ฉบับที่ 205 สิทธิของผู้ซื้อบ้านที่ก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญา

ผมจะพาทุกท่านมารู้จักกับเรื่องสิทธิของผู้บริโภคอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในสัญญา โดยขอยกกรณีตัวอย่างของการทำสัญญาซื้อขายบ้านนะครับ ก่อนทำสัญญาใดๆ ก็ตามเราต้องตรวจดูข้อสัญญาให้ดีๆ เพราะสัญญาที่กำหนดขึ้นนั้น ผู้ขายเขาร่างมาให้ เราต้องดูให้ดีว่ามีข้อใดที่เอาเปรียบเราหรือไม่ หากเห็นข้อใดไม่สมเหตุผล ก็คุยกันและขอให้แก้ไขได้นะครับเพราะเป็นสิทธิของเราในฐานะผู้บริโภคครับ เพราะเมื่อทำสัญญาไปแล้วจะเกิดสิทธิและหน้าที่ทั้งผู้ซื้อผู้ขายต้องปฏิบัติให้เป็นตามสัญญา เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเรื่องของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้าน ซึ่งตอนไปทำสัญญาก็แน่นอนว่า บ้านยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง หลังทำสัญญาไปแล้ว ก็จ่ายเงินผ่อนบ้านเรื่อยมา แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ ปรากฏว่า กลับจ่ายเงินเขาไม่ครบ จ่ายไม่ตรงเวลา ทั้งที่สัญญาก็ระบุไว้ว่าต้องจ่ายเมื่อไหร่ ส่วนผู้ขายก็สร้างบ้านไม่เสร็จตรงตามกำหนด เรียกว่าทั้งสองฝ่ายไม่ปฏิบัติให้ตรงตามสัญญากันเลย ผู้บริโภคท่านนี้เห็นบ้านสร้างไม่ยอมเสร็จสักที ก็ไปฟ้องศาลขอเรียกเงินค่างวดคืน ปัญหาที่เกิดคือ แบบนี้ตัวเองก็ผิดนัดเขาไม่ชำระเงินให้ตรงตามเวลาที่ตกลง จะมีสิทธิทวงเงินคืนได้หรือไม่  ซึ่งสุดท้ายเรื่องก็ไปสู่ศาลฎีกา และศาลก็ได้ตัดสินให้ผู้ขายคืนเงินแก่ผู้บริโภค เนื่องจากก่อนฟ้อง ผู้ขายมีหนังสือทวงถามให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อชำระค่างวด แต่ผู้ซื้อไม่ยอมจ่ายและมีหนังสือเลิกสัญญาไปถึงผู้ขายเช่นกัน ศาลมองว่าทั้งสองฝ่ายต่างต้องการเลิกสัญญาต่อกัน จึงมีผลให้สัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน ซึ่งตามกฎหมาย ผลของการเลิกสัญญา ทำให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องกลับสู่ฐานะเดิม ดังนั้น ผู้ขายจึงต้องคืนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระทั้งหมดให้แก่ผู้บริโภคพร้อมดอกเบี้ย คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6327/2549           โจทก์มิได้ชำระเงินค่างวดตรงตามเวลาและครบถ้วนในกำหนดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนจำเลยก็มิได้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในกำหนดวันที่โจทก์ต้องชำระเงินค่างวด งวดสุดท้ายและจำเลยตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ จึงถือว่าต่างฝ่ายต่างมิได้ถือกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นสาระสำคัญต่อไป หนี้ที่ต่างต้องชำระต่อกันจึงไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนต่างฝ่ายย่อมเรียกอีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลันโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคแรก          สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนและล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้มาแล้วประมาณ 10 เดือน ดังนั้นหนังสือบอกกล่าวของจำเลยที่ทวงถามให้โจกท์ชำระเงินค่างวดที่ค้างเพื่อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้น จำเลยจะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ด้วยว่าจำเลยพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิไม่ชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยยังก่อสร้างบ้านไม่แล้วเสร็จในขณะที่มีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ค่างวดที่ค้าง จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะที่พร้อมที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนให้แก่โจทก์ได้ การที่โจทก์ไม่ชำระเงินค่างวดที่ค้างให้แก่จำเลยจึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่โจทก์ชำระแล้ว          หลังจากที่จำเลยมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระค่างวดที่ค้างแล้ว โจทก์ไม่ชำระแต่ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย และต่อมาจำเลยก็ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์อีก ดังนี้เท่ากับคู่สัญญามีเจตนาเลิกสัญญาต่อกัน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ในคดีนี้ มีประเด็นน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต้องรู้หน้าที่ของตน ผู้ขายรู้ว่าตนมีหน้าที่ต้องสร้างบ้านให้เสร็จ และโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินให้โจทก์ แต่ปรากฎว่าในขณะมีหนังสือแจ้งให้โจทก์จ่ายเงินค่างวดบ้าน ตนเองก็ยังไม่พร้อมจะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินให้โจทก์ แสดงว่าจำเลยผู้ขายไม่สามารถปฏิบัติตามหน้าที่ของตนตอบแทนตามสัญญา  ดังนั้น การที่โจทก์ยังไม่จ่ายเงินค่างวดจึงยังไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา ผลที่ตามมาคือ ผู้ขายไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและจะริบเงินของโจทก์ไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 สิทธิของผู้ซื้อบ้าน กรณีเจอบ้านชำรุดบกพร่อง

ในชีวิตคนเรา ไม่ว่าใครก็ฝันอยากมีบ้านเป็นของตนเอง หรือบางท่านก็ต้องการมีบ้านเพื่อเป็นเรือนหอ เพื่อสร้างครอบครัวของตนเอง บ้านหลังหนึ่งราคาไม่ใช่น้อยๆ  ต้องเก็บเงิน ทำงานทั้งชีวิตกว่าจะได้มา ช่วงที่ผ่านมา หลายท่านคงได้ทราบข่าวคู่รักชาวเชียงใหม่ เข้าร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมให้ช่วยเหลือ หลังซื้อบ้านใหม่ราคากว่า 2 ล้านบาท เพื่อทำเป็นเรือนหอ แต่ยังไม่ทันเข้าอยู่ กลับมีสภาพเหมือนโรงเพาะเห็ด  เมื่อมาเจอปัญหาซื้อบ้าน แต่ได้บ้านที่มีเห็ด มีเชื้อราขึ้นทั่วบ้าน ใครจะกล้าอยู่  จ่ายเงินไปแล้ว ก็ต้องการบ้านที่ดี สะอาด ปลอดภัย น่าอยู่เหมือนคนอื่นๆ    เรื่องของการซื้อขายบ้าน คนขายไม่ใช่เพียงแต่ขายบ้าน รับเงินแล้วจบ  แต่ยังมีหน้าที่ต้องส่งมอบบ้านในสภาพที่ใช้อยู่อาศัยได้จริงด้วย  หากส่งมอบบ้านมา อย่างกรณีที่เกิดขึ้น ผู้บริโภคยังไม่ทันเข้าอยู่อาศัย พบว่าบ้านมีเห็ด มีเชื้อราขึ้น สอบถามจนทราบว่าเกิดจากความชื้นจากใต้ดิน ทำให้บ้านเกิดเชื้อรา แบบนี้ถือว่า บ้านที่ส่งมอบให้ผู้บริโภคนั้น เกิดความชำรุดบกพร่องเป็นเหตุเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ กล่าวคือ บ้านซื้อมาประโยชน์จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยอีกหลายสิบปี แต่กลับใช้อาศัยไม่ได้ ไม่ปลอดภัยเพราะมีแต่เชื้อโรค บ้านปกติเขาไม่เป็นแบบนี้  กรณีแบบนี้ ต่อให้ตรวจสอบก่อนรับมอบบ้าน ก็คงไม่ทราบ เพราะไม่ใช่ความชำรุดเสียหายที่เห็นเป็นประจักษ์ขณะส่งมอบบ้านกัน จะให้ผู้บริโภคที่ซื้อบ้านรับผิดชอบคงไม่ได้ (ฏีกาที่   5584/2544, 17002/2555) โดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้บริโภคในฐานะผู้ซื้อ เมื่อพบว่าทรัพย์สินที่ซื้อขายมีความชำรุดบกพร่องเช่นนี้ มีสิทธิ 3 ประการ คือ 1.สิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายแก้ไขความชำรุดบกพร่อง (มาตรา 472)2.สิทธิยึดหน่วงราคาทั้งหมดหรือแต่บางส่วน กล่าวคือ ไม่ต้องชำระเงินค่าบ้านส่วนที่เหลือจนกว่าจะได้รับการแก้ไขความชำรุดบกพร่อง (มาตรา 488) 3.สิทธิบอก(ปัด)เลิกสัญญา และเรียกค่าเสียหาย  รวมถึงเงินมัดจำ และให้ชำระหนี้บางส่วน (ถ้ามี) ( มาตรา 386 และ 391 )แต่อย่างไรก็ตามสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายรับผิดนั้นก็ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง  ดังนั้นในเบื้องต้น หากท่านรู้ว่าบ้านที่ซื้อมีความชำรุดบกพร่อง มีความเสียหายส่วนใดๆ ก็ตาม ต้องรีบทำหนังสือแจ้งให้โครงการดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว เช่น ภายใน 15 วัน หากผู้ขายไม่รีบดำเนินการแก้ไข ก็อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบทำเรื่องร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อดำเนินการช่วยเหลือในการเจรจาไกล่เกลี่ย รวมถึงฟ้องเป็นคดีต่อศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2544 ความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการที่ผนังบางส่วนมีรอยแตกร้าวบริเวณระหว่างกำแพงที่เป็นปูนหรือส่วนที่เป็นพื้นกับวงกบอะลูมิเนียมของบานประตูหน้าต่างมีรอยต่อไม่สนิท หรือบางส่วนยาซิลิคอนไม่ทั่วทำให้น้ำฝนสามารถซึมเข้ามาได้นั้น เป็นความชำรุดบกพร่องอันไม่เห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบ เมื่อมีน้ำฝนตกหนักน้ำฝนซึมเข้ามา จึงจะรู้ว่ามีการชำรุดบกพร่องดังกล่าว แม้ตัวแทนโจทก์เข้าไปสำรวจตรวจสอบแล้ว ก็เป็นการตรวจสอบเพียงว่ามีทรัพย์สินใดเสียหายบ้าง แต่บุคคลดังกล่าวไม่มีความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้าง การที่ตัวแทนโจทก์เสนอให้โจทก์หาผู้เชี่ยวชาญมาทำการตรวจสอบและโจทก์ได้ว่าจ้างบริษัท อ. เข้าไปตรวจสอบจึงเป็นการกระทำที่สมควร จะถือว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องแล้วแต่เวลานั้นยังไม่ได้ เมื่อต่อมาบริษัท อ. ตรวจสอบเสร็จและเสนอรายการซ่อมให้โจทก์ทราบ จึงถือได้ว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องนับแต่เวลานั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันดังกล่าวคดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17002/2555การผุกร่อนของเหล็กเส้นที่ถูกสนิมกัดกินคานบ้าน เป็นความชำรุดบกพร่องที่เป็นเหตุเสื่อมราคาและเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เมื่อโจทก์ซื้อบ้านเพื่อจะใช้อยู่อาศัยและคู่สัญญาซื้อขายไม่ได้ตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 483 ความชำรุดบกพร่องดังกล่าวจึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472แม้ก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบบ้านให้แก่โจทก์นั้น โจทก์ได้เข้าไปตรวจดูบ้านถึง 4 ครั้ง กับใช้กล้องวิดีโอถ่ายสภาพบ้านนำไปให้ญาติของโจทก์ช่วยกันพิจารณาสภาพบ้านด้วยก็ตาม แต่ในส่วนโครงเหล็กของคานชั้น 2 อยู่บริเวณเหนือฝ้า การจะตรวจดูต้องทุบแล้วรื้อฝ้าออกจึงจะพบเห็น ไม่ใช่กรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบและโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์รับเอาบ้านไว้โดยมิได้อิดเอื้อน ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้ขอเปิดฝ้าเพื่อตรวจดูคานนั้น ก็เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่ไม่น่าจะคาดคิดว่าคานบ้านชั้น 2 ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นดินหรือความชื้นจะเกิดสนิมที่เหล็กเส้นจนผุกร่อน จนต้องขอเปิดฝ้าดูเพื่อตรวจสอบ กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน อันจะทำให้จำเลยทั้งสองผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในกรณีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 473 (1) และ (2)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 เรื่องของหมากับสัญญาหมา หมา

เห็นชื่อเรื่องแล้วอย่าคิดว่าเป็นเรื่องหยาบคายกันนะ เรื่องนี้เป็นเรื่องสัญญาซื้อขายหมาสายพันธุ์ที่คนรักหมาต้องอ่านจุดเริ่มต้นของเรื่องมาจากความสงสารหมา   เพื่อนรักของคุณอธิป เป็นคนขายหมา ได้เอาหมาแม่ลูกอ่อนพร้อมลูกหมาไปประกาศขายในเน็ต มีคนซื้อตัวลูกไปแต่ไม่มีคนซื้อตัวแม่ เพราะความสงสารหมาพอรู้เรื่องคุณอธิปเลยอาสารับเลี้ยงแม่หมาให้  ต่อมาอีกสามสี่เดือนเพื่อนรักก็เอาตัวผู้มาให้เลี้ยงอีกตัวและบอกกับคุณอธิปว่าจะยกตัวเมียให้เดี๋ยวเซ็นต์โอนให้เลย แต่คุณอธิปเห็นว่าเป็นเพื่อนสนิทกันไม่ต้องมานั่งเซ็นต์อะไรกันก็ได้จากนั้นได้เฝ้าคอยประคบประหงมป้อนข้าวป้อนน้ำป้อนยาให้หมาทั้งสองตัวจนเวลาล่วงไปเป็นปี เงินทุกบาททุกสตางค์เจ้าของตัวจริงไม่เคยมาจ่าย มีแต่โทรมาบอกว่าให้พาหมาไปเที่ยวที่บ้านบ้าง พอพาหมาตัวเมียไปเที่ยว เจอพี่เขยของเพื่อน หมาคงไม่ชอบหน้าเป็นทุนเดิมถูกหมาเห่าใส่ พี่เขยเลยตบหมาซะปากแตก “วันนั้นพาหมากลับบ้านเลยครับ หลังจากนั้นก็ไม่พาไปอีกเลยเค้าก็ไม่สนใจ” คุณอธิปบอกวันเวลาผ่านไปหมาทั้งสองตัวเกิดอารมณ์เสน่หากันตามธรรมชาติ คุณอธิปไม่คิดขัดขวางเพราะเห็นว่ารักกัน ปล่อยให้มันได้สมรสสมรักจนหมาตัวเมียสมหวังตั้งท้องในเวลาต่อมา พอรู้ว่าหมาตัวเมียตั้งท้องอีกครั้ง เพื่อนสุดที่รักนักขายหมาก็แวะมาหาบอกว่าถ้าหมาคลอดลูกจะแบ่งกันคนละตัว เมื่อครบกำหนดปรากฏว่าแม่หมาคลอดลูกได้สองตัวพอดี แต่แทนที่เพื่อนเลิฟจะรับไปเลี้ยงตามที่ได้ตกลงกัน เพื่อนเลิฟกลับเงียบหาย คุณอธิปจำได้ว่า ลูกหมาอายุได้หนึ่งเดือนเพื่อนเลิฟแวะมาเยี่ยมหนึ่งครั้งซื้อยาสีฟันหมามาให้แค่หลอดเดียวสองเดือนต่อมาคุณอธิปพาลูกหมาไปให้เพื่อนรักดูถึงบ้าน กะว่าเพื่อนคงจะรับเลี้ยงแน่คราวนี้ แต่พอเพื่อนเห็นลูกหมาก็ไม่ได้ว่าอะไร พูดคุยกันเล่นสักพักคุณอธิปจึงอุ้มลูกหมากลับเพราะเห็นว่าลูกหมาห่างนมแม่มาทั้งวัน วันรุ่งขึ้นเพื่อนรักโทรศัพท์มาหา แทนที่จะบอกว่าจะรับเลี้ยงแล้วจ้า กลับบอกให้คุณอธิปถ่ายรูปหมาส่งไปให้หน่อย จะเอาไปฝากขายที่สวนลุมไนท์คุณอธิปบอกเพื่อนว่ารอให้ลูกหมาโตหน่อยไม่ได้เหรอ สงสารมันเห็นมันอยู่กันพร้อมพ่อแม่ลูกทำไมต้องพรากลูกเขาไปด้วย สุดท้ายก็อ้อนวอนขอซื้อตัวที่จะขายซะเอง เพื่อนรักบอกว่า ถ้าจะซื้อก็ต้องซื้อลูกทั้งสองตัวราคา 70,000 บาท และตัวแม่อีก 30,000 บาท รวมเป็นหนึ่งแสน ไม่งั้นจะยึดหมาคืนไปทั้งหมดคุณอธิปกลัวเพื่อนจะพรากหมาไป สงสารและอยากได้หมาตัวแม่และตัวลูกๆ มาก เลยขอต่อรองราคาอีกครั้ง สุดท้ายจบด้วยความปราณีของเพื่อนสุดเลิฟที่ 60,000 บาท และจับคุณอธิปเซ็นต์สัญญาซื้อขายหมาโดยไม่ได้ให้อ่านรายละเอียดและคิดว่าเป็นสัญญาซื้อขายหมากันธรรมดาๆ จนต้องเจ็บกระดองใจ   เมื่อเห็นเนื้อหาในสัญญาของเพื่อนรัก คุณอธิปก็ได้แต่บ่นว่า   คนซื้อไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากสัญญา นอกจากความดีใจที่ได้รับหมากลับมา สาระสำคัญของสัญญาซื้อขายหมาที่เป็นประเด็นปัญหาหน้าตาเป็นอย่างนี้ครับ1. ผู้ซื้อสัญญาว่า จะให้สุนัขเพศเมียได้ตั้งท้องโดยสุนัขที่คลอดมานั้น จะต้องมีชีวิตและมีสภาพสมบูรณ์ครบทุกประการแล้วส่งมอบสุนัขให้แก่ผู้ขายทั้งหมดทุกตัวภายใต้สภาพสมบูรณ์เท่านั้น จำนวน 1 ครอกโดยผู้ซื้อสัญญาว่าจะไม่เก็บเงินค่าลูกสุนัขและค่าใช้จ่ายใดๆ กับผู้ขายทั้งสิ้น2. ผู้ขายจะโอนกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของสุนัขทั้งสามตัวให้แก่ผู้ซื้อจนกว่าผู้ซื้อจะทำตามข้อ 13. ผู้ขายรับรองว่าสุนัขทั้งสามตัวที่ทำการส่งมอบมีความปกติสมบูรณ์ทุกประการโดยที่ผู้ซื้อรับทราบ โดยผู้ขายส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อไว้ในความดูแลได้ แต่ยังไม่โอนกรรมสิทธิจนกว่าจะสิ้นสัญญาในข้อหนึ่ง4. หากสุนัขตัวใดตัวหนึ่งเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตในระหว่างความดูแลของผู้ซื้อซึ่งยังไม่โอนกรรมสิทธิผู้ซื้อต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายรวมถึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ขายพร้อมทั้งผู้ขายไม่ต้องคืนเงินและหากตรวจสอบว่าผู้ซื้อได้บอกกล่าวเป็นเท็จไม่ว่าด้วยเหตุใดผู้ขายมีสิทธิเอาผิดจากผู้ซื้อได้ทุกประการโดยจะริบเงินดังกล่าวรวมถึงผู้ซื้อต้องส่งคืนสุนัขทั้งหมดแก่ผู้ขาย5. หากผู้ซื้อผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดแล้ว ผู้ขายสามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันทีและริบเอาเงินที่ผู้ซื้อได้ชำระมาแล้วเป็นของผู้ขายทั้งสิ้น และผู้ซื้อต้องส่งคืนสุนัขทั้งหมดแก่ผู้ขาย รวมถึงไม่ตัดสิทธิผู้ขายที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายใดๆ อันเกิดจากการผิดสัญญานั้นด้วย6. สืบเนื่องจากข้อ 5  และให้ถือว่าการโอนกรรมสิทธิการเป็นเจ้าของสุนัขมาเป็นผู้ซื้อถือเป็นโมฆะคุณอธิปสอบถามว่า สัญญาออกมาแบบนี้ ทางผู้ขายยังจะมีสิทธิที่จะทำตามที่เขียนหรือไม่ และผู้ซื้อสามารถอ้างสิทธิในตัวสัตว์ แล้วแจ้งสมาคมพัฒนาสายพันธุ์สุนัขเพื่อเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของได้หรือไม่แนวทางแก้ไขปัญหา ประเด็นที่คนอยากซื้อหมาควรทราบ1. การซื้อขายสัตว์เลี้ยงที่มีราคาต่ำกว่า 2 หมื่นบาทไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือก็ได้ หากฝ่ายไหนผิดสัญญาซื้อขายปากเปล่ากันก็สามารถนำเรื่องฟ้องต่อศาลได้ แต่หากมีราคาซื้อขายตั้งแต่ 2 หมื่นบาทขึ้นไป จะฟ้องร้องต่อศาลกันได้ต้องมีหลักฐานการซื้อขายที่ลงลายมือชื่อผู้ซื้อ ผู้ขายกันด้ว2. การซื้อขายสัตว์เลี้ยงอย่างหมา แมว หมู กระต่ายนั้น กรรมสิทธิในสัตว์เลี้ยงได้ถูกโอนตกเป็นของผู้ซื้อแล้วตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายกัน โดยที่ไม่ต้องไปทำเรื่องจดโอนกับเจ้าพนักงานเหมือนสัตว์พาหนะพวกช้าง ม้า วัว ควายที่มีกฎหมายสัตว์พาหนะกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ3. หากสัญญาซื้อขายสัตว์เลี้ยงมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับกันไว้ กรรมสิทธิ์ในสัตว์เลี้ยงที่ขายถือว่ายังไม่โอนให้ผู้ซื้อจนกว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้ดังนั้นจากเรื่องราวและคำถามที่คุณอธิปถามมาแสดงว่า สัญญาซื้อขายหมาที่ทำกันนั้นเป็นสัญญาแบบมีเงื่อนไข ผู้ขายจึงยังมีสิทธิในตัวหมาอยู่ และผู้ซื้อจะต้องปฏิบัติตามสัญญา จนกว่าจะปลดล็อกเงื่อนไขที่ถูกวางไว้ ทางแก้ก็คือปล่อยให้คุณพ่อคุณแม่หมาทั้งสองเร่งสมรสสมรักกันอีกครั้ง เมื่อได้ลูกออกมาแล้วอีกรุ่นก็ยกให้เพื่อนสุดเลิฟโดยทำบันทึกกันให้ชัดเจน กรรมสิทธิ์ของหมาที่ซื้อมาทั้งหมดจึงจะตกเป็นของผู้ซื้อโดยสมบูรณ์ แล้วทีนี้จะนำไปเปลี่ยนชื่อเจ้าของ พาไปประกวดหมาสวยงามที่ไหน ก็เชิญตามสบายครับ

อ่านเพิ่มเติม >