ฉบับที่ 203 พลังงานและน้ำตาลในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง

เชื่อว่าหลายคนนิยมรับประทานเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง ซึ่งมีหลากหลายประเภทให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็นนมถั่วเหลือง โกโก้ ช็อกโกแล็ต ชานม หรือไมโล โอวันติน เนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้มักมาในรูปแบบทรีอินวัน ทำให้มีรสชาติที่กลมกล่อม และเพียงแค่เราฉีกซองเติมน้ำร้อนก็สามารถรับประทานได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานอีกด้วย อย่างไรก็ตามด้วยรสชาติที่อร่อย พร้อมขนาดซองที่ไม่ใหญ่มากนักของเครื่องดื่มประเภทนี้ อาจทำให้ผู้บริโภคหลายคนอร่อยเพลิน จนลืมตรวจสอบปริมาณพลังงานและน้ำตาลที่เราจะได้รับ ซึ่งแน่นอนว่าหากเราได้รับพลังงานและน้ำตาลสูงเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน สามารถส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวานจากการได้รับน้ำตาลเกิน 24 กรัม/วัน หรือโรคหัวใจจากการได้รับไขมันไม่ดีสะสม รวมทั้งโรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้นฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขออาสาตรวจสอบน้ำตาลและพลังงานในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง จาก 15 ยี่ห้อยอดนิยมจำนวน 22 ตัวอย่าง รวมทั้งทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ ซึ่งจะแสดงผลในเล่มถัดไป สรุปผลการสำรวจฉลากจากตัวอย่างเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผงที่นำมาทดสอบทั้งหมด 15 ยี่ห้อ จำนวน 22 ตัวอย่าง พบว่า 1. มี 1 ตัวอย่าง ไม่มีฉลากโภชนาการคือ มัช ชานมปรุงสำเร็จชนิดผง 2. ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุด คือ ซองเดอร์ เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูปผสมงาดำ รสจืด มีปริมาณน้ำตาล 0 กรัม/หน่วยบริโภค ในขณะที่ยี่ห้อที่ให้ปริมาณน้ำตาลมากที่สุดคือ เอ็ก ซอง ชาปรุงสำเร็จ รสนม ชนิดซอง ปริมาณน้ำตาล 22 กรัม/หน่วยบริโภค3. ยี่ห้อที่ให้พลังงานน้อยที่สุดคือ ซุปเปอร์ ชานมปรุงสำเร็จ ให้พลังงาน 70 กิโลแคลอรี่/หน่วยบริโภค ในขณะที่ยี่ห้อที่ให้พลังงานมากที่สุดคือ เอ็ก ซอง ชาปรุงสำเร็จ รสนม ชนิดซอง ให้พลังงาน 190 กิโลแคลอรี่/หน่วยบริโภค4. นอกจากนี้ยังพบว่ามี 1 ยี่ห้อที่ไม่มีเลขสารบบอาหารคือ Royal Myanmar Teamix ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ซื้อจากห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน (กูร์เมต์ มาร์เก็ต)ข้อสังเกต- การแสดงฉลากอาหารจากตัวอย่างที่นำมาทดสอบทั้งหมดพบว่า 1 ตัวอย่างที่ไม่มีเลขสารบบอาหาร อาจเข้าข่ายผิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ที่กำหนดไว้ว่า การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุที่ผลิตเพื่อจำหน่าย นำเข้าเพื่อจำหน่ายหรือที่จำหน่าย ต้องแสดงข้อความเป็นภาษาไทย และอย่างน้อยจะต้องมีข้อความแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้ (เว้นแต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะยกเว้นให้ไม่ต้องระบุข้อความหนึ่งข้อความใด) 1.ชื่ออาหาร 2.เลขสารบบอาหาร 3.ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต หรือผู้แบ่งบรรจุหรือผู้นำเข้าหรือสำนักงานใหญ่ (แล้วแต่กรณี) 4.ปริมาณของอาหาร 5.ส่วนประกอบที่สำคัญ 6.คำเตือน/ ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร 7.ชื่อวัตถุเจือปนอาหาร (ถ้ามี) 8.ข้อความ “แต่งกลิ่นธรรมชาติ/ สังเคราะห์” (ถ้ามี) และ 9.แสดงวันเดือนปี ผลิต/หมดอายุนอกจากนี้ตัวอย่างที่ไม่มีฉลากโภชนาการหรือไม่ระบุฉลากโภชนาการภาษาไทย อาจสร้างความสับสนให้ผู้บริโภคบางส่วนได้ เนื่องจากฉลากโภชนาการมีความสำคัญในแง่ของของการให้ข้อมูลและความรู้ ด้านคุณค่าทางโภชนาการอาหารกับผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อเป็นทางเลือกในการบริโภคอาหารในแต่ละวันให้เหมาะสมกับที่ร่างกายต้องการตารางแสดงผลการสำรวจฉลากภาษีน้ำตาล ปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มในไทยมีมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจัยหลักของการเติบโตนี้มาจากการขายเครื่องดื่มที่มีรสหวาน แม้ว่าภาครัฐจะมีการเพิ่มอัตราภาษีน้ำตาลจากร้อยละ 6.9 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 8.9 ในปี 2557 แต่ก็ยังสวนทางกับจำนวนคนเป็นโรคอ้วนที่มีมากขึ้นจากร้อยละ 34.7 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 37.5 ในปี 2557 ดังนั้นรัฐจึงได้มีการเพิ่มภาษีน้ำตาลในอาหารชนิดต่างๆ ในปี 2560 ที่ผ่านมา โดยหวังให้เป็นมาตรการหนึ่ง ในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของผู้บริโภคให้หันมาลดการทานหวาน มัน เค็ม  โครงสร้างการจัดเก็บค่าความหวานนั้น จะแบ่งออกเป็น 6 ระดับ ได้แก่ ค่าความหวาน 0-6 กรัมต่อ 100 มล. ไม่ต้องเสียภาษี ค่าความหวาน 6-8 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 10 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน  8-10 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 30 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน 10-14  กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 50 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน 14-18 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร และค่าความหวาน 18 กรัมต่อ 100 มล.ขึ้นไป เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร โดยให้เวลาภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มปรับตัวเป็นระยะเวลา 2 ปี ก่อนจะเริ่มเก็บจริงในวันที่ 1 ต.ค. 2562

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point