ฉบับที่ 260 อากาศดีต้องมีได้

        มลภาวะทางอากาศเป็นอีกปัญหาระดับโลกที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน ทุกวันนี้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะอากาศที่ไม่สะอาด ไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคนต่อปี ในขณะที่ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5 หรือฝุ่นจิ๋ว) จากไอเสียรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ควันไฟจากการหุงต้มหรือการให้ความอบอุ่น รวมถึงพื้นที่ทะเลทรายที่เพิ่มขึ้นและไฟป่าที่รุนแรงขึ้นเพราะภาวะโลกร้อน ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มปริมาณขึ้น         เดือนกันยายนปี 2564 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศปรับเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ ลดเพดานค่าฝุ่นจิ๋วที่ยอมรับได้ลงมาที่ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง (จากเดิม 25 ไมโครกรัม)  การตรวจวัดโดย IQAir  บริษัทสัญชาติสวิสที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฟอกอากาศ พบว่ามีเพียง 222  เมืองจาก 6,475 เมือง ใน 117 ประเทศเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์องค์การอนามัยโลก แต่มีถึง 93 ประเทศที่มีอากาศที่เลวร้ายเกินเกณฑ์ถึงสิบเท่า           จากรายงานดังกล่าว ในบรรดา 50 เมืองที่อากาศเลวร้ายที่สุดในโลกในปี 2564 มีถึง 46 เมืองที่อยู่ในภูมิภาคอินเดียกลางและอินเดียใต้ โดยมีบังคลาเทศรั้งตำแหน่งประเทศที่อากาศเป็นพิษที่สุดในโลก ด้วยค่าฝุ่นจิ๋ว 76.9 ไมโครกรัมต่อหนึ่งลูกบาศก์เมตร ประเทศอื่นในอันดับต้นๆ ได้แก่ แชด ปากีสถาน ทาจิกิสถาน อินเดีย โอมาน คีร์กีสถาน บาห์เรน อิรัก และเนปาล         ส่วนประเทศที่อากาศสะอาดที่สุดคือ นิวคาลิโดเนีย ซึ่งเป็นเกาะในทะเลแปซิฟิกใต้ (ค่าฝุ่นจิ๋ว 3.8 ไมโครกรัมต่อหนึ่งลูกบาศก์เมตร) ตามด้วยเวอร์จินไอแลนด์ เปอโตริโก เคปเวิร์ด ซาบา ฟินแลนด์ เกรนาดา บาฮามาส์ ออสเตรีย และเอสโตเนีย         อย่างไรก็ตาม บริษัท IQAir บอกว่าปัจจุบันเขายังไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศครอบคลุมทั่วทุกประเทศ จึงอาจมีเซอร์ไพรส์เกิดขึ้นได้ทุกปี เช่น ก่อนปี 2564 ไม่เคยมีชื่อประเทศแชดปรากฏ แต่เมื่อมีสถานีตรวจวัด ประเทศนี้คว้าอันดับประเทศที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดอันดับสองของโลกไปเลย          เมืองหรือประเทศที่ประสบปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศ มีแผนลดมลพิษหรือควบคุมมาตรฐานอากาศกันอย่างไร เราลองไปสำรวจกัน         เริ่มจากฟินแลนด์ซึ่งเป็นแชมป์โลกด้านอากาศสะอาด ก็ยังมีค่าฝุ่นจิ๋วเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ (ค่าฝุ่นจิ๋วของฟินแลนด์คือ 5.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และในเขตตัวเมืองเฮลซิงกิก็ยังคงมีไนโตรเจนไดออกไซด์เกินมาตรฐานถึงสามเท่า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคหัวใจ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจอันมีสาเหตุมาจากมลภาวะปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย      เทศบาลเมืองร่วมกับมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ องค์กรกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาของเมือง ได้ริเริ่มโครงการ HOPE (Healthy Outdoor Premises for Everyone) ที่ให้ประชากรมีส่วนร่วมติดตามคุณภาพอากาศในพื้นที่กลางแจ้ง โดยอาสาสมัครอย่างน้อย 150 คนจะพกอุปกรณ์ตรวจวัดติดตัวไปด้วยตามเส้นทางที่ใช้ประจำวัน มหาวิทยาลัยเชื่อว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะเก็บข้อมูลได้แม่นยำที่สุดในโลก         ส่วนประเทศที่คุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในยุโรปอย่างโปแลนด์ ซึ่งมีถึง 36 เมืองที่ติดอันดับ “เมืองอากาศแย่ที่สุด 50 เมืองในยุโรป” และมีประชากรเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะมลพิษทางอากาศมากถึง 47,000 คนทุกปี ก็กำลังรณรงค์อย่างจริงจัง รวมถึงออกมาตรการจำกัดการใช้ถ่านหินและการใช้ฟืนหุงต้มหรือสร้างความอบอุ่น และมีแผนเพิ่มการติดตั้งเซนเซอร์ให้ทั่วถึงเพื่อให้เอื้อต่อการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายด้วย          โปแลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่มีการทำเหมืองถ่านหินมากที่สุดในยุโรปรองจากเยอรมนี ยังพึ่งพาถ่านหินเป็นหลักในอุตสาหกรรมต่างๆ ในขณะที่บ้านเรือนทั่วไปก็ยังใช้เตาผิงแบบดั้งเดิมเพื่อให้ความอบอุ่นด้วย         ในภาพรวมสหภาพยุโรปซึ่งมีประชากรประมาณ 450 ล้านคน กำลังผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการจำกัดปริมาณฝุ่นจิ๋วภายในปี 2573 และตั้งเป้าว่าภายในปี 2593 จะต้องไม่มีสารก่อมลพิษในอากาศเลย  เป้าหมายนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ผู้คนต้องกลับไปพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลกันมากขึ้น         ข้ามทวีปไปอเมริกาใต้เพื่อดูความพยายามของโบโกตา เมืองหลวงของโคลัมเบียกันบ้างพิษส่วนใหญ่ของโบโกตาซึ่งมีประชากร 500,000 คน มาจากการเดินทางขนส่ง (ที่เหลือเป็นควันจากไฟป่าในประเทศข้างเคียง)         คลอเดีย โลเปซ นายกเทศมนตรีของโบโกตาประกาศตั้งเป้าว่าโบโกตาจะลดมลภาวะลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 10 ภายในปี 2567 โดยมีแผนเปลี่ยนรถเมล์ทั้งหมดให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้า 100% เพื่อให้ระบบขนส่งสาธารณะของเมืองนี้เป็นระบบที่สะอาดที่สุดในโลก         เมื่อต้นปี 2565 โบโกตามีรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการรวม 655 คันในหกเส้นทาง และจากคำนวณพบว่าการมีรถเมล์จำนวนดังกล่าววิ่งรับส่งผู้โดยสารในเมืองสามารถทำให้อากาศสะอาดขึ้นเทียบได้กับการปลูกต้นไม้ 148,000 ต้น ทางเมืองจึงมีแผนจะจัดหารถดังกล่าวมาให้บริการเพิ่มอีก 830 คันภายในสิ้นปี และโบโกตายังประกาศจะเป็นเมืองที่มีรถเมล์พลังงานไฟฟ้าให้บริการมากที่สุดในโลกรองจากจีนด้วย         มาที่กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ โซลเผชิญกับมลภาวะที่เข้าขั้นวิกฤตเช่นกัน งานวิจัยคาดการณ์ว่าหากไม่มีการลงมือแก้ไขโดยด่วน ประชากรกว่า 10 ล้านคนในมหานครแห่งนี้จะมีอายุสั้นลง 1.7 ปี        นอกจากไอเสียจากรถยนต์แล้ว กรุงโซลและอีกหลายพื้นที่ในเกาหลีใต้ยังได้รับผลกระทบจาก “ฝุ่นเหลือง” ที่เคยเชื่อกันว่าถูกพัดพามาจากทะเลทรายในจีนและมองโกเลีย แต่ต่อมีการศึกษาที่ยืนยันว่ามีฝุ่นเหลืองจากเขตอุตสาหกรรมของเกาหลีมากกว่าที่พัดมาจากประเทศจีนด้วยซ้ำ ที่สำคัญเกาหลีใต้ยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 61 โรง ที่ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าสนองร้อยละ 52.5 ของความต้องการไฟฟ้าในประเทศ         แผนรับมือของเกาหลีใต้เริ่มจากการประกาศเพิ่มจำนวนสารอันตรายควบคุมในอากาศเป็น 32 ชนิด (จาก 18 ชนิดในกฎหมายฉบับก่อนหน้า) เมื่อปี 2563 นอกจากนี้ยังมีกฎหมายห้ามรถเครื่องยนต์ดีเซลเข้ามาวิ่งในเขตเมือง ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป และรัฐบาลเกาหลีใต้ยังได้ร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการทำฝนเทียมเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นเหลือง และร่วมมือกับเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์วัดคุณภาพอากาศ ที่สามารถซอกแซกเข้าไป “ตรวจ”​ โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก โดรนตรวจการณ์พื้นที่ชายฝั่ง รวมถึงใช้ดาวเทียมของตัวเองในการตรวจวัดคุณภาพอากาศให้บ่อยขึ้น และตรวจวัดปริมาณสารก่อมลพิษถึง 7 ชนิด        กรุงเทพมหานครที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของประชากรไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนของเรานั้น ตามแผน  “Green Bangkok 2030” ที่ประกาศไว้เมื่อปี 2562 เราได้ให้คำมั่นไว้ว่ากรุงเทพฯ จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประชากร จาก 7.30 ตารางเมตรต่อคน เป็น 10 ตารางเมตรต่อคนภายในปี 2573 และพื้นที่เหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงได้จากที่อยู่อาศัยในระยะไม่เกิน 400 เมตร หรือใช้เวลาเดินไม่เกิน 5 นาทีด้วย แผนนี้เน้นไปที่ “เครื่องฟอกอากาศ” เป็นหลัก ยังต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะมีกฎระเบียบหรือนโยบายใหม่ๆ ออกมาเพื่อจัดการกับต้นตอของมลพิษในเมือง    https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-03-22/every-country-is-flunking-who-air-quality-standard-report?leadSource=uverify%20wallhttps://thecitizen.plus/node/51769https://thl.fi/en/web/thlfi-en/-/the-tightened-recommendations-for-air-quality-by-who-pose-new-challenges-even-to-finlandhttps://innovationorigins.com/en/selected/helsinki-citizens-help-measuring-air-pollution/https://www.unep.org/news-and-stories/story/five-cities-tackling-air-pollutionhttps://bogota.gov.co/en/international/2023-bogota-will-have-biggest-electric-fleet-after-chinahttps://www.koreatimes.co.kr/www/world/2022/11/501_338651.htmlhttps://www.privacyshield.gov/article?id=Korea-Air-Pollution-Control

อ่านเพิ่มเติม >