ฉบับที่ 262 ปี 2565 เศรษฐกิจแย่ แอปกู้เงินออนไลน์หลอกลวงระบาดหนัก พบร้องเรียนมากสุด

        ปี 2565 เศรษฐกิจแย่ แอปกู้เงินออนไลน์หลอกลวงระบาดหนัก พบร้องเรียนมากสุด        2565 เป็นปีที่ผู้บริโภคไทยยังต้องรับมือกับยุคข้าวยากหมากแพง จากผลสำรวจของ EIC (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์เผยคนรายได้น้อยกระทบหนัก เหตุรายได้ไม่เพิ่ม แต่ค่าใช้จ่ายพุ่ง ทำให้อัตราการออมลดและเกือบครึ่งผิดนัดชำระหนี้ สอดรับกับปัญหาสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประจำปี 2565 พบว่า ปัญหาการเงินการธนาคาร “ถูกแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์หลอกลวงผู้บริโภค” พุ่งอันดับ 1 และเรื่องที่ปรึกษามากทุกวันคือ “ทำอย่างไรเมื่อไม่มีเงินจ่ายหนี้”         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคของปี 2565  (1 มกราคม - 30 พฤศจิกายน 65) จากจำนวนผู้ร้องเรียน 2,090 ราย พบ อันดับที่หนึ่ง ปัญหาการเงินการธนาคาร/ประกัน 487 เรื่อง (ร้อยละ 23.3)  อันดับที่สอง ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป 415   เรื่อง (ร้อยละ  19.9) และอันดับที่สาม ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม รวม  378  เรื่อง (ร้อยละ  18.1)           อันดับ 1 “ถูกแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์หลอกลวง”         ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ถูกแอพกู้เงินออนไลน์หลอก มีทั้งกรณีหลอกให้กู้แล้วได้เงินจริงแต่เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และกรณีกู้เงินแต่ไม่ได้เงินแต่กลับต้องเสียเงิน ตามมาด้วยปัญหาหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และเช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหลายรายไม่มีรายได้ ตกงาน ทำให้ไม่มีเงินชำระหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อต่างๆ ในปี 2565 ปัญหาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นปัญหายอดฮิตที่ผู้บริโภคเข้ามาปรึกษาที่มูลนิธิฯผ่านช่องทางต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะสอบถามประเด็นเป็นหนี้แล้วไม่มีเงินชำระต้องทำอย่างไร ได้รับหมายศาลผิดนัดชำระหนี้         สำหรับปัญหาประกัน กรณีการเคลมประกันโควิด ทั้งการเคลมประกันล่าช้า โดยลักษณะปัญหาคือ บริษัทประกันหลายที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่กำหนดให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยภายใน 15 วัน กรณียื่นเอกสารครบถ้วน หากผู้เอาประกันยื่นเอกสารไม่ครบถ้วนให้แจ้งภายในวันเดียวกับที่ตรวจพบและให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ยื่นเอกสารครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องบางรายส่งเอกสารครบถ้วนตามที่บริษัทแจ้ง ผ่านมา 3 เดือนยังไม่ได้รับค่ากรมธรรม์ และการที่บริษัทบอกเลิกสัญญา ยกเลิกประกันภัย การติดเชื้อไวรัสโคโร่นา แบบ เจอ จ่าย จบ หรือ โควิด 2 in 1 ระบุจ่ายเงินเบี้ยประกันคืน 15 วัน ทั้งนี้บริษัทจะแจ้งผู้ทำประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโร่นา แบบข้างต้นว่า ทางบริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ แบบเจอ จ่าย จบ และ 2 In 1 สืบเนื่องจากภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อโควิดที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและมีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงจนคาดเดาสถานการณ์ไม่ได้ อันดับ 2 “สินค้าชำรุด ไม่ตรงปก โปรโมชันหลอก”         ในขณะที่ผู้บริโภคเผชิญกับปัญหาสินค้าแพง ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่อง สินค้าไม่ตรงปก และโฆษณาเกินจริงอีกด้วย โดยเฉพาะสินค้าที่สั่งทางออนไลน์ เช่น เสื้อผ้า ซึ่งจะได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณาหรือแสดงไว้บนหน้าแพลตฟอร์ม ส่วนกรณีซื้อสินค้าจากร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก พบปัญหาการแสดงราคาผิดและการแสดงโปรโมชันไม่ถูกต้องหรือการจัดวางสินค้าไม่ตรงกับป้ายแสดงราคา ทำให้เกิดปัญหาการเข้าใจผิด เช่น ที่ป้ายแจ้งว่าสินค้าซื้อ 1 แถม 1 แต่เมื่อนำสินค้าไปชำระเงินพนักงานกลับคิดราคาเต็มไม่มีการแถม เป็นต้น         ในส่วนของงานบริการ ผู้บริโภคพบปัญหาหลายด้าน อาทิ การถูกชักชวนให้ซื้อคอร์สบริการความงามต่างๆ หรือการเปิดบูธลวงขายเครื่องสำอางแพงเกินจริง การพบแอพขายสินค้าออนไลน์ที่ขายผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย และการหลอกซื้อบริการโปรแกรมทัวร์ท่องเที่ยวต่างประเทศล่วงหน้าแต่ถูกยกเลิกเที่ยวบินภายหลัง อันดับ 3 “คอลเซนเตอร์และ SMS หลอกลวง” ยังไม่หายไป         เมื่อปี 2564 ปัญหาเอสเอ็มเอสหลอกลวงจากบรรดามิจฉาชีพต่างๆ ครองอันดับหนึ่ง แต่เพราะการกระจายข่าวสารต่อสาธารณะมากขึ้น ทำให้ปัญหาลดความแรงลงมาแต่ไม่ใช่จะไม่มี ปีนี้ก็ยังเข้ามาเป็นอันดับที่ 3 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งประเด็น SMS สินเชื่อ , บริการกู้เงินออนไลน์ , SMS พนันออนไลน์ , SMS รบกวนหลอกให้กดลิงก์เพื่อล้วงข้อมูล/หลอกหลวงให้โอนเงินเข้าบัญชี                   สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคที่น่าสนใจอื่นๆ         บริการสุขภาพ  เรื่องสิทธิบัตรทอง เรื่องการคิดค่าบริการสูงไม่สมเหตุผลของสถานพยาบาลยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน ตลอดจนเรื่องการฉีด/ไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ยังมีผู้บริโภคบางส่วนสับสน         อาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้บริโภคยังเสี่ยงกับผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาเกินจริง อาหารเสริมโฆษณาสรรพคุณรักษาโรค อาหารหมดอายุก่อนวันที่แสดงบนฉลาก อาหารที่พบเจอสิ่งแปลกปลอมซึ่งแสดงถึงความไม่สะอาดถูกสุขลักษณะหรือแม้แต่อาหารที่สั่งทางออนไลน์ได้ไม่ตรงกับภาพโฆษณา         บริการขนส่งและยานพาหนะ เมื่อแท็กซี่เริ่มกลับมาให้บริการปกติ สถานการณ์แท็กซี่บอกปฏิเสธผู้โดยสารก็กลับมาเพิ่มในเรื่องร้องเรียนมากขึ้น รวมถึงวินมอเตอร์ไซต์ที่เรียกเก็บค่าบริการเกินราคาที่แสดง ขณะเดียวกันปีนี้กรมทางหลวงเปิดบริการ M-flow ก็พบว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ ว่า         “หลังจากได้เริ่มประกาศใช้ระบบดังกล่าวมีกระแสจากผู้ใช้เส้นทางสับสนในการใช้ช่องทางให้ถูกต้อง เกิดการเบียดแทรกเปลี่ยนเลนช่วงก่อนเข้าด่านเก็บเงิน ส่งผลให้การจราจรหน้าด่านติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วนมากขึ้นกว่าเดิม อีกหนึ่งปัญหาที่พบคือ ผู้ใช้ถนนขาจรที่ไม่ค่อยได้สัญจรผ่านเส้นทางมอเตอร์เวย์สาย 9 หลายคนเลือกใช้ช่องผ่านด่านของ M-Flow ทั้งที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน แต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางต่างๆ ภายใน 2 วัน สำหรับรถที่ใช้บริการผ่าน M-Flow และไม่เสียค่าธรรมเนียมภายใน 2 วัน จะถูกปรับ 10 เท่า หรือคิดเป็นขั้นต่ำ 330 บาทต่อการผ่านทาง 1 ครั้ง ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่าค่าปรับดังกล่าวนั้นแพงไป เนื่องจากยังมีผู้ใช้รถใช้ถนนอีกไม่น้อยที่ยังไม่รู้จักกับระบบ M-Flow อีกทั้งวิธีการประชาสัมพันธ์ของกรมทางหลวงที่ไม่สามารถกระจายข่าวสารได้มากพอ จึงสร้างความสับสนและปัญหาในมิติอื่นๆ ที่ตามมาอีกจำนวนมาก”         อีกกรณีที่น่าสนใจคือ ร้องเรียนกรณีสายการบินยกเลิกเที่ยวบินเนื่องจากสถานการณ์โควิดจนถึงปัจจุบันสายการบินยังไม่ได้ดำเนินการคืนแก่ผู้ร้อง ไม่ว่าจะเป็นสายการบินในประเทศและต่างประเทศ ปัญหาที่พบคือสายการบินไม่ยอมคืนเงินแก่ผู้โดยสารแจ้งข้อเสนอให้ผู้บริโภคเลือกเครดิตเดินทางภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งทางเลือกดังกล่าวไม่ตอบโจทย์และเป็นธรรมเก็บผู้บริโภค เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19เป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะดีขึ้นเมื่อไหร่ ผู้บริโภคบางรายไม่ต้องการรับเครดิตตามที่สายการบินเสนอแล้ว สายการบินที่ได้มีการแจ้งร้องเรียนมายังมูลนิธิฯอาทิ สายการบิน Thai VietJet สายการบิน Thai Lion Air เป็นต้น โดยสายการบินที่ถูกร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากได้แก่ สายการบินแอร์เอเชียและแอร์เอเชียเอ็กซ์          อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย เรื่องร้องเรียนมากสุด ได้แก่ ร้องเรียนกรณีบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สร้างคอนโดไม่เสร็จตามสัญญาเมื่อยกเลิกสัญญาบริษัทฯกลับไม่ยอมคืนเงิน จากกรณีดังกล่าวมีผู้ร้องเดินทางมาร้องเรียนที่มูลนิธิฯด้วยตัวเองจำนวน 40 กว่ารายทั้งหมด 4 โครงการได้แก่ โครงการ ไรส์ พหล - อินทามระ โครงการ ดิ เอ็ก ไฮด์อะเวย์ โครงการ The excella salle 17 โครงการ ดิ เอ็กเซลลาซาล 17 โดยทางมูลนิธิฯได้มีการเปิดรับเรื่องให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายร้องเรียนและได้มีการเข้าพบกับตัวแทนบริษัทฯเพื่อสอบทางแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยตัวแทนบริษัทฯชี้แจงว่า ทางบริษัทฯอยู่ระหว่างการคืนเงินแก่ผู้ร้องโดยขอแบ่งชำระเป็นงวดและทำบันทึกสัญญา ทั้งนี้ปรากฎว่าบริษัทฯไม่ได้มีการชำระเงินงวดแรกตามที่ตกลงไว้ มูลนิธิฯจึงจะดำเนินการฟ้องคดีเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ร้อง        พลังงานและสิ่งแวดล้อม สืบเนื่องจากราคาพลังงานปีนี้ค่อนข้างพุ่งสูง ทำให้เกิดการร้องเรียนเรื่องค่าไฟฟ้าสูงเกินจริง ร้องเรียนกรณีต้องการเรียกค่าเสียหายจากการที่การไฟฟ้านครหลวงถอดมิเตอร์แล้วมิเตอร์ได้รับความเสียหาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 โอ้ละหนอ ... ดวงตาเอย

        ปัจจุบันเราใช้สายตาผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตกันมาก ทำให้หลายคนอาจเกิดปัญหาต่างๆ ทางสายตามากขึ้น  จึงเป็นโอกาสทองของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จะเข้ามาแทรกตรงนี้เพื่อให้ผู้บริโภคเคลิบเคลิ้มจนเสียเงินอย่างไม่จำเป็น โดยสารสำคัญล่าสุดที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยกมาอ้างถึงประโยชน์คือ “ลูทีน”         ในเว็บขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต พบว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิด ที่แจ้งว่ามีส่วนผสมของลูทีนและวิตามินต่างๆ แต่ที่เหมือนๆ กันคือ ทุกชนิดจะอ้างว่าตนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงรักษาดวงตา บางผลิตภัณฑ์มีการนำผลการวิจัยที่มีตัวเลขต่างๆ มาอ้างอิงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการรักษา เหมือนว่าเพิ่มความขลัง แรกๆ ก็อ้างว่าสามารถรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ แต่ลองอ่านไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามีการอ้างว่ารักษาโรคต่างๆ มากขึ้นไปอีก ประหนึ่งว่ามันคือ อาหารเทวดา เช่น ความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ  อาการหลอดเลือดแข็ง ลดไขมัน ทำให้ผิวพรรณสดใส ฯลฯ แต่ที่หาไม่เจอคือ ข้อมูลแสดงที่มาของการวิจัยว่าเป็นหน่วยงานทางวิชาการที่ไหนทำ หรือพูดภาษาบ้านๆ คือ ยกเมฆเอาข้อมูลมาอวดอ้าง แต่ไม่บอกแหล่งที่มาว่าใครวิจัย ดีที่ไม่อ้างว่าเทวดาวิจัย(ฮา)         เมื่อตามเข้าไปดูในเฟซบุ๊คของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ยิ่งหนักขึ้นไปอีก มีการนำภาพผ้สูงอายุมาประกอบการโฆษณา โดยมีข้อความชวนตะลึงเข้าไปอีก เช่น “ทานต่อเนื่อง 3 กล่อง ต้อเนื้อหลุด ตาพร่ามัวดีขึ้น มองชัด” ผลิตด้วยเทคโนโลยีนาโน และยังแทคข้อความแฝงสรรพคุณต่างๆ เช่น #แสบตา #เคืองตา #น้ำตาไหล #ตาพร่ามัว #แพ้แสง #แพ้ลม #มองไม่ชัด#ภาพซ้อน #หยากไย่ลอยไปลอยมา #ตาบอดกลางคืน #ต้อลม #ต้อกระจก#ต้อเนื้อ #ต้อหิน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีภาพกล่องพัสดุที่เตรียมส่งไปรษณีย์กองใหญ่ รวมทั้งโชว์ภาพใบส่งของไปรษณีย์ที่ยาวเหยียดมากมาย เหมือนโชว์ว่าสินค้านี้มีผู้สั่งซื้อจำนวนมาก         อันที่จริง ลูทีน เป็นสารอาหารในกลุ่มเดียวกับ เบต้าแคโรทีนและวิตามินเอ พบได้มากในผักและผลไม้หลายชนิด เช่น ผักปวยเล้ง บร็อคโคลี่ คะน้า ข้าวโพด กีวี องุ่น ส้ม ฯลฯ ดังนั้นไม่จำเป็นเลยที่จะต้องไปเสียเงินเสียทองซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแพงๆ มากิน หากใครติดตามข่าวจะพบว่าแม้กระทั่งจักษุแพทย์ เช่น ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังเคยออกมาเตือนผ่านทางสื่อต่างๆ ว่า โรคตาแต่ละชนิดมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นต้อกระจกต้องผ่าตัดต้อกระจก หากเป็นต้อหินก็ต้องให้ยาลดความดันลูกตา ไม่สามารถใช้วิตามินกินแล้วบอกว่ารักษาทุกโรคได้         สารลูทีนและซีแซนทีน เป็นกลุ่มวิตามิน ซึ่งมีการศึกษาที่พิสูจน์ว่าได้ประโยชน์เฉพาะผู้ป่วยจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุบางประเภท “ที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ก่อน” จึงจะสามารถใช้ยาได้ “ดังนั้นการโฆษณาว่ารักษาโรคตาได้ทุกโรคนั้นไม่เป็นความจริง เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หนำซ้ำจะทำให้เกิดอันตราย ขาดโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง ทำให้โรครุนแรงขึ้นจนถึงขั้นตาบอดได้” เช่น ถ้าเป็นต้อเนื้อ ก็จะลุกลามจนบังการมองเห็น ถ้าเป็นต้อกระจกก็จะทำให้อาการรุนแรงเกิดผลแทรกซ้อนกลายเป็นต้อหินและตาบอดในที่สุด ยิ่งถ้าเป็นต้อหินอยู่เดิมแล้วไม่ได้รับการรักษาด้วยยาลดความดันลูกตาอาจจะทำให้ตาบอดได้ บางคนอาจจะใช้เวลาเพียง 1-2 เดือนก็ทำให้ตาบอดได้        ทราบข้อมูลขนาดนี้แล้ว ช่วยๆ กันเตือนคนที่เรารัก ให้เท่าทัน หากมีปัญหาเรื่องตา ควรไปหาจักษุแพทย์ตรวจรักษาอย่างถูกวิธีดีกว่า อย่าไปหลงเป็นเหยื่อ ให้ผลิตภัณฑ์พวกมา...โอ้ละหนอ หลอกดวงตาจนอาจจะบอดเอย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2562

คนกรุงจ่ายค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ย 28.30 บาท/เที่ยว        ผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทางถนนและประเภทอื่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ผู้โดยสารไทยต้องควักเงินจ่ายค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าเฉลี่ยขั้นต่ำ 28.30 บาทต่อเที่ยว ซึ่งนับว่าแพงเกินไปกว่ากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลางและรายได้สูง โดยอัตราค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าเฉลี่ยของคนกรุงอยู่ที่เดือนละ 1,000-1,200 บาท หรือคิดเป็นเงินกว่า 12,000 บาทต่อปี        ขณะที่ข้อสรุปค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทาง พบว่า ไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศอื่น เทียบกับประเทศในภูมิภาค เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ รวมถึงไทยมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด โดยค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของไทยอยู่ที่ 2.14 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 67.10 บาท ทั้งนี้ เมื่อคิดค่าโดยสารเฉลี่ยต่อกิโลเมตรเดินทาง พบว่า ค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรของผู้โดยสารในไทยอยู่ที่ 0.478 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ หรือ 14.99 บาท สูงกว่าประเทศ อื่นๆ อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และอังกฤษ  "เมื่อยล้าหมดไฟ” โรคที่ต้องได้รับการรักษา"        หลังองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ(Burnout) เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะวิธีจัดการภาวะดังกล่าว หลักคือต้องจัดการสองด้าน ได้แก่ 1.ด้านการจัดการกับตัวเอง และ 2.การจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงาน        1.ด้านการจัดการกับตัวเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน, ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น นอนดูหนัง ฟังเพลง หรือชอปปิ้ง เพื่อให้รางวัลกับตนเอง, พูดคุยขอคำปรึกษากับผู้อื่น ว่าคุณรู้สึกหมดแรงหรือเบื่อ หากมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ ต้องการความช่วยเหลือหรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้        2.คำแนะนำของ WHO ในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยการปรับสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้มีความรู้สึกทางบวกมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้บริหาร เช่น สร้างเป้าหมายเส้นทางอาชีพให้พนักงานอย่างชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน นโยบายดูแลสุขภาพกายและใจของพนักงาน เพื่อช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม        ลักษณะอาการที่เข้าข่ายภาวะเมื่อยล้าหมดไฟที่เกิดขึ้นจากการทำงาน คือ 1.รู้สึกหมดไฟ เหนื่อยล้า พลังชีวิตหดหาย 2.มีความรู้สึกไม่อยากทำงาน ต้องการมีระยะห่างจากงานหรือมีทัศนคติเชิงลบต่องาน 3.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากความเครียดในการทำงานหรือการทำงานไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น ประกันสังคมเตรียมแก้กฎหมายเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได        สำนักงานประกันสังคม เตรียมพิจารณาแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมอีกรอบ โดยให้เก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได คือ ค่อยๆ ขยายเพดานเงินเดือนสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบ คาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะสามารถเก็บเงินสมทบได้เดือนละ 1,000 บาท ตามเป้าหมาย        นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้มีการเก็บเงินสมทบเพิ่มโดยขยายเพดานจากเดือนละ 750 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท เพื่อให้มีเงินไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ และทำให้เพิ่มเงินบำนาญหลังเกษียณ แต่หลังจากที่มีการนำไปรับฟังความเห็นมาแล้วพบว่า มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงยังไม่ได้เดินหน้าต่อ แต่ไม่ได้ล้มเลิก ขณะนี้กำลังพิจารณาเรื่องการเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได อย่างไรก็ตามอาจจะต้องดูนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่และรัฐบาลชุดใหม่อีกครั้งว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่        เหตุที่ต้องเก็บเงินสมทบเพิ่ม สปส.ระบุว่า “สปส.เริ่มเก็บเงินสมทบ 5% โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 1,650 บาท สูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท ทำให้มีการเก็บเงินสมทบสูงสุดอยู่ที่ 750 บาทต่อเดือน ซึ่งเก็บอัตรานี้มาตั้งแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบันโดยไม่ได้เก็บเพิ่มเลย ขณะที่แต่ละปีมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากขึ้นรวมถึงสิทธิประโยชน์อีกหลายอย่างที่มีการเรียกร้องกันอยู่ นอกจากนี้ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกันสังคมเริ่มเข้าสู่ช่วงจ่ายเงินบำนาญให้ผู้ประกันตน มีการคาดการณ์ว่า หากไม่เก็บเพิ่มในปี 2579 จะทำให้เงินเข้ากองทุนน้อยกว่าเงินที่ต้องจ่ายออก กระทบกับเสถียรภาพของกองทุน"พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชนโขกค่ารักษา-ค่ายา"        "พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชน เคสคิดค่ารักษาพยาบาลอาการท้องเสีย 3 หมื่น และค่ายาแพงเกินจริงแล้ว ในข้อหาค้ากำไรเกินควร พร้อมเดินหน้าทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ หลังทำข้อมูลราคายาเสร็จแล้ว        ทางกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เคสดังกล่าวผู้ป่วยมาด้วยอาการท้องเสีย การคิดราคาถึง 3 หมื่น เป็นการรักษาที่มากเกินกว่าความจำเป็น และมีการคิดราคาเกินสมควร และกรณีค่ายา เมื่อเปรียบเทียบกับราคาในบัญชียาที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) พบว่า มีการคิดราคาสูงเกินจริงมาก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย จึงต้องส่งดำเนินคดี ส่วนที่กรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ออกมายืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่ผิดนั้น ก็เป็นส่วนการดำเนินการของ สบส. เพราะกรมการค้าภายใน พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น        ขณะนี้กรมการค้าภายในยังได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ เช่น จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้เป็นระบบ ก่อนที่จะนำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ ที่ www.dit.go.th เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบราคา และเปรียบเทียบราคาของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับการรักษาได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้จัดทำฐานข้อมูลราคายาเสร็จสิ้น และพร้อมเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ แล้ว คาดว่าน่าจะทำให้แล้วเสร็จได้ภายใน 2-3 เดือน        สำหรับประชาชน ต่อไปหากพบว่าถูกคิดค่าใช้จ่ายในราคาสูงเกินจริง สูงกว่าที่มีการแจ้งราคาไว้กับกรมการค้าภายใน ก็สามารถร้องเรียนมาที่สายด่วน โทร 1569 หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีคิดราคาสูงเกินจริง จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับห้างดังร่วมลดปัญหาขยะ งดแจกถุงพลาสติก และแพคเกจจิงโฟม        ขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ติดอันดับประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด เป็นอันดับ 6 ของโลก ด้วยปริมาณขยะพลาสติกกว่า 2 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าต่างๆ เริ่มมีมาตรการในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และปริมาณขยะพลาสติกมากขึ้น        เริ่มที่ กลุ่มเซ็นทรัล ได้ผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจในเครือ จัดแคมเปญ Central Love the Earth ‘Say No to Plastic Bags’ เพื่องดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้าอย่างจริงจัง พร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562 โดยจะเริ่มปฏิบัติการนี้ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 นี้เป็นวันแรก พร้อมตั้งเป้าว่าปีนี้จะลดให้ได้กว่า 150 ล้านใบ        Tesco Lotus เริ่มรณรงค์งดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้ามาแล้วตั้งแต่ปี 2553 โดยใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจ ที่ว่าถ้าลูกค้าปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติก หรือนำถุงผ้ามาชอปปิงเอง จะได้รับแต้มในคลับการ์ดเพิ่ม 20 แต้ม และได้มีการเพิ่มขึ้นจนในปัจจุบันเป็น 50 แต้ม และในปีนี้ก็ได้ประกาศยกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมทั้งหมด(100%) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป        จากนโยบายของธุรกิจค้าปลีก อย่าง กลุ่มเซ็นทรัล ที่ตั้งเป้าจะลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้กว่า 150 ล้านใบ และเทสโก้ โลตัส ที่มีเป้าหมายลดแพคเกจจิ้งโฟม อีก 11.24 ล้านถาดในปีนี้ คาดว่าจะสามารถช่วยให้ประเทศไทยลดขยะพลาสติกและโฟมไปได้ถึง 161.24 ล้านชิ้นภายใน 1 ปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 แนวทางความเป็นไปได้เพื่อแก้ปัญหาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพง

11 พ.ค. 2561 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน หรือ คอบช.โดยคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ พร้อมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้กำกับดูแลการกำหนดราคาค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนทั้งค่ายา ค่ารักษา และค่าเวชภัณฑ์ ด้วย 4 ข้อเสนอสำคัญ ค่ารักษา รพ.เอกชนแพง ปัญหาค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนที่แพงจนเป็นที่รู้กันนั้น แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมที่สะท้อนความคับข้องใจของคนไทย เมื่อนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้ชักชวนประชาชนร่วมลงชื่อกับ www.change.org/privatehospitals เมื่อปี 2558 เพื่อนำรายชื่อเข้าเสนอต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมค่ารักษาพยาบาล  “ทุกสื่อพร้อมใจกันประโคมข่าวชนิดที่ดิฉันไม่เคยเจอมาก่อน ต้องให้สัมภาษณ์ 3 คืน 4 วันติดกันจนไข้ขึ้น ผลคือประชาชนลงชื่อมากถึง 3.5 หมื่นชื่อในสองสัปดาห์” นางปรียนันท์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ผลจากเสียงสะท้อนของคนไทย รัฐบาล คสช.ที่ขณะนั้นกำลังต้องการสร้างผลงาน ท่านนายกรัฐมนตรีได้บัญชาการให้มีการจัดการปัญหาดังกล่าว จึงเกิดความเคลื่อนไหวทั้งจากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหา โดยแนวทางการแก้ไขที่วางไว้ในปีนั้น คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน ได้จัดตั้งคณะทำงาน มุ่งแก้ไข 3 ประเด็นหลัก ได้แก่1. รวบรวมข้อมูลค่ายา ค่าบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ ประกาศในเว็บไซต์กลางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจสอบได้ 2. เปิดสายด่วนรับเรื่องจากประชาชน 3 เบอร์ เพื่อให้ข้อมูลประชาชน และรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน 3. เรื่องบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 72 ชั่วโมง ฟรีทุกที ไม่มีการเรียกเก็บเงินจากประชาชน ถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2561 มีเพียงแนวทางที่ 3 คือ การให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินที่สำเร็จ  นอกนั้นยังอยู่ในขั้นศึกษาวิจัย ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ในระยะเวลาที่ผ่านมา  เกิดการผลักดันให้มีการควบคุมราคายา โดยกรมการค้าภายในได้กำหนดให้ยาเข้าไปอยู่ในประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2561 เรื่องการกำหนดสินค้าและบริการควบคุม  ซึ่ง ข้อ 3 (16) กำหนดให้ ยารักษาโรคเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งจะมีผลให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจดูแลป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่ายหรือกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรมได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองมาตรการที่ได้มา ยังไม่เพียงพอต่อการจัดการกับปัญหา   ความเคลื่อนไหวปี พ.ศ.2561เมื่อมองสภาพการณ์ปัจจุบัน แม้บทบาทของภาครัฐจะเริ่มอ่อนลงไป แต่ภาคประชาชนยังต้องเดินหน้าต่อ ในงานเสวนา “ความเป็นไปได้ในการตรวจสอบและกำกับค่ารักษาพยาบาลแพง” เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านบริการสุขภาพ  ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเราทุกคน เพราะทุกคนมีโอกาสจะป่วยหรือเป็นผู้บริโภคที่อาจต้องไปใช้บริการของโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ในช่วงปีที่ผ่านมา มูลนิธิผู้บริโภครวมถึงเครือข่ายตามพื้นที่ต่างๆ พบว่า หนึ่งในห้าอันดับต้นๆ ที่ได้รับการร้องเรียน เป็นเรื่องเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนมีราคาแพง” ดังนั้นภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้จุดประกายมาตั้งแต่ ปี 2558 จึงต้องก้าวต่อไป       ฉลาดซื้อได้ร่วมฟังเสวนาดังกล่าว พบว่า มีสาระที่น่าสนใจและน่าจะพอเป็นแนวทางให้ผู้บริโภคได้เข้าใจร่วมกันว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน สำหรับการที่จะทำให้ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนนั้น เหมาะสมและเป็นธรรม จึงขอนำเนื้อหาโดยสรุปมานำเสนอไว้ ณ ที่นี้  พ.ต.อ.รศ.พณาเจือเพชร์ กฤษณะราช อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดระยองกล่าวว่า ประสบการณ์ตรงคือ ญาติเส้นโลหิตในสมองแตก ถูกพาส่งโรงพยาบาลเอกชนตอนเที่ยงคืนในสภาพไม่รู้สึกตัว เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่กว่าจะได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทำการรักษาคือบ่ายสองโมงของวันถัดมา ประสบการณ์นี้ทำให้ต้องค้นหาข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งพบว่า โรงพยาบาลที่เกิดเหตุการณ์ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ประจำ ต้องตามตัวมาจากโรงพยาบาลรัฐ สิ่งนี้สวนทางกับความคาดหวังของญาติคนป่วย ที่ต้องการรักษาชีวิตคนให้ทันท่วงที จึงรีบพามาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งเรื่องที่ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำ คงเป็นเพราะโรงพยาบาลต้องการ “ตัดค่าใช้จ่าย” นั่นเอง  ประเด็นต่อมาคือ กรณีของญาติเข้าข่ายเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตนเองพบว่า ทาง รพ.ไม่ได้แจ้ง สพฉ. ตามระเบียบปฏิบัติ การเข้ารักษาตัวเพียงสองวันต้องจ่ายเงินไปเกือบล้านบาท เพราะทาง รพ.ไม่ทำตามเงื่อนไข และเมื่อตนโพสต์เรื่องราวบนโซเชียล กลับถูกตอบโต้จากแพทย์คนหนึ่ง ที่มีนามสกุลเดียวกันกับกรรมการแพทยสภา นี่เรียกว่า ผลประโยชน์ทับซ้อนของหน่วยงานที่ควรจะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่  บทเรียนครั้งนี้ทำให้ได้ข้อสรุปว่า เหตุที่โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลแพง เพราะประเทศไทยเราไม่มีกฎกติกาอะไรที่จัดการปัญหานี้ได้ เคยลองศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกา ส่วนใหญ่ก็เป็นประโยชน์ต่อทางโรงพยาบาลทั้งนั้น ภาครัฐเองก็สนับสนุน เช่น นโยบาย Medical Hub, การอนุญาตให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าตลาดหุ้น ซึ่งยิ่งส่งเสริมให้เกิดการแสวงหาผลกำไร ทั้งที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล  ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี ทุกสิ่งในโลกเป็นทวิภาวะ คือมีสองด้าน โรงพยาบาลเอกชนมีด้านมืด โรงพยาบาลรัฐก็มีเช่นกัน การมองอะไรด้านเดียวจะทำให้เราถูกบีบให้คิดกว้างไม่ได้ เดิมสังคมมนุษย์อยู่กันด้วยความไว้วางใจ แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนผ่านมีคนอยู่ร่วมกันมากมาย ความไว้ใจอาจไม่พอ ต้องมีรัฐเข้ามาเป็นคนจัดการ อย่างไรก็ตามเราก็ไม่อาจวางใจรัฐได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ สังคมวันนี้จึงมาถึงสิ่งที่เรียกว่า เทคโนโลยี ซึ่งไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ย่อมถือเป็นกติกาที่วางใจได้  ยกตัวอย่าง “ถ้าตนเองมีเทคโนโลยีที่มีข้อมูลส่วนตัวทุกอย่างอยู่ในนี้และควบคุมมันได้  หมายถึงอนุญาตให้ใครก็ได้เข้าถึงข้อมูลนี้  วันหนึ่งเกิดป่วยต้องไปหาหมอท่านหนึ่ง และเห็นข้อมูลรายการความสามารถในการรักษาโรคของหมอท่านนี้ เช่น ผ่าตัดมา 100 ราย รอด 70 ราย และมีท่านที่ 2,  3,  4  ให้เปรียบเทียบพร้อมกับราคา เมื่อเห็นว่าหมอท่านนี้ท่าทางจะเก็บเงินน้อยที่สุดด้วยฝีมือที่เท่ากัน เพราะฉะนั้นอนุญาตให้หมอเข้ามาหน้ากระดานอิเล็กทรอนิกส์ได้ นั่นแปลว่า หมอสามารถเปิดดูข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองได้ และถ้าหากตั้งโจทย์ไปว่า วันนี้มียาอยู่ 5 รายการ  แต่มีอาการมึนๆ ไม่แน่ใจว่าเกิดจากยาหรือไม่ ด้วยความเชี่ยวชาญของแพทย์ท่านนั้นก็จะบอกได้ เช่นให้ตัดยารายการที่ 4 ออกน่าจะดีขึ้น  พอหมอให้ความรู้มาก็จ่ายเงินไปอาจจะเป็น bitcoin หรืออะไรก็แล้วแต่   supply chain ซึ่งเป็นคนให้ยาก็จะรู้เลยว่า รอบหน้ายาขนานนี้ไม่ควรจ่ายให้อีก  นี่คือตัวอย่างของเทคโนโลยีที่ทำให้เราไม่ต้องมาเผชิญหน้ากัน” เรื่องการใช้เทคโนโลยีนี้เกิดการทดลองขึ้นแล้วในหลายประเทศ  อย่างไรก็ตามไม่ได้บอกว่านี่คือคำตอบสำเร็จที่จะให้ความหวังทั้งหมด  ในงานวิจัยของผมการได้ข้อมูลจากโรงพยาบาลเอกชนไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะไม่มีระบบที่จะเข้าถึงได้ ต้องพลิกแพลง สิ่งที่ค้นพบคือ เมื่อจำแนกโรงพยาบาลเอกชนเป็น 3 ประเภท คือ ในตลาดหลักทรัพย์  นอกตลาดหลักทรัพย์ และมูลนิธิ  ค่ารักษาพยาบาลในกลุ่มโรคและวิธีการรักษาที่ใกล้เคียงกัน  ราคาแพงที่สุดคือโรงพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์  รองลงมาก็คือโรงพยาบาลนอกตลาดหลักทรัพย์ และถูกที่สุดคือโรงพยาบาลของมูลนิธิ  โรงพยาบาลที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ราคาแพง เพราะถูกกดดันตามกติกาว่าต้องขยายผลกำไรและกิจการทุกๆ ปี คำถามคือ ถ้าฝากความหวังกับกลไกของรัฐ สามารถทำให้โรงพยาบาลเอกชนออกมาจากตลาดหลักทรัพย์ ได้หรือไม่ ถ้าทำได้ราคาจะไม่แพงอย่างที่เป็นอยู่ และเมื่อโรงพยาบาลเอกชนมีอยู่สามประเภท มีราคาขายที่แตกต่างกัน  ทำอย่างไรที่เราจะส่งเสริมให้โรงพยาบาลที่มีราคาขายถูกสุด มีบทบาทและได้ส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นในภาคเอกชน ทพ.อาคม  ประดิษฐ์สุวรรณ  ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการ สุขภาพ สำนักสถานพยาบาลและประกอบโรคศิลปะ ดูแลโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ 350 กว่าโรง  และคลินิกเอกชนประมาณ 20,000 กว่าแห่ง โรงพยาบาลเอกชนเองมีหลายประเภท ที่ปิดกิจการไปจำนวนมากก็มี ตนเองเห็นด้วยกับ นพ.ไพบูลย์ ว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่ควรเข้าตลาดหุ้น อย่างประเทศญี่ปุ่นบริการทางการแพทย์เข้าตลาดหุ้นไม่ได้ หมอของโรงพยาบาลรัฐบาลจะไปรักษาโรงพยาบาลเอกชน หรือหมอโรงพยาบาลเอกชนจะมารับราชการก็ไม่ได้ เขาห้ามและแยกเป็นสัดส่วนกัน   ในปี 2558 กระทรวงสาธารณสุขได้รับนโยบายให้แก้ไขปัญหาเรื่องราคาค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนที่แพงมาก แนวทางแยกเป็นสองเรื่อง คือ การแก้ไขปัญหายาราคาแพง กับค่ารักษาพยาบาลแพง จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ปัญหาแรกที่แก้ไขคือเรื่องของยาเป็นสินค้าควบคุม ที่ออกจากกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน  ทำอย่างไรจะควบคุมราคายาจากต้นทางได้ กระทรวงพาณิชย์มีกรรมการ เรียกว่า กรรมการควบคุมสินค้าราคากลาง(กกร.) คณะกรรมการนี้มีอำนาจเข้าไปกำหนดราคาสินค้าจากต้นทาง จากโรงงานได้ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์แล้ว กลับมาที่การควบคุมราคาบริการๆ ก็ผลักดันจนเกิดนโยบายเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน ฟรี 72 ชั่วโมง ซึ่งก็ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกหลายจุด แล้วเรื่องของค่ารักษาแพงได้ทำอะไรไปบ้าง ขณะนี้มีการจัดทำร่างประกาศ ตามมาตรา 3 เรื่องของการประกาศชนิดหรือประเภทของการรักษาพยาบาล  ยาเวชภัณฑ์ การบริการทางการแพทย์ หรือการบริการอื่นของสถานพยาบาล “การประกาศค่ารักษาพยาบาลต่อไปนี้ต้องทำเป็นแพ็คเกจ ถ้าราคาสามพันก็คือสามพัน จบกันแค่นี้ไม่มีอะไรเพิ่มเติม จะมาบอกว่าค่าผ้าก๊อซ ค่าเข็มฉีดยาเหมือนสมัยก่อนไม่ได้ ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมต้องแจ้ง  นี่คือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้ และเตรียมเสนอรัฐมนตรีเพื่อให้ประกาศออกมา น่าจะเสร็จในเร็วๆ นี้” อย่างไรก็ตามประกาศฉบับนี้ เราจะไม่สามารถกำหนดเรื่องราคาได้ เพราะบริการทางการแพทย์ไม่ใช่สินค้าควบคุม  ที่ทำได้คือ ต่อไปเมื่อโรงพยาบาลประกาศค่ารักษาพยาบาลแล้ว ต้องไม่เก็บเกินนั้น  ถ้าเกินคือผิดกฎหมายและมีบทลงโทษจำคุกด้วย ถ้าถามว่าแล้วกระทรวงสาธารณสุขจะมีนโยบายเรื่องกำหนดหรือควบคุมราคาไหม มองว่าปัญหาที่จะตามมาคือ เรื่องของมาตรฐานและคุณภาพ  เพราะโรงพยาบาลเอกชนมีหลายระดับ ในเรื่องเดียวกัน การควบคุมอาจต่างกัน ต้องมีการคิดทบทวนพอสมควร เพราะต้องยอมรับว่าตอนนี้ประเทศเราขายบริการทางการแพทย์อยู่ ปีที่แล้วมีคนเข้ารับบริการที่ประเทศเรามากที่สุดในโลกด้วย  และวันนี้ถ้าเราจะคิดเรื่องของการคุมราคา  มีคนเสนอให้คิดคนไทยราคาหนึ่ง คนต่างชาติราคาหนึ่ง แบบนี้ก็มีเรื่องสองมาตรฐานเกิดขึ้นแล้ว นางปรียนันท์  ล้อเสริมวัฒนา  ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ พูดกันตรงๆ ว่า ปัญหาอยู่ที่เวลาหน่วยงานรัฐทำงานไม่ค่อยให้ภาคประชาชนไปมีส่วนร่วม  จริงๆ แล้วเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ไม่อยากแตะเรื่องค่ารักษาเลย  เพราะว่าแค่ทำเรื่องความเสียหายก็ทำไม่ทันแล้ว แต่ว่าบังเอิญได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนเกี่ยวข้องกับมาตรฐานการรักษาด้วย ปัญหาเรื่องการเก็บค่ารักษาแพงมีเข้ามาอยู่เรื่อยๆ มีกรณีโรงพยาบาลเอกชนฟ้องร้องเรียกค่ารักษาจากคนไข้ ขนาดหน่วยงานอย่าง สปสช.บอกว่า คนไข้ไม่ต้องจ่าย แต่ในทางเอกสารหลักฐาน คนไข้จะแพ้คดี เพราะมีการเซ็นลายมือชื่อยินยอมไปแล้วว่า “ยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น”   ถามว่าเซ็นทำไม เวลาจริงๆ ที่เราหรือญาติเรากำลังจะเป็นจะตาย พนักงานโรงพยาบาลจะเอาเอกสารมากมายมาให้ก็ต้องเซ็นทั้งนั้น ภาพคนแก่หอบโฉนดที่ดินเอาไปมอบให้ทนายของโรงพยาบาลเอกชนเพื่อชดใช้หนี้นั้น  มันเศร้ามาก ต่อมาที่เครือข่ายได้ทำแคมเปญลงลายมือชื่อเสนอนายกฯ ให้แก้ปัญหา ก็มีการสั่งให้ตั้งกรรมการแต่อย่างที่ท่าน ผอ.อาคมพูด ตั้งแล้วก็ทิ้งภาคประชาชนเอาไว้ข้างหลัง  ไม่ให้เราไปมีส่วนร่วมเหมือนเราก็เต้นอยู่ข้างนอก พูดอะไรไปเขาไม่ให้ราคาเราเลย  คุยแต่วงราชการด้วยกัน หน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้  ภาคประชาชนถูกละเลยอย่างชัดเจน ปัจจุบันปัญหาก็ยังอยู่จุดเดิม คือเมื่อเกิดเรื่องขึ้นประชาชนยังต้องไปร้องเรียนหลายหน่วยงาน แค่ผู้บริโภคมีปัญหา สงสัยเรื่องบิลใบเดียว ค่าหมอ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ 1-2   รายการ  จำนวนเงินเป็นแสนๆ คืออะไรบ้าง  ต้องวิ่งไปหลายหน่วยงาน ไม่มี  One Stop Service   ทางออกที่ ท่าน อ.ไพบูลย์ กับ ท่าน สว.เสนอ น่าสนใจมาก  แต่ในฐานะประชาชนที่นอนอยู่กับปัญหา วันนี้จึงขอถามว่ามีความเป็นไปได้ไหม ถ้าเราอยากได้กรรมการที่จะเป็นจุดที่ช่วยประชาชนได้ ไม่ต้องวิ่งไปหลายหน่วยงาน แค่ไปที่นี่ที่เดียว   ข้อเสนอและทางออกที่น่าสนใจจากวงเสวนา “ตอนนี้อยากขอให้ช่วยกันลงชื่อใน Change.org ให้ครบห้าหมื่น เพื่อยื่นนายกฯ อีกครั้ง ว่าขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล  เราเสนอชื่อไปเลยและฟอร์มทีมไปเลย ถ้าเราเอาห้าหมื่นชื่อไปยื่นแล้วรัฐบาลไม่ขยับ เราจะตั้งกันเองเป็น “แพทยสภาเพื่อประชาชน” คู่ขนานกันไป เวลาวินิจฉัยเรื่องอะไรให้ประชาชนร้องเข้ามา เราก็จะมีข้อมูล  โปรโมทกรรมการชุดนี้ให้เต็มที่เลย  หลังจากนั้นค่อยเคลื่อน เอานักวิชาการและผู้รู้เข้ามา” นางปรียนันท์  ล้อเสริมวัฒนา  “เพิ่มอำนาจซื้อของกองทุน ที่สหรัฐอำนาจซื้อของเขามากพอที่จะทำให้โรงพยาบาลเอกชนจำนวนไม่น้อยต้องกังวลที่จะถูกตัดทอนสิทธิ แต่ถามว่ารายได้ของโรงพยาบาลเอกชนไทยส่วนใหญ่มาจากไหน คำตอบคือไม่ได้มาจากกองทุนของรัฐ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องคิดกลไกที่ให้รัฐไปส่งเสริมให้โรงพยาบาลเอกชนที่ทำตัวดีได้รับประโยชน์มากกว่าโรงพยาบาลที่มีปัญหา สุดท้าย ข้อเสนอของตนเองก็คือ การใช้เทคโนโลยี ภาษาอังกฤษเรียกว่า Block Chain  ที่ตัดคนกลางออกไปจากวงจรปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนที่จะมาแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการทุกชนิด จะทำให้การสื่อสาร  การรู้เท่าทันกันดีขึ้นมาก  รวมทั้งจะทำให้สังคมอยู่กันโดยมีกติกา  โดยที่ไม่ต้องฝากความหวังไว้กับคนกลาง”    ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล  “ส่งเสริมโรงพยาบาลรัฐให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการมากขึ้น แทนที่จะเอาเงินไปจ่ายเอกชน จ่ายให้รัฐดีกว่า รวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องและใช้ประโยชน์จากกฎหมายให้มากที่สุด สุดท้ายประชาชนต้องช่วยกันทำให้แพทยสภาเป็นที่พึ่งของประชาชนได้จริง ไม่สับสนในบทบาทตนเอง” พ.ต.อ.รศ.พณาเจือเพชร์ กฤษณะราช--------------------------------------------4 ข้อเสนอของ คอบช. ยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 25611. ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดออกประกาศให้ "บริการสาธารณสุข" เป็นบริการควบคุม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 โดยให้ผู้ประกอบการ สถานพยาบาลดำเนินการส่งรายการราคาต้นทุนการรักษา ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลส่งให้ทางกรมการค้า เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดราคาควบคุม2. กำหนดมาตรการระยะสั้น โดยประกาศราคาสูงสุดหรือราคากลาง อาทิ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการวิชาชีพ โดยให้นำราคากลางตามที่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กองทุนหลักประกันสุขภาพ ทั้ง 3 ระบบ (บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ) และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน มาใช้ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการประกาศราคาควบคุมตามข้อ 13. พัฒนาระบบรับเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาค่าบริการรักษาพยาบาล ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ค่าบริการวิชาชีพ ที่มีราคาแพง เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและรับประกันการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในกรณีจำเป็น เพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค4. ทบทวนมาตรการควบคุมราคายาและบริการรักษาพยาบาล ตัวอย่างเช่น "ยารักษาโรคซึ่งกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการฉบับที่1 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดสินค้าและบริการควบคุม หมวดยารักษาโรค (16 )" เช่นเดียวกันกับการควบคุมราคาผ้าอนามัย โดยให้มีการแจ้งต้นทุนราคาและรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ต้นตอ ปัญหาบริการ sms ขี้โกง แอบคิดเงินโดยไม่รู้ตัว

ปัญหาถูกคิดเงินจากบริการเสริม sms ข้อมูล ข่าวสาร ที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ เป็นหนึ่งในปัญหาที่มีมานาน และนับวันดูจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ลองถามคนใกล้ๆ ตัวคุณดู ผมว่า ต้องมีอย่างน้อยสักคนสองคนที่เคยโดนคิดเงินจากบริการเสริม sms สมัครเล่นเกมส์  โหลดคลิป ดูดวง ทายผลบอล โดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้ว่าเคยไปสมัครใช้บริการพวกนี้ไว้ตั้งแต่เมื่อไร ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เมื่อเทียบกับการร้องเรียนบริการโทรคมนาคมอื่น ๆ อย่างบริการอินเทอร์เน็ต และบริการโทรศัพท์ เราจะพบการร้องเรียนที่หลากหลาย เช่น บริการที่ได้รับไม่ตรงตามสัญญาหรือโฆษณา  หรืออาจจะมีบ้างที่ร้องเรียนว่าไม่ได้สมัครใช้แต่ถูกคิดเงิน แต่กับการร้องเรียนบริการเสริม sms มันชัดเจนมากว่า ผู้ร้องเรียนแทบจะทุกคนยืนยันว่าไม่เคยสมัครใช้บริการเสริม sms พวกนี้ และไม่ปรากฏว่ามีการร้องเรียนในว่าสมัครไปแล้วได้บริการไม่ครบ หรือบริการเสริม sms ที่ได้รับไม่ตรงตามที่โฆษณา  ตรงนี้ผมว่า มันสะท้อนให้เห็นว่า ระบบการสมัครใช้บริการของบริการเสริม sms ต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน เพราะจะเป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ร้องเรียนนับพันคน จะจำไม่ได้ว่าเคย แสดงเจตนาสมัครใช้บริการเสริม sms เหล่านี้   “สัญญา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอสนองถูกต้องตรงกัน” หลักกฎหมายว่าไว้อย่างนี้ คือ ต้องมี 3 องค์ประกอบ ทั้ง คำเสนอ คำสนอง และ “การแสดงเจตนาที่ต้องชัดเจน ถูกต้องตรงกัน” คำถามก็คือ แล้วการสมัครใช้บริการเสริม sms ที่ผ่านมาและในปัจจุบัน มันมีระบบที่ให้ผู้ใช้บริการแสดงเจตนา หรือยืนยันว่าต้องการสมัครใช้บริการจริงๆ หรือไม่ และเป็นระบบที่มีความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์เพียงพอหรือไม่   ที่ผ่านมา ก็คงมีผู้บริโภคบางคนเผลอไปกดปุ่มสมัครใช้บริการโดยไม่เจตนา แต่ก็มีไม่น้อยที่ถูกกลโกงเขียนโปรแกรมดักไว้ให้สมัครใช้บริการเพียงแค่มือไปโดนป้ายข้อความโฆษณา แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญด้าน cyber security ก็ยังเคยถูกเรียกเก็บค่าบริการเสริม sms ทั้งที่เจ้าตัวไม่เคยสมัครใช้บริการมาก่อน ซึ่งเป็นกลโกงของผู้ประกอบการ content partner บางรายที่ใช้วิธีเขียนโปรแกรมดักผู้ใช้บริการ เพียงแค่ลากมือผ่านป้าย banner ของบริการเสริมเหล่านี้ ก็จะมีผลเป็นการสมัครใช้บริการแล้ว ดังนั้น ยิ่งผู้คนใช้สมาร์ทโฟน หน้าจอทัชสกรีนมากขึ้น ปัญหาถูก sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้บริการก็พุ่งสูงขึ้นสอดคล้องกัน อย่างมีนัยสำคัญ ถ้าเทียบกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ในปัจจุบัน ก่อนที่เงินจะออกจากกระเป๋า จะต้องมีการกรอกรหัส แสดงตัวตน ยืนยันความเป็นเจ้าของก่อนทุกครั้งที่จะทำธุรกรรมไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน หรือการซื้อสินค้า ผ่าน mobile payment ผ่าน QR Code ในขณะที่การสมัครบริการเสริม sms ไม่มีขั้นตอนนี้ ให้ผู้ใช้บริการต้องกรอกรหัสแสดงตัวตนและยืนยันเจตนาสมัครใช้บริการ จึงเปิดโอกาส ให้มีการเขียนโปรแกรมเข้ามาโกงผู้ใช้บริการได้ง่าย ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาบริการเสริม sms คิดค่าบริการโดยไม่ได้สมัครให้ตรงจุดที่สุด ก็ต้องแก้กันที่ต้นเหตุ ทำให้ระบบการสมัครบริการมีความชัดเจน ทั้งในแง่เนื้อหาที่โฆษณา ที่ต้องไม่กำกวม เพราะหลายบริการอ่านแล้วก็งง เช่น กด *xxxx ใช้ฟรี 7 วัน” บางคนอาจจะแค่อยากทดลองใช้ฟรี แต่เมื่อกดไปแล้วกลับกลายเป็นการสมัครใช้ และหลังจากนั้นจะได้ใช้ฟรี 7 วัน ถ้าจะพูดให้ชัดเจนจริงๆ ก็คือ สมัครใช้บริการแล้วจะได้แถมฟรี 7 วัน และที่สำคัญ จะต้องมีระบบที่มีความปลอดภัย ให้ผู้บริโภคต้องกรอกรหัสยืนยันตัวตน และแสดงเจตนาสมัครใช้บริการอย่างชัดแจ้ง ไม่ใช่แค่การคลิกเลือกช่องสมัครใช้บริการ ซึ่งแม้จะต้องคลิกหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกัน bot (โปรแกรมอัตโนมัติ) ได้  ในขณะที่ภาครัฐและภาคธุรกิจ พยายามกระตุ้นและสนับสนุนให้ ประชาชนทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ อยากจะให้สังคมไทยเป็นสังคมไร้เงินสด แต่ถ้าระบบความปลอดภัย ยังไม่น่าเชื่อถือ ประชาชนก็คงไม่กล้าใช้บริการ  ก่อนจะเดินหน้าประเทศไทยยุค 4.0 แก้ปัญหาซ้ำซากอย่างเรื่อง  sms โกงเงิน กันก่อนดีไหม ครับ - CPA มีการเขียนโปรแกรมดัก ให้ mouse over มีผลเป็นการสมัครใช้บริการ- ขั้นตอนการสมัครใช้บริการ sms ข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน ไม่มีความปลอดภัย และรัดกุม เพียงพอ เปิดโอกาสให้มีการ เขียนโปรแกรม โกงผู้ใช้บริการได้ แม้จะมีการต้อง คลิกเลือกในหลายขั้นตอนก็ตามข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหา  ทำให้การสมัครใช้บริการ sms ข้อมูล ข่าวสาร ต้องมีกระบวนการขั้นตอน ให้ผู้ใช้บริการแสดงเจตนาสมัครใช้บริการที่ชัดเจน และมีความรัดกุม ปลอดภัย ในทางอิเล็กทรอนิกส์  เทียบกับธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ในปัจจุบัน ก่อนที่เงินจะออกจากกระเป๋า จะต้องมีการกรอกรหัส แสดงตัวตน ยืนยันความเป็นเจ้าของก่อน ทุกครั้งที่จะทำธุรกรรม ในขณะที่การสมัคร บริการ sms ไม่มีกระบวนการในขั้นตอนนี้ ทำให้เปิดโอกาส ให้มีการเขียนโปรแกรมเข้ามาโกงผู้ใช้บริการได้ง่าย รูปธรรมในการแก้ไขปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้บริการ ใช้อำนาจ กสทช. ตามประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ข้อ 5 (6) กำหนดให้บริการโทรคมนาคม ที่ไม่มีระบบสมัครใช้บริการ ที่ให้ผู้ใช้บริการแสดงตัวตนและเจตนาที่ชัดแจ้งในการสมัครใช้บริการ ถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ฯ ต่อกรณีปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้บริการ  ประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ฯ ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 มีสาระสำคัญ ที่กำหนดลักษณะการกระทำของผู้ให้บริการและตัวแทนที่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค อาทิ ข้อ 5 (3 )การโฆษณาเกินความจริง ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการ , ข้อ 5 (1)การไม่แจ้งรายละเอียดของบริการให้ครบถ้วน ถูกต้อง ,ข้อ 5 (5) การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวส่งข้อความโฆษณา sms โดยมิได้รับอนุญาตหรือความยินยอมจากผู้บริโภค จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เป็นต้น  เมื่อมีการร้องเรียนว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคม มีพฤติการณ์ที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค หากคณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคจริงและมีคำสั่งให้ระงับการกระทำดังกล่าว บริษัทฯ ผู้ให้บริการจะต้องห้ามกระทำการในลักษณะนั้นกับผู้ใช้บริการทุกราย และถ้ายังไม่หยุดการกระทำเอาเปรียบผู้บริโภคก็จะมีโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 5 ล้านบาท และจะปรับต่อไปเรื่อย ๆ อีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาท จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ  มาตรการนี้ จะเป็นผลดีต่อการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวม เพราะการร้องเรียนของผู้บริโภค 1 คน จะส่งผลช่วยให้ผู้ใช้บริการคนอื่น ๆ ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้บริการด้วยโดยอัตโนมัติ และมีผลห้ามมิให้เกิดการกระทำผิดซ้ำในลักษณะเดียวกันอีก  การเสนอเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้ ให้ กสทช. พิจารณา หลายกรณี เข้าข่ายเป็นการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่ง กสทช. ควรที่จะพิจารณาใช้อำนาจตามประกาศข้างต้น สอบสวนข้อเท็จจริง และสั่งห้ามกระทำการในลักษณะดังกล่าวอีกเป็นการทั่วไป เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ แต่การพิจารณาเรื่องร้องเรียนของ กสทช. ก็จะหยุดอยู่แค่การแก้ปัญหา case by case ให้แก้ผู้ร้องเรียน  แม้ว่า อนุกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภค ด้านกิจการโทรคมนาคม และกสทช. สายคุ้มครองผู้บริโภค จะได้พยายามเสนอให้มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้ ในแง่มุมของการบังคับใช้ ประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ในกิจการโทรคมนาคมแล้วก็ตาม แต่ก็มีการขัดขวาง ตัดตอนเรื่องร้องเรียน ให้หยุดอยู่แค่การแก้ปัญหาในระดับบุคคล 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 น้ำเชื่อมฟรุกโตสในอาหาร ก่อปัญหาต่อสุขภาพจริงหรือ

ความหวาน แทบจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ เพราะนอกจากจะช่วยทำให้รสชาติกลมกล่อมถูกปากแล้ว ยังส่งผลให้ผู้ที่บริโภครู้สึกสดชื่น หายอ่อนเพลียเพราะได้รับพลังงานในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ตามความหวานในอาหารกลับแฝงอันตรายที่สามารถส่งผลร้ายต่อสุขภาพ ทั้งในแง่ก่อให้เกิดอาการเสพติดความหวาน และเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วนหรือความดันโลหิตสูงน้ำตาลทรายแม้จะยังคงเป็นแหล่งความหวานของอาหาร แต่รู้หรือไม่ว่า ที่มาของรสหวานในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มส่วนใหญ่ กลับไม่ได้เกิดจากน้ำตาลทรายเพียงอย่างเดียว แต่มาจากส่วนผสมที่เรียกว่า “น้ำเชื่อมฟรุกโตสหรือน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง” (High Fructose Corn Syrup หรือ HFCS)  ซึ่งให้รสหวานได้มากกว่าน้ำตาลทรายธรรมดา แต่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราได้มากกว่าน้ำตาลทรายเสียอีก ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระสายอาหารและโภชนาการของฉลาดซื้อ เคยให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวไว้ในนิตยสารฉลาดซื้อประจำฉบับที่ 173 คอลัมน์ของฝากจากอินเทอร์เน็ต เรื่อง ดื่มน้ำหวานในฤดูร้อนพึงระวัง ว่าน้ำเชื่อมฟรุกโตสหรือน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง(HFCS) เป็นน้ำเชื่อมที่ได้จากการย่อยแป้งข้าวโพดจนเหลือเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตสนั้น มันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในวงการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพราะให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 1.3 เท่า รวมทั้งเป็นน้ำเชื่อมใสไม่มีสี จึงไม่บดบังสีของอาหารทำให้ดูน่าดื่มกิน ดังนั้นเมื่อเทียบกับน้ำตาลทรายที่มีราคาสูงและมักเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อใช้ในอาหารแล้ว จึงถือว่าคุ้มค่ากว่าในด้านราคาต้นทุนและความสะดวกในการผลิต อย่างไรก็ตามกลับมีงานวิจัยบางฉบับได้รายงานว่า ผู้ที่บริโภคน้ำเชื่อมข้าวโพดชนิดที่มีฟรุกโตสสูงนี้เป็นประจำ จะทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ เพราะน้ำเชื่อมดังกล่าวส่งผลต่อความอยากอาหาร ทำให้กินอาหารอื่นได้ในปริมาณมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ไขมันในเลือดสูงขึ้น โดยเฉพาะไขมันชนิดแอลดีแอลโคเลสเตอรอล (LDL-C) ซึ่งเป็นไขมันเลวที่ควรหลีกเลี่ยง รวมทั้งอาจทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน หรือกรดไขมันอิสระที่อาจส่งผลต่อภาวะไขมันเกาะตับ(Fatty Liver) ได้อีกด้วย เพราะน้ำเชื่อมดังกล่าวร่างกายนำไปเผาผลาญได้ที่เซลล์ตับเท่านั้น ดังนั้นพลังงานที่เกิดที่ตับ จึงมีความเหลือเฟือจนน่าจะส่งผลให้เกิดการสร้างไขมันสะสมขึ้นมาได้ ซึ่งต่างจากน้ำตาลโมเลกุลเดียวประเภทอื่น เช่น กลูโคส ที่สามารถเผาผลาญได้จากเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ประเด็นนี้ผู้บริโภคในต่างประเทศให้ความสนใจอย่างมาก ดังนั้นบรรดาผู้ผลิตอาหารจึงต้องทำให้ฉลากอาหารหรือเครื่องดื่มของตน มีการระบุที่ชัดเจนในฉลากว่า มีการผสมน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง (HFCS) หรือไม่ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจในการเลือกซื้อ กลับมาที่ฉลากอาหารในบ้านเรา...และการสุ่มตัวอย่างเพื่อค้นหา HFCSเพื่อเป็นการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำเชื่อมฟรุกโตสหรือน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง(HFCS) ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขออาสาไปส่องฉลากผลิตภัณฑ์ที่ให้รสหวานอย่าง น้ำอัดลม ชาเขียว ขนมขบเคี้ยว แยมหรือเยลลี่ต่างๆ จำนวน 25 ตัวอย่าง ว่าจะมีสินค้าอะไรหรือยี่ห้อใดบ้างที่ใช้น้ำเชื่อมดังกล่าวเป็นส่วนประกอบ ซึ่งผลทดสอบจะเป็นอย่างไร เราลองไปดูกันเลยผลโดยสรุปจากตัวอย่างสินค้าที่นำมาพิจารณาฉลากทั้งหมด 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่ม กลุ่มแยมและกลุ่มขนม/ลูกอม ทั้ง 25 ตัวอย่าง พบว่า- มีเพียง 1 ยี่ห้อที่ระบุว่า ไม่มีส่วนผสมของไฮฟรุกโตสคอร์นไซรัป (No high fructose corn syrup) คือ วิลเดอร์เนส (WILDERNESS) Premium ไส้ผลไม้กวนสตรอเบอร์รี่- มี 2 ยี่ห้อที่ระบุว่ามีส่วนผสมของ ไฮฟรุกโตสคอร์นไซรัป คือ 1. ไดอาน่า (Diana) มาราสชิโน เชอร์รี่ ชนิดมีก้าน และ 2. วิลเดอร์เนส (WILDERNESS) Original ไส้ผลไม้กวนบลูเบอร์รี่ - มี 1 ยี่ห้อที่ฉลากภาษาไทยระบุส่วนผสมว่ามี “น้ำเชื่อมข้าวโพด” แต่ฉลากภาษาอังกฤษระบุส่วนผสมว่า “High Fructose Corn Syrup” คือ สมัคเกอร์ส (SMUCKER’S) ซันเดย์ ไซรัป น้ำเชื่อมรสช็อกโกแลต - อีก 21 ตัวอย่างระบุว่ามีส่วนผสมของ ฟรุกโตสไซรัป/น้ำเชื่อมฟรุกโตส และคอร์นไซรัป/น้ำเชื่อมข้าวโพด- มี 1 ยี่ห้อไม่ระบุวันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ คือ เอสแอนด์ดับบลิว (S&W) เชอร์รี่ดำแกะเมล็ดในน้ำเชื่อม ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องฉลาก ที่กำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุต้องแสดงวันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุรายละเอียดการสุ่มตัวอย่างตารางที่ 1 :  กลุ่มเครื่องดื่มตารางที่ 2 : กลุ่มแยมตารางที่ 3: กลุ่มขนม, ลูกอมข้อสังเกตเรื่องฉลากอาหาร 1. ฉลากส่วนผสมไม่สมบูรณ์พบว่า สินค้าส่วนใหญ่มักใช้คำว่ามี ฟรุกโตสไซรัป/น้ำเชื่อมฟรุกโตส และคอร์นไซรัป/น้ำเชื่อมข้าวโพด แทนคำว่า น้ำเชื่อมฟรุกโตสหรือน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง (High Fructose Corn Syrup หรือ HFCS) ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคว่า ส่วนประกอบดังกล่าวเป็นน้ำเชื่อมชนิดเดียวกันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทั้งฟรุกโตสไซรัป/น้ำเชื่อมฟรุกโตส และคอร์นไซรัป/น้ำเชื่อมข้าวโพด สามารถสร้างผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นเดียวกับ “น้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง” (HFCS) จึงอาจเป็นเรื่องสมควรที่ฉลากต้องมีคำเตือนในการบริโภค หรือระบุรายละเอียดส่วนผสมให้ชัดเจนกว่านี้2. ฉลากโภชนาการไม่ครอบคลุมแม้กฎหมายไม่ได้กำหนดให้อาหารทุกชนิดต้องแสดงฉลากโภชนาการ แต่ฉลากโภชนาการนั้นนับเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค เพราะช่วยให้ทราบถึงปริมาณที่แท้จริงของไขมัน พลังงานหรือน้ำตาลในผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อหรือบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัย และได้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมกับสุขภาพของตนเอง รวมทั้งสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ หรือมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามจากผลการสุ่มตัวอย่างครั้งนี้พบว่า มีเพียงร้อยละ 50 ที่มีฉลากโภชนาการ และมี 9 ตัวอย่างเท่านั้นที่มีฉลากโภชนาการเป็นภาษาไทย3. ฉลากวันเดือนปีที่ผลิต/หมดอายุ อยู่ในตำแหน่งที่อ่านยากตัวอย่างที่นำมาพิจารณาฉลากทั้งหมดครั้งนี้ มีหลายกลุ่มสินค้ามีทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งพบว่าตำแหน่งของวันเดือนปีที่ผลิต/หมดอายุ มีความแตกต่างกันไปในทุกผลิตภัณฑ์ อาจส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะสามารถตรวจสอบวันที่ได้ นอกจากนี้บางตัวอย่าง เช่น คุคุริน (KUKURIN) น้ำชาเขียวคั่ว สูตรรสกลมกล่อม มีการระบุวันเดือนปีที่ผลิต/หมดอายุ อยู่ในตำแหน่งปากขวด ซึ่งใช้สีของตัวอักษรคล้ายกับสีของสินค้า ทำให้ตรวจสอบได้ยากมากขึ้นไปอีก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 201 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤศจิกายน 2560กลุ่มผู้ซื้อรถมาสด้าแล้วเจอปัญหา ร้อง สคบ. จี้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ กลุ่มผู้ใช้รถยนต์มาสด้า 2 ดีเซล Sky Active รุ่นปีผลิต 2015-2016 รวมรุ่นย่อย ของบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 22 ราย ซึ่งซื้อรถยนต์ดังกล่าวในช่วงปี 2558-2559 พร้อมด้วย นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินทางมาร่วมยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องให้ผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบกรณีพบว่ารถยนต์ที่ซื้อมาใช้งานอาการผิดปกติจนมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัยจากปัญหาความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ ได้แก่ อาการผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือน อาการรั่วซึมของโช้คด้านหลัง และอาการเครื่องยนต์สั่น เร่งความเร็วไม่ขึ้น โดยอาการจะปรากฏครั้งแรกในช่วงเลขไมล์ 20,000 – 70,000 กม. และคงอาการลักษณะนี้จนปัจจุบันนายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์มาสด้า 2 รุ่นสกายแอคทีฟ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้นำรถของตนเข้าศูนย์หลายครั้ง คิดเป็น 2 เท่าของระยะตรวจเช็คตามรอบปกติ เริ่มจากปัญหาโช้ครั่วที่พบหลังใช้รถ 2-3 เดือนแรก จนถึงปัญหาความผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือนและตัวเลขแสดงระยะทางที่ผิดพลาด ล่าสุดพบปัญหาเครื่องยนต์ดีเซลมีอาการสั่น และเร่งความเร็วไม่ขึ้นช่วง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงต่อชีวิตทางกลุ่มผู้ร้องและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อยากให้ทางศูนย์มาสด้าออกมาชี้แจงถึงวิธีการแก้ไขปัญหาให้รถยนต์กลับมามีสภาพปกติที่ควรเป็น และขอให้ สคบ.มีคำสั่งให้ผู้ประกอบการทดสอบรถยนต์ที่เกิดปัญหาภายใน 7 วัน ตามอำนาจกฎหมาย และขอให้มีคำสั่งระงับการจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อมาสด้า 2 ในรุ่นที่มีการร้องเรียนเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะทราบผลการพิสูจน์ ซึ่งหากพบว่าสินค้าชำรุดบกพร่องจนอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตจริง ก็ขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีคำสั่งให้บริษัทรับผิดชอบรับซื้อรถยนต์คืนทั้งหมดย้อมสีเนื้อหมูหลอกขายเป็นเนื้อวัวพ่อค้าร้านอาหารตามสั่งแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เข้าแจ้งความกับตำรวจ หลังพบว่าเนื้อวัวที่ซื้อมาเมื่อนำไปล้างน้ำทำความสะอาด สีลอกและซีดลง แถมไม่มีกลิ่นของเนื้อวัว พ่อค้ารายดังกล่าวสงสัยว่าแม่ค้าจะเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการนำเนื้อหมูมาย้อมสีโกหกว่าเป็นเนื้อวัวหลอกขายผู้บริโภค ซึ่งหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบร้านค้าดังกล่าว พร้อมทั้งควบคุมตัวแม่ค้ามาสอบปากคำ ท้ายที่สุดแม่ค้าก็รับสารภาพว่าได้เอาสีผสมอาหารย้อมเนื้อหมูให้มีสีแดงคล้ายเนื้อวัวจริง แล้วติดป้ายหลอกขายว่าเป็นเนื้อวัวในราคากิโลกรัมละ 235 บาท เพื่อให้ขายได้กำไรมากขึ้นจากเนื้อหมูที่มีราคากิโลกรัมละ 120 บาท โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหากับแม่ค้าคนดังกล่าวในความผิดฐานฉ้อโกงและขายสินค้าหลอกลวงประชาชน ถูกเปรียบเทียบปรับไป 1,000 บาท พร้อมต้องชดใช้ค่าเสียหายคืนให้กับพ่อค้าร้านอาหารตามสั่งที่ถูกหลอก นวดปลอดภัย เลือกร้านที่มีใบอนุญาติถูกต้องกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะนำให้ผู้ที่ต้องการรับบริการนวดต้องประเมินร่างกายตนเองเบื้องต้นก่อนรับบริการทุกครั้ง หากพบว่าร่างกายของตนมีอาการเจ็บปวด ต้องการนวดเพื่อรักษา ฟื้นฟูสุขภาพ อย่างการนวดจับเส้น ขอให้เลือกรับบริการจากสถานพยาบาลการแพทย์แผนไทย ซึ่งผู้ให้บริการนวดจะต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้านเวชกรรมไทย ด้านนวดไทย หรือด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ จากสภาการแพทย์แผนไทยเท่านั้นโดยสามารถสังเกตสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายจากหลักฐาน 3 ประการ ได้แก่ 1. มีการแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก ให้เห็นได้ชัดเจนที่ด้านหน้าสถานพยาบาล 2. มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลให้เห็นชัดเจนที่จุดบริการ และ 3. มีการแสดงป้ายชื่อ-สกุล รูปถ่าย พร้อมกับเลขที่ใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพของแพทย์ติดหน้าห้องตรวจ ซึ่งต้องตรงกับตัวจริงที่ให้บริการขณะนั้นแต่หากต้องการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ หรือ ผ่อนคลาย ให้เลือกรับบริการจากสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภท สปา นวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการจาก สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งผู้ให้บริการนวดจะต้องได้รับประกาศนียบัตรตามหลักสูตรที่ สบส. ให้การรับรอง และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพถูกต้องตามกฎหมาย และสังเกตหลักฐาน 3 ประการ ได้แก่ 1. มีการแสดงสติกเกอร์มาตรฐาน สบส. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ตามประเภทกิจการ ให้เห็นชัดเจนที่จุดบริการ 2. มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และ 3. มีการแสดงใบอนุญาตผู้ดำเนินการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพอาหารเสริมคังหลินอวดอ้างสรรพคุณหลอกเงินชาวบ้านคณะกรรมการอาหารและยา และ กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลวาริชภูมิ จ.สกลนคร ร่วมกับสถานีตำรวจภูธรวาริชภูมิ ดำเนินการเอาผิดกลุ่มบุคคลที่ทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ คังหลิน (KungLin) ที่ใช้หยอดหู หยอดตา โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนและทีมวิจัยสมุนไพรของศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นำสินค้ามาแนะนำ โดยขอให้ผู้ใหญ่บ้านประกาศเสียงตามสายให้ชาวบ้านที่มีปัญหาเรื่อง หู ตา คอ จมูก เบาหวาน ภูมิแพ้ ความดัน และชาวบ้านที่ต้องการตรวจโรค ลงทะเบียนตรวจวินิจฉัยโรคฟรีแต่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคา 3,600 บาท หลังจากตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบว่า ฉลากระบุผู้จำหน่ายคือ บริษัท กรีนนิซ เทคโนโลยี จำกัด จ.นครราชสีมา แต่ไม่พบข้อมูลชื่อ ที่อยู่ ผู้ผลิต ไม่ระบุวันเดือนปีที่ผลิต และหมดอายุ เมื่อเจ้าหน้าที่ขอดูเอกสารเกี่ยวกับโครงการ ก็ไม่สามารถนำมาแสดงได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา และเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุดรธานีต่อไป ทั้งนี้ อย.ฝากเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่อวดอ้างเรื่องการรักษาโรค เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างในกรณีนี้หากนำไปใช้หยอดหู หยอดตา สุ่มสี่สุ่มห้าโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน อาจเป็นอันตรายต่อหูและดวงตาของผู้ที่ใช้ถอนทะเบียนยา “ฟีนิลบิวตาโซน” 70 รายการ เหตุอันตรายถึงชีวิตในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่ คําสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 1435/2560 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา ที่มีตัวยาฟีนิลบิวตาโซน (Phenylbutazone) เป็นส่วนประกอบ หลังพบข้อมูลทางวิชาการว่า ยาฟีนิลบิวตาโซน เป็นสาเหตุของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง เนื่องจากอาจทำให้เกิดโรคโลหิตจางจากภาวะไขกระดูกฝ่อ (aplastic anaemia) และเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (agranulocytosis) ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ฉะนั้น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2530 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคําแนะนําของคณะกรรมการยาในการประชุมครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560 จึงมีคําสั่งเพิกถอนทะเบียนตํารับยาสําหรับมนุษย์ที่มีตัวยาฟีนิลบิวตาโซนเป็นส่วนประกอบ จํานวน 70 ตํารับ ตามบัญชีแนบท้ายประกาศ โดยสามารถดูรายละเอียดประกาศฉบับนี้ได้ที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/277/62.PDF

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 ปัญหาโฆษณาสุขภาพเกินจริงแนวรบที่ไม่มีวันจบ

อย. ย้ำเตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทั้งลดน้ำหนัก กระชับสัดส่วน หรือรักษาโรค ผ่านทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ อาจเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัย โดย อย. จะดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่โอ้อวดเกินจริง ส่งตรวจวิเคราะห์ หากพบการปลอมปนของสารออกฤทธิ์ทางยา จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่รู้ว่าเราต้องอ่านคำเตือนจาก อย. หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ไปอีกกี่หน เพราะดูเหมือนว่าปัญหาจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา หรือเครื่องสำอาง ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงนั้น ก็ยังวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวเรา สอดแทรกอยู่ในสื่อต่างๆ ทั้งใหม่เก่า ที่ผูกมัดพันธนาการเราไว้แทบจะตลอดวัน ผู้บริโภคหากวันใดเกิดจิตใจไม่เข้มแข็งพอขึ้นมาก็คงไม่แคล้วต้องมีอันพลาดท่าเสียที แล้วทำไมสังคมของเราถึงยังจัดการกับปัญหาโฆษณาอวดอ้างเกินจริงเหล่านี้ไม่ได้ อะไรคือสาเหตุ และอะไรคือแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เราลองมาถอดรื้อจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสื่อและโทรคมนาคม เรื่อง การจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแลปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ที่จัดทำเมื่อปี 2559 ว่าเขามองเรื่องนี้อย่างไร พบโฆษณาผิดกฎหมายปีหนึ่งเป็นหมื่นแต่จัดการได้แค่พัน ในงานวิจัยชี้ว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบตรงอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นั้น พบการกระทำผิดกฎหมายเฉลี่ยปีละหมื่นกว่า แต่การดำเนินคดีนั้นทำได้เพียงปีละพันกว่า ทั้งนี้ไม่นับรวมการกระทำผิดที่ อย.ไม่พบ หรือไม่มีคนร้องเรียนเข้ามาอีกเป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านสื่อทางอินเทอร์เน็ตที่มีพลังในการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารได้อย่างน่าทึ่งแถมยังทำกันได้ง่าย แทบจะเรียกว่าใครก็ทำได้   ถ้านับเป็นเวลาก็นับเป็นแค่นาที แต่สำหรับหน่วยงานกำกับดูแล การเข้าจัดการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายต้องใช้เวลานับเดือน นับปีกว่าจะสามารถลงโทษด้วยการปรับเงิน(จำนวนน้อย)ได้ ดังนั้นผู้กระทำผิดจึงไม่ค่อยเคารพยำเกรงกฎหมาย เพราะถือว่าคุ้มกับการเสี่ยง    มี อย. ปลอดภัย 100% แล้วถ้าเป็น อย.ปลอมจะทำอย่างไร   แบรนด์ อย. ถูกสร้างมาให้ติดตลาด อย่างไรก็ดี เครื่องหมาย อย. ก็กลายเป็นจุดอ่อนได้เช่นกัน เมื่อปลายปี 2559 เกิดกรณี MangLuk  Power Slim ผลิตภัณฑ์อาหารในแบบแคปซูล สีชมพู-ขาว มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า หลังรับประทานแล้วมีอาการใจสั่น มือสั่น ปากแห้ง คอแห้ง (ผลข้างเคียงจากสารไซบูทรามีนหรือยาลดความอ้วนที่ผสมลงไปในผลิตภัณฑ์) เมื่อ อย. ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งฉลากระบุเลขที่ อย. 89-1-04151-1-0080 นำเข้าและจัดจำหน่ายโดยบริษัท THE RICH POWER NETWORK จังหวัดสมุทรสาคร รุ่นผลิต RI88-89/01วันที่ผลิต 01/01/16 วันหมดอายุ 01/01/18 นั้น  อย .แถลงข่าวว่า เป็นเลข อย.ปลอม และเมื่อตรวจสอบข้อมูลผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายตามที่ระบุบนฉลากจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้าไม่พบข้อมูลการจดทะเบียนของบริษัทดังกล่าว คือปลอมทั้งเลข อย.และปลอมชื่อทางธุรกิจ ดังนั้นผลิตภัณฑ์อาหาร Mangluk Power Slim ตัวนี้ จึงเข้าข่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย มีการปลอมเลขสารบบอาหาร โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และตรวจพบไซบูทรามีน ซึ่ง อย. จะมีการดำเนินการกับผู้กระทำผิดต่อไป แต่ ณ ปัจจุบัน เมื่อนำมาสืบค้นด้วยชื่อ ผลิตภัณฑ์นี้ เราก็ยังพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ ผู้บริโภคทั่วไปมักเข้าใจผิดว่า การมีเครื่องหมาย อย. คือการรับประกันความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว เครื่องหมาย อย. เป็นเพียงการรับรองการผลิตที่ได้มาตรฐานเท่านั้น เล่ห์ร้ายของผู้ประกอบการขอโฆษณาไปอย่างหนึ่งแล้วโฆษณาอีกอย่างหนึ่ง หนึ่งในยุทธวิธีที่ผู้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบนิยมในการหลอกลวงทั้งหน่วยงานและผู้บริโภค คือ  ขอโฆษณาไปอย่างหนึ่งแล้วโฆษณาอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นพวกเขาจะมี เลขที่ใบอนุญาตโฆษณาที่ถูกต้อง แต่เนื้อหาผิดไปจากที่ยื่นขอ  ผู้บริโภคที่ไม่ทันเหลี่ยมนี้ก็คิดว่า เป็นโฆษณาที่ถูกต้องแล้ว นี่ไง อย.รับรอง หรือแม้กระทั่งการโฆษณาแฝงในรายการต่างๆ โดยไม่มีการบรรยายสรรพคุณแบบโต้งๆ  ทำให้ อย.ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้  เพราะยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลโฆษณาแฝงทุกหน่วยงานมีปัญหากับการจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เมื่อนึกถึงการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ หลายคนก็หันไปมองที่ อย. แน่นอนว่า ไม่ผิด แต่เราทราบกันไหมว่า ยังมีอีกหลายหน่วยงานภาครัฐ ที่มีหน้าที่ช่วยกันกำกับดูแลด้านการโฆษณาผิดกฎหมายได้อีก ได้แก่ กระทรวงดิจิทัล ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายตาม พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด แต่กลับปล่อยให้มีการโฆษณาผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์กันอย่างมากมาย  ขณะเดียวกันก็ไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบกำกับดูแลสื่อในโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ซึ่งปัจจุบันตามกฎหมายให้อำนาจ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำกับดูแลเฉพาะสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ ไม่ได้ครอบคลุมถึงการโฆษณาใน โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต เมื่อบางหน่วยงานไม่ค่อยขยับ หน่วยงานหลัก อย่าง อย. ก็ติดกับดักระบบราชการ ซึ่งมีระเบียบวิธีที่ค่อนข้างซับซ้อน ทำให้เกิดลักษณะคอขวดในการจัดการเรียกง่ายๆ ว่า งานไปจมอยู่ที่ อย.  ผู้บริโภคไม่เชื่อวิทย์  ผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็ใจร้อน วิธีคิดก็เป็นตรรกะที่ผิด เช่น เชื่อว่ากินอาหารบางอย่างแล้วรักษาโรคได้สารพัดโรค อีกทั้งยังเห็นผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว หรือแทนที่จะคิดว่า การที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น เป็นเพราะสาเหตุที่มาจากการกินมากไปแล้วใช้กำลังกายน้อย กลับไปตั้งความหวังและมั่นใจในอาหารเสริมบางอย่างว่ากินแล้วจะช่วยบล็อกไม่ให้อ้วนได้ หรือเกิดการเผาผลาญพลังงาน โดยที่ไม่ต้องออกกำลังกาย พอไม่เชื่อวิทย์ ชีวิตบางคนจึงเปลี่ยน บางคนถึงเสียชีวิต เพราะหลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างเกินจริง  บางคนแม้จะเชื่อในวิทยาศาสตร์ แต่แพ้ภัยค่านิยม "ผอม ขาว สวย ใส อึ๋ม ฟิตปั๋ง” ก็จำต้องเสี่ยงใช้ทางลัด ซึ่งบทพิสูจน์ที่ผ่านมาคือ ไม่มีทางลัดใดที่ปลอดภัย เน็ตไอดอล ยังไงฉันก็เชื่อเธอ NET IDOL ก็คือคนดังบนโลกออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย พวกเขาหรือเธอ มียอดคนติดตาม (Followers) เป็นแสน เป็นล้าน ขยับตัวทำอะไรก็เกิดกระแส ถือสินค้าสักชิ้น กินอาหารสักอย่างเหล่าผู้ติดตามส่วนหนึ่งก็พร้อมจะทำตาม หากเน็ตไอดอลบางคนทำสินค้าด้านสุขภาพขึ้นมาสักชิ้นแล้วบอกว่า ใช้แล้วดีมาก พร้อมบรรยายสรรพคุณจนเลยเถิดไป หรือในผลิตภัณฑ์เกิดมีสารอันตรายแฝงอยู่ ผู้ที่หลงเชื่ออาจกลายเป็นเหยื่อที่ต้องทุกข์ทรมานเพราะความรักและความนิยมในตัวเน็ตไอดอลเหล่านั้น  หรือบางทีเน็ตไอดอลเองก็กลายเป็นผู้ส่งเสริมให้คนใช้สินค้าไปโดยไม่ได้สนใจว่า ผิดหรือถูก เพราะรับเงินค่าถือสินค้าออกช่องทางสื่อสารของตนเองอย่าง อินสตาแกรม เฟซบุ้ก ฯลฯ ไปแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงพวกเธอหรือเขาอาจไม่เคยทดลองใช้สินค้านั้นจริง แนวทางในการกำกับดูแล และแก้ปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากงานวิจัย1.จัดทำและเปิดใช้ “คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพสาธารณะ” (Health Products’ Public Data Bank) คือ คลังข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งหมด ที่ได้จดทะเบียนกับ อย. รวมทั้งการอนุญาตโฆษณา คำที่อนุญาตให้ใช้ในโฆษณา เลขที่อนุญาตโฆษณา ซึ่งจะแสดงรายละเอียดในสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้ง สื่อสิ่งพิมพ์ ภาพ เสียง วีดีโอ เพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการเข้าสืบค้นข้อมูลได้เองด้วยวิธีการที่ไม่ซับซ้อน เมื่อผู้บริโภคต้องการสืบค้นสรรพคุณและการโฆษณาของผลิตภัณฑ์สุขภาพตัวใดตัวหนึ่งเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนจะซื้อ ก็สามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูล และตรวจสอบโฆษณานั้นว่าได้รับอนุญาตจริงหรือไม่2.อย. ควรประกาศใช้  “แนวทางปฏิบัติ หลักเกณฑ์การพิจารณา โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย” เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องได้บังคับใช้ตามแนวทางที่ออกประกาศ เช่น เมื่อหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการโฆษณา พบการโฆษณาฯ ที่ไม่มีอยู่ใน  “คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพสาธารณะ” ให้สิทธิพิจารณาได้เลยว่า โฆษณานั้นผิดกฎหมาย โดยไม่ต้องส่งกลับมาให้ อย.เป็นผู้วินิจฉัย และให้หน่วยงานกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมายในฐานความผิดของหน่วยงานด้วย ถือเป็น ความผิดเดียว ผิดหลายกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายจริงจังและรุนแรง เพื่อไม่ให้กระทำผิดอีก 3.การกระจายอำนาจให้หน่วยงานกำกับดูแลส่วนภูมิภาค อย. ควรกระจายอำนาจให้ สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) มีหน้าที่จัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพในพื้นที่อย่างฉับไว สามารถบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในทุกสื่อทั้งที่เกิดในพื้นที่ตน และใน Social Media โดยให้อำนาจเท่ากับ อย. เพราะในปัจจุบัน สสจ. มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายเพียงเฉพาะที่เกิดขึ้นในสื่อโทรทัศน์ และสื่อวิทยุกระจายเสียงเท่านั้น   4.อย. ควรเร่งปรับปรุงแนวปฏิบัติในการลงโทษ โดยพิจารณาความผิดฐานโฆษณาเกินจริงเป็นเท็จ แทนที่จะลงโทษเพียงฐานไม่ขออนุญาตโฆษณา รวมถึงการกระทำผิดซ้ำซาก เพราะฐานความผิดโฆษณาเกินจริงเป็นเท็จนั้นจะเป็นแนวทางให้หน่วยงานกำกับดูแลอื่นสามารถนำไปต่อยอดความผิดได้ และปรับปรุงบทลงโทษกฎหมายที่เกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ให้มีโทษปรับในอัตราก้าวหน้า หรือนำมาตรการการเก็บภาษีเข้ามาช่วย สำหรับผู้ขายและผู้โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย 5.ปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องและการสร้างภูมิคุ้มกันในการบริโภคสื่อ ด้วยการปูพื้นฐานผู้บริโภคตั้งแต่ปฐมวัย และสอดแทรกอยู่ในหลักสูตรเท่าทันสื่อ ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 สาระการเรียนรู้ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานสนใจงานวิจัยฉบับเต็ม สามารถดูได้ที่ www.indyconsumers.org

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 ปัญหา SPAM / SMS กวนใจ กับ พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับใหม่

ปัญหา sms ขยะ ที่ส่งข้อความโฆษณามาชวนให้ซื้อสินค้า หรือสมัครใช้บริการต่างๆ ทั้ง sms ชวนสมัครเล่นเกมส์  โหลดคลิป ดูดวง ทายผลบอล เข้ามายังโทรศัพท์มือถือวันละหลายๆ ครั้ง หรือข้อความโฆษณาขายครีม ขายอาหารเสริมที่ส่งมาทาง Line หรือโพสฝากร้านค้าผ่าน Facebook หรือ Instagram ที่โพสซ้ำๆ จนเป็นน่ารำคาญ นับเป็นปัญหาที่พูดกันมานานในสังคมไทย มีการออกกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อจัดการปัญหา SPAM มาโดยตลอด  ล่าสุด พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 ได้มีการแก้ไข เพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ ปัญหา SPAM โดยในมาตรา 11 กำหนดว่า “ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นอันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิด ความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับ สามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สองแสนบาท   ให้รัฐมนตรีออกประกาศกําหนดลักษณะและวิธีการส่ง รวมทั้งลักษณะและปริมาณของ ข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญ แก่ผู้รับ และลักษณะอันเป็นการบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย” ปัจจุบัน ประกาศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ลักษณะและวิธีการส่ง และลักษณะและปริมาณของข้อมูล ความถี่และวิธีการส่งซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ที่สนใจก็สามารถ Download ข้อมูลกฎหมายดังกล่าว มาศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.prachachat.net/ict/news-8775  สาระสำคัญโดยย่อของกฎหมายนี้ก็คือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามกฎหมายนี้ ครอบคลุมทั้ง การส่งข้อความ sms , e- mail , line โฆษณาขายของ การโฆษณาในลักษณะฝากร้านใน facebook , Instragram   การส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในเชิงพาณิชย์ไปยังผู้รับ จะต้องได้รับความยินยอมจึงจะไม่เป็นความผิด และข้อมูลที่ส่งไปนั้น จะต้องระบุช่องทางหรือวิธีการในการปฏิเสธการรับข้อมูล เช่น ต้องแจ้งเบอร์โทรศัพท์ โทรสาร e-mail หรือ มีระบบตอบรับอัตโนมัติที่ผู้รับจะแจ้งยกเลิกการรับข้อมูลได้โดยง่าย   หากแจ้งปฏิเสธการรับข้อมูลไปแล้ว ยังมีการฝ่าฝืนส่งข้อมูลโฆษณาต่าง ๆ มาอีก ผู้บริโภคก็จะต้องแจ้งเตือนไปยังผู้ส่งเป็นครั้งที่ 2 ให้ชัดเจนว่าทางผู้ประกอบการได้รับทราบถึงการปฏิเสธนี้อย่างชัดแจ้งแล้ว ถ้ายังฝ่าฝืนส่งมาอีกคราวนี้ ก็จะถือว่าผู้ส่งมีความผิดตามมาตรา 11 มีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท  นอกจากนี้ ก็จะมีบทบัญญัติว่าด้วยข้อยกเว้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เช่น การส่งข้อมูลเพื่อเรียกคืนสินค้า(Recall) เนื่องจากความชำรุดบกพร่องของสินค้า การส่งข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรการกุศล หรือการส่งข้อมูลซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์  กฎหมายฉบับนี้ ออกแบบมาตามหลักการ Opt-Out คือ ผู้บริโภคต้องแสดงเจตนาว่าจะไม่รับข้อความโฆษณาต่างๆ ไปยังผู้ประกอบการ เมื่อปฏิเสธไปแล้ว ยังมีการฝ่าฝืนส่งข้อความมารบกวนอีกจึงจะถือว่า ผู้ประกอบการมีความผิด  ในต่างประเทศ ที่ใช้ระบบ Opt-Out ควบคุมการทำตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์ มิให้รุกล้ำสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฮ่องกง จะมีสิ่งที่เรียกว่า Do not call register ซึ่ง อาจจะแปลเป็นไทยว่า “ระบบลงทะเบียนห้ามโทร” ซึ่งจะเป็นระบบกลางที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะรับข้อความโฆษณาต่าง ๆ ได้มาลงทะเบียนไว้ และในกรณีที่บริษัท ห้างร้าน จะทำการส่งข้อความโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ก็จะต้องมาตรวจสอบข้อมูลกับ Do not call list ก่อน ถ้าเกิดบริษัท ส่งข้อความโฆษณา ไปยังผู้ที่มาลงทะเบียนปฏิเสธไว้ ก็จะถือว่ามีความผิดทันที   ส่วนของไทย ณ ขณะนี้ ยังไม่มีระบบกลาง ผู้บริโภคก็ต้องขวนขวายแจ้งไปยังผู้ประกอบการแต่ละรายเอง แถมยังต้องมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ผู้ประกอบการได้รับทราบคำปฏิเสธแล้วยังฝ่าฝืนส่งข้อความโฆษณามา จึงจะถือว่าเป็นความผิด ก็ไม่รู้ว่า กฎหมายที่มีลักษณะเขียนเสือให้วัวกลัว แบบนี้ จะกำราบผู้ประกอบการให้หยุดส่ง SPAM ได้นานสักเท่าไร ปิดท้าย กันด้วยเกร็ดความรู้ของคำว่า SPAM ซึ่งเป็น คำแสลง ในภาษาอังกฤษ ที่ใช้เรียก การพยายามยัดเยียดส่งข้อความโฆษณาไปยังผู้รับจนเกิดความรำคาญ ซึ่งไทยเราก็เรียก ทับศัพท์ตามว่า “สแปม” คำนี้มีที่มาจาก เนื้อหมูกระป๋องยี่ห้อ SPAM ซึ่งเป็นสินค้าขายดีในชีวิตประจำวันของพวกฝรั่ง ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีหมูกระป๋องยี่ห้อนี้ขายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนเหตุที่ SPAM กลายมาเป็น ศัพท์แสลงก็ต้องย้อนกลับไป เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ในยุค 70 มีรายการโทรทัศน์ของประเทศอังกฤษ ชื่อ Monty Python ซึ่งเป็นรายการตลกสั้นๆ มีอยู่ตอนหนึ่ง ตัวเอกของเรื่องเข้าไปในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งทุกเมนูล้วนแต่มีส่วนผสมของ “SPAM หมูกระป๋อง” แม้ลูกค้าจะบอกว่าไม่ต้องใส่ SPAM ได้ไหม ก็ไม่วายที่พนักงานของร้านจะพยายามยัดเยียด ให้ลูกค้ากิน SPAM ให้จงได้ จนเกิดเป็นความโกลาหล ปนฮาขึ้น ลองเข้าไปชมคลิปรายการ Monty Python ตอน SPAM ทาง YouTube แล้วจะเห็นภาพชัดเจน https://www.youtube.com/watch?v=anwy2MPT5RE  เข้าใจว่า พวกฝรั่ง คงจะอินกับมุขตลกนี้มาก ดังนั้น ต่อมา เมื่อมีการพยายามส่งข้อความโฆษณา ขายสินค้าต่างๆ ให้ผู้บริโภค จนรกหูรกตา หน้ารำคาญ จึงเรียกพฤติกรรมนี้ว่า SPAM

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 เรื่องที่คนอยู่คอนโดต้องรู้ “ปัญหาจากการบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด”

ที่อยู่อาศัยแบบอาคารชุด ที่เรียกกันติดปากว่า “คอนโดมิเนียม” มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็วโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ทั่วประเทศไม่เฉพาะแต่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งหลักการเลือกซื้อคอนโดของหลายๆ คนประกอบกันด้วยหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของราคา ความสะดวกสบายเรื่องการเดินทาง และความน่าเชื่อถือของบริษัทเจ้าของโครงการ แต่ก็มีผู้ซื้อคอนโดจำนวนไม่น้อยที่มองข้ามเรื่องของการจัดการในของ “นิติบุคคลอาคารชุด” ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากและเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของผู้ซื้อคอนโดโดยตรงหลังจากที่เราได้ย้ายเขาไปอยู่อาศัย เพราะถือเป็นหน่วยที่จะคอยทำหน้าที่ดูแลความจัดการความสะดวกเรียบร้อยต่างๆ ของโครงการที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย น้ำ-ไฟ ทรัพย์สินส่วนกลางต่างๆ เช่น ที่จอดรถ สวนหย่อม สระว่ายน้ำ ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีข่าวที่เกี่ยวกับผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดได้รับความเสียหายจากอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็น สภาพห้องหรือสาธารณูปโภคส่วนกลางไม่ตรงตามที่มีการโฆษณาไว้ หรือไม่มีการดูแลจากนิติบุคคลอาคารชุด รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับการฉ้อโกงค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของร่วมหรือผู้อาศัยภายในคอนโดทุกยูนิตต้องจ่ายตามข้อตกลงคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้ทำการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งผู้ที่อยู่อาศัยและผู้ที่กำลังคิดจะซื้อคอนโดหลายคนมองข้าม ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก และเป็นเรื่องที่มีกฏหมายกำหนดไว้ชัดเจน คือ พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2555 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551ผลการศึกษาปัญหาจากการบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุดผู้อยู่ตอบแบบสอบถาม ราว 1 ใน 3 ไม่มีความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับ “นิติบุคคลอาคารชุด” ทั้งในส่วนของที่มา บทบาทหน้าที่ หรือการแต่งตั้งและถอดถอน ตลอดจนเรื่องสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วม(สิทธิของคนคอนโด) เช่น การจ่ายค่าส่วนกลางให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดนั้น แม้จะไม่ได้พักอาศัยเอง หรือ ไม่ทราบว่า ถ้าค้างชำระเงินค่าส่วนกลางตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป  จะต้องเสียเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี ฯลฯ  ในส่วนของที่มา ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 21.2 ไม่ทราบว่า “ใคร” คือ ผู้ทำหน้าที่บริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด ร้อยละ  31.6 ไม่ทราบว่า เมื่อจดทะเบียนอาคารชุดแล้ว ต้องมีการจัดประชุมใหญ่เจ้าของร่วมภายใน 6 เดือน เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดและให้ความเห็นชอบข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดที่ได้จดทะเบียนไว้  ร้อยละ 27.2 ไม่ทราบว่า ผู้จัดการนิติบุคคล ต้องได้รับการแต่งตั้งหรือถอดถอนโดยมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม  และต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติ ร้อยละ 37.6 ไม่ทราบว่า ในการประชุมใหญ่นั้นเจ้าของร่วมมีสิทธิเสนอแก้ไขข้อบังคับ ถอดถอนและแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้  บทบาทหน้าที่ของนิติบุคคลฯ ร้อยละ  39.6 ไม่ทราบว่านิติบุคคลมีหน้าที่ต้องจัดเก็บสำเนาโฆษณาขายห้องชุดในอาคารชุด หรือหนังสือชักชวนที่นำออกโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปไว้ในสถานที่ทำการ ร้อยละ 29.8ไม่ทราบว่า นิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง ตามกฎหมาย ร้อยละ  20.4 ไม่ทราบว่า ผู้จัดการนิติบุคคล มีหน้าที่จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำเดือน และติดประกาศให้เจ้าของร่วมทราบภายใน 15 วันนับแต่สิ้นเดือน และต้องประกาศต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ร้อยละ  37.4 ไม่ทราบว่า กรรมการนิติบุคคลมีหน้าที่จัดประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกหกเดือน ความรู้เกี่ยวกับเรื่องหน้าที่ของเจ้าของร่วม(คนคอนโด) ร้อยละ 32.2 ทราบว่า มีปัญหาในการอยู่อาศัยในอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียม  ร้อยละ 30.8 ไม่ทราบว่า “ข้อความหรือภาพโฆษณาหรือหนังสือชักชวน” เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายห้องชุด  ร้อยละ 33.8 ไม่ทราบว่า ตนเอง มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าส่วนกลางให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดนั้น แม้จะไม่ได้พักอาศัย หากไม่ชำระเงินค่าส่วนกลางเมื่อนิติบุคคลทวงถามในเวลาที่กำหนด  จะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี   ร้อยละ 37.2 ไม่ทราบว่า ถ้าค้างชำระเงินค่าส่วนกลางตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป  จะต้องเสียเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี  และอาจถูกระงับการให้บริการส่วนรวมหรือการใช้ทรัพย์ส่วนกลางตามที่กำหนดในข้อบังคับ  รวมทั้งไม่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมใหญ่ นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 4  ไม่ได้รับข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อซื้อห้องชุดและเข้าอยู่อาศัย    เมื่อสอบถามว่า เห็นด้วยให้กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่จะเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้านบริหารงานนิติบุคคล ปรากฏว่า ร้อยละ 79.8 เห็นด้วย -----------------------------------------------------------------------------วิธีการเก็บตัวอย่าง การเก็บข้อมูลภาคสนามครั้งนี้ใช้แบบสอบถาม กับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเจ้าของร่วมที่ซื้ออาคารชุด จำนวน 500 คนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 พื้นที่ในการเก็บข้อมูลได้แก่ อาคารชุดในย่านพระรามสาม เพชรเกษม สุขุมวิท รัชดา และสาธร  โดยแบ่งกลุ่มตามมูลค่าของอาคารชุด ดังนี้ อาคารชุดราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท จำนวน 150 คน อาคารชุดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จำนวน 150 คน อาคารชุดราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท จำนวน 150 คน และอาคารชุดราคา  5  ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 50 คน โดย ร้อยละ 48.2 ของผู้ตอบแบบสอบถามซื้ออาคารชุดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ร้อยละ 27.6 ซื้อเพื่อขายต่อเก็งกำไร และร้อยละ 24.2  ซื้อไว้เพื่อให้เช่า ข้อเสนอแนะจากงานวิจัย1. ควรกำหนดให้คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการนิติบุคคล ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นการเฉพาะ โดยแก้ไขมาตรา 35/1 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 กำหนดคุณสมบัติที่สำคัญของผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด โดยต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้านบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด   แม้ตามกฎหมายปัจจุบันได้กำหนดคุณสมบัติของผู้จัดการนิติบุคคลเอาไว้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการบริหารจัดการนิติบุคคลเป็นการเฉพาะ ทำให้พบปัญหาเรื่องของการแต่งตั้งเครือญาติ(บริษัทเจ้าของโครงการ) เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งถือเป็นปัญหาเรื่องความโปร่งใส อย่างไรก็ตามการแก้ไขข้อกฎหมายนี้ต้องไม่เป็นเงื่อนไขในการเพิ่มค่าใช้จ่ายของเจ้าของร่วม  รวมถึงมีข้อกำหนดห้ามไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียในบริษัทเจ้าของโครงการมาเป็นผู้จัดการนิติบุคคล2. กรณีความไม่ปลอดภัยของทรัพย์ส่วนกลาง ที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์ส่วนบุคคล ในการรับผิดชอบความเสียหาย ควรร่วมกันทั้งฝ่ายเจ้าของและฝ่ายนิติบุคคลอาหารชุด  ปัญหานี้สืบเนื่องจากกรณีเจ้าของร่วมอาคารชุดรายหนึ่งแพ้คดีความในชั้นศาลกรณีรถยนต์หายไปจากลานจอดรถของอาคารชุด แล้วไม่สามารถเรียกร้องให้นิติบุคคลอาคารชุดรับผิดชอบ หรือชดเชยค่าเสียหายได้ เนื่องจากศาลพิจารณาว่าหน้าที่ของนิติบุคคลคือการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางเท่านั้น ส่วนรถยนต์คือ ทรัพย์ส่วนตัว อย่างไรก็ตามปัญหานี้เกิดจากสาเหตุ เรื่องที่จอดรถไม่เพียงพอ ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกร้องเรียนต่อคณะกรรมการองค์การอิสระฯ เป็นอันดับต้นๆ ดังนั้นเพื่อให้มีมาตรการดูแลทรัพย์ส่วนกลางให้มีคุณภาพมาตรฐาน การรับผิดชอบความเสียหาย ควรร่วมกันทั้งฝ่ายเจ้าของและฝ่ายนิติบุคคลอาหารชุด  3. กรณีที่มีคำสั่งปัญหาความไม่เข้าใจกฎหมาย ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการประชาสัมพันธ์ที่สามารถเข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุด รู้สิทธิ เข้าใจบทบาทในการเป็นเจ้าของร่วม การรวมตัวเพื่อใช้สิทธิ และมีส่วนร่วมในการเข้าประชุมเสนอแนะ และคัดเลือกกรรมการมากขึ้น โดยเฉพาะการรับรู้ข้อกฎหมายเรื่องการจ่ายค่าส่วนกลาง ค่าปรับ และการเสียสิทธิกรณีไม่จ่ายค่าส่วนกลางติดต่อกัน เนื่องจากพบว่ามีเจ้าของร่วมไม่รู้ข้อกฎหมายดังกล่าวเกือบครึ่งหนึ่งของเจ้าของร่วม พร้อมกันนี้ มีข้อเสนอให้กรมที่ดิน จัดทำคู่มือการอยู่อาศัยในอาคารชุด โดยมีรายละเอียดอธิบายสิทธิหน้าที่ของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด หน้าที่ของนิติบุคคล ทั้งการจัดการประชุม การเลือกกรรมการ การชี้แจงหลักเกณฑ์ การเปิดเผยข้อมูลรายรับรายจ่าย รวมถึงกฎหมายกำหนดหน้าที่ของลูกบ้าน เช่น กำหนดจ่ายค่าส่วนกลาง หรือการจ่ายค่าปรับกรณีไม่จ่ายค่าส่วนกลาง การใช้เอกสารโฆษณา เอกสารแนะนำการขายสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โดยคู่มือดังกล่าวต้องมอบแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และเมื่อมีการเปิดขายห้องชุดต้องส่งมอบคู่มือดังกล่าวแก่ผู้บริโภคทุกรายด้วยข้อสรุปปัญหาจากการบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุดและผลในทางกฎหมาย1.ปัญหาหน้าที่ในการจัดประชุมใหญ่สิ่งที่กฎหมายกำหนดผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่ต่อการประชุม ดังนี้-จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการและพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อบังคับ และผู้จัดการที่จดทะเบียนตามที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดไว้แล้ว หากไม่ทำต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท-นำมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติ หากไม่ทำต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท-นำมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมเรื่องแต่งตั้งกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติ หากไม่ทำต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท-นำมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมเรื่องแต่งตั้งกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติ หากไม่ทำต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท2.ปัญหาเรื่องการเงินสิ่งที่กฎหมายกำหนดกฎหมายกำหนดให้ผู้จัดการต้องจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำเดือนภายใน 15 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนและปิดประกาศให้เจ้าของร่วมทราบต่อเนื่องเป็นเวลา 15 วัน หากไม่ดำเนินการมีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาท3.ปัญหาหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปสิ่งที่กฎหมายกำหนดผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่เป็นตัวแทนของนิติบุคคลอาคารชุดในการจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง ดูแลให้เจ้าของร่วมให้ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด จัดให้มีการดูแลความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยภายในอาคารชุด และต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานนิติบุคคลอาคารชุดตามที่กำหนดในข้อบังคับเข้าใจเรื่อง การทำงานของนิติบุคคลอาคารชุด4 องค์ประกอบหลัก คือ1.นิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลอาคารชุด ส่วนใหญ่แล้ว ก็คือกลุ่มคนที่บริษัทเจ้าของโครงการ “ว่าจ้าง” เข้ามาเพื่อจัดการดูแลทรัพย์สินส่วนกลางต่างๆ ของอาคารชุด หรือ คอนโด ซึ่งคอนโด สามารถแยกการถือกรรมสิทธิ์ออกเป็นส่วนๆ ได้ โดยประกอบด้วย 2 ส่วน คือ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคล และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง ซึ่งนิติบุคคลอาคารชุดจะมีหน้าที่ดูแลและจัดการในทรัพย์ส่วนกลางเท่านั้น กฎหมายกำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง เช่น1.ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด ได้แก่ ที่ดินที่ปลูกสร้างอาคารชุดนั้น รวมถึงบริเวณติดต่อกันด้วย เช่น ที่ดินที่มีสนามหญ้า หรือมีที่ปลูกต้นไม้อยู่ในบริเวณเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นที่ดินที่ตั้งอาคารชุดนั่นเอง2.ที่ดินที่มีไว้เพื่อใช้หรือประโยชน์ร่วมกัน เช่น ที่ดินที่เป็นลานจอดรถร่วมกันหรือที่ดินที่จัดไว้เป็นสวนไม้ดอกเพื่อความสวยงามของอาคารชุดนั้น3.โครงสร้าง และสิ่งก่อสร้างเพื่อความมั่นคง และเพื่อป้องกันความเสียหายต่อตัวอาคารชุด ได้แก่ เสา เสาเข็ม หลังคา ดาดฟ้า ฝาผนังด้านนอกโดยรอบ เป็นต้น4.อาคารหรือส่วนของอาคาร และเครื่องอุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น อาคารที่เป็นโรงเก็บรถร่วมกัน ระเบียงราวลูกกรง บันได ทางเดินระหว่างห้องชุด เป็นต้น5.เครื่องมือและเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น เครื่องตัดหญ้า เครื่องสูบน้ำ เครื่องดูดฝุ่น6.สถานที่ที่มีไว้เพื่อบริการส่วนรวมแก่อาคารชุด เช่น สระว่ายน้ำ สนามกีฬา สนามเด็กเล่น เป็นต้น7.ทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น ลิฟท์ ถังขยะ เป็นต้น2.ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด กฎหมายกำหนดไว้ว่านิติบุคคลอาคารชุด ต้องมีผู้จัดการ 1 คน จะเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นนิติบุคคลเป็นผู้จัดการก็ต้องแต่งตั้งตัวแทนหนึ่งคนเข้ามาดำเนินการทำหน้าที่ในฐานะผู้จัดการแทนนิติบุคคลอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด1.จัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และมีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมติของเจ้าของร่วม2.ในกรณีจำเป็นและรีบด่วน ให้ผู้จัดการมีอำนาจโดยความริเริ่มของตนเองสั่งหรือกระทำการใดๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาคาร3.จัดให้มีการดูแลความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยภายในอาคารชุด4.เป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุด5.จัดให้มีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำเดือน และติดประกาศให้เจ้าของร่วมทราบภายใน 15 วันนับแต่วันสิ้นเดือนและต้องติดประกาศเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วันต่อเนื่องกัน6.ฟ้องบังคับชำระหนี้จากเจ้าของร่วมที่ค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ตามข้อปฏิบัติของอาคารชุด เกิน 6 เดือนขึ้นไป3.คณะกรรมการอาคารชุด กฎหมายกำหนดให้ทุกอาคารชุดต้องจัดให้มีคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด ประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่า 3 คนแต่ไม่เกิน 9 คน การแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการต้องนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติแต่งตั้งใครบ้างมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการอาคารชุด1.เจ้าของร่วมหรือคู่สมรสของเจ้าของร่วม2.ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ในกรณีที่เจ้าของร่วมเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ แล้วแต่กรณี3.ตัวแทนของนิติบุคคลจำนวนหนึ่งคน ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วมในกรณีที่ห้องชุดใดมีผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมหลายคนให้มีสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการจำนวนหนึ่งคนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอาคารชุด 1.ควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด2.แต่งตั้งกรรมการคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ ในกรณีที่ไม่มีผู้จัดการหรือผู้จัดการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามปกติได้เกิน 7 วัน3.จัดประชุมคณะกรรมการหนึ่งครั้งในทุก 6 เดือนเป็นอย่างน้อยโดยกรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี แต่จะดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระติดต่อกันไม่ได้ เว้นแต่ไม่อาจหาบุคคลอื่นมาดำรงตำแหน่งได้4.เจ้าของร่วมเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องแรก ผู้ซื้อห้องของอาคารชุดก็ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของร่วมทันที โดยจะมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนบุคคล และมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลางของโครงการที่อาศัยอำนาจหน้าที่ของเจ้าของร่วม 1.มีสิทธิ์เข้าประชุมทั้งสามัญและวิสามัญเพื่อให้องค์ประชุมครบ 1/4 ของเจ้าของร่วมทั้งหมด และดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ต่อไปได้2.มีสิทธิ์สมัครเป็นคณะกรรมการอาคารชุด3.มีสิทธิ์โหวต ออกความคิดเห็น คัดค้าน ตามอัตราส่วนสิทธิ์ของตัวเองในเรื่องต่างๆ ของที่ประชุม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 Lemon Law กฎหมายมะนาว กับ รถใหม่เจ้าปัญหา

ข่าวรถใหม่ป้ายแดง มีปัญหาซ่อมแล้วซ่อมอีก จนผู้บริโภคต้องออกมาประท้วงบริษัทรถยนต์ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทุบรถ ติดป้ายประจาน เอาควายมาลาก ฯลฯ ยังคงมีปรากฏอยู่ตามหน้าสื่ออยู่เป็นระยะ ๆ ล่าสุด เมื่อต้นเดือน พฤษภาคม 2560 ก็เพิ่งมีข่าว “เศรษฐีนีชาวขอนแก่น เดือด ซื้อรถหรูป้ายแดงแต่ซ่อมไม่เลิก เลยเอาต้นไม้ไปปลูกบนรถประชดหน้าบริษัท” ปรากฏการณ์เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า กลไกการแก้ไขปัญหาในระบบปกติ เช่น การเจรจาให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบ เอารถเข้าไปซ่อมครั้งแล้วครั้งเล่า การร้องเรียนกับหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคภาครัฐ หรือแม้แต่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย มันไม่ Work ผู้บริโภคเหล่านี้จึงเลือกใช้วิธีการออกมาหาความยุติธรรมที่ข้างถนน มาฟ้องสื่อ ฟ้องสังคม ฟ้อง Social Media  เพราะดูแล้วจะได้ผลรวดเร็วกว่า การใช้พลังทางสังคมเข้าไปกดดัน (Social Sanction) เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหานั้น หลายกรณี เมื่อสังคมให้ความสนใจ จับตามอง ก็ได้รับการดูแลแก้ไขอย่างรวดเร็ว แต่ทางเลือกนี้ก็มิได้เหมาะสำหรับทุกคน เพราะต้องใช้พลังอย่างมากในการต่อสู้เพื่อให้เป็นข่าว และที่สำคัญ มันเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นราย ๆ ไป เคลียร์รายนี้ได้ เดี๋ยวก็มีรายใหม่โผล่มาอีก ตราบใดที่ยังไม่ปรับปรุงระบบการจัดการปัญหาในช่องทางปกติให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และเข้าถึงได้โดยสะดวก หนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาเชิงระบบที่องค์กรผู้บริโภคพยายามผลักดันกันมาโดยตลอดก็คือ “ประเทศไทยต้องมีกฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า” เช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายนี้ ก็คือ สินค้าใหม่ทุกชนิด ที่ผู้บริโภคซื้อไปแล้ว หากพบว่ามีความเสียหาย ชำรุดบกพร่อง ใช้งานไม่ได้ หรือไม่เป็นไปไปตามสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกได้ว่าจะให้ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนสินค้าใหม่ ถ้าหากซ่อมเกิน 2 ครั้งแล้ว ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และสิทธินี้ยังรวมถึงผู้เช่าซื้อด้วย เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์  ที่ถึงแม้จะยังผ่อนไม่หมด ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ แต่ไฟแนนซ์ ผู้ให้เช่าซื้อ ก็ต้องให้สิทธินี้แก่ผู้บริโภคในการเรียกร้องให้เจ้าของสินค้าซ่อมแซม หรือเปลี่ยนสินค้า ถ้าของที่เช่าซื้อมาเกิดชำรุดบกพร่อง ซึ่งกฎหมายนี้ก็จะช่วยให้ผู้บริโภคมีทางออก ไม่ต้องดิ้นรน คิดหาวิธีประท้วงแบบแปลก ๆ ใหม่ ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากสังคมและสื่อพูดถึง “กฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า” นี้  ในแวดวงคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคก็มักจะเรียกทับศัพท์ตามอย่างฝรั่งว่า “Lemon Law” ซึ่งฟังดูแล้วก็ชวนให้สงสัยว่า สินค้าใหม่ที่มันชำรุดบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ รถใหม่ป้ายแดงที่มันซ่อมแล้วซ่อมอีก มันเกี่ยวข้องยังไงกับมะนาว เรื่องนี้ มีผู้รู้เล่าให้ฟังว่า มีที่มาจาก “Joke ตลกร้าย” ที่พูดถึงฝรั่งชาติต่าง ๆ ไว้ว่า “สวรรค์ของคนยุโรป ก็คือ ที่ที่ทุกคนได้กินอาหารที่ปรุงโดย เชฟชาวฝรั่งเศส เพราะคนฝรั่งเศสนั้นพิถีพิถันเรื่องอาหารการกิน ขับรถยนต์ที่สร้างโดยวิศวกรชาวเยอรมัน รถหรูยอดนิยมยี่ห้อ Benz , BMW นั้นก็สัญชาติเยอรมัน มีตำรวจอังกฤษคอยดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย  มีคนรักเป็นชาวอิตาเลียน และมีชาวสวิสเซอร์แลนด์ทำหน้าที่บริหารจัดการทุกอย่างที่ว่ามา ส่วนนรกของชาวยุโรป ก็คือ ที่ที่ทุกคนต้องกินอาหารอังกฤษ ใช้รถยนต์ฝรั่งเศส มีตำรวจเป็นชาวเยอรมัน มีคนรักชาวสวิส และบริหารทุกสิ่งอย่างโดยชาวอิตาเลียน JOKE นี้ ก็สะท้อนว่า ในสายตาชาวตะวันตก รถยนต์ที่แย่ ก็คือ รถจากประเทศฝรั่งเศส  ซึ่งรถยนต์ยี่ห้อดังของฝรั่งเศสก็คือ “ซีตรอง” (Citroen) ซึ่งในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “มะนาว” ส่วนเหตุที่นาย อังเดร ซีตรอง ผู้ก่อตั้งบริษัท ตั้งชื่อยี่ห้อรถยนต์ว่า “Citroen” ก็เพราะว่า ต้นตระกูล ปู่ของเขาสร้างฐานะมาจากการค้าขายมะนาว จึงตั้งชื่อสกุลตามธุรกิจที่ทำ ดังนั้น พอรุ่นหลานมาสร้างธุรกิจผลิตรถยนต์ก็เลยเอาชื่อสกุล “ซีตรอง” มาตั้งเป็นยี่ห้อรถยนต์ พอคนอเมริกันออกกฎหมายมาเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าใหม่ที่บกพร่องหรือรถใหม่ป้ายแดงที่มีตำหนิ ผู้คนก็เลยนึกถึง รถ Citroen (Lemon) ของชาวฝรั่งเศส จึงพากันเรียกกฎหมายดังกล่าวด้วยชื่อเล่น ว่า Lemon Law  เรื่องนี้ จริงเท็จประการใด ยังไม่ทราบแน่ชัด อาจจะเป็นแค่ เรื่องเล่าอำกันเล่นๆ ของฝรั่งก็เป็นได้ เพราะรถยนต์ Citroen จากประเทศฝรั่งเศส ก็ได้ชื่อว่าเป็นรถยนต์ที่มีเทคโนโลยี ล้ำสมัยมากยี่ห้อหนึ่งส่วนข้อสันนิษฐานที่สอง คาดว่า “Lemon” นี้เป็นคำสแลงในภาษาอังกฤษ ในความหมายที่ว่า “แสบ แย่” ซึ่งน่าจะมาจากรสชาติที่เปรี้ยวจี๊ด ของมะนาว ดังที่มีสำนวนว่า “when life gives you lemons , make lemonade” และก็มีการนำมาใช้ในแวดวงรถยนต์ ในความหมายที่ว่า “เอาของไม่ดี มาหลอกขายว่าเป็นของดี” ถ้าเป็นสำนวนแบบไทย ๆ ก็ต้องพูดว่า “ย้อมแมวขาย” ซึ่งมีที่มาจาก คนไทยสมัยก่อนจะนิยมเลี้ยงแมวที่มีลักษณะดี โดยดูจากสีขน จุดแต้ม ตามส่วนต่าง ๆ บนตัวแมว เพราะเชื่อว่า แมวพวกนี้จะให้คุณ ให้โชค แต่แมวที่มีลักษณะดีก็ใช่ว่าจะหากันง่าย ๆ จึงมีพวกคิดไม่ซื่อ ไปจับแมวทั่วๆ ไปมาย้อมสี แต่งแต้ม ให้ดูเหมือนแมวตามตำรา แล้วเอาไปหลอกขายคนซื้อ  ดู ๆ แล้วเรื่อง “คนใจคด หากินไม่สุจริต” นี่เห็นจะมีเหมือนกันทุกชาติ ทุกภาษา และมีเหมือนกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ที่จะไม่เหมือนกันอยู่อย่างก็คือ ต่างชาติเขาคิดแก้ไข พัฒนากฎหมาย ป้องกันปัญหา คุ้มครองคนของเขาไม่ให้ถูกเอาเปรียบมานานแล้ว แต่ไทยเรายังไปไม่ถึงไหน ปล่อยให้พวก นักขายจอมกะล่อน ปลิ้นปล่อน กลมกลิ้งเป็นลูกมะนาว หากินเอาเปรียบผู้คนอยู่จนทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2560ระวังอาหารเสริมผสม “ยาต้านซึมเศร้า”นางศิริวิทย์ หลิ่มโตประเสริฐ นักวิชาการสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เผยผลการตรวจวิเคราะห์อาหารเสริม 2 ตัว ลอบผสมยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือ “ยาต้านซึมเศร้า” เตือนผู้บริโภคที่รับประทานอาจเกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2 ยี่ห้อที่ตรวจพบการปนเปื้อน ได้แก่ 1.KITO DETOX เลขสารบบอาหาร 74-2-03357-1-0091 รุ่นที่ผลิต AA000308 ผลิตโดย บริษัท สยามเฮลท์แอนบิวตี้แคร์ จำกัด และ 2.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร CORE LIPO 8 DIETRY SUPPLEMENT PRODUCT เลขสารบบอาหาร 13-1-13653-1-0112 รุ่นที่ผลิต 112974C ผลิตโดยบริษัท เนเจอร์ นิวทริ จำกัด ยาฟูลออกซิทีนเป็นยาแผนปัจจุบันใช้ต้านอาการซึมเศร้า ต้องจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ตัวยามีผลข้างเคียงทำให้เบื่ออาหาร เมื่อนำไปใช้ไม่ถูกจะมีโทษ อาจจะทำให้ผู้ได้รับยามีอาการคลื่นไส้ มีผลต่อการมองเห็น ปวดท้อง แน่นหน้าอก และอาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลวเสียชีวิต อย่ากิน!!!ขนม “BLACK POWDER” ทำเด็กหมดสติอย.ฝากเตือน เด็กๆ พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และบุคลากรในสถานศึกษา เฝ้าระวังอันตรายจาก “ขนมหน้าโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน” หลังพบเด็กทานขนมที่มีลักษณะเป็นผงคล้ายเกล็ดน้ำตาล มี 2 สี 2 รสชาติ บรรจุในขวดเล็กๆ รูปร่างเหมือนขวดน้ำอัดลม สีดำ บนฉลากเขียนคำว่า “BLACK POWDER” แล้วเกิดอาการเวียนหัว อาเจียน นอนซึม ตาลอย และไม่มีอาการตอบสนอง จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล หลังตรวจสอบขนมดังกล่าว บนฉลากมีเพียงชื่อยี่ห้อ และข้อความภาษาจีน ไม่มีข้อความภาษาไทย และไม่มีเลข อย.โดยที่ผ่านมา อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่มลูกกวาด ลูกอม และกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการใช้สีผสมอาหารมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยังพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารและขนมต้องสงสัย ถูกนำมาขายให้กับเด็กวัยอนุบาลและประถมตามหน้าโรงเรียนต่างๆ ทั้งนี้ อย. ได้ฝากถึง พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ครู-อาจารย์ ช่วยเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังขนมที่ผลิต จำหน่าย หรือนำเข้าโดยผิดกฎหมาย หากพบมีการนำเข้าหรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ สามารถแจ้งไปยัง อย. หรือ สาธารณสุขจังหวัดได้ทันทีเอาผิด รพ.เอกชน แจกคูปองน้ำมันให้อาสากู้ภัยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ลงดาบโรงพยาบาลเอกชนที่จัดโปรโมชั่นให้เจ้าหน้าที่กู้ภัย ทั้งแจกคูปองเติมน้ำมัน คูปองสะสมแต้ม เพื่อแลกกับการนำผู้ป่วยฉุกเฉินมาส่งที่โรงพยาบาล เนื่องจากผิดกฎหมายสถานพยาบาล นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า รพ.เอกชนดังกล่าวจัดทำโปรโมชันนี้ตั้งแต่ช่วง ก.พ. ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือมูลนิธิกู้ภัย แต่ภายหลังเมื่อมีการการตรวจสอบ รพ.เอกชนดังกล่าวก็ได้ยุติการทำโปรโมชันไปตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยทาง รพ.เอกชน ก็ได้ทำให้หนังสือแจ้งต่อ สบส. ว่า ไม่ได้มีเจตนารมณ์ไม่ดีในการจัดโปรโมชันดังกล่าว และไม่ได้สนับสนุนการส่งผู้ป่วยข้ามเขตแต่อย่างใด อีกทั้งตั้งแต่จัดโปรโมชันดังกล่าว รพ. ก็ไม่ได้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อ รพ.ดังกล่าวยอมรับว่าได้จัดโปรโมชันจริง สบส. ก็จะดำเนินการตามกฏหมาย ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ในมาตรา 38 ที่ว่าด้วยการห้ามโฆษณา โอ้อวด ลด แลก แจก แถม เพื่อชักชวนให้มีผู้มารับบริการจากสถานพยาบาลของตน โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ “ทุบรถโชว์” ประชดแก้ปัญหาไม่คืบหน้ากลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการใช้รถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด รุ่นเฟียสต้า และรุ่นโฟกัส กว่า 60 คน รวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานใหญ่ บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส ประเทศไทย จำกัด เพื่อเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดัง หลังจากผู้เสียหายประสบปัญหาจากการใช้รถยี่ห้อดังกล่าวทั้งๆ ที่เพิ่งซื้อมาได้ไม่นาน โดยปัญหาที่พบมีทั้ง เกียร์กระตุก รถสั่น และที่ร้ายแรงที่สุดคือเบรกไม่อยู่ โดยกลุ่มผู้เสียหายนอกจากจะมีการอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องแล้ว ยังการนำพลั่วมาทุบรถยนต์คันที่มีปัญหา เพื่อแสดงถึงความไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของบริษัทซึ่งที่ผ่านมากลุ่มผู้เสียหายเคยไปร้องเรียนกับทั้งศูนย์บริการของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ สคบ. สำนักนายกรัฐมนตรี และสภาทนายความ แต่ก็ยังไม่ได้รับการชดเชย นอกจากนี้กลุ่มผู้ร้องยังรู้สึกไม่พอใจในการแก้ปัญหาของ สคบ. ที่ได้มีการนำรถรุ่นที่พบปัญหาไปทดสอบแล้วผลออกมาว่ารถปลอดภัยดี ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ฟอร์ดเคยออกมายอมรับว่ารถยนต์รุ่นที่มีการร้องเรียนมีปัญหาจริง คงต้องติดตามกันต่อไปว่าคดีนี้จะจบอย่างไร ผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยที่เหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ค้าน ม.44 เร่งผ่าน “สิทธิบัตรยา” กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ออกมาแสดงความกังวลและขอคัดค้านแนวคิดของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เตรียมใช้ ม.44 เป็นช่องทางพิเศษเร่งรัดพิจารณาและออกสิทธิบัตร แก้ปัญหาความล่าช้าคำขอสิทธิบัตรที่ค้างอยู่กว่า 12,000 ฉบับ ซึ่งคาดว่าเป็นคำขอเกี่ยวกับยาถึง 3,000 ฉบับ และเกือบทั้งหมดเป็นคำขอสิทธิบัตรแบบ Evergreening หรือสิทธิบัตรที่ไม่มีความใหม่ เนื่องจะทำให้เกิดปัญหาต่อระบบสาธารณสุขในประเทศ ทั้งการผูกขาด ปัญหายาราคาแพง นำไปสู่การเข้าถึงยาที่ยากขึ้นในอนาคตภาคประชาชนได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยา พร้อมเสนอให้มีการทบทวน โดยให้พิจารณาถึงเหตุผลที่แท้จริงของความล่าช้าในการออกสิทธิบัตร ที่นอกจากจะมีสาเหตุมาจากความด้อยประสิทธิภาพของกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ยังมีสาเหตุมาจาก บริษัทยาหรือผู้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรอาศัยช่องว่างของ พ.ร.บ. สิทธิบัตรที่ให้ระยะเวลาในการยื่นเอกสารรายละเอียดการจดสิทธิบัตรยาวนานถึง 5 ปี และมักจะมายื่นเอกสารในปีท้ายๆ ทำให้การพิจารณาคำขอไม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว ซึ่งกรณีนี้เป็นประโยชน์กับผู้ยื่นคำขอ เพราะกฎหมายให้สิทธิคุ้มครองนับตั้งแต่วันยื่น ทั้งที่คำขอนั้นยังไม่ได้รับพิจารณาตามกระบวนการตรวจสอบสิทธิบัตร กลายเป็นเครื่องมือให้ผู้ยื่นใช้ผูกขาดตลาดและราคายานอกจากนี้ การเร่งออกสิทธิบัตรกลับยิ่งส่งผลกระทบต่อการสนับสนุนนวัตกรรมในประเทศ เนื่องจากคำขอที่ค้างอยู่โดยเฉพาะในเรื่องยา ส่วนใหญ่เป็นคำขอที่ไม่เข้าข่ายสมควรจะได้รับสิทธิบัตร หรือเรียกว่าสิทธิบัตรต่อยอดแบบไม่มีวันตาย ยิ่งเร่งออกสิทธิบัตรยิ่งไปจำกัดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ในประเทศ รวมทั้งจะก่อให้เกิดปัญหาสิทธิบัตรด้อยคุณภาพและการผูกขาดตลาดยาและยาแพงโดยไม่จำเป็น  ทั้งนี้การพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตร โดยเฉพาะยา ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เพราะมีข้อมูลจำนวนมากและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อพิสูจน์ว่าคำขอฯ นั้นมี “ความใหม่” และ “ขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ยิ้มเห็นเหงือกมากไป แก้ไขอย่างไรดี

หนึ่งในปัญหาความงามของสาวๆ คือ การยิ้มเห็นเหงือกมากเกินไป ซึ่งสามารถทำให้ขาดความมั่นใจเวลายิ้มได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันเราสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ด้วยหลากหลายวิธีการ ซึ่งจะมีอะไรบ้างและมีข้อแตกต่างอย่างไร ลองไปดูกันเลยรู้จักภาวะยิ้มเห็นเหงือกกันก่อน ภาวะยิ้มเห็นเหงือกมากเกินไป (Gummy Smile) มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ยกริมฝีปากบนและมุมปากทำงานเกินพอดี หรือเหงือกเจริญลงมาคลุมคอฟันมากเกินไป ทำให้เวลายิ้มแล้วเห็นเหงือกมากกว่าปกติ วิธีการแก้ไขภาวะยิ้มเห็นเหงือก วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สามารถทำได้หลากหลายและมีข้อแตกต่างกัน ดังนี้ - การศัลยกรรมตกแต่งเหงือก (Gingivectomy) คือ การตัดแต่งเฉพาะเหงือกส่วนเกินออก ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เครื่องจี้ไฟฟ้าหรือเลเซอร์ ซึ่งจะทำให้เกิดรอยแผลขนาดเล็ก และสามารถหายสนิทภายใน 1-2 เดือน ข้อดีคือให้ผลการรักษาเป็นแบบถาวร เหงือกจะไม่กลับมางอกซ้ำอีก และราคาไม่สูงมากนัก โดยอัตราค่าบริการมักขึ้นอยู่กับความยากง่ายและจำนวนที่แก้ไข อย่างไรก็ตามการศัลยกรรมดังกล่าวต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ก่อนว่า สามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากในบางราย การนูนของเหงือก อาจเกิดจากระดูกหุ้มฟัน ซึ่งต้องกรอแต่งกระดูกดังกล่าวก่อนตัดแต่งเหงือก นอกจากนี้บางคนอาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดที่กระดูกขากรรไกรแทน ซึ่งการผ่าตัดชนิดนี้เป็นการผ่าตัดใหญ่ หลังผ่าตัดต้องมีการพักฟื้นนาน มีการใช้เหล็ก หรือสกรูดามไว้ ทำให้หลังการรักษาอาจจะทำให้การรับประทานอาหารและพูดได้ลำบากในช่วงระยะเวลาหนึ่ง  - การฉีดโบท็อกซ์ วิธีการนี้ใช้แก้ปัญหากรณีกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ยกริมฝีปากบนและยกมุมปากทำงานเกินพอดี ซึ่งโบท็อกซ์จะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวทำงานน้อยลง และเกิดอาการตึงบริเวณริมฝีปาก ทำให้ฉีกยิ้มได้น้อยลงและเห็นเหงือกน้อยลงนั่นเอง ทั้งนี้วิธีการดังกล่าวมีอัตราค่าบริการสูงและให้ผลการรักษาชั่วคราวเป็นเวลาประมาณ 4-6 เดือน อย่างไรก็ตามวิธีการนี้ต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น เพราะหากมีการฉีดผิดจุด อาจทำให้เราขยับปากไม่ได้หรือปากเบี้ยวไปเลย - การอุดเติมเนื้อฟันหรือทำครอบฟัน วิธีการนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีฟันมีขนาดเล็กหรือสั้นผิดปกติ โดยใช้วัสดุอุดเสมือนฟันช่วยเติมซี่ฟันให้ดูยาวขึ้น หรือใช้การครอบฟันร่วมกับการตัดเหงือก ข้อเสียคือราคาสูง โดยส่วนใหญ่มักเริ่มต้นที่ซี่ละ 3,500 บาท - การจัดฟัน ช่วยแก้ไขในกรณีที่ตำแหน่งฟันผิดปกติ ยื่นออกมามาก หรือฟันห่าง โดยจะใช้การจัดฟันทำให้ฟันชิดและไม่ยื่นได้ หรืออาจใช้การปักหมุดช่วยดึงฟันลงมาเพื่อให้ระดับฟันสูงขึ้น อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง - การผ่าตัดตกแต่งบริเวณริมฝีปากบน หากใครที่เคยทำปากกระจับแล้วทำให้ริมฝีปากบนบางเกินไปจนทำให้เกิดภาวะยิ้มเห็นเหงือก สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดเสริมริมฝีปากบนให้หนาขึ้น ซึ่งมีข้อเสียคือค่าใช้จ่ายสูงและอาจต้องรักษาหลายครั้งเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ หรือสามารถแก้ไขด้วยการฉีดสารเติมเต็ม (Filler) แต่ผลการรักษาจะอยู่ชั่วคราว และต้องฉีดใหม่ทุกๆ 6 เดือนทั้งนี้ไม่ว่าเราจะเลือกวิธีการใดเพื่อแก้ไขภาวะยิ้มเห็นเหงือก ควรคำนึงถึงการเลือกทันตแพทย์ที่มีความชำนาญ เครื่องมือสะอาด ปลอดภัยหรือแจ้งโรคประจำตัว อาการแพ้ยาต่างๆ ก่อนทำ และควรดูแลตัวเองหลังทำอย่างเคร่งครัด ด้วยการรับประทานยาแก้อักเสบ ทำความสะอาดช่องปากตามที่ทันตแพทย์แนะนำ และหลีกเลี่ยงอาหารแข็ง ร้อนจัด หรือรสจัด เพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคืองแผล รวมทั้งหมั่นพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 6 เดือน/ครั้ง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 ขาวจากขาลามขึ้นมาถึงหน้า

หลายปีก่อนมีปรากฏการณ์เด็กวัยรุ่นสาวในจังหวัดเพชรบุรี “ขาลาย” กันหลายคน จากการติดตามลงพื้นที่เพื่อค้นหาปัญหาของเภสัชกร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี ทำให้ทราบข้อมูลว่าวัยรุ่นกลุ่มนี้ซื้อวัตถุดิบในการทำเครื่องสำอางมากวนเป็นครีมทาขาใช้กันเอง และยังนำครีมที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์มาผสมเพิ่มลงไปในครีมที่กวนด้วย ครีมสเตียรอยด์ที่เด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้นำมาผสมคือ โคลเบตาซอล (clobetasol) ซึ่งเป็นสเตีอรอยด์ที่มีความแรงสูงสุด ใช้ไปทีแรกขาก็ขาวขึ้นแต่เมื่อใช้ไปนานๆ ขาที่ขาวกับมีลายริ้วเป็นเส้น จนเป็นข่าวครึกโครมออกสื่อโทรทัศน์ไปทั่วผ่านมาสามถึงสี่ปีแล้ว ไม่รู้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวหายไปหรือยัง แต่ที่น่าตกใจคือพบพฤติกรรมใหม่อีก คือมีครีมหน้าขาวระบาดในหมู่คนที่อยากหน้าขาวหลายราย และลามไปหลายกลุ่มวัยด้วย ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยโรย มีการระบาดตั้งแต่ภาคเหนือลงไปถึงภาคใต้ ผลิตภัณฑ์ที่ขายมีทั้งชนิดที่ผสมในตลับที่ไม่มีฉลาก(ผู้ซื้อไม่รู้ว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง) เมื่อตรวจวิเคราะห์ก็พบสารสเตียรอยด์ตัวเดิม คือโคลเบตาซอล (clobetasol) หรือบางทีก็มีการนำครีมที่ไม่มีฉลากมาขายเป็นชุด โดยขายรวมกับครีมโคลเบตาซอล ผลปรากฏว่ามีการแอบซื้อแอบขายกันอย่างแพร่หลายไปตามๆ กัน แต่ที่แพร่หลายไปด้วยก็คืออาการผิวหน้าเริ่มมีสิวขึ้น ผิวบางลง จนบางครั้งอาจเกิดเป็นริ้วลายเส้นๆ ตามใบหน้าในแง่วิชาการนั้น หากจัดลำดับความแรงของสารสเตียรอยด์ พบว่า โคลเบตาซอล จัดเป็นสเตอรอยด์ที่มีความแรงสูงสุดด้วยซ้ำ ดังนั้นเมื่อใช้ประจำอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงมากมาย เช่น หน้าจะกลับมามัน สิวจะเริ่มขึ้นตามบริเวณที่ทา ผิวส่วนที่ทาครีมจะบางลง จนเห็นเส้นเลือดฝอย บางคนเกิดอาการอักเสบ เมื่อใช้ไปนานๆ อาจมีขนดกขึ้นในบริเวณที่ทา จึงไม่ควรนำมาใช้กับใบหน้าในแง่กฎหมาย ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจะไม่อนุญาตให้มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ทุกชนิด เพราะกฎหมายกำหนดให้ครีมที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ต้องขึ้นทะเบียนเป็นยาเท่านั้น ดังนั้นการผลิตเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้หากมีการขายเครื่องสำอางโดยจัดเป็นชุด ขายคู่กับยาครีมสเตียรอยด์ก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะมีเจตนาให้นำไปใช้อย่างผิดวิธี และหากสถานที่จำหน่ายไม่ใช่ร้านขายยาก็ถือว่าผิดกฎหมายด้วย แต่ถ้าหากขายในร้านขายยาโดยมีการขายพร่ำเพรื่อไม่เหมาะสมถูกต้องตามหลักวิชาการ ก็ถือว่าเภสัชกรร้านยา กระทำผิดจรรยาบรรณวิชาชีพเช่นกันใครพบเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ แจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดโดยด่วน และอย่าลืมรีบเตือนผู้ที่กำลังหลงเป็นเหยื่อนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปใช้โดยด่วนที่สุด ก่อนที่หน้าจะพังแหล่งข้อมูล : Facebook.com/ Rational Drug Use , กพย และ Sompong Apiromuck

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 ยาฝาแฝด “ปัญหาจาก ฉลากยา(มหัศจรรย์) ดูให้ดีก่อนกิน”

ฉลากยาเป็นเครื่องมือที่กฎหมายกำหนดให้แสดงไว้ข้างภาชนะบรรจุยา วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สั่งใช้ และผู้ที่จะต้องใช้ยา ได้อ่านเพื่อที่จะได้ใช้ยาอย่างถูกต้องปลอดภัย โดยกฎหมายจะกำหนดให้ฉลากยาต้องมีรายละเอียดที่จำเป็นครบถ้วน ได้แก่ ชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า เลขทะเบียนยา สรรพคุณของยา วันผลิตและวันหมดอายุ แต่บางครั้งเราพบว่าฉลากยาหลายรายการกลับมีรูปแบบที่ใกล้เคียงกันมาก มากจนอาจเรียกได้ว่าเป็น “ ยาฝาแฝด จนทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน หรือเกิดความเสี่ยงในการใช้ยาอย่างผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ ลองดูตัวอย่างที่ฉลาดซื้อ ได้สำรวจ และสอบถามข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความสับสนเหล่านี้ จากเภสัชกร ชมรมเภสัชชนบท ตัวอย่างเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นผู้ป่วยชายไทย อายุ 41 ปี มารับยาจิตเภท (Schizophrenia) ตามนัด หลังจากเภสัชกรได้ตรวจสอบยาเดิมที่ผู้ป่วยนำติดตัวมา โดยผู้ป่วยรายนี้ได้รับยาชนิดเดียวกัน แต่ 2 ความแรง คือ Risperidone 1 mg และ Risperidone 2 mg ตามภาพประกอบโดยเวลารับประทานยาทั้ง 2 เหมือนกันคือ ครั้งละ 1 เม็ด ก่อนนอน จากการสอบถามผู้ป่วยและญาติเข้าใจผิดคิดว่าอันเดียวกันเนื่องจากดูเหมือนๆกันจึงเก็บยาทั้ง 2 ความแรงไว้ในซองเดียวกัน โดยหยิบรับประทานครั้งละ 2 เม็ด ก่อนนอนและไม่ทราบว่าเป็นยาคนละความแรง ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากความสับสนในฉลากยากลุ่มนี้ยาพาราเซตามอล ไซรัป ผู้ประกอบการได้ผลิตในรูปแบบความแรงที่แตกต่างกัน 4 ขนาดคือ 1. 120 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 120 มิลลิกรัม 2. 160 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 160 มิลลิกรัม 3. 250 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 250 มิลลิกรัม 4. 60 mg / 0.6 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 0.6 มิลลิลิตร มียาพาราเซตามอล 60 มิลลิกรัมจะสังเกตได้ว่า ยาพาราเซตามอล ไซรัป ที่อยู่ในรูปแบบของชนิดหยด ใช้สำหรับเด็กทารกแรกเกิด มีความแรงของยาในขนาดที่สูงกว่ารูปแบบยาน้ำเชื่อมถึง 4 เท่า และยาในรูปแบบยาน้ำเชื่อมมีความแรงของยาที่แตกต่างกันถึง 3 ขนาด ซึ่งผู้บริโภคต้องทราบว่า ไม่เพียงแต่รสชาติ กลิ่นของยาน้ำเชื่อม จะแตกต่างกันเท่านั้น ความแรงของยาก็มีความแตกต่างกันด้วย ซึ่งยาพาราเซตามอล หากใช้เกินขนาด อาจทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย นำไปสู่ภาวะตับวายและเสียชีวิตได้ ซึ่งขนาดการใช้ยาพาราเซตามอลในเด็ก ไม่เกิน 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง (และไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/ครั้ง) รวมทั้งไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/24 ชั่วโมง (ไม่เกิน 3,250 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง) และไม่ควรใช้ยาพาราเซตามอล ติดต่อกันนานเกิน 5 วัน ในเด็กข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหา ฉลากยาที่คล้ายกันปัญหาจากกลุ่ม “ยาฝาแฝด” หรือ “ยารูปพ้อง-มองคล้าย” ต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาร่วมกันจากทุกส่วน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายถึงผู้ใช้ยา นอกจากนี้ แม้ว่าโรงพยาบาลทุกแห่งจะมีมาตรการจัดการด้านยา “ชื่อพ้องมองคล้าย”อย่างจริงจังแล้วก็ตาม ตัวผู้ใช้ยาหรือผู้ดูแลผู้ป่วยเอง ก็ต้องมีการทบทวนยาที่ตนใช้ให้ละเอียดรอบคอบทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ที่สำคัญที่สุด คือ “การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุตั้งแต่การขอขึ้นทะเบียนยา” ควรให้มีการบรรจุเกณฑ์การพิจารณาฉลากยาบรรจุภัณฑ์ของยานั้นๆ เช่น แผงยา ขวดยา หลอดยา ไม่ให้มีความเหมือน หรือคล้ายคลึงกับยาอื่น นอกจากนี้ ไม่ควรอนุญาตให้ใช้ชื่อทางการค้าเดียวกัน โดยที่ส่วนประกอบของตำรับยาเป็นคนละชนิดกัน และไม่ควรอนุญาตให้ยาชนิดเดียวกัน ที่มีความแรงของยาที่ไม่เท่ากัน ใช้ชื่อทางการค้าเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 เพื่อนบ้านเป็นเหตุ

หากใครไม่ได้อยู่บ้านเดี่ยวคงจะเคยเจอปัญหาเล็กๆ น้อยๆ จากเพื่อนข้างบ้าน (หรือข้างห้อง) ที่สร้างความรำคาญใจให้ เช่น เสียงดังรบกวน หรือกลิ่นอาหารที่ลอยมาถึงบ้านเรา ซึ่งหากปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว หลายคนก็ยินยอมที่จะปล่อยผ่านไป อย่างไรก็ตามหากเราทนไม่ไหวและต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เราควรทำอย่างไรดีเหตุการณ์แรกเกิดขึ้นกับคุณสุนีย์ บ้านของเธอเป็นตึกแถวที่อยู่ติดกับร้านถ่ายเอกสาร ซึ่งมักมีปัญหากับกลิ่นควันบุหรี่ จากลูกค้าร้านถ่ายเอกสารที่มายืนรออยู่หน้าร้าน แม้เธอจะแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการนำพัดลมมาตั้งหน้าบ้านเพื่อเป่าควันบุหรี่ แต่ก็ไม่สามารถจัดการกลิ่นบุหรี่ที่ลอยเข้ามาได้หมด เธอจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำเหตุการณ์ที่สองเป็นของคุณสุชาติ เขาพักอาศัยอยู่ห้องเช่าแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเพื่อนข้างห้องประกอบกิจการขายน้ำเต้าหู้ ปัญหาของคุณสุชาติจะเริ่มขึ้นในเวลาเช้ามืดของทุกวัน เนื่องจากเพื่อนข้างห้องจะส่งเสียงดังรบกวน ทำให้เขาต้องตื่นก่อนเวลาที่ตั้งใจไว้เป็นประจำ จนระยะหลังเขารู้สึกว่ามีเวลานอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ จึงแก้ปัญหาด้วยการโทรศัพท์แจ้งตำรวจ แต่เหตุการณ์ก็ดำเนินไปได้ด้วยดีไม่กี่วัน ไม่นานเสียงอึกทึกยามเช้ามืดก็กลับมาอีกครั้ง คุณสุชาติจึงส่งเรื่องมายังศูนย์ฯ เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาจากทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องเจรจากับข้างบ้านก่อนเบื้องต้น โดยสำหรับกรณีสูบบุหรี่ ควรขอให้ทางร้านถ่ายเอกสารมีการติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ อย่างไรก็ตามหากผู้ร้องเคยเจรจาไปแล้ว แต่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาก็สามารถแจ้งเรื่องต่อกรุงเทพมหานคร ที่เบอร์โทรศัพท์ 1555 หรือเบอร์โทรศัพท์ของสำนักงานเขตพื้นที่ ต่อฝ่ายสิ่งแวดล้อมจากสำนักงานเขต ให้มาช่วยพูดคุยให้โดยที่ผู้ร้องไม่ต้องเผยตัวก็ได้ เนื่องจากตาม พ.ร.บ. กระทรวงสาธรณสุข พ.ศ.2535 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการ ป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษที่เกี่ยวกับเหตุรำคาญด้านพิษทางเสียง ไว้ดังนี้ - มาตรา 25 ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น ดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ (4) การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง สี รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือนฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพสำหรับกรณีที่ 2 การประกอบกิจการน้ำเต้าหู้ ต้องดูด้วยว่าสถานประกอบการได้รับใบอนุญาตหรือไม่ เพราะตามกฎหมายมาตรา 38 ผู้ใดจะจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหารในอาคารหรือพื้นที่ใด ซึ่งมีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตร และมิใช่เป็นการขายของในตลาด ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 56 ถ้าสถานที่ดังกล่าวมีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อขอรับ หนังสือรับรองการแจ้งตามมาตรา 48 ก่อนการจัดตั้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 คืนตั๋วโดยสารไม่ได้

เหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างการซื้อตั๋วโดยสารแล้ว ไม่สามารถเดินทางตามกำหนดเวลาที่จองไว้ได้ ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งบางคนอาจแก้ปัญหาด้วยการเลื่อนเวลาการเดินทาง หรือนำบัตรโดยสารไปคืน โดยทำตามเงื่อนไขต่างๆ ตามที่แต่ละบริษัทกำหนดไว้ อย่างไรก็ตามหากเราพบว่าไม่สามารถคืนตั๋วได้ตามเงื่อนไข ควรทำอย่างไรดีคุณสุชาติซื้อบัตรโดยสารของบริษัท สมบัติทัวร์ จำกัด โดยกำหนดเดินทางจากกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ต่อมาภายหลังเขาต้องเดินทางไปทำธุระที่จังหวัดอื่นกะทันหัน จึงไปเปลี่ยนตั๋วเดินทางเป็นขากลับจากเชียงใหม่แทน(เชียงใหม่ – กรุงเทพฯ) ซึ่งพนักงานก็เปลี่ยนให้โดยไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อเขาพบว่าตนเองไม่สามารถเดินทางกลับภายในระยะเวลาที่จองตั๋วไปแล้วได้ จึงตัดสินใจยกเลิกการจองตั๋วดังกล่าวและไปขอเงินคืน ซึ่งเขาทราบเงื่อนไขของการคืนตั๋วอยู่แล้วว่า ต้องนำตั๋วโดยสารมาคืนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ชม. และจะได้เงินคืนไม่เต็มจำนวน โดยต้องโดนหักค่าธรรมเนียม 10% จากราคาตั๋วนั้นๆ อย่างไรก็ตามแม้เขาจะทำตามเงื่อนไขการคืนตั๋ว พนักงานกลับปฏิเสธการคืนบัตรโดยสารดังกล่าวและแจ้งว่ามีวิธีเดียวที่จะได้เงินคืนคือ ให้นำมาฝากขาย ซึ่งหากมีคนมาซื้อก็จะแจ้งให้มารับเงินจำนวนดังกล่าวไป ทำให้ผู้ร้องรู้สึกว่าไม่มีความเป็นธรรม จึงส่งเรื่องมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ช่วยทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถึงกรมการขนส่งทางบกและบริษัทฯ เพื่อให้ชี้แจงปัญหาดังกล่าวและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยภายหลังทางบริษัทฯ ได้แจ้งกลับมาว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดของพนักงาน ซึ่งได้เรียกมาอบรมแล้วและพร้อมคืนเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในตั๋วโดยสารให้ ด้านผู้ร้องก็ยินดีกับข้อเสนอดังกล่าวและได้รับเงินคืนเรียบร้อยทั้งนี้สำหรับใครที่ใช้บริการกับบริษัทดังกล่าว โดยซื้อตั๋วโดยสารไปแล้วแต่พบว่าไม่สามารถเดินทางตามกำหนดเวลาที่ซื้อไว้ได้ สามารถขอเลื่อนกำหนดการเดินทาง รวมทั้งขอยกเลิก/คืนตั๋วโดยสารได้ที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วของบริษัท โดยมีเงื่อนไขในการยกเลิก คือ นำสำเนาบัตรประชาชนมาติดต่อด้วยตนเอง หรือเขียนมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทน ก่อนเวลาเดินทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสารล่วงหน้า ซึ่งหากเป็นกรณีเดินทางจากต้นทางกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ ต้องล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ชั่วโมง และหากเป็นจังหวัดอื่นต้องล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ชั่วโมง พร้อมเสียค่าธรรมเนียมการยกเลิก 10% จากราคาค่าโดยสาร หรือในกรณีที่ต้องการเลื่อนวันเดินทาง และ/หรือเปลี่ยนแปลงการเดินทางสามารถทำได้ฟรี 1 ครั้ง ซึ่งต้องมาติดต่อเหมือนในกรณีการยกเลิกตั๋ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 เมื่อลุงผู้ใหญ่ ถูกเรียกเก็บค่าบริการเสริมทางโทรศัพท์มือถือ.....

ปัญหาการคิดค่าบริการโทรศัพท์ โดยระบุว่า เป็นค่าบริการเสริม ค่ารับ SMS หรือ รับข้อมูลอื่นๆ เกิดขึ้นเยอะในกลุ่มผู้ใช้บริการ ทุกเครือข่าย  ช่วงหลัง มักเจอบ่อยเรื่องของการเก็บโหลดข้อมูล Facebook หรือจากทาง แอฟต่างๆ ที่ส่งมาทางข้อความผู้ใช้บริการโดยจะคิดค่าบริการจาก 10-20 บาท และเริ่มจะมากขึ้นเรื่อยๆ หากผู้ใช้บริการไม่สังเกต  โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการเหมาจ่ายรายเดือน และระบบจ่ายรายเดือน เนื่องจากมีรายการหลายอย่าง หรือแม้แต่ผู้ใช้ระบบเติมเงินก็มักถูกหักเงินบ่อยครั้ง แต่ทุกรายมักจะมีคำพูดที่ว่า “ไม่เป็นไร มันไม่เยอะ แค่ 10-20 เอง”  ถ้าลองคำนวณดูว่า 10 บาท กับ 1 ล้านคน ก็เป็น 10 ล้านบาท  เยอะไหมคะ พอที่เราจะต้องเรียกร้องเงินจำนวน 10 บาท ของเราคืนไหม เพื่อที่ประโยชน์จะได้ไม่ต้องไปตกกับกลุ่มเครือข่ายโทรศัพท์ที่เอาเปรียบผู้บริโภคลุงสำเริง เป็นคนหนึ่งที่พบปัญหาการใช้โทรศัพท์ชนิดเหมาจ่ายรายเดือน ลุงสำเริง เป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่แถวเชียงราย จำเป็นต้องใช้โทรศัพท์หลายเครือข่ายและมักหาโปรโมชั่นที่คุ้ม สามารถติดต่อประสานงานได้ทุกช่วงเวลา  ลุงสำเริงสังเกตว่าค่าโทรศัพท์ของตนในแต่ละเดือน มักจะแจ้งยอดค่าบริการเสริม เช่นการรับ SMS หรือบริการดาวน์โหลดข้อมูลอื่นๆ อยู่บ่อยๆ  ซึ่งตนเองก็ไม่ได้เอะใจอะไรมากเนื่องจากเป็นยอดเงินไม่มากจนกระทั่งรอบบิลเดือนพฤษภาคม  ลุงสำเริงได้รับใบแจ้งหนี้ พบว่ามีค่าใช้จ่ายเกี่ยวบริการเสริม คือ ค่าบริการรับข้อมูล/ข่าวสาร จำนวน 12 ครั้ง  เป็นเงิน 78  บาท และบริการดาวน์โหลดต่างๆ จำนวน 10 ครั้ง เป็นเงิน 30 บาท รวมเป็นเงิน  108 บาท  คุณสำเริงบ่นมาตามสายว่า "เอไอเอสเก็บตังค์ลุงแห๋มแล้ว ค่าอะหยังบ่ฮู้  บ่ได้ใจ้สักน้อยโทรศัพท์ก็ใจ้แบบรุ่นเก่า เล่นFacebook ก็บ่ได้  จ่วยลุงกำเต๊อะ หยะอี้บ่เข้าท่าก้า มาไล่เก็บตังค์คนอื่นจ๊ะอี้" น้ำเสียงลุงรู้สึกแย่ๆ  เนื่องจาก ถูกเรียกเก็บแบบนี้มา 2-3 เดือนแล้ว แต่จำนวนไม่เยอะมาก จึงไม่ได้สนใจ แต่พอเจอครั้งนี้ รวมแล้วร้อยกว่าบาท จึงทนไม่ไหว ลุงสำเริงจึงไปทำเรื่องขอย้ายค่าย จากเอไอเอส เป็น ดีแทค (ซึ่งระบบแถวบ้านก็ไม่ได้ดีมาก แต่คิดว่าคงจะไม่มีการเรียกเก็บแบบนี้นัก) แต่พนักงานดีแทคแจ้งว่า ลุงสำเริงต้องไปจ่ายค่าบริการทั้งหมดก่อนจึงจะทำการย้ายค่ายให้ได้   ลุงสำเริง ช่างใจอยู่ว่าจะจ่ายเงินไปเสียเพื่อตัดความรำคาญแล้วก็ทำการย้ายค่ายหนีไปเลย รึจะทำอย่างไรดี เพราะถ้าไม่จัดการ ก็เจออีก  ลุงสำเริงจึงตัดสินใจโทรศัพท์มาเล่าเรื่องให้ฟัง พร้อมกับขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยแก้ไขปัญหาให้   แนวทางการแก้ไขปัญหาปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ ด้วยตนเองโดยการแจ้งเรื่องไปยัง 1175  เพื่อให้ยกเลิกและให้คืนเงินเนื่องจากไม่ได้ใช้บริการดังกล่าว หรือ กด *137 เพื่อยกเลิกการรับข้อมูลข่าวสารหรือ ข้อมูลดาวน์โหลดต่างๆส่วนกรณีลุงสำเริง  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ส่งอีเมล์ ไปยังหน่วยรับเรื่องร้องเรียน ของบริษัท แอ๊ดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เพื่อให้ตรวจสอบและยกเลิกการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค จำนวน 108 บาท ที่ผู้บริโภคถูกเรียกเก็บ เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้ใช้บริการแต่อย่างใด   ซึ่งในวันเดียวกัน ทางหน่วยรับเรื่องรียนของเอไอเอส ได้อีเมล์กลับมาแจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว จะขอตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานโดยตรงว่าเป็นสาเหตุหรือการใช้งานด้านใด7 วัน ต่อมา พนักงานจาก 1175 โทรมาแจ้ง ได้เช็คจากระบบแล้วพบว่า เครื่องของคุณลุงมีการใช้รับ SMS ที่ถูกส่งเข้าไป แล้วกดรับ และมีการดาวน์โหลดข้อมูลจาก Facebook   ซึ่งจากข้อมูลที่ลุงสำเริงให้มาพร้อมกับถ่ายรูปมือถือให้ดูว่าใช้มือถือรุ่นที่ไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ แต่ถูกเรียกเก็บเงิน พนักงานจึงแจ้งว่าในกรณีนี้ จะยกเว้นค่าบริการ จำนวน 108 บาทให้ แต่หากผู้บริโภคไม่ต้องการรับข้อความหรือข้อมูลข่าวสาร ให้ทำเรื่องยกเลิก โดยกด *137 ได้ด้วยตนเอง..... ซึ่งก็อาจจะต้องแก้ไขปัญหากันเป็นรายๆ ไปเพราะเครือข่ายผู้บริโภคพยายามเรียกร้องให้ เครือข่ายมือถือทุกเครือข่ายแก้ไขปัญหาการส่ง SMS กวนใจ กวนเงินให้กับผู้บริโภค อย่างจริงจัง แต่ก็ไม่เห็นมีทางออกที่ดีขึ้น ดังนั้นจึงฝากเตือนผู้บริโภคว่า ควรจะพึงใส่ใจเงินในระบบโทรศัพท์  ใส่ใจใบแจ้งหนี้ค่าโทรศัพท์ให้ดี เพื่อป้องกันการขโมยเงินในกระเป๋าโดยง่ายดายแบบลุงสำเริงที่เจอมา //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 ปวดหัวกับพี่วิน ปัญหานี้มีทางออก

ปัญหาที่มีร้องเรียนเข้ามามากมายอย่างต่อเนื่องของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ในหมวดบริการสาธารณะก็คือ ปัญหาจากการบริการของมอเตอร์ไซด์รับจ้าง หรือว่า พี่วิน ของเราท่านนั่นเองปัญหาที่ผู้บริโภคพบส่วนใหญ่คือ คิดราคาแพง เกินกว่าป้ายบอกราคา   หรือแพงกว่าที่ควรจะเป็น  ตั้งราคาเอง  วินเถื่อน  การปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารที่มีรูปร่างอวบอ้วน น้ำหนักตัวมาก กิริยา วาจา ไม่สุภาพ หรือบางรายเข้าข่ายลวนลามลูกค้าก็มี  เรื่องทำนองนี้มีมาเข้ามามิได้หยุดหย่อน แล้วเราจะทำอย่างไรกันดีเมื่อเจอกับปัญหาลักษณะนี้คุณแสนดี เป็นผู้หนึ่งที่ใช้บริการมอเตอร์ไซด์รับจ้างอยู่เป็นประจำ เพราะบ้านพักอยู่ในซอยที่ค่อนข้างเปลี่ยวและลึก และวันหนึ่งเธอก็ใช้บริการตามปกติ กับวินเดิม แต่สิ่งที่ทำให้คุณแสนดีปรี๊ดแตกก็คือวันนั้นพี่วินไม่ยอมเข้าไปส่งเธอถึงบ้านพักเพราะอ้างว่า ซอยเปลี่ยวและดึกเกินไป ทั้งที่นาฬิกาข้อมือบอกเวลาที่ 19.00 น. เท่านั้นคุณแสนดีพยายามบอกให้คนขับเข้าไปส่งเพราะเธอไม่อยากเดินเข้าไปในซอยเพราะแม้ไม่ดึก แต่ก็มีคนงานตั้งวงดื่มสุรากันริมทาง เกรงจะไม่ปลอดภัย แต่คนขับก็ยืนยันไม่เข้าไปส่งท่าเดียว จนในที่สุดคุณแสนดีต้องจำใจเดินเข้าซอยท่ามกลางความหวาดระแวงตลอดทางจนถึงบ้าน แต่ด้วยความรอบคอบเธอสามารถจดจำหมายเลขทะเบียนรถ และหมายเลขเสื้อของคนขับได้ครบถ้วนจึงได้นำเรื่องมาปรึกษากับเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา ถ้าท่านพบเจอเหตุการณ์เช่นเดียวกับคุณแสนดี หรือถูกเอาเปรียบในเรื่องอื่นๆ สามารถแก้ไขปัญหาได้ดังต่อไปนี้ -  จดจำรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานที่ตั้งวิน หมายเลขทะเบียนรถ หมายเลขที่เสื้อคนขับ พื้นที่ให้บริการซึ่งจะระบุไว้ที่ตัวเสื้อ และช่วงเวลาที่เกิดเหตุ -  ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่ ควบคุม ดูแล ประกอบด้วย1) ตำรวจ ท้องที่ที่เกิดเหตุ 2) สำนักงานเขต 3) กรมการขนส่งทางบก -  การร้องเรียน แจ้งเบาะแส พฤติกรรม ต้องดำเนินการทำเป็นลายลักษณ์อักษร จะเกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะสามารถติดตามการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆที่รับเรื่องร้องเรียนได้ด้วย หากไม่มีความคืบหน้าก็สามารถดำเนินการทางปกครองกับหน่วยงานเหล่านี้ตาม มาตรา 157 (ละเว้นปฏิบัติหน้าที่) ค่ะ   จุดสังเกตว่าเป็นมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่ผิดกฎหมาย หรือ วินเถื่อน - ไม่มีการสวมเสื้อวิน - ไม่มีเบอร์ หรือหมายเลขปรากฎด้านหลัง - ไม่มีการระบุเขตพื้นที่การวิ่งรถ - ไม่มีการระบุชื่อ พนักงานขับรถที่หน้าอกเสื้อวิน หากพบว่า เป็นวินเถื่อน แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที     //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 ซิมระบบ 1800 เรื่องยุ่งระดับชาติ

14  พฤศจิกายน  2556  ที่ผ่านมา คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน  ได้จัดเวที เสวนา  : 60 วัน ประกาศเยียวยา 1800  MHz  ประชาชน ได้อะไร? :  เพื่อติดตาม  “ประกาศมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ของกสทช.  หลังบริษัทดิจิตอลโฟน  จำกัด(มหาชน) สิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800  MHz   ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2556ผลการเสวนาทำให้ได้ข้อมูลที่ชวนกลุ้มใจ  โดยประกาศฯ ข้อ 5 ที่เขียนเรื่องสาระที่ต้องคุ้มครองผู้บริโภค  มีประเด็นสรุปได้คือ    1. ห้ามทำให้เกิดซิมดับ 2. ห้ามขายเลขหมายทรูมูฟ(คลื่น1800 เดิม) และ 3. เร่งส่งเสริมและพัฒนาช่องทางให้ผู้บริโภคโอนย้ายเลขหมายไประบบอื่น ให้เร็วขึ้น  โดยห้ามบังคับโอนย้าย  นั้นปรากฏว่ายังคงมีการขายหมายเลขระบบคลื่น 1800  MHz   อยู่  ตัวแทน ทรูฯ รีบปฏิเสธว่าไม่ได้ขายแล้ว  งานนี้มีเฮ.. เพราะมีการทดลองซื้อซิมมาใส่ต่อหน้านักข่าวกันเลย  ใส่ปุ๊บก็ทดลองโทรเข้าปรากฏว่าใช้ได้เป็นปกติ    ห้ามซิมดับ ยังมีคนมาร้องเรียนเรื่อยๆ ว่าเติมเงินไว้ตั้งหลายเยอะ แต่สัญญาณโทรศัพท์กลับหายไปดื้อๆ  ติดต่อไปกลับได้คำตอบว่า หากไม่มาโอนย้ายไปทรูมูฟ  เลขหมายนั้นก็จะใช้ไม่ได้อีกต่อไปอ้าว..ข้อห้ามที่อ้างว่าออกประกาศนี้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคก็ไม่มีการบังคับใช้จริงนะสิ  เพราะห้ามขาย  ยังขายอยู่ ห้ามซิมดับ  ก็ดับซะงั้น ห้ามบังคับโอนย้าย ยังบังคับโอนไปบริษัทตัวเองหน้าตาเฉย โดยมีหลักฐานยืนยันชัดเจน แล้วลองฟังคำตอบของนายฐากร   ตันฑสิทธิ์ เลขา กสทช. ซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้ประกาศนี้ ท่านตอบสรุปพอได้ดังนี้  1.  เห็นปัญหาแล้วจะรีบไปหาทางแก้ไข  2. โอ้ย...มีคนใช้โทรศัพท์เยอะแยะ  มีคนร้องเรียนแค่ 7-8  พัน คน  น้อยมาก...อยากให้มาร้องกันเยอะๆ  3. ประกาศฯ นี้มีผลบังคับใช้แล้ว  ไม่ใช่ใช้แค่ทรูฯ  แต่จะมีผลให้ดีแทค และ AIS ที่จะหมดสัมปทานใน 2 ปี  ข้างหน้าด้วย (งงมาก ณ จุดๆ นี้)กรณีทรูฯ อาจจะเตรียมการไม่ทันจึงต้องขยายระยะเวลา(ประเทศเสียหายหลายล้านบาท)  แต่อีก 2 บริษัท มีเวลาอีกตั้ง 2 ปี  ทำไมต้องใช้ประกาศนี้ด้วย  คำตอบคือ  ขยายเวลาให้ทรูแล้วก็ต้องขยายให้ทุกเจ้าไม่งั้น จะถูกฟ้องว่าเลือกปฏิบัติ อ้าว....ตกลงที่ขยายให้ทรูฯ นี่เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค หรือเตรียมการไว้รองรับการหมดสัญญาฯ ของผู้ให้บริการโทรคมรายใหญ่กันแน่ผู้บริโภคหลายคนลุกขึ้นโวยว่าประกาศที่ไม่บังคับใช้ ประกาศทำไม?  ท่านเลขาฯ ก็ตอบแบบอ้อมๆ แอ้มๆ  ว่าจะดูให้ๆ  นี่มันผ่านมาแล้วเกือบ 70  วันผู้บริโภคยังคงถูกเอาเปรียบ  โดยที่ (กสทช.) ที่เป็นกรรมการทำเป็นมองไม่เห็น  นายกำชัย  น้อยบรรจง  ผู้จัดการสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสระบุรี  เลยลุกขึ้นมาประกาศกลางวงว่าจะเป็นโจทย์ฟ้อง กสทช. ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องคอยดูกันต่อไปนะงานนี้สนุกแน่  

อ่านเพิ่มเติม >