ฉบับที่ 203 หนังสือรับสภาพความผิด ไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ

ครั้งนี้ผมจะนำเกร็ดความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับการทำสัญญารับสภาพความผิด มาเล่าสู่กันฟัง หากกล่าวถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ คงไม่เข้าใครออกใคร ตัวอย่างที่จะยกมาเล่าครั้งนี้ ก็เป็นเรื่องของเหรัญญิกคนหนึ่งที่ต้องดูแลเงินของกองทุนหมู่บ้าน แต่ด้วยความโลภก็เอาเงินดังกล่าวไปใช้ส่วนตัว ต่อมามีการทำหนังสือสัญญารับสภาพความผิด และมีข้อตกลงจะรับผิดชอบหาเงินมาคืน แต่สุดท้ายเหรัญญิกก็ผิดสัญญา ไม่คืนเงิน คณะกรรมการกองทุนจึงมาฟ้องคดีให้คืนเงิน ซึ่งก็มีประเด็นที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาว่า หนังสือรับสภาพความผิดที่ทำกัน มีผลทำให้มูลหนี้เดิมระงับไปแล้วหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาก็ได้ตัดสินโดยวางหลักไว้ว่า หนังสือรับสภาพความผิดไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ และมิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไป โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่6271/2558 หนังสือรับสภาพความผิดจำเลยทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้นำเงินของโจทก์ไปใช้ส่วนตัวในระหว่างดำรงตำแหน่งเหรัญญิกของโจทก์ และจำเลยยินยอมชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยให้ครบถ้วนภายในวันที่ 1 มิถุนายน  2554 หนังสือรับสภาพความผิดดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานที่จำเลยทำขึ้นฝ่ายเดียวตกลงยอมรับผิดชำระหนี้ที่จำเลยนำเงินของโจทก์ไปใช้โดยไม่ชอบ มิใช่คู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมที่จำเลยนำเงินของโจทก์ไปใช้ระงับไปแล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งไม่มีการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้ระงับไปอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีข้อเท็จจริงใกล้เคียงกัน ศาลฎีกาได้ตัดสินว่า เมื่อกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหายแล้ว ต่อมาผู้กระทำผิดได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้และตกลงจะชำระเงินคืนให้ผู้เสียหาย หากผิดนัดยินยอมให้ผู้เสียหายดำเนินคดี ยังไม่ถือเป็นการยอมความกัน เมื่อต่อมามีการผิดสัญญารับสภาพหนี้ ก็ยังมีสิทธิฟ้องคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์ได้คำพิพากษาฎีกาที่ 270/2558เดิมจำเลยได้กระทำการยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหายในคดีนี้และก่อนมีการดำเนินคดีผู้เสียหายกับจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้กัน มีใจความว่า จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้ผู้เสียหายเนื่องจากได้กระทำทุจริตยักยอกเงินค่าไม้และวัสดุก่อสร้างของผู้เสียหายไป เป็นเงิน 260,597.80 บาท จำเลยตกลงชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเงิน 100,000 บาท วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเงิน 80,289.90 บาท และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเงิน 80,289.90 บาท หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดและยินยอมให้ผู้เสียหายเรียกเงินส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 10 และยินยอมให้แจ้งความดำเนินคดีฐานทุจริตยักยอกเงินของผู้เสียหาย ปัญหามีว่าถ้อยคำตามหนังสือรับสภาพหนี้เป็นการยอมความกันหรือไม่ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อตกลงตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว เป็นข้อตกลงที่จำเลยรับว่าเป็นหนี้ผู้เสียหายในเงินที่จำเลยยักยอกไปและจะชดใช้หนี้ให้ผู้เสียหายโดยวิธีการผ่อนชำระเท่านั้น ซึ่งมีผลผูกพันกันทางแพ่งและเป็นสิทธิทางแพ่งที่ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าผู้เสียหายตกลงสละสิทธิ์ในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39(2) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงยังไม่ระงับไปจากตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองข้างต้น ทุกท่านจะเห็นว่า เวลามีการตกลงทำหนังสือรับสภาพความผิดก็ดี หนังสือรับสภาพหนี้ก็ดี ในกรณีมีการทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ สัญญาดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นการทำให้หนี้ที่เกิดขึ้นระงับไป ไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ผู้เสียหายที่ถูกยักยอกเงินยังมีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องคดีเพื่อติดตามเอาเงินคืนได้ และมีสิทธิดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ได้ด้วย 

อ่านเพิ่มเติม >