ฉบับที่ 253 ทางเลือก? ทางรอด? หรือทางลวง? แต่เสียเงินไปแล้วสี่หมื่น

        ผู้ป่วยจำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ นอกจากจะมีความทุกข์จากอาการเจ็บป่วยทางกายแล้ว ยังมีผลกระทบต่อไปยังจิตใจทั้งความเครียดและความกังวลด้วย ผู้ป่วยเหล่านี้หลายรายจึงแสวงหาแนวทางการรักษาทุกช่องทางเพื่อบรรเทาความทุกข์จากการเจ็บป่วยของตน เมื่อได้ข่าวว่ามีแหล่งใดที่จะสามารถรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ ผู้ป่วยและญาติจะรีบพากันพากันไปหาเพื่อรักษาทันที โดยที่อาจจะไม่ทันได้คิดไตร่ตรองว่าจะปลอดภัย ได้ผลจริงหรือไม่ หรือจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน         เครือข่ายชมรมเภสัชชนบท พบกรณีประชาชนเข้าสู่ขบวนการรักษาและใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพจากการ  บอกเล่า ซักชวน จากผู้ที่ไม่ใช่บุคคลากรทางการแพทย์และไม่ใช่สถานพยาบาลตามกฎหมาย มีพฤติกรรมโอ้อวดโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์เกินจริง โดยพบรายงานเป็นระยะๆจากหลายพื้นที่  เช่น เดือนกันยายน 2564 เกิดกับสมาชิกในครอบครัวหนึ่ง ซึ่งมีผู้ป่วยในบ้านหลายคน คนแรกแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง อยู่ระหว่างรักษาด้วยการฉายแสงที่โรงพยาบาลศูนย์ แต่เมื่อญาติทราบข่าวว่ามีสำนักสงฆ์แห่งหนึ่ง ให้การรักษาผู้ป่วยด้วยยาที่สั่งจากประเทศจีนร่วมกับการทำพิธีกรรม แล้วสามารถรักษาได้หายแทบทุกโรค มีผู้คนจากหลายพื้นที่เข้ามารับการรักษามากมาย ญาติจึงได้พาไปติดต่อเพื่อขอรับการรักษาบ้าง         เมื่อได้ตกลงเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว ขั้นตอนการรักษา คือ ทำการดูดวงให้ผู้ป่วยก่อนว่าจะรอดหรือตาย ซึ่งรายนี้ได้รับแจ้งว่าดวงยังไม่ถึงตาย พระจึงสั่งยามาให้ การสั่งซื้อยาใช้เวลา 2 วัน ในช่วงระหว่างเวลาที่รอรับยานั้น มีการแจ้งให้ญาติไปจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับทำพิธีกรรม ค่าอุปกรณ์รวมกับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ใช้งบ 2,000 บาท โดยประมาณ  เมื่อยามาถึงแล้วจึงมาทำพิธีกรรมก่อนส่งมอบยา ในขั้นตอนนี้มีค่าใช้จ่ายอีก 2,999 บาท  ส่วนผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นยานั้น ลักษณะเป็นแคปซูลสีขาว ไม่มีฉลาก ไม่มีขวดบรรจุ แต่ให้ญาติผู้ป่วยนำกระป๋องบรรจุยาชนิดอื่น ขนาดบรรจุยาทั่วไปได้ 1,000 เม็ดมาบรรจุ ได้ 1 กระป๋อง ราคา 15,000 บาท ซึ่งรวมๆค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว ผู้ป่วยรายนี้เสียเงินไปประมาณสองหมื่นบาท ในระยะเวลาเดียวกัน ญาติคนที่สองมีอาการทางมดลูก ก็ได้เข้ารับการรักษาและสั่งซื้อยาในลักษณะเดียวกันด้วย และเสียค่าใช้จ่ายไปในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน รวมๆแล้วครอบครัวนี้ เสียเงินไปประมาณสี่หมื่นบาท ซึ่งอาการป่วยของทั้งคู่ก็ยังไม่หาย         ต่อมาภายหลัง แกนนำคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชนทราบเรื่องดังกล่าว เกรงว่าจะเป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะมีการโอ้อวดโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์เกินจริง และผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็ไม่มีทะเบียนยา จึงได้ลงไปพูดคุยกับผู้ป่วยและญาติ พร้อมแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง             กรณีข้างต้นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เครือข่ายแกนนำคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการเฝ้าระวังเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 “มือแชร์ข่าวปลอมเลยพวกนี้ ต้องเอากลับมาแชร์ข่าวดีแทน”

        นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับนี้พาไปพบคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอีกท่าน ภญ.ชโลม เกตุจินดา หลังจากเรียนจบสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ก็มุ่งมั่นมาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพราะสนใจเรื่องอาหารสุขภาพ อาหารปลอดสารพิษ การดูแลสุขภาพ โดยเน้นเรื่องวัฒนธรรมชุมชน เธอบอกเราว่า “เราอยากจะเห็นสินค้าที่มันอยู่ในชุมชนได้รับการสนับสนุนและมีมาตรฐาน” ประสบการณ์และเรื่องเล่ามากมาย แต่ครั้งนี้จะเน้นถึงงานเรื่อง ข่าวปลอม ข่าวลวง ข่าวดี ว่ามีผลต่อผู้บริโภคอย่างไร และการทำงานด้วยพลังของอาสาสมัครนั้นสำคัญอย่างไร งานที่อาจารย์ให้ความสำคัญมากคือการเฝ้าระวังสินค้าออนไลน์         คืองานเฝ้าระวังออนไลน์ของเราตอนนี้ เราจะมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครคนทำงาน ซึ่งสินค้าออนไลน์ส่วนหนึ่งนี่มันก็จะมีการแชร์ โพสต์ขาย เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดค่อนข้างเยอะ    ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยารักษาหรือว่าชุดผลิตภัณฑ์ต่างๆ การตรวจพวกนี้หรือว่าสมุนไพร ซึ่งพอมีคนโพสต์แนะนำหรือให้ข่าวว่าสมุนไพรตัวนี้ใช้ดี สักพักเดี๋ยวก็จะมี “ตัวผลิตภัณฑ์” เกี่ยวกับสมุนไพรนั้นโผล่ขึ้นมาในกลุ่มไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะความที่เป็นกลุ่มเฉพาะมันก็จะทำให้การตรวจสอบจากข้างนอกมันเข้าไปไม่ถึง การที่เรามีอาสาสมัครที่เป็นกลไกอยู่ในกลุ่มไลน์ต่างๆ กลุ่มชุมชน กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่ม อพม.อะไรอย่างนี้ พอเจอประเด็นอะไรเขาก็สามารถแคปหน้าจอกลับมาให้เราตรวจดูได้ อาจจะมีการแชร์เรื่องสมุนไพรที่โฆษณาเกินจริง มีการแชร์กันเกิดขึ้นอย่างนี้นะคะ เราจะมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครในพื้นที่ ในการที่จะใช้สื่อออนไลน์แบบมีประสิทธิภาพ คนอายุเยอะส่วนใหญ่จะเป็นอาสาสมัครของเรา อายุประมาณ 50-60 หรือ 40 แถวๆ นี้         แต่ก็ยากตั้งแต่แคปหน้าจอเลย พอเราบอกว่าปัญหาของคนกลุ่มนี้คือ เชื่อง่าย แชร์ง่ายด้วย แชร์เร็ว แต่ว่าหาหลักฐานหาข้อมูลไม่ได้ เราก็จะให้เขาช่วยแคปข้อมูลกลับมาแล้วเราก็ตรวจสอบ หลักจากนั้นก็ทำกระบวนการให้เขาสามารถเชคเกอร์ (Checker) หรือตรวจข้อมูลจาก Application ของ อย. หรือ FDA ได้ อย่างน้อยๆ ตรวจเลข อย.เป็น ว่าอันนี้คือตัวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือว่าเป็นยาสมุนไพร เขาก็จะตรวจสอบผ่าน Application เป็นนะคะ อย่างนี้นะคะ ก็ค่อนข้างยากเพราะว่าแคปหน้าจอหลายยี่ห้อนะโทรศัพท์ มือถือหลายยี่ห้อมันก็จะแคปหน้าจอลำบาก พอแคปมาตัวหนังสือเขาก็จะเป็นฟอนต์ประมาณ 30 ตัวอักษรใหญ่ๆ ยาวๆ เต็มจอ มันก็จะมองไม่เห็นไม่ครบหน้าจอ ก็แคปได้ทีละจออะไรอย่างนี้ เราจะสอนให้เขาแคปแล้วก็แคปรูปแบบยาวๆ ให้มีข้อมูลครบ ก็จะเป็นเรื่องเทคนิค เพราะฉะนั้นอันนี้มันก็จะกลายเป็นเหมือนเราฝึกทักษะทางดิจิตอลให้กับอาสาสมัครผู้บริโภคในการเฝ้าระวังด้วย ตอนนี้มีอาสาสมัครกี่คนที่กระจายตามกลุ่มไลน์ต่างๆ         เราทำอบรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ตอนนี้ก็จะมีของสงขลา ประมาณ 100 คน แล้วเราก็ขยายเฉพาะโครงการนี้เป็นการเฝ้าระวังสื่อออนไลน์ คือรวมถึงเรื่องการเคลียร์เรื่องข้อมูลเท็จ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพด้วย แล้วก็จะมีประปรายไปว่าเอาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มันมีปัญหานะคะ ก็มีเริ่มไปอีก 5 จังหวัด แต่ก็ไม่ค่อยต่อเนื่องเพราะว่าสถานการณ์โควิด การฝึกอบรมที่จะต้องจับมือทำงาน  เลยจับไม่ได้เพราะว่าต้องใกล้ชิด โทรศัพท์เขาบางทีก็จะเป็นโทรศัพท์ที่มีปัญหาว่าข้อมูลเต็มเล่นอะไรไม่ได้แล้ว โทรศัพท์ลูกให้ ข้อมูลเต็มไปหมดแล้วก็ดี ไปกดรับอะไรก็ไม่รู้เป็นข้อความ SMS ยืมเงินอีก ก็เจอนะ ก็ต้องมานั่งช่วยเคลียร์ให้ เคลียร์แคช (Cache) เคลียร์อะไรให้ อันนี้ก็จะเป็นประเด็นหนึ่งเรื่องศักยภาพในเรื่องของการใช้พวกมือถือในการสื่อสาร         แต่ในช่วงโควิดนี้ อสม.ส่วนหนึ่งเขาก็จะได้รับหน้าที่ในเรื่องของการสำรวจข้อมูล ทำ Google from มันก็เลยทำให้งานแบบนี้มันได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะรู้สึกว่ามันช่วยการทำงานของเขา อาสาสมัครเราส่วนหนึ่งส่วนมากก็จะเป็นแกนนำเป็น อสม.อยู่ในชุมชนที่ต้องใช้เรื่องพวกนี้ ขณะเดียวกันก็จะมีงานอีกชุดหนึ่งร่วมกับ กพย.กับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในเรื่องของการเฝ้าระวังยาชายแดน แล้วก็คิดงานในลักษณะเป็นยุทธศาสตร์เพื่อทำงานเสริมศักยภาพเครือข่ายการทำงานร่วมกัน         เครือข่ายภาคีทำงานร่วมกันก็จะมีตั้งแต่ สาธารณสุขจังหวัด หน่วยบริการที่มีเภสัชฯ อยู่ในโรงพยาบาลระดับชุมชน เพราะว่างานเรื่องการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมส่วนหนึ่ง ก็จะมีกลุ่มเภสัชฯ ในโรงพยาบาลชุมชนที่เขาต้องลงไปดูเรื่องยาชุด ยาที่มีปัญหาสารสเตียรอยด์เกิดขึ้นในพื้นที่ หรือตัวอื่นๆ อย่างเช่น อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ที่มันขายอยู่ตามตลาดนัด  ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์นี้จะไม่มีฉลากภาษาไทย รวมถึงยาบางตัวที่อยู่ตามเขตชายแดนก็จะเป็นภาษามลายู ภาษารูมี ที่เป็นภาษาของทางมาเลเชียเขียนแบบภาษาอังกฤษแต่อ่านคำเป็นภาษามาเลเชีย ก็จะสอดคล้องกับในพื้นที่เองเขาก็มีกระบวนการทำงานของอีกด้านหนึ่ง ด้านงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ไปเชื่อมกันที่เรียกว่า Border Health ที่เรียกว่าคณะกรรมการชายแดนเรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกัน คณะเภสัชฯ ซึ่งรับหน้าที่เป็นกลไกวิชาการประสานประชาคม ซึ่งพวกเราเองคือเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ ก็จะมีประเด็นทำงานร่วมกันมีการเฝ้าระวังผลิภัณฑ์ชายแดน ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพราะว่าปัญหาอยู่ในส่วนของชุมชน             “คือส่วนหนึ่งคนไม่ค่อยไปแจ้ง อย.หรือแจ้ง สสจ.แต่พอเราไป Survey สำรวจ มีกระบวนการเฝ้าระวัง เราก็จะไปถึงต้นตอปัญหาก็คือการใช้ยาในครัวเรือน” ครัวเรือนนี้ได้ยามาจากไหน ได้ยาจากคนที่เพิ่งไปกลับมาจากอินโดฯ กลับจากมาเลย์ แล้วก็มีการส่งต่อ รวบรวมมาแล้วก็ส่งให้ศูนย์วิทย์ฯ ก็เลยกลายเป็นการร่วมมือของภาคี ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เอง คณะเภสัชฯ ก็จะไปทำกระบวนการที่เรียกว่า ฝึกให้เราเป็นนักวิจัยร่วม คือเก็บข้อมูล แล้วก็ออกแบบสอบถามให้มันสามารถมาประมวลผลวิเคราะห์ได้ ฉะนั้นก่อนที่จะไปเก็บข้อมูลก็ต้องมานั่งออกแบบสอบถาม แบบ Survey ก่อนว่าเราต้องการข้อมูลแบบไหน มันก็จะทำให้เห็นทิศทางการจัดการปัญหา         เช่น ถ้าเกิดเจอแบบนี้แสดงว่าสเตียรอยด์ที่เราเจอ คือมันค่อนข้างที่จะชัดเจนแล้ว ทางศูนย์วิทย์ฯ ก็จะส่งไปตรวจสอบ แล้วก็หลังจากนี้เราก็จะดูว่าถ้าเกิดตัวนี้มีปัญหาเราก็จะพูดคุยผ่านใครล่ะ ก็ต้องส่งไปที่ Border Health ส่วนหนึ่งก็จะมีทางสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสนะคะ ที่ทำงานกับตรงนี้แล้วก็กับด่านสินค้า ด่านตรวจสินค้าก็จะมีด่านศูนย์วิทย์ฯ ของสงขลาด้วยส่วนหนึ่งนะคะ หลังจากนี้เราก็จะเอาข้อมูลพวกนี้มานั่งคุยกันว่าจะมีข้อเสนอต่อไปอย่างไรเพื่อจัดการตัวผลิตภัณฑ์นี้ อันนี้ก็จะเป็นกระบวนการทำงานและอาสาสมัครเองส่วนหนึ่งก็จะตรวจง่ายๆ เป็นสเตียรอยด์จะเป็นในกลุ่มที่เขาถ้าพัฒนาอีกนิดหนึ่งเขาก็จะเป็นอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญที่เขาเรียกว่า อาสาสมัครนักวิทย์ อสม.เขาจะมีกลุ่มนี้ก็จะตรวจสเตียรอยด์กันเป็นเบื้องต้นก่อน ศักยภาพของกลุ่มอาสาสมัครที่น่าสนใจ         คือกลุ่มไลน์พวกนี้ที่เขาเป็นสมาชิกกันเขาก็จะเกรงใจกันส่วนหนึ่ง แต่ว่าเขาก็จะมีศักยภาพคืออย่างน้อยๆ ตอนนี้เขาเริ่มพิมพ์เป็น คือกดพิมพ์ไม่ใช่กดแชร์อย่างเดียว พอเริ่มกดพิมพ์ได้เขาก็จะเริ่มถามว่าถ้าพูดไปอย่างนี้ดีไหม อย่างคนที่ส่งข้อมูลมามีวุฒิการศึกษานะเป็นอาจารย์โรงเรียนด้วย แต่อาจารย์คนนี้ส่งข้อมูลที่มันไม่น่าเชื่อถือ น่าสงสัย เรา (อาสาสมัคร) จะตอบกลับไปอย่างไร ก็จะมีกลุ่มไลน์เพื่อปรึกษาหารือกันเป็นกลุ่มไลน์เพื่อส่งข้อมูล คือแชร์หน้าจอมาแล้วเหล่าอาสาสมัครเขาก็จะถามว่าอันนี้จะตอบไปอย่างไรดี ให้ไม่หักหน้ากันมากนัก ปัจจุบันก็ยังมีข้อความที่แชร์เรื่องผิดๆ อยู่มาก มีวิธีจัดการอย่างไร         ใช่ค่ะ ถูก เพราะฉะนั้นตอนนี้ศักยภาพของอาสาสมัครเราที่เห็นได้ชัดเจนคือ ข่าวปลอมๆ พวกนี้ที่ได้รับมาบางส่วนมันเริ่มเป็นข่าววนซ้ำ เขา (อาสาสมัคร) จะจำได้ เช่น ข่าววนซ้ำว่าแชร์เรื่องคลิปที่อาจารย์มหิดลเขาทำวิจัยเรื่องกระชาย อาสาสมัครของเราก็สามารถบอกกันต่อได้ว่า “เออวิจัยนั้นเขาก็จะยังไม่เป็นยานะ เป็นแค่การทดลองในเซลล์ที่อยู่ข้างนอกที่เป็นในหลอดทดลองยังไม่ได้ใช้ในคน” เขาก็จะพิมพ์พวกนี้ได้เรียกว่ามีชุดข้อมูลที่ถูกต้อง  คือมีชุดคำที่พร้อมจะไปอธิบายว่า เห้ย ยังไม่ได้เป็นยาอันนี้อันนั้น หรือว่าอันนี้น้ำกระชายจริงๆ ยังไม่ควรกินแบบคั้นสด เพราะมันกินแล้วมันจะระคายเคืองปาก ปากคุณจะเป็นตุ่มนะและก็ไม่ได้รักษามีแค่เสริมภูมิ ก็จะชุดคำที่เขาเอาไปพูดได้แต่มันจะเริ่มวนซ้ำแล้ว เดี๋ยวสักพักจะมีคนในกลุ่มเขาก็จะแชร์เนื่องจากความยากในการเข้าถึงยาตอนนี้นะคะ          แต่ตอนนี้ก็อาจจะมีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งยังเป็นความคลุมเครือยังไม่ลงตัวกันของข้อมูล เช่น ATK Antigen Test Kit ตอนนี้มันคืออะไรแน่มันต้องผ่าน WHO ก่อน หรือมันผ่าน อย.ก่อน ก็เป็นเรื่องประเด็นถกเถียงกัน ซึ่งการสื่อสารของ อย.ก็ไม่ชัด สื่อสารของหน่วยที่จัดซื้อก็ไม่ชัด อันนี้ก็จะลำบากนิดหนึ่ง จากประสบการณ์ของอาจารย์เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ         คือเราเองความไว้เนื้อเชื่อใจเรื่องมาตรฐานหรือเรื่อง อย.เราก็คิดว่าเป็นเกณฑ์แรก แต่ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงเรื่องเทคโนโลยีโดยเฉพาะในเรื่องของไลฟ์สไตล์ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพการบำรุงสุขภาพเป็นพวก Function Drink  อะไรพวกนี้ไปไกลมากกว่าการที่จะมารับรองมาตรฐาน  แล้วคนก็สนใจในเรื่องภูมิคุ้มกันเรื่องการสร้างความแข็งแรงมากกว่าการรักษา เพราะฉะนั้นตัวผลิตภัณฑ์พวกนี้มันค่อนข้างจะคลุมตลาดได้กว้างมากขึ้นนะคะ แล้วก็การให้ใบอนุญาตอะไรพวกนี้มันก็ง่ายขึ้นแต่ไม่มีใครยืนยันความชัดเจน คือมันขายเหมือนอาหารนั่นแหละแต่มันโฆษณามากเกินกว่าอาหาร อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เห็น         เรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภค ปัจจุบันคนก็ชอบทางลัดคือกินอะไรง่ายๆ กินนิดเดียวก็ได้ผัก 2 กิโลกรัม อะไรอย่างนี้ก็จะยิ่งสอดรับกับวิถีแบบนี้ ซึ่งเราก็คงไปบอกเขาห้ามกินไม่ได้ แต่เราก็จะต้องทำเรื่องกำกับคุณภาพกับหน่วยงาน หน่วยงานรัฐให้เขาทำเรื่อง Post Marketing ให้เยอะขึ้น เพราะเขาอนุญาตไปแล้วแต่เขาไม่ได้มาตามดูคุณภาพหลังจากที่มีใบอนุญาตออกมาแล้ว ก็มีการขายในท้องตลาดแล้ว มันควรจะมีหน่วยงานต่างหากที่มาทำเรื่องนี้ ทำวิจัยที่เรียกว่า Out of Pocket ด้วย ก็คือเราจะสุขภาพเกินไปไหม คือบางคนพร้อมจะจ่ายนะ แต่การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่มันเป็นการตลาดเหมือน Functional Drink ที่เราเห็นบางโครงการมันจะเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ และหน่วยงานก็ไม่ได้กำกับดูแล กลายเป็นเราต้องไปซื้อหาเพื่อดูแลสุขภาพมากเกินจำเป็น แต่ก็ยังเจ็บป่วยอยู่เหมือนเดิม อันนี้ก็เห็นอยู่ในประเด็นเรื่องสุขภาพ         สำหรับประเด็นเรื่องอื่นของผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีแหล่งข้อมูลรีวิวสินค้าที่เป็นกลางมาก อันนี้ก็จะเห็นพัฒนาการว่าเรายังไม่มีหน่วยงานที่จะมาดูแลสินค้าที่น่าเชื่อถือ ก็คาดหวังว่าหน่วยงานรัฐเองจะสนับสนุนเรื่องเกณฑ์สินค้าที่เป็นมาตรฐานจริงๆ แล้วก็สินค้าบางตัวที่มันทำให้เสื่อมเร็ว ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับวิถีที่เราจะต้องดูแลสิ่งแวดล้อม มันก็ควรจะมีข้อบ่งใช้ให้พวกบริษัท ร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจร่วมรับผิดชอบด้วยเกี่ยวกับขยะต่างๆ ที่มันจะเกิดขึ้น อันนี้ในแง่มุมผู้บริโภค ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นประเด็นเรื่องผู้บริโภคยั่งยืนด้วยคะ ก้าวต่อไปที่คิด         ก็คิดว่าส่วนหนึ่งคือ เราต้องไปทำระบบที่มันเป็นระบบข้อมูลที่คนเข้าถึงได้ง่าย คือตอนนี้ Application มันเยอะ สแกน QR Code ก็ง่ายแต่มันไม่มีเครื่องมือสำหรับผู้บริโภคที่เราจะเข้าถึงได้ง่ายอย่างนี้นะ ก็คิดว่ามันควรจะมีใครมาทำเรื่องพวกนี้ เปรียบเทียบราคาสินค้าต่างๆ เปรียบเทียบคุณภาพจากการสแกน QR Code คือผู้บริโภคจะต้องทำได้ง่ายขึ้น ก็คงจะต้องไปพัฒนาเขาเรียกว่า Smart People ให้เท่าทันกับสถานการณ์ว่าเรารีวิวสินค้าไม่ได้ แต่เราควรจะต้องมีเครื่องมืออะไรที่เรารู้ว่าอันนี้มันมีคะแนนให้จากคนทั่วไป ชุมชนอื่นหรือ อสม. หรือเครือข่ายผู้บริโภคอื่นๆ ที่สนใจ มีคำแนะนำอย่างไร         คือเริ่มต้นจริงๆ อสม.ทำได้นะคะ มันมีกองทุนสุขภาพท้องถิ่นรวมตัวกันแล้วก็เขียนโครงการเป็นเรื่องพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคได้เลยในเรื่องของสุขภาพในเรื่องของการตรวจสอบความเท่าทันข้อมูลสุขภาพที่เรียกว่า Health literacy อาจจะต้องให้ทางเจ้าหน้าที่ช่วยหน่อยเป็นเรื่องความฉลาดทางสุขภาพนะคะ Health literacy ซึ่งมันต้องใช้พวกเครื่องไม้เครื่องมือนี้นะคะ ไปเขียนโครงการพัฒนาศักยภาพและก็ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องหาคนมาช่วยเรื่องพวกนี้ แต่ว่าติดต่อมาทางเราได้ ยินดีเลย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 229 4 เรื่องเล่า เฝ้าระวัง

เมื่อยุคโลกอยู่ใกล้กัน (แต่ตอนนี้ควรห่างกันสักพัก) ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เสี่ยงทั้งในและนอกประเทศ จึงเดินเข้าหาผู้บริโภคได้ไม่ยาก        1. น้องเภสัชกรจากจังหวัดนราธิวาสท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เธอพานักเรียน อย.น้อยไปเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังตามบ้าน เมื่อไปถึงบ้านคุณยายท่านหนึ่ง พบผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดหนึ่งในบ้าน ดูจากฉลากแล้วไม่มีภาษาไทย แต่เป็นฉลากภาษาอาหรับ จึงสอบถามได้ความว่า คุณยายมีเพื่อนไปแสวงบุญที่ต่างแดนแล้วซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดนี้กลับมาฝาก คุณยายคิดว่าน่าจะเป็นของดีเพราะเป็นของจากต่างประเทศและเมื่อรับประทานแล้วก็ได้ผลดี อาการปวดเมื่อยหายเร็วมาก น้องเภสัชกรสงสัยว่า ผลิตภัณฑ์นี้น่าจะมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์จึงใช้ชุดทดสอบตรวจได้ผลว่าผลิตภัณฑ์จากต่างแดนนี้ มีส่วนผสมของสเตียรอยด์จริงๆ อย่างที่สงสัย จึงรีบแนะนำคุณยายให้หยุดรับประทาน และรีบดำเนินการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อันตรายในชุมชนนี้         2. ผู้บริโภคนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมาแจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม โดยให้ข้อมูลว่าตนซื้อเครื่องสำอางจากตลาดนัดแห่งหนึ่ง ผู้ขายชักชวนให้ซื้อแล้วจะได้คูปองชิงโชค ตนเห็นราคาถูก ตรวจสอบแล้วมีฉลากครบถ้วนจึงซื้อมา เมื่อถึงบ้านตรวจสอบที่เว็บของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่าผลิตภัณฑ์นี้ถูกยกเลิกแล้ว จึงรีบนำมาแจ้งเจ้าหน้าที่พร้อมนำเอกสารหลักฐานต่างๆ มาให้ดูด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่าผลิตภัณฑ์นี้ผลิตที่จังหวัดจันทบุรี และมีตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ในจังหวัดเพชรบุรี จึงได้แจ้งเรื่องต่อไปยังจังหวัดจันทบุรีและเพชรบุรี เพื่อดำเนินการติดตามตรวจสอบต่อไป         3. เจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนึ่งเล่าให้ฟังว่า คุณแม่ของตนเห็นดาราชายสูงวัยเสียงนุ่มท่านหนึ่งโฆษณารับรองผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในโทรทัศน์และเฟซบุ๊ค อ้างว่ารับประทานเป็นประจำแล้วสุขภาพดี จึงตัดสินใจจะสั่งซื้อมารับประทาน ตนทราบเรื่องจึงรีบห้ามทัน เพราะสรรพคุณที่โฆษณานั้นโอ้อวดมากจนเกินจริง         4. น้องเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง เล่าให้ฟังว่ามีผู้ป่วยหญิงร่างท้วมเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยเห็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนี้โฆษณาขายทางเฟซบุ๊ค มีเลข อย แล้ว จึงสั่งซื้อมารับประทาน หลังจากรับประทานไประยะหนึ่งเริ่มมีอาการดังกล่าวจึงรีบมาโรงพยาบาลตอนนี้ยังเหลืออยู่ 6 แคปซูล น้องเภสัชกรจึงรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป        จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์เสี่ยงอันตรายเหล่านี้เข้าถึงผู้บริโภคได้ไม่ยาก แต่หากเจ้าหน้าที่รับทราบข้อมูลพร้อมได้รับเอกสารหรือหลักฐานต่างๆ ได้อย่างละเอียดและรวดเร็วแล้วก็สามารถจะจัดการผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ทั้งระบบ ซึ่งจะเป็นผลดีเพราะมันจะได้ไม่ไปเสี่ยงในพื้นที่อื่นๆ ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกับโฆษณาแฝงอีกปัญหาที่ยากจัดการ

        ย้อนกลับเมื่อช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปี 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคทั่วประเทศกว่า 4,182 ราย ซึ่งครอบคลุมด้านการเงินการธนาคาร ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสาธารณะ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านสื่อและโทรคมนาคม ด้านที่อยู่อาศัย และด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข พบว่า         ปัญหาด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ รั้งแชมป์มีคนร้องเรียนมากที่สุด จำนวน 1,534 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 36.68 รองลงมา คือ ด้านบริการสาธารณะ ร้องเรียน 820 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 19.61 หมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข ร้องเรียน 703 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16.81          โดยสภาพปัญหายังเป็นเรื่องเดิมๆ คือ “โฆษณา” พบว่ามีทั้งการโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทำให้เข้าใจผิดและหลงเชื่อ ผลิตภัณฑ์ไม่มีฉลากหรือไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเครื่องหมาย อย. โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ที่อวดอ้างสรรพคุณสามารถรักษาโรคได้ ซึ่งช่องทางที่พบการโฆษณา คือทางโทรทัศน์และวิทยุชุมชน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เมื่อได้ส่งถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาก็ใช้ระยะเวลายาวนานมาก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์เจ้าปัญหายังมีขายเกลื่อนท้องตลาดต่อไป            ข้างต้นนั้นคือข้อมูลเมื่อปีที่แล้วและเป็นข้อมูลการเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านการโฆษณาแบบชัดเจน ยังไม่นับรวมในเรื่องของการโฆษณาแฝงในสื่อต่างๆ ซึ่งเรายังไม่ต้องไปพูดถึงว่าเป็นของจริงหรือหลอก แต่แค่ปล่อยให้มีการโฆษณาแฝงในรายการทั่วไปก็ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะเราตั้งใจเข้ามาดูเนื้อหาในรายการ แต่กลับถูกยัดเยียดการโฆษณาขายสินค้าแบบเนียนบ้าง ไม่เนียนบ้าง ทำให้เสียอรรถรสในการรับชมรายการไปแล้ว         เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ดร.ตรี บุญเจือ” ผอ.การส่วนไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเลขานุการคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ในแง่ของการกำกับเนื้อหาการโฆษณา ตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดว่าการโฆษณาจะต้องไม่โป๊เปลือย ลามกอนาจาร เสื่อมศีลธรรมของประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง         นอกจากนี้ยังมีการกำกับระยะเวลาในการโฆษณาทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกอัดโฆษณาจนเกิดเดือดร้อนรำคาญ แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะยังไม่ครอบคลุมไปถึงขั้นการดูแลโฆษณาแฝง         เหตุผลคือ “รูปแบบของการโฆษณา” ซึ่งขณะนี้ กสทช. ยังไม่ได้มีประกาศนิยามเรื่องของการโฆษณาแฝง แต่ที่ผ่านมามีความพยายามในการพูดถึงการออกประกาศในภาพรวม แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อหลายๆ ส่วนเลยยังอยู่ในกระบวนการที่พิจารณาและศึกษาเพิ่มเติม         แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีประกาศชัดเจนเกี่ยวกับข้อห้ามการโฆษณาแฝงที่ชัดเจนออกมา แต่ถามว่ายังคงกำกับดูแลอยู่ไหม ก็ยังทำอยู่ตามที่มีอำนาจ เช่น การกำกับเนื้อหาการออกอากาศจะต้องไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่หลอกลวงผู้บริโภค มีหลายครั้งที่เขาส่งผังรายการมาเป็นว่า รายการแต่มีการพูดถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพ แล้วบอกสรรพคุณที่เกินจริงไปทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ ก็สามารถกำกับดูแลและหาตรงนี้ได้ ถ้าเชิงสังคมอาจเรียกว่าสามารถทำได้ แต่ถ้าในเชิงกฎหมายเรียกว่าก็ยังไม่ได้มีประกาศห้ามไว้         ตอนนี้พยายามตรวจสอบและนำกฎหมายที่มีอยู่มาตรวจจับกันอยู่โดยทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เฝ้าระวังทั้งเนื้อ หารูปแบบ การพูดถึงสินค้า ว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ เกินจริงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่าโฆษณาแฝงบางตัวมีการพูดถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์ที่เกินจริงไป โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงมีคำสั่งทางปกครองไปอยู่บ้าง บางรายถูกเรียกให้มาชี้แจง แจ้งเตือน เป็นต้น          ดร.ตรี บอกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องการกำกับดูแลการโฆษณาแฝงที่เคยคุยกันก่อนหน้านี้ ที่มองกันไว้ในเบื้องต้นมี 4 ลักษณะ คือ            1. Product placement หรือการนำผลิตภัณฑ์ไปวางไว้ในรายการเฉยๆ            2. Product movement คือ มีการหยิบ จับ แสดงสินค้า            3. Product experience คือมีการพูดถึงสิ้นค้านั้นๆ ในรายการ และ            4. การเขียนสคริป สร้างเรื่องราวของสินค้าตัวนั้นๆ ในรายการ         ก่อนหน้านี้ได้มีการคุยกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน พบว่าในรายการวิทยุ จะมีการเผยแพร่นิทานชีวิตตลกขำๆ นิทานสั้นๆ เขียนบทสนทนาของตัวละคร 2 ตัวที่พูดถึงผลิตภัณฑ์เข้าไปว่าจะไปซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่ไหนอย่างไร สรรพคุณเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ จริงๆ แล้ว หลายชิ้นก็แยกไม่ชัด ซึ่งก็ได้ขอให้เครือข่ายผู้บริโภคช่วยดูและศึกษาว่ามีการโฆษณาสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ มีการทำให้เดือดร้อนรำคาญหรือไม่ แต่ในกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคก็ค่อนข้างเห็นว่าเป็นการสร้างสรรค์อยู่เช่นเดียวกัน จึงมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำให้กระบวนการผู้บริโภคให้มีความรู้เท่าทันด้วยว่านี่เป็นโฆษณาแฝงในรายการ          สำหรับวิธีการป้องปรามป้องกันการโฆษณาแฝงใน 4 รูปแบบนั้น ยังไม่ได้มีการคุยกัน เพราะอย่างที่บอกว่า “เป็นเพียงประเด็นเรื่องของการทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนรำคาญใจ” เช่น มีการซูมให้เห็นเด่นชัดและค้างเป็นเวลานาน หรือว่าพูด ตอกย้ำ ซ้ำๆ บ่อยๆ ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญใจหรือไม่         อย่างไรก็ตามถ้าวันหนึ่งวันใดถึงเวลาที่ต้องลุกขึ้นมาควบคุมกันจริงๆ จากการศึกษามาในหลายๆ ประเทศ ก็มีโมเดลที่ต่างกัน เช่น อังกฤษห้ามการโฆษณาแฝงในหลายๆ รูปแบบ ห้าม Tie-in หลายประเทศก็ให้มีการขับเคลื่อนกันเอง สิงคโปร์ก็ไม่ได้มีกฎหมายที่พูดชัดเจน ส่วนมาเลเซียมีการควบคุมที่ไม่เต็มร้อย เป็นต้น         เพราะฉะนั้นตนมองว่า “ทุกอย่างไม่ได้แก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายใหม่ แต่อาจจะมีการกำกับดูแลในมิติกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว นำไปปรับใช้ ซึ่งตอนนี้ก็ใช้อยู่ แต่ว่าในเรื่องของเวลายังไม่ได้พิจารณาว่าจะต้องกำกับดูแลเพิ่มเติมหรือไม่ว่าไม่ให้เกินกี่นาที กี่วินาที”        อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้มาก หากรู้สึกว่าถูกคุกคามเอารัดเอาเปรียบสามารถร้องเรียน หรือมีข้อเสนอแนะเข้ามาที่กสทช.ได้ แล้วจะถูกพิจารณาเป็นรายกรณีไป ซึ่งจะมีขั้นตอน ส่วนระยะขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี เช่น หลังรับเรื่องร้องเรียน กสทช.จะต้องแจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว และนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาที่มีคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก่อนจะนำผลสรุปเข้าบอร์ดกสทช .         แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็ยังตอบไม่ได้ว่าเมื่อเข้าไปแล้ว กสทช. จะพิจารณาแบบไหน หรือว่าคณะอนุกรรมการจะเสนอแบบไหน บางเรื่องที่มีกฎหมายอยู่แล้วอาจพิจารณาความผิดได้เลย แต่ถ้ายังไม่มีกฎหมายที่ออกมาหรือยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของกระบวนการในการกำกับดูแล กสทช. อาจมาออกประกาศย่อยหรือออกคำนิยามเพิ่มหรือออกแนวทางมติเพิ่มเพื่อทำให้เกิดการกำกับดูแลเรื่องนี้ได้         นอกจากนี้ ตนยังมีข้อเสนอกลับไปยังประชาชน ผู้บริโภคด้วย ส่วนแรกคือ กระบวนการผู้บริโภคจะต้องมีความเข้มแข็ง จะรวมตัวกันแล้วจัดทำเป็นข้อเสนอขึ้นมาก็ได้ ส่วนที่ 2 คือเรื่องนี้ ตนยังไม่รู้ว่าจะออกมาแบบไหน แต่ก็เป็นความรับผิดชอบของทุกคน อย่างนั้นเป็นกระบวนที่เราอาจจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนกันไปก่อน ต้องมองที่กระบวนการ วิธีการกำกับดูแลกันเอง          “ดร.ตรี ย้ำในตอนท้ายว่า กสทช. พยายามกำกับดูแลในเชิงกฎหมายและจริยธรรม หากมันไม่เข้าข่ายกฎหมายอาจจะต้องมองไปที่จริยธรรม ซึ่งเป็นมิติที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการสื่อสาร เช่น สะท้อนความคิดเห็นโดยตรงไปยังสื่อนั้นๆ รายการนั้นๆ ขณะที่คนทำสื่อเองก็ต้องตระหนักเรื่องนี้เอาไว้ด้วย นี่เป็นกลไก 3 ก้อน คือ “ผู้บริโภค-คนทำสื่อ หน่วยงานที่กำกับ” ควรขับเคลื่อนไปด้วยกันและมองเห็นกันและกันสถานการณ์โฆษณาแฝงกับบทบาทภาคประชาชน         นายโสภณ หนูรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนานโยบาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า องค์กรผู้บริโภคได้มีการพัฒนาความเข้มแข็งในการทำงานด้านการจัดการโฆษณาผิดกฎหมาย โดยมีการสร้างระบบการทำงานเฝ้าระวัง โดยมุ่งเน้นเฝ้าระวังโฆษณาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ เนื่องจากพบว่ามีผู้บริโภคเสียชีวิตจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย มีการใส่สารอันตราย อีกทั้งพบว่ามีการโฆษณาหลอกลวง โอ้อวดเกินจริง โดยฐานการโฆษณามีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากในทีวีไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์         รูปแบบการทำงานเฝ้าระวังมีการพัฒนาให้เป็นระบบ ประกอบด้วยกลไกเฝ้าระวังที่มีทั้งการเฝ้าในสื่อโทรทัศน์ วิทยุและบนออนไลน์ เมื่อได้ข้อมูลจากการเฝ้าระวังจะมีการบันทึกผลในฐานข้อมูลร้องเรียน เพื่อนำไปวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เกิดขึ้น และนำผลเฝ้าระวังส่งให้แก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ  โดยใช้ทั้งช่องทางปกติ คือทำหนังสือส่งไปยังหน่วยงาน และตั้งกลุ่มไลน์ร่วมกับผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือเพื่อให้นำออกจากระบบทันที โดยมีข้อตกลงหากไม่ดำเนินการจะมีการส่งให้กับหน่วยงานเพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายต่อไป โดยปัจจุบันในการทำงานจัดการโฆษณาผิดกฎหมาย มีความร่วมมือกันขององค์กรผู้บริโภค 34 จังหวัดใน 6 ภูมิภาค ดังนี้          นอกจากนี้  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคแต่ละองค์กร ก็มีการจัดทำเพจองค์กรตนเอง เพื่อสื่อสารผลการเฝ้าระวัง และการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ  แจ้งเตือนภัยผู้บริโภค ทำให้เป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น         ในส่วนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีการจัดทำเพจเฟสบุ๊ค “ซอกแซกสื่อ” และ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”  และได้มีการนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะ ที่สำคัญ ดังนี้            1.สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ  หยิบยกกรณีร้องเรียนต่างๆ ในสื่อออนไลน์มาบอกเล่ากับผู้บริโภค เพื่อเตือนภัยและสร้างการตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคให้มีมากขึ้น เช่น ข่าวนักเรียน ม.4 ที่ลำปาง สั่งซื้ออาหารเสริมทางเน็ต แบบผงมาชงดื่มลดความอ้วน ต่อมาไตวาย ติดเชื้อเข้ากระแสเลือด ตัวบวมเสียชีวิต  ข่าว อย.เปิดฐานข้อมูลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ประชาชนตรวจสอบก่อนซื้อ เป็นต้น            2.ติดตามการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐ เช่น เผยแพร่ข้อมูล ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่อย. ได้ยกเลิกเลขสารบบ หรือมีสารประกอบอันตรายเพื่อเตือนภัยผู้บริโภค             3.แจ้งผลการทำงานเฝ้าระวังของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เช่น การจัดเวทีความร่วมมือเพื่อยกระดับการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย  การแถลงข่าวผลเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค        สำหรับภาคประชาชนหรือเครือข่ายผู้บริโภคนั้น จำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะในการตรวจสอบรูปแบบโฆษณาแฝง เพราะแม้เครือข่ายผู้บริโภคจะมีความรู้เกี่ยวกับโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หลอกลวง แต่ในเรื่องการโฆษณาแฝงยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนทำงานผู้บริโภค เนื่องจากการโฆษณาแฝง มีความหลากหลาย โดยเฉพาะปัจจุบันไม่ได้มีสปอตโทรทัศน์เท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบอื่น ยกตัวอย่าง การนำสินค้าวางในรายการต่าง ๆ หรือการให้ความรู้สอดแทรกว่าควรใช้สินค้านั้น ๆ หรือไม่  อีกทั้งการโฆษณาแฝง ยังเกี่ยวพันกับเรื่องสถาบันวิชาชีพต่าง ๆ เช่น แพทยสภาเพื่อกำกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่กระทำการแฝงโฆษณาและใช้วิชาชีพของตนเองในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดและคอยติดตามเฝ้าระวังไม่ให้เกิดลักษณะเช่นนี้อีก  รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสทช.ที่ต้องเร่งจัดทำ เช่น ให้คำนิยามหรือขอบเขตของโฆษณาแฝงที่ชัดเจน ทันยุคสมัย และมีความเป็นปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานหรือประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับโฆษณาแฝง รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูล (data bank) ที่ผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาแฝงได้         “ผมมองว่าการทำงานของ กสทช. นั้น ไม่เพียงพอ เพราะในหลายเรื่องก็ยังไม่มีการดำเนินการ เห็นได้จากการที่คณะอนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ได้มีข้อเสนอต่อการกำกับดูแลเรื่องโฆษณาแฝงในทีวีดิจิทัลหลายประการ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการ เช่น กสทช.ควรกำหนดกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลโฆษณาแฝงหรือหลักจรรยาบรรณ (code of conduct) ที่ชัดเจน รวมทั้งสานต่อ กฎ กติกา ที่เคยถูกร่างไว้ให้เป็นรูปธรรม”         เนื่องจากการทำโฆษณาแฝงไม่เพียงแต่จะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค หากแต่ยังแสดงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างช่องโทรทัศน์ที่ปฏิบัติตามกฎกับช่องโทรทัศน์ที่ละเมิดกฎเกณฑ์ กสทช.ต้องประสานความร่วมมือในการเฝ้าระวังโฆษณาแฝงในโทรทัศน์ระบบดิจิทัลอย่างมีลำดับขั้นตอน เช่น องค์กรผู้บริโภคหรือสมาคมช่วยกันสอดส่องดูแลแล้วส่งข้อมูลให้ภาครัฐดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลร่วมกัน ทั้งนี้อาจมีการศึกษารูปแบบการทำงานเพิ่มเติมจากหน่วยงานในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา พร้อมประสานความร่วมมือกับสถาบัน เช่น แพทยสภาเพื่อกำกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่กระทำการแฝงโฆษณาและใช้วิชาชีพของตนเองในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดและคอยติดตามเฝ้าระวังไม่ให้เกิดลักษณะเช่นนี้อีก รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูล (data bank) ที่ผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาแฝงได้         ซึ่งหาก กสทช.ได้พิจารณาและดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ปัญหาการโฆษณาเกินจริง หรือเอาเปรียบผู้บริโภคลดลงได้มาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ธรรมชาติปลอดภัยกว่าหรือดีกว่า...หรือ

        ผู้คนจำนวนมากมีอคติในความเชื่อว่า อาหาร ยา หรือเครื่องสำอาง ที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติย่อมดูดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค ต่างจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารสังเคราะห์ซึ่งมักถูกมองว่าไม่ปลอดภัย อคติดังกล่าวนี้เกิดเนื่องจากความไม่รู้ว่า สารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อใช้ในกิจการต่างๆ ที่สัมพันธ์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นมักต้องถูกประเมินความปลอดภัย ด้วยวิธีการที่มีจุดประสงค์ในการเผยศักยภาพของการก่อความเป็นพิษในสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีการใช้สัตว์ทดลองต่างๆ เป็นด่านสุดท้ายก่อนถึงมนุษย์ ในการนำสารสังเคราะห์มาใช้ในการผลิตเป็นสินค้านั้น สารสังเคราะห์แต่ละชนิดจะถูกประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลในสัตว์ทดลองก่อน ว่า ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคในระดับใด ตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงในการก่อมะเร็งนั้นมักใช้ระดับว่า ในล้านคนจะมีคนเสี่ยงเป็นมะเร็งเท่าใด แล้วสังคมของผู้บริโภคยอมรับในความเสี่ยงดังกล่าวได้หรือไม่          ในกรณีสารที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์หรือสัตว์ทั่วไปเคยกินมาแล้วในอดีต ส่วนใหญ่มักไม่มีการประเมินความเสี่ยงต่ออันตรายของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่เคยมีข้อมูลว่าก่ออันตรายใดๆ มาก่อน ทั้งที่ความจริงแล้วสารที่ได้จากธรรมชาติบางชนิดอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ถ้ามีการนำมาใช้ในลักษณะที่ต่างจากวิธีการที่ใช้ในเวลาก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นที่ขนาดการใช้หรือรูปแบบการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างที่มีข้อมูลเป็นวิทยาศาสตร์คือ เรื่องอันตรายในการถ่ายพยาธิด้วยสารสกัดจากผลมะเกลือ          ผลมะเกลือนั้น ชาวบ้านใช้ในการย้อมผ้าให้ได้ผ้าสีดำที่คงทนมาแต่โบราณ และได้มีการนำผลสดมาคั้นน้ำแล้วผสมกับกะทิกินทันทีเพื่อถ่ายพยาธิ แต่ปัญหาเกิดขึ้นในผู้ที่ไม่เข้าใจวิธีกินเป็นยานั้นอย่างถูกต้อง จนเกิดพิษทำให้เสี่ยงต่อการที่ตาบอดได้ โดยเมื่อคั้นน้ำไว้แล้วไม่ดื่มทันทีหรือใช้วิธีคั้นด้วยน้ำปูนใส สารสำคัญบางชนิดได้เปลี่ยนไปเป็นสารพิษในกรณีแรก  หรือมีสารบางชนิดถูกดูดซึมได้ดีกว่าปรกติเมื่อถูกสกัดออกมาในน้ำปูนใส การที่คนรุ่นเก่าผสมสารสกัดจากผลมะเกลือกับกะทินั้นเข้าใจว่า เป็นการยับยั้งไม่ให้สารที่อาจก่อพิษถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบโลหิต แต่เคลื่อนลงไปจัดการกับพยาธิในทางเดินอาหารตอนล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ         อคติในความชอบของบุคคลต่อสิ่งที่มาจากธรรมชาติเหนือสิ่งที่ประดิษฐนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา เมื่อต้องใช้สินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งหลายครั้งก่อให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรง เช่น กรณีของผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่ผสมสารสกัดอัลคาลอยด์จากสมุนไพรชื่อ หมาหวง (Ma Huang หรือ Ephedra) ซึ่งมีการจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยปราศจากการประเมินความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง         หมาหวง มีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ แก้หอบ ข้อมูลที่เป็นงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพถึงผลกระทบในคนกล่าวว่า สมุนไพรดังกล่าวมีสารอัลคาลอยด์ ephedrine ชึ่งมีผลกระทบหลายประการต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งที่สำคัญสุดคือ การกระตุ้นให้ระบบเผาผลาญในร่างกายเพิ่มขึ้นและเป็นตัวเร่งในการเผาผลาญไขมัน ผู้ประกอบการบางคนจึงหวังว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารสำคัญจากหมาหวงเป็นองค์ประกอบนั้นควรช่วยลดน้ำหนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลข้างเคียงของการใช้สมุนไพรนี้ในขนาดสูงกว่าที่แพทย์แผนจีนกำหนดได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงของอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น (ถึงขั้นอาจหัวใจวายได้) หรือมีอาการทางจิตเวช ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มี ephedrine ผสมนั้นถูกห้ามจำหน่ายโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2004 แต่ตัวสมุนไพรนั้นยังขายได้ในบางรัฐ         ด้วยเหตุที่ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจของผู้บริโภคต่อคำโฆษณาสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นไม่เท่ากัน หน่วยงานด้านการแพทย์ทางเลือกและการบูรณาการเพื่อสุขภาพหรือ The National Center for Complementary and Integrative Health (NCCIH) ซึ่งสังกัดสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health หรือ NIH) ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Health and Human Services) ได้มีบทความเรื่อง “Natural Doesn't Necessarily Mean Safer, or Better”เพื่อให้ผู้บริโภคได้สังวรณ์ถึงความแตกต่างในความหมายระหว่างคำว่า ธรรมชาติ และ ปลอดภัย         เนื้อหาของบทความนั้นกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ดีต่อมนุษย์ ธรรมชาติเอื้อให้มีการผลิตยาแอสไพริน (จากใบหลิว) และมอร์ฟีน (จากฝิ่น) ช่วยบรรเทาอาการปวด นอกจากนี้ยังมียาบำบัดโรคอื่นๆ ที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งมีประวัติการใช้ที่ยาวนาน ส่งผลถึงการปรับปรุงสุขภาพของมนุษย์ แต่ความเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติไม่ได้บ่งบอกว่า มีประสิทธิภาพและปลอดภัยเสมอไปเพราะมีปัจจัยอื่นมากำหนดด้วย          นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามศึกษาถึงประสิทธภาพของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพรบางชนิดแต่ก็พบว่า ตัวอย่างที่ได้จากท้องตลาดนั้นหลายส่วนล้มเหลวในการแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ดังที่โฆษณา เช่นการศึกษาเกี่ยวกับสมุนไพรชื่อ เอ็กไคนาเซีย (Echinacea) ซึ่งไม่พบหลักฐานว่า มีประโยชน์ในการบำบัดไข้หวัดดังที่โฆษณา แต่กลับมีผลข้างเคียงบางอย่างในผู้บริโภคบางคน เช่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง เจ็บคอ ปากแห้ง ปวดศีรษะ ลิ้นชา วิงเวียน หลับยาก สับสน ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ หรือแม้กระทั่งก่อการอักเสบของตับด้วย อีกตัวอย่างคือ การศึกษาผลของใบแปะก๊วยที่มีอาสาสมัครสูงอายุกว่า 3,000 คน เข้าร่วมแล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีใบแปะก๊วยเป็นองค์ประกอบนั้นไม่ช่วยป้องกันหรือชะลอภาวะสมองเสื่อม         หลายคนคิดว่า ยา“ธรรมชาติ” ไม่ได้มีผลข้างเคียงมากเหมือนยาสังเคราะห์ ซึ่งหลายครั้งแสดงความเป็นพิษได้ และอาจรวมถึงการมีสารก่อมะเร็งปนเปื้อนเนื่องจากการผลิตที่ควบคุมไม่ดี แต่แนวความคิดดังกล่าวนั้นไม่จริงเสมอไป ตัวอย่างเช่น  คาวา (kava) ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองในหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ที่มีสารสำคัญคือ “คาวาแลคโตน (kavalactone)” ซึ่งมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อและสงบระงับ จึงมีการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อลดความวิตกกังวล แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า สารธรรมชาติดังกล่าวมีผลข้างเคียงหลายประการและที่น่ากังวลคือ มีความเป็นพิษต่อตับ อีกทั้งยังมีปฏิกิริยากับยาอื่นหลายชนิด ดังนั้นก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากคาวาจึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง         มีบทความเรื่อง Adverse Events Reported to the US Food and Drug Administration for Cosmetics and Personal Care Products ในวารสาร JAMA Internal Medicine เมื่อปี 2017 ให้ข้อมูลว่า การดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเครื่องสำอาง ซึ่งมักผสมองค์ประกอบธรรมชาตินั้น ควรได้รับการปรับปรุง เพราะสินค้ากลุ่มนี้ขาดการประเมินเกี่ยวกับความปลอดภัยก่อนการออกสู่ตลาด ผู้ผลิตเครื่องสำอางนั้นไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อมูลการเกิดสิ่งไม่พึงประสงค์เนื่องจากสินค้าไปยัง FDA และ CFSAN (The Center for Food Safety and Applied Nutrition ซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้องและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนเกี่ยวกับ อาหาร เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ต่างจากเครื่องมือแพทย์ ยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนั้นโอกาสเกิดปัญหาด้านสุขภาพที่อาจร้ายแรงเนื่องจากเครื่องสำอางจึงเกิดได้บ่อยครั้ง ดังนั้นวุฒิสมาชิก Diane Feinstein ของรัฐแคลิฟอร์เนียจึงได้เสนอ Personal Care Products Safety Act (PCPSA) สู่วุฒิสภาในปี 2017         ความจริงกฏหมายในลักษณะเดียวกันเคยมีวุฒิสมาชิกท่านอื่นเสนอแล้วในปี 2011 เพื่อให้อำนาจ FDA ในการสั่งให้เจ้าของสินค้าเรียกคืนเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยและต้องรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นต่อผู้รับผิดชอบ พร้อมทั้งต้องทำการทบทวนความปลอดภัยขององค์ประกอบในเครื่องสำอาง อย่างไรก็ดีร่างกฎหมายนี้ไม่ได้กำหนดให้เพิ่มงบประมาณในการทดสอบความปลอดภัยขององค์ประกอบในเครื่องสำอางแก่ National Toxicology Program ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการทดสอบความปลอดภัยของสารเคมีที่ผู้บริโภคต้องสัมผัส อีกทั้งในปี 2019 ร่างกฏหมายดังกล่าวก็ยังวนเวียนเป็นสัมภเวสีไม่ได้คลอดออกมาบังคับใช้ดังปรากฏในข่าว The Introduction of the Personal Care Products Safety Act 2019 in the United States Senate ซึ่งมีข้อมูลที่ท่านที่สนใจสามารถอ่านได้ที่ www.modernsoapmaking.com/personal-care-products-safety-act-2019

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 หุ่นจะดี ขอให้มีเงิน

โฆษณาขายผลิตภัณฑ์แปลกๆ ตามโซเชียลมีเดีย มันผุดเป็นดอกเห็ด หมุนเวียนเปลี่ยนไปจนตามไล่จับไม่ทัน ในยุคแรกๆ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักจะโฆษณาขายตามเว็บไซต์ต่างๆ ต่อมาสื่อโซเชียลมีหลากหลายชนิดมากขึ้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงเปลี่ยนช่องทางการขายหันมาทางเฟซบุ๊คขาย พอเจ้าหน้าที่ไล่ตรวจเช็คเฟซบุ๊ค ก็ย้ายฐานการโฆษณามายังไลน์ และล่าสุดย้ายไปขายในอินสตราแกรมกันครึกโครม เล่นเอาเจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบ ไล่แทบไม่ทัน พอจะดำเนินการบางรายก็ปิดเฟซ ปิดไลน์ ปิดอินสตราแกรมหนี หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มาเปิดใหม่อีก และถ้าเราไม่ได้อยู่ในกลุ่มแวดวงของพวกเขา เราก็จะไม่รู้ข้อมูลพวกนี้เลย เพราะทุกวันนี้มันมีกลุ่มปิด กลุ่มเฉพาะ ทางสื่อโซเชียลเหล่านี้มากมาย         ผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับกลุ่มหนุ่มสาวที่มีเงิน สนใจเข้าฟิตเนสออกกำลังกาย เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ผลิตภัณฑ์ที่นำมาขายให้คนกลุ่มนี้ จึงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ราคาถูกๆ แต่มักจะขายในราคาแพง และมักจะโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งแทบทุกชนิดที่เจอ จะไม่มีการขออนุญาตในประเทศไทยตามกฎหมาย แต่ผู้ขายจะอ้างว่าตนหิ้วมาเองจากต่างประเทศ         ล่าสุดผมได้รับแจ้งว่า มีผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งสำหรับผู้ต้องการลดน้ำหนัก โดยผู้ขายบอกว่าถ้าจะใช้ต้องซื้อเป็นเซ็ต ซึ่งประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ชนิดแคปซูลสามชนิดสามขวด อ้างสรรพคุณว่าชนิดแรกจะเพิ่มการเผาผลาญไขมันที่เรารับประทานเข้าไป ชนิดที่สองจะไปบล๊อคการดูดซึมแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตจากอาหารที่เรารับประทาน และชนิดที่สามจะไปบล๊อคความหิวของเรา         ผู้ขายอ้างว่า สามารถลดน้ำหนัก และลดไขมันส่วนเกินที่เกาะตามส่วนต่างๆ ได้ ทั้ง ต้นแขน ต้นขา หน้าท้อง หรือส่วนต่างๆ ทั้งไขมันเก่าและใหม่  เหมาะกับคนที่หิวบ่อย อยากปรับกระเพาะไห้เล็กลง คนที่กินจุบจิบ อยากกินอาหารเยอะๆ เหมาะสำหรับคนที่จะไปต่างประเทศ ต่างจังหวัด ประเภททริปตะลุยกินโดยเฉพาะ  ตลอดจนยังเหมาะกับคนที่ออกกำลังกายและอยากให้น้ำหนักลงเร็ว หรือคนที่ชอบกินของมันๆ ของหวาน หรือกินแป้งเยอะๆ พิซซ่า ชาบู  ของทอด ฯลฯ มีการย้ำว่ารับรองลดไขมันได้ 5 กิโลกรัมขึ้นไป  ราคาทั้งเซ็ต  4,790 บาท ถ้าแยกซื้อเป็นชนิดๆ ก็ตกชนิดละเกือบสองพันบาท         ตามไปดูที่โฆษณา ก็เหมือนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆที่ โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง แจ้งว่าสกัดจากธรรมชาติล้วนๆ ทั้งสารสกัดจากถั่วขาว  และสารสกัดจากผลส้มแขก โดยอ้างว่าจะสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ย่อยแป้งได้ถึงกว่า 50% และยับยั้งการสังเคราะห์กรดไขมัน ร่างกายเปลี่ยนน้ำตาลเป็นไขมันน้อยลง ลดความอยากอาหาร ไม่รู้สึกหิว และเร่งการสลายไขมัน และยังแนะนำให้ดื่มน้ำเย็นเฉียบตามหลังรับประทานผลิตภัณฑ์นี้ เพราะจะยิ่งช่วยให้ร่างกายนำพลังงานมาปรับเพิ่มอุณหภูมิน้ำ ให้เท่าอุณหภูมิในร่างกาย         ถ้าจะให้สรุปว่าผลิตภัณฑ์นี้ได้ผลตามที่อวดอ้างหรือไม่ ขอยืนยันเลยว่ายังไม่มีผลการวิจัยที่เป็นทางการออกมายืนยัน แม้ผู้ขายจะอ้างว่านำหิ้วเข้ามาจากประเทศอังกฤษ แต่การนำเข้ามาโดยไม่มาขออนุญาต จึงทำให้ไม่ได้ถูกตรวจสอบว่า การโฆษณาสรรพคุณตามที่อ้างมีความเป็นไปได้จริงหรือไม่ ฟันธงได้เลยว่า ผลิตภัณฑ์นี้ ผิดกฎหมาย และโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หนำซ้ำยังเสียเงินโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ตะละแม่หน้าขาว กับหม่องหายเมื่อย

        เรื่องสุขภาพแข็งแรงและความสวยงาม ไม่ว่าชนชาติไหนในโลกคงไม่ต่างกัน ในขณะที่ในประเทศไทย เรายังไล่ตามกวดจับผลิตภัณฑ์สุขภาพหลายชนิด ที่ลักลอบผลิตหรือใส่สารอันตรายกันอย่างแทบไม่หมดสิ้น กลับพบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ไม่ได้มีเฉพาะของไทยๆ ที่ไทยทำไทยใช้เท่านั้น         ผมได้ข้อมูลจากเครือข่ายภาคประชาสังคม กลุ่มผู้ป่วยเขตกรุงเทพมหานคร พี่เขาเล่าให้ฟังว่า ที่บ้านมีคนงานต่างชาติชาวพม่า เธอเป็นคนรักสวยรักงาม หลังๆ แอบสังเกตว่าหน้าเธอขาวขึ้นแบบผิดหูผิดตา ซักไซร้ไล่เลียงเลยทราบว่าเธอใช้ครีมทาหน้าขาว ที่ซื้อมาจากเพื่อนชาวพม่าที่มาทำงานใกล้ๆ บ้านกัน ด้วยความเป็นห่วงเพราะข่าวครีมหน้าขาวอันตรายเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ เลยไปขอดูครีมที่เธอใช้กัน ปรากฎว่าครีมที่ใช้เป็นครีมที่ไม่มีฉลากภาษาไทย แต่แสดงเป็นภาษาพม่าทั้งหมด จากการสอบถามได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พวกเธอสั่งซื้อจากเพื่อนของเธอ ซึ่งซื้อต่อๆ กันมาจากผู้ขายผ่านทางโซเชียล เวลาสั่งก็จะสั่งทางไลน์ แว่วๆ ว่าผลิตในประเทศนี้แหละ แต่ไม่รู้ว่าคนผลิตคือโรงงานในประเทศ ผลิตแล้วติดฉลากภาษาพม่า เพื่อจำหน่ายในกลุ่มพวกเธอ หรือเป็นคนชาติเดียวกับเธอแอบลักลอบทำมาขายกันเอง         สาวใช้พม่ารายนี้ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ไม่ได้มีแค่ครีมหน้าขาวนะ ยาแก้ปวดเมื่อยสำหรับแรงงานชาวพม่าก็มีจำหน่าย จัดเป็นชุดๆ มักขายให้พวกผู้ชาย ผู้หญิง ที่ใช้แรงงานหนักๆ หรือทำงานจนปวดเมื่อย กินแล้วได้ผลชะงัด เวลาซื้อก็จะสั่งต่อๆ กัน เขาก็จะส่งมาให้ ส่วนรายละเอียดบนฉลากก็เป็นภาษาพม่าเช่นเคย         พี่จากเครือข่ายภาคประชาสังคมค่อนข้างเป็นห่วง เพราะไม่ว่าจะเป็นใคร ชาติไหน ก็ไม่น่าจะต้องมาเสี่ยงอันตรายจากผลิตภัณฑ์พวกนี้ และยังเกรงว่าหากนิยมกันมากๆ อาจแพร่ระบาดมายังคนไทยที่ชอบลองของใหม่ๆ อีกด้วย ผมแนะนำเธอว่าถ้าเป็นไปได้ อยากให้ช่วยขอข้อมูลเพิ่มเติมว่าซื้อจากที่ไหน หรือถ้ามีตัวอย่างผลิตภัณฑ์พวกนี้ ขอให้นำมาให้ดูด้วย จะได้ช่วยกันสืบหาต้นตอแหล่งผลิต ว่าเป็นของที่ลักลอบผลิตกันในประเทศ หรือลักลอบนำเข้ามาทางชายแดนกันแน่         ตามกฎหมายอาหาร ยา เครื่องสำอาง ทุกชนิดที่ผลิต จำหน่าย หรือนำสั่งเข้ามาในประเทศ จะต้องแสดงฉลากเป็นภาษาไทย และต้องขออนุญาตให้ถูกต้องด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่สาวพม่านำมาใช้ หรือยาที่แรงงานต่างๆ นำมาใช้ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย และยังมีความเสี่ยงเพราะไม่ทราบว่ามันมีส่วนผสมของอะไร และอันตรายหรือไม่ แต่ที่น่าสงสัยคือ ผลหลังจากการใช้มันเกิดขึ้นเร็วมาก ทั้งหน้าขาว หรือหายปวดเมื่อย จึงมีแนวโน้มว่าน่าจะผสมสารอันตราย         ฝากผู้อ่านทุกท่านคอยสอดส่องด้วยนะครับ หากมีข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พวกนี้ ขอให้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เลยครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2562

เด็กไทยกินเค็ม 5 เท่า        พ.อ.นพ.อดิสรณ์ ลำเพาพงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และแพทย์โรคไตในเด็ก กล่าวว่า คนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี ที่น่าห่วงคือ พฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทย ซึ่งกินเค็มเกินปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน เกือบ 2-5 เท่า โดยปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่เด็กรับประทานอยู่ที่ 3,194 มิลลิกรัม/วัน ขณะที่ปริมาณโซเดียมที่เด็กวัยเรียน อายุ 6-8 ปี ควรได้รับอยู่ที่ 325-950 มิลลิกรัม/วัน, เด็กอายุ 9-12 ปี อยู่ที่ 400 - 1,175 มิลลิกรัม/วัน และเด็กอายุ 13-15 ปี อยู่ที่ 500-1,500 มิลลิกรัม/วัน        ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวว่า ผู้ปกครองมักให้เด็กกินเค็มโดยไม่รู้ตัว ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและขนมกรุบกรอบที่พบว่ามีปริมาณโซเดียมสูง เช่น โจ๊กสำเร็จรูป 1 ถ้วย ซึ่งมีโซเดียมสูงถึง 1,269 มิลลิกรัม, ปลาเส้น มีโซเดียม 666 มิลลิกรัม/ซอง, สาหร่าย 304 มิลลิกรัม/ซอง หรือ มันฝรั่งทอด 191 มิลลิกรัม/ซอง การบริโภคอาหารเหล่านี้เพียง 1 ซอง ปริมาณโซเดียมก็เกินความต้องการต่อวันแล้ว หากเด็กเคยชินกับการกินเค็มก็มีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ติดเค็ม และส่งผลต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ และไต ตามมา        ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตทั่วโลกกว่า 850 ล้านคน และเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 6        เครดิตภาพ : https://teen.mthai.com/variety/165892.htmlเตือนผู้ปกครอง ระวังคลิปการ์ตูน สอนเด็กทำร้ายตัวเอง        อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า พบคลิปการ์ตูนสำหรับเด็กบนยูทูป (YouTube) ถูกดัดแปลงสอดแทรกเนื้อหาที่มีความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายตนเอง โดยจงใจทำขึ้นเพื่อมุ่งเป้าโจมตีเด็กที่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้ทำตามแบบอย่างในคลิป        นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาความรุนแรงอื่นๆ ปะปนอยู่ในคลิปด้วย เช่น ความรุนแรงในโรงเรียน และการค้ามนุษย์ โดยผู้ไม่หวังดีใช้ฉากในการ์ตูนเพื่ออำพรางการตรวจจับของระบบรักษาความปลอดภัยบนเว็บ ซึ่งเมื่อผู้ปกครองตรวจสอบแบบผิวเผินอาจไม่พบความผิดปกติ เพราะเนื้อหาอันตรายมันถูกสอดแทรกอยู่ระหว่างกลางของเนื้อเรื่อง ผู้ปกครองจึงควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กใช้สื่อเพียงลำพัง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และมีการควบคุมเวลาและเนื้อหาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งหากเกิดกรณีตามเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323มติกก.สถานพยาบาลย้ำผู้ป่วยซื้อยานอก รพ.ได้        18 ก.พ. นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวว่า                1) ยาในสถานพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของบริการทางการแพทย์ ตามแผนการรักษาของแพทย์ ซึ่งแพทย์ต้องรับผิดชอบต่อผลการรักษา                2) เรื่องการติดป้ายประกาศแจ้งคนไข้ว่าสามารถขอใบสั่งยาเพื่อนำไปซื้อจากร้านขายยาได้ เห็นว่าเป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้วที่สามารถทำได้ แต่ไม่เห็นด้วยในการติดป้าย เพราะการรักษาในรพ. เป็นลักษณะทีมสหวิชาชีพที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างแพทย์กับเภสัชกร รวมถึงคุณภาพของยา ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของการรักษาผู้ป่วยตามแผนการรักษา แต่ก็ย้ำว่ามติ 2 ข้อนี้เป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการสถานพยาบาลเท่านั้น ยังไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำตาม แต่จากนี้จะนำเรียนรมว.สาธารณสุขเพื่อทราบ เพื่อส่งมติดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาออกมาตรการในการควบคุมราคาบริการทางการแพทย์ ซึ่งตนยังไม่ทราบว่าอนุกรรมการฯ จะประชุมเมื่อไหร่ เพราะต้องรอความเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ อีก เช่น ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจประกันชีวิต เป็นต้น เพราะผู้ป่วยร้อยละ 60-70 ของรพ.เอกชนเป็นผู้ที่มีประกันเหล่านี้        เมื่อถามว่าสรุปผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาลเอกชนสามารถนำใบสั่งยามาซื้อจากร้านขายยาข้างนอกได้หรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เดิมกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อจากร้านขายยาข้างนอกอยู่แล้ว อย่างยาบางตัวที่ไม่มีในรพ. หรือยา รพ.หมดสต๊อก หรือกรณีผู้ป่วยมารพ.รัฐแล้วคิวยาวก็ขอใบเสร็จไปซื้อยาจากร้านข้างนอกได้ เป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่ยาบางตัวไม่สามารถซื้อได้ แล้วแต่กรณีพบร้านค้าออนไลน์ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกว่า 700 ราย         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เปิดเผยผลการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม ซึ่งพบสินค้าที่ถูกเพิกถอนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) 29 รายการ ยังมีวางขายอยู่ นอกจากนี้ยังมีการอ้างเลข อย.ปลอม ไม่แสดงฉลากภาษาไทย หรือข้อมูลผู้ผลิต        ทั้งนี้ยังพบว่าดาราและเน็ตไอดอลมีส่วนในการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. หรือมักโฆษณาว่าผ่านมาตรฐาน อย. แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการจดแจ้งกับทาง อย.เท่านั้น จึงขอให้ดาราและเน็ตไอดอลตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนรับงานโฆษณา        โดยเครือข่ายผู้บริโภค มีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ปัญหา เช่น ให้ดำเนินคดีผู้ค้ารายย่อยที่จำหน่ายหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง การสร้างระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพระหว่างห้างออนไลน์กับ อย. เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ รวมถึงการให้รัฐจัดเก็บภาษีการขายสินค้าออนไลน์ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ท้อง 3 เดือนแรก และ 6 เดือนขึ้นไปไม่ควรนวด             ข่าวหญิงท้อง 6 เดือน ช็อกคาร้านนวดทำให้แท้งลูกส่วนตัวเองมีอาการเจ้าหญิงนิทรานั้น รองโฆษก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์นั้นสามารถนวดได้เพียงแต่ต้องดูอายุครรภ์และนวดกับหมอนวดผู้ชำนาญ        โดยหากอายุครรภ์ตั้งแต่เริ่มจนถึง 3 เดือน ไม่ควรนวด เพราะการนวดจะไปกระตุ้นให้มดลูกรัดตัว เสี่ยงแท้งลูกได้ อีกช่วงที่ต้องระวังคือ อายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป การนวดอาจทำให้มดลูกไปกดเส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดงในท้อง ในลำไส้ อาจเกิดภาวะช็อกหมดสติ ไม่ควรไปนวดตามร้านนวดทั่วไป หากเลือกที่จะนวดเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย ควรเลือกใช้บริการกับหมอแผนไทยที่มีการร่ำเรียนมา 800 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพราะการนวดเป็นเรื่องที่ผู้ให้บริการต้องผ่านการอบรม และสอบจนผ่านการรับรองจากทางราชการ รถจดทะเบียนใหม่ใน กทม. สูงขึ้นทุกปีสวนทางวิกฤตฝุ่นจิ๋ว        ไม่น่าแปลกใจที่ค่าฝุ่นพิษใน กทม. จะเพิ่มขึ้น เมื่อสถิติรถจดทะเบียนใหม่ใน กทม. สูงขึ้นทุกปี จากการเปิดเผยสถิติปริมาณรถยนต์ที่จดทะเบียนในปี 2551 - 2560 โดยสำนักงานจราจรและขนส่ง กทม. พบว่า รถยนต์ส่วนบุคคลมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 8% ต่อปี ส่วนรถบรรทุกส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 3.5% ต่อปี โดยการที่กรุงเทพฯ มีปริมาณรถส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้ความเร็วเฉลี่ยของพื้นที่ชั้นนอกลดลง 22% พื้นที่ชั้นกลางลดลง 17% และพื้นที่ชั้นในลดลง 11%         ขณะที่กรมการขนส่งทางบก รายงานข้อมูลจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมในกรุงเทพฯ ณ วันที่ 31 มกราคม 2562 พบว่า มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ทั้งหมด 4,529,691 คัน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล 1,378,623 คัน รวม 5,908,314 ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 2.2 ล้านคัน หรือ 38.73% เป็นรถที่ใช้น้ำมันดีเซล        ทั้งนี้การแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก จำเป็นต้องแก้ปัญหาจราจรติดขัดเพื่อลดมลพิษทางอากาศ ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งประกอบไปด้วย PM 2.5 มากกว่า 90% และควรเพิ่มการใช้งานระบบขนส่งมวลชน และรถโดยสารประจำทาง ขณะเดียวกันให้จำกัดรถยนต์ในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ส่งเสียงถึง คกก.วัตถุอันตราย ทบทวนลงมติแบน 'พาราควอต'        มูลนิธิชีววิถี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติทบทวนการใช้พาราควอต ในรอบการประชุมที่จะมีการพิจารณาคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม สามารถให้ประชาชนทราบได้ว่าใครตัดสินอย่างไร  และเรียกร้องให้กรรมการที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจสารเคมีลาออก        นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงปัญหาพาราควอตอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1. เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันสูง 2. ก่อให้เกิดโรคพาร์กินสัน และ 3. มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว         ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) แสดงความเห็นว่า ควรประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีก่อน จนกว่าผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จะสามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าสารเคมีเหล่านี้ปลอดภัย ไม่เป็นพิษ และไม่ทำให้คนป่วยหรือเสียชีวิตดับฝันคอนโดให้เช่ารายวัน จับปรับ “เจ้าของห้อง-นิติบุคคลฯ”        “ศาลจังหวัดหัวหินถึงเพชรบุรี” ตัดสินคดีตัวอย่างเชือดเจ้าของห้องชุดปล่อยเช่ารายวันผิด กม.โรงแรม จำคุก 6 เดือน ปรับ 5 พัน-1 หมื่น          จากภาวะบูมของตลาดคอนโดมิเนียมนำไปสู่การตลาดแนวใหม่ที่หันไปเน้นลูกค้าซื้อลงทุนปล่อยเช่ามากขึ้น โดยปกติเน้นการปล่อยเช่าแบบรายเดือน อย่างไรก็ตาม ช่วงไม่ต่ำกว่า 4-5 ปีที่ผ่านมาเริ่มหันมาเน้นปล่อยห้องชุดเช่ารายวันมากขึ้น กลายเป็นคู่แข่งของโรงแรมและเป็นการทำผิดกฎหมายโรงแรมโดยตรง        ล่าสุด การนำห้องชุดมาปล่อยเช่ารายวันได้มีคำพิพากษาถูกลงโทษหนักทั้งปรับและจำคุก คำพิพากษาของศาลจังหวัดหัวหิน คดีดำเลขที่ 50/2561 คดีแดงเลขที่ 59/2561 วันพิพากษา 5 มกราคม 2561 จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา 4, 15, 59 รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งตาม ปอ.ม.78 ปรับ 5,000 บาท และปรับรายวัน วันละ 500 บาท เป็นเวลา 20 วัน เป็นเงิน 10,000 บาทกับคดีดำเลขที่ 107/2561 คดีแดงเลขที่ 106/2561 วันพิพากษา 16 มกราคม 2561 จำเลยมีความผิดตามฟ้อง รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงปรับ 5,000 บาท ปรับรายวัน วันละ 100 บาท เป็นเวลา 81 วัน เป็นเงิน 8,100 บาท        อีกตัวอย่างการนำห้องชุดปล่อยเช่ารายวันและรายสัปดาห์ ทำเลชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยศาลจังหวัดเพชรบุรี คดีดำเลขที่ 277/2561 คดีแดงเลขที่ 900/2561 มีการนำห้องชุดปล่อยเช่ารายวัน ค่าเช่าวันละ 4,990 บาท ผิด พ.ร.บ.โรงแรมฯ พิพากษาจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท ปรับอีกวันละ 1,000 บาท        “กรณีนี้เป็นการป้องปรามไปยังกรรมการนิติบุคคลด้วย เพราะเริ่มมีตัวอย่างจากหลายนิติฯ ที่มีตัวแทนกลุ่มผู้ซื้อลงทุนปล่อยเช่า ส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการนิติฯ และพยายามออกระเบียบให้ปล่อยเช่ารายวันได้ ที่หนักข้อสุดน่าจะเป็นตัวแทนลูกค้าจีน ซึ่งซื้อในโควตาต่างชาติ 49% แล้วส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการ ดังนั้น คำพิพากษาลงโทษเจ้าของห้องชุดมีผลผูกพันกับนิติบุคคลในฐานะรับฝากเช่ารายวันที่จะทำผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน” ร้องเรียนปี 61 พบปัญหาโฆษณาเกินจริงมากที่สุด        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยตัวเลขการให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนผู้บริโภค จากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ทั่วประเทศ ประจำปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,545 เรื่อง โดยพบว่า เรื่องร้องเรียนด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ มากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 1,505 ราย ส่วนอันดับสอง ด้านบริการสาธารณะ 930 ราย และอันดับสาม ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข 705 ราย        โดยเรื่องร้องเรียนด้านอาหารฯ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโฆษณาหลอกลวงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายซึ่งเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค และทางช่องเคเบิ้ลทีวี รวมไปถึงวิทยุท้องถิ่น ส่วนหมวดบริการสาธารณะ พบปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งทางบกได้รับการร้องเรียนมากที่สุด โดยเป็นเรื่องการชดเชยเยียวยาจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ และการร้องเรียนพฤติกรรมพนักงานผู้ให้บริการ เช่น พูดจาไม่สุภาพ สูบบุหรี่ขณะขับรถ ขับรถหวาดเสียว        สำหรับหมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข ส่วนใหญ่เป็นการสอบถามเรื่องการย้ายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิบัตรทอง ซึ่งนอกจากการไม่รู้สิทธิแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ อีก เช่น การไม่ได้รับความสะดวกตามสมควรหรือไม่ได้รับการปฏิบัติตามสิทธิ การได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล และการถูกเรียกเก็บค่าบริการจากการใช้สิทธิกองทุนฉุกเฉิน

อ่านเพิ่มเติม >