ฉบับที่ 238 เสียงของผู้บริโภคในปี 2563

ฉลาดซื้อ ฉบับส่งท้ายปี 2563 ที่กำลังจะหมดไปพร้อมๆ กับการกลับมาเยือนของเจ้าโควิด19 ระลอกใหม่ พามาสรุปสถานการณ์เรื่องร้องเรียนภายในปี 2563 จากคำบอกเล่าของคุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ปีที่ผ่านมาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน จำนวน 3,463 เรื่อง         อันดับ 1 ได้แก่ ปัญหา อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพยังคงครองแชมป์ มีจำนวน 1,027 เรื่อง (ร้อยละ 29.66)   ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพโฆษณาเกินจริง  ไม่มี อย. ผ่านช่องทางออนไลน์            อันดับ 2 หมวดบริการสาธารณะ จำนวน 753 เรื่อง (ร้อยละ 21.74) เป็นเรื่องปัญหารถโดยสารสาธารณะ การเยียวยากรณีเกิดอุบัติเหตุ การเฝ้าระวังรถนักเรียนและรถโดยสารผิดประเภท และปัญหาการขอเงินคืนกรณีการยกเลิกเที่ยวบินช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม ช่วงโรคไวรัสโควิด19 ระบาด         และอันดับ 3 หมวดสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 724 เรื่อง (ร้อยละ 20.91) เป็นเรื่องการสั่งสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่ง   ไม่ได้มาตรฐาน ราคาแพงเกินจริง  สินค้าชำรุดบกพร่อง         สถานการณ์ของผู้บริโภคของปี 2563 เป็นอย่างไร         สถานการณ์ผู้บริโภคตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน จากสถิติที่มูลนิธิฯ รวบรวมกับเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศอยู่ที่ 3,463 กรณีร้องเรียน  โดยสามอันดับแรกที่ร้องเรียนเข้ามาคือ ปัญหาอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ครองแชมป์อันดับหนึ่ง (1,027 เรื่อง) ปัญหาที่ร้องเรียนเข้ามาคือการขายผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพประเภทโฆษณาเกินจริง สินค้าที่ซื้อไม่มี อย.  เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตโควิด คนก็จะซื้อสินค้าพวกนี้ทางออนไลน์ค่อนข้างเยอะ แล้วก็ปัญหาโฆษณาเกินจริง ซื้อมากินแล้วไม่ได้ผล กินแล้วบางทีก็มีผลกระทบกับสุขภาพตัวเอง อย่างเช่นอาจจะเกิดอาการแพ้ อาจจะเกิดอาการที่ไม่เป็นไปตามที่บอก หรือไม่เป็นไปตามที่ผู้ประกอบการโฆษณา          อันดับที่สองคือหมวดบริการสาธารณะ 753 เรื่อง ซึ่งปัญหาหลักๆ คืออุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ มีทั้งรถตู้ ซึ่งจะเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง แล้วก็จะมีเรื่องของรถทัวร์โดยสารแล้วก็รถโรงเรียน  สิ่งที่มันเกิดปัญหามากที่สุดก็คือเรื่องของการเยียวยาผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุ มีกรณีร้องเรียนเข้ามาขอความช่วยเหลือเยอะ อีกเรื่องหนึ่ง ก็มีเรื่องเฝ้าระวังรถโดยสาร รถนักเรียนปลอดภัย พบว่ามีรถนักเรียนที่เป็นรถผิดประเภทเช่นเอารถกระบะมาทำเป็นรถรับส่งนักเรียน         อีกปัญหายอดฮิตในช่วงสถานการณ์โควิดก็คือการยกเลิกเที่ยวบิน ซึ่งก็จะเจอปัญหาเรื่องของการขอเงินคืน มีหลายกรณีที่มีการยุติ ก็คือผู้บริโภคยอมที่จะใช้บริการต่อโดยการเก็บเครดิตไว้แล้วก็ไปใช้บริการตามที่ผู้ให้บริการกำหนด อาจจะใช้ได้ถึงสิ้นปีหรือปีหน้า คือมีข้อตกลงกันและก็ยอมรับกันได้ กับอีกเรื่องหนึ่งคือบางทีผู้บริโภคเขาไม่จำเป็นต้องเดินทางก็ต้องการเงินทั้งหมดคืน อันนี้จะเป็นเรื่องที่ยังค้างอยู่ หมายถึงเราต้องช่วยเหลือผู้บริโภคต่อ ต้องติดตามผู้ประกอบการว่าถ้ามีการยกเลิกแบบนี้จะมีการดำเนินการแบบใด          อันดับสามเป็นเรื่องสินค้าและบริการทั่วไป ที่เจอมากที่สุดก็คือการสั่งสินค้าออนไลน์ ล่าสุดคือที่นอนยางพารา ซึ่งเกิดปัญหาเรื่องของการสั่งซื้อแล้วไม่ได้สินค้า แล้วก็ผู้ประกอบการก็ถูกร้องเรียน ถูกแจ้งความดำเนินคดีในคดีอาญา อีกอย่างหนึ่งก็คือสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้เป็นไปตามที่โฆษณาหรือตกลงกัน ก็จะมีเรื่องชำรุดบกพร่อง ไม่ได้ของแถม หรือซื้อสินค้ามาแล้วไม่ตรงปก เสื้ออาจจะย้วย อาจจะมีปัญหาของเรื่องการใส่ไม่ได้ อันนี้ก็จะมีการคืนสินค้ากับผู้ประกอบการค่อนข้างยาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มันจะเกิดกับผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ Platform แต่เป็นผู้ประกอบการที่ขายผ่าน Facebook ผ่าน Instagram หรือ Line ซึ่งมีการโอนเงินให้กับผู้ประกอบการโดยทันที ไม่ใช่แบบ Platform ที่เขามีการโอนเงินไว้กับตัว Platform แล้วก็ผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคจะติดต่อกันได้ผ่าน Platform ซึ่งจะเป็นผู้เก็บเงินหรือจะจัดการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเอาไว้ ถ้าผู้บริโภคยังไม่ได้รับสินค้าก็แจ้ง Platform ไป เขาก็จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคเลย หรือว่าผู้บริโภคขอคืนเงินเพราะว่าสินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน พวกนี้ก็จะได้รับการคุ้มครองได้คืนสินค้าตามกติกาที่กระทรวงดิจิทัลกำหนด อาจจะคืนได้ภายใน 14 วัน         แต่มันก็จะมีลักษณะที่อยากเตือนคือ ผู้บริโภคมักจะไปตกลงในแชทของผู้ประกอบการผ่าน Platform ซึ่งเขาจะเตือนเอาไว้เลยว่าถ้าคุณไปแชทคุยกันเองมันคือนอกเหนือกติกา อันนี้ผู้บริโภคต้องระวัง คือเขาก็จะใช้วิธีชักชวนว่าถ้าซื้อผ่านแชทแล้วโอนเงินให้เขาเลยคุณก็ไม่เสียค่าดำเนินการกับ Platform ดังนั้นราคาก็จะถูกลง แต่ถ้ามันเกิดปัญหาขึ้น สินค้าที่ส่งมาไม่เป็นไปตามที่สั่งหรือไม่ตรงปก แล้วเราอยากคืน เราก็จะไม่ได้คืนเพราะ Platform เขาถือว่าคุณไปคุยกันเอง         ขณะที่สถานการณ์โควิดกลับมาอีกรอบ ปีหน้าช่องทางซื้อขายออนไลน์ก็จะยังคงถูกใช้มากขึ้น สิ่งที่อยากฝากเตือนกับผู้บริโภคมีหลายเรื่อง ดังนั้นเวลาจะซื้อสินค้าถ้าจะเลือกว่ามันจูงใจด้วยราคาหรือว่าซื้อผ่าน Inbox ผ่าน Facebook Line Instagram อะไรต่างๆ เหล่านี้ที่เป็น Social Market พวกนี้มันไม่ถูกกฎหมายต้องระมัดระวังมาก เพราะพอมันไม่ถูกกฎหมายมันก็ไม่มีตัวตนของผู้ประกอบการ ก็ค่อนข้างยากที่จะได้รับการดูแลที่ดีหรือว่าได้รับสินค้าไม่ตรงปก คุณอาจจะเจอปัญหาว่าตอนที่ยังไม่ซื้อคุณคุยกันได้แต่พอซื้อแล้วปุ๊บ ถ้าสินค้ามีปัญหาคุณก็ไม่สามารถที่จะไปคุยกับเขาได้แล้ว เขาอาจจะบล็อก อาจจะปิดเฟสปิดไลน์หนีคุณไป  คนทำงานคุ้มครองสิทธิอย่างเราก็หาวิธีการที่จะไปตรวจสอบกลุ่มคนที่สร้าง Line สร้าง Instagram สร้าง Facebook ยากอีกเหมือนกันเพราะว่าเป็นสื่อที่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ช่องทางนี้มันสะดวกก็จริง แต่มันก็มีความเสี่ยงสูงที่จะโดนหลอก         อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องฝากให้ระวังคือ กู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเขากำหนดว่า คุณสามารถทำสินเชื่อหรือธุรกรรมทางการเงิน ประกอบธุรกิจการสินเชื่อปล่อยกู้สินเชื่อผ่านแอปฯ  ได้ แต่คุณต้องขออนุญาต ตอนนี้เราทราบจากธนาคารแห่งประเทศไทยว่ายังไม่มีผู้ประกอบการรายไหนเข้าไปขออนุญาต ดังนั้นการประกอบธุรกิจสินเชื่อแบบนี้ก็ผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ชัดเจน เช่น กู้ได้ไม่เกินวงเงินครั้งละ 20,000 บาท แล้วระยะเวลาในการกู้ก็กู้ได้ไม่เกิน 6 เดือน แล้วดอกที่ผู้ประกอบการคิดได้ก็คือร้อยละ 25 เท่านั้น ถ้าเกินจากนี้ผิดกฎหมาย กติกาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเขากำหนดไว้ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อเป็นผู้ปฏิบัติมีชัดเจน แต่ตอนนี้ผู้ประกอบธุรกิจปล่อยกู้ผ่านแอปฯ ก็ใช้ช่องทางที่คุยกันทางไลน์ ทาง Inbox บ้าง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าผู้ประกอบการเป็นใคร         ปัญหาที่เจอก็คือ กู้ 2,000 ได้เงินแค่ 1,200 ถูกหักไปเลย 800 บาทเพราะเขาอ้างว่าเป็นความเสี่ยง ถ้าคุณคืนดีพอหักไปแล้ว 800 แต่คุณต้องคืนจำนวนเต็มคือ 2,000 ซึ่งไม่ใช่ 1,200 พูดง่ายๆ คุณโดนหัก 40 เปอร์เซ็นต์เลย ซึ่งมันเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างชัดเจน แต่ถามว่าแอปฯ นี่ตอนนี้มันถูกขออนุญาตหรือยัง ไม่มีใครรู้ว่าแอปฯ นั้นเปิดโดยใคร อันนี้ก็ตามไม่ได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ การกู้เงินผ่านแอปฯ มันจะให้เรากรอกข้อมูลแล้วก็อนุญาตให้มันเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลญาติเรา พี่น้องเรา เพื่อนเรา แล้วเวลาเราผิดนัดชำระหนี้มันก็จะส่งข้อความหรือส่งไลน์ไปกับกลุ่มคนที่เรามีเบอร์อยู่ในโทรศัพท์  เพื่อนฝูงพี่น้องหรือญาติมิตรก็จะได้รับข้อความทวงหนี้ถ้าเราไม่ชำระหนี้ อันนี้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิแล้วก็เป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลด้วยเพราะเราอนุญาตแค่ข้อมูลเรา แต่จริงๆ แล้วมันดึงข้อมูลของเราไปทั้งระบบ ถ้าเรามีเบอร์โทรศัพท์อยู่ในนั้นมันสามารถแฮกข้อมูลเบอร์โทรศัพท์เราไปทั้งหมดได้ อันนี้เป็นเรื่องที่เราอนุญาตเองแล้วก็เข้าถึงข้อมูลได้ด้วย เป็นเรื่องระบบที่ยังไม่มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ชัดเจน         กรณีการกู้เงินผู้บริโภคควรแก้ปัญหาอย่างไร         ถ้าเป็นไปได้ ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องการเงินตอนนี้ เราคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเขามีหลายมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือผู้บริโภค เช่น มาตรการพักชำระหนี้ มาตรการการปล่อยกู้สินเชื่อที่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น จำนำทะเบียนรถ  แต่ว่าดอกเบี้ยจะเป็นไปตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และสมมติเรามีปัญหาเรื่องการผ่อนชำระหนี้กับ Bank หรือ Nonbank ที่เรากู้เขามา แล้วเขาบอกว่าไม่มีนโยบายในการช่วยเหลือลูกหนี้ คุณร้องเรียนตรงไปที่หมายเลขโทรศัพท์ 1213 สำนักงานของศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน หรือ สคง. ได้เลย เขาจะมีแบบฟอร์มให้คุณกรอกว่าคุณประสงค์ที่จะพักชำระหนี้อย่างไร ช่องทางแบบนี้มันสามารถช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งข้อมูล อย่างเช่น คุณทำกับธนาคารใดธนาคารหนึ่งแล้วธนาคารแห่งประเทศไทยเขาจะมีข้อมูลว่าคุณทำกับธนาคารนี้ เขาจะส่งข้อมูลของคุณเข้าธนาคาร แล้วบอกว่าคุณต้องจัดการช่วยเหลือลูกหนี้แบบนี้เพราะลูกหนี้ประสงค์ที่จะพักชำระหนี้  ตรงนี้จะมีคนกลางที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลไปชี้ให้เขาดำเนินการให้คุณ ทั้งที่จริงๆ ตอนแรกเขาอาจจะปฏิเสธ  ช่องทางแบบนี้ จริงๆ ผู้บริโภคควรเข้าถึง แล้วก็ควรใช้บริการกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพราะมันรวดเร็วแล้วก็ได้รับคำตอบว่าจะแก้ไขปัญหาให้ได้ไหม         อีกเรื่องงคือการถูกหลอกหรือแฮกข้อมูลส่วนตัว ที่เป็นข่าวล่าสุดที่มีการส่ง SMS เข้ามาแฮกข้อมูล นั่นคือ SMS ที่มันได้ข้อมูลจากการลงทะเบียนผ่านแอปฯ ต่างๆ ที่บางทีเราดาวน์โหลดมาและเราอนุญาตให้เข้าถึง หรือว่ามีอีเมลที่ส่งเข้ามาให้เรายืนยันตัวตนและก็ขอข้อมูล OTP เข้าไป อันนี้ตั้งเป็นข้อสังเกตเลยว่า ธนาคารมีข้อมูลของเราอยู่ ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการยืนยันกันบ่อยๆ ถ้าเราคิดว่ามีธนาคารไหนส่งมาเราควรมีการตรวจสอบกลับไปก่อนที่จะทำธุรกรรมตามที่เขาแจ้งมา เพราะว่าธนาคารมีข้อมูลของเราอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องให้เรายืนยันตัวตน ยกเว้นว่าธนาคารมีปัญหาและอันนั้นนี่เขาควรจะต้องติดต่อเราโดยตรง ทำเป็นหนังสือบอกกล่าวให้เราไปจัดการแก้ไขปัญหาและต้องไม่ใช่การบอกล่าวผ่านช่องทางพวก SMS หรือแอปฯ หรืออีเมล เพราะมันไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าอีเมลที่ส่งมาเป็นของธนาคารจริงหรือไม่         “เราคิดว่าความรอบคอบของผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญในการคุ้มครองสิทธิตัวเอง อย่าเชื่อในสิ่งที่เราเห็น แล้วก็อย่าเพิ่งทำอะไรจนกว่าเราจะตรวจสอบแล้วได้รับการยืนยันที่ชัดเจน” เราอาจจะเข้าไปที่สาขาของธนาคารเองก็ได้เพื่อขอตรวจสอบเรื่องพวกนี้  เดินเข้าธนาคารไปขอตรวจสอบเลยว่ามีคนส่ง SMS นี้มา เป็นของธนาคารจริงหรือเปล่า หรือมีคนส่งอีเมลนี้มาให้เรายืนยันตัวตน ทำไมธนาคารจะต้องมาให้เรายืนยันตัวตนอีกอะไรทำนองนี้ ก็คือการตรวจสอบย้อนกลับไปที่ธนาคารมันจะเป็นผลดีกับผู้บริโภคมากกว่าที่เราจะหลงเชื่อและดำเนินธุรกรรมทางการเงินไปเลย ลิงก์ธนาคารก็ไม่ได้หมายความว่ามันใช่ของธนาคารจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMS ที่เป็นลักษณะชื่อบุคคล อันนี้ยิ่งสำคัญใหญ่เพราะคนที่โดนแฮกส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะเหมือนส่ง SMS มาจากบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร อันนี้ก็จะเป็นประเด็นที่เราควรจะมีการตรวจสอบ มีความรอบคอบในการทำธุรกรรมต่างๆ เพราะมันเป็นข้อมูลของเรา ถ้าเราไม่ให้ ใครก็ไม่สามารถจะดำเนินการอะไรต่อได้ ต่อให้เขาแฮกข้อมูลเรามา แต่ถ้าเราไม่ยืนยันตัวตนกลับไปเขาก็ไม่สามารถเอาข้อมูลของเราไปใช้ได้ เรื่องพวกนี้เป็นความรอบคอบของผู้บริโภคที่ต้องปกป้องสิทธิและคุ้มครองตัวเองด้วย เพราะหน่วยงานและองค์กรผู้บริโภคอย่างเราทำงานที่ปลายน้ำ ไม่สามารถปกป้องสิทธิผู้บริโภคได้ทุกคน ดังนั้นอย่างแรกผู้บริโภคต้องลุกขึ้นมาจัดการเองก่อน         ในปี 2564 ที่จะถึงนี้ มีแผนกิจกรรมอะไรต่อ         ปีหน้าเราจะมีคดีสำคัญที่เป็นคดีผู้บริโภครายกลุ่มอีกสามกรณี คือ กรณีสายการบิน คดีสามล้อเอื้ออาทร โครงการนี้มีกลุ่มผู้บริโภคที่ถูกธนาคารฟ้อง อันนั้นก็จบไปแล้วก็เป็นเรื่องฟ้องแพ่ง แต่ตอนนี้เราพบว่าผู้ซื้อสามล้อยังมีปัญหาเรื่องของการถูกฟ้องคดีอาญา ดังนั้นคดีต้องเดินหน้าต่อในปีหน้า ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็จะเป็นเรื่องกลุ่มของการซื้อสินค้าออนไลน์กลุ่มที่นอนยางพารา ซึ่งอาจจะมีการฟ้องคดีแบบกลุ่มเพื่อให้ผู้ประกอบการยุติการดำเนินธุรกิจ ไม่ให้ผู้บริโภครายอื่นได้รับความเสียหายต่อไป อันนี้ก็จะมีสามประเด็นหลักๆ ที่อาจจะต้องทำในเชิงต่อเนื่องจากปีนี้         ส่วนด้านนโยบายจะมีเวทีเรื่องของการผลักดันกฎหมาย Lemon Law ซึ่งปีหน้าจะต้องมีการผลักดันให้เกิด (ตอนนี้ยังอยู่ในชั้นกฤษฎีกา)  

อ่านเพิ่มเติม >