ฉบับที่ 111 ฝากเงิน...แถมฝากใจ

วิธีคิดของมนุษย์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเชิงแลกเปลี่ยนระหว่างคนกับคนนั้นมีอยู่หลายชุดด้วยกัน ตั้งแต่คนกับคนในฐานะคนหนึ่งเป็นผู้ให้กับอีกคนเป็นผู้รับ หรือคนกับคนในฐานะต่างแลกเปลี่ยนเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับด้วยกันทั้งสองฝ่าย หรือคนกับคนในฐานะผู้ซื้อกับผู้ขายที่มีเงินเป็นตัวกลาง และอีกรูปแบบหนึ่งของความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยน ที่มนุษย์เราทุกวันนี้ดูจะคุ้นเคยเป็นปกติก็คือ ความสัมพันธ์แบบ “การฝาก” ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงิน ฝากดอกเบี้ย ฝากโน่นฝากนี่มากมายไปหมด คุณผู้อ่านคงจะเคยเห็นโฆษณาธนาคารแห่งหนึ่งที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์เมื่อเร็วๆ นี้นะครับ โฆษณาเป็นเรื่องราวของชายหนุ่มคนหนึ่งที่เดินเข้ามาในธนาคารด้วยอากัปอาการยุ่งเหยิงสุดชีวิต มือหนึ่งก็คุยธุรกิจอยู่กับโทรศัพท์มือถือ อีกมือหนึ่งก็สาละวนอยู่กับการทำธุรกรรมอยู่กับพนักงานธนาคารหญิงที่เคาน์เตอร์ เรื่องราวบทสนทนาก็ผูกสลับไปมา ระหว่างการคุยโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งกับคุณแม่ที่เกิดอุบัติเหตุรถเสียอยู่ อีกเครื่องหนึ่งก็ดังขึ้นและโทรฮัลโหลมาจากนักธุรกิจอีกราย ขณะที่ชายผู้นี้ก็ต้องคุยติดต่ออยู่กับพนักงานธนาคารสาว ฝากให้เธอดูแลทั้งธุรกรรมการเงิน ฝากให้เธอช่วยประสานกับคุณแม่ที่เขากำลังจะรีบไปพบ ฝากให้เธอบอกทางให้กับเพื่อนนักธุรกิจที่โทรศัพท์มาหา ฝากเอกสารให้เธอส่งต่อให้ลูกค้าธนาคารอีกคน เรียกได้ว่า ฝากให้เธอจัดการโน่นนี่มากมาย จนคนดูอย่างเราเองก็สับสนไปด้วย ภาพที่เห็นดูสับสนอลหม่านยิ่งนัก จนกระทั่งมีเสียงผู้ประกาศชายพูดขึ้นว่า “ฝากได้ทุกเรื่องที่นี่ ด้วยทุกบริการจากใจที่ให้มากกว่า โดยธนาคาร...” และปิดท้ายด้วยภาพชายผู้นั้นกำลังรีบบึ่งออกจากธนาคารไป จนลืมฝรั่งดองถุงใหญ่เอาไว้ และพนักงานสาวก็ตะโกนเรียกขึ้นว่า “คุณคะ...อันนี้ไม่รับฝากนะคะ” ชายหนุ่มก็พูดตอบโดยพลันว่า “อันนั้นของฝากก็แล้วกันครับ” โดยมีพนักงานผู้นั้นส่งรอยยิ้มพริ้มเพรามาให้เป็นการตอบแทน แถมเธอผู้นั้นยังน้อมโค้งให้กับผู้ชม(คล้าย ๆ กับสาวญี่ปุ่น) และพูดว่า “ฝากด้วยนะคะ...” อย่างที่ผมบอกไปตอนแรกนะครับว่า รูปแบบความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนระหว่างมนุษย์นั้นมีหลายลักษณะตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะกับสังคมสมัยก่อน ความสัมพันธ์แบบกระแสหลัก จะเป็นแบบการสลับกันเป็นผู้ให้บ้างผู้รับบ้าง ดังตัวอย่างกรณีของวัฒนธรรมชาวนาดั้งเดิม จะมีประเพณีการ “ขอแรง/เอาแรง/ช่วยแรง” อันหมายความว่า เมื่อชาวนาบ้านหนึ่งไป “ขอแรง/เอาแรง” จากชาวนาบ้านสองให้มาช่วยลงแขกเกี่ยวข้าวดำนา พอเสร็จจากที่นาของตนเองแล้ว ชาวนาบ้านหนึ่งก็จะไป “ช่วยแรง” บ้านสองเป็นการตอบแทน หรือแลกเปลี่ยนแรงงานสลับกันไปมา ความสัมพันธ์แบบลงแขกช่วยแรงเช่นนี้ เบื้องหลังก็คือการสอนให้สมาชิกในสังคมได้รู้จักที่จะเป็นทั้ง “ผู้ให้” และเป็น “ผู้รับ” ในเวลาเดียวกัน หรือถ้าจะพูดเป็นภาษาฝรั่งเสียหน่อยก็คือ รู้จักที่จะทั้ง “give and take” ไม่ใช่มีแต่จะ “take” แต่ฝ่ายเดียว ความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนแบบ “give and take” นั้น เริ่มจะปรับเปลี่ยนเมื่อใดผมไม่อาจทราบ แต่ถ้าจะให้ผมลองอนุมานดู น่าจะเริ่มตั้งแต่ยุคที่อุตสาหกรรมบริการได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ นั่นแปลว่า เมื่อมนุษย์เราเริ่มรู้จักกับธุรกิจบริการรับฝากต่างๆ เช่น กรณีของธุรกิจธนาคารที่รับฝากเงิน หรือธุรกิจรับฝากอื่น ๆ เป็นต้น ธุรกิจแบบนี้ก็ช่วยทำให้มนุษย์มีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น เพราะกิจกรรมหลายอย่างก็ไม่ต้องลงมือทำเอง เพียงแต่มีเงินจ้างให้คนอื่นรับฝากไปดูแลแทน อย่างไรก็ดี ในขณะที่ในความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนดั้งเดิม คนกับคนหรือสมาชิกในสังคมจะผูกข้อต่อความสัมพันธ์กันโดยตรงด้วยตัวเอง แต่ในความสัมพันธ์ผ่านธุรกิจรับฝากต่าง ๆ เส้นเชื่อมระหว่างคนกับคนนั้นจะค่อย ๆ เจือจางลง เพราะเป็นธุรกิจรับฝากต่างหากที่เข้ามาเป็นตัวกลางกั้นระหว่างคนกับคนขึ้นมา ในเวลาเดียวกัน เมื่อผู้คนรู้จักกับคำว่า “ฝาก” มากขึ้น การแลกเปลี่ยนชนิดที่มีทั้ง “ให้” และ “รับ” ก็จะเริ่มผันไปสู่การรู้จักแต่จะ “รับ (บริการ)” แต่ทว่า พจนานุกรมของคำว่า “ให้” กลับพลิกค้นหาไปแทบไม่เจอ พร้อมๆ กับที่ความรู้สึกที่เราต้อง “พึ่งพิง” คนอื่นเพื่อความอยู่รอด ก็จะยิ่งมีมากขึ้น ตัวอย่างเช่นการพึ่งพิงการฝากเงินให้ธนาคารดูแล รวมไปถึงการฝากทุกอย่างให้พนักงานสาวรอยยิ้มพริ้มเพราเข้าไปจัดการให้ แบบที่เห็นในโฆษณานั่นเอง และคงเพราะความสัมพันธ์แบบทั้ง “ให้และรับ” นั้น เป็นคุณค่าที่เบาบางจางเจือลงไปจากสำนึกของคนยุคนี้ โฆษณาธนาคารก็เลยมากระตุกต่อมสำนึกเราเสียใหม่ว่า ถ้าเราจะ “ฝาก” ให้ใครต่อใคร(แบบพนักงานสาวในอุตสาหกรรมบริการ) ทำการสิ่งใดๆ แทนเราแล้ว เราก็ควรจะต้องมีจิตสาธารณะที่จะรู้จัก “ให้” (อย่างน้อยก็ให้ถุงฝรั่งดอง) เป็นการตอบแทนกลับคืนมาบ้าง แน่นอนว่า ผมเองก็ไม่ได้คาดหวังให้คนในสังคมเมืองอันทันสมัยต้องถอยย้อนกลับไปใช้ชีวิตเศรษฐกิจแบบเอาแรงช่วยแรงเกี่ยวข้าวดำนาแบบสังคมชาวนาดั้งเดิม เพื่อที่จะให้พวกเขาได้เรียนรู้คุณค่าแบบ “เป็นผู้ให้และเป็นผู้รับ” แต่อย่างน้อย ก็ขอให้คนที่กำลังก้าวเข้าสู่วงจาการรับฝากของบรรดาธุรกิจบริการต่าง ๆ หัดจำเริญรอยตามชายหนุ่มกับถุงฝรั่งดองในโฆษณาดูบ้าง แม้ชีวิตเขาจะดูอลหม่านยุ่งเหยิงกับวิถีการงานที่รัดตัว ต้องฝากโน่นฝากนี่ให้คนอื่นรับไปทำมากมาย แต่อีกด้านหนึ่ง เขาก็ยังรู้จักครวญเพลง “พี่คนนี้นั้นรู้จักให้...” ได้เหมือนกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point