักษาแล้วประการที่สอง โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ว่า นายแพทย์ ก. จำเลยที่ 1 ที่ผ่าตัดครั้งแรก ต้องรับผิดด้วยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ได้ว่า การผ่าตัดในครั้งที่ 2 โดยนายแพทย์ ข. เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ด้วยอาการเลือดออกทางช่องคลอดของผู้ตายเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการกระทำของนายแพทย์ ก. ที่ผ่าตัดครั้งแรก แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า นายแพทย์ ก. จะมีส่วนประมาทในการตรวจรักษาผ่าตัดผู้ตายในครั้งแรก แต่ก็ยังฟังไม่ได้ว่า นายแพทย์ ก. กระทำโดยประมาทเป็นเหตุนางกรวรรณถึงแก่ความตาย เนื่องจากการผ่าตัดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2554 กับการผ่าตัดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 เนื่องจากเป็นเหตุการณ์คนละช่วงคนละตอนไม่เกี่ยวกันอย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีผู้บริโภค การพิจารณาคดีต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551  มาตรา 39 ที่บัญญัติว่า “ ...ถ้าความปรากฏแก่ศาลว่าจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ถูกต้องหรือวิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขเยียวยาความเสียหายตามฟ้อง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องหรือกำหนดวิธีการบังคับให้เหมาะสมได้แม้จะเกินกว่าที่ปรากฏในคำขอบังคับของโจทก์ก็ตาม…”และมาตรา 42  ที่บัญญัติว่า ถ้าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร...”ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว สรุปได้ว่า  แม้จำเลยที่ 1 จะเบิกความอ้างว่ามีแพทย์เวรเป็นคนตรวจเบื้องต้นตอนแรกก่อนจะมาถึงตน  แต่จำเลยที่ 1 ก็ทำเพียงแค่ซักถามประวัติผู้ตายเบื้องต้นว่าทำหมันมาแล้ว ทั้งที่ทราบดีว่าการทำหมันแล้วก็มีโอกาสหมันหลุดได้ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้ตรวจผลเอ็กซ์เรย์เอง ทั้งที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญและยอมรับว่าแพทย์ทางรังสีวิทยาจะเป็นผู้อ่านผลเอง แต่เนื่องจากการเอ็กซ์เรย์ของผู้ตายทำในเวลากลางคืนและจะทราบผลการอ่านของแพทย์รังสีวิทยาตอนเช้าดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 เพียงตรวจดูผลจากการวินิจฉัยของแพทย์เวรที่ตรวจเบื้องต้น และซักประวัติโดยไม่ตรวจให้แน่ชัดเสียก่อนว่าก้อนเนื้อที่พบนั้นจะเป็นทารกหรือไม่  อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังยอมรับว่าการตรวจการตั้งครรภ์สามารถทำด้วยวิธีง่ายๆ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ทำ กลับรีบผ่าตัดผู้ตายในคืนเดียวกับที่เข้ามาตรวจ  ซึ่งผลการผ่าตัดของจำเลยที่ 1 ไม่พบเนื้องอกที่รังไข่ แต่พบทารกที่มีอายุครรภ์ 16 – 18 สัปดาห์ มีอวัยวะครบ ซึ่งมีส่วนของกระดูกและหัวใจของทารกเต้นแล้ว  ซึ่งการวินิจฉัยที่ผิดพลาดของจำเลยที่ 1 จึงมีผลทำให้ผู้ตายต้องนอนพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ของจำเลยที่ 3 ดังนั้นความเสียหายแก่ร่างกายของผู้ตายจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 ซึ่งความเสียหายในส่วนนี้แม้โจทก์จะไม่ได้เรียกร้องมาในคำขอบังคับก็ตาม ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 39ส่วนค่าเสียหายนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า  ภายหลังการผ่าตัดที่ผิดพลาดของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 3 เคยเสนอเงินช่วยเหลือให้แก่โจทก์เป็นเงิน 500,000  บาท แต่โจทก์ได้เรียกร้องค่าเสียหาย 200,000 บาท จึงตกลงกันไม่ได้ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อโจทก์เคยเรียกร้องค่าเสียหาย 200,000 บาท จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย 200,000 บาท ประกอบกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้ตาย จึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายข้างต้นอีก 300,000 บาท ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 500,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ประกอบกิจการโรงพยาบาลที่ผู้ตายเข้าใช้บริการและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่นั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคไม่เห็นพ้องด้วยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไปคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังมีสิทธิที่จะขออนุญาตศาลเพื่อฎีกา หากมีความคืบหน้าผู้เขียนจะนำมาบอกกล่าวให้ผู้อ่านทุกท่านได้รับทราบอย่างแน่นอน ....

อ่านเพิ่มเติม >