ฉบับที่ 233 รู้เท่าทันการรักษาไส้ติ่งอักเสบโดยไม่ต้องผ่าตัด

        ไส้ติ่งอักเสบเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องเฉียบพลัน การรักษามาตรฐานทางการแพทย์แผนปัจจุบันคือการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกทางหน้าท้องหรือด้วยการส่องกล้องเป็นการรักษาหลัก แต่อย่างไรก็ตาม เริ่มมีใช้ยาปฏิชีวนะฉีดทางหลอดเลือดดำแทนการผ่าตัด ซึ่งให้ผลดีได้เช่นเดียวกับการผ่าตัด เรามารู้เท่าทันกันเถอะ การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบด้วยการผ่าตัดเปิดหน้าท้องกับการส่องกล้อง         ไส้ติ่งอักเสบเป็นความเจ็บป่วยที่พบบ่อยในอาการปวดท้องเฉียบพลันที่ต้องทำการผ่าตัด มักเป็นในผู้ที่มีอายุ 15-30 ปี ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง ประมาณว่า เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี 4 รายจาก 1,000 ราย ได้รับการผ่าตัดไส้ติ่งออก           การตัดไส้ติ่งออกเป็นการรักษาหลัก อย่างไรก็ตาม โรคแทรกซ้อนจากการผ่าตัดก็เกิดขึ้นได้ จึงเกิดนวัตกรรมในการผ่าตัดทางหน้าท้องเป็นการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องทางหน้าท้อง ซึ่งพบว่า การตัดไส้ติ่งด้วยการส่องกล้องเป็นวิธีการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีแบบเดิม การต้องนอนพักในโรงพยาบาลสั้นกว่า การดมยาสลบน้อยกว่า ฟื้นตัวเร็วกว่าและสามารถกลับไปเรียนหนังสือหรือทำงานได้เร็วกว่า การติดเชื้อที่แผลผ่าตัดน้อยกว่า แต่ค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบันอาจสูงกว่า         การรักษาไส้ติ่งอักเสบด้วยการผ่าตัดเปิดแผลหน้าท้องกับการส่องกล้องจึงเป็นวิธีการรักษามาตรฐานทั้งสองวิธีที่ใช้กันในโรงพยาบาลทั่วไป แต่การผ่าตัดด้วยการส่องกล้องอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้เพราะต้องใช้อุปกรณ์เลนส์ที่ใช้ส่อง แต่ในอนาคตอันใกล้นี้คาดว่าการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบด้วยการส่องกล้องเป็นวิธีมาตรฐานหลักของการรักษา การรักษาไส้ติ่งอักเสบด้วยการไม่ต้องผ่าตัด         ห้องสมุดคอเครนได้ทำการทบทวนงานวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิผลของการรักษาไส้ติ่งอักเสบแบบธรรมดาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะกับการผ่าตัด พบว่า ผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบที่รักษาด้วยยาปฏิชีวนะหายภายใน 2 สัปดาห์ และไม่มีอาการแทรกซ้อนสำคัญ (กลับมาเป็นไส้ติ่งอักเสบอีกครั้ง) ภายในหนึ่งปี ไม่มีอาการแทรกซ้อนสำคัญและเล็กน้อยในระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ยังไม่สามารถสรุปผลได้ว่าการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะดีกว่าหรือด้อยกว่าการผ่าตัดไส้ติ่ง เนื่องจากคุณภาพของการวิจัยยังมีข้อจำกัด          การทบทวนงานวิจัยของ Pubmed ก็พบว่า การใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาไส้ติ่งอักเสบก็เป็นวิธีการที่สะดวกสำหรับไส้ติ่งอักเสบแบบธรรมดา และไม่ทำให้เกิดการแตกของไส้ติ่งในผู้ป่วยผู้ใหญ่และเด็กเพิ่มมากขึ้น การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยในจะไม่ได้ผลร้อยละ 8 ของผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ และอาจกลับโรงพยาบาลอีกครั้งด้วยการเป็นไส้ติ่งอักเสบอีกครั้งร้อยละ 20         ดังนั้น การผ่าตัดไส้ติ่งจึงยังเป็นวิธีการมาตรฐานหลักในการรักษาไส้ติ่งอักเสบ ส่วนการใช้ยาปฏิชีวนะนั้นอาจใช้ได้ดีในไส้ติ่งอักเสบแบบธรรมดา และในผู้ที่มีความเสี่ยงในการผ่าตัด ควรตัดไส้ติ่งออกก่อนที่จะมีอาการหรือไม่         ยังไม่มีคำแนะนำทางการแพทย์ที่ให้มีการตัดไส้ติ่งออกเพื่อป้องกันการเกิดไส้ติ่งอักเสบ เพราะการผ่าตัดแม้ว่าจะปลอดภัย แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 หมอผ่าตัดผิดพลาด ต้องรับผิดชอบ !

คดีนี้ถือเป็นคดีตัวอย่างที่ผู้เขียนอยากจะเผยแพร่ เพื่อให้เห็นถึงการวินิจฉัยและการใช้กฎหมายที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภคอย่างแท้จริง...เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2554 นางกรวรรณ ได้ไปโรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ด้วยอาการปวดท้องมาหลายวัน แต่อาการไม่ดีขึ้น เบื้องต้นแพทย์เวรได้ตรวจโดยการเอ็กซ์เรย์ปอดและเจาะเลือดพร้อมสังเกตอาการไปด้วย  ต่อมา นายแพทย์ ก. แพทย์ประจำแผนกสูตินรีเวช ผู้ทำการรักษาได้ตรวจนางกรวรรณด้วยวิธีใช้มือกดที่บริเวณท้องและแจ้งว่าน่าจะเป็นเนื้องอกขนาดใหญ่มาก จึงรีบดำเนินการผ่าตัดโดยด่วนโดยไม่มีการตรวจอัลตราซาวน์ก่อน  ภายหลังการผ่าตัดโดยเปิดหน้าท้องปรากฏว่านางกรวรรณ ตั้งครรภ์ มิใช่ก้อนเนื้องอกตามที่ นายแพทย์ ก. คิดไว้ จึงได้เย็บแผลผ่าตัดให้ปิดดังเดิม หลังจากนั้นนายแพทย์ ข. ผู้ทำการร่วมตรวจได้ส่งตัวนางกรวรรณไปฝากครรภ์ต่อที่โรงพยาบาลภูมิพลต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 นางกรวรรณ ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 อีกครั้ง ด้วยภาวะวิกฤตเลือดออกมากทางช่องคลอดเนื่องจากรกเกาะต่ำและเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ประกอบกับนางกรวรรณป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง นายแพทย์ ข. ผู้ทำการรักษาและคณะได้ร่วมกันตรวจวินิจฉัยและตัดสินใจต้องผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัดพบว่าทารกในครรภ์ได้เสียชีวิตแล้ว ส่วนนางกรวรรณเสียเลือดมาก แต่คณะแพทย์ที่ทำการผ่าตัดได้ช่วยกันจนห้ามเลือดไว้และเฝ้าดูอาการจนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2557 นางกรวรรณ ก็ถึงแก่ความตาย...คดีนี้ โจทก์ทั้งสี่ โดยนายวิเชียร หนูมา สามีผู้ตาย ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายกับ นายแพทย์ ก. เป็นจำเลยที่ 1 และ นายแพทย์ ข. เป็นจำเลยที่ 2 และโรงพยาบาลนวมินทร์ 9 เป็นจำเลยที่ 3  ในคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 3557/2555  ต่อศาลจังหวัดมีนบุรี ระหว่างพิจารณาคดี คู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าสืบหักล้างกัน  ต่อมาศาลชั้นต้นพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งหมดแล้วจึงมีคำพิพากษา ซึ่งผู้เขียนขอสรุปเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้ ศาลเห็นว่า นายแพทย์ ก. และ ข. ได้ทำการรักษานางกรวรรณอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า นายแพทย์ ก. และ ข. ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นางกรวรรณถึงแก่ความตาย ดังนั้นเมื่อ นายแพทย์ ก และ ข. ในฐานะ จำเลยที่ 1 ที่ 2  ไม่มีความผิด  โรงพยาบาลนวมินทร์  9 จำเลยที่ 3  จึงไม่มีความผิดด้วย จึงมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์  ประการแรกว่า นายแพทย์ ข. จำเลยที่ 2 ที่ผ่าตัดครั้งที่ 2  ต้องรับผิด ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีพยานบุคคลนายแพทย์ผู้ร่วมทำการผ่าตัดมาเบิกความประกอบกันว่า นางกรวรรณ ผู้ตายได้เข้ามารักษาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 ด้วยภาวะวิกฤตเลือดออกมากทางช่องคลอด นายแพทย์ ข. จึงต้องทำการผ่าตัดโดยด่วน ซึ่งการผ่าตัดต้องเสียเลือดมาก ผลการผ่าตัดพบว่าทารกเสียชีวิตแล้ว เมื่อล้วงคลอดรกพบว่ารกเกาะทะลุมดลูก จึงต้องตัดมดลูกที่ทะลุออก และยังพบว่ารกยังเกาะอยู่กับอวัยวะใกล้เคียงและเลือดออกมาก จึงให้ศัลยแพทย์เข้าร่วมผ่าตัดด้วย ทั้งที่กระเพาะปัสสาวะ ผนังอุ้งเชิงกราน เมื่อเลาะรกออกแล้วมีเลือดซึมออกไม่หยุด จึงห้ามเลือด เย็บบาดแผลปิดหน้าท้อง และเฝ้าดูอาการ  แต่ผู้ตายยังมีเลือดออกมาก แพทย์จึงให้เลือดและยาตามอาการ จนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 นางกรวรรณ ก็ถึงแก่ความตาย ดังนั้นการเสียชีวิตของผู้ตายจึงเป็นไปตามพยาธิสภาพ นายแพทย์ ข. ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจและรักษาแล้วประการที่สอง โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ว่า นายแพทย์ ก. จำเลยที่ 1 ที่ผ่าตัดครั้งแรก ต้องรับผิดด้วยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ได้ว่า การผ่าตัดในครั้งที่ 2 โดยนายแพทย์ ข. เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ด้วยอาการเลือดออกทางช่องคลอดของผู้ตายเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการกระทำของนายแพทย์ ก. ที่ผ่าตัดครั้งแรก แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า นายแพทย์ ก. จะมีส่วนประมาทในการตรวจรักษาผ่าตัดผู้ตายในครั้งแรก แต่ก็ยังฟังไม่ได้ว่า นายแพทย์ ก. กระทำโดยประมาทเป็นเหตุนางกรวรรณถึงแก่ความตาย เนื่องจากการผ่าตัดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2554 กับการผ่าตัดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 เนื่องจากเป็นเหตุการณ์คนละช่วงคนละตอนไม่เกี่ยวกันอย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีผู้บริโภค การพิจารณาคดีต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551  มาตรา 39 ที่บัญญัติว่า “ ...ถ้าความปรากฏแก่ศาลว่าจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ถูกต้องหรือวิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขเยียวยาความเสียหายตามฟ้อง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องหรือกำหนดวิธีการบังคับให้เหมาะสมได้แม้จะเกินกว่าที่ปรากฏในคำขอบังคับของโจทก์ก็ตาม…”และมาตรา 42  ที่บัญญัติว่า ถ้าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร...”ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว สรุปได้ว่า  แม้จำเลยที่ 1 จะเบิกความอ้างว่ามีแพทย์เวรเป็นคนตรวจเบื้องต้นตอนแรกก่อนจะมาถึงตน  แต่จำเลยที่ 1 ก็ทำเพียงแค่ซักถามประวัติผู้ตายเบื้องต้นว่าทำหมันมาแล้ว ทั้งที่ทราบดีว่าการทำหมันแล้วก็มีโอกาสหมันหลุดได้ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้ตรวจผลเอ็กซ์เรย์เอง ทั้งที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญและยอมรับว่าแพทย์ทางรังสีวิทยาจะเป็นผู้อ่านผลเอง แต่เนื่องจากการเอ็กซ์เรย์ของผู้ตายทำในเวลากลางคืนและจะทราบผลการอ่านของแพทย์รังสีวิทยาตอนเช้าดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 เพียงตรวจดูผลจากการวินิจฉัยของแพทย์เวรที่ตรวจเบื้องต้น และซักประวัติโดยไม่ตรวจให้แน่ชัดเสียก่อนว่าก้อนเนื้อที่พบนั้นจะเป็นทารกหรือไม่  อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังยอมรับว่าการตรวจการตั้งครรภ์สามารถทำด้วยวิธีง่ายๆ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ทำ กลับรีบผ่าตัดผู้ตายในคืนเดียวกับที่เข้ามาตรวจ  ซึ่งผลการผ่าตัดของจำเลยที่ 1 ไม่พบเนื้องอกที่รังไข่ แต่พบทารกที่มีอายุครรภ์ 16 – 18 สัปดาห์ มีอวัยวะครบ ซึ่งมีส่วนของกระดูกและหัวใจของทารกเต้นแล้ว  ซึ่งการวินิจฉัยที่ผิดพลาดของจำเลยที่ 1 จึงมีผลทำให้ผู้ตายต้องนอนพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ของจำเลยที่ 3 ดังนั้นความเสียหายแก่ร่างกายของผู้ตายจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 ซึ่งความเสียหายในส่วนนี้แม้โจทก์จะไม่ได้เรียกร้องมาในคำขอบังคับก็ตาม ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 39ส่วนค่าเสียหายนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า  ภายหลังการผ่าตัดที่ผิดพลาดของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 3 เคยเสนอเงินช่วยเหลือให้แก่โจทก์เป็นเงิน 500,000  บาท แต่โจทก์ได้เรียกร้องค่าเสียหาย 200,000 บาท จึงตกลงกันไม่ได้ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อโจทก์เคยเรียกร้องค่าเสียหาย 200,000 บาท จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย 200,000 บาท ประกอบกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้ตาย จึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายข้างต้นอีก 300,000 บาท ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 500,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ประกอบกิจการโรงพยาบาลที่ผู้ตายเข้าใช้บริการและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่นั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคไม่เห็นพ้องด้วยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไปคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังมีสิทธิที่จะขออนุญาตศาลเพื่อฎีกา หากมีความคืบหน้าผู้เขียนจะนำมาบอกกล่าวให้ผู้อ่านทุกท่านได้รับทราบอย่างแน่นอน ....

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 ผ่าตัดเกินพอดี

นิตยามีอาการปวดใต้ลิ้นปี่ ไปเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่ถือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แพทย์ตรวจพบว่ามีนิ่วอยู่ในถุงน้ำดี จึงทำการผ่าตัดออก และนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ 6 วันแพทย์จึงให้กลับบ้าน แต่เมื่อกลับไปพักที่บ้านได้ 1 อาทิตย์ เกิดอาการผิดปกติตัวเหลืองตาเหลืองไม่มีแรง นิตยาจึงเข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิอีกครั้ง แพทย์ได้เอ็กซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจหาว่ามีนิ่วไปอุดท่อถุงน้ำดีอีกหรือไม่ และแจ้งว่าหากอาการผิดปกติยังไม่หายจะส่งตัวผู้ร้องไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราชจากนั้นจึงให้เธอกลับไปรอดูอาการที่บ้าน“อาการของดิฉันรู้สึกแย่ลงมาก ตัวเหลือง ตาเหลืองมากขึ้น อีกประมาณ 10 วัน หมอนัดตรวจอาการ แต่เป็นหมอคนใหม่บอกว่ามารักษาแทนหมอคนเดิมที่ทำการผ่าตัด ดิฉันบอกกับหมอที่มารักษาแทนว่า หมอคนเดิมบอกว่าถ้าพบสิ่งผิดปกติจะส่งตัวไปที่โรงพยาบาลศิริราชแล้วทำไมถึงเงียบ หมอถามว่า หมอคนเดิมบอกแบบนั้นหรือ ดิฉันก็ตอบว่าใช่ค่ะ แล้วคุณหมอท่านนั้นก็บอกว่าผมจะส่งคุณไปเอง”นิตยาถูกทำเรื่องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชในเวลาต่อมา แต่ก็พบปัญหาว่าผลเอ็กซเรย์ของโรงพยาบาลเอกชนที่ส่งมานั้นดูผลได้ไม่ชัดต้องเอ็กซเรย์ใหม่ แต่ติดที่ต้องจ่ายค่าเอ็กซเรย์เองหากจะให้ศิริราชดำเนินการ     นิตยาจึงต้องย้อนกลับไปติดต่อที่โรงพยาบาลแห่งเดิม ซึ่งได้แจ้งให้เธอไปเอ็กซเรย์กับโรงพยาบาลในเครืออีกแห่งแล้วถึงได้นำผลเอ็กซเรย์ไปให้โรงพยาบาลศิริราชวินิจฉัยทำการรักษาต่อไปนิตยาใช้เวลาในการเดินเรื่องขั้นตอนนี้กว่า 2-3 เดือน ขณะที่สภาพร่างกายแย่มากขึ้นเรื่อยๆ กว่าจะได้รับการผ่าตัดอีกครั้งจากโรงพยาบาลศิริราช“ก่อนผ่าตัดคุณหมอบอกว่า การผ่าตัดครั้งนี้ต้องตัดไส้มาเย็บต่อน้ำดี เนื่องจากว่าท่อน้ำดีถูกตัดสั้นจนเกินไป(จากการผ่าตัดครั้งที่ผ่านมา) เลยทำให้การเย็บต่อก่อให้เกิดการตีบตันของทางเดินเลือด จึงเป็นสาเหตุทำให้ตัวเหลือง ตาเหลือง น้ำหนักลดจาก 55 เหลือ 44 กิโลกรัม” ปัญหาจากการผ่าตัดครั้งแรกทำให้น้ำหนักตัวของนิตยาลดลงถึง 11 กิโลกรัมภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว จากตัวเหลืองก็กลายเป็นดำและคันตามตัวเป็นอย่างมากและตาก็เหลืองมากขึ้น ด้วยร่างกายที่อ่อนแอลงทำให้เธอไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม ขณะที่ต้องรับภาระส่งลูกเรียกระดับ ปวช. ส่งค่าบ้านที่จำนองไว้กับธนาคารก่อให้เกิดหนี้สินมากมายเพราะไม่สามารถประกอบอาชีพได้ในช่วงรักษาตัวและทำการผ่าตัด ทำให้นิตยาต้องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือในการเรียกร้องค่าเสียหายจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรก แนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้า ภายหลังการยื่นเรื่องตามคำแนะนำของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นิตยาได้รับพิจารณาเงินช่วยเหลือจำนวน 50,000 บาท  ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนที่ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดในครั้งแรก ได้รับคำร้องเรียนของนิตยาและรับที่จะรับผิดชอบเยียวยาในความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลได้ทำประกันภัยความเสี่ยงจากการรักษาพยาบาลไว้กับบริษัทประกันภัย ในที่สุดนิตยาได้รับการพิจารณาเยียวยาความเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 240,000 บาท เรื่องจึงเป็นอันยุติโดยมิต้องดำเนินการฟ้องร้องให้เป็นคดีความกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 ร้องหมอผ่าตัดทำเสียดวงตา

คุณปภาวี วัย 49 ปี มีอาชีพรับราชการพยาบาลที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลกคุณปภาวี มีอาการเจ็บป่วยทางสายตาทั้งสองข้าง และต่อมาได้เข้ารับการรักษาผ่าตัดรักษาจอประสาทตา ทั้งหมด 4 ครั้งเป็นการผ่าตัดจอประสาทตาขวาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1 ครั้ง เมื่อ 6 สิงหาคม 2552 อีก 3 ครั้งเป็นการผ่าตัดจอประสาทตาซ้ายโดยแพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ผ่าตัดในวันที่ 4 มีนาคม, 4 เมษายน และ 28 เมษายน 2553คุณปภาวีได้ให้ข้อมูลว่า การผ่าตัดตาทั้งสองข้าง ทำการรักษาโดยการยิงเลเซอร์  ผ่าตัดเปลี่ยนน้ำวุ้นในตาและอัดแก๊สไว้ นอนคว่ำนาน 1 เดือนครึ่งทุกครั้ง “ดิฉันได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เหมือนกันทุกครั้ง”ผลการรักษาที่ได้รับคือ จอประสาทตาด้านขวากลับมามองเห็นได้หลังการผ่าตัด ส่วนตาข้างซ้ายหลังการผ่าตัดถึง 3 ครั้ง ตากลับมืดบอดสนิทมองไม่เห็นอะไรเลยคุณปภาวีบอกถึงสาเหตุที่มาเข้ารับการรักษาที่ ร.พ. รามาธิบดีว่า เนื่องจาก ร.พ.จุฬาลงกรณ์ เครื่องยิงเลเซอร์เสีย แพทย์จึงได้เขียนใบส่งตัวให้ไปรักษาต่อที่อื่น“ดิฉันจึงไปที่ ร.พ.รามาฯ ซึ่งอยู่ใกล้กัน คิดว่าแพทย์คงจะชำนาญในการรักษาเช่นเดียวกัน แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้ามทั้งที่ทำการผ่าตัดรักษาเหมือนกัน แต่แพทย์เข้ามาชี้แจงว่า ตำแหน่งจอตาฉีกขาดนั้นต่างกัน คือตาขวาเป็นด้านบนจะติดง่ายกว่า ส่วนตาซ้ายเป็นด้านล่าง”ด้วยความที่มีอาชีพเป็นพยาบาลคุณปภาวี มีความเห็นว่าการผ่าตัดที่ ร.พ.รามาธิบดี อาจมีข้อบกพร่อง เช่น“ผ่าตัดครั้งแรกกับนายแพทย์.......ซึ่งดิฉันไม่ทราบว่ามีความชำนาญพร้อมเพียงพอที่จะทำการรักษาหรือไม่ เพราะได้ยินพยาบาลห้องผ่าตัดพูดกับแพทย์คนนี้ว่า ไม่เป็นไรหรอกหมอ..... อีกเดือนเดียวก็จะจบแล้ว” “การผ่าตัด(ตาข้างซ้าย)ครั้งแรก ใช้เวลานานมากคือ 3 ชั่วโมงกว่า (ขณะที่ร.พ.จุฬาฯ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง) ดิฉันปวดมากจนต้องขอฉีดยาชาเพิ่ม”หลังรู้ผลการผ่าตัดตาข้างซ้ายของตนว่า ตามืดบอด คุณปภาวี จึงได้ไปตรวจที่ ร.พ.ศิริราช จักษุแพทย์ได้บอกว่า ทำอะไรไม่ได้แล้วเพราะจอตาเป็นแผลเป็น ลักษณะก้อนแข็งกลม ถ้าแผ่เป็นแผ่นบางๆ ก็อาจจะทำได้“ดิฉันถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น แพทย์บอกว่ามันเป็นภาวะแทรกซ้อนซึ่งเกิดขึ้นได้”หลังจากนั้นคุณปภาวีจึงได้ไปทำบันทึกข้อความร้องเรียนไว้ที่สำนักผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และต่อมาผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนี้ ได้เรียกคุณปภาวีเข้าไปคุยบอกว่า “โรงพยาบาลไม่มีนโยบายจะจ่ายเงินชดเชย เพราะท่านไม่มีอำนาจไม่ใช่คณบดี ได้แต่บอกว่า จะช่วยผ่าตัดตาขวาซึ่งมีต้อกระจกให้”คุณปภาวีปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เพราะเห็นว่าตนได้รับความเดือดร้อนมาก เนื่องจากจะไม่ได้รับเงินเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษในอาชีพของตนเองจากที่เคยได้รับเดือนละ 2,000 บาท“ตาที่มองไม่ชัดทำให้ทำคลอดไม่ได้ เย็บแผลไม่ได้ ทำหัตถการต่างๆ ไม่ได้เลย ตอนนี้ก็ช่วยสรุปเขียนแฟ้มประวัติผู้ป่วยกลับบ้าน ส่งแฟ้มคืนห้องบัตร ทำเรื่องเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ มากกว่า”“ดิฉันอยากเรียกร้องค่าเสียหายจากทางโรงพยาบาลรามาฯ ไม่ทราบว่าจะได้หรือไม่” คุณปภาวีทิ้งคำถามสำคัญ แนวทางแก้ไขปัญหาหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และทำจดหมายขอเข้าพบเพื่อรับทราบคำชี้แจงเกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาพยาบาลกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 และในวันที่ 1 มีนาคม 2554 ผู้บริหารของโรงพยาบาลรามาธิบดีจึงได้นัดเจรจากับคุณปภาวีพร้อมครอบครัว และเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อหาข้อยุติกรณีร้องเรียน จากการเจรจาในวันนั้น โรงพยาบาลรามาธิบดียินดีจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้เสียหาย เป็นเงินทั้งสิ้น 278,500 บาท ประกอบด้วยค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าสูญเสียรายได้ต่อมาในวันที่ 29  มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมาคุณปภาวีพร้อมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ตามนัด และรับเงินช่วยเหลือตามจำนวนดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย“การรักษาดวงตานั้นมีความเสี่ยงสูง  โรงพยาบาลไม่ควรจะให้นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ฝึกหัดมาทำการรักษา เพราะอาจเกิดความผิดพลาดกับผู้ป่วยได้เพราะยังไม่มีความชำนาญในการรักษา และอยากจะให้เรื่องของดิฉันเป็นตัวอย่างหรืออุทาหรณ์เตือนใจทั้งแพทย์และการแสดงความรับผิดชอบของโรงพยาบาลว่าไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก” คุณปภาวีกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >