ฉบับที่ 212 กันแดดแบบไม่ทำร้ายปะการัง

   จริงๆ เรื่องครีมหรือโลชั่นกันแดดมีผลต่อการตายของปะการัง ได้ถูกพูดถึงกันมาหลายปีแล้ว แต่เพราะเราหลายคนยังคงมีคำถามอยู่ในใจว่า อะไรจะขนาดนั้น ครีมกันแดดปริมาณเพียงเล็กน้อยจากตัวเราจะถึงกับทำให้ปะการังในทะเลซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่เกิดผลกระทบที่รุนแรงได้    จนเมื่อทางการไทยประกาศว่าจำต้องปิดอ่าวมาหยา บนหมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง จ.กระบี่ แหล่งท่องเที่ยวที่เคยติดอันดับต้นๆ ของโลก ต่อไปอีกอย่างไม่มีกำหนด หลังจากที่ปิดไปแล้วสามเดือนแต่ไม่พบสัญญาณที่ดีขึ้นของการฟื้นฟูของธรรมชาติบริเวณอ่าวดังกล่าว ประเด็นครีมกันแดดกับการตายของปะการังจึงกลายเป็นกระแสอีกครั้ง อะไรในครีมกันแดดที่ฆ่าปะการังสารเคมีสี่ชนิดที่นักวิจัยพบว่าฆ่าปะการังและทำให้ปะการังฟอกขาวคือ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate) 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben ตัวสุดท้ายเป็นวัตถุกันเสียที่ทำให้ปะการังฟอกขาว  ตัวที่ร้ายที่สุดคงจะเป็น Oxybenzone หรือ BP3 เพราะรบกวนระบบสืบพันธุ์ ทำให้ตัวอ่อนปะการังโตแบบผิดรูป หรือไม่ก็พิการและตายไปเลย นอกจากนี้ Oxybezone ยังเป็นส่วนผสมที่ใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดกว่า 3,500 ยี่ห้อทั่วโลก เพราะมีคุณสมบัติในการป้องกันได้ทั้งยูวีเอและยูวีบี    บางคนอาจบอกว่าทะเลตั้งกว้างใหญ่ ครีมกันแดดแค่นิดหน่อยจากนักท่องเที่ยวไม่น่าจะสร้างปัญหาได้ แต่สิ่งที่งานวิจัยค้นพบก็คือ สารเคมีแม้ปริมาณเพียงน้อยนิด  แค่ 1 หยดต่อสระน้ำมาตรฐาน 6 สระ (62 parts per trillion) ก็ส่งผลกระทบต่อปะการังแล้ว ผลการตรวจค่าความเข้มข้นของ Oxybenzone ตามแนวปะการังที่ฮาวายรอบเกาะ Maui และ Oahu พบว่ามีความเข้มข้นอยู่ระหว่าง 800-19,000 parts per trillion และที่ Virgin Island National Park อยู่ที่ 250,000 parts per trillion นั่นหมายความว่าความเข้มข้นของ Oxybenzone ตามแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในปัจจุบันสูงกว่าระดับปลอดภัยไปมากและกำลังส่งผลร้ายแรงต่อแนวปะการังในระยะยาว             บางคนก็ว่าไม่ได้ว่ายน้ำในทะเลเสียหน่อย ไม่เป็นไรน่า อย่าลืมสิว่าเวลาเราอาบน้ำบรรดาสารเคมีอันตรายก็ไหลไปกับท่อน้ำทิ้งและลงสู่ทะเลเช่นเดียวกัน   เพื่อให้สวยอย่างฉลาดและรักษ์โลกไปพร้อมกัน เวลาเลือกใช้ครีมกันแดด ควรมีแนวทางดังนี้  - เปลี่ยนมาใช้ครีมกันแดดที่ปราศจากสาร Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate) 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben    -  ใช้ครีมกันแดดแบบกันน้ำ (Water resistant) เพราะอย่างน้อยก็เกิดการชะล้างระหว่างอยู่ในน้ำน้อยกว่า    -  ทาครีมกันแดดเฉพาะบริเวณนอกเสื้อผ้า เช่น ใบหน้า คอ มือ บางกรณีเราอาจใช้หมวก เสื้อแขนยาว และร่มเพื่อช่วยลดความจำเป็นในการใช้ครีมกันแดดในปริมาณมากๆ    -  ร่วมกันรณรงค์ให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการพัฒนาครีมกันแดดที่ปราศจากสารเคมีที่ทำร้ายปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ใต้ท้องทะเล

อ่านเพิ่มเติม >