ฉบับที่ 171 การแก้ไขปัญหาตู้รถโดยสาร กรณี ม.ธรรมศาสตร์ “ทั้งหมดที่สำเร็จออกมาได้นี้คือต้องลงมือทำ”

จากการไปศึกษาดูงานเรื่อง ผู้ประกอบการรถโดยสารปลอดภัย ของโครงการเสริมพลังผู้บริโภคและผู้ประกอบการเพื่อรถโดยสารปลอดภัย ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจากทั่วประเทศ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา กองบรรณาธิการฉลาดซื้อได้มีโอกาสร่วมดูงานและรับฟังเรื่องราวดีๆ ของความพยายามในการจัดการกับปัญหารถตู้โดยสารสาธารณะของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ประกอบการรถตู้ที่มีจิตสำนึกดี พร้อมให้บริการด้วยความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นสำคัญ ฉลาดซื้อจึงขอนำเรื่องราวดีๆ มานำเสนอไว้ ณ ที่นี้   ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา             สิ่งที่ผมจะพูดเป็นเชิงนโยบายว่า ทำได้จริงนั้นต้องทำอย่างไร และอะไรเป็นปัญหาที่ยังทำไม่สำเร็จ ทั้งนี้เป็นบทเรียนว่าการที่จะได้ประโยชน์ การที่ท่านจะนำไปทำในพื้นที่ของตัวเองจะต้องทำอย่างไร ตอนนี้เห็นได้ว่ารถตู้นั้นเข้ามาแทนที่รถทัวร์ในเส้นทางใกล้ๆ การเดินทางในกรุงเทพฯ ก็เข้ามาแทนที่รถเมล์ และจังหวัดใกล้เคียง เช่น ฉะเชิงเทรา นครปฐม ก็เป็นรถตู้หมดแล้ว และตอนนี้มันไกลไปถึง จ. ประจวบฯ ไกลไปเรื่อยๆ ถึงภาคอีสาน ภาคเหนือ มีไปทั่วประเทศแล้วตอนนี้ มันสะดวกกว่าเพราะรถมีขนาดเล็ก การจอดก็ง่ายกว่า รถเต็มเร็วกว่า การลงทุนก็ง่ายกว่า เรียกว่าได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ค่าโดยสารก็ไม่แพง แต่ปัญหามันคือรถตู้นั้นไม่ได้ออกแบบมาเพื่อขนคน เขามีเพื่อขนของมากกว่า ปัญหาอีกเรื่อง(ของผู้ประกอบการ) คือ เพื่อให้ประหยัด ให้ได้กำไรมากขึ้น ก็เติมที่นั่งเข้าไปเยอะๆ มี 13 ที่นั่งยังพอทำเนา บางคัน 15 ที่นั่ง หนักกว่านั้นมียืนด้วย ไม่รู้ทำกันไปได้อย่างไร รถโรงเรียนอนุบาลนี้เอาเก้าอี้ออกแล้วให้เด็กนั่งอัดกันเข้าไป 20 – 30 คน พอเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาความสูญเสียมันสูง เพราะระบบของรถมันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อขนคน และเพื่อให้ประหยัดน้ำมันก็มีการติดแก๊ส NGV เข้าไป ทำให้ศูนย์ถ่วงของรถมันเสียไป เวลาเกิดอุบัติเหตุจะควบคุมได้ยาก เพราะฉะนั้นรถตู้นั้นมีความสะดวกและแพร่หลายกันมาก แต่เวลามีอุบัติเหตุขึ้นมาความสูญเสียมันมาก   จุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ ธรรมศาสตร์(รังสิต) แห่งนี้ จุดเปลี่ยนเริ่มต้นเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ปี 2553 ผมจำวันที่ได้เลยเพราะเจ้าหน้าที่ของ มธ. บุคลากรของ สวทช. และ นศ. ต้องเสียชีวิตไป 9 คนจากอุบัติเหตุที่ไม่ควรจะเกิด ซึ่งเรามาสรุปสาเหตุกันได้ว่า การชนแค่นั้นไม่น่าเสียชีวิตมาก แต่ด้วยรถตู้ไม่ได้ออกแบบมาว่าเกิดอุบัติเหตุแล้วจะปลอดภัย ปกติรถยนต์เขาจะมีมาตรฐาน ต้องทดลองการชน แต่รถตู้ไม่มีการทดลองว่าถ้าชนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ก็เอารถออกมาวิ่งกันเลย มีการเสริมเก้าอี้เข้าไป ทางกรมขนส่งฯ ก็อนุญาต และถึงรถตู้จะอันตรายแต่ก็ยากที่จะหารถอื่นมาแทน เพราะฉะนั้นต้องทำอย่างไรจึงจะปลอดภัยที่สุด วิธีการพื้นฐานคือ ต้องขับความเร็วไม่เกิน 100 กม. / ชม. ถ้าไม่เร็วเกินเวลาเกิดอุบัติเหตุความสูญเสียมันก็จะน้อย ประการที่ 2 เข็มขัดนิรภัยต้องมี ประการที่ 3 คือคนขับ นี่คือสิ่งที่ได้สรุปขึ้นมาจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น โดยร่วมมือกับทางบริษัทเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน โดยมาตรการคือ ระบบ GPS ระบบเตือนเมื่อขับเร็วเกินและสามารถรู้ได้ว่าคันไหนขับเร็วเกินกำหนด เรื่องของคนขับนั้นก็จะมีเบอร์โทรศัพท์ เพราะปกติเรานั่งในรถตู้ถ้าขับหวาดเสียว ขับเร็วเกินเราจะไม่กล้าบอกคนขับ คนไทยขี้เกรงใจ คิดได้อีกทีก็ตายเลยถ้ามัวเกรงใจอยู่ วิธีการคือมีเบอร์โทรศัพท์ติดในรถ นศ. สามารถโทรมาได้ทันทีว่าคันนี้ขับเร็วเกิน ในช่วงแรกๆ นั้นก็มีโทรมาเยอะ ปัจจุบันนั้นมีอยู่แต่น้อยลงไปมาก สำคัญที่สุดคือเราคิดว่าการมีมาตรการบังคับใช้แล้วต้องมีการติดตามผลด้วย ถ้ามีใครฝ่าฝืนกติกาต้องมีการแก้ไขได้ ส่วนเรื่องเข็มขัดนิรภัยนั้นเป็นเรื่องยากที่สุด การติดเข็มขัดนิรภัยนั้นไม่ยากแต่การบังคับให้ นศ. คาดเข็มขัดนิรภัย เป็นเรื่องยาก ปัจจุบันจุดอ่อนก็เรื่องนี้ เรามีให้แต่ผู้โดยสารไม่ชอบคาดเข็มขัดนิรภัย อันนี้เป็นเรื่องสำคัญว่าควรจะทำอย่างไร   ก้าวต่อไป             ตอนนี้ที่ตรงนี้(บริเวณหน้าตึกสำนักงานอธิการบดี) เป็นสถานีที่กึ่งๆ ชั่วคราว เพราะเรามีสถานที่ใหม่และจะย้ายสถานีภายใน 1 ปีนี้ ซึ่งปัจจุบันมี 3 จุดใน มธ. ก็จะย้ายไปอยู่รวมกันเพื่อให้กลายเป็นสถานีเหมือนสถานีขนส่งของ มธ. เชื่อมต่อระหว่าง มธ. กับภายนอก และมาต่อรถในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแก๊ส NGV เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และเชื่อมต่อระบบ ยืม – คืน จักรยานเช่าเพื่อลดการใช้รถยนต์ด้วย ตอนนี้กำลังเป็นโครงการอยู่ ส่วนระบบรถตู้นั้นนโยบายของบริษัทเองก็เห็นด้วย รถตู้ไม่ได้สร้างมาเพื่อรองรับผู้โดยสารที่มีจำนวนมาก แผนของเราคือประมาณ 2 ปีจากนี้เราอยากเปลี่ยนรถตู้ให้เป็นรถมินิบัส 20 ที่นั่ง ซึ่งปลอดภัยกว่า เพราะมันคือรถโดยสารสร้างมาสำหรับโดยสาร และคิดไกลไปกว่านั้นคือถ้าทำทั้งทีอยากทำเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย รถโดยสารของเราอยากให้เป็นรถไฟฟ้าเลย ไม่ต้องใช้ NGV แล้ว ให้เป็นไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ สถานีโซล่าเซลล์ชาร์ทพลังงานแสงอาทิตย์ อันนี้ได้เรื่องสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยทุกสิ่งทุกอย่างหมดเลย อันนี้เป็นแผนแนวความคิดที่จะยังไม่ได้เกิดขึ้นใน 1- 2 ปีนี้ เพราะมันต้องลงทุน รถทั้งหมดจะถูกเปลี่ยนไปเป็นมินิบัส 20 ที่นั่ง ซึ่งเรื่องนี้มี ม. มหิดล ศาลายาเริ่มทำแล้วที่เปลี่ยนรถเป็นมินิบัส เราก็กำลังจะทำ ตอนนี้ก็นัดเข้าไปคุยกับทางกรมขนส่งฯ เพื่อจะให้ทำแล้วเป็นต้นแบบ ในระยะยาวนั้นประเทศไทยต้องเปลี่ยน รถตู้ต้องถือเป็นรถชั่วคราว ระยะยาวต้องเป็นมินิบัสแต่ตอนนี้ยังเปลี่ยนไม่ได้ก็ต้องทำอย่างไรให้รถตู้ปลอดภัยที่สุด 1. ขับความเร็วไม่เกิน 100 กม. / ชม. 2. คาดเข็มขัดนิรภัย 3. ถ้าคนขับขับเร็วต้องมีระบบการแจ้ง การเตือน อันนี้คือระบบของ มธ.   การนำรูปแบบนี้ไปทดลองทำในพื้นที่อื่น ประเด็นสำคัญที่สุดที่อยากบอก คือทั้งหมดที่สำเร็จออกมาได้นี้คือการลงมือทำ เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกอย่าง ตัวอย่างเช่น ของที่ขายเอาเปรียบผู้บริโภคจะขายไม่ได้เลยถ้าเราไม่ซื้อ แต่น่าเสียดายที่ผู้บริโภคไม่ตะหนักในอำนาจของเรา เรามัวรอรัฐบาลก็เลยเป็นแบบนี้ ดังนั้นเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มากที่ท่านได้มาทำเรื่องนี้ หัวใจของ มธ. ก็คือการลงมือทำเลยและผมเชื่อมั่นว่าทุกท่านสามารถทำได้เช่นกัน เริ่มต้นจากสิ่งที่ทำได้ก่อน ในจังหวัดของท่านดูว่าเริ่มต้นอย่างไร เริ่มจากมหาวิทยาลัยก็ดี คณะกรรมการขนส่งฯ จังหวัดก็ดี เริ่มต้นทดลองดูว่ารถตู้ในพื้นที่ทำอย่างไร เอาแค่ 3 เรื่องนี้พอ เข็มขัดนิรภัย การจำกัดความเร็ว และเบอร์โทร อันหลังนี้ง่ายสุดเลย เรื่องเข็มขัดนิรภัยก็มีกฎหมายบังคับใช้แล้วแต่จะทำอย่างไรให้คาด  การจำกัดความเร็วนั้นต้องมีอุปกรณ์ก็จะยากหน่อย   ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการรถตู้ คุณสรวีย์  พลตาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส ดับบลิว พี ออโต้เซอร์วิส จำกัด             ความเป็นมาของรถตู้ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต เกิดจากการที่ นักศึกษาต้องใช้บริการจำนวนมากในการเดินทางเข้ามาศึกษาใน มธ. เริ่มแรกเลยทาง มธ. ให้บริการรถบัสแต่เนื่องจากการเดินทางของ นศ. แต่ละท่านใช้เวลาไม่เหมือนกัน รถบัสแต่ละคันต้องมีผู้โดยสารจำนวนอย่างน้อย 30 คนขึ้นไปรถจึงจะออก ทาง มธ. จึงคิดว่าถ้ามี นศ. มาแล้ว 20 คนก็ต้องมารอคนอีกเพื่อให้รถเต็ม จึงมีรถตู้เข้ามาเพื่อให้บริการ โดยสายแรกคือเส้นทาง มธ. รังสิต – มธ. ท่าพระจันทร์ เส้นทางที่ 2 คือ มธ. รังสิต – อนุสาวรีย์ชัยฯ โดยเกิดเส้นทางนี้เพราะว่าการเดินทางด้วยรถเมล์นั้นไม่ค่อยสะดวก และอีกเส้นทางหนึ่งคือ มธ. รังสิต – ฟิวเจอร์ ปาร์ค รังสิต เนื่องจากไม่มีรถเข้าเมือง น.ศ.ที่จะไปฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต ก็ต้องใช้รถแท็กซี่ซึ่งไม่ค่อยปลอดภัย จึงมีเส้นทางนี้ขึ้นมาเป็นเส้นทางที่ 3             เมื่อเราได้เข้าไปให้บริการใน มธ. รังสิต เส้นทางของเราไม่เหมือนรถตู้ข้างนอก จะสังเกตได้เลยว่า 1. มีสติ๊กเกอร์ติดชัดเจนถึงเส้นทางที่จะวิ่ง 2. คนขับรถทุกคนแต่งกายสุภาพ ใส่ชุดซาฟารี ใส่รองเท้าหุ้มส้น และรถทุกคันของบริษัทจะต้องมีป้ายชื่อเพื่อบอกว่าขณะนี้ท่านนั่งอยู่บนรถสายอะไร เบอร์อะไร ขับโดยใคร ทะเบียนรถอะไร ตรงนี้ทำเพื่อคุ้มครองผู้รับบริการ เผื่อมีคนทำของหายจะได้แจ้งได้เลยว่าลืมไว้บนรถเบอร์อะไร เราเช็คของให้ท่านได้ทันที  ไม่ว่าจะเป็นไอแพด โน้ตบุ๊ค ถ้าอยู่บนรถได้คืน 100 % เพราะของ นศ. มีหายกันทุกวัน             “ของหายมีแค่ 2 กรณีเท่านั้น คือ หายบนรถเจอแน่นอน เพราะพนักงานขับรถทุกคนได้รับการอบรมจากบริษัทและจากทางมหาวิทยาลัย อีกกรณีคือ ทำของหล่นไว้แล้วผู้โดยสารท่านอื่นหยิบไป กรณีนี้ไม่ได้คืนแน่นอน เว้นจากเจอคนจิตใจดีซึ่งก็หายากในสังคมตอนนี้ ซึ่งถ้าใครทำดีเราก็ขึ้นป้ายให้เลย คนดีศรี SWP เคยเจอทองคำหนัก 1 บาทด้วย ผ่านไป 1 สัปดาห์ก็ยังหาเจ้าของไม่ได้ จนต้องไปประสานอาจารย์ให้ช่วยตามหาก็เจอเจ้าของ” บางคนอาจสงสัยพนักงานเป็นคนดีทุกคนเลยหรือ ในจำนวนคนขับรถเกือบร้อยคนนั้น เราจะหาคนคุณภาพทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ ขนาดนิ้วมือเรายังไม่เท่ากันเลย แต่เรามีวิธีของเรา มีขั้นตอนที่จะทำให้คนเกือบร้อยนั้นอยู่ในกฎกติกาให้ได้ กฎก็เหมือนระเบียบราชการเลย 1) ว่ากล่าวตักเตือนก่อน 2) ออกหนังสือเตือน บางคนคิดว่าเขาจะยอมหรือ คือต้องยอมเพราะนี่คือกฎบริษัทและของมหาวิทยาลัย แล้วคุณต้องให้บริการบุคลากรของมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นเราต้องมีกฎของเราเหมือนกัน สำหรับเรื่องร้องเรียน เพราะ น.ศ.จำนวนมากมาย เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีเรื่องร้องเรียน ส่วนใหญ่คือพูดจาไม่สุภาพ วิธีแก้คือเรียกมาอบรมว่าพูดอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ต้องพูด พูดให้น้อยที่สุด เพราะลักษณะการพูดของแต่ละคนแตกต่างกัน ในรถตู้ของเรามีป้ายแล้ว และรถทุกคันของบริษัทได้ติดระบบ GPS ทุกคัน มีระบบควบคุม GPS สามารถบอกได้เลยว่ารถคันนี้อยู่ตรงจุดไหน ใช้ความเร็วที่เท่าไร เปิดประตูหรือเปล่า ล็อคหรือยัง ซึ่งการลงทุนตรงนี้เราต้องทำเพื่อรองรับบุคลากร นศ. ที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป ซึ่งในห้องผู้โดยสารจะมีกล่องอยู่เพื่อทำหน้าที่เวลาความเร็วเกิน 100 กม. / ชม. จะมีเสียงออดดังขึ้น คนขับก็จะต้องชะลอความเร็วลงมาแล้ว ตรงนี้เพื่อกระตุ้นคนขับรถ และลดความเสี่ยงบนท้องถนน การขับช้าย่อมปลอดภัยกว่า ซึ่งการเกิดระบบทั้งหมดนี้มาจากคดีแพรวา คดีแพรวาเป็นโค้ดเรียกของที่นี่ ทุกคนคงจำได้ เมื่อก่อนนี้รถตู้ทั่วไปไม่ว่าข้างนอกหรือข้างในมหาวิทยาลัย ไม่มีเข็มขัดนิรภัยเลย พอเกิดคดีแพรวาขึ้นทางบริษัทร่วมกับทางมหาวิทยาลัยหารือกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการสูญเสียแบบนี้อีก ทาง มธ. ก็ปรึกษากันว่าให้ติดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งจะเป็นไปได้ไหม ซึ่งทางบริษัทคิดว่าการลงทุนตรงนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารเราก็ยอม พอติดเข็มขัดแล้วทาง มธ. ก็เรียกไปหารือว่าแค่นี้ยังไม่พอเพราะว่าคนขับยังขับเร็วอยู่ อยากให้ติด GPS ด้วย ซึ่งมันต้องติดโปรแกรมควบคุมระบบด้วย ตอนนั้นรับเรื่องมาเพื่อเช็คราคาอยู่ที่ 13,500 บาท แล้วรถมีตั้งเกือบร้อยคัน บริษัทลงทุนไม่ไหว จึงเรียกคนขับทุกคนมาคุยว่าจะทำอะไรคืนให้สังคมได้บ้าง ก็ตกลงกันได้ว่าคนละครึ่งทาง บริษัทออกคนละครึ่งกับพนักงาน ซึ่งเป็นภาระที่หนักมาก ตอนนั้นบริษัทก็ต้องกู้เงินมาลงทุน “แต่เราก็ทำตรงนี้เพื่อจะได้เป็นบริษัทต้นแบบ และสามารถดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารได้ ทางบริษัทก็ยินดี” ซึ่งความคิดนี้เป็นความคิดของทางมหาวิทยาลัย แต่ทางบริษัทรับมาทำ ติดเข็มขัดนิรภัยทุกคันทุกที่นั่ง พูดได้เลยว่าเป็นเจ้าแรกที่มีการติดระบบ GPS ควบคุมความเร็ว มีกล่องออดดังเมื่อความเร็วเกิน รถทุกคันมีห้องควบคุมโดยระบบ GPS ทั้งหมด ทุกสิ่งนี้คือสิ่งที่บริษัททำเพื่อ สังคมทั้งหมด  

อ่านเพิ่มเติม >