ฉบับที่ 277 ป้องกันผดผื่นหน้าร้อนได้ด้วยตนเอง

        หน้าร้อนประเทศไทย พ.ศ. 2567 อุณหภูมิพุ่งสูงไปถึง 40 กว่าองศา ถือว่าร้อนมากๆ จะออกไปไหนทีแทบละลายเพราะอุณหภูมิ อากาศร้อนแล้วแดดยังแรงไปอีกก็อย่าลืมป้องกันผิวด้วยครีมกันแดดเพื่อให้ผิวมีสุขภาพดี แต่ว่านอกจากผิวไหม้เกรียมจากแดด ปัญหาที่พบบ่อยของหลายคนในช่วงหน้าร้อนนี้อีกอย่างจากสภาพอากาศร้อนก็คงจะเป็นอาการผดผื่นที่ขึ้นมาตามร่างกาย ซึ่งจะป้องกันได้อย่างไรฉลาดซื้อมีคำแนะนำมาฝาก         ผดผื่นหน้าร้อนเกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ ขึ้นได้ทุกบริเวณร่างกายทั้ง ใบหน้า หลัง แขน ขา ข้อพับต่างๆ ตามจุดที่เกิดเหงื่อได้ง่าย ปกติผดผื่นลักษณะนี้มักจะสามารถหายไปได้เองได้ตามธรรมชาติอาจจะไม่ต้องกังวลมาก แต่ยังไงก็ต้องป้องกันไว้ก่อนดีกว่าซึ่งทำได้ง่ายๆ  ดังนี้         1. ผดผื่นเกิดจากความร้อนเป็นสาเหตุ เราก็พยายามอยู่ในที่อากาศเย็น โล่งโปร่งสบายๆ พื้นที่อากาศถ่ายเทได้ตลอด หลีกเลี่ยงไม่ให้เหงื่อออกเยอะได้ยิ่งดี        2. ใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี ไม่เป็นเสื้อที่คับแน่นจนเกินไป ที่สำคัญควรเป็นเสื้อซักสะอาดแล้ว ไม่ใส่เสื้อซ้ำเพราะอาจก่อให้เกิดความหมักหมม เหงื่อไคล สิ่งสกปรกต่างๆ ได้ เรื่องสุขอนามัยสำคัญเสมอ        3. อาบน้ำเย็นและไม่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ก่อให้ระคายเคืองง่าย หรือใช้แล้วผิวแห้งตึง และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำหอม        4. สายออกกำลังกาย แนะนำให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งที่แดดแรงๆ และควรทาครีมกันแดดซ้ำสม่ำเสมอ  หลังออกกำลังกายควรอาบน้ำเพื่อชำระคราบเหงื่อบนร่างกายออก        5. หลีกเลี่ยงแสงแดดแรงๆ หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่อุณหภูมิสูง        6. สำหรับใครที่สายบำรุงผิว ต้องทาครีมสม่ำเสมอแนะนำให้ไม่เลือกเนื้อครีมที่หนักจนเกินไป เพราะจะทำให้อุดตันได้ง่าย          ผดผื่นไม่ค่อยอันตรายแต่มักจะสร้างความรำคาญ เช่น อาการคัน และเป็นตุ่มใสๆ ขึ้นมาแนะนำว่าพยายามอย่าแกะหรือเกา เพราะอาจทำให้แผลถลอกแสบจนก่อให้เกิดแผลเป็น         วิธีรักษาผดผื่นได้ด้วยตัวเองเบื้องต้น หากมีอาการคันมากๆ แนะนำให้อาบน้ำเย็นหลังจากนั้น ให้ทายาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการคัน เช่น Calamine Lotion ถ้าไม่ดีขึ้น หรือหลายวันแล้วผื่นผด ยังไม่ยุบและมีตุ่มหนอง ตุ่มแดง หรืออาการอื่นๆ ร่วมด้วย แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี อย่าซื้อยามากินหรือทาเองเด็ดขาด         ในกรณีเข้าร้านยาเพื่อซื้อยาควรปรึกษาเภสัชกรโดยบอกอาการให้ชัดเจน บอกตัวยาที่เราแพ้ให้ละเอียดเพื่อป้องกันอันตรายในการบริโภคยาผิดชนิด อ่านและศึกษาวิธีการใช้ให้ชัดเจน เพราะยาทาบางตัวที่ใช้ทาผิวหนังอาจเป็นยาสเตียรอยด์ใช้บ่อยๆ จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีได้ ทั้งนี้ นอกจากผดผื่นทางผิวหนังช่วงหน้าร้อนแล้ว ยังคงมีโรคทางผิวหนังช่วงหน้าร้อนอีกหลายประเภท ดังนั้น อยากให้หลายๆ คนดูแลตนเองโดยหมั่นรักษาความสะอาด สุขอนามัยให้ดี ทาครีมกันแดดสม่ำเสมอ  ข้อมูลจาก https://www.vimut.com/article/Prickly-heathttps://www.siphhospital.com/th/news/article/share/379https://www.pobpad.com/ผดร้อนhttps://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/รับมือ-ผดผื่นคัน-วายร้า/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 รับมือผดผื่นหน้าร้อน

        เมื่อถึงเดือนเมษา นอกจากต้องเตรียมรับมือเรื่องอาหารเป็นพิษ ลมแดดหรืออาการหมดสติจากอากาศร้อนแล้ว ผดผื่นหน้าร้อนก็เป็นปัญหาที่ก่อความรำคาญด้วยเช่นกัน แม้อาการของผดร้อนไม่ได้ร้ายแรงและจะดีขึ้นเองหากไม่เกิดปัญหาแทรกซ้อน แต่ถ้าไม่เป็นเลยจะดีกว่า         ผดร้อน เกิดจากต่อมเหงื่อที่อุดตันใต้ผิวหนัง กล่าวคือร่างกายคนเรานั้นมีวิธีระบายความร้อนด้วยการขยายหลอดเลือดแดงที่ผิวหนังและต่อมเหงื่อสร้างเหงื่อเพื่อช่วยระบายความร้อนออกทางผิวหนัง ถ้ามีการอุดตันของท่อเหงื่อก็จะเกิดตุ่มน้ำใสๆ หรือตุ่มเนื้อขึ้น โดยเฉพาะบริเวณ รักแร้ หน้าอก ข้อพับ หลังคอ ไหล่ หรือต้นขา บางคนก็แสดงอาการที่ใบหน้าและหนังศีรษะด้วย         แม้ภาวะผดร้อนจะไม่อันตรายแค่สร้างความรำคาญด้วยอาการคัน ถ้าไม่เกาจนเกิดแผลถลอกและติดเชื้อ อาการจะปรากฎไม่นาน เพียงไม่กี่ชั่วโมงและหายไปเอง อย่างไรก็ตามกับเด็กเล็ก ผู้ปกครองอาจต้องช่วยเหลือดูแลเพื่อไม่ให้ลุกลาม          การป้องกันผดร้อนต้องควบคุมที่สาเหตุคือ การหลั่งเหงื่อ นั่นคือหลีกเลี่ยงอยู่ในสถานที่ที่อากาศร้อนมาก พยายามอยู่ในที่ที่อากาศโปร่ง เย็นสบายหรือห้องปรับอากาศ หากอยู่กลางแจ้งอาจใช้ผ้าเย็นประคบเพื่อระบายความร้อนบริเวณผิวหนังที่มักเกิดปัญหาผดผื่น             ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรึงหรือเสื้อผ้าเนื้อผ้าหนาๆ ควรสวมใส่เสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้โลชั่นหรือครีมเนื้อหนักป้องกันการอุดตันของต่อมเหงื่อ กรณีเด็กเล็กควรให้เด็กสวมเสื้อผ้าหลวมๆ ไม่ออกแดดนานและอาบน้ำเพื่อช่วยระบายความร้อนและล้างเหงื่อให้บ่อยขึ้น เลี่ยงการเช็ดตัวด้วยผ้าป้องกันแผลเสียดสี สำคัญตัดเล็บเด็กๆ ให้สั้นลดการเกาจนเกิดแผล         การรักษาผดร้อน         ธรรมดาอาการผดผื่นร้อนจะไม่รุนแรงและจะหายไปเอง แต่หากเกิดอาการแทรกซ้อนหรือรุนแรงขึ้นควรพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการ ซึ่งอาจได้รับยาแก้แพ้ หรือขึ้ผึ้งทาผิวเพื่อบรรเทาอาการ         การดูแลตนเอง อย่าเกาจนเกิดแผลถลอก อาจการแก้อาการคันด้วยการประคบความเย็น หรือใช้แป้งน้ำหรือโลชั่นคาลาไมน์ หรือลองด้วยสมุนไพรแบบไทยๆ ที่ใช้ดูแลรักษาผดร้อนกันมาแต่โบราณ อย่างใบพลู(ใบพลูที่กินกับหมาก) ด้วยการตำให้ละเอียดคั้นน้ำแล้วผสมกับเหล้าขาวชุบทาที่ผด ผดจะยุบตัวลง หรือใช้ฤทธิ์เย็นจากว่านหางจระเข้ โดยใช้วุ้นใสๆ ที่อยู่ในลำต้นแปะไปที่บริเวณผด สำหรับว่านหางสามารถเก็บวุ้นใสแช่เย็นไว้ใช้ในกรณีเกิดผดผื่นขึ้นมาอีก กรณีเผลอเกาจนเกิดแผลถลอก สมุนไพรที่ช่วยได้คือ ขมิ้นชัน ตำเหง้าให้แตกแล้วนำน้ำจากส่วนเหง้าทาบนแผลจะช่วยให้แผลสมานตัวไวขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ขาลาย เพราะน้ำเหลืองไม่ดีจริงหรือ

        ผู้ใหญ่หลายคนมักทักเด็กน้อย หรือคนที่ขาเป็นแผลถลอกพุพอง มีน้ำเหลืองเยิ้ม หรือมีรอยแผลเป็นที่ลายพร้อยไปทั้งแขน ขาว่า เป็นโรคน้ำเหลืองไม่ดี ซึ่งก็งงกันไปว่า มันไม่ดียังไง เกิดจากอะไร เป็นกรรมพันธุ์หรือเปล่า เพราะอันที่จริงโรคน้ำเหลืองไม่ดีนั้น ไม่มี มีแต่สิ่งที่เรียกว่า ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง         บ้านเรานั้นอากาศร้อนชื้น มีแมลงรำคาญก็มาก ดิน น้ำ พงหญ้าชื้นแฉะ แมลงชุม เวลาที่ผิวหนังของเรา โดนแมลงต่างๆ กัด หรือระคายเคืองจากพืชบางชนิด หากมีอาการแพ้เกิดผื่นหรือตุ่มคัน บางคนเกาเบาๆ อาการก็ดีขึ้นหรือแค่ป้ายยาหม่องก็หาย แต่หลายคนคันมากก็เกามาก บางคนห้ามใจไม่อยู่เกากันจนเกิดแผลถลอกและติดเชื้อจนกลายเป็นตุ่มหนอง เมื่อแผลหายแล้วก็ยังเกิดเป็นรอยแผลเป็นทิ้งไว้ให้คิดถึงอีก อาการแบบนี้คนสมัยก่อนจะบอกว่า เป็นโรคน้ำเหลืองไม่ดี ต้องกินยานี้ ไม่กินอาหารนี้เพราะมันแสลงโรค รวมทั้งมีสื่อที่โฆษณาขายยาหรืออาหารเสริมหลายชนิดที่มักอวดอ้างสรรพคุณว่า กินแล้วช่วยให้หายจากโรคน้ำเหลืองไม่ดี มาขายในราคาแสนแพงอีกด้วย  สวยอย่างฉลาดคราวนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เข้าใจผิดอีกต่อไป และเรียนรู้วิธีที่ถูกต้องในการรักษา            โรคน้ำเหลืองไม่ดี ไม่มีอยู่จริงในวงการแพทย์ ภาวะที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงแค่ ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง หรือโรคที่มีแผลเรื้อรังที่ขา แขน หรือผิวหนังของร่างกาย บางที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Impetigo ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคที่เรียที่ชื่อว่า Staphylococcus aureus และ Streptococcus pyogenes ที่สามารถเกิดขึ้นกับทุกคนได้ทั้งนั้น เพียงแค่การลุกลามและเรื้อรังของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการดูแลและรักษาอาการนั้นมากน้อยแค่ไหน                    การรักษาความสะอาดสำคัญที่สุด        ภาวะนี้หากเกิดกับเด็ก จะดูแลยากหน่อย เพราะห้ามเด็กไม่ให้เกาเมื่อคันนั้นยาก บางทีหลับแล้วก็ยังเผลอเกาจนน้ำเหลืองเยิ้มกลายเป็นแผลติดเชื้อ ดังนั้นต้องเริ่มจากการป้องกัน กล่าวคือ ไม่ควรให้เด็กเล่นดิน ทราย หรือน้ำที่สกปรก ไม่เข้าพงหญ้าที่มีแมลง แต่หากสัมผัสกับสิ่งสกปรกเหล่านี้ต้องรีบล้างทำความสะอาดทันที และควรต้องตัดเล็บเด็กให้สั้นเสมอ เพื่อป้องกันเชื้อที่ซ่อนอยู่ในเล็บและการเกาจนเกิดบาดแผล         การรักษา หากเกิดตุ่มคัน ผื่นแพ้ บวม แดง ให้รีบล้างแผลให้สะอาด รักษาแผลโดยอาจฟอกด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น chlorhexide หรือทายาฆ่าเชื้อกลุ่ม cloxacillin dioxacillin หรือ Cephalexin แต่หากอาการรุนแรง แผลลุกลาม มีไข้ ต้องรีบไปพบแพทย์ ซึ่งอาจต้องใช้ยาฆ่าเชื้อแบบกินหรือฉีด และอาจต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล         ในผู้ใหญ่ก็คล้ายกัน ป้องกันก่อนดีที่สุด หากเกิดผื่นแพ้หรือตุ่มคัน ควรหายาทาบรรเทาอาการ หรือรับประทานยาแก้แพ้ สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาโรคนี้คือ การรักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น อาบน้ำล้างแผลให้สะอาด ไม่แกะ ไม่เกาแผล เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบที่แผล เพราะจะทำให้แผลหายช้า         เรื่องจริงของแผลติดเชื้อ        ·  ไม่มีของแสลง อาหารกินได้ทุกชนิด ไม่ต้องงด เนื้อ นม ไข่        ·  พ่นยา พ่นเหล้า พ่นสมุนไพร อาจจะยิ่งติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น        ·  ไม่มีอาหารเสริมเพื่อมารักษา ดีสุดกินอาหารครบ 5 หมู่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ผื่นแพ้เสื้อผ้า แก้อย่างไรดี

                ช่วงที่ผ่านมาอากาศร้อนจนร่างแทบละลาย แถมบางคนยังเกิดผื่นแพ้จากเหงื่อและเสื้อผ้า จนคันคะเยอเสียอาการ ครั้งนี้เรามาหาสาเหตุและการแก้ไขเพื่อให้สามารถผ่านช่วงเวลาแสบๆ คันๆ นี้ไปได้         สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดผื่นแพ้เสื้อผ้า        1.ผ้า ปกติผ้าใยธรรมชาติจะไม่ค่อยก่ออาการแพ้ อย่างฝ้าย ลินินหรือผ้าไหม ถ้าแพ้อาจเกิดจากสารเคมีที่เติมเข้าไป เช่น สีย้อม การกันเชื้อรา ฯลฯ ผ้าขนสัตว์ มักทำให้ผิวหนังระคายเคือง และเกิดลมพิษจากการสัมผัสได้ ผ้าไนลอน อาจก่อให้เกิดผดได้ เพราะเนื้อผ้าไม่ให้เหงื่อซึมผ่านออกมาทำให้เกิดการอับชื้น         2.สิ่งประดับในเสื้อผ้า  ซิป กระดุม ตะขอ ที่มีส่วนผสมของนิกเกิล อาจก่อให้เกิดการแพ้ได้ ยิ่งอยู่ในส่วนที่สัมผัสกับผิวโดยตรง         3.แพ้สารเคมี เช่น ผงซักฟอกเนื่องจากล้างออกไม่หมดแล้วตกค้างบนเสื้อผ้า หรือน้ำยาทำให้ผ้าเรียบ หรือแพ้สีย้อมผ้า         4.แพ้สารเคมีจากขอบยางยืด โดยเฉพาะยางยืดกางเกงชั้นใน เนื่องจากยางยืดส่วนใหญ่ใช้ยางพาราในการผลิต แม้มีคุณสมบัติทนทานแต่ในน้ำยางมีโปรตีนธรรมชาติที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ (เชื่อว่าคุณผู้ชายหลายคนน่าจะมีประสบการณ์ผื่นแพ้จากขอบกางเกงในกันมาบ้าง) อาจพบผื่นผิวหนังอักเสบด้านในและด้านหน้าของต้นขา เป็นต้น         5.แพ้เนื่องจากมีแมลงที่อาศัยในเสื้อผ้า เช่น เหา หิด ซึ่งชอบอาศัยตามเสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์หรือเสื้อผ้าหนาๆ         6.แพ้จากเชื้อรา ที่แฝงในเสื้อผ้าที่เปียกชื้น         7.แพ้เนื่องจากอ้วนขึ้น การแพ้เสื้อผ้าอาการแพ้จะมากน้อยขึ้นอยู่กับบริเวณที่สัมผัสกับผ้า หากใส่เสื้อผ้าที่รัดรึงเกินไปจะทำให้ผิวจมอยู่กับสิ่งที่ก่ออาการแพ้ได้มากขึ้น เช่น ขอบยางยืด ซิป         วิธีป้องกันการแพ้เสื้อผ้า         ก่อนอื่นต้องหาสาเหตุให้พบเสียก่อน แล้วค่อยตัดสิ่งสงสัยไปเรื่อยๆ โดยขอเสนอเป็นแนวทางป้องกันกว้างๆ ดังนี้         1.ต้องมั่นใจว่าซักล้างผงซักฟอกจนสะอาดไม่ตกค้างบนเสื้อผ้า         2.ไม่ใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้นโดยเฉพาะเสื้อชั้นใน กางเกงใน เพราะจะก่อให้เกิดการหมักหมมของเชื้อโรค เชื้อรา         3.ไม่ใส่เสื้อผ้าที่รัดรึงเกินไป ควรใส่เสื้อผ้าให้พอดี ยิ่งระยะที่มีอาการแพ้ควรใส่เสื้อผ้าให้หลวมเพื่อไม่ให้สัมผัสกับผิวมากเกินไป         4.เมื่อเสื้อผ้าเปียกเหงื่อมากๆ ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่เพื่อความสบายตัวและไม่เกิดการหมักหมม         5.หากแพ้เสื้อผ้าบางชนิดเช่น ผ้าขนสัตว์ ควรหลีกเลี่ยงหรืออาจป้องกันด้วยการสวมใส่เสื้อด้านในเพื่อกันไม่ให้เสื้อขนสัตว์สัมผัสผิวโดยตรง         6.ขอบยางยืด หากแพ้สารประเภทยางพารา ควรเลือกที่ยางยืดมีส่วนผสมของ Spandex หรือใช้วิธีกำจัดสารโปรตีนที่มากับยางพาราที่ใช้ทำยางยืด โดยใช้ยางมะละกอจากผลมะละกอดิบ/ จากใบมะละกอสัก 1 ช้อนโต๊ะ ละลายกับน้ำสัก 1 กาละมัง / หรืออาจจะใช้น้ำสับปะรดสดคั้นประมาณ 1 ถ้วย พร้อมกับใส่น้ำยาล้างจานลงไปเล็กน้อย แล้วแช่กางเกงในเจ้าปัญหาลงไปแช่ค้างคืน ก่อนที่จะนำมาซักปกติ (ที่มาเพจ เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว ) 

อ่านเพิ่มเติม >