ฉบับที่ 237 เบาะกันกระแทก (2)

        มาว่ากันต่อเกี่ยวกับประกันภัยอุบัติเหตุ (Personal Accident Insurance) หรือที่มักเรียกกันว่าพีเอ เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนต้องเคยเจอสถานการณ์ที่บริษัทประกันโทรหา (เอาเบอร์โทรของเรามาจากไหน?) เพื่อเสนอขายประกันให้ บางคนตัดบทปฏิเสธ บางคนเคลิ้มตอบตกลง         การซื้อประกันอุบัติเหตุ (และประกันชนิดอื่นๆ) ไม่ควรใจร้อน มันมีหลายเรื่องที่เราต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเงื่อนไขชีวิตของตัวเรา ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แยกประกันอุบัติเหตุออกเป็น 2 แบบ คือ แบบ อบ. 1 และ อบ. 2 โดยแบบแรกจะมีความคุ้มครองให้เลือกซื้อ 4 ความคุ้มครอง-การเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ/สายตา การทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง, การทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง, การทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน และการรักษาพยาบาล         ส่วนแบบที่ 2 จะให้ความคุ้มครองเพิ่มจากแบบแรกคือรวมเรื่องการสูญเสียนิ้ว การสูญเสียการรับฟังเสียง/การพูดออกเสียง และการทุพพลภาพถาวรบางส่วน         แต่ถ้าจะเลือกประกันอุบัติเหตุที่เหมาะกับตัวคุณก็มีหลายเรื่องที่ต้องมานั่งพิจารณากัน         อย่างแรกเลยคืออายุ คนอายุน้อยกับคนอายุมาก แน่นอนว่าคนกลุ่มหลังย่อมจ่ายเบี้ยประกันต่ำกว่า แต่อายุก็เป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง ยังต้องดูอีกคุณประกอบอาชีพอะไร เพราะแต่ละอาชีพมีระดับความเสี่ยงต่างกัน อาชีพที่มีความเสี่ยงสูงกว่า เบี้ยประกันสูงกว่า         คปภ. แบ่งชั้นอาชีพในการรับประกันภัยไว้ 4 ชั้น ประกอบด้วย อาชีพชั้น 1 ส่วนใหญ่ทำงานประจำในสำนักงาน อาชีพชั้น 2 ปฏิบัติงานที่ใช้วิชาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งตลอดเวลา อาชีพชั้น 3 ปฏิบัติงานด้านช่าง กระบวนการผลิต ที่มีการใช้เครื่องจักรกลหนัก ผู้ใช้แรงงาน การเดินทาง หรือทำงานนอกสำนักงานเป็นประจำ และอาชีพชั้น 4 อาชีพพิเศษที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าชั้นอื่น ๆ เป็นพิเศษ เช่น นักแสดงผาดโผน         ถ้าคุณรู้ว่าอาชีพที่ทำอยู่มีความเสี่ยงระดับไหน มันจะช่วยให้คุณพอจะประเมินได้ว่าทุนประกันภัย-หมายถึงเงินที่จะได้เวลาประสบอุบัติเหตุนั่นแหละ-แค่ไหนที่เหมาะสมกับตัวเอง ต้องการให้ครอบคลุมความคุ้มครอง ค่าใช้จ่าย และผลประโยชน์ในกรณีเสียชีวิตอย่างไร เช่น ถ้าคุณเป็นเครื่องยนต์หลักในการหาเลี้ยงครอบครัว คุณอาจต้องการทุนประกันที่มากกว่า เพื่อช่วยดูดซับแรงกระแทกไม่ให้คนข้างหลังซวนเซ หรือถ้าคุณยังไม่มีครอบครัว มีพี่น้อง และมีพ่อแม่ที่พอมีเงินเก็บอยู่บ้าง ทุนประกันที่คุณต้องการก็อาจไม่จำเป็นต้องมากเท่ากับกรณีแรก เพราะยิ่งทุนประกันสูง เบี้ยประกันก็ยิ่งสูงตาม การคำนึงถึงจุดนี้จะช่วยให้การจ่ายเบี้ยประกันไม่กลายเป็นภาระเกินจำเป็น         เรื่องนี้ยังไม่จบ ไว้มาต่อกันคราวหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 เบาะกันกระแทก (1)

        ประเทศไทยมีสวัสดิการสุขภาพที่ครอบคลุมประชากรเกือบทั้งหมด ไล่ตั้งแต่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ โดยเฉพาะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ        แต่แน่นอนว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ การไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ตามสวัสดิการที่มีแต่ละครั้งอาจหมายถึงต้นทุนการเสียโอกาสในการทำมาหากินของวันนั้นไปทั้งวัน คนจำนวนหนึ่งที่พอมีกำลังจับจ่ายจึงเลือกใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน        ถึงกระนั้น การพบแพทย์หรือต้องนอนโรงพยาบาลจากการเจ็บป่วยกับอุบัติเหตุก็มีความแตกต่างกันไม่น้อย เพราะการเจ็บป่วยสามารถป้องกันได้ ค่อยๆ รักษาได้ ยกเว้นอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือการเจ็บป่วยเรื้อรังที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่กับอุบัติเหตุไม่ใช่         ยิ่งถ้าเป็นอุบัติเหตุรุนแรง บางครอบครัวถึงขั้นยากจนเฉียบพลันจากการรักษาพยาบาล แม้จะมี พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ผนวกเข้ามาแล้วก็ตาม หากผู้ได้รับอุบัติเหตุเป็นคนหลักในการหารายได้เข้าบ้านด้วยแล้ว เรื่องจะยิ่งเศร้าขึ้นไปอีก         การทำประกันอุบัติเหตุจึงช่วยอุดช่องว่างส่วนนี้ได้ ไอเดียก็คล้ายกับเรื่องเงินฉุกเฉินที่เคยเขียนไปแล้วนั่นแหละ เป็นการป้องกันความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน โดยมอบให้บริษัทประกันเป็นผู้รับความเสี่ยง         ประกันอุบัติเหตุคืออะไร?         สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้ความหมายไว้ว่า         ‘เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองต่อผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ผู้เอาประกันภัย ประสบอุบัติเหตุได้รับความบาดเจ็บทางร่างกาย และหากผลของการบาดเจ็บนั้นส่งผลให้ผู้เอาประกันภัยต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือรุนแรงถึงขั้นทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต บริษัทประกันภัยจะเข้ามารับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจาก การรักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัย หรือจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหากผู้เอาประกันภัยต้องสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต’         พื้นที่สัมปทานใกล้หมด คราวหน้าจะมาต่อเรื่องนี้กันอีก         ก่อนจบ ยังขอยืนยันซ้ำๆ ว่าสวัสดิการรัฐที่ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายต้องเกิดขึ้น เท่าเทียม ทั่วถึง และคำนึงถึงต้นทุนต่างๆ ในชีวิตผู้คน เพราะใช่ว่าคนทุกคนจะสามารถซื้อประกันอุบัติเหตุได้         ดังนั้น เรามาช่วยกันทำให้เกิดรัฐสวัสดิการกันเถอะ

อ่านเพิ่มเติม >