ฉบับที่ 139 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 2555 อย.ก็ตรวจสารเคมีในผัก หลังจากที่ฉลาดซื้อของเราได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างผักสดที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง แล้วพบว่ามีการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเกินมาตรฐานในหลายตัวอย่าง ซึ่งหลังจากฉลาดซื้อนำผลวิเคราะห์ลงในนิตยสารพร้อมทั้งเปิดแถลงข่าวจนเกิดเป็นกระแสตื่นตัวถึงอันตรายของสารเคมีในผักและการขายสินค้าไม่ปลอดภัย โดยหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ก็ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบคุณภาพผักผลไม้ที่จำหน่ายในท้องตลาดโดยใช้ชุดทดสอบเบื้องต้น (Test Kit) โดยเป็นการสุ่มเก็บตัวอย่างผัก – ผลไม้ในเขตกทม.จำนวน 1,987 ตัวอย่าง มาตรวจวิเคราะห์ ผลที่ได้พบว่ามีจำนวนตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์ 69 ตัวอย่าง แบ่งเป็นตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสด 60 ตัวอย่าง ตัวอย่างผักสดที่พบสารพิษตกค้างมากที่สุดคือ 1. คะน้า 2. กะหล่ำดอก 3. ต้นหอม ส่วนอีก 9 ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนเป็นตัวอย่างที่เก็บจากซูเปอร์มาร์เก็ต โดยคะน้ายังคงเป็นผักที่พบสารตกค้างมากที่สุด รองลงมาคือ มะเขือพวง และ พริกไทย ซึ่งทาง อย. ก็ได้ตักเตือนไปกับทางผู้จำหน่าย พร้อมทั้งจะทำการสุ่มตรวจซ้ำต่อเนื่อง หากพบการทำผิดซ้ำจะมีบทลงโทษตามกฎหมาย ----------------------------------------------------------------------------------------     ไม่ใช่แค่คนขับ...คนนั่งก็มีสิทธิถูกปรับถ้าเมาบนรถ นักดื่มทั้งหลายรู้กันหรือยัง ตอนนี้มีกฎหมายออกมาแล้วว่าไม่ว่าจะเป็นคนขับรถหรือเป็นผู้โดยสารถ้าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือว่ามีความผิด ตาม “ประกาศตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เรื่อง การห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางสาธารณะ ขณะขับขี่หรือขณะโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถทุกประเภท” ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคมเป็นต้นไป โดยบทลงโทษสำหรับผู้ที่ทำผิดคือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหน่วยงานที่รณรงค์เรื่องปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เชื่อว่ากฎหมายนี้น่าจะช่วยลดสถิติการเสียชีวิตและบาดเจ็บที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสถิติทุกวันนี้จะอยู่ที่เฉลี่ย 30 รายต่อวัน ยิ่งถ้าจะเป็นช่วงเทศกาลจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ซึ่งความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นนั้น บริษัทผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เคยออกมารับผิดชอบแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้กฎหมายอีก 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กำลังรอการบังคับใช้ ประกอบด้วย ร่างประกาศ “ห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงงานอุตสาหกรรม” ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา มีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน และ ร่างประกาศ “ห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ” ที่ยังไม่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ---------------------------------------------------------------------------------------     เรื่องร้อนๆ ของ “ผ้าเย็น” “ผ้าเย็น” ถือเป็นสินค้าที่หลายคนใช้โดยมองข้ามเรื่องความปลอดภัย ทั้งที่ความจริงแล้ว ผ้าเย็นจัดเป็นสินค้าในกลุ่ม “เครื่องสำอางควบคุม” ตามประกาศของ อย. ต้องมีการแสดงคำเตือนบนฉลาก เช่น “ห้ามใช้บริเวณรอบดวงตา” พร้องทั้งข้อมูลสำคัญอื่นๆ เช่น ชื่อ – ที่อยู่ผู้ผลิต เลขที่จดแจ้งกับทาง อย. แต่ปัจจุบันเรายังพบเห็นผ้าเย็นที่มีปัญหาเรื่องการแสดงข้อมูลบนฉลากเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผ้าเย็นที่ได้รับแจกตามร้านอาหาร โต๊ะจีน บนรถโดยสาร ซึ่งอันตรายของผ้าเย็นที่ไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง หรือหากถูกบริเวณก็อาจทำให้แสบตาได้ เนื่องจากสารที่ต้องห้ามในเครื่องสำอางอย่าง เมททิลแอลกอฮอล์ และรวมถึงอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ โดยล่าสุด กองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ได้ตรวจยึดผ้าเย็นที่เสี่ยงอันตราย จำนวนกว่า 100,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 500,000 บาท ของบริษัทไทยโทเวล หลังจากได้รับการร้องเรียน โดยตรวจสอบพบว่าผ้าเย็นทั้งหมดไม่มีการแสดงฉลาก ---------------------------------------------------     “พาสต้า” น่าเป็นห่วง ใครที่ชอบทานอาหารอิตาเลียนชื่อดังอย่าง “พาสต้า” อ่านข่าวนี้แล้วอาจจะตกใจ เพราะมีการเปิดเผยผลการศึกษาวิจัยในการประชุมวิชาการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 20 เกี่ยวกับสิ่งแปลกปลอมในพาสต้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยศึกษาสิ่งแปลกปลอมชนิดต่างๆ ในตัวอย่างพาสต้านำเข้าช่วงเดือนตุลาคม 2548-2552 จำนวน 142 ตัวอย่าง พบสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กในทุกตัวอย่าง เช่น ชิ้นส่วนของแมลง ตัวหนอน ตัวไร มด ขนสัตว์ต่าง ๆ ไข่แมลง เป็นต้น ฟังแล้วน่าตกใจ งานนี้ อย. จึงต้องออกมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค โดยได้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างพาสต้าเพื่อนำมาวิเคราะห์หาสารพิษจากเชื้อราและวัตถุกันเสีย ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ไม่พบตัวอย่างที่มีการปนเปื้อน พาสต้าจัดเป็นอาหารทั่วไปกลุ่มผลิตภัณฑ์จากแป้ง ไม่มีการกำหนดคุณภาพมาตรฐานเป็นการเฉพาะไว้ แต่ก็มีข้อกำหนดด้านความปลอดภัย เช่น ต้องไม่มีสารปนเปื้อนและจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค แต่ปกติพาสต้าต้องมีการปรุงด้วยความร้อนก่อนทาน ก็น่าจะช่วยฆ่าเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมได้ระดับหนึ่ง ซึ่งหากใครที่ซื้อพาสต้ามาทานแล้วพบเจอสิ่งแปลกปลอมน่าสงสัยให้รีบแจ้งหรือส่งไปให้ทาง อย. ตรวจสอบต่อไป ------------------------------------------------------------------------------------     ระวังสูญเงินฟรีเพราะซอฟต์แวร์เถื่อน ใครที่ใช้งานซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ต้องระวัง โดยเฉพาะคนที่ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ต อาจมีความเสี่ยงต่อการสูญเงินแบบไม่รู้ตัว เนื่องจากโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์มักขาดระบบป้องกันที่ได้มาตรฐาน ทำให้บรรดาอาชญากรคอมพิวเตอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ต้องใช้ความระมัดระวังในการให้ข้อมูลที่สำคัญๆ โดยเฉพาะหมายเลขบัญชีธนาคาร และรวมถึงรหัสผ่านต่างๆ นอกจากนี้หากมีการติดต่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงินผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิก ก่อนการตอบรับหรือติดต่อกลับต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าถูกส่งมาจากธนาคารจริง ป้องกันการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่หวังข้อมูลด้านการเงินของเรา หากไม่แน่ใจหรือมีข้อสงสัยในขั้นตอนใดๆ ของการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ต้องโทรสอบถามกับทางธนาคาร สำหรับอันตรายของการใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ลิขสิทธิ์ คือการส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมของคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะระบบป้องกันข้อมูลต่างๆ มีประสิทธิภาพจะด้อยลง และบ่อยครั้งที่มัลแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่ไม่ปลอดภัยมักจะถูกโหลดมาพร้อมกับซอฟต์แวร์ที่ไม่ถูกกฎหมายโดยที่ผู้บริโภคไม่รู้ตัว  ที่สำคัญคือผู้บริโภคเองก็ต้องรู้จักที่จะปกป้องข้อมูลของตัวเอง อย่างเช่นการเปิดระบบ Firewalls และทำการติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสที่มีประสิทธิภาพไว้ในคอมพิวเตอร์ของตัวเอง หมั่นล้างประวัติการใช้งานอินเตอร์เน็ต และเปลี่ยนรหัสผ่านที่ใช้ในการทำธุรกรรมการเงินเป็นประจำ ยิ่งเดี๋ยวนี้หลายคนใช้เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง Facebook และ Twitter การแสดงข้อมูลสำคัญต่างๆ ต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะอาจมีผู้ไม่หวังดีเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นแล้วนำไปใช้ประโยชน์จนเกิดความเสียหายกับเราได้

อ่านเพิ่มเติม >