ฉบับที่ 192 อวสานรถตู้ 2562 ทำจริงหรือแค่ขู่ ???

สลดรับปีใหม่ 2 มกราคม 2560 อุบัติเหตุรถตู้โดยสารประจำทาง สายจันทบุรี-กรุงเทพ คันหมายเลขทะเบียน 15-1352 กรุงเทพมหานคร เสียหลักพุ่งข้ามถนนชนรถยนต์กระบะ คันหมายเลขทะเบียน 1ฒณ 2483 กรุงเทพมหานคร ที่บริเวณทางหลวงสาย 344 กม.26 ตำบลหนองอิรุณ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตที่เกิดเหตุรวม 25 คน และบาดเจ็บ 2 คนเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่ครั้งแรก หากย้อนกลับไปในปี 2559 จะพบว่า มีอุบัติเหตุรถตู้โดยสารไฟไหม้ถึง 4 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวมมากถึง 20 ราย บาดเจ็บรวม 17 รายจากความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงครั้งนี้ นำไปสู่การออกมาตรการเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งสาธารณะของกระทรวงคมนาคมชนิดไม่มีใครตั้งตัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสารประจำทาง กับการปรับเปลี่ยนรถตู้โดยสารสาธารณะหมวด 2 ที่วิ่งให้บริการในเส้นทาง กรุงเทพ - ต่างจังหวัด และหมวด 3 ที่วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัดกับจังหวัด จำนวน 6,341 คัน เป็นรถไมโครบัส เริ่มต้นตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยให้ครบทุกคันภายในปี 2560รวมถึงการออกประกาศเพิ่มเติมของกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ที่ต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถก่อนการตรวจสภาพรถเพื่อต่ออายุทะเบียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ที่บังคับให้รถตู้โดยสารร่วมให้บริการกับ บริษัท ขนส่ง จำกัด ต้องติดตั้ง GPS Tracking ให้ครบถ้วนทุกคันภายใน 31 มีนาคม 2560 ยังไม่รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่รัฐประกาศผ่านสื่อว่าจะจัดการกับปัญหาที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะอย่างเด็ดขาดจริงจังแต่หากยังจำกันได้ ปัญหารถตู้โดยสารไม่ได้เพิ่งจะมาแก้ไขเอาในรัฐบาลชุดนี้ ในอดีตอย่างน้อย 2 รัฐบาล ล้วนเคยพยายามที่จะจัดระเบียบรถตู้โดยสารประจำทางมาแล้ว ปี 2553 ยุคนายโสภณ ซารัมย์ เป็น รมว.คมนาคม ได้ออกนโยบายมุ่งแก้ปัญหารถตู้ผิดกฎหมายด้วยการนำรถตู้ผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบปี 2556 ยุคนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ เป็น รมว.คมนาคม มุ่งเน้นการปราบรถตู้เถื่อน การติดตั้งเข็มขัดนิรภัยและเริ่มแนวคิดการติดตั้ง GPS ในรถโดยสารสาธารณะ ปี 2557 รัฐบาล คสช หันมาจัดระเบียบรถตู้โดยสารประจำทางด้วยการดึงรถตู้ผิดกฎหมายที่มีอยู่จำนวนมากให้เข้าสู่ระบบอีกครั้งจากความพยายามในอดีตจะเห็นได้ว่า การจัดการกับปัญหารถตู้โดยสารทั้งที่ถูกกฎหมายและรถผิดกฎหมายหรือรถผีรถเถื่อนนั้นไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศชัดเจนว่าจะทยอยยกเลิกรถตู้โดยสารประจำทางให้หมดภายในปี 2562 นั้น ยังคงเป็นคำถามที่รอคำตอบว่าจะทำได้แค่ไหนหากดูจากจำนวนปริมาณรถตู้โดยสารทั่วประเทศ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2559 มีรถตู้โดยสารประจำทางที่จดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบกมากถึง 16,002 คัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่มีรถเพียงคันเดียว และไม่มีเงินทุนมากพอที่จะเปลี่ยนรถไมโครบัสที่มีราคาสูงกว่ารถตู้ถึง 2 เท่า โดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือของรัฐ นอกจากนี้หากเจาะลึกลงในธุรกิจรถตู้โดยสารประจำทางก็จะพบว่า มีความเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพล หรือคนในเครื่องแบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการประกาศยกเลิกรถตู้โดยสารประจำทางให้หมดไปภายในปี 2562 จึงไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้จริงแม้ตอนนี้ที่ทุกฝ่ายเหมือนจะยอมรับกันได้แล้วว่า สภาพโครงสร้างของรถตู้โดยสารที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยและไม่เหมาะสมในการนำมารับขนคนโดยสาร ไม่ว่าประตูทางเข้าออกมีทางเดียว ประตูฉุกเฉินด้านหลังใช้ไม่ได้ กระจกมีขนาดเล็ก ติดตั้งถังก๊าซ เพิ่มจำนวนที่นั่ง ฯลฯ ซึ่งการการกำจัดจุดอ่อนอย่างรถตู้โดยสารประจำทางเป็นรถไมโครบัสอย่างเดียวคงไม่ใช่คำตอบด้านความปลอดภัยที่ทุกคนถามหา หากกฎกติกายังมีช่องโหว่ การบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพ ความสูญเสียที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทก็คงจะเกิดขึ้นต่อไปต่อจากนี้คงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องติดตามว่าปัญหารถตู้โดยสารจะหมดไปภายในปี 2562 จริงหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงการขู่ดังๆให้ทุกฝ่ายรู้สึกตัวว่าต่อจากนี้จะเอาจริงแล้วนะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 เช็คปริมาณพลังงานใน “ชีสทาร์ต”

หลายคนคงจะยังจำปรากฏการณ์ “ต่อคิวซื้อ” ของขนม 2 รสชาติที่เคยเขย่าวงการคนชอบทานขนมในเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน ทั้ง “โรตีบอย” ที่เคยฮิตถล่มทลายทั่วบ้านทั่วเมืองเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว แต่ว่าตอนนี้ปิดตัวไปเป็นที่เรียบร้อย หรืออย่าง“โดนัท คริสปี้ ครีม” ที่สร้างกระแสคนรอซื้อต่อแถวยาวเป็นกิโลสมัยที่เพิ่งมาเปิดสาขาในเมืองไทยเมื่อ 6 ปีก่อนมายุคนี้ก็เป็นคิวของ “ชีสทาร์ต” ที่มาสร้างกระแสเป็นขนมหวานยอดฮิตชนิดใหม่ล่าสุด ที่กำลังเป็นที่นิยมของคนชอบรับประทานขนมหวานและคนที่รักชีส ซึ่ง ณ เวลานี้ก็มีชีสทาร์ตหลากหลายแบรนด์ให้ได้ลองเลือกซื้อเลือกชิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านที่อินพอร์ตมาจากต่างประเทศ เพราะว่ากันว่าชีสทาร์ตมีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่น แถมบรรดาร้านเบเกอรี่ชื่อดังหลายๆ เจ้า ก็ผลิตเมนูชีสทาร์ตออกมาต้อนรับกระแส ขอแข่งกับแบรนด์ชีสทาร์ตเจ้าดัง ซึ่งถือเป็นเรื่องดีของคนกินเพราะมีตัวเลือกหลากหลายฉลาดซื้อ ไม่ยอมตกเทรนด์อยู่แล้ว ก่อนหน้านี้เราก็เคยทดสอบดูเรื่องของพลังงานในขนมดังๆ อยู่เสมอ ในเมื่อตอนนี้ ชีสทาร์ต กำลังได้รับความนิยม มีหรือที่ ฉลาดซื้อ จะพลาด โดยครั้งนี้เราจะนำชีสทาร์ตมาวิเคราะห์ดูปริมาณพลังงาน ไขมัน และโซเดียม ซึ่งเป็นสารอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพถ้าได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ไปดูกันสิว่าชีสทาร์ตของแต่ละร้านมีปริมาณมากน้อยแค่ไหนกันบ้างชีสทาร์ต ทำมาจากอะไร?ส่วนประกอบหลักๆ ของชีสทาร์ต แบ่งได้เป็น 2 ส่วน 1.ส่วนของแป้งทาร์ต ส่วนประกอบหลักๆ ก็จะมีแป้งอเนกประสงค์ เนยจืด ไข่แดง น้ำตาลไอซ์ซิ่ง ส่วนที่ 2 ก็คือไส้ที่เป็นครีมชีส จะประกอบด้วย ครีมชีส มาสคาโปเน่ชีส น้ำตาลทราย นมสด วิปปิ้งครีม ไข่ตารางแสดงผลการทดสอบเปรียบเทียบสารอาหารต่างๆ ในชีสทาร์ต***ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งทดสอบเท่านั้น***เก็บตัวอย่างเมื่อเดือน มกราคม 2560ผลทดสอบ-ผลทดสอบปริมาณพลังงานใน ชีสทาร์ต ทั้ง 7 ตัวอย่าง พบค่าเฉลี่ยปริมาณพลังงานต่อชีสทาร์ต 1 ชิ้น อยู่ที่ 239.05 กิโลแคลอรี-โดยตัวอย่างที่พบปริมาณพลังงานเฉลี่ยต่อ 1 ชิ้นสูงที่สุดคือ ตัวอย่างชีสทาร์ตจากร้าน mx cakes & bakery ที่พบปริมาณพลังงานอยู่ที่ 325.55 กิโลแคลอรี หรือประมาณ 16.27% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการใน 1 วัน คือ 2,000 กิโลแคลอรี ซึ่งเหตุพลที่ทำให้พบปริมาณพลังงานในตัวอย่างชีสทาร์ตจากร้าน mx cakes & bakery สูงกว่าตัวอย่างจากร้านอื่นๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะน้ำหนักของชีสทาร์ตต่อชิ้นมากกว่าตัวอย่างจากร้านอื่น-ซึ่งถ้าเทียบในปริมาณของชีสทาร์ตที่ 100 กรัมเท่ากัน ตัวอย่างที่พบปริมาณพลังงานมากที่สุดคือ ตัวอย่างจากร้าน Flavour Field ที่พบปริมาณพลังงานอยู่ที่ 455 กิโลแคลอรีต่อทาร์ตชีส 100 กรัม -ไขมัน ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มาพร้อมกับขนมปังหรือขนมอบ โดยปริมาณไขมันที่เหมาะสบกับร่างกายใน 1 วัน คือไม่เกิน 65 กรัม ซึ่งจากผลวิเคราะห์พบว่าชีสทาร์ตทั้ง 7 ตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยปริมาณไขมันต่อ 100 กรัม อยู่ที่ 25.21 กรัม หรือประมาณ 38% ของปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง-สำหรับปริมาณโซเดียมในชีสทาร์ต พบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 211 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม หรือคิดเป็น 8.7% ของปริมาณที่เหมาะใน 1 วัน คือไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัมฉลาดซื้อแนะนำ-ปริมาณพลังงานเฉลี่ยของชีสทาร์ต 1 ชิ้นที่ 239.05 กิโลแคลอรี ถือว่าใกล้เคียงกับปริมาณของอาหารจานเดียว 1 จานที่ปริมาณ 300 – 600 กิโลแคลอรี เพราะฉะนั้นถึงคุณจะชอบขนมหวาน ชอบชีส หรือชอบชีสทาร์ตมากสักแค่ไหน ก็ต้องหักห้ามใจ รับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะถ้ารวมกับอาหารจานหลักที่เราต้องรับประทานอีก 3 มื้อ เราก็มีโอกาสได้รับพลังงานสูงเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ-เช่นเดียวกับปริมาณไขมันในที่พบในชีสทาร์ต มีพบว่ามี ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 25.21 กรัม ต่อทาร์ตชีส 100 กรัม หรือประมาณ 38% ของปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน ถ้ามองในมุมว่าชีสทาร์ตเป็นเพียงแค่ขนมหวานทานเล่น เพราะต้องไม่ลืมว่าใน 1 วันเราต้องรับประทานอาหารมื้อหลักอีก 3 มื้อ ซึ้งก็มีความเป็นไปได้ว่าเราจะได้ไขมันมากกว่าปริมาณที่เหมาะสมใน 1 วันปริมาณสารอาหารที่เหมาะกับร่างกายใน 1 วัน-พลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี-โปรตีน ตามน้ำหนักตัว กรัม (เช่น น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ควรได้รับโปรตีนต่อวันคือ 50 กรัม)-ไขมันทั้งหมด น้อยกว่า 65 กรัม-กรดไขมันอิ่มตัว น้อยกว่า 20 กรัม-โคเลสเตอรอล น้อยกว่า 300 มิลลิกรัม-คาร์โบไฮเดรต ทั้งหมด 300 กรัม-ใยอาหาร 25 กรัม-โซเดียม น้อยกว่า 2,400 มิลลิกรัม-น้ำตาล น้อยกว่า 24 กรัม (ประมาณ 6 ช้อนชา)ที่มา : ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน สำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI (Thai Recommended Daily Intakes))

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 เช็คปริมาณ แผ่นเช็ดทำความสะอาด แผ่นซับความมัน และ สำลีก้าน

ฉลาดซื้อฉบับที่แล้วเราได้ตรวจสอบเรื่องความถูกต้องของจำนวนกระดาษเช็ดหน้าแบบบรรจุกล่อง ดูว่าปริมาณจริงกับปริมาณที่ระบุข้างกล่องถูกต้องตรงกันหรือไม่ ฉบับนี้เรายังมีภาค 2 ให้ติดตามกันต่อ กับการตรวจสอบความถูกต้องปริมาณสินค้าที่เราได้เปรียบเทียบกับปริมาณที่แจ้งไว้บนของฉลาก กับอีก 3 ผลิตภัณฑ์ใกล้ตัว คือ แผ่นเช็ดทำความสะอาด แผ่นซับความมัน และ สำลีก้าน ไปดูกันซิว่าผู้ผลิตเขาซื่อตรงกับผู้บริโภคอย่างเราหรือเปล่า   วิธีการทดสอบ เราใช้อาสาสมัครฉลาดซื้อ 3 คน ในการตรวจนับทวนตัวอย่างทั้งหมดที่เรานำมาทดสอบ อาสาสมัครทั้ง 3 คน จะนับคนละ 1 ครั้งต่อ 1 ตัวอย่าง เท่ากับว่าแต่ละตัวอย่างจะมีการนับจำนวนทั้งหมด 3 ครั้ง เพื่อเป็นการตรวจทานความถูกต้อง   แผ่นเช็ดทำความสะอาด ตารางแสดงผลการสำรวจจำนวนแผ่นเช็ดทำความสะอาดเปรียบเทียบกับจำนวนที่แจ้งไว้บนบรรจุภัณฑ์  ผลการทดสอบ จากการตรวจนับตัวอย่างแผ่นเช็ดทำความสะอาดจำนวน 6 ตัวอย่างพบว่าทุกตัวอย่างมีจำนวนแผ่นเช็ดทำความสะอาดตรงตามที่แจ้งไว้ในรายละเอียดบนบรรจุภัณฑ์ แถมทุกตัวอย่างที่เรานำมาทดสอบยังให้ปริมาณของแผ่นเช็ดทำความสะอาดมาแบบพอดี๊พอดี บอกว่ามี 80 แผ่นก็ให้มา 80 แผ่น บอกว่า 20 แผ่นก็มี 20 แผ่น ไม่ขาดไม่เกิน ไม่เหมือนกับตัวอย่างแผ่นกระดาษเช็ดหน้าที่ฉลาดซื้อทดสอบเมื่อฉบับที่แล้ว ที่เราพบว่าบางตัวอย่างให้แผ่นกระดาษเช็ดหน้ามาเกินจากที่แจ้งจำนวนไว้บนบรรจุภัณฑ์ ถือว่าเป็นกำไรของผู้บริโภค   ฉลาดซื้อแนะนำ แผ่นเช็ดทำความสะอาด (Cleansing Tissue) หรือ ทิชชูทำความสะอาดแบบเปียก ถือเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องสำอาง มีการใช้สารต่างๆ เป็นส่วนผสม เพราะฉะนั้นการแสดงฉลากจะต้องมีการแจ้งชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิต โดยเรียงลำดับตามปริมาณของสารจากมากไปหาน้อย มีการแสดงวิธีใช้ และข้อควรระวังหรือคำเตือนในการใช้ เช่น ห้ามใช้เช็ดบริเวณรอบดวงตา ผลิตภัณฑ์อาจทำให้เกิดอาการแพ้ในผู้ใช้บางคน หากระคายเคืองควรหยุดใช้ เป็นต้น ที่มา: ประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง เรื่อง ฉลากของเครื่องสำอาง   แผ่นซับความมัน ตารางแสดงผลการสำรวจจำนวนแผ่นซับความมันเปรียบเทียบกับจำนวนที่แจ้งไว้บนบรรจุภัณฑ์ ผลการทดสอบ จากการสุ่มสำรวจตัวอย่างแผ่นซับความมันจำนวน 9 ตัวอย่าง เราพบเรื่องที่น่ายินดีเพราะทุกตัวอย่างที่เราสำรวจ ให้ปริมาณแผ่นซับความมันตรงตามจำนวนที่แจ้งไว้บนบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้เรายังพบว่ามีถึง 4 ตัวอย่างที่แถมแผ่นซับความมันเกินมาจากจำนวนที่แจ้งไว้ ได้แก่ยี่ห้อ แกทส์บี (Gatsby), ยี่ห้อ คลีนแอนด์เคลียร์ (Clean&Clear) และ ยี่ห้อ เมนโธลาทัม แอคเนส์ (Mentholatum  Acnes) ที่เพิ่มแผ่นซับความมันมาให้อีก 1 แผ่นจากจำนวนที่แจ้งไว้ ส่วนยี่ห้อ แพ็ตตี้ ควิกส์ (Pretty Quiks) เพิ่มมาให้อีก 2 แผ่นจากจำนวนที่แจ้งไว้   ฉลาดซื้อแนะนำ -ประโยชน์ของกระดาษหรือฟิล์มซับความมันบนใบหน้า คือการลดความบนใบหน้าเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการเช็ดทำความสะอาดใบหน้า การใช้กระดาษหรือฟิล์มซับความมันบนใบหน้าเช็ดหน้าอาจมีผลเสียต่อผิวหน้า เพราะเนื้อกระดาษหรือฟิล์มซับมันอาจสร้างความระคายเคืองให้กับผิวหน้า -บนบรรจุภัณฑ์ควรมีการแสดงข้อมูลการใช้งานและข้อควรระวัง เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสโดยตรงกับร่างกายของเรา แต่จากตัวอย่างที่เราสุ่มสำรวจพบว่ามีหลายยี่ห้อที่ไม่การแจ้งข้อมูลดังกล่าว ส่วนมากเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ แล้วนำรายละเอียดภาษาไทยอย่าง ชื่อสินค้า ที่อยู่ผู้ผลิต ผู้นำเข้ามา แปะทับ   สำลีก้าน ตารางแสดงผลการสำรวจจำนวนสำลีก้านเปรียบเทียบกับจำนวนที่แจ้งไว้บนบรรจุภัณฑ์ ผลการทดสอบ จากการสุ่มทดสอบตัวอย่างสำลีก้านจำนวน 7 ตัวอย่าง เราพบว่ามี 2 ตัวอย่าง ที่ให้ปริมาณสำลีก้านน้อยกว่าที่ได้แจ้งไว้บนบรรจุภัณฑ์ คือยี่ห้อ บิ๊กซี (Big C) และยี่ห้อ วี-แคร์ (V-Care) ซึ่งแจ้งไว้บนบรรจุภัณฑ์ว่ามีจำนวน 100 ชิ้น แต่จากการทดสอบเราพบว่ามีจำนวนก้านสำลีอยู่ 98 ชิ้น สำหรับยี่ห้อ บิ๊กซี (Big C) และ 99 ชิ้น สำหรับยี่ห้อ วี-แคร์  (V-Care) ส่วนอีก 5 ตัวอย่างที่เหลือจำนวนที่ทดสอบนับได้ตรงตามจำนวนที่แจ้งไว้บนบรรจุภัณฑ์   ฉลาดซื้อแนะนำ -ผลิตภัณฑ์สำลีก้านที่ดี ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ หัวสำลีต้องเป็นสีขาว พันเรียบมิดปลายก้านโดยไม่มีสิ่งแปลกปลอมปะปน ก้านตรง แข็งแรง ไม่หักง่าย ปลายทู่ ผิวของวัสดุไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ -การแสดงข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์ ต้องแสดงชื่อสินค้า ที่อยู่ผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต จำนวนบรรจุ วิธีการใช้ ที่สำคัญคือ คำเตือนในการใช้ผลิตภัณฑ์ -จำนวนสำลีพันก้านในแต่ละภาชนะบรรจุต้องมีไม่น้อยกว่าที่ระบุไว้ที่ฉลาก -สำลีก้านที่ซื้อมาต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท ป้องกันสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคปนเปื้อน ที่มา : ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำลีพันก้าน ฉบับที่ 3828 (พ.ศ. 2551)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 ซอสหอยนางรม ปริมาณหอยนางรมและโซเดียม

ซอสหอยนางรมหรือน้ำมันหอย ถือเป็นเครื่องปรุงรสคู่ครัวไทยมานาน เพราะเชื่อว่าช่วยทำให้อาหารอร่อย รสชาติกลมกล่อมยิ่งขึ้น และมีประโยชน์ต่อร่างกายด้วยโปรตีนจากหอยนางรม โดยอาหารยอดนิยมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวผัด คะน้าหมูกรอบ ผัดผักหรือหมูปิ้ง ส่วนใหญ่มักใช้ซอสหอยนางรมเป็นส่วนหนึ่งของการปรุงรส อย่างไรก็ตามปัจจุบันซอสหอยนางรมมีมากมายหลายยี่ห้อและมีราคาแตกต่างกัน ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนไม่แน่ใจว่าควรตัดสินใจเลือกซื้ออย่างไรดี ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอเปรียบเทียบปริมาณหอยนางรม และโซเดียม รวมทั้งโปรตีนในซอสหอยนางรมจาก 23 ยี่ห้อยอดนิยมโดยดูจากฉลากข้างขวด ผลจะเป็นอย่างไรเราลองมาดูกัน         ตารางผลทดสอบ 2 ปริมาณโซเดียม ทดสอบด้วยการดูจากฉลากโภชนาการ และเรียงลำดับจากยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุด ไปยังยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด เมื่อเทียบต่อหนึ่งหน่วยบริโภค(หนึ่งหน่วยบริโภคประมาณ 15-17 กรัม) หมายเหตุ มีเพียง 13 ยี่ห้อที่มีฉลากโภชนาการ   สรุปผลทดสอบ จากซอสหอยนางรม 23 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบพบว่า 1. ซอสหอยนางรม 23 ตัวอย่าง ทุกยี่ห้อระบุว่ามีหอยนางรมเป็นส่วนประกอบ โดยยี่ห้อที่มีปริมาณหอยนางรมเป็นส่วนประกอบมากที่สุดคือ ลี่กุมกี่ (โอลด์แบรนด์) 55% ต่อน้ำหนัก 255 กรัม และยี่ห้อที่มีปริมาณหอยนางรมเป็นส่วนประกอบน้อยที่สุดคือ โฮม เฟรช มาร์ท 9% ต่อน้ำหนัก 770 กรัม2. จากการเปรียบเทียบฉลากโภชนาการ 13 ยี่ห้อ ยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคน้อยที่สุดคือ เทสโก้ เอฟเวอรี่ เดย์ แวลู 240 มก. ต่อน้ำหนัก 675 กรัม และยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคมากที่สุดคือ นกแพนกวินสามตัว 1,110 มก. ต่อน้ำหนัก 700 มล.3. จากการเปรียบเทียบฉลากโภชนาการ 13 ยี่ห้อ มีเพียงยี่ห้อเดียวที่ฉลากโภชนาการระบุว่ามีโปรตีนคือ ยี่ห้อ ไก่แจ้ มีปริมาณโปรตีน 2 กรัม 4. มี 10 ยี่ห้อที่ไม่มีฉลากโภชนาการ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบปริมาณโปรตีนหรือโซเดียมได้ ได้แก่ ยี่ห้อ 1.แฮปปี้บาท 2.เด็กสมบูรณ์ (สูตรดั้งเดิม) 3.พันท้ายนรสิงห์ 4.เด็กสมบูรณ์(สูตรเข้มข้น) 5.ป้ายทอง 6. ลี่กุมกี่ แพนด้า 7.ลี่กุมกี่ ชอยซัน 8.เอช แอนด์ เอ็ม 9.ลี่กุมกี่ (โอลด์แบรนด์) และ 10.ท็อปเกรดออยสเตอร์ซอสข้อสังเกต 1. ปริมาณโซเดียมในซอสหอยนางรมโซเดียมในอาหารส่วนใหญ่อยู่ในรูปของโซเดียมคลอไรด์ หรือเกลือแกงที่ใช้ปรุงแต่งรสชาติอาหาร ให้มีรสเค็มและใช้ในกระบวนการถนอมอาหาร อย่างไรก็ตามนอกจากการใช้เกลือในรูปของเกลือแล้ว เกลือยังมีอยู่มากในเครื่องปรุงรสต่างๆ ที่ใช้ในการปรุงอาหารให้มีรสชาติเค็ม เช่น นํ้าปลา ซีอิ๊ว หรือซอสปรุงรสต่างๆ ซึ่งในซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ จะมีปริมาณโซเดียม 450-610 มก. หรือเฉลี่ยที่ 518 มก. แต่จากผลทดสอบจะเห็นได้ว่าบางยี่ห้อมีปริมาณโซเดียมสูงกว่าค่าเฉลี่ย หรือมากทีสุดอยู่ที่ 1,110 มก./1 ช้อนโต๊ะ การบริโภคโซเดียมที่มากเกินไป หรือตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดให้ไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือคิดเป็นเกลือป่นประมาณ 6 กรัม(1 ช้อนชา)ต่อวัน โดยสำหรับผู้ที่ต้องจำกัดปริมาณโซเดียมควรบริโภคไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน หลอดเลือดสมองแตก รวมทั้งไตวายได้ 2. ปริมาณโปรตีนในซอสหอยนางรมแม้ตามมาตรฐานของมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนในอาหารประเภทซอสหอยนางรม ไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานปริมาณโปรตีนไว้ แต่หอยนางรมก็เป็นอาหารทะเลที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งของกรดอะมิโนที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตและช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อย่างไรก็ตามเมื่อนำมาแปรรูปเป็นซอสหอยนางรม กลับพบว่ามีเพียงยี่ห้อเดียวที่พบปริมาณโปรตีนในฉลากโภชนาการ --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------เกร็ดเล็กๆ ของซอสหอยซอสหอยนางรม คือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำเนื้อหอยนางรมมาบดให้ละเอียดแล้วทำให้สุก หรือใช้หอยนางรมสกัดหรือใช้หอยนางรมย่อยสลาย มาผสมกับเครื่องปรุงรสเช่น ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว น้ำตาลและส่วนประกอบอื่น เช่น แป้งดัดแปร ต้มให้เดือด บรรจุในภาชนะบรรจุขณะร้อน แล้วทำให้เย็นทันทีแนะวิธีเลือกซื้อซอสหอยนางรมนอกจากเราจะสามารถเลือกซื้อหอยนางรม โดยดูจากปริมาณหอย โปรตีน หรือโซเดียมได้แล้ว ยังสามารถพิจารณาได้จากยี่ห้อที่ภาชนะบรรจุสะอาด มีฝาปิดสนิท มีสีน้ำตาลสม่ำเสมอ หรือมีฉลากภาษาไทย ซึ่งควรมีรายละเอียดดังนี้ ชื่อผลิตภัณฑ์, ส่วนประกอบ, น้ำหนักสุทธิ หรือปริมาตรสุทธิ, วัน/เดือน/ปีที่หมดอายุคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีใช้และการเก็บรักษา รวมทั้งชื่อผู้ผลิตและสถานที่ตั้งข้อมูลอ้างอิง 1.http://www.si.mahidol.ac.th/th/division/diabetes/admin/knowledges_files/8_44_1.pdf      2. http://www.thaihypertension.org/files/237_1.LowSalt.pdf  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 180 สารกันบูดในขนมจีน

“ขนมจีน” อาหารยอดนิยมของคนเกือบทุกภาค เป็นอาหารที่รับประทานสะดวก มีคุณค่าทางสารอาหารจากผักเคียงและมีหลายเมนูให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็นขนมจีนน้ำยากะทิของคนภาคกลาง ขนมจีนน้ำเงี้ยวของภาคเหนือ ขนมจีนราดแกงไตปลาของคนใต้ หรือขนมจีนในต่ำซั่วของคนอีสาน ซึ่งนอกจากจะอร่อยถูกปากแล้ว บางส่วนยังมีความเชื่อว่าการนำขนมจีนเลี้ยงพระในงานมงคล เช่น งานแต่งงาน จะทำให้ชีวิตคู่อยู่ยืนนานเหมือนเส้นขนมจีนอีกด้วย อย่างไรก็ตามในทุกครั้งที่เรากำลังเพลิดเพลินกับขนมจีนที่เอร็ดอร่อยนั้น รู้หรือไม่ว่าส่วนใหญ่แล้วเราได้รับประทาน “สารกันบูด” เข้าไปด้วย ซึ่งหากเรารับประทานสารดังกล่าวมากเกินไปจนทำให้เกิดการสะสมในร่างกาย อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตลดลง หรืออาจส่งผลถึงขั้นพิการได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงออกประกาศ (ฉบับที่ 281 พ.ศ. 2547) เรื่อง ค่ามาตรฐานของสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากลของโคเด็กซ์ (CODEX) สำหรับอาหารจำพวกพาสตา ก๋วยเตี๋ยว และผลิตภัณฑ์ทำนองเดียวกันว่า ต้องมีปริมาณ ไม่เกิน 1,000 มก./กก. ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปทดสอบสารกันบูด(เบนโซอิก) ตกค้างในขนมจีนทั้งหมด 12 ยี่ห้อจากแหล่งซื้อต่างๆ ว่ามีมากน้อยแค่ไหนกัน ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรเราไปดูกันเลย   ผลทดสอบผ่านเกณฑ์ค่ามาตรฐาน                       ไม่ผ่านเกณฑ์ค่ามาตรฐาน    *ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจ เก็บตัวอย่างเดือนมกราคม 2559สรุปผลการทดสอบจากตัวอย่างเส้นขนมจีนที่นำมาทดสอบทั้งหมดพบว่า ทุกยี่ห้อมีการปนเปื้อนของสารกันบูด - 2 ยี่ห้อที่มีปริมาณสารกันบูดตกค้างมากที่สุด และเกินกว่าปริมาณสูงสุดที่ อย . กำหนดไว้คือ ขนมจีนตราดาว จากตลาดยิ่งเจริญสะพานใหม่ จำนวน 1,121.37 มก./กก. รองลงมาคือ ไม่มียี่ห้อ จากตลาดสะพานขาวจำนวน 1,115.32 มก./กก.- ยี่ห้อที่มีปริมาณสารกันบูดตกค้างน้อยที่สุดคือ ขนมจีนจาก ตลาดพระประแดง จำนวน 147.43 มก./กก. เทคนิคการหลีกเลี่ยงสารกันบูดตกค้างในร่างกาย แม้กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) หรือสารกันบูดที่ใส่ในขนมจีน จะมีประโยชน์ในการช่วยยืดอายุของอาหาร ด้วยการยับยั้งหรือทำลายจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสีย และถูกจัดอยู่ในประเภทพิษปานกลาง ซึ่งร่างกายสามารถขจัดออกมาได้เอง แต่ก็สามารถส่งผลอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการตกค้างหรือสะสมในร่างกายมากเกินไปดังที่กล่าวไปข้างต้น เราจึงควรระมัดระวังในการรับประทาน ดังนี้ - บริโภคอาหารให้หลากหลายชนิดหมุนเวียนกัน เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมสารพิษตกค้างในร่างกาย โดยควรทำอาหารรับประทานเองบ้าง เพื่อให้แน่ใจว่าวัตถุดิบที่นำมาปรุงมีความสดใหม่ หรือปลอดภัยจากสารเคมี- เลือกซื้ออาหารที่ระบุ ว/ด/ป ที่ผลิต-หมดอายุ และมี อย เพื่อให้มั่นใจว่าอาหารดังกล่าวไม่ได้ใส่สารกันบูดมากเกินกว่าที่กำหนดไว้- หลีกเลี่ยงอาหารปรุงสำเร็จ หรืออาหารพร้อมบริโภคบรรจุกล่อง เพราะอาหารเหล่านี้หากไม่บรรจุในภาชนะปิดสนิท หรือต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิที่กำหนดไว้ อาจมีสารกันบูดเจือปนในปริมาณมาก- นอกจากขนมจีนแล้วก็ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่นิยมใส่สารกันบูด เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว ผลไม้แช่อิ่ม หรือน้ำผลไม้ ซึ่ง อย . ก็ได้กำหนดค่ามาตรฐานไว้ต่างกัน เราจึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคในปริมาณมากติดต่อเป็นเวลานานข้อมูลอ้างอิง: http://iodinethailand.fda.moph.go.th/food/data/news/2556/560902/Update%20Food%20Additives.pdf กรดเบนโซอิก (Benzoic acid)กรดเบนโซอิก (benzoic acid) เป็นสารเคมีที่นิยมใช้เป็นวัตถุกันเสียในอุตสาหกรรมอาหารอย่างแพร่หลาย เป็นสารที่พบได้ในธรรมชาติ ได้แก่ ลูกพรุน, อบเชย, แอปเปิล, กานพลู และมะกอกสุก เป็นต้น โดยมีจำหน่ายในท้องตลาดในรูปผงผลึกสีขาวหรือเป็นเกล็ด มักใช้ร่วมกับกรดซอร์บิก และพาราเบนส์สำหรับเป็นวัตถุกันเสีย กรดเบนโซอิก และเกลือเบนโซเอตจะต้านเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีในสภาวะเป็นกรดที่ต่ำกว่า 4.5 ดังนั้น อาหารที่ใช้กรดเบนโซอิก และเกลือเบนโซเอตเพื่อช่วยยืดอายุการเก็บ จึงควรเป็นอาหารที่มีความเป็นกรด สูง เช่น เครื่องดื่มชนิดต่างๆ น้ำผลไม้ แยม เยลลี ผักดอง ผลไม้ดอง น้ำสลัด ฟรุตสลัด และเนยเทียม เป็นต้น ปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัมอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 84

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 พลังงานที่ซ่อนอยู่ในแซนวิชแฮมชีส

ลองคิดกันดูเล่นๆ ว่าในเวลาที่เราเร่งรีบและหิวไปพร้อมๆ กัน อาหารอะไรจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด ไม่แน่ว่าเมนูที่มาแรงเป็นอันดับแรกอาจจะหนีไม่พ้น “แซนวิช” อาหารหลักของคนอังกฤษ ที่ได้แพร่หลายความนิยมมาสู่คนไทยในวงกว้าง เพราะเป็นอาหารที่รับประทานได้อย่างสะดวก (ขนมปังประกบกัน สอดไส้ด้วยเนื้อสัตว์ที่ชอบ ราดซอสที่ต้องการก็เสร็จ) แถมยังอยู่ท้องอีกด้วย อย่างไรก็ตามด้วยขนาดเล็กกะทัดรัดของแซนวิช จึงอาจทำให้ใครหลายคนคิดไปว่าอาหารชนิดนี้มีพลังงานน้อย เป็นแค่อาหารว่างแคลอรีต่ำ ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปพิสูจน์กันว่า จริงๆ แล้วแซนวิชมีปริมาณไขมันและพลังงานมากน้อยแค่ไหน โดยจะขอเลือกแซนวิชไส้แฮมชีส ซึ่งเป็นไส้ที่ถูกปากคนส่วนใหญ่มากที่สุดมาทดสอบจำนวน 13 ยี่ห้อสรุปผลการทดสอบ- จากตัวอย่างที่นำมาทดสอบ แซนวิสไส้แฮมชีสที่มีค่าพลังงานมากที่สุด(ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค) คือยี่ห้อ Bread Talk 395 กิโลแคลอรี เพราะเป็นขนมปังชุบไข่ รองลงมาคือยี่ห้อ S&P 316 กิโลแคลอรี และแซนวิชไส้แฮมชีสที่มีค่าพลังงานน้อยที่สุดคือยี่ห้อ Victory 110 กิโลแคลอรี - สำหรับตัวอย่างแซนวิชไส้แฮมชีสที่มีปริมาณไขมันมากที่สุด(ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค)คือ ยี่ห้อ Flavor Field 17 กรัม และปริมาณไขมันน้อยที่สุดคือ ยี่ห้อ Puff & Pie และ UFM ที่มีค่าไขมัน 5 กรัมเท่ากัน- มีแซนวิชไส้แฮมชีส 7 ตัวอย่างที่มีปริมาณพลังงานมากกว่าการรับประทานข้าวสวย 1 จานหรือมากกว่า 240 กิโลแคลอรี แสดงให้เห็นว่าบางครั้งการรับประทาน แซนวิชก็ไม่สามารถเป็นอาหารว่างมื้อเบาๆ แคลอรีต่ำได้       ตามหลักโภชนาการปริมาณพลังงานที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน ไม่ควรเกิน 2,000 กิโลแคลอรี และสำหรับของว่างหรืออาหารว่างควรมีค่าพลังงานไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ร่างกายต้องการหรือประมาณ 150-200 กิโลแคลอรี โดยปริมาณพลังงานที่เกินความจำเป็นของร่างกายจะถูกสะสมกลายเป็นไขมัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วนและโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ ความดัน เบาหวานสูตรคำนวณพลังงานที่น้อยที่สุดร่างกายต้องการในแต่ละวัน หรือในกรณีที่ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย สามารถคำนวณได้ดังนี้BMR สำหรับผู้ชาย = 66 + (13.7 x น้ำหนักตัว (กิโลกรัม))+(5 x ส่วนสูง (เซนติเมตร))-(6.8 x อายุ)BMR สำหรับผู้หญิง = 665 + (9.6 x น้ำหนักตัว (กิโลกรัม))+(1.8 x ส่วนสูง (เซนติเมตร))-(4.7 x อายุ)เช่น สมมติให้ ก เป็นผู้หญิง อายุ 22 ปี ส่วนสูง 155 ซม. น้ำหนัก 45 กก. BMR จะเท่ากับ 665+(9.6 x 45)+(1.8 x 155)-(4.7 x 22) = 1,273 กิโลแคลอรี**สูตรคำนวณ Basal Metabolic Rate (BMR) ของ Harris Benedict Formula ในกรณีที่วันนั้นเราไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย-----------------------------------------------------------------แซนวิชมาจากไหนจากหนังสือตำนานอาหารโลก คำว่า แซนวิช มีที่มาจากการตั้งตามชื่อของ จอห์น มอนทากิว (John Montague 1781-1792) หรือ เอิร์ลแห่งแซนวิชที่ 4 (4th Earl of Sandwich) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกองทัพเรืออังกฤษและมีนิสัยชอบเล่นการพนัน โดยเขาได้คิดค้นรูปแบบของอาหารชนิดนี้ขึ้นมา ด้วยการนำเนื้อประกบขนมปัง 2 แผ่น เพื่อให้นิ้วของเขาไม่มันจนเกิดตำหนิบนไพ่ให้คู่แข่งเดารูปแบบการเล่นได้ ซึ่งไม่นานอาหารดังกล่าวก็ได้รับความนิยมตามโต๊ะพนันของอังกฤษจนแพร่หลาย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวอังกฤษอย่างรวดเร็วแม้แซนวิชจะอยู่ท้องแต่มีสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับต่อวันน้อยไปหน่อย เพราะส่วนมากมักประกอบด้วยแป้งและไขมัน จึงควรเพิ่มสารอาหารด้วยการเติมผักที่ชอบเช่น ผักสลัด ผักกาดหอม มะเขือเทศ และควรเลือกแซนวิชที่ใช้ขนมปังโฮลวีท (Whole wheat bread) เพราะมีสารอาหารและใยอาหารมากกว่าขนมปังขัดขาว  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 169 “ไอศกรีม” เช็คปริมาณ “สี” และ “สารกันบูด"

ฉลาดซื้อขอต้อนรับหน้าร้อน ด้วยผลทดสอบที่จะทำให้ทุกคนเย็นชุ่มฉ่ำชื่นใจ กับผลทดสอบ “ไอศกรีม” เมนูโปรดของหลายๆ คน ฉลาดซื้อจะมาพิสูจน์ดูว่าไอศกรีมที่วางขายมากมายหลากหลายยี่ห้อในบ้านเรามีการใช้ “สี” และ “สารกันบูด” มากน้อยแค่ไหน เราเลือกสุ่มสำรวจไอศกรีมจำนวน 14 ยี่ห้อ โดยเลือก 1 ในไอศกรีมรสชาติยอดฮิตตลอดกาลอย่างรส “ช็อกโกแลต” ไปดูกันสิว่าไอศกรีมรสช็อกโกแลตยี่ห้อดังๆ มีการใช้สีและสารกันบูดหรือเปล่า                         สรุปผลการทดสอบ   -ไอศกรีมรสช็อกโกแลตทั้ง 14 ตัวอย่าง ไม่พบสารกันบูด -มีไอศกรีมรสช็อกโกแลต 3 ตัวอย่างที่พบการใช้สีสังเคราะห์ คือ 1.Walls 3 in 1 ทริปเปิล ช็อกโกแลต, 2.Melt Me Hokkaido Chocolate & Healthy Gelato และ 3. F & N Magnolia Double Choc ซึ่งปริมาณสีสังเคราะห์ที่พบอยู่ในเกณฑ์ตามมาตรฐาน สีผสมอาหารที่ใช้ก็เป็นสีที่ได้รับการอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข แฟนฉลาดที่รักการกินไอศกรีม ก็ยังคงกินกันได้อย่างสบายใจ ปลอดภัย ไร้ปัญหา -          ข้อสังเกต สีสังเคระห์ที่พบในการทดสอบครั้งนี้มีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ สีในกลุ่มสีแดง คือ เออริโธรซีน (Erythrosine E127) และ คาร์โมอีซีนหรือเอโซรูบีน (Carmoisine or Azorubine E122) สีในกลุ่มสีเหลือง คือ ซันเซต เยลโลว์ เอฟซีเอฟ (Sunset yellow FCF E110) และ ตาร์ตราซีน (Tartazine E102) สุดท้ายคือสีในกลุ่มสีน้ำเงิน คือ บริลเลียนต์บลู เอฟซีเอฟ (Brillian blue FCF E133) ซึ่งตัวอย่างไอศกรีมที่พบปริมาณสีมากที่สุดในการทดสอบครั้งนี้คือ Walls 3 in 1 ทริปเปิล ช็อกโกแลต พบว่ามีใช้สี 3 ชนิดจากสีถึง 3 กลุ่ม ขณะที่อีก 2 ตัวอย่างที่พบการใช้สีสังเคราะห์ พบว่าใช่แค่ตัวอย่างละ 1 ชนิดสีเท่านั้น         “ไอศกรีม” ที่ดีต้องเป็นแบบไหน? หลายคนอาจยังไม่รู้ ว่า “ไอศกรีม” ถือเป็นอาหารที่มีการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งไอศกรีมที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ -ไอศกรีมนม ต้องมีมันเนยเป็นส่วนผสมไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของน้ำหนัก และมีธาตุน้ำนม ไม่รวมมันเนยไม่น้อยกว่าร้อยละ 7.5 ของน้ำหนัก - ไอศกรีมดัดแปลง ต้องมีไขมันทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของน้ำหนัก -ไม่มีกลิ่นหืน -ใช้วัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลหรือใช้ร่วมกับน้ำตาล โดยวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ใช้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานอาหารที่ อย. รับรอง -ใส่วัตถุแต่งกลิ่น รส และสีได้ -ไม่มีวัตถุกันเสีย -มีแบคทีเรีย (Bacteria) ได้ไม่เกิน 600,000 ต่ออาหาร 1 กรัม -ต้องตรวจไม่พบมีแบคทีเรีย ชนิด อี.โคไล (Escherichia coli) -ไม่มีสารเป็นพิษจากจุลินทรีย์ในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่พบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่มา : ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 354) พ.ศ. 2556 เรื่อง ไอศกรีม   --------------------------------------------------------------- เมื่อปี 2550 ที่ประเทศอังกฤษ กลุ่มนักวิชาการได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกข้อบังคับกับผู้ผลิตอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารเด็ก ขนมหวาน เครื่องดื่ม  ให้ยกเลิกการใช้สีสังเคราะห์ 6 ชนิด ได้แก่ ซันเซต เยลโลว์ เอฟซีเอฟ (Sunset yellow FCF E110), ตาร์ตราซีน (Tartazine E1022), ปองโซ 4 อาร์ (Ponceau 4 R), ควิโนลีนเยลโลว์ (Quinoline Yellow E104), คาร์โมอีซีน (Carmoisine E122) และ อัลลูราเรด Allura red (E129) เนื่องจากมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าสารจากสีสังเคราะห์เหล่านี้ส่งผลให้เด็กป่วยด้วยโรคสมาธิสั้น นอกจากนี้สีสั้งเคระห์เหล่านี้ไม่มีความจำเป็นต่อการนำมาเป็นส่วนประกอบในอาหาร เพราะไม่ได้เพิ่มคุณค่าทางอาหาร มีแต่จะสร้างผลเสียต่อสุขภาพเท่านั้น ซึ่งการออกมาเรียกร้องครั้งนี้แม้ทางภาครัฐจะยังไม่ได้มีการรับรองอย่างเป็นทางการแต่ก็สามารถทำให้เกิดการตื่นตัวของทั้งผู้บริโภค พ่อ-แม่ผู้ปกครอง รวมถึงบริษัทผู้ผลิตอาหารทั้งในอังกฤษเอง ประเทศในยุโรปประเทศอื่นๆ และอเมริกา ก็เริ่มปรับปรุงสูตรผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้มีการใช้สังเคราะห์อาหารลดลง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 คาปูชิโนเย็นร้านไหน? ให้พลังงานสูง!!!

คอกาแฟหลายๆ คนคงจะเคยได้ยินคำเตือน เรื่องที่ว่าดื่มกาแฟแล้วทำให้อ้วน โดยเฉพาะกาแฟเย็น หลายคนเข้าใจได้ว่ากาแฟเย็น 1 แก้ว ใส่ทั้งนม น้ำเชื่อม น้ำตาล แต่ถ้านั้นยังไม่ช่วยให้คำตอบเรื่องดื่มกาแฟแล้วอ้วน ส่งผลเสียทำลายสุขภาพของหลายๆ คนคลี่คลาย ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพิสูจน์ปริมาณพลังงานที่ได้รับจากการดื่มกาแฟเย็น โดยเราเลือกสำรวจกาแฟประเภท “คาปูชิโนเย็น” ซึ่งถือเป็น 1 ในกาแฟยอดนิยมและหาทานได้ทุกร้านกาแฟ โดยเราได้สุ่มตัวอย่างจากร้านกาแฟชื่อดังระดับพรีเมี่ยม 10 ตัวอย่าง และอีก 1 ตัวอย่างจากร้านกาแฟขนาดเล็ก               ผลการทดสอบ -ผลทดสอบที่ได้คิดเป็นเป็นค่าเฉลี่ยปริมาณพลังงานต่อปริมาณกาแฟ 100 มิลลิลิตร -ตัวอย่างกาแฟคาปูชิโนเย็นที่พบค่าพลังงานสูงที่สุดคือ กาแฟจากร้าน คอฟฟี่ ทูเดย์ ซึ่งพบปริมาณพลังงานอยู่ที่ 183 กิโลแคลอรีต่อกาแฟ 100 มิลลิลิตร ซึ่งจากตัวอย่างที่เรานำมาทดสอบพบว่า กาแฟคาปูชิโนเย็นจากร้านคอฟฟี่ ทูเดย์ 1 แก้วมีปริมาณกาแฟอยู่ที่ประมาณ 290 มิลลิลิตร (ไม่รวมน้ำแข็ง) นั่นเท่ากับว่ากาแฟคาปูชิโนเย็นจากร้านคอฟฟี่ ทูเดย์ 1 แก้ว ราคา 50 บาท จะให้ค่าพลังงานเท่ากับ 530.7 กิโลแคลอรี -อีกตัวอย่างที่พบปริมาณพลังงานค่อนข้างสูงคือ ตัวอย่างกาแฟอนันต์ ที่พบค่าพลังงานอยู่ที่ 163 กิโลแคลอรีต่อปริมาณกาแฟ 100 มิลลิลิตร ซึ่งปริมาณกาแฟคาปูชิโนเย็นของร้านกาแฟอนันต์ 1 แก้ว ราคา 35 บาท อยู่ที่ประมาณ 160 มิลลิลิตร ปริมาณพลังงานจึงเท่ากับ 260.8 กิโลแคลอรี -เมื่อดูข้อมูลจากแผนภาพแสดงปริมาณพลังงานในกาแฟคาปูชิโนจากตัวอย่างทั้งหมดที่เราทดสอบ พบว่าจากทั้ง 11 ตัวอย่าง มีค่าพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 122.9 ต่อปริมาณกาแฟ 100 มิลลิลิตร หากคิดเป็นปริมาณกาแฟคาปูชิโนเย็น 1 แก้วที่น้ำหนัก 300 มิลลิลิตร (ไม่รวมน้ำแข็ง) ปริมาณพลังงานที่ได้จะอยู่ที่ 368.7 กิโลแคลอรี   เรื่องน่ารู้ พลังงานกับคาปูฯ เย็น -ปริมาณพลังงานที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน คือไม่เกิน 2,000 กิโลแคลอรี -ตามหลักโภชนาการแล้วของว่างหรืออาหารว่างควรมีพลังงานไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ร่างกายต้องการสำหรับผู้ใหญ่ หรือประมาณ 150-200 กิโลแคลอรี -ปริมาณกาแฟคาปูชิโนเย็น 1 แก้ว ให้ปริมาณพลังงานที่ค่อนข้างสูง แถมหลายคนที่นิยมดื่มกาแฟร่วมกับของทานเล่นอื่นๆ เช่น คุกกี้ ขนมเค้ก โอกาสที่ร่างกายจะได้รับพลังงานเกินความต้องการก็ยิ่งมีสูง -ปริมาณพลังงานที่เกนความจำเป็นของร่างกายจะถูกสะสมกลายเป็นไขมัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วน และโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น หัวใจ ความดัน ฯลฯ -การหลีกเลี่ยงการได้รับปริมาณพลังงานสูงเกินความต้องการจากการดื่มกาแฟคาปูชิโน มีวิธีง่ายๆ คือเลือกสั่งแบบที่ไม่ใส่น้ำตาลหรือน้ำเชื่อม ส่วนนมถ้าเลือกได้ก็เลือกชนิดที่เป็นสูตรพร่องมันเนย หรือชนิดไขมัน 0% ซึ่งถ้าดูจากผลแผนภาพแสดงปริมาณพลังงานในกาแฟคาปูชิโนจากตัวอย่างทั้งหมดที่เราทดสอบ จะเห็นว่าตัวอย่างที่พบปริมาณน้อยที่สุด 2 อันดับแรก คือ สตาร์บัคที่พบค่าพลังงาน 53 กิโลแคลอรี และ ทรู คอฟฟี ที่พบพลังงาน 79 กิโลแคลอรี จากปริมาณกาแฟ 100 มิลลิลิตร ซึ่งปริมาณค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับตัวอย่างอื่นๆ นั้นเป็นเพราะตัวอย่างกาแฟคาปูชิโนจากทั้ง 2 ร้าน ไม่มีการใส่น้ำตาลหรือน้ำเชื่อม แต่จะให้ลูกค้าที่ซื้อเลือกเติมเองทีหลัง จะใส่มากใส่น้อยหรือจะไม่เติมเลยก็ได้ ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ดีที่ช่วยให้เราลดปริมาณพลังงานจากการดื่มกาแฟคาปูชิโนเย็นได้   คอกาแฟควรรู้ -กาแฟเย็น 1 แก้ว มีขนาดบรรจุประมาณ 13 – 20 ออนซ์ หรือ 400 – 600 มิลลิลิตร ให้พลังงานอยู่ที่ 97 – 400 กิโลแคลอรี, ไขมัน 0.4 – 22.1 กรัม, โปรตีน 0.6 – 10.9 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 19.4 – 49.4 กรัม, น้ำตาล 11 – 38 กรัม -มอคค่า เป็นกาแฟที่ให้ปริมาณพลังงานสูงที่สุด เมื่อเทียบกับ คาปูชิโน และ ลาเต้ -กาแฟอเมริกาโน มีพลังงานน้อยที่สุด คือประมาณ 97 กิโลแคลอรีต่อแก้วขนาด 13 ออนซ์ -พลังงานที่ได้จากกาแฟเย็น 1 แก้ว ส่วนใหญ่เป็นพลังงานที่ได้จาก ไขมัน และ น้ำตาล -กาแฟที่นิยมดื่มในปัจจุบัน มีอยู่ 2 สายพันธ์ คือ อาราบิก้า และ โรบัสต้า   -อาราบิก้า มีปริมาณคาเฟอีน ร้อยละ 0.75-1.70 ส่วน โรบัสต้ามีปริมาณคาเฟอีนร้อยละ 2.0 - 4.5 -ประเทศไทยเรามีการปลูกกาแฟทั้ง อาราบิก้า และ โรบัสต้า แต่อาราบิก้า ได้รับความนิยมมากกว่า โดยปลูกมากทางภาคเหนือ ซึ่งถือเป็นกาแฟที่ดี ได้รับความนิยม ไมว่าจะเป็น กาแฟดอยช้าง ดอยวารี ที่จังหวัดเชียงรายและ ดอยขุนวาง ที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนโรบัสต้า นิยมปลูกในภาคใต้ เช่นที่จังหวัด ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช ยะลา สุราษฎร์ธานี เอสเปรสโซ่ (espresso) เป็นกาแฟที่เข้มข้นที่สุด ชงผ่านเครื่อง เอสเปรสโซ่ โดยใช้แรงน้าดันผ่านเนื้อกาแฟบด เอสเปรสโซ่ เป็นจุดเริ่มต้นของกาแฟสูตรอื่นๆไม่ว่าจะชงกาแฟสูตรใด ก็ต้องมีกาแฟเอสเปรสโซ่เป็นกาแฟพื้นฐานก่อน คาร์ปูชิโน่ (Cappuccino) เป็นการผสมผสานระหว่างกาแฟเอสเปรสโซ่ นมร้อน และฟองนม ในปริมาณเฉลี่ยที่เท่ากันทั้ง 3 ส่วนผสม คาปูชิโนมีสัดส่วนพลังงานของ ไขมัน : คาร์โบไฮเดรต : โปรตีน ร้อยละ 32:63:7 คาเฟ่ ลาเต้ (Caffe Latte) เป็นกาแฟผสมนมที่มีรสและกลิ่นกาแฟน้อยที่สุด โดยเน้นที่นมร้อนมากกว่าปริมาณกาแฟ กาแฟลาเต้มีสัดส่วนพลังงานของ ไขมัน : คาร์โบไฮเดรต : โปรตีน ร้อยละ 30:60:10 มอคค่า (Caffe Mocha) เป็นกาแฟผสมช็อกโกแลตและนมร้อน มอคค่ามีสัดส่วนพลังงานของ ไขมัน : คาร์โบไฮเดรต : โปรตีน ร้อยละ 36:56:8 ที่มา :  รายงานการศึกษาวิจัย เรื่อง สารอาหารในกาแฟเย็น สำนักการโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 151 ผลทดสอบปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร

ดาวน์โหลดตารางรายละเอียดการทดสอบ >>>  กดโหลด ** หมายเหตุ: ตัวอย่างสีที่ทดสอบนั้นอาจจะยังไม่ครอบคลุมยี่ห้อหลักๆ ที่มีในตลาดบ้านเราทั้งหมด แต่ไม่ต้องห่วงเรากำลังส่งตัวอย่างเพิ่ม ได้ผลเมื่อไร ฉลาดซื้อจะนำมาลงให้สมาชิกได้ทราบทันที ดังนั้นเพื่อทำตามคำมั่นสัญญา และเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “สัปดาห์ป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว” ที่จะจัดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งที่ประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 20-26 ตุลาคมนี้ โดยการนำขององค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติ เพื่อรณรงค์ให้สิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กๆ ปลอดภัยจากสารตะกั่ว มูลนิธิบูรณะนิเวศและฉลาดซื้อจึงขอเสนอผลการวิเคราะห์สีทาอาคาร 120 ตัวอย่าง รวม 68 ยี่ห้อ เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค ที่มีสิทธิจะได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน มีสิทธิในการเลือกและมีสิทธิในการได้รับสินค้าที่ปลอดภัย   ทำไมต้องตรวจตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร ตะกั่วเป็นโลหะหนักอันตรายอย่างหนึ่งที่พบในผลิตภัณฑ์สี เนื่องจากผู้ผลิตนิยมเติมสารตะกั่วบางประเภทเข้าไปเป็นส่วนประกอบของเม็ดสี เพื่อทำให้สีสดใส เช่น สีเหลืองเติมตะกั่วโครเมต สีแดงเติมตะกั่วออกไซด์ สีขาวเติมตะกั่วคาร์บอเนต เป็นต้น นอกจากนี้ตะกั่วยังเป็นสารเร่งแห้งที่ทำให้สีแห้งไวเท่ากันทั่วพื้นผิว และทำให้สีมีความคงทนยิ่งขึ้น การผลิตสีน้ำ ที่เรียกว่าสีพลาสติกหรือสีอคริลิกในหลายๆ ประเทศ ส่วนใหญ่เลิกใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสมแล้ว ขณะที่สีน้ำมันที่ผลิตและจำหน่ายอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากยังมีการใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสมสำคัญ การวิเคราะห์ตัวอย่างสีครั้งนี้จึงเน้นเฉพาะสีตกแต่งหรือสีทาอาคารที่เป็นสีน้ำมัน ประเทศไทยมีการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่จำหน่ายภายในประเทศ โดยการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมขึ้นมาบังคับใช้ สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มสีทาอาคาร สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก) ได้กำหนดมาตรฐานปริมาณตะกั่วไว้ในสีบางประเภทแบบสมัครใจ คือไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย โดยมาตรฐานปริมาณตะกั่วในแต่ละผลิตภัณฑ์มีทั้งที่เหมือนกันและต่างกัน สำหรับสีน้ำมันทาอาคารประเภทที่ใช้แอลคีด (alkyd) เป็นสารยึดเกาะ   ไม่ว่าจะเป็นสีเคลือบเงาแอลคีด (มอก.327-2553) หรือสีเคลือบด้านแอลคีด (มอก.1406-2553) ต้องมีสารตะกั่วไม่เกิน 100 ppm การศึกษาสถานการณ์การปนเปื้อนสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคารครั้งนี้ ดำเนินการโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ในฐานะที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาชน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล อินเดีย และไทย โดยการสนับสนุนจากโครงการ EU SWITCH-Asia และเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (International POPs Elimination Network - IPEN) เพื่อสร้างความตื่นตัวถึงอันตรายจากสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สี และส่งเสริมให้ผู้บริโภค ภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมมือกันปกป้องเด็กๆ จากทุกมุมโลกให้ปลอดภัยจากพิษตะกั่ว   สำรวจยี่ห้อทั่วไปก่อนเก็บตัวอย่าง ขั้นตอนแรกสุดของการศึกษามูลนิธิบูรณะนิเวศได้ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายผู้บริโภคและทีมวิจัยฉลาดซื้อสำรวจผลิตภัณฑ์สียี่ห้อต่างๆ ในตลาดสีน้ำมันทาอาคารที่วางจำหน่ายทั่วไป โดยสำรวจตามร้านค้า 3 ประเภทในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้แก่ ร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขาทั่วประเทศ  ร้านค้าขนาดกลางที่เป็นร้านค้าส่งและค้าปลีก ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้รับเหมาก่อสร้าง และร้านค้าขนาดเล็กที่ขายปลีกผลิตภัณฑ์สีในย่านชุมชน เมื่อกำหนดยี่ห้อที่จะตรวจสอบได้แล้ว ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2556 ทีมวิจัยของมูลนิธิบูรณะนิเวศจึงตระเวนซื้อตัวอย่างสียี่ห้อต่างๆ จากร้านค้าทั้ง 3 ประเภท ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา รวมถึงผลิตภัณฑ์อีกบางยี่ห้อที่สำรวจพบเพิ่มเติมภายหลัง รวมแล้วมีผลิตภัณฑ์สีที่นำมาตรวจวิเคราะห์ทั้งหมด 120 ตัวอย่าง จาก 68 ยี่ห้อ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโทนสีสด ได้แก่ สีเหลือง แดง น้ำเงิน ฯลฯ มี 68 ตัวอย่าง จาก 64 ยี่ห้อ และกลุ่มโทนสีขาวจำนวน 52 ตัวอย่าง จาก 51 ยี่ห้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อเดียวกันในทั้งสองกลุ่ม การวิเคราะห์ตัวอย่างสีครั้งนี้ทำโดยห้องปฏิบัติการ Certottica ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองโดยโครงการทดสอบความสามารถการวิเคราะห์ตะกั่วในสิ่งแวดล้อม (ELPAT) โดยใช้เครื่อง Inductively Coupled Plasma-Atomic Emission Spectrophotometer (ICP-AES) และใช้วิธีวิเคราะห์ตามมาตรฐานสากลสำหรับการทดสอบปริมาณสารตะกั่วในสี   ก่อนตีพิมพ์ผลการทดสอบเรื่องปริมาณสารตะกั่วในครั้งนี้ ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้จัดส่งผลการทดสอบให้กับบริษัทผู้ผลิตต่างๆ เพื่อผลในการปรับปรุงและดูแลผลิตภัณฑ์ให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค  และเมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศและนิตยสารฉลาดซื้อ ยังได้ประชุมร่วมกันกับตัวแทนบริษัทผู้ผลิตสีหลายบริษัท ตัวแทนสมาคมผู้ผลิตสีไทย โดยมีตัวแทนจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ร.พ. รามาธิบดี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้แทนจาก สมอ. เข้าร่วมด้วย ในการประชุมดังกล่าว ทางตัวแทนบริษัทและทางสมาคม มีข้อเสนอและร้องขอให้ทางผู้วิจัยและฉลาดซื้อ อย่านำเสนอผลการวิจัยต่อสาธารณะในลักษณะที่เปิดเผยชื่อยี่ห้อและชื่อบริษัท ฯลฯ ด้วยเกรงจะกระทบต่อผู้ผลิต อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันถึงการใช้สิทธิของผู้บริโภค ที่ควรจะต้องมีทางเลือกในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการด้วยข้อมูลที่ชัดเจน ทางผู้วิจัยและนิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ขอสงวนสิทธิการตัดสินใจในการลงเผยแพร่ เพราะเห็นว่าการเปิดเผยผลทดสอบจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่าการปกปิดข้อมูล และโดยที่ผลการตรวจสอบพบว่ามีทั้งสินค้าที่มีปริมาณตะกั่วสูง และสินค้าที่มีปริมาณตะกั่วเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นคู่มือในการตัดสินใจได้ “ในเมื่อท่านตัดสินใจประกาศผลทดสอบ ท่านก็อาจต้องระวังว่าทางผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบ ดำเนินการฟ้องร้องท่านแน่นอน”  อันนี้ถือเป็นคำเตือน คำขู่ หรือไม่ อย่างไร ก็คงต้องดูกันต่อไปว่า ตกลงเรื่องนี้ใครกันเป็นคนทำผิด      ผลทดสอบ ผลจากการวิเคราะห์พบว่า กลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีการใช้สารตะกั่วสูงกว่ากลุ่มโทนสีขาว โดยพบว่า ร้อยละ 93 ของกลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานแบบสมัครใจของไทย (100 ppm) ในขณะที่ปริมาณตะกั่วในกลุ่มตัวอย่างโทนสีขาว พบว่า ร้อยละ 61 มีตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm เมื่อมองในภาพรวมตามเกณฑ์มาตรฐานของสารตะกั่วแบบสมัครใจในไทย พบว่า ร้อยละ 79 ของตัวอย่างทั้งหมดมีตะกั่วเกิน 100 ppm ปริมาณสารตะกั่วในสีที่พบต่ำสุดจากตัวอย่างสีโทนสีสดใสคือ 26 ppm และปริมาณสูงสุดที่พบคือ  95,000 ppm ส่วนปริมาณตะกั่วต่ำสุดในตัวอย่างโทนสีขาวคือ น้อยกว่า 9 ppm และปริมาณสูงสุดคือ 9,500 ppm รายละเอียดดังแสดงในตาราง   ผลวิเคระห์ปริมาณตะกั่วในตัวอย่างสีน้ำมันทาอาคาร ประเภทตัวอย่างสี จำนวนตัวอย่าง ค่ามาตรฐานแบบ สมัครใจตาม มอก. (ตะกั่วไม่เกิน 100 ppm)   ค่าตะกั่วต่ำสุด (ppm) ค่าตะกั่วสูงสุด (ppm) สีน้ำมันทาอาคาร 120 ร้อยละ 79 (95 ตัวอย่าง) น้อยกว่า 9 95,000 โทนสีสดใส (ส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง) 68 ร้อยละ 93 (63 ตัวอย่าง)   26   95,000 โทนสีขาว 52 ร้อยละ 62 (32 ตัวอย่าง) น้อยกว่า 9 9,500     ข้อมูลบนฉลากแสดงปริมาณตะกั่วไม่ตรงตามจริง จากการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า สีบางยี่ห้อมีการให้ข้อมูลสารตะกั่วบนฉลากเพื่อจูงใจผู้บริโภคให้เลือกซื้อ โดยผลสำรวจพบว่ามีสีน้ำมัน 29 ตัวอย่างจาก 120 ตัวอย่าง ที่ติดฉลากให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคในแบบต่างๆ  เช่น  “ไม่ผสมสารปรอท ไม่ผสมสารตะกั่ว” (No Added Mercury No Added Lead),  “ปราศจากสารปรอทและตะกั่ว”  (Mercury and Lead Free),  “ไม่ผสมสารตะกั่วและปรอท” (No Added Lead and mercury) และ “ปราศจากสารตะกั่ว 100% ปราศจากสารปรอท 100%”  (100% Lead Free 100% Mercury Free)  เป็นต้น แต่เมื่อพิจารณาปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบในตัวอย่างสีที่มีข้อความบนฉลากดังกล่าว พบว่า มีสีน้ำมัน 17 ตัวอย่างจาก 29 ตัวอย่าง ที่มีสารตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm จึงเห็นได้ว่า ข้อมูลบนฉลากและปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบไม่ตรงกัน  เรื่องนี้ผู้บริโภคจึงควรระวัง เนื่องจากไม่สามารถวางใจข้อมูลบนฉลากได้ทั้งหมด   ตัวอย่างข้อมูลฉลากและปริมาณตะกั่วในสี     ปริมาณสารตะกั่ว 56,000 ppm สียี่ห้อ เด็นโซ่ ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม ปริมาณสารตะกั่ว  53,000 ppm สียี่ห้อ เบ็นโทน ผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์   ปริมาณสารตะกั่ว 49,000 ppm สียี่ห้อ ซีสโต้ ผลิตโดย ซีซั่นเพ้นท์     ปริมาณสารตะกั่ว 48,000 ppm สียี่ห้อ เบเยอร์ชิลด์ ผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์ ปริมาณสารตะกั่ว 43,000 ppm สียี่ห้อ เบเยอร์ดีไลท์ไททาเนียมผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์     ปริมาณสารตะกั่ว 34,000 ppm สียี่ห้อ คินโซ่ ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม ปริมาณสารตะกั่ว 28,000 ppm สียี่ห้อ โทรา ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม     ปริมาณสารตะกั่ว 18,000 ppmสียี่ห้อ ร็อกเก็ต ผลิตโดย ทีเพ้นท์ ปริมาณสารตะกั่ว 2,600 ppm สียี่ห้อ ซันเก ผลิตโดย โกลเด้นท์แอร์โร โค๊ทติ้ง     ปริมาณสารตะกั่ว 640 ppm สียี่ห้อ ซุปเปอร์มาเท็กซ์ ผลิตโดย ทีโอเอเพ้นท์ ปริมาณสารตะกั่ว 230 ppm สียี่ห้อ ทีโอเอ กลิปตั้น ผลิตโดย ทีโอเอเพ้นท์   ปริมาณสารตะกั่ว 390 ppm สียี่ห้อ กัปตัน ผลิตโดย กัปตันโคตติ้ง (กิจการร่วมกับ ทีโอเอ เพ้นท์)   และด้วยเหตุที่ฉลากบนกระป๋องสีมีรูปแบบและข้อความที่หลากหลาย ดังนั้นการปรับปรุงแก้ไขให้ฉลากมีมาตรฐานเดียวกัน น่าจะช่วยให้ข้อมูลบนฉลากมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น รวมถึงควรเพิ่มข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เช่น อันตรายของสารตะกั่ว และข้อควรระวังในการขูดลอกสีเก่า เป็นต้น   คำแนะนำสำหรับการเลือกสีทาบ้าน 1. เลือกสีทาอาคารชนิดที่ปลอดสารตะกั่ว ทุกชีวิตในบ้านจะได้ปลอดภัย โดยเฉพาะสีน้ำมัน เฉดสีสด เหลือง ส้ม แดง ควรหลีกเลี่ยง สีน้ำมันทาอาคารเหมาะกับไม้และโลหะ ไม่ควรนำไปทาบนผิวปูนซีเมนต์ โดยในขณะที่ยังไม่มีมาตรฐานบังคับ ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยง เพื่อเป็นการลดเรื่องความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของสารตะกั่ว ซึ่งพบว่าเป็นปัญหามากที่สุดในปัจจุบัน 2. สีทาบ้านมีหลายเกรด ราคาก็ต่างกัน จึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมเพื่อจะได้งานที่มีคุณภาพดีในราคาประหยัด อย่าผูกใจเชื่อไปเองว่า สีที่ราคาแพงจะมีคุณภาพดีและปลอดภัยกว่า 3. การเลือกใช้สีว่าจะใช้ของยี่ห้อใดนั้น ให้เปรียบเทียบที่รุ่นสินค้าของแต่ละยี่ห้อ แทนการมั่นใจในตัวยี่ห้อสินค้า เพราะเมื่อนำมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่นแล้ว จะพบว่าคุณสมบัติไม่ต่างกันมากนัก 4. อ่านฉลากให้ละเอียด แต่อย่าเพิ่งเชื่อทั้งหมด ลองศึกษารายละเอียดผลทดสอบทั้งหมดตามที่เสนอไว้ใน “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้ หากพบข้อมูลที่ข้ดแย้งกัน ให้ละเว้นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากหลอกลวงไปเลย 5. เลือกใช้สีให้เหมาะสมกับงาน โดยหาความรู้เพิ่มเติมหรือปรึกษาช่าง เช่น  ปูนทาสีน้ำ เหล็ก/ไม้ทาสีน้ำมัน เป็นต้น จากนั้นก็ประเมินตัวเองว่า อยากได้สีแบบไหน สีกันร้อน สีเช็ดได้ สีปกปิดรอยแตกลายงา สียืดหยุ่นได้ สีกันคราบน้ำมัน ฯลฯ และต้องการสีที่มีอายุงานกี่ปี 2 ปี 4 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี เมื่อประเมินได้แล้วจึงค่อยหาแคตตาล็อกของบริษัทผู้ผลิตสีมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่น เพื่อให้ได้สีตามที่ต้องการในราคาที่ถูกใจ 6. ก่อนลงมือทาสีจริง ควรทดลองทาสีด้วยการเอาสีขนาดบรรจุเล็กๆ มาทาก่อน ถ้าชอบใจค่อยไปซื้อมาเป็นถังใหญ่เพื่อทาจริง เพราะสีจริงจะเพี้ยนไปจากแคตตาล็อกนิดหน่อย อาจจะเพราะรองพื้นหรือสภาพพื้นผิวที่เราจะทา 7. กรณีจ้างช่างทาสี ควรระบุความต้องการของท่านให้ชัด โดยเลือกใช้สีที่ไม่มีสารตะกั่ว เรื่องราคาไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะจากการทดสอบที่ได้นำเสนอไป พบว่า ท่านสามารถเลือกใช้สีที่ปลอดภัยจากสารตะกั่วได้ ในราคาเหมาะสม ไม่แพงเกินไป   คำแนะนำในการทาสีบ้าน การขูดลอกสีเก่าเพื่อทาสีใหม่ ควรระมัดระวังมิให้ฝุ่นสีฟุ้งกระจายและควรหลีกเลี่ยงการสูดดมหรือสัมผัสฝุ่นสี ทำความสะอาดพื้นผิวด้วยการถูพื้นหรือเช็ดเปียก นอกเหนือจากการกวาด เนื่องจากฝุ่นตะกั่วไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อันนี้เท่ากับจะนำเสนอยี่ห้อที่มีตะกั่วอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งก็ควรเขียนหัวข้อให้ชัด ที่สำคัญกว่าคือคงต้องเขียนหมายเหตุให้ชัดว่า อันนี้เป็นผลจากการตรวจ 120 ตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าจำนวนดังกล่าวจะครอบคลุมยี่ห้อต่างๆ ถึง 68 ยี่ห้อ แต่ก็อาจมีบางยี่ห้อที่ไม่อยู่ในการทดสอบนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 130 เปรียบเทียบความหวานสารพัดของทา (น) กับขนมปัง

  ขนมปังอาจจะไม่ใช่อาหารหลักของคนไทย แต่ขนมปังก็เป็นของโปรดของใครหลายๆ คน จะรับประทานเป็นขนมเป็นของว่าง หรือจะรับประทานเอาอิ่มเป็นมื้อหลัก แบบที่หลายๆ คนนิยมเป็นอาหารเช้า ไม่ว่าจะแบบไหนก็อร่อยได้เหมือนกัน แค่ขนมปังธรรมดาๆ ก็ว่าอร่อยแล้ว ยิ่งถ้าทาแยมหรือเนยด้วยก็ยิ่งช่วยเพิ่มรสชาติขึ้นไปอีก แต่ก็อย่าอร่อยจนลืมตัว หรือหลงคิดว่าขนมปังทาแยม ขนมปังทาเนยจะแค่เป็นอาหารเบาๆ แทนข้าวแล้วจะไม่อ้วน เพราะในความอร่อยของ แยม เนยถั่ว หรือผลิตภัณฑ์ทาขนมปังชนิดอื่นๆ ล้วนมีตัวแปรสำคัญของความอร่อยอยู่ที่ความหวานของน้ำตาล เรามารู้ทันความหวานจากน้ำตาลกับผลสำรวจปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ทาขนมปังกันดีกว่า การทดสอบครั้งนี้ฉลาดซื้อสำรวจเปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ที่นิยมนำมารับประทานคู่กับขนมปัง ไม่ว่าจะเป็น แยม เนยถั่ว มาร์การีน รวมทั้งที่เป็นสไตล์ไทยๆ อย่าง สังขยา และ น้ำพริกเผา   ฉลาดซื้อใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการวิเคราะห์จากข้อมูลที่อยู่บนฉลากของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยดูตัวเลขปริมาณน้ำตาลที่แจ้งไว้ในข้อมูลส่วนประกอบ ซึ่งทุกตัวอย่างที่นำมาทดสอบครั้งนี้จะแจ้งปริมาณน้ำตาลเอาไว้เป็น % เราจึงต้องปรับตัวเลขให้มีหน่วยเป็นกรัม แล้วเปรียบเทียบที่ปริมาณต่อ 1 ช้อนโต๊ะ (16 กรัม) เพราะการนำมาคิดเป็นน้ำหนักต่อช้อนโต๊ะน่าจะทำให้ข้อมูลที่ได้ เป็นข้อมูลที่ใกล้เคียงกับปริมาณที่เรารับประทานจริงในแต่ละครั้งมากที่สุด สำหรับการสำรวจในครั้งนี้ -ปริมาณ 16 กรัม ต่อ 1 ช้อนโต๊ะเป็นข้อมูลที่นำมาจากข้อมูลในฉลากโภชนาการ หรือ “Thai RDI” ของผลิตภัณฑ์ สุรีย์ น้ำพริกเผาเสวย ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ตัวอย่าง ที่มีการแจ้งข้อมูลโภชนาการ อีก 1 ตัวอย่างคือ สตรีมไลน์ รีดิวซ์ ชูการ์ มาร์มาเลดส้มสูตรลดปริมาณน้ำตาล   ตารางแสดงผลสำรวจปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ทาขนมปังชนิดต่างๆ   ผลทดสอบ 1. แยม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทาหรือทานคู่กับขนมปังที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด ตัวอย่างที่มีน้ำตาลมากที่สุดตามข้อมูลที่แจ้งไว้ในส่วนประกอบก็คือ เบสท์ ฟู้ดส์ มาร์มาเลดส้ม ที่มีน้ำตาลอยู่ประมาณ 8.9 กรัม ต่อปริมาณแยม 1 ช้อนโต๊ะ มากกว่า 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำตาลที่คนไทยควรบริโภคใน 1 วัน คือไม่เกิน 24 กรัม ถ้าเทียบจากเกณฑ์ที่ฉลาดซื้อใช้ แต่จริงๆ แล้ว วิธีการรับประทานของแต่ละคนก็คงจะแตกต่างกันไป บางคนอาจจะชอบทาแยมมากๆ เวลาทาบนขนมปังก็อาจทามากกว่า 1 ช้อนโต๊ะ หรือรับประทานต่อครั้งก็อาจกินขนมปังมากกว่า 1 แผ่น ปริมาณน้ำตาลก็จะมากน้อยแตกต่างกันไปตามพฤติกรรมการบริโภค เพราะฉะนั้นก็ต้องคำนวณกันให้ดีว่าจะเลือกกินแบบไหนเพื่อให้ได้น้ำตาลในปริมาณที่พอดีกับความต้องการของร่างกาย ไม่มากเกินไป ส่วนตัวอย่างแยมยี่ห้ออื่นๆ ก็มีปริมาณน้ำตาลใกล้เคียงกัน เฉลี่ยอยู่ที่ 5 – 8 กรัม ต่อแยม 1 ช้อนโต๊ะ แยมที่เราสำรวจทั้งหมดเป็นแยมผิวส้ม หรือที่เรียกว่า มาร์มาเลด (marmalade) 2. เนยถั่ว เหมือนจะดูไม่น่าจะหวานมาก แต่ก็พบน้ำตาลในปริมาณที่สูงเช่นกัน ตัวอย่างที่พบมากที่สุดคือ นัทเกา โกโก้และเฮเซลนัทครีม พบปริมาณน้ำตาลประมาณ 8.16 กรัม ต่อปริมาณตัวอย่าง 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำตาลที่คนไทยควรรับประทานใน 1 วัน ข้อสังเกตที่น่าสนใจ เนยถั่วบางผลิตภัณฑ์น้ำตาลไม่มาก หรือไม่มีเลยบนฉลาก แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะเนยถั่วนิยมใช้สารให้ความหวานชนิดอื่นแทนน้ำตาล ซึ่งที่เราพบจากการสำรวจก็คือ  คอร์นไซรัป เป็นสารให้ความหวานที่ทำมาจากแป้งข้าวโพด ว่ากันว่าให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย แถมร่างกายดูดซึมเอาไปใช้ได้ง่ายกว่าน้ำตาลทราย แต่ในบ้านเราไม่นิยมใช้เพราะราคาแพงกว่าน้ำตาลทรายที่ทำจากอ้อยค่อนข้างมากความนิยมต่อเนยถั่วในบ้านเรายังมีค่อนข้างน้อย จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่เราสำรวจล้วนแล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์นำเข้า ซึ่งส่งผลให้แต่ละตัวอย่างมีราคาที่ค่อนข้างสูง 3. สังขยา เราสำรวจพบ 1 ยี่ห้อ  2 รสชาติ คือ เอ็มไพร์ สังขยา กลิ่นใบเตย กับ กลิ่นวานิลลา ซึ่งปริมาณน้ำตาลของทั้ง 2 รสมีเท่ากัน คือ 6.89 กรัม ต่อปริมาณตัวอย่าง 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 1 ใน 4 ของปริมาณน้ำตาลที่ควรรับประทานใน 1 วัน   ไม่ว่าคุณจะทาขนมปังด้วยหน้าอะไร ก็อย่าลืมความจริงข้อหนึ่งว่า ขนมปัง ก็มีความหวานเช่นกัน  ยกตัวอย่าง จากข้อมูลโภชนาการของผลิตภัณฑ์ขนมปังยี่ห้อฟาร์มเฮ้าส์ ทั้งแบบธรรมดาและแบบโฮลวีต บอกไว้ว่ามีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ 3 กรัม ต่อขนมปัง 2 แผ่น (50กรัม) ลองนำไปเป็นข้อมูลไว้ใช้คำนวณกันดูเวลาจะทานขนมปังทาหน้าต่างๆ จะได้หวานกันแต่พอดี   สารกันบูด ยังพบในหลายผลิตภัณฑ์สิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างหนึ่งในการรับประทานขนมปังทาหน้าต่างๆ ก็คือ สารกันบูด  เพราะถ้าลองดูจากผลสำรวจจะเห็นว่ามีหลายตัวอย่างที่มีการใช้สารกันบูด แถมก่อนหน้านี้ก็เพิ่งมีข่าวว่าศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์และสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มเก็บตัวอย่างขนมปังหลากหลายชนิดจำนวน 800 กว่าตัวอย่าง ผลที่ออกมาพบว่ามีมากกว่า 600 ตัวอย่างที่พบสารกันบูด เนย กับ มาร์การีน แตกต่างกันอย่างไร เพราะรูปร่างหน้าตาก็เหมือนกัน วิธีนำไปรับประทานก็ไม่ได้แตกต่างกัน ถ้าจะให้อธิบายให้ง่ายที่สุดก็คือ เนยคือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแตกตัวของไขมันในนม ขณะที่มาร์การีนก็คือ เนยเทียม ที่ใช้ไขมันจากพืชแทน เนื่องจากเนยจะมีไขมันอิ่มตัว ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดโคเลสเตอรอลสูง มาร์การีนหรือเนยเทียม จึงถูกผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่ขณะเดียวกันตัวมาร์การีนเองก็มีความเสี่ยงของไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นสาเหตุของหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเนยแท้หรือเนยเทียมก็ต้องเลือกอย่างระมัดระวัง นึกถึงสุขภาพของตัวเองมาเป็นอันดับแรก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 กระแสต่างแดน

ราคาคงเดิมการสำรวจราคาสินค้าในชีวิตประจำวันของนิตยสาร Which? ของอังกฤษพบว่า แม้จะยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงของราคาเท่าไร ... แต่ขนาดและปริมาณนี่สิ! กระดาษทิชชู Andrex ที่เคยมี 240 แผ่นต่อม้วนก็ลดลงเหลือ 221 แผ่น แผ่นทำความสะอาดห้องน้ำของ Dettol ที่เคยมีแพคละ 36 แผ่นก็เหลือแค่ 32 แต่ทั้งสองผลิตภัณฑ์นี้ยังราคา 2 ปอนด์ (ประมาณ 100 บาท) เหมือนเดิม ด้านอาหารก็ไม่น้อยหน้า น้ำส้มและราสพ์เบอร์รี่ Tropicana ลดปริมาณฮวบจาก 1 ลิตร เหลือเพียง 850 มิลลิลิตร บิสกิตเคลือบช็อกโกแล็ตของ McVitie’s จากที่เคยให้ 332 กรัมก็ลดเหลือเพียง 300 กรัมถ้วน แถมยังแพงขึ้นกว่าเดิมอีกหน่อย ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณให้ผู้บริโภคอังกฤษเตรียมใจ ว่าจากนี้ไปสินค้าสำเร็จรูปในซูเปอร์มาร์เก็ตจะค่อยๆ หดเล็กลง เพราะการเพิ่มราคามันสะเทือนใจน้อยกว่าการแอบลดไซส์เนียนๆ แต่บางเจ้าก็ยอมรับตรงๆ เหมือนกัน เช่น เมื่อต้นปีที่ผ่านมาค่ายยูนิลิเวอร์ออกมาประกาศว่าจะค่อยๆ ลดขนาดไอศกรีมลง ราคาเกินจริงระบบการเดินรถประจำทาง Rejsekot ของเมืองโคเปนเฮเกนกำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดหลังจากมีข่าวว่าระบบของเขาคิดเงินผู้โดยสารเกินจริงมากว่า 3 ปีแล้ว! สืบไปสืบมาพบว่าเป็นความผิดพลาดของพนักงานขับรถที่ลืมลงทะเบียนตั้งค่าเส้นทางใหม่ทุกครั้งหลังจากส่งผู้โดยสารที่สถานีปลายทาง เลยส่งผลต่อระบบคำนวณราคาสำหรับผู้โดยสารที่ขึ้นรถเที่ยวต่อไป แต่ละปีมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 6,000 คน มาดูว่า Movia หรือ “ขนส่งมวลชนโคเปนเฮเกน” จะแก้ปัญหาขี้หลงขี้ลืมของพขร. อย่างไร ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาเรื่องผู้โดยสารเมาแล้วสร้างความวุ่นวายบนรถ พนักงานขับรถจึงต้องไปฝึกศิลปะป้องกันตัวเพื่อมา “สยบ” คนเหล่านี้ เมืองโคเปนเฮเกนมีค่าใช้จ่ายในเดินทางด้วยรถสาธารณะสูงที่สุดในโลก ราคาเฉลี่ยของตั๋วรถรถเมล์ รถไฟ และรถราง 1 เที่ยว อยู่ที่ 31 โครน หรือประมาณ 165 บาท (โชคดีที่ชาวเมืองมีทางออกด้วยการเปลี่ยนไปใช้จักรยาน) ตามมาติดๆ ได้แก่ สต็อกโฮล์ม (150 บาท) ลอนดอน (143 บาท) และออสโล (133 บาท) โดยนิวยอร์กมีราคาตั๋วรถสาธารณะเฉลี่ยถูกที่สุดในกลุ่ม (95 บาท) ... อ้างอิงจากข้อมูลสำรวจของ Statista ที่ทำในเมืองหลวง 12 แห่งทั่วโลก  จินตนาการสูงเป็นเรื่องแล้ว เมื่อผู้รับเหมางานตรวจสอบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่งถูกจับได้ว่ารายงานความปลอดภัยที่พวกเขาส่งให้กับทางการเป็นระยะนั้น เกิดจากจินตนาการของพวกเขาเอง EnBW ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าที่เมืองฟิลิปสเบิร์ก พบว่าเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่จ้างมาตรวจสอบมาตรวัดการแผ่รังสีนั้นไม่เคยลงพื้นที่เลย แต่มีรายงานส่งตลอด ในเมืองเฮสส์ ที่ห่างออกไป 60 กิโลเมตร ก็เจอปัญหาเจ้าหน้าที่นั่งเทียนเขียนรายงานเหมือนกัน ถ้า เจ้าของโรงไฟฟ้าและกระทรวงสิ่งแวดล้อมยังไม่พบความผิดปกติ เขาก็คงจะทำเช่นนี้ต่อไป การค้นพบดังกล่าวทำให้กระทรวงสิ่งแวดล้อมประกาศชะลอแผนการเปิดใช้เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งอีกครั้ง เพราะต้องอาศัยผลการตรวจสอบ ... ซึ่งรู้กันแล้วว่าไม่มีอยู่จริง ด้านบริษัทที่รับทำรายงานก็เตรียมตัวโดนฟ้องได้เลย หลังเหตุการณ์ที่ฟุกุชิมะ รัฐบาลเยอรมันประกาศจะปิดเตาปฏิกรณ์ทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2022 ตามนโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energiewende) ที่เคยประกาศไว้ ปัจจุบันร้อยละ 18 ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศมาจากนิวเคลียร์ ในขณะที่ร้อยละ 27 มาจากพลังงานหมุนเวียน คนเยอรมันส่วนใหญ่ยังหวาดระแวงพลังงานนิวเคลียร์ รัฐบาลจึงต้องลงทุนเพิ่มอีกมากเพื่อให้สามารถผลิตพลังงานทางเลือกอื่นๆ มาตอบสนองความต้องการ  เราต้องการคำขอโทษองค์กรผู้บริโภคออกมาเชิญชวนชาวเกาหลีให้เลิกซื้อ เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท Oxy Reckitt Benckiser ถ้าใครมีอยู่แล้วในบ้านก็ให้เอาออกมาเททิ้งด่วน! บริษัทนี้คือผู้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้สำหรับเครื่องทำความชื้นยี่ห้อ OXY SSACK SSACK ที่มีจำหน่ายเฉพาะในเกาหลีเมื่อหลายปีก่อน และผลิตภัณฑ์ประเภทนี้นี่เองที่เป็นสาเหตุให้เด็กเล็กและสตรีมีครรภ์เสียชีวิตด้วยอาการปอดล้มเหลว ในช่วงปี 2011 มีผู้ได้รับปัญหาสุขภาพประมาณ 500 คน เสียชีวิตแล้วเกือบ 150 คน แม้จะมีผลิตภัณฑ์หลายยี่ห้อในตลาด (ซึ่งปัจจุบันถูกเรียกเก็บหมดแล้ว) แต่ผู้บริโภคเชื่อว่า OXY ซึ่งครอบครองถึงร้อยละ 80 ของตลาดต้องรับผิดชอบต่อการตายของแม่และเด็กถึง 103 คน ในปี 2014 บริษัทบริจาคเงินเข้ากองทุนประมาณ 5,000 ล้านวอน (150 ล้านบาท) ให้ญาติผู้เสียหาย แต่พวกเขาไม่ต้องการ และยืนยันว่าต้องการคำขอโทษอย่างเป็นทางการเท่านั้น ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่มีให้ได้ยิน จึงเป็นที่มาของการออกมาบอยคอตดังกล่าว บริษัทยังมีเรื่องต้องเคลียร์อีกมาก ข้อกล่าวหา ณ จุดนี้ได้แก่ ... บริษัทรู้เรื่องอันตรายของสารเคมีที่ใช้ในน้ำยาฆ่าเชื่อโรคแต่ปกปิดไว้ บริษัทจ่ายเงินให้มหาวิทยาลัยทำวิจัย(ปลอมๆ) ออกมาสนับสนุนการขาย บริษัทแม่ที่อังกฤษสั่งให้สาขาที่เกาหลีทำลายหลักฐานทั้งหมด ... เรื่องเดียวที่ศาลตัดสินแล้วคือบริษัทมีความผิดฐานติดฉลากหลอกลวงผู้บริโภคว่า “รับประกันความปลอดภัย ไม่มีสารพิษ”   เรื่องไม่หมูเวียดนามก็เป็นอีกประเทศที่ผู้คนยังมีความเสี่ยงต่ออาหารไม่ปลอดภัย สำนักข่าวเวียดนามเน็ทบริดจ์ เขาสรุปสาเหตุไว้พอเป็นน้ำจิ้มดังนี้ อย่างแรกคือ ความโลภของผู้ประกอบการ การตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์ในเมืองบินทันที่ฆ่าหมูคืนละ 1,000 ตัว พบสารเร่งเนื้อแดง ซัลบูทามอล ที่ห้ามใช้ไปแล้วในหมู 124 ตัว ในระยะการตรวจ 10 วันเขาพบหมูที่มีสารต้องห้ามถึง 1,000 ตัว ... หมูที่เลี้ยงด้วยสารต้องห้ามจะขายได้ราคาดีกว่าหมูธรรมดาถึงตัวละ 1 ล้านดอง (1,500 บาท) เลยทีเดียว สอง สารเคมีราคาถูกที่นำเข้าจากจีนโดยไม่มีการควบคุม เช่นสารเร่งเนื้อแดงที่ว่า หรือสารโอรามีนสำหรับย้อมสีหน่อไม้ให้เหลืองน่ากิน (แต่กินแล้วอาจเป็นมะเร็ง) ก็ราคาแค่กิโลกรัมละไม่ถึง 40 บาท ถ้ามีเงิน 8 บาทก็ซื้อมาย้อมหน่อไม้ได้ถึง 50 กิโลกรัม ทางการบอกว่าชายแดนเวียนนามยาวมาก ยากต่อการดูแลให้ทั่วถึง และสุดท้าย เวียดนามยังมีห้องปฏิบัติการสำหรับตรวจหาสารพิษในอาหารไม่เพียงพอ และยังไม่ได้รับการรับรองจากทางการ ทำให้นำผลไปอ้างอิงเพื่อจัดการกับผู้ประกอบการไม่ได้ ในขณะที่ชาวบ้านร้านตลาดก็ยังไม่รู้เท่าทันกลโกงของพ่อค้าหัวใสที่มี “สิ่งดีๆ” มานำเสนอกันตลอด

อ่านเพิ่มเติม >