ฉบับที่ 118 หลอดไฟประหยัดพลังงาน และการจัดการขยะหลังหมดอายุการใช้งาน

หลอดไฟประหยัดพลังงาน  และการจัดการขยะหลังหมดอายุการใช้งาน โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ถ้าเพื่อนสมาชิกยังจำได้ ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับหลอดตะเกียบหรือหลอดไฟประหยัดพลังงาน ในฉบับที่ 98 เมื่อเดือนเมษายน 2552 กลับมาคราวนี้เพราะทางกองบรรณาธิการบอกว่ามีผลการทดสอบหลอดประหยัดไฟอีกครั้ง ผมจึงขอนำเสนอวิธีการเลือกหลอดประหยัดไฟเพื่อประกอบการผลทดสอบนะครับ แถมด้วยการจัดการกับหลอดที่หมดอายุแล้วด้วยครับ  เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2553 ยุโรปได้สั่งห้ามขายหลอดไฟแบบกลมในตลาด  เพราะหลอดไฟแบบเก่านั้น สามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานแสงสว่างได้เพียง 5 % พลังงานที่เหลืออีก 95 % สูญเสียเป็นความร้อน นับว่าได้ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนทางอ้อมอีกด้วย นอกจากนี้ผู้บริโภคต้องเสียเงินค่าไฟแบบสูญเปล่าเป็นจำนวนมหาศาล  สถานที่ที่จะติดหลอดไฟวิธีการเลือกซื้อหลอดประหยัดไฟสำหรับผู้บริโภค ให้พิจารณาถึงประเด็นสำคัญดังนี้ครับ หลอดไฟแบบประหยัดไฟหรือหลอดตะเกียบนั้น มีอายุในการใช้งานนานเท่าไหร่ และต้องปิดเปิดบ่อยมากน้อยแค่ไหน ถ้าเราจะเลือกหลอดไฟที่ต้องให้แสงสว่างในห้องน้ำ ตามทางเดินที่ต้องมีการปิดเปิดบ่อยครั้ง ควรจะเลือกหลอดไฟที่มีความทนทานในการปิดเปิด ความรู้สึกสบาย   ในกรณีที่จะติดไฟที่ห้องนอนหรือห้องนั่งเล่น ควรเลือกหลอดไฟแบบ warm white (WW) ซึ่งจะมีหมายเลข 827 หรือ 927 อยู่ที่ข้างกล่องบรรจุ หมายเลขด้านหน้า 8 หรือ 9 หมายถึงระดับของสีที่หลอดไฟแผ่รังสีออกมา ระดับ 9 จะให้ระดับของสี สูงกว่าหมายเลข 8 หมายเลข 27 หมายถึงให้อุณหภูมิสี 2700 เคลวิน ซึ่งจัดว่าเป็นระดับอุณหภูมิสีที่ให้ความอบอุ่น และถ้าเลขสองหลักสุดท้ายมีค่าสูง จะทำให้ค่าสีแดงลดลง แต่ส่วนของค่าสีน้ำเงินเพิ่มขึ้น ทำให้รู้สึกว่าเย็นขึ้น   ลักษณะของแสงในบ้าน (day light)หากจะเลือกหลอดไฟในสถานที่ทำงานที่ต้องการความสว่างมากๆ ควรเลือกหลอดไฟที่มีหมายเลข 860, 865, 960 หรือ 965 เนื่องจากมีอัตราส่วนของแสงสีน้ำเงินสูง ทำให้เราตาสว่าง และตื่นตัวดี   การจัดการกับหลอดไฟที่หมดอายุการใช้งานแล้วเนื่องจากหลอดไฟประหยัดพลังงานจะมีโลหะปรอทผสมอยู่ โลหะปรอทจัดเป็นวัตถุที่มีพิษ ต้องจัดการด้วยวิธีพิเศษ เช่นเดียวกับถ่านไฟฉาย ซึ่งการจัดเก็บขยะของบ้านเราปล่อยปละละเลยกันในเรื่องการจัดการวัตถุมีพิษในครัวเรือน หากวัตถุมีพิษเหล่านี้ ออกมาสู่สิ่งแวดล้อม และมีโอกาสที่จะปนเปื้อนแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป และก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในระยะยาวอย่างมาก   สำหรับเรื่องการจัดการขยะตามครัวเรือนนั้น ทางภาครัฐควรจะวางนโยบายและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่งครับ นอกจากจะรณรงค์ให้คนทั่วไปรู้จักแยกขยะแล้ว รัฐบาลควรมีแนวทางในการนำขยะไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งพวกขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือขยะที่เป็นของเสียที่สามารถย่อยสลายได้ พูดถึงเรื่องการแยกขยะ ทำให้ผมนึกถึงประสบการณ์ที่เคยพบมา ในประเทศเยอรมนีทุกบ้านจะต้องแยกขยะ ขยะไหนเป็นขยะรีไซเคิล ให้ใส่ขยะ (ซึ่งก็จะเป็นพวกภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจาก พลาสติก กระป๋องอลูมิเนียม     โดยก่อนจะทิ้งก็ต้องล้างน้ำเพื่อไม่ให้มีกลิ่นและใส่ในถุงสีเหลืองที่ ทางเทศบาลแจกไว้ให้ หากเป็นขยะธรรมชาติ เช่นกิ่งไม้ ใบไม้ หญ้า ฯลฯ ก็จะนำไปทำปุ๋ยหมัก สำหรับกระดาษนั้นก็ต้องแยกไว้และนำไปทิ้งในถังขยะรวม   เนื่องจากประเทศเยอรมันไม่ได้มีอาชีพรับซื้อของเก่าแบบบ้านเรา นอกจากนี้พวกแก้วก็จะต้องรวมแล้วขนไปทิ้งในตู้ container สำหรับแก้วโดยเฉพาะ และต้องแยกแก้วออกเป็นสามกลุ่มคือ สีขาว สีเขียวและสีแดง และถ้าบ้านไหนไม่ยอมแยกขยะ ทางเทศบาลสามารถปฏิเสธไม่รับขยะได้ครับ และตามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือ ไมโครมาร์เก็ต   จึงต้องจัดหาถังขยะโดยแยกขยะเป็น พลาสติก แก้ว และกระดาษ ผู้บริโภคที่ซื้อของแล้วสามารถทิ้งขยะไว้ให้ที่ร้านค้าจัดการได้ นอกจากนี้ทางร้านต้องรับขยะที่จัดเป็นขยะอันตรายด้วยไม่ว่าจะเป็นขยะ Electronics แบตเตอรี่หรือถ่านไฟฉาย เรียกว่าสินค้ามาจากไหนขยะก็กลับไปทางนั้นครับ   และถ้าเป็นเฟอร์นิเจอร์ เตียง ที่นอน ตู้ทั้งหลายเวลาจะทิ้งต้องโทรตามเทศบาลมาเก็บครับ ซึ่งเทศบาลบางที่ ก็จะมีวันเก็บของเก่าเหล่านี้ โดยจะมาเก็บขยะเหล่านี้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หากใครมีโอกาสไปเมืองเล็ก ก็อาจจะเห็นว่าชาวบ้านจะขนขยะพิเศษเหล่านี้ มาตั้งไว้ที่หน้าบ้าน เพื่อให้เทศบาลมาเก็บครับ   สำหรับมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นแบบนี้ ต้องฝึกเด็กๆของเราครับ นอกจากฝึกเด็กแล้ว ผู้ใหญ่ก็ต้องสร้างจิตสำนึกในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบง่ายๆ ที่ต้องทำทุกวันก่อนครับ ทำร่วมกับการปลูกต้นไม้ ในโครงการ CSR ที่บริษัทต่างๆ เริ่มทำกัน ก็ยังไม่สายนะครับคนไทย รู้จักใช้ก็ต้องรู้จักทิ้งด้วย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 98 หลอดไฟประหยัดพลังงาน

ช่วงฉลาดช้อปดร.ไพบูลย์ ช่วงทองมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค  ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันสงกรานต์ที่ผ่านมาครับ ความแตกแยกทางความคิดในสังคมไทยเกือบกลายมาเป็นสงครามกลางเมือง แต่ยังโชคดีที่ไม่มีการสูญเสียชีวิตประชาชนมากเหมือนกับการขัดแย้งในอดีต นับว่าเป็นวิวัฒนาการของสังคมไทยที่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไปในทิศทางที่ดีขึ้น วันนี้ขอเล่าเรื่องเบาๆ เกี่ยวกับหลอดไฟประหยัดพลังงาน ว่ามีหลักการทำงานอย่างไร ตลอดจนประเภทของหลอดไฟ และการเลือกหลอดไฟให้เหมาะกับการใช้งานภายในบ้าน ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคทุกคนในการเลือกซื้อหลอดไฟฟ้าครั้งต่อไปครับ หลักการทำงานของหลอดประหยัดพลังงาน (หลอดตะเกียบ)หลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงานโดยทั่วไปใช้กับความต่างศักย์ ขนาด 230 โวลต์ เมื่อกดสวิตช์เพื่อเปิดไฟ ความต่างศักย์ที่สตาร์เตอร์ (Starter) จุดติดอยู่ระหว่าง 250 โวลต์- 450 โวลต์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวจ่ายกระแสไฟฟ้า (Glow discharge) เมื่อกระแสไฟไหลผ่านวงจรผ่านขั้วบวกและขั้วลบที่มีแท่งโลหะ (Bimetal) ต่อเชื่อมอยู่ เมื่อกระแสไฟไหผ่านขั้วทั้งสองแล้ว จะเกิดการไหลของกระแสไฟภายใต้ความต่างศักย์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ขดลวดที่ทำมาจากโลหะทังสเตนปล่อยอิเลคตรอนวิ่งไปชนกับอะตอมของก๊าซในหลอดไฟ (Impact ionization) ทำให้อะตอมของก๊าซเกิดปฎิกริยาไอออนไนเซชัน (เกิดเป็นอนุภาคของก๊าซที่มีขั้ว) เมื่ออนุภาคที่มีขั้วดังกล่าววิ่งไปชนกับสารเรืองแสง (Luminescent substance) ก็จะเกิดเป็นสเปคตรัมหรือแสง ที่เรามองเห็นนั่นเอง อายุการใช้งานจากผลการทดสอบของนิตยสาร TEST ของเยอรมันนี สามารถบอกได้เลยว่า หลอดตะเกียบมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าหลอดไส้ โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 6,000 – 15,000 ชั่วโมง ขณะที่หลอดไส้มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 1,000 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังพบว่า ความสว่างของหลอดไฟจะลดลงตามอายุการใช้งานที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 15- 40 % (เป็นสินค้าที่น่าทดสอบเปรียบเทียบเป็นอย่างมาก นอกจากการประหยัดไฟฟ้าแล้ว ความสว่างที่ลดลงตามอายุการใช้งานของแต่ละยี่ห้อนั้นเป็นอย่างไร)อย่างไรก็ตามอายุการใช้งานจริงมักจะน้อยกว่าตามที่ฉลากบอกไว้ รวมไปถึงรายละเอียดอื่น เช่น กำลังไฟฟ้าด้วย (ไม่ทราบว่ากรณีดังกล่าวเข้าข่ายติดฉลากลวงหรือไม่ เนื่องจากในต่างประเทศ เช่น เยอรมนีการติดฉลากไม่ตรงตามความเป็นจริงถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค นอกจากเรื่องการติดฉลากลวงแล้ว ยังมีเรื่องบรรจุลวงด้วย ซึ่งหากบรรรจุสินค้าโดยใช้หีบห่อที่มีขนาดใหญ่กว่าสินค้ามากๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสินค้ามีขนาดใหญ่ สำหรับปัญหาเรื่องการบรรจุลวงนี้ ไม่มีกฏหมายรองรับ แต่แสดงให้เห็นถึงคุณธรรม จริยธรรมและการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตและผู้ประกอบการ)หลอดประหยัดไฟช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม?ในเชิงอนุรักษ์ทรัพยากร เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างหลอดธรรมดากับหลอดประหยัดพลังงาน หลอดประหยัดพลังงานสามารถช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่า 80 % หมายความว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าของหลอดประหยัดไฟ 1 หลอดเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของหลอดไส้ 5 หลอด โดยที่ความสว่างของหลอดไฟเท่ากัน สาเหตุที่หลอดประหยัดไฟใช้พลังงานน้อยกว่าหลอดไฟแบบไส้ เพราะหลอดประหยัดไฟสามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานแสงสว่างได้มากถึง 25 % ขณะที่หลอดไฟแบบไส้จะเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานแสงสว่างได้เพียง 5 % พลังงานที่สูญเสียจะเปลี่ยนเป็นความร้อนประเภทของหลอดไฟประหยัดพลังงานหลอดประเภท Warm white แสงที่ได้จากหลอดไฟประเภทนี้เป็นสีขาว ซึ่งเป็นสีหรือแสงจากสารเรืองแสง อุณหภูมิของสี (Color temperature) มีค่า 2,700 เคลวิน อุณหภูมิของสีเป็นตัวที่บอกถึงอัตราของสีที่ผสมในแสงไฟ แสงสีน้ำเงินเป็นแสงที่มีค่า Color temperature สูง และแสงสีแดงมีค่า Color temperature ต่ำ ค่า Color temperature นี้สามารถดูได้จากกล่องบรรจุ สำหรับหลอดไฟประเภท Warm white เหมาะจะใช้ในห้องนอนและห้องนั่งเล่น เป็นที่ชื่นชอบของคนที่อยู่ในภูมิภาคที่มีอากาศหนาวเย็น เช่น ยุโรป และอเมริกาเหนือ เพราะให้ความรู้สึกอบอุ่นและไม่สว่างจ้าเกินไป หลอดประเภท Day light ให้แสงไฟที่คล้ายกับแสงแดดธรรมชาติ ค่า Color temperature ของหลอด ไฟประเภทนี้มากกว่า 5,000 เคลวิน คนที่อยู่ในภูมิภาคที่อบอุ่น เช่น คนแถวยุโรปใต้ รวมทั้งคนไทยมักนิยมใช้หลอดไฟประเภทนี้ ข้อดีของหลอดไฟประเภทนี้คือ ใช้เป็นแหล่งกำเนิดแสงสว่างในห้องหรือบนโต๊ะทำงานได้ดีกว่า เพราะให้แสงสว่างที่ใกล้เคียงกับแสงธรรมชาติมากที่สุด มีผลต่อการทำงานของมนุษย์คือ ทำให้มนุษย์ทำงานได้ดี และทำให้ไม่ง่วง การจัดการขยะที่เกิดจากหลอดประหยัดไฟเมื่อหลอดไฟสิ้นอายุการใช้งานแล้ว วิธีการกำจัดหรือจัดการกับขยะประเภทนี้ ไม่ควรทิ้งรวมกับขยะปกติ เนื่องจากหลอดไฟประหยัดพลังงานมีสารปรอทเคลือบเป็นสารเรืองแสงที่หลอดด้านใน โดยเฉลี่ยสูงถึง 7 มิลลิกรัม ปรอทเป็นโลหะที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต หากสารปรอทไปปนเปื้อนกับน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับบริโภคอุปโภคของประชาชน  การกำจัดและจัดการขยะที่เป็นพิษควรทำด้วยความระมัดระวัง โดยที่หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรหามาตรการและวิธีการจัดการตลอดจนให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกกับประชาชน อย่างเช่นประชาชนในยุโรป เขาตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการจัดการขยะที่เป็นพิษ ไม่ใช่เพราะว่ามีกฎหมายบังคับในเรื่องดังกล่าว แต่เกิดจากความรู้สึกสำนึกในด้านการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ประชาชนให้ความร่วมมือในเรื่องการแยกขยะที่เป็นพิษ โดยการนำไปคืนให้กับผู้ผลิต ผู้ขาย ซึ่งผู้ผลิตหรือผู้ขายก็ต้องรับผิดชอบในการกำจัดขยะพิเศษนี้อีกทีหนึ่ง ภายใต้การควบคุมดูแลของภาครัฐและการจับตามองหรือเฝ้าระวังขององค์กรภาคประชาชน แหล่งข้อมูลอ้างอิง[1] เวปไซต์ http://www.energiespar-lampen.de[2] วารสาร Test NO. 3 March, 2008

อ่านเพิ่มเติม >