ฉบับที่ 192 6 ข้อ ควรรู้ และเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนใช้ “พร้อมเพย์ - PromptPay

ข้อ 1 พร้อมเพย์ PromptPay คือ ทางเลือกในการรับ - โอนเงินรูปแบบใหม่ ใช้แค่หมายเลขประจำตัวประชาชน หรือ หมายเลขโทรศัพท์มือถือ ไม่จำเป็นต้องรู้หมายเลขบัญชีธนาคาร ก็สามารถรับ – โอนเงินได้แล้ว ซึ่งถ้าคุณมีธุรกรรมที่ต้องรับเงินโอนเข้าบัญชีบ่อย ๆ เช่น ขายของออนไลน์ การมี “พร้อมเพย์” ก็จะช่วยให้ลูกค้าจ่ายเงินได้สะดวกขึ้น เพราะจำแค่หมายเลขโทรศัพท์ชุดเดียว ไม่ต้องใช้หมายเลขบัญชีธนาคาร นอกจากนี้ ยังเสียค่าธรรมเนียมการโอนเงินถูกกว่า ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินข้ามจังหวัด หรือต่างธนาคาร  มูลค่าการโอน/รายการ ค่าธรรมเนียม/รายการ ไม่เกิน 5,000 บาท ฟรี 5,000 – 30,000 บาท ไม่เกิน 2 บาท 30,000 – 100,000 บาท ไม่เกิน 5 บาท 100,000 – วงเงินสูงสุดที่แต่ละธนาคารกำหนดให้โอนได้ ไม่เกิน 10 บาท ถ้าคุณไม่มีธุระต้องรอรับเงินโอนจากใคร คุณไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนพร้อมเพย์ก็ได้ เพราะถึงยังไงคุณก็ยังสามารถโอนเงินไปให้ปลายทางที่เขาใช้บริการพร้อมเพย์ได้อยู่ดีข้อ 2 จะรับเงินโอนผ่านพร้อมเพย์ได้ คุณต้องไปลงทะเบียนก่อน โดยหนึ่งบัญชีเงินฝากจะผูกกับหมายเลขประจำตัวประชาชน หรือ หมายเลขโทรศัพท์มือถือ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างก็ได้ หรือ ถ้าคุณมีโทรศัพท์หลายเครื่องแล้วต้องการให้ทุกเลขหมายโอนเงินเข้ามาที่บัญชีเดียวกันก็สามารถทำได้ แต่หมายเลขโทรศัพท์ หรือหมายเลขประจำตัวประชาชนที่ลงทะเบียนผูกไว้กับบัญชีใดแล้ว จะไปลงทะเบียนผูกกับบัญชีเงินฝากอื่นอีกไม่ได้ สรุปว่า “หนึ่งบัญชีผูกได้หลายเบอร์ แต่เบอร์หนึ่งผูกได้บัญชีเดียว”ข้อ 3 หมายเลขโทรศัพท์มือถือที่จะนำมาลงทะเบียนพร้อมเพย์นั้น ใช้ได้ทั้งแบบรายเดือนและแบบเติมเงิน แต่สำหรับแบบเติมเงินคุณจะต้องลงทะเบียนซิมการ์ด เพื่อยืนยันตัวตนกับทางค่ายมือถือให้เรียบร้อยเสียก่อนข้อ 4 เมื่อต้องโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ ให้ตรวจสอบ ชื่อ-สกุล ของผู้รับโอนปลายทางให้ถูกต้อง ตรงกันทุกครั้ง ถ้ามีปัญหาโอนเงินแล้วปลายทางไม่ได้รับ ให้รีบติดต่อธนาคารต้นทางเพื่อตรวจสอบข้อ 5 การโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ ระบบจะแสดงข้อมูลส่วนบุคคล ชื่อ – สกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ ของผู้รับโอนทุกครั้ง แต่ไม่ต้องกังวลว่า ถ้ามีคนรู้ข้อมูลเหล่านี้แล้วจะเอาไปใช้โอนเงินออกจากบัญชีของคุณได้ เพราะระบบพร้อมเพย์เน้นการรับเงินโอนเป็นหลัก ส่วนการเบิกถอนเงินออกจากบัญชียังต้องใช้ระบบเดิมอยู่ คือ ถ้าเบิกเงินที่ธนาคาร ก็ต้องมีสมุดบัญชี และลายเซ็นเจ้าของบัญชี ถ้าใช้บัตร ATM ก็ต้องมี รหัสบัตร ATM ที่ถูกต้อง หรือถ้าใช้ Mobile Banking ก็ต้องมี User name กับ Password ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ เบอร์โทรศัพท์ และ บัตรประชาชนข้อ 6 อย่างไรก็ตาม ต้องตระหนักรู้ว่า “ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มีความเสี่ยง” เมื่อเราเอาเบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือ เลขประจำตัวประชาชนไปผูกกับบัญชีเงินฝาก ดังนั้น การตั้งรหัสผ่าน(Password) จะต้องรัดกุม รอบคอบ หลีกเลี่ยงการตั้งรหัสผ่านที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล เบอร์โทรศัพท์ ชื่อ บ้านเลขที่ วันเดือนปีเกิด เพราะมันง่ายที่จะเดา ทางที่ดีจึงควรเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นระยะ ๆ และไม่ควรให้บุคคลอื่นเอาโทรศัพท์ของเราไปใช้ เพราะเท่ากับคุณให้เขาเอากระเป๋าสตางค์ไปถือไว้ในมือ

อ่านเพิ่มเติม >