ฉบับที่ 264 เมื่อผู้บริโภคถูก “ฟ้องปิดปาก”

        การฟ้องปิดปาก (SLAPPs) หรือเรียกว่า  “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ”  เมื่อเกิดขึ้นกับใคร ย่อมบั่นทอนกำลังใจ สำหรับคุณกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง หรือคุณนะ หนึ่งในผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่ม ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายกระทะโคเรีย คิง มีเพียงความเชื่อมั่นในสิทธิของผู้บริโภคเท่านั้นที่ทำให้เธอสามารถเดินหน้าต่อไปได้         ย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายน 2560 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้ยื่นฟ้องบริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด  ผู้นำเข้า‘กระทะโคเรียคิง’ เป็นคดีกลุ่ม เนื่องมาจากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คุณกัลยทรรศน์ได้เข้าร่วมการไต่สวนคำร้องการดำเนินคดีแบบกลุ่มตามนัดของศาลมาอย่างต่อเนื่อง แต่แล้วในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมาคุณกัลยทรรศน์ กลับถูกบริษัทวิซาร์ด โซลูชั่น ฟ้อง ใน 2 คดีซึ่งล้วนเป็นคดีอาญาคือ คดีที่ 1 อ.169/2565 ในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ศาลจังหวัดสตูล และคดีที่ 2 ในข้อหาเบิกความเท็จ หมายเลขดำที่ อ.2961/2565  ศาลอาญา         ทั้ง 2 คดีบริษัทฟ้อง คุณกัลยทรรศน์เป็นการส่วนบุคคล ซึ่งล้วนมีที่มาจากการที่คุณกัลยทรรศน์เข้าร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกร้องให้บริษัทชดใช้ค่าสินค้าให้แก่ผู้บริโภคทุกรายที่ซื้อสินค้ามากกว่า 1,650 ล้านบาทเหตุการณ์เริ่มต้นอย่างไร ทำไมบริษัทถึงฟ้องได้         ต้องเล่าย้อนกลับไปถึงการฟ้องคดีกลุ่ม เพราะเกี่ยวข้องกัน เราฟ้องบริษัทในฐานะที่เขาขายสินค้าไม่ตรงที่โฆษณาว่าสามารถที่จะ ผัด ทอด โดยที่ไม่ต้องใช้น้ำมันแล้วสินค้าไม่ได้เป็นตามนั้น เพราะว่าทุกครั้งที่เราใช้กระทะเราก็ต้องใช้น้ำมันอยู่ดีเรารู้สึกว่ามันไม่ตรงกับสิ่งที่เขาโฆษณาไว้ อีกอย่างหนึ่งก็หลายสตางค์นะ เราเป็นเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค เราทำงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสตูล เราจึงร่วมฟ้อง         แต่การซื้อ ตอนนั้นเห็นโฆษณาเราก็สั่งซื้อกัน  แต่ใช้ชื่อน้อง‘อนัตตา’  เป็นเพื่อนร่วมงานซื้อ ซื้อแล้ว  เราก็เฉลี่ยเงินแล้วก็มาแบ่งกัน  พอซื้อแล้ว เราต่างคนก็ต่างเอากระทะกลับไปใช้แล้วก็รู้ว่าคุณสมบัติเรื่องของการโฆษณาไม่เป็นไปตามนั้นเลย พอรู้ว่าตอนนั้นก็มีผู้เสียหายหลายคน และมูลนิธิจะฟ้องเราก็จะร่วมด้วย  แต่ใบเสร็จรับเงินที่อยู่ในกล่องตอนที่ซื้อมามันหายไป เราเลยไปแจ้งความ ตำรวจก็ให้ลงบันทึกประจำวันไว้ว่าใบเสร็จได้สูญหายไป ยืนยันว่าเราได้ซื้อกระทะจากบริษัทจริง กระทะทั้งสองใบก็ยังอยู่นะ  ตรงนั้นเราจึงเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมฟ้องคดีกลุ่ม แล้วบริษัทมาฟ้องได้อย่างไร         บริษัทเขาบอกว่าค้นในระบบแล้วไม่เจอชื่อเราว่าเป็นคนซื้อ เราไม่ใช่ผู้ซื้อ  ไม่มีประวัติในการซื้อ ซึ่งกระทะก็อยู่ที่เราจนถึงตอนนี้ เลยเป็นที่มาของการฟ้อง         บริษัทฟ้องเรากลับมาคนเดียว ฟ้องคดีแจ้งความเท็จที่ศาลจังหวัดสตูล  สองก็คือเบิกความเท็จ ฟ้องที่ศาลอาญา เมื่อบริษัทเขาไม่เจอชื่อเราว่าเป็นคนซื้อ  ที่เราได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ เขาเลยเอาตรงนั้นมาแจ้งข้อหาและฟ้องที่ศาลจังหวัดสตูล เมื่อช่วงปลายปี 2565         เราเองก็รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับเรานะเพราะเป็นคนซื้อจริงๆ  แล้วก็จ่ายเงินจริง ใช้จริง  เราก็มั่นใจ มันเหมือนกันว่าถ้าเอาตามตัวหนังสือแน่นอนว่าไม่มีชื่อเรา  สุดท้ายศาลท่านแนะนำว่าเป็นคดีที่ไกล่เกลี่ยกันได้  ซึ่งทนายความทางศาลก็ไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ฟ้องกับเราที่เป็นจำเลย  โดยถ้ายอมรับสารภาพว่าเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ซื้อ แล้วบริษัทก็จะถอนฟ้อง แล้วอีกคดีที่บริษัทฟ้องในข้อหาเบิกความเท็จ         คดีนี้เขาฟ้องที่ศาลอาญา ฟ้องในเวลาไล่เลี่ยกันเลย เขาฟ้องว่าในคดีที่ฟ้องกลุ่ม เราเบิกความเท็จว่าเป็นผู้ซื้อ พอถูกดำเนินคดีแล้ว เราเสียอะไรไปบ้าง         วันที่หมายศาลมาที่บ้าน กลัวมาก นอนไม่หลับเครียดมาก ร้องไห้ เครียดกลัวพ่อแม่ กลัวลูกไม่สบายใจ ตอนนั้นเครียดจนต้องเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเลย  เราเป็นคนธรรมดา ไม่มีความรู้กฎหมาย เราก็กลัว แล้วเรื่องค่าใช้จ่าย เราต้องเดินทางขึ้นกรุงเทพ เดือนละครั้ง หรือ 2 เดือนครั้ง แล้วมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับสภาองค์กรของผู้บริโภคเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร         ก็ช่วยตลอดมาตั้งแต่แรก  ช่วยเรื่องเงินประกัน มีทนายความมาช่วย มูลนิธิฯ ออกค่าที่พักที่นอนให้แต่เราเองก็ต้องออกไปก่อนครั้งละ 5,000 -6,000 บาท เวลาที่ขึ้นไปศาลฯ ที่กรุงเทพ         ที่ศาลอาญา ช่วงที่รอไต่สวน เราต้องเข้าไปอยู่ในห้องขัง ต้องไปเจอผู้ต้องขังเยอะแยะมากมาย เราเสียใจ ร้องไห้นะ ในคดีแจ้งข้อความอันเป็นเท็จที่ศาลจังหวัดสตูล ทำไมเราถึงยอมรับสารภาพ         ความหมายของผู้บริโภคเมื่อเกิดความเสียหายก็สามารถฟ้องได้  เราพูดในฐานะที่เป็นผู้บริโภคแล้วเวลาเราฟ้อง ในวันนั้นที่เราฟ้องคดีกลุ่ม ฟ้องในฐานะผู้บริโภค ซึ่งเราก็เป็นส่วนหนึ่งในฐานะผู้ซื้อด้วยและเราก็บริโภคด้วยเพราะเราเป็นคนใช้ แต่ศาลที่สตูลเขาบอกว่าถ้าด้วยตัวกฎหมายก็คือว่ามันไม่ใช่ชื่อกัลยทรรศน์ แต่มันเป็นชื่ออนัตตา มันผิดตรงนั้นที่เราไปลงบันทึกประจำวันไว้ ทำไม บริษัทถึงมาฟ้องเรื่องนี้ในปี 65  ทั้งที่เริ่มฟ้องคดีกลุ่มมาตั้งแต่ปี 60 แล้ว          ในคดีกลุ่ม บริษัทฯ ก็ทยอยไกล่เกลี่ย คืนเงินชดเชยซึ่งอาจเหลือไม่กี่คนแล้ว อันนี้เขาบอกนะ ถ้าสมมุติว่าเขาทำให้พี่ถอนฟ้องได้ การฟ้องแบบนี้มันเหมือน ฟ้องปิดปากเพื่อที่จะให้เราไปถอนฟ้อง เหมือนกับคดีปิดปากอื่นๆ เขาทำให้เรารู้สึกกลัว แล้ว จำนวนคนที่ยังอยู่ที่บริษัทจะชดใช้เงินคืนก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ ตอนนี้กำลังใจเป็นอย่างไร          เรามีกำลังใจจากคนที่เข้ามาช่วยเรา ทั้งจาก เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และน้องๆ ทนายความจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่คอยปลอบใจ ให้กำลังใจเราเสมอ สิ่งที่อยากฝาก         เราได้บทเรียนว่าวินาทีที่เราตั้งใจซื้อไม่ว่าทางไหนก็แล้วแต่จะต้องมีหลักฐานเอกสารขนาดต้อง Copy ไว้หมดเลยการซื้อของทุกวันนี้ต้องเก็บหลักฐานตั้งแต่วินาทีสั่งของ เวลาที่ของมาถึงเราแล้วก็ต้องถ่ายรูปคนที่เขามาส่ง ต้องจำให้หมดแล้วถ่ายสำเนาไว้หมด ต้องมีหลักฐานหมด จุดเริ่มต้นที่ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่ม และหลังจากถูกฟ้องจากบริษัท ความคิด ความเชื่อได้เปลี่ยนไปไหม            เราก็ยังรู้สึกว่าไม่ได้เป็นไปตามโฆษณาอย่างนั้นจริงๆ เพราะเราเชื่อโฆษณาไง เราก็ไม่อยากใช้น้ำมันเราอยากดูแลสุขภาพ แต่ว่ามันไม่ได้เป็นไปตามนั้น  เราก็ใช้ทุกครั้งมันก็ติดกระทะมัน ก็ไม่เป็นจริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 ฟ้องปิดปาก เครื่องมือหยุดผู้บริโภคไม่ให้ส่งเสียง! ตอน 2

        ฉบับนี้ขอนำเสนอตัวอย่างคดีฟ้องปิดปาก อย่างลงลึกมากขึ้นคือ คดีหมายเลขดำที่  723/2565 โดย สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและ นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ  ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ในข้อหาหมิ่นประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์                   เรื่องราวของคดีนี้เริ่มต้นในช่วงปี 2562 ซึ่งย้อนกลับไปในช่วงเวลาดังกล่าว กระแสหนึ่งที่สังคมจับตาให้ความสนใจอย่างมาก คือ การรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายในการเกษตรคือ  พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งในที่สุดคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2562 ปรับให้ทั้ง 3 สาร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออกและห้ามใช้         ภายหลังมีมติดังกล่าวยิ่งทำให้สังคมให้ความสนใจ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ  ในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีจึงได้รับเชิญให้ไปแสดงความเห็นในสถานีวิทยุ โทรทัศน์และสื่อต่างๆ เป็นจำนวน ทั้งยังใช้เพจเฟซบุ๊กรณรงค์ ให้ความเข้าใจแก่สังคมเรื่องอันตรายของทั้ง  3 สารเคมี  ในระหว่างนี้เขาได้แชร์โพสต์ของสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยที่มีข้อความว่า “ไม่มีรัฐบาลไหนในโลกใบนี้ที่จะแบนสารแถบสีน้ำเงิน แบบไกลโฟเซตแต่เสนอสารทดแทนแถบสีเหลืองแบบกลูโฟซิเนต” มายังเพจของมูลนิธิชีววิถี   และนั่นคือที่มาของการถูกฟ้องที่เริ่มต้นขึ้น         “โพสต์ดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เป็นการบิดเบือนเพราะไม่ได้พูดถึงภัยอันตรายทั้งหมด  นั่นคือประเด็นหนึ่งที่ได้ทั้งแสดงความเห็น ทั้งโพสต์ในเฟซบุ๊ก รวมถึงอธิบายในสื่อต่างๆ  สีของฉลากไม่ได้พูดถึงพิษเรื้อรัง การก่อกลายพันธุ์ การก่อมะเร็ง”  วิฑูรย์กล่าว โดยประเด็นสำคัญที่ทำให้เขาแชร์โพสต์ดังกล่าวเพราะอยากสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่า ฉลากสีที่กำหนดประเภทของสารเคมี ไม่ได้ให้ข้อมูลอันตรายทั้งหมดของสารเคมีแต่ละชนิด โดยเฉพาะอันตรายในระยะยาวที่จะสะสมในร่างกายจนก่อให้เกิดโรครุนแรงได้หลายโรค  การที่สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยได้สื่อสารและทำให้ประชาชนเข้าใจอันตรายของสารเคมีตามฉลากของสีจึงยังไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่ความจริงทั้งหมด          สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและนางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมฯ มองเรื่องนี้ว่าเป็นหมิ่นประมาท ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงยื่นฟ้องวิฑูรย์ในข้อหาหมิ่นประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์   ขอให้ศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 91,326,328 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(1) , 16   ลงวันที่ฟ้องในศาลชั้นต้นวันที่  17 มีนาคม 2564         “โดยเมื่อพิจารณาจากการที่จำเลยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีที่จัดตั้งซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยด้านทรัพยากร ชีวภาพ เกษตรกรรม อาหาร สิทธิเกษตรกรและชุมชนเพื่อประโยชน์สาธารณด้านสิ่งแวดล้อม  มูลนิธิดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ทั้งจำเลยและบุคคลในมูลนิธิของจำเลยเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการเกี่ยวกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความอันตรายและจากการศึกษาทางวิชาการของจำเลยตามเอกสารหมายเลข จ.5 ได้แบ่งประเภทความอันตรายของสารเคมีเกษตรด้วยแถบสียังไม่สามารถวัดอันตรายของพิษเรื้อรังได้ ประกอบกับคู่มือการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ยังมีการจำแนกความอันตรายจากสารพิษตามหลักเกณฑ์พิษเฉียบพลัน และพิษเรื้อรังไว้ด้วย  ดังนั้นกรณีที่จำเลยกล่าวถ้อยคำทางแอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊คผ่านเพจมูลนิธิชีววิถี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 และวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 เป็นการเตือนให้ตระหนักหรือระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้สารเคมีที่ให้ผลเป็นพิษแก่ผู้บริโภคเป็นไปตามฐานะตำแหน่งการงานที่จำเลยดำรงอยู่ ”                  “เราคิดว่า ผลของคดีนี้ทำให้ผู้ถูกฟ้องมีความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นและทำงานของตัวเองได้อย่างเต็มที่ต่อไปเป็นอิสระจากความกลัวและเป็นการยืนยันว่า การทำเพื่อประโยชน์สาธารณะจะคุ้มครองเราเองจากการฟ้องคดีปิดปาก” จันทร์จิรา  ทนายความกล่าวยืนยันผลของคดี         ด้านวิฑูรย์กล่าวว่า “คำตัดสินของศาลเป็นการยืนยัน  สิทธิของประชาชนที่จะวิพากษ์ วิจารณ์  หรือแสดงความคิดเห็น  ในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ คำตัดสินแบบนี้ควรจะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในคดีความอื่นๆ  ด้วยที่จะปกป้องประโยชน์ของคนที่ทำงานเรื่องสุขภาพ และเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยต่อไป”           “เพราะในที่สุดแล้วผมคิดว่าการมีคดีแบบนี้เยอะๆ มันไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของสังคมโดยรวมเลย ในท้ายที่สุด คนที่จะสูญเสียประโยชน์ ได้รับผลกระทบ คือสังคมส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ในประเทศ การที่คนเล็กคนน้อยถูกฟ้องร้องในคดีพวกนี้  เพราะฉะนั้นที่จริงแล้วประเทศไทยควรมีทั้งแนวปฏิบัติ แนวกฎหมายที่จะช่วยป้องกันคุ้มครองคนที่เคลื่อนไหวต่อสู้หรือการแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 ฟ้องปิดปาก เครื่องมือหยุดผู้บริโภคไม่ให้ส่งเสียง! ตอนที่ 1

“ที่ใดก็ตาม ไม่มีเสรีภาพของการแสดงออกที่แท้จริง ที่นั่นไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง” นี่คือปรัชญาที่สหภาพยุโรปใช้เป็นแนวทางการยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท มองมาที่ไทย ประเทศที่เสรีภาพการแสดงออกได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2475 แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อประชาชนใช้สิทธิ เสรีภาพ  เพื่อส่งเสียงเรียกร้องสิทธิของตนเอง  อาจกระทบต่อคนหลายฝ่าย อาจเกี่ยวพันไปถึงสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของผู้ประกอบการ  นักการเมือง ข้าราชการ ที่ในอีกด้านหนึ่งพวกเขาก็ย่อมมีสิทธิในการปกป้องรักษาชื่อเสียงเกียรติยศของตนเองด้วยเช่นกัน         ‘การฟ้องปิดปาก’ หรือ SLAPPs (strategic lawsuits against public participation) หรือเรียกว่า  “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” จึงถูกผู้ประกอบการ นักการเมือง ข้าราชการนำมาใช้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง         คดีจากการ‘การฟ้องปิดปาก’  นี้จึงแตกต่างจากคดีทั่วไปตรงที่ผู้ฟ้องไม่ได้มุ่งหมายที่จะชนะคดี แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อขู่อีกฝ่ายให้กลัวหรือทำให้เกิดภาระมากมายจนหยุดการกระทำหรือแกล้งขัดขวางยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่ายเท่านั้น เช่น ปัจจุบัน ผู้บริโภคหลายรายเพียงรีวิว การใช้สินค้าที่ซื้อมาใช้ด้วยความสุจริตลงในสื่อออนไลน์ กลับถูกประกอบการขู่ฟ้อง ดำเนินคดี ก็เพื่อให้หยุดแสดงความคิดเห็นหรือลบข้อความที่ได้เขียนลงไป         ในเวทีเสวนาเรื่อง “เสวนาปัญหาการถูกฟ้องคดีปิดปาก: ถอดบทเรียนจากการใช้สิทธิของผู้บริโภค” วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า ในต่างประเทศการฟ้องปิดปากเป็นคดีแพ่งเท่านั้น เช่น สหรัฐอเมริกา แต่สำหรับประเทศไทยประชาชนที่ออกมาพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะกลับถูกดำเนินคดีทั้งกระบวนการทางแพ่งและอาญา สุดท้ายทำให้ประชาชนที่ใช้สิทธิ ถอดใจ เรากล่าวขอโทษ ถอดบทความต่างๆ ความจริงก็จะไม่ปรากฏ และประโยชน์สาธารณะก็จะเสียไป        “ผมคิดว่า การฟ้องปิดปากมีสมการที่อธิบายได้แบบนี้ เสรีภาพ การแสดงออกซึ่งความคิดของประชาชน กับเรื่องสิทธิของผู้ประกอบการในการมีสิทธิทางธุรกิจ เกียรติยศ  ผมว่าเสมอกัน เสรีภาพของประชาชน เสมอกับเกียรติยศของคนที่เราพูดถึง   ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว  เราไปกล่าวหาคนอื่น เรื่องส่วนตัว เรามีความรับผิด ตรงกันข้าม ถ้าเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิด บวกประโยชน์สาธารณะเข้ามา มันควรจะมากกว่า ชื่อเสียง เกียรติยศของภาคธุรกิจหรือไม่  เราเป็นผู้บริโภคแสดงออกว่า สินค้านี้ไม่ดี เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เขาไม่ได้ทำเพื่อส่วนตัว เขาทำให้บ้านเมืองนี้ดีขึ้น เพื่อธุรกิจจะมีความรับผิดชอบ นำของที่ดีมาขาย ไม่ใช่เอาของไม่ดีมาขายแล้วตัดภาระให้ประชาชน เมื่อมีประโยชน์สาธารณะสุดท้ายจะปรับให้เกิดภาพรวมที่ดีของสังคมที่ได้ ได้ใช้สินค้าและบริการที่ดี ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองมากขึ้นเพราะทุกคนในประเทศไทยต่างเป็นผู้บริโภค เพราะเราต้องซื้อของ และใช้บริการ”          รายงานวิจัยของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พบว่า ตั้งแต่ปี 2540 มีคดีปิดปากอย่างน้อย 212 คดีที่นำเข้าสู่กระบวนการศาล  หนึ่งในสี่ของคดีปิดปากเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ประชาชนถูกฟ้องร้องจากความพยายามที่จะร้องเรียนเรื่องสภาพการทำงานที่ผิดกฎหมาย เรื่องการใช้ความรุนแรงของตำรวจ หรือ เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  โดยร้อยละ 95 ของคดีฟ้องปิดปากในประเทศไทย เป็นคดีอาญา และผู้ที่เป็นจำเลยส่วนใหญ่ คือ ประชาชนทั่วไป นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอาสาสมัคร ร้อยละ 39  ผู้แทนชุมชนและแรงงาน ร้อยละ 23% นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ร้อยละ16%และ นักข่าวร้อยละ9%  และกิจกรรมหลักที่เป็นสาเหตุสำคัญของการฟ้องร้องคือการแสดงความเห็นออนไลน์ ซึ่งคดีหมิ่นประมาทเป็นข้อกล่าวหาทางอาญา มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 2 ปี และ ปรับ 200,000 บาท หากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง         รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่าเขามองว่า ความหวัง และทางออกของเรื่องนี้คือ กฎหมายมาตรา 329 ที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายควรได้นำไปปรับใช้ให้มากขึ้น“มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต(1)   เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม(2)   ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่(3)   ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ(4)   ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล หรือในการประชุมผู้นั้น ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”         “ผมว่าตรงนี้คือกุญแจสำคัญในการที่ผู้บริโภค พิทักษ์สิทธิ์ ไปแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่เป็นความผิด แม้เป็นการใส่ความเขาเหตุผลเพราะ เรากำลังทำเพื่อความเป็นประธรรม ประโยชน์ส่วนร่วม ตามมาตรา 329”         อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติยังเป็นไปได้น้อย ศาลยังขาดข้อมูลว่าผู้ฟ้องมีเจตนาใช้กระบวนการยุติธรรมด้วยความไม่บริสุทธิ์ ทำให้มีคดีเข้าสู่ศาลแม้การฟ้องปิดปากจะเป็นคดีที่ไม่มีมูลเหตุ ถูกออกแบบมาให้มีความซับซ้อน กินระยะเวลายาวนาน และเสียค่าใช้จ่ายราคาแพงสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้าจำเลยไม่มีฐานะทางการเงินเพียงพอที่จะสู้คดี ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็ไม่มีทางเลือกและจำต้องยอมรับข้อเรียกร้องของโจทก์ ซึ่งมักจะมาในรูปของ การชดใช้ค่าเสียหาย การขอโทษ หรือ การลบข้อความที่ถือว่าละเมิด         การดำเนินคดีในกลุ่มผู้ใช้สิทธิผู้บริโภคก็มีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอข่าว และ บทความ ในเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า “ฉลาดซื้อเผยผลสุ่มตรวจ ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ร้อยละ 67 ไม่ผ่านมาตรฐานประกาศ สธ. …” โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ยี่ห้อ เคียวร์ซิส (CUREAYS) ผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยผลการทดสอบ ได้ผล ร้อยละ 69 และ ร้อยละ 64 ตามลำดับ พร้อมระบุข้อสังเกตจากการทดสอบ เรื่องคุณภาพการผลิต พบว่า ยังไม่มีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน … บริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด รับผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการหลายบริษัท แต่จากผลการทดสอบบางยี่ห้อผ่านเกณฑ์ บางยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏว่า บริษัทผู้ผลิต กลับยื่นฟ้อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยข้อหา “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” ทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำงานโดยสุจริต เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่กลับถูกข้อกฎหมายฟ้องปิดปาก มาปิดกั้นการทำงานเพื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ และยังมีอีกหลายกรณีของการทดสอบ หรือ เผยแพร่ข้อมูลโดยสุจริตเพื่อ เตือนภัย แต่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับถูกแทรกแซงจากผู้ประกอบการด้วยวิธีการต่างๆ และจากหลายกรณีที่ผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียน เช่น คดีกระทะโคเรียคิง ครีมเพิร์ลลี่ หรือ คดีสามล้อ ฯลฯ กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปากโดย ปปช.         คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ปัจจุบันมียุทธศาสตร์ ให้ประชาชน ‘ไม่ทำ’ และ ‘ไม่ทน’ ต่อการทุจริต  แต่เมื่อประชาชนที่มาชี้ช่อง เบาะแสกลับถูกดำเนินคดีฟ้องกลับ มากมาย ปปช.ในปี พ.ศ. 2564 จึงเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. ....” หรือ ปัจจุบันมีชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ...” ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งสุดท้าย         นายนิรุท  สุขพ่อค้า  ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า “ปปช. เรามีแนวคิดปกป้องคุ้มครองประชาชนมานานแล้วเราจึงมีกฎหมายในการคุ้มครองพยาน แต่ยังเป็นเรื่องของการคุ้มครองอันตรายทางกายภาพ เนื้อตัว ร่างกาย ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น  ผู้ถูกกล่าวหาเขามีความรู้ก็จะใช้กฎหมายดำเนินคดีกับผู้แจ้งเบาะแส หรือ ภาคประชาชนซึ่งเรื่องการชี้ช่องเบาะแส  บางอย่าง เป็นเรื่องของการก้ำกึ่งระหว่างเรื่องของการหมิ่นประมาทซึ่งเป็นคดีอาญา การที่เขาจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการฟ้องร้อง หรือ ดำเนินคดีปิดปาก มันเป็นการดำเนินการที่ไม่ต้องใช้ทุนอะไร แค่เดินไปยังพนักงานสอบสวน และร้องทุกข์ กล่าวโทษก็ถือว่าเป็นคดีได้แล้ว”         “เรื่องการทุจริตต่อหน้าที่ ปปช. มีหน้าที่รวบรวม พยานหลักฐาน  แต่คนที่จะมีส่วนรู้เห็น ก็มีบทบาทสำคัญที่จะมาช่วย  ปปช. ได้คือภาคประชาชน การฟ้องปิดปากจึงทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเดือดร้อน  ไม่ว่าจะภาคประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง ที่ถูกเจ้าหน้าที่เอาเปรียบ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับความเดือดร้อน เสียหายในเขตพื้นที่อันเกิดจากการทุจริต ในการจัดซื้อจัดจ้าง ถนนชำรุดทรุดโทรมง่าย ภาคประชาชนที่ทำหน้าที่ NGO ทำหน้าที่เป็นสื่อ ทำหน้าที่สอดส่อง ดูแล  การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง เป็นกลุ่มที่หลากหลาย ทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ”          “กฎหมายฉบับนี้จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชรตามคดี 3 ลักษณะกว้างๆ คือ เมื่อคนที่ชี้ช่องถูกดำเนินคดีอาญา ปปช. จะเข้าไปทำงานร่วมกับพนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความร้องทุกข์ฐานหมิ่นประมาท ทางในแพ่ง ปปช. จะตั้งทนายเข้าไปช่วยประชาชน และหากเป็นคดีทางปกครอง ถูกผู้บัญชาดำเนินการทางวินัย ปปช.มีอำนาจที่จะสั่งให้หยุดการดำเนินการทางวินัยได้เลย นี่ค่อนข้างจะเด็ดขาดมาก ทั้ง 3 ลักษณะคดีนี้  ปปช. มีอำนาจที่จะให้ข้อมูล เพื่อให้พนักงานสอบสวน/ อัยการ มีดุลยพินิจ สั่งไม่ฟ้อง และ ปปช.ดำเนินการด้วยงบประมาณของตนเองเพราะมีกองทุนอยู่แล้วจึงมีความพร้อมในการปฏิบัติ เราคาดหวังเต็มร้อยเพราะเรื่องการปราบปรามทุจริตได้ เราทำเองไม่ได้ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือให้ข้อมูล เบาะแส หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความสำคัญเป็นลำดับต้นกฎหมายฉบับนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับภาคประชาชนด้วยทุกฝ่าย ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสังคมโลกดีขึ้น ”นายนิรุทกล่าวยืนยัน        ฉบับหน้าติดตามตัวอย่างผู้บริโภคที่ได้รับผลจากการฟ้องคดี “ปิดปาก” และผลของคดีที่น่าสนใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ดูแลริมฝีปากช่วงหน้าหนาว

        เริ่มเข้าช่วงเดือนแห่งความหนาวกันอีกรอบ (ช่วงเวลาหนาวแต่อากาศไม่หนาว)  หลายคนคงหนีไม่พ้นปัญหาสุดคลาสสิกผิวแห้ง แตก ผิวหน้าลอกเป็นขุย รวมถึงริมฝีปากที่แตกแห้งน่ารำคาญ ริมฝีปากบางคนถึงขั้นสามารถดึงลอกผิวที่ปากออกมาได้เป็นแผ่นๆ        ริมฝีปากหากไม่ดูแลก็สร้างความผิดหวังหรือลดทอนความสง่างามของบุคลิกได้ การดูแลริมฝีปากควรเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรให้ความใส่ใจและดูแลเป็นประจำ ถึงแม้ว่าช่วงสถานการณ์โควิดจะทำให้เราใส่หน้ากากอนามัยจึงไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับริมฝีปากมากนัก แต่การดูแลให้มีสุขภาพดีไม่แห้งแตกคงจะดีมากกว่าปกปิดไปเรื่อยๆ ฉลาดซื้อจึงมีวิธีดูแลรืมฝีปากง่ายๆ มาฝาก         สาเหตุริมฝีปากแห้ง หลักๆ ก็คือสภาพอากาศที่ความชื้นในอากาศลดน้อยลง หรืออากาศเย็นขึ้นทำให้ร่างกายผิวของเรานั้นมีการสูญเสียน้ำได้ง่ายกว่าปกติ จนเกิดความเปลี่ยนแปลงสมดุลของผิวหนัง ทำให้ผิวแตกแห้งได้ง่ายกว่าปกติ         วิธีดูแลริมฝีปากไม่ให้แห้งแตก        ·     แบบง่าย คือการบำรุงด้วยความชุ่มชื้น เช่น ลิปมัน ลิปบาล์มที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียม ขี้ผึ้ง หรือลิปมันปกติที่มีค่าการป้องกันแดดได้ เพราะแสงแดดก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุเช่นกัน และควรที่จะทาเป็นประจำ เช้า ระหว่างวัน และก่อนนอน แม้จะไม่ใช่หน้าหนาวก็ตาม เพื่อให้ริมฝีปากชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลา        ·     การดื่มน้ำบ่อยๆ ให้เพียงพอ 8-10 แก้วเป็นประจำ        ·     ระมัดระมัดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทาริมฝีปาก เช่น พวกที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ง่ายอย่างลิปสติกที่มีน้ำหอมเป็นส่วนประกอบเป็นต้น ดังนั้นก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ควรอ่านฉลากเช็กให้ละเอียด        ·     หากเกิดอาการที่ไม่ใช้แค่แห้งแตก ลอกเป็นขุย แต่เป็นอาการแพ้คัน ให้สังเกตว่าอาจจะเกิดจากผลิตภัณฑ์ที่เราใช้อย่างพวก ยาสีฟัน หรือลิปสติกที่มีส่วนประกอบที่ทำให้ระคายเคือง ดังนั้นควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยนั้นทันที        ·     ในกรณีสงสัยว่าจะแพ้จากสารเคมีอื่นจริงๆ ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโดยทำ patch test ทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง        ·     สิ่งที่ไม่ควรทำหากริมฝีปากแตกแห้ง คือ การใช้น้ำลายเลียที่ปากนั้นเอง เพราะหากสังเกตดีๆ คนที่เคยทำจะพบว่าเหมือนริมฝีปากเรานั้นมีอาการที่แห้งแตกยิ่งกว่าเดิม          ทั้งนี้ นอกจากการเลียริมฝีปากแล้วก็ห้ามทำพฤติกรรม เช่น กัดริมฝีปากเนื่องจากเวลาเราปากแห้ง ต่อมา ถ้าไม่มีการบำรุงหรือให้ความชุ่มชื่นแก่ริมฝีปากมากพอก็จะก่อให้เกิดการแตกและบางคนก็อาจจะกัดผิวที่แตกลอกออกมา รวมถึงการใช้มือแกะหรือเกาอีกด้วย จนทำให้เกิดแผลที่ริมฝีปากเล็กๆ ได้ ที่ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะริมฝีปากเป็นสิ่งที่บอบบางพอสมควรหากเกิดแผลแล้วอาจจะก่อให้ติดเชื้อได้ด้วย ที่สำคัญลิปสติกหรือลิปบาล์มแบบกระปุกก็ไม่ควรที่จะใช้ร่วมกับผู้อื่นด้วยเหมือนกัน         อีกเรื่องที่ฉลาดซื้ออยากให้ระวังคือพวกลิปสติกปลอม เพราะก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ริมฝีปากพังได้ เกิดการระคายเคือง พุพอง แสบคัน ลอก จากสารเคมีที่ไม่รู้ว่าใส่อะไรเข้าไปบ้างและตรวจสอบได้ยาก ซึ่งน่ากลัวกว่าการที่ปากเราแห้งแตกจากอากาศหนาวอีกนะคะ         ข้อมูลจาก : https://www.pobpad.com/%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%87-%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81        https://www.pobpad.com/%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%87-%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81-%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%81-%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%94%E0%B9%89        https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=961

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 การฉีดฟิลเลอร์ปาก

        การมีริมฝีปากอวบอิ่มลุคสาวสายฝอ (ฝรั่ง) ยังคงเป็นความนิยมแบบแรงดีไม่มีตก ดังนั้นการเดินเข้าคลินิกเสริมความงามเพื่อใช้บริการฉีดฟิลเลอร์ที่ปากถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติมากในสมัยนี้     วิธีเสริมความงามโดยการฉีดสารฟิลเลอร์ในจุดที่ต้องการเติมเต็มถึงแม้จะช่วยให้เราสวยขึ้นดูดีขึ้นได้  แต่ต้องไม่ลืมว่า อาจมีผลข้างเคียงหรือปัญหาตามมาได้เช่นกัน เพราะหากตามข่าวคราวกันมาบ้าง อาจจะได้ยินกันบ่อยถึงการที่หลายๆ คน เข้าไปใช้บริการคลินิกเสริมความงามเพื่อฉีดฟิลเลอร์ แต่ผลที่ได้กลับกลายเป็นหน้าพังเพราะสารที่ฉีดเข้าไปไม่ได้มาตรฐาน หรือผู้ให้บริการ (คนฉีด) ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือก็คือหมอปลอมนั้นเองรู้จักกับสารฟิลเลอร์        ฟิลเลอร์ คือ สารที่ช่วยเติมเต็มในส่วนที่ผู้รับบริการอาจรู้สึกว่าพร่องไป หรือเพื่อลดเลือนริ้วรอย เช่นรอยย่นบนใบหน้า ร่องลึกบนใบหน้า หรือใช้ในการปรับแต่งรูปหน้าก็ได้ เช่นการเพิ่มความอวบอิ่มกับริมฝีปาก ซึ่งทั่วไปแล้วประเภทของฟิลเลอร์มีดังนี้        1.ฟิลเลอร์แบบไม่ถาวรหรือชั่วคราว โดยทั่วไปจะมีอายุการใช้งานแค่เพียง 4-6 เดือนเท่านั้น จากนั้นจะสลายไปเองโดยธรรมชาติ        2.ฟิลเลอร์แบบกึ่งถาวร มีอายุนานกว่าแบบชั่วคราว และอยู่ได้นานถึง 2 ปี        3.แบบถาวร มีอายุการใช้งานตลอดไปเพราะจะไม่สลายไปตามธรรมชาติเพราะสารที่ฉีดเข้าไปมักเป็นสารซิลิโคน ซึ่งการฉีดรูปแบบนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบในภายหลังได้        4.ฟิลเลอร์จากไขมันตัวเอง การฉีดฟิลเลอร์รูปแบบนี้มักมีข้อเสีย คือ อาจคงตัวอยู่ได้ไม่นานนักเท่าไหร่เลือกสถานบริการ แพทย์ และฟิลเลอร์ที่ได้มาตรฐาน        -       ให้พิจารณาว่าสถานที่และผู้ให้บริการมีใบอนุญาตถูกต้องและได้รับการรับรองหรือไม่ ตรวจสอบใบอนุญาตว่าผู้ให้บริการฉีดฟิลเลอร์เป็นแพทย์จริง ตรวจสอบสถานประกอบการ ที่จะเข้าใช้บริการว่าได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้อง สามารถตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์ https://checkmd.tmc.or.th/ (เว็บไซต์ตรวจสอบรายชื่อแพทย์จากฐานข้อมูลแพทยสภา)        -       สังเกตราคาของฟิลเลอร์หากมีราคาที่ถูกเกินไป ก็ให้ระวังว่าอาจจะเป็นของปลอมหรือของไม่ได้มาตรฐาน (ลองเปรียบเทียบราคาจากคลินิกหลายแห่ง)         -       หาข้อมูลชนิดฟิลเลอร์ที่จะทำการฉีดเพื่อตรวจสอบว่าได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)หรือไม่         สำคัญคือ ไม่ควรเสี่ยงกับสถานบริการที่ไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากเห็นว่ามีราคาที่ถูก เพราะหากเจอหมอปลอม หมอกระเป๋า อาจได้ไม่คุ้มเสีย และหากได้ทำการฉีดฟิลเลอร์ไปแล้ว ก็หมั่นสังเกตอาการให้ดี หากมีอาการผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อยก็ควรไปพบแพทย์ทันที อย่าวางใจจนเกิดผลเสียร้ายแรง สำหรับผู้ที่ฉีดฟิลเลอร์ที่ปาก วิธีดูแลตัวเอง        -        แนะนำให้ไม่สัมผัสบริเวณที่ฉีด เช่น นวดหรือกดเพราะอาจทำให้บริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์เคลื่อนที่ได้ หากมีอาการคันก็ห้ามแกะหรือเกาเด็ดขาด หากมีอาการมากกว่า 3 วันแล้วไม่หาย ให้ไปพบแพทย์ทันที        -        48 ชั่วโมงแรก ให้หลีกเลี่ยงการเข้าห้องซาวน่า เพราะอาจทำให้ผิวนั้นยืดหดตัวมากกว่าปกติ ซึ่งมีผลต่อการเซตตัวของฟิลเลอร์        -        ไม่ใช้ยาที่มีฤทธิ์ทำให้ต้านความแข็งตัวของเลือด ได้แก่ แอสไพริน ไอบูโพรเฟน และยาแก้อักเสบบางชนิด เนื่องจากในการฉีดอาจจะไปโดนเส้นเลือดขณะฉีด ซึ่งอาจทำให้เลือดหยุดไหลช้าและช้ำง่ายกว่าปกติ        -       ดื่มน้ำเยอะๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน  และงดการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่          -       ลดอาหารเสริมบางชนิด เช่น กระเทียม โสมและวิตามินอี เพราะอาจทำให้เกิดภาวะช้ำได้ง่ายกว่าปกติ แต่ทั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อฟิลเลอร์ที่ฉีด        -       ไม่ถอนขน หรือแว๊กซ์ในบริเวณรอบปากที่ฉีด 2-3 วัน เพราะอาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองอักเสบและเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามมาได้ ขอบคุณข้อมูลจากhttps://www.bangkokpattayahospital.com/th/healthcare-services/beauty-plastic-surgery-th/dermatology-articles-th/item/2095-filler-th.htmlhttps://www.pobpad.com/%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C-%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B1https://www.phyathai.com/article_detail/1841/th/https://www.apexprofoundbeauty.com/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 โควิดก็ยังไม่หมด และข้อมูลมั่วๆก็ยังมา (1)

        โควิด19 ยังไม่หมด ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด 19 ที่ไม่ถูกต้องก็ยังคงถาโถมมาเรื่อยๆ ยิ่งคนในยุคนี้ที่มีอะไรๆ ก็ต้องรีบแชร์ไว้ก่อนโดยไม่ตรวจสอบ ยิ่งเป็นการสนับสนุนให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนี้แพร่กระจายไปได้เร็ว และมันก็จะหมุนเวียนกลับมาอีกในอนาคต ดังนั้นขอรวบรวมข้อมูลมั่วๆ ที่เคยเจอ พร้อมกับคำชี้แจงที่ถูกต้องมาให้ผู้บริโภคได้เข้าใจจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อและหลงเป็นเครื่องมือกระจายข่าวโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์          กินยาแอสไพริน ช่วยรักษาโควิด 19 ให้หายได้         แชร์กันไปเยอะ จนสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ต้องออกมาบอกว่าข้อมูลนี้ไม่จริง การรักษาโรคโควิด 19 ต้องให้การรักษาตามแนวทางของ ศบค. เป็นหลัก ส่วนการรักษาภาวะแทรกซ้อนของโรค อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น ผู้ป่วยโควิด 19 จึงไม่ควรซื้อยาแอสไพรินมารับประทานเอง การนำมารับประทานโดยไม่จำเป็นนอกจากจะไม่ช่วยรักษาอาการป่วยโควิด 19 แล้ว ยังอาจมีผลข้างเคียงจากแอสไพรินได้          ใช้น้ำเกลือ น้ำมะนาว หรือน้ำขิง ล้างคอ ต้านโรคโควิด 19         มีการแชร์คลิปเสียงอ้างว่าเป็นคณบดีคณะแพทย์ศิริราช แนะนำให้ใช้น้ำเกลือ น้ำมะนาว หรือน้ำขิง มาล้างคอ เพื่อต้านทานโควิด 19 ในเรื่องนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเคยออกมาแจ้งว่า เป็นข้อมูลเท็จ เสียงในคลิปนั้นก็ไม่ใช่เสียงของคณบดีคณะแพทย์ศิริราชแต่อย่างใด และยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า การใช้น้ำเกลืออุ่นๆ น้ำมะนาวอุ่นๆ หรือน้ำขิงอุ่นๆ บ้วนปากและล้างคอ ก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้         น้ำยาบ้วนปาก ป้องกันการติดเชื้อโควิด 19         กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าตามที่มีการแชร์ข้อมูลน้ำยาบ้วนปาก ป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 โดยอ้างว่าเป็นผลการศึกษาวิจัยชิ้นใหม่ของคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ที่พบว่าน้ำยาบ้วนปากอาจมีประสิทธิภาพป้องกันการติดโควิด 19 ได้ด้วย เพราะสามารถทำลายเชื้อไวรัสโควิด 19 ก่อนที่มันจะสามารถเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์         ข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นเท็จ เพราะ น้ำยาบ้วนปากถูกผลิตให้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้มีกลิ่นปาก แม้น้ำยาบ้วนปากบางชนิดจะมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ แต่ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ จะไม่ถึงร้อยละ 20 ในขณะที่การฆ่าโควิดต้องใช้เอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอทานอล ที่มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไป หรือใช้โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (NaOCl) ในการฆ่าเชื้อ ดังนั้นการใช้น้ำยาบ้วนปากฆ่าเชื้อโควิด 19 จึงไม่ได้ผล         รับประทานกล้วย ช่วยต้านโควิด 19         ข่าวนี้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จ ไม่มีผลในการช่วยต้านโควิดแต่อย่างใด นอกจากนี้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ป่วยโรคไต ก็ไม่ควรรับประทานกล้วยในปริมาณมากเพราะในกล้วยจะมีน้ำตาลและโพแทสเชียมสูง            กลั้นหายใจตรวจการติดเชื้อด้วยตัวเอง         มีการส่งต่อข้อมูลว่าสามารถตรวจสอบความเสี่ยงการติดโควิดด้วยตัวเอง โดยการหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นหายใจไว้ 10 วินาที รอดูว่ามีอาการไอ แน่นหน้าอกหรือไม่ หากไม่มีอาการแสดงว่าไม่ติดเชื้อ กระทรวงสาธารณสุข ออกมาชี้แจงว่าข้อมูลไม่เป็นความจริง ขณะนี้ยังไม่มีผลวิจัยทางการแพทย์ที่ออกมายืนยันว่าวิธีดังกล่าวสามารถใช้ตรวจการติดเชื้อโควิด 19 ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ทดสอบความยาวของ “ไหมขัดฟัน”

        คุณคิดว่าอวัยวะส่วนไหนของคนเราที่สกปรกที่สุด ?         คำตอบคือ “ช่องปาก”         การแปรงฟันเพียงอย่างเดียวอาจดูแลความสะอาดในช่องปากได้ไม่ทั่วถึง ผู้บริโภคหลายคนจึงเลือกใช้ไหมขัดฟัน(Floss) มาช่วยกำจัดคราบจุลินทรีย์และเศษอาหารที่ติดอยู่บริเวณที่แปรงสีฟันเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะซอกฟัน ด้านข้างของฟันที่อยู่ชิดกัน ร่องเหงือก และฟันกรามซี่ใน ซึ่งเมื่อใช้เส้นใยขนาดเล็กๆ นี้ขัดฟันหลังแปรงฟันอย่างน้อยวันละครั้งสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันฟันผุ ลดกลิ่นปาก ลดการสะสมของหินปูน และช่วยลดปัญหาเหงือกอักเสบเพราะมีคราบหินปูนที่ฝังแน่นบนผิวเคลือบฟันได้          ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟันให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ หาซื้อได้สะดวก ส่วนใหญ่ที่วางขายจะเป็นแบบม้วนอยู่ในตลับ ซึ่งหากมองภายนอกเราไม่อาจรู้ได้ว่าไหมขัดฟันในตลับนั้นมีความยาวเท่ากับที่ระบุไว้บนฉลากจริงหรือไม่ ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพิสูจน์ความซื่อสัตย์ของผู้ผลิตด้วยการชวนผู้บริโภคมาวัดความยาวของไหมขัดฟันกัน         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟันจำนวน 14 ตัวอย่าง 13 ยี่ห้อ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 มาวัดความยาวของไหมขัดฟันเปรียบเทียบกับความยาวที่ระบุบนฉลาก เพื่อนำเสนอไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ผลการทดสอบความยาวของ “ไหมขัดฟัน”         ข่าวดี ทุกตัวอย่างมีความยาวที่วัดได้จริงมากกว่าความยาวที่ระบุไว้บนฉลาก         อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบส่วนต่างของความยาวเฉลี่ยที่วัดได้ทั้ง 4 ครั้งในการทดสอบ กับความยาวที่ระบุบนฉลาก พบว่า ไหมขัดฟันฟลูโอคารีล มีส่วนต่างมากที่สุดคือ +10.85 เมตร ส่วน ไหมขัดฟัน ดร.ฟิลิปส์ มีส่วนต่างน้อยที่สุด คือ +0.89 เมตร         เมื่อนำราคามาเปรียบเทียบกับความยาวเฉลี่ยที่วัดได้จริง เพื่อคำนวณหาราคาต่อเมตร พบว่า ยี่ห้อสกิลแล็บ พรีเมี่ยม เดนทัล ฟลอส มินท์ มีราคาสูงที่สุด คือ เมตรละ 3.49 บาท ส่วนยี่ห้อ fresh up มีราคาต่ำที่สุด คือ เมตรละ 0.35 บาท ข้อสังเกต- ทุกตัวอย่างมีข้อความหรือรูปภาพแนะนำวิธีการใช้ไหมขัดฟันไว้ให้  - จากข้อมูลที่ National Health Service (NHS) ของอังกฤษแนะนำความยาวของไหมขัดฟันที่ควรใช้ต่อครั้งไว้ประมาณ 45 เซนติเมตร พบว่ามี 8 ตัวอย่างที่บอกให้ใช้ความยาวตามที่แนะนำนี้ไว้บนฉลาก ได้แก่เดนท์พลัส ไหมขัดฟันเคลือบขี้ผึ้ง,สปาร์คเคิล ไวท์ เดนทัลฟลอส,ออรัล-บี ไกล์ด โปร-เฮลธ์ ดีพ คลีน ฟลอส, Watsons Dental Floss,ออรัล-บี เอนเซนเชียล ฟลอส, fresh up, สกิลแล็บ พรีเมี่ยม เดนทัล ฟลอส มินท์ และไหมขัดฟันเดนทิสเต้(18 นิ้ว = 45.72 เซนติเมตร)  ในขณะที่ยี่ห้อคอลเกต โททอล มินท์ ระบุความยาวที่ใช้ต่อครั้งยาวที่สุด คือ 50 เซนติเมตร และไหมขัดฟัน ดร.ฟิลิปส์ ระบุความยาวที่ใช้ต่อครั้งสั้นที่สุด คือ 25 เซนติเมตร รวมทั้งมีตัวอย่างที่ไม่ได้ระบุความยาวที่ใช้ต่อครั้งไว้คือ ยี่ห้อเดนติคอน ไหมขัดฟัน ฟลอส แอนด์ สมูท- วัสดุและส่วนประกอบหลักๆ ในไหมขัดฟัน คือ เส้นใยพลาสติกสังเคราะห์  ขี้ผึ้ง(wax) และกลิ่น/รสชาติ เมื่อสำรวจข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟัน พบว่ามี 4 ตัวอย่างที่ไม่ระบุชนิดของเส้นใยพลาสติก ได้แก่ คอลเกต โททอล มินท์, ไหมขัดฟัน ดร.ฟิลิปส์, fresh up และ สกิลแล็บ พรีเมี่ยม เดนทัล ฟลอส มินท์ ส่วนที่ไม่ระบุว่าเคลือบขี้ผึ้งหรือไม่นั้นมี 2 ตัวอย่าง คือ ยี่ห้อคอลเกต โททอล มินท์ และ fresh up อีกทั้งมีเพียงตัวอย่างเดียวที่ระบุว่าไม่มีกลิ่น/รสชาติ คือ ยี่ห้อ REACH- ไหมขัดฟันฟลูโอคารีล ระบุว่าเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นใช้ไหมขัดฟัน เพราะมีเส้นไหมบางเพียง 0.04 มิลลิเมตร และเพิ่มโปรวิตามินบี 5 ที่ดีต่อเหงือกด้วย-ยี่ห้อสปาร์คเคิล ไวท์ เดนทัลฟลอส ระบุว่าเป็นไหมขัดฟันแบบเอ็กซ์แพนดิ้งที่จะขยายตัวช่วยเพิ่มพื้นผิวให้พอดีกับซอกฟัน ต่างจากไหมขัดฟันแบบปกติที่จะมีช่องว่าง-ไหมขัดฟัน ดร.ฟิลิปส์ ระบุว่าได้ผ่านการรับรองคุณภาพโดยสมาคมทันตแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ส่วนยี่ห้อสกิลแล็บ พรีเมี่ยม เดนทัล ฟลอส มินท์ มีสัญลักษณ์ LABORATORY TESTED บนฉลาก คำแนะนำ - ไหมขัดฟันมีทั้งแบบเส้นใยไนลอนที่ลื่นและใช้ง่าย แต่จะบางและขาดง่าย และแบบพลาสติกเส้นใยเดี่ยว(PTFE) ที่เหนียวมากกว่า แต่อาจแข็งและบาดเหงือกจนเลือดไหลได้ - ควรเลือกใช้ไหมขัดฟันที่เส้นเล็กและแบนแผ่ออกได้เมื่อผ่านซอกฟัน สำหรับมือใหม่อาจเลือกใช้ชนิดเคลือบขี้ผึ้งเพราะใช้ง่าย แต่หากคล่องมือแล้วอาจใช้ชนิดไม่เคลือบขี้ผึ้ง เพราะมีความคมมากกว่า จะขจัดคราบหินปูนเกิดใหม่ได้ดีกว่า หรือจะปรึกษาทันตแพทย์เพื่อให้ช่วยเลือกให้ก็ได้-บางคนใช้ไหมขัดฟันแรกๆ อาจเจ็บและมีเลือดไหลได้ ซึ่งเลือดจะหยุดไหลเองถ้าสุขภาพเหงือกดี แต่หากเลือดยังไหลอยู่หลังจากใช้ไหมขัดฟันแล้ว 2-3 วัน ควรไปพบทันตแพทย์- หากไหมขัดฟันหมดกะทันหัน ไม่ควรใช้ด้ายเย็บผ้าหรือเส้นผมตัวเองมาแทนเด็ดขาด เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อจึงยังมีเชื้อโรคติดอยู่ อาจเสี่ยงติดเชื้อได้- ไหมขัดฟันที่ใช้แล้วควรทิ้งทันที ห้ามนำกลับมาใช้ซ้ำ เพราะอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อแบคทีเรียได้ เมื่อพิจารณาคุณสมบัติโดยรวมๆ ของตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟันที่นำมาทดสอบนี้แล้ว ดูไม่แตกต่างกันมากนัก ดังนั้นการเลือกซื้ออาจไม่สำคัญเท่ากับการใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยดูแลสุขอนามัยในช่องปากให้สะอาดล้ำลึกยิ่งขึ้นข้อมูลอ้างอิง https://www.pobpad.com/https://www.hisopartyofficial.com/contenthttps://chulalongkornhospital.go.thhttps://www.thaihealth.or.th/https://themomentum.co/plastic-diary-ep3/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 วิธีบรรเทาอาการร้อนใน

        อาการร้อนใน (Aphthous Ulcers) เป็นกันได้ทุกเพศวัย โดยอาการที่พบบ่อยคือ แผลในปาก (จุดขาวขอบแดงนูน) บริเวณเหงือก กระพุ้งแก้ม อาการร้อนใต้ลิ้นหรือในคอ ซึ่งเป็นอาการที่สร้างความรำคาญและรบกวนใจ ซึ่งสาเหตุแน่ชัดยังไม่สามารถระบุได้ อาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ ทั้งปัจจัยภายใน ได้แก่ พักผ่อนน้อย เครียด แพ้อาหารหรือสารเคมี พันธุกรรม ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หรือปัจจัยจากภายนอก เช่น อากาศร้อน กินอาหารแสลง ดื่มน้ำไม่เพียงพอ         ร้อนในไม่ใช่อาการร้ายแรงมักหายเองได้ในระยะเวลาประมาณสองสัปดาห์ เว้นแต่อาการลุกลามควรรีบพบแพทย์ แม้อาการร้อนในหายเองได้ แต่ก็มีวิธีบรรเทาอาการเพื่อให้ไม่รบกวนกายใจ ดังนี้         การดูแลทั่วไป        -        เลี่ยงอาหารรสจัด        -        การทำความสะอาดฟันควรระวังไมให้กระทบแผล        -        เลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปากที่รสเผ็ดร้อน ควรใช้แบบอ่อน        -        การดื่มน้ำ อาจใช้หลอดดูดแทนการดื่มเพื่อไม่ให้น้ำโดนแผล        -        การบ้วนน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง        -        ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ          การใช้ยา        -        ยาที่ใช้บรรเทาอาการร้อนในมีทั้งชนิดป้ายและรับประทาน ทั้งในรูปแบบยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร ซึ่งสามารถปรึกษาเภสัชกรที่ร้านยาได้ หรือการใช้น้ำยาบ้วนปากชนิดต้านแบคทีเรีย          อาหารและเครื่องดื่มที่แนะนำเพื่อบรรเทาอาการร้อนใน         1.มะระขี้นก มีสรรพคุณแก้ร้อนใน อาจรับประทานในรูปแบบปั่นผลสด หรือใช้แบบผลิตภัณฑ์สกัดเย็นซึ่งรับประทานได้ง่าย        2.ใบบัวบก เครื่องดื่มน้ำใบบัวบก อย่างไรก็ตามใบบัวบกเป็นพืชที่พบว่ามีการใช้สารเคมีเกษตรสูง ควรเลือกแบบที่มั่นใจว่าปลอดภัยหรือล้างให้สะอาด        3.รางจืด ดื่มน้ำต้มรางจืดหรือชารางจืด ช่วยแก้ร้อนในและช่วยถอนพิษเมาต่างๆ        4.เก๊กฮวย ช่วยแก้ร้อนในได้ แต่ไม่ควรชงหวาน และดื่มบ่อยเพราะมีฤทธิ์ขับลมและระบายอ่อนๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ปากกาเคมี

    ฉลาดซื้อ ฉบับนี้ขอเอาใจสายอาร์ตกันบ้าง เรามีผลทดสอบปากกาเคมีหรือที่เรียกกันติดปากว่า ”ปากกาเมจิก” มาฝาก สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research and Testing) ได้ร่วมกันส่งปากกาเมจิกทั้งหมด 36 เซตเข้าทดสอบ แต่ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงขอนำเสนอเพียง 20 เซตเท่านั้น การทดสอบแบ่งออกเป็นสองส่วนได้แก่*         1.          การทดสอบทางเทคนิค เช่น เขียนดีสีสวยหรือไม่ หมึกหมดเร็วแค่ไหน หากเปิดฝาทิ้งไว้จะยังระบายต่อได้ไหม รวมไปถึงความทนทานของตัวปากกา (ไม่แตกง่าย) และหัวสักหลาด (ไม่ยุบเข้าไปในด้ามเมื่อทำตกในแนวดิ่ง) การออกแบบให้ไม่กลิ้งหล่นง่ายบนโต๊ะที่ลาดเอียง และการติดทนของหมึกบนผ้าหลังซัก        2.          การตรวจหาสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ เช่น พีวีซี (ในวัสดุที่ใช้ทำด้ามหรือฝากปิด) โลหะหนัก (ในปากกาสีเหลือง) สีเอโซ (ในปากกาสีแดง) สารกันเสีย (ในปากกาสีเขียว) สารทำละลายอินทรีย์ (ในปากกาสีน้ำเงิน) และ PAHs (ในปากกาสีดำ) เป็นต้น         โดยรวมแล้วไม่มียี่ห้อไหนได้คะแนนรวม 5 ดาว ถ้าดูคะแนนในแต่ละด้านจะเห็นว่าแทบทุกรุ่นได้คะแนนเป็นเลิศด้านการเขียนได้ต่อเนื่องด้วยเส้นและสีที่สวยงาม ปากกาส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเรื่องหมึกแห้งง่าย แต่ที่น่าสังเกตคือมีเพียงสองรุ่นเท่านั้นที่ได้คะแนนปลอดสารเคมีไป 5 ดาว          พลิกหน้าต่อไปเพื่อดูคะแนนแต่ละด้านกันเลย         ค่าทดสอบเฉลี่ยตัวอย่างละ 888 ยูโร หรือประมาณ 30,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 198 เลือกยาสีฟันให้เหมาะกับช่องปาก

ยาสีฟัน เป็นเครื่องสำอางอีกประเภทหนึ่งที่วางจำหน่ายมากมายหลายสูตรในท้องตลาดบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นสูตรสมุนไพร สูตรฟันขาวหรือสูตรป้องกันฟันผุ ทำให้หลายคนไม่แน่ใจว่าควรเลือกซื้ออย่างไรให้เหมาะกับตนเอง รวมทั้งอาจเชื่อว่าการเลือกยาสีฟันที่ทำจากสมุนไพรจะดีกับช่องปากมากที่สุด แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือรู้จักหน้าที่ของยาสีฟันกันก่อนยาสีฟันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดร่วมกับแปรงสีฟัน มีลักษณะเป็นผง ของเหลวหรือของเหลวข้น ซึ่งแม้จะมีมากมายหลายยี่ห้อหรือหลายสูตร แต่หน้าที่หลักของยาสีฟันคือการช่วยทำให้ฟันสะอาด หรือเสริมประสิทธิภาพการแปรงฟัน เพื่อให้มีการกำจัดเอาแผ่นคราบจุลินทรีย์ออกได้ง่ายขึ้น โดยทุกยี่ห้อจะมีส่วนประกอบหลัก ดังนี้ 1. สารที่ใช้ทำความสะอาดหรือขัดฟัน ทำหน้าที่ขจัดคราบที่ติดบนผิวฟัน 2. สารลดแรงตึงผิว ทำหน้าที่ช่วยทำให้เกิดฟอง 3. สารทำให้ข้น ทำหน้าที่ป้องกันการแยกตัวของเนื้อยาสีฟัน 4. สารควบคุมความเป็นกรด-ด่าง 5. สารปรุงแต่งกลิ่นรส ทำหน้าที่ให้กลิ่นและรสของยาสีฟัน 6. สารกันเสีย ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งยาสีฟันจะมีอายุการใช้งานไม่เกิน 3 ปีนับจากวันผลิตไปรู้จักยาสีฟันแต่ละสูตรกันแม้ยาสีฟันจะมีหลายสูตร แต่หากพิจารณาจากส่วนผสมจะสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ได้ ดังนี้1. สูตรผสมฟลูออไรด์ ยาสีฟันกลุ่มนี้มีข้อดีคือ สามารถช่วยป้องกันฟันผุได้เมื่อใช้เป็นประจำ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ประชาชนใช้ยาสีฟันกลุ่มฟลูออไรด์เป็นหลัก และควรแปรงฟันแบบ 2 – 2 – 2 คือ แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละนาน 2 นาที และภายใน 2 ชั่วโมงหลังแปรงฟันควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสม 2. กลุ่มผสมสารฆ่าเชื้อโรค ยาสีฟันกลุ่มนี้ผสมสารฆ่าเชื้อโรคที่เป็นสารเคมีหรือสมุนไพร เช่น ไตรโคลซาน น้ำมันกานพลู คาโมไมล์ พิมเสน การบูร ชะเอมเทศ ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ลดการอักเสบ สมานแผลและช่วยให้เหงือกแข็งแรงได้3. กลุ่มลดอาการเสียวฟัน ยาสีฟันกลุ่มนี้จะมีการใส่สารเคมีบางตัว เช่น สตอนเทียมคลอไรด์หรือโพแทสเซียมไนเตรท ซึ่งเมื่อแปรงแล้วจะสามารถช่วยลดอาการเสียวฟันได้ชั่วคราว4. กลุ่มช่วยให้ฟันขาว ยาสีฟันกลุ่มนี้มีส่วนผสมสารขัดฟัน และอาจมีการใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์ฟอกสีฟันอ่อนๆ ร่วมด้วย ซึ่งสามารถช่วยขจัดคราบสีต่างๆ ที่ติดอยู่บนตัวฟันออก ทำให้ฟันดูขาวขึ้น แต่จะไม่ขาวไปกว่าสีธรรมชาติเดิมของฟันอย่างไรก็ตามหากใช้เป็นประจำจะทำให้สารเคลือบฟันบางลง จนฟันเหลืองขึ้นกว่าเดิมหรือมีอาการเสียวฟันมากขึ้น รวมทั้งอาจเกินอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในช่องปากได้ แนะวิธีการเลือกซื้อยาสีฟันหลักพิจารณาง่ายๆ ในเลือกซื้อยาสีฟันสามารถทำได้จาก 3 ข้อดังนี้1. ควรเลือกให้เหมาะสมกับปัญหาช่องปากของเรา เพราะแต่ละคนมีปัญหาสุขภาพช่องปากที่แตกต่างกัน เช่น หากมีอาการเสียวฟันก็ควรใช้สูตรลดอาการเสียวฟัน อย่างไรก็ตามหากใช้งานแล้วผู้บริโภคบางคนอาจมีอาการแพ้ยาสีฟันได้เช่นกัน เช่น อาการปวดแสบปวดร้อนในขณะที่ยาสีฟันอยู่ในปาก หรือหลังใช้งานแล้วพบว่าริมฝีปากดำคล้ำจากอาการแพ้ หรือเนื้อเยื่อบุผิวในปากหลุดลอกออกมาก็ควรเปลี่ยนสูตรใหม่ให้มีความอ่อนโยนมากขึ้น 2. เลือกยี่ห้อที่มีฉลากครบถ้วน ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยาสีฟัน (พ.ศ. 2552) กำหนดให้ที่กล่องและภาชนะบรรจุยาสีฟันต้องมีรายละเอียด ดังนี้ 1. ชื่อผลิตภัณฑ์ 2. ชนิด 3. ชื่อสารที่เป็นส่วนผสมทั้งหมด 4. ปริมาณสุทธิ แสดงเป็นกรัมหรือลูกบาศก์เซนติเมตร 5. วัน เดือน ปี ที่ผลิตและรหัสรุ่นที่ทำ 6. คำเตือนหรือข้อความตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 7. วิธีใช้และข้อควรระวัง 8. ชื่อผู้ผลิต หรือเครื่องหมายการค้าจดทะเบียน3. มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพราะฟันผุเป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริโภค ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ดีและง่ายที่สุดในการยับยั้งปัญหาดังกล่าว คือ การเลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์แปรงฟันเป็นประจำ โดยผู้บริโภคสามารถดูได้จากรายละเอียดส่วนผสม นอกจากนี้หากเราต้องการให้สุขภาพช่องปากดีอยู่เสมอนั้น ควรแปรงฟันและเหงือกให้ถูกวิธี เพราะสามารถช่วยให้เหงือกและฟันสะอาดแข็งแรงได้จริง รวมทั้งควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุกๆ 6 เดือนอีกด้วย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 ค้นหาคำตอบ ‘วัคซีน HVP’ ปลอดภัยหรือไม่? คุ้มค่าหรือไม่?

ร้อยละ 12 ของผู้หญิงทั่วโลกเป็นมะเร็งปากมดลูก 470,000 ราย คือ ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี 233,000 ราย คือ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ และร้อยละ 83 ของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาในประเทศไทย ความรุนแรงของสถานการณ์มะเร็งปากมดลูกไม่ได้น้อยหน้าระดับโลก มันเป็นโรคภัยที่พบในผู้หญิงไทยบ่อยเป็นอันดับ 2 แต่คร่าชีวิตหญิงไทยสูงเป็นอันดับ 1 ในปี 2551 พบว่าอัตราการเป็นมะเร็งปากมดลูกของผู้หญิงไทยเท่ากับ 16.7 ต่อประชากร 100,000 คน เท่ากับว่าแต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่ 6,000 ราย และเสียชีวิตกว่า 2,000 รายต่อปี คุณค่าชีวิตที่สูญเสียประเมินค่าไม่ได้ ขณะที่มูลค่าของราคาที่ต้องจ่ายไปกับโรคนี้ก็มหาศาล ปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผล ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ถ้าโรคอยู่ในระยะลุกลามแปลว่าอะไร? แปลว่าถ้าตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ผู้หญิงไทยมีความรู้และยินยอมสละเวลาไปตรวจกันมากแค่ไหนด้วยตัวเลขที่น่าพรั่นพรึง หน่วยงานด้านสาธารณสุขของไทยจึงมองหาหนทางลดความสูญเสียจากมะเร็งปากมดลูก วัคซีน HPV เป็นหนึ่งในคำตอบที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้พฤษภาคม 2559 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่กำหนดชนิดวัคซีนและตารางการให้วัคซีนที่เหมาะสมสำหรับประชากรไทย มีมติเห็นชอบแนะนำให้นำวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมาใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโดยเร็ว เนื่องจากเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง และเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ก็มีมติเห็นชอบและให้บรรจุวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยถือเป็นวัคซีนตัวที่ 11 ในรอบ 17 ปีแต่ก่อนหน้านั้น กรุงเทพมหานครได้ริเริ่มโครงการให้บริการวัคซีนป้องกันเอชพีวีในโรงเรียนสังกัด กทม. ไปก่อนแล้วตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 โดยมีเด็กนักเรียนหญิงระดับประถมศึกษาปีที่ 5 ในสังกัดกรุงเทพมหานครได้รับวัคซีน HPV ร้อยละ 98 สำหรับปีการศึกษา 2559 กรุงเทพฯ ได้ดำเนินโครงการไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 มีนักเรียนหญิงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในสังกัดที่ได้รับบริการวัคซีนจำนวน 16,468 คนการใช้วัคซีน HVP ติดตามมาด้วยคำถามเรื่องความปลอดภัย จากกระแสข่าวการฟ้องร้องในประเทศญี่ปุ่น เพราะพบว่าเด็กที่ได้รับวัคซีนเกิดอาการอัมพาตอ่อนแรงและชัก กับอีกด้าน คือ ความคุ้มค่าของวัคซีนว่าราคาที่งบประมาณรัฐต้องจ่ายไปคุ้มกับสิ่งที่ได้คืนมาหรือไม่‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะไปค้นหาคำตอบสำหรับ 2 คำถามนี้องค์การอนามัยโลกรับรองวัคซีน HPV ปลอดภัยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ถูกใช้เป็นกรณีตัวอย่างประเด็นผลกระทบจากวัคซีน HPV เพราะมันถูกรัฐบาลประกาศให้ถูกรวมอยู่ในโปรแกรมฉีดวัคซีนพื้นฐานเพียง 3 เดือนเท่านั้น คือ เมษายน-มิถุนายน 2556 จากนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นก็เพิกถอนคำแนะนำ เนื่องจากมีรายงานและการร้องเรียนว่า มีผู้ได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีนเข้าไป และช่วงกลางปีที่ผ่านมาผู้หญิงชาวญี่ปุ่น 64 คน ยื่นฟ้องรัฐบาลและผู้ผลิตวัคซีน HPV หลังได้รับผลข้างเคียงเป็นเงินคนละ 15 ล้านเยน และค่าเสียหายจะเพิ่มขึ้นอีกตามอาการข้างเคียงที่อาจปรากฏในภายหลังนี่เองที่ทำให้ภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอไทยเฝ้าดูด้วยความวิตก นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพหรือไฮแทป (Health Intervention and Technology Assessment Program: HITAP) และอีกสถานะหนึ่ง คือ กรรมการด้านวิจัยและพัฒนาวัคซีนขององค์การอนามัยโลก ในฐานะนักพัฒนานโยบายและนักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ให้ข้อมูลกับเราว่า“ณ ข้อมูลปัจจุบันที่เป็นหลักฐานที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อถือ พบว่า ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวัคซีนไม่มีความปลอดภัย”ทวนอีกรอบ ‘ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวัคซีน HPV ไม่มีความปลอดภัย’ เราสอบถามกลับด้วยคำถามลักษณะเดียวกันว่า แล้วมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันได้หรือไม่ว่า ‘ปลอดภัย’ นพ.ยศ ตอบว่า“โดยหลักการยาหรือวัคซีนทุกตัวจะให้บอกว่าปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นไปไม่ได้ แน่นอน ทุกคนยอมรับว่าวัคซีนตัวนี้เมื่อฉีดไปแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรงเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย แต่ถึงกับบอกว่าไม่ปลอดภัยและไม่ควรใช้ มันยังสรุปแบบนั้นไม่ได้ เพราะอาการไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่ที่เจอคือหน้ามืด เป็นลม วิงเวียน และพบเจอทั่วโลก และอาจมีอาการเจ็บปวดบริเวณที่ฉีด ซึ่งก็เป็นอาการทั่วไปของวัคซีน“แต่วัคซีนตัวนี้ยังไม่เจอผลข้างเคียงรุนแรง ถ้าจะสื่อสารกับประชาชนก็ต้องบอกว่า ณ ปัจจุบันนี้ 10 กว่าปีผ่านมาที่วัคซีนยังอยู่ในท้องตลาด ในทางวิทยาศาสตร์เรายังไม่สามารถสรุปได้ว่าวัคซีนไม่ปลอดภัย ถึงแม้ว่าจะเจอผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก”สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น นพ.ยศ อธิบายว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมความเชื่อในการต่อต้านวัคซีนที่ฝังอยู่ในสังคมญี่ปุ่นมาค่อนข้างนานแล้ว คนญี่ปุ่นจึงมักมีความรู้สึกกับวัคซีนในแง่ลบ เคยมีปัญหาวัคซีนหลายตัวในญี่ปุ่นที่คนขาดความเชื่อถือ เมื่อเกิดเรื่องกับวัคซันตัวใหม่อย่าง HPV ทำให้กระแสจุดติดได้ง่าย เพราะมีกลุ่มเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมกลุ่มหนึ่งเฉพาะที่คอยต่อต้านวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนตัวไหนกลุ่มนี้ก็จะระแวงไว้ก่อน และทำให้การฟ้องร้องกรณีผลกระทบจากวัคซีนในญี่ปุ่นทำได้ง่าย เนื่องจากมีกลุ่มและระบบสนับสนุนจำนวนมาก“ที่ผมได้อ่านจากเอกสารวิชาการที่ตีพิมพ์ มีการสอบสวนโดยการไปดูเวชระเบียนของคนญี่ปุ่นที่มีปัญหาข้างเคียง ก็เจอว่ายังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นผลจากวัคซีน”นอกจากนี้ นพ.ยศ ยังได้ระบุว่า ปัจจุบันนี้ จุดยืนขององค์การอนามัยโลกถือว่าวัคซีนตัวนี้มีความปลอดภัยอย่างไรก็ตาม การที่จะรู้ว่ายาหรือวัคซีนตัวหนึ่งมีผลกระทบรุนแรงหรือไม่ ต้องอาศัยเวลายี่สิบถึงสามสี่ปีเป็นเครื่องพิสูจน์ นพ.ยศ แนะนำว่า หากประเทศไทยจะนำวัคซีน HPV มาใช้ ในแง่ความปลอดภัยไม่มีอะไรต้องวิตกกังวล แต่ก็ไม่ควรฝากชีวิตประชาชนไทยกับข้อมูลของต่างประเทศ รัฐบาลจึงควรสร้างระบบติดตามความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีนเชิงรุกที่เป็นข้อมูลของคนไทยวัคซีน HPV คุ้มค่า แต่ไม่คุ้มทุนเรื่องความปลอดภัยดูเหมือนจะเคลียร์แล้ว(ในระดับหนึ่ง) ส่วนคุ้มค่าหรือไม่ ต้องค้นหาคำตอบกันต่อโดยปกติแล้ว การจะบอกว่าการใช้เงินกับสิ่งใด คุ้มค่าหรือไม่ต้องมีสิ่งเปรียบเทียบ อดีตที่ผ่านมามีการศึกษาความคุ้มค่าของวัคซีน HPV อยู่หลายครั้ง ซึ่งบางครั้งก็เป็นการศึกษาโดยบริษัทยา เปรียบเทียบระหว่างฉีดกับไม่ฉีดวัคซีนและไม่ทำอะไรใดๆ ทั้งสิ้น ก็แน่นอนว่าด้วยลักษณะการเปรียบเทียบเช่นนี้ การฉีดวัคซีน HPV ย่อมคุ้มค่ากว่าแต่ของไฮแทป ศึกษาโดยเปรียบเทียบกับการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกัน 3 วิธีที่เป็นที่นิยมและยอมรับในปัจจุบัน คือหนึ่ง-การทำ Pap Smear ซึ่งเป็นวิธีที่แพร่หลายในไทย โดยทำการตรวจภายในและป้ายเซลล์จากมดลูกป้ายสไลด์และส่งตรวจ วิธีนี้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว สอง-Wisual Inspection with Acetic acid หรือ VIA เป็นการใช้น้ำส้มสายชูป้ายปากมดลูกเพื่อดูว่ามีจุดสีขาวปรากฏขึ้นมาหรือไม่ ถ้ามี ก็ใช้ความเย็นจี้ทำลายเซลล์ที่เริ่มผิดปกติตั้งแต่เริ่มต้น และสุดท้าย-เป็นวิธีการตรวจที่เรียกว่า HPV DNA Test คือการนำเซลล์ปากมดลูกไปตรวจอย่างละเอียดในระดับพันธุกรรม ซึ่ง นพ.ยศ กล่าวว่า ทั้ง 3 วิธีนี้คุ้มทุนมากกว่าการฉีดวัคซีน แต่วัคซีนมีความคุ้มค่ากว่า สรุปคือวัคซีน HPV คุ้มค่า แต่ไม่คุ้มทุนอ่านถึงตรงนี้ คงเริ่มสับสนชีวิต นพ.ยศ อธิบายว่า “คุ้มค่าแปลว่า คุณยอมจ่ายของแพงกว่าเพื่อให้ได้ประโยชน์มากกว่า วัคซีน HPV มีประโยชน์มากกว่าการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกชนิด แต่แพงกว่า คำถามคือเมื่อมันดีกว่า แพงกว่า แล้วเมื่อไหร่จะคุ้ม ประเทศไทยได้ทำการศึกษาจนได้เกณฑ์ว่า ยาและวัคซีนจะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อใช้เงินไม่เกิน 160,000 บาทต่อ 1 ปีสุขภาวะ เพราะใช้เงินจำนวนนี้จะทำให้คนไทยอายุยืนยาวขึ้นอย่างสมบูรณ์ 1 ปีถือว่าคุ้ม เช่น ออกยาใหม่ อยากรู้ว่ายาใหม่คุ้มหรือไม่ ก็นำมาเทียบกับยาเดิม ถ้ายาใหม่ทำให้อายุคนไข้ยืนขึ้น 1 ปีและเป็น 1 ปีที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง เช่น เป็นโรคมะเร็ง คุณภาพชีวิตไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ สมมติว่าแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ของคนทั่วไป อายุยืนขึ้น 1 ปีเท่ากับ 0.5 ปีสุขภาวะ ถ้าอายุยืนขึ้นแบบนี้ 2 ปีจึงจะเท่ากับ 1 ปีสุขภาวะ ถ้าใช้เงินไม่เกิน 160,000 บาททำให้อายุยืนขึ้น 2 ปีแบบที่มีคุณภาพชีวิตแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับคุ้มค่าในประเทศไทย ข้อมูลนี้มีประโยชน์ใช้เปรียบเทียบยากับทุกตัวได้ถ้าเทียบวัคซีนตัวนี้เทียบว่าแพงกว่าและดีกว่า อยู่ภายใต้ 160,000 บาทต่อปีสุขภาวะหรือไม่ ใช่ คือคุ้มค่าแล้ว แต่ไม่คุ้มทุนเป็นอย่างไร เนื่องจากวัคซีนอ้างว่าเมื่อฉีดวันนี้สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกในอนาคต แปลว่าในอนาคตเราต้องประหยัดเงินได้จากการรักษาโรคมะเร็ง แสดงว่าเรานำเงินที่ต้องจ่ายในอนาคตเพื่อรักษาโรคมะเร็งมาซื้อวัคซีนวันนี้ โดยที่เราไม่ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น อย่างนี้ถือว่าคุ้มทุน แต่ ณ ราคาวันนี้ที่บริษัทเสนอให้ยังถือว่าไม่คุ้มทุน”ราคาวัคซีนที่บริษัทยาเสนอให้กับรัฐบาลตอนนี้คือ 375 บาทต่อเข็ม โดยจะต้องฉีด 3 เข็ม ซึ่งยังเป็นราคาที่ไม่คุ้มทุน แต่ราคาที่คุ้มทุนคือ 300 บาท เรื่องเกิดขึ้นขณะที่ทั้งฝ่ายเราและบริษัทยากำลังต่อรองราคากันอยู่นั้น รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งกลับพูดในที่สาธารณะว่า ประเทศไทยต้องใช้วัคซีน HPV แน่นอน และนั่นทำให้การต่อรองราคาจบลงด้วยราคา 375 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่คุ้มทุน“อาจจะเกิดการสับสนเวลาที่แพทย์หรือบริษัทยาบอกว่า โรคมะเร็งรักษาทีเป็นแสน แล้วทำไมการฉีดยาเข็มละ 375 บาทจึงไม่คุ้มทุน คำตอบคือสมมติว่าคนไทยทั้งประเทศป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ย 12 คนต่อ 100,000 คน ฉีดวัคซีนไปแสนคน เท่ากับคุณป้องกันไม่ให้ป่วยแค่ 12 คนเท่านั้น เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นมะเร็ง เราทำวิจัยและทั่วโลกก็ยืนยันเหมือนกัน ถ้าเราฉีดให้ทุกคน แล้วนำเวลาของอายุที่ยืนยาวขึ้นของคนไทยโดยเฉลี่ยหลังได้รับการฉีดวัคซีน อายุจะยืนยาวขึ้นเฉลี่ยแค่ 5-7 วันเท่านั้น ที่น้อยเพราะบางคนไม่ได้อายุยืนยาวขึ้น เนื่องจากไม่ว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดทั้งชีวิตเขาก็ไม่ได้เป็นมะเร็งปากมดลูกอยู่แล้ว”เราแลกเปลี่ยนถกเถียงกับ นพ.ยศ ว่า แต่ถ้านับค่าเสียเวลา ค่าเสียโอกาส ค่าเดินทาง ที่ผู้หญิงจะต้องเดินทางไปตรวจคัดกรองด้วย 3 วิธีข้างต้นทุกๆ 5 ปี การฉีดวัคซีน HPV ก็ยังไม่ถือว่าคุ้มค่าและคุ้มทุนกว่าอย่างนั้นหรือ?“การฉีดสะดวกกว่า ไม่ต้องเสียเวลา เสียโอกาส แต่ผมอธิบายแบบนี้ สิ่งที่เรากลัวกันอยู่คือวัคซีนป้องกันได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงทั้งหมดที่จะเกิดขึ้น ทั่วโลกจึงแนะนำว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วก็ต้องทำ 3 วิธีนี้เหมือนเดิมมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งชนิดที่ค่อยๆ เป็น ใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการลุกลามจนกระทั่งรักษาไม่ได้ ดังนั้น จึงมีการแนะนำให้ตรวจมะเร็งปากมดลูกทุก 5 ปี ถ้าผู้หญิงไทยทุกคนทำ วัคซีนไม่จำเป็น แถมการตรวจยังดีกว่าด้วย เพราะป้องกันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ประเด็นคือทุกวันนี้ผู้หญิงไทยไปตรวจกัน 60-70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น พอเอาวัคซีนมาฉีดก็ป้องกันได้เหมือนเดิมคือ 60-70 เปอร์เซ็นต์ เพราะวัคซีนไม่ได้ป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นคุณจะปล่อยคนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ให้เป็นมะเร็งโดยที่ไม่รักษา”คำอธิบายของ นพ.ยศ น่าจะทำให้เข้าใจได้แล้วว่า วัคซีน HPV คุ้มค่าแต่ไม่คุ้มทุนอย่างไร.........ปัจจุบัน วัคซีน HPV เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าจะได้รับการบรรจุเข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หรือไม่ทิ้งท้ายตรงนี้ว่า ตอนวัคซีน HPV เข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ต้นทุนเพียงเข็มละ 90 บาทเท่านั้น แต่ราคาที่ขายคือ 5,000 บาทต่อเข็ม“เราต่อ 300 ยังไม่อยากลดราคา เพราะกลัวเสียราคา” นพ.ยศ กล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 สักปากชมพู ดีจริงหรือ

สีสันที่สวยงามบนริมฝีปากเป็นสิ่งที่สาวๆ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ ซึ่งสีที่ได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายคงหนีไม่พ้นสีชมพูหรือแดงอ่อนๆ อย่างเป็นธรรมชาติ เพราะเชื่อว่าช่วยทำให้ใบหน้าหวานและอ่อนเยาว์ขึ้นได้ โดยปัจจุบันมีหลายๆ วิธีที่จะทำให้ริมฝีปากมีสีสันดังกล่าว ซึ่งการสักปากก็เป็นหนึ่งทางเลือกที่คนให้ความสนใจ เนื่องจากมีการโฆษณาว่าสามารถทำให้ปากชมพูได้ถาวร ไม่ต้องทาลิปสติกเพิ่มและดูเป็นธรรมชาติ อย่างไรก็ตามการสักปากชมพูจะทำให้เราสวยสมใจและมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ลองมาดูกัน มาดูสีปากตามธรรมชาติของเราก่อนสีของริมฝีปากตามธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติหรือพันธุกรรมของเรา โดยมีทั้งสีชมพูอ่อน-เข้ม สีแดงและสีคล้ำ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงกลายเป็นคล้ำขึ้นได้อีก เมื่อเราอายุมากขึ้นหรือมีปัจจัยอื่นๆ มากระตุ้น เช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานยาบางชนิดหรือการใช้ลิปสติก มารู้จักการสักปากชมพูกันบ้างการสักปากชมพูเป็นการเปลี่ยนสีปากตามธรรมชาติของเรา ด้วยการใช้สีแดงหรือส้มสักลงไปที่ริมฝีปาก หรือขอบปาก เพื่อทำให้ปากกลายเป็นสีชมพูหรือแดงอ่อนๆ ซึ่งส่วนใหญ่หลังสักแล้วสีสันจะยังไม่ออกชัดเจนมากนัก ทำให้ต้องมีการสักซ้ำหรือเติมสีใหม่เรื่อยๆ ทั้งนี้การสักปากชมพูสามารถช่วยเหลือและสร้างความสวยงามให้กับผู้ที่แพ้ลิปสติก หรือมีความบกพร่องของริมฝีปาก เช่น ไม่มีขอบปาก รวมทั้งผู้ที่อาจมีความยากลำบากในการแต่งหน้า เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคข้อ โรคที่ทำให้มือสั่นหรือเคลื่อนไหวมือไม่สะดวก และผู้มีปัญหาด้านสายตาให้สามารถมีริมฝีปากที่สวยงามได้อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้มีข่าวเกี่ยวกับสีหรือหมึกที่ใช้สักว่า ยังไม่มีความปลอดภัย เนื่องจากหลังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างสีที่ใช้สักมาตรวจสอบคุณภาพก็พบการปนเปื้อนของโลหะหนักอย่างสารหนูและสารตะกั่ว ซึ่งอาจส่งผลต่อการเป็นมะเร็งและโรคหลายชนิดได้ รวมทั้งยังสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ เป็นผื่นหรือตุ่มแดง โดยบางรายอาจเกิดอาการคันในตำแหน่งของรอยสักนั้นๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ผิวหนังอักเสบได้ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในบริเวณที่ทำ เนื่องจากจากเข็มหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องไม่สะอาด และอาจทำให้เกิดแผลเป็นที่มีลักษณะเป็นเนื้อนูนที่ผิวหนังได้อีกด้วยเราควรตรวจสอบอะไรบ้างก่อนตัดสินใจแม้การสักปากชมพูจะช่วยอำนวยความสะดวกหลายอย่าง แต่ก็สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนาได้ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ยังไม่ได้จัดให้หมึกสำหรับสักลายเป็นเครื่องสำอาง และยังไม่มีข้อบังคับว่าให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องปราศจากเชื้อ เราจึงควรระมัดระวังและตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นก่อนตัดสินใจสักปากชมพู ดังนี้- ตรวจสอบอุปกรณ์ว่ามีความสะอาดหรือไม่ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือเชื้อเอชไอวี- ตรวจสอบสถานบริการ โดยเราควรเลือกใช้บริการจากผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ- ตรวจสอบประวัติการแพ้ยาและโรคของตัวเอง เช่น หากเคยมีประวัติเคยเป็นเริมที่ริมฝีปาก ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อขอรับประทานยาป้องกันโรคก่อนสัก รวมทั้งหากมีประวัติแพ้สารใดมาก่อน ควรพิจารณาส่วนประกอบสำคัญของสีที่ใช้สักอย่างละเอียด รวมทั้งไม่ควรสักในขณะที่ริมฝีปากอักเสบหรือเป็นแผล- ตรวจสอบราคาก่อนตัดสินใจ ซึ่งแต่ละสถานบริการจะคิดราคาต่างกันเริ่มตั้งแต่ 4,000 – 8,000 บาท - ตรวจสอบวิธีการดูแลรักษาริมฝีปากหลังการสักอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการสักปากจะทำให้บริเวณริมฝีปากมีความบอบบางมากเป็นพิเศษ โดยช่วงแรกควรหลีกเลี่ยงอาหารที่สามารถทำให้ผิวหนังเกิดอาการบวมน้ำหรือทำให้แผลหายช้า เช่น อาหารรสจัด อาหารหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสรุนแรง และไม่ควรแกะเกาแผลขณะกำลังตกสะเก็ด เพราะอาจจะไปดึงเอาเนื้อที่ยังไม่ลอกหรือเนื้อแท้ออกมาด้วย นอกจากนี้ยังต้องใช้ขี้ผึ้งหรือลิปมัน เพิ่มความชุ่มชื้นให้ริมฝีปากสม่ำเสมอ เนื่องจากการสักปากจะทำให้ริมฝีปากแตกแห้งมากขึ้น รวมทั้งยังต้องหมั่นไปเติมสีเพื่อให้ริมฝีปากสวยงามอยู่ตลอดอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนตุลาคม 2558ศาลให้ผู้บริโภคชนะ คดีรถเชฟโรเลตไม่ได้มาตรฐานหลังจากต้องใช้เวลาฟ้องร้องนานกว่า 2 ปี ในที่สุดศาลก็มีคำพิพากษาให้ตัวแทนจำหน่ายและผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต คืนเงินดาวน์และเงินค่าเช่าซื้อพร้อมทั้งดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ให้แก่กลุ่มผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์เชฟโรเลตจำนวน 6 ราย หลังจากที่กลุ่มผู้ฟ้องร้องประสบปัญหาจากการใช้รถทั้งๆ ที่รถยนต์ดังกล่าวเป็นรถใหม่ที่เพิ่งซื้อมาใช้งานได้เพียงไม่กี่เดือน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ที่สำคัญเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตของผู้ใช้รถยนต์ โดยหลังจากได้มีการนำเรื่องร้องเรียนต่อ สคบ. โดยมีศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยดำเนินการ ได้มีการนำรถที่เกิดปัญหาไปทดสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากตัวรถไม่ได้เกิดจากผู้ใช้ สุดท้ายจึงได้มีการนำเรื่องเข้าฟ้องร้องต่อศาลในรูปแบบคดีผู้บริโภค ศาลแพ่งพิจารณาจากคำฟ้องที่กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นมาเห็นว่า บริษัทตัวแทนจำหน่ายต้องชำระคืน เงินดาวน์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่ชำระคืนให้ผู้บริโภคจนเสร็จ และให้บริษัทผู้เช่าซื้อรถยนต์คืนเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมด ตั้งแต่วันรับฟ้องคดีพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระหมด คดีนี้ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภค เมื่อพบเจอปัญหาจากการใช้สินค้าหรือบริการใดๆ อย่ารอให้ความเสียหายเกิดขึ้นก่อน ต้องออกมาใช้สิทธิของตัวเอง   เตรียมเพิ่ม “วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก” ในบัตรทองสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมเพิ่ม “วัคซีนเอชพีวี” (HPV : Human Papillomavirus) วัคซีนที่มีผลในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกเข้าไปรวมอยู่ในสิทธิประโยชน์บัตรทองในปี 2560 ตามแผนที่วางไว้ โดยจะฉีดให้กับเด็กชั้น ป.5 – ป.6 ทั่วประเทศ รวมแล้วคนละ 2 เข็ม หลังจากที่ทาง สปสช.ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรคทำการศึกษาแล้วพบว่า วัคซีนเอชพีวี เป็นวัคซีนที่มีความจำเป็น และปัจจุบันฉีดแค่คนละ 2 เข็มก็สามารถให้ประสิทธิผลในการป้องกันได้ จากเดิมที่ต้องฉีดถึงคนละ 3 เข็ม ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง ซึ่งมะเร็งปากมดลูกถือเป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับผู้หญิงเป็นจำนวนมาก เป็นรองแค่โรงมะเร็งเต้านมเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีวัคซีนตัวอื่นๆ ที่อยู่ในข่ายที่ทาง สปสช. กำลังพิจารณาเพื่อบรรจุลงในสิทธิบัตรทองในปี 2560 เช่น วัคซีนฮิบ (HIB) ป้องกันโรคปอด และ วัคซีนโรตา ป้องกันโรคอุจจาระร่วง ซึ่ง สปสช.กำลังอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม  “น้ำดื่ม-น้ำแข็ง” ตกมาตรฐานเพียบไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าน้ำดื่มและน้ำแข็งในบ้านเราพบตกมาตรฐานด้านคุณภาพเป็นจำนวนมาก หลังมีข้อมูลจากการตรวจเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและน้ำแข็งทั่วประเทศ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 4,750 ตัวอย่าง สำรวจช่วงเดือน ธ.ค. 2557 – ก.ค. 2558 จำแนกเป็นน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท 4,135 ตัวอย่าง และน้ำแข็ง 615 ตัวอย่าง พบว่า มีคุณภาพได้มาตรฐาน 2,690 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 56.6 และไม่ได้มาตรฐานถึง 2,060 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 43.4 โดยปัญหาเรื่องคุณภาพที่พบสามารถแยกได้ดังนี้ 1.ไม่ได้มาตรฐานด้านกายภาพและเคมี 1,584 รายการ คิดเป็นร้อยละ 63.2 สาเหตุหลักมาจากความเป็นกรด - ด่าง ที่สูงหรือต่ำกว่ามาตรฐานกำหนด 1,505 รายการ พบปริมาณไนเตรทไม่ได้ค่ามาตรฐาน 47 รายการ และพบปริมาณฟลูออไรด์ไม่ได้ค่ามาตรฐาน จำนวน 32 รายการ 2.ไม่ได้มาตรฐานด้านจุลินทรีย์ 921 รายการ ร้อยละ 36.8 สาเหตุจากพบเชื้อโคลิฟอร์มเกินมาตรฐาน 737 รายการ เชื้ออีโคไล 153 รายการ เชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคอาหารเป็นพิษชนิดสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส 22 รายการ และเชื้อซาลโมเนลล่า 9 รายการ ซึ่งสาเหตุที่พบน้ำดื่มและน้ำแข็งตกมาตรฐานจำนวนมากในการตรวจวิเคราะห์ครั้งนี้ น่าจะมาจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ขาดการจัดการด้านสุขลักษณะ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทำการแจ้งผลการตรวจวิเคราะห์และให้คำแนะนำผู้ประกอบการ เพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานต่อไป  อย.เตือน “สบู่คลอรีน” อันตรายมาใหม่อีกแล้วสำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อความสวยความงาม ที่มาพร้อมกับคำโฆษณาชวนเชื่อ ล่าสุดเป็นผลิตภัณฑ์ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์อย่าง “สบู่คลอรีน” (Chlorine Soap) ที่อวดอ้างสรรพคุณว่าใช้แล้ว ผิวขาวใส ขาวเร็วทันใจ แค่อาบน้ำฟอกสบู่ธรรมดาผิวก็ขาวขึ้นทันตาทำให้กลายเป็นสินค้ายอดนิยมในหมู่คนอยากขาวในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งล่าสุดทาง อย. ก็ได้ออกมาเตือนว่า สารฟอกสีในกลุ่มคลอลีน ถือเป็นสารต้องห้ามใช้กับผิวหนัง เพราะมีฤทธิ์รุนแรงอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองและถึงขั้นทำให้ผิวอักเสบได้ ซึ่งปกติคลอรีนก็ถือเป็นสารต้องห้ามในเครื่องสำอางอยู่แล้ว ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กําหนดวัตถุห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสําอาง นอกจากนี้การโฆษณาเครื่องสำอางโดยใช้ภาพหรือข้อความที่สื่อว่าสามารถทําให้สีผิวมีการเปลี่ยนแปลง หรือทําให้สีผิวขาวขึ้นมากกว่าหรือแตกต่างจากสีผิวเดิมตามธรรมชาติหรือใช้ข้อความอื่นที่มีความหมายในทํานองเดียวกัน ก็ถือว่ามีความผิดตามคําสั่งของคณะกรรมการเครื่องสําอาง เรื่อง ข้อความที่ห้ามใช้ในการโฆษณาเครื่องสําอาง ซึ่งแม้ว่าตัวอย่างที่ทาง อย. สุ่มเก็บมาวิเคราะห์จะไม่พบการปนเปื้อนของสารในกลุ่มคลอรีน แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงสบู่ที่อวดอ้างเรื่องความขาวเป็นดีที่สุด เพราะเสี่ยงต่อการผสมสารอันตราย  คน กทม. ขอศูนย์สาธารณสุขชุมชนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเขตพื้นที่ กทม. และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน พร้อมด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขและประชาชนในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครกว่า 400 คน รวมตัวกันยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรียกร้องให้มีการยกระดับศูนย์สาธารณสุขที่มีความพร้อมให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนในทุกเขต และให้มีกองทุนส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในพื้นที่ กทม. อย่างแท้จริงและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนกทม. พร้อมดูแลประชาชนที่ไม่มีเลข 13 หลักหรือไม่สามารถยืนยันสิทธิได้โดยเหตุผลของการออกมาเรียกร้องครั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบัน กทม. ถือเป็นจังหวัดเดียวที่ยังไม่มีกองทุนส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคระดับพื้นที่ เรียกว่ายังขาดเรื่องการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐเรื่องการดูแลสุขภาพในระดับชุมชน ทั้งๆ ที่ กทม.เป็นเมืองใหญ่มีประชากรอาศัยเป็นจำนวนมาก เมื่อเจ็บป่วยได้แต่ใช้บริการโรงพยาบาลตามสิทธิ ซึ่งบางครั้งโรงพยาบาลกับที่พักมีระยะห่างกันมาก เป็นภาระกับผู้ป่วย โรงพยาบาลที่ร่วมสิทธิส่วนใหญ่ก็มีข้อจำกัดเรื่องการให้บริการเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่มี ผู้ป่วยหลายรายไม่มีทางเลือกต้องไปใช้โรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง โดยการมายื่นหนังสือครั้งนี้ต้องการให้ กทม. จัดสรรศูนย์สาธารณสุขชุมชนที่มีความพร้อมให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ของ กทม.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2554 11 กรกฎาคม 2554 ซื้อเนื้อซื้อหมูแล้วมีปัญหาเชิญมาร้องเรียนผ่านออนไลน์ ต่อจากนี้ไปใครที่มีปัญหาจากการบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย สินค้าไม่ได้คุณภาพ หรืออยากได้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ สามารถร้องเรียนและข้อมูลจากผู้รู้ตัวจริงผ่านระบบออนไลน์ของกรมปศุสัตว์ได้ที่ www.facebook.com/GreenstarAlert โดยกระทรวงเกษตรฯ และกรมปศุสัตว์ได้จัดทำ "โครงการดาวเขียว โซเชียลเน็ตเวิร์ค" ระบบแจ้งเตือนภัยสินค้าปศุสัตว์ผ่านเฟซบุ๊ค เพื่อเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์และเนื้อสัตว์อย่างถูกวิธี ถูกสุขอนามัย และมีความปลอดภัย เช่น วิธีการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากสัตว์และเนื้อสัตว์อย่างถูกวิธี อาทิ เนื้อสัตว์ นม และไข่ นอกจากนี้ผู้บริโภคที่มีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสัตว์ หรือพบเห็นผู้จำหน่ายรวมทั้งแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ดูน่าสงสัยก็สามารถแจ้งข้อมูลต่างๆ ถึงกรมปศุสัตว์ เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงแก้ไขในการดูแลและควบคุมมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ให้มีประสิทธิภาพ -----------    20 กรกฎาคม 2554 ใช้น้ำยาบ้วนปากระวังเจอแบคทีเรียใครที่ใช้น้ำยาบ้วนปากอาจต้องใส่ใจกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพิ่มมากขึ้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ออกมาให้ข้อมูลว่ามีการตรวจพบการปนเปื้อนของแบคทีเรียเกินกว่ากฎหมายกำหนดในบางรุ่นการผลิตของผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ ออรัล-บี ทูธแอนด์กัมแคร์ และ ออรัล-บี ทูธแอนด์กัมแคร์ ไม่ผสมแอลกอฮอล์ ขนาด 350 มล. และ 500 มล. โดยปนเปื้อนใน 3 รุ่นการผลิต ได้แก่ รุ่น 1009852525 1010852521 และ 1066852522 แบคทีเรียที่ปนเปื้อนมีชื่อว่า เบิร์คโฮลเดอเรีย แอนทีน่า (Burkholderia anthina) เป็นแบคทีเรียชนิดฉวยโอกาส พบได้ในแหล่งน้ำ พื้นดิน และในธรรมชาติทั่วไป ไม่ใช่ชนิด ก่อโรครุนแรง แต่อาจมีผลต่อผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง หรือผู้ที่กำลังรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ซึ่งทาง อย. ก็ได้กำชับให้บริษัท พี แอนด์ จี เรียกคืนสินค้าออกจากตลาดทั่วประเทศแล้ว     21 กรกฎาคม 2554อย.ปรับสถานะยาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟรดรีนเป็นยาควบคุมพิเศษอย. สั่งปรับสถานะของยาแก้หวัดชนิดเม็ด/แคปซูล ที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีน 3 สูตร ได้แก่ สูตรซูโดอีเฟรดรีน และไตรโพรลิดรีน ,สูตรซูโดอีเฟรดรีน และบรอมเฟนิรามีน และสูตรบรอมเฟนิรามีน และคลอเฟนิรามีน จากยาอันตรายให้เป็น“ยาควบคุมพิเศษ" เนื่องจากพบว่ามีการจับกุมการกระทำผิดอย่างต่อเนื่อง และมีการจำหน่ายเกินกำหนด ซึ่งประชาชนทั่วไปห้ามจำหน่ายเกิน 60 เม็ดต่อเดือน และร้านขายยาห้ามจำหน่ายเกิน 5,000 เม็ดต่อเดือน โดยจะให้จำหน่ายได้เฉพาะในสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน --------------   มือถือเติมเงินยังแย่โดนใจ ยอดร้องเรียนอันดับ 1สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนในช่วงครึ่งปี 2554 ที่ผ่านมา ปัญหาที่มีคนร้องเรียนเข้ามามากที่สุดคือเรื่อง วันหมดอายุของบัตรเติมเงิน ที่ผู้ใช้ยังรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบจากการกำหนดอายุบัตรเติมเงิน ต้องคอยเติมเงินทั้งที่ยังมีเงินเหลืออยู่ในระบบ รวมทั้งการถูกยึดเงินทั้งที่ไม่ได้ใช้งาน ซึ่งปัญหาที่ว่านี้มีจำนวนผู้ร้องเรียนเข้ามาคิดเป็นจำนวนถึงร้อยละ 55  อีกเรื่องที่เป็นปัญหาหนักใจของคนใช้มือถือก็คือ การคิดค่าบริการผิดพลาด โดยเฉพาะการคิดค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศหรือโรมมิ่ง คิดเป็นค่าเสียหายมากกว่า 1 ล้านบาท แม้จะมีเรื่องร้องเรียนไม่ถึง 30 เรื่อง แต่เพราะแต่ละรายที่มาร้องเรียนล้วนถูกเรียกเก็บเงินในจำนวนที่สูงมากตั้งแต่หลักหมื่นบาทไปจนถึงหลักแสนบาท ซึ่งสาเหตุก็มาจากการรู้ไม่เท่าทันการใช้โทรศัพท์ “สมาร์ทโฟน” และการไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ผู้ใช้จึงมักเผลอเปิดใช้ระบบเชื่อมต่อโดยไม่รู้ตัว  ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2554 สบท.ได้รับเรื่องร้องเรียนมากกว่า 3,000 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่มีการดำเนินการแจ้งบริษัทแก้ไข 1,409 เรื่อง โดยร้อยละ 72 หรือจำนวน 1,019 เรื่อง เป็นปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ที่เหลือเป็นปัญหาจากการใช้บริการอินเตอร์เน็ต จำนวน 311 เรื่อง หรือร้อยละ 22 และปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานจำนวน 52 เรื่อง หรือร้อยละ 4-------------------  รังนกแท้...แค่ 1%มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคติงผู้ผลิตรังนกสำเร็จรูป ใช้ข้อความโฆษณาสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้บริโภค แม้จะผลิตจากรังนกแท้ 100% แต่ถ้าว่ากันถึงส่วนประกอบในรังนกสำเร็จรูป 1 ขวด จะมีรังนกผสมอยู่แค่ 1% แถมตัวโฆษณายังสร้างความเชื่อว่ารับประทานรังนกแล้วสุขภาพแข็งแรง ทั้งที่คุณค่าทางอาหารไม่ต่างจากถั่วลิสง แต่เมื่อเทียบเรื่องราคากลับต่างกันค่อนข้างมาก  นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูป พบว่า รังนกสำเร็จรูปยี่ห้อดังอย่าง  สก็อต และ แบรนด์ ระบุแค่น้ำตาลกรวด 10-12% กับ รังนกแห้งที่ 1.1-1.4% ส่วน เอฟแอนด์เอ็น โกลด์ ระบุว่า มี นมโค 19% รังนกแห้ง 0.16% นมผงขาดมันเนย 4.8% และส่วนประกอบอื่นๆ อีกเล็กน้อย ซึ่งเป็นการแสดงข้อมูลส่วนประกอบที่ไม่ครบ 100% มีเพียงยี่ห้อเดียวที่แสดงส่วนประกอบครบ 100% คือ เบซซ์ ที่ระบุว่า มีน้ำ 83.8% น้ำตาลกรวด 15.0% และ รังนกก่อนต้ม 1.2% เป็นส่วนประกอบ   ส่วนปัญหาการใช้คำโฆษณาว่าผลิตจากรังนกแท้ 100% ที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน ทางคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องตีความว่า รังนกแท้ 100% เป็นการโฆษณาเกินจริงหรือหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นเห็นควรให้ปรับข้อความบนฉลากให้เข้าใจง่าย ป้องกันการสับสน โดยจะมอบให้คณะอนุกรรมการว่าด้วยฉลากดำเนินการแจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตรังนกทุกยี่ห้อให้มีการปรับปรุงข้อความบนฉลาก โดยจะให้ปรับปรุงข้อความว่ารังนกแท้ 100% ซึ่งมีความหมายกำกวม เป็นคำว่า "รังนกแท้" เพียงอย่างเดียว หรือบอกว่ามีปริมาณรังนกแท้ 1% ของน้ำหนักหรือส่วนประกอบทั้งหมด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการว่าด้วยฉลากจะพิจารณาความเหมาะสมต่อไป ข้อมูลจากสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ระบุไว้ว่า รังนกปริมาณ 1% ในรังนกสำเร็จรูป 1 ขวด มีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับนมสดครึ่งช้อนโต๊ะ หรือถั่วลิสง 2 เมล็ด ผู้บริโภคจึงควรต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อว่าคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 ศัลยกรรมตกแต่งริมฝีปากอย่างไร ให้สวยและปลอดภัย

การมีริมฝีปากที่สวยงามได้รูป ถือเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายคน เพราะสามารถช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้กับใบหน้าและช่วยสร้างความมั่นใจได้ ทำให้เกิดกระแสการศัลยกรรมตกแต่งริมฝีปากให้เป็นทรงกระจับ หรือการฉีดปากให้อวบอิ่ม อย่างไรก็ตามหากเราไม่อยากเจ็บตัวฟรีๆ ข้อควรรู้เบื้องต้นก่อนการศัลยกรรมริมฝีปากมีอะไรบ้าง เราไปดูกันเลย รู้จักประเภทการศัลยกรรมตกแต่งริมฝีปากกันก่อนรูปแบบการตกแต่งริมฝีปากที่คนส่วนใหญ่นิยมมี 3 ประเภทดังนี้ 1. การศัลยกรรมปากกระจับหรือทรงปีกนก เป็นการตัดหรือเย็บริมฝีปากด้านบนเข้าไป เพื่อให้ได้รูปทรงที่ต้องการ เหมาะสำหรับผู้ที่มีริมฝีปากหนาไม่ได้รูป โดยอาจมีการทำศัลยกรรมปากบางทั้งริมฝีปากบนและล่างควบคู่ไปด้วย ซึ่งการศัลยกรรมดังกล่าวจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต การหาข้อมูลก่อนตัดสินใจทำจึงสำคัญมาก ทั้งนี้เราควรทำเมื่ออายุ 18 ปีขึ้นไปแต่ไม่ควรเกิน 45 ปี เพราะเมื่อเราอายุมากขึ้นปากจะตกตามธรรมชาติ การศัลยกรรมริมฝีปากในลักษณะดังกล่าวอาจออกมาไม่สวยดั่งใจได้ 2. การฉีดริมฝีปากให้อวบอิ่ม หรือการฉีดฟิลเลอร์ด้วยสารเติมเต็มที่เรียกว่า ไฮยาลูโลนิค แอซิด (Hyaluronic acid) ซึ่งเป็นสารที่ได้รับรองมาตรฐาน อย. ทำให้มีความปลอดภัยสูง สามารถสลายตัวได้ตามธรรมชาติ เหมาะกับผู้ที่มีริมฝีปากบาง ขอบปากไม่ชัดเจนหรือผู้ที่มีร่องใต้มุมปากและมุมปากตกนิดๆ โดยหากทำแล้วจะอยู่ได้นานประมาณ 6 เดือน - 1 ปี (ขึ้นอยู่กับการดูแลเป็นหลัก) 3. การศัลยกรรมยกริมฝีปาก เพื่อปรับริมฝีปากให้ได้สัดส่วนที่ดูเป็นธรรมชาติ เหมาะสำหรับผู้ที่ริมฝีปากเสียรูป โดยขณะพูดหรือยิ้มอาจมองไม่เห็นส่วนของฟันบน ทั้งนี้อัตราค่าบริการการศัลยกรรมตกแต่งริมฝีปากแต่ละประเภท ในสถานพยาบาลต่างๆ นั้นไม่เท่ากัน แต่ส่วนใหญ่ราคาจะเริ่มที่ 10,000 บาทขึ้นไป   ควรเปรียบเทียบข้อมูลก่อนตัดสินใจในยุคแรกของการทำศัลยกรรมริมฝีปากมีจุดประสงค์เพื่อรักษา หรือแก้ไขข้อบกพร่องของผู้ที่มีความพิการ เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ หรือผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุจนทำให้มีแผลเป็นบริเวณริมฝีปาก เช่น ผู้ที่ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวกหรือเสียโฉม แต่ปัจจุบันมักทำเพื่อความสวยงามโดยเฉพาะ โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ทำศัลยกรรมปากกระจับหรือปากบาง มักต้องการให้ริมฝีปากได้รูปเหมือนกำลังยิ้มอ่อนๆ อยู่ตลอดเวลา ส่วนผู้ที่ฉีดริมฝีปากให้อวบอิ่มมักเน้นให้ปากดูเซ็กซี่ ซึ่งบางส่วนยอมรับว่าได้รับอิทธิพลจากคนดังฝั่งตะวันตก เช่น ไคลี่ เจนเนอร์ (Kylie Jenner) หรือเพื่อให้หน้าดูเด็กลง เพราะเมื่อคนเราอายุมากขึ้น ริมฝีปากจะเริ่มบางและริ้วรอยบริเวณริมฝีปากก็มากขึ้น การเพิ่มขนาดของริมฝีปาก ด้วยการฉีดริมฝีปากให้อวบอิ่ม ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยลดรอยย่นและร่องที่ริมฝีปากได้ อย่างไรก็ตามการทำศัลยกรรมในลักษณะดังกล่าวก็สามารถส่งผลข้างเคียงได้ เช่น - การทำปากกระจับเกินไป อาจทำให้ปิดริมฝีปากไม่สนิท เพราะตัดเนื้อบริเวณริมฝีปากบนออกไป ทำให้แม้เกร็งกล้ามเนื้อให้ปากบนล่างปากประกบกันแล้วก็อาจเห็นช่องว่างระหว่างปากอยู่ดี หรือเวลายิ้มก็จะเห็นเหงือกมากขึ้น - การทำปากบาง โดยหากทำกับศัลยแพทย์ที่ไม่ชำนาญหรือไม่พอใจภายหลัง แม้สามารถแก้ไขได้ด้วยการฉีดปากให้อวบอิ่มขึ้น (ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 3 เดือน) แต่ไม่สามารถทำศัลยกรรมปากกระจับได้ เพราะไม่เหลือเนื้อปากให้ทำต่อแล้ว นอกจากนี้เมื่ออายุมากขึ้นริมฝีปากก็จะยิ่งบางไปอีกเรื่อยๆ จนอาจมองไม่เห็นริมฝีปากเลย - การทำปากอวบอิ่ม แม้จะฉีดด้วยสารที่มีความปลอดภัย แต่บางคนก็อาจแพ้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นสารที่ไม่ได้รับมาตรฐานก็สามารถทำให้เกิดผลร้ายแรงได้มากขึ้น เช่น ฉีดผิดตำแหน่งจนสารดังกล่าวเข้าไปในกระแสเลือด จนเกิดการอุดตันของหลอดเลือดทำให้เนื้อตาย หรืออาจติดเชื้อจนเน่า เทคนิคการเลือกทำให้ “สวยและปลอดภัย”1. เลือกศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญ ทั้งนี้ควรตรวจสอบรายชื่อศัลยแพทย์ตกแต่งที่ได้รับวุฒิบัตร และการอนุมัติจากแพทยสภาก่อนรับการรักษาที่เว็บไซต์ http://www.tmc.or.th/ 2. เลือกสถานพยาบาลที่ได้รับมาตรฐานและดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย 3. เลือกฉีดสารเติมเต็มที่ได้รับมาตรฐาน อย. 4. สำรวจความพร้อมของตัวเอง เช่น ไม่เป็นคนเลือดออกง่าย ไม่มีประวัติการแพ้รุนแรง หรือกำลังตั้งครรภ์อยู่ ซึ่งหากมีข้อสงสัยใดๆ ควรสอบถามศัลยแพทย์ให้แน่ใจก่อน 5. เลือกเทคนิคการทำปากอวบอิ่มหรือปากบางด้วยตนเองง่ายๆ ด้วยเครื่องสำอาง เช่น การเขียนขอบปากให้หนาขึ้นด้วยลิปสติกเขียนขอบปาก (Lip liner) หรืออาจจะใช้ลิปสติกสีแดงเข้มระบายด้านในริมฝีปากบน โดยทำเป็นทรงกระจับด้วยตัวเอง ข้อมูลอ้างอิง สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย : http://www.dst.or.th/html/index.php /  สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย : http://www.surgery.or.th/topics/thin-lip.pdf  และ http://www.plasticsurgery.or.th/pub_method.php  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 ริมฝีปากดำคล้ำ เพราะลิปสติก

ต่อให้ไม่ได้เป็นสาวที่รักการแต่งหน้าเท่าไหร่ แต่หนึ่งในเครื่องสำอางที่สาวๆ ทุกคนต้องมีติดกระเป๋าไว้คงหนีไม่พ้น “ลิปสติก” เพราะไม่ว่าจะเป็นลิปสติกแบบมีสีสัน หรือลิปมัน ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ริมฝีปากของเราชุ่มชื้นและมีสีสันที่สวยงาม แต่หากเราทาแล้วริมฝีปากดันแห้ง แตก ลอกเป็นขุย คันยิบๆ หรือมีตุ่มใสขึ้นบริเวณริมฝีปาก จนทำให้ริมฝีปากสีชมพูสดใสกลายเป็นดำคล้ำ เพราะแพ้ลิปสติกแทน เราจะทำอย่างไรดี   มารู้จักตัวการสำคัญที่ทำให้เราแพ้กันก่อน อย่างที่เรารู้กันดีกว่าการแพ้เครื่องสำอางเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ยี่ห้อและราคาไม่ได้การันตีว่าจะดีสำหรับเราเสมอไป เพราะคนอื่นใช้แล้วไม่แพ้ แต่เราใช้แล้วอาจจะแพ้ก็ได้ ซึ่งสาเหตุหลักอันดับแรกที่ทำให้เราแพ้ลิปสติก มาจากส่วนผสมของลิปสติกนั่นเอง โดยส่วนใหญ่ในลิปสติกจะประกอบไปด้วย สี น้ำหอม สารแต่งกลิ่น/รส และสารกันเสีย ซึ่งเราอาจจะแพ้สีที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือแพ้สารกันเสียจำพวก paraben นอกจากนี้เราอาจจะแพ้เพราะใช้ลิปสติกแท่งเดิมมาเป็นเวลานาน โดยไม่รู้ว่ามันหมดอายุไปแล้ว ดังนั้นหากเราซื้อมาและเปิดใช้งานมากกว่า 2 ปี หรือพบว่ามีกลิ่น สี หรือลักษณะที่เปลี่ยนไปก็ควรตัดใจทิ้งและเปลี่ยนแท่งใหม่ได้เลย เพราะลิปสติกต้องสัมผัสกับริมฝีปากเราเป็นเวลานานและหลายครั้งต่อวัน หากเราไม่ดูแลรักษาดีๆ ก็อาจใช้เวลานานกว่าจะกลับมามีริมฝีปากสุขภาพดีเหมือนเดิม หากแพ้ลิปสติกแล้วควรแก้ปัญหาอย่างไรดี การแพ้ลิปสติกสามารถเกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ แบบฉับพลันและเรื้อรัง โดยหากเป็นแบบฉับพลัน จะเกิดอาการคันที่ปากทันที หรืออาจลุกลามมากขึ้นกลายเป็นตุ่มน้ำใสๆ ได้ แต่หากแพ้เรื้อรังก็จะทำให้ปากแห้ง แตก ลอกเป็นขุย ซึ่งนำไปสู่ริมฝีปากที่ดำคล้ำนั่นเอง ดังนั้นการแก้ไขเบื้องต้นหลังจากหยุดใช้ลิปสติกแท่งนั้นคือ การใช้ขี้ผึ้ง / ลิปมันที่ไร้การการแต่งกลิ่นหรือสีอย่างวาสลีน เพิ่มความชุ่มชื้นให้ริมฝีปาก และไม่ลืมดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยให้ปากไม่แห้ง รวมทั้งเลือกใช้ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากที่มีรสไม่ซ่าหรือเผ็ดน้อย เพราะฟลูออไรด์หรือแอลกอฮอล์ในปริมาณสูง สามารถส่งผลให้ริมฝีปากคล้ำกว่าเดิมได้เช่นกัน นอกจากนี้อาจรักษาด้วยการไปพบแพทย์ผิวหนังเฉพาะทาง   เทคนิคเล็กน้อยก่อนเลือกลิปสติกแท่งใหม่ การเลือกใช้ลิปสติกมักเปลี่ยนไปตามโอกาสต่างๆ เช่น หากเราต้องออกงานสำคัญแล้วอยากให้ลิปสติกติดทนนาน ก็ควรเลือกใช้ลิปสติกประเภทเนื้อ Cream หรือเนื้อ Matte เพราะมีความเข้มข้นของเนื้อสีมากที่สุด มีส่วนผสมที่ช่วยให้เนื้อลิปสติกแห้งไม่ลบเลือนง่าย หรือหากเราไม่ต้องการแต่งหน้าจัด ก็อาจเลือกใช้ลิปสติกประเภทเนื้อ Sheer ไม่ก็ Lip gloss หรือ Tint เพราะสีจะอ่อนๆ ให้ริมฝีปากเนียนสวยเป็นธรรมชาติ อย่างไรก็ตามไม่ว่าเราจะเลือกลิปสติกประเภทไหน ก็ควรพิจารณาจากคุณภาพเป็นอันดับแรกคือ ไม่ควรมีรสชาติ ไม่มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ไม่หลอมเหลวระหว่างเก็บ ไม่พองตัวหรือมีหยดน้ำเกาะที่ตัวผลิตภัณฑ์ และควรเป็นลิปสติกที่มีฉลากภาษาไทยกำกับ โดยให้มีรายละเอียดตามประกาศของ อย. ดังนี้ 1. ชื่อสินค้า 2. ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง 3. สารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง เรียงลำดับตามปริมาณของสารจากมากไปหาน้อย 4. วิธีใช้เครื่องสำอาง 5. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต 6. ชื่อและที่ตั้งของผู้นำเข้า และชื่อผู้ผลิตและประเทศที่ผลิต กรณีเป็นเครื่องสำอางนำเข้า 7. ปริมาณสุทธิ 8. เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต 9. เดือน ปีที่ผลิต และ 10. เดือน ปีที่หมดอายุ ทั้งนี้หากฉลากมีพื้นที่น้อยกว่า 20 ตารางเซนติเมตร ให้แสดงเฉพาะชื่อสินค้าและเลขที่แสดงครั้งที่ผลิตก็ได้ เพราะหากเราซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลากภาษาไทยกำกับ ก็อาจมีส่วนผสมของสารห้ามใช้ในลิปสติก เช่น ปรอท ตะกั่ว ซึ่งส่งผลอันตรายต่อผู้ใช้ นอกจากนี้ก็อาจทดสอบการแพ้ในเบื้องต้น ด้วยวิธีพื้นฐานอย่างการทาลงในบริเวณที่บอบบางอย่าง ใต้ท้องแขนหรือข้อพับแขน เพื่อดูว่ามีผดผื่นหรืออาการแพ้อื่นๆ เกิดขึ้นหรือไม่  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 ปากของเรา อย่าให้ของเสี่ยง เข้ามา

สิงหาคม 2552 มีข่าวเศร้าทางหน้าสื่อมวลชน เด็กนักเรียนหญิง ม.5 จากสถานศึกษาแห่งหนึ่ง ในจังหวัดขอนแก่น ขอเงินแม่ 2 พันบาท เข้าคลินิกเสริมความงามใส่เหล็กดัดฟันแฟชั่น กลับมาไม่กี่วันปวดฟันจนเหงือกบวม สุดท้ายทนไม่ไหวต้องนำส่งโรงพยาบาล ตรวจพบเป็นโรคหัวใจ – ไทรอยด์ติดเชื้อ และเสียชีวิตในสามวันต่อมา การใส่เหล็กดัดฟันที่วัยรุ่นนิยมกันมากจนเกิดเป็นแฟชั่นหลากหลายนั้น ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ หรือใครก็ทำให้ได้ เราต้องให้ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำเท่านั้น และเหล็กที่ใส่จะต้องเป็นเหล็กสเตนเลสสตีลหรือเหล็กที่ใส่แล้วไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย และการจัดฟันหรือใส่เหล็กดัดฟันนั้นจะไม่สามารถใส่ได้ทันที ทันตแพทย์จะต้องตรวจสุขภาพของผู้จัดฟันให้ละเอียดเสียก่อนถึงสามารถใส่ได้ แต่การไปใส่เหล็กดัดฟันแฟชั่นจากผู้ที่ไม่มีความรู้หรือไม่ใช่ทันตแพทย์ที่ได้รับอนุญาต จะมีอันตรายทั้งจากวัสดุที่ใช้ทำลวดดัดฟัน ซึ่งจะเป็นลวดราคาถูก ไม่ใช่ลวดที่ใช้ทางการแพทย์ จึงอาจเป็นสนิมและมีสารปนเปื้อนที่เป็นโลหะหนักต่างๆ เช่น ตะกั่ว พลวง ซีลีเนียม โครเมียม สารหนู สีสังเคราะห์ นอกจากนี้พบว่าผู้ให้บริการบางรายใช้กาวช้างหรือกาวทั่วไปในการยึดติดซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ผู้ให้บริการจัดฟันแฟชั่นเหล่านี้จะไม่มีความรู้ด้านทันตกรรม การจัดฟันจึงมักใช้กรดกัดฟันหรือกรอเคลือบฟันที่ดีๆ ออกไป จนทำให้ซี่ฟันเคลื่อนไปจากเดิมจนฟันตาย หากการใส่ลวดดัดฟันยึดไม่แน่นพอจะทำให้ลวดมีโอกาสหลุดลงคอ และอาจบาดช่องปากจนเกิดแผลติดเชื้อในเลือดจนเสียชีวิตได้  นอกจากนี้หากเครื่องมือเครื่องใช้ในการจัดฟันมีคุณภาพต่ำก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดสนิม และหากฆ่าเชื้อโรคเครื่องมือไม่หมดจะทำให้ติดเชื้ออันตราย เช่น ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค คอตีบ ไวรัสตับอักเสบชนิดบี ฯลฯ จนอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด ตามที่เป็นข่าว แม้หน่วยงานสาธารณสุขจะพยายามติดตามดูแล ไม่ให้มีผู้ลักลอบจัดฟันด้วยลวดดัดฟันแฟชั่นที่อันตราย แต่ผู้ประกอบการก็หาทางออกหลบหลีกไปเรื่อยๆ ล่าสุด มีพลเมืองดีแจ้งเตือนภัยให้ทราบว่ามีการจำหน่ายชุดเซ็ตจัดฟันเองที่บ้านและชุดอุปกรณ์จัดฟันทุกชนิด มีการหลอกลวงอ้างว่า ใช้อุปกรณ์จัดฟันเกรดดี ปลอดภัย เทียบเท่ากับคลินิกทันตกรรม มีให้เลือกทั้งแบบติดแน่น และแบบถอดได้หรือรีเทนเนอร์ (ซึ่งมีทั้งแบบ ลวดเส้นเดียว ลวดสี แบบติดเม็ด) นอกจากนี้ยังอ้างว่าไม่มีผลกระทบกับฟัน  แถมมีวิธีติดพร้อมภาพประกอบอย่างละเอียด พร้อมส่งจำหน่ายให้กับเด็กวัยรุ่นที่หลงเชื่อ ขอแจ้งเตือนผู้ปกครองตลอดจนอาจารย์โรงเรียนทุกแห่ง ให้ช่วยกันสอดส่องดูแลเด็กนักเรียนด้วย หากพบว่าเด็กวัยรุ่นไปจัดฟันแฟชั่นที่อันตราย ขอให้รีบพาไปโรงพยาบาลเพื่อถอดเหล็กดัดฟันได้โดยด่วน และหากพบเบาะแสการจัดฟันแฟชั่น หรือมีการเชิญชวนไปรับบริการดังกล่าว ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดทราบ เพื่อช่วยเด็กๆ วัยรุ่นให้ปลอดภัยจากอันตรายนะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 กานพลู ครบเครื่องเรื่องปากและฟัน

กานพลู เป็นชื่อของเครื่องเทศระดับเอบวก เป็นพืชประจำถิ่นเขตร้อนชื้นของเอเชียที่สร้างมูลค่ามหาศาลในตลาดโลกตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ในภาษาฝรั่งเรียก กานพลู ว่า clove รากศัพท์คำว่า clove มาจากภาษาละตินคำว่า clavus หมายถึงเล็บ ที่เรียกเช่นนั้นคงเพราะส่วนที่กานพลูถูกนำมาใช้ประโยชน์คือ ดอกตูมแห้ง ที่มีลักษณะคล้ายเล็บ ดอกแห้งมีสีน้ำตาลเข้ม กลิ่นหอมและรสเผ็ดร้อน เมื่อใช้เป็นเครื่องเทศ จะใช้เพื่อให้กลิ่นในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ซอส ซุป เครื่องแกง ผักดอง หรือเป็นส่วนผสมของเครื่องพะโล้ ใช้แต่งกลิ่นลูกกวาด ขนมเค้ก หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และยังนิยมแต่งกลิ่นอาหารกระป๋องและเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก แฮม เรื่องอาหารก็ว่ากันไป แต่สรรพคุณในทางยา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอนามัยในช่องปากต้องยกให้ กานพลูว่า ครบเครื่อง หากที่บ้านมีปลูกไว้สักต้นก็นับว่าคุ้ม หรือมีกานพลูแห้ง ซึ่งหาซื้อได้จากร้านยาจีนทั่วไปเก็บไว้บ้าง ก็ใช้แก้ไขปัญหาเรื่องปากแบบเร่งด่วนได้หลายประการ เมื่อประมาณ 200 กว่าปีก่อนคริสต์ศักราช ฮ่องเต้จีนจะใช้ดอกกานพลูอมเพื่อดับกลิ่นปาก และเมื่อกานพลูเข้ามาเผยแพร่ในยุโรปกานพลูก็จัดเป็นยาแก้ปวดฟัน ราวศตวรรษที่ 19 นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา สามารถกลั่นน้ำมันจากกานพลูได้ เรียกกันว่า clove oil ซึ่งถูกนำมาใช้ รักษาโรคเหงือกและใช้แก้ปวดฟัน ต่อมาน้ำมันกานพลู ก็เป็นที่แพร่หลาย ถ้าไปพลิกๆ ดูฉลากยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปาก บางทีจะเจอ clove oil เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญอยู่ในผลิตภัณฑ์ การใช้กานพลูรักษาอาการปวดฟัน แบบง่ายๆ คือ กลั่นเอาน้ำมันจากดอกกานพลูใส่ฟัน หรือใช้ทั้งดอกเคี้ยวแล้วอมไว้ตรงบริเวณฟันที่ปวด เพื่อระงับอาการปวดฟัน หรือนำดอกกานพลูตำพอแหลก ผสมกับเหล้าขาวเพียงเล็กน้อยพอแฉะ ใช้สำลีจิ้มอุดฟันที่ปวด เพื่อระงับอาการชั่วคราว ก่อนไปพบทันตแพทย์ ถ้าจะใช้เพื่อดับกลิ่นปาก ให้อมดอกตูมไว้สัก 1 นาทีจะช่วยลดกลิ่นปากลงได้ กานพลูน้ำมันหอมระเหยสูงมาก หลักๆ คือ ยูจีนอล (eugenol) ซึ่งมีฤทธิ์ขับลมและแก้ท้องเสีย ใช้ดอกตูมแห้งของกานพลู 5 - 8 ดอก ชงน้ำเดือดดื่มเฉพาะส่วนน้ำเพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ท้องอืดเฟ้อได้ ข้อห้ามสำหรับการใช้กานพลู ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ไวคือ ห้ามในหญิงมีครรภ์  หญิงให้นมบุตร  เด็กเล็ก  ผู้ป่วยโรคตับไตและผู้ป่วยเบาหวาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 น้ำยาบ้วนปาก ตอน 2

ที่ผ่านมาตลาดน้ำยาบ้วนปากมีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยมีแบรนด์หรือผู้ผลิตอยู่ไม่กี่ราย แต่มีผลิตภัณฑ์ออกมาหลากหลายชนิดมากจนสร้างความสับสนให้ผู้บริโภค ที่ไม่รู้ว่าจะเลือกใช้อะไรดี ฉลาดซื้อจึงอาสาพาไปสำรวจตลาดน้ำยาบ้วนปากเพื่อไว้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ จากการสำรวจตลาดทั่วไปจากห้างค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อ ฉลาดซื้อพบผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากหลากหลายมาก ซึ่งแบ่งประเภทออกมาได้ห้ากลุ่ม ดังนี้ 1) กลุ่มที่ช่วยกลบกลิ่นและสร้างความสดชื่นในช่องปากด้วยน้ำมันหอมระเหย  2) กลุ่มที่ผสมสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ร่วมกับฟลูออไรด์  ซึ่งได้นำเสนอไปในฉบับที่แล้ว คราวนี้เรามาต่อกันในกลุ่มที่เหลือ ได้แก่ กลุ่มที่ผสมสารเพื่อลดปัญหาในช่องปากบางประการ เช่น ลดการเสียวฟัน ลดคราบหินปูน(ฟันขาว)  กลุ่มสำหรับเด็ก และ กลุ่มครอบจักรวาล คือรวมกลุ่ม 1 – 3 ไว้ในขวดเดียวกัน   กลุ่มที่ผสมสารเพื่อลดปัญหาในช่องปากบางประการ เช่น เสียวฟัน ลดคราบหินปูน(ฟันขาว) ในการสำรวจพบว่า น้ำยาบ้วนปากในกลุ่มที่ลดอาการเสียวฟัน จะใช้สาร Potassium Nitrate เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ ร่วมกับการใช้สารฆ่าเชื้อ ซึ่งช่วยบรรเทาอาการเสียวฟันได้ แต่ไม่ควรเพิกเฉยต่ออาการเสียวฟันซึ่งส่อให้เห็นว่าสุขภาพฟันกำลังมีปัญหา ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรักษาที่ต้นเหตุด้วย ส่วนกลุ่มที่ลดคราบหินปูน และช่วยลดคราบต่างๆ ที่มาติดฟันจนดูเหมือนว่าช่วยทำให้ฟันขาวขึ้น นิยมใช้ สาร Zinc Chloride,  Zinc Lactate หรือ Zinc Citrate เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ได้แก่ นิยมใช้ สาร Zinc Chloride, Zinc  Lactate หรือ Zinc Citrate เป็นสาร ออกฤทธิ์สำคัญผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ได้แก่   กลุ่มน้ำยาบ้วนปากสำหรับเด็ก กลุ่มนี้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันฟันผุสำหรับเด็ก สารออกฤทธิ์ตัวสำคัญจึงเป็น สารฟลูออไรด์ ซึ่งจะไม่มีสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ และไม่มีแอลกอฮอล์ผสม และเนื่องจากผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดปัจจุบันแทบไม่มีที่ผสมแต่เพียงฟลูออไรด์อย่างเดียวโดยไม่ผสมสารฆ่าเชื้อร่วมด้วย ดังนั้นหากไม่ต้องการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ต้องการแต่ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุอย่างเดียว ก็สามารถเลือกใช้น้ำยาบ้วนปากในกลุ่มสำหรับเด็กได้ ห้ามใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี และสำหรับเด็กที่ฟันผุมาก ผู้ปกครองอาจเสริมด้วยน้ำยาบ้วนปากสำหรับเด็กหลังการแปรงฟันได้ แต่ถ้าเด็กได้รับการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างดีแล้ว น้ำยาบ้วนปากก็ไม่จำเป็น ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ได้แก่ กลุ่มครอบจักรวาล(Total care) กลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า โทเทิล แคร์ คือดูแลหมดทุกสิ่งอย่าง ทั้งฆ่าเชื้อ ทำให้ปากสดชื่น ป้องกันฟันผุ ลดคราบหินปูน และลดเสียวฟัน ซึ่งไม่จำเป็นเท่าไหร่ ควรเลือกใช้ให้ตรงตามความต้องการดีกว่า ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ได้แก่ --------------------------------------------------------------------------------------------------   ที่มาของน้ำยาบ้วนปาก จากหนังสือพิมพ์ Periodontology 2000 กล่าวไว้ว่าน้ำยาบ้วนปากตัวแรกเกิดขึ้นที่ประเทศจีนประมาณ 2,700 ปีก่อนคริสตกาล ในยุคนั้นการรักษาปัญหากลิ่นปากเรื้อรังที่เกิดจากโรคเหงือกอักเสบ แพทย์ได้แนะนำให้กลั้วปากด้วยปัสสาวะเด็ก ที่กรีก ฮิปโปเครติส บิดาแห่งการแพทย์ แนะนำให้กลั้วปากด้วยส่วนผสมของเกลือ สารส้มและน้ำส้มสายชู ในคู่มือทันตกรรมที่มีชื่อเสียง ซึ่งตีพิมพ์ในประเทศเยอรมนีในปี ค.ศ. 1530 ได้เขียนถึงสิ่งที่ทำงานใกล้เคียงกับน้ำยาบ้วนปากในปัจจุบัน โดยระบุว่า “หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ให้กลั้วปากด้วยไวน์หรือเบียร์เพื่อชะล้างสิ่งที่ติดฟันและทำให้ฟันผุ ผลิตกลิ่นเหม็นและทำลายฟัน” ย้อนไปปี ค.ศ. 1895 เมื่อ Joseph and Jordan Lambert นำของเหลวที่ช่วยกำจัดเชื้อโรคที่นำมาจากการผ่าตัดและไปผลิตเป็นน้ำยาบ้วนปาก การผสมผสานของ thymol, menthol, eucalyptol และ methyl salicylate จึงเกิดขึ้น นักธุรกิจคู่นี้ใช้ชื่อน้ำยาบ้วนปากว่า Listerine  และขายให้แก่ทันตแพทย์ในปีนั้นเอง “Listerine ถูกผลิตขึ้นในศตวรรษที่ 19 เพื่อฆ่าเชื้อโรค มันถูกกลั่นออกมาในรูปแบบของน้ำยาทำความสะอาดพื้นและรักษาโรคหนองใน” ที่มา  http://therabreaththailand.com/article10.php   --------------------------------------------------------------------------------------------------  แอลกอฮอล์ในน้ำยาบ้วนปาก เคยมีผู้สงสัยว่าน้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งในช่องปากหรือไม่ เพราะโรคมะเร็งในช่องปากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การสูบบุหรี่ รองลงมาคือ การดื่มแอลกอฮอล์มากๆ  ณ ปัจจุบันผลการวิจัยที่ออกมายังไม่สามารถฟันธงได้ เพราะผลการวิจัยก็มีทั้งที่ระบุว่าอาจเป็นปัจจัยเสี่ยง และระบุว่าไม่เป็นปัจจัยเสี่ยง ในประเทศไทยจึงยังไม่มีการสรุปในเรื่องนี้ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องประชุมกันได้มีข้อแนะนำว่าสำหรับคนที่สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปากอยู่แล้ว ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์ผสม  --------------------------------------------------------------------------------------------------   ประสิทธิภาพในการลดกลิ่นปาก จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า ประสิทธิภาพของน้ำยาบ้วนปากจะช่วยลดกลิ่นปากได้ชั่วคราว โดยจะควบคุมกลิ่นปากได้ประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้น ไม่ใช่ใช้ตอนเช้าควบคุมได้ไปจนถึงเย็น เพราะฉะนั้นอาจใช้น้ำยาบ้วนปากได้เป็นครั้งคราวกรณีที่ต้องการความมั่นใจ แต่ถ้าจะใช้เพื่อระงับกลิ่นปาก ป้องกันไม่ให้มีกลิ่นปาก ควรที่จะป้องกันด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การทำความสะอาดลิ้น เพราะฝ้าขาวบนลิ้นเป็นสาเหตุสำคัญของกลิ่นปาก ขณะเดียวกันควรใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันทุกวัน ถ้ามีกลิ่นปากก็ต้องหาสาเหตุว่ามาจากตรงไหน เช่น ฟันผุ เป็นโรคเหงือก โรคระบบทางเดินอาหาร ทอนซิลอักเสบ หรือ ไซนัส ก็ควรแก้ที่ต้นเหตุจะดีกว่า เพราะน้ำยาบ้วนปากแค่ระงับกลิ่นปากชั่วคราวแต่ไม่ได้แก้ที่สาเหตุของการเกิดกลิ่นปาก   น้ำยาบ้วนปากกับเด็ก เด็กไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำยาบ้วนปาก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากเลยทุกประเภท ไม่ว่าจะมีแอลกอฮอล์หรือไม่มีแอลกอฮอล์ เพราะการควบคุมการกลืนยังไม่ดี ขณะที่บ้วนปากเด็กอาจกลืนกินน้ำยาบ้วนปากลงไปด้วย น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์ผสมจึงมีคำเตือนห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ความจริงน้ำยาบ้วนปากของเด็กมักจะใช้ชนิดที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ โดยผู้ปกครองจะซื้อให้เด็กใช้ในกรณีที่ลูกฟันผุมาก ๆ แต่อยากจะบอกว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้หากให้เด็กแปรงฟันให้สะอาด ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์   ข้อมูลจาก ทันตแพทย์หญิงนนทินี ตั้งเจริญดี ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านทันตสุขภาพ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่มา http://202.183.204.137/km/?p=558

อ่านเพิ่มเติม >