ฉบับที่ 162 กระแสต่างแดน

เจ้าสาวเซลฟี่ โซเชียลมีเดียอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีจำนวนคนศัลยกรรมเพิ่มมากขึ้น อย่างน้อยๆ ก็ที่ออสเตรเลีย เทรนด์ฮิตในหมู่สาวๆ ออสซี่ ที่กำลังเตรียมตัวสละโสด ณ วันนี้ คือการถ่ายรูปมือที่สวมแหวนแต่งงานลงมา “แบ่งปัน” ออนไลน์ ให้เพื่อนๆ ได้ร่วมแสดงความชื่นชมยินดี ก็ไม่มีอะไรมาก ... เพื่อให้ “มือ” ของพวกเธอในรูปดูสวยที่สุด ว่าที่เจ้าสาวเหล่านี้จึงพากันไปทำศัลยกรรมมือ ด้วยการฉีดสารฟิลเลอร์เพิ่มความเต่งตึง ให้รอยเส้นเลือดที่ปูดโปนหรือรอยแดงบริเวณหลังมือดูลดลง คุณหมอศัลยกรรมท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าช่วงนี้มีคนไข้ถ่ายรูปมือตัวเองมาให้ดูมากขึ้น เพื่อที่จะอธิบายกับหมอว่ามันไม่สวยอย่างไร และอยากให้ซ่อมตรงไหนบ้างโดยละเอียด กระบวนการทำให้สมบูรณ์แบบเพื่อถ่ายรูปนี้ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีเท่านั้น แต่มันอาจส่งผลต่อจิตใจของเรานานกว่าที่คิด ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการเปรียบเทียบร่างกายตัวเองกับรูปถ่ายนั้นมันสามารถทำให้คนเราจิตตกได้ และผลการสำรวจเมื่อ 3 ปีที่แล้วก็ระบุว่าผู้หญิงออสซี่ส่วนใหญ่ผิดหวังจากการทำศัลยกรรมเสริมความงาม เพราะคาดหวังสูงเกินไป   ค่าเทอมแพงแห่งแดนกิมจิ ช่วงเปิดเทอมที่เกาหลี ถือเป็นช่วงปวดใจของบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัย เพราะค่าเล่าเรียนที่นั่นจัดว่าไม่ธรรมดา แพงเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เลยทีเดียว แม้รัฐบาลจะจัดเงินกู้เพื่อการศึกษาให้ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังต้องหาเพิ่ม ช่วงปิดเทอมจึงเป็นช่วงเวลาแห่งการตั้งหน้าตั้งตาหาเงินมาจ่ายค่าเทอม ที่จะเริ่มต้นขึ้นในเดือนกันยายนนั่นเอง ข่าวบอกว่าร้อยละ 70 ของนักเรียนที่จบมัธยมจะสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย และนักศึกษามหาวิทยาลัย 7 ใน 10 คน จะกู้เงินเรียน มูลหนี้เฉลี่ยอยู่ที่คนละประมาณ 13,900 เหรียญ(ประมาณ 444,000 บาท) และพวกเขาจะใช้เวลาประมาณ 4 ปีในการจ่ายเงินคืน โดยนักศึกษาเกือบครึ่งระบุว่ายินดีทำงานอะไรก็ได้หลังเรียนจบเพื่อหาเงินมาให้หนี้ให้หมดโดยเร็ว เหตุที่ค่าเล่าเรียนแพงก็เพราะการลงทุนส่วนใหญ่เป็นของทางมหาวิทยาลัยเอง เนื่องจากประเทศเกาหลีจัดสรรงบประมาณเพียงร้อยละ 2.6 ของดัชนีมวลรวมให้กับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แม้รัฐบาลจะพยายามจำกัดการขึ้นค่าเล่าเรียน แต่ก็แทบไม่ได้ผลอะไร ปีที่แล้วนักศึกษาที่นั่นยังคงจ่ายค่าเล่าเรียนคนละประมาณ 208,500 บาทต่อหนึ่งภาคเรียน ภาระนี้ยิ่งใหญ่มิใช่น้อย กระทรวงศึกษาธิการก็ยืนยันว่า สาเหตุอันดับหนึ่งของการฆ่าตัวตายในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยคือเรื่องค่าเล่าเรียนนั่นเอง   เครื่องดื่มสร้างชาติ หลายคนรู้แล้วว่าอิตาลีคือต้นตำรับเอสเปรสโซ่ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่านอร์เวย์นั้นมีเครื่องดื่ม “ประจำชาติ” เป็นกาแฟดำร้อนๆ เหมือนกัน นอร์เวย์มีอัตราการบริโภคกาแฟเป็นอันดับ 3 ของโลก ปีละเกือบ 10 กิโลกรัมต่อคน(อันดับ 1 คือฟินแลนด์ ที่ 12 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่คนละ 1.3 กิโลกรัมต่อปี) ที่นี่เขานิยมดื่มเป็นกาแฟดำร้อนๆ เรียกว่าเป็นเครื่องดื่มประจำบ้าน แต่ไม่มีใครรู้ว่ามันเริ่มต้นมาอย่างไร ทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจคือกาแฟนั้นเข้ามาแทนที่อัลกอฮอล์ ในช่วงที่มีการห้ามดื่มเครื่องดื่มอัลกอฮอล์ ระหว่างปี 1916 ถึง 1927 อัลฟ์ เครเมอร์ ประธานสมาคมกาแฟแห่งยุโรป ให้ข้อมูลว่าในช่วงเวลาดังกล่าวผู้คนติดเหล้ากันงอมแงม รัฐบาลจึงประกาศห้ามการต้มเหล้าเด็ดขาด แล้วก็ตัดสินใจว่าจะต้องหาเครื่องดื่มอย่างอื่นมาทดแทน กาแฟดูเหมือนจะเป็นทางออก ในยุคนั้นถ้าใครเข้าโบสถ์ก็จะต้องได้รับการชักจูงจากบาทหลวงให้เลิกเหล้าแล้วหันมาดื่มกาแฟ เครื่องดื่มชนิดใหม่นี้จึงกลายเป็นเครื่องดื่มสามัญประจำบ้านของคนนอร์เวย์ตั้งแต่นั้นมา แต่เดี๋ยวก่อน ถึงแม้นอร์เวย์จะจริงจังกับการดื่มกาแฟ ประเทศนี้กลับไม่มีร้านกาแฟใหญ่ๆ ระดับนานาชาติมากมายเหมือนบ้านเรา เพราะที่นั่นค่าแรงสูงและกฎหมายการจ้างงานค่อนข้างเข้มงวด ทำให้บริษัทเหล่านี้เข้ามาทำธุรกิจได้ยาก   รายงานความหิว รายงานเรื่อง Hunger in America 2014 อาจทำให้เราได้รู้อีกแง่มุมหนึ่งของอเมริกันชน Feeding America ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารกับผู้มีรายได้น้อย ได้ทำการสำรวจดังกล่าวทุกๆ 4 ปี เพื่อรวบรวมปัญหาต่างๆ ของครัวเรือนที่ขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารอาหารซึ่งเป็นตัวกลางในการรับบริจาคผัก ผลไม้สด จากเกษตรกรแล้วนำมาแจกจ่ายให้กับผู้มีรายได้น้อย ปัจจุบัน เครือข่าย Feeding America มีผู้คนที่อยู่ในความดูแลประมาณ 5.1 ล้านคน ปีนี้เขาพบว่า ร้อยละ 20 ของครัวเรือนอเมริกันที่อยู่ในโครงการจะมีสมาชิกอย่างน้อย 1 คนที่เป็นทหารผ่านศึก และมีอย่างน้อยร้อยละ 4 ที่สมาชิกในครอบครัวเป็นทหารที่ยังประจำการอยู่ด้วย กว่าร้อยละ 50 ของคนที่มาร่วมโครงการ มีสมาชิกในครอบครัวที่ทำงานเต็มเวลา ภาพผู้คนที่มาต่อคิวรับอาหารทั้งที่ยังอยู่ในชุดฟอร์มทำงานก็มีให้เห็นบ่อยๆ ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าร้อยละ 32 ของครอบครัวเหล่านี้ มีสมาชิกที่เป็นโรคเบาหวาน ในขณะที่ร้อยละ 57 มีสมาชิกที่มีความดันเลือดสูงด้วย ในภาพรวมแล้วปีนี้ กว่าร้อยละ 15 ของผู้คนในโครงการ มีปัญหาด้านอาหารและสุขภาพ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายนั้น เขาพบว่า 3 ใน 4 ของครอบครัวที่เข้ารับความช่วยเหลือจากธนาคารอาหาร เปลี่ยนมาซื้ออาหารที่ราคาถูกลงและมีคุณค่าทางโภชนาการลดลง เพราะมีเงินไม่พอซื้ออาหารที่ดีกว่านั้นมารับประทานได้   ใครๆ ก็กินได้ เทศกาลไหว้พระจันทร์เวียนมาอีกครั้ง เรามาติดตามนโยบายรัดเข็มขัดสกัดคอรัปชั่นประเทศจีนกันหน่อย นอกจากจะลดการติดสินบนกับข้าราชการแล้ว นโยบายนี้ยังมีผลพลอยได้ที่ทำให้คนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าถึงของดีราคาถูกด้วย ฤดูการไหว้พระจันทร์ปีนี้จะมีขนมไหว้พระจันทร์ที่ดีต่อสุขภาพในราคาที่ถูกลงกว่าเดิมด้วย ปีนี้อุตสาหกรรมอาหารของจีน ซึ่งพบกับยอดขายลดฮวบหลังนโยบายส่งเสริมการประหยัดของรัฐบาล ก็หันมาตั้งเป้าหมายใหม่ที่ตลาดระดับกลางแทน เพื่อให้มีลูกค้ามากขึ้น คราวนี้เขาจึงพากันทำออกมาให้เลือกมากขึ้น บางเจ้ามีให้เลือกถึง 42 ไส้ และที่สำคัญจุดขายคราวนี้คือขนมที่ดีต่อสุขภาพ น้ำตาลน้อย ไขมันต่ำ ยังไม่นับสูตรสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือสูตรที่ทานแล้วรำลึกอดีต ผู้ประกอบการบอกว่านี่เป็นปรากฏการณ์พิเศษ ทั้งๆ ที่ราคาวัตถุดิบและค่าแรงสูงขึ้น แต่ราคาขายปลีกนั้นกลับต่ำลง เขาจึงเลยมั่นใจว่าปีนี้จะต้องขายดีแน่นอน เพราะไม่ว่าจะต้องประหยัดแค่ไหน แต่ธรรมเนียมก็ยังคงต้องเป็นเช่นเดิม แถมยังเป็นของดี ราคาถูกอีกด้วย ลืมบอกไปว่า สนนราคาของขนมไหว้พระจันทร์ในร้านใหญ่ๆ ที่เมืองจีนปีนี้ อยู่ที่กล่องละ 199 – 399 หยวน (ประมาณ 1,000 – 2,000 บาท) บางเจ้าจัดให้ถึง 8 ชิ้นต่อกล่องด้วย

อ่านเพิ่มเติม >