ฉบับที่ 260 ตามดูการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่ม APEC

        เนื่องจากในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) เรามาตามดูการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มสมาชิกซึ่งมีจำนวน 21 สมาชิก (บางสมาชิกไม่ได้เป็นประเทศ)         ผมได้รวบรวมข้อมูลในปี 2015 และปี 2021 เพราะว่าในปี 2015 เป็นปีที่มีข้อตกลงปารีสเพื่อให้ประเทศต่างๆช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่วนใหญ่ก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ก๊าซนี้คือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนและภัยพิบัติต่างๆ ตามมา แล้วก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่ก็มาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคพลังงานและการขนส่งเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้นก็คือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั่นเอง         จำนวนประชากรของกลุ่มเอเปกมีประมาณ 37% ของโลก แต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันถึง 60% ของโลก ดังนั้น หากประเทศใดมีร้อยละของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2015 กับ 2021 เพิ่มขึ้นมากก็แสดงว่าประเทศนั้นๆให้ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติด้วยดี เรามาดูกันเลยครับ        จากข้อมูลในรูปข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า ในปี 2015 ของประเทศไทยปล่อยมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเล็กน้อย แต่พอถึงปี 2021 กลับต่ำกว่า ในขณะที่ประเทศเวียดนาม เริ่มจากเกือบศูนย์(มากไม่เห็นในรูป) จนพุ่งปรี๊ดถึง 10.53%  ในช่วงเวลาเดียวกัน         ความจริงดังกล่าวได้สะท้อนว่ารัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นรัฐบาลเดียวที่อยู่มาตลอดนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาโลกร้อนขององค์การสหประชาชาติเท่าที่ควร         นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นการลดการพึ่งพิงพลังงานจากต่างประเทศซึ่งมีราคาผันผวนเป็นอย่างมากนับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นต้นมา         อนึ่ง เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรีที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ออกมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมให้มีการใช้โซลาร์เซลล์บนหลังคาประชาชน โดยใช้ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า หรือ Net Metering  หากมติดังกล่าวได้รับการปฏิบัติจริง ผู้บริโภคจะสามารถลดภาระค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกหลายสตางค์ต่อหน่วยในงวดถัดไป การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านในประเทศไทยก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศออสเตรเลียซึ่งติดไปแล้วกว่า 3 ล้านหลังคา ทั้งๆ ที่มีจำนวนประชากรไม่ถึงครึ่งของประเทศไทย         จึงขอฝากให้ผู้บริโภคช่วยกันติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องปากท้องของผู้บริโภคที่นับวันจะชักหน้าไม่ถึงหลังแล้ว ยังจะช่วยลดภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 มาติดโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองกันเถอะ ผลตอบแทน 15% ต่อปี

        บทความนี้มี 3 ส่วน คือ (1) แรงจูงใจ (2) อุปสรรคและทางออกที่เปิดบ้างแล้ว และ (3) ต้นทุนและผลตอบแทนหนึ่ง แรงจูงใจ         เป็นที่คาดกันว่าในงวดใหม่คือ เดือนกันยายน-ธันวาคมนี้จะมีการขึ้นค่าไฟฟ้าในรูปของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft จาก 24.77 บาทต่อหน่วย เป็นเท่าใดก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันแต่คาดว่าจะขึ้นมากกว่าทุกๆครั้งที่ผ่านมา เมื่อรวมทั้งค่าไฟฟ้าฐานและภาษีมูลค่าเพิ่มคาดว่าค่าไฟฟ้าน่าจะประมาณ 5 บาทต่อหน่วย สาเหตุสำคัญที่ทางราชการบอกเราก็คือราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศไทยซึ่งมีราคาถูกมีจำนวนลดลง จึงต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีราคาสูงมาก         เท่าที่ผมสอบถามจากเพื่อนๆ โดยส่วนมากมักจะไม่รู้ว่าตนเองใช้ไฟฟ้าเดือนละกี่หน่วย แต่จะตอบได้ว่าประมาณสักกี่บาท เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ผมขอสมมุติว่า บ้านอยู่อาศัยประเภท 1.2 ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 600 หน่วย ค่าไฟฟ้าในปัจจุบันจะเท่ากับ 2,796.86 บาท เฉลี่ยหน่วยละ 4.66 บาท หากมีการขึ้นค่า Ft เป็น 65 สตางค์ต่อหน่วย (สมมุตินะครับ) ค่าไฟฟ้าจะขึ้นเป็น 3,055.14 บาท เฉลี่ย 5.09 บาทต่อหน่วย ข้อมูลนี้มีความสำคัญต่อการตัดสินใจว่าเราควรจะติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาหรือไม่ ถ้าจะติดควรจะติดเท่าใดกี่ปีจึงจะคุ้มทุนสอง อุปสรรคและทางออกที่เปิดบ้างแล้ว         แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เรามาทำความเข้าใจถึงนโยบายและข้อปฏิบัติของรัฐบาลกันสักหน่อยหลังการรัฐประหารโดย คสช.เมื่อปี 2557 ได้ไม่นานนัก “สภาปฏิรูปชาติ” ได้ทำข้อเสนอให้กระทรวงพลังงานจัดทำโครงการ “โซลาร์รูฟ ภาคประชาชน” คือให้ประชาชนสามารถติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง หากมีเหลือก็สามารถขายให้กับการไฟฟ้าได้ภายใต้โครงการใหญ่ที่สะท้อนถึงเจตนาที่เร่งด่วนว่า “Quick Win” คือให้สำเร็จหรือประสบชัยชนะเร็วๆ         กระทรวงพลังงานโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกระเบียบเพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าวตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 โดยได้ตั้งเป้าว่าจะติดตั้งให้ได้ทั้งประเทศรวมกัน 100 เมกะวัตต์ ถ้าเฉลี่ยมีการติดตั้งหลังละ 5 กิโลวัตต์ รวม 2 หมื่นหลังคา ภายในเดือนธันวาคม 2562 โดยตั้งกติกาแบบท้าทายว่าใครมาก่อนจะได้รับอนุญาตก่อน ครบโควต้าแล้วหมดกันนะ         ฟังอย่างนี้แล้วดูเหมือนว่ากระทรวงพลังงานได้ตอบสนองนโยบายเร่งด่วนนี้อย่างเต็มที่เลยหรือ Quick จริงๆ แต่จนแล้วจนรอดจนถึงปัจจุบันนี้มีผู้แจ้งความสนใจไม่ถึง 1.8 เมกะวัตต์ ทำไมประชาชนไม่ตอบสนอง ทั้ง ๆ ที่มีการเรียกร้องต้องการ         เหตุผลสำคัญก็คือว่า กกพ.ได้ตั้งกติกาที่หยุมหยิมเกินความจำเป็นและไม่สมเหตุสมผลในเชิงการลงทุนและรายได้ เช่น (1) สัญญารับซื้อแค่ 10 ปี แต่อายุโซลาร์ 25-30 ปี ระยะเวลาที่เหลือจะให้ทำอย่างไร (2) รับซื้อในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย แล้วขยับมาเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย ทั้ง ๆที่ การไฟฟ้าขายให้ผู้บริโภคในราคาประมาณ 4.40 บาทต่อหน่วย  (3) ต้องติดมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัวราคาประมาณ 8 พันบาท เพื่อวัดปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้การไฟฟ้า (4) ต้องให้มีการเซ็นรับรองความแข็งแรงของอาคาร ทั้งๆ ที่คนธรรมดาๆ สามารถดูด้วยตาเปล่าก็รู้ว่ามีความแข็งแรงหรือไม่ และ (5) ต้องให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าตรวจมาตรฐานของอุปกรณ์ ข้อนี้ผมเห็นด้วยว่ามีความจำเป็นครับ แต่ถ้าแค่มีคำแนะนำที่ชัดเจนและบังคับใช้อย่างจริงจังก็น่าจะใช้ได้แล้ว เพราะเจ้าของบ้านก็คำนึงถึงความปลอดภัยบนหลังบ้านตัวเองเป็นหัวใจสำคัญเช่นกัน         สภาองค์กรของผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวแทนของผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ทำข้อเสนอนี้ถึงทั้งรัฐบาลและกระทรวงพลังงานหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด         แต่แล้วก็มีข่าวดีจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งเพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ สาระสำคัญคือมีการผ่อนผันเงื่อนไขเดิมของการไฟฟ้า 2 ประการ คือ         หนึ่ง  ไม่มีการตรวจสอบเงื่อนไขขีดจำกัดของหม้อแปลงไฟฟ้า (ว่าไม่เกิน 15% ของพิกัดหม้อแปลง) ที่มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่มีขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ กล่าวคือ ต่อจากนี้ไม่ต้องคำนึงประเด็นนี้แล้ว         สอง ให้ยกเว้นการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า ตามข้อกำหนดฯ         ความสำคัญของประกาศฉบับนี้อยู่ที่ข้อที่สองนี้ คืออนุญาตให้ไฟฟ้าที่เราผลิตได้ในตอนกลางวันสามารถไหลย้อนเข้าไปในระบบสายส่งได้ เปรียบเหมือนเป็นการฝากพลังงานไฟฟ้าไว้ในสายไฟฟ้า (เพื่อนำไปให้บ้านอื่นใช้ก่อน) ในช่วงนี้มิเตอร์แบบจานหมุนก็จะหมุนถอยหลัง ตัวเลขที่มิเตอร์ก็จะลดลง เมื่อถึงเวลาที่เจ้าของบ้าน (ที่ติดโซลาร์) จะใช้ไฟฟ้าจากสายส่งก็จะไหลผ่านมิเตอร์ จานหมุนในมิเตอร์ก็จะหมุนเดินหน้า ตัวเลขก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าที่มาจดมิเตอร์ก็ว่ากันไปตามตัวเลขที่ปรากฎสมมุติว่าเราใช้ไฟฟ้าจริงๆ จำนวน 600 หน่วย แต่เราผลิตได้เอง 350 หน่วย เราก็จ่ายเงินเพียง 250 หน่วย แต่ถ้าเราใช้ไฟฟ้าเพียง 300 หน่วย ทางการไฟฟ้าก็จะได้รับไฟฟ้าไปจำนวน 50 หน่วย โดยไม่คิดราคาให้กับเจ้าของบ้านแต่อย่างใด         แต่ถ้าเป็นระบบที่เรียกว่า “Net Metering” หรือการหักลบกลบหน่วย ทางการไฟฟ้าจะต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าของบ้านจำนวน 50 หน่วย เท่าที่ผมทราบจากหลายประเทศ ทั้งที่เป็นประเทศร่ำรวยและยากจนก็ใช้ระบบนี้กันเป็นส่วนใหญ่เพราะเป็นระบบที่ประหยัดที่สุด ไม่ต้องติดตั้งมิเตอร์ราคา 8,000 บาท เพราะถ้าขายไฟฟ้าได้ราคา 2.20 บาทต่อหน่วย หลังคาที่ติดขนาด 3 กิโลวัตต์ต้องใช้เวลาประมาณ 10 เดือนจึงจะได้ค่ามิเตอร์คืน ระยะเวลาการคืนทุนก็ต้องยืดออกไปอีก         แต่เอาเถอะครับ การที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผ่อนผันให้ขนาดนี้ก็ถือว่าเป็นผลดีพอสมควรแล้ว ไม่ทราบว่าการไฟฟ้านครหลวงจะมีประกาศแบบนี้บ้างเมื่อไหร่         เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุผลที่ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใช้ในการผ่อนผันดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากเหตุผลทางวิศวกรรมหรือความปลอดภัยที่เคยอ้างกันว่าไฟฟ้าจะไหลย้อนไปดูดพนักงานที่กำลังซ่อมระบบเลย แต่เป็นเหตุผลทางนโยบายที่ต้องการตอบสนองผู้ใช้ไฟฟ้าเรื่อง “การลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน” ประเทศออสเตรเลียซึ่งมีประชากรไม่ถึงครึ่งของประเทศไทยแต่มีการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาไปแล้ว 2.3 ล้านหลังคาเมื่อต้นปี 2022 และเป็นการติดภายใต้ระบบ “Net Metering” สาม ต้นทุนและผลตอบแทน         ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องได้ลดลงราคาอย่างต่อเนื่อง แต่จากสถานการณ์การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนทั้งระบบเพิ่มขึ้น 10-20%   เท่าที่ผมติดตามต้นทุนพร้อมค่าแรงติดตั้งขนาด 3 กิโลวัตต์ น่าจะประมาณ 1.2-1.3 แสนบาท ใช้พื้นที่ประมาณ 16 ตารางเมตร โดยที่ 1 กิโลวัตต์สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 1,300 - 1,450 หน่วย ขึ้นอยู่กับว่าอยู่จังหวัดใด และทิศทางในการรับแสงแดดว่าเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นขนาด 5 กิโลวัตต์ ก็ประมาณ 1.5 - 2.0 แสนบาท         ในที่นี้ผมขอสมมุติว่า ขนาด 3 กิโลวัตต์ ลงทุน 130,000 บาท ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 3X1,300 หรือ 3,900 หน่วย หรือ 325 หน่วยต่อเดือน  ถ้าเราคิดอย่างง่ายๆ ว่า ไฟฟ้าที่เราผลิตได้ 1 หน่วย ทำให้เราลดค่าใช้จ่ายได้ 5 บาท (ตามอัตราค่าไฟฟ้าที่จะขึ้นใหม่เดือนกันยายนนี้) นั่นคือ ได้ผลตอบแทนเดือนละ 1,650 บาท ปีละ 19,500 บาท ใช้เวลา 6.7 ปีก็คือทุน ถ้าคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยก็ 15% ต่อปี โดยที่ทุนที่เราลงไปยังใช้งานต่อได้อีก 18 ถึง 23 ปี         นี่เป็นการคิดอย่างคร่าวๆ ตามเงื่อนไขที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ในทางปฏิบัติจริงในปีที่ 12 เราต้องเปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้นใหม่ เช่น อินเวอร์เตอร์ (ซึ่งไม่ใช่ส่วนที่มีราคาแพงที่สุด) ในขณะที่แผงโซลาร์เซลล์ (และเป็นส่วนที่แพงที่สุด) จะมีอายุการใช้งานนาน 25-30 ปี นอกจากนี้อาจจะต้องเสียเงินค่าล้างแผงบ้างปีละครั้ง แต่เท่าที่ผมทราบบางบ้านติดมา 4 ปีแล้วยังไม่ได้ล้างแผงเลย ปล่อยให้ฝนช่วยล้างให้ ผลผลิตก็ไม่ได้ตกต่ำอย่างมีนัยสำคัญ อ่านมาถึงตอนนี้ ท่านคิดอย่างไรครับ เงินออมของท่านที่ฝากธนาคารให้ผลตอบแทนเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปีเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >