ฉลาดซื้อ ตรวจปลาทูน่ากระป๋อง พบปรอท ตะกั่ว แคดเมียม แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน เตือนคนรักสุขภาพหากทานบ่อยอาจสะสมโลหะหนักในร่างกาย

        จากข่าวองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงสุ่มตรวจปลากระป๋อง 46 ตัวอย่าง (ซาร์ดีน 19 ตัวอย่าง/ ทูน่า 20 ตัวอย่าง/ ปลาตะเพียน 7 ตัวอย่าง) พบว่าในปลาซาร์ดีน 19 ตัวอย่าง มีถึง 17 ตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนจากแคดเมียม และสองตัวอย่างในนั้นเป็นปลาซาร์ดีนจากเมืองไทยที่มีระดับการปนเปื้อนของแคดเมียม 0.11 mg/kg และ 0.13 mg/kg ซึ่งเกินระดับปลอดภัย (0.1 mg/kg) ตามกฎหมายใหม่ของฮ่องกงที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องจำนวน 28 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตในบ้านเรา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา และนำส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเพื่อหาการปนเปื้อนของโลหะหนักสามชนิด ได้แก่ ปรอท ตะกั่ว และแคดเมียมการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่ว ประเทศไทยกำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ สามารถตรวจพบปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และมีปริมาณตะกั่วได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่องอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทส่วนการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ประเทศไทยกำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 98 ) พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน  ผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของโลหะหนักทั้งสามชนิดในผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องทั้ง 28 ตัวอย่าง พบว่าทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม แต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการปนเปื้อนโลหะหนักแต่ละประเภทจะพบว่า ตัวอย่างที่พบปริมาณการปนเปื้อนของปรอทน้อยที่สุด (0.023 มก./กก.) มีสองตัวอย่างได้แก่ 1) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ  2) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำมันถั่วเหลืองตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของปรอทมากที่สุด (0.189 มก./กก.) ได้แก่ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือสำหรับการปนเปื้อนของตะกั่วนั้น ส่วนใหญ่ตรวจไม่พบ หรือพบแต่น้อยกว่า 0.008 มก./กก.การปนเปื้อนแคดเมียม ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของแคดเมียมน้อยที่สุด (0.004 มก./กก.) สองตัวอย่างได้แก่ 1) ยี่ห้อ ROZA โรซ่า ทูน่าก้อน ในน้ำมันพืช และ  2) ยี่ห้อ TCB ทีซีบี ทูน่าชนิดก้อนในน้ำแร่ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของแคดเมียมมากที่สุด (0.029 มก./กก.) หนึ่งตัวอย่างได้แก่ ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ          ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร  ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าโลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม ที่ปนเปื้อนในอาหารทะเล เกิดจากอุตสาหกรรม เช่น การทําเหมืองแร่ การผลิตกระดาษ  อุตสาหกรรมหนักต่างๆ หรือ การใช้อุปกรณ์ที่มีโลหะหนักเป็นองค์ประกอบ เช่น ท่อส่งน้ำ ท่อระบายน้ำ แบตเตอรี สายเคเบิล เม็ดสี พลาสติก พีวีซี ยาฆ่าแมลง  โลหะหนักเหล่านี้ปนเปื้อนแหล่งน้ำหรือกระจายในชั้นบรรยากาศและตกลงสู่ทะเล  สะสมในแต่ละลําดับชั้นของห่วงโซ่อาหารการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนโลหะหนักในอาหาร โดยหลักการจะกำหนดให้ต่ำกว่าระดับการบริโภคที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ โดยมีมาตรฐานกลางระหว่างประเทศ  แต่ประเทศหรือรัฐใด จะกำหนดมาตรฐานให้เข้มงวดกว่าเกณฑ์กลางก็ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนผู้บริโภคของตนได้ดียิ่งขึ้นผู้บริโภคที่เลือกรับประทานปลาทูน่ากระป๋องเพราะมีโปรตีนสูงและให้แคลอรีต่ำนั้น ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะสลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก แม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยเกินไปก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ด้านปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ จากข้อมูลโภชนาการบนฉลากบรรจุภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคน้อยที่สุด (45 มิลลิกรัม) ได้แก่ ยี่ห้อ Tops ท็อปส์ ทูน่าสเต็กในน้ำแร่  และตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคมากที่สุด (350 มิลลิกรัม) ได้แก่ ยี่ห้อ BROOK บรุค ปลาทูน่าในน้ำมันถั่วเหลือง จึงควรอ่านฉลากและบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศฉบับเดิมคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ให้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่  20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจานุเบกษา  ประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในปลาทูน่ากระป๋องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 28 ตัวอย่าง          อ่าน “ผลทดสอบโลหะหนักในปลาทูน่ากระป๋อง”  ฉบับเต็มได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3448ติดตามทุกเรื่องราวเกี่ยวกับผู้บริโภคได้ที่เพจ Facebook/นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค            

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 เช็คสารตะกั่วใน “ปลาทูน่ากระป๋อง”

ถ้าย้อนไปเมื่อก่อน คนไทยเราอาจไม่ค่อยคุ้นเคยกับปลาทูน่า เพราะคนไทยไม่ค่อยนิยมทานปลาทะเล ด้วยราคาที่แพงกว่าปลาน้ำจืด แม้ชื่อจะคล้ายกับปลาทูบ้านเรา แต่เราก็แทบไม่เห็นบ้านไหนเสิร์ฟเมนูที่ทำจากปลาทูน่าเป็นกับข้าวมื้อเย็น วันเวลาเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็รู้จักปลาทูน่า ไปต้องลำบากไปเดินเลือกซื้อในตลาด ไม่ต้องเหนื่อยขอดเกล็ด ล้างหั่นทำความสะอาด เพราะเดี๋ยวนี้ปลาทูน่าหาทานง่ายยิ่งกว่าปลาชนิดไหนๆ เพราะมันถูกบรรจุมาในกระป๋อง  แค่แวะร้านสะดวกซื้อก็ได้ทานปลาทูน่าสมใจ แต่ปัญหาก็แอบมากลับทูน่ากระป๋องเหมือนกัน เรามักจะได้ยินข่าวอยู่เรื่อยๆ ว่ามีการตรวจพบสารปนเปื้อนทั้งในทูน่าสดและทูน่ากระป๋อง อย่างเมื่อปีก่อนเคยมีข่าวว่าหลายประเทศในสหภาพยุโรปต้องสั่งระงับการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากประเทศไทย เพราะตรวจพบสารฮีสตามีน (histamine) ซึ่งเป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ นอกจากนี้ทั่วโลกยังมีการเฝ้าระวังเรื่องของการปนเปื้อนสารตะกั่วในอาหารทะเล เพราะสารตะกั่วที่เกิดจากบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมต่างไหลลงสู่ทะเล แล้วแทรกซึมเข้าสู่สิ่งมีชีวิตในทะเล ซึ่งปลาทูน่าถือเป็นอาหารทะเลที่มีผู้นิยมบริโภคกันมาก การจับตาดูจึงมีมากเป็นพิเศษ เกริ่นมาซะยาวเพราะอยากจะบอกว่า “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้จะพาไปดูกันว่า ปลาทูน่ากระป๋องที่วางขายอยู่ในท้องตลาดบ้านเรานั้น มีการปนเปื้อนของสารตะกั่วหรือเปล่า ไขข้อข้องใจให้กับผู้บริโภค ต่อไปจะได้ทานปลาทูน่ากระป๋องได้อย่างมั่นใจ แถมด้วยการเช็คปริมาณโซเดียม ดูสิว่าทานปลาทูน่ากระป๋องแล้วจะสุขภาพดีเพราะมีคุณค่าทางอาหาร หรือจะต้องป่วยเสียก่อนเพราะร่างกายดันได้รับโซเดียมมากเกินไป   ผลการทดสอบ ฉลาดซื้อได้สุ่มตัวอย่างปลาทูน่ากระป๋องจำนวน 16 ตัวอย่าง 8 ยี่ห้อ โดยแต่ละยี่ห้อจะแบ่งเป็นปลาทูน่ากระป๋องชนิดที่ปรุงในน้ำมันพืช และชนิดที่ปรุงในน้ำเกลือ อย่างละ 1 ตัวอย่าง โดยการตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารตะกั่วนั้น ฉลาดซื้อได้ส่งไปตรวจยัง ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 จ.อุบลราชธานี ส่วนการตรวจดูข้อมูลปริมาณโซเดียม ฉลาดซื้อใช้วิธีคำนวณจากปริมาณโซเดียมที่แจ้งไว้ในฉลากโภชนาการข้างกระป๋อง   การปนเปื้อนสารตะกั่ว สำหรับผลวิเคราะห์การปนเปื้อนสารตะกั่ว ถือว่าเป็นข่าวดีของผู้บริโภคเพราะปลาทูน่ากระป๋องทุกตัวอย่างที่เราส่งตรวจ ไม่พบการปนเปื้อนของสารตะกั่ว จากนี้ไปเราก็สามารถทางปลาทูน่ากระป๋องกันได้อย่างสบายใจ แต่แม้จะปลอดจากสารตะกั่ว แต่อาจต้องระวังการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ ที่อาจป่นเปื้อนมากับเนื้อปลา ซึ่งเกิดขึ้นได้จากขั้นตอนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะฉะนั้นวิธีแก้ง่ายๆ คือการปรุงเนื้อปลาทูน่าให้สุกก่อนทาน แม้ปลาทูน่ากระป๋องจะผ่านกรรมวิธีทำให้เนื้อปลาสุกมาแล้ว แต่เพื่อความไม่ประมาท ทำให้สุกอีกทีเพื่อความปลอดภัย   ปริมาณโซเดียม ส่วนเรื่องของปริมาณโซเดียมในทูน่ากระป๋อง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่คนชอบทานปลาทูน่ากระป๋องต้องระวังเป็นพิเศษ  เพราะในปลาทูน่า 1 กระป๋องอาจมีโซเดียมถึง 1 ใน 4 ของปริมาณโซเดียมที่เหมาะต่อร่างกายคนเราใน 1 วัน (ไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม) จากการตรวจเช็คปริมาณโซเดียมในปลาทูน่ากระป๋องจากข้อมูลในฉลากโภชนาการ พบว่าประมาณโซเดียมจะอยู่ที่ประมาณ 300 – 600 มิลลิกรัมต่อ 1 กระป๋อง (น้ำหนัก 185 กรัม แต่ถ้าเฉพาะน้ำหนักเนื้อปลาจะอยู่ที่ 140 กรัม) เพราะฉะนั้นเราควรทานทูน่ากระป๋องแต่พอดี ควรทานให้เป็นอาหารมื้อหลักมากว่าเป็นเมนูทานเล่น ทานเต็มที่ไม่ควรเกินวันละ 1 กระป๋อง และต้องควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหารประเภทอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย สำหรับใครที่คิดว่าปลาทูน่ากระป๋องชนิดที่ปรุงในน้ำมันพืชจะมีปริมาณโซเดียม น้อยกว่าปลาทูน่ากระป๋องที่ปรุงในน้ำเกลือคงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะจากการตรวจเช็คปริมาณโซเดียมที่แจ้งในฉลากโภชนาการ  พบว่าปลาทูน่าในน้ำมันพืช 1 กระป๋องมีปริมาณโซเดียมมากกว่าปลาทูน่าในน้ำเกลือถึง 50 -100 มิลลิกรัมเลยทีเดียว   ---------------------------------------------------- ฉลาดซื้อแนะนำ -ปลาทูน่ากระป๋องที่ดี ต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอมใดๆ ปนเปื้อนมากับเนื้อปลา -เนื้อปลาต้องสุก ต้องไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เช่น กินเหม็น หรือ กลิ่นหืน -เนื้อปลาต้องไม่นิ่มเละ หรือ กระด้างเกินกว่าที่ควรจะเป็น เนื้อไม่มีลักษณะพรุนแบบรังผึ้ง -เนื้อปลาต้องไม่เป็นสีที่ชวนให้น่าสงสัยว่าเกิดการผิดปกติ เช่น สีเขียว หรือสีที่มีลักษณะคล้ำ -เนื้อปลาต้องไม่มีผลึกใส ซึ่งเป็นผลึกเกลือ ของสารประกอบของแมกนีเซียม ฟอสเฟต และแอมโมเนีย มักเกิดกับอาหารที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบ ทำปฏิกิริยากับโปรตีน สาเหตุของการเกิดผลึกเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาของจุลินทรีย์ เป็นการบ่งชี้ว่าวัตถุดิบไม่สด มีคุณภาพไม่ดี หรือขั้นตอนการผลิตไม่เหมาะสม -เลือกกระป่องที่อยู่ในสภาพดี ไม่บวม บุบ เบี้ยว ไม่มีสนิม -อ่านฉลากให้ละเอียดทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้อ บนฉลากต้องมี ชื่อสินค้า ชื่อของเหลวที่ใส่มาพร้อมเนื้อปลา เช่น ปลาทูน่าในน้ำเกลือ ปลาทูน่าในน้ำมัน ฯลฯ ต้องบอกส่วนประกอบ มีฉลากโภชนาการ บอกชื่อที่อยู่ผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ -ปลาทูน่ากระป่องที่เปิดกระป๋องแล้วแต่ยังทานไม่หมด ควรเก็บเข้าตู้เย็นและเปลี่ยนมาใส่ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด ป้องกันเชื่อโรคเข้าไปปนเปื้อน -----------------------   ปลาทูน่ากระป๋องที่เรากินส่วนใหญ่ ทำจากปลาทูน่านำเข้า แม้ประเทศไทยเราจะได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องออกไปขายทั่วโลก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยเรายังคงต้องใช้วัตถุดิบหลักในการผลิตอย่างเนื้อปลาทูน่าสดปริมาณมากกว่า 8 แสนตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 80 ของปลาทูน่าที่ใช้ในการผลิตปลาทูน่ากระป๋อง เท่ากับว่ามีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เป็นปลาทูน่าที่เราจับได้จากประมงไทย เหตุผลที่ไทยเรายังคงต้องสั่งนำเข้าปลาทูน่ามากมายขณะนี้ เป็นเพราะด้วยคุณภาพของปลาทูน่าที่จับได้ในทะเลไทยส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ที่สำคัญคือความด้อยด้านเทคโนโลยีและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการจับปลาทูน่า การประมงน้ำลึกของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ การเลือกนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศจึงดูเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์การผลิตได้มากกว่า   ข้อมูลปี 2553 ประเทศไทยเรานำเข้าปลาทูน่าปริมาณรวม 816,473 ตัน คิดเป็นมูลค่าที่ต้องจ่ายไป 35,656 ล้านบาท ขณะที่ ปริมาณการส่งออกทูน่ากระป๋องในปีเดียวกัน อยู่ที่ 521,205 ตัน คิดเป็นรายได้กลับเข้าประเทศ 51,942 ล้านบาท ที่มา : กรมการค้าต่างประเทศ   รู้จักกับปลาทูน่าที่ถูกจับลงกระป๋อง -ปลาทูน่าท้องแถบ (Skip-Jack Tunas) ถือเป็นสายพันธ์ปลาทูน่าที่นิยมใช้ในการผลิตปลาทูน่ากระป๋องมากที่สุดในปัจจุบัน ถึงเกือบร้อยละ 80 ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ตัวหนึ่งหนักประมาณ 3 – 7 กิโลกรัม เนื้อปลาจะมีค่อนข้างดำ -ปลาทูน่าครีบเหลือง (Yellow Fin Tunas) สายพันธ์นี้จะอาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งตะวันตกและตะวันออก ลำตัวมีความยาวประมาณ 27-60 นิ้ว เป็นสายพันธ์ปลาทูน่าที่มีขนาดใหญ่ บางตัวหนักถึง 20 กิโลกรัม เนื้อจะมีสีขาว คุณภาพดีกว่าปลาทูน่าท้องแถบ แต่ราคาก็สูงกว่าตามไปด้วย -ปลาทูน่าครีบยาว (Albacore or Long Finned Tunas) อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ ลักษณะและขนาดจะคล้ายกับปลาทูน่าครีบเหลือง -ปลาทูน่าชนิดอื่นๆ ได้แก่ ปลาทูน่าตาโต ทูน่าครีบน้ำเงิน เป็นต้น ซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะเอาไปทำปลาดิบมากกว่าบรรจุลงกระป๋อง เพราะคุณภาพจะดีกว่า ราคาก็จะแพงกว่า   ---------------------------------------------------- กินปลาทูน่าแบบรักษ์โลก ถ้าสังเกตที่ข้างกระป๋องปลาทูน่าดีๆ จะเห็นสัญลักษณ์ "Dolphin Safe" ที่เป็นรูปปลาโลมา เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการทำประมงจับทูน่าแบบอนุรักษ์ ไม่ทำร้ายปลาโลมา ซึ่งเป็นข้อตกลงทีมาจากบัญญัติคุ้มครองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลของสหรัฐฯ  (Marine Mammal Protection Act-MMPA)  ที่กำหนดห้ามไม่ให้ขายปลาทูน่าที่จับโดยเรือประมงทั้งในหรือต่างประเทศที่ใช้อวนแบบ purse seine  หรืออวนที่ดักล้อมเป็นระยะทางยาวเป็นไมล์   เพราะอวนชนิดนี้ไม่ได้จับได้เฉพาะปลาทูน่าเท่านั้น แต่ยังจับเอาปลาโลมาติดมาด้วย เพราะปลาทูน่าถือเป็นอาหารของปลาโลมา ในฝูงปลาทูน่าจึงมักมีปลาโลมาเกาะกลุ่มอยู่ด้วย ที่ผ่านมามีปลาโลมาที่ต้องตายเพราะอุตสาหกรรมประมงทูน่าหลายล้านตัว สหรัฐอเมริกาจึงทำมาตรการณ์ร่วมกับองค์การการค้าโลก (WTO) ให้ทุกประเทศที่จะทำการค้าปลาทูน่าทั้งสดและบรรจุกระป๋องต้อง ทำประมงจับทูน่าแบบอนุรักษ์ ไม่ทำร้ายปลาโลมา รวมถึงจับปลาทูน่าเท่าที่จำเป็น   ประโยชน์ของปลาทูน่า ความนิยมในการทานทูน่ากระป๋องที่มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช้เฉพาะแค่เมืองไทย แต่คนทั่วโลกก็ชื่นชอบปลาทูน่ากระป๋อง ไม่ใช่แค่เพราะความสะดวก แต่ยังรวมถึงเรื่องของคุณประโยชน์ที่ได้ ปลาทูน่าไม่ว่าจะเป็นแบบสดหรือที่บรรจุกระป๋อง จะมีกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 และมีดีเฮชเอ (Docosahexaenoic acid (DHA)) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายแต่ร่างกายเราไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ ประโยชน์ของกรดไขมันเหล่านี้ ช่วยเสริมสร้างความแข้งแรงให้กับเซลล์ ช่วยในการทำงานของระบบสมอง ระบบประสาท ที่สำคัญในโอเมก้า 3 ยังมีสาร เอชดีแอล โคเลสเตอรอล (HDL cholesterol) ซึ่งเป็นโคเลสเตอรอลชนิดดี ที่จะไปช่วยจัดโคเลสเตอรอลชนิดเลวออกไปจากร่างกาย ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ แถมปลาทูน่ายังให้โปรตีนที่สูงอีกต่างหาก   ตารางแสดงผลทดสอบปริมาณโซเดียมและการปนเปื้อนของสาตะกั่วในทูน่ากระป๋อง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 163 กระแสต่างแดน

ดีเซลไม่ดีจริง ทุกปีมีชาวลอนดอนประมาณ 4,300 คนเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับมลภาวะทางอากาศ และสภาพอากาศในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของเมืองนี้ก็เลวร้ายถึงขั้นต้องประกาศให้ผู้คนงดออกจากบ้านกันเลยทีเดียว ลอนดอนมีระดับมลพิษเกินเกณฑ์ของสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2010 แล้ว นายกเทศมนตรีของลอนดอน นายบอริส จอห์นสันก็ยอมรับว่าเขาคิดว่ามหานครแห่งนี้คงจะลดการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ให้อยู่เกณฑ์ได้ก่อนปี 2030 แน่นอน แนวคิดล่าสุดที่เขาเสนอเพื่อลดมลพิษในเมือง คือการจ่ายเงินให้กับเจ้าของรถที่ใช้เครื่องดีเซลให้เปลี่ยนไปใช้รุ่นที่ปล่อยมลพิษน้อยลง โดยเริ่มจากรถรุ่นที่ผลิตก่อนปี 2013 เขาคาดว่าแผนการที่อาจต้องใช้งบประมาณถึง 300 ล้านปอนด์นี้ น่าจะลดจำนวนรถเก่าออกไปจากท้องถนนลอนดอนได้ประมาณ 150,000 คัน (ทั้งนี้ค่าชดเชยอยู่ที่คันละไม่เกิน 2000 ปอนด์) นายบอริสบอกว่า เขาเห็นใจคนที่โดนกล่อมให้ซื้อรถดีเซลด้วยความเชื่อว่ารุ่นใหม่ๆ จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยมลพิษที่น้อยกว่าและค่าเชื้อเพลิงที่น้อยลง และเขาก็บอกด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องตระหนักว่ามันคือความผิดพลาดทางนโยบาย (ปัจจุบันรถดีเซลมีส่วนแบ่งถึงร้อยละ 50 ของตลาดในอังกฤษ) ทั้งนี้แผนส่งเสริมการใช้รถพลังไฟฟ้าที่เขาประกาศไว้เมื่อ 5 ปีก่อน ก็ยังไม่ได้ผล จากที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมี 25,000 คันภายในปี 2015 ขณะนี้ยังมีเพียง 1,400 คันเท่านั้น เรื่องนี้เขาบอกว่าต้องโทษกลไกตลาด ที่ยังไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ต่ำเท่าที่ควร     ซูเปอร์ฟู้ดเอาตัวไม่รอด ปีนี้แคลิฟอร์เนียกำลังเผชิญกับภัยแล้งอย่างหนัก และมันจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เพราะร้อยละ 80 ของเมล็ดอัลมอนด์ที่มีขายอยู่ในตลาดโลกมาจากที่นี่ เมื่อน้ำในแม่น้ำและทะเลสาบพากันเหือดแห้ง เกษตรกรผู้ปลูกอัลมอนด์จึงสูบน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้ และตกเป็นจำเลยข้อหาเอาน้ำใต้ดินที่ควรเป็นแหล่งน้ำสำรองของผู้คนรัฐแคลิฟอร์เนียมาใช้เพื่อผลิต “ซูเปอร์ฟู้ด” ราคาถูกออกมาป้อนตลาดโลก มีผู้ให้ความเห็นว่าเมื่อเกษตรกรไม่มีต้นทุนค่าน้ำ พวกเขาจึงสามารถขายอัลมอนด์ให้พ่อค้าที่ราคาขายส่งแค่ 3 – 4 เหรียญต่อปอนด์เท่านั้น แต่ถ้ามีการคิดต้นทุนที่แท้จริงแล้วละก็ ผู้บริโภคจะต้องจ่ายมากกว่านั้นถึง 3 เท่า ด้านสมาคมผู้ปลูกอัลมอนด์แห่งแคลิฟอร์เนียบอกว่า อัลมอนด์เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี และปีนี้เกษตรกรก็ใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เขาใช้น้ำน้อยลงถึงร้อยละ 33 ต่อการผลิตอัลมอนด์หนึ่งปอนด์ และตั้งคำถามกลับว่าการที่น้ำจะไม่พอใช้นั้นอาจเป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ดีของรัฐเองหรือเปล่า ความจริงแล้วแคลิฟอร์เนียสามารถผลิตนมและองุ่นได้ในปริมาณสูงกว่าอัลมอนด์ด้วยซ้ำ แต่ช่วงหลังนี้อัลมอนด์ได้รับความนิยมสูง(ด้วยสรรพคุณมากหลายตั้งแต่ลดโคเลสเตอรอล ลดความอยากอาหาร บำรุงผิว ฯลฯ) จึงมีคนนิยมปลูกมากขึ้น และทำรายได้ถึง 4,300 ล้านเหรียญต่อปีจากพื้นที่เพราะปลูกประมาณเกือบหนึ่งล้านเอเคอร์ ปีนี้ราคาอัลมอนด์สูงที่สุดในรอบ 9 ปี(ตันละ 10,500 เหรียญ) แต่ปัญหามันอยู่ที่มีเงินก็อาจจะซื้อไม่ได้ เพราะมีแนวโน้มว่าอาจไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาดในคริสต์มาสนี้   ผลพลอยได้ ผู้ผลิตปลาทูน่าอันดับหนึ่งของโลก คืออินโดนีเซียเพื่อนบ้านของเรา มีเกาะอยู่ทั้งหมด 17,000 เกาะ และมีประชากรหลายสิบล้านคนที่ทำประมงเลี้ยงชีวิต ปัจจุบันเขามีเรืออวนไม่ต่ำกว่า 33,000 ลำ และทุกครั้งที่เรืออวนออกไปจับปลาทูน่า ก็มักมีผลพลอยได้เป็นปลาฉลามมาด้วย ปลาทูน่าจะถูกส่งไปขายในญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา ส่วนปลาฉลามที่ติดมาด้วยนั้น ชาวบ้านที่นั่นเขาก็นำมากินกันเป็นเรื่องธรรมดา หนังปลาฉลามยังเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของผู้คนในชุมชนริมทะเล และถ้าคุณไปตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตก็หาซื้อลูกชิ้นปลาฉลาม หรือลูกปลาฉลามได้ไม่ยาก อินโดนีเซียจับปลาฉลามได้ปีละ 109,000 ตัน(น่าจะเป็นประเทศที่จับปลาฉลามได้มากที่สุดในโลกด้วย) และสามารถจับได้อย่างเสรี ไม่มีโควตา ไม่กำหนดขนาดของปลา จึงทำให้นักอนุรักษ์เริ่มวิตก สำหรับชาวอินโดนีเซียแล้ว ปลาฉลามจะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ไม่ได้เป็นอาหารเหลาเหมือนในอีกหลายๆ ประเทศที่เราเคยได้ยินข่าวการรณรงค์ให้ลด ละ เลิก แต่นักวิชาการเขาก็ยืนยันว่าถ้าเราคิดให้ถี่ถ้วน เราจะพบว่า ฉลามตัวเป็นๆ ที่ยังโลดแล่นอยู่ในทะเลนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าฉลามที่ตายแล้วหลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลของออสเตรเลียพบว่า นอกจากมันจะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ทางทะเลแล้ว ตลอดอายุขัยของมัน ฉลามหนึ่งตัวจะสร้างมูลค่าได้ถึง 1.9 ล้านเหรียญ ขาปั่นทำป่วน เราอาจรู้จักโคเปนเฮเกนในฐานะเมืองหลวงจักรยานของยุโรป และเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้จักรยานมากที่สุดในโลก แหม่ ... ก็เขามีเลนจักรยานที่มีความยาวรวมกันทั้งหมดถึง 400 กิโลเมตรเชียว ไม่อยากจะคุยต่อว่าเทศบาลเขาประกาศว่าปีหน้าจะจัดงบให้อีก 75 ล้านโครน เพื่อเพิ่มเส้นทางและขยายช่องทางจักรยานด้วย ว่ากันว่าผู้คน 1 ใน 3 ของเมืองนี้เดินทางด้วยจักรยานเพราะมันถูกและเร็ว แต่นั่นก็ยังไม่สาแก่ใจเทศบาลโคเปนเฮเกนที่ต้องการให้ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นไปเป็นร้อยละ 50 เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2020 แต่เดี๋ยวก่อน ... หลายคนเริ่มสงสัยว่าพวกเขาหมกมุ่นกับการสร้าง “เมืองสองล้อ” มากเกินไปหรือเปล่า ... คุณอาจคิดว่ามันเป็นสวรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของนักปั่น แต่พักหลังนี้เสียงบ่นทั้งจากตัวผู้ใช้จักรยานและผู้คนที่ร่วมใช้เส้นทางกลับเพิ่มมากขึ้นทุกที นักปั่นเริ่มฝ่าฝืนกฎจราจรกันมากขึ้น เดือนมกราคมที่ผ่านมาเทศบาลต้องมีมาตรการลงโทษผู้ใช้จักรยานที่ละเมิดกฎหมาย เช่น ถ้าฝ่าไฟแดงจะถูกปรับ 1,000 โครน (ประมาณ 5,600 บาท) ถ้าขึ้นมาขี่บนฟุตบาทก็จะโดนค่าปรับ 700 โครน (ประมาณ 4,000 บาท) นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อคอยยกจักรยานที่จอดในสถานที่ส่วนบุคคลไปเก็บ และคิดค่าไถ่จักรยานคันละ 187 โครน (ประมาณ 5,600 บาท) เป็นต้น เริ่มมีเสียงร้องเรียนว่าคนใช้จักรยานทำเหมือนตัวเองมีสิทธิพิเศษ ใครๆ ก็ต้องหลีกทางให้ ขึ้นรถไฟก็ต้องได้ที่นั่งและที่เก็บจักรยาน ปั่นอยู่บนถนนก็ไม่ต้องหยุดรอให้ผู้โดยสารที่ลงจากรถเมล์เดินขึ้นฟุตบาทก่อน เจอผู้พิการก็ไม่ชะลอ ... แหม่ ... นี่เข้าข่าย “เมืองดีแล้ว แต่ประชากรยังต้องปรับปรุง” เหมือนกันนะ เรื่องกินสอนกันได้ เด็กๆ ที่ฝรั่งเศสจัดอยู่ในกลุ่มที่มีสุขภาพดีที่สุดเมื่อเทียบกับเด็กในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เพราะมีอัตราน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนต่ำกว่าร้อยละ 20 ว่ากันว่าเรื่องนี้อยู่ในวิถีชีวิต คนฝรั่งเศสเชื่อว่าเด็กๆ ควรจะได้รับการสอนให้กินอาหารเป็น เช่นเดียวกับที่พวกเขาถูกสอนให้สามารถอ่านหนังสือได้นั่นเอง และการรักในรสชาติของอาหารก็เป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นจะต้องสอนกันตั้งแต่เล็กๆ พ่อแม่ชาวฝรั่งเศสมักจะไม่ถามลูกว่า “อิ่มหรือยัง?” แต่จะถามว่า “ยังหิวอยู่ไหม?” และเวลาจะชักชวนลูกให้ทานอะไรสักอย่าง เขาก็จะบอกว่า “ทานสิลูก อร่อยนะ” ไม่ใช่ “ทานสิลูก มีประโยชน์นะ” นอกจากนี้ในร้านอาหารของฝรั่งเศสเขาจะไม่มี “เมนูสำหรับเด็ก” เพราะเชื่อว่าเด็กควรทานทุกอย่างได้เหมือนกับผู้ใหญ่ (แม้ว่าพวกเขาจะไม่ชอบมันในตอนแรกก็ตาม) ทั้งนี้เพราะเด็กที่นี่ได้เรียนรู้การกินอาหารเพื่อสุขภาพทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน สำหรับเด็กประถมนั้น เมื่อถึงเวลาอาหารกลางวันพวกเขาก็จะได้รับประทานอาหารกลางวันแบบ 4 คอร์ส (สลัด จานหลักที่มักประกอบด้วยเนื้อสัตว์ จานชีส และของหวานที่มีผลไม้) และเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียวบนโต๊ะอาหารคือน้ำเปล่า กระทรวงศึกษาฯ เขามีนโยบายที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น โรงเรียนจะต้องให้เด็กได้ใช้เวลาทานอาหารกลางวัน อย่างต่ำ 30 นาที และเวลาพักกลางวันจะต้องไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อให้เด็กมีเวลาเล่น และห้ามตั้งเครื่องเครื่องขายขนมอัตโนมัติในโรงเรียนด้วย

อ่านเพิ่มเติม >