ฉบับ 256 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2565

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)        1 มิถุนายน 2565 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2565 (PDPA) มีผลบังคับใช้ เป็นกฎหมายสำคัญด้านดิจิทัล 12 ฉบับ ที่รัฐและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผลักดันให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูล มาตรฐานการใช้ เก็บ หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของไทยให้อยู่ในระดับสากล ในส่วนของกฎหมายฉบับนี้ หากผู้ใดหรือองค์กรใดไม่ปฏิบัติตามนั้น มีโทษทั้งทางแพ่ง โทษทางอาญา และโทษทางปกครอง         ตัวอย่างกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้แก่ 1.การนำประวัติทำความผิดคนอื่นโพสต์ในเฟซบุ๊กโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ยินยอม 2. นำเรื่องราวเจ็บป่วยของคนอื่นมาเผยแพร่ให้คนอื่นรู้ 3.นำรูปคนอื่นในกูเกิ้ลมาตกแต่งรูปภาพ ใส่ข้อความไม่ว่าจะชื่นชม หรือด่าทอ หากคนอื่นโพสต์รูปภาพ-ข้อความในเฟซบุ๊ก แล้วหมั่นไส้เลยเข้าไปคอมเม้นต์ทำให้เขาเสียหาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง 4.หัวหน้างานลงโทษออกใบเตือนลูกน้องแล้วนำใบเตือนมาติดบอร์ด ส่งในไลน์กลุ่ม หรือไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก 5.การไปแจ้งความว่าโดนคนอื่นฉ้อโกง พอได้ใบแจ้งความจากตำรวจแล้วนำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเพื่อเตือนคนอื่นไม่ให้หลงกลถูกหลอกอีก เป็นต้น โดยการกระทำดังกล่าว โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สธ.ประกาศให้ “กลิ่น-ควัน” กัญชา กัญชง เป็นเหตุรำคาญ         หลังจากวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ประเทศไทยได้ “ปลดล็อกกัญชา-กัญชง” อย่างเป็นทางการ อนุญาตให้ประชาชนปลูกได้ไม่ผิดกฎหมาย ต่อมา วันที่ 14 มิถุนายน 2565 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น ควันกัญชา กัญชงหรือพืชอื่นใดเป็นเหตุรำคาญ พ.ศ.2565 โดยมีผลบังคับใช้ 15 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป โดยเนื้อหาในประกาศได้ระบุว่า         “เนื่องจากการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่โดยปกติสุข และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยควันของพืชดังกล่าวมีอนุภาคขนาดเล็กที่เข้าสู่ปอดได้ด้วยการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด หลอดลมอักเสบ เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบจนเป็นเหตุให้เสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบภัยกับเหตุนั้น สมควรกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข”             นอกจากนี้ กลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ทารก สตรีมีครรภ์ บุคคลที่มีประวัติโรคซึมเศร้า ป่วยโรคจิตเภทควรหลีกเลี่ยงในการใช้และสัมผัสควันกัญชา และสถานบริการ สถานบันเทิง ผับบาร์ ควรหลีกเลี่ยงการจัดรวมกลุ่มเพื่อใช้กัญชาในทางไม่เหมาะสม หรือเพื่อสันทนาการอีกด้วย แท็กซี่วิ่งนอกเขต 6 จังหวัด ไม่ต้องกดมิเตอร์ได้         ประกาศกรมการขนส่งทางบก 10 มิถุนายน 65 เป็นต้นไป รถยนต์รับจ้างบรรทุกโดยสารไม่เกิน 7 คน ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถใช้วิธีตกลงราคานอกจากการใช้มาตรค่าโดยสาร พ.ศ. 2565 ได้ โดยหากทำการรับจ้างนอกเขตกรุงเทพมหานคร และอีก 6 จังหวัด โดยรอบ ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร และนครปฐม หรือรับจ้างจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่งได้ โดยสามารถตกลงราคาในรูปแบบเหมาจ่ายได้ นอกเหนือจากการกดมิเตอร์        โดยสาเหตุที่มีการปรับใช้ราคาค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายรูปแบบนี้ เป็นการปรับตามสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ซึ่งผู้โดยสารส่วนมาก มักนิยมวิธีการตกลงราคาโดยเหมาจ่ายแทนการกดมิเตอร์ เมื่อได้ทำการจ้างไปยังจังหวัดต่างๆ แต่ไม่สอดคล้องกับระเบียบในปัจจุบัน จึงสมควรที่จะมีการปรับให้ยืดหยุ่นและหมาะสมมากขึ้น ให้เกิดความคล่องตัวในการรับจ้างที่มีระยะทางไกล และเป็นไปตามความตกลงของผู้ใช้บริการและผู้ขับรถยนต์รับจ้าง น้ำปลาร้ากินมากเสี่ยงโรคหัวใจ-ไตวาย                    จากกรณีดราม่าที่มีเน็ตไอดอลที่ขายสินค้าน้ำปลาร้า ได้ทำการพรีเซนต์โดยเทน้ำปลาร้าใส่แก้วน้ำแข็งและยกดื่ม นั้น หลายคนยังห่วงว่าหากเป็นน้ำปลาร้าจริง กลัวจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ หากรับประทานปริมาณที่มากอาจอันตรายต่อไตได้ นอกจากนี้ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ได้กล่าวว่า กรณีที่มียูทูบเบอร์นำน้ำปลาร้ามายกซดเหมือนเครื่องดื่มนั้น ห่วงจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะความเข้าใจผิดคิดว่านำมาเป็นเครื่องดื่มได้ เนื่องจากน้ำปลาร้าคือเครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูง ไม่ควรนำมาดื่มเป็นเครื่องดื่ม  อาจจะก่อให้เกิดโรคชนิดต่างๆ ยกตัวอย่าง โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคไตวายเรื้อรัง ข้อมูลโซเดียมของเกลือและผงชูรสในปลาร้าแต่ละชนิด รวมทั้งจากโรงงาน วิสาหกิจ ตลาด พบว่ามีโซเดียมในระดับที่สูง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่คนไทยบริโภคโซเดียมสูงเกินคำแนะนำขององค์กรอนามัยโรค 10 ปี ยังไม่จบ คดี “แคลิฟอร์เนีย ว้าว”          จากกรณี “คดีแคลิฟอร์เนีย ว้าว” ที่ปิดกิจการหนี ทำให้มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก วันที่ 21 มิถุนายน 2565 ศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษา “ยืนตามศาลชั้นต้น” ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดจำนวน 5 รายการ ราคาประเมิน 293 ล้านบาท ให้นำไปชดใช้ให้กับผู้เสียหาย ที่ได้ “ยื่นคุ้มครองสิทธิ์” กับทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จำนวน 849 ราย เป็นเงิน 46 ล้านบาท และให้ดอกผลแก่ผู้เสียหาย ในวันที่ได้รับเงินเยียวเมื่อคดีถึงที่สุด ซึ่งให้คิดดอกเบี้ยจากร้อยละ 7.5 นับจาก “วันที่ดำเนินคดี” และนับต่อเนื่องให้ดอกเบี้ยร้อยละ 5 ตามกฎหมายใหม่ที่กำหนด จนกว่าคดีจะสิ้นสุด         อย่างไรก็ตาม นายกิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า แม้มีคำสั่งจากศาลอุทธรณ์ แต่ยังมีกระบวนการที่ฝ่ายผู้ร้องค้านนั่นคือ “บริษัท ฟิทเนส เอสเตท” และ “บริษัท มัสมั่น วิลล่า“ อาจต้องสู้ไปถึงชั้นศาลฎีกา โดยกระบวนการนี้ศาลให้เวลา 30 วัน ยื่น “คำร้องค้าน” นับจาก 21 มิถุนายน 2565 ซึ่งกระบวนการระหว่างทางจนถึงวันศาลรับคำร้องไว้พิจารณา จนถึงวันพิพากษาอาจต้องใช้เวลาอีกกว่า 1 ปี        ย้อนไปในปี 2543-2556  “คดีแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส” ที่มีนายแอริค มาร์ค เลอวีน เป็นกรรมการบริษัท ซึ่งไม่นานก็ทยอยปิดสาขา ทำให้สมาชิกรายปี-ตลอดชีพ กลายเป็นผู้เสียหายจำนวนมากได้เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทางมูลนิธิฯ จึงได้ทำการดำเนินการเป็นตัวแทนเพื่อฟ้อง “คดีฉ้อโกงประชาชน” นอกจากนี้ ผู้ต้องหานายแอริค มาร์ค เลอวีน ยังคงล่องหน  จนวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย ซึ่งจำเลยไม่มาศาล จึง “เลื่อนคดีไม่มีกำหนด” พร้อมออกหมายจับอายุความ 10 ปี  เมื่อนับจากเหตุเกิดปี 2555 จนถึง 2565 หมายจับถือว่าหมดอายุความแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 มัดรวมผลทดสอบอาหาร 2 ปีรวด คน "ฉลาดซื้อ" ต้องอ่าน

        “อาหาร” ก็เหมือน “ยา” การได้กินอาหารที่ดีมีคุณประโยชน์ร่างกายก็แข็งแรง ซึ่งแน่นอนว่าหาก “กายดี จิตก็ดี” ในทางกลับกันหากกินอาหารคุณภาพไม่ดี คุณประโยชน์ขาดๆ เกินๆ นอกจากจะไม่แฮปปี้ในการกินแล้วยังส่งผลให้สุขภาพแย่ลงด้วย โดยเฉพาะอาหารที่มีการผสมสารเคมีหรือวัตถุเจือปนอาหารต้องห้ามหรือมากเกินมาตรฐานอย่างสารกันบูด การปนเปื้อนโลหะหนักอย่างสารตะกั่ว หรือการปนเปื้อนสารพิษอันตราย อาทิ สารเคมีทางการเกษตร ทั้งยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงต่างๆ แทนที่จะกินอาหารเป็นยา กลับกลายเป็น “ยาพิษ” ไปได้         ดังนั้นนอกจากการออกเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่พยายามปรับปรุงอย่างเต็มกำลัง ซึ่งจะมีข้อห้ามและบทลงโทษเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว ก็อาจต้องยอมรับว่า อย.ยังด้อยเรื่องการทำงานเชิงรุก เรียกว่ายังไม่มากเพียงพอที่จะตามทันเล่ห์เหลี่ยมคนที่จ้องจะหาผลประโยชน์จากการผลิต “ผลิตภัณฑ์อาหาร” ที่ไม่ได้คุณภาพออกมา         “นิตยสารฉลาดซื้อ” โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในการทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามผลิตภัณฑ์อาหารที่วางจำหน่ายในท้องตลาดเมืองไทย เพื่อคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมให้คนไทยได้กินอาหารที่ดี มีประโยชน์จริงๆ ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องนี้ “ฉลาดซื้อ” ติดตาม เกาะติดมานานหลายปี ช่วยจัดทำชุดข้อมูลข้อเท็จจริงส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำกับติดตามให้เกิดการแก้ไข และเพื่อการมีอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย         ในโอกาสสิ้นปี 2563 นี้ นิตยสารได้ทำการสรุปผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2563 อะไรเด่น “ฉลาดซื้อ” มัดรวมเอาไว้ผ่านบทความชิ้นนี้ โดยแยกเป็นกลุ่ม 1. สารกันบูด 2. สารเคมีทางการเกษตร 3. เชื้อดื้อยา และ 4. ไขมันทรานส์         เริ่มกันที่ กลุ่มวัตถุกันเสีย หรือ สารกันบูด ทั้ง กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) มีผลต่อการทำงานของตับ และไต ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา นิตยสารฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างมาทดสอบจำนวนมาก ดังนี้...         “โรตีสายไหม” สุดยอดของฝากจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งการตรวจสอบต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1.แผ่นแป้ง ซึ่งบูดง่าย อาจมีการใช้สารกันบูดเพื่อยืดอายุการใช้งาน 2.น้ำตาลสายไหม ทำจากน้ำตาล น้ำมันมะพร้าว แป้งสาลี และสีผสมอาหารสังเคราะห์ที่มากเกินไปก็ไม่ดีต่อสุขภาพ หลังจากที่เคยเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนมี.ค. 2561 จำนวน 10 ตัวอย่าง พบ 4 ตัวอย่างผสมสารกันบูด ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เข้ามาจัดการแล้ว แต่จากการเก็บตัวอย่างมาตรวจอีกครั้งในเดือนเม.ย.2562 จากตลาด 13 แห่งในพื้นที่ โดยเป็นโรตีสายไหมจากเจ้าเดิม 10 ตัวอย่าง และเจ้าใหม่อีก 3 ตัวอย่าง ผลทดสอบในแป้งโรตี มีการใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์ตาร์ตราซีน (Tartrazine) เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด (สูงสุดไม่เกิน 50 มก./กก.) 2 ตัวอย่าง คือ 1.ร้านวรรณพร ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 59.76 มก./กก. และ 2.ร้านประวีร์วัณณ์  ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 57.41 มก./กก.         ขณะที่การทดสอบวัตถุกันเสียนั้น ในทุกตัวอย่างไม่พบกรดซอร์บิก แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน (ไม่เกิน 1,000 มก./กก.) 7 ตัวอย่าง แต่มีอีก 6 ตัวอย่างที่พบกรดเบนโซอิกเกินค่ามาตรฐาน คือ 1. โรตีสายไหม ร้านเรือนไทย 2. ร้านไคโร น้องชายบังอิมรอน 3. ร้านบังหมัด 4.ร้านวริศรา โรตีสายไหม 5.ร้านบังเปีย อามีนะห์ แสงอรุณ และ 6.ร้านแม่ชูศรี (รายละเอียดในฉบับที่ 218) โดยมีอยู่ 2 ร้านที่ผลการทดสอบครั้งแรกเดือนมี.ค. 2561 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 205) และครั้งนี้พบเกินค่ามาตรฐานทั้ง 2 ครั้ง ร้านเอกชัย (B.AEK) และ ร้านศิลัคข บังอารีย์ แสงอรุณ เจ้าเก่า อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 218)            “เส้นขนมจีน” ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยม เป็นอาหารจำพวกแป้งสด จึงบูดเสียง่าย จึงพบการลักลอบในสารกันบูดเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการทดสอบมาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือน ก.พ. 2559 (ฉบับที่ 180) และในเดือนมิ.ย. 2560 (ฉบับที่ 196) พบว่ามีการการผสมสารกันบูดเกินมาตรฐานเกินครึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มเก็บมา         ล่าสุดเดือนพ.ค.2562 สุ่มเก็บมาอีก 31 ตัวอย่าง จากตลาดสดและห้างสรรพสินค้า ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการแล้วไม่พบกรดซอร์บิกเลย แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง และมี 2 ตัวอย่างที่พบเกินค่ามาตรฐาน 1.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ หมื่นบูรพา จากตลาดคลองเตย พบในปริมาณ 1066.79 มก./กก.และ  2.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ M&A บ้านขนมจีนปทุม จากตลาดสี่มุมเมือง พบในปริมาณ 1361.12 มก./กก.         อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตรวจพบว่าเส้นขนมจีนทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนกรดเบนโซอิก จึงสังเกตที่ฉลากบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติมพบว่ามีเพียง 4 ตัวอย่างที่แสดงข้อมูลการใช้สารกันบูดหรือวัตถุกันเสีย ที่เหลือบางตัวอย่างมีเลขสารระบบของอย. บางตัวอย่างระบุไว้บนฉลากว่าปราศจากวัตถุกันเสีย ปราศจากสิ่งเจือปน  (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 219)         “น้ำพริกหนุ่ม” สำหรับการตรวจหาสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่มนั้น โดยสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มที่จำหน่ายในภาคเหนือ 17 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมิ.ย. 2562 ผลการตรวจพบว่า 2 ตัวอย่างไม่มีสารกันบูดเลย ส่วนที่พบสารกันบูดแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน 8 ตัวอย่าง         และพบกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน 7 ตัวอย่าง คือ 1.น้ำพริกหนุ่ม ร้านดำรงค์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 890.32 มก./กก. 2.น้ำพริกหนุ่ม ล้านนา จาก ตลาดของฝากเด่นชัย จ.แพร่ พบ 1026.91 มก./กก. 3.น้ำพริกหนุ่ม นิชา (เจ๊หงษ์ น้ำพริกหนุ่ม) จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ 1634.20 มก./กก. 4.น้ำพริกหนุ่ม เจ๊หงษ์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 1968.85 มก./กก. 5.น้ำพริกหนุ่ม แม่ชไมพร จาก ตลาดสดอัศวิน ร้านสิริกรของฝาก จ.ลำปาง พบ 2231.82 มก./กก. 6.น้ำพริกหนุ่ม ยาใจ (รสเผ็ด) จาก ร้านขายของฝากสามแยกเด่นชัย จ.แพร่ พบ 3549.75 มก./กก. และ 7. น้ำพริกหนุ่ม อุมา จาก ตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบ 5649.43 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 221)         “กุนเชียง” ว่าด้วยเรื่องของกุนเชียงนั้น เมื่อเดือน ธ.ค.2562 “นิตยสารฉลาดซื้อ” ได้รับการสนับสนุนทีมอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ในการเก็บตัวอย่าง กุนเชียง 19 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกุนเชียงหมู 9 ตัวอย่าง  กุนเชียงไก่ 5 ตัวอย่าง และกุนเชียงปลา 5 ตัวอย่าง มาตรวจสอบ ก็พบว่าทุกตัวอย่างมีความปลอดภัย ไม่มีวัตถุเจือปนอาหาร ไนไตรท์ ไนเตรท กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เกินค่ามาตรฐาน หรือถ้าพบก็พบในปริมาณน้อยไม่เกินค่า ...(อ่านต่อได้ที่ฉลาดซื้อฉบับ 227)         มาต่อกันที่ “สลัดครีม” เมนูอาหารมื้อเบาๆ ที่มักพบสารกันบูดละไขมันนั้น จากการ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม 17 ตัวอย่าง จากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ มาตรวจวิเคราะห์ พบ 1 ตัวอย่างมีสารกันบูด ทั้งกรดซอร์บิก และ กรดเบนโซอิก รวมกันเกินค่ามาตรฐาน คือ “American Classic Ranch” โดยพบกรดเบนโซอิก664.14 มก./กก. และพบกรดซอร์บิก 569.47 มก./กก. รวมแล้วทั้ง 2 ชนิดพบ 1,233.61 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 232)         กลุ่มสารเคมีทางการเกษตร และโลหะหนัก ทั้งนี้ สิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย มีโลหะหนัก หรือการใช้สารเคมีในภาคเกษตรที่มีอยู่หลายร้อยชนิด เป็นความเสี่ยงอย่างสูงที่จะทำให้วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารนั้นมีการปนเปื้อนสารเหล่านี้ไปด้วย ดังนั้น ตลอดปี 2562-2563  “ฉลาดซื้อ” มีการเก็บตัวอย่างอาหารมาทดสอบหาการปนเปื้อน           โฟกัสไปที่ “น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ” เมื่อเดือน ก.พ.-มี.ค.2561 ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 12 ตัวอย่าง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อตรวจหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ผลการตรวจตะกั่ว พบว่าในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มก./ อาหาร 1 กก. ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มก./กก.ก็พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช.ทุกตัวอย่าง           ต่อมาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 15 ตัวอย่าง โดยเป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ตรวจแล้วทุกอย่างอย่างผ่านเกณฑ์การทดสอบตะกั่ว และแคดเมียมทั้งหมด  แต่กลับตรวจพบสารกันบูดแต่ยังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งกรณีที่พบในปริมาณน้อย อาจจะเป็นไปได้ว่า กรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ  (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 220)         ขณะที่ “ปลาสลิดตากแห้ง” ซึ่งเป็นอาหารที่แมลงวันชอบมาตอมและไข่ทิ้งไว้ ทำให้ดูไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งบางร้านใช้การขับไล่ตามปกติ แต่บางร้าน  อาจจะมีการใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่น ดังที่เป็นข่าวเมื่อต้นปี 2560 ที่พบการใช้ ไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน (Dichloro-diphenyl-trichloroethane หรือ ดีทีที) ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อเดือน ก.ค. 2562 “ฉลาดซื้อ” จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาสลิดตากแห้ง 19 ตัวอย่าง จากร้านค้าในตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าทั่วไป และร้านค้าออนไลน์ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ผลตรวจไม่พบว่ามีตัวอย่างใดปนเปื้อนยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และในกลุ่มไพรีทรอยด์ แต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235)         มาต่อกันที่ “น้ำปู” หรือ “น้ำปู๋” เป็นเครื่องปรุงรสของทางภาคเหนือ กลุ่มเดียวกับกะปิ ซึ่งจากการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์น้ำปูจำนวน 24 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ระหว่างวันที่ 7-15 ก.ย. 2563 มาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต พบสารพาราควอตในน้ำปู 33 % หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ ค่าเฉลี่ยของการตกค้าง 0.04275 มก./กก.         โดยตัวอย่างที่พบปริมาณพาราควอตตกค้างมากที่สุด ได้แก่1.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.บ้านลา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง พบ 0.090 มก./กก. 2.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พบ 0.074 มก./กก. 3.น้ำปู ยี่ห้อน้ำปู๋แม่แจ่ม จาก ตลาดสดข่วงเปา ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พบ 0.046 มก./กก.  4.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้าน น.ส.นิตยา ต.แม่ยางฮ่อ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ พบ 0.042 มก./กก. 5.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก บ้านป่าสัก ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา พบ 0.040 มก./กก. 6.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ตลาดบ้านปางลาว ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พบ 0.031 มก./กก. 7.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จากบ้านหนุน อ.ปง จ.พะเยา พบ 0.011 มก./กก. และ 8. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้านป้าหวิน บ้านร่องกาศใต้ ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ พบ 0.006 มก./กก. (อ่านรายละเอียดได้ที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235)         ส่วน “หมึกแห้ง” นั้น เมื่อเดือน ม.ค.2563 ฉลาดซื้อได้เก็บหมึกแห้ง 8 ตัวอย่าง  (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง) จากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งร้านค้าในต่างจังหวัด และห้างออนไลน์ รวม 13 ตัวอย่าง  ตรวจพบว่าทั้ง 13 ตัวอย่างมีการปนเปื้อนปรอทแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยตัวอย่างที่พบสูงสุดอยู่ที่ 0.042 มก./กก. เช่นเดียวกับผลการตรวจหาตะกั่วที่พบทั้ง 13 ตัวอย่างแต่ไม่เกินเกณฑ์ สูงสุด คือ 0.059 มก./กก. สำหรับการตรวจหาสารพิษจากเชื้อรา ( Aflatoxin B1, B2, G1, G2 และ Total Aflatoxin) ไม่พบในทุกตัวอย่าง  เช่นเดียวกับการตรวจหาการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ ก็ไม่พบในทุกตัวอย่างเช่นกัน         อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการตรวจหาแคดเมียม ก็พบทุกตัวอย่าง แต่มีอยู่ 7 ตัวอย่างที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน คือ 1.หมึกแห้ง จาก ตลาดคลองเตย ไม่ระบุ ซ.1 ต้นโพธิ์ พบ 2.003  มก./กก. 2. หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า พบ 2.393 มก./กก. 3. หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ SHOPEE พบ 2.537  มก./กก. 4. หมึกแห้ง จาก ตลาดเยาวราช ร้าน ต.วัฒนาพาณิชย์ ตลาดเก่าเยาวราช พบ  3.006  มก./กก. 5. หมึกแห้ง จาก ตลาดมหาชัย ร้านศรีจันทร์ พบ  3.303  มก./กก. 6. หมึกแห้ง จาก จังหวัดตราด ร้านเจ๊อำนวย (ตรงข้าม รพ. จังหวัดตราด) พบ 3.432  มก./กก. และ 7. หมึกแห้ง จาก ตลาดปากน้ำสมุทรปราการ ร้านพี่น้อง (เจ๊เล็ก) พบ 3.872  มก./กก. ...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 230)         อีกหนึ่งตัวอย่างที่ฉลาดซื้อให้ความสำคัญคือ “ถั่วเหลือง” เป็นพืชที่พบการใช้สารเคมีอันตราย อย่างพาราควอต และไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส แต่ถูกผลักดันให้ยกเลิกการนำเข้า และใช้สารเคมีเหล่านี้ในประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อฉลาดซื้อ เก็บตัวอย่างถั่วเหลืองทั้งแบบเต็มเม็ดและแบบผ่าซีก  3 ครั้ง ในวันที่ 29 พ.ย., 2 ธ.ค. และ 6 ธ.ค. 62  รวม 8 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มาทำการตรวจหาการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตร         ทั้งนี้ผลตรวจสอบพบการตกค้างของไกลโฟเซต 5 ตัวอย่างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน  ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ พบ 0.53 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ พบ 0.07 มก./กก., ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน พบ 0.50 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท พบ 0.20 มก./กก., และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต พบ 0.24 มก./กก. ส่วนอีก 3 ตัวอย่างไม่พบการตกค้างได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, และถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์        “แม้จะพบไกลโฟเซตไม่เกินค่ามาตรฐานอาหารสากล แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการบริโภคในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านความร้อนสูงไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ฟองเต้าหู้”...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 231)         สำหรับกลุ่ม “ไขมันทรานส์” ที่มักพบในขนม นมแนย นั้น และส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน ซึ่งล่าสุดทายอย.ประกาศห้ามมีในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ แล้วนั้น อย่างไรก็ตาม “ฉลาดซื้อ” ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาตรวจสอบ และเผยแพร่ต่อประชาชนคือ         “เค้กเนย และชิฟฟ่อน” โดยมีการเก็บตัวอย่าง 16 ตัวอย่าง พบไขมันทรานส์ในปริมาณน้อยไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค ยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) ถือว่าสูงกว่ายี่ห้ออื่นๆ แต่เมื่อตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์ พบว่า ยี่ห้อนี้เขาจัดหนักจัดเต็มในสูตรเค้กเพราะใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ จึงไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพ ส่วนผลตรวจหาสารกันเสีย ก็พบเค้กเนยนั้นไม่พบกรดเบนโซอิก แต่กรดเบนโซอิกเล็กน้อยไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ..(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 216)           การตรวจหาการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ และเชื้อดื้อยา        “ปลาทับทิมและเนื้อไก่ชำแหละ” ...เมื่อเดือนต.ค. 2563 “ฉลาดซื้อ” ลุยเก็บตัว “ปลาทับทิม” จากตลาดในเขตกรุงเทพฯ 11 แห่ง ตลาดและกระชังปลาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง 4 แห่ง รวม 15 ตัวอย่าง ส่งตรวจพบว่ามี 14 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ มีเพียง 1 ตัวอย่าง จากตลาดคลองเตย พบ ยา Oxytetracycline ในปริมาณน้อยกว่า 5.00 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (ไม่เกินมาตรฐาน)         ส่วน “เนื้อไก่ชำแหละ” ซึ่งได้เก็บมา 10 ตัวอย่าง ผลตรวจพบว่ามี 9 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ  มี 1 ตัวอย่าง จากเนื้อไก่ที่ซื้อจากตลาดเจ้าพรหม  พบยา Enrofloxacin (Endrofloxacin) ในปริมาณ 0.66 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ทั้งนี้ ยาดังกล่าวไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ แม้ อย. อนุญาตให้ใช้ได้แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย อาจถือเป็นความผิดตามมาตรา 60 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522           มัดรวมไว้ตรงนี้ เผื่อว่าใครยังไม่ทราบว่าฉลาดซื้อได้เคยทำทดสอบด้านอาหารอะไรไว้บ้าง ก็น่าจะได้เป็นแนวทางในการค้นหารายละเอียดต่อไป และเราสัญญาว่า เราจะตามติดและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เครื่องสำอาง ฯลฯ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ “ซื้อ” หรือ “ไม่ซื้อ” ในปี 2564 อย่างเข้มข้น แน่นอน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ฉลาดซื้อเผยปริมาณโลหะหนัก - สารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จปลอดภัย แนะผู้บริโภคเลือกยี่ห้อที่ผ่าน อย.

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเผยปริมาณแคดเมียม, ตะกั่วและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จปลอดภัย สารกันบูดไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด แนะให้ผู้บริโภคอ่านฉลากให้รอบคอบและเลือกรับผลิตภัณฑ์ที่มี อย.ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมมือกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือดำเนินการทดสอบซ้ำ ในปีนี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านอาหารและสร้างความมั่นใจในการบริโภค โดยในครั้งนี้(  2562 ) เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 15 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์หาสารโลหะหนักตะกั่วและแคดเมียม และเพิ่มการทดสอบปริมาณสารกันบูดกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกด้วย ผลทดสอบตะกั่ว น้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม            ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. เช่นกัน           ผลทดสอบหาปริมาณสารกันบูด พบว่า น้ำปลาร้าปรุงรสตราไทยอีสาน (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 831.83 มก./กก. และ น้ำปลาร้าส้มตำปรุงสำเร็จ ตะวันทอง ๑  (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 404.84 มก./กก.   ซึ่งปริมาณการใช้สารกันบูดใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ น้ำปลาร้าต้มสุกเข้มข้น ตราน้องพร คือ พบปริมาณ 641.81 มก./กก. แต่แสดงข้อมูลบนฉลากชัดเจนว่า มีการใช้วัตถุกันเสีย ซึ่งทั้งหมดไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดคือ ไม่เกิน 1,000 มก./กก.              อย่างไรก็ตามหลายผลิตภัณฑ์พบว่ามีปริมาณกรดเบนโซอิกในปริมาณไม่มาก(ไม่ถึง 100 มก./กก.) คือ ไม่มากพอที่จะเป็นการตั้งใจใส่เพื่อให้มีฤทธิ์ในการต่อต้านจุลินทรีย์(ปริมาณที่เหมาะต่อการเก็บหรือยืดอายุอาหารคือ 500-2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ดังนั้นเป็นไปได้ว่ามาจากวัตถุดิบที่นำมาผลิต ซึ่งกรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ               โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม พ.ศ.2561  โครงการฯ เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 12 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ซึ่งพบว่า ผลทดสอบตะกั่ว ในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. อ่านบทความ  - ฉบับที่ 220 ปริมาณแคดเมียมและตะกั่วและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ    ได้ที่ลิงก์ https://www.chaladsue.com/article/3166 - ฉบับที่ 205 ผลิตภัณฑ์ของฝาก-ของดี จาก 4 ภาค "น้ำพริกหนุ่ม น้ำปลาร้า แกงไตปลาแห้ง และโรตีสายไหม "    ได้ที่ลิงก์ https://chaladsue.com/article/2806/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ปริมาณแคดเมียมและตะกั่วและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ

        ฉลาดซื้อ โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพร่วมมือกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 12 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2561 เพื่อทดสอบหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ซึ่งพบว่า ผลทดสอบตะกั่ว ในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. เช่นกัน         อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านอาหารและสร้างความมั่นใจในการบริโภค ทางฉลาดซื้อจึงดำเนินการทดสอบซ้ำในปีนี้ เช่นเคยทางเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 15 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์หาสารโลหะหนักตะกั่วและแคดเมียม และเพิ่มการทดสอบปริมาณสารกันบูดกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกด้วยผลทดสอบ·        ผลทดสอบการหาปริมาณโลหะหนัก  พบว่า        ผลทดสอบตะกั่ว น้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม        ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. เช่นกัน        ·        ผลทดสอบหาปริมาณสารกันบูด พบว่า        น้ำปลาร้าปรุงรสตราไทยอีสาน (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 831.83 มก./กก. และ น้ำปลาร้าส้มตำปรุงสำเร็จ ตะวันทอง ๑  (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 404.84 มก./กก.   ซึ่งปริมาณการใช้สารกันบูดใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ น้ำปลาร้าต้มสุกเข้มข้น ตราน้องพร คือ พบปริมาณ 641.81 มก./กก. แต่แสดงข้อมูลบนฉลากชัดเจนว่า มีการใช้วัตถุกันเสีย ซึ่งทั้งหมดไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดคือ ไม่เกิน 1,000 มก./กก.           อย่างไรก็ตามหลายผลิตภัณฑ์พบว่ามีปริมาณกรดเบนโซอิกในปริมาณไม่มาก(ไม่ถึง 100 มก./กก.) คือ ไม่มากพอที่จะเป็นการตั้งใจใส่เพื่อให้มีฤทธิ์ในการต่อต้านจุลินทรีย์(ปริมาณที่เหมาะต่อการเก็บหรือยืดอายุอาหารคือ 500-2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ดังนั้นเป็นไปได้ว่ามาจากวัตถุดิบที่นำมาผลิต ซึ่งกรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อฉบับที่ 205 ผลิตภัณฑ์ของฝาก-ของดี จาก 4 ภาค "น้ำพริกหนุ่ม น้ำปลาร้า แกงไตปลาแห้ง และโรตีสายไหม"

สารกันบูด ในน้ำพริกหนุ่ม และ แกงไตปลาแห้งฉลาดซื้อฉบับนี้ เราจะพาไปขึ้นเหนือล่องใต้ ออกอีสานและแวะเที่ยวภาคกลาง ด้วยเรื่องราวของ ของฝากสี่ภาค โดยฉลาดซื้อ โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และเครือข่ายผู้บริโภคทั้งสี่ภาค  เก็บตัวอย่างสินค้า 4 ชนิด ซึ่งจัดเป็นของฝากยอดนิยม มาทดสอบเพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ขอประเดิมด้วย ผลทดสอบของฝากยอดนิยมจากภาคเหนือ อย่าง “น้ำพริกหนุ่ม” ซึ่งนิยมรับประทานคู่กับแคบหมู เพราะมีรสชาติที่ไม่เผ็ดมากนัก(ลำแต้ๆ เจ้า) และ “แกงไตปลาแห้ง” จากภาคใต้ที่ออกรสชาติเค็มและเผ็ดร้อน เหมาะรับประทานเคียงกับผัก(หรอยจังฮู้) โดยปัจจุบันน้ำพริกทั้งสองชนิดนี้ มักถูกวางจำหน่ายไปยังศูนย์โอทอปหรือศูนย์ของฝากทั่วประเทศ ทำให้ผู้ผลิตหลายรายนิยมใช้วัตถุกันเสีย หรือสารกันบูดมาช่วยถนอมอาหาร เพื่อทำให้สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานขึ้น ซึ่งแม้กฎหมายไม่ได้ห้ามการใส่สารดังกล่าว แต่ก็กำหนดให้ใส่อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม คือ ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามเกณฑ์มาตรฐานของโคเด็กซ์ (CODEX) ที่กำหนดไว้ในหมวดอาหารประเภทน้ำพริกแบบแห้งและน้ำพริกแบบเปียก เพราะการใช้วัตถุกันเสียที่มากเกินไป สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคที่รับประทานเป็นประจำได้ เช่น ทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือเกิดการสะสมในร่างกายและก่อให้เกิดเป็นพิษเรื้อรังในอนาคต เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มพร้อมบริโภค จากจังหวัดต่างๆ แถบภาคเหนือ และเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ สุ่มเก็บตัวอย่างแกงไตปลาแห้งพร้อมบริโภค จากจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ เป็นจำนวนภาคละ 10 ยี่ห้อ (เก็บตัวอย่างระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 61) ซึ่งมีการวางจำหน่ายตามท้องตลาดหรือร้านของฝากทั่วไป เพื่อทดสอบหาปริมาณสารกันบูด (กรดเบนโซอิกและซอร์บิก) โดยผลการทดสอบจะเป็นอย่างไรนั้น ไปดูกันเลยสรุปผลการทดสอบ - น้ำพริกหนุ่ม จากตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มที่นำมาทดสอบทั้งหมด จำนวน 10 ยี่ห้อ พบว่า ทุกตัวอย่างมีสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิกตกค้าง โดยมีน้ำพริกหนุ่ม 4 ยี่ห้อ ที่มีปริมาณกรดเบนโซอิกสูงเกินกว่าที่มาตรฐานโคเด็กซ์กำหนด คือ ไม่เกิน 1,000 มก./อาหาร 1 กก. ได้แก่1. แม่ถนอม มีปริมาณกรดเบนโซอิกมากที่สุด คือ 3476.46 มก./กก. 2. ป้านวย มีปริมาณกรดเบนโซอิก 1195.06 มก./กก.3. ศุภลักษณ์(รสเผ็ดมาก) มีปริมาณกรดเบนโซอิก 1122.06 มก./กก. และ4. น้ำพริก มารศรี(สูตรดั้งเดิม) มีปริมาณกรดเบนโซอิก 1043.80 มก./กก. อีก 6 ตัวอย่าง ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน  ปลอดภัยในการบริโภค  โดยน้ำพริกหนุ่มยี่ห้อ เรือนไทยขนมไทย พบปริมาณกรดเบนโซอิกน้อยที่สุด คือ 217.73 มก./กก.สารกันบูด แกงไตปลาแห้งจากตัวอย่างแกงไตปลาแห้งที่นำมาทดสอบทั้งหมดจำนวน 10 ยี่ห้อ พบว่า- มี 3 ยี่ห้อ ที่ไม่พบสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิกตกค้างเลย ได้แก่ 1. คุณแม่จู้ 2. วังรายา และ 3. วิน (Win) - มี 2 ยี่ห้อ พบกรดเบนโซอิก แต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ แม่รุ่ง และ เจ๊น้อง - มี 5 ยี่ห้อ ที่พบสารกันบูด (กรดเบนโซอิก/ ซอร์บิก) ตกค้างเกินกว่าที่มาตรฐานโคเด็กซ์กำหนด คือพบได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มก./ อาหาร 1 กก. ได้แก่1. ป้าสุ มีปริมาณกรดเบนโซอิกและซอร์บิก คือ 1318.32 มก./กก. และ 978.88 มก./กก. ตามลำดับ 2. ชนิดา(CHANIDA) มีปริมาณกรดเบนโซอิก 2540.22 มก./กก.3. RICHMe by lalita มีปริมาณกรดเบนโซอิก 2429.64 มก./กก. 4. จันทร์เสวย มีปริมาณกรดเบนโซอิก 1572.86 มก./กก.5. แม่จิตร มีปริมาณกรดเบนโซอิก 1508.32 มก./กก.ยี่ห้อ ป้าสุ ซึ่งตรวจพบ ปริมาณกรดเบนโซอิก 1318.32 มก./กก. และกรดซอร์บิก 978.88 มก./กก. นั้น พบว่า มีผลรวมของสารกันบูด หรือกรดเบนโซอิกและซอร์บิกรวมกัน เท่ากับ 2.297.2 มก./กก. ซึ่งสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้  หากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) “ข้อ 6 การใช้วัตถุเจือปนอาหาร ต้องใช้ตามชื่อวัตถุเจือปนอาหาร หมวดอาหาร หรือชนิดอาหาร หน้าที่ทางด้านเทคโนโลยีการผลิต และปริมาณสูงสุดที่อนุญาตที่กำหนดไว้ตามบัญชีหมายเลข 1 โดยมีคำอธิบายเพิ่มเติมตามบัญชีหมายเลข 2 แนบท้ายประกาศนี้ การใช้วัตถุเจือปนอาหารที่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตเป็นตัวเลขในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง”ข้อสังเกตเรื่อง ฉลากอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 237) พ.ศ.2544 เรื่องการแสดงฉลากของอาหารพร้อมปรุง และอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคบริโภคทันที กำหนดให้อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคบริโภคทันที หมายถึง อาหารที่ผลิตเรียบร้อยพร้อมบริโภค ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายได้ทันที ซึ่งต้องมีการแสดงฉลากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ.2543 เรื่องฉลาก ที่กำหนดให้ ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทย และมีข้อความแสดงรายละเอียดต่อไปนี้ (ยกเว้นอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที ซึ่งผู้ปรุงเป็นผู้จำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง)1. ชื่ออาหาร 2. เลขสารบบอาหาร 3. ชื่อและที่ตั้งของสถานที่ผลิต หรือแบ่งบรรจุ หรือจัดจำหน่าย แล้วแต่กรณี 4. น้ำหนักสุทธิ 5. ส่วนประกอบที่สำคัญ 6. ข้อความว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” ถ้ามีการใช้ 7. ข้อความว่า “เจือสีธรรมชาติ” หรือ “เจือสีสังเคราะห์” ถ้ามีการใช้แล้วแต่กรณี 8. ข้อความว่า “ใช้...เป็นวัตถุปรุงแต่งรสอาหาร” 9. ข้อความว่า “ใช้...เป็นวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล” 10. ข้อความว่า “แต่งกลิ่นธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นเลียนธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นสังเคราะห์” “แต่งรสธรรมชาติ” หรือ “แต่งรสเลียนธรรมชาติ” ถ้ามีการใช้แล้วแต่กรณี 11.วันเดือนและปีที่หมดอายุ/ ผลิต 12. คำแนะนำในการเก็บรักษา (ถ้ามี)และจากตัวอย่างน้ำพริกหนุ่ม และแกงไตปลาแห้งที่นำมาทดสอบทั้งหมด พบว่า มีหลายตัวอย่างที่แสดงรายละเอียดบนฉลากไม่ครบถ้วน ซึ่งอาจขัดต่อกฎหมายดังกล่าวน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จโลหะหนัก ตะกั่ว แคดเมียม ในน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จปลาร้า เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่แทบขาดไม่ได้ในครัวคนอีสานหรือร้านอาหารอีสาน โดยเฉพาะส้มตำปลาร้า เมนูสุดแซ่บขวัญใจคนทุกภาค แต่ปลาร้านั้นหากไม่ทำให้สุกก่อนบริโภค ก็อาจก่อปัญหาด้านสุขภาพได้มาก โดยเฉพาะเรื่องพยาธิใบไม้ที่แฝงในตัวปลาหรือจุลินทรีย์ก่อโรคที่อาจส่งผลให้เสาะท้องได้ จึงมีการรณรงค์ในวงกว้างให้ใช้ปลาร้าสุกหรือทำปลาร้าให้สุกก่อนบริโภค ซึ่งก็ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา นั่นคือ น้ำปลาร้าปรุงสุกสำเร็จรูป ออกวางขายทั่วไป เรียกว่า ช่วยสร้างความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคได้อร่อยนัวกันอย่างวางใจ ซึ่งแหล่งผลิตใหญ่ก็ไม่พ้นภาคอีสาน และถือเป็นหนึ่งในของฝากที่มีชื่อเสียง ฉลาดซื้อ โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงร่วมมือกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 12 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2561 เพื่อทดสอบหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ซึ่งเป็นโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปและมีโอกาสเข้าสู่ตัวปลาที่ใช้ในการทำน้ำปลาร้า ถือเป็นการเฝ้าระวังด้านอาหารเพื่อสร้างความมั่นใจในการบริโภค และเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จเป็นของฝากยามเยือนถิ่นอีสานน้ำปลาร้า หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักปลากับเกลือ เติมข้าวคั่วที่บดละเอียด รำข้าว หรือรำข้าวคั่วในอัตราส่วนที่เหมาะสม ก่อนหรือหลังการหมักปลากับเกลือ เพื่อให้ได้กลิ่นรสตามธรรมชาติของปลาร้านำมากรอง ให้ความร้อนก่อนบรรจุ หรือได้จากการนำปลาร้าดิบมาต้มกับนํ้า อาจเติมเกลือ สมุนไพร แล้วกรอง อาจเติมเครื่องปรุงรส เช่น น้ำตาล น้ำมะขาม น้ำกระเทียมดอง และให้ความร้อนก่อนบรรจุที่มา มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช.1346/2557ผลทดสอบผลทดสอบตะกั่ว น้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัมส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช.มาตรฐานตะกั่วและแคดเมียมในอาหารประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ.2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน  กำหนดให้ตรวจพบตะกั่วไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนแคดเมียมไม่มีการกำหนดมาตรฐานไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 แต่อาจพิจารณาเทียบเคียงจาก มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า (มผช. 1346/2557) ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งกำหนดไว้ว่า สารปนเปื้อนแคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  ขณะที่ Codex (Codex Standard 193-1995) กำหนดไว้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมในสัตว์น้ำ (Marine bivalve molluscs) และสหภาพยุโรป (EC) No 1881/2006 กำหนดค่ามาตรฐานแคดเมียมในเนื้อปลาไว้ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(0.05 ppm.)  แต่ทั้งนี้ก็มีการแยกย่อยไปตามชนิดของปลาด้วย ตะกั่ว แคดเมียม อยู่ในน้ำปลาร้าได้อย่างไร โลหะหนักถูกใช้ในแวดวงอุตสาหกรรมหลายชนิด แต่ที่หลุดรอดออกสู่แหล่งดิน น้ำธรรมชาติ และถูกกำหนดไว้ในมาตรฐานอาหารส่วนใหญ่ คือ ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม เนื่องจากมีพิษรุนแรง การปนเปื้อนเข้าสู่แหล่งน้ำ ก็มีความเสี่ยงที่โลหะหนักจะสะสมในตัวสัตว์น้ำอย่างปลา ที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำปลาร้า และโลหะหนักไม่อาจทำลายได้ด้วยความร้อน จึงสามารถพบได้ในอาหารที่ผลิตออกจำหน่าย  โรตีสายไหม โรตีสายไหม ของฝากออเจ้า จากกรุงเก่าอยุธยาหากได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากการแวะไปไหว้พระทำบุญในวัดสำคัญ และเยี่ยมชมโบราณสถานที่งดงามในจังหวัดแล้ว คงไม่พลาดต้องซื้อของฝากชื่อดังอยุธยาอย่าง “โรตีสายไหม” หนึ่งในของดีภาคกลางติดไม้ติดมือกลับบ้านไปฝากคนรู้จักรู้ใจอย่างแน่นอน เพราะรสสัมผัสของแผ่นแป้งโรตีที่ละมุนนุ่มลิ้น กับกลิ่นหอมหวานของสายไหมสีสดใส เมื่อได้ชิมชิ้นแรก ก็คงห้ามใจ ไม่ให้หยิบชิ้นต่อไปคงไม่ได้“ขนมโรตีสายไหม” มีส่วนประกอบหลัก 2 ส่วน คือ ส่วนของแป้ง และส่วนของเส้นสายไหม แป้งโรตีประกอบไปด้วย แป้งสาลี น้ำ และเกลือ ส่วนของสายไหม มีส่วนผสมของน้ำตาล น้ำมันมะพร้าว และแป้งสาลี ซึ่งขนมที่มีส่วนประกอบของแป้ง อาจต้องใช้สารกันบูด กันรา เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ไม่ให้บูดเสียเร็วหรือขึ้นราได้ง่าย และอาจมีการใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์ในแผ่นแป้ง และสายไหม เพื่อสร้างสีสันให้กับแผ่นแป้ง และเส้นสายไหม ให้สดใสดึงดูดใจคนกิน ฉลาดซื้อ ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง จึงอยากเชิญชวนผู้บริโภค มาลองดูกันว่า เมื่อสุ่มเก็บตัวอย่าง โรตีสายไหม ในแบบฉบับที่ผู้บริโภคซื้อกันแล้ว เราพบอะไรบ้างที่น่าสนใจว่ากันว่าโรตีสายไหม ที่โด่งดังของอยุธยานั้น เป็นขนมของชาวไทยมุสลิม มีต้นกำเนิดมาจากการรังสรรค์ของนายบังเปีย แสงอรุณ และครอบครัว ที่ได้คิดค้นขึ้น เมื่อครั้งไปทำงานอยู่ที่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ก่อนจะเดินทางกลับมาประกอบอาชีพที่บ้านเกิดอยุธยาหากเอ่ยถึงตลาดขายโรตีเจ้าดัง คงต้องตรงดิ่งไปที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ไม่ได้พาไปหาหมอหายา แต่ว่าร้านโรตีเจ้าอร่อย เขามารวมตัวกันอยู่ที่นี่ แถวเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา แต่ถ้าใครไม่ได้ผ่านไปแถวนั้น ก็ไม่ต้องเสียใจ ยังมีเส้นทางโรตีสายไหม ที่จอดรถซื้อข้างทางได้ เช่น ถนนบางไทร - บางปะหัน, ถนนอยุธยา - บางปะอิน, ถนนเลี่ยงเมืองสุพรรณ รวมไปถึงถนนสายเอเชียผลทดสอบโรตีสายไหม โรตีสายไหมที่นำมาทดสอบ จำนวน 10 ตัวอย่าง ได้จากการสุ่มซื้อโดยเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง จากร้านโรตีสายไหม 10 แห่ง ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ในส่วนของแผ่นแป้งโรตี ฉลาดซื้อเลือกทดสอบวัตถุกันเสีย จำนวน 3 ชนิด ที่อาจถูกใช้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ได้แก่ กรดซอร์บิก กรดเบนโซอิก และกรดโพรพิโอนิก รวมทั้งทดสอบหาสีสังเคราะห์ในแผ่นแป้งด้วย สำหรับสายไหม เลือกทดสอบเฉพาะสีสังเคราะห์ ผลการทดสอบพบว่า• แผ่นแป้งโรตี  ตรวจพบกรดเบนโซอิก(Benzoic Acid) เกินมาตรฐาน (1,000 มก./กก.)   จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่  1) โรตีสายไหม ร้านศิลัคข บังอารีย์ แสงอารุณ เจ้าเก่า ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  1910.45  มก./กก.2) ร้านแม่ชูศรี ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  1894.05  มก./กก. 3) ร้านเรือนไทย ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  1502.32  มก./กก.4) ร้านเอกชัย (B.AEK) ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  1147.95  มก./กก.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 381 พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) สำหรับอาหารประเภทธัญชาติและผลิตภัณฑ์ธัญชาติ กำหนดปริมาณกรดเบนโซอิก ไม่เกิน 1,000 มก./อาหาร 1 กก. อีก 6 ตัวอย่างตรวจพบ กรดเบนโซอิก แต่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยไม่เกินมาตรฐาน(เรียงลำดับจากน้อยที่สุดไปมากที่สุด ได้แก่1) ร้านอาบีดีน+ประนอม แสงอรุณ  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  23.96 มก./กก. 2) ร้านวริศรา โรตีสายไหม  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  671.45 มก./กก. 3) ร้านโรตีสายไหมบังแป๊ะ  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  686.56 มก./กก. 4) ร้านโรตีสายไหม ไคโร น้องชายบังอิมรอน  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  708.64 มก./กก. 5) ร้านจ๊ะโอ๋  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  887.62 มก./กก. 6) ร้านประวีร์วัณณ์  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  985.84 มก./กก.ด้านสีสังเคราะห์ พบในแผ่นแป้งโรตีทุกตัวอย่างแต่ไม่เกินมาตรฐาน  อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ร้านเอกชัย (B.AEK) ซึ่งตรวจพบสีสังเคราะห์ กลุ่มสีเหลือง คือ ตาร์ตราซีน ปริมาณ  49.82 มก./กก. และกลุ่มสีน้ำเงิน คือ บริลเลียนท์ บลู เอฟซีเอฟ ปริมาณ  5.94 มก./กก. เมื่อคำนวณแล้วพบว่า ผลรวมสัดส่วนของสีสังเคราะห์ทั้งสองชนิดที่ตรวจพบ เท่ากับ 1.036 ถือว่าเกินเกณฑ์มาตรฐานไปเล็กน้อย เพราะตามกฎหมายระบุว่า เมื่อนำมาคำนวณร่วมกันแล้ว ต้องไม่เกิน 1 (ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381 ข้อ 6 ) สำหรับกรดซอร์บิกและกรดโพรพิโอนิกตรวจไม่พบในทุกตัวอย่าง  •สายไหม  ตรวจพบสีสังเคราะห์ทุกตัวอย่าง แต่ไม่เกินมาตรฐาน โดยสีสังเคราะห์ที่ตรวจพบในแผ่นแป้งและสายไหม อยู่ในกลุ่มสีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน ได้แก่ คาร์โมอีซีน หรือ เอโซรูบิน INS122, ตาร์ตราซีน INS102 และบริลเลียนท์ บลู เอฟซีเอฟ INS133มาตรฐานการใช้ปริมาณวัตถุกันเสียและสีสังเคราะห์ สารกันบูด สารกันรา และสีสังเคราะห์ จัดเป็นวัตถุเจือปนอาหาร (food additive) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข  (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4)  ที่มีข้อกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ได้ ตามหมวดอาหารแต่ละประเภทเอาไว้ ซึ่งแผ่นแป้งโรตีเทียบได้กับอาหารประเภทธัญชาติและผลิตภัณฑ์ธัญชาติ ส่วนสายไหมนั้นเทียบได้กับอาหารในหมวดลูกกวาด ลูกอม ช็อกโกแลตปริมาณกรดเบนโซอิกที่อนุญาตให้พบได้ในส่วนของ แผ่นแป้งโรตี แผ่นแป้งโรตี เทียบได้ในหมวดอาหารกลุ่มขนมหวานที่มีธัญชาติและสตาร์ชเป็นส่วนประกอบหลัก ตามข้อกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) อนุญาตให้ใช้ปริมาณกรดเบนโซอิกสูงสุดได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนสีสังเคราะห์ในกลุ่มสีแดง ได้แก่ คาร์โมอีซีน หรือ เอโซรูบิน (Carmoisine or Azorubine) INS 122 อนุญาตให้ใช้ได้สูงสุดในปริมาณไม่เกิน 50 มก./กก., ในกลุ่มสีเหลือง ได้แก่ ตาร์ตราซีน (Tartrazine) INS 102 อนุญาตให้ใช้ได้สูงสุดในปริมาณไม่เกิน 50 มก./กก. และในกลุ่มสีน้ำเงิน ได้แก่ บริลเลียนท์ บลู เอฟซีเอฟ (Brilliant Blue FCF) INS 133 อนุญาตให้ใช้ได้สูงสุดในปริมาณไม่เกิน 150 มก./กก.ปริมาณสีสังเคราะห์อาหารที่อนุญาตให้พบได้ในส่วนของ สายไหม สายไหม อาจเทียบได้ในหมวดอาหารกลุ่มลูกกวาด นูกัตและมาร์ซิแพน ตามข้อกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) อนุญาตให้ใช้สีสังเคราะห์ ในกลุ่มสีเหลือง ตาร์ตราซีน (Tartrazine) INS 102 และในกลุ่มสีน้ำเงิน บริลเลียนท์ บลู เอฟซีเอฟ (Brilliant Blue FCF) INS 133 ได้ในปริมาณไม่เกิน 300 มก./กก. ทั้งนี้ หากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) “ข้อ 6 การใช้วัตถุเจือปนอาหาร ต้องใช้ตามชื่อวัตถุเจือปนอาหาร หมวดอาหาร หรือชนิดอาหาร หน้าที่ทางด้านเทคโนโลยีการผลิต และปริมาณสูงสุดที่อนุญาตที่กำหนดไว้ตามบัญชีหมายเลข 1 โดยมีคำอธิบายเพิ่มเติมตามบัญชีหมายเลข 2 แนบท้ายประกาศนี้ การใช้วัตถุเจือปนอาหารที่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตเป็นตัวเลขในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง”รู้จักสารกันบูด และ สารกันรา สารกันบูด และสารกันราที่ฉลาดซื้อเลือกสุ่มตรวจ ได้แก่ กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) INS 200, กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) INS 210 และ กรดโพรพิโอนิก (Propionic Acid) INS 280 ซึ่งสารกันเสียแต่ละตัวเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่มีลักษณะและวัตถุประสงค์การใช้ในอาหาร ดังนี้ กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) INS 200* เป็นวัตถุเจือปนอาหาร (food additive) ที่อยู่ในกลุ่มซอร์เบต (sorbate) ที่ใช้เป็นสารกันเสีย (preservative) มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว ใช้ป้องกันการเจริญเติบโตของยีสต์ รา และเเบคทีเรีย โดยไม่มีผลต่อกลิ่นและรสชาติของอาหาร กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) INS 210* เป็นกรดอ่อนในอาหาร เป็นวัตถุเจือปนอาหารเพื่อใช้เป็นสารกันเสีย มีลักษณะเป็นผงผลึกหรือเกล็ดสีขาว มีคุณสมบัติสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ กรดโพรพิโอนิก (Propionic Acid) INS 280* เป็นกรดอินทรีย์ที่พบในอาหารที่เกิดจากการหมัก เป็นวัตถุเจือปนอาหาร มีหน้าที่เป็นสารกันเสีย และใช้เป็นสารกันราในอาหาร(ขอขอบคุณข้อมูลจาก: www.foodnetworksolution.com)หมายเหตุ: *INS (International Numbering System) คือ ระบบเลขหมายสากลสำหรับวัตถุเจือปนอาหารสีสังเคราะห์ที่ใช้ในอาหารสีผสมอาหารสังเคราะห์ หมายถึง สีที่เป็นสารอินทรีย์ที่ได้จากการสังเคราะห์ ใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหาร จัดอยู่ในกลุ่มสีผสมอาหาร สีสังเคราะห์มีราคาถูกกว่าสีธรรมชาติ อีกทั้งยังสะดวกต่อการเลือกใช้ ผู้ประกอบการจึงมักนิยมใช้สีสังเคราะห์ในอาหารมากกว่าสีธรรมชาติ ทั้งที่สีธรรมชาติมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากกว่า ซึ่งสีสังเคราะห์ สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มสีต่างๆ ได้แก่ กลุ่มสีแดง, กลุ่มสีเหลือง, กลุ่มสีเขียว และกลุ่มสีน้ำเงินกลุ่มสีแดง มี 3 สี ได้แก่ ปองโซ 4 อาร์ (Ponceau 4 R), คาร์โมอีซีน หรือ เอโซรูบิน (Carmoisine or Azorubine) และ เออริโทรซีน (Erythrosine)กลุ่มสีเหลือง มี 3 สี ได้แก่ ตาร์ตราซีน (Tartrazine), ซันเซ็ต เย็ลโลว์ เอฟซีเอฟ (Sunset Yellow FCF) และ ไรโบฟลาวิน (Riboflavin)กลุ่มสีเขียว มีสีเดียว ได้แก่ ฟาสต์ กรีน เอฟซีเอฟ (Fast Green FCF)และกลุ่มสีน้ำเงิน มี 2 สี ได้แก่ อินดิโกคาร์มีน หรือ อินดิโกติน (Indigocamine or Indigotine) และบริลเลียนท์ บลู เอฟซีเอฟ (Brilliant Blue FCF)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 โลหะหนัก ตะกั่ว แคดเมียม ในน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ

ปลาร้า เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่แทบขาดไม่ได้ในครัวคนอีสานหรือร้านอาหารอีสาน โดยเฉพาะส้มตำปลาร้า เมนูสุดแซ่บขวัญใจคนทุกภาค แต่ปลาร้านั้นหากไม่ทำให้สุกก่อนบริโภค ก็อาจก่อปัญหาด้านสุขภาพได้มาก โดยเฉพาะเรื่องพยาธิใบไม้ที่แฝงในตัวปลาหรือจุลินทรีย์ก่อโรคที่อาจส่งผลให้เสาะท้องได้ จึงมีการรณรงค์ในวงกว้างให้ใช้ปลาร้าสุกหรือทำปลาร้าให้สุกก่อนบริโภค ซึ่งก็ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา นั่นคือ น้ำปลาร้าปรุงสุกสำเร็จรูป ออกวางขายทั่วไป เรียกว่า ช่วยสร้างความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคได้อร่อยนัวกันอย่างวางใจ ซึ่งแหล่งผลิตใหญ่ก็ไม่พ้นภาคอีสาน และถือเป็นหนึ่งในของฝากที่มีชื่อเสียง  ฉลาดซื้อ โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงร่วมมือกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 12 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2561 เพื่อทดสอบหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ซึ่งเป็นโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปและมีโอกาสเข้าสู่ตัวปลาที่ใช้ในการทำน้ำปลาร้า ถือเป็นการเฝ้าระวังด้านอาหารเพื่อสร้างความมั่นใจในการบริโภค และเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จเป็นของฝากยามเยือนถิ่นอีสาน---------------------------------------------------------น้ำปลาร้า หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักปลากับเกลือ เติมข้าวคั่วที่บดละเอียด รำข้าว หรือรำข้าวคั่วในอัตราส่วนที่เหมาะสม ก่อนหรือหลังการหมักปลากับเกลือ เพื่อให้ได้กลิ่นรสตามธรรมชาติของปลาร้านำมากรอง ให้ความร้อนก่อนบรรจุ หรือได้จากการนำปลาร้าดิบมาต้มกับนํ้า อาจเติมเกลือ สมุนไพร แล้วกรอง อาจเติมเครื่องปรุงรส เช่น น้ำตาล น้ำมะขาม น้ำกระเทียมดอง และให้ความร้อนก่อนบรรจุที่มา มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช.1346/2557---------------------------------------------------------ผลทดสอบ ผลทดสอบตะกั่ว น้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช.มาตรฐานตะกั่วและแคดเมียมในอาหารประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ.2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน  กำหนดให้ตรวจพบตะกั่วไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนแคดเมียมไม่มีการกำหนดมาตรฐานไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 แต่อาจพิจารณาเทียบเคียงจาก มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า (มผช. 1346/2557) ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งกำหนดไว้ว่า สารปนเปื้อนแคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  ขณะที่ Codex (Codex Standard 193-1995) กำหนดไว้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมในสัตว์น้ำ (Marine bivalve molluscs) และสหภาพยุโรป (EC) No 1881/2006 กำหนดค่ามาตรฐานแคดเมียมในเนื้อปลาไว้ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(0.05 ppm.)  แต่ทั้งนี้ก็มีการแยกย่อยไปตามชนิดของปลาด้วยตะกั่ว แคดเมียม อยู่ในน้ำปลาร้าได้อย่างไร  โลหะหนักถูกใช้ในแวดวงอุตสาหกรรมหลายชนิด แต่ที่หลุดรอดออกสู่แหล่งดิน น้ำธรรมชาติ และถูกกำหนดไว้ในมาตรฐานอาหารส่วนใหญ่ คือ ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม เนื่องจากมีพิษรุนแรง การปนเปื้อนเข้าสู่แหล่งน้ำ ก็มีความเสี่ยงที่โลหะหนักจะสะสมในตัวสัตว์น้ำอย่างปลา ที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำปลาร้า และโลหะหนักไม่อาจทำลายได้ด้วยความร้อน จึงสามารถพบได้ในอาหารที่ผลิตออกจำหน่าย  ตารางผลทดสอบปริมาณแคดเมียมและตะกั่วในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 107 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2552 2 ธ.ค. 52บุกจับอาหารเสริมปลอม กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกันจับกุมและยึดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแอลคาร์นิทีน ตราหมอจุฬา ผลิตภัณฑ์อาหารลดน้ำหนัก ตรา SHAPE MINUS และกาแฟ 7 รายการ กว่า 2,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 1.5 ล้านบาท ของบริษัท ยินดีเนเจอร์โปรดักส์ จำกัด ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ผ่านการตรวจสอบและได้รับอนุญาตจาก อย.   โดยการบุกเข้าจับกุมและยึดผลิตภัณฑ์ครั้งนี้ พบ นาง นพธีรา ยินดี เจ้าของบริษัท ยินดีเนเจอร์โปรดักส์ จำกัด พร้อมกับสินค้าของกลาง ซึ่งตรวจสอบพบว่ามีการปลอมเลข อย. และแสดงเลขสารบบอาหารไม่ถูกต้อง จึงยึดไว้เป็นหลักฐาน เบื้องต้นได้แจ้งข้อหาผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย ซึ่งมีฉลากเพื่อลวง จัดเป็นอาหารปลอม สำหรับของกลางที่ตรวจยึดมาได้จะนำส่งให้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบสารที่ใช้เป็นส่วนผสม หากพบว่ามีการใช้สารอันตรายจะพิจารณาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมกับผู้ต้องหาต่อไป +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ 14 ธ.ค. 52 พบเฝือกคอเก๊ในรถฉุกเฉินของสาธารณสุข นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ได้สั่งห้ามนำเข้าชุดป้องกันกระดูกคอเคลื่อนหรือเฝือกคอของ บริษัท สุพรีม โพรดักส์ จำกัด และบริษัท FIEU Corporation .co.ltd ตัวแทนจำหน่าย PHILADELPHIA COLLAR ในประเทศไทย ซึ่งใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉินในรถพยาบาลหรือรถฉุกเฉินของหน่วยกู้ชีพจำนวน 232 คัน หลังพบความผิดปกติของหมายเลขลิขสิทธิ์สินค้าที่ไม่ตรงกัน ระหว่างเลขบนสติกเกอร์กับเลขตัวนูนบนชุดป้องกันกระดูก และบางชิ้นเลขที่ติดอยู่บนตัวผลิตภัณฑ์ เป็นเลขของผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นที่ไม่ใช่ชุดป้องกันกระดูกคอเคลื่อน จึงเข้าข่ายอุปกรณ์การแพทย์ปลอม ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ชุดป้องกันกระดูกคอเคลื่อน ที่บริษัท สุพรีม นำเข้ามายังไม่มี Certificate of Free Sales หรือการแจ้งขอผ่อนผันการนำเข้า ถือเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 6) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 2.5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่ง อย.จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ 19 ธ.ค. 52 กิน “ปลาร้า” ระวัง! เจอยาฆ่าแมลง นพ.วิชัย ขัตติยวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการออกตรวจสอบและสุ่มเก็บตัวอย่างปลาร้า ปลาแห้ง และอาหารทหารแห้งที่ตลาดย่าโม เขตเทศบาลนครนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ผลตรวจสอบเบื้องต้นพบสารฆ่าแมลงในสินค้าดังกล่าวจำนวน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 32 ซึ่งได้แจ้งตักเตือนผู้จำหน่ายถึงผลการตรวจสอบไปแล้วพร้อมให้หยุดการจำหน่ายทันที และจะขยายผลหาที่แหล่งผลิตเพื่อติดตามผู้ผลิตมาดำเนินคดีต่อไป สำหรับผู้บริโภคแนะให้ควรสังเกตดูว่า หากอาหารที่จำหน่ายใกล้เคียงมีแมลงวันตอม แต่ไม่ตอมปลาร้าก็ให้สงสัยว่าปลาร้านั้นปนเปื้อนสารฆ่าแมลงและควรปรุงสุกทุกครั้งก่อนรับประทาน ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ โฆษณาแฝงครองเมือง มีเดียมอนิเตอร์ ” เผยผลสำรวจ “ โฆษณาตรงโฆษณาแฝง ” พบ 3-5-7-9 โฆษณาตรงเกินกฎหมาย ขณะที่โฆษณาแฝงลามทุกรายการ เว้นข่าวพระราชสำนัก ประชุมรัฐสภา แย่สุดใช้เด็กเป็นร่างทรงโชว์สินค้าในรายการ นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการเฝ้าระวังสื่อฯ กล่าวว่า แม้ไทยใช้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์ พ . ศ . 2551 เพื่อ ควบคุมการโฆษณา แต่ยังพบปัญหาข้อกฎหมายตามไม่ทันกลยุทธ์ของผู้ประกอบการ เนื่องจากปัจจุบันมีการโฆษณาแฝงมาก ไร้กฎหมายควบคุมที่ชัดเจน อีกทั้งมีการใช้วิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบและการโฆษณา ขณะที่กรมประชาสัมพันธ์ ไม่มีอำนาจในการออกประกาศ ระเบียบ การโฆษณาเพื่อบังคับใช้กับสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ นายธาม กล่าวว่า จากการศึกษาโฆษณาตรงทางสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 25-27 ก.ย. 2552 ตลอด 24 ชั่วโมง พบว่า มี 4 ช่องที่โฆษณาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ 1. ช่อง 9 รวม 3 วัน มีการโฆษณาเกิน 192 นาที หรือเฉลี่ยวันละ 1 ชั่วโมง 2. ช่อง 3 โฆษณาเกิน 149 นาที 3. ช่อง 7 โฆษณาเกิน 111 นาที และ 4. ช่อง 5 โฆษณาเกิน 106 นาที ขณะที่ช่อง 11- สทท . ไม่พบการโฆษณาตรงเกินกว่าที่กำหนด นอกจากนี้เมื่อวัดจากจำนวนที่มีการโฆษณาแฝง พบมากที่สุด คือ ช่อง 5 มีการโฆษณาแฝงถึง 85.8% ช่อง 9 มีการโฆษณาแฝง 83.3 % ช่อง 7 โฆษณาแฝง 74.8% ช่อง 3 โฆษณาแฝง 68.7% และช่อง 11 โฆษณาแฝง 48.1% วิธีการโฆษณาแฝงที่พบบ่อยที่สุด คือ 1 . โฆษณาแฝงสปอตสั้นหรือวีทีอาร์ โดยใช้ภาพโฆษณาสินค้า ประมาณ 4-7 วินาที ในช่วงเข้าเนื้อหารายการ 2 .โฆษณาแฝงวัตถุ โดยตั้งใจจัดฉากให้เห็นสินค้าชัดเจน โดยเฉพาะฉากละครซิทคอมที่ร้านขายสินค้าจะเป็นจุดหลักของการโฆษณา ส่วนรายการข่าวจะนิยมใช้แก้วกาแฟ กล่องนม ซองขนมปัง และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ้ค 3.การโฆษณาแฝงภาพกราฟฟิก มีความถี่บ่อย ฉายเวียนซ้ำกันในระหว่างเบรก และ4. การโฆษณาแฝงไปกับเนื้อหา แม้จะพบในระดับที่ไม่มาก แต่มีลักษณะที่แนบเนียน “ การโฆษณาดังกล่าว ถือว่าผิดกฎหมาย ตามพรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 มาตรา 23 ว่าด้วยสัดส่วนการโฆษณาธุรกิจ เนื่องจากการโฆษณาตรงต้องออกอากาศในช่วงที่ไม่ใช่เนื้อหารายการ โดยใช้เกณฑ์การโฆษณาธุรกิจ เฉลี่ยทั้งวันต้องไม่เกิน 10 นาทีต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตามมีหลายช่องที่โฆษณาแฝงแทบทุกรายการ ยกเว้นการถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภา ข่าวพระราชสำนัก นอกจากนี้ยังพบว่ารายการเด็กและเยาวชน มีการใช้กลยุทธโฆษณาแฝงที่แนบเนียน จัดฉากให้เด็กมีส่วนร่วมในการโชว์สินค้า เด็กหรือผู้ร่วมรายการเป็นเหมือนร่างทรง ทั้งที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ ” +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ค้านหลักสูตรแพทย์อินเตอร์ หวั่นกระทบวงการสาธารณสุข น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยที่โรงเรียนแพทย์ผลักดันหลักสูตรแพทย์นานาชาติ เพื่อผลิตแพทย์ไทยให้สามารถรักษาผู้ป่วยต่างชาติ เนื่องจากจะทำให้เกิดผลกระทบกับวงการสาธารณสุข ทั้งการแย่งชิงทรัพยากรบุคคลหรืออุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค “แพทยสภาควรปลดล็อกการสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากภาษาไทยเพียงอย่างเดียวให้เป็นภาษาอังกฤษด้วย แล้วเปิดให้แพทย์ต่างชาติเข้ามาสอบโดยระบุให้แพทย์ต่างชาติต้องรักษาผู้ป่วยของชาติตัวเองในสถานพยาบาลเอกชนเท่านั้น ผู้ป่วยชาติใดมากก็แบ่งเป็นสัดส่วนกันไป น่าจะทำให้การที่ไทยจะเป็นเมดิคัลฮับยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ขณะเดียวกันในส่วนของอาจารย์แพทย์คนไทยที่เก่งๆ ก็จะมีเวลากลับมารักษาคนไทยด้วย” น.ส.สารี กล่าวในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นวันที่ 16-18 ธันวาคม ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ในหัวข้อการประชุมวิชาการในเรื่อง สองแพร่ง หลักสูตรแพทย์นานาชาติทางเลือกระหว่างโลกาภิวัตน์กับสุขภาพคนไทย ด้าน นพ.เสรี หงษ์หยก รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะดูแลเรื่องการจัดสรรกำลังคนด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังมีความต้องการบุคลากรในวิชาชีพสาธารณสุขโดยเฉพาะแพทย์เป็นอย่างมาก นโยบายของสธ.ยังมีการขยายงานให้มีแพทย์บริหารจัดการโรงพยาบาลระดับอำเภอทุกแห่งด้วย ดังนั้นถือว่าประเทศยังขาดแคลนแพทย์อยู่ การผลิตแพทย์หลักสูตรนานาชาติเพื่อรองรับผู้ป่วยต่างชาติจึงไม่เหมาะสมในช่วงเวลานี้ ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ องค์กรผู้บริโภคคัดค้านการขึ้นค่าโทลล์เวย์โหด เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค สถาบันพัฒนานักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ออกมาคัดค้านการขึ้นค่าโทลล์เวย์ จากกรณีที่บริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ประกาศขึ้นราคาค่าโทลล์เวย์ตลอดสาย จาก 55 บาทเป็น 85 บาท ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2552 เพราะเป็นการขึ้นราคาที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และไม่สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพของประชาชน แม้จะเป็นการทำตามสัญญาสัมปทาน แต่ต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคต้องการให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจทางปกครองสั่งการให้กรมทางหลวงยุติการอนุมัติให้ขึ้นราคาค่าโทลล์เวย์ ไม่เช่นนั้นจะดำเนินการฟ้องร้องต่อคณะรัฐมนตรีที่ดำเนินการโดยไม่รักษาผลประโยชน์สาธารณะ เพราะประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณะในอัตราที่อิงกับต้นทุน มิใช่อัตราการคืนทุนตามที่กำหนดโดยสัญญาตามที่เจ้าของทุนต้องการ การอ้างของคณะรัฐมนตรีว่าเป็นไปตามสัญญาสัมปทานนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่ทำลายความชอบธรรมของการมีรัฐบาลเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ เพราะหากให้สัญญาที่ทำกับเอกชนซึ่งมุ่งหวังผลตอบแทนจากการลงทุนมาใช้ปิดปากอำนาจของรัฐในการกำหนดอัตราค่าบริการซึ่งเรียกเก็บจากประชาชนผู้ใช้บริการ ย่อมเป็นสัญญาทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยหลักของกฎหมายและเป็นสัญญาสัมปทานที่ไม่เป็นธรรม เพราะเป็นสัญญาที่อนุญาตให้เอกชนทำบริการสาธารณะแทนรัฐ ที่สำคัญสัญญานี้ไม่ได้เกี่ยวพันเพียงแค่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมากที่ต้องรับผลจากสัญญาดังกล่าว"

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 แค่ส้มตำปลาร้า ทำให้กระเป๋าฉีกได้

 และแล้วปี 2012 ก็ผันผ่านไป โดยที่โลกยังปลอดภัย “ไม่แตก” ไปตามคำทำนายที่หลายคน  หวาดหวั่น    หลังจากเทศกาลปีใหม่  ที่หลายคนได้หยุดพักผ่อนไป  ลัลลา......  ท้าลมหนาว  กลับไปหาความอบอุ่นกับครอบครัวที่ต่างจังหวัดให้หายคิดถึง เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลชาร์ตพลัง และการเคลื่อนย้ายผู้คนครั้งยิ่งใหญ่   การพักผ่อน การหาความสุขในช่วงสั้นๆ (ที่หาไม่ค่อยได้ในสังคมเมือง)ผู้เขียนจึงขอหยิบยก เรื่องอาหารการกิน ที่คนเมืองอพยพ ได้ไปลิ้มรสชาติ ท่ามกลางบรรยากาศที่สดชื่น     ที่เกริ่นเรื่องนี้มาคืออยากบอกว่า    ผู้บริโภค ที่ต้องบริโภคอะไรก็ตาม ยังคงต้องระมัดระวัง  ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของพวกฉวยโอกาสขายสินค้าราคาเกินจริงด้วยตัวเองอยู่เช่นเดิมๆ ที่ผ่านมา    เพื่อนมาเล่าให้ฟังว่าปีใหม่ ได้เดินทางไปเที่ยวที่เกาะสีชังจังหวัดชลบุรี  ผ่านหาดบางแสนเลยแวะไปนั่งกินข้าวที่ชายหาด เป็นร้านแผงลอยเล็กๆ บริเวณนั้น   สิ่งที่เจอก็คือ หากจะนั่งกินอาหารที่ชายหาดต้องเสียค่าที่นั่งเก้าอี้ตัวละ 30 บาท(โอเคปรกติ) ตามมาด้วยเมนูอาหารที่ไม่บอกราคา  เมื่อถามว่าทำไมไม่เขียนราคา ก็ได้คำตอบว่ามันมีจานใหญ่จานเล็ก ราคาไม่เท่ากัน เลยไม่ได้เขียนราคา    แต่ด้วยกลุ่มที่ไปกินกลัวว่า ราคาอาหารทะเลจะแพงมาก(เพราะไม่มีราคาบอกไว้)   ก็เลยสั่งประเภทส้มตำ หมูน้ำตก  หอยนางรมสด  มากินกัน เพราะเห็นว่าราคาน่าจะเป็นมาตรฐานสักพักเพื่อนในทีมที่เดินไปซื้อข้าวกล่องเดินหน้ามุ่ยกลับมา  พร้อมคำบ่นว่าไปซื้อข้าวกินเหมือนโดนปล้นเลย ข้าวกะเพราไข่ดาวกล่องละ 60 บาท หลายคนพูดตรงกัน ”แพงอ่ะ”   เพื่อนในกลุ่มหัวเราะเยาะสมน้ำหน้าที่ไปซื้อของแพง   และแล้วอาหารที่สั่งก็มาส่งทุกคนก็กินกันอย่างครื้นเครง   แต่เมื่อถึงเวลาจ่ายเงิน  ทั้งกลุ่มตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก   เพิ่งตระหนักว่าข้าวของเพื่อนที่ไปซื้อมาไม่แพงเลย   เพราะส้มตำไทยปู ส้มตำปูปลาร้า (ไมใช่ส้มปูม้าดอง) ราคา 60 บาท ทุกจาน  หอยนางรมสดตัวเล็กๆประมาณ 18 ตัว ราคา 150  บาท(ตัวละเกือบ 10 บาท)  หมูน้ำตกจานเล็กนิดเดียวมีหมูไม่กี่ชิ้นจานละ 80 บาท  บวกรวมๆ อาหารไม่กี่จานเกือบ 800 บาท (เหงื่อตกทั้งกลุ่ม) ก่อนจ่ายเงินได้ถามว่าทำไมราคาอาหารถึงแพงมากอย่างนี้คำตอบคือ  “ราคานี้เป็นราคาที่เทศบาลตำบลแสนสุขเป็นผู้กำหนด” ทุกร้านต้องขายแพงอย่างนี้เหมือนกันทั้งหมดเพื่อนจึงได้โทรประสานไปที่เทศบาลตำบลแสนสุข (038-193500) เพราะอยากทราบว่า เทศบาลฯเป็นผู้กำหนดราคาจริงดังที่แม่ค้ากล่าวอ้างหรือไม่   โทรติดก็มีการโอนสายไปมาหลายครั้งกว่าจะมีคนรับสายก็หมดค่าโทรไปหลายบาท ที่สุดก็ได้คุยกับกองสาธารณสุข   จนได้คำตอบว่าเทศบาลกำหนดราคาจริง คือเป็นส้มตำมะม่วงปูม้าดองให้ขายไม่เกิน 60 บาท  ส้มตำทั่วไปให้ขายไม่เกิน 50 บาท  เราก็ตั้งคำถามว่าราคาที่เทศบาลกำหนดแพงกว่าราคาที่กรมการค้าภายในกำหนดหรือไม่?  คำตอบคือ ไม่ทราบ เพราะราคานี้นายกเทศมนตรีเป็นผู้กำหนดเมื่อข้อมูลไม่ครบก็ต้องหาต่อ  ก็เลยโทรไปที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน   และก็ได้ข้อมูลจริงๆ ว่ากรมการค้าภายในไม่มีการกำหนดราคาอาหารเหล่านี้  ผู้ขายสามารถตั้งราคาได้อย่างอิสระ แต่ต้องเขียนราคากำหนดไว้ เพื่อให้เป็นข้อมูลการตัดสินใจของผู้บริโภค  หากร้านไหนไม่เขียนสามารถสั่งปรับได้ไม่เกิน 10.000 บาท  ดังนั้นผู้บริโภคต้องดูแลตัวเองก่อนซื้อสินค้า “ให้ตรวจสอบราคาก่อน”ได้ฟังข้อมูลแล้วก็ได้แต่สะท้อนใจ     ก็ไหนกระทรวงพาณิชย์ออกมาตีปี๊บโครมๆ ผ่านสื่อ  เรื่องการควบคุมราคาอาหารไม่ให้สูงเกินจริง  แต่สิ่งที่เห็นคือ ดีแต่ตีปี๊บ แต่ “ทำไม่ได้จริง” บางแสนคงเป็นแค่กรณีตัวอย่าง เห็นชัดเจนว่าผู้บริโภคยังไม่มีที่พึ่ง ที่แท้จริง  สิ่งที่ทำได้คือต้อง “พึ่งตัวเองไปก่อน” ทำตัวเป็นผู้บริโภคที่รู้ทัน   ไม่เช่นนั้นก็จะกระเป๋าฉีกเช่นนี้แล

อ่านเพิ่มเติม >