ฉบับที่ 155 ยำปลาข้าวสาร (จบ)

อ่านเรื่องปลาข้าวสารมา 2 ตอนแล้วอาจจะยังสงสัยปลาข้าวสารว่าตกลงคืออะไรแน่ ระหว่าง ปลาข้าวสารคือปลากะตักตัวเล็กที่ยังไม่โตสายพันธุ์หนึ่งตามที่กรมประมงบอก หรือ บูหรา (ปลาข้าวสาร) ที่เราซื้อมากิน มันเป็นปลากะตักที่โตเต็มวัยเท่านี้แหละและมีมาให้ชาวประมงในอ่าวพังงา และทะเลอันดามัน จับมากิน-ขายได้บางช่วงบางฤดู ที่พี่อิดว่ามันเป็นชุดความรู้ที่ชาวบ้านใช้ต่อรองเพื่อให้ตัวเองยังคงมีสิทธิมีโอกาสในการจับปลาข้าวสารมาขายโดยหมุนเวียนเปลี่ยนพลัดไปกับการจับปลากะตักสายพันธุ์อื่นๆ ในช่วงเวลาที่ต่างไป ธนู  แนบเนียน ผู้ประสานงานองค์กรความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติอันดามัน  บอกกับฉันว่า แม้ความรู้เรื่องปลาข้าวสารจะแตกแขนงออกเป็น 2 แนวทาง  แต่ทั้งกรมประมงและชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่งอันดามันต่างมีข้อตกลงร่วมกันในการอนุรักษ์และฟื้นฟูท้องทะเลหน้าบ้านของตน คือร่วมกันแก้ไขปัญหาอวนลากอวนรุนที่รุกล้ำเข้ามาในเขตชายฝั่ง โดยจับกุม เปลี่ยนเครื่องมือ และขยายระยะห่างเป็นเขตอนุรักษ์เพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่ห่างจากชายฝั่ง 3 กิโลเมตร เป็น 3 ไมล์ทะเล หรือ 5.4 กิโลเมตร   นอกจากนี้ชาวประมงพื้นบ้านยังต้องรักษาสภาพป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการัง  ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำให้มีสภาพอุดมสมบูรณ์   ธนู กังวลว่าอวนตาถี่ที่เรือปลากะตักในใช้จับปลาข้าวสารนั้นอาจจะมีปลาอื่นๆ ปะปนมาด้วย เมื่อประกอบกับการที่เรือปลากะตักนำอุปกรณ์ไฮเทคมาใช้ตรวจหาปลาได้อย่างแม่นยำจะมีผลทำให้ปริมาณปลาข้าวสารและปลาชนิดอื่นๆ ลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว  แต่การที่รัฐจะประกาศควบคุมปริมาณการจับปลาชนิดต่างๆ ของไทยไปพร้อมๆ กับการประกันราคาปลาคงยังไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในเมืองไทย  แม้ชาวประมงพื้นบ้านจะช่วยกันรักษาน่านน้ำอันเป็นพื้นที่หากินของตัวเองในการเฝ้าระวังเรืออวนลากอวนรุน  รวมทั้งเรือหาปลากะตักจากต่างถิ่นแล้ว  ก็ยังมีปัญหาพื้นๆ อย่างเรือเถื่อนที่ไม่มีใบอนุญาตหรืออาชญาบัตร ยังคงมีปรากฏให้เห็นเสมอ แม้ธนูจะบอกว่าถ้าผู้บริโภคจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลโดยการเลือกซื้อจากกลุ่มชาวประมงที่ทำการอนุรักษ์  แต่ฉันก็ยังอดคิดไปไกลไม่ได้ว่า เป็นเรื่องยากมากๆ ที่ผู้บริโภคจะทราบถึงแหล่งที่มาของปลาข้าวสาร และอาหารทะเลชนิดอื่นๆ คิดอะไรไม่ออกฉันก็หาข้อมูลไปเรื่อยๆ  เลยได้ย้อนกลับไปดูมาตรการควบคุมการจับปลากะตักเพื่อความยั่งยืนของสหภายุโรป ที่อ่าวบิสเคย์  พื้นที่ชายฝั่งทะเลของสเปนและฝรั่งเศส ซึ่งประสบความสำเร็จในการริเริ่มแผนการจัดการระยะยาวของปลากะตักในอ่าวบิสเคย์เป็นไปอย่างยั่งยืน โดยเสนอสูตรทางคณิตศาสตร์เพื่อคำนวณหาค่าปริมาณที่อนุญาตให้จับทั้งหมด (total allowable catch, TAC) และโควตาในการจับโดยขึ้นอยู่กับรัฐนั้นๆ ปี 2553 ชายฝั่งทะเลเขตสเปนได้โควตาจับปลา 80 % (14,040 ตัน) ในขณะที่ฝรั่งเศสได้โควตา 20 % (1,560 ตัน)  จนกระทั่งในเดือนมิถุยายน 2554 นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์เทคโนโลยีด้านการวิจัยทางทะเลและอาหาร (AZTI-Tecnalia) ยืนยันว่า ชีวมวลของปลากะตักในอ่าวบิสเคย์มีปริมาณเพิ่มขึ้น 278 % ต่อปี จาก 36,500 ตันในฤดูใบไม้ผลิ 2553 เป็น 138,000 ตัน ในเดือนพฤษภาคม 2554 ซึ่งจากการศึกษาของ Bioman ระบุว่า จากจำนวนของไข่ที่พบทำให้คาดการณ์ได้ว่า 86% ของชีวมวลมาจากปลากะตักอายุ 1 ปี  ผลจากการจำกัดปริมาณการจับสัตว์น้ำเหล่านี้ทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอต่อรัฐบาลสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ เพื่อขอเพิ่มโควตาจับปลากะตัก (anchovy) ในอ่าวบิสเคย์จาก 15,600 ตัน เป็น 29,700 ตัน (เพิ่มขึ้น 47 %)  โดยฤดูจับปลาเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 และสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2555 น่าอิจฉาเขานะคะที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ถูกนำมาใช้กับแผนการอนุรักษ์ได้อย่างประสบความสำเร็จ  ในประเทศไทยของเราหากจะฝันถึงการกำหนดโควตาสัตว์น้ำในทะเล  และการประกันรายได้เพื่อความมั่นคงของผู้ประกอบการจับปลาเพื่อให้เรามีอาหารทะเลกินกันได้อย่างยั่งยืนคงเป็นเรื่องไกลเกินฝันจริงๆ   มาทำปลาข้าวสารกรุบกริบกินส่งท้ายกันดีกว่า เครื่องปรุง ปลาข้าวสาร 1/2 ถ้วย , ไข่ไก่ 1 ฟอง , แผ่นห่อเมี่ยงเวียดนาม  1 ขีด , พริกไทยเม็ด 10 เม็ด , รากผักชี 1 ราก ,  ใบชะพลูหั่นฝอย 10 ใบ (หรือใบมะกรูดซอยละเอียด 5 – 6 ใบ) , น้ำมันปาล์ม   วิธีทำ ล้างปลาข้าวสารให้สะอาดหลายๆ รอบ ใส่กระชอนทิ้งให้สะเด็ดน้ำ โขลกพริกไทยเม็ดกับรากผักชีให้ละเอียด ตอกไข่ใส่ชาม เจียวไข่แล้วนำปลาข้าวสาร พริกไทยโขลกกับรากผักชี ใบชะพลูหั่นฝอยมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน ใช้กรรไกตัดแผ่นห่อเมี่ยงเวียดนามออกเป็นขนาดพอคำ  นำส่วนผสมที่ปรุงไว้มาทาบางๆ วางเรียงลงในจานแล้วนำไปทอด  ตอนละเลงเครื่องปรุงลงแผ่นเมี่ยงควรระวังอย่าให้ชุ่มน้ำเพราะจะทำให้ลอกแผ่นเมี่ยงตอนทอดยาก เมื่อเตรียมแผ่นเมี่ยงที่ใส่เครื่องปรุงเสร็จแล้วจึงตั้งกระทะไฟปานกลาง  รอจนน้ำมันร้อนจัดแล้วค่อยๆ ทอดจนเหลืองกรอบ   หมายเหตุ ตอนจะเสิร์ฟ  คุณอาจเลือกน้ำจิ้มที่กินกับข้าวสารกรุบกริบได้หลายแบบ ทั้งซอสมะเขือเทศ  หรืออาจาด (แตงกวาและหอมแดงซอยในน้ำตาลเคี่ยวไฟกับน้ำส้มสายชูและเกลือนิดหน่อย)  แต่คราวนี้ฉันทำง่ายกว่า คือคว้าเอาน้ำจิ้มไก่สำเร็จรูปที่มีอยู่ในครัวมาเหยาะใส่ลงในถ้วยที่เต็มไปด้วยแตงกวาที่ผ่ายาว 4 ชิ้นแล้วหั่นหนาครึ่งเซนติเมตร //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 154 ปลาข้าวสาร (2) ขนมจีนซาวน้ำ

จากปลาข้าวสารที่กำลังจะเข้าปากในรูปการยำของฉันในตอนที่แล้ว ได้นำเราไปสู่เรื่องปัญหาและการคลี่คลายลงการจับปลากระตักในทะเลชายฝั่งอันดามันในอดีต และภาพปัจจุบันของชาวประมงชายฝั่งที่นั่นได้มีการปรับตัวเองไป จนเกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ผู้อ่าน บางคนอาจยังมีคำถามคาใจถึงมาตรการที่กรมประมงใช้ในการควบคุม “การใช้อวนตาถี่ 0.6  ซ.ม.” ที่ติดตั้งในเรือปลากะตักกลางวัน ที่ยังอาจจะมีผลกระทบต่อการขยายพันธุ์ปลากะตักและอาชีพการจับปลาในระยะยาว เรื่องนี้ พี่อิด – พิเชษฐ ปานดำ คนทำงานกับชาวประมงชายฝั่งอันดามันใน จ.พังงา – ภูเก็ต และคนที่เคยพาฉันไปซื้อปลาข้าวสารในตลาดภูเก็ต หลังจากการเยี่ยมเยือนกลุ่มออมทรัพย์และพื้นที่อนุรักษ์ริมฝั่งทะเลของเพื่อนชาวประมงที่แกทำงานด้วย 2 – 3 แห่ง เมื่อ 4 – 5ปีก่อน เล่าให้ฉันฟังว่า หากจะยึดข้อกำหนดขนาดของตาอวนในการจับปลากระตักกลางวันเป็นหลักอย่างที่กรมประมงกำหนด คนจับปลาคงต้องผันตัวเองไปทำอาชีพอื่นทั้งหมดแน่ๆ  ชาวประมงในฝั่งอันดามันจึงต้องต่อรองกับกรมประมง   “ก่อนอื่นเธอต้องเข้าใจก่อนว่าปลากระตักมีหลายชนิด ส่วนปลาข้าวสารที่เธอเรียกนั่น คนที่อ่าวพังงาเรียกปลาบูหรา” เสียงพี่อิดกรอกหูผ่านเครื่องมือสื่อสารในยุค 3G ดังชัดแจ๋ว พี่เขาบรรยายถึงเครื่องมือจับปลาและปลาชนิดต่างๆ ที่จับโดยเรือปลากะตักกลางวัน ว่าเรือหาปลาชนิดนี้จะใช้อวนที่เป็นมุ้งเขียว ซึ่งแน่นอนว่ามีขนาดตาอวนเล็กกว่าที่กรมประมงกำหนด เพราะต้องใช้กวาดจับปลาตัวเล็กชนิดต่างๆ ในร่องน้ำลึก ที่อยู่ไกลออกไปจากชายฝั่ง และเรือประมงเล็กไปไม่ถึง   นอกจากจะจับปลากระตักหรือปลาฉิ้งฉั้งในภาษาถิ่นแล้ว  ยังมี ปลาลิง ปลาบูหรา และปลาอื่นๆ อีก นับกว่า 10 ชนิด  ซึ่งปลาแต่ละชนิดอยู่กันคนละฝูงไม่ปะปนกัน  แถมยังมีความชุกชุมในแต่ละช่วงฤดูแตกต่างกันด้วย เพราะว่าในร่องน้ำลึกมีปลาตัวเล็กหลากหลายชนิดให้เรือปลากะตักจับนี่เอง ที่ทำให้เรือจับปลากะตักต้องจับปลาตัวเล็กหมุนเวียนไป  โดยบูหราจะมีมากในช่วงเปลี่ยนลมมรสุม หรือปีละ 2 ครั้ง คือระหว่างปลายเดือนเมษายน-มิถุนายน และช่วงปลายปีพฤศจิกายน-ธันวาคม  พ้นจากช่วงนี้เรือกะตักกลางวันก็หาและจับปลาตัวเล็กชนิดอื่นๆ แทน พี่อิดเล่าต่อไปอีกว่า อวนเขียวที่ล้อมจับบูหรานั้นยังจำกัดชนิดเฉพาะบูหรา เพราะปลาที่ล่าบูหราอย่างปลาฉลามนั้นสามารถพุ่งตัวหนีออกจากอวนเมื่อกำลังตีล้อมจับปลาได้อีกต่างหาก  ซึ่งต่างจากอวนทวน เครื่องมือปูม้าที่เวลาจับปูม้าแล้วมักได้ปลาอื่นๆ ติดมาด้วย “มิน่า  พี่ยังพาพวกเราไปซื้อปลาข้าวสารกลับบ้านหลังจากขึ้นทะเล” ฉันกรอกเสียงกลับไป คนอีกฝั่งที่ไกลลิบนั่นหัวเราะร่วมไปกับฉัน แต่ยังไม่วายอัพเดทความคืบหน้าให้ฟังอย่างอารมณ์ดีต่อ “คนบนเรือหากะตักกลางวันที่นี่ส่วนใหญ่ยังเป็นคนพื้นถิ่น  เรือกะตักปั่นไฟกลางคืนจากอ่าวไทยไม่ค่อยเข้ามาในเขตนี้หลายปีแล้ว หลังจากชาวบ้านที่นี่ช่วยกันดูแลทะเล เดี๋ยวนี้คนทำประมงก็น้อยลงด้วย  แต่ปัญหาที่นี่ก็เหมือนที่อื่นๆ คือเริ่มเปลี่ยนจากเทคโนโลยีการจับแบบพื้นๆ มาใช้อุปกรณ์ไฮเทคค้นหาปลาจากดาวเทียมขึ้นอย่างซาวเดอร์ หรือซูนาร์ ที่แม่นยำ รวดเร็วกว่า ... ” เรื่อง ปลาข้าวสารหรือบูหรา ยังไม่จบ  มีต่อตอนหน้าแน่ๆ  ตอนนี้เรามาหาอะไรกินง่ายๆ จากปลาข้าวสารกันดีกว่า ฉันนึกถึงบูหราสดๆ ที่ชาวอ่าวพังงาเอามาทำห่อหมกหรือยำสดๆ แต่ปลาข้าวสารที่ฉันซื้อมาจากตลาดนัดนั่นเป็นปลาข้าวสารที่แช่แข็งมาในท้องเรือแล้วเอามาต้มน้ำทะเลและตากให้แห้งบนบก  เวลาจะเอามากินก็แค่ล้างหลายๆ เที่ยวเพื่อจางรสเค็มแล้วลวกด้วยน้ำร้อนเดือดๆ อีกทีก่อนจะสงให้สะเด็ดน้ำก่อนนำไปปรุงในรูปแบบต่างๆ  เมนูบูหราเที่ยวนี้ขอเป็นอาหารพื้นๆ ภาคกลาง ง่ายๆ แล้วกัน   ขนมจีนซาวน้ำ เครื่องปรุง 1.เส้นขนมจีน  ½  กก.   2.มะพร้าวขูด 3 ขีด  3.สับปะรดเปรี้ยว-หวาน หั่นชิ้นเล็ก 1 ถ้วย  4.ปลาข้าวสารล้างสะอาดลวกน้ำร้อนและสงให้สะเด็ดน้ำ 1 ถ้วย 5.กระเทียมสดซอยบาง ¼ ถ้วย   6.เกลือ 1 ช้อนชา  7.น้ำตาลทราย  8.พริกขี้หนูคั่วป่น  9.น้ำปลา วิธีทำ คั้นมะพร้าวเอาแต่หัวกะทิประมาณ 1 ถ้วย ปรุงรสด้วยเกลือให้มีรสเค็มนิดๆ แล้วนำไปเคี่ยวไฟปานกลาง ต้องหมั่นคนตลอดเวลาให้กะทิแตกมันและป้องกันกะทิจับกันเป็นลูกนานสัก 10 นาทีแล้วยกลง  จากนั้นจัดเรียงเครื่องเคียงที่ต้องการกินลงในจาน  ปรุงรสเค็ม เผ็ด หวาน ตามชอบ   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 153 ยำปลาข้าวสาร (1)

ฉันกำลังสงสัยว่า เวลาที่คุณเห็นปลาข้าวสารแล้วนึกถึงอะไรบ้าง?  จะมีเรื่องปลาข้าวสาร สักเรื่องไหมที่คุณกับฉันคิดถึงมันแล้วบังเอิญว่าคิดตรงกัน   และเรื่องที่ว่านั้นบังเอิญอีกทีว่าพ้นไปจาก เรื่องคุณค่าทางโภชนาการของปลาข้าวสารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม และเมนูที่น่าจะกินจากปลาชนิดนี้? ปลาข้าวสาร หรือปลาสายไหม  เป็นลูกปลาที่ยังไม่โตเต็มวัยของปลากะตัก  หรือที่รู้จักและมีชื่อเรียกอื่นๆ อีกว่า ปลากล้วย, ปลาหัวอ่อน, ปลาจิ้งจั๊ง, ปลามะลิ, ปลาหัวไม้ขีด, ปลาเส้นขนมจีน , ปลายู่เกี้ย, ปลาเก๋ย    ปลาชนิดนี้เป็นปลาขนาดเล็กอยู่กันเป็นฝูงใหญ่ตามผิวน้ำทะเลโดยอาศัยแพลงตอนเป็นอาหาร  มันจึงเป็นอาหารชั้นดีของปลาและสัตว์ทะเลขนาดใหญ่กว่า ครั้นเรามีแบบแผนการผลิตทางการประมงและอุตสาหกรรมอาหาร ปลาชนิดนี้เลยกลายมาเป็นอาหารของคนด้วย   ซึ่งนอกจากเราจะกินปลากะตัก ในรูปอาหารสารพัดตำรับการปรุงแล้ว   คนยังเอามันไปทำปลาบ่นเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์สารพัดชนิดให้กลายเป็นอาหารของเราอีกที ย้อนกลับไปช่วงปี พ.ศ. 2540-2542  ฉันคงคิดมากว่าจะซื้อปลาข้าวสาร มากินดีไหม เพื่อความสบายใจของตัวเองว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหาให้กับชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งที่อยู่ชายฝั่งทะเลสงขลาและฝั่งอันดามันที่กำลังประท้วงเรื่องหาปลากะตักตอนกลางคืนที่ติดเครื่องปั่นไฟกันอยู่ในขณะนั้น   จากการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ ที่เรียกร้องให้ยกเลิกการใช้เรือจับปลากะตักแบบปั่นไฟ  และเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน  จังหวัดกระบี่  พังงา  ภูเก็ต และระนอง ที่ร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐดำเนินการกับเรือประมงที่ติดอวนรุนและอวนลาก ในช่วงเวลานั้น ทำให้ต่อมาในปี 2542 มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการศึกษาและกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการทำประมงปลากะตักโดยใช้แสงไฟประกอบ  ผลการศึกษาพบว่า การทำประมงปลากะตักมิได้ชี้ชัดถึงการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำชนิดอื่น จึงอนุญาตให้เรือหาปลากะตักแบบปั่นไฟทำการต่อไปได้  โดยมีมติให้แบ่งเขตการทำประมงปั่นไฟตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมาแบ่งเขต  อีกทั้งยังกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนเรือประมงและการควบคุมจำนวนอาชญาบัตร  เพื่อควบคุมปริมาณการทำประมงปลากะตัก  รวมถึงการควบคุมขนาดของตาอวนให้ใหญ่กว่า 0.6 ซม. เพื่อให้ลูกปลากะตักหรือปลาข้าวสารซึ่งมีขนาดเล็กกว่าตาข่ายหลุดรอดและเติบโต เพื่อให้เราได้มีปลาชนิดนี้กินกันต่อไปอย่างยั่งยืน หลังจากข่าวความขัดแย้งของชาวประมงพื้นบ้านกับเรือหาปลากะตักแบบติดเครื่องปั่นไฟซาไปจากหน้าหนังสือพิมพ์  การกินปลาข้าวสารเพื่อแสดงความความตื่นตัวในการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งของฉันก็สร่างเซาไปไปด้วยเช่นกัน  จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันก่อนเพื่อนของฉันซึ่งเคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับวีถีชาวประมงพื้นบ้านในชายฝั่งทะเลอันดามันเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ได้กลับไป “เยี่ยมสนาม”   ที่เธอเคยวิจัย และ นำของฝากจากอันดามันมาให้ฉันและเพื่อนๆ ได้บริโภคกันอย่างเปรม เธอเล่าว่า แม้ข้อสรุปจากการต่อสู้เรื่องเรือปั่นไฟปลากะตักในคราวนั้นจะเอนเอียงไปทางฝ่ายเรือประมงพาณิชย์ แต่เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านก็ไม่ได้ย่อท้อและต่อสู้ขับเคี่ยวกับการทำประมงที่ทำลายล้างอย่างเรืออวนลาก อวนรุนซึ่งบั่นทอนรายได้ของพวกเขา โดยงัดเอาสารพันกลยุทธ์ขึ้นมาสู้ เช่น การเรียกร้องค่าเสียหายของเครื่องมือประมง การแจ้งความกับเจ้าหน้าที่รัฐ   การพยายามปรับเปลี่ยนเวลาหรือสถานที่การทำประมงของตนเพื่อหลีกหนีเรืออวนลากอวนรุน  การที่มีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าไปสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านรวมตัวกันเป็น “สมัชชาชาชาวประมงพื้นบ้านอันดามัน” เพื่อดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง  การป้องกันและกำจัดผู้ที่ทำการประมงอย่างผิดกฎหมาย และการผลักดันในเชิงนโยบายและกฎหมาย  ซึ่งมีการทำงานทั้งในระดับหมู่บ้าน/ตำบลและระดับเครือข่าย ทั้งในระดับเครือข่ายอ่าว และระดับภาคอย่างต่อเนื่อง  จนกระทั่งส่งผลต่อนโยบายสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงอวนรุนของกรมทรัพยากรทางทะเลที่ตั้งขึ้นใหม่ ตอนนั้นนโยบายสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงอวนรุน เป็นเครื่องมือชนิดอื่นที่ไม่ทำลายล้าง เช่น ให้อวนถ่วง 40 หัว มูลค่า 6 หมื่นบาท  นี้ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 5 ปีติดต่อกัน กระทั่งอวนรุนหมดไปจากฝั่งทะเลอันดามัน ยกเว้นก็แต่ที่ จ.ระนองเท่านั้น   ด้วยนโยบายนี้ ประกอบกับการทำงานอนุรักษ์พื้นที่ประมงชายฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำทะเลของกลุ่มชาวบ้านที่ดำเนินงานกันอย่างต่อเนื่องยาวนานทำให้ปัจจุบันพื้นที่ประมงชายฝั่งอันดามันฟื้นตัวขึ้นมาได้มาก... หากคุณอยากเสพของฝากชิ้นเยี่ยมนี้แบบเต็มๆ  ต้องไปดาวน์โหลดที่   “สถานะของระบบนิเวศและทรัพยากรชายฝั่งท่ามกลางการปรับโครงสร้างชนบท: กรณีชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน”   โดย ชลิตา บัณฑุวงศ์   https://docs.google.com/file/d/0B-ahm0-nZyGIUjl0Y3lWLU05Qmc/edit?usp=sharing&pli=1 คราวหน้าฉันจะมาคิดเรื่องปลาข้าวสารต่อ   ฉันขอให้คุณคิดถึงมันล่วงหน้าไว้เลยก็ได้  แล้วมาดูกันว่าเราจะคิดถึงมันอย่างเหมือนหรือต่าง กันมากน้อยแค่ไหนอย่างไร  แล้วพบกันค่ะ   ยำปลาข้าวสารแบบง่ายๆ เครื่องปรุง: ปลาข้าวสารคั่วกรอบ  ½ ถ้วย  มะม่วงแก้วหรือมะม่วงน้ำดอกไม้ดิบขูดเส้นฝอย 1 ถ้วย  น้ำตาลทราย 1 ช้อน  พริกป่น 1 ช้อน  พริกขี้หนูซอย ตามชอบ และใบมะยมอ่อน  3 – 4 ช่อ วิธีทำ: เคล้าเครื่องปรุงทุกอย่างเข้าด้วยกัน  ไม่ต้องใช้เกลือหรือน้ำปลา เพราะว่าปลาข้าวสารเราเค็มเข้มอยู่แล้ว  จากนั้นก็จัดลงจานวางเรียงกินเคียงเครื่องดื่มที่คุณชอบ วิธีกินปลาข้าวสาร อีกแบบฉันได้มาจากเพื่อนสาวชาวญี่ปุ่นของฉัน  เธอเคยยำปลาข้าวสารแบบญี่ปุ่นให้กินเมื่อกว่า 15 ปีก่อน แต่ฉันยังจำได้ดี  ทำง่ายมาก  เครื่องปรุงเปลี่ยนจากปลาข้าวสารกรอบเป็นปลาข้าวสารธรรมดานี่แหละ แต่เอาไปล้างด้วยน้ำสะอาด 3 – 4 ครั้งแล้วลวกด้วยน้ำร้อนแล้วสรงให้สะเด็ดน้ำ  หั่นแตงซุกินีตามแนวขวางเป็นแผ่นบางๆ เรียงลงจาน  โรยด้วยปลาข้าวสารที่เตรียมไว้    เสิร์ฟคู่กับถ้วยวาซาบิที่คลอด้วยซีอิ๊วญี่ปุ่น  เท่านี้ก็เป็นการกินปลาข้าวสารแบบยอดนิยมของเจแปนนิส ได้อีกหนึ่งจานแล้ว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point