พรากผู้เยาว์ (2)

คำว่า “พราก“ ในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรหมายความว่า พาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองหรือดูแล ทำให้ความปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน (ฎีกาที่ 3152/2543) กฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดาที่มีต่อเด็ก มิให้ผู้ใดพรากไปเสียจากความปกครอง  แม้ผู้กระทำผิดจะชักชวนแนะนำเด็กให้ไปกับผู้กระทำโดยมิได้หลอกลวงเด็กและเด็กเต็มใจไปด้วยก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ (ฎีกาที่ 2858/2540 , ฎีกาที่ 3718/2547) เด็กยังไม่พ้นจากความปกครองดูแลของบิดามารดา จะกระทำโดยวิธีการใดก็ได้ ไม่มีข้อจำกัด ไม่ต้องใช้กำลังหรืออุบายใด ( ฎีกาที่ 2673/2546) ดังนั้นไม่ว่าการพาไปเพื่อร่วมประเวณีจะอยู่ในเส้นทางหรือนอกเส้นทางรับส่งผู้เสียหายไปกลับจากโรงเรียนก็ย่อมเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารเช่นกัน โดยไม่จำกัดว่าเป็นเวลานานเท่าใดด้วย แม้จะพรากไปเพียงชั่วคราวก็ตามหากไม่ได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ( ฎีกาที่ 2858/2540) ก็ถือว่ากระทำผิดฐานพรากผู้เยาว์ ฎีกาที่ 1605/2523 ผู้กระทำผิดพาผู้เสียหายไปร่วมประเวณีในกระท่อมใกล้บ้าน แม้อยู่ด้วยกันเพียง 5 ชั่วโมง ก็ถือว่ารบกวนสิทธิหรือแยกสิทธิในการควบคุมดูแลไปจากผู้ปกครองแล้ว อนึ่งการพรากจะสำเร็จต่อเมื่อพ้นไปจากการปกครอง หากยังไม่พ้นไปจากความปกครองก็เป็นเพียงพยายาม เช่น ดึงเด็กอายุ 8 ปี ไปจากผู้ดูแลพยายามจับอุ้มตัวไปแต่ผู้ดูแลดึงตัวเด็กไว้และร้องขอให้ช่วย จึงปล่อยตัวเด็กไป (ฎีกาที่ 2191/2522) บิดามารดา ผู้ปกครอง น่าจะหมายถึงผู้ปกครองตามกฎหมาย ส่วนผู้ดูแลถือตามความจริง (ฎีกาที่ 5669/2537 , ฎีกาที่ 6203/2541) ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะพรากไปจากคนใดคนหนึ่งดังกล่าวก็มีความผิดทั้งสิ้น (ฎีกาที่ 1400/2538) อย่างเช่น กรณีเป็นการพรากเพื่อหากำไร อย่างการพรากเด็กให้ไปเป็นขอทาน (ฎีกาที่ 5409/2530) เป็นต้น มาดูกรณีศึกษากันสักเรื่อง ในกรณีพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร โดยเป็นเรื่องที่ จำเลยอุ้มผู้เสียหาย ซึ่งนั่งเล่นอยู่ใต้ถุนบ้านของจำเลยขึ้นไปบนบ้านของจำเลย จะถือว่าเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ด้วยหรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848/2548 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคหนึ่ง มีความมุ่งหมายเพื่อให้ความคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีต่อผู้เยาว์มิให้ผู้ใดพาไปหรือแยกออกจากความปกครองดูแลโดย ไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีการใด และไม่คำนึงถึงระยะใกล้หรือไกล ดังนั้นแม้ผู้เสียหายที่ 1 (ผู้เยาว์) นั่งเล่นอยู่ใต้ถุนบ้านของจำเลย แต่ผู้เสียหายที่ 1 ก็ยังอยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 (ผู้ปกครอง) การที่จำเลยมาอุ้มผู้เสียหายที่ 1 ในการควบคุมดูแลของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยไม่มีสิทธิจะพาผู้เสียหายที่ 1 ไปยังที่ใดโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม การที่จำเลยมาอุ้มผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นไปบนบ้านตนแล้วพาไปห้องนานและกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ถือว่าจำเลยแยกสิทธิปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ในการควบคุมดูแลผู้เสียหายที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร การกระทำของจำเลยเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจารอันเป็นความผิดตาม มาตรา 317 วรรคสอง จำเลยนำอวัยวะเพศของจำเลยใส่อวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 อวัยวะเพศจำเลยได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสองด้วย ส่วนจำเลยจะสำเร็จความใคร่หรือไม่ย่อมมิใช่สาระสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

พรากผู้เยาว์ อุทาหรณ์สอนใจคนรักเด็ก

รู้กฎหมายกับทนายอาสาsmbuyer@hotmail.com ความผิดฐานพรากผู้เยาว์นั้น บุคคลทั่วๆ ไปมักจะเข้าใจกันว่าต้องเป็นเรื่องการหลอกลวงผู้เยาว์หรือนำผู้เยาว์ไปจากความดูแลของบิดามารดาหรือผู้ปกครองผู้เยาว์ แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ แม้ไปพบผู้เยาว์ที่อื่น เช่น ศูนย์การค้า ผับ เธคหรืองานวัด ฯลฯ แล้วพาผู้เยาว์ไปกระทำชำเรา ก็ยังมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อยู่ดี  ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคแรก บัญญัติว่า “ ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วยต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีหรือสิบปีและปรับตั้งแต่สี่พันถึงสองหมื่นบาท “ และวรรคสามบัญญัติว่า “ ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท“ และมาตรา 319 วรรคแรกบัญญัติว่า “ ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาท ถึงสองหมื่นบาท “มาดูกรณีศึกษาจาก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4465/2530 ( ประชุมใหญ่)โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้พราก น.ส. ก. อายุ 16 ปีเศษไปเสียจากนาย จ. บิดาเพื่อการอนาจารโดยใช้มีดปลายแหลมขู่บังคับให้ น.ส. ก. ไปกับจำเลยและจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเรา น.ส. ก. 2 ครั้ง โดย น.ส. ก.ไม่เต็มใจไปด้วย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม จำคุก 3 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกาศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ผู้เสียหายมีอายุเพียง 16 ปีเศษ ยังอาศัยและอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบิดามารดา ผู้เสียหายจึงอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาการกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายแม้ผู้เสียหายจะสมัครใจยินยอมก็ตาม ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาก่อน มิฉะนั้นย่อมเป็นการล่วงอำนาจปกครองของบิดามารดา การที่บิดามารดาให้อิสระแก่ผู้เสียหาย ที่จะเที่ยวที่ไหนและกลับเมื่อใด ไม่เคยสนใจสอบถามหรือห้ามปราม ผู้เสียหายก็ยังคงอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกระทำชำเราจึงเป็นการพรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดามารดา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 การพรากผู้เยาว์กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ไม่ว่าผู้เยาว์จะเต็มใจไปด้วยหรือไม่ แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 ศาลย่อมปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 ได้ มิใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องพิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 จำคุก 3 ปี ปรับ 6,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >