ฉบับที่ 253 จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี : ไทยกับพม่ารักกันตรงไหน ให้เอาปากกามาวง

หากจะถามว่า แม่น้ำที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของไทยหรือสยามประเทศคือแม่น้ำอะไร ทุกคนก็คงตอบได้ทันทีว่า “แม่น้ำเจ้าพระยา” และหากจะถามบนข้อสงสัยเดียวกันว่า แล้วแม่น้ำสายหลักของพม่าหรือสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาคือแม่น้ำสายใด เราก็คงตอบได้เช่นกันว่า “แม่น้ำอิรวดี”ฃโดยหลักทางภูมิศาสตร์แล้ว แม่น้ำสองสายดังกล่าวไม่ได้มีเส้นทางที่จะไหลมาเชื่อมบรรจบกันได้เลย แต่หากพินิจพิจารณาในเชิงสังคมการเมืองแล้ว เส้นกั้นพรมแดนเกินกว่าสองพันกิโลเมตรระหว่างรัฐชาติ กลับมีสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมบางเส้นที่ผูกโยงข้ามตะเข็บชายแดนกันมาอย่างยาวนานด้วยเหตุฉะนั้น พลันทีช่องทีวีสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสออกอากาศละครโทรทัศน์ที่ตั้งชื่อเรื่องแบบดูดีมีรสนิยมว่า “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” ผู้เขียนก็เริ่มสงสัยใคร่รู้ว่า สายสัมพันธ์ทางความคิดและความหมายที่ข้ามแว่นแคว้นแดนดินระหว่างไทยกับพม่าจะถูกตีความออกมาเยี่ยงไร                  โดยโครงที่วางไว้เป็นละครแนวโรแมนติกดรามาแบบข้ามภพชาตินี้ ผูกโยงเรื่องราวชีวิตของนางเอกสาว “นุชนาฏ” ผู้มีภูมิลำเนาอยู่พระนครศรีอยุธยา ได้เริ่มต้นงานใหม่เป็นผู้ช่วยเชฟประจำโรงแรมใจกลางกรุงย่างกุ้ง เป็นเหตุให้เธอได้มาพบเจอกับพระเอกหนุ่ม “ปกรณ์” หัวหน้าเอ็กเซ็กคูทีฟเชฟคนไทย ที่ทั้งแสนจะเจ้าระเบียบและโผงผางตรงไปตรงมา แต่ภายใต้ท่าทีขึงขังจริงจังนั้น เขาก็เป็นคนที่มุ่งมั่นในวิชาชีพการทำอาหารยิ่งนัก         และเหมือนกับชื่อเรื่อง “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” เมื่อตัวละครนุชนาฏผู้ที่หลุดไปจากบริบทของสังคมไทยที่หลอมตัวตนมาตั้งแต่เกิด และได้ไปพำนักอยู่ในนครย่างกุ้ง เธอก็ได้เริ่มเห็นอีกด้านหนึ่งของพม่าที่แตกต่างไปจากภาพจำของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถูกกล่อมเกลาและติดตั้งจนเป็นสำนึกในโลกทัศน์ของคนไทย         แม้จะยังคงแบกเอาอคติต่อพม่าในฐานะภาพเหมารวมอันฝังตรึงในห้วงคำนึงแบบไทยๆ มาไว้ในความคิดของเธอตั้งแต่แรกก็ตาม แต่การที่นุชนาฏได้มาสัมผัสประสบการณ์ใหม่และเป็นประสบการณ์จริงจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น ประสบการณ์ตามภาพจำที่เผชิญหน้ากับประสบการณ์ตรงจากของจริงจึงก่อเกิดเป็นคำถามมากมายในใจที่เธอเริ่มมองพม่าผิดแผกไปจากเดิม                  เริ่มต้นตั้งแต่ที่ปกรณ์ต้องประกอบอาหารเพื่อต้อนรับ “อูเทวฉ่วย” มหาเศรษฐีใหญ่ของพม่า ที่วางแผนจะเข้ามาเทคโอเวอร์กิจการโรงแรมที่เขาทำงานอยู่ และเมนูอาหารพื้นเมืองที่ต้องจัดเตรียมในครานี้ก็คือ “โมฮิงกา” ทั้งปกรณ์และนุชนาฏจึงต้องร่วมกันสืบเสาะค้นหาว่า ตำรับอาหารที่ชื่อโมฮิงกานั้นคืออันใด มีรสชาติเช่นไร และจะปรุงแต่งอย่างไรจึงจะสร้างความประทับใจให้กับนายทุนใหญ่ผู้นี้ได้         เพราะที่ผ่านมาคนไทยมีภาพจำที่หยั่งรากฝังลึกว่า พม่าเป็นศัตรูอันยิ่งใหญ่ของรัฐชาติสยามประเทศ ภาพที่ฝังลึกดังกล่าวนี้จึงเป็นยิ่งกว่ากำแพงที่สกัดไม่ให้เราปรารถนาจะก้าวข้ามเพื่อไปทำความรู้จักหรือเรียนรู้ความเป็นไปของผู้คนที่อาศัยอยู่ฝั่งตรงข้ามพรมแดนสมมติทางภูมิศาสตร์         ดังนั้นภาพที่ตัวละครเอกทั้งคู่ต้องดั้นด้นสืบค้นหาสูตรการปรุงโมฮิงกา ก็มีนัยที่เสียดสีในทีว่า เผลอๆ จะเป็นคนไทยนี่เองที่ไม่อยากข้องแวะ หรือแทบจะไม่รู้จักเสียเลยว่า วัฒนธรรมการกินการอยู่ของผู้คนที่แค่ข้ามฝั่งเส้นแบ่งภูมิศาสตร์ไปนั้น เขา “เป็นอยู่คือ” หรือใช้ชีวิตวัฒนธรรมกันอย่างไร         แล้วความซับซ้อนของโครงเรื่องก็เพิ่มระดับขึ้นไปอีก เมื่อนุชนาฏได้มาเดินเล่นที่ถนนพันโซดันในนครย่างกุ้งกับเพื่อนใหม่ชาวพม่าอย่าง “ซินซิน” และเธอได้มาสะดุดตากับหนังสือเก่าที่ตีพิมพ์วรรณกรรมเรื่อง “อิเหนา” ฉบับพม่า ความลึกลับของหนังสือโบราณนี้เองทำให้นุชนาฏได้หลุดเข้าไปอยู่ในโลกที่แปลกตาเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน         เพราะไม่ใช่แค่การได้แยกตัวเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคยเท่านั้น แต่การหลุดย้อนเข้าไปสู่ห้วงเวลาแห่งอดีตก็ทำให้นุชนาฏค้นพบว่า เมื่อชาติภพปางก่อนเธอคือ “ปิ่น” หญิงสาวชาวกรุงศรีอยุธยาหรือ “โยเดีย” ซึ่งถูกกวาดต้อนมาอยู่ที่อังวะ เมื่อสยามประเทศต้องเสียกรุงครั้งที่สองให้กับพม่า ปิ่นได้มาเป็นข้าหลวงประจำตำหนักของ “เจ้าฟ้ากุณฑล” และ “เจ้าฟ้ามงกุฏ” พระราชธิดาใน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ที่พลัดถิ่นมาในเวลาเดียวกัน          การได้มาสวมบทบาทใหม่เป็นนางปิ่นผู้ข้ามภพชาติ ทำให้นุชนาฏได้ตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่า ความขัดแย้งในสนามทางการเมืองระหว่างไทยกับพม่าเมื่อครั้งอดีต (หรือแม้แต่สืบต่อมาจวบจนปัจจุบัน) ดูจะเป็นการต่อสู้ต่อรองผลประโยชน์เฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำผู้ยึดครองอำนาจรัฐเอาไว้ หากทว่าในระดับของสามัญชนคนธรรมดาทั่วไปแล้ว ชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมดูจะเป็นอีกด้านที่ผิดแผกแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง         ยิ่งเมื่อนุชนาฏในร่างของปิ่นได้มาเจอกับ “สะสะ” หรือที่ใครๆ ต่างเรียกกันว่า “หม่องสะ” ศิลปินลูกครึ่งมอญ-พม่า ผู้ทำหน้าที่สร้างสรรค์ละครหลวงในราชสำนักอังวะ และปลุกปั้นให้ปิ่นได้เป็นนางรำในโรงละครหลวง อันนำไปสู่การประสานนาฏยศิลป์ของสองวัฒนธรรมผ่านท่าร่ายรำที่ทั้งคู่ออกแสดงร่วมกันหน้าพระที่นั่ง ไปจนถึงการเพียรพยายามแปลบทนิพนธ์อิเหนามาเป็นภาษาพม่า ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มคนตัวเล็กๆ ที่อยู่ในวังวนแห่งการช่วงชิงผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองด้วยประสบการณ์ที่หลุดเข้าไปในอีกห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ นุชนาฏจึงได้ทบทวนหวนคิดว่า แท้จริงแล้ว อคติความชิงชังที่ฝังอยู่ในโลกทัศน์ของคนไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะถูกสร้างขึ้นบนสมรภูมิแห่งอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง หาใช่เป็นความขัดแย้งในพื้นที่สังคมพลเมืองแต่อย่างใด         “อันรักกันอยู่ไกลถึงสุดขอบฟ้า เหมือนชายคาเข้ามาเบียดดูเสียดสี อันชังกันนั้นใกล้สักองคุลี ก็เหมือนมีแนวป่ามาปิดบัง…” ดังนั้นเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน ชนชั้นนำทางการเมืองก็ยังคงใช้วาทกรรมความชิงชังแบบเดิมมาปิดกั้นไม่ให้คนไทยสนใจใคร่รู้จักความจริงด้านอื่นของเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์ จนนำไปสู่ภาพเหมารวมว่า พม่าก็ไม่ใช่อื่นใดนอกจากเป็นปรปักษ์หรือศัตรูในจินตกรรมความเป็นชาติของไทยเท่านั้น         เหมือนกับฉากเริ่มต้นเรื่องที่นุชนาฏตั้งแง่รังเกียจคำพูดของซินซินที่เรียก “อยุธยา” บ้านเกิดของเธอว่า “โยเดีย” อันเนื่องมาแต่ภาพจำที่ถูกกล่อมเกลาสลักฝังไว้ในหัวว่า คำเรียกโยเดียหมายถึงการปรามาสดูถูกคนไทยว่าเป็นพวกขี้แพ้ หากแต่ซินซินกลับให้คำอธิบายไปอีกทางหนึ่งว่า คำเรียกเช่นนี้หาใช่จะมีนัยว่าไทยเป็นศัตรูคู่ตรงข้ามแต่อย่างใด เพราะในมุมมองของคนพม่าแล้ว ศัตรูในจินตนาการที่ตัวใหญ่กว่า น่าจะเป็นชาติตะวันตกที่เคยฝากบาดแผลความทรงจำไว้ตั้งแต่ยุคลัทธิล่าอาณานิคม         จาก “เจ้าพระยา” สู่ “อิรวดี” ก่อนที่ฉากจบตัวละครจะออกจาก “อิรวดี” ย้อนกลับมาสู่ดินแดนราบลุ่มริมน้ำ “เจ้าพระยา” แต่สำหรับผู้ชมแล้ว จินตนาการแบบใหม่ที่ท้าทายภาพจำต่อประเทศเพื่อนบ้าน คงไม่มากก็น้อยที่น่าจะทำให้เราลองหันกลับมาอ่านบทนิพนธ์อิเหนาฉบับแปล ลองดูนาฏยกรรมพม่า หรือลองลิ้มรสเมนูโมฮิงกากันด้วยความรัก หาใช่ด้วยรสชาติความชิงชังเพียงเพราะไม่รู้จักหรือไม่อยากจะคุ้นเคย

อ่านเพิ่มเติม >