ฉบับที่ 249 หมวกนิรภัยสำหรับนักปั่น

        ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเอาใจทั้งสายเขียวและสายสปอร์ต ด้วยผลทดสอบ “ประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายต่อศีรษะ” ของหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้จักรยาน         คุณอาจสงสัย ... จะทดสอบไปทำไม สินค้าแบบนี้ต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยก่อน จึงจะวางขายในตลาดได้ ไม่ใช่หรือ         คุณเข้าใจถูกต้องแล้ว หมวกนิรภัยทั้งหมดที่เรานำมาทดสอบนั้นผ่านมาตรฐานที่มีในปัจจุบัน เพียงแต่มาตรฐานดังกล่าวกำกับเฉพาะการลดแรงกระแทกกับพื้นในแนวตั้งฉาก และเกณฑ์ที่ให้ “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน ก็วัดจากประสิทธิภาพในการป้องกัน “การบาดเจ็บรุนแรงต่อศีรษะ” เท่านั้น         องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ซึ่งประกอบด้วยองค์กรสมาชิกที่เป็นองค์กรผู้บริโภคจากประเทศต่างๆ) จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสตราสบวร์ก ประเทศฝรั่งเศส และ Certimoov องค์กรที่รณรงค์เรื่องความปลอดภัยของหมวกนิรภัยจักรยาน ทำการทดสอบครั้งนี้ขึ้นตามวิธีทดสอบที่พัฒนาให้สอดคล้องกับลักษณะการเกิดอุบัติเหตุของคนขี่จักรยานมากขึ้น เช่น เวลาที่ถูกรถยนต์ชนแล้วตัวลอยขึ้นไปจนศีรษะกระแทกกับกระจกหน้ารถ เป็นต้น         ในการทดสอบครั้งนี้นอกจากจะวัดประสิทธิภาพการป้องกันการบาดเจ็บเมื่อศีรษะกระแทกในแนวตั้งฉาก (ด้านหน้า/ด้านหลัง/ด้านข้าง) แล้ว ยังทดสอบการกระแทกกับพื้นเอียง 45 องศา (ด้านหน้า/ด้านหลัง/ด้านข้าง) อีกด้วย ทั้งหมดเป็นการทดสอบด้วยเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ และเก็บข้อมูลด้วยเซนเซอร์ในหัวหุ่นยนต์ทดสอบ         นอกจากนี้ยังเพิ่มเกณฑ์ที่อ้างอิงงานวิจัยด้านชีวกลศาสตร์ รวมถึงนำ “อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ” หรือ “อาการโคม่าในระยะสั้น” มาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำข้อเสนอในการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย และเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น         จากหมวกนิรภัยที่เปิดตัวในปี 2021 จำนวน 27 รุ่น ที่นำมาทดสอบ เราพบว่ากลุ่มที่ดีที่สุดได้ไป 70 คะแนนจากคะแนนเต็มร้อย ในขณะที่กลุ่มที่ได้คะแนนน้อยที่สุดนั้นได้ไป 80 คะแนน สนนราคาก็มีให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ 1,100 บาท ไปจนถึง 6,700 บาท        ข่าวดีคือหมวกนิรภัยประสิทธิภาพดีในราคาไม่เกิน 2,000 บาทนั้นมีอยู่จริง และเรายังได้ข้อสรุปเช่นเคยว่าของแพงไม่จำเป็นต้องดี และของดีไม่จำเป็นต้องแพง แต่หากของชิ้นไหนถูกมากก็อย่าเพิ่งวางใจ ว่าแล้วก็พลิกไปดูผลการทดสอบกันเลย        · ขอย้ำว่าการจัดอันดับครั้งนี้เป็นเรื่อง “ความปลอดภัย” ล้วนๆ  เรื่องความสวยงามหรือความรู้สึกสบายเวลาสวมใส่ ต้องแล้วแต่ความพึงพอใจของผู้ใช้ สิ่งสำคัญคือการทดลองสวมก่อนตัดสินใจ และราคาที่เราแจ้งเป็นราคาที่องค์กรสมาชิกในยุโรปซื้อจากร้านทั่วไปเป็นหน่วยเงินยูโร ที่เราแปลงมาเป็นหน่วยเงินบาท ก่อนซื้อโปรดตรวจสอบอีกครั้งเช่นกัน  ---------- กฎหมายว่าด้วยการสวมหมวกนิรภัย        ปัจจุบันมีเพียงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เท่านั้นที่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ที่ขับขี่จักรยาน (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) สวมหมวกนิรภัย ในขณะที่กฎหมายประเทศมอลต้าใช้บังคับกับผู้ใหญ่เท่านั้น ส่วนสวีเดน สโลเวเนีย และสาธารณรัฐเช็ก นั้นบังคับเฉพาะในกลุ่มเด็ก บางประเทศอย่างสเปนบังคับการสวมหมวกเมื่อขับขี่จักรยานในเขตเมือง แต่ยกเว้นให้กรณีที่ถีบขึ้นเขา         บางประเทศอย่างเนเธอร์แลนด์ก็มีจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่มีการ “บังคับสวมหมวก” เนื่องจากรัฐบาลต้องการส่งเสริมการใช้จักรยาน การรณรงค์ให้คนสวมหมวกนิรภัยนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้คนรู้สึกว่าการใช้จักรยานเป็นเรื่องอันตราย และไม่อยากใช้จักรยาน         ในออสเตรเลียก็มีกลุ่ม Bicycle Network ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายบังคับสวมหมวก โดยอาจมีช่วงทดลอง 5 ปี ให้บุคคลอายุเกิน 17 ปีสามารถเลือกได้ว่าจะสวมหมวกนิรภัยหรือไม่ และรัฐจะต้องใส่ใจลด “ตัวอันตราย” ที่แท้จริงสำหรับนักปั่น ซึ่งพวกเขาบอกว่ามันคือรถยนต์นั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 246 กระแสต่างแดน

ขอร้องอย่าทิ้งกัน        แอนนา แซคส์ หรือ “TheTrashWalker” ผู้โด่งดังจากการทำคลิปแฉพฤติกรรม “ชอบทิ้ง” ของชาวนิวยอร์ก  ออกมาเรียกร้องให้ผู้คนนึกถึงการ “บริจาค” ก่อนจะ “ทิ้ง” ของกินของใช้สภาพดีลงถังไปเฉยๆ         เรื่องนี้ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าแอนนาและผู้คนเป็นล้านที่ติดตามเธอ สิ่งที่เธอทำสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง คือการออกไปรื้อถังขยะตามครัวเรือน ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อหาของที่ไม่ควรถูกทิ้ง เธอได้อาหารกระป๋อง เครื่องสำอาง ถ้วยชามเซรามิก หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ ติดไม้ติดมือกลับบ้านเป็นประจำ         เธอพบว่าบางครั้งผู้ประกอบการก็จงใจทำลายของที่เลยวัน “ควรใช้/บริโภคก่อน”  เช่น บีบยาสีฟันทิ้งไปบางส่วน หรือฉีกถุงขนมให้ดูมีตำหนิ จะได้นำมาทิ้งเป็นขยะ         หลายเจ้าก็ไม่ทำอย่างที่พูด จากการรื้อค้นถังขยะของสตาร์บัคส์ 5 สาขาในแมนฮัตตัน เธอพบว่าบริษัทไม่ได้นำอาหารที่ขายไม่หมดไปบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการ อย่างที่เคยให้คำมั่นไว้เมื่อปี 2016 “คิมบับ” เป็นพิษ        ผู้เสียหาย 130 กว่ารายรวมตัวกันฟ้องร้องแฟรนไชส์ร้านข้าวปั้นห่อสาหร่ายแห่งหนึ่งในกรุงโซล หลังมีอาการอาหารเป็นพิษจากการกินข้าวปั้นที่ซื้อจากสาขาของทางร้านในเขตบันดัง ระหว่าง 29 กรกฎาคม – 2 สิงหาคมที่ผ่านมา จากผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด 276 ราย มี 40 รายที่ต้องเข้าโรงพยาบาล         กรณีเดียวกันนี้ยังเกิดกับร้านคิมบับเจ้าอื่นในเขตพาจูและโกยาง คราวนี้มีหญิงวัย 20 กว่าเสียชีวิตด้วย         สาเหตุหนึ่งมาจากการปนเปื้อนของแบคทีเรียซัลโมเนลลา ซึ่งเติบโตได้ดีในอุณหภูมิช่วงหน้าร้อนของเกาหลีที่ 37 องศาเซลเซียส         อีกส่วนหนึ่งมากจากการที่ร้านอาหารเหล่านี้ว่างเว้นจากการถูกสุ่มตรวจสอบ เพราะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขถูกระดมไปทำหน้าที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19         อย่างไรก็ตามหลังเกิดเหตุดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งให้มีการตรวจสอบร้านคิมบับทุกร้านแล้ว   โอลิมปิกเดือด        อุปสรรคของโตเกียวโอลิมปิกที่ผ่านไปหมาดๆ นอกจากไวรัส ก็คืออุณหภูมิในแต่ละวันที่เฉลี่ยประมาณ 28 องศาเซลเซียส โค่นแชมป์เก่าอย่างเอเธนส์ ในปี 2004 ลงไปได้สบายๆ         หน้าร้อนของโตเกียวเริ่มไม่ธรรมดา เมื่อสามปีก่อนก็เคยร้อนถึง 40 องศา และยังเกิดคลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตผู้คนไปไม่ต่ำกว่า 1,000 คน         หากเปรียบเทียบกับสถิติเมื่อ 120 ปีก่อน จะพบว่าโตเกียวร้อนขึ้นถึง 3 องศา (สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกเกือบสามเท่า)         แต่ที่เขาไม่เลื่อนการแข่งขันออกไปเป็นเดือนตุลาคมที่อากาศเย็นสบายกว่านี้ ก็เพราะช่วง “เวลาทอง” ของการถ่ายทอดโอลิมปิกมันอยู่ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ที่พอจะหาสปอนเซอร์มาสนับสนุนการถ่ายทอดสดได้         หากเลยช่วงนี้ไป ผู้คนทางฝั่งยุโรปก็จะสนใจแต่ฟุตบอล ในขณะที่อเมริกาก็เตรียมเปิดฤดูกาลของอเมริกันฟุตบอลเช่นกัน เปลี่ยนใจไม่แบน        แม้จะคัดค้านการเปิดคาสิโนอย่างชัดเจนมาตลอด ในที่สุดประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ของฟิลิปปินส์ ก็ยอมให้เปิดคาสิโนบนเกาะโบราไกย์ โดยหวังว่าจะมีรายได้จากภาษีมาใช้รับมือกับวิกฤติโควิด         แต่ชาวบ้านและผู้ประกอบการรีสอร์ทบนเกาะไม่เห็นด้วย พวกเขาตั้งใจจะพัฒนาโบราไกย์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับครอบครัว และถึงจะไม่มีคาสิโน เกาะของพวกเขาก็สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านเปโซ (38.7 ล้านบาท) อยู่แล้ว         นักอนุรักษ์ก็ไม่ปลื้ม เขาประเมินไว้ในปี 2018 ว่าโบราไกย์ซึ่งมีพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร มีศักยภาพรองรับคนได้ 54,945 คน (คนท้องถิ่น/คนที่เข้ามาทำงาน 35,730 คน และนักท่องเที่ยว 19,215 คน)         พวกเขายังตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลอุตส่าห์ปิดเกาะ 6 เดือน และยอมสูญรายได้หลายพันล้านเปโซ ในปี 2018 เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวจากมลภาวะที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่กลับอนุญาตให้เปิดคาสิโนที่จะมีผู้คนเข้ามาเพิ่มอีกวันละประมาณ 4,000 คน ซึ่งเลยจุดที่เกาะนี้จะรองรับได้อย่างยั่งยืน กาแฟจะมาไหม?        เวียดนามเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก ร้อยละ 20 ของกาแฟที่สหภาพยุโรปนำเข้าก็เป็นกาแฟจากเวียดนาม         ปีที่แล้วเวียดนามสามารถสามารถควบคุมโรคระบาดได้ดี และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก แต่ปีนี้เหตุการณ์เปลี่ยนไปเมื่อเวียดนามต้องเผชิญกับวิกฤติโควิดระลอกใหม่         ด้วยการระบาดที่รุนแรง ที่ราบสูงตอนกลางของประเทศซึ่งเป็นแหล่งปลูกกาแฟจึงต้องอยู่ภายใต้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด การเก็บเกี่ยวย่อมไม่สามารถเป็นไปตามปกติ         ในขณะที่โฮจิมินห์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ก็อยู่ในสภาวะถูกล็อคดาวน์ การขนส่งเมล็ดกาแฟไปยังท่าเรือจึงติดขัด เท่านั้นยังไม่พอ อีกปัญหาที่ผู้ส่งออกทั่วโลกต้องเจอคือการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าธรรมเนียมการขนส่งที่แพงขึ้น         ด้านผู้ส่งออกอันดับหนึ่งอย่างบราซิลก็กำลังประสบภาวะแล้ง ซึ่งอาจทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงเช่นกัน    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 เครื่องปั่นอเนกประสงค์

        ฉลาดซื้อฉบับนี้มีภาคต่อของผลทดสอบเครื่องปั่นผสมอาหารและเครื่องดื่มมาฝากคุณอีกแล้ว คาวนี้มีให้เลือก 15 รุ่น (กำลังไฟตั้งแต่ 300 ถึง 1800 วัตต์) ที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้แก่ Consumentenbond จากเนเธอร์แลนด์ และ OCU-Ediciones จากสเปน ได้ร่วมกันทำไว้ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา               เกณฑ์การให้คะแนนยังเป็นเช่นเดิมคือ คะแนนรวม 100 คะแนน ประกอบด้วยคะแนนประสิทธิภาพในการทำสมูตตี้ผักและผลไม้ บดน้ำแข็ง และเตรียมอาหารเหลว (50 คะแนน) ความสะดวกในการใช้งาน (30 คะแนน) การทำงานโดยไม่ส่งเสียงดังเกินไป (10 คะแนน) และความแข็งแรงทนทาน (10 คะแนน)         ทีมทดสอบพบว่าไม่มีรุ่นไหนได้คะแนนรวมถึง 70 คะแนน เครื่องปั่น KitchenAid ( ราคา 799-12,900 บาท ) ที่ได้คะแนนดีที่สุดในกลุ่ม ก็ได้ไปเพียง 68 คะแนน เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีหลายรุ่นที่ “สอบตก” เพราะได้ต่ำกว่า 50 คะแนน         พลิกไปดูกันเลยว่าควรซื้อหารุ่นไหนมาไว้ใช้งานในวันที่อยู่บ้านฝึกฝนการเป็นเชฟมือใหม่กันได้เลย          ทั้งนี้ทีมได้ทดสอบเปรียบเทียบการประหยัดพลังงาน แต่ไม่ได้นำมาประมวลผลในการให้คะแนนรวม ส่วนเรื่องความปลอดภัยนั้นทุกได้คะแนนในระดับ 5 ดาว จึงไม่ได้นำมาประมวลผลเช่นกัน         หมายเหตุ        -          การทดสอบดังกล่าวมีค่าใช้จ่าย 400 – 500 ยูโร (ประมาณ13,500 ถึง 17,000 บาท) ต่อหนึ่งตัวอย่าง         -          ราคาที่แจ้งเป็นราคาที่พบออนไลน์ และอาจเป็นการแปลงจากหน่วยเงินต่างประเทศ โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ         -          สามารถติดตามผลการทดสอบเครื่องปั่นครั้งก่อนหน้าได้ที่ ฉลาดซื้อ ฉบับ 227

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 227 เครื่องปั่นผสมอาหาร/เครื่องดื่ม

        สายสุขภาพเชิญทางนี้ ฉลาดซื้อมีผลทดสอบเครื่องปั่นผสมอาหารและเครื่องดื่มมาให้คุณได้เลือกกันถึง 20 รุ่น (กำลังไฟตั้งแต่ 300 ถึง 2000 วัตต์) ที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ร่วมกันทำไว้ด้วยต้นทุนทดสอบ 400 – 500 ยูโร (ประมาณ13,500 ถึง 17,000 บาท) ต่อหนึ่งตัวอย่าง         คะแนนรวม 100 คะแนน คิดจากประสิทธิภาพ (50 คะแนน) ความสะดวกในการใช้งาน (30 คะแนน) การทำงานโดยไม่ส่งเสียงดังเกินไป (10 คะแนน) และความแข็งแรงทนทาน (10 คะแนน) ส่วนการทดสอบด้านการประหยัดพลังงานนั้น ทีมทดสอบให้คะแนนไว้แต่ไม่ได้นำมาประมวลผลด้วย          เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ความปลอดภัยของทุกรุ่นจะอยู่ในระดับ 5 ดาว แต่ในแง่ประสิทธิภาพและการใช้งานซึ่งวัดจากการทำสมูตตี้ผักและผลไม้ บดน้ำแข็ง และเตรียมอาหารเหลว ทีมทดสอบพบว่าไม่มีรุ่นไหนได้คะแนนถึง 70 ทั้งนี้รุ่นที่ได้คะแนนดีที่สุดในกลุ่มคือ Princess ไฮสปีด เดอลุกซ์เบลนเดอร์ (ราคา 2,760 บาท) และเช่นเคย รุ่นที่แพงที่สุดไม่ใช่รุ่นที่ดีที่สุด เราพบว่าหลายรุ่นที่ราคาแพงมีประสิทธิภาพด้อยกว่ารุ่นที่ราคาปานกลางหรือราคาถูก อยากรู้ว่าเราหมายถึงยี่ห้อไหน พลิกหน้าถัดไปได้เลย·        หมายเหตุ ราคาที่แจ้งเป็นราคาที่แปลงจากหน่วยเงินยูโรที่เพื่อนสมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ซื้อจากร้านค้าในประเทศตนเอง โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 193 It’s smoothie time!

อุณหภูมิขนาดนี้คงไม่มีอะไรดีไปกว่าเครื่องดื่มเย็นๆ จากผักหรือผลไม้ ที่ดื่มแล้วชื่นใจแถมได้วิตามิน ฉลาดซื้อฉบับรับร้อนขอนำเสนอผลการผลทดสอบเครื่องปั่น/ผสมอาหารที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ทำไว้มาฝากสมาชิก ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงของนำเสนอเพียง 18 รุ่น สนนราคาตั้งแต่ 850 ถึง 15,500 บาท* เครื่องปั่นเหล่านี้มีกำลังไฟระหว่าง 250 ถึง 1200w และทั้งหมดผลิตในประเทศจีน ยกเว้น Kitchen Aid และ Vitamix ที่ผลิตในอเมริกาคราวนี้เราวัดประสิทธิภาพของเครื่องปั่นแต่ละรุ่นในการ:   - ทำสมูตตี้ผักและผลไม้ (ส้ม แอปเปิ้ล แครอท โยเกิร์ต และนม)- บดน้ำแข็งก้อนสี่เหลี่ยม (10 ก้อน)- เตรียมอาหารเหลว (มันฝรั่ง แครอท และเนื้อวัวต้มสุก)โดยทีมงานจะทดสอบตามคำแนะนำในคู่มือของเครื่องปั่นรุ่นนั้นๆ วัดเวลาที่ใช้และให้คะแนนความละเอียดและเป็นเนื้อเดียวกันของส่วนผสม นอกจากนี้ยังให้คะแนนเรื่องความสะดวกในการใช้งาน การล้างทำความสะอาด เสียงรบกวนจากการใช้งาน และคุณภาพการประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการทดสอบครั้งนี้อยู่ที่ 9,755 ยูโร หรือประมาณ 365,000 บาท โดยไม่รวมค่าผลิตภัณฑ์  ฉลาดซื้อสามารถนำผลทดสอบมาเผยแพร่ได้เพราะเราเป็นสมาชิกขององค์กร International Consumer Research & Testing ที่จะให้ผลทดสอบกับองค์กรผู้บริโภคที่ไม่แสวงหากำไรเท่านั้น  หมายเหตุ: ราคานี้เป็นราคาในเดือนมีนาคม 2560 โปรดตรวจสอบกับทางร้านอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 171 ประสิทธิภาพเครื่องปั่นและเครื่องบดไฟฟ้า

เครื่องปั่นอาหาร หรือเบลนเดอร์ เป็นอุปกรณ์เครื่องครัวที่จำเป็นพอสมควร เพราะเป็นเครื่องทุ่นแรงชั้นดีของคุณแม่บ้าน พ่อบ้านที่ชมชอบการทำอาหาร  ด้วยความสามารถในการปั่นอาหารให้เป็นชิ้นเล็กละเอียด แทนการสับด้วยมีด ซึ่งต้องออกแรงมาก และใช้ทำน้ำผลไม้ปั่น (ปั่นรวมกับน้ำแข็ง) หรือสมูทตี้ได้อีกด้วย             ในตลาดบ้านเราก็มีผลิตภัณฑ์เครื่องปั่น เครื่องบดไฟฟ้า อยู่หลายยี่ห้อ ฉลาดซื้อจึงเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จำนวน 9 ตัวอย่าง ซึ่งเลือกซื้อจากห้างสรรพสินค้าและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ส่งให้เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ได้ทดสอบในเรื่องประสิทธิภาพ การปั่นและการบด จากผลการทดสอบมีรุ่นที่แนะนำอยู่สองตัว ติดตามได้ในหน้าถัดไป                         ฉลาดซื้อแนะ 1.      เครื่องปั่น Philips รุ่น HR 2115 และ 7 Otto รุ่น BE-126 ได้คะแนนการทดสอบรวม เกินครึ่ง คือ 12 คะแนน และ 11 คะแนนตามลำดับ (จากคะแนนเต็ม 20 คะแนน) 2.      จากการทดสอบการใช้งานของเครื่องปั่นและเครื่องบด สามารถสรุปได้ว่า เครื่องปั่นที่ผ่านการทดสอบ ทุกการทดสอบ คือ Otto รุ่น BE-126 เป็นเครื่องปั่นอเนกประสงค์ที่สามารถปั่นและบดได้ 3.      ในการปั่นน้ำผลไม้ ที่ต้องใช้น้ำแข็งก้อน แนะนำเครื่องปั่น Philips รุ่น HR 2115 4.      ในการใช้เครื่องปั่นและเครื่องบด นั้น โดยทั่วไป ในการปั่นผักผลไม้ และการบดเนื้อ ผู้บริโภคสามารถตัดหรือ ซอย ผัก ผลไม้ และเนื้อให้มีขนาดเล็กลงได้ ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการปั่นหรือบด เพิ่มขึ้น แน่นอนว่า ก็เป็นภาระที่ยุ่งยาก และเพิ่มขึ้นอีกด้วยเช่นกัน ยิ่งกำลังไฟฟ้า มีขนาดเล็กเท่าไหร่ ผู้บริโภคก็มีภาระในการ ตัดและ ซอย ให้มีขนาดเล็กลง เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ได้ความละเอียดในการปั่นและบดเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับ เครื่องปั่นที่มีกำลังไฟฟ้าสูงกว่า แต่อย่างไร ก็ตามจากผลการทดสอบจะเห็นว่า เครื่องปั่นที่มีกำลังสูงสุดในการทดสอบครั้งนี้ ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ประกันว่า ความสามารถในการปั่นและการบด จะสูงขึ้นตามกำลังไฟฟ้าที่ระบุไว้   ข้อสังเกต ผลการทดสอบปั่นน้ำแข็ง Philips รุ่น HR 2115 สามารถปั่นน้ำแข็งก้อน ได้ละเอียดมากที่สุด(คะแนน ดีมาก) รองลงมาคือ Electrolux รุ่น CRUZO Serie EBR 2601 SHARP รุ่น EM-ICE POWER และ Panasonic รุ่น  MX-900 M สามารถปั่นน้ำแข็งก้อน ได้ละเอียดมาก(คะแนน ดี) ส่วน Otto รุ่น BE-126 และ Tefal  รุ่น BL 233 สามารถปั่นน้ำแข็งก้อน ได้(คะแนน ผ่านการทดสอบ) สำหรับ HW รุ่น CH1  และ Tefal  รุ่น BL 3001 ไม่สามารถปั่นก้อนน้ำแข็งให้ละเอียดได้เลย และเป็นที่น่าสังเกตว่า กำลังไฟฟ้าของเครื่องปั่น HW รุ่น CH1  ที่มีกำลังสูงสุด คือ 750 วัตต์ ตามที่ระบุไว้นั้น ไม่ได้มีผลต่อความสามารถในการปั่นน้ำแข็ง เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องปั่นที่มีกำลังไฟฟ้าต่ำกว่า และหากพิจารณาถึงความดังของเครื่องปั่น ในการปั่นน้ำแข็ง จะเห็นว่า Philips AJ SHARP และ Panasonic   มีเสียงดังเกินกว่า 90 เดซิเบล ซึ่งเป็นระดับความดังที่ค่อนข้างสูง   ข้อสังเกต ผลการทดสอบปั่นแครอท การทดสอบนี้ ไม่มีเครื่องปั่นหมายเลขใดเลยที่สามารถปั่นแครอท ให้หมดชิ้นได้ ซึ่งคณะผู้ทดสอบจึงให้คะแนนเพียงแค่ผ่านการทดสอบหรือไม่ผ่านการทดสอบ เท่านั้น เครื่องปั่นที่ผ่านการทดสอบได้แก่ Philips รุ่น HR 2115  Electrolux รุ่น CRUZO Serie EBR 2601 HW รุ่น CH1   และ  Otto รุ่น BE-126 (คะแนนผ่านการทดสอบ) นอกนั้นไม่ผ่านการทดสอบ   ข้อสังเกต ผลการทดสอบปั่นสับปะรด เครื่องปั่น SHARP รุ่น EM-ICE POWER   Panasonic  รุ่น  MX-900 M และ  Tefal  รุ่น BL 233 สามารถปั่นได้ละเอียดมากที่สุด (คะแนน ดีมาก) เครื่องปั่น HW รุ่น CH1  และ  Otto รุ่น BE-126 สามารถปั่นได้ละเอียดพอสมควร (คะแนน ผ่านการทดสอบ) ส่วนเครื่องปั่นที่เหลือ ไม่สามารถปั่นได้เลย ชิ้นงานสับปะรดติดคาใบมีด (ดูรูปที่ 1 ประกอบ)   ข้อสังเกต ผลการทดสอบบดหนังหมู เครื่องบด Philips รุ่น HR 2115 AJ รุ่น BL 001 HW รุ่น CH1  และ Otto รุ่น BE-126 สามารถบดได้ละเอียดมากที่สุด (คะแนน ดีมาก) ส่วนเครื่องบดรุ่นที่เหลือ ไม่สามารถบดได้ละเอียดซึ่งจะเห็นชิ้นของหนังหมู คงอยู่เป็นชิ้นใหญ่ (คะแนน ไม่ผ่าน)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 136 ปั่นปลอดภัย ไปกับหมวกนิรภัย

เป็นที่รู้กันดีว่าการขี่จักรยานเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยทำให้หัวใจแข็งแรง แถมยังเป็นการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ติดอยู่ตรงที่หลายคนยังไม่มั่นใจว่าการใช้จักรยานสัญจรไปมาจะปลอดภัย มูลนิธิโลกสีเขียวมีผลสำรวจความคิดเห็นที่ยืนยันว่าร้อยละ 85 ของคนกรุงเทพฯ ที่ร่วมตอบแบบสอบถาม (ประมาณ 4,500 คน) ยินดีจะใช้จักรยานในการเดินทางถ้าพวกเขารู้สึกว่าสามารถขับขี่ได้โดยไม่มีอันตราย ระหว่างที่เรากำลังรอให้เกิดทางจักรยานที่ปลอดภัยและใช้สะดวกมากขึ้น ฉลาดซื้อ ขอนำเสนอผลการทดสอบหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้จักรยาน ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumer Research & Testing ได้ทำไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการป้องกันการบาดเจ็บเป็นหลัก ตามด้วยความสะดวกสบายในการสวมใส่ การระบายอากาศ และการปลอดสารเคมีอันตราย   ด้วยเนื้อที่อันจำกัด เราจึงขอนำเสนอเฉพาะ 10 รุ่นที่ได้คะแนนรวมสูงสุด (จากหมวกที่เข้าทดสอบทั้งหมด 25 รุ่น) และได้คะแนนประสิทธิภาพในการป้องกันการบาดเจ็บในระดับ 4 ดาว ต้องบอกไว้ตรงนี้ว่ายังไม่มีรุ่นไหนที่ได้คะแนน 5 ดาวไปเลย     Casco Activ-TC ราคา  2,390 บาท น้ำหนัก 291 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         5 ระบายอากาศได้ดี         5 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศโรมาเนีย     Specialized Align  ราคา 1,500 บาท น้ำหนัก 336 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         5 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Specialized Echelon ราคา 2,500 บาท น้ำหนัก 293 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Giro Savant  ราคา 3,000 บาท น้ำหนัก 240 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Profex FZ-006 ราคา 720 บาท น้ำหนัก 257 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศ  - ไม่ระบุ     Giro Transfer ราคา 1,500 บาท น้ำหนัก 261 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Cratoni  Evolution ราคา 4,700 บาท น้ำหนัก 501 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         3 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศเยอรมนี     Uvex Discovery  ราคา 4,700 บาท น้ำหนัก 398 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         3 ระบายอากาศได้ดี         2 ปลอดสารเคมีอันตราย  3 ผลิตในประเทศเยอรมนี     Casco E.Motion ราคา 5,500 บาท น้ำหนัก 464 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       3 สวม/ถอด สะดวก         3 ระบายอากาศได้ดี         2 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศโรมาเนีย     BELL Muni  ราคา 3,200 บาท น้ำหนัก 326 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       2 สวม/ถอด สะดวก         3 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5     รุ่นอื่นๆ ประสิทธิภาพป้องกันการบาดเจ็บ 3 ดาว Nutcase URS - 011S BELL Venture BELL Faction ABUS ASA Aven-U Etto B-1350 City Safe Uvex xp 17 city ALPINA City Giro Surface GUB GUBX5   ประสิทธิภาพป้องกันการบาดเจ็บ 2 ดาว Rudy Project Snuggy ABUS HS-17 Urbanaut Limar 525 KED Sky Two   ประสิทธิภาพป้องกันการบาดเจ็บ 1 ดาว MET Cameleonte Executive ---   ฉลาดซื้อแนะ หมวกนิรภัยมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้หลายคนเลือกที่จะซื้อแบบ “มือสอง” มาใช้ อย่าลืมตรวจเช็คว่ามีรอยบุบหรือไม่ (เพื่อจะได้มั่นใจว่ามันยังไม่ผ่านการชนหรือกระแทกมาแล้ว) ที่สำคัญวัสดุต่างๆที่ใช้ทำตัวหมวกก็มีอายุจำกัด ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงหมวกที่ผลิตมาแล้วเกิน 5 ปี เมื่อมีหมวกแล้วก็ต้องรู้จักวิธีสวมใส่ที่ถูกต้องด้วย ใส่แบบไหนแล้วเท่เราตอบไม่ได้ แต่ถ้าจะใส่ให้ปลอดภัย หมวกของคุณจะต้องอยู่ในแนวระนาบเท่านั้น สำคัญอย่างยิ่ง คือการสวมใส่หมวกนิรภัยเสมอเมื่อคุณขับขี่จักรยาน เพราะอุบัติเหตุไม่เลือกเวลาหรือระยะทางอยู่แล้ว แต่หมวกนิรภัยเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยให้กับเราได้ เรายังต้องการทางจักรยานที่สะดวกและปลอดภัย เพื่อประสบการณ์การขับขี่ที่สุนทรีย์ด้วย ---- จากใจคนรักจักรยาน กรุงเทพฯ อาจจะยังห่างไกลจากการเป็น “เมืองจักรยาน” แต่มีคนอย่างน้อยกลุ่มหนึ่งที่นิยมชมชอบการขี่จักรยานทั้งเพื่อเดินทางมาทำงานและเพื่อเป็นกิจกรรมผ่อนคลายในวันหยุด เรามารู้จักกับนักปั่น 3 คน จากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำงานรณรงค์เพื่อให้เกิดระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในบ้านเรา มาดูกันว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการขับขี่จักรยานอย่างไรกันบ้าง สุรชัย ตรงงาม ผู้อำนวยการโครงการฯ สุรชัยให้ความเห็นว่า แม้กรุงเทพฯ จะมี “ทางจักรยาน” แต่จากการใช้เส้นทางจริงนั้นพบว่ายังไม่สามารถใช้ได้สะดวก ทางจักรยานซ้อนทับทางเท้า  ทางจักรยานไปจบตรงบันไดขึ้นสะพานลอยก็มี ทางไม่มีการปรับให้เรียบ มีแต่เพียงเส้นขีดไว้เท่านั้น เขามองว่า “ทางจักรยาน” ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถใช้ได้สะดวก บางครั้งทางไปจบตรงบันไดขึ้นสะพานลอยเสียดื้อๆ บางช่วงก็ซ้อนทับทางเท้า พื้นผิวทางโดยรวมก็ไม่มีการปรับให้เรียบ บ่อยครั้งไม่มีทางลาดช่วยในการเปลี่ยนระดับ (ทำให้ผู้ขับขี่ต้องจอดและยกรถจักรยาน) แถมบางพื้นที่ยังกลายเป็นแผงขายของไปอีกด้วย และที่เป็นเรื่องท้าทายสุดๆ สำหรับนักปั่น ตามความเห็นของเขาคือ ฝาท่อระบายน้ำที่บ้างก็วางในแนวขวาง บ้างก็วางในแนวขนานไปกับถนน เรียกว่าเผลอไม่ได้เลยทีเดียว สุรชัยซึ่งใช้จักรยานในการสัญจรมาตั้งแต่ปี  2548 เคยประสบอุบัติเหตุ 1 ครั้ง ในวันที่คิดว่าออกไปไม่ไกลบ้าน จึงไม่ได้สวมหมวกนิรภัย แต่จักรยานล้มในช่วงที่กำลังเข้าโค้งหน้าปากซอย ผลคือคิ้วแตกและโหนกแก้มยุบ ทำให้ต้องหยุดงานไปประมาณ 4 เดือน แถมเสียค่ารักษาพยาบาลไปไม่ต่ำกว่า 40,000 บาท เขาจึงอยากจะย้ำว่าหมวกนิรภัยนั้นเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลย   สุภาภรณ์ มาลัยลอย เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ สุภาภรณ์ค้นพบว่า การขี่จักรยานมาทำงานนั้นเป็นประสบการณ์ที่รื่นรมย์อย่างยิ่ง จะขัดใจอยู่บ้างก็ตรงป้ายโฆษณาที่วางระเกะระกะบนทางจักรยาน และบางช่วงของทางที่ไม่เอื้อต่อการผ่านไปของจักรยานนี่แหละ เธอปั่นจักรยานเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร จากบ้านในซอยลาดพร้าว 62 มายังสำนักงานในซอยรามคำแหง 39 เจ้าตัวยืนยันว่ามันสะดวกอย่างยิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเช้าซึ่งรถติดมากๆ เธอก็ยังสามารถมาถึงสำนักงานได้ภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที ที่สำคัญประหยัดค่าเดินทางไปวันละ 66 บาท แม้จะต้องจ่ายค่าซ่อมเกียร์ เติมลม ปะยางบ้าง ก็ยังถือว่าคุ้ม สำหรับเธอ แม้ทางจักรยานจะยังไม่สมบูรณ์แบบตามมาตรฐานสากล แต่การได้ขี่จักรยานเองก็ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยกว่าการนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์อยู่ดี   สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความ รายนี้ขัดใจกับ “ทางจักรยาน” ในเส้นทางที่เขาใช้ประจำ จนต้องหลบลงไปปั่นบนพื้นถนนอยู่บ่อยครั้ง เขาอยากให้มีการนำแนวคิดการจัดพื้นที่ถนนให้สามารถใช้ร่วมกันได้ระหว่างรถยนต์และจักรยาน เจ้าตัวบอกว่าอยากให้เหมือนกับถนนที่เจนีวา ที่แบ่งพื้นที่ถนนครึ่งเลนให้กับจักรยานไปเลย สงกรานต์บอกว่าความจริงแล้วเลนจักรยานบนถนนสีลมบ้านเราก็มี เพียงแต่ยังถูกใช้เป็นที่จอดรถอยู่  หลักๆ แล้วเขาเชื่อว่าจะมีคนหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้น ถ้ามีการออกแบบทางจักรยาน (ย้ำว่าต้องเป็น “ทางจักรยาน” ไม่ใช่การขีดเส้นเฉยๆ) โดยยึดหลักความปลอดภัย ความสะดวก และการเชื่อมต่อกับบริการสาธารณะ เช่นที่สำหรับจอดรถจักรยานที่สะดวกและปลอดภัยจากการโจรกรรมนั้นยังมีอยู่น้อยมาก ทำให้หลายคนไม่กล้าเสี่ยง สงกรานต์ลงทุนซื้อจักรยานไป 4,500 บาท ใช้ปั่นมาทำงานทุกวัน เขายืนยันว่าไม่เกิน 5 เดือนก็คืนทุน แต่ทั้งนี้ใครอยากจะสร้างเสริมประสบการณ์การขับขี่ของตนเองด้วยการลงทุนเพิ่มก็ไม่ว่ากัน ทีมนี้เขายกตัวอย่างให้ฟังว่า ถ้าเราอยากให้จักรยานเบาลง 1 กิโลกรัม เราก็จะต้องใช้จ่ายประมาณ 10,000 บาท เพื่อเปลี่ยนชิ้นส่วนจากเหล็กเป็นไทเทเนียม เป็นต้น เอาเป็นว่าถูกก็ได้ แพงก็ดี ลองพิจารณาหาจักรยานมาปั่นกันดู จะไปตลาด ไปทำงาน หรือไปส่งลูกที่โรงเรียนก็ตามแต่ใจ แต่อย่าลืมใส่หมวกนิรภัยด้วยแล้วกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 แซลมอนซูชิ

“ซูชิ” เสน่ห์ข้าวปั้นญี่ปุ่นถ้าพูดถึงแดนอาทิตย์อุทัย เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงอดนึกถึงอาหารญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า “ซูชิ” (Sushi) ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นซูชิหน้าปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาบะ หรืออีกสารพัดหน้า นึกภาพแล้วน้ำลายก็เริ่มสอ ด้วยรสชาติอันโอชะและคุณค่าต่างๆ ที่ได้รับ โดยเฉพาะโปรตีนจากเนื้อปลาดิบ ซูชิจึงดูเหมือนจะกลายเป็นอาหารจานโปรดของบรรดานักบริโภคทั้งหลาย เพราะทั้งสะดวกและอร่อย ปัจจุบันร้านขายซูชิผุดขึ้นมาเหมือนดอกเห็ดทั่วบ้านทั่วเมือง ตั้งแต่ร้านค้าชั้นนำลงมากระทั่งร้านแผงลอยริมฟุตบาท   แม้หลายคนนิยมชมชอบการกินซูชิ แต่ก็คงนึกหวาดๆ กับคำเตือนให้ระวังเชื้อโรคจากการกิน “ซูชิ” โดยเฉพาะหน้าปลาดิบต่างๆ ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ ทางโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ร่วมกับฉลาดซื้อ จึงลองสุ่มสำรวจซูชิหน้าปลาแซลมอน ซึ่งเป็นหน้าปลาดิบที่คนไทยนิยมรับประทาน จากร้านค้า 5 แห่ง ได้แก่ โออิชิ ฟูจิ เซน มิกะซูชิ และพรานทะเล ส่งสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทดสอบหาจุลินทรีย์ก่อโรค ได้แก่ Fecal coliform, Salmonella, S.aureus และ V.parahaemolyticus ผลการทดสอบ ไม่พบเชื้อ Salmonella ในทุกตัวอย่าง ส่วนเชื้อ Fecal coliform S.aureus และV.parahaemolyticus พบในปริมาณน้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด (เว้นแต่จะปล่อยทิ้งไว้นานๆ จนเชื้อโรคขยายตัว) ผลการทดสอบ ซูชิหน้าปลาแซลมอน ผู้ผลิต     วันที่เก็บตัวอย่าง ราคา (บาท)/ชิ้น สถานที่เก็บตัวอย่าง   ผลทดสอบจุลินทรีย์   Fecal coliform Salmo nella S. aureus V.parahaemolyticus โออิชิ   7/09/52 23 สถานีรถไฟฟ้าสยาม < 3 ไม่พบ   < 10 cfu < 10 cfu ฟูจิ 7/09/52 35 สยามเซ็นเตอร์ < 3 ไม่พบ < 10 cfu < 10 cfu เซน 7/09/52 45 สยามเซ็นเตอร์ < 3 ไม่พบ < 10 cfu < 10 cfu มิกะ ซูชิ 7/09/52 15 โลตัสอ่อนนุช < 3 ไม่พบ < 10 cfu < 10 cfu พรานทะเล 7/09/52 10 บิ๊กซีพระรามสอง < 3 ไม่พบ < 10 cfu < 10 cfu                             วิเคราะห์ผลโดย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลทดสอบเพื่อตรวจหาเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในซูชินั้น จะพบเชื้อโรคในปริมาณน้อยมาก แต่การทดสอบนี้ก็ทำเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่ทางโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารฯ และฉลาดซื้อได้เลือกสำรวจและนำมาศึกษาเท่านั้น ผู้บริโภคก็ยังคงต้องระมัดระวัง โดยเลือกซื้ออาหารจากร้านค้า “ซูชิ” ที่มีการจัดการเรื่องความสะอาดที่ดี ภาชนะที่เก็บวัตถุดิบมีการป้องกันการปนเปื้อนของฝุ่นละออง และอาหารสดก็ต้องมีการรักษาอุณหภูมิเพื่อมิให้เชื้อโรคเจริญเติบโตจนอาจก่อปัญหาต่อสุขภาพ จะได้รับประทานซูชิกันอย่างเอร็ดอร่อยและปลอดภัย ฉลาดซื้อแนะนำ1.เลือกร้านค้าที่มีการจัดการเรื่องความสะอาดที่ดี2.ควรเลือกซูชิจากร้านที่ขายดี มีการทำแบบสดใหม่จะดีกว่า อีกอย่างมันมีการหมุนเวียนของซูชิออกไปอย่างต่อเนื่อง 3. ควรหลีกเลี่ยงการซื้อซูชิที่จัดวางไว้เรียบร้อย ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้ว่าผ่านการปรุงแต่งมานานแค่ไหน4.หากเป็นไปได้ก็ควรจะเลือกกินหน้าที่ปรุงสุกดีกว่าหน้าที่เป็นของดิบ แต่ถ้ายังติดอกติดใจกับรสชาติอาหารดิบๆ ก็ไม่ควรรับประทานบ่อยเกินไป 5.ความเย็นสามารถชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้ ดังนั้นซูชิที่เย็นย่อมดีกว่าซูชิที่อยู่ในอุณหภูมิปกติ และนั่นแสดงให้เห็นว่าร้านนั้นๆ มีการเก็บรักษาอาหารอย่างเหมาะสม มารู้จักซูชิกันสักนิด...เริ่มแรกก่อนที่ ซูชิ” หรือ “ข้าวปั้นมีหน้า” จะเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกนั้น ชาวญี่ปุ่นได้นำข้าวมาอัดเป็นก้อนและนำปลามาวางบนด้านหน้า ซึ่งถือเป็นกรรมวิธีในการถนอมอาหารของพวกเขา ต่อมาเริ่มมีซูชิหน้าต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ปลาหมึก กุ้ง ผัก ไข่ เห็ด ฯลฯ จนมีหน้าตาของซูชิให้เลือกมากมายและแพร่หลายไปทั่วอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน โดยเฉพาะนิงิริซูชิ ซึ่งมีลักษณะเป็นข้าวรูปก้อนวงรี มีปลาดิบ ปลาหมึก กุ้ง ฯลฯ วางไว้ด้านบน ตกแต่งด้วยวาซาบิ สาหร่ายทะเลทำให้อร่อย ดูน่ารับประทาน มักได้รับความนิยมมากที่สุดและหาทานได้ง่ายตามภัตตาคารหรือร้านอาหารทั่วไป นอกจากนี้ยังมีซูชิประเภทต่างๆ อีก ได้แก่ มากิซูชิ ซึ่งมีทั้งแบบห่อข้าวอยู่ด้านในสาหร่าย ห่อสาหร่ายอยู่ด้านใน และห่อเป็นรูปกรวย ส่วน ชิราชิซูชิ จะนำกุ้ง ผัก ไข่ ปลาดิบ ปลาหมึก ฯลฯ โดยหั่นเป็นชิ้นๆ มาเรียงบนข้าวที่ใส่อยู่ในกล่อง รวมถึง โอชิซูชิ เป็นการนำข้าวมาอัดลงในแม่พิมพ์รูปสี่เหลี่ยมตามยาว หั่นพอดีคำและนำปลามาวางไว้บนข้าว และสุดท้ายก็คือ อินะริซูชิ ซึ่งเป็นซูชิที่นำเนื้อมาใส่ในเต้าหู้ที่มีลักษณะเป็นถุง ชนิดของเชื้อก่อโรค- Fecal coliform คือ เชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารของคนและสัตว์เลือดอุ่น และเป็นเชื้อโรคชนิดเดียวกันที่อยู่ในอุจจาระคน เมื่อพ่อครัว แม่ครัวที่ประกอบอาหารซูชิทั้งหลายล้างมือไม่สะอาดหลังเข้าห้องน้ำ เชื้อโรคนี้ก็อาจปนเปื้อนอยู่ในอาหาร ส่งผลให้เกิดโรคท้องร่วงได้- Salmonella เป็นแบคทีเรียอีกชนิดหนึ่ง มักพบในเนื้อดิบ นม ไข่ ไก่ ปลา กุ้ง ซอสน้ำสลัด ครีมที่ใช้ทำเค้กและของหวาน เป็นต้น เมื่อเชื้อโรค Salmonella ผ่านเข้าไปในลำไส้เล็ก จะทำให้เกิดบาดแผลเป็นพิษที่ลำไส้ และมักจะแสดงอาการท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ รวมถึงปวดศรีษะ- S. aureus (Staphylococcus aureus) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ เมื่อทานอาหารที่มีเชื้อนี้ปนอยู่ จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องและท้องร่วงและ ที่สำคัญเชื้อโรคตัวนี้จะสามารถอำพรางตัวในอาหารได้เป็นอย่างดีเชียวแหละ เพราะอาหารจะไม่มีกลิ่น สี หรือรสชาติที่เปลี่ยนไป- V. parahaemolyticus พบมากในอาหารทะเลพวกกุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งเชื้อโรคตัวนี้ก็เป็นแบคทีเรียอีกชนิดที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษหรือทางเดินอาหารอักเสบ รวมทั้งอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางบาดแผลได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 156 ปั่นสู่กรุงเทพฯ เมืองจักรยาน

พาหนะเรียบง่ายแสนวิเศษ ปี พ.ศ. 2557  ท่ามกลางการจราจรหนาแน่นตามสี่แยกใหญ่ทั่วเมืองกรุง อารมณ์ผู้คนบนถนนต่างขุ่นหมองไม่ต่างจากหมอกควันปลายท่อไอเสียรถยนต์ มีพาหนะชนิดหนึ่งที่เคลื่อนที่ไปได้เรื่อยๆ ซอกแซก ลัดเลาะ ไหลลื่นไปไม่ยี่หระกับสภาพการจราจรที่อยู่ตรงหน้า พาหนะที่ว่านี้ไม่ใช่นวัตกรรมล้ำยุคสุดไฮเทค แต่เป็นเพียงพาหนะเรียบง่ายแสนธรรมดาที่เรียกว่าจักรยานนั่นเอง ด้วยความที่มีขนาดเล็ก ทุ่นแรงได้ดี เคลื่อนที่คล่องตัวแต่ไม่เร็วมาก ไม่ต้องเติมน้ำมัน ไม่ปล่อยมลพิษและไม่ส่งเสียงดัง เลยไม่ก่อความรำคาญสร้างความรบกวนใครสักเท่าไหร่นัก  จักรยานจึงช่วยให้ผู้ที่ขับขี่สามารถเดินทางฝ่าทุกสภาพถนน(หรือแม้แต่ฝ่าม็อบปิดถนน) ไปได้ทุกที่ และหลุดพ้นจากวังวนปัญหารถติดในเมืองกรุงฯ ได้ ทุกวันนี้เราแทบจะสังเกตเห็นผู้คนปั่นจักรยานบนท้องถนนเป็นเรื่องธรรมดา อาจจะยังมีจำนวนไม่มากเท่าไหร่ถ้าเทียบกับจำนวนยานพาหนะอื่นๆ แต่หากเทียบกับสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยบนท้องถนนที่มีให้แก่จักรยานเพียงน้อยนิด ไม่ว่าจะเป็นเลนจักรยาน ที่จอดจักรยาน หรือแม้กระทั่งการรับรู้ว่าจักรยานมีสิทธิในการสัญจรบนถนนเท่าเทียมกับรถยนต์ ผมคิดว่าการที่ยังมีคนขี่จักรยานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสังเกตได้ชัดเช่นนี้เป็นเรื่องที่รัฐไม่ควรเพิกเฉยต่อความต้องการของประชาชน   ผลสำรวจความต้องการใช้จักรยานของคนกรุงเทพฯ[i] ที่มูลนิธิโลกสีเขียวทำการสำรวจขึ้นเนื่องในโอกาสวันคาร์ฟรีเดย์เมื่อปี 2554 เป็นการสะท้อนความต้องการใช้พาหนะเรียบง่ายแสนวิเศษนี้ได้อย่างชัดเจน จากการสอบถามชาวกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น 4,333 คน ทั้งผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ (2,858 คน) และผ่านทางการสำรวจแบบตัวต่อตัวตามย่านชุมชน (1,475 คน) ได้แก่ สยามสแควร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จตุจักรและท่าเตียน โดยมีคำถามสำคัญอยู่ 2 ข้อ คือ ถ้าสามารถขี่จักรยานในกรุงเทพฯ ได้อย่างปลอดภัย คุณจะขี่ไหม ? ถ้าต้องแบ่งพื้นที่บนถนนมากั้นเป็นเลนจักรยาน คุณจะยอมไหม ? ผลสำรวจออกมาว่า ร้อยละ 86 บอกว่าจะออกมาขี่จักรยานบนท้องถนน หากรู้สึกว่าสามารถขี่ได้อย่างปลอดภัย และร้อยละ 93 ที่ยินยอมให้จัดสรรแบ่งปันพื้นที่จราจรบนถนนมากั้นเป็นเลนให้จักรยาน ผลสำรวจสะท้อนความต้องการใช้จักรยาน ทั้งๆ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามมากถึงร้อยละ 48  ไม่เคยใช้จักรยานในกรุงเทพฯ มาก่อนเลย เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาเหล่านั้นรู้สึกว่าถนนหนทางในกรุงเทพฯ ยังไม่ใช่ที่ทางที่จักรยานจะสามารถปั่นได้อย่างปลอดภัยนั่นเอง นี่เป็นที่มาที่ชาวจักรยานและกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องกับจักรยานรณรงค์ร้องขอทางจักรยานที่ปลอดภัย   วิวัฒน์ทางจักรยานในกรุงฯ กับฝันค้างของนักปั่น เท่าที่มีบันทึกในเอกสารของสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานครเริ่มมีทางจักรยานสายแรกตั้งแต่ปี  2535 เป็นทางยกระดับเลียบคลองประปาฝั่งตะวันตก แต่ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ให้ข้อมูลจากความทรงจำว่า ก่อนหน้านั้นเคยมีทางจักรยานตั้งอยู่บริเวณถนนรามคำแหง  เริ่มตั้งแต่สี่แยกคลองตันถึงสนามกีฬาหัวหมาก  แต่เมื่อเวลาผ่านไป ขาดการบำรุงรักษา เส้นทางจักรยานทั้ง 2 เส้นนั้นก็รางเลือนไปตามกาลเวลาจนหายไปในที่สุด ในสมัยของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 12 ดร.พิจิตต รัตตกุล (2539-2543) ความฝันเรื่องทางจักรยานดูจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาใหม่ มีการสร้างทางจักรยานเฉพาะขนานถนนตัดใหม่แยกออกจากพื้นผิวถนนอย่างชัดเจน เส้นทางที่เด่นชัดที่สุดคือ ทางจักรยานถนนประดิษฐ์มนูธรรม(จากถนนพระราม 9  - ถนนรามอินทรา) ระยะทาง ไป - กลับ รวม 24 กิโลเมตรโดยมีต้นปาล์มขั้นกลางยาวตลอดแนว ตลอดสมัยนี้มีการสร้างทางจักรยานยาวรวมกัน 34 กิโลเมตรรวม 5 เส้นทาง แต่เมื่อใช้งานจริงกลับประสบปัญหา เส้นทางไม่มีความต่อเนื่อง อยู่คนละทิศละทาง ไม่ตอบโจทย์การใช้งาน ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้จริง ความฝันเรื่องทางจักรยานจึงเป็นจริงได้เพียงตัวเลขกิโลฯ บนเอกสารและเส้นสีที่เปรอะเปื้อนบนก้อนอิฐที่ค่อยๆ จางลงเรื่อยๆ จนมาถึงสมัยของคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน นโยบายเรื่องทางจักรยานก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างอีกครั้ง โดยเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวจักรยานตื่นเต้นเป็นที่สุดคือเมื่อ มีการริเริ่มโครงการ "จักรยานชมกรุงรัตนโกสินทร์" หรือ Green Bangkok Bike (ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น Bangkok Smiles Bike) ถนนหลายสายในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน เช่น ถนนพระอาทิตย์ ถนนตะนาว ถนนมหาไชย  มีการสร้าง ‘ทางจักรยานบนผิวจราจร’ ด้วยการจัดแบ่งเลนสัญจรใหม่ให้แคบลงนิดหน่อยเพื่อเพิ่มเลนจักรยานทางด้านซ้ายของทางเดินรถ มีการติดป้ายสัญญาณจราจร ป้ายเตือน มีจุดให้บริการยืมคืนจักรยานอยู่ทั่วบริเวณ นับเป็นครั้งแรกที่จักรยานมีเลนของตัวเองบนผิวถนนเฉกเช่นเดียวกับพาหนะติดเครื่องยนต์อื่นๆ แต่ฝันของชาวจักรยานยังต้องกลายเป็นฝันค้างอีกครั้งเมื่อโครงการเริ่มดำเนินการไปโดยไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมายและขาดการสื่อสารกับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเท่าที่ควร ดังนั้นเมื่อขีดสีตีเส้นจนสีแห้งสนิทเพียงไม่กี่วัน เลนจักรยานที่เป็นสิ่งแปลกใหม่บนท้องถนนก็ถูกรถราต่างๆ ที่เคยชินกับการจอดชิดขอบถนน เข้ามาจอดทับทางเฉกเช่นเคย ราวกับว่าไม่เคยมีเลนจักรยานมาก่อน ในสมัยของผู้ว่าฯ อภิรักษ์ เลนจักรยานได้ถูกสร้างขึ้นอีกในถนนหลักหลายสาย ทั้งแบบ ‘ทางจักรยานบนผิวจราจร’ เช่น ถนนโดยรอบวงเวียนใหญ่ ถนนสาธร และแบบ ‘ทางจักรยานร่วมบนทางเท้า’ ให้ขี่จักรยานบนฟุตปาธร่วมกับคนเดิน เช่น ถนนราชดำเนิน ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนสุขุมวิท แต่ทางจักรยานส่วนใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นล้วนประสบปัญหาการตั้งวางสิ่งของ จอดรถกีดขวาง มีผู้คนพลุกพล่าน ผิวทางไม่ราบเรียบ เนื่องจากทางจักรยานบนผิวจราจรจะอยู่เลนด้านซ้ายสุดของถนนซึ่งมักอยู่ในแนวท่อระบายน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการใช้จักรยานอย่างปลอดภัยทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ดีในสมัยของคุณอภิรักษ์ ได้มีการตั้งคณะกรรมการทำงานด้านจักรยานที่ชื่อ “คณะกรรมการโครงการเรารักกรุงเทพฯ เรารักจักรยาน” โดยมีผู้แทนทั้งจากภาครัฐและนักจักรยานจากสมาคม องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้จักรยานเข้าร่วมด้วย ผู้ว่าฯ คนต่อมา มรว.สุขุมพันธ์ บริพัทธ (สมัยที่ 1) ช่วงครึ่งวาระแรกแทบไม่มีการขับเคลื่อนนโยบายจักรยานใดๆ แม้จะเป็นผู้ว่าที่มาจากพรรคการเมืองเดียวกับผู้ว่าฯ อภิรักษ์ก็ตาม จนกระทั่งมูลนิธิโลกสีเขียว ชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ และกลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ “Big Trees” ขอเข้าพบรองผู้ว่าฯ ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ (ตำแหน่งในสมัยนั้น) เพื่อหารือเรื่องการพัฒนาวิถีจักรยาน จนทำให้เกิดการรื้อฟื้น “คณะกรรมการโครงการเรารักกรุงเทพฯ เรารักจักรยาน” ขึ้นมาอีกครั้ง งานในสมัยนั้นเป็นไปในทิศทางด้านการรณรงค์ค่อนข้างมาก มีการจัดกิจกรรม Bangkok Car Free Sunday เป็นประจำทุกเดือนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จักรยานเพิ่มขึ้น มีโครงการให้เช่าจักรยานสาธารณะ “ปันปั่น” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของเมืองไทย เพื่อเอื้อให้ผู้คนที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนหรือชาวบ้านในพื้นที่เดินทางไปถึงจุดหมายด้วยจักรยานได้สะดวกขึ้น แต่นอกจากมีสถานีให้เช่าจักรยานหน้าตาเป็นเอกลักษณ์ที่มาพร้อมระบบสมาร์ทการ์ดและป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ก็ไม่มีปรับปรุงทางกายภาพใดๆ เพื่อการปั่นจักรยานเลย แม้จะฝันค้างมานานแต่ก็ไม่ใช่ไม่มีอะไรคืบหน้า เหตุการณ์การรวมตัวกันของชาวจักรยานที่น่าจดจำที่สุดในยุคนั้นคือการร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ผู้ว่ากรุงเทพมหานครปรับปรุงฝาท่อระบายน้ำที่ไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้จักรยานผ่านทางเว็บไซต์ Change.org[ii] จนทำให้กรุงเทพมหานครเร่งเปลี่ยน/ซ่อมฝาท่อระบายน้ำบนผิวถนนที่ชำรุดหรือมีโอกาสทำให้ล้อเล็กๆ ของจักรยานตกไปได้ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้จักรยานมากเพราะ หากล้อติดตะแกรงจะทำให้คนขี่ล้มทันที หากเลี้ยวหลบก็มีโอกาสถูกเฉี่ยวชนจากพาหนะอื่นๆ  โดยหลังจากผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ รับเป็นนโยบายแก้ไขให้ ชาวจักรยานได้รวมตัวกันหลายครั้งเพื่อสำรวจฝาท่อที่มีปัญหาในเขตพื้นที่ต่างๆ ส่งเป็นรายงานระบุพิกัดพร้อมรูปถ่ายที่ชัดเจนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขต่อไป  นับเป็นแก้ไขปัญหาที่บูรณาการและปลุกให้นักปั่นที่ฝันค้างมานานตื่นและพบว่า เราสามารถทำสิ่งที่ฝันให้เป็นจริงได้ด้วยมือของเราเอง ในส่วนของภาคประชาชน มีการเคลื่อนไหวค่อนข้างคึกคักมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา แวดวงนิตยสารดังต่างทยอยสับเปลี่ยนหมุนเวียนทำเรื่องจักรยาน  มีกิจกรรมใหญ่สำหรับจักรยานเพิ่มขึ้น  แทบทุกวันในสัปดาห์ล้วนมีทริปปั่นจักรยานที่จัดโดยกลุ่ม องค์กรต่างๆ มากมาย  จนทุกวันนี้หากสังเกตดีๆ เราจะเห็นจักรยานอยู่ตามรายการทีวี บิลบอร์ด โฆษณาต่างๆ อยู่เสมอ  จักรยานกำลังสอดแทรกตัวเองเข้าไปในสื่อกระแสหลักเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปในฐานะเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ รักษ์โลก รักสุขภาพ อินดี้ นอกกรอบ พึ่งตนเอง หลังครบวาระ ‘สุขุมพันธ์ 1’ เป็นยุคที่กระแสจักรยานเป็นที่นิยมมากจนผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ทุกคนต่างต้องนำเสนอนโยบายจักรยานควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองทั้งสิ้น เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงการวิวัฒน์ทางความคิดต่อแง่มุมเรื่องจักรยาน  แม้ว่าทางจักรยานส่วนใหญ่ยังมิเปลี่ยนแปลงใดๆ   ************************************************************** ทำไมต้อง ‘จักรยาน’ A cycle-lized city is a civilized city เมืองน่าอยู่คือเมืองน่าปั่น จักรยานเป็นมากกว่ากระแสแฟชั่น ด้วยความเล็ก เคลื่อนที่คล่องตัวแต่ไม่เร็ว ใช้แรงคน จึงไม่ปล่อยมลพิษและส่งเสียงดัง และใครๆ ก็สามารถหามาครอบครองได้ จักรยานจึงเป็นทางออกง่ายๆ ของปัญหาซับซ้อนหลายประการในเมืองใหญ่ เช่น คุณภาพอากาศ การจราจรติดขัด ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นต้น หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกจึงเร่งปรับเปลี่ยนวิถีการสัญจรในเมืองให้สามารถใช้จักรยานได้อย่างสะดวกและปลอดภัยและออกมาตรการสนับสนุนจูงใจให้ผู้คนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น  จักรยานกลายเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เป็นตัวบ่งชี้ของเมืองน่าอยู่ที่ยอมรับกันในสหประชาชาติ[iii] **************************************************************   ทางจักรยานในปัจจุบัน กับเส้นทางสู่กรุงเทพฯ เมืองรถถีบ ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีทางจักรยานรวมทั้งสิ้น 35 เส้นทาง เป็นระยะทาง 232.66 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็นทางจักรยานเฉพาะ 5 เส้นทาง ทางจักรยานบนผิวจราจร 10 เส้นทาง และทางจักรยานร่วมบนทางเท้าอีก 20 เส้นทาง แต่มีทางเพียง 2 กิโลเมตรเศษเท่านั้น (5 เส้นทาง) ที่มีการประกาศรองรับให้เป็น ‘ทางที่จัดไว้ให้สำหรับจักรยาน’ ตามกฎหมาย พ.ร.บ จราจรทางบก พ.ศ. 2522[iv] และที่แย่ไปกว่านั้นมีเส้นทางเพียง 600 เมตรบนถนนพระอาทิตย์เท่านั้นที่ได้รับการดูแล มีหลักล้มลุกกั้นไม่ให้รถยนต์จอดกีดขวาง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด อันเกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำรวจ สน.ชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร กิจการร้านค้าและหน่วยงานต่างๆ ในบริเวณถนนพระอาทิตย์ และชาวจักรยานจากทุกสารทิศ สำหรับทางจักรยานอีกหลายสิบสายที่เหลือ มีการพิจารณาทบทวนความต้องการใช้ ศักยภาพ และความเหมาะสมต่างๆ ใหม่ เพื่อให้การพัฒนาปรับปรุงมีความคุ้มค้าและสามารถใช้งานได้จริง โดยคณะกรรมการเรารักกรุงเทพ ฯ เรารักจักรยานได้คัดเลือกเส้นทางเพื่อพิจารณาปรับปรุงก่อน 10 เส้นทางและมอบหมายให้กลุ่มมหาวิทยาลัยที่สนใจเรื่องจักรยานและมูลนิธิโลกสีเขียวช่วยกันทำการประเมินและนำเสนอแนวทางปรังปรุงให้ใช้ได้จริง ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว กำลังรอหารือกับผู้บังคับการจราจรซึ่งเป็นผู้มีอำนาจประกาศรับรองทางจักรยานตามกฎหมายต่อไป ในส่วนการพัฒนาโครงข่ายทางจักรยานใหม่ กรุงเทพมหานครได้ขอความร่วมมือทั้ง 50 สำนักงานเขตร่วมกับกลุ่มมหาวิทยาลัยช่วยกันคัดเลือกเส้นทางที่มีศักยภาพเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการใช้จักรยานของคนในพื้นที่เพื่อพัฒนาให้เป็นเส้นทางจักรยานใหม่ที่เน้นว่าต้องใช้ได้จริงและเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงถึงกันต่อไป แม้เส้นทางสู่กรุงเทพฯ เมืองจักรยานจะยังอีกไกลโข แต่ผมเชื่อว่าเรากำลังเข้าใกล้ไปเรื่อยๆ และมันจะเร็วขึ้นมากหากเราทุกคนช่วยกัน  กรุงเทพฯ เมืองหายใจสะอาด เมืองสัญจรสะดวก เมืองแห่งความเท่าเทียม เมืองแห่งสุขภาพ เมืองสีเขียวร่มรื่น เมือง.. ฯลฯ กรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการกระทำของพวกเราทุกคน   [i] อ่านผลสำรวจฉบับเต็มได้ที่ http://www.greenworld.or.th/bikemap/1476 [ii] อ่านเรื่องราวการเรียกร้องเปลี่ยนฝาท่อเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.greenworld.or.th/bikemap/2136 ‘Change ฝาท่อ We must believe in’ [iii] อ้างอิงจาก ‘ทำไมจึงเป็นแผนที่ปั่นเมือง’ สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และ ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์. Bangkok Bike Map แผนที่ปั่นเมือง : คู่มือหาเส้นทางจักรยานกรุงเทพมหานคร.กรุงเทพฯ : มูลนิธิโลกสีเขียว, 2555. [iv] อ่านบทความเกี่ยวกับกฎหมายจักรยานเพิ่มเติมได้ที่ http://www.greenworld.or.th/bikemap/2004 ‘กฎหมายจักรยาน... ใครว่าไม่มี ?’   //

อ่านเพิ่มเติม >