ฉบับที่ 265 “ท่อน้ำแตกเป็นเดือนแต่เจ้าของบ้านไม่รู้ตัว”

        ปัญหาของลูกบ้าน เมื่อซื้อบ้านจัดสรรแล้วเข้าอยู่อาศัยเกิดขึ้นอยู่เสมอ กรณีที่นำมาเล่าในฉบับนี้ เหตุเกิดจากท่อน้ำแตกแบบที่เจ้าของบ้านไม่รู้ตัวได้เลย ทำให้คุณวุฒิชัย วงศ์สิริวิทยา เจ้าของบ้านถูกเรียกเก็บค่าน้ำในรอบ 1 เดือน สูงถึง 18,635.01 บาท ซึ่งคุณวุฒิชัยไม่ได้ทำท่อน้ำแตกและคาดว่ามาจากการวางโครงสร้างผังบ้าน จึงร้องเรียนให้บริษัทเจ้าของโครงการหมู่บ้านรับผิดชอบค่าน้ำที่เขาได้จ่ายไปแล้ว...เรื่องราวจะจบลงอย่างไร มาติดตามกันเลยค่ะ ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นอย่างไร เมื่อไหร่         เกิดช่วงหลังปีใหม่ เจ้าหน้าที่การประปาเข้ามาจดมิเตอร์แล้วแจ้งว่า ค่าน้ำผิดปกติน่าจะมีท่อรั่วภายในบ้าน มิเตอร์ไม่ได้เสีย เพราะเจ้าหน้าที่โทรไปถามแล้ว เขาก็แจ้งว่าน่าจะท่อน้ำรั่วภายใน ผมจึงเพิ่งทราบตอนบิลค่าน้ำมาเรียกเก็บเลย รู้ตอนนั้นเลย ค่าน้ำผิดปกติ หน่วยค่าน้ำมันสูงกว่าปกติ เพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ค่าน้ำสูงมาก 18,600 กว่าบาทครับอาจมีคนถามว่า ท่อน้ำแตกเป็นเดือนแต่เจ้าของบ้านไม่รู้ตัวเลย เพราะอะไร         ทุกหมู่บ้าน ทุกโครงการจะมีแทงค์น้ำอยู่หลังบ้าน ลักษณะที่ท่อนำแตกของบ้านผม เมื่อแตกแล้วน้ำยังไหลเข้าแทงค์ปกติ ปั้มน้ำทำงาน ปกติน้ำที่แตกเยอะขนาดนี้จะต้องเอ่อล้นออกมามานอกบ้าน ข้างบ้านแล้ว แต่ไม่ล้น ไม่มีอาการอะไรเลย ผมถามเพื่อนบ้านแล้วว่ามีน้ำเอ่อออกมาบ้างไหม เขาบอกว่า ไม่มีน้ำอะไรเอ่อออกมาเลย แล้วทำอย่างไรต่อ         ผมจึงเข้าไปที่สำนักงานการประปาก่อน เพราะไม่แน่ใจ อยากเช็คอีกรอบว่ามิเตอร์น้ำปกติดีใช่ไหม เมื่อเข้าไปเจ้าหน้าที่ที่อยู่ที่เคาน์เตอร์ให้ผมเข้าไปหาช่างส่วนจดมิเตอร์ซึ่งเขาอธิบายให้ฟังว่า ถ้ามิเตอร์เสีย ตอนที่หมุนน้ำเข็มมันอาจจะไม่กระดิกเลย เขายืนยันว่าไม่ใช่มิเตอร์เสียแน่นอน หลังจากนั้นผมจึงไปติดต่อนิติบุคคลของหมู่บ้าน อยู่ตรงส่วนด้านหน้าของสำนักงานขาย เขาก็ไม่รับเรื่องอะไร เรื่องค่าน้ำเขาบอกว่าไม่รับผิดชอบให้ เขารับผิดชอบให้แค่เขาจะเดินท่อน้ำแบบลอยให้ คือเดินให้ใหม่ แต่เป็นการเดินลอยอกมาข้างบ้าน และต่อเข้าแทงค์น้ำ เขารับผิดชอบแค่นั้น ส่วนค่าน้ำ ก็พยายามถามเขาว่า มีงานส่วนไหนที่ช่วยได้บ้าง เขาไม่ตอบ เขาเงียบกันหมดเขาให้ผมเขียนคำร้องส่งไป แล้วเดี๋ยวช่างจะมาเดินลอยให้ แล้วตอนนั้น ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยหรือไม่ เพราะเขาไม่ตอบว่าถ้าเดินลอยใหม่แล้วผมต้องเสียค่าใช้จ่ายไหม เรื่องค่าน้ำไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนรับผิดชอบให้ ไม่มีการประสานงานต่อ         ในระหว่างที่กำลังเดินลอย ผมก็คิดหาวิธีต่างๆ แล้วลูกบ้านด้วยกันเขาแนะนำให้ไปติดต่อที่สำนักงานใหญ่อยู่แถวโลตัสบางกะปิ ผมเข้าไปบริษัทก็ให้ทางเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM เข้ามาดู ซึ่งเขาก็ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ที่ดูแลโครงการที่ผมอยู่โดยเฉพาะพอประสานงานเสร็จกลับเงียบหายไปเลย ที่สำนักงานใหญ่ก็เงียบต่อมาเขาแจ้งมาว่าให้ผมรับผิดชอบเอง ผมถามไปชัดเจนว่า “มีหน่วยงานไหน ฝ่ายไหนที่จะรับเรื่องร้องทุกข์ผมได้บ้าง” เขาก็รับเรื่องไว้ แล้วไม่ตอบเลย เขาโยนกันไปมา ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ CRM ที่ดูแลโครงการนี้ ผมก็ทำทุกอย่าง  เขาก็แจ้งว่าให้ส่งเอกสารทุกอย่าง เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน ปัญหาที่เกิด จุดที่ท่อน้ำแตกส่งไปให้เขา ผมส่งด่วน EMS เขาได้รับเรียบร้อย แต่ก็เงียบเป็นอาทิตย์ ผมก็คิดว่าคงเหมือนเดิม ไม่ได้เรื่อง ไม่ตอบกลับ โทรไป เขาก็แจ้งว่าอยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ ผมก็คิดว่าไม่ได้แล้ว เราต้องร้องเรียนทางอื่นแล้วในเอกสารตอนนี้คือต้องการคำตอบว่า บริษัทจะรับผิดชอบค่าน้ำไหม และค่าเดินท่อลอยที่กำลังทำอยู่ใครจะออกค่าค่าใช้จ่ายใช่ไหม         ใช่ครับ ตอนแรกที่ผมเข้าไปหานิติบุคคล เขาจะให้ช่างมาเดินลอยให้แต่เรื่องค่าใช้จ่ายเขาไม่ยืนยัน เขาอ้างว่าผมต่อเติมบ้านไปแล้ว แต่แค่ปูกระเบื้อง ผมก็งงว่ากระเบื้องหนักขนาดไหน ถึงทำให้ท่อน้ำใต้บ้านแตกได้ คือผมไม่ทราบจริงๆ ว่าแตกตอนไหน เพราะว่าพี่ที่เขาเป็นช่างทางโครงการเข้ามาหาจุดแตกเขาหาจุดแตกไม่ได้ จนต้องเดินลอยใหม่         เรื่องนี้ถ้าไม่ถามไปเขาจะไม่ทำให้ฟรี  ผมพยายามเถียงจนสุดท้ายทางโครงการจะรับผิดชอบค่าเดินท่อลอยให้ ไม่เสียค่าใช้จ่ายการที่เขาบอกว่าท่อน้ำแตกอาจจะเกิดเพราะปูกระเบื้องตรงนี้คุณวุฒิชัยมองว่าไม่สมเหตุสมผล เลยเดินหน้าสู้ต่อเรื่องให้บริษัทรับผิดชอบค่าน้ำ         ครับ คือผมซื้อบ้านมา ผมก็อยากทำกระเบื้อง เพราะตอนแรกพื้นบ้านไม่ได้ระดับบ้างด้วย น้ำขัง ต้องทำใหม่ เลยจบปัญหาโดยการปูกระเบื้องแล้วไล่ระดับน้ำให้น้ำออก ปัญหาก็หาย ทีนี้ค่าน้ำใครจะจ่ายผมไปที่สำนักงานใหญ่แล้วไม่มีใครช่วยได้ ผมจึงมาร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ) และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตอนร้องเรียน แต่ละที่ดำเนินการอย่างไร          ผมไปที่ สคบ. ก่อน และลองดูช่องทางร้องเรียนอื่นคือ มพบ.ผมลองหาข้อมูลเขาแจ้งว่าสามารถร้องเรียนได้ที่เพจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ปรากฏว่าเขาตอบกลับเร็วมาก ดีจริงๆ ต้องขอขอบคุณมาก เจ้าหน้าที่พยายามขอข้อมูล รายละเอียดและสอบถามว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร อันนี้ดีเลย         ส่วนที่ทาง สคบ. เขาติดต่อกลับมาช้าเพราะ ผมคิดว่าเขาคงรับเรื่องเยอะ ผมเลยตัดสินใจให้ มพบ.ช่วยเหลือผม   หลังจากมูลนิธิรับเรื่องแล้ว ดำเนินการร่วมกันต่ออย่างไร         ผมส่งเอกสาร หลักฐานทั้งหมดที่ให้บริษัท หลักฐานที่ผมมีทั้งหมดให้มูลนิธิฯ หมดเลย หลังจากได้รับข้อมูลแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งกลับมาว่าขอตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน จากนั้นมูลนิธิออกจดหมายไปถึง บริษัทที่สำนักงานใหญ่ ประมาณกว่า 2 สัปดาห์เลยกว่าที่สำนักงานใหญ่จะตอบกลับมูลนิธิมาว่า  บริษัทอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบข้อเท็จจริง มูลนิธิขอเอกสารเพิ่มเติม เช่น รูปรอยแตก สภาพแวดล้อม บิลค่าน้ำย้อนหลังว่าเราใช้น้ำอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ แล้วก็ส่งเอกสารเหล่านี้ไปที่สำนักงานใหญ่ และอีกประมาณครึ่งเดือนมูลนิธิก็แจ้งมาว่าบริษัทรอว่าจะตกลงกันอย่างไร จนช่วงเดือนมีนาคม ผมก็ได้รับแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายของบริษัทจะเข้ามาดูแล ตอนแรกเขาจะชดเชยที่ร้อยละ 50 ซึ่งผมไม่รับเพราะว่าส่วนที่ผมต้องรับผิดชอบยังเยอะ และตอนแรกผมดำเนินการแล้ว บริษัทไม่ประสานงานอะไรให้เลย จนเราต้องร้องเรียนให้มูลนิธิช่วยแล้วท่อน้ำที่อยู่ใต้บ้านแตก แสดงว่าผิดตั้งแต่ก่อสร้างแล้วไม่ใช่ว่าผมต่อเติมกระเบื้อง ผมซื้อมาได้ 2 ปีเอง มันไม่น่าจะเป็นไปได้ โครงการระบุว่ารับประกันโครงสร้างบ้าน 5 ปี ด้วย ซึ่งเรื่องนี้พอผมถาม บริษัทบอกว่าท่อน้ำเป็นเรื่องสถาปัตย์ ไม่ได้อยู่ในการรับประกันโครงสร้าง         ผมไม่รับแล้วบอกว่าขอให้บริษัทรับผิดชอบค่าน้ำ ร้อยละ 80 ฝ่ายงานกฎหมายของบริษัทเขาขอลดมาที่ 70 จึงได้ข้อสรุป มันนานแล้ว ผมไม่ไหว ผมหยุดงานเพื่อไปดำเนินการต่างๆ โดนหักเงิน 3 วันทั้งที่ไปสำนักงานประปา ไปคุยที่สำนักงานใหญ่ หยุดงานเพื่อให้ช่างเข้ามาดูสาเหตุที่ท่อน้ำแตก  อยากจะจบเรื่องตรงนี้ ผมเลยเข้าไปไกล่เกลี่ยกับบริษัทที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน บริษัทรับผิดชอบ 70% ผมจ่าย 30 %  บริษัทจ่ายเชคให้ผมจำนวน 13,000 บาท         เรื่องกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผมก็ได้แจ้งว่าเรื่องของผมยุติแล้ว การร้องเรียนที่ สคบ. ก็ยุติเรียบร้อย ฝากถึงคนที่อาจจะเจอปัญหาได้         ตอนซื้อบ้านนะครับ  นี่คือบ้านหลังแรกของผม ผมไม่ทราบว่าโครงการอื่นๆ เขามีงานก่อสร้าง แบบไหนอย่างไรแต่ต้องระวังด้วย ไม่ว่าจะค่าน้ำ ค่าไฟ ต้องคอยเช็คตลอด         และเมื่อเกิดเรื่อง แม้เราไม่ทราบ เราต้องหาข้อมูลทุกช่องทาง ออนไลน์ต่างๆ อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้เขาช่วย อย่าไปยอม ผมมองว่าเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม ต้องสู้บางคนอาจจะยอมแพ้ไปถึงสำนักงานใหญ่ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ แต่ผมมองว่าไม่ใช่ ถ้าไม่สมเหตุสมผลเขามาโทษเราก็ไม่ได้ เราต้องสู่เพื่อความชอบธรรม  เพื่อสิทธิของเราครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 กรแสะต่างแดน

โหวตได้หรือไม่        สวิตเซอร์แลนด์ใช้ระบบประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนสามารถโหวตได้ทุกเรื่อง แต่มีอย่างน้อยหนึ่งเรื่องที่แต่ละรัฐในประเทศยังเห็นไม่ตรงกัน มีจึงมีเพียงบางรัฐ (จากทั้งหมด 26 รัฐ) เท่านั้นที่จัดโหวตในเรื่องดังกล่าว         ประเด็นที่ว่าคือ “การขอให้บริการขนส่งมวลชนเป็นสิ่งที่รัฐจัดให้ฟรี”           เนื่องจากรัฐธรรมนูญของสวิตเซอร์แลนด์กำหนดว่า ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะจะต้องจ่ายค่าเดินทางในราคาที่สมเหตุสมผล ในขณะที่บางคนมองว่าการจ่ายภาษีก็ถือเป็นการร่วมจ่ายอย่างเหมาะสมแล้ว ผู้บริหารบางรัฐยังตีความว่าการจัดโหวตเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้         แต่บางรัฐอย่างรัฐโว (Vaud) ตีความว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม “บริการขนส่งสาธารณะฟรี” และให้ความเห็นว่า รัฐมีสิทธิตัดสินใจได้ว่าจะช่วยจ่ายค่าโดยสารให้เต็มราคาหรือไม่ เขาเลือกใช้หลักการ...หากเกิดข้อสงสัย ให้เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนไว้ก่อน อยากเปลี่ยนน้ำ         เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในยุโรป เดนมาร์กยังล้าหลังในเรื่องการลดปริมาณแคลเซียมในน้ำประปา ชาวบ้านจึงต้องหาวิธีจัดการกับน้ำกระด้างกันเอง บ้างก็พยายามขูดหินปูนในท่อ บ้างก็ลงทุนซื้อเครื่องกรองมาติดฝักบัว  นอกจากจะเปลืองสบู่ แชมพู และผงซักฟอก เพราะ “ตีฟองไม่ขึ้น” แล้ว การอาบน้ำกระด้างยังทำให้ผิวแห้ง หนังศีรษะเป็นรังแค แถมยังผมชี้ฟูอีกด้วย         แต่ข่าวดีคือโคเปนเฮเกนกำลังจะมีระบบกรองน้ำประปาส่วนกลางแล้ว บริษัท Hofor ผู้ให้บริการน้ำประปาในเมืองนี้และพื้นที่โดยรอบประกาศว่าเขาจะลดความกระด้างของน้ำลงให้ได้ภายในปี 2028         ด้านทันตแพทย์ออกมาเตือนว่า “น้ำอ่อน” จะทำให้คนฟันผุมากขึ้น โดยอ้างอิงงานวิจัยที่ยืนยันว่าเด็กในโคเปนเฮเกนมีฟันผุน้อยกว่าเด็กในเขตอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญ (งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากเด็กอายุ 15 ปี จำนวน 52,000 คน)           มารอดูกันว่าเขาจะแก้ปัญหานี้อย่างไร   ป้องกันหลงผิด         ตั้งแต่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป รัฐบาลเมืองหางโจวจะเริ่มใช้กฎหมายอนุรักษ์ชาหลงจิ่ง สินค้าที่ได้รับการคุ้มครองเพราะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองหางโจว         ด้วยชื่อเสียงด้านคุณภาพและราคาระดับพรีเมียม ทำให้มี “ชาแอบอ้าง” เข้ามาบุกตลาด ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรตัวจริงจากไร่ชาในเขตรอบทะเลสาบซีหู และหุบเขาในเมืองหางโจว          เพื่อพิทักษ์ “แบรนด์หลงจิ่ง” เขาจึงมีกฎหมายกำหนดรหัสเฉพาะ ที่ประกอบด้วยชื่อบริษัทผู้ผลิต ปีที่ผลิต ซีเรียลนัมเบอร์ และรหัสที่ต้องแจ้งบนกระป๋องนี้ จะไม่สามารถนำไปโอน แจกจ่าย หรือให้ใครยืมได้ ผู้ฝ่าฝืนมีค่าปรับ 10,000 หยวน สำหรับบุคคลธรรมดา และ 50,000 หยวน สำหรับนิติบุคคล          นอกจากนี้ยังต้องมีแพลตฟอร์มออนไลน์ทำหน้าที่ควบคุม ดูแล จัดการ ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่าย รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วย          ไร่ชาที่นี่จะมีการสำรวจทุก 10 ปี เพื่อดูแลจัดการเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และทำฐานข้อมูลพื้นที่แต่ละแปลง รวมถึงการใช้ปุ๋ยธรรมชาติตามที่รัฐส่งเสริม โปรฯ โรแมนติก         ข่าวดีสำหรับคู่รักที่พร้อมจะแต่งงานกันภายในปีนี้ แคว้นลาซิโอ อิตาลี เขาจัดโปรโมชันเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจงานแต่ง และโปรฯ นี้สามารถเข้าร่วมได้ทั้งคนอิตาเลียนและคนต่างชาติ            ตามโครงการ “In Lazio with Love” คู่สมรสที่จัดพิธีแต่งงานในเขตลาซิโอ ไม่ว่าจะเป็นในกรุงโรม ชายหาด หรือปราสาทยุคกลาง หรือโลเคชันยอดนิยมอื่นๆ จะสามารถนำใบเสร็จมาขอเบิกเงินคืนได้สูงสุด 2,000 ยูโร (ประมาณ 73,000 บาท)         ใบเสร็จที่ว่านี้อาจมาจากบริษัทรับวางแผนงานแต่ง ร้านเช่าชุดแต่งงาน ผู้ให้เช่าสถานที่ ร้านดอกไม้ บริษัทรับจัดเลี้ยง รวมไปถึงค่าจ้างช่างภาพ หรือค่าเช่ารถด้วย ทั้งนี้เขาสงวนสิทธิ์ให้ส่งใบเสร็จได้ไม่เกิน 5 ใบ         ข่าวบอกว่าเขาตั้งงบไว้ 10,000,000 ยูโร เพื่อช่วยเหลือธุรกิจงานแต่งที่ซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2019 มีคู่รักมาจัดงานแต่งที่นี่ถึง 15,000 คู่ แต่สองปีกว่าหลังการระบาดของโควิด-19 เขามีโอกาสจัดงานแต่งไปเพียง 9,000 งานเท่านั้น       สควิดฟาร์ม        โลกกำลังจะมีฟาร์มปลาหมึกแห่งแรกในปี 2023 ภายใต้การดำเนินการของบริษัท Nueva Pescanova ของสเปน ที่ปาดหน้าคู่แข่งจากญี่ปุ่นและเม็กซิโกไปได้         บริษัทอ้างว่าเขาลงทุนไปกว่า 65 ล้านยูโร หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท และได้ศึกษาวิจัยจนพบ “สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม” กับการเลี้ยงปลาหมึกในถัง เขาจะผลิตปลาหมึกได้ถึงปีละ 3,000 ตัน ภายในปี 2026 ทั้งนี้เขาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพราะถือเป็น “ความลับทางการค้า”         แต่นักวิชาการที่รีวิวผลงานวิจัยกว่า 300 ชิ้น ฟันธงว่า “ฟาร์มปลาหมึก” มันเป็นไปไม่ได้ การถูกจำกัดบริเวณอาจทำให้ปลาหมึกเครียดและทำร้ายกันเอง นักสิ่งแวดล้อมก็มองว่านี่เป็นการสวนกระแสเรื่องความยั่งยืน ปัจจุบันเราใช้ 1 ใน 3 ของสัตว์ทะเลที่จับได้มาเป็นอาหารสัตว์  แล้วเรายังจะต้องนำไปใช้ในฟาร์มปลาหมึกอีกหรือ ชาวประมงรายย่อยก็อาจได้รับผลกระทบ ในขณะที่เชฟบอกว่า “มันไม่อร่อย”            ขณะนี้ฟาร์มดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการอนุมัติ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ช่วยด้วยน้ำประปาคอนโดไม่สะอาด

        การซื้อคอนโดมิเนียม ผู้ซื้อส่วนใหญ่ต่างคาดหวังไว้ค่อนข้างสูงว่าบริการต่างๆ จะสะดวกสบายไม่มีปัญหาอะไร เพราะมีคนที่ส่วนกลางจัดการดูแลให้ ซึ่งหลายคนอาจผิดหวัง เพราะแท้จริงแล้วปัญหาเรื่องคอนโดมีมากมายหลากหลาย อาจจะเริ่มตั้งแต่จองคอนโดไปจนถึงคอนโดจะสร้างเสร็จหรือไม่ จนย้ายเข้ามาอยู่แล้วก็ยังมีปัญหาได้อีก เช่นกรณีของคุณภูผา          เดือนธันวาคม 2559 คุณภูผา ซื้อคอนโดโครงการหนึ่งย่านถนน เพชรเกษม – ท่าพระ ของบริษัท Nราคาเกือบสามล้านบาท ต่อมาประมาณเดือนเมษายน 2560 เขาพบว่าน้ำประปาในคอนโดไม่สะอาด มีสีเหลืองขุ่น มีตะกอน และเริ่มมีอาการคัน ผื่นแดงขึ้นบริเวณใบหน้าและลำตัว ตอนแรกคุณภูผาคิดว่าตัวเองคงแพ้อากาศ แพ้ฝุ่น ไม่ได้คิดอะไรมาก ต่อมาเมื่อเขาได้เริ่มพูดคุยกับลูกบ้านห้องอื่นในคอนโด ถึงรู้ว่าน้ำประปาของลูกบ้านห้องอื่น ไม่สะอาด มีสีเหลืองขุ่น มีตะกอน เหมือนกับเขา และลูกบ้านบางคนมีอาการคัน ผื่นแดงขึ้นตามตัวและใบหน้าเหมือนกับเขาอีก เขาสงสัยว่าปัญหาน่าจะมาจากน้ำประปาเป็นแน่ จึงแจ้งนิติบุคคล         เบื้องต้นทราบว่า บริษัท N เจ้าของโครงการได้ตรวจสอบแทงก์น้ำด้านบนและด้านล่างของคอนโดพบว่า น้ำใสไม่มีสี แต่เมื่อมองผ่านน้ำลงไปเห็นอุปกรณ์ด้านล่างเป็นสนิม จึงมีการทดสอบโดยนำสำลีมากรองก๊อกน้ำบริเวณต่าง ๆ ภายในห้องที่พักอาศัย เช่น อ่างล้างหน้า อ่างล้างจาน ระเบียง เป็นต้น พบว่า น้ำไม่ใส สีเหลืองขุ่น และมีคราบตะกอนคล้ายสนิมติดอยู่ที่สำลี เมื่อพบปัญหาดังกล่าวบริษัทเจ้าของโครงการได้ทำการล้างแทงก์น้ำทั้งด้านบนและด้านล่างของคอนโด อย่างไรก็ตามหลังจากล้างแทงก์แล้วคุณภูผาและลูกบ้านก็ยังพบปัญหาอยู่เหมือนเดิม อาการผื่นแดงก็ยังไม่หายไปไป เขาได้ไปพบแพทย์ผิวหนังและเล่าปัญหาน้ำประปาในคอนโดให้คุณหมอฟัง คุณหมอลงความเห็นว่า เขาน่าจะแพ้น้ำประปา        เมื่อการล้างแทงก์น้ำไม่สามารถแก้ปัญหาได้ บริษัท N  จึงจ้าง E ซึ่งเป็นบริษัททดสอบคุณภาพน้ำ เข้าเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อนำไปทดสอบ โดยไม่ได้แจ้งให้เขาและลูกบ้านคนอื่น ๆ ทราบ ผลปรากฏว่า น้ำประปาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่บ่อพักน้ำชั้นดาดฟ้าตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย Salmonella         ต่อมามีการประชุมสามัญประจำปี 2561 ที่ประชุมได้นำปัญหาเรื่องน้ำในคอนโดเข้ามาพูดคุยเพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน ที่ประชุมมีความเห็นให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการเรื่อง “การตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาภายในคอนโด” ประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ บริษัท N  นิติบุคคล และกรรมการนิติบุคคล ตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อน-หลัง จำนวน 10 จุด โดย บ. S และล้างไล่ตะกอน(ฟลัชน้ำ) ในระบบท่อจ่ายน้ำหลักและปล่อยน้ำไล่ตะกอนในแต่ละห้อง โดยบริษัทเจ้าของโครงการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ผลทดสอบจาก บ. S ปรากฏว่า ค่าน้ำได้มาตรฐาน หลังจากการฟลัชน้ำลูกบ้านทำการทดสอบโดยใช้สำลีกรองน้ำ แต่ยังพบปัญหาเช่นเดิม คราวนี้น้ำยังมีเมือกและเหนียวอีกด้วย บริษัทเจ้าของโครงการชี้แจงว่าการทดสอบโดยสำลีไม่สามารถพิสูจน์หรือตรวจสอบคุณภาพน้ำได้ แต่ลูกบ้านยังเชื่อว่าน้ำไม่สะอาด จึงเสนอให้มีการตรวจตะกอนจากสำลีที่ใช้กรองน้ำ         ลูกบ้านมีจุดยืนว่าน้ำไม่สะอาด มีตะกอน ไม่สามารถใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคได้ตามปกติ ส่วนจุดยืนของบริษัทเจ้าของโครงการมีว่า ทดสอบคุณภาพน้ำแล้วอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้ คุณภูผาจึงพากลุ่มลูกบ้านมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อให้ช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำผู้ร้องว่า ปัญหาน้ำประปาไม่สะอาดอาจเกิดจากท่อน้ำของคอนโดไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งท่อน้ำถือเป็นส่วนควบของคอนโด บริษัทเจ้าของโครงการต้องรับผิดในเรื่องของความชำรุดบกพร่องของส่วนควบเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับแต่วันจดทะเบียนอาคารชุด ผู้ร้องและกลุ่มต้องทำหนังสือขอให้แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำประปาไปยังบริษัทฯ  เพื่อยืนยันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นยังอยู่ในระยะเวลา 2 ปีที่บริษัทต้องรับผิดชอบ และเป็นหลักฐานว่าลูกบ้านได้แจ้งแล้วแต่บริษัทไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้หากมีการดำเนินคดีในอนาคต         ต่อมาศูนย์พิทักษ์ฯ ได้นัดประชุมระหว่างกลุ่มลูกบ้าน บริษัทเจ้าของโครงการ ตกลงกันว่าให้มูลนิธิเป็นคนกลางเข้าตรวจสอบปัญหาน้ำประปาในโครงการว่ามีปัญหาหรือไม่ ผลการตรวจสอบพบว่า บางห้องน้ำไม่ใส มีตะกอนจริง         บริษัทฯ รับว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาห้องที่พบตะกอน และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนของค่ารักษาพยาบาลอาการผื่นแพ้น้ำของลูกบ้านที่มีปัญหา         ผ่านมาถึงปี 2562 คุณภูผา ยังพบปัญหาน้ำประปาขุ่นและมีตะกอนอีก แจ้งบริษัทฯ แล้วแต่ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ กลุ่มลูกบ้านจึงรวมตัวกันดำเนินคดีกับบริษัทเจ้าของโครงการโดยมีนิติบุคคลเป็นตัวแทนฝ่ายโจทก์ ขณะนี้เรื่องอยู่ในชั้นศาล ได้ความอย่างไรจะรายงานในคราวถัดไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 107 มาดื่มน้ำประปากันเถอะ....(พูดแล้วสยอง)

ของฝากจากอินเตอร์เน็ตในฉลาดซื้อฉบับนี้ เราจะมาคุยเรื่องที่พื้นฐานมากๆ เลย คือ เรื่องของน้ำดื่ม ซึ่งหลายท่านเคยถามว่า เราควรรู้อะไรบ้างในเรื่องเกี่ยวกับน้ำดื่ม ผู้เขียนเลยสั่งตัวเองว่า เรารู้อะไรก็น่าจะบอกให้ท่านผู้อ่านรู้เท่ากัน http://en.cop15.dk/ ซึ่งเป็นเว็บอย่างเป็นทางการของการประชุมเกี่ยวกับโลกร้อนที่กรุงโคเปนเฮเกน (ซึ่งจบอย่างไม่เป็นท่า) กล่าวว่า  “Water -- Due to the very high quality of groundwater in Denmark, all potable water at the conference venue will be tap-water served in decanters or at self-service automatic dispensers. This implies a considerable energy saving advantage because production, transportation and disposal of water bottles will be avoided.” ก่อนจะเข้าเรื่อง ผู้เขียนไปพบข้อความที่น่าอิจฉาใน ผู้เขียนขอแนะนำเว็บที่น่าสนใจเว็บหนึ่งคือ ในเว็บhttp://www.wtop.com มีบทความที่โดนใจคนทั้งโลกคือ หัวข้อ How safe is your tap water? Report finds hundreds of pollutants หัวข้อดังกล่าวนี้เป็นที่ตราตรึงใจคนไทยมานาน และยังไม่มีหน่วยงานใดในประเทศเราที่สามารถตอบให้ประทับใจสักที www.wopular.com ซึ่งเป็นเว็บที่รวมข่าวจาก CNN, NY Times, Digg, Google News, Twitter, YouTube, Flickr, Yahoo, Bing, Wikipedia และอื่น ๆ เพื่อให้สามารถติดตามข่าวสารสำคัญได้เร็วขึ้นโดยเข้าเว็บเดียวในเว็บนี้เมื่อค้นหาข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการดื่มน้ำโดยใช้กุญแจคำว่า dinking และ water ก็จะพบข้อมูลที่น่าสนใจต่างๆ เช่น คำจำกัดความของ น้ำดื่ม ว่าน้ำดื่มนั้นต้องมีคุณภาพที่ดีพอที่เราดื่มได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออันตรายต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต (“Drinking water or potable water is water of sufficiently high quality that it can be consumed or used without risk of immediate or long term harm.”) ซึ่งความจริงคำจำกัดความนี้มาจาก wikipedia นั่นเอง   ในศตวรรษนี้เราคงไม่เห็นข้อมูลแบบนี้ในการประชุมในประเทศไทยแน่ เนื่องจาก ground water ของประเทศเรานั้น นับวันมีแต่จะน่าเชื่อถือน้อยลงๆ และถ้ามีโรงแรมไหนเอาอย่างบ้างโดยกรอกน้ำก๊อกให้เรากินขณะไปใช้บริการ โดยไม่สนว่าคุณภาพน้ำก๊อกของเราเหมือนที่โคเปนเฮเกนหรือไม่ เราคงได้ฮาแบบขื่นขมกันทั่วหน้า เพราะในความเป็นจริงแล้ว แม้ตัวมาตรฐานข้อกำหนดคุณภาพน้ำของเราลอกของ WHO มาเด๊ะๆ เลย แต่ความจริงย่อมอยู่เหนือความสามารถว่ามันเป็นอย่างนั้นหรือไม่ อะไรๆ ที่มันเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมันก็มักเป็นเช่นนี้ในประเทศไทย ดูตัวอย่างที่มาบตาพุดก็แล้วกัน มีแต่เรื่องมันๆ ทั้งนั้น แล้วชาวบ้านจังหวัดไหนบ้างที่อยากให้พื้นที่ตัวเองเป็น มาบตาพุด 2   www.wtop.com กล่าวว่า มีผู้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลราว 20 ล้านข้อมูลที่ได้จากรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาพบว่า ตั้งแต่ปี 2004 นั้นมีการพบมลพิษในน้ำประปาถึง 316 ชนิด ซึ่งเป็นมลพิษที่มาจาก 97 แหล่ง เช่น จากการเกษตรรวมถึงสารกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี และของเสียจากชุมชน ที่สำคัญคือ มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมมีถึง 205 ชนิด พร้อมอีก 86 ชนิดจากน้ำเสียโรงงานที่มีระบบการกำจัดน้ำเสีย เป็นต้น ทั้งนี้เพราะการผลิตน้ำประปาที่ส่งให้เมืองใหญ่นั้นมักใช้น้ำท่า ในรูปแบบที่ประเทศไทยทำเช่นกัน เพราะน้ำท่าหรือน้ำจากแม่น้ำนั้นต้นทุนถูก มาตรฐานเรื่อง dirnking water ของ WHO นั้นสามารถเข้าไปดูได้จะจะเลยที่ http://www.who.int/water_sanitation_health/dwq/fulltext.pdf ซึ่งเป็นหนังสืออีเล็คโทรนิคหนา 668 หน้า แต่มันค่อนข้างบอกอะไรต่อมิอะไรมากเกินความต้องการของผู้บริโภค เพราะเขาเล่าประวัติศาสตร์และกระบวนการทำมาตรฐานน้ำ ซึ่งเหมาะเฉพาะกับผู้ที่ปฏิบัติการเกี่ยวกับการทำน้ำประปา หรือต้องการทำรายงานส่งอาจารย์เท่านั้น   การที่พบจำนวนสารพิษในน้ำประปาของประเทศที่เจริญแล้วนั้น ไม่ได้บอกว่าน้ำนั้นไม่ได้มาตรฐาน เพราะปริมาณมลพิษแต่ละชนิดที่เจอนั้นอาจต่ำมากๆ เพียงแต่ว่าประเทศที่เจริญแล้วเขาวิเคราะห์ได้ด้วยเครื่องมือที่วิลิศมาหราในขณะที่บางประเทศยังไม่โอกาสซื้อเครื่องมือชั้นวิลิศมาหรามาวิเคราะห์เลยไม่เจอ คนในประเทศนั้นก็คงยังสบายใจ เพราะทางผู้ผลิตน้ำประปาในหลายประเทศมักบอกว่า ไม่พบ (ซึ่งไม่ได้แปลว่าไม่มี) ที่น่าประหลาดใจมากก็คือ Jane Houlihan ซึ่งเป็นคนสำคัญของ EWG หรือ The Environmental Working Group กล่าวว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของมลพิษเหล่านี้ไม่ได้ถูกกำหนดปริมาณที่ก่อให้เกิดอันตราย เพราะไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลกลาง จึงไม่น่าประหลาดใจที่ตรวจพบส่วนผสมของน้ำมันเครื่องบินเจ็ท สารเปอคลอเรต สารอะซีโตน สารกำจัดวัชพืช น้ำยาจากระบบปรับอากาศและตู้เย็น ตลอดจนสารเรดอนที่เป็นผลพลอยได้จากการสลายตัวของสารกัมมันตรังสีในน้ำประปาบางแหล่งของประเทศเขาดังที่ได้ขยักไว้ว่าจะคุยเรื่องมาตรฐานน้ำดื่มว่าควรเป็นอย่างไร ท่านผู้อ่านคงเคยได้เห็นคำคุยของการประปาประเทศหนึ่งในจอโทรทัศน์ประเทศหนึ่งแล้วว่า น้ำประปานั้นอยู่ในระดับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า เป็นการรับรอง ณ. หน้าโรงผลิตน้ำนะครับ ซึ่งคงคล้ายน้ำประปาที่บ้านผู้เขียนที่เมื่อเติมลงในอ่างเลี้ยงปลา หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ก็มีแหนเกิดขึ้นได้ แสดงว่าไข่แหนนั้นมันคงเล็กมากเกินกว่าจะกรองออก ก็ยอมรับครับ ไม่ได้ร้องเรียนอะไร http://www.lenntech.com/applications/drinking/standards/who-s-drinking-water-standards.htm ซึ่งเป็นรายละเอียดที่เกี่ยวกับชนิดและปริมาณที่ไม่ควรเกินของสารเคมีที่มีได้ในน้ำดื่มของคนทั่วไปที่ไม่ได้ป่วย มีตัวอย่างที่น่าทึ่งบวกอึ้งคือ มีการกำหนดปริมาณของสารก่อมะเร็งที่เกินไม่ได้ไว้ด้วย สารเหล่านี้อยู่ในกลุ่มที่จัดว่าเป็น สารอินทรีย์ (organic compounds) ได้แก่ carbon tetrachloride, dichlormethne , chlorinated hydrocarbon ต่างๆ กลุ่มสารที่เรียกว่า solvents ของโรงงานอุตสาหกรรมแถวมาบตาพุด ยาฆ่าแมลงที่มีการห้ามใช้แล้วเพราะก่อมะเร็งและทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้นสารพิษเหล่านี้สามารถพบได้ในน้ำที่อยู่ในมาตรฐานของ WHO ซึ่งกำหนดให้มีได้ไม่เกินค่าที่ไม่ควรก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ดื่มน้ำ ทั้งนี้เพราะในหลักการทางพิษวิทยาแล้ว มนุษย์ (ที่แข็งแรง) มีความสามารถในการกำจัดสารพิษที่กินเข้าไปได้ในระดับหนึ่งมาถึงตอนนี้ ถ้าบทความนี้ทำให้เกิดความไม่สบายใจต่อผู้ดื่มน้ำประปาแล้ว ก็มีเว็บที่แนะนำว่า ดื่มน้ำที่กรองผ่านระบบกรองน้ำก็แล้วกัน โดยให้ไปเลือกดูสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบจาก http://www.consumersearch.com/water-filters ซึ่งน่าจะพอเชื่อได้ว่า ไม่ได้เสียเงินเปล่า ส่วนผู้ดื่มน้ำประปานั้นแนะนำให้ไปดูที่   เว็บหนึ่งซึ่งผู้เขียนใช้บริการบ่อยคือ www.about.com มีเรื่องเกี่ยวกับการดื่มน้ำที่น่าสนใจเขียนโดย Shereen Jegtvig บทความนั้นชื่อ Drinking Water to Maintain Good Health ซึ่งบอกว่า น้ำนั้นสำคัญมาก อาการขาดน้ำของร่างกายที่ดูได้ชัด ๆ คือ เวลาปัสสาวะแล้ว ถ้ากลิ่นแรงและ/หรือมีสีเหลืองเข้ม นั่นแหละ........ ใช่เลย ขาดน้ำแน่ เหตุที่จำเป็นต้องเชิญให้ไปดูเว็บต่างประเทศ เพราะหาเว็บของราชการไทย ที่กล้าออกมาแนะนำว่าให้ซื้อระบบกรองน้ำของบริษัทใดไม่ได้ เหตุที่ยังหาไม่ได้เนื่องจากยังไม่มีใครว่างจะทำ นี่คือคำตอบของบุคลากรของหน่วยงานหนึ่งที่ควรมีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับมาตรฐานเครื่องมือต่างๆ ที่ผู้บริโภคมักใช้   http://www.miamiherald.com ว่า Tourist killed by hotel water ซึ่งตัวเนื้อข่าวคือ มีนักท่องเที่ยวคนหนึ่งเกิดไปตายในขณะที่มีคนอีกสองคนป่วยหลังจากเข้าพักในโรงแรมหรูในเมืองไมอามี เนื่องจากการติดเชื้อที่เรียกว่า Legionnaire's Disease ปัญหาเกี่ยวกับการขาดน้ำของคนทำงานกับโต๊ะ คือ ไม่ได้ออกไปไหนคือ ยุ่งกับงานจนลืมดื่มน้ำ ซึ่งอาจเพราะเหงื่อไม่ค่อยออก หรือคิดว่ากินน้ำมากไปเดี๋ยวไตพังเนื่องจากทำงานหนัก แบบที่มีนักวิชาเกินบางคนกะล่อนไว้ในเน็ต นักวิชาการคนนี้อาจคิดว่าตนเองเป็นกิ้งก่าทะเลทรายกลับชาติมาเกิด จึงต้องการน้ำน้อย Shereen บอกไว้ในบทความของเธอว่า มนุษย์ต้องการน้ำวันหนึ่งค่อนข้างเยอะ ถ้าอยากสุขภาพดี เธอแนะนำว่า เราควรดื่มน้ำเท่ากับน้ำหนักตัวเราคิดเป็นปอนด์ (1 กิโลกรัม เท่ากับ 2.2 ปอนด์) แล้วหารด้วยสอง จะได้ปริมาตรน้ำที่ต้องดื่มคิดเป็น ออนซ์ (ounce) โดยที่ 1 ออนซ์ของอเมริกัน คือ 0.03 ลิตร ดังนั้น ถ้าท่านผู้อ่านหนัก 70 กิโลกรัม หรือ 154 ปอนด์ ซึ่งเมื่อหาร 2 แล้วจะได้ผลลัพธ์ว่า ท่านก็ควรดื่มน้ำ 77 ออนซ์ หรือ 2.31 ลิตร เป็นอย่างน้อย ในกรณีที่ท่านผู้อ่านออกกำลังกายเป็นเรื่องเป็นราว ท่านควรดื่มน้ำเพิ่มอีกอย่างน้อยราว 240 มิลลิลิตร หรือง่าย ๆ คือ 1 แก้ว ทุก 20 นาที ที่กำลังออกกำลังกาย ถ้านั่งเครื่องบินก็ควรดื่มน้ำเพิ่มชั่วโมงละ 1 แก้ว เช่นกัน (แต่ต้องมั่นใจว่าถ้านั่งข้างหน้าต่างเครื่องและคนนั่งข้างทางเดินไม่อ้วนเกินไป เพราะมิเช่นนั้นเวลาจะขยับตัวไปปลดปล่อยน้ำเสีย อาจลำบากเนื่องจากปัจจุบันที่นั่งบนเครื่องบินใกล้จะมีความห่างของแถวเก้าอี้คล้ายรถ (ร้อน) ร่วม ขสมก เข้าทุกที ที่สำคัญถ้าคุณชอบทำผิดศีลข้อห้าหรือดื่มกาแฟ คุณควรดื่มน้ำเท่ากับปริมาตรเครื่องดื่มที่คุณดื่มเข้าไปด้วย แล้วก็เตรียมมองหาโถปัสสาวะไว้เพื่อป้องกันความขายหน้า เพราะน้ำชา กาแฟ และเหล้า ล้วนแต่นำสู่การปวดปัสสาวะทั้งสิ้น ในวันที่กำลังเขียนบทความนี้คือ 14 ธันวาคม 2552 มีข่าวในเว็บ   มีผู้ตั้งสมมุติฐานว่า “After a hotel's powerful filter removed all the chlorine from city water, bacteria grew -- killing one and making two others ill..” ซึ่งแปลง่าย ๆ ให้ได้ความว่า เนื่องจากระบบกรองน้ำของโรงแรมดีมากเกินไป จนกรองเอาคลอรีนที่ใช้ฆ่าเชื้อในน้ำประปาออกไปหมด น้ำในระบบท่อของโรงแรมเลยมีเชื้อให้เกิดการป่วยได้ เลยทำให้ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าตำรับ เปิดน้ำดื่มจากก๊อกได้เลยต้องเสียหน้าด้วยประการฉะนี้   ในบทความที่คนทั้งโลกน่าจะสนใจนี้กล่าวว่า ชาวอเมริกัน 53.6 ล้านคนได้รับมลพิษที่ปนเปื้อนในระบบน้ำที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการประปาของประเทศแล้ว ทั้งนี้เพราะน้ำที่ผ่านมาตรฐานนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นน้ำที่ปลอดจากสารพิษ (แต่มาตรฐานจะกำหนดว่ามีสารพิษใดบ้างได้และไม่เกินเท่าใด ขอขยักไว้ก่อนว่าข้อมูลส่วนนี้เป็นอย่างไร โดยจะกล่าวถึงหลังจากจบเรื่องของเว็บนี้)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 174 รู้เท่าทันการทำความสะอาดแผลด้วยน้ำประปา

เมื่อร่างกายเกิดแผลขึ้น  ความเชื่อที่ถูกสอนกันมาอย่างต่อเนื่องและสอนกันผิดๆ ก็คือ เราต้องใช้ยาฆ่าเชื้อโดยเฉพาะทิงเจอร์ไอโอดีนเทลงบนแผลหรือทาที่แผลสดเลยเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค  ความจริงแล้วเราสามารถใช้น้ำประเภทต่างๆ มาทำความสะอาดแผลได้  โดยไม่ต้องหรือที่ถูกก็คือห้ามใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทาที่แผล  น้ำที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ น้ำเกลือธรรมดา(น้ำเกลือธรรมดาที่มีความเข้มข้นร้อยละ 0.9 ซึ่งเท่ากับกับความเข้มข้นของเกลือในกระแสเลือดของคนปกติ)  เหตุที่ทางการแพทย์นิยมใช้น้ำเกลือธรรมดาเพราะว่ามีเข้มข้นของเกลือเท่ากับเลือดและไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการเยียวยาของแผลตามปกติ  อย่างไรก็ตาม น้ำเกลือมีจำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาและใช้ในโรงพยาบาลเท่านั้น  เราสามารถใช้น้ำประปาในการทำความสะอาดแผลแทนน้ำเกลือได้หรือไม่?  และมีผลในการหายของแผลได้เหมือนน้ำเกลือธรรมดาหรือไม่?  ถ้าได้จะเป็นการประหยัดและสะดวกอย่างมาก  เราลองมารู้เท่าทันการทำความสะอาดแผลด้วยน้ำประปากันเถอะ    ห้องสมุดคอเครน  ได้ทำการทบทวนข้อมูลและการศึกษาวิจัยจากงานการทบทวนของคอเครนเอง และงานวิจัยของ MEDLINE, EMBASE และ EBSCO CINAHL โดยได้ทำการคัดกรองการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมที่เปรียบเทียบการใช้น้ำกับสารอื่นๆ ในการทำความสะอาดแผล  การรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลใช้นักวิชาการสองท่านทำงานแยกจากกัน    ผลการทบทวนงานการศึกษาทดลอง 11 การศึกษา พบว่า  การใช้น้ำประปาในการทำความสะอาดแผลในผู้ใหญ่และเด็กไม่มีผลต่อการติดเชื้อที่แผลอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำเกลือ  และไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของการติดเชื้อที่แผลระหว่างการทำความสะอาดแผลด้วยน้ำประปากับการไม่ทำความสะอาดแผลด้วยวิธีการใดๆ  ในแผลเรื้อรังก็ไม่พบมีความแตกต่างของการติดเชื้อเช่นเดียวกัน  การใช้น้ำเกลือธรรมดา น้ำกลั่น และน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วในการทำความสะอาดแผลกระดูกหักแบบเปิดก็ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในการติดเชื้อที่กระดูก     ผลการทบทวนสรุปว่า  ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการใช้น้ำประปาในการทำความสะอาดแผลสดในผู้ใหญ่หรือเด็กจะเพิ่มหรือลดการติดเชื้อ  ยังไม่มีหลักฐานหนักแน่นพอว่า การล้างแผลนั้นช่วยให้การหายของแผลเร็วขึ้นหรือลดการติดเชื้อ  ในกรณีที่ไม่มีน้ำประปา อาจใช้น้ำที่ต้มสุกและเย็นแล้ว เช่นเดียวกับน้ำกลั่นในการทำความสะอาดแผลได้    ท่านผู้อ่านคงสบายใจได้แล้วนะครับว่า  ถ้ามีแผลสด แผลเรื้อรัง  เราสามารถใช้น้ำประปา (ที่สะอาดและดื่มได้) หรือน้ำดื่มที่มีตราของอย. มาทำความสะอาดแผลได้โดยไม่ต้องวิ่งหาซื้อน้ำเกลือธรรมดา  โรงเรียนในชนบทก็ไม่ต้องซื้อน้ำเกลือธรรมดามาเก็บตุนไว้เพื่อรอทำแผลเด็กนักเรียน  ใช้น้ำเปล่าบรรจุขวดที่มีตราอย.แทนได้เลย ที่สำคัญเลิกใช้ยาฆ่าเชื้อทาที่แผลสดโดยตรง  อย่างมากก็ทารอบๆ แผลก็พอหมายเหตุ:  ศึกษาเพิ่มเติมใน  Water for wound cleansing  โดย  Ritin Fernandez, Rhonda Griffiths ตีพิมพ์ออนไลน์เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ร้องประปาเชียงใหม่ ใช้ข้อความข่มขู่

“หากไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด อาจถูกงดจ่ายน้ำ และต้องชำระเงินค่าธรรมเนียม 535 บาท”เป็นข้อความแบบนี้ล่ะครับ ที่คุณสุธน เห็นว่าเป็นการข่มขู่ผู้ใช้บริการน้ำประปา ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการผิดนัดชำระค่าน้ำเลยเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 คุณสุธนได้ส่งแฟกซ์มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยมีข้อร้องเรียนด้วยลายมือหนึ่งหน้ากระดาษ พร้อมสำเนาใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงใหม่ ที่มีข้อความเจ้าปัญหาล้อมกรอบสี่เหลี่ยมอยู่ใต้ชื่อและที่อยู่ของผู้ใช้บริการน้ำประปาคุณสุธนบอกว่า ตนพึ่งได้รับบริการ ติดตั้งประปาที่บ้านไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพราะบ้านอยู่นอกเขตเทศบาล แต่ให้มาเสียความรู้สึกทุกครั้งเมื่อต้องมาเจอข้อความในกรอบสี่เหลี่ยมนี้ และมีข้อสังเกตว่า เหตุใดกิจการรัฐวิสาหกิจของรัฐที่เป็นองค์กรเพื่อบริการสาธารณูปโภคของประชาชน จึงสามารถ(ข่มขู่ ขูดรีด) จากผู้ใช้บริการได้ขนาดนี้ ในกรณีหากผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าใช้บริการน้ำประปา“ผมขอฝากร้องเรียน และสอบถามผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการด้วย... เห็นการข่มขู่เช่นนี้แล้วทนไม่ได้ครับ เห็นใจคนจนๆ อื่นๆ” เป็นข้อความทิ้งท้ายของคุณสุธน แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อได้รับข้อร้องเรียนและสำเนาใบแจ้งค่าใช้บริการน้ำประปาจากคุณสุธน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนนี้ไปยังผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาคและผู้จัดการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาไม่นานได้รับหนังสือตอบกลับจากการประปาส่วนภูมิภาคสำนักงานใหญ่ว่า การประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงใหม่(ชั้นพิเศษ)ได้ออกไปพบและเรียนชี้แจงสร้างความเข้าใจกับคุณสุธนจนเป็นที่พึงพอใจแล้วและในส่วนข้อความเจ้าปัญหาที่ประทับตราลงในใบแจ้งค่าบริการน้ำประปานั้น ได้รับข้อมูลแจ้งว่า การประปาส่วนภูมิภาคเชียงใหม่(ชั้นพิเศษ) ไม่ได้ประทับตราข้อความนี้ลงในใบแจ้งค่าบริการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554มูลนิธิฯ ขอขอบพระคุณการประปาส่วนภูมิภาคที่ใส่ใจต่อสิทธิผู้บริโภคในครั้งนี้ และขอให้กิจการเป็นที่รักใคร่ของประชาชนเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ นะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 กระแสต่างแดน

สร้างแลนด์มาร์คชาวเมืองโอลกีอาสโตร ซิเลนโต เมืองเล็กๆ ในแคว้นคัมพาเนีย ของอิตาลี ออกมาคัดค้านแผนการสร้างรูปปั้นแลนด์มาร์คของเมือง ด้วยงบประมาณ 150 ล้านยูโร (เกือบ 6,000 ล้านบาท) ทั้งๆ ที่ถนนและระบบประปายังอยู่ในสภาพย่ำแย่ เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงพ่อพีโอ นักบุญผู้เป็นที่เคารพรักของชาวอิตาลี นายกเทศมนตรีเมืองนี้ประกาศว่าจะสร้างรูปปั้นของท่านให้มีความสูงถึง 85 เมตร (เทพีเสรีภาพของอเมริกา หรือรูปปั้นพระเยซูมหาไถ่ในบราซิล ซึ่งสูงประมาณ 46 เมตร จะดูเล็กไปเลย)   ชาวบ้านส่วนใหญ่(จากทั้งหมด 2,200 คน) ไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อน ทั้งๆที่โครงการนี้มีมูลค่าสูงลิบ เงินเหล่านี้ควรนำไปปรับปรุงท่อส่งน้ำประปา สร้างถนนเพิ่ม หรือไม่ก็สร้างสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกที่มีแผนจะสร้างมาตั้งแต่ 22 ปีก่อนให้เสร็จเสียที นายกฯ เขายืนยันว่ารูปปั้นนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาใช้จ่ายเงิน เพิ่มรายได้ให้คนท้องถิ่น โครงการดังกล่าวดำเนินต่อไป โดยยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้เงินทุนจากแหล่งใด เงินภาษี? เงินอียู? หรือเงินบริจาคจากภาคเอกชน?  คืนข้ามปีเป็นที่รู้กันว่าโรงพยาบาลที่ไหนๆ ต่างก็เจอศึกหนักในคืนข้ามปี ยืนยันได้ด้วยรายงานตัวเลขผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคแอลกอฮอลเกินกว่าเหตุ แต่ปีนี้ที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย ทั้งตำรวจและทีมแพทย์ฉุกเฉินต่างยินดีเป็นที่ยิ่ง เพราะมีเหตุวุ่นวายน้อยลงกว่าปีก่อนหน้า อาจมีคนเรียกรถพยาบาลบ้าง แต่ก็เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ผู้อำนวยการแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลเซนต์วินเซนต์ ถึงกับกล้าฟันธงว่า ปีใหม่ที่ผ่านมานี่ถือว่าเป็นปีใหม่ที่ยอดเยี่ยมที่สุด เขาดีใจที่การรณรงค์ที่ผ่านมาได้ผลดีจนคนออสซี่เริ่ม “ดื่ม” แบบศิวิไลซ์มากขึ้น เป็นการส่งสัญญาณว่า แม้จะไม่เมาแต่เราก็ยังดูการแสดงดอกไม้ไฟตอนเคานท์ดาวน์ได้สนุกเหมือนเดิม     ด้านนายกเทศมนตรี ก็เป็นปลื้มที่วัฒนธรรมการดื่มของผู้คนกำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับในอีกหลายๆ ประเทศ (อาจยังไม่รวมประเทศไทย) แต่ที่กรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล เหตุการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง ทั้งตำรวจ ทั้งหน่วยกู้ภัยต่างงานล้นมือกันในคืนก่อนปีใหม่ มีผู้ป่วยถูกนำตัวเข้ามารับการรักษาฉุกเฉินที่โรงพยาบาลมาเกน เดวิด ถึง 461 คน ในจำนวนนี้มีเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลเพราะดื่มแอลกอฮอลมากไปถึง 63 คน   เรื่องไม่กล้วยนักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ออกมาเตือนว่า อีกไม่นานกล้วยหอมเขียวคาเวนดิช ซึ่งเป็นกล้วยพันธุ์ยอดนิยมที่สุดในขณะนี้กำลังจะถูกล้างเผ่าพันธุ์โดยเชื้อรา TR4 เชื้อราสายโหดนี้สามารถกบดานรอเวลาจู่โจมได้ถึง 30 ปี มันลงมือด้วยการทำลายกลไกการส่งน้ำ ต้นกล้วยจึงเหี่ยวเฉาอย่างรวดเร็วและแห้งตายในที่สุด TR4 (Tropical Race 4) ถูกค้นพบครั้งแรกในไต้หวัน หลังจากมันเป็นสาเหตุการตายหมู่ของต้นกล้วยจำนวนมาก 3 ปีก่อนหน้านั้น แต่เรื่องนี้มีคนรู้ค่อนข้างน้อย ต่อมามันได้แพร่กระจายเข้าไปในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงที่อื่นๆ เช่น จอร์แดน ปากีสถาน เลบานอน โอมาน และออสเตรเลีย ที่สำคัญ ยาฆ่าเชื้อราที่มีอยู่ขณะนี้ไม่สามารถทำอะไรมันได้ และถ้ามันขึ้นฝั่งละตินอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตกล้วยหอมร้อยละ 80 ของโลกได้ เราคงจะลำบากแน่   แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ครั้งหนึ่งกล้วยหอมพันธุ์กรอส มิเชล ก็เคยถูกโรคปานามากวาดล้างไปแล้ว นักวิจัยเสนอให้เร่งพัฒนากล้วยหอมสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถต้านทานโรคนี้ได้ ปัญหาคือมันต้องใช้ต้นทุนสูง แล้วใครจะอยากลงทุนวิจัยและพัฒนา “พืชกำพร้า” อย่างกล้วยหอม ถ้ามันถูกจัดให้เป็น “พืชเศรษฐกิจ” ก็คงจะดี ฉันก็เป็น ... ผู้หญิงคนหนึ่งสาวประเภทสองชาวญี่ปุ่นนางหนึ่ง ประกาศจะฟ้องสถานออกกำลังกายที่ไม่ยอมให้เธอใช้ห้องน้ำหญิง โดยอ้างว่าตามกฎหมายแล้วเธอยังเป็นผู้ชายอยู่ สุภาพสตรีรายนี้ประกาศว่าจะยื่นฟ้องต่อศาลแขวงเมืองเกียวโต เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย 4.8 ล้านเยน (ประมาณ 1.5 ล้านบาท) จากบริษัทโคนามิ สปอร์ตคลับ   ในปี 2552 เธอเป็นสมาชิกของสถานออกกำลังกาย สาขาในเกียวโต ในสถานภาพของผู้ชาย หลังจากถูกวินิจฉัยในปี 2555 ว่าเธอมีภาวะความไม่พอใจในเพศของตัวเอง เธอจึงเริ่มทานฮอร์โมนตามคำแนะนำของแพทย์ และเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศในปี 2557 ก่อนการผ่าตัด เธอได้ปรึกษาครูฝึกว่าถ้าเธอกลับมาในรูปลักษณ์ของผู้หญิง เธอจะสามารถใช้ห้องน้ำและห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าของผู้หญิงได้หรือไม่? แต่เธอได้รับคำตอบปฏิเสธจากผู้จัดการสาขา ซึ่งยืนยันว่าเธอจะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อเธอได้แจ้งเปลี่ยนเพศอย่างเป็นทางการแล้วแต่เธอทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะเธอมีลูกสาวที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี(กฎหมายญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 20 ปีแจ้งเปลี่ยนเพศ เพื่อป้องการการเกิดกระทบทางจิตใจต่อเด็ก) เธอบอกว่าอยากให้สังคมญี่ปุ่นเห็นความสำคัญของการเคารพสิทธิในการเลือกตัวตน และเธอต้องการเรียกร้องสิทธิที่จะใช้ชีวิตตามเพศที่เธอเลือก เพราะเธอมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ตามมาตรา 13 ในรัฐธรรมนูญ  ทำไมไม่แจ้ง?ตามประกาศฉบับใหม่ ผู้ใช้บริการรถไฟที่ได้รับความเดือดร้อนจากการยกเลิกเที่ยววิ่งหรือมาช้ากว่ากำหนดจะมีสิทธิขอเงินคืนได้ แต่การสำรวจล่าสุดของ Which? องค์กรผู้บริโภคในอังกฤษพบว่ามีเพียง 1 ใน 3 ของผู้โดยสารกลุ่มดังกล่าวเท่านั้นที่ยื่นเรื่องขอเงินคืน และเมื่อถามว่า ครั้งล่าสุดที่รถไฟของคุณมาสาย คุณได้รับการแจ้งสิทธิเรื่องการขอเงินคืนหรือไม่? ก็มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ตอบว่าได้รับแจ้ง สายสืบที่ปลอมตัวไปเป็นผู้โดยสารในสถานีรถไฟ 102 สถานี พบว่า มีไม่ถึง 1 ใน 5 ของสถานีเหล่านั้นที่อธิบายให้ผู้โดยสารเข้าใจเงื่อนไขการขอเงินคืน และมากกว่าร้อยละ 60 ไม่แจ้งผู้โดยสารว่าพวกเขามีสิทธิดังกล่าว ทั้งๆ ที่ผู้โดยสารเข้าไปถามกับเจ้าหน้าที่โดยตรง    สำนักงานกำกับดูแลการขนส่งทางรางและทางถนน Office of Rail and Road (ORR) ก็มีข้อมูลที่ยืนยันว่าผู้โดยสารมีการรับรู้เรื่องนี้น้อยมาก ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการได้มาร่วมลงนามเรื่องการให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้ที่มาซื้อตั๋วโดยสาร (ข้อมูลที่ว่านั้นหมายรวมถึงสิทธิในการได้รับเงินคืนด้วย)ผู้ประกอบการรถไฟบางเจ้ามีระบบคืนเงินอัตโนมัติ กรณีที่ผู้โดยสารซื้อตั๋วล่วงหน้าผ่านบัตรเครดิต แล้วขบวนรถเที่ยวนั้นมาสาย บางเจ้าใช้วิธีแจกตั๋วฟรีให้นำไปใช้วันหลัง เป็นต้น    เรื่องนี้ต้องติดตามตอนต่อไป Which? กำลังยืนเรื่องต่อ ORR ให้สอบสวนว่าเหตุใดผู้ประกอบการเหล่านั้นจึงไม่มีการแจ้งผู้โดยสารตามที่ได้ตกลงกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 กระแสต่างแดน

น้ำขวดหรือจะสู้น้ำประปา บริษัทที่ขายน้ำดื่มในอเมริกานั้นทำกำไรได้ปีละหลายล้านเหรียญจากความเชื่อที่ว่าน้ำดื่มบรรจุขวดนั้นสะอาดบริสุทธิ์กว่าน้ำประปาบ้านๆ แต่หารู้ไม่ว่าการผลิตน้ำขวดดังกล่าวมีการควบคุมดูแลน้อยกว่าน้ำประปาด้วยซ้ำ รายงานที่นำเสนอในสภาคองเกรสของสหรัฐระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐมีอำนาจน้อยมากในการกำกับดูแลความปลอดภัยของน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่ในบางมลรัฐที่พอจะมีอำนาจจัดการอยู่บ้างก็ให้ความสำคัญกับการควบคุมการผลิตน้ำประปามากกว่า บาร์ท สตูพัค ผู้แทนจากรัฐมิชิแกนบอกว่า คนอเมริกันยินดีจ่ายเงินซื้อน้ำบรรจุขวด ซึ่งมีราคามากกว่าน้ำจากก๊อกถึง 1,900 เท่า และใช้พลังงานมากกว่า 2,000 เท่าในการผลิตและการขนส่ง ในขณะที่มีน้ำดื่มบรรจุขวดถูกเรียกคืนเพราะมีการปนเปื้อนของสารหนู โบรเมท เชื้อรา และแบคทีเรีย อยู่เป็นระยะๆ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา   แม้แต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาก็มีรายงานข่าวว่ามีเด็กนักเรียนนับสิบรายที่ป่วยหลังจากดื่มน้ำบรรจุขวดที่ซื้อจากตู้ขายน้ำอัตโนมัติ รายงานดังกล่าวยังระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐไม่ได้ควบคุมปริมาณของสารประกอบ DEHP (ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ) ในน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่หน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมมีการควบคุมปริมาณสารดังกล่าวในน้ำประปา แต่ทางสมาคมผู้ผลิตน้ำบรรจุขวดบอกว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีสารนี้ในน้ำดื่มบรรจุขวดซึ่งผ่านการควบคุมมาหลายขั้นตอนแล้ว สมาคมฯ บอกว่าในปีที่ผ่านมา คนอเมริกันนั้นดื่มน้ำกันไปทั้งหมด 8,700 ล้านแกลลอน หรือ ประมาณคนละ 28.5 แกลลอน รายได้จากการขายน้ำดื่มบรรจุขวดในปีดังกล่าวสูงถึง 11,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 380,000 ล้านบาท) ที่นี่ไม่มีน้ำขวดคราวนี้ข้ามทวีปมาที่ออสเตรเลียกันบ้าง มาดูปรากฏการณ์น่าสนใจที่เมืองบันดานูน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซีดนีย์ ประชากร (ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 2,500 คน) ของเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้เห็นร่วมกันว่าควรจะกำจัดสิ่งที่เรียกว่า “น้ำดื่มบรรจุขวด” ออกไปจากเมืองเสียที เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขั้นตอนการบรรจุขวดและการขนส่ง แต่ไม่ต้องกลัวว่าไปเที่ยวเมืองนี้แล้วจะไม่มีน้ำดื่มดับกระหายนะพี่น้อง เขามีขวดเปล่าเอาไว้ให้รองน้ำจากตู้กดน้ำที่ตั้งไว้ทั่วไปตามท้องถนนเอาไว้ดื่มกันให้เปรม ส่วนกับทางร้านค้านั้น เขาก็ไม่ได้บังคับขืนใจให้หยุดขายน้ำดื่มบรรจุขวดแต่อย่างใด ปล่อยให้เป็นความสมัครใจของร้านค้าต่างๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 50 ร้าน การรณรงค์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะมีบริษัทที่ชื่อว่า นอร์เล็กซ์ โฮลดิ้ง จะมาตั้งโรงงานเพื่อสูบเอาน้ำจากเมืองนี้แล้วส่งเข้าไปบรรจุขวดในโรงงานที่ซีดนีย์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 120 กิโลเมตร ผู้คนที่เมืองนี้คัดค้านแผนการดังกล่าว และขณะนี้บริษัทฯ ก็ยังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาล เป็นใครก็คงรับไม่ได้ ถ้าจะมีคนมาสูบน้ำไปจากบ้านเราแล้วเอาไปใส่ขวดกลับมาขายเราอีก การรณรงค์ของชาวเมืองบันดานูนนี้ถือว่าได้ผลทีเดียวเพราะรัฐนิวเซาท์เวลส์ก็รับลูกทันที ผู้ว่าการรัฐออกมาประกาศว่าต่อไปนี้ห้ามหน่วยงานของรัฐใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดเด็ดขาด คนออสซี่ก็ใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดไม่น้อย ถึงปีละ 500 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 13,000 กว่าล้านบาท) เลยทีเดียว ผู้หญิงเชิญตู้อื่น... นะครับใครจะไปนึกว่าวันหนึ่งคุณสุภาพบุรุษชาวญี่ปุ่นเขาจะออกมาเรียกร้องขอรถไฟตู้พิเศษสำหรับชายล้วน ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ต้องมีการเบียดเสียดกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เพราะว่ากลัวจะโดนผู้หญิงแต๊ะอั๋งหรอกนะ แต่เป็นเพราะไม่อยากถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคุณสุภาพสตรีมากกว่า ก็รถมันแน่นซะขนาดนั้น จะทำตัวล่องหนก็วิทยายุทธ์ยังไม่แก่กล้าพอ จากข้อมูลของตำรวจญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2550 มีคุณผู้ชายถูกจับข้อหาลวนลามสตรีเพศถึง 2,000 คนเลยทำให้บริษัทที่จัดการเรื่องรถไฟต้องมีการกำหนดให้ตู้โดยสารบางตู้เป็นเขตปลอดผู้ชาย ที่นี้เลยทำให้เกิดไอเดียสุดเจ๋งตามมา คือมีการขอตู้โดยสารสำหรับชายล้วนๆ บ้าง ผู้ที่เสนอไอเดียเรื่องตู้โดยสารสำหรับชายล้วนนี้ได้แก่ผู้ถือหุ้นจำนวนสิบคน (ข่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง) ของบริษัทเซบุ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟในเขตโตเกียว ที่เสนอทางออกในการแก้ปัญหาหลังจากที่บริษัทได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณผู้หญิงจำนวนมากว่าถูกลวนลาม และในขณะเดียวกันก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ชายที่ถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคนอื่นๆ ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ทำด้วย ว่าแล้วก็เลยเสนอว่าน่าจะจัดตู้พิเศษสำหรับชายล้วนด้วยมันถึงจะเท่าเทียม แต่คณะกรรมการเขาลงมติไม่รับข้อเสนอนี้ โดยให้เหตุผลว่าจนถึงขณะนี้มีผู้โดยสารชายออกมาโวยวายน้อยมาก ก็เลยต้องขอรบกวนให้นั่งตู้เดียวกับคุณผู้หญิงต่อไป งานนี้ไม่รู้ใครกลัวใครแล้ว ผิดด้วยหรือที่ไม่อยากโชว์แขน ร้านเสื้อผ้ายี่ห้อดัง อะเบอร์ครอมบี้แอนด์ฟิทช์ (Abercrombie & Fitch) ถูกพนักงานขายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 25,000 ปอนด์ หรือประมาณ 1.4 ล้านบาท โทษฐานที่เลือกปฏิบัติต่อเธอ พนักงานขายคนนี้ชื่อ เรียม ดีน เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน เธออายุ 22 ปีและใช้แขนเทียมมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ตอนแรกที่รับเธอเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขายนั้น ทางร้านอะเบอร์ครอมบี้ ในย่านหรูของลอนดอน อนุญาตให้ดีนใส่เสื้อแขนยาวเพื่อปกปิดแขนเทียมไว้ในขณะให้บริการลูกค้าได้ แต่ผ่านไปไม่กี่วันทางร้านก็บอกกับเธอว่าเธอต้องถอดเสื้อคลุมแขนยาวนั้นออกให้เหลือแต่เสื้อยืดตัวในเหมือนพนักงานคนอื่นๆ เมื่อเธอปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น จึงเท่ากับว่าเธอฝ่าฝืนนโยบายเรื่องการแต่งกายของบริษัท เธอจึงถูกย้ายเข้าไปทำงานในห้องเก็บสินค้า ทั้งนี้ผู้ใหญ่ของบริษัทให้เหตุผลว่าควรให้ดีนทำงานอยู่หลังร้านไปจนกว่าจะถึงฤดูหนาวที่พนักงานทุกจะได้ใส่เสื้อแขนยาวได้โดยไม่ผิดระเบียบ เมื่อมีข่าวเรื่องนี้ออกมา ทางร้านก็ปฏิเสธเสียงแข็งว่าดีนคงเข้าใจอะไรผิดไปแน่ๆ เพราะความจริงแล้วทางบริษัทมีนโยบายต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างแข็งขันเลยทีเดียวนะ แต่ดีนอาจจะเข้าใจถูกก็ได้ เพราะในปี พ.ศ. 2547 เพียงปีเดียว บริษัทนิว อัลบานี เจ้าของแบรนด์ดังกล่าว ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ก็เคยถูกฟ้องร้องเพราะการเลือกปฏิบัติ และต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานเป็นจำนวนถึง 50 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1,700 ล้านบาท) มาแล้ว อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดภายในปี พ.ศ. 2555 กว่า 1.3 ล้านครัวเรือนในนิวซีแลนด์ จะต้องติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้อยู่อาศัยกับบริษัทที่ให้บริการไฟฟ้า และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถประหยัดเงินค่าไฟได้ นี่ย่อมเป็นเรื่องดีเห็นๆ แต่ปัญหามันอยู่ที่รัฐบาลปล่อยให้บรรดาผู้ให้บริการไฟฟ้า (ซึ่งในนิวซีแลนด์มีอยู่ถึง 11 บริษัท) เป็นผู้ที่รับผิดชอบติดตั้งมิเตอร์เหล่านี้กันเอง โดยไม่มีการควบคุมดูแล แจน ไรท์ กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐสภานิวซีแลนด์ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้บรรดาผู้ประกอบการเหล่านั้น พยายามหลีกเลี่ยงการตั้งการทำงานของมิเตอร์ดังกล่าวในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งคุณไรท์ก็บอกว่าไม่น่าแปลกใจ เพราะการใช้ไฟมากขึ้นย่อมหมายถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ประกอบการนั่นเอง ความจริงแล้วมิเตอร์อัจฉริยะที่ว่านี้นอกจากจะทำให้บริษัทสามารถรู้ปริมาณการใช้ไฟของแต่ละครัวเรือนโดยไม่ต้องส่งคนมาเดินจดแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงินและสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าอัตราค่าไฟในขณะนั้นเป็นเท่าไร และช่วงไหนเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ากันมาก โดยไมโครชิพในมิเตอร์จะทำหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบอัจฉริยะที่จะมีออกมาจำหน่ายในอนาคตอันใกล้นี้ มิเตอร์ที่ว่าจะปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะได้โดยอัตโนมัติ ในช่วงที่มีการใช้ไฟสูง แต่บริษัทกลับไม่ได้ใส่ไมโครชิพที่ว่าให้กับมิเตอร์ที่กำลังติดตั้งกันอยู่ในขณะนี้ให้กับ 800,000 ครัวเรือน และมิเตอร์เหล่านั้นก็ไม่มีระบบแสดงข้อมูลตามเวลาจริงเพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้บริโภคด้วย เช่น บางคนอาจจะยังเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นในสระว่ายน้ำไว้เพราะไม่รู้ตัวว่าค่าไฟได้ขึ้นราคาไปแล้ว เป็นต้น คุณไรท์ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ติดตั้งไมโครชิพที่ว่านี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะออกมาขายทำไม และถ้าจะติดตั้งเพิ่มในภายหลังก็จะมีค่าใช้จ่ายอีกถึง 60 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์ (ประมาณ 1,300 ล้านบาท) อีกด้วย สรุปว่าถ้ารัฐบาลยิ่งปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคต้องติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดกันไปโดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >