ฉบับที่ 129 ปิโตรเลียม เจลลี

  ฉบับนี้ อ.พิมลพรรณ ฝากขออภัยแฟนๆ นะคะ เนื่องจากอาจารย์ไม่สะดวกจริงๆ ทางกองบรรณาธิการ จึงขอนำเสนอเรื่องสวยๆ งามๆ แทน เรื่องที่ขอเสนอคราวนี้เป็นเรื่องของปิโตรเลียม เจลลี(Petroleum Jelly) ค่ะ งงๆ ใช่ไหมคะ แต่ถ้าเรียกว่า วาสลีน(Vaseline)  ล่ะก็ คงร้องอ๋อกันใช่ไหม ปิโตรเลียมเจลลี นั้นเป็นชื่อสามัญ ซึ่งไม่ฮิตติดตลาดเท่าชื่อเจ้าของดั้งเดิมต้นตำรับ คือ วาสลีน ทำไมถึงเลือกเขียนเรื่องนี้ มันก็เป็นเหตุจากช่วงชุลมุนวุ่นวายเก็บของหนีน้ำท่วมและแพ็กถุงยังชีพส่วนตัว ซึ่งขอแนะนำว่าควรเลือกพกปิโตรเลียม เจลลี 1 กระปุกไว้ในถุงด้วย เพราะอะไรเหรอคะ ก็เพราะว่ามันเป็น เครื่องสำอางอเนกประสงค์มากๆ ค่ะ   ประโยชน์ของปิโตรเลียม เจลลี ปิโตรเลียม เจลลี ถูกค้นพบจากกระบวนการขุดเจาะน้ำมัน เรียกว่าเป็นผลพลอยได้ที่ล้ำค่าไม่แพ้น้ำมันเลยค่ะ และด้วยคุณสมบัติที่ว่ามาจากน้ำมันข้อนี้ ทำให้เราสามารถใช้ปิโตรเลียม เจลลี ทดแทนโลชั่นเพื่อปกป้องผิวไม่ให้แห้งกร้านได้เป็นอย่างดี นอกจากช่วยถนอมผิวแล้ว ยังใช้ล้างเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำมันได้ดีอีกด้วย เรียกว่า ทดแทนครีมล้างเครื่องสำอางได้เลย และสำหรับคนที่มีริมฝีปากแห้ง ปิโตรเลียม เจลลี ช่วยทำหน้าที่แทนลิปมันได้เลย บางคนว่าโบกที่ริมฝีปากหนาๆ ก่อนนอนช่วยให้ริมฝีปากนุ่มชุ่มชื้นไปทั้งวัน เมื่อใช้กับปากได้ กับมือหรือเท้าที่หยาบกร้านเนื่องจากการทำงาน ทาปิโตรเลียม เจลลีก็ช่วยทำให้ผิวกลับมานุ่มนวลขึ้นได้เช่นกัน   สารพัดประโยชน์ยามผจญน้ำท่วม 1.แก้อาการแสบร้อนจากแดดเผา กรณีต้องตากแดดแรงๆ ลุยน้ำท่วม แล้วมีอาการแสบร้อนผิว  ทาหนาๆ หน่อย บริเวณผิวที่โดนแดดโดนลมทำร้าย จะช่วยบรรเทาอาการ ปวดแสบปวดร้อน ได้ 2. แก้ผิวแตกจากลมหนาว บางพื้นที่นอกจากภัยน้ำแล้ว ยังเจอภัยหนาวด้วย ทาผิวที่แห้งแตกจากลมหนาวด้วยปิโตรเลียม เจลลี จะช่วยบรรเทาอาการคันยิบๆ ได้ แล้วผิวก็ไม่แห้งเป็นขุยด้วย 3. ป้องกันน้ำกัดเท้า ถ้าต้องออกไปลุยน้ำท่วมแบบเลี่ยงไม่ได้ ให้ทาบริเวณซอกนิ้วเท้าให้หนาๆ ไว้ จะช่วยให้ผิวบริเวณดังกล่าวไม่ถูกน้ำแทรกซึมทำร้ายเอาได้ง่ายๆ เป็นการป้องกันน้ำกัดเท้าได้อีกวิธีหนึ่ง 4. ห้ามเลือด อันนี้สำหรับกรณีฉุกเฉิน เราสามารถใช้ปิโตรเลียม เจลลี ห้ามเลือดกรณีบาดแผลไม่ลึกมากได้ เป็นเทคนิคที่เรียนรู้มาจากเวทีมวยอีกที แต่เมื่อเลือดหยุดแล้วต้องรีบล้างแผลทำความสะอาดนะคะ เห็นไหมล่ะ ว่าพกไว้เพียง 1 กระปุก เจ้าปิโตรเลียม เจลลี ที่มีหน้าตาเป็นน้ำมันใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่นนี้ สามารถช่วยเราได้เยอะเชียว และราคาต้องบอกว่า ถูกมากๆ เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่คุณสมบัติใกล้กัน ปัจจุบันมีให้เลือกหลายยี่ห้อนะคะ ไม่จำเป็นต้องซื้อในชื่อ วาสลีน เท่านั้น อ้อ...ข้อเสียอย่างเดียวของปิโตรเลียม เจลลี ก็คือ ความเหนียวเหนอะหนะ ซึ่งบางคนไม่ชอบเอาเลย แต่จริงๆ แล้วมันเป็นคุณสมบัติมากกว่าโทษสมบัตินะคะ โดยเฉพาะกรณีที่ปกป้องผิวจากการสูญเสียน้ำ ปิโตรเลียม เจลลีเขาจะเคลือบและแทรกซึมเข้าระหว่างเซลล์ผิวได้ดี ทำให้สามารถป้องกันการสูญเสียน้ำผ่านออกจากผิวหนังได้ถึง 99% แต่เพราะความเหนียว ถ้าไม่ชอบจริงๆ ก็ควรใช้เฉพาะในบริเวณที่แตกแห้งพิเศษ เช่น บริเวณริมฝีปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ผื่นผิวหนังที่หนาๆ  ผิวแตกแห้ง จะได้ไม่รู้สึกเหนอะหนะเกินไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 180 ฤาโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม จะต้มตุ๋นคนไทยทั้งประเทศ?

ยุคเริ่มต้นแหล่งปิโตรเลียมที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นก๊าซ และเป็นก๊าซชั้นดีที่เรียกว่า ก๊าซเปียก (Wet Gas) ที่เรียกว่าเป็นก๊าซชั้นดี เพราะเป็นก๊าซที่สามารถนำมาแยกเป็นผลิตภัณฑ์ก๊าซชนิดต่าง ๆ เช่น ก๊าซมีเทนที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ก๊าซโพรเพน และบิวเทน เอามาใช้เป็นก๊าซหุงต้มและก๊าซในรถยนต์หรือที่เรียกว่าก๊าซแอลพีจี นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกอีกด้วย ในขณะที่ก๊าซจากพม่าเป็นก๊าซแห้งหรือก๊าซมีเทนชนิดเดียว จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าเท่านั้น การพบแหล่งก๊าซดิบในประเทศไทยช่วงต้นทศวรรษที่ 2520 ที่มีปริมาณเชิงพาณิชย์เป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “เราจะโชติช่วงชัชวาล” รัฐบาลลงทุนในการสร้างท่อก๊าซและสร้างโรงแยกก๊าซเพื่อนำก๊าซมาใช้ในประเทศเพื่อทดแทนฟืนและถ่านที่ประชาชนใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน ในร้านอาหาร ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาในโรงไฟฟ้า และอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นก๊าซรถยนต์เพื่อทดแทนน้ำมันนำเข้าที่มีราคาแพง และใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในยามเริ่มแรกที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมียังไม่เติบโตขยายตัวมากเหมือนปัจจุบัน ก๊าซแอลพีจีที่ผลิตในประเทศจึงมีปริมาณเหลือเฟือเพียงพอให้ใช้ในภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงและส่งออก การที่ยังมีปริมาณแอลพีจีเหลือจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลต้องส่งเสริมให้รถแท็กซี่เปลี่ยนมาใช้ก๊าซแอลพีจีในรถยนต์แทนน้ำมัน ซึ่งประสบความสำเร็จที่มีรถแท็กซี่และรถส่วนบุคคลหันมาใช้ก๊าซแอลพีจีแทนน้ำมัน ยิ่งกว่านั้นภาคครัวเรือนก็เลิกใช้ถ่าน ฟืน เปลี่ยนมาใช้ก๊าซแอลพีจีแทนซึ่งช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งได้รับความนิยมจนถ่านฟืนค่อย ๆ หมดไปเพราะการใช้ก๊าซแอลพีจีในครัวเรือนมีความสะดวกและราคาถูก รัฐบาลได้จัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นรัฐวิสาหกิจ 100%ที่รวม 2 องค์กรเข้าด้วยกัน คือ องค์การเชื้อเพลิง และ องค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อบริโภค ซึ่งเป็นวิกฤติการณ์ขาดแคลนพลังงานโลกในช่วงปี 2521 และเพื่อวัตถุประสงค์ในการพึ่งพาตนเอง ยุคหลังการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย    กิจการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นกิจการที่ผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นกิจการที่คณะรัฐมนตรีในอดีตเคยมีมติให้แยกกิจการก๊าซออกจากกิจการการจัดหาและจัดจำหน่ายก่อนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยคงการถือหุ้นกิจการก๊าซธรรมชาติไว้ 100% แต่เมื่อมีการแปรรูปได้แปรกิจการผูกขาดนี้ไปด้วยและหากพิจารณาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจะบัญญัติไว้เสมอว่า “รัฐต้องส่งเสริมเศรษฐกิจเสรีและเป็นธรรม ต้องป้องกันการผูกขาดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และคุ้มครองผู้บริโภค” หากพิจารณาตามบทบัญญัติเช่นนี้ กิจการก๊าซธรรมชาติเป็นกิจการที่ไม่สามารถแปรรูปได้เพราะเป็นกิจการที่ผูกขาดที่ถูกบัญญัติห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญ การแปรรูปกิจการที่มีสภาพผูกขาดเช่นนี้จึงก่อให้เกิดโครงสร้างราคาที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน     กิจการก๊าซธรรมชาติเป็นกิจการที่ทำกำไรให้กับบมจ.ปตท.เป็นหลัก รองจากกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จากเอกสารแสดงงบกำไรขาดทุนในแบบฟอร์ม 56-1 ของบมจ.ปตท.ปี 2554-2557 หน่วยธุรกิจก๊าซมีกำไร 46,992 ล้านบาท เป็นสัดส่วนกำไร 30% ปี 2555 กำไร 38,862 ล้านบาท เป็นสัดส่วนกำไร 24% ปี 2556 กำไร 30,985 ล้านบาท เป็นสัดส่วนกำไร 20% และในปี 2557 กำไร 39,779 ล้านบาท เป็นสัดส่วนกำไร 28% ของกำไรในปีนั้น ๆ รองจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีกำไรในปี 2554 จำนวน 85,003 ล้านบาท หรือ 54% ในปี 2555 กำไรจำนวน 109,406 ล้านบาท หรือ 67% ในปี 2556 กำไร 110,922 ล้านบาท หรือ 73.18% และกำไรในปี 2557 จำนวน 91,525 หรือ 64.55% 2 กิจการหลักนี้ทำกำไรให้บมจ.ปตท. 84% ในปี 2554 91% ในปี 2555 93.18% ในปี 2556 และ 92.55% ในปี 2557ผลประกอบการของบมจ.ปตท. กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) จากแบบ 56-1  ที่มา : แบบ 56-1 บมจ.ปตท.     การที่หน่วยธุรกิจก๊าซมีกำไรสูงกว่าหน่วยธุรกิจน้ำมันแม้จะแปรรูปเป็นบริษัทเอกชนแต่มีรัฐถือหุ้นใหญ่ จึงไม่แปลกที่รัฐบาลในอดีตจะกำหนดให้ราคาก๊าซหุงต้มซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นของประชาชนในราคาที่รัฐกำหนดไว้ที่ 333 เหรียญต่อตัน หรือราคาเนื้อก๊าซ 10.26 บาทต่อกิโลกรัม และเมื่อรวมภาษีและค่าการตลาดแล้วราคาที่ขายประชาชนอยู่ที่กิโลกรัมละ 18.13 บาท ก๊าซหุงต้มขนาดถังบรรจุ 15 กิโลกรัม ราคา 271.95 บาท เมื่อขายประชาชนรวมค่าขนส่งจะอยู่ที่ราคาถังละ 290-300 บาท     การขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ทำให้ภาคปิโตรเคมีเข้ามาแย่งใช้ก๊าซแอลพีจีกับภาคครัวเรือนและภาคอื่น ๆ มากขึ้น ปิโตรเคมีซึ่งเคยใช้ก๊าซแอลพีจีในสัดส่วน 20% ในปี 2545 เพิ่มเป็น 37% ในปี 2555  การใช้กองทุนน้ำมันมาชดเชยราคาแอลพีจีนำเข้าอาจกล่าวได้ว่าเป็นวิธีการล้วงเงินจากกระเป๋าผู้บริโภคเมื่อยังไม่สามารถขึ้นราคาเนื้อก๊าซโดยตรงจากผู้บริโภค เพราะรัฐบาลได้กำหนดราคาควบคุมเนื้อก๊าซหุงต้มไว้ที่กิโลกรัมละ 10.26 บาท (ตันละ 333 เหรียญ) ปตท.มักอ้างเสมอว่าขาดทุนก๊าซจากโรงแยกทั้งที่ในงบการเงินปตท.มีกำไรจากธุรกิจก๊าซมากกว่าธุรกิจน้ำมันและธุรกิจจากการค้าระหว่างประเทศ ในเดือนสิงหาคม 2555 มีการกำหนดสูตรราคาก๊าซจากโรงแยกก๊าซว่ามีราคา 16.96 บาทต่อกก. (550 เหรียญต่อตัน) ในขณะที่ราคาแอลพีจีจากโรงกลั่นน้ำมันกำหนดไว้ 23.56 บาทต่อกก. (764 เหรียญต่อตัน) ส่วนแอลพีจีนำเข้ามีราคา 27.76 บาทต่อกก. (960 เหรียญต่อตัน) แต่ราคาแอลพีจีที่รัฐกำหนดไว้ยังอยู่ที่ 10.26 บาทต่อกก. (333 เหรียญต่อตัน)     หากเทียบสัดส่วนราคาก๊าซในประเทศกับก๊าซแอลพีจีตลาดโลก ราคาแอลพีจีจากโรงแยก 550 เหรียญต่อตัน มีสัดส่วนเท่ากับ 57% ของราคาตลาดโลกที่ 960 เหรียญต่อตัน และราคาแอลพีจีจากโรงกลั่นที่ 764 เหรียญต่อตัน เท่ากับ 79% ของราคาตลาดโลก สิ่งที่ธุรกิจก๊าซพยายามจะดันราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มให้เป็นไปตามราคาตลาดโลกที่ 900 เหรียญต่อตัน มีมาโดยตลอดโดยมีแผนการขยับราคาขายปลีกเป็นขั้น ๆ เริ่มจากปรับราคา 18.13 บาท มาที่ 24.82 บาทต่อกก.ให้ได้ในปี 2556 และปรับเป็นราคา 36.35 บาทต่อกก.ในปี 2557  แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นราคาที่เนื้อก๊าซที่รัฐกำหนดราคาควบคุมไว้จึงใช้วิธีเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันโดยเริ่มที่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงถูกปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีในราคา 30 บาทต่อกก. ก่อนกลุ่มอื่นตั้งแต่ต้นปี 2554 โดยการเพิ่มราคาเป็น 30.13 บาทต่อกก.ราคาเนื้อก๊าซยังใช้ราคาเดิมที่ 10.26 บาทต่อกก. และไปเพิ่มการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 12.26 บาทต่อกก. ก๊าซแอลพีจีสำหรับรถยนต์ถูกเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน 4.08 บาทต่อกก.ตั้งแต่ปี 2554 ส่วนปิโตรเคมีถูกเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน 1 บาทเมื่อต้นปี 2555 และถูกยกเลิกไปเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ในยุครัฐบาลคสช.นี่เอง!  ราคาก๊าซหุงต้มยุคปฏิรูปของรัฐบาล คสช.    ความพยายามในการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มของกลุ่มธุรกิจพลังงานเพื่อเพิ่มกำไรเป็นเรื่องที่มีการต่อสู้คัดค้านกันมาตลอดทุกรัฐบาล เมื่อพิจารณาจากกิจการก๊าซที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ผูกขาดทั้งระบบแต่ถูกแปรรูปไปเป็นธุรกิจของเอกชน แม้รัฐบาลจะยังถือหุ้นใหญ่ 51% ในบริษัทปตท. แต่มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนฝ่ายเอกชนมากกว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเดือนละ 50 สตางค์ต่อกก.เริ่มในสมัยของรัฐบาลเพื่อไทย แต่หลังจากคสช.เข้ามายึดอำนาจรัฐแล้ว การปฏิรูปพลังงานไม่ได้มีเนื้อหาเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลก่อนแต่อย่างไร แต่กลับมีอาการหนักกว่าเก่าเพราะอ้างว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงไม่ต้องกลัวประชาชนคัดค้านเหมือนรัฐบาลจากการเลือกตั้ง     ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา กระทรวงพลังงานได้อาศัยช่วงบ้านเมืองอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ที่ไม่มีประชาชนกล้าออกมาต่อต้าน เดินหน้าปรับราคาก๊าซหุงต้มยกแผง ด้วยการกำหนดราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีจาก3แหล่งและเอามาถัวเฉลี่ยราคากัน และได้ราคาตามที่กลุ่มธุรกิจพลังงานต้องการที่กิโลกรัมละ 24.82 บาท โดยไม่ต้องรอขึ้นทีละ 50 สตางค์ อย่างที่กำหนดขั้นตอนไว้ 1) ราคาก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นก๊าซจากอ่าวไทยถูกปรับราคาขึ้นจาก 333 เหรียญต่อตัน (10.26 บาทต่อกก.) เป็นราคา 498 เหรียญต่อตัน หรือ 16.43 บาทต่อกก. 2) ราคาก๊าซจากโรงกลั่นน้ำมัน ใช้ราคาตลาดโลก (CP) - 20 เหรียญ ซึ่งขณะนั้นราคาตลาดโลกเหลือ 462 เหรียญต่อตัน ดังนั้นราคาโรงกลั่นน้ำมันคือ 462-20= 442 เหรียญ หรือ 14.58 บาทต่อกก. 3) ราคาแอลพีจีนำเข้า ใช้ราคา CP + 85 เหรียญ = 462+ 85 = 547 เหรียญต่อตัน หรือ 18.05 บาทต่อกก. ถือว่ากระทรวงพลังงานในยุครัฐบาลอำนาจพิเศษสามารถดำเนินการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มโดยเฉพาะภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นภาคใหญ่ที่สุดได้สำเร็จในยุคนี้ และยังสามารถปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มของโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นทรัพยากรในอ่าวไทยได้ตามที่กลุ่มธุรกิจพลังงานได้มีความพยายามมาหลายปี แต่ทำไม่สำเร็จในสมัยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ต้องรอรัฐบาลจากการรัฐประหารมาต่อยอดให้จนสำเร็จ จึงมีคำถามว่า คสช.ทำรัฐประหารมาเพื่อภารกิจอะไรกันแน่? เพื่อสร้างความปรองดอง? หรือเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ? การอ้างว่าใช้ราคาเดียวกันยกแผง จะได้ไม่หาว่าบริษัทปิโตรเคมีเอกชนใช้ราคาถูกกว่าชาวบ้าน แต่การที่ไม่มีหน่วยงานใดกำกับราคาก๊าซแอลพีจีที่บริษัทปิโตรเคมีเอกชนซื้อ เพราะกระทรวงพลังงานอ้างว่าดูแลราคาเฉพาะที่นำแอลพีจีไปใช้เป็นเชื้อเพลิง การใช้แอลพีจีเป็นวัตถุดิบจึงเป็นการตกลงกันเองระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก ดังนั้นราคาซื้อขายแอลพีจีระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก จึงเป็นเงินกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวาของกลุ่มเดียวกัน  ส่วนราคาที่ปรับใหม่เป็นราคาที่กำหนดให้ประชาชนทุกภาคส่วนเป็นผู้รับภาระในการเพิ่มกำไรให้บริษัทเอกชน นอกจากนี้การเก็บภาษีสรรพสามิตก็เก็บเฉพาะผู้ใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น ส่วนบริษัทปิโตรเคมีเอกชนไม่ต้องจ่าย แม้จะเป็นผู้ก่อขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล ก็ไม่ต้องรับภาระใดๆ ทั้งสิ้น กองทุนน้ำมันที่ผิดกฎหมายก็ยังเปิดให้เก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน และผู้ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงต่อไป แต่บริษัทปิโตรเคมีเอกชนได้รับคำสั่งใหม่ว่าไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน 1 บาทต่อกก.แล้ว นับตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป! เมื่อต้นปี 2558 กรรมาธิการปฏิรูปพลังงานในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เชิญผู้ค้ามาตรา 7 ด้านแอลพีจีมาประชุม ในที่ประชุมผู้ค้ามาตรา 7 ได้ให้ความเห็นว่าราคาก๊าซแอลพีจีนำเข้าบวกค่าใช้จ่าย 85 เหรียญต่อตันนั้นมีราคาแพงเกินสมควร และผูกขาดการนำเข้าโดยบมจ.ปตท. การนำกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนการนำเข้าแอลพีจีตันละ 85 เหรียญ จึงเป็นประโยชน์ให้กับปตท.เท่านั้น กลุ่มผู้ค้ามาตรา 7 เสนอให้กระทรวงพลังงานเปิดประมูลให้ผู้ค้ารายอื่นเสนอราคานำเข้ามาแข่ง ใครเสนอได้ถูกกว่า CP+85 เหรียญ ก็ให้เป็นผู้นำเข้าแอลพีจีซึ่งจะได้ราคาถูกกว่านี้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่กระทรวงพลังงานจนถึงปัจจุบันก็ไม่ได้ตอบสนองที่จะทำให้มีการแข่งขันการนำเข้าแอลพีจีแต่ประการใด การที่รัฐบาลสมคบกับบริษัทธุรกิจเอกชนรายเดียวผูกขาดธุรกิจก๊าซแอลพีจีทั้งระบบเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือ? สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือเหตุใดราคาก๊าซแอลพีจีจากอ่าวไทยที่เป็นทรัพยากรในบ้าน จึงมีราคาแพงกว่าก๊าซแอลพีจีราคาตลาดโลก!! ราคาก๊าซแอลพีจีตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กันยายน 2558 ราคาก๊าซแอลพีจีตลาดโลกอยู่ที่ 327 เหรียญต่อตัน หรือ 11.68 บาทต่อกก. แต่ราคาแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซยังคงยืนที่ราคา 498 เหรียญต่อตัน หรือ 17.79 บาทต่อกก. แม้แต่ราคาแอลพีจีจากโรงกลั่นก็มีราคาลดลงเพราะถูกกำหนดราคา CP. (Contract Price) -20 เหรียญต่อตัน จึงมีราคาที่ 423 เหรียญต่อตัน หรือ 15.11 บาทต่อกก. การกำหนดให้ราคาแอลพีจีจากโรงกลั่นน้ำมันเป็นราคา CP-20 แต่ราคาโรงแยกซึ่งใช้ทรัพยากรจากก๊าซในอ่าวไทย อุปกรณ์ทั้งท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซที่สร้างจากภาษีของประชาชนเมื่อนานมาแล้ว ได้เลยจุดคุ้มทุนนานแล้ว แต่ราคาแอลพีจีกลับมีราคาแพงกว่าราคาตลาดโลกและราคาจากโรงกลั่นน้ำมันที่นำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ราคาก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกเคยมีราคาเทียบสัดส่วนกับราคาแอลพีจีตลาดโลกที่ 57% ราคาแอลพีจีตลาดโลกในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 297 เหรียญต่อตัน หรือ 10.67 บาทต่อกก. หากเทียบสัดส่วนกับราคาตลาดโลก ราคาจากโรงแยกก๊าซควรมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 6.0819 บาทเท่านั้น แม้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) จะมีการปรับลดราคาก๊าซหุงต้มลง 2 บาทต่อกก. จากราคา 22.29 บาทต่อกก. เป็น 20.29 บาท แต่การคงกำหนดราคาเนื้อก๊าซจากโรงแยก (ซึ่งผลิตได้ในปริมาณสัดส่วนสูงถึง 51.7% ของจำนวนที่ต้องการใช้ในประเทศ) ที่ราคา 15.45 บาทต่อกก. ส่วนราคาจากโรงกลั่นใช้ราคาตลาดโลกลบ20เหรียญต่อตัน ซึ่งทำให้ได้ราคาที่สมเหตุสมผลคือ 9.9512บาทต่อกก. ส่วนราคานำเข้ากบง.ให้บวกเพิ่ม 85 เหรียญต่อตัน ทำให้ราคานำเข้าสูงกว่าราคาตลาดโลกถึง3บาทต่อกิโลกรัมที่ราคา13.73บาทต่อกก. (ราคาตลาดโลก10.67บาท/กิโลกรัม) เมื่อเอา 3 แหล่งมาถัวเฉลี่ย ราคาจากโรงแยกที่แพงสุดๆจึงดึงราคาถัวเฉลี่ยให้สูงตาม คือ 13.73บาทต่อกก. ข้อเสนอเพื่อการพิจารณารัฐบาลควรจะบริหารราคาก๊าซหุงต้มให้มีความสมเหตุสมผลเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคด้วยการดำเนินการดังนี้1) ให้ปรับสูตรราคาก๊าซจากโรงแยกซึ่งมีสัดส่วนผลิต 51.7% และก๊าซจากโรงกลั่นน้ำมันซึ่งมีสัดส่วนผลิต 27.4%โดยใช้สูตรราคาเดียวกันคือราคา CPลบ20 เหรียญต่อตัน ซึ่งจะทำให้ราคาที่ผลิตได้ในประเทศต่ำกว่าราคาตลาดโลก โดยปัจจุบันจะได้ราคา 9.95บาท/กิโลกรัม2) ก๊าซนำเข้าเสนอให้มีการเปิดประมูลใครสามารถนำเข้าในราคาต่ำกว่า CP+85 เหรียญต่อตัน มากที่สุดให้ได้สิทธิในการนำเข้า เมื่อราคาจาก 2 แหล่งใหญ่ คือ โรงแยกและโรงกลั่นมีราคาต่ำกว่าตลาดโลก 20 เหรียญต่อตัน และราคานำเข้าให้มีการแข่งขันด้วยการประมูล ผู้เสนอราคานำเข้าที่ราคาต่ำสุดได้สิทธินำเข้า ก็จะสามารถทำให้ราคาจัดหาไม่เกินจากราคาตลาดโลกที่ 10.67 บาทต่อกก.ได้ เมื่อบวกภาษีและค่าการตลาดหรือกองทุนแล้ว ราคาปลีกไม่ควรเกินราคาที่กิโลกรัมละ 18.79 บาท หรือราคาถังละ 281.85 บาท เมื่อบวกค่าขนส่งแล้วราคาก๊าซหุงต้มต่อถังควรไม่เกิน 320 บาทหากรัฐบาลคสช.ทำได้ดังนี้ จะเป็นการให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมรวมทั้งเป็นผู้จ่ายภาษีในการสร้างอุปกรณ์ทั้งท่อส่งก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก๊าซ คลังก๊าซต่าง ๆ รัฐบาลในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบมจ.ปตท. ควรพิจารณาราคาก๊าซหุงต้มและกำไรของบริษัทให้พอเหมาะพอสมกับการที่ก๊าซหุงต้มเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เป็นต้นทางของค่าครองชีพทั้งราคาอาหารและราคาสินค้าอื่น ๆ หากรัฐบาลพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนก็จะได้รับการแซ่สร้องสรรเสริญว่าท่านไม่ได้มายึดอำนาจเพื่อทะลุทลวงอุปสรรคให้กับกลุ่มทุนพลังงานดังที่สังคมเริ่มมีคำถามกับท่าน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point