ฉบับที่ 276 ไซบูทรามีน คืนชีพ

        ข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่จังหวัดอ่างทอง เมื่อกลางปี 2562 ผลชันสูตรพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผลการตรวจเลือดพบว่ามียา 4 ชนิด (ที่มีการผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนักที่ผู้เสียชีวิตรับประทาน) ได้แก่ ฟูลออกซิทีน (Fluoxetine) บิซาโคดิล (bisacodyl) ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (hydrochlorothaiazide) และ ไซบูทรามีน (cybutramine) ยาทั้ง 4 ชนิด ออกฤทธิ์ร่วมและเสริมกันทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเสียชีวิต นำไปสู่การปราบปรามการแอบลักลอบปลอมปน “ไซบูทรามีน” ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคืออำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพราะมีข้อมูลว่าเป็นต้นทางการลักลอบนำเข้าสารไซบูทรามีนจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการตรวจค้นและพบวัตถุดิบสารไซบูทรามีนและการปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักจำนวนมากหลายยี่ห้อ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว         ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2566 เครือข่ายเฝ้าระวังในจังหวัดเชียงราย รายงานว่าพบการกลับมาจำหน่ายและพบการบริโภคผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “Lishou” และ “Bashi”ในหลายพื้นที่ โดยผลิตภัณฑ์ที่พบใครั้งล่าสุดนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้เคยตรวจพบการปลอมปนสารไซบูทรามีน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เคยดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายธุรกิจการลักลอบผลิตยาลดความอ้วนไม่ได้หมดไป ยังคงคืนชีพดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การกลับมาระบาดครั้งนี้ยังพบว่ามีการโฆษณาขายในตลาดออนไลน์อย่างเปิดเผย        ขอเตือนภัยมายังผู้บริโภคให้สังเกตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทานอยู่ว่าได้ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หรือแม้จะมีเลข อย. หากรับประทานไปแล้วน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วหรือผอมเร็ว ให้ระวังว่าอาจมีสารไซบูทรามีนปลอมปนควรหยุดรับประทาน แล้วให้ส่งผลิตภัณฑ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านตรวจสอบและดำเนินการต่อไปเพื่อความปลอดภัย         ไซบูทรามีนคืออะไร : ไซบูทรามีนคือสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (สมอง) ที่ทำให้ไม่รู้สึกหิว อิ่มเร็วและกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย จึงมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยนำมาลักลอบปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก แต่เนื่องจากสารนี้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับและท้องผูก ที่สำคัญมีรายงานผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต ประเทศไทยจึงจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และยกเลิกทะเบียนตำรับยาที่มีสารนี้ไปแล้วตั้งแต่ ปี 2553

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม

        ย้อนไปกว่า 60 ปีแล้วที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มหรือน้ำยาปรับผ้านุ่ม (fabric softener) กันในครัวเรือน เหตุผลหนึ่งคือเพื่อลดปัญหาผ้าแข็งหลังซักด้วยผงซักฟอก โดยมีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ 2 ส่วนหลักคือ ส่วนที่ทำให้ผ้านุ่ม ได้แก่ กรดไขมันที่ได้จากสัตว์ เมื่อสัมผัสผิวผ้าจะทำให้เกิดความนุ่ม ไม่แข็ง และสารที่ให้กลิ่นหอมติดทนนาน ปัจจุบันน้ำยาปรับผ้านุ่มที่จำหน่ายในประเทศไทยโดยทั่วไปจะเป็นชนิดน้ำที่ใช้ใส่ผสมในน้ำล้างสุดท้ายที่ซักผ้า มีทั้งสูตรมาตรฐานและสูตรเข้มข้น จัดเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ยอดนิยม         แม้ก่อนหน้านี้จะมีข้อมูลส่งต่อกันถึงผลกระทบต่อสุขภาพหลังการใช้ แต่ทาง อย.ก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่าถึงน้ำยาปรับผ้านุ่มมีส่วนทำให้เกิดสารตกค้างในผ้า แต่มีปริมาณที่น้อยมาก การสวมใส่เสื้อผ้าบนผิวหนังจึงไม่มีสารที่ซึมเข้าสู่เลือดจนส่งผลต่อฮอร์โมนได้ ยกเว้นคนที่มีอาการแพ้ เกิดผื่น         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคบางคนยังมีคำถามคาใจว่า เราจำเป็นต้องใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มจริงๆ หรือเป็นอิทธิพลของสื่อที่กระตุ้นให้ต้องซื้อใช้กันแน่ ?         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสิรมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม (สูตรมาตรฐาน) จำนวน 10 ตัวอย่าง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 มาสำรวจฉลากเพื่อปรียบเทียบความคุ้มค่า และข้อความที่แสดงถึงความรับผิดชอบและความปลอดภัยต่อผู้ใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้พิจารณาว่าจะเลือกซื้อหรือไม่ซื้อต่อไป ผลสำรวจฉลาก         ·     จากผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มทั้งหมด 10 ตัวอย่าง มีปริมาณสุทธิตั้งแต่ 450 – 650 มิลลิลิตร และมีราคาขายปลีกแบบถุงชนิดเติมตั้งแต่ถุงละ 10 – 59 บาท         ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่า แพงสุด = 0.09 บาท คือยี่ห้อแมกซ่า กลิ่นฟลาวเวอรี่ ซอฟท์ ถูกสุด = 0.02 บาท ได้แก่ ยี่ห้อโปร กลิ่นการ์เดน สวีท ยี่ห้อแฮปปี้ ไพรซ์ กลิ่นคิส ออฟ ฟลาวเวอร์ และยี่ห้อเฟรช แอนด์ ซอฟท์ กลิ่นเลิฟลี่ คิส        ·     เมื่อดูวันผลิต-วันหมดอายุของผลิตภัณฑ์             Ø มีอายุเก็บไว้ได้นานตั้งแต่ 1- 3 ปี นับจากวันผลิต            Ø มี 2 ตัวอย่างที่ระบุเฉพาะวันผลิต คือยี่ห้อแมกซ่า กลิ่นฟลาวเวอรี่ ซอฟท์ และยี่ห้อแฮปปี้ ไพรซ์ กลิ่นคิส ออฟ ฟลาวเวอร์         ·     เมื่อพิจารณาข้อความที่แสดงถึงความรับผิดชอบและความปลอดภัยต่อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์            Ø มี 2 ตัวอย่าง ไม่ระบุเบอร์โทร.ติดต่อศูนย์บริการลูกค้า ได้แก่ ยี่ห้อไฟน์ไลน์ สูตรพิงค์ บลอสซั่ม และยี่ห้อสมาร์ท กลิ่นเลิฟลี่ พิงค์            Ø มี 2 ตัวอย่าง ไม่ระบุคำเตือนเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้ ได้แก่ ยี่ห้อแมกซ่า กลิ่นฟลาวเวอรี่ ซอฟท์ และยี่ห้อแฮปปี้ ไพรซ์ กลิ่นคิส ออฟ ฟลาวเวอร์ ข้อสังเกต        ·     ทุกตัวอย่างผลิตโดยบริษัทในประเทศไทย เป็นสูตรมาตรฐาน ที่ระบุคุณสมบัติไว้คล้ายๆ กัน คือ เมื่อใช้แล้วจะช่วยให้เสื้อผ้านุ่มฟู หอมนาน ถนอมสีผ้า ใส่สบายไม่ลีบติดตัว รีดเรียบง่าย และลดกลิ่นอับ         ·     ส่วนใหญ่มีคำเตือนหรือคำแนะนำเรื่องความปลอดภัยว่า เก็บให้พ้นมือเด็ก ห้ามรับประทาน ระวังเข้าตา หากเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที สำหรับผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายควรสวมถุงมือยางขณะใช้         ·     มี 2 ตัวอย่างที่มีรูปแม่และเด็กอยู่บนบรรจุภัณฑ์ โดยไม่มีข้อความระบุไว้ชัดเจน เช่น ซักเสื้อผ้าเด็กได้ไร้สารตกค้าง เป็นต้น จึงอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับเสื้อผ้าเด็ก  ฉลาดซื้อแนะ        ·     ก่อนใช้ ควรอ่านคำเตือนต่างๆ วิธีใช้และปริมาณที่เหมาะสมของแต่ละยี่ห้อที่แนะนำไว้บนฉลาก        ·     หากใช้ครั้งแรก ควรซื้อแบบซองเล็กๆ มาทดลองใช้ก่อนว่าเป็นกลิ่นหอมที่ชอบ ใช้แล้วตอบโจทย์ และไม่เกิดอาการแพ้ทั้งทางผิวหนังและทางเดินหายใจ แล้วจึงเลือกซื้อขนาดใหญ่เพื่อให้คุ้มราคากว่า        ·     ไม่ควรใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มกับผ้าบางชนิด เพราะอาจทำให้คุณสมบัติของผ้าลดลงหรือเกิดการระคายเคืองจากการสัมผัสสารตกค้างได้ง่าย เช่น ผ้าขนหนู ชุดกีฬา ชุดเด็กอ่อน และชุดชั้นใน เป็นต้น        ·     เสื้อผ้าที่แช่น้ำยาปรับผ้านุ่มแล้ว ไม่ควรนำไปตากแดดจัดนานๆ หรือเข้าเครื่องอบผ้า เพราะความร้อนจะทำให้กลิ่นหอมจางหายไปจนหมดได้ ผลคือใช้ก็เหมือนไม่ได้ใช้นั่นเอง          ·ห้ามทิ้งบรรจุภัณฑ์และน้ำล้างสุดท้ายที่ผสมน้ำยาปรับผ้านุ่มลงในแม่น้ำ คู คลอง แหล่งน้ำสาธารณะ เพราะน้ำยาปรับผ้านุ่มส่วนใหญ่ที่ขายในประเทศไทยไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและเป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมนำถุงชนิดเติมมารีไซเคิล เช่น เย็บกระเป๋า แผ่นรองนั่ง หรือส่งไปทำอิฐบล็อก แผ่นหลังคา ตามหน่วยงานที่รับบริจาคได้ที่มาhttps://www.consumerreports.org/appliances/laundry/why-fabric-softener-is-bad-for-your-laundry-a5931009251/https://www.choice.com.au/home-and-living/laundry-and-cleaning/laundry-detergents/buying-guides/fabric-softeners

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ดูแลผมชนิดไม่ต้องล้างออก (ลีฟออน)

            ผลิตภัณฑ์ดูแลผมชนิดไม่ต้องล้างออก โดยเฉพาะที่มีคุณสมบัติปกป้องและบำรุงเส้นผมภายนอกจะมีทั้งที่เป็นน้ำมัน เซรั่ม เจลวิตามิน และลีฟออนครีม จัดเป็นไอเท็มโดนใจสำหรับใครที่ต้องการปรับสภาพเส้นผมที่แห้งเสีย เนรมิตให้ผมไม่ชี้ฟู ดูมีน้ำหนัก และเงางามสลวยได้ทันใจในชั่วโมงเร่งด่วน หรือต้องการปกป้องเส้นผมจากความร้อนของแสงแดดหรืออุปกรณ์ทำผมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกหลายสูตรเพื่อตอบโจทย์ปัญหาเส้นผมที่แตกต่างกัน แต่ด้วยความที่ใช้แล้วไม่ต้องล้างออก แสดงว่าส่วนประกอบต่างๆ จะเคลือบเกาะติดอยู่บนเส้นผมนานกว่าแชมพูและครีมนวดที่ต้องล้างออกทันที ดังนั้นนอกจากคาดหวังผลลัพธ์ให้ผมสวยแล้ว ผู้บริโภคควรใส่ใจความปลอดภัยจากสารที่อาจตกค้างหลังใช้ด้วย           นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผมชนิดไม่ต้องล้างออก จำนวน 12 ตัวอย่าง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 เพื่อสำรวจฉลากว่า มีสารเคมีหรือสารกันเสียที่ควรระวังหรือไม่ ได้แก่         ซิลิโคน (Silicone) เป็นสารโพลิเมอร์ที่ใช้เพื่อให้ผมลื่น หวีง่าย เคลือบเส้นผมให้เงางาม แต่ล้างออกยาก จึงเกิดการสะสมอยู่ที่เส้นผมและหนังศีรษะ ใช้บ่อย ๆ เส้นผมจะลีบแบนและเป็นมันเยิ้ม ซึ่งสารซิลิโคนที่ตกค้างอาจจะไปอุดตันรูเส้นผม ทำให้เซลล์ผมทำงานผิดปกติ การขับของเสียและดูดซึมสารอาหารลดลง และหากใช้ไปนานๆ จะทำให้ผมร่วงได้         พาราเบน (Parabens) : สารกันเสียที่มีรายงานว่าอาจเสี่ยงต่อสุขภาพ ส่งผลให้เป็นมะเร็ง         พีน็อกซี่เอทานอล (Phenoxyethanol) : สารกันเสียที่มีคุณสมบัติทำให้กลิ่นหอมคงตัว ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ได้ไม่เกิน 1.0 % หากสัมผัสกับผิวในปริมาณที่มากอาจทำให้ผิวแพ้ ระคายเคือง และเกิดผดผื่นได้ ผลการสำรวจ ·     พบสารซิลิโคน ใน 11 ตัวอย่าง คิดเป็น 91.67% ของตัวอย่างทั้งหมด·     พบพาราเบน ใน 3 ตัวอย่าง คิดเป็น 25% ของตัวอย่างทั้งหมด ได้แก่ ยี่ห้อแพนทีน โปร-วี เพอร์เฟค+ออน, โลแลน อินเทนซ์ แคร์ แฮร์ เซรั่ม ฟอร์ เอ็กซ์ตร้า ดราย แฮร์ และฟรี แอนด์ ฟรี แดเมจ เอด·     พบพีน็อกซี่เอทานอล ใน 3 ตัวอย่าง คิดเป็น 25% ของตัวอย่างทั้งหมด ได้แก่ ซันซิล สมูท & เมเนจเจเบิ้ล ลีฟออนครีม แอคทีฟ-อินฟิวส์ชั่น, แพนทีน โปร-วี เพอร์เฟค+ออน และแคริ่ง เมอร์เมด ซุปเปอร์ ซิลกี้·     เมื่อคำนวณเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ  1 มิลลิลิตร พบว่า ยี่ห้อบู๊ทส์ เนเจอร์ส ซีรีส์ อาร์แกน ออยส์ แฮร์ ซีรั่ม แพงที่สุดคือ 4.20 บาท ส่วนยี่ห้อซันซิล สมูท & เมเนจเจเบิ้ล ลีฟออนครีม แอคทีฟ-อินฟิวส์ชั่น และแพนทีน โปร-วี เพอร์เฟค+ออน ถูกที่สุดคือ 0.98 บาท ข้อสังเกต·     ยี่ห้อบู๊ทส์ เนเจอร์ส ซีรีส์ อาร์แกน ออยส์ แฮร์ ซีรั่ม ไม่พบทั้งซิลิโคน พาราเบน และพีน็อกซี่เอทานอล·     ยี่ห้อแพนทีน โปร-วี เพอร์เฟค+ออน พบทั้งซิลิโคน พาราเบน และพีน็อกซี่เอทานอล·     สารกลุ่มซิลิโคนที่พบในตัวอย่างครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็น Dimethicone (9 ตัวอย่าง) รองลงมาคือ Cyclopentasiloxane (8 ตัวอย่าง) และ Dimethiconol (6 ตัวอย่าง)·     สารกลุ่มพาราเบนที่พบในตัวอย่างครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็น Methylparaben (3 ตัวอย่าง) รองลงมาคือ Propylparaben (2 ตัวอย่าง)·     ตัวอย่างทั้งหมดที่ระบุวันผลิตไว้ ผลิตในปี 2003  ยี่ห้อเอ็กซ์คิวท์ มี ออร์แกนิค อาร์แกน ออยล์ แฮร์ เซรั่ม ระบุอายุไว้นานสุดคือ 5 ปี ส่วนยี่ห้อซันซิล สมูท & เมเนจเจเบิ้ล ลีฟออนครีม แอคทีฟ-อินฟิวส์ชั่น ระบุอายุไว้น้อยสุดคือ 2 ปี โดยส่วนใหญ่ระบุไว้ที่ 3 ปี ·     ยี่ห้อลอรีอัล ปารีส เอลแซฟ เอ็กซ์ตรอว์ดินารี่ ออยล์ เฟรนช์ โรส ออยล์ อินฟิวชั่น ฟรากรานซ์ แฮร์ ออยล์ และแพนทีน โปร-วี เพอร์เฟค+ออน ระบุเฉพาะวันผลิต ส่วนยี่ห้อเดอะเฟสซ็อป เอสเซ็นเชี่ยล ดาเมจ แคร์ แฮร์ เซรั่ม ระบุเฉพาะวันหมดอายุในปี 2024 ·     ทุกตัวอย่างระบุวิธีใช้ผลิตภัณฑ์ไว้ และมี 6 ตัวอย่างที่ไม่ระบุคำเตือนหรือข้อควรระวังกำกับไว้ ฉลาดซื้อแนะ·     ควรเช็กเลขที่จดแจ้งบนฉลากว่าได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงสาธารณสุขถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบแอบสวมทะเบียนปลอม ·     ควรอ่านและทำความเข้าใจวิธีใช้ของแต่ละผลิตภัณฑ์ที่อาจมีรายละเอียดขั้นตอนแตกต่างกัน และปฏิบัติตามคำเตือนที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด เช่น ทดสอบการแพ้ก่อนใช้ ถ้าเข้าตาควรล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที เก็บให้พ้นมือเด็กและแสงแดด หากเกิดการผิดปกติให้หยุดใช้ และปรึกษาแพทย์ เป็นต้น  ·     ผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำมันเหมาะสำหรับเส้นผมที่โดนความร้อนเป็นประจำ ส่วนเส้นผมที่แห้งเสียมากควรใช้ประเภทครีมหรือเจลเพื่อปรับสภาพผมให้ชุ่มชื้นขึ้น·     ควรสระผมและเช็ดผมให้หมาดๆ ก่อนใช้ ผลิตภัณฑ์จะเคลือบเส้นผมได้ดี และช่วยให้ประหยัดด้วย เพราะไม่ต้องใช้ปริมาณเยอะ แค่ลูบไล้บริเวณปลายผมก็เพียงพอแล้ว·     แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผมชนิดที่ไม่ต้องล้างออก แต่ถ้ามีซิลิโคนและสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ หลังใช้ 1-2 วันควรสระผมทำความสะอาด ไม่ควรปล่อยให้สารเคมีเกาะเคลือบอยู่บนผมนานเกินไป เพื่อไม่ให้สารเหล่านั้นตกค้างและสะสมมากจนเกิดผลข้างเคียงต่างๆ ตามมาได้ ข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อ ฉบับที่ 257 มีอะไรน่าสนใจใน “ครีมนวดผม”ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 261 เรื่องยุ่งๆ ของซิลิโคนในครีมนวดผมhttps://th.my-best.com/48384https://thaieurope.net/2018/03/16/eu-restriction-d4-and-d5/ EU

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ผลิตภัณฑ์กันแดด 2023

        ได้เวลานำเสนอผลทดสอบเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์กันแดดประจำปีกันอีกครั้ง ระหว่างที่บ้านเราเข้าสู่ฤดูฝน (แต่แดดจ้าไม่เคยหายไป) ทางยุโรปกำลังเข้าสู่ฤดูร้อนและเป็นช่วงที่ผลิตภัณฑ์นี้กำลังเป็นที่ต้องการ เรามีผลิตภัณฑ์กันแดดทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ ในรูปแบบของครีม โลชัน และสเปรย์ ที่มีค่า SPF30 และ SPF50+ ที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศในยุโรปร่วมกันส่งเข้าทดสอบมาฝากสมาชิก ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงคัดเลือกมาเพียง 24 ผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนในลำดับต้นๆ เท่านั้น คะแนนการทดสอบแบ่งออกเป็น 4 ด้านดังนี้ร้อยละ 65       ประสิทธิภาพในการป้องกัน UVA/UVBร้อยละ 20       ความพึงพอใจของผู้ใช้ (เช่น ไม่เหนอะหนะ ไม่ทิ้งคราบ)ร้อยละ 10       ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร้อยละ 5         ฉลากเป็นมิตรต่อผู้บริโภค        ในภาพรวมเราพบว่าคะแนนประสิทธิภาพในการกันแดดและความพึงพอใจของผู้ใช้ ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต่างกันมากนัก (ทั้งหมดจัดอยู่ในระดับ 4 ดาวขึ้นไป)  แต่ก็มีผลิตภัณฑ์หลายยี่ห้อที่ต้องปรับปรุงเรื่องฉลากและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเคลมเกินจริงหรือเคลมในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้  ผลิตภัณฑ์กันแดดที่เราทดสอบไม่มีสารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (EDCs) และไม่มีพาราเบน ซึ่งถือว่าเป็นไปตามที่กล่าวอ้างบนฉลาก แต่เราก็พบว่าค่า SPF ที่แจ้งไว้นั้น มีทั้งที่เกินและขาดจากค่าที่วัดได้จริงในห้องปฏิบัติการ ที่ให้มาเกินเราไม่ว่า แต่ก็มีอย่างน้อย 6 ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF น้อยกว่าที่แจ้งไว้บนฉลากผลการทดสอบยืนยันอีกครั้งว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ราคาแพงเพื่อดูแลผิวหนังก่อนออกเผชิญแสงแดด พลิกหน้าถัดไปเพื่อหาครีม/สเปรย์กันแดดที่ถูกใจคุณได้เลย         ·     ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่พบในร้านค้าออนไลน์ และคำนวณจากหน่วยเงินในประเทศต้นทาง เช่น ยูโร ปอนด์อังกฤษ หรือแดนิชโครน เป็นต้น โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 268 ไซบูทรามีนเกลื่อนเมือง.....ปัญหาเรื้อรังที่รอจุดสิ้นสุด

        เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จังหวัดขอนแก่นได้ประกาศแจ้งเตือนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “คอร์เซ่” ตรวจพบไซบูทรามีนซึ่งทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล1 และในวันเดียวกันนี้ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่ข่าวพบไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร NQ S Cross ซึ่งตำรวจ ปคบ.กับ อย.ได้ทลายเครือข่ายผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่าย ในพื้นที่ 4 จุดของจังหวัดตาก สุโขทัย  และพิษณุโลก 2          “ไซบูทรามีน” เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท  ทำให้ลดความอยากอาหารอิ่มเร็วขึ้นและช่วยกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายส่งผลให้ร่างกายมีน้ำหนักลดลง  เดิมมีการนำมาใช้เป็นยาลดความอ้วน แต่เนื่องจากไซบูทรามีนทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญลดลง เช่น หัวใจ สมอง จนอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดและสมองขาดเลือดฉับพลัน ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้   ซึ่งผู้ผลิตได้สมัครใจถอนทะเบียนจากท้องตลาดแล้วทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเมื่อ 11 ตุลาคม 2553  แม้จะไม่มีไซบูทรามีนที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่ยังคงมีการลักลอบนำไปใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก ทำให้พบอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้หากใช้ร่วมกับยาอื่นที่มีผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิต         ปัจจุบัน “ไซบูทรามีน” ถูกยกระดับให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ในครอบครองผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผสมไซบูทรามีนเพื่อการค้า จะต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ 1-15 ปี  และปรับตั้งแต่ 100,000-1,500,000 บาท แม้“ไซบูทรามีน”ถูกปรับเปลี่ยนประเภทตามกฎหมายทำให้มีบทลงโทษหนักขึ้น  แม้จะมีการตรวจจับดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ปัญหาก็ยังคงอยู่ ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องดูแลตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ  หากพบอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวภายหลังรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้เสียหายจะต้องกล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง  โดยการร้องเรียนหรือให้ข้อมูลผู้จำหน่ายแก่หน่วยงานหรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด่านนำเข้า เช่น กรมศุลกากรและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะต้องร่วมกันสกัดการนำเข้าสารไซบูทรามีนหรืผลิตภัณฑ์ที่ปลอมปนไซบูทรามีนมิให้เข้ามาทำอันตรายต่อประชาชน  และหากพบผลิตภัณฑ์ที่ปลอมปนไซบูทรามีน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะต้องประกาศผลวิเคราะห์ให้ประชาชนทราบ  เพื่อจะมิให้มีผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อรายต่อไป   ที่มา        1. ศูนย์ประสานงานอาหารปลอดภัยจังหวัดขอนแก่น สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2566 https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02LQYqAggoAUUcEWnBaBJ1Xumxg49hLDhhRH1kiqZqVS7wJRWGdfsHkS8fHBrNcXLEl&id=100054673890265        2. สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2566   https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/190296/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2566

แค่ต้นปี 2566 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษกว่า 6,185 คน         รายงานสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากกรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2566 มีผู้ป่วยจากโรคดังกล่าว จำนวน 6,185 คน ซึ่งกลุ่มที่พบมากที่สุด มี 3 อันดับ ได้แก่ อายุ 5-9 ปี  0-4 ปี  15-24 ปี ตามลำดับ โดยการระบาดจากทั้ง 19 เหตุการณ์ มีจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่ 3-348 คน พบว่าในทั้งหมดจากเหตุการณ์ มีการระบาดในสถานศึกษา 11 เหตุการณ์ รองลงมา คือ เรือนจำ/ค่ายลูกเสือ 4 เหตุการณ์ อื่นๆอีก 3 เหตุการณ์ และบ้านพัก 1 เหตุการณ์  จึงคาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทุกปีมักพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสูงช่วงต้นปี มกราคม – มีนาคม ลักษณะคล้ายคลึงกัน กรมฯ จึงให้คำแนะนำว่า ประชาชนควรเลือกซื้ออาหารที่สด สะอาด รูป รส กลิ่น สี ไม่ปกติ และล้างทำความสะอาดก่อนนำมาปรุงด้วยความร้อนให้สุกอย่างทั่วถึง ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” สั่งปรับ “ลาซาด้า-ช้อปปี้” กรณีโฆษณาผิดกฎหมาย         เภสัชวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการแถลงการตรวจพบโฆษณาอาหาร ยาและเครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ผิดกฎหมายในแพลตฟอร์มออนไลน์ ลาซาด้าและช้อปปี้ เป็นจำนวนมากซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ จึงให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามและฝ่ายกฎหมายเร่งรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดี โดยทาง อย.ได้ปรับลาซาด้าไปแล้วกว่า 45 คดี เป็นเงินค่าปรับกว่า 4.9 ล้านบาท ปรับช้อปปี้ 22 คดี เป็นเงินค่าปรับกว่า 1.9 ล้านบาท รวมถึงคดีที่มีโทษจำคุกอีกจำนวนมากที่ส่งให้ตำรวจดำเนินคดีต่อ นอกจากนี้ ทาง อย.ยังได้เข้าพบผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อหารือในการกวาดล้างโฆษณาเถื่อนในตลาดออนไลน์ พบเว็บหน่วยงานรัฐโดนฝังโฆษณาเว็บพนันกว่า 30 URL         นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานในประเทศไทยกว่า 500 รายการ ส่วนมากเป็นการโจมตีในรูปแบบการแฮกเว็บไซต์  2 หรือ 3 ของการโจมตีทั้งหมดเป็นหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานที่ตกเป็นเป้าหมายโจมตีมากที่สุด คือ หน่วยงานการศึกษา  รองลงมาหน่วยงานสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามลำดับ โดยหน่วยงานราชการ  20 กระทรวง โดนแฮ็กเว็บไซต์และถูกโจมตีข้อมูลด้วยการฝังสคริปต์โฆษณาเว็บไซต์การพนันออนไลน์มากถึง 30 ล้าน URL ทั้งนี้ ซึ่งทาง สกมช. ได้เสนอมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะยาวต่อคณะรัฐมนตรี หากประชาชนที่พบเห็นการหลอกลวง เว็บไซต์ปลอม หรือผู้ที่มีข้อมูลเว็บพนันออนไลน์ สามารถแจ้งได้กับกระทรวงดิจิทัล  ได้ที่ 1212 หรือ https://facebook.com/DESMonitor เพจอาสาจับตาออนไลน์ หรือแจ้งได้ที่ ncert@ncsa.or.th หลังปรับมิเตอร์แท็กซี่ใหม่พบเรื่องร้องเรียนกว่า 2000 เรื่อง         19 กุมภาพันธ์ 2566 กรมขนส่งทางบกให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่มีการปรับราคาของแท็กซี่มิเตอร์ใหม่ (16 มกราคม) มีผู้โดยสารร้องเรียนปัญหารถแท็กซี่เป็นจำนวนกว่า 2,120 เรื่องแล้ว โดยความผิดที่มีการร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1.ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร จำนวน 720 เรื่อง 2.แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ จำนวน 455 เรื่อง 3.ขับรถประมาทหวาดเสียว จำนวน 358 เรื่อง 4.ไม่ใช้มาตรค่าโดยสาร จำนวน 237 เรื่อง 5.มาตรค่าโดยสารผิดปกติ จำนวน 221 เรื่อง ทั้งนี้มีการดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วจำนวน 1,650 เรื่อง และจดแจ้งการกระทำผิด จำนวน 470 เรื่อง ทั้งนี้หากพบปัญหาเรื่องเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะ แท็กซี่ มอเตอร์ไซต์รับจ้าง สามารถแจ้งร้องเรียนกับกรมการขนส่งทางบก โทรสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง อย. ชี้แจง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมายวิตามินซีและกาแฟปรุงสำเร็จ         จากกรณีมีผู้เสียหายร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2 รายการ “ยี่ห้อ Boom VIT C 1,000 มิลลิกรัม และกาแฟปรุงสำเร็จรูปผง ยี่ห้อ Room COFFEE” โดยสั่งซื้อจากทาง บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด แต่เมื่อได้ลองรับประทานไปพร้อมกับมารดา พบว่า มีอาการข้างเคียง เช่น แขน ขา อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ลุกไม่ขึ้น จนไม่สามารถถือของได้ จึงได้เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ หลังจากทางมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียน จึงได้ส่งจดหมายถึง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ว่า มีส่วนผสมอันตรายหรือได้รับอนุญาตตามถูกกฎหมายหรือไม่เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค         วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ทางอย.ได้ส่งหนังสือ ชี้แจ้งถึงมูลนิธิฯ ว่า กรณีให้ตรวจสอบ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้ง 2 รายการ ทาง อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบ จากสถานที่จำหน่าย เพื่อตรวจหาผลวิเคราะห์ยาแผนโบราณในผลิตภัณฑ์ พบว่า ไม่พบยาแผนปัจจุบันในทั้ง 2 รายการ แต่จากผลการตรวจสอบฉลากอาหาร พบว่า ผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปสำเร็จชนิดผงยี่ห้อ ROOM COFFEE แสดงฉลากไม่ถูกต้อง เข้าข่ายฝ่าฝืนประกาศซึ่งออกตามมาตรา 6(10) มีโทษตามมาตรา 51 แห่งราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งทาง อย. จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 ดวงตาเป็นหน้าต่างของกำไร

        ปัจจุบันผู้คนเข้าสู่ยุคสังคมก้มหน้า ไม่ว่าใครต่อใครก็มักจะก้มหน้าใช้สายตาจ้องหน้าจอมือถือหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์เกือบตลอดเวลา อาการเหนื่อยล้าทางสายตาย่อมเกิดขึ้นได้ง่ายๆ บางคนเกิดปัญหาทางตาตามมาอีก จึงเป็นช่องทางให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพเกี่ยวกับสายตาผุดออกมาจำหน่ายมากมายและรุกโฆษณาเข้าถึงตัวเราได้ง่ายๆ         ผมลองสังเกตหน้าจอมือถือที่จู่ๆ ก็มีโฆษณาแนะนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาถึง แค่ครึ่งวันก็จู่โจมมาเกือบ 10 ยี่ห้อแล้ว        “เห็นยักใย่ ดำๆลอยไปลอยมา 1 เม็ดก่อนนอน ตาใสปิ๊งเหมือนได้ตาใหม่ ซื้อตอนนี้ 590 บาท ลดเหลือ 390 บาท”         “ฟื้นฟูดวงตาด้วยสารสกัดหญ้าฝรั่น ให้ผลไวกว่าลูทีนทั่วไป 5 เท่า ดูดซึมเร็วกว่าเดิมถึง 25 เท่า”                 “ตาพร่าดวงตาล้า ดูซีรี่ย์นานใช้ดวงตาเยอะ ....(ชื่อดารา)....เลือกใช้”                 “ปวดตาเคืองตา น้ำตาไหล มองไม่ชัด ซื้อ 3 แถม 1”         “....(ชื่อดารารุ่นแม่)....แนะนำสูตรใหม่ เห็นผลไวกว่าลูทีน 8 เท่า การันตีด้วยรางวัลโนเบล”         “สายตาพร่ามัวมองไม่ชัด เป็นต้อ รู้สึกไม่สบายตา แสบตาเคืองตาอย่ารอช้า รีบทาน (โทรติดต่อ......)         “รวบรวมสารสกัดที่มีคุณภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยสาร..... ซึ่งเป็นสารที่ช่วยปกป้องจอตาหรือเรตินาจากการถูก         ทำลายโดยแสงสีฟ้าและแสงยูวีจากดวงอาทิตย์ สาร... ช่วยให้กล้ามเนื้อยึดเลนส์คลายตัว การไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณรอบๆตาจึงไหลเวียนดีขึ้น ช่วยลดอาการอ่อนล้าของดวงตา ลดอาการตาแห้ง และเพิ่มการโฟกัสของตาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”         “บำรุงสายตาลดอาการตาแห้งตาล้า ช่วยให้การมองเห็นชัดขึ้น ป้องกันดวงตาจากแสงสีฟ้า บำรุง ฟื้นฟู สายตา ตาแห้ง ตาล้า จอประสาทตาเสื่อม ช่วยลดอาการตาแห้งจากลม เพิ่มการมองเห็นให้ชัดเจน ช่วยปรับโฟกัส ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม ป้องกันโรคที่เกี่ยวกับดวงตาของผู้สูงอายุ สามารถดูดซึมได้รวดเร็ว ภายใน 15 นาที”         ข้อความต่างๆ ที่ส่งเข้ามาจะหลากหลาย ตั้งแต่บอกว่ามีสารที่มีประโยชน์ มีสรรพคุณบำรุง ป้องกัน ไปจนกระทั่งถึงรักษาโรคทางตาได้ด้วยซ้ำ อันที่จริงแล้วกฎหมายอนุญาตให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ แต่ต้องมายื่นขอ อย.ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ในส่วนประกอบอาจมีสารอาหารมากกว่าอาหารทั่วๆ ไปเพิ่มเข้ามา ดังนั้นเมื่อมันเป็นแค่ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ประเภทยา มันจึงไม่มีสรรพคุณในการ บำบัด บรรเทา ป้องกันหรือรักษาโรคได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถล้ำเส้นอ้างสรรพคุณทางยาได้ ซึ่งทางหน่วยงานที่ดูแลก็พยายามไล่กวดจับกันอยู่ แต่ผู้ขายและเครือข่ายก็มักจะแอบไปเปิดช่องทางใหม่ๆ ในโซเชียลจนเจ้าหน้าที่ตามแทบไม่ทัน         สุดท้ายนี้ขอแนะนำวิธีการถนอมสายตา เพื่อช่วยช่วยป้องกันสายตาเมื่อต้องจ้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือใช้มือถือนานๆ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เช่น (1) พักสายตาทุก 30 นาที (2) กะพริบตาให้ได้ 4-6 ครั้ง/นาที (3)ไม่ฝืนอ่านตัวอักษรที่มีขนาดเล็กมากจนเกินไป (4) เว้นระยะห่างจากหน้าจอประมาณ 30-40 เซนติเมตร (5) ปรับความสว่างของหน้าจอให้พอดีไม่มืดหรือสว่างเกินไป (6)ไม่ใช้งานมือถือหากอยู่บนพาหนะที่มีความสั่นไหวเพราะทำให้มองจอได้ยาก (7)ช่วงอากาศแห้งไม่ควรใช้สายตานานจนเกินไป เป็นต้น         มันไม่คุ้มค่าหากตาจะพังและกระเป๋าตังค์จะรั่ว ต้องระมัดระวังอย่าหลงเชื่อโฆษณาล้ำเส้นจนเกินจริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 เภสัชกรสาวตาใสกับคุณยายตามัว

        เสียงเคาะประตูห้องยาดังขึ้น เภสัชกรสาวตาใสวางมือจากกองยาหน้าเคาน์เตอร์ เมื่อเงยหน้าขึ้นภาพตรงหน้าคือคุณยายท่านหนึ่ง แกมาพร้อมอาการบวมที่ใบหน้า ในมือของแกถือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสารสกัดโกจิเบอรี่ยี่ห้อหนึ่ง จากการพูดคุยสอบถามพร้อมทั้งซักประวัติเพิ่มเติมทำให้ทราบว่าคุณยายมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง อาการตอนนี้ นอกจากตัวบวมแล้ว ตายังพร่ามัวอีกด้วย         “ยายซื้อไอ้นี่จากรถเร่หมู่บ้านต่างอำเภอที่มาเร่ขายในหมู่บ้านของยายน่ะ คนขายเขาโฆษณาว่ากินแล้วจะช่วยให้ตามองเห็นชัดขึ้น ทีแรกยายก็ยังไม่ค่อยเชื่อนะ แต่เขาเอาเอกสารมาให้ดูเพิ่มเติม เห็นบอกว่าช่วยบำรุงดูแลดวงตาและรักษาโรคตาต้อต่างๆได้ แถมยังเน้นว่า ตามัวสั่งด่วน ตามองชัดแจ๋ว ต้อต่างๆ หาย ตาใสปิ้ง ดูแล้วก็น่าเชื่อถือดี”         “ยายอยากมองเห็นชัด เลยซื้อมากินหนึ่งกระปุก กระปุกละ 800 บาทยายก็ยอมนะ แต่พอยายกินไปได้ 7 วันเท่านั้นเอง ตัวยายก็เหมือนจะบวม หน้านี่บวมชัดเลย แถมยังผื่นขึ้นเต็มตัวอีก ตาก็ไม่ใสแต่กลับมัวมากขึ้น” คุณยายเล่าด้วยเสียงวิตก “ทำยังไงดี”         เภสัชกรสาวจึงรีบประเมินอาการพบว่า น่าจะเกิดจากการแพ้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงแนะนำคุณยายให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ทันทีและรีบแจ้งข้อมูลเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อช่วยกันเตือนภัยและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อนี้ จากนั้นขอผลิตภัณฑ์ของคุณยายส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อหาสารอันตรายที่อาจปลอมปนเข้ามาในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว ซึ่งกำลังรอผลวิคราะห์อยู่         “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยานะคะคุณยาย มันจึงไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค และจากที่หนูตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์นี้ มันยังแสดงข้อมูลในฉลากไม่ครบถ้วนอีกด้วยค่ะ เพราะถ้าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กฎหมายกำหนดให้ต้องมีข้อความเตือนว่าไม่มีผลในการรักษาโรคด้วย นี่ถ้ามีผู้ป่วยหลงเชื่อซื้อมารับประทาน โดยหวังว่าจะรักษาโรคต่างๆ ของดวงตา นอกจากจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังจะเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องด้วยนะคะ  หนูคิดว่าหากใครมีอาการทางดวงตา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าวนะคะ”         “การโฆษณาสรรพคุณของอาหารเป็นยารักษาโรค ถือว่าเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหารพ.ศ.2510 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ... ยังไงฝากคุณยายช่วยกันเตือนคนอื่นๆ ในหมู่บ้านด้วยนะคะ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 ผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก พื้นที่จังหวัดอยุธยา (ครั้งที่สอง)

        ฉลาดซื้อฉบับที่ 253 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมานำเสนอผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก พื้นที่จังหวัดอยุธยาไป ซึ่งในครั้งนั้นเราพบทั้งตัวอย่างไส้กรอกที่ใช้วัตถุเจือปนอาหารที่ห้ามใช้ และที่ใช้สารกันเสียในปริมาณที่เกินมาตรฐานรวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามเพื่อติดตามสถานการณ์ด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลางและฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างไส้กรอกในพื้นที่กรุงเก่าในเดือนพฤษภาคมอีกครั้ง  มาดูกันว่าไส้กรอกที่มีขายในจังหวัดอยุธยา จะมีความปลอดภัยมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร         เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. ตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอก 14 ตัวอย่าง และลูกชิ้น 2 ตัวอย่าง ภายในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยกำหนดขอบเขตจากร้านอาหารบริเวณหน้าโรงเรียน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 และนำส่งวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุเจือปนอาหารประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ไนเตรท (Nitrate) และ ไนไตรท์ (Nitrite) ซึ่งใช้เป็นสารกันเสีย สารคงสภาพของสี รวมถึงใช้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด ว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดไว้หรือไม่สรุปผลทดสอบ        1. สารเบนโซอิก : ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่มีเกณฑ์กำหนดให้ใช้วัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก             - พบสารเบนโซอิกในไส้กรอก 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ไส้กรอกไก่สอดไส้ซอสมะเขือเทศ ตรา AFM         (48.71 มก./กก.) ไส้กรอกไก่รสนมวนิลา ตรา TFG ไทยฟู้ดส์ (484.31 มก./กก.) และไส้กรอกไก่ รสชีสเนย ตรา เค เอฟ เอ็ม (23.72 มก./กก.)           ส่วนในลูกชิ้นพบทั้ง 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ลูกชิ้นปิ้ง"นมสด" SNOWBOY (1153.10 มก./กก.) และลูกชิ้นเอ็นไก่ ลูกชิ้นสุภาพ อยุธยา (1071.90 มก./กก.)          2. สารไนเตรท : ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่อนุญาตให้ใช้สารไนเตรทในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีโดยใช้ความร้อน (ไส้กรอกสุก หมูยอ ไก่ยอ ลูกชิ้น)            - พบสารไนเตรทในทั้ง 16 ตัวอย่าง ปริมาณตั้งแต่ 10.71- 42.04 มก./กก.           3. สารไนไตรท์ : ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 อนุญาตให้ใช้สารกลุ่มไนไตรท์ ในปริมาณไม่เกิน 80 มก./กก.            - พบสารไนไตรท์ในไส้กรอก  8  ตัวอย่าง มีปริมาณตั้งแต่ < 10.00 – 48.29 มก./กก. ซึ่งไม่เกินมาตรฐานกำหนด          4. สารซอร์บิก : ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 อนุญาตให้ใช้กรดซอร์บิก ซึ่งเป็นสารกันเสียในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีได้ไม่เกิน 1500 มก./กก. โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามใช้ร่วมกับสารกันเสียในกลุ่มไนไตรท์            - พบสารซอร์บิกในไส้กรอก  3  ตัวอย่าง ได้แก่ ไส้กรอกไก่เวียนนาสอดไส้ชีส ตรา AFM (ตัวอย่างที่พบว่ามีสารที่ใช้ร่วมกัน 3 ชนิด ได้แก่ ไส้กรอกไก่สอดไส้ซอสมะเขือเทศ ตรา AFM และไส้กรอกไก่ รสชีสเนย ตรา เค เอฟ เอ็ม พบเบนโซอิก+ไนเตรท+ไนไตรท์ ส่วนไส้กรอกคอกเทลไก่(ปอก) ตรา PCF พบไนเตรท+ไนไตรท์+ ซอร์บิก        3. ยี่ห้อ AFM มี 6 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ พบไนเตรททั้งหมด ไนไตรท์ 4 ตัวอย่าง เบนโซอิก 1 ตัวอย่าง และซอร์บิก 2 ตัวอย่าง        4. ในลูกชิ้นทั้ง 2 ตัวอย่าง มีปริมาณเบนโซอิกมากกว่าที่พบสูงสุดในไส้กรอกประมาณ 2.4 เท่า และไม่ได้แสดงวัน/เดือน/ปี ที่ผลิตและหมดอายุไว้ด้วย ฉลาดซื้อแนะ        1. เลือกซื้อไส้กรอกที่มีฉลากแสดงเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. มีชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน ส่วนประกอบและข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร น้ำหนักสุทธิ และซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ        2. ไม่เลือกซื้อไส้กรอกที่มีสีสดจัดจนเกินไป         3. ถ้าซื้อไส้กรอกแบบพร้อมทานหรือปรุงสำเร็จที่ไม่รู้ว่าเป็นยี่ห้ออะไร อาจขอให้ผู้ขายแสดงหีบห่อบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่นำมาขายเพื่อให้ทราบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเลข อย.หรือไม่        4. โดยเฉพาะเด็กๆ ไม่ควรกินบ่อยเกินไปและไม่กินปริมาณมากในครั้งเดียว            ร่างกายรับสารไนไตรท์ได้ไม่เกิน 0.07 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน หากร่างกายได้รับในปริมาณที่มากจะทำให้มีอาการปวดหัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และอาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์ ถ้ายิ่งได้รับมากเกินไปจะเกิดอาการปวดท้อง กล้ามเนื้อไม่มีแรง และร่างกายขาดออกซิเจนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ผลิตภัณฑ์กันแดด 2022

ก่อนจะออกไปเที่ยวผจญแดดร้อนลมแรงที่ไหน อย่าลืมสำรวจวันหมดอายุของครีม/โลชัน/สเปรย์กันแดดที่มีอยู่ โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีอายุประมาณ 2 – 3 ปี แต่ถ้ามันถูกเก็บในบริเวณที่ร้อนมากอย่างคอนโซลหน้ารถ ความสามารถในการป้องกันยูวีอาจเสื่อมไปก่อนเวลาอันควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลิตภัณฑ์มีลักษณะเปลี่ยนไป เช่น แยกชั้น หรือจับตัวเป็นก้อน เราขอแนะนำให้คุณซื้อใหม่         ฉลาดซื้อ ฉบับนี้มีผลทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์กันแดดที่ทำขึ้นในช่วงต้นปี 2565 มาให้สมาชิกได้เลือกกันถึง 25 ผลิตภัณฑ์ (ค่า SPF30 และ SPF50+) ทั้งแบบครีม โลชัน และสเปรย์ สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ที่สามารถหาซื้อได้ในประเทศไทย         แม้จะยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนถึงระดับห้าดาว แต่ “ตัวท็อป” ในการทดสอบปีนี้ก็ได้คะแนนรวมไปถึง 74 คะแนน (เทียบกับ 71 คะแนนของปีที่แล้ว) ข่าวดีคือผลิตภัณฑ์ 25 ตัวนี้ไม่มีสารรบกวนฮอร์โมน หรือสารก่ออาการแพ้ Octocrylene D5         แต่การทดสอบก็ทำให้เรารู้ว่ายังมีผลิตภัณฑ์อีกไม่น้อยที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันยูวีต่ำกว่าที่แจ้งบนฉลากหรือในโฆษณา เป็นการตอกย้ำว่าราคาหรือภาพลักษณ์ไม่สามารถรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้เสมอไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 255 ตรวจสารมารดำ กลับเจอสารมารขาว

        การทำงานคุ้มครองผู้บริโภค บางครั้งก็เจออะไรแปลกๆ คาหนังคาเขาโดยไม่ตั้งใจ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ทีมปกครองอำเภอ เทศบาล ผู้นำชุมชนและทีมรพ.สต กำลังทำหน้าที่ตรวจปัสสาวะเพื่อเฝ้าระวังหาสารเสพติดในร่างกายของประชาชน ปรากฎว่าผลตรวจปัสสาวะของพนักงานเทศบาลชายอายุ 28 ปีพบว่าเป็นสีม่วง ซึ่งหมายถึงอาจจะมีการใช้สารเสพติด แต่เมื่อแจ้งสอบสวนเพิ่มเติมพนักงานท่านนี้ตกใจ เนื่องจากตนเองไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด         เจ้าหน้าที่จึงสวมวิญญาณนักสืบ สอบถามข้อมูลมากขึ้นจึงทราบว่าพนักงานรายนี้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อหนึ่ง ที่สั่งซื้อจากทางออนไลน์ ราคาก็ไม่ธรรมดาซะด้วย เพราะแพงถึงเม็ดละ 100 บาท เมื่อใช้แล้วเกิดความรู้สึกไม่อยากอาหาร ตนใช้วันละ 1 เม็ด ก่อนอาหาร จนหมด 2 กล่อง ปรากฎว่าน้ำหนักลดลงถึง 10 กิโลกรัม         พนักงานเจ้าหน้าที่จึงประสานมายังกลุ่มงานเภสัชกรรมฯ เพื่อส่งตรวจหารสารในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อนี้ ซึ่งผลตรวจจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่ามีสารไซบูทรามีนผสมอยู่ จึงแจ้งกลับมาเพื่อติดตามสอบถามแหล่งที่มาและส่งต่อข้อมูลไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตเพื่อทำการดำเนินการต่อไป         ไซบูทรามีนเป็นสารที่มีโครงสร้างคล้ายกับแอมเฟตามีน จึงทำให้ผลตรวจปัสสาวะของคนที่ได้รับสารไซบูทรามีนมีสีม่วงเหมือนกับคนที่ใช้สารแอมเฟตามีน สารไซบูทรามีน (Sibutramine) จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้รู้สึกไม่อยากอาหารและส่งผลข้างเคียงกับคนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อผู้บริโภคบางรายถึงขั้นเสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ไซบูทรามีนจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 1 ผู้ใดผลิต นำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะมีความผิดตามกฎหมาย มีทั้งโทษถึงจำคุก         มีวิธีเบื้องต้นในการสังเกตผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่สงสัยว่าจะผสม Sibutramine ดังนี้        1. มีคำโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ลดน้ำหนักได้ภายใน 7 วัน        2. ไม่มีฉลากภาษาไทย หรือแสดงฉลากไม่ครบถ้วน เช่น ไม่ระบุสถานที่ผลิต        3. ไม่มีเลขที่ขึ้นทะเบียนอย. เป็นต้น         อย่าลืมว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถลดความอ้วนได้ หากมีการโฆษณาว่าสามารถช่วยรักษาโรค ลดความอ้วน ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีส่วนผสมของสารอันตราย จะได้ไม่เอาชีวิตไปเสี่ยง         หากผู้บริโภคพบเห็นเบาะแสการโฆษณา การผลิต/จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือกลุ่มงานเภสัชกรรม ของโรงพยาบาล หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ ปี 2565

        การล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี จะช่วยป้องกันโรคระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ และลดจำนวนการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงได้ถึง 50 % แล้วยังเป็นมาตรการหลักในป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย ครั้นจะใช้สบู่ก้อนแบบเดิม ๆ หลายคนก็เกรงจะเสี่ยงรับเชื้อจากการสัมผัสสบู่ก้อนร่วมกันอีก ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ “สบู่เหลวล้างมือ” ที่แม้จะมีราคาสูงกว่า แต่ตอบโจทย์ทั้งความสะอาด ใช้สะดวก และลดการสัมผัสโดยตรง ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคมากขึ้น         เมื่อปี 2560 มูลค่าตลาดรวมของสบู่ประมาณ 14,032 ล้านบาท แบ่งออกเป็นกลุ่มสบู่ก้อน 9,120 ล้านบาท กลุ่มสบู่เหลว 4,912 ล้านบาท ต่อมาในปี 2563 มูลค่าตลาดรวมของสบู่เพิ่มเป็นประมาณ 16,000 กว่าล้านบาท แต่กลุ่มสบู่ก้อนกลับลดลงมาที่ 9,000 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มสบู่เหลวสูงขึ้นถึงประมาณ 7,400 ล้านบาท         แม้สบู่เหลวล้างมือแต่ละยี่ห้อจะมีส่วนผสมหลากหลายสูตรเพื่อสร้างจุดขายที่แตกต่าง แต่มักยังคงมีสารเคมีจำพวกที่ทำให้เกิดฟอง สารกันเสีย และสารสังเคราะห์อื่นๆ เป็นส่วนประกอบพื้นฐานเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคมีพฤติกรรมการล้างมือบ่อยขึ้น อาจเสี่ยงสัมผัสสารเคมีในสบู่เหลวบ่อยขึ้นด้วยเช่นกัน           เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ จำนวน 27 ตัวอย่าง 25 ยี่ห้อ จากห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไปในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในเดือนมีนาคม 2565 เพื่อสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือว่ามีสารเคมีที่ควรระวังหรือไม่ ได้แก่         โซเดียมลอริธซัลเฟต (Sodium Laureth sulfate : SLES ) : สารลดแรงตึงของน้ำ ทำให้เกิดฟอง ถ้าล้างออกช้าหรือล้างออกไม่หมด อาจทำให้ผิวแห้ง และระคายเคืองได้        เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (Methylisothiazolinone : MIT) : สารกันเสียที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วต้องล้างออกเท่านั้น อาจทำให้ผิวระคายเคือง หากแพ้มากจะทำให้ผิวอักเสบและมีผื่นแดงขึ้น        พาราเบน (Paraben) : สารกันเสียที่เสี่ยงส่งผลให้เป็นมะเร็ง        ไตรโคลซาน (Triclosan): สารกันเสียที่อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีปัญหา หากใช้ระยะเวลานานจะมีความเสี่ยงต่อเชื้อแบคทีเรียดื้อยาด้วย         (หมายเหตุ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ยืนยันว่าสารที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั้ง 4 ชนิดนี้มีความปลอดภัย เมื่อใช้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด) สรุปผลสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ         จากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ 27 ตัวอย่าง 25 ยี่ห้อ         - มี 9 ตัวอย่าง ที่ไม่พบทั้ง SLES, MIT, พาราเบน และไตรโคลซาน         ได้แก่ ยี่ห้อคาว แบรนด์ เซเก็ทสึ คะโซกุ แฮนด์ โซป, ลักส์ โบทานิคัล โฟมล้างมือ, บีไนซ์ คิทเช่น แคร์ โฟมมิ่ง แฮนด์ วอช, บิโอเร โฟมล้างมือ, ศารายา ซิลกี้วอช พิ้งกี้ พีช, คากิชิบุ เซคัทซึ แฮนด์ โซป, คิเรอิคิเรอิ โฟมล้างมือ, เอสเซ้นซ์ ออร์แกนิค อโลเวร่า โฟมล้างมือ และคิงส์สเตลล่า เฮลธ์แคร์ แอนตี้แบคทีเรียล แฮนด์ วอช         - พบ พาราเบน ใน 1 ตัวอย่าง           - ไม่พบ ไตรโคลซาน ในทุกตัวอย่าง         - เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่ายี่ห้อคากิชิบุ เซคัทซึ แฮนด์ โซป แพงสุดคือ 0.44 บาท ส่วนยี่ห้อเซฟการ์ด เพียว ไวท์ ลิควิด แฮนด์ โซป และยี่ห้อ 3เอ็ม สบู่เหลวล้างมือ ถูกสุดคือ 0.17 บาท         - ตัวอย่างสบู่เหลวล้างมือที่ฉลาดซื้อเคยสำรวจไว้เมื่อปี 2562 มีค่าเฉลี่ยของราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตรอยู่ที่ 0.33 บาท ขณะที่ผลการสำรวจของปี 2565 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.28 บาท คำแนะนำ        - สบู่เหลวล้างมือจัดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ควรเลือกซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ และสังเกตเลขที่ใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางที่ฉลากทุกครั้ง ซึ่งนำไปตรวจสอบผลิตภัณฑ์ได้ที่ www.fda.moph.go.th เพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับเครื่องสำอางปลอมหรือใช้สารเคมีเกินกว่าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด        - อ่านฉลากก่อนซื้อ และควรปฏิบัติตามคำเตือนที่ระบุไว้บนฉลาก        - สบู่เหลวล้างมือควรมีอายุไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ผลิต        - เลือกสูตรที่มีส่วนผสมที่อ่อนโยน ไม่ระคายเคือง และให้ความชุ่มชื่นคืนผิว        - ควรเลือกสบู่เหลวที่ไม่มีกลิ่นหรือกลิ่นอ่อนๆ ไว้ล้างมือก่อนปรุงอาหาร เพื่อไม่ให้อาหารติดกลิ่นสบู่ไป          - ล้างฟองออกให้เกลี้ยงเพื่อเลี่ยงการสะสมของสารตกค้างที่อาจทำให้ระคายเคืองผิวได้        - ถ้ามีขวดเดิมอยู่แล้ว ครั้งต่อไปควรซื้อแบบถุงเติมเพื่อช่วยลดปริมาณขยะจากขวดพลาสติกข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อ ฉบับที่ 217 ผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือhttps://mgronline.com/goodhealth/detail/9600000088199https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/966/Hand-hygienehttps://my-best.in.th/49271https://www.thestorythailand.com/08/07/2021/33784/

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 253 ทางเลือก? ทางรอด? หรือทางลวง? แต่เสียเงินไปแล้วสี่หมื่น

        ผู้ป่วยจำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ นอกจากจะมีความทุกข์จากอาการเจ็บป่วยทางกายแล้ว ยังมีผลกระทบต่อไปยังจิตใจทั้งความเครียดและความกังวลด้วย ผู้ป่วยเหล่านี้หลายรายจึงแสวงหาแนวทางการรักษาทุกช่องทางเพื่อบรรเทาความทุกข์จากการเจ็บป่วยของตน เมื่อได้ข่าวว่ามีแหล่งใดที่จะสามารถรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ ผู้ป่วยและญาติจะรีบพากันพากันไปหาเพื่อรักษาทันที โดยที่อาจจะไม่ทันได้คิดไตร่ตรองว่าจะปลอดภัย ได้ผลจริงหรือไม่ หรือจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน         เครือข่ายชมรมเภสัชชนบท พบกรณีประชาชนเข้าสู่ขบวนการรักษาและใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพจากการ  บอกเล่า ซักชวน จากผู้ที่ไม่ใช่บุคคลากรทางการแพทย์และไม่ใช่สถานพยาบาลตามกฎหมาย มีพฤติกรรมโอ้อวดโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์เกินจริง โดยพบรายงานเป็นระยะๆจากหลายพื้นที่  เช่น เดือนกันยายน 2564 เกิดกับสมาชิกในครอบครัวหนึ่ง ซึ่งมีผู้ป่วยในบ้านหลายคน คนแรกแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง อยู่ระหว่างรักษาด้วยการฉายแสงที่โรงพยาบาลศูนย์ แต่เมื่อญาติทราบข่าวว่ามีสำนักสงฆ์แห่งหนึ่ง ให้การรักษาผู้ป่วยด้วยยาที่สั่งจากประเทศจีนร่วมกับการทำพิธีกรรม แล้วสามารถรักษาได้หายแทบทุกโรค มีผู้คนจากหลายพื้นที่เข้ามารับการรักษามากมาย ญาติจึงได้พาไปติดต่อเพื่อขอรับการรักษาบ้าง         เมื่อได้ตกลงเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว ขั้นตอนการรักษา คือ ทำการดูดวงให้ผู้ป่วยก่อนว่าจะรอดหรือตาย ซึ่งรายนี้ได้รับแจ้งว่าดวงยังไม่ถึงตาย พระจึงสั่งยามาให้ การสั่งซื้อยาใช้เวลา 2 วัน ในช่วงระหว่างเวลาที่รอรับยานั้น มีการแจ้งให้ญาติไปจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับทำพิธีกรรม ค่าอุปกรณ์รวมกับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ใช้งบ 2,000 บาท โดยประมาณ  เมื่อยามาถึงแล้วจึงมาทำพิธีกรรมก่อนส่งมอบยา ในขั้นตอนนี้มีค่าใช้จ่ายอีก 2,999 บาท  ส่วนผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นยานั้น ลักษณะเป็นแคปซูลสีขาว ไม่มีฉลาก ไม่มีขวดบรรจุ แต่ให้ญาติผู้ป่วยนำกระป๋องบรรจุยาชนิดอื่น ขนาดบรรจุยาทั่วไปได้ 1,000 เม็ดมาบรรจุ ได้ 1 กระป๋อง ราคา 15,000 บาท ซึ่งรวมๆค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว ผู้ป่วยรายนี้เสียเงินไปประมาณสองหมื่นบาท ในระยะเวลาเดียวกัน ญาติคนที่สองมีอาการทางมดลูก ก็ได้เข้ารับการรักษาและสั่งซื้อยาในลักษณะเดียวกันด้วย และเสียค่าใช้จ่ายไปในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน รวมๆแล้วครอบครัวนี้ เสียเงินไปประมาณสี่หมื่นบาท ซึ่งอาการป่วยของทั้งคู่ก็ยังไม่หาย         ต่อมาภายหลัง แกนนำคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชนทราบเรื่องดังกล่าว เกรงว่าจะเป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะมีการโอ้อวดโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์เกินจริง และผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็ไม่มีทะเบียนยา จึงได้ลงไปพูดคุยกับผู้ป่วยและญาติ พร้อมแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง             กรณีข้างต้นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เครือข่ายแกนนำคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการเฝ้าระวังเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์วิปปิ้งครีม(ครีมแท้)

        ฉบับนี้ขอชวนผู้บริโภคสายเบเกอรี่ ทั้งคนชอบกินและคนชอบทำ มาสำรวจฉลากวิปปิ้งครีมกัน         ‘วิปปิ้งครีม’เป็นครีมจากน้ำนมหรือไขมันพืช เมื่อตีให้ขึ้นฟูจนครีมตั้งยอดได้ก็จะเป็น ’วิปครีม’           เมื่อก่อนเรามักลิ้มรสชาติวิปครีมที่หอมมัน นุ่มละมุนลิ้น บนหน้าเค้กหรือเป็นส่วนประกอบในขนมเบเกอรี่ต่างๆ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นไอศกรีม น้ำปั่น น้ำหวาน เครื่องดื่มร้อน-เย็น ก็ใส่วิปครีมเป็นหน้าท็อปปิ้งเพิ่มความอร่อยได้หลากหลายเมนู และกำลังนิยมกันมาก หากบริโภคบ่อยๆ เสี่ยงไขมันเกินได้         ทั้งนี้ นมสด 100% จะมีไขมัน 3.3% ในตำราเบเกอรี่ระบุว่า วิปปิ้งครีมแท้จะมีไขมันเนย 30-36%         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์วิปปิ้งครีม ทั้งหมด 12 ตัวอย่าง เลือกเฉพาะที่ระบุว่าเป็นครีมแท้ชนิดวิปปิ้งครีม จากร้านค้าและห้างค้าปลีก มาสำรวจฉลากเพื่อดูเปอร์เซ็นต์ของครีมแท้จากนม ปริมาณพลังงานและไขมันทั้งหมด รวมถึงความคุ้มค่า เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภค           ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 208) พ.ศ.2543 เรื่อง ครีม ระบุให้ครีมเป็นอาหารที่กําหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน “ครีมแท้” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่แยกได้จากนม โดยกรรมวิธีต่าง ๆ และมีมันเนยเป็นส่วนประกอบที่สําคัญ สำหรับมาตรฐานของครีมแท้ชนิดวิปปิ้งครีม คือต้องทำจากนมและมีมันเนยไม่น้อยกว่าร้อยละ 28 ของน้ำหนัก ผลสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์วิปปิ้งครีม(ครีมแท้)-จากทั้งหมด 12 ตัวอย่าง พบว่ามี 4 ตัวอย่าง ที่ระบุว่าเป็นครีมแท้จากนมโค 100 % ได้แก่ ยี่ห้อแมกโนเลีย, โฟร์โมส, เมจิ และเอ็มมิลค์-ค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์ครีมแท้ในตัวอย่างวิปปิ้งครีมทั้งหมด คือ 95.44 %  - มี 3 ตัวอย่างที่มีเปอร์เซ็นต์ครีมแท้น้อยกว่าค่าเฉลี่ย คือ ยี่ห้อเวสท์โกลด์ (86%), พอลส์(81.76%) และเดบิค(81%)-เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่า ยี่ห้อเพรสซิเด้นท์ แพงสุด คือ 0.75 บาท  ส่วนยี่ห้อเอโร่ ถูกสุดคือ 0.17 บาท-มี 6 ตัวอย่าง ที่แสดงฉลากโภชนาการระบุปริมาณพลังงานและไขมันทั้งหมดในวิปปิ้งครีม 100 มิลลิลิตร ได้แก่ ยี่ห้อแองเคอร์, เอ็มบอร์ก, พอลส์, เพรสซิเด้นท์, เดบิค และเวสท์โกลด์ พบว่ามีปริมาณพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 335.9 กิโลแคลลอรี และปริมาณไขมันทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ 35.3 กรัม-ยี่ห้อเอ็มบอร์กและพอลส์ มีพลังงานมากที่สุดคือ 337 กิโลแคลลอรี่ต่อ 100 มิลลิลิตร ส่วนยี่ห้อเวสท์โกลด์ มีพลังงานน้อยที่สุดคือ 334.6 กิโลแคลลอรี่ต่อ 100 มิลลิลิตร  -ยี่ห้อแองเคอร์ และเวสท์โกลด์ มีไขมันทั้งหมดมากที่สุดคือ 35.5 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ส่วนยี่ห้อเดบิค มีไขมันทั้งหมดน้อยที่สุดคือ 35 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร   ข้อสังเกต-ทั้ง 4 ตัวอย่างที่มีครีมแท้จากนมโค 100 % เป็นวิปปิ้งครีมพาสเจอร์ไรส์ ที่ผลิตในประเทศไทย และไม่มีฉลากโภชนาการที่ระบุปริมาณพลังงานและไขมันทั้งหมดไว้-มี 6 ตัวอย่างที่นำเข้าจากต่างประเทศ คิดเป็น 50% ของตัวอย่างที่นำมาสำรวจ-ยี่ห้อเพรสซิเด้นท์ ที่มีราคาต่อหน่วยแพงสุด มีครีมแท้ 99.6% นำเข้าจากฝรั่งเศส ส่วนยี่ห้อเอโร่ ที่ราคาต่อหน่วยถูกสุด มีครีมแท้ 99.97% ผลิตในประเทศไทย-ยี่ห้อเวสท์โกลด์ มีพลังงานน้อยที่สุด แต่มีไขมันทั้งหมดมากที่สุด-ปริมาณพลังงานเฉลี่ยของวิปปิ้งครีม 100 มิลลิลิตร อยู่ที่ 335.9 กิโลแคลอรี ถือว่าพอๆ กับพลังงานของอาหารจานเดียว 1 จานที่ปริมาณ 300 – 600 กิโลแคลอรี และคิดเป็นประมาณ 16.8% ของปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน (2,000 กิโลแคลอรี่) นี่คือวิปปิ้งครีมจืดๆ แต่ถ้านำไปตีเป็นวิปครีมแล้วใส่ส่วนผสมอื่นๆ เพิ่ม เช่น น้ำตาล คาราเมล หรือช็อกโกแลต ก็จะได้พลังงานบวกเพิ่มเข้าไปอีก-ค่าเฉลี่ยของปริมาณไขมันทั้งหมดในวิปปิ้งครีม 100 มิลลิลิตร อยู่ที่ 35.3 กรัม คิดเป็นประมาณ 54.3% ของปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน (< 65 กรัม) ซึ่งค่อนข้างสูงทีเดียว- ในฉลากระบุว่ามีไขมันทรานส์ด้วย ไม่ต้องตกใจ เพราะอยู่ในน้ำนมธรรมชาติ และมีปริมาณน้อยมาก (0.94 -1.7 กรัม) ฉลาดซื้อแนะคนชอบกิน - ควรกินวิปปิ้งครีมแท้ โดยสังเกตว่าวิปครีมที่ทำจากวิปปิ้งครีมแท้ จะสีออกเหลือง ไม่ขาวจั๊ว หอมมันกลิ่นนมสดเข้มข้น กินแล้วละลายในปาก ไม่มีคราบมันติดปาก อย่างไรก็ตามควรบริโภคแต่น้อย  เพื่อลดเสี่ยงภาวะไขมันเกินคนชอบทำ - ก่อนซื้อวิปปิ้งครีมควรดูฉลากให้ชัดเจน เพราะครีมที่ใช้ทำขนมเบเกอรี่ยังมีอีกหลายชนิด เช่น ฮาลฟ์ครีม(ไขมัน 10-18%) คุกกิ้งครีม (ไขมัน 18-56%) เฮฟวี่ครีม(ไขมัน 36-38%)และดับเบิ้ลครีม(ไขมัน 48-60%) หากจะทำวิปครีม แล้วซื้อครีมที่มีไขมันน้อยกว่า 35% มา อาจตียากหรือตีไม่ขึ้นเลยก็ได้         -จากตัวอย่างมีหมายเหตุบนฉลากว่า “เปิดแล้วใช้ให้หมดภายใน...” น้อยที่สุด  1 วัน มากที่สุด 4 วัน เพราะตามมาตรฐานครีมแท้จะต้องไม่มีวัตถุกันเสีย เมื่อเปิดแล้วจะเก็บได้ไม่นาน จึงควรดูวันหมดอายุให้ดีๆ ซื้อมาเท่าที่จะใช้ ไม่ควรซื้อตุน         -ถ้าใช้ไม่หมด ให้แรปปิดกล่องให้สนิท หรือเทส่วนผสมใส่ภาชนะสะอาดและเขียนวันหมดอายุติดไว้ด้วย เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา อย่าใส่ช่องแช่แข็ง ครีมจะแข็งแล้วตีไม่ขึ้นฟู         -เมื่อหมดอายุแล้ว ต้องทิ้งไป แม้บางทีรสชาติและลักษณะของวิปปิ้งครีมยังเหมือนเดิม ก็อย่าเสียดาย เพราะอาจมีเชื้อราที่มองไม่เห็นเจือปนอยู่ได้  ข้อมูลอ้างอิงhttps://my-best.in.th/50276https://krua.co/cooking_post/whipping-cream/https://www.dip.go.th/files/Cluster/20.pdfhttp://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P208.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก พื้นที่จังหวัดอยุธยา

        ไส้กรอกเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ ที่ได้รับความนิยมเสมอไม่เคยเปลี่ยน หารับประทานได้ไม่ยากมีตั้งแต่ราคาพอเหมาะจ่ายได้ไม่แพงจนถึงราคาแพงหรูหรา อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์แปรรูปประเภทนี้จะมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารหลายชนิด โดยเฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ในการถนอมอาหารและให้สีสันที่สวยงาม ดังนั้นหากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารไม่ถูกต้อง ใช้ตัวที่ห้ามใช้หรือใช้เกินมาตรฐาน ก็จะได้ยินข่าวตามมาถึงปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่อ่อนไหวง่ายอย่างเด็กๆ         เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีพบเด็กป่วยด้วยภาวะเมธฮีโมโกลบิน (methemoglobinemia) จำนวน 14 รายใน 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เพชรบุรี สระบุรี ตรัง พะเยา สงขลา นครศรีธรรมราช และกาญจนบุรี โดยทั้งหมดกิน "ไส้กรอก" ซึ่งจากการสืบสวนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า เป็นไส้กรอกที่ผลิตจากโรงงานเถื่อนในจังหวัดชลบุรี ซึ่งผลวิเคราะห์จากตัวอย่างไส้กรอกที่ผู้ป่วยรับประทานทั้ง 4 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อ “ฤทธิ์” ฮอทดอก รมควัน และฟุตลองไก่รมควัน ไม่ระบุยี่ห้อ  พบว่ามีปริมาณไนไตรท์เกินจากที่กฎหมายกำหนดถึง  35-48 เท่า ทำให้ อย.ขยายผลต่อเนื่องร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการผลิตไส้กรอกที่ไม่ได้มาตรฐาน ต่อมามีรายงานข่าวว่า อย.จับกุม 2 โรงงานผลิตไส้กรอกไม่ได้มาตรฐาน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 3-4 ก.พ. 65 แต่กว่า อย.จะแถลงว่าพบสินค้าไส้กรอกไม่ได้มาตรฐานยี่ห้อใดบ้าง ก็ผ่านเวลาไปหลายวัน (แถลงผลวันที่ 13 ก.พ.) ซึ่งในช่องว่างของระยะเวลาดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่ออกจากโรงงานไปนั้นประเทศไทยไม่มีระบบการเรียกคืน และระบบการกระจายสินค้าของโรงงานไม่สามารถบอกได้ว่าส่งขายไปที่ไหนบ้าง ผู้บริโภคจึงยังคงเสี่ยงภัยกับสินค้าจากโรงงานดังกล่าว           เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยในอาหาร เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลางจึงลงพื้นที่และทำงานร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. ตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกจำนวน 17 ตัวอย่างภายในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลาดวังน้อย เมืองใหม่, ตลาดเจ้าพรหม, ห้ามแมคโคร อยุธยา, ร้านซีพีเฟรชมาร์ท สาขาอยุธยา เดชาวุธ เมื่อวันที่  24  กุมภาพันธ์ 2565 และนำส่งวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุเจือปนอาหารประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid), กรดซอร์บิก (Sorbic acid), ไนเตรท (Nitrate) และ ไนไตรท์ (Nitrite) ซึ่งเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้เป็นสารกันเสีย สารคงสภาพของสี รวมถึงใช้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด ว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดไว้หรือไม่ สรุปผลทดสอบ1.พบสารไนเตรทในทุกตัวอย่าง ปริมาณตั้งแต่ 20.67 – 112.61 มก./กก. ทั้งนี้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่อนุญาตให้ใช้สารไนเตรทในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีโดยใช้ความร้อน (ไส้กรอกสุก หมูยอ ไก่ยอ ลูกชิ้น) 2.พบสารซอร์บิก ปริมาณเกินมาตรฐาน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ ฮอทดอกไก่ (ไส้กรอกไก่) ตราพีแอนด์เจ ปริมาณ 2191.75 มก./กก. ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 อนุญาตให้ใช้กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ซึ่งเป็นสารกันเสีย ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธี ได้ไม่เกิน 1500 มก./กก. โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามใช้ร่วมกับสารกันเสียในกลุ่มไนไตรท์3.พบสารเบนโซอิก 3 ตัวอย่าง ได้แก่ Kfm ไส้กรอกไก่รมควันหนังกรอบ ป๊อบปูล่า ปริมาณ 148.28 มก./กก. , ฮอทดอกไก่ (ไส้กรอกไก่) ตราพีแอนด์เจ ปริมาณ 58.87 มก./กก. และ CFP ไส้กรอกจัมโบ้หมูรมควันหนังกรอบ ปริมาณ 41.05 มก./กก.  ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่มีเกณฑ์กำหนดให้ใช้วัตถุกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid)4.พบสารไนไตรท์ใน 12 ตัวอย่าง ไม่พบ 5 ตย. ทั้งนี้ปริมาณที่พบอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (<10.00 – 53.74 มก./กก.) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 อนุญาตให้ใช้สารกลุ่มไนไตรท์ ในปริมาณไม่เกิน 80 มก./กก. ข้อสังเกตจากผลการทดสอบพบว่า        1.มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอก 1 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบทั้งซอร์บิก เบนโซอิก และไนเตรท ได้แก่ ฮอทดอกไก่ (ไส้กรอกไก่) ตราพีแอนด์เจ (วันผลิต/วันหมดอายุ ) ตามกฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้สารกลุ่มซอร์บิกร่วมกับสารกลุ่มไนไตรท์ และไม่อนุญาตการใช้เบนโซอิก เท่ากับว่าผิดมาตรฐานเพิ่ม        2.การพบสารไนเตรทในทุกตัวอย่าง ทำให้เกิดข้อสงสัยในการผลิตไส้กรอก เนื่องจากเป็นสารที่ไม่ได้กำหนดมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์ไส้กรอกชนิดสุกหรือก็คือห้ามใช้ (หากเป็นไส้กรอกที่ไม่ผ่านการปรุงสุกกำหนดมาตรฐานให้ใช้ในปริมาณไม่เกิน 200 มก./กก.) แต่กลับพบในทุกตัวอย่าง ทั้งนี้การปนเปื้อนของไนเตรทอาจเป็นไปได้ทั้งจากการที่ผู้ผลิตจงใจใช้ทั้งที่กฎหมายห้าม หรืออาจเกิดจากการที่ผู้ผลิตยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนสูตรการผลิต เนื่องจากเดิมเคยอนุญาตให้ใช้ได้ในปริมาณ ไม่เกิน 500 มก./กก. ซึ่งต่อมาปรับเป็นไม่ได้กำหนดให้ใช้ ตั้งแต่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 และประกาศฉบับปัจจุบัน (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 หรือการที่พบในปริมาณน้อยอาจเกิดจากการปนเปื้อนที่มาจากวัตถุดิบหรือวัตถุเจือปนอาหารชนิดอื่นๆ ที่ใช้ร่วมกันในการผลิตข้อแนะนำในการบริโภค        หากผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์แปรรูปประเภทลูกชิ้น หมูยอ หรือไส้กรอกชนิดสุก ในเบื้องต้นอาจสังเกตสีของไส้กรอกที่ไม่สดจัดจนเกินไป เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเลขสารบบอาหาร 13 หลัก (เลข อย.) สำหรับการซื้อจากร้านค้าที่อาจไม่ทราบว่าไส้กรอกเป็นผลิตภัณฑ์ยี่ห้อใด อาจขอให้ผู้ขายแสดงหีบห่อบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่นำมาขายเพื่อให้ทราบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเลข อย.หรือไม่ นอกจากนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ควรบริโภคในปริมาณพอเหมาะ ไม่บ่อยครั้งจนเกินไป และเนื่องจากเด็กๆ จะชอบรับประทานอาหารประเภทนี้ แต่เด็กก็เป็นกลุ่มเสี่ยงคือมีความไวต่อวัตถุกันเสียโดยเฉพาะประเภทไนไตร์ท ผู้ปกครองจึงควรพิจารณาให้เลือกรับประทานอย่างเหมาะสมข้อมูลอ้างอิง- กิตติมา โสนะมิตร และ เอกสิทธิ์ เดชานุวัตร.การประเมินการได้รับสัมผัสไนไตรท์และไตรทจากการบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์. ว.กรมวิทย์ พ.2564 ; 63 (1) : 160-172.- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) - พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 252 อาหารเสริมรักษาดวงตา......จนตาเสีย

        ดวงตาเป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญในร่างกาย  ด้วยความสำคัญของดวงตา และผลกระทบจากการที่ต้องถูกใช้งานอย่างหนัก  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาสรรพคุณในการบำรุงรักษาดวงตาจึงผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อออนไลน์  และยังมีการใช้กลยุทธในการตลาดที่มีความซับซ้อนมากขึ้น  เช่น  ได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแต่ใช้ขวดบรรจุที่มีลักษณะคล้ายกับขวดยาหยอดตาทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าสามารถหยอดตาได้  การตัดต่อภาพข่าวมาโฆษณาเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการตลาด ใช้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้มีชื่อเสียง นักร้อง นักแสดงมาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา หรือแม้แต่การนำผลิตภัณฑ์หยอดตาที่ผลิตขึ้นเองโดยไม่ได้รับอนุญาตไปบริจาคตามโรงทาน เป็นต้น         เครือข่ายชมรมเภสัชชนบท  พบกรณีผู้บริโภคที่สูญเสียดวงตาข้างขวาไปตลอดชีวิต จากการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาใช้หยอดตา  โดยผู้ขายโฆษณาขาย  โดยอ้างว่าสามารถดื่มเพื่อรักษาอาการปวดขาและสามารถนำไปใช้หยอดตาเพื่อรักษาอาการต้อกระจกได้ ซึ่งเดือนแรกที่ผู้บริโภคดื่มรู้สึกว่าอาการปวดขาลดลง  เดือนต่อมาจึงนำมาหยอดตาตนเอง  เนื่องจากเห็นว่าผลิตภัณฑ์นี้ช่วยทำให้อาการปวดขาดีขึ้น น่าจะช่วยรักษาตาต้อกระจกให้หายได้เช่นกัน  จึงนำมาหยอดตาแบบวันเว้นวัน ซึ่งทุกครั้งที่หยอดตาจะมีอาการแสบร้อนที่ดวงตา แต่ผู้ขายกลับบอกว่า ยิ่งแสบแสดงว่ายานี้ได้ผลไปฆ่าเชื้อจะได้หายไวๆ         ผู้บริโภครายนี้ได้หยอดตาไปถึง 6 ครั้งและเริ่มมีอาการแสบตามากขึ้น  จึงไปโรงพยาบาลและตรวจพบว่าดวงตาติดเชื้อและเยื่อตาทะลุ ต้องผ่าตัดดวงตาข้างขวาออก มิฉะนั้นจะเกิดการติดเชื้อลามไปที่สมองและเสียชีวิตได้  กรณีนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายกรณีของผู้บริโภคที่ถูกหลอกลวงให้หลงเชื่อจากคำโฆษณา  เกินจริง แล้วพวกเราจะติดอาวุธมิให้ตกเป็นเหยื่อได้อย่างไร         พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2510 การโฆษณาสรรพคุณของอาหารเป็นยารักษาโรค ถือว่าเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร  ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ          วิธีการที่ดีที่สุดในการดูแลรักษาสุขภาพ  คือ  การปฏิบัติตามกลยุทธ์สุขภาพดีด้วย 4 อ  ได้แก่ อากาศ  อาหาร  ออกกําลัง และอารมณ์  โดยจัดสถานที่ให้มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ  รับประทานอาหารที่ดีมีคุณค่าให้ร่างกายได้สารอาหารครบตามที่ร่างกายต้องการ  ออกกำลังกายให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว  ให้อวัยวะต่างๆ ได้ทำงานอย่างสมดุล  และควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในภาวะปกติอยู่เสมอ   หากสามารถปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว  สุขภาพกาย  สุขภาพจิต จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมดุลส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง  สดชื่น แจ่มใส  ช่วยป้องกันตัวเรามิให้ตกเป็นเหยื่อ หลงเชื่อโฆษณาเกินจริงได้อีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 โควิด 19 น่ะของจริง แต่ผลิตภัณฑ์บางอย่างอาจจะปลอม?

        ข่าวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด19 จะมีการเผยแพร่ออกมาเรื่อยๆ ล่าสุดมีการนำผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรที่ใช้ในผู้ป่วยจากประเทศจีนเข้ามาขออนุญาตจำหน่ายในไทย โดยยานี้ได้รับอนุญาตในประเทศไทยแล้ว โดยให้สรรพคุณบรรเทาอาการจากไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ปวดเมื่อยร่างกาย บรรเทาอาการไอ เจ็บคอ ปวดหัว และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้ประชาชนต้องการยาสมุนไพรชนิดนี้มาก จึงมีผู้ฉวยโอกาสนำยาปลอมลักลอบมาจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก และยังขายในราคาแพงกว่ายาจริงอีกด้วย        จากข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภคพบว่าจำหน่ายถึงราคากล่องละ 350-380 บาท ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรของแท้ราคากล่องละ 279 บาทเท่านั้น ซึ่งล่าสุดผู้นำเข้ายาสมุนไพรนี้ได้แจ้งความเพื่อให้ตำรวจติดตามดำเนินคดีแล้ว         สมุนไพรจากจีนยังมีมาอีกเรื่อยๆ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นจมูกต้านเชื้อแบคทีเรีย ทางสื่อออนไลน์ โดยระบุสรรพคุณว่า สมุนไพรชนิดนี้ ใช้สเปรย์พ่นจมูกต้านเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันและรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ จมูกตัน น้ำมูกไหล จมูกคัน แห้งตึง สูตรสมุนไพรบริสุทธิ์ สเปรย์ฆ่าเชื้อป้องกันไวรัส และต้านการอักเสบที่มีประสิทธิภาพ 10 วินาทีผ่านโพรงจมูกและหายเร็วโดยไม่เกิดซ้ำ” จนบางคนนำไปใช้กับผู้ป่วยโควิด 19         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าผลิตภัณฑ์นี้ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. จึงไม่สามารถประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลตามที่กล่าวอ้างได้ และพบว่าผู้จำหน่ายมีลูกเล่นในการหลบเลี่ยงให้ดำเนินการตามกฎหมายได้ยาก โดยเมื่อจะสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ ผู้ซื้อจะต้องกรอกข้อมูลชื่อผู้ซื้อและเบอร์โทรศัพท์ของตนลงในเว็บไซต์ หลังจากนั้นผู้ขายจึงจะติดต่อกลับเพื่อส่งสินค้าโดยการเก็บเงินปลายทาง ทำให้โฆษณานี้จะไม่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ขายได้ และหากผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์แล้วไม่ได้ผลตามที่กล่าวอ้างหรือได้รับอันตราย การเอาผิดใดๆ กับผู้ขายก็ทำได้ยาก        นอกจากสมุนไพรจีนแล้ว ยังมีผู้นำผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรทางเลือกในไทย ไปมอบให้ตามโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด 19 โดยแนะนำว่าให้ใช้รักษาโควิด มีการนำเสนอภาพการรับมอบผลิตภัณฑ์ หรือคลิปประสบการณ์ของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้แล้วหายจากการป่วย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการโฆษณาอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากสมุนไพรหลายชนิด ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว หัวคล้า รากฟักข้าว รากมะนาว รากสะแก รากกระทุงหมาบ้า รากย่านาง บอระเพ็ด แต่เมื่อตรวจสอบจากสูตรที่ขึ้นทะเบียนตํารับแล้ว พบว่าไม่มีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบ และมิได้มีสรรพคุณหรือมีฤทธิ์ในการช่วยรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด และไม่พบหลักฐานข้อมูลการวิจัยถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้เพื่อข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคโควิด-19  นอกจากนี้ยังพบว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ยาแผนไทย มีข้อบ่งใช้เป็นยาแก้ไข้ ดังนั้นการนำเอาผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวมาใช้เพื่อรักษาโรคโควิด-19 จึงไม่สอดคล้องตามสรรพคุณที่ขึ้นทะเบียนไว้         ในยุคที่ผู้คนกำลังตื่นตัวในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันและรักษาโควิด 19 แม้การใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกต่างๆ จะเป็นสิ่งที่หลายคนอยากลองนำมาใช้ แต่หากเราผลีผลามนำมาใช้โดยไม่หาข้อมูลอย่างรอบคอบแล้ว เราอาจจะเสียทั้งเงิน และอาจเสี่ยงต่ออาการป่วยที่ลุกลามไปได้ ดังนั้นควรปรึกษาหรือติดตามตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานของสาธารณสุขก่อนจะดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 “มือแชร์ข่าวปลอมเลยพวกนี้ ต้องเอากลับมาแชร์ข่าวดีแทน”

        นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับนี้พาไปพบคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอีกท่าน ภญ.ชโลม เกตุจินดา หลังจากเรียนจบสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ก็มุ่งมั่นมาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพราะสนใจเรื่องอาหารสุขภาพ อาหารปลอดสารพิษ การดูแลสุขภาพ โดยเน้นเรื่องวัฒนธรรมชุมชน เธอบอกเราว่า “เราอยากจะเห็นสินค้าที่มันอยู่ในชุมชนได้รับการสนับสนุนและมีมาตรฐาน” ประสบการณ์และเรื่องเล่ามากมาย แต่ครั้งนี้จะเน้นถึงงานเรื่อง ข่าวปลอม ข่าวลวง ข่าวดี ว่ามีผลต่อผู้บริโภคอย่างไร และการทำงานด้วยพลังของอาสาสมัครนั้นสำคัญอย่างไร งานที่อาจารย์ให้ความสำคัญมากคือการเฝ้าระวังสินค้าออนไลน์         คืองานเฝ้าระวังออนไลน์ของเราตอนนี้ เราจะมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครคนทำงาน ซึ่งสินค้าออนไลน์ส่วนหนึ่งนี่มันก็จะมีการแชร์ โพสต์ขาย เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดค่อนข้างเยอะ    ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยารักษาหรือว่าชุดผลิตภัณฑ์ต่างๆ การตรวจพวกนี้หรือว่าสมุนไพร ซึ่งพอมีคนโพสต์แนะนำหรือให้ข่าวว่าสมุนไพรตัวนี้ใช้ดี สักพักเดี๋ยวก็จะมี “ตัวผลิตภัณฑ์” เกี่ยวกับสมุนไพรนั้นโผล่ขึ้นมาในกลุ่มไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะความที่เป็นกลุ่มเฉพาะมันก็จะทำให้การตรวจสอบจากข้างนอกมันเข้าไปไม่ถึง การที่เรามีอาสาสมัครที่เป็นกลไกอยู่ในกลุ่มไลน์ต่างๆ กลุ่มชุมชน กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่ม อพม.อะไรอย่างนี้ พอเจอประเด็นอะไรเขาก็สามารถแคปหน้าจอกลับมาให้เราตรวจดูได้ อาจจะมีการแชร์เรื่องสมุนไพรที่โฆษณาเกินจริง มีการแชร์กันเกิดขึ้นอย่างนี้นะคะ เราจะมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครในพื้นที่ ในการที่จะใช้สื่อออนไลน์แบบมีประสิทธิภาพ คนอายุเยอะส่วนใหญ่จะเป็นอาสาสมัครของเรา อายุประมาณ 50-60 หรือ 40 แถวๆ นี้         แต่ก็ยากตั้งแต่แคปหน้าจอเลย พอเราบอกว่าปัญหาของคนกลุ่มนี้คือ เชื่อง่าย แชร์ง่ายด้วย แชร์เร็ว แต่ว่าหาหลักฐานหาข้อมูลไม่ได้ เราก็จะให้เขาช่วยแคปข้อมูลกลับมาแล้วเราก็ตรวจสอบ หลักจากนั้นก็ทำกระบวนการให้เขาสามารถเชคเกอร์ (Checker) หรือตรวจข้อมูลจาก Application ของ อย. หรือ FDA ได้ อย่างน้อยๆ ตรวจเลข อย.เป็น ว่าอันนี้คือตัวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือว่าเป็นยาสมุนไพร เขาก็จะตรวจสอบผ่าน Application เป็นนะคะ อย่างนี้นะคะ ก็ค่อนข้างยากเพราะว่าแคปหน้าจอหลายยี่ห้อนะโทรศัพท์ มือถือหลายยี่ห้อมันก็จะแคปหน้าจอลำบาก พอแคปมาตัวหนังสือเขาก็จะเป็นฟอนต์ประมาณ 30 ตัวอักษรใหญ่ๆ ยาวๆ เต็มจอ มันก็จะมองไม่เห็นไม่ครบหน้าจอ ก็แคปได้ทีละจออะไรอย่างนี้ เราจะสอนให้เขาแคปแล้วก็แคปรูปแบบยาวๆ ให้มีข้อมูลครบ ก็จะเป็นเรื่องเทคนิค เพราะฉะนั้นอันนี้มันก็จะกลายเป็นเหมือนเราฝึกทักษะทางดิจิตอลให้กับอาสาสมัครผู้บริโภคในการเฝ้าระวังด้วย ตอนนี้มีอาสาสมัครกี่คนที่กระจายตามกลุ่มไลน์ต่างๆ         เราทำอบรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ตอนนี้ก็จะมีของสงขลา ประมาณ 100 คน แล้วเราก็ขยายเฉพาะโครงการนี้เป็นการเฝ้าระวังสื่อออนไลน์ คือรวมถึงเรื่องการเคลียร์เรื่องข้อมูลเท็จ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพด้วย แล้วก็จะมีประปรายไปว่าเอาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มันมีปัญหานะคะ ก็มีเริ่มไปอีก 5 จังหวัด แต่ก็ไม่ค่อยต่อเนื่องเพราะว่าสถานการณ์โควิด การฝึกอบรมที่จะต้องจับมือทำงาน  เลยจับไม่ได้เพราะว่าต้องใกล้ชิด โทรศัพท์เขาบางทีก็จะเป็นโทรศัพท์ที่มีปัญหาว่าข้อมูลเต็มเล่นอะไรไม่ได้แล้ว โทรศัพท์ลูกให้ ข้อมูลเต็มไปหมดแล้วก็ดี ไปกดรับอะไรก็ไม่รู้เป็นข้อความ SMS ยืมเงินอีก ก็เจอนะ ก็ต้องมานั่งช่วยเคลียร์ให้ เคลียร์แคช (Cache) เคลียร์อะไรให้ อันนี้ก็จะเป็นประเด็นหนึ่งเรื่องศักยภาพในเรื่องของการใช้พวกมือถือในการสื่อสาร         แต่ในช่วงโควิดนี้ อสม.ส่วนหนึ่งเขาก็จะได้รับหน้าที่ในเรื่องของการสำรวจข้อมูล ทำ Google from มันก็เลยทำให้งานแบบนี้มันได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะรู้สึกว่ามันช่วยการทำงานของเขา อาสาสมัครเราส่วนหนึ่งส่วนมากก็จะเป็นแกนนำเป็น อสม.อยู่ในชุมชนที่ต้องใช้เรื่องพวกนี้ ขณะเดียวกันก็จะมีงานอีกชุดหนึ่งร่วมกับ กพย.กับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในเรื่องของการเฝ้าระวังยาชายแดน แล้วก็คิดงานในลักษณะเป็นยุทธศาสตร์เพื่อทำงานเสริมศักยภาพเครือข่ายการทำงานร่วมกัน         เครือข่ายภาคีทำงานร่วมกันก็จะมีตั้งแต่ สาธารณสุขจังหวัด หน่วยบริการที่มีเภสัชฯ อยู่ในโรงพยาบาลระดับชุมชน เพราะว่างานเรื่องการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมส่วนหนึ่ง ก็จะมีกลุ่มเภสัชฯ ในโรงพยาบาลชุมชนที่เขาต้องลงไปดูเรื่องยาชุด ยาที่มีปัญหาสารสเตียรอยด์เกิดขึ้นในพื้นที่ หรือตัวอื่นๆ อย่างเช่น อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ที่มันขายอยู่ตามตลาดนัด  ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์นี้จะไม่มีฉลากภาษาไทย รวมถึงยาบางตัวที่อยู่ตามเขตชายแดนก็จะเป็นภาษามลายู ภาษารูมี ที่เป็นภาษาของทางมาเลเชียเขียนแบบภาษาอังกฤษแต่อ่านคำเป็นภาษามาเลเชีย ก็จะสอดคล้องกับในพื้นที่เองเขาก็มีกระบวนการทำงานของอีกด้านหนึ่ง ด้านงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ไปเชื่อมกันที่เรียกว่า Border Health ที่เรียกว่าคณะกรรมการชายแดนเรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกัน คณะเภสัชฯ ซึ่งรับหน้าที่เป็นกลไกวิชาการประสานประชาคม ซึ่งพวกเราเองคือเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ ก็จะมีประเด็นทำงานร่วมกันมีการเฝ้าระวังผลิภัณฑ์ชายแดน ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพราะว่าปัญหาอยู่ในส่วนของชุมชน             “คือส่วนหนึ่งคนไม่ค่อยไปแจ้ง อย.หรือแจ้ง สสจ.แต่พอเราไป Survey สำรวจ มีกระบวนการเฝ้าระวัง เราก็จะไปถึงต้นตอปัญหาก็คือการใช้ยาในครัวเรือน” ครัวเรือนนี้ได้ยามาจากไหน ได้ยาจากคนที่เพิ่งไปกลับมาจากอินโดฯ กลับจากมาเลย์ แล้วก็มีการส่งต่อ รวบรวมมาแล้วก็ส่งให้ศูนย์วิทย์ฯ ก็เลยกลายเป็นการร่วมมือของภาคี ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เอง คณะเภสัชฯ ก็จะไปทำกระบวนการที่เรียกว่า ฝึกให้เราเป็นนักวิจัยร่วม คือเก็บข้อมูล แล้วก็ออกแบบสอบถามให้มันสามารถมาประมวลผลวิเคราะห์ได้ ฉะนั้นก่อนที่จะไปเก็บข้อมูลก็ต้องมานั่งออกแบบสอบถาม แบบ Survey ก่อนว่าเราต้องการข้อมูลแบบไหน มันก็จะทำให้เห็นทิศทางการจัดการปัญหา         เช่น ถ้าเกิดเจอแบบนี้แสดงว่าสเตียรอยด์ที่เราเจอ คือมันค่อนข้างที่จะชัดเจนแล้ว ทางศูนย์วิทย์ฯ ก็จะส่งไปตรวจสอบ แล้วก็หลังจากนี้เราก็จะดูว่าถ้าเกิดตัวนี้มีปัญหาเราก็จะพูดคุยผ่านใครล่ะ ก็ต้องส่งไปที่ Border Health ส่วนหนึ่งก็จะมีทางสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสนะคะ ที่ทำงานกับตรงนี้แล้วก็กับด่านสินค้า ด่านตรวจสินค้าก็จะมีด่านศูนย์วิทย์ฯ ของสงขลาด้วยส่วนหนึ่งนะคะ หลังจากนี้เราก็จะเอาข้อมูลพวกนี้มานั่งคุยกันว่าจะมีข้อเสนอต่อไปอย่างไรเพื่อจัดการตัวผลิตภัณฑ์นี้ อันนี้ก็จะเป็นกระบวนการทำงานและอาสาสมัครเองส่วนหนึ่งก็จะตรวจง่ายๆ เป็นสเตียรอยด์จะเป็นในกลุ่มที่เขาถ้าพัฒนาอีกนิดหนึ่งเขาก็จะเป็นอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญที่เขาเรียกว่า อาสาสมัครนักวิทย์ อสม.เขาจะมีกลุ่มนี้ก็จะตรวจสเตียรอยด์กันเป็นเบื้องต้นก่อน ศักยภาพของกลุ่มอาสาสมัครที่น่าสนใจ         คือกลุ่มไลน์พวกนี้ที่เขาเป็นสมาชิกกันเขาก็จะเกรงใจกันส่วนหนึ่ง แต่ว่าเขาก็จะมีศักยภาพคืออย่างน้อยๆ ตอนนี้เขาเริ่มพิมพ์เป็น คือกดพิมพ์ไม่ใช่กดแชร์อย่างเดียว พอเริ่มกดพิมพ์ได้เขาก็จะเริ่มถามว่าถ้าพูดไปอย่างนี้ดีไหม อย่างคนที่ส่งข้อมูลมามีวุฒิการศึกษานะเป็นอาจารย์โรงเรียนด้วย แต่อาจารย์คนนี้ส่งข้อมูลที่มันไม่น่าเชื่อถือ น่าสงสัย เรา (อาสาสมัคร) จะตอบกลับไปอย่างไร ก็จะมีกลุ่มไลน์เพื่อปรึกษาหารือกันเป็นกลุ่มไลน์เพื่อส่งข้อมูล คือแชร์หน้าจอมาแล้วเหล่าอาสาสมัครเขาก็จะถามว่าอันนี้จะตอบไปอย่างไรดี ให้ไม่หักหน้ากันมากนัก ปัจจุบันก็ยังมีข้อความที่แชร์เรื่องผิดๆ อยู่มาก มีวิธีจัดการอย่างไร         ใช่ค่ะ ถูก เพราะฉะนั้นตอนนี้ศักยภาพของอาสาสมัครเราที่เห็นได้ชัดเจนคือ ข่าวปลอมๆ พวกนี้ที่ได้รับมาบางส่วนมันเริ่มเป็นข่าววนซ้ำ เขา (อาสาสมัคร) จะจำได้ เช่น ข่าววนซ้ำว่าแชร์เรื่องคลิปที่อาจารย์มหิดลเขาทำวิจัยเรื่องกระชาย อาสาสมัครของเราก็สามารถบอกกันต่อได้ว่า “เออวิจัยนั้นเขาก็จะยังไม่เป็นยานะ เป็นแค่การทดลองในเซลล์ที่อยู่ข้างนอกที่เป็นในหลอดทดลองยังไม่ได้ใช้ในคน” เขาก็จะพิมพ์พวกนี้ได้เรียกว่ามีชุดข้อมูลที่ถูกต้อง  คือมีชุดคำที่พร้อมจะไปอธิบายว่า เห้ย ยังไม่ได้เป็นยาอันนี้อันนั้น หรือว่าอันนี้น้ำกระชายจริงๆ ยังไม่ควรกินแบบคั้นสด เพราะมันกินแล้วมันจะระคายเคืองปาก ปากคุณจะเป็นตุ่มนะและก็ไม่ได้รักษามีแค่เสริมภูมิ ก็จะชุดคำที่เขาเอาไปพูดได้แต่มันจะเริ่มวนซ้ำแล้ว เดี๋ยวสักพักจะมีคนในกลุ่มเขาก็จะแชร์เนื่องจากความยากในการเข้าถึงยาตอนนี้นะคะ          แต่ตอนนี้ก็อาจจะมีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งยังเป็นความคลุมเครือยังไม่ลงตัวกันของข้อมูล เช่น ATK Antigen Test Kit ตอนนี้มันคืออะไรแน่มันต้องผ่าน WHO ก่อน หรือมันผ่าน อย.ก่อน ก็เป็นเรื่องประเด็นถกเถียงกัน ซึ่งการสื่อสารของ อย.ก็ไม่ชัด สื่อสารของหน่วยที่จัดซื้อก็ไม่ชัด อันนี้ก็จะลำบากนิดหนึ่ง จากประสบการณ์ของอาจารย์เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ         คือเราเองความไว้เนื้อเชื่อใจเรื่องมาตรฐานหรือเรื่อง อย.เราก็คิดว่าเป็นเกณฑ์แรก แต่ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงเรื่องเทคโนโลยีโดยเฉพาะในเรื่องของไลฟ์สไตล์ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพการบำรุงสุขภาพเป็นพวก Function Drink  อะไรพวกนี้ไปไกลมากกว่าการที่จะมารับรองมาตรฐาน  แล้วคนก็สนใจในเรื่องภูมิคุ้มกันเรื่องการสร้างความแข็งแรงมากกว่าการรักษา เพราะฉะนั้นตัวผลิตภัณฑ์พวกนี้มันค่อนข้างจะคลุมตลาดได้กว้างมากขึ้นนะคะ แล้วก็การให้ใบอนุญาตอะไรพวกนี้มันก็ง่ายขึ้นแต่ไม่มีใครยืนยันความชัดเจน คือมันขายเหมือนอาหารนั่นแหละแต่มันโฆษณามากเกินกว่าอาหาร อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เห็น         เรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภค ปัจจุบันคนก็ชอบทางลัดคือกินอะไรง่ายๆ กินนิดเดียวก็ได้ผัก 2 กิโลกรัม อะไรอย่างนี้ก็จะยิ่งสอดรับกับวิถีแบบนี้ ซึ่งเราก็คงไปบอกเขาห้ามกินไม่ได้ แต่เราก็จะต้องทำเรื่องกำกับคุณภาพกับหน่วยงาน หน่วยงานรัฐให้เขาทำเรื่อง Post Marketing ให้เยอะขึ้น เพราะเขาอนุญาตไปแล้วแต่เขาไม่ได้มาตามดูคุณภาพหลังจากที่มีใบอนุญาตออกมาแล้ว ก็มีการขายในท้องตลาดแล้ว มันควรจะมีหน่วยงานต่างหากที่มาทำเรื่องนี้ ทำวิจัยที่เรียกว่า Out of Pocket ด้วย ก็คือเราจะสุขภาพเกินไปไหม คือบางคนพร้อมจะจ่ายนะ แต่การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่มันเป็นการตลาดเหมือน Functional Drink ที่เราเห็นบางโครงการมันจะเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ และหน่วยงานก็ไม่ได้กำกับดูแล กลายเป็นเราต้องไปซื้อหาเพื่อดูแลสุขภาพมากเกินจำเป็น แต่ก็ยังเจ็บป่วยอยู่เหมือนเดิม อันนี้ก็เห็นอยู่ในประเด็นเรื่องสุขภาพ         สำหรับประเด็นเรื่องอื่นของผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีแหล่งข้อมูลรีวิวสินค้าที่เป็นกลางมาก อันนี้ก็จะเห็นพัฒนาการว่าเรายังไม่มีหน่วยงานที่จะมาดูแลสินค้าที่น่าเชื่อถือ ก็คาดหวังว่าหน่วยงานรัฐเองจะสนับสนุนเรื่องเกณฑ์สินค้าที่เป็นมาตรฐานจริงๆ แล้วก็สินค้าบางตัวที่มันทำให้เสื่อมเร็ว ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับวิถีที่เราจะต้องดูแลสิ่งแวดล้อม มันก็ควรจะมีข้อบ่งใช้ให้พวกบริษัท ร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจร่วมรับผิดชอบด้วยเกี่ยวกับขยะต่างๆ ที่มันจะเกิดขึ้น อันนี้ในแง่มุมผู้บริโภค ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นประเด็นเรื่องผู้บริโภคยั่งยืนด้วยคะ ก้าวต่อไปที่คิด         ก็คิดว่าส่วนหนึ่งคือ เราต้องไปทำระบบที่มันเป็นระบบข้อมูลที่คนเข้าถึงได้ง่าย คือตอนนี้ Application มันเยอะ สแกน QR Code ก็ง่ายแต่มันไม่มีเครื่องมือสำหรับผู้บริโภคที่เราจะเข้าถึงได้ง่ายอย่างนี้นะ ก็คิดว่ามันควรจะมีใครมาทำเรื่องพวกนี้ เปรียบเทียบราคาสินค้าต่างๆ เปรียบเทียบคุณภาพจากการสแกน QR Code คือผู้บริโภคจะต้องทำได้ง่ายขึ้น ก็คงจะต้องไปพัฒนาเขาเรียกว่า Smart People ให้เท่าทันกับสถานการณ์ว่าเรารีวิวสินค้าไม่ได้ แต่เราควรจะต้องมีเครื่องมืออะไรที่เรารู้ว่าอันนี้มันมีคะแนนให้จากคนทั่วไป ชุมชนอื่นหรือ อสม. หรือเครือข่ายผู้บริโภคอื่นๆ ที่สนใจ มีคำแนะนำอย่างไร         คือเริ่มต้นจริงๆ อสม.ทำได้นะคะ มันมีกองทุนสุขภาพท้องถิ่นรวมตัวกันแล้วก็เขียนโครงการเป็นเรื่องพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคได้เลยในเรื่องของสุขภาพในเรื่องของการตรวจสอบความเท่าทันข้อมูลสุขภาพที่เรียกว่า Health literacy อาจจะต้องให้ทางเจ้าหน้าที่ช่วยหน่อยเป็นเรื่องความฉลาดทางสุขภาพนะคะ Health literacy ซึ่งมันต้องใช้พวกเครื่องไม้เครื่องมือนี้นะคะ ไปเขียนโครงการพัฒนาศักยภาพและก็ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องหาคนมาช่วยเรื่องพวกนี้ แต่ว่าติดต่อมาทางเราได้ ยินดีเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ พบยาอันตรายที่อาจเกิดผลข้างเคียงถึงชีวิต ในกาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพเพศชาย

        นิตยสารฉลาดซื้อ พบยาอันตรายที่ต้องควบคุมพิเศษ ซิลเดนาฟิลและทาเดลาฟิล ที่อาจเกิดผลข้างเคียงถึงชีวิต ในผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพเพศชาย โทษปรับสูงสุด 150,000 บาท         นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เปิดเผยผลตรวจวิเคราะห์ยาควบคุมพิเศษ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป ที่อ้างสรรพคุณช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ จำนวน 23 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์  ได้แก่ ร้านค้าทั่วไป พื้นที่จังหวัด สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส จำนวน 16 ตัวอย่าง  ร้านค้าทั่วไปในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 2 ตัวอย่าง ร้านค้าออนไลน์ Lazada และ Shopee จำนวน 5 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2564         น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ กล่าวว่า “ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพทางเพศชาย ที่เราสุ่มสำรวจนั้น นำมาตรวจวิเคราะห์ยาควบคุมพิเศษ 3 ชนิด ได้แก่ ซิลเดนาฟิล (Sildenafil), ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) พบ 7 ใน 23 ตัวอย่าง มีซิลเดนาฟิลและทาเดนาฟิล แต่ไม่พบสารวาร์เดนาฟิล แบ่งเป็นตรวจพบทั้งซิลเดนาฟิลและทาเดนาฟิล จำนวน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ NATURAL HERBS COFFEE Kopi Jantan Tradisional สั่งซื้อจากร้านค้าทั่วไป ในตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ สงขลา         และตรวจพบซิลเดนาฟิล อีกจำนวน 6 ตัวอย่าง ได้แก่ 1. KOPI JANTAN TRADISIONAL ENERGY COFFEE (กาแฟสมุนไพรธรรมชาติ) สั่งซื้อจากร้านค้าทั่วไป ในตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ สงขลา 2. MA KHAW ม้าขาว คอฟฟี่ กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผงผสม สูตรดั้งเดิม กลุ่มสหมั่งคั่ง สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Shopee 3. GOMAX COFFEE โกแม็กซ์ คอฟฟี่ กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Shopee 4. AAAAAAA KOPI JANTAN TRADISIONAL (เสือสิงโต) กาแฟสมุนไพรธรรมชาติ สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Lazada 5. KOPI PALING SEDAP 7 ดาว (ม้า 3 ตัว) สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Lazada 6. AAAAA Kopi Jantan Tradisional สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Shopee         จากเรื่องนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ส่งผลทดสอบให้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินการทางกฎหมายต่อไป โดยบทลงโทษของการพบสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพเพศชายนั้น กฎหมายให้ปรับสูงสุดที่ 150,000 บาท เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย และมีซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันเป็นส่วนผสม ซึ่งถือว่าเป็น “อาหารไม่บริสุทธิ์” ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจเข้าข่ายอาหารปลอมหากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ตามมาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 27(4) ต้องระวางโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท และเข้าข่ายมาตรา 40 ประกอบมาตรา 41 กรณีโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างเกินจริง มีโทษโฆษณาโดยฝ่าฝืนมาตรา 40 มีโทษตามมาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 41 มีโทษตามมาตรา 71 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท สำหรับกรณีของการโฆษณาขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ที่มีลักษณะหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อและเข้าใจผิดในคุณสมบัติ หรือบรรยายสรรพคุณเกินจริงนั้น ระวังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายบนสื่อออนไลน์ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบเป็นความผิดจริง อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับดอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 (1) "อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่นำจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท"         ด้าน ภญ.ชโลม  เกตุจินดา ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวว่า “จากข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า ซิลเดนาฟิล (Sildenafil), ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) เป็นยากลุ่มที่ใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องใช้ใบสั่งของแพทย์ในการซื้อยาเท่านั้น เนื่องจากมีผลข้างเคียงสูง เช่น อาการปวดศีรษะ ตาลาย ความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคตับและไต ความดัน เบาหวาน และโรคหัวใจ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจนถึงชีวิตได้”         นส.มะกรือซง สาแม คณะทำงานเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า “การเก็บตัวอย่างในพื้นที่นั้นเก็บจากการร้องเรียนของผู้บริโภคในพื้นที่ ซึ่งมีข้อมูลจากผู้บริโภคว่าได้รับประทานกาแฟผสมสมุนไพรและมีอาการมึนไป 2 วัน จึงได้ตรวจสอบไป 13 อำเภอ ซึ่งไม่ได้มีแค่ตัวเดียวแต่มีผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ 12 ตัวอย่าง เมื่อเก็บตรวจสอบไปเจอ 2 ตัวอย่างที่พบสาร ซึ่งภาพรวมเกี่ยวกับสินค้าในพื้นที่จำหน่วยโดยลักษณะมีรถนำมาฝากขายร้านค้าซึ่งไม่ได้เป็นของทางร้านค้าจำหน่ายเอง”         น.ส.จุฑา สังขชาติ    ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวถึงการทำงานเฝ้าระวังครั้งนี้ว่า “การที่เลือกสินค้าตัวนี้มาทดสอบเพราะอะไรเริ่มจากทางภาคใต้มีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากวิถีชีวิตที่ต้องกรีดยางและต้องดื่มกาแฟตอนเช้า และจากการที่ได้ร่วมงานกับเครือข่ายนราธิวาส มีผลิตภัณฑ์ที่กาแฟลักษณะแบบนี้เป็นที่นิยมหลากหลายยี่ห้อมีลักษณะราคาแพงกว่ากาแฟทรีอินวันทั่วไป ซึ่งมีราคาแพงและเป็นที่นิยม เช่น 4 ซอง 100 บาท ซึ่งมีผู้บริโภคได้กินกาแฟประเภทนี้และหัวใจวาย จึงได้ตรวจสอบพบว่ามีผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ในหลายพื้นที่จังหวัด  ส่วนการทำงานในพื้นที่ต่อ ทางเราจะมีการเฝ้าระวังในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานร่วมกับ สสจ.นราธิวาส และจากการได้พูดคุย เราจะทำการเตือนภัยและให้ความรู้ไปยังผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจ และเรามองไปถึงการทำงานระยะยาวระหว่างคณะกรรมการไทยร่วมกับทางมาเลเซียในการเฝ้าระวังสินค้าชายแดน โดยจะผลักดันให้มีตัวแทนผู้บริโภคไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการแก้ไขปัญหามากยิ่งขึ้น และร่วมผลักดันในเชิงนโนบายต่อไป” ติดตามรายละเอียดผลการทดสอบได้ที่  https://www.chaladsue.com/article/3789 ประสานงานรายละเอียดได้ที่ : ชนิษฎา วิริยะประสาท โทรศัพท์ 081 356 3591  หรือ 086 765 9151

อ่านเพิ่มเติม >