ฉบับที่ 251 การดูแลผมแห้งเสียให้มีสุขภาพดี

        สุขภาพ “เส้นผม” ที่ดี เป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญ การมีผมสะอาด แข็งแรง สวยงามช่วยเสริมบุคลิกให้ดูดีขึ้นได้  หลายคนพยายามค้นหาวิธีการพิเศษหรือคิดสรรหาวิธีเสริมสวยต่างๆ เช่น การย้อมผม กัดสีผมหรือยืดผม มาช่วยเสริมความมั่นใจให้กับตัวเอง แต่รู้หรือไม่พฤติกรรมทั้งหมดนี้อาจให้ผลตรงกันข้ามกับที่คิดและอาจเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนทำลายเส้นผมของเรา         โดยปกติผมแห้งเสียนั้นเกิดได้จากหลากหลายปัจจัย ทั้งพฤติกรรมการดูแลเส้นผม สภาพแวดล้อม และกรรมพันธุ์พื้นฐานตั้งแต่เกิด แต่พฤติกรรมที่เสี่ยงทำให้เกิดผมเสียหลักๆ คือ        1.การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีรุนแรงกับเส้นผม เช่น การยืดผม ย้อมสีผม ดัดผม ทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีขั้นตอนในการทำที่ต้องใช้สารเคมีชนิดเข้มข้น ซึ่งสารเคมีพวกนี้จะเข้าไปทำลายโปรตีนในเส้นผมทำให้เวลาลูบผมจะรู้สึกสากๆ หยาบกระด้าง        2.การใช้แชมพู ครีมนวดผมหรือทรีตเม้นต์ต่างๆ ที่ไม่เข้ากับธรรมชาติของเส้นผม ตลอดจนพฤติกรรมการสระผม ยิ่งสระผมบ่อยผมยิ่งแห้ง หรือการสระผมด้วยน้ำอุ่นยิ่งเสริมให้ผมแห้งหยาบมากขึ้น        3.พฤติกรรมการใช้ความร้อนกับเส้นผม เช่น การใช้ไดร์เป่าผมด้วยลมร้อนขั้นสุด หรือการใช้เครื่องหนีบผม ที่มีความร้อนสูง       ดูอย่างไรว่า “เส้นผม” เริ่มเสียจนเข้าขั้นวิกฤต         ลักษณะของเส้นผมที่เริ่มเข้าสู่วิกฤตและอาจจะสายเกินแก้หากปล่อยไว้ มีรูปแบบดังนี้ ผมแห้งและรู้สึกไม่มีน้ำหนัก เบา ชี้ฟู เปราะบางขาดง่ายและสุดท้ายเริ่มแตกปลายมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งสัมผัสเมื่อลูบผม คือรู้สึกหยาบกระด้างไม่นุ่มสลวย ทั้งนี้เมื่อลองเอาช่อผมมาผูกเป็นปมเล็กๆ แล้ว ถ้าหากผมไม่คลายออกแต่ยังคงเป็นปมแน่นอยู่ เสมือนผูกเชือกแล้วยังคงอยู่ยังไง ก็ยังคงอยู่อย่างนั้น แสดงว่า “เส้นผมเสียจนเข้าขั้นวิกฤต” แล้วแน่นอน ควรจะหาวิธีบำรุงและดูทันที ดูแลเส้นผมให้มีสุขภาพที่ดีได้อย่างไร        -      ควรเลือกผลิตภัณฑ์แชมพูสระผมให้มีค่า ph อยู่ที่ 5.5 หลีกเลี่ยงแชมพูที่มีส่วนผสมของ แอมโมเนียม ลอริล ซัลเฟต สารกันเสีย และซิลิโคน          -      ใช้ครีมนวดผมเป็นประจำ และหมักผมอย่างน้อย 2-3 นาที ควรเลือกครีมนวดให้เหมาะกับตัวเอง หากรู้สึกว่าใช้แล้วเส้นผมไม่ดีขึ้นให้เปลี่ยน นอกจากนี้แม้ว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ครีมนวดผมที่ไม่ถูกกับเส้นผมจะก่อให้เกิดผมเสียได้ “แต่ยังไงการใช้ครีมนวดผมก็ยังคงเป็นวิธีการดูแลหลักที่สำคัญ”  ซึ่งหากใช้ให้ถูกกับตัวเองก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดี        -      ไม่สระผมด้วยน้ำอุ่นจัด และเป่าผมด้วยไอลมระดับพอดีไม่ร้อนจนเกินไป ควรที่จะสระผมด้วยอุณหภูมิปกติ และสระเพียงแค่ 2 วันต่อครั้ง ยกเว้นผู้ที่มีลักษณะผมมันมากอาจสระได้วันละครั้ง        -      ใส่ทรีตเม้นต์บำรุงผม โดยใช้แบบธรรมชาติเช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว โดยสามารถมาสก์ทิ้งไว้ก่อนสระผม และควรเล็มปลายผมที่แตกปลายออกอย่างน้อยทุกๆ 2-3 เดือน          ทั้งนี้สามารถใช้ตัวช่วยในการดูแลสุขภาพเส้นผมเป็นการรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมได้ อาจจะเป็นอาหารเสริมหรือวิตามินจำพวกโปรตีน สังกะสี ธาตุเหล็ก เป็นต้น แต่ก็ต้องตรวจสอบให้ดี อ่านวิธีใช้และผลข้างเคียงก่อนบริโภค  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ปัญหาผมสากแห้งจากแชมพูสมุนไพร

                เพื่อนสาวสองคนไปงาน OTOP ได้แชมพูสมุนไพรมาคนละสองขวด(คนละแบรนด์) คนหนึ่งใช้แล้วเชียร์ว่าดี ผมนิ่ม รู้สึกสะอาด ส่วนอีกคนบ่นอุบว่า ผมทั้งแห้ง ทั้งสาก ใช้ครั้งเดียวเข็ดยังเหลืออยู่เต็มขวด รอจะยกให้เพื่อนอีกคนไปใช้ ฟังแล้วจึงขอผลิตภัณฑ์มาดู พร้อมมีคำอธิบายให้เพื่อนไปดังนี้        นิยามของแชมพูผสมสมุนไพร ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม(มอก.) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นของเหลวประกอบด้วยสารลดแรงตึงผิวใช้กับเส้นผมเพื่อขจัดสิ่งสกปรกออกจากเส้นผมและหนังศีรษะ ผสมสารสกัดจากสมุนไพรหรือชิ้นส่วนสมุนไพร เช่น ดอกอัญชัน มะคำดีควาย ว่านหางจระเข้        ในการทำแชมพูผสมสมุนไพร โดยทั่วไปจะมีสารเคมีที่เรียกว่า สารลดแรงตึงผิว หรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า หัวแชมพู หรือ N70 ผสมอยู่เป็นส่วนประกอบหลัก N70 มีชื่อทางเคมีว่า Sodium laureth sulfate (SLES) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารชำระล้างช่วยทำให้เส้นผมสะอาด ทำให้เกิดฟองได้เร็ว(ตัว SLES นี้จะอยู่ในผลิตภัณฑ์ชำระล้างเกือบทุกชนิด ทั้งสบู่เหลว ครีมอาบน้ำ น้ำยาล้างจาน ฯลฯ)         คุณสมบัติที่สามารถชำระล้างคราบไขมันหรือน้ำมันต่างๆ บนเส้นผมได้ดี แน่นอนว่าผมหลังการสระจะให้สัมผัสที่แห้งด้าน เพราะน้ำมันส่วนที่เคลือบผมอยู่หลุดออกไปหมด (จึงอาจต้องทดแทนด้วยการใช้ครีมนวดผม) ดังนั้นในบางสูตรของแชมพูผสมสารสมุนไพรจึงต้องเติมพวกสารเคลือบลงไป เช่น ลาโนลีน        ข้อมูลมาถึงตรงนี้ก็ได้ความเข้าใจตรงกันว่า แชมพูผสมสารสมุนไพรไม่ได้ทำให้คุณหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีไปได้ เพราะมีสารชำระล้างเป็นส่วนประกอบหลัก แต่เมื่อได้ลองพิจารณาฉลากของแชมพูอีกแบรนด์หนึ่งที่ผู้ใช้ชื่นชม พบว่า ไม่มีส่วนประกอบของสารชำระล้าง เป็นการนำสมุนไพรมาบดคั้นจนน้ำมันหรือพฤกษเคมีแตกตัวออกมา ผสมเกลือ(โซเดียมคลอไรด์) ลงไปด้วยเพื่อเป็นสารกันบูด แน่นอนว่าแชมพูนี้ไม่มีฟอง การเกิดฟองต้องมีเคมีสังเคราะห์ผสมอยู่ในเนื้อแชมพู ดังนั้นแชมพูขวดนี้จึงเป็นแชมพูสมุนไพรแท้ๆ ข้อดีคือไม่ต้องกังวลเรื่องเคมีสังเคราะห์ แต่ข้อเสียคือ อายุการใช้งานจำกัด ความคงตัวของพฤกษเคมีไม่คงตัว บูดเสียง่าย และเวลาใช้สระผมไม่สะดวกเท่ากับแชมพูที่มีฟอง ฟองทำให้สระและล้างออกง่าย          ทางออกสำหรับผู้ที่ต้องการใช้แชมพูผสมสมุนไพร คือ การทำแชมพูสมุนไพรธรรมชาติใช้เอง ซึ่งไม่ยุ่งยากเท่าไร สวยอย่างฉลาดฉบับหน้าจะนำมาเสนอต่อไป        หรือการใช้แชมพูผสมสมุนไพรอย่างเข้าใจ เลือกที่มีส่วนผสมของสารบำรุงผมหรือใช้ครีมนวดผมเสริม จะช่วยให้รู้สึกผมนุ่มเบาขึ้นไม่แห้งสาก อีกทางเลือกหนึ่งคือ เลือกใช้แบรนด์ที่มีการคิดค้นและนำพืชสมุนไพรไปสกัดจนได้สารเคมีที่คงตัว ผสมกับสารชำระล้างที่ไม่ใช่สารประเภท SLES แต่แน่นอนว่าจะมีราคาที่แพงขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >