ฉบับที่ 274 สำรวจฉลากโภชนาการ “ขนมในกระเช้าปีใหม่”

        ช่วงเทศกาลส่งความสุขในปีใหม่นี้ ผู้บริโภคคนไหนกำลังคิดจะเลือกซื้อขนมอบกรอบหวานหอม และขนมขบเคี้ยวเค็มๆ มันๆ ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์สีสันสดใส มาจัดกระเช้าปีใหม่ ด้วยหวังว่าผู้รับจะชอบใจ อยากให้แตะเบรกไว้ก่อน เพราะแม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ยอดฮิตที่มักมอบให้กันในโอกาสพิเศษต่างๆ แต่อย่าลืมว่าขนมเหล่านี้มีส่วนผสมหลักเป็นแป้ง น้ำตาล เนย นม เกลือ ผงฟู และสารกันเสีย ซึ่งหากกินเข้าไปเยอะๆ บ่อยๆ อาจเกิดการสะสมของน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดได้         นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างขนมในกระเช้าปีใหม่ (คุกกี้ บิสกิต แครกเกอร์ และพาย) จำนวน 11 ตัวอย่าง ในช่วง 1 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2566 มาเปรียบเทียบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ (ปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม) และราคาต่อปริมาณ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคว่าจะเลือกขนมเหล่านี้จัดใส่กระเช้าปีใหม่ดีไหมหนอ  ผลการสำรวจ        ·     ทุกตัวอย่างระบุเลขที่ใบอนุญาตจาก อย. ไว้ถูกต้อง ตรวจสอบข้อมูลได้         ·     เมื่อพิจารณาฉลากโภชนาการของขนม 11 ตัวอย่าง พบว่า ยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค มีปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำมากที่สุดคือ 34 กรัม ส่วนยี่ห้อไฮไท แครกเกอร์ รสดั้งเดิม และ ยี่ห้อเดนม่า คุกกี้สอดไส้รสผลไม้ มีน้อยที่สุดคือ 25 กรัม         ·     เมื่อเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 หน่วยบริโภค พบว่า            -        ปริมาณพลังงานมากที่สุด = 180 กิโลแคลอรี คือยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค ส่วนยี่ห้อล็อตเต้ ช็อกโกพาย บานาน่า มีน้อยที่สุด  = 120 กิโลแคลอรี            -        ปริมาณน้ำตาลมากที่สุด = 11 กรัม  คือยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม ส่วนยี่ห้อไฮไท แครกเกอร์ รสดั้งเดิม มีน้อยที่สุด = 2 กรัม             -        ปริมาณไขมันมากที่สุด = 9 กรัม ได้แก่ ยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค และยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ส่วนยี่ห้อล็อตเต้ ช็อกโกพาย บานาน่า และยี่ห้อแซง มิเชล กาเลต โอ เบอร์ ทิน บัตเตอร์ คุกกี้ มีน้อยที่สุด = 5 กรัม             -        ปริมาณโซเดียมมากที่สุด = 135 มิลลิกรัม คือ ยี่ห้อแมคไวตี้ส์ ไดเจสทีฟ ออริจินอล(บิสกิตข้าวสาลี) ส่วนยี่ห้อเดนม่า คุกกี้สอดไส้รสผลไม้  มีน้อยที่สุด = 40 มิลลิกรัม         ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อบาวเซ่น เดโลบา บลูเบอร์รี่ แพงสุดคือ 0.95 บาท ส่วนยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม ถูกสุดคือ  0.22 บาท  ข้อสังเกต        - เมื่อคำนวณในปริมาณ 1 หน่วยบริโภคที่เท่ากัน คือ 30 กรัม (ปริมาณเฉลี่ย ได้จากผลรวมของปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ÷ 11) พบว่า ยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ มีปริมาณพลังงานมากที่สุด = 160 กรัม ส่วนยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม มีทั้งน้ำตาล (11.96 กรัม) และโซเดียม (141.30 มิลลิกรัม) ในปริมาณมากที่สุด         - หากเรากินโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม 1 ห่อ (3 ชิ้น) จะได้รับน้ำตาลเกือบครึ่งหนึ่งของที่แนะนำให้กินได้ต่อวัน(ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 24 กรัมต่อวัน) ถ้าเผลอกินเพลินเกิน 2 ห่อต่อวัน ร่างกายจะได้น้ำตาลเกินจำเป็น         - วัยผู้ใหญ่ไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้น หากกินขนมแมคไวตี้ส์ ไดเจสทีฟ ออริจินอล (บิสกิตข้าวสาลี) 2 ชิ้น หรือโอรีโอ ช็อกโกแลตครีม 3 ชิ้น ก็จะได้รับโซเดียมเกินครึ่งหนึ่งของที่แนะนำไว้แล้ว        - เมื่อลองนำเกณฑ์สัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกสุขภาพ” มาพิจารณา ในปริมาณขนม 100 กรัม         ขนมบิสกิตและแครกเกอร์   กำหนดให้มีน้ำตาล ≤ 7 กรัม  และโซเดียม ≤ 500 มิลลิกรัม พบว่าทุกตัวอย่างมีน้ำตาลเกิน และมีโซเดียมอยู่ในเกณฑ์        ขนมคุกกี้  กำหนดให้มีน้ำตาล ≤ 20 กรัม และ โซเดียม ≤ 300 มิลลิกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างมีน้ำตาลเกิน และมีโซเดียมเกินเกณฑ์นี้ 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม (471.01 มก.)  ยี่ห้อบาวเซ่น เดโลบา บลูเบอร์รี่ (348.48 มก.) และยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค (323.53 มก.)         - ทุกตัวอย่างบอกวันผลิตและวันหมดอายุไว้ มีอายุตั้งแต่ 10 – 21 เดือน โดยมี 8 ตัวอย่างที่อายุ 1 ปี         - ยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ระบุวันหมดอายุ 01.12.23 และมีอายุนับจากวันผลิตนานถึง 21 เดือน         - มี 3 ตัวอย่างที่ผลิตในประเทศไทย ส่วนใหญ่ผลิตจากต่างประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เยอรมันฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร         - ทุกตัวอย่างแสดงข้อความเตือนว่า “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ”     ฉลาดซื้อแนะสำหรับผู้ให้        - หากจะซื้อขนมมาจัดกระเช้าปีใหม่ ต้องดูวันหมดอายุให้ดีๆ เพราะอาจมีสินค้าใกล้หมดอายุมาวางขายปะปนบนชั้นได้ ยิ่งถ้าใครซื้อแบบกระเช้าสำเร็จรูปก็ต้องตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ         - เลือกซื้อขนมที่ผลิตในประเทศไทย สนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ         - เปลี่ยนเป็นขนมที่ดีต่อสุขภาพแทน เช่น กระเจี๊ยบมอญอบกรอบ บร็อคโคลี่อบแห้ง งาดำอัดแท่งหวานน้อย ลูกเดือยกล้อง ถั่วเปลือกแข็ง (อัลมอนด์ วอลนัท) อบไม่ปรุงรส ดาร์คช็อคโกแล็ต (มี %cocoa มากกว่า 70%) เป็นต้น         - อย. แนะนำให้มอบกระเช้าของขวัญปีใหม่ในแบบ “สุขใจผู้ให้ ห่วงใยผู้รับ” โดยเลือกที่มีสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองแล้วว่ามีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมต่อสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สำหรับผู้รับ        - เมื่อได้รับขนมเหล่านี้เป็นของขวัญ มักได้เป็นกล่องหรือกระป๋องใหญ่ แกะแบ่งห่อเล็กปันคนอื่นๆ ด้วยก็ดีไม่ต้องเก็บไว้เยอะ และอย่าเผลอกินเกินจำนวนหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลากโภชนาการ เดี๋ยวจะอ้วน         - ถ้าวันไหนรู้ตัวว่ากินคุกกี้ แครกเกอร์ เยอะเกินแล้ว ก็ควรจะออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไป จะได้กินขนมให้อร่อยต่อไปได้โดยไม่ต้องกลัวอ้วนหรือรู้สึกผิดต่อตัวเอง         - กินขนมคู่กับน้ำเปล่าดีที่สุด หากไม่อยากได้รับน้ำตาล ไขมันและโซเดียมเพิ่มอีก         - อย่าชะล่าใจ กินขนมอบกรอบรสหวานๆ เสี่ยงเป็นเบาหวานแล้วยังเสี่ยงเป็นโรคไตด้วย เพราะโซเดียมไม่ได้มีแต่ในเกลือที่ให้รสเค็ม แต่ยังแฝงอยู่ในผงฝูและสารกันบูดที่เป็นส่วนผสมของขนมเหล่านี้ด้วย  ข้อมูลอ้างอิงwww.thaihealth.or.thwww.oryor.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 สวัสดีปีใหม่เดินทางปลอดภัย

        ขณะทำต้นฉบับนี้ อีกไม่กี่วันปี 2564 ก็จะจากไป ขณะที่หลายคนต่างหวาดกลัวและกังวลว่าโควิด-19 จะกลับมาอีกมั้ย แต่พฤติกรรมคนส่วนใหญ่กลับละเลยการป้องกันตนเอง และกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติกันแล้ว โดยเฉพาะความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนที่พบว่ากว่า 95 เปอร์เซ็นต์มาจากพฤติกรรมการขับขี่ การขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย (เหมือนเดิม) และกลายเป็นเรื่องตลกร้ายที่ขำไม่ออก เมื่อทุกคนคิดว่าการมาของโควิด-19 นั้นทำให้อุบัติเหตุทางถนนลดลง จึงมีผลทำให้หลายมาตรการของรัฐหย่อนยานลดประสิทธิภาพลงตามไปด้วย         แน่นอนว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะมีจำนวนลดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ รัฐบาลใช้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อหยุดการเดินทางของผู้คนทั้งประเทศ ตลอดจนการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มของมึนเมาเพื่อลดการรวมกลุ่มสังสรรค์ในทุกกิจกรรม รวมถึงการที่ประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจได้เองว่า ต้องป้องกันตนเองจากสถานการณ์โรคระบาดและลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยในทุกกิจกรรม         อย่างไรก็ดีแม้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะน่ากลัว แต่ก็เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ต้องทุ่มเทสรรพกำลังทุกภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันมากที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งรัฐบาลก็ทำได้แล้วตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และมีผลให้สถานการณ์ความตึงเครียดของโรคระบาดโควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ         นับเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลมีมาตรการเข้มข้นเพื่อต้องการหยุดเจ็บหยุดตายและป้องกันทุกชีวิตจากโควิด-19 ให้ได้ แต่เมื่อหันกลับมามองดูสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนที่มีคนเจ็บและตายมากกว่าหลายเท่าตัวตลอดหลายปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า “ยังไม่เห็นความทุ่มเทของหน่วยงานเจ้าภาพหลักของประเทศและหน่วยงานในสังกัดทุกภาคส่วน ที่มีเป้าหมายร่วมเพื่อจะหยุดเจ็บหยุดตายให้ได้เหมือนโควิด-19” หากแต่เป็นเพียงวาทะกรรมอันสวยหรูของผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและสังคมบางกลุ่ม เน้นสร้างสรรค์กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ รณรงค์แบบเดิมทุกปี ที่สำคัญยังทำแค่เพียงช่วงเทศกาลเท่านั้น         ขณะที่ประเทศไทยก้าวข้ามผ่านทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2554 – 2563 (ที่ล้มเหลว) มาแล้วรอบหนึ่ง และปัจจุบันกำลังเข้าสู่แผนความปลอดภัยทางถนนในทศวรรษหน้า พ.ศ. 2565 – 2575 และยังมีแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติภายใต้แผนแม่บทด้านความมั่นคง เพื่อการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัทางถนน มีเป้าหมายเพื่อลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตางถนนลงร้อยละ 50 ในปี พ.ศ. 2565 และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกและดิจิทัล มีเป้าหมายการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนไว้ไม่เกิน 12 ต่อแสนประชากรในปี พ.ศ. 2564 - 2570 รวมถึงกรอบการดำเนินงานระดับโลกด้านความปลอดภัยทางถนนที่ประเทศไทยรับมาดำเนินการด้วย เช่น 12 เป้าหมายโลกสำหรับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน หรือ Global road safety performance targets ปฏิญญาสตอกโฮล์ม (Stockholm Declaration) หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อการขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน         จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีแผนดำเนินการและแผนปฏิบัติการมากมายหลายระดับชั้น เพื่อเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นไปตามตัวชี้วัดของข้อตกลงที่กำหนดไว้ หากแต่เมื่อขั้นตอนและระบบปฏิบัติงานยังขาดความชัดเจนต่อเนื่องและเชื่อมต่อในแต่ละระดับ หลายฝ่ายจึงมีความเชื่อในทางเดียวกันว่า เป้าหมายการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่กำหนดไว้ไม่เกิน 12 ต่อแสนประชากรภายใน 6 ปีข้างหน้า หรือปี 2570 นั้น “ไม่น่าจะทำได้”         เพราะหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ในปี 2563 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตของประชากรจากอุบัติเหตุทางถนนอยู่ที่ 27.20 คนต่อแสนประชากร หรือมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่ 17,831 คน ลดลงจากในปี 2562 ที่ 19,904 คน (ส่วนหนึ่งที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดน้อยลงมีผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19) ซึ่งต่อจากนี้หากจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้เหลือ 12 ต่อแสนประชากรภายในปี 2570 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้นั่นเท่ากับว่าประเทศไทยจะต้องมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเหลือเพียง 8,474 คนเท่านั้น         ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว เป้าหมายการลดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 12 ต่อแสนประชากรเชื่อว่าไม่น่าจะทำได้ หากถอดบทเรียนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาก็อาจจะพอพิสูจน์ให้เห็นว่าความรุนแรงและความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนนั้น เป็นเรื่องที่สามารถป้องกันและลดจำนวนลงได้  อุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่เรื่องเวรกรรมความเชื่อหรือมายาคติของสังคมอีกต่อไป การสร้างมาตรการ เป้าหมาย และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนตรงประเด็นเป็นนโยบายหลักของประเทศ ตั้งแต่ระบบการบังคับบัญชาลงมาถึงส่วนปฏิบัติงาน รวมถึงการสนับสนุนภาคีเครือข่าย และท้องถิ่นเพื่อให้มีการดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วนคือสิ่งที่ควรต้องดำเนินการให้จริงจังได้เท่ากับมาตรการป้องกันโควิด 19         แน่นอนว่าเป้าหมายสูงสุดอาจจะเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องการเวลาและความร่วมมือ และปลายทางอาจไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ระหว่างทางตัวเลขผู้เสียชีวิตต้องน้อยลงกว่านี้ให้ได้ เพราะเราคงไม่หวังให้มีโรคระบาดใหม่เพื่อมาหยุดการเจ็บตายจากอุบัติเหตุทางถนนอีกแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 เกือบเสียความสัมพันธ์ เพราะของขวัญปีใหม่

        เทศกาลปีใหม่ เรามีธรรมเนียมการมอบของขวัญปีใหม่ให้แก่ญาติ หรือเพื่อนๆ เพื่อมิตรภาพและความสัมพันธ์อันดีของกันและกัน ซึ่งห้างร้านต่างๆ ก็จัดเซตของขวัญไว้ให้ผู้บริโภคจับจ่ายเป็นของขวัญปีใหม่ให้เลือกมากมาย         ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน คุณภูผาเห็นว่าใกล้เทศกาลปีใหม่ จึงไปเดินเลือกซื้อของขวัญปีใหม่ไว้มอบให้ญาติผู้ใหญ่ของแฟนที่ร้านค้าแห่งหนึ่งย่านดอนเมือง เมื่อเดินเลือกดูเรื่อยๆ เห็นว่า ชุดของขวัญน้ำผักผลไม้แพคคู่ของบริษัทหนึ่งน่าสนใจ เหมาะเป็นของขวัญผู้ใหญ่ แพคเก็จสวยงาม เมื่อดูวันหมดอายุแล้วก็เหลือมากกว่า 6 เดือน จึงสั่งซื้อไปจำนวน 30 ชุด ราคา 2,970 บาท        เมื่อสั่งชุดใหญ่พนักงานเลยเอาลังใหม่ให้ คุณภูผาก็แบกกลับบ้านไปให้แม่แฟนไว้แจกเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับญาติผู้ใหญ่ ช่วงปีใหม่คุณแม่ของแฟนคุณภูผาก็นำชุดของวัญน้ำผักผลไม้ไปมอบให้กับญาติที่เคารพ แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้น ญาติบอกมาว่าน้ำผักผลไม้ที่นำไปมอบให้หมดอายุตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว คุณภูผารู้สึกว่าการกระทำของร้านค้าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และเสียใจที่นำของหมดอายุไปมอบให้กับญาติของแฟน ทำให้คุณแม่ของแฟนถูกญาติมองไม่ดี อีกทั้งยังทำให้ตนเองเข้าหน้ากับคุณแม่ของแฟนไม่ค่อยติดจากการซื้อชุดของขวัญหมดอายุ          เมื่อทราบเรื่องคุณภูผาก็ติดต่อไปยังร้านค้าที่ซื้อชุดของขวัญ เพื่อให้ร้านค้ารับผิดชอบ ร้านค้าบอกให้เขานำสินค้าไปเปลี่ยนที่ร้าน คุณภูผาคิดว่า “ทำไมเขาต้องนำสินค้าเขาไปเปลี่ยนที่ร้านค้า เพราะเขาต้องเสียเวลา เสียทั้งค่าน้ำมันรถไปเปลี่ยนสินค้า ในเมื่อการจำหน่ายสินค้าหมดอายุไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเขา” ในฐานะที่เขาเป็นผู้บริโภคร้านค้าควรรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เขาต้องการแค่ขอให้ร้านค้าออกหนังสือขออภัยต่อเขากับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้นำไปสื่อสารกับแม่แฟน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิ คุณภูผาได้แจ้งไปยังเฟซบุ๊กของบริษัทน้ำผลไม้ด้วย แนวทางแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แจ้งผู้ร้องว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เบื้องต้นแนะนำให้ผู้ร้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เพื่อเป็นหลักฐาน และนัดเจรจาระหว่างคู่กรณีเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน         ในวันนัดประชุมมีผู้ร้อง ตัวแทนร้านค้า และตัวแทนบริษัทน้ำผลไม้เข้าร่วมประชุมด้วย ตัวแทนบริษัทขอร่วมรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ชุดของขวัญของบริษัท และรู้สึกว่าตนเองมีส่วนผิดเนื่องจากไม่เก็บผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุจากร้านค้าที่จำหน่าย ผู้ร้องจะได้รับผลิตภัณฑ์น้ำผักผลไม้ชุดของขวัญปีใหม่จำนวน 30 ชุด และหนังสือขออภัยจากบริษัทอีกหนึ่งฉบับ ภายหลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องเพียงไม่กี่วัน         ในส่วนร้านค้าแสดงความรับผิดชอบกับผู้ร้อง โดยมอบหนังสือขออภัยหนึ่งฉบับ กิ๊ฟวอยเชอร์ 3,000 บาท และเงินชดเชยเยียวยาตามผู้ร้องเสนอ ผู้ร้องบอกว่ามีหนังสือขออภัยจากบริษัทแล้วไม่เป็นไร และขอเป็นเงินค่าสินค้า 2,970 บาท และเงินค่าเยียวยาอีก 40,000 บาท เพื่อจะนำไปจัดทริปกับครอบครัวแฟน คุณแม่แฟน กระชับความสัมพันธ์ ร้านค้ายินดีทำตามที่ผู้ร้องเสนอ เพราะว่าเป็นความผิดพลาดของทางร้านและขออภัยผู้ร้องด้วย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 214 อันดับโลกอันแสนเศร้า

ไทยเป็นอันดับ 1 ของโลก ประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดปี 2560 มีอัตราผู้เสียชีวิต 36.2 รายต่อแสนประชากร                                                                                                                                                                The World Atlasใกล้วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ทีไร เราจะเห็นภาพมวลชนจำนวนมหาศาลที่ต้องเดินทางกลับบ้านหาครอบครัวหรือไปพักผ่อนท่องเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ หลังจากทำงานหนัก ทุกปีจะมีคนเรือนแสนเบียดเสียดอัดแน่นแทบจะไม่มีที่ยืนที่สถานีขนส่งหมอชิตเพื่อรอรถโดยสารกลับบ้านต่างจังหวัด คนที่วางแผนซื้อตั๋วล่วงหน้าก็สบายหน่อย รับประกันความผิดหวังมีรถขึ้นแน่นอน แต่คนไปที่หวังหาเอาดาบหน้าล้วนต้องผิดหวังทุกราย หลายคนต้องรอรถนานข้ามคืนกว่ารถจะมี อีกหลายคนต้องขึ้นรถเสริมซึ่งไม่รู้เลยว่ารถคันที่ขึ้นเป็นรถผีรถเถื่อนหรือเปล่า รถคันนั้นผ่านการตรวจสภาพมีประกันภัยมั้ย บนถนนก็มีรถมากเคลื่อนตัวตามกันได้ช้าในทุกเส้นทาง เรียกได้ว่าเกือบจะถึงบ้านกันก็อ่วมอรทัยกันทีเดียวเชียวทั้งนี้แต่ละปีในช่วงหยุดยาวปีใหม่ 7 วันอันตราย ที่มีคนเดินทางกลับบ้านกันเป็นจำนวนมากนั้น มีหลายคนโชคดีที่ได้กลับไปกอดพ่อแม่ กอดลูกหลานด้วยความดีใจหลังจากไม่ได้เจอกันมานาน กลับกันมีอีกหลายคนที่กลับไม่ถึงบ้าน  หรือถึงบ้านแต่ก็กลับในสภาพร่างที่หมดลมหายใจ ด้วยสาเหตุสำคัญ คือ อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นซึ่งช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ในทุกๆ ปี ตามสถิติที่รวบรวมไว้จะเป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนทางถนนสูง เป็นสาเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งๆ ที่หน่วยงานและภาคีอาสาในแต่ละจังหวัด ล้วนต่างจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี แต่ก็ยังคงมีสถิติการเสียชีวิตและบาดเจ็บที่สูงในช่วง 7 วันอันตรายอยู่เช่นเดิมโดยในปี 2561 ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุทางถนนสะสมเฉพาะแค่ในช่วง 7 วันอันตรายทั่วประเทศทั้งหมด 3,841 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 423 คน ผู้บาดเจ็บ 4,005 คน โดยมีสัดส่วนลดลงจากปี 2560 เล็กน้อย แต่จากจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกิดขึ้น ต้องยังถือว่ามีจำนวนมากเกินกว่าจะรับได้ และเป็นวิกฤตของความสูญเสียที่ต้องเจอกันแบบนี้ทุกปีปัญหาของอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยและทุกประเทศจึงเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ และร่วมวางแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน ตัวเลขจากการประมาณการขององค์การอนามัยโลก WHO ในปี 2015 มีผู้เสียชีวิตต่อปีทั่วโลกมากถึง 1.25 ล้านคนต่อปี และเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 90 ) อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยรายงานความปลอดภัยทางถนนระดับโลก 2558 พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนเป็นอันดับ 2 ของโลก หรือ 24,237 คนขณะที่ในปี 2559 ประเทศไทยมีจำนวนยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 22,356 คน หรือเฉลี่ยวันละ 62 ราย หรือคิดเป็นชั่วโมงละ 2-3 ราย โดยผู้เสียชีวิตมีอายุอยู่ในช่วง 15-29 ปี มีผู้รักษาตัวในโรงพยาบาลจากกรณีอุบัติเหตุทางถนนประมาณ  1 แสนคน และกลายเป็นผู้พิการราว 60,000 คนต่อปี โดยรัฐต้องสูญเสียงบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท นับว่าเป็นความสูญเสียอย่างมากมายมหาศาลสอดคล้องกับข้อมูลจากการเปิดเผยของเว็บไซต์เวิลด์แอตลาส The World Atlas ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 เกี่ยวกับประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดในโลกปี 2560 ปรากฎว่า ประเทศไทยได้ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลก มีอัตราผู้เสียชีวิต 36.2 รายต่อแสนประชากร จากเดิมที่รั้งอันดับ 2และล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยรายงาน Global Status Report on Road Safety เรื่องรายงานความปลอดภัยทางถนนระดับโลก  ระบุว่า จากข้อมูลในปี 2018 อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้น ทำให้มีคนเสียชีวิตทุกๆ 24 วินาที ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากถึง 1.35 ล้านคนต่อปี (มากกว่าที่รายงานในปี 2015 ถึง 10 ล้านคน) ขณะที่ประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในลำดับที่ 9 (ลดลงจากเดิมเมื่อปี 2015 ที่อยู่ลำดับที่ 2) มีอัตราผู้เสียชีวิต 32.7 รายต่อแสนประชากร หรือเสียชีวิตประมาณ 22,491 คนต่อปี  ในขณะที่ 10 อันดับแรกจากการจัดอันดับของ WHO ล้วนเป็นประเทศจากแอฟริกาทั้งสิ้น มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นอันดับ 1 ในประเทศกลุ่มอาเซียน นำห่างเวียดนามซึ่งตามมาเป็นอันดับ 2 ที่ 26.7 เป็นอันดับ 1 สองปีซ้อนของเมืองหลวงที่มีรถติดติดอันดับโลกจากรายงานประเมินสภาพจราจรทั่วโลก หรือ Global Traffic Scorecard ประจำปี 2017 ของ INRIX และเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์เป็นอันดับ 1 ของโลกอีกด้วยจากผลงานติดอันดับโลกของประเทศไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา และโดยเฉพาะผลรายงาน Global Status Report on Road Safety ในปีล่าสุด แม้ว่าประเทศไทยจะมีอันดับที่ดีขึ้นจากอันดับที่ 2 มาอยู่อันดับที่ 9 แต่ถ้าพิจารณาตามรายละเอียดที่มีในรายงานจะพบว่า อัตราการตายของประเทศไทยไม่ได้ลดลงเหมือนที่เข้าใจกัน แถมแผนปฏิบัติการหลายอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ด้วย  ท้ายที่สุดถ้าทุกฝ่ายยังไม่ใส่ใจกับเรื่องนี้จริงๆ เป้าหมายที่จะลดอัตราการตายทางถนนลงคงไม่มีวันเกิดขึ้น อันดับโลกของไทยในเรื่องนี้ก็ยังอยู่ด้วยกันไปอีกนานแสนนาน 

อ่านเพิ่มเติม >

ปีใหม่นี้ เลือกอะไรเป็นของฝาก!

นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมมือกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,271 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน 2560  ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่างผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่าผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร การซื้อของฝากให้กับญาติสนิท มิตรสหาย และของฝากประเภทใดที่มีความนิยมในการเลือกซื้อ ซึ่งมีการแบ่งแยกตามแต่ละภาคของประเทศไทย รวมไปถึงการตรวจสอบฉลากเรื่องของวันหมดอายุ สถานที่ผลิต ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าจะซื้อของฝากจากการท่องเที่ยว อันดับหนึ่งคือ ขนม ของทานเล่น ร้อยละ 26.6 อันดับที่สองคืออาหารแห้ง ร้อยละ 26.0 อันดับที่สามคือของชำร่วย พวงกุญแจ ฯลฯ ร้อยละ 24.4 อันดับที่สี่คือเครื่องแต่งกาย ร้อยละ 23.0 และอันดับที่ห้าคือผักสด ผลไม้สด ร้อยละ 20.9ของฝากจากภาคเหนือ อันดับแรกคือน้ำพริกหนุ่ม ร้อยละ 36.1 อันดับที่สองคือแคบหมู ร้อยละ 29.7 อันดับที่สามคือหมูยอ ร้อยละ 25.0 อันดับที่สี่คือไส้อั่ว ร้อยละ 24.6 และอันดับที่ห้าคือใบชา ร้อยละ 18.3ของฝากจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันดับแรกคือแหนมเนือง ร้อยละ 34.7 อันดับที่สองคือหมูยอ ร้อยละ 29.4 อันดับที่สามคือกุนเชียง ร้อยละ 26.9 อันดับที่สี่คือแหนม ร้อยละ 19.7 และอันดับที่ห้าคือน้ำพริก ร้อยละ 18.3ของฝากจากภาคตะวันออก อันดับแรกคือขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 29.1 อันดับที่สองคือข้าวหลาม ร้อยละ 27.5 อันดับที่สามคืออาหารทะเลแห้ง ร้อยละ 26.3 อันดับที่สี่คือผลไม้อบแห้ง ร้อยละ 21.6 และอันดับที่ห้าคือน้ำปลา ร้อยละ 17.5ของฝากจากภาคกลาง อันดับแรกคือขนมเค้ก ร้อยละ 27.3 อันดับที่สองคือสายไหม ร้อยละ 27.1อันดับที่สามคือโมจิ ร้อยละ 26.8 อันดับที่สี่คือกะหรี่พัฟ ร้อยละ 22.0 และอันดับที่ห้าคือขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 21.9ของฝากจากภาคตะวันตก อันดับแรกคือทองหยิบทองหยอด ร้อยละ 27.7 อันดับที่สองคือขนมหม้อแกง ร้อยละ 27.6 อันดับที่สามคือขนมชั้น ร้อยละ 25.3 อันดับที่สี่คือขนมปังสัปปะรด ร้อยละ 23.4 และอันดับที่ห้าคือมะขามสามรส ร้อยละ 19.7ของฝากจากภาคใต้ อันดับแรกคือปลาหมึกแห้ง ร้อยละ 32.5 อันดับที่สองคือกะปิ ร้อยละ 29.3 อันดับที่สามคือกุ้งแห้ง ร้อยละ 24.2 อันดับที่สี่คือน้ำพริก ร้อยละ 22.3 และอันดับที่ห้าคือเครื่องแกง ร้อยละ 21.3กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีการตรวจดูวันเดือนปีที่หมดอายุ ร้อยละ 44.8 รองลงมาไม่มีการตรวจดู ร้อยละ 35.4 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 19.8 และมีการตรวจดูสถานที่ผลิต ร้อยละ 44.8 รองลงมาไม่มีการตรวจดู ร้อยละ 34.2 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 21.0และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่เคยได้รับของฝากที่หมดอายุจากบุคคลอื่น ร้อยละ 54.8 รองลงมาไม่แน่ใจ ร้อยละ 28.8 และเคยได้รับของฝากที่หมดอายุจากบุคคลอื่น ร้อยละ 16.4นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวเสริมเรื่องการเลือกซื้อสินค้าของฝากว่า ฉลากเป็นสิ่งจำเป็นและผู้บริโภคไม่ควรละเลยที่จะตรวจสอบข้อมูลที่แสดงบนฉลากก่อนการตัดสินใจซื้อ เนื่องจากฉลากเป็นหนึ่งในสิทธิของผู้บริโภคที่ว่าด้วยการได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณาคุณภาพที่ถูกต้อง และเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ดังนั้นก่อนการซื้อทุกครั้ง ควรปฏิบัติดังนี้1) ให้พิจารณาว่ามีฉลากหรือไม่ หากเป็นสินค้าที่ไม่มีฉลาก ควรหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ตามหากของฝากประเภทอาหารหลายๆ ชนิดเป็นอาหารประเภทที่ผลิตขายเฉพาะหน้าร้านของตัวเอง กฎหมายอนุญาตให้ไม่ต้องแสดงฉลาก ดังนั้นก่อนซื้อผู้บริโภคควรสอบถามข้อมูลสำคัญอย่าง วันที่ผลิตและวันหมดอายุ การเก็บหรือการดูแลรักษา ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นหรือไม่ เพื่อไม่ให้อาหารบูดเสียเร็ว 2) ถ้าหากมีการแสดงฉลาก ให้พิจารณาการแสดงรายละเอียดบนฉลากว่า เป็นภาษาไทย และ ถูกต้อง ครบถ้วน หรือไม่ ทั้งนี้หากฉลากไม่เป็นภาษาไทยควรหลีกเลี่ยงหากพบผู้ประกอบการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ผู้ประกอบการอาจมีความผิดได้สองกรณี ดังนี้ กรณีแรก หากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิตจะเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (2) ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ 2522 เรื่อง ผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย อาหารปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปีและปรับตั้งแต่ห้าพันถึงหนึ่งแสนบาทกรณีที่สอง หากไม่แสดงฉลากหรือแสดงฉลากไม่ถูกต้องครบถ้วน จะมีความผิดตามมาตรา 6 (10) ของ พ.ร.บ.อาหารฯ  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สามหมื่นบาท  หากซื้อสินค้ามาแล้วพบความผิดปกติหรือได้รับอันตรายจากการบริโภคสามารถใช้สิทธิร้องเรียนได้โดยตรงกับผู้ผลิต/ ผู้จัดจำหน่ายตามที่อยู่ที่ระบุไว้บนฉลากหรือตามสถานที่ที่ซื้อสินค้ามานอกจากนี้ก่อนเลือกซื้อของกินเป็นของฝาก นอกจากพิจารณาเรื่องฉลากเป็นสำคัญแล้ว ยังต้องดูเรื่องอื่นๆ ควบคู่กัน เพื่อให้ได้ของฝากที่สะอาดปลอดภัยต่อการบริโภค ไม่ว่าจะเป็น 1) สถานที่ขายหรือสถานที่เก็บรักษาต้องสะอาด ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสิ่งไม่พึงประสงค์ เช่น แมลง สารเคมี และอาหารควรถูกเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับแต่ละประเภทของอาหาร2) สภาพภาชนะบรรจุต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ฉีกขาด ไม่มีร่องรอยที่อาจทำให้เกิดการรั่วซึมของสิ่งปนเปื้อน3) ลักษณะของอาหารต้องอยู่ในสภาพปกติ ไม่มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อน ไม่มีร่อยรอยของการเกิดเชื้อราหรือเชื่อจุลินทรีย์ หรืออยู่ในสภาพอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยในการบริโภคที่ผ่านมาเคยมีข้อมูลผลทดสอบเรื่องความไม่ปลอดภัยของของฝากกลุ่มอาหารอยู่บ้าง เช่น เมื่อปี 2559 ว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตรวจน้ำพริกพร้อมบริโภค เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาร้าสับ น้ำพริกตาแดง น้ำพริกนรก แจ่วบอง เป็นต้น ที่จำหน่ายตามตลาดสด ตลาดนัด ศูนย์โอทอป ศูนย์ของฝากทั่วประเทศ พบว่าจากทั้งหมด 1,071 ตัวอย่าง พบว่า ไม่ผ่านมาตรฐาน 164 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 15 ส่วนใหญ่พบปัญหาเรื่องการใช้วัตถุกันเสียเกินปริมาณที่อนุญาต การปนเปื้อนจุลินทรีย์และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ เช่น เชื้อบาซีลัส ซีเรียส และ เชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟิงเจน รวมทั้งในกรณีของ ปลาหมึกแห้ง ที่มูลนิธิฯ เคยสุ่มวิเคราะห์ตัวอย่างปลาหมึกแห้ง เมื่อปี 2553 พบการปนเปื้อนโลหะหนักทั้ง 8 ตัวอย่างที่สุ่มทดสอบ ทั้ง แคดเมียม ตะกั่ว และ ปรอท โดยเฉพาะ แคดเมียม ที่พบเกินค่ามาตรฐาน 4 จาก 8 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบส่วนในกลุ่ม ขนมปัง ขนมอบ ขนมเค้ก ก็มักมีความเสี่ยงในเรื่องของสารกันบูด ส่วนอาหารจำพวกแหนมเนือง มีความเสี่ยงของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษที่อาจปนเปื้อนมาพร้อมผักสดที่ล้างทำความสะอาดไม่ดีพอ เช่นเดียวกับอาหารจำพวกเนื้อสัตว์หรือแปรรูปจากเนื้อสัตว์ หากรับประทานโดยที่อาหารไม่ผ่านการปรุงให้สุก หรือผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานก็อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 ปลอดภัยปีใหม่ เตือนภัยผู้อ่าน

ช่วงเทศกาลปีใหม่ ผู้อ่านหลายท่านคงได้ของขวัญกันบ้างแล้ว โอกาสนี้เภสัชกรจนๆ อย่างกระผมไม่รู้จะหาอะไรมามอบเป็นของขวัญให้ผู้อ่านได้ทั่วถึง เลยถือโอกาสมอบข้อมูลเตือนภัยแบบรวมมิตร แด่ผู้อ่านทุกท่านเพื่อความปลอดภัย จะได้ไม่ต้องเสี่ยงอันตรายครับ กาแฟลดความอ้วนจากจีน ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เป็นกาแฟที่ซัดเซพเนจรมาจากจีน แต่อย่าไปสงสารครับ เพราะมันลักลอบนำเข้ามาโดยไม่ได้ขออนุญาต อย. แถมยังมีข้อความภาษาไทยท้าทายกฎหมาย โดยระบุโต้งๆ บอกว่าเผาไขมัน 26 วัน สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานีพบ จึงส่งตรวจวิเคราะห์เบื้องต้น ปรากฏว่า ผสมซาลบูทามีน ซึ่งเป็นยาอันตราย (ตัวที่เคยเป็นข่าวว่านักเรียน ม.6 จากนนทบุรีเสียชีวิต ภายหลังจากการรับประทานผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนที่ผสมสารตัวนี้มาแล้วไง จำได้หรือเปล่าครับ) แว่วว่ากำลังขายดิบขายดีแถวๆ ตลาดกิมหยงและโรงเกลือ   ยาแผนโบราณแต่ดันแถมสเตียรอยด์ พนักงานโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งยืนทำงานต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ได้ซื้อมารับประทานแก้อาการปวดตาม ข้อเข่าและขา โดยรับประทานติดต่อกันมานานแล้ว ระยะหลังๆ เพื่อนร่วมงานชักสังเกตเห็นว่าไฉนเพื่อนเรามีราศีจับแบบแปลกๆ ผิดปกติ คือ หน้าเริ่มบวม และร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยบ่อยๆ จึงส่งยามาให้ สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตรวจสอบ ผลพบว่า ยานี้มีเลขทะเบียนยาถูกต้อง แต่ฉลากและบรรจุภัณฑ์กลับไม่ถูกต้อง และเมื่อใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจ กลับพบว่ามีสเตียรอยด์ผสมอยู่ ข่าวว่ายาดังกล่าวมีขายทางวิทยุชุมชนบางสถานีและขายตรงจากตัวแทนจำหน่าย ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ   สมุนไพรไทย ก็ดันใส่สเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ ไม่มีเลขทะเบียนยานะครับ (แสดงว่าไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง) แต่กลับมีตัวแทนจำหน่าย โดยมักจะเร่ไปเสนอขายตามร้านค้าในชุมชนและร้านขายยา สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นตรวจสอบ ก็พบว่ามีสเตียรอยด์ผสมอยู่เช่นกัน       ยาน้ำสามัญประจำบ้านแผนโบราณก็บริการสารสเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์นี้มาเป็นข่าวดังเพราะมีคุณครูท่านหนึ่งซึ่งป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ได้ซื้อมาจากเพื่อนครูด้วยกัน (ที่เป็นตัวแทนจำหน่าย) ยาชนิดนี้กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ข้าราชการครูและครอบครัว ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อคุณครูท่านนี้รับประทานแล้วอาการภูมิแพ้หาย จึงเริ่มสงสัยว่าปลอดภัยหรือไม่ เลยส่งต่อมายังสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้ตรวจสอบ ผลปรากฎว่าฉลากมีเลขทะเบียนยาถูกต้อง แต่เมื่อใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจ กลับพบว่ามีสเตียรอยด์ผสมอยู่ อีกแล้ว   วิธีการขายของผลิตภัณฑ์ 3 ชนิดหลังนี้จะคล้ายๆ กัน คือจะขออนุญาตเลขทะเบียนยาอย่างถูกต้อง แต่เวลาขายอาจจะทำผลิตภัณฑ์อีกรูปแบบหนึ่ง ช่องทางที่ขายส่วนใหญ่จะมีตัวแทนขายเพื่อเจาะลึกเข้าไปในชุมชน บางส่วนขายผ่านทางวิทยุชุมชน พอตรวจเจอก็อ้างว่าเป็นของปลอม ยังไงถ้าใครเจอช่วยแจ้งสาธารณสุขจังหวัดด้วยนะครับ ถือว่าเป็นของขวัญแด่ผู้บริโภคท่านอื่นๆ ร่วมกันด้วยครับ สวัสดีปีใหม่ ปลอดภัยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 กระแสต่างแดน

  ของขวัญต้อง “เป็นกลาง” ของขวัญที่เด็กๆ คาดหวังจะได้ในวันคริสต์มาสหรือปีใหม่ คงจะหนีไม่พ้นของเล่น ผู้ใหญ่อย่างเราก็มักจะซื้อหาของขวัญที่นอกจากจะไม่เป็นอันตรายแล้ว ยังต้องเลือกให้เหมาะกับเด็กหญิงหรือเด็กชายด้วย ว่าแต่มันต้องเป็นเช่นนั้นด้วยหรือ? ห้างค้าปลีกแห่งหนึ่งในสวีเดน (ในเครือบริษัททอยส์อาร์อัส) สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการด้วยการนำเสนอภาพเด็กผู้หญิงถือปืนของเล่น และเด็กผู้ชายกอดตุ๊กตา ในแคตาล็อกของเล่นสำหรับเทศกาลคริสต์มาสที่ผ่านมา เพราะเชื่อว่าการตลาดต้องตอบสนองกระแสสังคม องค์กรเฝ้าระวังการโฆษณาและการทำการตลาดสินค้าสำหรับเด็กของสวีเดน ออกมาชื่นชมว่าเป็นก้าวที่สำคัญมาสำหรับสังคมสวีเดนซึ่งส่งเสริมบทบาทและความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชายอยู่แล้ว ถนนหนทางในเมืองใหญ่อย่างสต็อคโฮล์ม หรือโกเตนเบิร์ก คุณจะเห็นบรรดาคุณพ่อเข็นรถเข็นพาลูกออกไปเดินเล่น มากพอๆ กับคุณแม่ เพราะที่นี่พ่อได้รับสิทธิหยุดงานมาเลี้ยงลูกได้ถึง 60 วัน องค์กรดังกล่าวเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าสื่อต่างๆ ไม่ควรตอกย้ำบทบาทหญิงชายแบบที่เป็นการเหมารวม ในโฆษณาหรือในแคตาล็อคสินค้า (เช่น มีแต่เด็กผู้หญิงเท่านั้นที่เล่นแต่งตัวตุ๊กตา หรือเด็กผู้ชายเท่านั้นที่จะเล่นรถหรือปืน เป็นต้น) สื่ออังกฤษและอเมริกันไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ หนังสือพิมพ์เดอะเทเลกราฟของอังกฤษมีบทความที่ตั้งข้อสังเกตว่าสังคมสวีเดนคงเพี้ยนไปแล้ว และเด็กผู้ชายอาจจะมีความเบี่ยงเบนทางเพศมากขึ้น ขณะเดียวกันคอลัมนิสต์ชาวอเมริกันก็ประชดประชันว่าวิทยาศาสตร์ไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว สวีเดนสามารถใช้กระบวนการ “วิศวกรรมสังคม” ทำให้เด็กชายและเด็กหญิงเหมือนกันได้ ไม่แน่ ... สวีเดนอาจจะมาถูกทางแล้วก็ได้ สมัยนี้อะไรๆ ก็ต้องเป็นกลางไว้ก่อน ... จริงมั้ยพี่น้อง?      อาจไม่มี “วันสิ้นโรค” หลายคนโล่งอกที่เราผ่านพ้น “วันสิ้นโลก” ในปี 2012 มาได้ แต่คุณรู้หรือไม่ว่ายังมีสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นให้เราได้ลุ้นกันอีก ทุกวันนี้เราเชื่อมั่นว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่และกำลังจะมีต่อไปจะช่วยให้เราสามารถผลิตยาออกมารักษาอาการเจ็บป่วยได้ทุกชนิด แต่คุณรู้หรือไม่? งานวิจัยที่คิดค้นยาปราบเชื้อโรคตัวใหม่ๆ นั้น จัดว่าล้าหลังอยู่ไม่ต่ำกว่า 10 ปี และยาทุกตัวที่มีอยู่ขณะนี้ ยังไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้  ง่ายๆ ก็คือถ้าเราบังเอิญล้มป่วยด้วยแบคทีเรียตัวที่ว่าเข้า มันก็คงจะเป็น “วันสิ้นเรา” สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคใหม่ๆ ยังสามารถรักษาโรคติดเชื้อได้สำเร็จเพียงแค่ 2 ใน 3 ของคนไข้ที่เข้ารับการรักษาเท่านั้น  ส่วนคนไข้ที่เหลือนั้นมีอาการดื้อยา ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพราะยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ ไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคตัวดังกล่าวได้ ปัญหาเรื่องเชื้อโรคดื้อยานี้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่มนุษย์ต้องเผชิญในปี 2013 (นอกเหนือจากปัญหาโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำของรายได้ การขาดแคลนน้ำใช้ ภาวะสังคมสูงวัย ภัยจากการเชื่อมต่อในโลกออนไลน์ ฯลฯ) ตามรายงานของ World Economic Forum ประเทศที่ยากจนอาจมีส่วนทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคด้วยปัญหาด้านสุขอนามัย การขาดแคลนน้ำสะอาด ความเป็นอยู่ที่แออัด หรือความขัดแย้งทางการเมือง ในขณะที่ประเทศที่ร่ำรวยก็ยังไม่สามารถแก้ความเข้าใจผิดของประชาชนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อได้ การสำรวจในยุโรปพบว่าคนฝรั่งเศสมากกว่าครึ่งเข้าใจว่าต้องใช้ยาปฏิชีวนะ หรือที่บ้านเรานิยมเรียกว่า “ยาแก้อักเสบ” เพื่อรักษาไข้หวัด หรือในบางประเทศแพทย์จะนิยมสั่งยาให้แบบค็อคเทล (จัดไปหลายๆ ตัวทีเดียวเลย) เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้องจากความล่าช้าในการรักษา เพราะยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นการติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรีย หรือชี้ชัดลงไปไม่ได้ว่าเป็นไวรัสหรือแบคทีเรียชนิดใด ความเสี่ยงนี้สามารถเกิดขึ้นคุณได้ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใด และมันอาจส่งผลต่อการขาดแคลนอาหาร  เนื่องจากการติดเชื้อที่ไม่สามารถรักษาได้ ในปศุสัตว์ หรือเกิดการกีดกันการนำเข้าอาหาร เพราะกลัวการติดเชื้อจากนอกประเทศ  นอกจากนี้รัฐบาลประเทศต่างๆ อาจจะเพิ่มมาตรการควบคุม/จำกัดการเดินทาง หรือการย้ายถิ่นที่อยู่ของประชากรด้วย ทางที่ดีเราต้องเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อไปให้ถึง “วันสิ้นโรค” ให้จงได้     ค่าธรรมเนียมกำจัดซาก ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง เมื่อรถที่เราใช้ต้องเก่าผุพังเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา แล้วเราจะทำอย่างไรกับขยะรถเหล่านี้? หลายประเทศเริ่มใช้วิธีการเก็บค่าธรรมเนียมการกำจัดซากรถจากผู้ผลิตและผู้นำเข้ารถยนต์ อย่างกรณีของรัสเซียเขาก็เพิ่งจะประกาศกฏหมายใหม่ที่ระบุให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจากรถทุกคันที่ผลิตขึ้นหลังวันที่ 1 กันยายน ปี 2555 สนนราคาสำหรับรถเล็กอยู่ที่ 20,000 รูเบิล (ประมาณ 20,000 บาท) ต่อคันเป็นอย่างต่ำ ส่วนรถบรรทุก รถบัส อย่างต่ำอยู่ที่คันละ150,000 รูเบิล (ประมาณ 150,000 บาท) ทางการบอกว่าเงินที่เก็บมาก็เพื่อใช้ในการสร้างโรงงานรีไซเคิลรถยนต์ ผู้ผลิตเจ้าไหนมีแผน “รับกลับ” สำหรับรถที่ตนเองผลิต ก็ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าว ทั้งนี้กฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตมีโรงงานรีไซเคิลรถเก่าในทุกภูมิภาคของประเทศ และในเมืองที่มีประชากรมากกว่า 500,000 คน งานนี้น่าจะหมายถึงราคารถที่สูงขึ้น เพราะผู้ผลิตอาจเลือกวิธีผลักภาระต่อมาที่ผู้บริโภค แต่ตัวแทนอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์เขาบอกว่าไม่น่าเป็นอย่างนั้น  เพราะผู้ผลิตน่าจะเอาไปถัวกับภาษีนำเข้าอะไหล่ที่ลดลงหลังจากรัสเซียเข้าเป็นสมาชิก WTO หรือองค์กรการค้าโลก คนรัสเซียคงอิจฉาเราแย่เลย เพราะนอกจากจะไม่ต้องจ่ายค่ารีไซเคิลรถแล้วรัฐยังคืนภาษีให้อีกต่างหาก   หวานไม่หยุด หลายคนอาจจะตั้งใจแน่วแน่ว่าปีใหม่นี้จะต้องลดน้ำหนักให้ได้ แต่ส่วนใหญ่มักไม่ประสบความสำเร็จ ...อย่าได้ท้อใจเด็ดขาด ทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยข้อมูล(เกี่ยวกับน้ำตาล) และทักษะการอ่าน(ฉลาก) นักวิจัยเขาแนะนำให้ระวังส่วนผสมในอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ตัวที่ชื่อว่า Corn Syrup หรือน้ำเชื่อมข้าวโพดเพราะมันมีน้ำตาลฟรุคโตสสูงการทดลองครั้งนี้ ใช้เครื่องสแกน MRI (magnetic resonance imaging) ติดตามการไหลเวียนของเลือดในสมอง ในคนหนุ่มสาว 20 คน ที่มีน้ำหนักตัวปกติ หลังจากดื่มเครื่องดื่มที่มีกลูโคสหรือฟรุคโตสเข้าไป ภาพสแกนแสดงให้เห็นว่า กลูโคสจะปิดหรือยับยั้งกิจกรรมในบริเวณของสมองที่ควบคุมความอยากรับประทานอาหาร ในขณะที่ฟรุคโตสไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  ความอยากอาหารจึงยังคงมีอยู่ ... และส่งผลให้เรากินอาหารมากเกินไป ภาพสแกนที่ว่านี้สอดคล้องกับความรู้สึกหิวของผู้ที่เข้ารับการทดสอบด้วย ทางออกของผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักคือ การทำอาหารทานเองและลดการบริโภคเครื่องดื่มหรืออาหารสำเร็จรูปที่มีฟรุคโตสลง (อย่าลืมพกแว่นขยายไปด้วยล่ะ เดี๋ยวจะหาว่า ฉลาดซื้อ ไม่เตือน) และอย่าลืมป่าวประกาศให้เพื่อนฝูงได้ทราบโดยทั่วกันว่าคุณจะลดน้ำหนักให้ได้กี่กิโลกรัม ภายในเวลาเท่าไร ที่สำคัญอย่าได้นำรูปนางแบบผอมไม่มีใส้ หรือนายแบบซิกซ์แพคมาติดตู้เย็น (หรือที่ไหนก็ตาม) เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการลดน้ำหนักเด็ดขาด งานวิจัยจากเนเธอร์แลนด์เขายืนยันแล้วว่า พวกที่เห็น “รูปสร้างแรงบันดาลใจ” เหล่านี้คืออุปสรรคตัวสำคัญที่ทำให้เราแอบกินจุบจิบ และล้มเลิกความตั้งใจจะลดน้ำหนักไปในที่สุด ในขณะที่พวกที่ไม่ได้เห็นรูปดังกล่าวสามารถลดน้ำหนักได้จริงๆ   วันนี้คุณมีความสุขแล้วหรือยัง? ศาสตราจารย์ชอยอินโชล จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลพร้อมทีมงานได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของคนในวัยระหว่าง 20 ถึง 39 ปี จำนวน 1,000 คน (หญิง 491 คน ชาย 509 คน) ว่าพวกเขามีความสุขมากน้อยแค่ไหนปรากฏว่า 1 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจบอกว่าพวกเขาไม่รู้สึกว่าตัวเองมีความสุขเลยแม้เพียงสักครั้งในหนึ่งสัปดาห์ สาเหตุหลักเพราะรายได้ไม่พอใช้เรามาแจกแจงสาเหตุของความทุกข์กันดูบ้าง -- ร้อยละ 3.3 ตอบว่าเป็นทุกข์เพราะเรื่องเพื่อน  ร้อยละ 15.6 บอกว่ามีปัญหาชีวิตรัก และมีถึงร้อยละ 36.8 ตอบว่าทุกข์หนักเพราะปัญหาการเงินรุมเร้า กลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 40 ล้านวอนต่อปี (ประมาณ 1,100,000 บาท) มีความสุขสัปดาห์ละ 3.5 ครั้ง ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ ระหว่าง 20 – 40 ล้านวอน (560,000 - 1,100,000 บาท)  มีความสุขสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และกลุ่มที่หาเงินได้ระหว่าง 10 – 20 ล้านวอน ( 280,000 – 560,000 บาท) มีความสุขเพียง 2.8 ครั้งต่อสัปดาห์การศึกษาก็พอช่วยได้บ้าง เขาพบว่าหนุ่มสาวกลุ่มที่จบมหาวิทยาลัยมีความสุข 3.2 ครั้งต่อสัปดาห์ ในขณะที่กลุ่มที่จบชั้นมัธยมปลายมีความสุข 2.4 ครั้งต่อสัปดาห์แล้วกันไปนะ ไม่มีความสุขเพราะเงินไม่พอใช้ก็พอเข้าใจได้ นึกว่าเขาจะไม่มีความสุขเพราะหน้าตาไม่เป๊ะเวอร์เหมือนดาราเสียอีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 พรปีใหม่ สร้างได้ด้วยตัวเอง

พรปีใหม่ สร้างได้ด้วยตัวเองกองบรรณาธิการ   ในทุกช่วงเทศกาลปีใหม่ สิ่งที่เราจะทำกันนอกจากมอบของขวัญหรือการจัดงานฉลองรื่นเริงแล้ว ก็คือการส่งมอบ คำอวยพร อันเป็นถ้อยคำที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดี หวังให้เกิดความสุขสมหวังแก่คนที่เรานิยมรักใคร่  จริงแท้แล้ว ความสุขสมหวังในชีวิตตามคำพรอันแสนดีนั้น เราท่านสามารถสร้างได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอใครมาหยิบยื่นให้ก่อน  ฉลาดซื้อฉบับต้อนรับปีใหม่ 2554 นี้ จึงขอมอบแนวทางที่จะทำให้ท่านสามารถสร้างพรปีใหม่ให้แก่ตัวเองได้อย่างง่ายๆ แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมปีใหม่อย่างที่เคยๆ มาในปีก่อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น   บุญ สร้างได้หลายทางไม่จำเพาะแค่การตักบาตรหรือถวายสังฆทาน การทำบุญคือ การทำให้เราลด ละ ความโลภและความเห็นแก่ตัวลง ด้วยการสละ ซึ่งอาจเป็นสละแรงกาย ทรัพย์ หรือปัญญาเพื่อบุคคลอื่น  ดังนั้นการทำบุญคือ การสละอย่างฉลาด ไม่ใช่การตั้งหน้าตั้งตาซื้อ การทำบุญในพุทธศาสนาจึงสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้   ทำบุญอย่างถูกวิธี 1.การให้ทาน บริจาคเงิน สิ่งของ 2.การถือศีลหรือลดความประพฤติไม่ดี และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น 3.การเรียนรู้ ฝึกจิตให้สงบไม่เศร้าหมอง ทำให้เกิดปัญญา 4.การสละแรงกายช่วยเหลือสังคมและผู้อื่น เป็นงานเพื่อส่วนรวม 5.การอ่อนน้อมถ่อมตน แม้มีอาวุโสกว่าก็มีเมตตา รู้จักให้เกียรติ 6.การยอมรับและมีความยินดีในการทำความดีของผู้อื่น 7.การเผื่อแผ่โอกาสให้ผู้อื่นได้ร่วมทำบุญหรือความดีกับเรา พร้อมเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นได้รับส่วนบุญนั้นด้วย 8.การรับฟังธรรมะและข้อคิดดีงาม 9.การให้ธรรมะและและข้อคิดที่ดีงามแก่ผู้อื่น10. การนึกคิดในทางที่ถูกต้องดีงาม   ไม่มีเงิน ก็ทำบุญได้ทำบุญไม่ได้แปลว่าให้ทานเสมอไป ไม่มีเงินเลยก็สามารถทำบุญได้ ด้วยการงดสิ่งเสพติด งดอบายมุข ก็ถือว่าได้บุญแล้ว รักษาศีล ไม่ประพฤติตนเป็นคนเกเร อันธพาล ไม่เป็นหนี้เป็นสินหรือไม่ใช่จ่ายให้เกินตัว ทำให้ชีวิตให้โปร่งเบาโดยลดกิเลสต่างๆ ลง เหล่านี้ไม่ต้องใช้เงิน ก็นับเป็นการทำบุญที่อานิสงค์ ไม่แพ้การให้ทานแต่ประการใด  ปีใหม่ไม่ดื่มจากสถิติของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ (ศปภ.) พบว่า จำนวนอุบัติเหตุใน 100 ราย มี 41 รายเกิดจากผู้ขับดื่มเหล้ามึนเมา และสาเหตุการตายของคนไทยเนื่องจากอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคมะเร็ง ทำให้มีคนตาย 1,300 คนต่อปี สูญเสียทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท   การสูญเสียที่มากมายนี้ทำให้หลายหน่วยงานออกกฎ มาตรการต่างๆ มาป้องกัน เช่น ห้ามดื่มสุราสำหรับผู้ขับขี่รถ ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีบริการน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็รับทราบกันดี แต่ก็ยังพบการละเมิดกฎหมายอยู่บ่อยๆ ทำให้สถิติการเสียชีวิตอันมีสาเหตุเชื่อมโยงกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ลดลง อย่างนี้แล้ว หากเราจริงใจในการอวยพรผู้อื่นให้มีความสุขจริง อีกทั้งไม่เสี่ยงพาตัวเองไปเป็นผู้ก่ออุบัติเหตุที่สร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น รวมถึงสร้างสุขให้แก่ตัวเองด้วยการสร้างสุขภาพที่ดี ปีใหม่นี้ก็ขอให้งดดื่ม งานเลี้ยงรื่นเริงสังสรรค์ต่างๆ ก็ปรับนิดหน่อยให้สามารถสนุกสนานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์   คนไทยดื่มสุราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 260,000 คน พบดื่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบสิบปี (2535-2545) จาก 992 ล้านลิตร เป็น 1,926 ล้านลิตร ที่มา สำนักงานสถิติแห่งชาติ   อดหวานต้านโรคคนไทยรับประทานน้ำตาลมากกว่า 20 ช้อนชาต่อวัน จากปกติที่ไม่ควรเกิน 6-8 ช้อนชาต่อวัน ทำให้คนไทยติดรสหวาน เด็กรุ่นใหม่ก็ติด รสหวาน โรคที่ไม่ควรเป็นในวัยเด็กอย่างเบาหวานจึงพบได้ในทุกวันนี้ รวมทั้งโรคอ้วนที่เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหัวใจ หลอดเลือดและความดันโลหิตสูง   เทศกาลปีใหม่เป็นช่วงที่มีงานเลี้ยงเฉลิมฉลองมาก ทั้งงานเลี้ยงที่ทำงาน สถานที่บันเทิงบ้านญาติ มิตร บางบ้านก็จัดปาร์ตี้กันเองในครอบครัว โอกาสที่จะรับประทานของหวานของมันก็มีมากขึ้น เพราะอาหารสำหรับงานเลี้ยงปีใหม่หนีไม่พ้นอาหารหวาน ขนมนมเนย ขนมเค้ก เบเกอรี่ ฟาสต์ฟู้ด ของทอด น้ำหวาน น้ำอัดลม ฯลฯ ซึ่งล้วนมีน้ำตาลสูงและให้พลังงานมาก แต่ร่างกายกลับไม่ค่อยได้นำพลังงานมาใช้เท่าที่ควรเพราะหลายคนถือเป็นช่วงพักผ่อน(เอาแต่นอน)  ทำให้ช่วงนี้หลายคนน้ำหนักตัวพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว  ถ้าไม่อยากให้ชีวิตในช่วงเริ่มต้นของปีใหม่ กลายเป็นปีแห่งโรคภัยไข้เจ็บและโรคอ้วน ควรรับประทานหวานๆ ให้น้อยลง และอย่าละเลยการออกกำลังกาย  ..........ส่วนผสมส่วนใหญ่ของคุกกี้ และเค้ก ทำมาจากแป้ง น้ำตาล เนย ไข่ และไขมัน ที่ให้รสหวานเป็นหลัก มีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มได้ง่าย เสี่ยงเกิดโรคอ้วน ขนมเค้ก 1 ชิ้นเล็ก ขนาดประมาณ 35 กรัม ให้พลังงานถึง 140 กิโลแคลอรี ส่วนคุกกี้ 1 ชิ้น ขนาด 10 กรัม ให้พลังงานถึง 51 กิโลแคลอรี ..........ถ้ากินติดต่อกันในปริมาณ 1 ปอนด์(0.45 กก.)ต่อวัน จะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานถึง 1,600 กิโลแคลอรี เกือบเท่ากับที่ร่างกายต้องการพลังงานจากอาหารอื่นรวมวันละ 2,000 กิโลแคลอรี…   ของขวัญจากใจของขวัญ คือสิ่งที่นิยมมอบให้แก่กันในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่นิยมกันมากในช่วงหลังๆ ก็ได้แก่ กระเช้าผลไม้ กระเช้าของขวัญ เพราะเป็นดูกลางๆ ไม่มากไปน้อยไป ส่วนคนสนิทชิดใกล้ก็แล้วแต่จะเลือกสรรให้กัน ฉลาดซื้อเมื่อฉบับ 106 ธ.ค. 2552 เราก็จัดโพลล์กันไปรอบว่าด้วย สิบของขวัญที่ไม่อยากได้ และของขวัญที่ควรจะมอบให้แก่กันเพื่อมิให้เกิดการสูญเสียในทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งก็คือ “เงินสด” อย่างไรก็ตามถ้าจะเลือกมอบกระเช้าของขวัญ กระเช้าผลไม้ เป็นของขวัญปีใหม่   อย่าลืมว่าปีนี้ ทั้ง อย.และ สคบ.เขาพร้อมช่วยผู้บริโภค ด้วยการออกตรวจร้านค้าปลีก ร้านค้าทั่วไปเพื่อให้จัดกระเช้าของขวัญที่มีคุณภาพไม่แอบเอาของใกล้หมดอายุมาใส่ไว้ และในกรณีที่ผู้ประกอบการมีการ นำผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนวัตถุอันตราย และนำสินค้าที่หมดอายุ ไร้คุณภาพมาจำหน่ายในรูปแบบกระเช้า ให้ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากจำหน่าย อาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่มีฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท   “การให้ของขวัญ สิ่งสำคัญต้องไม่อยู่ที่ตัววัตถุ แต่อยู่ที่น้ำใจ และถ้าเราให้ของขวัญในสิ่งที่ช่วยประเทืองปัญญาจะดีมาก ไม่ใช่ให้ของขวัญที่กระตุ้นโลภะ โทสะ หรือว่าเป็นของขวัญที่บั่นทอนสุขภาพ ของขวัญถ้ามันไปสนองกิเลสของผู้รับ มันก็เป็นโทษทั้งแก่ผู้รับและผู้ให้ ในทางพุทธศาสนาก็ไม่ได้บุญ แต่ถ้าคุณให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต เกื้อกูลสติปัญญา ประเทืองอารมณ์ จรรโลงใจ เหล่านี้จะเป็นบุญแก่ทั้งผู้รับและผู้ให้” พระไพศาล วิสาโลใช้บัตรเครดิตให้ถูกทางข้อดีของการถือบัตรเครดิต คือความปลอดภัยและสะดวกในการใช้จ่าย เพราะการถือบัตรเครดิตโอกาสสูญหายหรือถูกขโมยมีน้อยกว่าการถือเงินสด (บัตรห ายก็ยังอายัดไว้ได้ ส่วนเงินไปแล้วไปเลย) นอกจากนี้ยังให้มูลค่าเพิ่มในการใช้อภิสิทธิ์ จากสถาบันการเงินที่ออกบัตรในการรับบริการที่แตกต่าง เช่น ได้รับสิทธิ์ซื้อสินค้าในราคาพิเศษ ได้รับความคุ้มค   รองด้านประกันภัยโดยไม่ต้องซื้อกรมธรรม์ ได้รับของกำนัลเมื่อใช้จ่ายผ่านบัตร ได้เงินคืนจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเมื่อถึงยอดที่กำหนด ฯลฯ  ซึ่งสถาบันการเงินต่างก็เพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อหวังเอาใจลูกค้ากันเต็มที่   แต่ผู้ใช้บัตรเครดิตจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่สูงนี้ ก็ต่อเมื่อผู้ใช้บัตรเครดิตมีการวางแผนทางการเงินที่ดี โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไม่เกินกำลังความสามารถของตนเองในการชำระคืนในเดือนถัดไป มิฉะนั้นท่านจะต้องตกลงในกับดักทางการเงิน ที่สุดท้ายกลายเป็นหนี้ก้อนโต การใช้บัตรเครดิตให้ปลอดภัย   1. จ่ายหมด ไม่มียอดค้างชำระ  การชำระสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิตเปรียบเสมือนการนำเงินในอนาคตมาใช้ เมื่อถึงรอบบัญชีเรียกเก็บหากชำระไม่เต็มจำนวนก็จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยในรอบบัญชีถัดไป ซึ่งในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อปี 2. การใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ไม่ควรเกินร้อยละ 20 ของรายได้ต่อเดือน 3. อย่าติด Late Charge ถ้าจ่ายทั้งหมดไม่ได้ ก็จ่ายเท่ายอดขั้นต่ำ แต่จ่ายตามกำหนด ถ้าจ่ายช้ากว่าวันนัดชำระ จะเสียค่าปรับที่แพงขึ้นอีกจากค่าทวงถาม 4. อย่าเบิกเงินสดด้วยบัตรเครดิต ประเภทวีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ด เพราะจะเสียค่าธรรมเนียมแพงประมาณ 3% ของเงินสดที่เบิกออกมา บวกด้วยค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม และเมื่อรวมเงินต้นและดอกเบี้ยแล้ว จ่ายหนักแน่ 5. ไม่เบิกเงินสดจากบัตรเครดิตใบหนึ่งเพื่อไปโปะหนี้บัตรเครดิตอีกใบหนึ่ง เพราะสุดท้ายจะกลายเป็น งูกินหาง ติดหนี้ก้อนโตในทุกบัตร อย่าลืมว่า ดอกเบี้ยบัตรเครดิตนั้นแพงมาก หากพบว่าเริ่มมีปัญหาจากการใช้บัตรวิธีที่ดีที่สุดคือ หยุดการใช้บัตรเครดิตและวางแผนคืนเงินอย่างถูกต้อง ท่านสามารถขอคำปรึกษาได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2553 (ไม่รวมการใช้จ่ายของชาวต่างประเทศที่ถือบัตรเครดิตต่างประเทศ และการเบิกเงินสดล่วงหน้า) โดยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 712,000 - 727,650 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.0 ถึง ร้อยละ 17.5  จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ปี 2552  ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  เลือกรถโดยสารให้ปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่ จัดเป็นช่วงที่มีการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะที่สูงสุดช่วงหนึ่งของปี และทุกๆ ปี ก็พบว่า มีผู้โดยสารจำนวนมากทีเดียวที่พบอุบัติเหตุจากรถโดยสารที่ตัวเองนั่งไปโดยทั่วไปคนส่วนใหญ่เลือกนั่งรถกับบริษัทรถโดยสารที่คุ้นเคย หรือได้รับการบอกเล่าปากต่อปาก โดยคำนึงเรื่องความสะดวกสบายเป็นหลัก แต่น้อยคนนักที่จะคิดด้านความปลอดภัยและคิดจะตรวจสอบบริษัทรถโดยสารด้วยตัวเอง  ข้อมูลจากโครงการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เขาฝากมาว่า ในการขึ้นรถโดยสารทุกครั้ง ควรหลีกเลี่ยงการใช้บริการรถโดยสารสองชั้นเนื่องจากมีข้อจำกัดด้านจุดสมดุล  รถโดยสารที่ดีต้องมีส่วนที่เป็นโครงเหล็กมากกว่ากระจก บนรถต้องมีเข็มขัดนิรภัย ถังดับเพลิง หรืออุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เบาะที่นั่งต้องยึดติดมั่นคง และมีเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อศูนย์บริการได้  นอกจากนั้น ผู้โดยสารทุกท่านยังสามารถช่วยกันดูแลสอดส่องการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ยามเมื่อเกิดอุบัติเหตุนอกจากจะทำเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้บริโภคเองแล้วยังเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพการบริการโดยเฉพาะด้านความปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานสากลอีกด้วย  ฝากข้อมูลหรือแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ ติดต่อได้ที่โครงการฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ วิธีปฏิบัติ 3 ขั้นตอน ขั้นแรกผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถในการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล และค่าปลงศพกรณีเสียชีวิตจากบริษัทประกันภัยของรถโดยสารที่เกิดเหตุโดยจะต้องดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายภายใน 180 วันหลังจากเกิดเหตุพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาบันทึกประจำวันของตำรวจ สำเนากรมธรรม์ประกัยภัยรถที่เกิดอุบัติเหตุในกรณีที่เสียชีวิตต้องเตรียมสำเนาใบมรณะบัตร และสำเนาทะเบียนบ้านหรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของทายาทมาด้วย   ขั้นที่สองนั้น สามารถใช้สิทธิเรียกร้องจากกรมธรรม์ภาคสมัครใจและบริษัทรถโดยสารจากความเสียหายทางด้านทรัพย์สิน และค่าเสียโอกาสอื่นๆหรือที่เราเรียกกันว่า ค่าทำขวัญ โดยมีข้อควรระวังคือ การลงลายมือชื่อในการรับค่าสินไหมทดแทนทั้งจากบริษัทประกันและบริษัทรถยนต์    หากมีเงื่อนไขในเอกสารการรับเงินหรือข้อตกลงใดๆว่า ผู้เสียหายยอมรับเงินโดยไม่ติดใจเอาความกับบริษัทแล้วจะทำให้ไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมได้ในภายหลัง   ขั้นสุดท้าย สิทธิการเรียกร้องทางกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคสามารถขอแบบฟอร์มได้ที่ศาล และติดต่อมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคหรือเขียนเองโดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มจาก www.consumerthai.org โดยฟ้องคดีได้ที่ศาลในภูมิลำเนาของผู้ประกอบการซึ่งจะต้องฟ้องร้องภายในระยะเวลา 1 ปีนับแต่ทราบความเสียหายในส่วนของผู้ที่ทำละเมิดโดยตรงคือ คนขับรถและบริษัทรถ  แต่ในส่วนของบริษัทประกันนั้นเราสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ภายในระยะเวลา2 ปีนับแต่ทราบถึงความเสียหายท่านสามารถใช้สิทธิผ่านช่องทางการร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point