ฉบับที่ 240 ปัสสาวะมีกลิ่นผิดปรกติ...บอกอะไรบ้าง

        อินเทอร์เน็ตนั้นอุดมไปด้วยความรู้ด้านสุขภาพที่ควรต้องกลั่นกรองในระดับหนึ่ง โดยมีสิ่งที่ต้องระวังเป็นหลักคือ ไม่เป็นเว็บขายสินค้าใดๆ ทั้งสิ้น         ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ  ปรกติปัสสาวะของคนส่วนใหญ่มักมีกลิ่นแอมโมเนียเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถ่ายออกมาในตอนเช้า เพราะเราได้เว้นการดื่มน้ำระหว่างนอนหลับนานกว่า 4-6 ชั่วโมง ความเข้มข้นของปัสสาวะจึงเพิ่มขึ้นพร้อมกลิ่น อย่างไรก็ดีเมื่อใดที่ปัสสาวะที่มีกลิ่นแรงผิดปรกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณไม่ค่อยดี เช่น อาการเบาหวานที่ไม่ได้บำบัดมักทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นเฉพาะคล้ายน้ำจากผลต้นนมแมว เพราะมีน้ำตาลออกในปัสสาวะมากเกินปรกติ หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะหรือไต อาจทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นผิดปรกติ ซึ่งมักตามมาด้วยอาการปวดเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะขุ่นข้นหรือมีเลือด มีไข้ ปวดหลัง เป็นต้น อาการเหล่านี้สามารถใช้ในการประเมินขั้นต้นว่า เป็นอาการของการติดเชื้อที่ไต ซึ่งคำแนะนำที่พบในอินเตอร์เน็ทคือ ควรไปพบแพทย์ โอกาสที่ปัสสาวะมีกลิ่นโดยไม่เจ็บป่วย         การเกิดกลิ่นที่ผิดปรกติของปัสสาวะอาจไม่ได้เกิดจากภาวะสุขภาพผิดปรกติเสมอไป อาจมีปัจจัยอื่นๆ เช่น เมื่อร่างกายเสียน้ำมากในการออกกำลังกายอย่างหนัก การทำงานกลางแจ้งหรือการเดินทางไกล ซึ่งมักร่วมกับอาการที่เห็นได้ง่ายคือ ปากแห้ง เฉื่อยชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดหัว เวียนหัว อาการดังกล่าวควรหายไปเมื่อดื่มน้ำมากพอพร้อมเกลือแร่ แต่ถ้าไม่หายควรไปพบแพทย์เพราะอาจหมายถึงความผิดปรกติในการทำงานของไต         อาหารหลายชนิดสามารถทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นผิดจากปรกติ เช่น กาแฟ ผักที่มีกลิ่นแรงอย่างสะตอ ชะอม ขึ้นฉ่าย กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น กลิ่นที่เกิดในปัสสาวะหลังกินอาหารเหล่านี้เป็นดัชนีบ่งชี้การที่ไตต้องทำงานหนักขึ้นกว่าการกินอาหารที่มีกลิ่นไม่แรงนัก เพราะในอาหารที่มีกลิ่นแรงอาจจะมีสารเคมีที่ไม่ใช่สารอาหารมากกว่า         ผู้ที่กินวิตามินบีรวมที่มีความเข้มข้นสูงเกินความต้องการของร่างกาย กินยาปฏิชีวนะกลุ่นซัลโฟนาไมด์ กินยาบำบัดเบาหวานหรือยาบำบัดมะเร็ง มักมีประสบการณ์ว่าปัสสาวะมีกลิ่นที่ผิดปกติไปจากเดิม ทั้งนี้เพราะวิตามินบีเป็นสารที่ละลายน้ำดี เมื่อมากเกินความต้องการจึงต้องขับทิ้งทางปัสสาวะเช่นเดียวกับยาต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นสารแปลกปลอมของร่างกาย อวัยวะภายในหลักในการนี้คือ ตับและไต ต้องเพิ่มการทำงานในการเปลี่ยนแปลงสารเหล่านี้เพื่อขับออกจากร่างกายพร้อมกลิ่นซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสารที่ถูกขับแต่ละชนิด ปรากฏการณ์นี้มีความหมายว่า เราต้องจ่ายเพิ่มในเรื่องความเสื่อมของไต เพราะไตต้องทำงานหนักขึ้นในการขับสารที่ถูกเปลี่ยนแปลงแล้วออกทิ้งในปัสสาวะ ส่วนตับนั้นไม่มีปัญหาเท่าไรเพราะเป็นการขับทิ้งออกในน้ำดีซึ่งหลั่งออกสู่ทางเดินอาหารเพื่อใช้ช่วยในการย่อยอาหารไขมันอยู่แล้ว         การเสียสมดุลของแบคทีเรียบริเวณอวัยวะเพศสตรี อาจส่งผลทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นคาวปลาได้ เนื่องจากในสถานะการณ์ปรกตินั้นแบคทีเรียกลุ่มแลคโตแบซิลัสมักเป็นกลุ่มเด่นในการทำให้สภาวะแวดล้อมในอวัยวะเพศสตรีมีสภาวะเป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งเป็นการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย การล้างช่องคลอดโดยไม่จำเป็น การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย การว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดจึงเกิดการติดเชื้อ ฯลฯ เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเสียสมดุลทั้งปริมาณและชนิดของแบคทีเรียที่เหมาะสม แบคทีเรียบางชนิดที่มีมากขึ้นผิดปรกติสามารถเปลี่ยนสารเคมีในช่องคลอดให้กลายเป็นสารที่มีกลิ่นคล้ายคาวปลา         การที่ปัสสาวะมีกลิ่นคล้ายปลาเน่านั้น เป็นการบ่งชี้ถึงความผิดปรกติในการทำงานของไตหรือปัญหาด้านพันธุกรรมที่ส่งผลให้ตับขาดเอ็นซัมชื่อ Flavin-containing monooxygenase 3 ซึ่งผลการขาดเอ็นซัมนี้ก่อให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า Trimethylaminuria นั่นคือ ไตไม่สามารถทำลายสาร trimethylamine ซึ่งเป็นอนุพันธุ์ที่เกิดขึ้นในร่างกายหลังการเปลี่ยนแปลง lecithin, choline และ L-carnitine ในอาหารบางประเภท เช่น ไข่แดง ต้นอ่อนข้าวสาลี เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์เช่น ตับ สาร trimethylamine นี้เป็นสารเคมีชนิดเดียวกับที่เกิดขึ้นในสภาวะที่ปลาถูกทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องนานๆ จนเกิดการเน่าเสีย โดยปรกติแล้ว trimethylamine ในร่างมนุษย์จะถูกเปลี่ยนไปเป็น trimethylamine-N-oxide ซึ่งไม่มีกลิ่น (สักเท่าไร) เพื่อขับออกทางการปัสสาวะ         การตั้งท้องของสตรีทำให้สภาวะฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลให้ปัสสาวะมีกลิ่นผิดไปจากเดิมหรืออาจบวกกับการที่คนท้องมักมีการได้รับกลิ่นไวขึ้นกว่าเดิม จึงรู้สึกว่าปัสสาวะมีกลิ่นแรงกว่าเดิม หนังสือทางชีววิทยาการสืบพันธุ์นั้นกล่าวว่า หลังจากไข่ได้รับการผสมกับอสุจิจนเกิดเซลล์ใหม่ ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนนั้น เซลล์จะเข้าไปฝังตัวในเยื่อบุมดลูกซึ่งเป็นการกระตุ้นกระบวนการหลั่งฮอร์โมนโกนาโดโทรปินคอโรนิกของมนุษย์หรือเอชซีจี ตรวจพบได้ในเลือดและปัสสาวะของหญิงตั้งท้อง ผู้หญิงที่จมูกไวมักสามารถได้กลิ่นเอชซีจีในปัสสาวะหลังมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคู่นอนเพียงไม่กี่อาทิตย์ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้ไปซื้อเครื่องตรวจการตั้งครรภ์มาทดสอบว่าจะจัดการกับชีวิตข้างหน้าอย่างไร บุญหรือกรรมสำหรับคนที่ไม่ได้กลิ่นบางอย่างของปัสสาวะ         โดยทั่วไปมนุษย์นั้นมีความสามารถในการรับกลิ่นต่างๆ ไม่เท่ากัน ในทางวิทยาศาสตร์เรียกสภาวะนี้ว่า Idiosyncrasies ซึ่งจัดว่าเป็นผลทางพันธุกรรม ดังนั้นจึงพบได้ทั่วไปว่า บางคนมีจมูกดีได้กลิ่นไวมากในขณะที่บางคนสบายมากในการเดินผ่านที่พักผู้โดยสารรถประจำทางเก่าๆ ในกรุงเทพมหานคร         จากหนังสือชื่อ Fart Proudly: Writings of Benjamin Franklin You Never Read in School พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ North Atlantic Books ในปี  2003. กล่าวว่า ในปี 1781 Benjamin Franklin เคยบันทึกถึงประสบการณ์ว่า การกินแอสปารากัสหรือหน่อไม้ฝรั่งเพียงไม่กี่ต้นทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ได้ และในปี 2014 เว็บ www.aurorahealthcare.org มีบทความเรื่อง Why Asparagus Makes Your Urine Smell ซึ่งเป็นการอธิบายว่า เมื่อเรากินหน่อไม้ฝรั่งแล้วร่างกายจะเปลี่ยนแปลง asparagusic acid ที่มีในหน่อไม้ฝรั่ง ไปเป็นสารเคมีกลุ่มที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ ทำให้ปัสสาวะ (รวมถึงเหงื่อและลมหายใจ) มีกลิ่นเฉพาะที่บอกว่าคนผู้นั้นได้กินอาหารที่มีหน่อไม้ฝรั่งเมื่อ 15-60 นาทีที่แล้ว        บทความเรื่อง Food Idiosyncrasies: Beetroot and Asparagus ตีพิมพ์ในวารสาร Drug Metabolism and Disposition ของปี 2001 ให้ข้อมูลส่วนหนึ่งว่า เมื่อทางเดินอาหารในร่างกายย่อยหน่อไม้ฝรั่งแล้ว asparagusic acid จะถูกดูดซึมไปที่ตับซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปได้สารประกอบซัลเฟอร์ 6 ชนิด คือ methanethiol, dimethyl sulfide, dimethyl disulfide, bis(methylthio)methane, dimethyl sulfoxide, และ dimethyl sulfone สารเหล่านี้รวมกันแล้วเป็นสาเหตุของกลิ่นในปัสสาวะโดยมี methanethol ทำหน้าที่เป็นแกนนำหลัก แต่กรณีที่คนบางคนกินหน่อไม้ฝรั่งแล้วปัสสาวะไม่มีกลิ่นหรือมีน้อยมากนั้นบทความดังกล่าวบอกว่า อาจเป็นเพราะมีการดูดซึม asparagusic acid ต่ำจนถึงไม่ดูดซึม แต่ก็มีเรื่องน่าสนใจว่าบางคนที่กินหน่อไม้ฝรั่งแล้วปัสสาวะไม่มีกลิ่นรุนแรง ซึ่งแสดงว่าเขาผู้นั้นอาจขาดเอ็นซัมที่สามารถย่อยให้ asparagusic acid ไปเป็นสารประกอบซัลเฟอร์ที่ก่อให้เกิดกลิ่น อย่างไรก็ดียังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวในลักษณะลึกซึ้ง         สำหรับในกรณี คนไม่ได้กลิ่นที่เปลี่ยนไปของปัสสาวะ ได้มีการอธิบายในบทความเรื่อง Web-Based, Participant-Driven Studies Yield Novel Genetic Associations for Common Traits ในวารสาร PLoS Genetics ตีพิมพ์ในเดือนมิถุนายน 2020 ว่า เป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่มีการกลายพันธุ์ในลักษณะของ SNP (single nucleotide polymorphism) ของโครโมโซมแท่งที่ 1 โดยตำแหน่ง SNP ที่เกิดนั้นคือ rs4481887, rs4309013 และ rs4244187 ของยีน OR2M7 (olfactory receptor family 2 subfamily M member 7) ซึ่งมีหน้าที่สร้างโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็น olfactory receptors หรือตัวรับกลิ่น ที่น่าสนใจคือ บทความนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทชื่อ 23andMe ซึ่งรับตรวจสอบความผิดปรกติทางพันธุกรรมในการรับกลิ่นของปัสสาวะของคนที่กินหน่อไม้ฝรั่ง โดยงานวิจัยนี้ได้ศึกษาในคนราวหมื่นคนว่าได้กลิ่นเฉพาะในปัสสาวะหลังกินหน่อไม้ฝรั่งหรือไม่ จากนั้นก็ดูลักษณะร่วมของคนที่ไม่ได้กลิ่นว่ามีลักษณะทางพันธุกรรมส่วนใดที่เป็น SNP ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น         นอกจากนี้ยังมีบทความเรื่อง Sniffing out significant “Pee values”: genome wide association study of asparagus anosmia ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ ของปี 2016 ที่ศึกษาในอาสาสมัครที่มีข้อมูลทางพันธุกรรมของโครงการการศึกษาทางระบาดวิทยา 2 โครงการ คือ Nurses’ Health Study และ Health Professionals Follow-up Study ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเกี่ยวกับความสามารถในการได้กลิ่นจากปัสสาวะของคนที่กินหน่อไม้ฝรั่ง โดยผลสรุปของงานวิจัยคือ 58.0% ของผู้ชาย (n=1449/2500) และ 61.5% ของผู้หญิง (n=2712/4409) มีการแสดงออกที่เรียกว่า asparagus anosmia คือ ไม่ได้กลิ่นสารเคมีจากหน่อไม่ฝรั่งในปัสสาวะ         สภาวะการไม่ได้กลิ่นของปัสสาวะหรือ anosmia นั้นเกิดขึ้นได้ทั้ง ชั่วคราว หรือ ถาวร ซึ่งในกรณีหลังนั้นเนื่องจากพันธุกรรมดังกล่าวข้างต้น แต่ในกรณีชั่วคราวนั้นมักเกิดจากการระคายเคืองของจมูกเมื่อติดเชื้อ เช่น ป่วยเป็น covid-19 ทำให้จมูกไม่ได้กลิ่นเท่าเดิม ซึ่งมักส่งผลให้ไม่อยากอาหารจนมีภาวะทุพโภชนาการ น้ำหนักลดลง อาจเป็นโรคซึมเศร้า ซ้ำร้ายการสูญเสียความสามารถในการดมกลิ่มอาจส่งผลถึงการหมดสมรรถภาพทางเพศได้ด้วย สำหรับสาเหตุอื่นของการไม่ได้รับกลิ่นนั้นมักเป็นผลมาจากการบวมและอุดตันภายในจมูกหรือปัญหาเกี่ยวกับการส่งสัญญาณจากเส้นประสาทในจมูกไปยังสมอง การติดเชื้อบริเวณโพรงอากาศข้างจมูกหรือไซนัส ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ การสูบบุหรี่ เสพโคเคนหรือสารเสพติดอื่น ๆ ทางจมูก การอุดตันในจมูกเนื่องจากเนื้องอก กระดูกในจมูกหรือผนังกั้นจมูกผิดรูป โรคอัลไซเมอร์หรือเป็นโรคฮันติงตัน (Huntington’s Disease) ที่เกิดจากพันธุกรรมผิดปกติซึ่งทำให้ระบบประสาทเสื่อม ความผิดปกติของฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาบำบัดความดันโลหิตสูง ลมชัก เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >