ฉบับที่ 204 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนกุมภาพันธ์ 2561อย.ใช้มาตรา 44 ปลดล็อกบริการขึ้นทะเบียน หวังเพิ่มประสิทธิภาพงานคุ้มครองผู้บริโภคเลขาธิการ อย.ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ (เผยแพร่วันที่ 6 ก.พ.2561) ถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามคำสั่งมาตรา 44 ที่ปลดล็อกความล่าช้าเรื่องบริการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งจะทำให้ อย.สามารถเรียกเก็บค่าขึ้นทะเบียนเพื่อมาใช้ในกิจการของ อย. ได้ อีกทั้งทำให้การพิจารณาอนุญาตและขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยปีงบประมาณ 2562 อย.ได้ของบประมาณราว 250 ล้านบาท เพื่อใช้ก่อสร้างอาคารใหม่ 9 ชั้น ตั้งเป็นศูนย์บริการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service รวมถึงจะดำเนินการออกกฎหมายใหม่ และแก้ไขกฎหมายเดิม เช่น กฎหมายยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล โดยมองว่าน่าจะช่วยให้การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปในทางที่ดีขึ้นอย่างไรก็ตาม แม้ว่า อย. หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะทำงานอย่างเต็มที่ แต่ก็เรียกว่าไม่สามารถป้องปรามการซื้อขายผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการขายที่ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ยากต่อการควบคุม ดังนั้นผู้บริโภคยังคงต้องช่วยกันเฝ้าระวังจับตาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ช่วยแจ้งเบาะแสที่สายด่วน อย. 1556 เพื่อรีบดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างรวดเร็ว‘แท็กซี่โอเค’ ขนส่งทางบกจัดให้เพื่อยกระดับแท็กซี่ไทย หากผู้บริโภคเคยเห็นแท็กซี่ไฟสีเขียว ซึ่งดูแปลกตา และทำให้ไม่กล้าใช้บริการ ขอบอกว่า ไม่ต้องตกใจ เพราะกรมขนส่งทางบกเขาออกมาบอกว่า แท็กซี่ไฟเขียวนั้นอยู่ในโครงการ “แท็กซี่โอเค” เป็นการยกระดับคุณภาพมาตรฐานของแท็กซี่ไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคเพื่อแก้ไขปัญหารถแท็กซี่ที่บริการไม่สุภาพและปฏิเสธผู้โดยสาร กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ทำโครงการแท็กซี่โอเค ซึ่งกำหนดให้เเท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ทุกคัน ต้องติดตั้งอุปกรณ์ จีพีเอส แทรคกิ้ง (GPS Tracking) ซึ่งจะแสดงข้อมูลผู้ขับขี่ ระบุพิกัดเส้นทางการเดินรถและการใช้ความเร็ว มีปุ่มฉุกเฉินกรณีผู้โดยสารต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินใกล้บริเวณที่นั่งผู้โดยสาร ทั้งยังมีการติดตั้งกล้องบันทึกภาพภายในรถ และเชื่อมต่อข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการแท็กซี่ของกรมขนส่งทางบก เพื่อส่งข้อมูลการเดินรถแบบเรียลไทม์ (Real-Time) อีกด้วย ซึ่งผู้บริโภคสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเรียกรถผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้ โดยมีค่าบริการเรียกผ่านแอพพลิเคชั่นครั้งละ 20 บาทต่อไปเมื่อเห็นแท็กซี่ไฟสีเขียว ณ แห่งหนใด ผู้บริโภคก็สามารถโบกเรียกใช้บริการได้อย่างมั่นใจ บัตรประชาชนหายอาจไม่ใช่เรื่องเล็กต้องรีบจัดการ ต้นปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคคงได้ยินข่าวหญิงสาวรายหนึ่ง ที่อยู่ดีๆ ก็ตกเป็นจำเลยและถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง เพราะถูกแอบอ้างเอาบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีกับธนาคารต่างๆ มากถึง 9 บัญชี ซึ่งความจริงก่อนหน้านี้เธอถูกมิจฉาชีพขโมยกระเป๋าสตางค์ขณะอยู่บนรถโดยสาร และเธอเองก็ได้ไปแจ้งความว่าบัตรประชาชนหายและได้ทำบัตรใหม่เรียบร้อยแล้ว กรณีเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็สามารถตกอยู่ในความเสี่ยงได้ ดังนั้นควรเก็บรักษาบัตรประชาชนให้อยู่ดีในที่ปลอดภัย ไม่วางทิ้งหรือฝากไว้กับคนที่ไม่รู้จักคุ้นเคยอย่างเด็ดขาด หรือเมื่อต้องใช้บัตรประชาชนหรือสำเนาบัตรทำธุรกรรมใดๆ ก็ควรต้องขีดคร่อม เขียนข้อความกำกับทับบนสำเนาหน้าบัตรด้วยว่า ใช้เพื่ออะไร กับใครหรือหน่วยงานใด พร้อมระบุวันที่ให้ชัดเจน เป็นแนวทางการป้องกันเบื้องต้นที่สามารถทำได้แต่หากต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนในการแสดงตัวตนเพื่อแลกบัตรหรือติดต่อทำธุระกับหน่วยงานต่างๆ หรือใช้ฝากไว้เป็นหลักประกันกรณีเช่าสินค้าหรือบริการ หากเป็นไปได้ก็ควรหลีกเลี่ยง หรือใช้ใบขับขี่หรือบัตรอื่นๆ แทนบัตรประจำตัวประชาชน และหากบัตรประชาชนหายอย่านิ่งนอนใจ แม้จะไม่ต้องใช้ใบแจ้งความในการดำเนินการทำบัตรใหม่ เพียงไปที่สำนักงานเขตเพื่อขอทำบัตรใหม่ก็สามารถทำได้ทันที แต่ให้ปลอดภัยเพิ่มขึ้นก็ควรไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เผื่อโชคร้ายมีคนเอาบัตรประชาชนเราไปทำเรื่องผิดกฎหมาย อย่างน้อยก็จะได้มีหลักฐานเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของเราเอง  ผักไฮโดรโปรนิกส์ไม่ปลอดภัย สวนทางความเชื่อผู้บริโภคThai-PAN (Thailand Pesticide Alert Network) เปิดเผยผลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2561 พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักไฮโดรโปนิกส์สูงกว่าผักทั่วไปปัจจุบันผู้บริโภคหันมาเลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น ผักและผลไม้จะเป็นอาหารประเภทแรกๆ ที่กลุ่มคนรักสุขภาพเลือกบริโภค เพราะอุดมด้วยสารอาหารและกากใยที่ดีต่อสุขภาพ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มผู้บริโภคผัก อาจต้องกลุ้มใจเพิ่มขึ้น เพราะผักที่ปลูกด้วยระบบไฮโดรโปรนิกส์(รากไม่สัมผัสดิน) ที่หลายคนเชื่อ(ไปเอง) ว่าปลอดภัยนั้น ทางเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN (Thailand Pesticide Alert Network) ได้ออกมาเปิดเผยผลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2561 ว่า มีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักไฮโดรโปนิกส์สูงกว่าผักทั่วไป โดยไทยแพนเองได้เก็บตัวอย่างผักไฮโดรโปนิกส์จำนวน 30 ตัวอย่าง จากตลาดและห้างสรรพสินค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า ผักจำนวน 19 ตัวอย่าง พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 63.3 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับการตกค้างของผักและผลไม้ทั่วไป ซึ่งไทยแพนได้เคยสำรวจและวิเคราะห์เมื่อปลายปีที่แล้ว พบว่ามีการตกค้างสูงกว่าผักทั่วไปที่พบการตกค้างเกินมาตรฐานที่ร้อยละ 54.4  และนอกจากนี้ยังพบการตกค้างของไนเตรท ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในผักไฮโดรฯ อีกด้วย ปัญหาร้องเรียนเรื่องสินค้าและบริการทั่วไปครองแชมป์ปี 60ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุ ผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องสินค้าและบริการทั่วไปมากที่สุด ทั้งโฆษณาเกินจริง สัญญาไม่เป็นธรรม รองลงมาได้แก่ การเงินการธนาคาร ซึ่งหนี้บัตรเครดิตยังคงเป็นประเด็นสำคัญศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้เปิดเผยสถิติเรื่องร้องเรียนใน เดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2560 ว่ามียอดร้องเรียนจำนวนทั้งสิ้น 1,153 เรื่อง ผ่านช่องทางโทรศัพท์ เว็บไซต์ ไปรษณีย์ เดินทางมาด้วยตนเอง ส่งอีเมล์ และร้องเรียนผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจของมูลนิธิฯ ตามลำดับหมวดปัญหาที่ร้องเรียนมากที่สุด อันดับหนึ่ง ได้แก่ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป ซึ่งมีการร้องเรียนเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 41.54 โดยเฉพาะประเด็นปัญหา สินค้าที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและเลือกซื้ออุปโภคบริโภค เช่น การโฆษณาขายกระทะยี่ห้อดังที่คุณสมบัติสินค้าไม่เป็นไปตามที่โฆษณา การปิดกิจการของสถานบริการออกกำลังกายที่ไม่แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า หรือการไม่สามารถขอยกเลิกสัญญา คอร์สบริการเสริมความงาม เพราะข้อสัญญาที่ระบุว่าจะไม่คืนเงินทุกกรณีอันดับสอง คือ ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร คิดเป็นร้อยละ 34.69 ฮิตที่สุดในหมวดนี้ ได้แก่ ปัญหาหนี้บัตรเครดิต และปัญหาการเช่าซื้อรถ และอันดับสุดท้ายคือ ปัญหาอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะทั้งนี้เมื่อพิจารณาปัญหาเรื่องร้องเรียนข้างต้นพบว่า สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจที่มักเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค และไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้ข้อมูลสินค้าหรือบริการแก่ผู้บริโภคไม่ครบถ้วนถูกต้อง ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อซื้อสินค้าและบริการดังกล่าว รวมถึงข้อสัญญาต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคที่สำคัญคือ หน่วยงานของรัฐไม่มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นรูปธรรมชัดเจน รวดเร็ว รวมถึงไม่มีกลไกแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบยังมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเป็นรายกรณี ซึ่งศูนย์พิทักษ์สิทธิ มีข้อเสนอว่า ควรต้องทำงานเชิงรุกในการตรวจสอบและเฝ้าระวัง ไม่ต้องรอให้ผู้บริโภคมาร้องเรียนจึงค่อยดำเนินการ

อ่านเพิ่มเติม >