ฉบับที่ 248 ประกันโควิด ‘เจอ จ่าย (ไม่) จบ’ บทเรียนและความเสียหายที่ (ยัง) ไม่จบ

สถานการณ์โควิด-19 สร้างความเสียหายอย่างมากต่อชีวิตและเศรษฐกิจ ประชาชนจำนวนไม่น้อยจึงต้องบริหารความเสี่ยงด้วยการซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกันภัย เพื่อหวังเป็นอีกหนึ่งที่พึ่งหากเจ็บป่วยด้วยไวรัสร้ายนี้         ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาในช่วงต้นๆ ของการแพร่ระบาดเป็นประเภท ‘เจอ จ่าย จบ’ หมายความว่าหากผู้เอาประกันตรวจพบว่าตนเองติดเชื้อก็สามารถเคลมค่าสินไหมได้ทันที สินมั่นคงประกันภัยเป็นเจ้าแรกๆ ที่จับจองตลาดประกันภัยแนวนี้ก่อนที่เจ้าอื่นๆ จะทยอยตามมา        แต่บริษัทประกันภัยคงไม่คิดว่าสถานการณ์ที่เหมือนกำลังคลี่คลายจะกลับมารุนแรงจากการระบาดระลอก 3 และ 4 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึงวันละหมื่นกว่าราย กลางปี 2564 สินมั่นคงประกาศยกเลิกประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ โดยจะคืนเบี้ยประกันให้กับผู้ซื้อประกัน ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต้องยื่นมือเข้ามาจัดการ สินมั่นคงประกันภัยจึงกลับไปให้การคุ้มครองตามเดิม และนั่นคือสัญญาณแรกของความเสียหาย         เจอ จ่าย (ไม่) จบ แต่เอเชียประกันภัยจบไปแล้ว         ข้อมูลจาก คปภ. ที่ปรากฏในสื่อระบุว่า ถึงต้นเดือนกันยายนปี 2564 ทั่วประเทศมีการร้องเรียนเกี่ยวกับประกันภัยโควิดสูงถึงถึง 1,671 กรณี ขณะที่ปี 2563 มีเพียง 366 กรณีเท่านั้น โดยเรื่องร้องเรียน 5 อันดับแรก ประกอบด้วย         1. บริษัทประกันไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ        2. บริษัทบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดและคืนค่าเบี้ยประกันภัย        3. ผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับกรมธรรม์        4. บริษัทปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยรายวันหรือจ่ายไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่พักรักษาตัว        5. ประเด็นอื่นๆ เช่น การขอแก้ไขข้อมูลในกรมธรรม์ การหักเบี้ยประกันภัยซ้ำซ้อน ร้องเรียนตัวแทนขาย         ต่อมาเราจึงได้เห็นภาพผู้ซื้อประกันที่ไม่มั่นใจสถานะการเงินของบริษัทประกันภัยไปรวมตัวเรียกร้องที่หน้าบริษัทตามที่เป็นข่าว         กระทั่งวันที่ 15 ตุลาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) เนื่องจากมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายนถึง 14 ตุลาคม ทางบริษัทต้องจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้เอาประกันถึง 13,000 คน คิดเป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท ถ้าปล่อยให้ประกอบธุรกิจต่อไปผู้บริโภคจะได้รับความเสียหาย         “บริษัทประกันที่แบกรักความเสี่ยงสามารถจ่ายค่าเคลมประกันให้ผู้บริโภคทุกรายหรือไม่” นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ตั้งคำถาม “เนื่องจากซื้อประกันหลักร้อยบาท แต่เวลาเคลมคือหลักหมื่นกับหลักแสนบาท มันแบกรับความเสี่ยงไว้หลายร้อยเท่า บริษัทประกันต้องมีตัวเลขว่าขายไป 100 กรมธรรม์ คุณได้เท่าไหร่ คุ้มไหม ดังนั้น เขาจะคำนวณจากพื้นฐานการเคลมประกัน แต่ด้วยมันเป็นวิกฤตโรคระบาด มันคุมสถานการณ์ไม่ได้ แล้วทุกคนก็มีความเสี่ยงติดเชื้อ ไม่รู้ว่าบริษัทประกันประเมินความเสี่ยงอย่างไร”         คปภ. ออกมาตรการเยียวยาผู้บริโภค         การล้มครืนของเอเชียประกันภัยทำให้กองทุนประกันวินาศภัยต้องเข้ามารับบทบาทเป็นผู้ชำระบัญชีและจ่ายค่าสินไหมให้แก่ผู้เอาประกัน โดยทาง คปภ. ได้ออกมาตรการเยียวยารองรับ ชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กลุ่มงาน: ด้านกฎหมายคดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ยืนยันกับ ‘ฉลาดซื้อ’ ว่า ทางกองทุนจะมีกระบวนการทำงานและจ่ายค่าสินไหมให้กับทุกรายแน่นอน         “การประกันภัยโควิดเท่าที่ผ่านมาช่วงที่หนักคือระลอก 3 และ 4 ในปีนี้ บริษัทประกันภัยก็พยายามหาผลิตภัณฑ์ที่จะตอบโจทย์การบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชน มีเงื่อนไขการคุ้มครองหลากหลายแตกต่างกัน แต่ที่มีปัญหาคือเงื่อนไขเจอ จ่าย จบ ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุทางธุรกิจประกันกับบริษัทเอเชียประกันภัย         “โดยปกติแล้วกรมธรรม์ที่ขายจะมีเงื่อนไขการคุ้มครอง เช่น การเสียชีวิตจากโควิด-19 หรือได้รับเชื้อแล้วมีอาการโคมา ค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายวัน แต่การคุ้มครองแบบเจอ จ่าย จบ มีประมาณสี่ห้าบริษัทที่ขายประกันแบบนี้เยอะ ทำให้ค่าสินไหมที่ต้องจ่ายกับเบี้ยประกันไม่สัมพันธ์กัน ซึ่ง คปภ. ก็ดูแลใกล้ชิดมาตลอดและพยายามแก้ไข แต่เนื่องจากว่าบริษัทประกันที่ขายประกันลักษณะนี้ขายเร็วมาก ประชาชนทำประกันเร็วมากทุกช่องทาง”         ทั้งนี้มาตรการเยียวยาที่ คปภ. ออกมากรณีที่กรมธรรม์ยังคุ้มครอง แต่ยังไม่เกิดภัย ทาง คปภ. ได้ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทยและกองทุนประกันวินาศภัยจัดหาบริษัทประกันภัยที่ยินดีเข้าโครงการรับกรมธรรม์ต่อจากเอเชียประกันภัยประมาณ 15 บริษัท โดยกรณีกรมธรรม์โควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ ทางบริษัท ทิพยประกันภัย จะรับต่อ โดยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขว่าเมื่อพบการติดเชื้อและมีอาการโคม่าจึงจะจ่ายค่าสินไหมในจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากกรมธรรม์เดิม เช่น ถ้ามีความคุ้มครองที่ 50,000 บาท ทางบริษัทจะเพิ่มเป็น 300,000 บาท เบี้ยประกันที่ต้องจ่ายคือ 300 บาท         ในกรณีที่ไม่ต้องการต่ออายุกรมธรรม์ทางกองทุนจะคืนเบี้ยประกันให้ หรือหากต้องการทำกรมธรรม์ประเภทอื่นก็สามารถนำเบี้ยที่เหลือจากกรมธรรม์โควิดไปชำระและได้ส่วนลด 500 บาท         ในส่วนของประกันภัยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 เช่น ประกันรถยนต์ อัคคีภัย บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการจะรับช่วงต่อ ทั้งนี้ชำระเบี้ยเฉพาะส่วนต่าง เช่นมีความคุ้มครองเหลืออยู่ 6 เดือนคิดเป็นเบี้ยประกัน 6,000 บาท ถ้าบริษัทประกันภัยที่มารับต่อคิดเบี้ยประกันทั้งปีที่ 12,000 บาท ผู้เอาประกันจะชำระเพียง 6,000 บาท แล้วทางบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับส่วนต่าง 6,000 บาทจากกองทุนฯ         “ส่วนกรณีที่บางบริษัทมีเงื่อนไขเจอ จ่าย จบ แล้วยังมีการเคลมอยู่มากและกำลังทยอยจ่ายค่าสินไหมทดแทน ทาง คปภ. ก็ดูแลอย่างใกล้ชิด พูดคุยปรึกษาหารือกับผู้บริหารบริษัทซึ่งรับปากว่าไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ โดยทั่วไปแล้วในเชิงระบบก็ไม่มีปัญหาอะไร มีความมั่นคงทุกบริษัท” ชนะพล กล่าว         ด้าน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า กองทุนประกันวินาศภัยไม่มีปัญหาสภาพคล่องแต่อย่างใด แม้จะต้องจ่ายชดเชยให้กับผู้เอาประกันของเอเชียประกันภัย         ความเสียหายที่ (ยัง) ไม่จบ         บริษัทเอเชียประกันภัยฯ เป็นแค่หนังตัวอย่าง บริษัทหลายแห่งที่ระดมขายประกันโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ ไปก่อนหน้านี้ก็อยู่ในภาวะลูกผีลูกคน เมื่อยอดเคลมประกันโควิด-19 ทั้งระบบมีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท จากเบี้ยประกันที่ 6,000 ล้านบาท ซ้ำเติมด้วยเงื่อนไขกรมธรรม์ที่ต้องจ่ายค่าสินไหมภายใน 15 วัน หากสภาพคล่องไม่เพียงพอก็อาจต้องเดินตามรอยเอเชียประกันภัยฯ         คาดการณ์ว่ายอดค่าสินไหมจะสูงกว่า 35,000 ล้านบาทเมื่อถึงสิ้นปี เนื่องจากยังมีกรมธรรม์ประเภทนี้ตกค้างในระบบประมาณ 13-14 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งการประกาศเปิดประเทศของรัฐบาลทำให้หลายภาคส่วนกังวลว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะกลับมารุนแรงอีกครั้ง หมายความว่ายอดเคลมประกันมีโอกาสเพิ่มเป็น 40,000  ถึง 50,000 ล้านบาท         ทำให้มีการประเมินว่าความเสียหายจากประกันโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ อาจไม่จบง่ายๆ และลุกลามต่อเนื่อง คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร จึงมีการเรียกให้ผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงและเรียกร้องให้กระทรวงการคลังเปิดเผยข้อมูล         จากเว็บไซต์มติชน วันที่ 26 ระบุว่า ทาง กมธ. ได้สอบถามตัวแทน คปภ. ว่า เหตุการณ์จะลุกลามเป็นโดมิโนหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่าไม่แน่ใจ และ...         ‘อาจจะมี ซึ่งน่าจะมีประมาณ 5 บริษัท รวมบริษัทเอเชียประกันภัยแล้ว เท่ากับว่าเหลือให้ประชาชนลุ้นกันเองตามยถากรรมอีก 4 บริษัท ทั้งนี้ กมธ. ได้ขอให้ คปภ.เปิดเผยว่ารายชื่อกว่า 40 บริษัท 16 ล้านกรมธรรม์นั้น ใครไปทำประกันโควิดกับบริษัทไหนจะได้เปลี่ยนบริษัท ซึ่งก็ไม่ได้รับคำตอบ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในอำนาจที่จะบอกได้ว่าอีก 4 บริษัทที่ทำท่าจะล่อแล่ จะอยู่รอดปลอดภัยหรือไม่’         เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แนะนำกับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากเอเชียประกันภัยว่า         “ถ้าคุณป่วยหลังบริษัทถูกเพิกถอน คุณก็ไปเคลมกับกองทุนฯ สมมติว่าเขาจ่ายแล้วแต่คุณเห็นว่าควรได้รับตามเงื่อนไขมากกว่านี้ คุณก็อาจต้องคุยกับกองทุนฯ ถ้าเขายังยืนยันตามนี้ คุณก็ต้องฟ้องกองทุนฯ ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทเอเชียประกันภัย แต่ถ้าโอเคก็จบ”         บทเรียน         นฤมล กล่าวว่า กรณีนี้เป็นบทเรียนของหน่วยงานกำกับดูแลที่ควรเข้าไปตรวจสอบสภาพคล่อง ฐานะการเงิน ผลิตภัณฑ์และเงื่อนไขการเคลมของบริษัทว่าเบี้ยประกันกับค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายมีความสัมพันธ์กันหรือไม่         “คปภ. ต้องออกหลักเกณฑ์ใหม่เพราะบางทีไม่ใช่เจอจ่ายจบ เพราะเงื่อนไขนี้ไม่จำเป็นต้องรักษาพยาบาล แค่เจอ ก็ต้องจ่ายแล้ว แต่จะจ่ายชดเชยกรณีต้องนอนรักษาตัว ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่แค่ในโรงพยาบาล มีการไปพักตามโรงแรม มี Community Isolation มี Home Isolation เวลาซื้อประกันง่ายมากเลย แต่ตอนเคลมยุ่งยากมาก เพราะส่วนใหญ่ซื้อแบบเจอ จ่าย จบกับชดเชยรายวัน คนที่เจอไม่มีคนไหนหรอกที่ไม่ต้องรักษาตัว คนที่ซื้อประกันเจอจ่ายจบและมีชดเชยควรได้รับชดเชยด้วย มาตรการในอนาคตคือเอกสารการเคลมประกันต้องไม่ตึงเกินไปจนทำให้ผู้บริโภคกระดิกตัวไม่ได้         “เช่น กรณี Home Isolation ไม่ได้ไปอยู่โรงพยาบาลจะเอาใบรับรองแพทย์ที่ไหน แต่โรงพยาบาลเป็นคนตรวจให้ก็ควรจบ แต่บริษัทประกันใช้ช่องนี้ในการประวิงเวลาจ่าย บริษัทต้องเอาเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้บริโภคส่งมาไปตรวจสอบกับโรงพยาบาลหรือประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ให้ชัดเจน เพราะโรงพยาบาลมีระบบที่ดูแลเรื่องประกันสุขภาพอยู่แล้ว ไม่ควรปล่อยให้เป็นภาระของผู้บริโภค”         ด้านชนะพลเห็นด้วยในแง่ที่ว่ากรณีนี้ถือเป็นบทเรียนของอุตสาหกรรมประกันภัยและ คปภ. ซึ่งทาง คปภ. จะทำแนวทางปฏิบัติออกมาในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบ กฎหมาย         “ขณะนี้มีการริเริ่มดำเนินการแล้วว่าต่อไปลักษณะของกรมธรรม์บางประเภทหรือเพื่อรองรับเหตุการณ์ต่างๆ อาจต้องมีความรอบคอบในการอนุมัติกรมธรรม์ คุณสมบัติ เงื่อนไข หรือความมั่นคงของบริษัท ผมเข้าใจว่าถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกคงจะไม่มีลักษณะนี้อีก เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงก็ควรปรับปรุงให้สามารถรองรับสถานการณ์ต่างๆ ได้โดยไม่เพลี้ยงพล้ำหรือไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น         “ฐานะการเงินของบริษัทเรามอนิเตอร์ใกล้ชิดมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรทรัพย์สิน เรามีมาตรฐานการกำกับเป็นระบบสากลเหมือนกัน ตรงนี้ไม่น่าห่วง ที่น่าห่วงคือบริษัทประกันในบ้านเรามีหลายขนาด ฐานะการเงินก็จะแตกต่างกันจากขนาด เพียงแต่ว่าในอนาคตถ้ามันจะมีโรคระบาดอีก กรมธรรม์ในลักษณะนี้อาจจะต้องคำนึงถึงความมั่นคงของบริษัทประกันภัยด้วย”         ในส่วนของเอเชียประกันภัย ชนะพล กล่าวว่า เนื่องจากกองทุนส่วนหนึ่งเป็นเงินหลวงที่ต้องนำมาจ่ายให้ประชาชน คปภ. กำลังตรวจสอบพฤติกรรมความผิดต่างๆ ว่ามีหรือไม่ เช่น ผู้บริหารบริษัทมีนโยบายเร่งรัดการขาย มีการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์รอบคอบเพียงพอหรือไม่ บางทีอาจจะไม่ประสงค์ต่อผล แต่พอเกิดการแพร่ระบาดจำนวนมากยังเร่งขายกรมธรรม์เจอ จ่าย จบ โดยเล็งเห็นผลหรือไม่ว่าถ้ามีคนติดเชื้อจำนวนมากจะไม่มีเงินจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งหากเล็งเห็นก็จะมีการดำเนินคดีต่อไป         อาจบางที การวิเคราะห์ของบริษัทประกันภัยไม่ได้นำความเสี่ยงอันเนื่องจากรัฐบาลเข้ามาคิดด้วยหรือไม่ก็ประเมินรัฐบาลไว้สูงเกินไปมากจนนำมาสู่บทสรุปเช่นที่เป็นอยู่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2564

อนุทินแจงสาธารณสุขโดนแฮกข้อมูลคนไข้จริงสั่งเร่งแก้ปัญหา        จากกรณีเพจเฟซบุ๊กน้องปอสาม ได้เปิดเผยถึงการถูกแฮกข้อมูลผู้ป่วย 16 ล้านราย ของกระทรวงสาธารณสุขไทย วันที่ 7 กันยายน 2564  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เผยว่า ยอมรับว่าข้อมูลผู้ป่วยถูกแฮกจริง โดยข้อมูลที่ถูกแฮกเกิดขึ้นใน จ.เพชรบูรณ์ และเคยเกิดที่ จ.สระบุรี แต่เป็นข้อมูลทั่วไป ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นความลับแต่ประการใด ทั้งนี้ ได้สั่งให้ปลัด สธ. เร่งดำเนินการแก้ไข ด้าน นพ. ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงการณ์กรณีการแฮกข้อมูลผู้ป่วยว่า ข้อมูลที่โดนประกาศขายมาจากฐานข้อมูลย่อยที่ทางเจ้าหน้าที่ของ รพ. ต้นทาง ไม่ได้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาล ซึ่งแฮกเกอร์ได้เพียงข้อมูลชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ สิทธิในการรักษา อาทิ ประกันสังคม ข้าราชการ บัตรทอง ประวัติการนัดคนไข้ของแพทย์ ข้อมูลการแอดมิท ตารางเวรของแพทย์และการคำนวณรายจ่ายการผ่าตัดราว 692 ราย เพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ส่วนการดำเนินการตรวจสอบเรื่องความเสี่ยงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษามั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ สธ. และกระทรวงดีอีเอส ได้มีการแบ็กอัพข้อมูลทั้งหมด ว่ายังมีสิ่งใดซ่อนอยู่ในเซิร์ฟเวอร์หรือไม่” องค์การเภสัชกรรมเตือน “ฟาวิพิราเวียร์” ขายออนไลน์ผิดกฎหมาย        วันที่ 8 กันยายน 2564  ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า มีผู้แอบอ้างประกาศขายยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ขององค์การเภสัชกรรมที่ได้ทำการผลิตวิจัยและพัฒนาเองผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยระบุเป็นยาขององค์การเภสัชฯ จึงขอเตือนผู้บริโภคระวังอาจได้ยาปลอมและการขายผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากยาฟาวิพิราเวียร์จัดอยู่ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษ โดยสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้นและต้องติดตามผลการรักษาตลอด ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถวางขายทั่วไปและออนไลน์ได้ กระท่อม "ต้ม-ปรุงอาหารขาย" ยังผิดกฎหมาย        กรณีพืชกระท่อมถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และประชาชนเริ่มค้าขายใบกระท่อมได้นั้น เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า หลังจากรัฐสภาได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) ซึ่งเป็นการถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อมว่าสามารถทำในส่วนใดได้บ้าง ขอชี้แจงว่า ส่วนของการเคี้ยวใบ การปลูก การครอบครองและขายใบสด โดยไม่ได้ปรุงหรือทำเป็นอาหารสามารถทำได้อย่างเสรีไม่ผิดกฎหมาย แต่หากนำไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรและแจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆ จะต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพราะมีกฎหมาย พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุม        หรือการนำไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขายนั้น  พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ยังไม่ปลดล็อคให้สามารถนำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลย ก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิตเพื่อจำหน่าย โดยประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ.2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมนั้น เป็นอาหารที่ห้ามผลิตนำเข้าหรือจำหน่าย การฝ่าฝืน ผลิต และขาย อาหาร ที่ พ.ร.บ.อาหาร ห้ามมีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือน-2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท ตรวจสอบผ้าก่อนอบแห้ง        จากกรณีมีคลิปวิดีโอเผยแพร่เครื่องอบผ้ามีไฟลุกท่วมของร้านสะดวก Otteri wash & dry ซึ่งทางต้นคลิปได้ระบุว่า เจ้าของน่าจะเป็นการลืมไฟแช็กไว้ในกระเป๋าเสื้อผ้า  ทางบริษัท อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย จำกัด เจ้าของแบรนด์แฟรนด์ ได้ชี้แจ้งสาเหตุว่า ไม่มีการลืมไฟแช็คในผ้าและเกิดจากการนำผ้าที่ไม่ควรนำเข้าอบใส่ในเครื่องอบ หลังบริษัทลงพื้นที่ตรวจสอบระบบแก๊สและระบบไฟฟ้า พบว่ามีการทำงานปกติ และได้มีการตรวจสอบ ณ จุดเกิดเหตุไฟไหม้ที่เครื่องอบผ้า พบว่า ซากของผ้าที่อยู่ด้านในกลายสภาพเป็นพลาสติกแข็ง ซึ่งเป็นชุดกีฬา ชุดผ้าร่ม ซึ่งเป็นผ้าที่ไม่ควรนำเข้าเครื่องอบ เพราะเส้นใยผ้าที่ผ่านสภาพการใช้งานพักหนึ่งจะไม่สามารถทนต่อความร้อนได้ จึงจะดำเนินการเพิ่มคือ มีป้ายประกาศเรื่องของชนิดผ้าที่ห้ามนำเข้าเครื่องอบติดตั้งอยู่ภายในร้าน ศาลตัดสิน “จ่ายค่าเสียหายผู้พิการ”กรณีสร้างลิฟต์ระบบไฟฟ้าบีทีเอสล่าช้า 5 ปี        จากกรณีภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้และภาคีคนพิการ ร่วมกันฟ้องยื่นฟ้อง กทม. ปี 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาวันที่ 20 มกราคม 2558 ให้ กทม. จัดทำลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามกฎหมายในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส สายแรกที่อยู่ในสัมปทานให้ครบทั้ง 23 สถานี ภายในวันที่ 21 มกราคม 2559 แต่จนถึงปี 2564  ยังไม่ดำเนินการสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้เสร็จได้ เป็นเวลา 5 ปีแล้ว วันที่ 15 กันยายน 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้นัดฟังคำพิพากษา กรณีเรียกร้องค่าเสียหายที่ กทม. ไม่สามารถสร้างลิฟต์บนระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสให้เสร็จภายใน 1 ปี ด้านนายสว่าง ศรีสม ผู้จัดการโครงการและแผนงานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ กทม. ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทาน รับผิดชอบค่าเสียหายให้แก่ผู้พิการที่ร่วมฟ้องกว่า 500 คนที่ได้รับความเสียหาย โดยต้องมีภูมิลำเนาใน กทม. และพิสูจน์ได้ว่าทำงาน/อยู่อาศัยใน กทม. ต้องใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นประจำ เป็นค่าชดเชยค่าเสียหายจำนวน 5,000 บาทต่อคน รวมดอกเบี้ย ร้อยละ 7 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ควรจะทำให้แล้วเสร็จ เป็นเวลา 5 ปี และให้กทม.จ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายภายใน 6-7 วัน   เคลมประกันโควิดเกิน 15 วัน เร่งใช้สิทธิร้องทุกข์        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผย ผู้ร้องเรียนกรณีเคลมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกิน 15 วัน บางส่วนได้รับค่าสินไหมแล้ว หลังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพายื่นเรื่องที่ คปภ. เมื่อวันที่ 10 กันยายน แม้ยังมีผู้ที่ไม่ได้รับค่าสินไหมกว่าครึ่งของรายชื่อที่ส่งไป แต่คาดว่าคงได้รับการแก้ไขปัญหาทุกราย         นางสาวฟิตรีนา อาลี เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคที่พบปัญหาเรื่องบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้า เกิน 15 วัน สามารถร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเตรียมเอกสารดังนี้ 1. ใบรับรองแพทย์ 2. รายงานการตรวจ RT-PCR (ถ้ามี)  3. สำเนากรมธรรม์  4. สำเนาหน้าบัญชีธนาคาร  5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  ส่งมาให้ทางมูลนิธิฯ ซึ่งจะรวบรวมและทยอยส่งให้ทาง คปภ.ดำเนินการ เนื่องจากมีผู้เสียหายทยอยร้องเรียนเข้ามาเรื่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 ประสบการณ์ในการเคลมค่าสินไหมจากผู้บริโภค “ประกันภัยโควิด-19”

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพาผู้ร้องเรียน กรณีบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกิน 15 วัน ไปยื่นเรื่องเร่งรัดบริษัทประกันให้จ่ายค่าสินไหม ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) นั้น มีผู้ร้องเรียนกรณีเคลมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกิน 15 วัน บางส่วนได้รับค่าสินไหมแล้ว แต่ยังมีผู้เดือดร้อนกว่าครึ่งของรายชื่อที่ส่งไปที่ไม่ได้รับค่าสินไหม ฉลาดซื้อ จึงพาผู้อ่านมาพบกับผู้บริโภค 2 ท่าน ที่จะมาเล่าถึงประสบการณ์ในการเคลมค่าสินไหม “ประกันภัยโควิด-19”         ท่านแรก คุณนุชนาฎ หอมชื่น ผู้ร้องเรียนบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้า กล่าวว่า เธอทำประกันกลุ่มกับบริษัทที่ทำงานซึ่งทำประกันโควิดให้ เพื่อเป็นสวัสดิการด้านการเจ็บป่วย โดยเลือกทำประกันกับเอเชียประกันภัย เพราะมีข้อเสนอและเงื่อนไขที่น่าสนใจ เมื่อเทียบข้อเสนอและเบี้ยประกันที่จ่ายกับบริษัทอื่นแล้ว มีความคุ้มค่ากับสิ่งที่พนักงานควรได้รับ         คุณนุชนาฎ เป็นคนแรกที่ติดเชื้อโควิดในบริษัท ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 หลังจากที่หายป่วยเธอจึงรีบยื่นเอกสาร จนผ่านมาเป็นเดือนก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับมา         “คือจริงๆ ตอนแรกคิดว่าอย่างไรเขาก็ต้องจ่ายเพราะว่าทางบริษัทมีเอกสารที่ถูกต้องในการยื่นขอกรมธรรม์ มีเอกสาร มีบัตรประชาชนมีเลขกรมธรรม์ แล้วเราก็ยื่นเอกสารปกติไม่คิดว่าจะล่าช้า พอยื่นเอกสารหลังจากที่หายป่วย ยื่นเอกสารตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม จนแบบมาเป็นเดือนแล้วคะพี่ ก็คือทั้งโทรไปแล้วก็ไลน์ไปตามก็คือโทรแต่ไม่มีผู้รับสายเลย ส่วนไลน์เช็คก็จะขึ้นว่าคุณไม่พบข้อมูล ประมาณนี้คะพี่ แล้วในช่วงระหว่างหนึ่งเดือนพนักงานก็เริ่มมีการติดเชื้อโควิดมากขึ้น คือหนูเป็นคนแรกที่ติดเชื้อเลย แล้วก็พอระยะเวลาที่เรายื่นประกันไปก็มีเพื่อนร่วมงานติด เพื่อนก็ยื่นเราก็เลยคิดว่าเราต้องติดตามแล้วนะ ก็มาตั้งคำถามว่าเอกสารเรามันไปถึงไหนแล้วอย่างนี้คะ” เมื่อติดต่อบริษัทไม่ได้แล้ว ไปร้องเรียนที่ไหนบ้าง         ทีนี้พอติดต่อไม่ได้เราก็เลยปรึกษาฝ่ายบุคคลของบริษัท ปรึกษาว่าทำไมถึงติดต่อประกันไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่ยื่นเอกสารไปก่อนหน้านี้แล้ว HR จึงปรึกษาฝ่ายบริหารว่าตอนนี้เจ้าหน้าที่ที่ติดโควิดยื่นเอกสารไปแล้วแต่ประกันไม่ติดต่อกลับมาเลย         โชคดีค่ะ ที่บริษัทมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลที่คอยให้คำปรึกษาและก็ช่วยเหลือก็เลยได้ไปปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยเป็นธุระจากนั้นมูลนิธิฯ จึงพาไปที่ คปภ.ค่ะ        หลังจากมูลนิธินัดหมายให้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่ คปภ. พร้อมแนบเอกสารหลักฐานตามที่ประกันร้องขอ เพื่อดำเนินการเร่งรัดบริษัทประกันให้จ่ายค่าสินไหม หลังจากนั้น 3 วัน คุณนุชนาฎก็ได้รับค่าสินไหม พร้อมกับพนักงานคนอื่นที่ยื่นเอกสารไปภายหลังทั้งหมด ได้รับการชดเชยอย่างไร         ตัวของนุชนาฎเองได้เบี้ยไม่ครบนะพี่ ได้เงินไม่ครบเพราะว่าหนูนอนที่โรงพยาบาลทั้งหมด 6 วัน แล้วก็ได้ย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลสนามอีก 4 วัน ก็คือหนูจะได้แค่เบี้ย เจอจ่ายจบ แล้วก็นอนโรงพยาบาลแค่ 6 วันเป็น 56,000 หักไป 4 วันแล้วก็คือหลังจากวันที่เงินเข้าก็มีเจ้าหน้าที่จาก คปภ.โทรมาสอบถามว่าใช่คุณนุชนาฎไหมเขาก็ถามได้เงินเบี้ยประกันหรือยัง หนูก็ตอบไปว่าคือได้แล้วแต่ได้เงินไม่ครบและพี่เขาก็ถามว่าหนูไปนอนที่ไหนต่อหนูเลยบอกว่าอีก 4 วันหนูนอนเป็นโรงพยาบาลสนาม ซึ่งในใบรับรองแพทย์มีระบุอยู่แล้วเราก็ได้ไม่ครบแต่เขาก็ ครับๆ ไม่ได้พูดอะไร ฝากอะไรถึงผู้บริโภคที่มีปัญหาการเคลมประกันล่าช้าบ้างคะ         จะฝากว่าก่อนคุณจะทำประกันอะไรก็ควรศึกษาให้ดีก่อนว่าบริษัทที่คุณทำว่ามีความมั่นคงหรือว่าอยู่ในหน่วยงานที่สามารถติดตามได้หรือไม่ เบี้ยประกันดูน่าสนใจไหม ทำแล้วมันคุ้มกับเบี้ยที่คุณทำไปไหม ตัดสินใจเลือกให้ดีก่อนคะศึกษาก่อนที่จะทำ ให้ศึกษาหาข้อมูลก่อนที่จะเลือกทำประกันนะคะ         ท่านที่ 2 คุณสาร์รัฐ รุ่งนาค ผู้ร้องเรียนบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้า เล่าว่า  บริษัทเลือกทำประกันกลุ่มเพื่อเป็นสวัสดิการให้กับพนักงานทั้งหมดภายในโรงพยาบาลกับเอเชียประกันภัย โดยมองจากความเหมาะสมของเบี้ยประกัน ความคุ้มค่าในการทำประกัน ผลประโยชน์ที่ได้รับหากติดเชื้อโควิด และความมั่นคงของบริษัท ดูจากประกันการรักษาแบบอื่นของเอเชียประกันภัยนั้น เคลมไม่นานก็จ่ายคืนโรงพยาบาล มั่นคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และเมื่อเทียบตัวเลือกกับบริษัทอื่นแล้วคุ้มค่ามากที่สุด รู้สึกอย่างไรตอนเกิดเหตุการณ์         คือตอนแรกเลยเราไม่ได้คิดอะไรเลยเพราะเราทำงานโรงพยาบาลเราก็รู้ว่าคนไข้คือมัน Over อยู่แล้วคือมันด้วยความที่ว่ามันป่วยกันเยอะแล้วก็การรักษาด้วยเรื่องอะไรด้วย เราก็คิดว่าอาจจะมีการเขาเรียกว่ามีภาระเหมือนกับว่าคนเคลมเยอะหรือเปล่า หรือว่ามีการ Work from Home หรือเปล่า มีการลดจำนวนพนักงาน แต่เมื่อพอไประยะหนึ่งมันเหมือนกับข่าวมันเริ่มออกแล้วพนักงานก็รู้สึกว่ามันนานไปแล้วเดือนกว่าสองเดือนคือมันยังไม่ได้อีก ผมส่งเอกสารไปครบถ้วนเขาก็ประสานมาเราก็ตรวจสอบให้พอตรวจสอบให้เราก็โทรไปให้ปรากฏว่าก็ไม่มีคนรับสายบ้าง และให้ไปติดต่อทางระบบเหมือน AI ครับ สถานะก็ขึ้นอยู่อย่างเดียวก็คือ  รอตรวจสอบ รอตรวจสอบซึ่งเราได้คำตอบอย่างนี้มาเป็นหลายเดือนเรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ พอเราพบว่ามีปัญหาติดต่อไม่ได้แล้วเราได้ทำอะไรบ้าง         ตอนแรกเราก็พยายามดูและก็หาวิธี คือหาตัวแทน หาทุกอย่าง โทรทุกอย่างและสุดท้ายก็ไปเจอมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนั่นแหละครับ มูลนิธิฯ ให้คำแนะนำอย่างไร         คือเราก็เอาเอกสารไปให้ดูแล้วก็ให้รายละเอียดว่าเราส่งเอกสารไปเมื่อไหร่แล้วก็เอกสารมีอะไรบ้างเหตุเกิดอย่างไร ซึ่งทางมูลนิธิเขามองว่ามันล่าช้า เขาจึงประสานให้เรา แล้วนัดเราไปที่ คปภ. ในวันที่ 10 กันยายน ในการแก้ไขปัญหา คปภ.ดำเนินการอย่างไรบ้าง         ถ้าอธิบายเป็นวิธีก็คือเบื้องต้นเขาก็จะมีศูนย์รับไว้ใช่ไหมครับ เขาก็จะมีศูนย์เหมือนรับเรื่องร้องเรียนอยู่ด้านหน้าและเข้าไปเขาก็จะตรวจเอกสารให้เราว่าเรามีเอกสารครบไหม จริงๆ เอกสารก็ไม่เยอะนะครับก็จะมีพวกกรมธรรม์ สำเนาบัตรประชาชนแล้วก็เอกสารยืนยันว่าเรามีการยื่นเคลมไปแล้ว หลังจากนั้นพอเราเข้าไปในระบบเขาก็จะดูในระบบให้ เขาจะมีเลขรับว่าเป็นเรื่องร้องเรียนเลขที่เท่าไหร่และก็จะมีใบกลับมาให้เราซึ่งใช้ระยะเวลาไม่นานครับไม่นาน ไม่เกิน 30 นาทีครับ ได้รับเงินชดเชยมาหลังจากที่ยื่นเรื่อง         ก็หลังยื่นเรื่องวันที่ 10 ใช่ไหมครับ ก็มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาอีกสักประมาณห้าหกวันโทรเข้ามา แล้วก็วันที่ 17 กันยายน ก็มีการจ่ายเข้ามาครับ ฝากอะไรถึงผู้บริโภคที่มีปัญหาเรื่องการเคลมประกันล่าช้า         อยากจะฝากเรื่องของการรักษาสิทธิของตัวเองว่า ยังมีหน่วยงานหลายๆ หน่วยงานที่เขายังคอยให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น คปภ.อาจจะมีหน่วยงานอื่นๆ อีกที่เขายังคอยช่วยเหลืออยู่สามารถปรึกษาได้นะครับ แนะนำคนที่กำลังจะทำประกันโควิด         อยากให้ดูความมั่นคงผมยังยืนยันว่าให้ดูความมั่นคงของบริษัทประกันว่าถ้าเกิดมันเกิดมีเรื่องขึ้นมาแล้วถึงเวลาเขาจะมีเงินชำระให้เราหรือเปล่า เรื่องขั้นตอนระเบียบขั้นตอนต่างๆ ไม่สร้างความยุ่งยากหรือเป็นภาระให้กับเราเพราะบางที่อาจจะแบบเจอจ่ายจบ จริงๆ ผมยังมองว่าเจอจ่ายจบ แค่ผล LAB ก็พอ ซึ่งตอนแรกพวกบริษัทประกันต้องใช้ประวัติการรักษาด้วยผมคิดว่ามันไม่จำเป็นเพราะว่ามันเจอจ่าย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 หลอก หลอก หลอก

        ในขณะที่สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ยังไม่ลดลง สถานการณ์การหลอกหากินของกลุ่มมิจฉาชีพ บนความหวาดกลัวจะติดเชื้อของประชาชนก็ไม่ลดลงเช่นกัน มีอะไรๆ มาพวกนี้ก็ช่างหาเรื่องมาหลอกได้ทุกเรื่อง         หลอกขายสมุนไพรต้านโควิด         มีข้อมูลของแพทย์ออกมาเตือนภัยผ่านทางโซเชียล ซึ่งข้อมูลที่อ่านพบปรากฎว่าคล้ายกับข้อมูลที่น้องๆ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่มาเล่าให้ฟัง คือ ในโลกออนไลน์มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์บรรจุในแคปซูล โดยอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรต้านโควิด นำมาจากคลินิก ไหนๆ ก็โฆษณาแล้วจะไม่ขายก็ดูกระไรอยู่ หลังจากปลุกอารมณ์และความหวังของผู้คนที่กำลังหวาดระแวงว่าตนเองจะติดเชื้อโควิดหรือไม่ ก็ขายมันซะเลย ทำให้ผู้ที่กังวลว่าจะป่วยหรือผู้ป่วยโควิดบางรายหลงเชื่อ ยอมเสียเงินสั่งซื้อมากิน กินไปแล้วอาการไม่ดีขึ้น บางรายอาการกลับแย่ลง ตรวจพบว่ามีภาวะผิดปกติ บางรายพบว่าเซลล์เม็ดเลือดลดลงด้วย         หลอกขายประกันโควิด         ไม่ได้มีแต่หลอกขายผลิตภัณฑ์ มีข้อมูลจากน้องในชุมชนทางอีสานเล่าให้ฟังว่า ในขณะที่หลายคนกำลังลังเลว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ฉีดดี จะไม่ฉีดก็กลัวคิดเชื้อ แต่ถ้าฉีด ก็กลัวจะเกิดการแพ้จนอันตราย ในที่สุดก็มีแก๊งหัวใส อาศัยจังหวะนี้ตระเวณไปหลอกขายประกันเกี่ยวกับโควิด ทั้งประกันการติดเชื้อโควิด และประกันการแพ้วัคซีน โดยเลือกเหยื่อที่ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับการประกัน สุดท้ายเมื่อเหยื่อหลงเชื่อจ่ายเงินไปแล้ว ก็หายหน้าไปเลย ไม่ได้กรมธรรม์อะไรกลับมา         หลอกขายวัคซีนทางเลือก         ที่จังหวัดอุดรธานี พบเหตุการณ์มีผู้ตระเวณหลอกขายวัคซีนซิโนฟาร์ม ในราคาเข็มละ1,800 บาท โดยอ้างว่าเหลือจากที่ฉีดให้บุคลากรของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีผู้หลงเชื่อรวม 20 คน ตกลงจ่ายเงินยอมซื้อ โดยผู้ที่หลอกขายอ้างว่า เมื่อจ่ายเงินแล้ว จะให้ไปฉีดได้ที่จุดบริการฉีดของโรงพยาบาล มีการระบุเวลานัดหมายให้เรียบร้อย นอกจากนี้ กลุ่มมิจฉาชีพยังพยายามสร้างความน่าเชื่อถือ โดยสร้างกลุ่มไลน์ โดยมีบุคคลที่อ้างว่าเป็นแพทย์เป็นผู้ดูแลกลุ่ม คอยให้ข้อมูลต่างๆ อยู่ตลอด จนเมื่อถึงวันฉีดวัคซีน ผู้ที่จ่ายเงินไปแล้วเดินทางไปฉีดวัคซีนที่จุดบริการของโรงพยาบาล ปรากฎว่าไม่มีรายชื่อของตนแต่อย่างใด เมื่อไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลก็พบว่า แพทย์ที่มีการอ้างชื่อและคอยให้ข้อมูลในกลุ่มไลน์ ก็ไม่ใช่แพทย์ด้วย         เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ ทุกครั้งจะได้ไม่ถูกหลอก         เนื่องจากการจัดการปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกหน่วยงานประเทศต้องมาร่วมกันดูแล ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะมีการกำหนดขั้นตอนต่างๆ อย่างละเอียด มีการตรวจสอบ เพื่อไม่ให้มีใครมาหลอกลวงจนเกิดอันตรายได้ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ต้องมาขออนุญาตและพิสูจน์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่าปลอดภัยไม่มีอันตราย การขายประกันก็มีหน่วยงานที่ดูแลด้านนี้ดูแลอยู่ ส่วนการบริการฉีดวัคซีน ก็มีระบบและรายละเอียดทุกขั้นตอน โดยมีหน่วยงานสาธารณสุขในแต่ละจังหวัดดูแล ดังนั้นหากใครมาแนะนำหรือชักชวนอะไรเกี่ยวกับโควิด ให้เราเสียเงินเสียทอง อย่าเพิ่งรีบเชื่อนะครับ ให้ เอ๊ะๆๆ ไปหลายๆ ครั้ง ถ้าไม่แน่ใจก็ไปสอบถามที่หน่วยงานสาธารณสุขใกล้ตัวได้เลย เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ จะได้ไม่ถูก หลอก หลอก หลอก นะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2564

คปภ.มีคำสั่งห้าม "สินมั่นคง" ยกเลิกประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบ          จากกรณีบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศยกเลิกแผนประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบ หรือ COVID 2 in1 อ้างเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19  ที่ไม่สามารถควบคุมได้จึงใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์นั้น  นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า จะใช้อำนาจตามกฎหมาย อาศัยมาตรการ 29 อนุ 2 ตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย เพื่อสั่งยกเลิกเงื่อนไขของสินมั่นคงประกันภัยทั้งหมด เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนเหมือนเดิม         ด้านนายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า จากกรณีที่สินมั่นคงประกันภัยยกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ สมาคมได้ดำเนินการสอบถามบริษัทประกันวินาศภัยรายอื่นที่เป็นสมาชิก ซึ่งขายกรมธรรม์ประกันประกันโควิด-19 อยู่ในเวลานี้ และได้รับแจ้งว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่ขายกรมธรรม์ดังกล่าวอยู่ ไม่มีนโยบายในการยกเลิกกรมธรรม์แต่อย่างใด จี้รัฐแก้กฎหมายพนันออนไลน์สถิติสูงช่วงโควิด        รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมวิจัย ได้ศึกษาภาพรวมการเล่นพนันออนไลน์ ชี้การสำรวจจากปี 2562-2564 มีรูปแบบไม่แตกต่างกันที่นิยมเล่นสูงสุด คือ บาคาร่า ป๊อกเด้ง รองลงมาคือพวก slot machine และจำนวนผู้เล่นปี 2562  จากเดิม 8 แสนกว่าคนพุ่งสูงขึ้นมาในปี 2564 ประมาณ 1.9 ล้านคน ชี้ให้เห็นว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดมีผู้เล่นการพนันออนไลน์เพิ่มมากขึ้น  จากการสัมภาษณ์พบว่า เป็นผู้เล่นกลุ่มใหม่และเป็นผู้เล่นออฟไลน์ ที่เปลี่ยนมาเล่นออนไลน์แทน เนื่องจากสถานที่ปิดจากสถานการณ์โควิด-19 ผู้เล่นส่วนมากมีช่วงอายุเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้รวดเร็ว ส่วนใหญ่สาเหตุการเล่น ประมาณ 90% มาจากการเข้าถึงที่สะดวกง่าย โปรโมชั่น ปกปิดเป็นความลับ และมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกจับ รศ.นวลน้อย จึงแนะว่า รัฐควรมีการจัดการอย่างจริงจัง คิดในรูปแบบบริบทใหม่เพราะเศรษฐกิจสังคมมีการพัฒนาไปเยอะ ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายหรือบทลงโทษการเล่นพนันออนไลน์  มีเพียงกฎหมายที่เกี่ยวกับการพนันที่ออกมาตั้งแต่ปี 2478 ถึงมีการปรับปรุงแต่ยังล้าสมัย ไม่ชัดเจนในบทลงโทษ ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องในเชิงนโยบาย ควรกำหนดมาตรการหรือวิธีการจัดการให้ชัดเจน ครอบคลุม กรณีหมิงตี้พบยื่นร้องเรียนกว่า 500 ราย ด้านมลพิษอยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย         พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าเหตุเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล ใน จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า ศูนย์รับแจ้งความเสียหาย สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ ได้สอบปากคำผู้ที่ได้รับความเสียหายไปแล้วกว่า 500 ราย รวมมูลค่าความเสียหายที่ได้รับแจ้งจากผู้ได้รับผลกระทบเบื้องต้นประมาณ 250 ล้านบาท ด้านกรมควบคุมมลพิษ โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า คพ.ได้ประสานสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 (นครปฐม) และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 6 (นนทบุรี) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ คพ. ในการประชุมหารือเพื่อสรุปความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมหลังเพลิงไหม้โรงงานดังกล่าว จากผลการตรวจสอบพบว่าสถานการณ์มลพิษในพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับ เหลือเพียงการตรวจสอบสารเคมีและกากของเสียอันตรายที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่โรงงาน เพื่อหาแนวทางการจัดการ บำบัดและขนย้ายออกไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป          “ในส่วนของการสื่อสารกับประชาชน คพ.ได้จัดทำอินโฟกราฟิกให้ความรู้ในเรื่องการข้อควรปฏิบัติสำหรับประชาชนเมื่อกลับเข้าที่พักอาศัยหลังเกิดเพลิงไหม้ และคำแนะนำการใช้น้ำรอบพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งน้ำฝน น้ำคลอง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสและนำน้ำฝนมาใช้ในการอุปโภคบริโภคในช่วงนี้ ส่วนน้ำประปา สามารถใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ ประชาชนที่มีการรองน้ำประปาใส่ภาชนะไว้ ให้มีฝาปิดมิดชิดเพื่อป้องกันการปนเปื้อน”  ขึ้นภาษีผ้าอนามัยแบบสอด         จากกรณีมีราชกิจจานุเบกษาประกาศ ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2564  ให้ผ้าอนามัยชนิดสอดที่ใช้สอดใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อซับเลือดประจำเดือน เป็นเครื่องสำอาง ลงนามโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จนเกิดแฮชแท๊กเทรนด์ทวิตเตอร์  #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากผู้บริโภคกลัวว่าจะมีการขึ้นภาษี เนื่องจากถูกจัดเป็นเครื่องสำอางนั้น         นายลวรรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึง กรณีที่มีการประกาศให้ผ้าอนามัยแบบสอด เป็นเครื่องสำอาง จะทำให้ต้องมีภาระเสียภาษีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอัตราภาษีของผ้าอนามัยอยู่ที่ 30% และกรมสรรพสามิตไม่มีนโนบายการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยตามที่เป็นข่าว และไม่เคยมีการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพสามิตมีการจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเพียงรายการเดียว คือ น้ำหอม ในอัตราภาษีตามมูลค่า 8% ทั้งนี้ ปัจจุบันผ้าอนามัยไม่ถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นที่สตรีต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ในนิยามการเสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย คือ ถ้าไม่มีใช้ ก็ไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าส่งผลกระทบ ก็ให้ถือว่าเป็นสินค้าที่ไม่ฟุ่มเฟือย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ นสพ.ฐานเศรษฐกิจพาดหัวข่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง         วันที่ 11 กรกฎาคม 2564 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและในเว็บไซต์ข่าว  ได้ทำการพาดหัวข่าวว่า “เปิดปมศาลปกครองกลาง ไฟเขียวดีล ‘ซีพี-โลตัส’ ยกคำฟ้อง 37 องค์กรผู้บริโภค” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะผู้ฟ้องคดีนี้ ได้ชี้แจงว่า เป็นการพาดหัวข่าวที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง สร้างความเข้าใจผิดว่าศาลได้มีคำสั่งยกฟ้องคดีการควบรวม ซีพีและโลตัส ซึ่งข้อเท็จจริงคือศาลเพียงยกคำร้องกรณีที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการให้ “ไฟเขียว ดีล ซีพี-โลตัส” การรายงานข่าวเช่นนี้ถือเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบให้กับคู่กรณีของคดี ในขณะที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งการกระทำนี้อาจถือว่าเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของศาล ผิดจรรยาบรรณสื่อมวลชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอให้ข้อเท็จจริงคือ ในระหว่างการพิจารณาคดีเพิกถอนมติคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า มูลนิธิและผู้ร่วมฟ้อง ได้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค คู่แข่งทางการค้า และผู้ผลิตสินค้าการเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค ไว้เป็นการชั่วคราว ซึ่งศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ายังไม่มีเหตุให้คุ้มครอง แต่ในส่วนของคดี ศาลยังอยู่ระหว่างการไต่สวน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำคำคัดค้านคำให้การยื่นต่อศาล การกระทำเช่นนี้อาจถือได้ว่าเป็นการให้ข้อมูลเท็จกับสาธารณะ เป็นการหมิ่นศาล และผิดจรรยาบรรณสื่อมวลชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม จึงเรียกร้องให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ แก้ไขสาระสำคัญของข่าวให้ถูกต้อง ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง

อ่านเพิ่มเติม >