ฉบับที่ 167 ปัญหาที่ดินตาบอด ไม่มีทางออก จะทำอย่างไร ? ตอนที่ 2

ยังอยู่ในเรื่องของ “ที่ดินตาบอด” กันนะครับ เมื่อที่ดินของเรา “ไม่มีทางติดกับทางสาธารณะ หรือไม่มีทางเชื่อมไปสู่ทางสาธารณะได้” เราสามารถใช้กฎหมายช่วยได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ได้บัญญัติไว้ว่า “ ที่ดินแปลงใด มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่า เจ้าของที่ดินแปลงนั้น จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ ไปสู่ทางสาธารณะได้ที่ดินแปลงใด มีทางออกได้ แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือ ทะเล หรือ มีที่ชัน อันระดับที่ดิน กับทางสาธารณะ สูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่า ให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับที่ และ วิธีทำทางผ่านนั้น ต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็น ของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึง ที่ดินที่ล้อมอยู่ ให้เสียหายแต่น้อยที่สุด ที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็น ผู้มีสิทธิจะผ่าน จะสร้างถนน เป็นทางผ่าน ก็ได้ผู้มีสิทธิจะผ่าน ต้องใช้ค่าทดแทน ให้แก่เจ้าของที่ดิน ที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหาย อันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้น นอกจากค่าเสียหาย เพราะสร้างถนน ท่านว่า จะกำหนดเป็นเงินรายปี ก็ได้” จะเห็นว่ากฎหมายให้สิทธิเจ้าของที่ดิน ซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นรายล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะสามารถมี “ ทางจำเป็น “ ขึ้นมาได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9325/2553 การฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นโจทก์จะฟ้องได้ต่อเมื่อที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่น ล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1349 แต่หากเป็นกรณีแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกัน ทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกนั้นแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่งหมายถึงทาง สาธารณะที่มีอยู่ในขณะแบ่งแยกนั้นแล้ว ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 เมื่อปรากฏว่า การแบ่งแยกที่ดินพิพาทกับที่ดินของโจทก์ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1275 กระทำกันในปี 2531 ก่อนมีถนนพุทธมณฑลสาย 1 ในปี 2541 กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 มาบังคับได้ ทางจากที่ดินของโจทก์ออกสู่ทางสาธารณะทั้ง 3 ทาง เป็นเส้นทางที่ต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นและไม่ปรากฏว่าเป็นทางสาธารณะ อีกทั้งไม่ใช่ทางที่เป็นภารยทรัพย์ของที่ดินของโจทก์ ซึ่งเจ้าของอาจจะอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ และแม้เจ้าของที่ดินนั้นจะยินยอมให้โจทก์ผ่านที่ดินของตนได้ก็ไม่ใช่สิทธิตามกฎหมาย ประกอบกับมีระยะทางจากที่ดินของโจทก์ไปสู่ทางสาธารณะไกลไม่สะดวก จึงฟังได้ว่า ที่ดินของโจทก์ถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของผู้อื่นจนไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้ แต่การที่จะเปิดทางจำเป็นนั้น ต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของโจทก์โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอย ที่ดินพิพาทให้เสียหายน้อยที่สุด  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3484-3485/2548 ที่ดินของจำเลยและของ บ. เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์ แม้จะแบ่งแยกออกจากที่ดินของโจทก์ เป็นของ บ. ก่อนแล้วจึงแบ่งแยกที่ดินของ บ. เป็นของจำเลยภายหลัง ก็ไม่ทำให้ที่ดินของจำเลยไม่ใช่ที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์มาแต่เดิม แต่อย่างใด ถือว่าที่ดินของโจทก์และจำเลยเป็นที่ดินที่มีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาจาก ที่ดินแปลงเดียวกัน เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางพิพาท เป็นทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 กรณีรู้อยู่ว่าที่ดินที่จะซื้อเป็นที่ดินตาบอดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เช่นนี้ ศาลฎีกาก็วินิจฉัยว่าผู้ซื้อก็มีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็นได้  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5103/2547 การขอผ่านทางที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกจากทางสาธารณะนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มุ่งพิจารณาถึงสภาพที่ดินนั้น จะต้องถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเป็นสำคัญ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงมีสิทธิจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ โดยมิต้องกำหนดเงื่อนไขว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมจะต้องได้ที่ดินมาโดยสุจริต แม้จะฟังได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินมาโดยรู้อยู่แล้วว่ามีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ออกสู่ทางสาธารณะหมดไป ทางจำเป็นสามารถใช้ได้ตลอดไปเลยหรือ มีระยะเวลาสิ้นสุดเมื่อใด ? ด้วยเหตุที่ทางจำเป็นเกิดขึ้น เป็นการได้สิทธิตามกฎหมาย    กฎหมายมุ่งคุ้มครองสิทธิของผู้ที่มีที่ดินตาบอดจนไม่มีทางเชื่อมต่อสู่ทางสาธารณะเท่านั้น ดังนั้น เมื่อวันใดเจ้าของที่ดินนั้นมีทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้  หรือไปซื้อที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ทำให้ตนมีที่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ ทำให้ความจำเป็นต้องใช้ทางของผู้อื่นหมดไป   เช่นนี้   ก็ขอผ่านที่เขาอีกไม่ได้ ทางจำเป็นก็สิ้นสุดลง จากข้อมูลข้างต้น หวังว่าคงช่วยให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิของตนบนที่ดินตาบอดมากขึ้นนะครับ และในฉบับหน้า จะมีกฎหมายอะไรที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมาเล่าสู่กันฟังอีก คอยติดตามนะครับ สวัสดีครับ...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 ปัญหาที่ดินตาบอด ไม่มีทางออก จะทำอย่างไร ?

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ก็มีเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับที่ดินซึ่งเป็นประโยชน์ที่ผู้บริโภคควรรู้ไว้ เพื่อพิทักษ์สิทธิของตนเองมาแนะนำอีกเช่นเคยครับ ท่านผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “ที่ดินตาบอด” แค่ชื่อก็ฟังดูไม่น่าจะดีแล้วใช่ไหมครับ แต่หลายท่านคงนึกสงสัยว่าทำไมต้องเรียกแบบนั้น  ความจริงก็คือที่ดินตาบอดเป็นที่ดินซึ่ง  “ไม่มีทางติดกับทางสาธารณะ หรือไม่มีทางเชื่อมไปสู่ทางสาธารณะได้”    ซึ่งหลายท่านคงมีที่ดินเป็นของตนเอง แต่ก็มักเจอปัญหาว่า ไปซื้อที่ดินไว้แล้วปรากฏว่าที่ดินที่ซื้อนั้น ถูกที่ดินของคนอื่นรายล้อม เป็นที่ดินซึ่งอยู่ห่างจากถนนหนทางพอสมควรการเข้าออกต้องผ่านทางที่ดินของผู้อื่น  แล้วอย่างนี้ จะทำอย่างไรดี ถึงจะสามารถมีทางเข้าออกจากที่ดินของตนเองสู่ทางสาธารณะได้ ในเรื่องนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ได้บัญญัติไว้ว่า “ ที่ดินแปลงใด มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่า เจ้าของที่ดินแปลงนั้น จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ ไปสู่ทางสาธารณะได้ ที่ดินแปลงใด มีทางออกได้ แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือ ทะเล หรือ มีที่ชัน อันระดับที่ดิน กับทางสาธารณะ สูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่า ให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ ที่ และ วิธีทำทางผ่านนั้น ต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็น ของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึง ที่ดินที่ล้อมอยู่ ให้เสียหายแต่น้อยที่สุด ที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็น ผู้มีสิทธิจะผ่าน จะสร้างถนน เป็นทางผ่าน ก็ได้ ผู้มีสิทธิจะผ่าน ต้องใช้ค่าทดแทน ให้แก่เจ้าของที่ดิน ที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหาย อันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้น นอกจากค่าเสียหาย เพราะสร้างถนน ท่านว่า จะกำหนดเป็นเงินรายปี ก็ได้” จากบทกฎหมายดังกล่าว เห็นได้ว่ากฎหมายให้สิทธิเจ้าของที่ดิน ซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นรายล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะสามารถมี “ ทางจำเป็น “ ขึ้นมาได้ ดังนั้นสิทธิดังกล่าวเรียกว่าเป็นทรัพยสิทธิ เป็นสิทธิเหนือทรัพย์สินที่มีการรับรองไว้โดยกฎหมาย เจ้าของสิทธิดังกล่าวใช้อ้างกับบุคคลทั่วไปได้ ดังนั้นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวจึงไม่ต้องไปจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีเจ้าของที่ดินมีที่ติดทางสาธารณะ เช่น คลอง  แต่ปรากฏว่า คลองดังกล่าวน้ำตื้นเขิน ไม่สามารถใช้สัญจรไปมาได้เป็นเวลานานแล้ว เช่นนี้ เจ้าของที่ดินตาบอดก็สามารถขอให้เปิดทางจำเป็นได้เช่นกัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800 - 801/2544 คลองบางไผ่น้อย แม้ใช้เรือสัญจรเข้าออกได้ แต่ก็ขาดความสะดวกที่จะใช้สอยเป็นทางสาธารณะได้ตามปกติ จึงยังไม่พอที่จะถือได้ว่าเป็นทางสาธารณะตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1349 เหตุนี้โจทก์ทั้งสามจึงมีความจำเป็นที่จะต้องผ่านที่ดินของจำเลยซึ่ง ล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะโดยใช้ทางเดินพิพาทผ่านเข้าออกได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามใช้ทางเดินพิพาทเป็นทางจำเป็นนั้น ชอบแล้ว ในบางครั้งคนที่ใช้ทางเป็นเพียงผู้เช่าที่ดินจากเจ้าของที่ดินตาบอด ตนเองไม่ได้ใช้ทาง แต่ก็สามารถฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้ แม้สิทธิในทางจำเป็นตามมาตรา 1349 จะให้สิทธิเจ้าของที่ดินมีสิทธิใช้ทางจำเป็น แต่เจ้าของที่ดินก็สามารถให้คนอื่นใช้สิทธิในที่ดินแทนตนได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1364/2553 โจทก์เคยใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะ และในขณะยื่นฟ้อง ผู้เช่าที่ดินของโจทก์ทำสวนผลไม้ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินโจทก์มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกเช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นในที่ดินพิพาทของจำเลย แต่ถ้าเจ้าของที่ดินไม่ได้เป็นโจทก์ฟ้อง โดยมีผู้เช่าหรือผู้อาศัยสิทธิในที่ดินเป็นคนฟ้องคดี ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า ผู้เช่าหรือผู้อาศัยสิทธิในที่ดินไม่มีอำนาจฟ้อง ( คำพิพากษาฏีกาที่ 5740/2551 ) กรณีที่ดินแปลงเดียวกัน แล้วต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นหลายแปลง เช่นนี้ ทำให้เจ้าของที่ดินบางแปลงไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่กฎหมายก็มีทางออกให้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ได้ให้สิทธิเจ้าของที่ดินตาบอดดังกล่าว ขอให้เจ้าของที่ดินซึ่งรายล้อมอยู่นั้นเปิดทางจำเป็นได้ โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน โดย บัญญัติว่า “ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน” ซึ่งแตกต่างจากกรณี มาตรา1349 ที่ต้องเสียค่าทดแทนด้วย ผมขอลงเรื่องราวเพิ่มเติมออกไปอีกสักฉบับนะครับ รอติดตามครับ  

อ่านเพิ่มเติม >