ฉบับที่ 275 ประกันมะเร็งต้องอ่านเงื่อนไขดีๆ

        มะเร็งเป็นโรคร้ายแรงที่การรักษานั้นค่อนข้างยาก ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งมีสถิติที่พรากชีวิตคนไทยในแต่ละปีค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทประกันภัยหลายแห่งจัดรูปแบบกรมธรรม์เพื่อคุ้มครองเรื่องการรักษามะเร็ง มาเป็นตัวเลือกสำหรับผู้บริโภค         เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นข้อเตือนใจจากคุณน้ำ ซึ่งเข้ามาขอคำปรึกษาในคดีหนึ่ง แต่เรื่องที่เล่านี้เป็นประสบการณ์เก่าที่เธอเคยประสบจากการทำประกันโรคมะเร็ง ซึ่งผ่านมาหลายปีแล้ว เมื่อมองย้อนไปคุณน้ำพบว่าตัวเองพลาดที่ไม่ได้อ่านเงื่อนไขให้ดีจึงเสียโอกาสที่จะได้รับการคุ้มครองจากการทำประกันมะเร็ง ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงได้ขออนุญาตนำเรื่องนี้มีเล่าเพื่อฝากไว้ให้ผู้บริโภคได้ใช้เป็นบทเรียน         คุณน้ำ เริ่มต้นทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน เธอจึงวางแผนการใช้เงินอย่างรัดกุม นอกจากค่าใช้จ่ายรายเดือน เธอได้วางแผนการออมเงินด้วย ทั้งออมเงินแบบฝากกับธนาคาร และการทำประกันชีวิตหลายฉบับเพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ โดยคาดการณ์ว่าเพื่อเป็นการใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไม่ลำบาก ทั้งนี้ ประกันชีวิต  1 ฉบับในหลายฉบับที่ทำคือ ประกันมะเร็ง เพราะคิดว่า มะเร็งเป็นโรคที่ต้องใช้เงินในการรักษาสูงมาก หากเป็นหนึ่งในความเสี่ยงก็ควรทำประกันไว้ก่อน แม้ว่าค่าเบี้ยประกันจะค่อนข้างแพง         จากวันแรกๆ ที่เริ่มงานผ่านมาจนถึงหลังวัยเกษียณ เมื่อเธอเกษียณได้ไม่นาน แพทย์ตรวจพบว่าเธอเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น คุณน้ำตกใจแต่ก็รู้สึกว่า เอาน่ายังดีนะที่เธอได้ทำประกันมะเร็งเอาไว้ เธอจึงติดต่อตัวแทนบริษัทประกันเจ้าของกรมธรรม์ ต่อมาตัวแทนประกันซึ่งได้ขอเอกสารรายละเอียดที่หมอตรวจพบโรคมะเร็งพร้อมกับรายละเอียดการรักษาต่างๆ ไปจากเธอได้ไม่นานนัก ก็แจ้งกับเธอว่า บริษัทไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ได้ เพราะมะเร็งระยะที่กรมธรรม์คุ้มครองคือ ระยะที่ 2          คุณน้ำได้ฟังก็ถึงขั้นตกใจมาก เพราะที่เข้าใจมาตลอดคือ เมื่อตรวจเจอว่าเป็นมะเร็ง บริษัทจะคุ้มครอง ทันที แต่ตัวแทนบริษัทได้อธิบายว่า ในเอกสาร/เงื่อนไขสัญญาเขียนว่า จะคุ้มครองในระยะที่สอง ซึ่งคุณน้ำก็ได้แต่คิดว่า เมื่อแพทย์ตรวจพบมะเร็งแพทย์ก็ต้องเริ่มรักษาทันที ซึ่งไม่น่าจะมีใครรอให้โรคพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 2  จึงเริ่มรักษาเพื่อหวังให้ประกันคุ้มครองแน่นอน         นี่เป็นบทเรียนที่คุณน้ำประสบมา จึงขอนำมาฝากเตือนผู้บริโภคท่านอื่นๆ ว่า เมื่อจะทำประกันโรคร้ายแรง อย่างเช่น มะเร็ง ต้องอ่านรายละเอียดของประกันมะเร็งด้วยว่า มีความคุ้มครองครอบคลุมถึงประเด็นไหนบ้าง  เช่น มะเร็งทุกอวัยวะไหม หรือเฉพาะบางอวัยวะ หรือเจอมะเร็งจ่ายทันที คุ้มครองมะเร็งทุกระยะ รักษามะเร็งทุกขั้นตอน ฯลฯ ถามต่อตัวแทนประกันให้อธิบายอย่างละเอียด ตลอดจนซักถามตัวแทนประกันให้ละเอียดรอบคอบถึงข้อจำกัดต่างๆ  รวมทั้งต้องปรึกษาแพทย์เมื่อพบคำศัพท์เฉพาะทางทางการแพทย์ด้วย         ที่ควรพิจารณต่อมาคือ เรื่องเบี้ยประกันและวงเงินคุ้มครองเหมาะสมหรือเปล่า โดยต้องประเมินวงเงินคุ้มครองว่า หากเจ็บป่วยขึ้นมาวงเงินที่จะได้รับนั้น เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลหรือการใช้จ่ายระหว่างการรักษาตัวหรือไม่ เช่น หากต้องการรักษากับโรงพยาบาลเอกชนก็จะต้องประเมินว่าค่าใช้จ่ายย่อมสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ เพื่อจะได้เลือกแผนประกันที่วงเงินคุ้มครองเหมาะสมที่สุด เป็นต้น         เลือกด้วยความรอบคอบว่าเราอยากได้เงินคุ้มครองลักษณะไหน เช่น ในกรณีที่เป็นการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล อาจเหมาะกับผู้ที่ยังไม่มีประกันสุขภาพและต้องการให้ประกันคุ้มครองเฉพาะการรักษาพยาบาลตลอดการรักษา ขณะที่ประกันแบบจ่ายเงินทันทีที่ตรวจพบมะเร็งนั้น อาจเหมาะกับผู้ที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้วแต่ต้องการเงินก้อน เพื่อนำไปใช้ในการรักษาส่วนเกินจากประกันสุขภาพหรือนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นต้น         อย่างไรก็ดีสำคัญที่สุดคือ อย่าพลาดการอ่านเงื่อนไขสัญญาให้ละเอียดเพื่อให้สิทธิประโยชน์ที่เราจะได้รับนั้นคุ้มค่ากับการลงทุน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 สิทธิบัตรทองต้องใช้ที่ไหน

        ย้อนไปเมื่อกันยายน พ.ศ. 2563 หลายคนคงได้ยินข่าว สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยกเลิกสัญญาสิทธิบัตรทองของคลินิกและโรงพยาบาลหลายแห่ง “สปสช.ยกเลิกสัญญาคลินิกบัตรทองเพิ่ม 108 แห่ง รวมแล้ว 190 แห่งทุจริตงบ เสียหาย 198 ล้าน” ทำให้คนที่ใช้สิทธิบัตรทองต่างตกใจเป็นอย่างมาก ไม่รู้ว่าตัวเองต้องไปรักษาที่ไหน โดยเฉพาะคนที่ต้องรักษาตัวต่อเนื่อง เรื่องนี้มีคำแนะนำอย่างไร        คุณสกุลมีภาวะเครียดต้องรับการรักษาอยู่ที่คลินิกแห่งหนึ่งด้วยสิทธิบัตรทอง โดยต้องเข้ารับยาต่อเนื่องทุกเดือน แต่วันหนึ่งเจ้าหน้าที่คลินิกแจ้งเขาว่า คลินิกเปิดให้บริการถึงสิ้นเดือน ดังนั้นวันนี้ต้องขอเก็บค่าบริการและค่ายาสำหรับรับประทาน 1 เดือน เป็นจำนวน 700 บาท เนื่องจากทางคลินิกไม่สามารถเบิกเงินสิทธิบัตรทองจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แล้ว เพราะคลินิกถูกยกเลิกสัญญา         คุณสกุลจ่ายไป 700 บาท ได้ยากลับบ้านพร้อมกับประวัติการรักษา หลังจากกลับมาถึงบ้านเขาก็รู้สึกกังวลใจเป็นอย่างมาก เพราะว่าต้องกินยาต่อเนื่องทุกเดือน จะต้องจ่ายเงินค่ายาทุกเดือนเองแบบนี้ไปเรื่อยๆ หรืออย่างไร แล้วไม่รู้ว่าต้องไปรักษาต่อที่ไหน แล้วจะใช้สิทธิบัตรทองได้อีกหรือเปล่า จึงมาขอคำปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นได้อธิบายคุณสกุลว่า ขณะ สปสช. ยกเลิกสัญญาการให้บริการกับคลินิกหลายแห่งเนื่องจากเหตุทุจริต ดังนั้นทำให้คุณสกุลต้องชำระค่าบริการและค่ายาเองไปก่อน อย่างไรก็ตามสิทธิบัตรทองของคุณสกุลยังคงอยู่ เรียกว่า สิทธิว่าง ทำให้คุณสกุลสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน หรือศูนย์บริการสาธารณสุขทุกที่ หรือโรงพยาบาลเอกชนที่ทำสัญญาไว้กับ สปสช. โดยไม่ต้องชำระเงิน             โดยทาง สปสช. จะรีบดำเนินการย้ายสิทธิการรักษาให้กับผู้มีสิทธิว่างทุกคนโดยเร็วที่สุด คุณสกุลไม่ต้องกังวลใจ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนใกล้บ้านได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาภายใน 72 ชั่วโมง สำหรับการรักษาแบบต่อเนื่องเข้าใช้บริการได้ตามที่แจ้งข้างต้น หรือหากมีข้อสงสัย ติดต่อ สายด่วน 1330

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 กระแสต่างแดน

Shonky Awards 2019        ทุกปีองค์กรผู้บริโภคออสเตรเลีย CHOICE จะประกาศรายชื่อผู้ประกอบการยอดแย่โดยคัดเลือกจากผลสำรวจความเห็น ผลทดสอบผลิตภัณฑ์ พฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภค หรือเรื่องร้องเรียนต่อผู้ประกอบการ และในปีนี้ “ผู้โชคดี” ได้แก่...         ·  ห้างออนไลน์ Kogan ที่โฆษณาว่าตนเองเป็น “ผู้นำด้านการบริการลูกค้า” แต่ในช่วง 7 เดือนแรกของปีกลับมีเรื่องร้องเรียนมากกว่า 300 เรื่อง (เฉพาะในรัฐนิวเซาท์เวลส์) ลูกค้าหลายรายต้องเสียเวลาวุ่นวายอยู่นานกว่าจะได้เงินคืนกรณีที่สั่งซื้อสินค้ามาแล้วเกิดความชำรุดบกพร่อง อดีตพนักงานคนหนึ่งของห้างบอกว่าเคยเห็นยื้ออยู่สามสี่รอบ ทั้งๆ ที่ลูกค้าควรได้เงินคืนตั้งแต่รอบแรก นอกจากนี้บริษัทยังถูก ACCC องค์กรที่ดูแลด้านการแข่งขันฟ้องเพราะถูกจับได้ว่าแอบเพิ่มราคาสินค้าขึ้นร้อยละ 10 ก่อนที่จะทำโปรโมชั่น “ลด 10 เปอร์เซนต์” ...สายช้อปออนไลน์ต้องระวัง         ·  อีกรายคือผลิตภัณฑ์อาหารเช้าสำหรับเด็ก XO Crunch ที่ติดฉลากอวดอ้างว่าเป็นแหล่งไฟเบอร์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับเด็กๆ CHOICE คำนวณแล้วพบว่าถ้าจะกินให้ได้ครบความต้องการของร่างกายของเด็ก ลูกๆ ของคุณจะต้องกินถึง 8 ถ้วย และรับน้ำตาลเข้าไป 62 กรัมหรือ 14 ช้อนชาด้วยและที่น่าสงสัยคือ ผลิตภัณฑ์นี้ได้ “4 ดาวสุขภาพ” มาได้อย่างไร ทั้งที่มีน้ำตาลมากกว่าร้อยละ 22 ความจริงเมื่อคำนวณจากปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายต้องการต่อวัน XO Crunch ควรจะได้แค่ 1.5 ดาวเท่านั้น (ร้อยละ 5 ของพลังงานที่ต้องการต่อวัน)         ·  AMP ที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุนเจ้าดังในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ก็คว้ารางวัลนี้ไปเช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ซับซ้อนเกินเข้าใจว่าทำไมถึงแนะนำให้ลูกค้ายกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตที่เคยมี แล้วขายแผนการคุ้มครองใหม่ให้ด้วยเบี้ยประกันที่สูงขึ้น รายนี้คิดค่าธรรมเนียมการให้คำปรึกษาแพงลิ่วโดยไม่ได้ให้อะไรตอบแทนลูกค้า และฝ่ายที่ได้รับเสียงบ่นจากลูกค้ามากที่สุดคือฝ่ายดูแลกองทุนเงินเกษียณ บริษัทมีบัญชีที่ไม่มีความเคลื่อนไหว AMP Retirement Trust และ Super Savings Trust อยู่ประมาณหนึ่งล้านบัญชี ในปี 2018 เอาไว้กินค่าธรรมเนียมสบายๆ         ·  นอกจากตู้ โต๊ะ เตียงแบบประกอบเอง และสินค้าเครื่องใช้ในบ้านอื่นๆ อิเกีย ยังทำตู้เย็นขายด้วย ทีมทดสอบของ CHOICE ซึ่งทดสอบตู้เย็นมาอย่างโชกโชนพบว่าตู้เย็นรุ่น Nekyld ของเจ้านี้มีข้อบกพร่องมากจนไม่น่าเชื่อ         ตู้เย็นแบบ “มินิมอลลิสต์” นี้ใช้พลังงานมากกว่าที่ระบุบนฉลากประหยัดไฟถึงร้อยละ 8.9 และเพื่อให้ราคาถูก เขาจึงตัดฟีเจอร์ที่ “ไม่จำเป็น” ออกไปหลายอย่าง ส่งผลต่อประสิทธิภาพและทำให้อาหารเสียเร็วขึ้น ตู้เย็นรุ่นนี้ได้คะแนน 39 เต็ม 100 ถ้าเป็นการสอบก็เรียกว่า “ตก” สินะ         ·  โดยรวมแล้วผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพของออสเตรเลียถือว่าไม่คุ้มค่าเงินนัก การสำรวจโดย CHOICE ก็พบว่าผลิตภัณฑ์การเงินที่คนออสซี่กังวลมากที่สุดคือเรื่องนี้ คนรุ่นใหม่ก็ให้ความสนใจซื้อน้อยลง เพราะนอกจากเบี้ยจะสูงขึ้นทุกปี ความคุ้มค่ากลับลดลง มีผู้ประกอบการไม่น้อยที่เสนอผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสิทธิประโยชน์นอกเหนือไปจากที่ทุกคนได้ฟรีอยู่แล้วในระบบประกันสุขภาพ แต่เจ้าที่โดดเด่นจนต้องได้รับรางวัลไปได้แก่ เมดิแบงก์ ที่ขายแผนประกันแบบ “เบสิก” ในราคาที่แพงกว่าแบบ “บรอนซ์” ของเจ้าอื่นๆ         ·  CHOICE ออกตัวชัดเจนให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อประกันสำหรับสัตว์เลี้ยงไว้ก่อน จากการสำรวจกรมธรรม์ประกันสัตว์เลี้ยงเขาพบว่าเงื่อนไข ข้อยกเว้น ข้อจำกัด มันมากมายจนเวียนหัว เช่น ไม่รวมค่าหมอถ้าสัตว์เลี้ยงของเรามีอาการป่วยแบบเดิมซ้ำ หรือไม่รวมค่าตรวจนอกเวลาทำการ ที่สำคัญถ้าจะซื้อก็ต้องซื้อตั้งแต่สัตว์เลี้ยงยังอายุน้อยๆ ซึ่งดูเหมือนต้องเริ่มจ่ายเร็วขึ้นโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าไม่ซื้อไว้ก่อน ก็จะมีข้อยกเว้นมากมายเรื่องสุขภาพของสัตว์ก่อนการทำประกัน ราคาเบี้ยมีตั้งแต่ปีละ 180 ถึง 4,500 เหรียญ (3,700 ถึง 93,000 บาท) และจะเพิ่มขึ้นเมื่อสัตว์เลี้ยงอายุมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 เบี้ยประกันสำหรับการคุ้มครองสิทธิผู้ประชาชนในฐานะ พลเมือง และผู้บริโภค

            หลายๆ ครั้งที่ติดตามข่าว โดยเฉพาะกรณีที่ ประชาชนหรือผู้บริโภค ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในการรักษาสิทธิของตนเองนั้น มักปรากฏว่า มักจะมีทนายอาสา หรือ มูลนิธิต่างๆ เอื้อมมือเข้ามาช่วยเหลือ สงเคราะห์ เนื่องจากในกระบวนการยุติธรรมนั้น คดีความต่างๆ จำเป็นต้องใช้บริการของทนายทั้งในกรณีขอคำปรึกษา และว่าความให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน            กรณีของเยอรมันเอง ได้มีบริการสำหรับ ให้ผู้บริโภค หรือประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและใช้บริการ ทนายความโดยอาศัยหลักการ การซื้อเบี้ยประกันสิทธิของประชาชน (Rechtsschutzversicherung: Legal Expense Insurance)            หลักการของประกันลักษณะนี้จะคล้ายกับ การซื้อประกันสุขภาพ ที่จะต้องหาหมอในกรณีป่วย ประชาชนที่มีประกันสุขภาพ ก็ใช้บริการประกันสุขภาพ แต่บริการประกันสิทธิ คือ การใช้บริการของทนาย ในกรณีที่สิทธิถูกละเมิด และต้องใช้บริการทนาย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้นระบบประกันสิทธิแบบจ่ายเบี้ยประกันล่วงหน้าจึงเข้ามาปิดช่องว่าง ของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมให้กับ ประชาชนหรือผู้บริโภคที่สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ สำหรับวันนี้จะขอยกตัวอย่าง ประกันสิทธิทางถนน (Verkehrrechtschutz: Traffic right Insurance) ซึ่งเป็นประกันภัยที่เหมาะและมีประโยชน์กับทุกคนที่จะต้องเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นคนเดินถนน ขี่รถจักรยาน หรือ ขับรถยนต์ ในกรณีที่เกิดคดีความกันบนท้องถนน ประชาชนที่มีประกันสิทธิ ก็สามารถปรึกษาเรียกหาทนายความมาเป็นที่พึ่งได้             เหตุการณ์ลักษณะใดบ้างที่ประกันสิทธิบนท้องถนนให้ความคุ้มครอง                1 กรณีกิดอุบัติเหตุ หลายๆ ครั้งที่ รถยนต์เฉี่ยวชนกับรถจักรยาน การพิสูจน์ถูก ผิดในคดี จำเป็นที่จะต้องใช้บริการทนายในการต่อสู้คดี ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายผู้ขับขี่รถยนต์ หรือ คนขับขี่จักรยาน ที่มักได้รับบาดเจ็บ จากการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งยังไม่ทราบว่าฝ่ายใดถูก หรือผิด จนกว่าจะได้รับคำพิพากษาจากศาล                2 กรณีซื้อยานพานะแล้วปรากฏว่าเป็นสินค้าชำรุดบกพร่อง การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายชดเชยจำเป็นต้องใช้ ทนายในการทำคดี                3 ในกรณีที่ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐตั้งขอกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนกฎจราจร ก็สามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ต่อศาลโดยสามารถปรึกษากับทนาย โดยภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด บริษัทรับทำประกันรับผิดชอบ                4  ในกรณีที่ผู้ประกันสิทธิเป็นฝ่ายผิด ก็สามารถใช้บริการนี้ เพื่อป้องกัน การเรียกร้องค่าเสียหายเกินจริงได้                5 ในการต่อสู้ทางคดีความ ฝ่ายผิด เป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้คดีความให้กับอีกฝ่ายด้วย ดังนั้น หลายๆ กรณี มักจะจบด้วยการไกล่เกลี่ย ซึ่งก็ต้องใช้บริการปรึกษาทนายความ            ขอยกตัวอย่าง กรณีการเกิดอุบัติเหตุ รถยนต์ เฉี่ยวชน กับรถจักรยาน กรณีที่ เกิดความเสียหายเฉพาะตัวรถจักรยาน เจ้าของจักรยาน เรียกค่า เสียหาย 1000 ยูโร แต่ ประกันของฝ่ายรถยนต์มองว่า เรียกค่าเสียหายสูงเกินไป เมื่อตกลงกันไม่ได้จึง ต้องฟ้องคดีต่อศาลเรียกค่าเสีย ซึ่งค่าใช้จ่ายของทนายความ คือ 350 ยูโร และค่าฤชาในการฟ้อง อีก 160 ยูโร ในกรณีที่คนขับขี่รถจักรยานเป็นฝ่ายแพ้คดี ก็ต้องรับภาระจ่ายค่าคดีความที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมทั้งของคู่ความด้วย รวมๆแล้ว คนขับขี่จักรยานต้องจ่ายรวมเบ็ดเสร็จ 770 ยูโร ในกรณีที่คดีเข้าสู่ชั้นอุทธรณ์ ค่าใช้จ่ายอาจเพิ่มขึ้นไปเป็น 1560 ยูโร และถ้าเป็นชั้นฎีกา อาจเพิ่มสูงถึง 2600 ยูโร ซึ่งมากกว่า มูลค่าความเสียหายถ้าเกิดกรณีบาดเจ็บ และคนขับขี่จักรยานเรียกร้องค่าเสียหายจากการได้รับบาดเจ็บ 25000 ยูโร คนขับขี่จักรยานก็ต้องจ่ายค่าทำคดี ในศาลชั้นต้นสูงถึง 6480 ยูโร ชั้นอุทธรณ์ 13265 ยูโร และชั้นฎีกา 22300 ยูโร ดังนั้นค่าคดีความจึงขึ้นอยู่กับมูลค่าความเสียหาย            เบี้ยประกันสิทธิคุ้มครองทางถนน จึงเป็นสิทธิที่มีความสำคัญกับผู้ใช้เส้นทางการเดินทางทุกคน ระบบประกันสิทธิโดยใช้รูปแบบของการจ่ายเบี้ยประกันจึงเป็นรูปแบบที่นิยมใช้ ในประเทศเยอรมัน นอกจากนี้ ประชาชนสามารถเลือกซื้อประกันสิทธิแบบนี้ โดยสามารถเปรียบเทียบราคา และสิทธิประโยชน์ได้จาก การรวบรวมข้อมูลของ องค์กรผู้บริโภคที่ทำหน้าที่ ทดสอบเปรียบเทียบของสินค้าและบริการเพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้อเบี้ยประกันได้ตามความสมัครใจ

อ่านเพิ่มเติม >

นักวิจัยเผย มียาอีกหลายตัวที่ไม่ควรได้รับสิทธิบัตรอีก หลังศาลฎีกาชี้ขาด ถอนสิทธิบัตรยา ' วาลซาร์แทน '

            นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยอิสระและรองประธานกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ เผยปมผู้ป่วยไทยเข้าไม่ถึงยา แม้อายุสิทธิบัตรของยานั้นจะสิ้นไปแล้ว เนื่องจากบริษัทยาใช้วิธีการที่เรียกว่า รูปแบบจดสิทธิบัตรไม่จบสิ้น(evergreen patent) สกัดบริษัทผู้ผลิตยาชื่อสามัญไทย            จากกรณีศาลฎีกาชี้ขาดสั่งถอนสิทธิบัตรการผลิตยาวาลซาร์แทน (Valsartan) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง-โรคหัวใจ หลังต่อสู้เป็นคดีความยาวนาน 7 ปี เพราะยาดังกล่าวยื่นขอสิทธิบัตรกระบวนการผลิตยาเม็ด ซึ่งศาลพิจารณาว่า เหตุข้อมูลวิธีการผลิตนั้น ชัดเจนว่าไม่ใช่วิธีใหม่ เป็นเพียงการยื่นคุ้มครองกระบวนการผลิตยาเม็ดทั่วไปเท่านั้น ทุกคนที่มีความรู้ทางเภสัชกรรมก็สามารถทำได้ ซึ่งเรื่องนี้เปิดเผยโดยนายกสภาเภสัชกรรม ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา           นางสาวกรรณิการ์ ให้ความเห็นว่า กรณียา  Varsantan เป็นเพียงหนึ่งคดีที่บริษัทยาชื่อสามัญชนะคดี แต่ตลอดระยะเวลาที่สู้คดีถูกบริษัทยาข้ามชาติส่งจดหมายไปแจ้งโรงพยาบาลต่างๆที่จัดซื้อยาชื่อสามัญราคาถูกที่มีคุณภาพทัดเทียมยาต้นแบบว่า อาจถูกดำเนินคดีและถูกเรียกร้องค่าเสียหายด้วย ทำให้โรงพยาบาลไม่กล้าซื้อ คนไข้เข้าไม่ถึงยา ยายังคงมีราคาแพง ระบบสุขภาพต้องแบกรับค่ายาที่ผิดปกติเหล่านี้เพราะเทคนิคการแสวงหากำไรบนชีวิตผู้ป่วย            "ดังนั้นที่ผ่านมา มีบริษัทยาชื่อสามัญไทยไม่กี่รายที่กล้าสู้คดี ซึ่งต้องชื่นชมในที่นี้คือ บ.สีลม ก่อนหน้านี้ บ.สยาม และ องค์การเภสัชกรรม ขอบคุณนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่ยอมเป็นพยานในคดีที่ใช้เวลาอย่างยาวนาน ชื่นชมความสามารถของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายของ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและศาลฎีกาของไทยที่พิพากษาคดีประวัติศาสตร์นี้ เช่นที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เคยพิพากษาคดียาต้านไวรัส ddI ที่เป็นต้นแบบคำพิพากษาของโลกที่ชี้ว่า ผู้ป่วยสามารถร่วมฟ้องบริษัทยาในคดีทรัพย์สินทางปัญญาและอ้างปฏิญญาโดฮาว่าด้วยการสาธารณสุข ของความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้ตีความเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยา"            จากงานวิจัยสิทธิบัตรที่เป็น evergreening ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า 70% สิทธิบัตรยาที่ออกไปแล้วนั้นไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร และอีก 80% ของคำขอที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่มีความใหม่ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น ซึ่งหากคำขอสิทธิบัตรยาเหล่านี้ได้สิทธิบัตรจะเป็นภาระงบประมาณมากถึง 5000 ล้านบาทจากยาที่ขายดีเพียง 50 รายการเท่านั้น            “ที่ผ่านมาเมื่ออายุของสิทธิบัตรยาสิ้นสุดลง คือครบ 20 ปี อุตสาหกรรมยาของไทยจะผลิตยาชื่อสามัญมาแข่งขันได้ ซึ่งทำให้ลดการผูกขาดและราคายาถูกลง และสถานพยาบาลสามารถจัดหายาได้ในต้นทุนถูกลงเพื่อรักษาผู้ป่วยตามสิทธิหลักประกันที่สังกัด แต่กลับมาเจอบริษัทยามาขอขึ้นทะเบียนในลักษณะจดซ้ำซ้อน”             "รัฐบาล คสช.ควรศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะทุกวันนี้ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ยังย้ำคิดย้ำทำว่าต้องออกคำสั่งคสช.ตามมาตรา 44 เพื่อจัดการคำขอสิทธิบัตรที่คั่งค้าง ถ้าทำเช่นนั้นก็เท่ากับปล่อยผีสิทธิบัตรยาที่ไร้คุณภาพ เป็นภาระกับประเทศ ขณะเดียวกัน กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องนำคำพิพากษาไปปรับปรุงคณภาพการตรวจสอบสิทธิบัตร และแก้ไขร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตรให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น"            สำหรับคดีที่บริษัทยาข้ามชาติฟ้องบริษัทยาชือสามัญไทย มีอย่างน้อย 3 คดี คดีที่ 1.ยา Finasterine บ.MSD ฟ้อง บ.สยาม ฎีกา เมื่อ 2 ปีก่อน ไม่ชนะไม่แพ้ ศาลชี้ว่า บ.สยามใช้คนละวิธี ไม่ละเมิด คดีที่ 2.ยา Varsantan บ.Novartis ฟ้อง บ.สีลม ฎีกา 8 พ.ค. เพิกถอนสิทธิบัตร Novartis ไม่สมควรได้ 3. ยา Celecoxib บ. Pfizer ฟ้อง บ.แมคโครฟาร์ คดีอยู่ในศาลทรัพย์สินทางปัญญา ศาลชั้นต้น             นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เครือข่ายผู้ป่วยร้องคัดต้านคำขอสิทธิบัตร อาทิ ยาสูตรผสมรวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์และเลดิพาสเวียร์ ที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเข้าข่ายไม่ควรได้สิทธิบัตร เหตุเพราะไม่เข้าด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายสิทธิบัตร คือ 1.ไม่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรในเรื่องการบำบัดรักษา 2.การผสมยาสองชนิดรวมในเม็ดเดียวเป็นเทคโนโลยีธรรมดาๆ ที่เปิดเผยและทราบกันโดยทั่วไปในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางเภสัชกรรมอยู่แล้ว 3.ประสิทธิผลของการใช้ยาสองชนิดนี้ร่วมกันเป็นสิ่งที่ทราบกันดีอยู่แล้วในทางเภสัชกรรม ซึ่งในกฎหมายระบุว่าต้องก่อให้เกิด “ผลที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่าย” จึงจะเข้าข่ายได้รับสิทธิบัตร             ทั้งนี้ บ่ายวันพฤหัสที่ 17 พ.ค.นี้แผนงานศูนย์วิชาการพัฒนาและเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จะจัดเวทีเสวนาวิชาการที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อสรุปบทเรียนการต่อสู้สิทธิบัตรยาที่ไม่ชอบธรรมในประเทศไทยด้วย รายละเอียดติดต่อเพิ่มเติม กรรณิการ์ กิจติเวชกุล  (089-500-3217)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2558“Eco Sticker” คู่มือคนซื้อรถยนต์ตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป รถยนต์ที่ผลิตขึ้นใหม่ทุกคันทั้งนำเข้าและผลิตเองในประเทศจะต้องติด “Eco Sticker” หรือป้ายแสดงข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อรถยนต์ ข้อมูลที่แสดงอยู่บน Eco Sticker  จะบอกข้อมูลอัตราการใช้น้ำมันว่า มีปริมาณมากน้อยเพียงใด เรื่องของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสร้างมลพิษ และมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยโดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานการเบรก ซึ่งอิงกับเกณฑ์ระดับสากล Eco Sticker จะควบคุมดูแลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลัง เชื่อว่าการออกข้อกำหนดให้รถยนต์รุนใหม่ๆ ที่จะวางจำหน่ายในประเทศทุกคันต้องติดป้าย Eco Sticker จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคในการมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไว้สำหรับเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์สักคัน ส่วนทางฝั่งผู้ผลิตรถยนต์ก็จะพัฒนารถของตัวเองให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ผลิตรถยนต์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะต่อไปเชื่อว่านอกจากเรื่องสมรรถนะและความปลอดภัยแล้ว เรื่องของการประหยัดพลังงานและไม่ทำลายสภาพแวดล้อมจะเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์สักคัน “คีนัว” - “เมล็ดเชีย” คุณค่าทางอาหารเท่าธัญพืชไทยเพราะเดี๋ยวนี้คนไทยเรารักสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินที่หลายๆ คนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เรียกว่ามีอะไรใหม่ๆ มาที่เขาว่ากินแล้วดีต่อสุขภาพเป็นต้องหามาลองเพราะอยากจะมีสุขภาพดีอย่างที่เขาโฆษณาล่าสุดก็เกิดกระแสการบริโภค “คีนัว” และ “เมล็ดเชีย” ธัญพืชที่ว่ากันว่านำเข้ามากจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบอเมริกาใต้ ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารหลายอย่าง ทั้ง โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ แม้จะฟังดูคุณค่าทางอาหารสูง แต่ว่าราคาที่ขายก็สูงด้วยเช่นกัน ซึ่ง ผศ.อาณดี นิติธรรมยง อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาเตือนคนไทยว่าอย่าตื่นตัวกับ ข้าวคีนัว และ เมล็ดเชีย มากกันจนเกินไป เพราะจริงๆ แล้วธัญพืชของไทยเราก็มีคุณค่าทางอาหารไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็น ลูกเดือย ถั่วแดง งา ข้าวไรซ์เบอรี่ ฯลฯ เพียงแต่หลายคนมองข้ามเพราะอาจจะมองว่าเป็นของที่อยู่ใกล้ตัวหาทานได้ทั่วไป ที่สำคัญคือราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับข้าวคีนัว และ เมล็ดเชีย ใครที่พอมีทุนทรัพย์อยากจะหามารับประทานก็ตามความสะดวก แต่ยังไงการทานอาหารให้ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือการรับประทานอาหารให้หลากหลายครบทั้ง 5 หมู่ ลาขาด SMS กวนใจหลังจากที่ปล่อยให้บรรดา SMS ขายของ ชิงโชค ดูดวง เป็นปัญหากวนใจคนใช้โทรศัพท์มือถือมานานแสนนาน ในที่สุด กสทช. ก็ได้ฤกษ์ออกประกาศห้ามผู้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกค่ายส่งข้อความโฆษณาที่สร้างความรำคาญหรือทำให้ต้องเสียค่าบริการเพิ่มกับผู้ใช้มือถือ นอกจากที่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้บริการโดยข้อห้ามดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในประกาศของ กสทช. เรื่อง “การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควรหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. 2558” ซึ่งในประกาศฉบับนี้ยังมีข้อกำหนดอื่นๆ ที่ห้ามไม่ให้ค่ายผู้ให้บริการมือถือเอาเปรียบผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น ห้ามโฆษณาเกินจริง ห้ามกำหนดเงื่อนไขในการคิดค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม จำกัดโอกาสการเลือกใช้บริการ ฯลฯ ซึ่งหากค่ายผู้บริการมือถือไม่ทำตามประกาศฉบับนี้จะมีโทษปรับทางปกครองสูงสุดถึง 5 ล้านบาท แล้วถ้ายังไม่ทำการแก้ไขก็จะมีโทษปรับอีกสูงสุดวันละ 1 แสนบาทโทลล์เวย์ต้องลดราคา หลังศาลบอกสัญญาไม่เป็นธรรมศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้มติที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีปี 2549 และ 2550 ที่เห็นชอบให้แก้ไขสัญญาสัมปทานทางหลวง อนุญาตให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด เก็บค่าผ่านทางเพิ่มพร้อมทั้งขยายอายุสัมปทานเพิ่มอีก 27 ปี เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบผู้บริโภค สร้างภาระให้กับประชาชน เพราะในสัญญาเอื้อให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด สามารถกำหนดราคาล่วง หน้า และขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต จากมติดังกล่าวของศาลปกครองกลาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินการออกคำสั่งบังคับให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด กลับไปใช้อัตราค่าผ่านทางเดิมก่อนแก้ไขสัญญา ที่ปรับเพิ่มขึ้นมา 5 – 15 บาท และให้เรียกเงินคืนเงินจากบริษัทที่สร้างภาระเกินสมควรกับผู้บริโภคจากการเรียกเก็บค่าผ่านทางเพิ่มจากมติที่ไม่ชอบดังกล่าวจำนวน  4 พันล้านบาท พร้อมขอให้รัฐบาลอย่าอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง เพราะศาลได้พิจารณาแล้วว่าการทำสัญญาระหว่างภาครัฐกับเอกชนครั้งนี้ เป็นสัญญาที่ทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์และสร้างภาระอย่างมากให้กับประชาชนสั่งถอดโฆษณา “ประกันสุขภาพสูงวัย” ทำผู้บริโภคเข้าใจผิดศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน ถึงความไม่ตรงไปตรงมาของการประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมีการโฆษณาเชิญชวนให้ซื้อประกันผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางทีวีเป็นจำนวนมาก ในโฆษณาจะให้ข้อมูลแค่ว่าสมัครได้โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ จ่ายเบี้ยประกันเฉลี่ยวันละไม่กี่บาท ได้ผลตอบแทนจากวงเงินประกันสูง แต่กลับพบปัญหาเมื่อไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากการรักษาพยาบาล เนื่องจากบริษัทประกันอ้างว่า ผู้เอาประกันเป็นโรคร้ายแรงมาก่อนจะสมัครซื้อประกัน แถมยังมีการยกเลิกสัญญาประกันตามมาด้วย เพราะบริษัทประกันอ้างว่าผู้ซื้อประกันปกปิดข้อมูล ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างชัดเจน หลังจากที่เรื่องดังกล่าวถูกเผยแพร่ไปยังสื่อต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวกับปัญหานี้เป็นอย่างมาก ทำให้สมาคมประกันชีวิตไทย ต้องออกมาประกาศให้บริษัทประกันชีวิตทุกบริษัทถอดโฆษณาขายประกันสำหรับผู้สูงอายุออกทั้งหมด แล้วให้ไปทำการปรับปรุงและเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงข้อความในโฆษณาให้มีความชัดเจน โดยต้องมีการแจ้งให้ผู้จะซื้อประกันทราบด้วยว่า ถ้าเกิดกรณีผู้ประกันเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 2 ปีแรก บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยพร้อมเงินเพิ่ม 2-5 เปอร์เซ็นต์ให้กับผู้เอาประกัน แต่ถ้าผ่านพ้นไปหลัง 2 ปีแล้วจะได้รับเงินคืนทั้งหมดตามทุนประกันที่ทำไว้กับบริษัทประกันชีวิต และต้องแจ้งเงื่อนไขในการทำประกันที่ว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพนั้นมีเงื่อนไขอื่นแฝงอยู่หรือไม่ เช่นไม่จ่ายชดเชยกับโรคร้ายแรงบางโรคหรือมีเงื่อนไขในการจ่าย เพื่อไม่ให้เป็นปัญหากับผู้บริโภคในภายหลัง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 หลักประกันสุขภาพ

1. การลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพ (สิทธิบัตรทอง) ต้องทำอย่างไรเอกสารลงทะเบียน1)    สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้สำเนาสูติบัตร (ใบเกิด)2)    สำเนาทะเบียนบ้าน หรือ หนังสือรับรองการพักอาศัยสถานที่ลงทะเบียน ในวันเวลาราชการต่างจังหวัด : สถานีอนามัย/โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)/โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกรุงเทพฯ : ติดต่อที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร             สอบถามเขตที่เปิดให้บริการ โทร.สายด่วน สปสช.1330การลงทะเบียนคนพิการ (ท.74)คนพิการผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพที่ยังไม่ได้ระบุสิทธิย่อย ท.74 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ต้องนำในรับรองความพิการจากแพทย์หรือแสดงบัตรคนพิการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พ.ศ. 2550  ลงทะเบียน ณ สถานที่รับลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิฟื้นฟูสมรรถภาพได้2. การขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ ต้องทำอย่างไร         หน่วยบริการ  หมายถึง โรงพยาบาล สถานีอนามัย สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ศูนย์บริการสาธารณสุข  สถานพยาบาลของเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหน่วยบริการปฐมภูมิ/หน่วยบริการประจำ  หมายถึง  หน่วยบริการที่ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพเลือกลงทะเบียนเพื่อรับบริการสาธารณสุขเป็นประจำ  โดยทั่วไปจะเป็นหน่วยบริการที่มีสถทนที่ตั้งใกล้เคียงกับที่พักอาศัยของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพการขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ   นำบัตรประจำตัวประชาชน ติดต่อด้วยตนเองได้ที่สถานีอนามัย/โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน  หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  หรือสำนักงานเขตของกทม.ที่เปิดรับลงทะเบียนในวันเวลาราชการ  โดยมีสิทธิเปลี่ยนหน่วยบริการประจำได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปีงบประมาณ (ตุลาคมถึงกันยายนของปีถัดไป)การเข้ารับบริการ ณ หน่วยบริการแห่งใหม่ สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ (สิทธิบัตรทอง) ได้หลังแจ้งความจำนงเปลี่ยนหน่วยบริการประมาณ 1 เดือน  โดยสามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่สายด่วน สปสช. 1330

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 171 หลักประกันสุขภาพ

เมื่อวันที่  2-3  มีนาคม 2558  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( สปสช.) ได้จัดกิจกรรม เรื่อง  การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านสุขภาพในระดับท้องถิ่น ขึ้น ณ โรงแรมประจักษ์ตรา  อำเภอเมือง  จังหวัดอุดรธานี  โดยร่วมกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์  อุดรธานี  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดกิจกรรมเสวนาให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนการทำงานในพื้นที่ภาคอีสาน  โดยกลุ่มเป้าหมายนำร่องที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ได้แก่ ตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบล ในจังหวัดภาคอีสานตอนบน จำนวน  24 แห่ง  จาก 9 จังหวัด  ได้แก่ จ.อุดรธานี สกลนคร หนองบัวลำภู หนองคาย  เลย  นครพนม  มหาสารคาม  กาฬสินธุ์ และ ร้อยเอ็ด  วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมดังกล่าวเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในด้านสิทธิผู้บริโภค เสริมพลังในการทำงานของภาคีเครือข่ายให้ตระหนักและเข้าใจในเรื่องสิทธิผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น  เพื่อจะได้ช่วยกันพัฒนากลไกคุ้มครองผู้บริโภคระดับท้องถิ่นขึ้นมา โดยนายแพทย์วีระวัฒน์  พันธุ์ครุฑ   รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวในการเปิดงานว่า  “ การทำงานคุ้มครองผู้บริโภค  ก็เปรียบเสมือน การเล่นฟุตบอล ประกอบไปด้วย ผู้บริโภค ซึ่งต้องคิดไตร่ตรองการตัดสินใจ    หน่วยราชการ ผู้รับผิดชอบในการดูแลควบคุมผู้ประกอบการ    องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใกล้ชิดกับประชาชนสามารถดูแลช่วยเหลือผู้บริโภคได้ง่ายที่สุด   โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในอนาคตอาจเป็นองค์กรที่ดูแลผู้บริโภคโดยตรง  และยังมีกลไกอื่นๆ ที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ทั้งสมาคม  มูลนิธิ “นอกจากกิจกรรมเสวนาภายในโรงแรมแล้ว ยังมีกิจกรรมเสริม คือการดูงานในสองพื้นที่ ที่มีการทำงานที่แตกต่างกัน พื้นที่แรก ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลวังทอง  อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู (พื้นที่ต้นแบบ)  ความโดดเด่นของ อบต.แห่งนี้คือ การมีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์( Lab ) สำหรับตรวจสารเคมีในผักที่ขายในท้องถิ่นเป็นของตนเอง  โดยความคิดริเริ่มของท่านนายก อบต.คุณคมกริช    สีอาจ ที่มีความคิดว่าจะทำอย่างไร ให้พื้นที่ส่วนนี้ลดการใช้สารเคมี     จึงเริ่มนำโครงการผักปลอดสารพิษเข้าสู่ระดับจังหวัด  เก็บข้อมูลและเริ่มหาแนวทางในการลดการใช้สารเคมีในพื้นที่ ต่อมาก็เริ่มก่อตั้งห้อง LAB วิทยาศาสตร์ ขึ้นเพื่อทำการตรวจสอบผักหาสารเคมีตกค้าง  โดยมีอาสาสมัครชุมชน เป็นผู้ดำเนินการภายใต้การอบรมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อุดรธานี  ซึ่งหลังจากดำเนินงานหลายสิบปี พบว่าชาวบ้านให้ความสนใจและถ้าไม่มั่นใจว่าอาหารที่ซื้อมากินปลอดภัยหรือเปล่า  ชาวบ้านก็จะนำมาตรวจกับแล็บท้องถิ่น ถือเป็นการเฝ้าระวังในพื้นที่อีกด้วย การลงพื้นที่กลุ่มที่สอง คือการไปพื้นที่โรงพยาบาลศรีบุญเรือง อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู   รพ.ตัวอย่างที่ทำงานคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ  อาทิ เจ้าหน้าที่มีจิตอาสาจิตสาธารณะในการดูแลชุมชนให้เข้มแข็ง  มีความร่วมมือของภาคีเครือข่ายการคุ้มครองสิทธิ ที่มีกระบวนการทำงานเป็นรูปธรรมชัดเจน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 134 คนรักหลักประกันสุขภาพ

  สร้างความเท่าเทียมมาตรฐานรักษาพยาบาล ดีกว่าร่วมจ่ายเพื่อการสร้างความเท่าเทียมในการจ่ายรักษา หลังการแถลงข่าวของกลุ่มคนรักหลักประกันเมื่อวันที่ 22 ก.พ.55 ถึงเหตุผลในเรื่องที่รัฐไม่ควรกลับไปใช้นโยบายร่วมจ่าย 30 บาท ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยนำเสนอ ผลการศึกษาของสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนา หลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่พบว่า การกลับมาเก็บ 30 บาท มีเหตุผลที่ไม่เชื่อมโยงหลายประการ โดยเฉพาะหากต้องการรีแบรนด์เพื่อช่วยสถานพยาบาลที่ประสบภาวะขาดทุน ยิ่งไม่ใช่ เนื่องจากข้อมูลพบว่าสาเหตุหลักของโรงพยาบาล (รพ.) ขาดทุนมาจากปัญหาค่าตอบแทน ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 30-40% ของปีงบประมาณ 2552 ซึ่งค่าตอบแทนนี้เป็นค่าตอบแทนในการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน แต่การจะมาผลักภาระโดยให้ประชาชนในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง เป็นผู้แบกโดยการร่วมจ่าย 30 บาท ถือว่าไม่ถูกต้อง แต่ท้ายที่สุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานการประชุมวิชาการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในศตวรรษที่ 2 จัดขึ้น ณ โรงแรมรามาการ์เด้น วันที่ 22 มี.ค.55 ว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นระบบที่รัฐบาลตั้งใจดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลยามเจ็บป่วย โดยไม่ต้องห่วงเรื่องการล้มละลาย ซึ่งตลอดมาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ คือกว่า 47 ล้านคน ช่วยลดความยากจนจากการจ่ายค่ารักษาประกันสุขภาพได้กว่า 76,000 ครัวเรือน ซึ่งก้าวต่อไปของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะยกเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่จะลดความเหลื่อมล้ำ และบริการที่ดี ครอบคลุม โดยจะกลับมาเก็บเงินสมทบ 30 บาท เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม และรู้สึกเป็นผู้ซื้อบริการ ไม่ใช่เป็นผู้มาขอรับบริการเท่านั้น   ฉลาดซื้อจึงขอพาคุณไปคุยกับกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังอย่างชมรมเพื่อนโรคไต เครือข่ายโรคมะเร็ง กันค่ะว่า จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ควรจะเพิ่มหรือพัฒนาการอะไรบ้าง หรือทางออกที่ดีของการสร้างหลักประกันสุขภาพควรจะเป็นอย่างไร สหรัฐ ศราภัยวานิช อาสาสมัครชมรมเพื่อนโรคไต ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า การเก็บค่าบริการ 30 บาท ใครอื่นอาจจะมองดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่คนที่ใช้สิทธิอยู่มันไม่มี 100 บาทก็ไม่มี 30 บาท ก็ดูจะยาก “การที่จะเก็บ 30 บาทแล้วบอกว่าเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ใช้บริการ ไม่ให้ประชาชนมาหาหมอพร่ำเพรื่อ แต่ถ้ามองในความจริงแล้ว ไม่มีใครอยากไปหาหมอหรอกครับถ้าไม่เจ็บป่วยจริงๆ” สหรัฐมองต่อประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการเข้าไปรับบริการสุขภาพซึ่ง เขาเองใช้สิทธิประกันสังคม เขาเองก็ยอมรับว่าสิทธิของประกันสังคมในเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นค่อนข้างครอบคลุม แต่กระนั้นก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นเข้ามา “ค่าเดินทางไปฟอกเลือดทีก็ 200 บาท ค่าอาหาร บางอย่างก็มีการเก็บเพิ่มเช่น ค่ากระดาษรองแขน คิดอาทิตย์ละ 100 บาท อย่างผมไปฟอกไตอาทิตย์ละ 3 ครั้ง เรื่องยาก็สำคัญนะครับ บางตัวหมอไม่ได้จ่ายให้ แต่เราจำเป็นต้องกิน ก็ต้องซื้อกินเองเดือนละ 300 บาท รวมประมาณการ เดือนละ 1,000 บาทครับ” แต่ค่าใช้จ่ายข้างต้น สหรัฐให้ความเห็นว่าเพราะเขารู้ช่องทางการไปฟอกไต จึงทำให้ค่าใช้จ่ายถูก แต่บางคนต้องเดินทางมาจากสมุทรปราการ บางทีมาจากประจวบฯ เพื่อมาฟอกไตที่ รพ.สงฆ์ “ก่อนที่จะมีโครงการฟอกไต ต้องบอกว่าตกเดือนละ 30,000 บาท ทั้งค่าฟอกไต ค่ายาฉีดเพิ่มเลือด ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายมากครับ มากจนบางคนล้มละลายไปเลยก็มี ต้องขายที่ดินเพื่อรักษาตัวเอง แต่พอการรักษาครอบคลุม ทุกอย่างดีขึ้นเยอะครับ แต่ถ้ามองดูสิทธิการรักษาระหว่างสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้สิทธิในการล้างช่องท้อง สำหรับคนเป็นโรคไต หลังปี 51 จะเลือกการรักษาโดยการฟอกเลือดไม่ได้ ต้องจ่ายเงินเองทั้งหมด บางคนกลัวว่าล้างช่องท้องแล้วจะติดเชื้อ ก็ยอมจ่ายค่าฟอกเลือด 1,000 ถึง 1,500 บาทก็ยอมจ่าย” การไปฟอกเลือดแต่ละครั้งจะใช้เวลา 4 ชั่วโมงในการฟอกเลือด แต่ยังไม่ได้รวมเวลาในการเข้าคิวรอ บางรายมารอตั้งแต่ตี 4 เพื่อที่จะได้ฟอกเลือด 6 โมงเช้า จะได้กลับบ้านก็ 11 โมง   ส่งเสริมสิทธิการรักษาให้เท่าเทียม การรักษาโรคไตมี 2 มาตรฐานนั่นคือ คนที่ได้รับสมุดฟอกเลือด กลุ่มแรกเป็นก่อนแล้วค่อยมาทำบัตรประกันสังคม กลุ่มที่สองทำบัตรประกันสังคมก่อนแล้วถึงเป็นโรคไต ซึ่งกลุ่มที่สองนั้นสิทธิจะครอบคลุมหมดเลยการฟอกเลือด 1 ครั้งประกันสังคมจะจ่ายให้ 1,500 บาท “ส่วนกลุ่มแรกนั้น ประกันสังคมจ่ายให้ 1,000 บาท ในเรื่องสิทธิของการเปลี่ยนไตนั้นเท่าเทียมกัน สามารถยื่นคำขอเปลี่ยนไตได้ แต่จะมีความแตกต่างกันในเรื่องค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือด แต่ถ้าเทียบกับสิทธิผู้ป่วยไตของกลุ่มหลักประกันสุขภาพนั้นในเรื่องค่ายากดภูมิ ไม่จำกัดเรื่องวงเงิน ซึ่งชมรมเพื่อนโรคไตพยายามผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันในเรื่องการรักษาพยาบาล” อีกเรื่องที่สหรัฐชี้ให้เห็นก็คือเรื่องยาในบัญชียาหลัก ที่มีความแตกต่างการจ่ายยาของแต่ละโรงพยาบาลแตกต่างกัน ส่งผลต่อการรักษาของผู้ป่วย “ในเรื่องของผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ผู้ที่เป็นโรคไตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ผู้ป่วยไม่ต้องร่วมจ่าย สำหรับบริการทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งบริการทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมนั้น เริ่มให้บริการในวันที่ 1 ตุลาคม 51 ซึ่งจะให้บริการฟอกเลือดสำหรับผู้ป่วยรายเก่าที่เลือกวิธีการฟอกเลือดต่อไป จะได้รับความคุ้มครองโดยร่วมจ่ายไม่เกิน 500 บาท สปสช.ชดเชยให้หน่วยบริการ 1,000 บาท ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ที่ยืนยันจะใช้วิธีฟอกเลือดต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ซึ่งชมรมเพื่อนโรคไตกำลังพยายามผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกัน คือถ้าหากมีการรวมกองทุนและสร้างความเท่าเทียมกันในเรื่องมาตรฐานการรักษา จะดีมากเลย คือเรื่องความสะดวกสบายน่ะไม่เป็นไร เราต้องการความเท่าเทียมกันด้านมาตรฐานการรักษามากกว่า” การรวม 3 กองทุน สู่มาตรฐานสุขภาพ ดาราณี โพธิน อาสาสมัครเครือข่ายโรคมะเร็ง เป็นอีกหนึ่งที่ใช้สิทธิประกันสังคมในการรักษาโรคมะเร็ง และเป็นผู้ประกันตนที่ร่วมส่งเงินสมทบตามมาตรา 39 นั่นคือเงินบำนาญ ซึ่งเธอให้ความเห็นว่าประกันสังคมน่าจะนำเงินส่วนกองทุนสุขภาพ มาเพิ่มในส่วนของเงินบำนาญ เพราะเมื่อชราภาพลงก็น่าจะมีกองทุนที่ช่วยเยียวยา “เราเห็นสิทธิการรักษาพยาบาลแล้ว มองว่ามันยังไม่ครอบคลุมเหมือนสิทธิหลักประกันสุขภาพ และเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ในเรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเอง หากจะมีการกลับมาเก็บ 30 บาทอีกนั้น ก็น่าจะมีการพัฒนาในเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น ทั้งเวลาที่รวดเร็วขึ้น ไม่ใช่ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ 6 โมงเช้า เพื่อไปรอหมอ กว่าจะได้พบหมอ ได้รักษาก็ครึ่งค่อนวัน คนในชุมชนเองซึ่งก็ทำงานรายวัน อย่างขายน้ำ พอไปหาหมอ 1 วัน วันนั้นรายได้ก็จะไม่มีเข้ามาแล้ว ไหนจะค่ารถ ค่าอาหาร หากจะกลับมาเก็บ 30 บาท ต้องมีอะไรที่ดีขึ้นกว่าเดิม ในส่วนตัวแล้วมองว่า 3 กองทุนสุขภาพ นั่นคือกองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคมและกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก อย่างคนในชุมชนใช้สิทธิประกันสุขภาพนอนดูอาการ อยู่หลายวัน แต่สิทธิข้าราชการ สามารถเข้ารับการตรวจได้เลย อีกส่วนหนึ่งที่เจ็บใจก็คือสิทธิของประกันสังคม ด้อยกว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพ ทั้งที่ประกันสังคมต้องจ่ายเงิน แต่สิทธิด้านการรักษาโรคยังครอบคลุมน้อยกว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพซะอีก เลยอยากให้นำส่วนที่เราจ่ายเงินไปสบทบในส่วนกองทุนชราภาพให้เราใช้ตอนแก่ยังจะดีกว่า เพราะสภาพสังคมแบบนี้จะมัวไปพึ่งลูกหลานอยู่ก็ไม่ได้ หากเป็นไปได้การจะพัฒนาเรื่องสุขภาพจริงๆ ก็ควรที่จะพัฒนาในเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้เท่าเทียมกัน ดูจะเป็นทางออกที่ดีกว่า”  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 121 ถึงเวลาคนไทยใช้ระบบประกันสุขภาพมาตรฐานเดียวกัน

  “จะดีไหม!?...ถ้า 0.88% ของเงินเดือนที่เราและนายจ้างต้องจ่ายให้ระบบประกันสังคมในกรณีเจ็บป่วย ถูกนำไปเพิ่มเป็นเงินบำนาญหลังเกษียณ ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาลเวลาเจ็บป่วยก็เปลี่ยนให้ไปใช้บัตรทองซึ่งให้สิทธิรักษาฟรีกับคนไทยทั่วประเทศอยู่แล้ว...”   ผู้ประกันตนระบบประกันสังคมฟังทางนี้!!! เรารู้จักสิทธิของตัวเองดีพอหรือยัง? คงยังมีหลายคนที่สงสัยว่า “ผู้ประกันตน” ที่ว่านี้หมายถึงใคร ?  ผู้ประกันตน ก็คือ พวกเราเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ต้องจ่ายเงินให้กับประกันสังคม โดยการหักจากเงินเดือน (แบบอัตโนมัติ) ทุกเดือนเดือนละ 5% สำหรับเป็นเงินไว้สำหรับสมทบเพื่อสิทธิประโยชน์ เวลาที่เราเจ็บป่วยแล้วใช้บริการที่สถานพยาบาล หรือเป็นเงินช่วยเหลือตอนตกงาน รวมทั้งจะได้มีเงินบำนาญไว้ใช้ตอนอายุมาก ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้มีเงินส่วนหนึ่งไว้ค่อยช่วยเหลือเวลาที่เราลำบาก โดยไม่ใช่แค่เราเท่านั้นที่ต้องจ่ายเงินสมทบให้กับประกันสังคม แต่นายจ้างและรัฐก็ร่วมจ่ายสมทบเพื่อสิทธิของเราด้วย โดยนายจ้างจ่าย 5% ของเงินเดือนของเรา ส่วนรัฐช่วยน้อยลงมาหน่อยที่ 2.75% ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจ เหล่ามนุษย์เงินเดือนก็ต้องจ่าย 5% ของเงินเดือน เข้าสู่กองทุนประกันสังคม หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่า  “นานทีปีหนถึงจะได้เข้าโรงพยาบาล แล้วแบบนี้ทำไมต้องมาจ่ายเงินให้ประกันสังคมด้วย”  ไขข้อข้องใจ ที่เราต้องจ่ายก็เพราะว่าหลักการของประกันสังคมคือเรื่องของการ “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” เงินของเราที่ถูกหักให้ประกันสังคมทุกๆ เดือนนั้นจะกลายไปเป็นเงินกองกลางสำหรับบริหารจัดการดูแลทุกๆ คนที่อยู่ในระบบประกันสังคมร่วมกับเรา ใครป่วยต้องรักษาพยาบาลก็ได้รับการดูแล วันหนึ่งถ้าเราไปหาหมอก็จะได้รับการดูแลเช่นกัน หรือถ้าวันหนึ่งเราตกงานหรือเกษียณก็จะมีเงินชดเชยให้ ซึ่งก็คือเงินของเราที่ถูกหักไปทุกๆ เดือนนั้นแหละ   5% ของเงินเดือนที่เราจ่ายให้ประกันสังคมถูกใช้ไปทำอะไรบ้าง   %ของเงินเดือนที่จ่าย สิทธิประโยชน์ สิทธิที่ได้รับ เงื่อนไขการใช้สิทธิ 0.88% กรณีเจ็บป่วย *รักษาฟรีที่ รพ.ตามสิทธิที่เลือกไว้ *เงินทดแทนการขาดรายได้ ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนใช้สิทธิครั้งแรก 0.12% กรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนหญิง *ได้เงินทดแทน 13,000 บาทต่อครรภ์ ได้ไม่เกิน 2 คน *เงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ไม่เกิน 90 วัน ผู้ประกันตนชาย *ได้เงินทดแทน 13,000 บาท ต่อครรภ์ ได้ไม่เกิน 2 คน ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 7 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนคลอดบุตร 0.44% กรณีทุพพลภาพ *ใช้บริการ รพ.ของรัฐฟรี *หากเป็น รพ.เอกชน -ผู้ป่วยในเดือนละ 4,000 บาท -ผู้ป่วยนอกเดือนละ 2,000 บาท *เงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค้าจ้างรายเดือนไปตลอดชีวิต *อวัยวะเทียมที่จำเป็นฟรี ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนทุพพลภาพ 0.06% กรณีตาย เงินสงเคราะห์ และค่าปลงศพ 40,000 บาท *หากส่งสมทบมาแล้วมากกว่า 3 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้เงินสงเคราะห์ เท่ากับค่าจ้าง 1 เดือนครึ่ง *หากสมทบมากกว่า 10 ปี เงินสงเคาระห์เท่ากับค่าจ้างของผู้ประกันตน 5 เดือน ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายใน 6 เดือนก่อนตาย 3% กรณีชราภาพ *จะได้รับบำนาญ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย หากส่งสมทบมามากกว่า 180 เดือน *หากส่งสมทบมาไม่ถึง 180 เดือน จะได้รับบำเหน็จเท่ากับเงินสมทบทั้งหมดบวกกับดอกเบี้ยตามอัตราที่สำนักงานประกันสังคมประกาศในแต่ละปี อายุ 55 ปี บริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง 0% (เพราะรัฐออกให้) กรณีสงเคราะห์บุตร *เดือนละ 400 บาท ไปจนบุตรอายุ 6 ปี และได้ครั้งละ 2 คน ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายใน 36 เดือนก่อนได้รับสิทธิ 0.5% กรณีว่างงาน *หากถูกให้ออกโดยไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างจะได้ 50% ของค่าจ้างรายวันไม่เกิน 6 เดือน *หากลูกจ้างลาออกหรือหมดโครงการจะได้ 30% ของค่าจ้างรายวันไม่เกิน 3 เดือน ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนว่างงาน   ความจริงเรื่องประกันสุขภาพ ประเทศไทยเรา ไม่ได้มีระบบประกันสุขภาพสำหรับดูแลเรื่องความป่วยไข้ของคนไทยแค่ระบบประกันสังคมเท่านั้น แต่ยังมีอีก 2 ระบบสำคัญที่ค่อยเป็นที่พึ่งเรื่องสุขภาพของคนไทย นั้นคือ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อที่ว่า “ระบบบัตรทอง” ซึ่งเป็นระบบที่รัฐดูแลจัดการ ถือเป็นสวัสดิการให้กับคนไทยทุกคน ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม หรือระบบประกันสุขภาพอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยที่ได้รับการดูแลเรื่องการรักษาพยาบาล ค่ายา ประมาณ 47 ล้านคน งบประมาณที่ใช้ก็มาจากเงินภาษีของเรานี่แหละ  คิดเป็นตัวเลขก็ประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยค่ารักษาพยาบาลเหมาจ่ายต่อคนที่รัฐออกให้อยู่ที่ประมาณ 2,401.33 บาท อีกระบบ คือ ระบบสวัสดิการข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ สำหรับดูแลข้าราชการและครอบครัว ซึ่งมีประมาณ 5 ล้านคนทั่วประเทศ งบประมาณที่ใช้ก็มาจากเงินภาษีของเราอีกนั้นแหละ ซึ่งให้งบประมาณดูแลสูงถึง 7 หมื่นล้านบาท ค่ารักษาพยาบาลเหมาจ่ายรายต่อคนประมาณ 10,000 บาท  ส่วนระบบประกันสังคม ซึ่งดูแลเหล่าลูกจ้างและมนุษย์เงินเดือนซึ่งมีอยู่ประมาณ 9 ล้านคน โดยงบประมาณที่นำมาใช้ดูแลสุขทุกข์ก็มาจากเงินที่เราถูกหักจากเงินเดือนทุกๆ เดือน บวกกับนายจ้างและรัฐช่วยสมทบให้ ซึ่งเงินที่เราจ่ายไปถูกนำไปเฉลี่ยสำหรับการดูแลคุ้มครองหลายๆ ส่วน (อย่างที่เราแจกแจงให้ดูในตารางก่อนหน้านี้) ซึ่งถ้าดูเฉพาะส่วนของค่ารักษาพยาบาลเราจะมีงบประมาณดูแลอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่น 2 พันล้านบาท คิดเป็นค่ารักษาพยาบาลเหมาจ่ายที่คนละ 2,105.26 บาท  “น่าคิดมั้ย?...ทำไมระบบประกันสังคมถึงเป็นระบบประกันสุขภาพระบบเดียว ที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบเอง”   ทั้ง ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ ระบบสวัสดิการข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ใช้เงินจากรัฐซึ่งก็มาจากเงินภาษีของเราเองในการดูแลเรื่องสุขภาพของคนที่อยู่ในระบบ แต่ระบบประกันสุขภาพในระบบประกันสังคน ผู้ประกันตนต้องเป็นคนจ่ายสมทบเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลก ว่าทำไมรัฐจึงไม่ดูแลเรื่องสุขภาพของคนไทยให้เหมือนกันเป็นระบบเดียว เพราะเมื่องบประมาณที่ใช้ดูแลก็มาจากเงินภาษีของคนไทยทุกคนอยู่แล้ว ทำไมเรายังต้องจ่ายเพิ่มอีก?!  จริงอยู่ที่ว่าระบบประกันสังคม เป็นระบบการดูแลคุ้มครองความมั่นคงของชีวิตที่ดีและมีประโยชน์ คือมีทั้งเรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและในแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข และยังเป็นการออมเพื่ออนาคต แต่หากสามารถนำหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขในเรื่องของการดูแลสุขภาพให้เท่าเทียมเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกระบบก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่ามั้ย?   มาเปลี่ยนเป็นระบบสุขภาพที่เท่าเทียมกันเถอะ“ถ้าเปลี่ยนให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ว่ายังจ่ายสมทบเท่าเดิม แล้วนำเงินที่ต้องจ่ายกรณีเจ็บป่วยไปเพิ่มให้กรณีชราภาพ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนมากกว่า”ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ ระบบบัตรทอง ทำหน้าที่ดูแลเรื่องสุขภาพคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศอยู่แล้ว หากจะเพิ่มการดูแลให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ก็คงไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกหรือยุ่งยากอะไร ถือเป็นการช่วยเหลือผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ยังเป็นเพียงคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินในการดูแลรักษาสุขภาพยามเจ็บป่วย ถึงแม้จะเปลี่ยนไปรับความคุ้มครองในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ก็เชื่อว่าผู้ประกันตนส่วนใหญ่ก็ยังยินดีที่จะจ่ายสมทบในระบบประกันสังคม เพราะยังมีข้อดีในส่วนของการออมเพื่ออนาคต ทั้งการช่วยเหลือตอนว่างงาน และเงินบำเหน็จบำนาญตอนเกษียณ  ซึ่งถ้าหากได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพจากระบบบัตรทองแล้ว เงินที่เคยจ่ายให้ประกันสังคมกรณีเจ็บป่วย 0.88% ของเงินเดือน ก็น่าจะถูกไปเพิ่มในส่วนของเงินชราภาพ ตอนเกษียณอายุเราจะได้มีเงินใช้เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันเราได้เงินบำนาญจากการจ่ายเงินสมทบให้ประกันสังคมอยู่ที่ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ถ้าหากได้อีก 0.88% ของเงินเดือนไปเพิ่ม %เฉลี่ยของเงินที่จะได้เป็นบำนาญก็จะสูงขึ้น หรือถ้าเป็นเงินบำเหน็จ ซึ่งปัจจุบันใช้เกณฑ์คิดจากเงินสมทบทั้งหมดที่เราจ่าย + กับอัตราดอกเบี้ยอีกนิดหน่อย ถ้าได้ 0.88% ของเงินเดือนไปเพิ่มก็จะทำให้ได้บำเหน็จเยอะขึ้นจากเดิมทันที (อย่าคิดว่า 0.88% ของเงินเดือนเป็นเงินไม่กี่บาท ถ้าหากเราเงินเดือนเดือนละ 10,000 บาท แต่ละเดือนเราก็จ่ายสมทบไป 88 บาท 1 ปี เราจะจ่ายไป 1,056 บาท และถ้าเป็น 10 ปี ก็เท่ากับเงิน 10,560 บาทเลยนะ)  และยิ่งถ้าเรานำเงินสมทบให้ระบบประกันสังคมจาก กรณีคลอดบุตร 0.12% ของเงินเดือน และ กรณีทุพพลภาพ 0.44% ของเงินเดือน ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ให้ความดูแลคุ้มครองตรงนี้ด้วยเช่นกัน ไปเพิ่มให้เงินสมทบสำหรับกรณีชราภาพอีก ตัวเงินหรือสิทธิที่เราจะได้รับการดูแลหลังเกษียณในฐานะผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมก็น่าจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก  ***แต่ที่เล่ามาทั้งหมดยังเป็นแค่ความฝันและความหวัง ของเหล่าผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่อยากเห็นเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง เพราะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวผู้ประกันตนและสังคมโดยรวม งานนี้ก็คงต้องวิงวอนภาครัฐและบรรดาผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ช่วยทำให้ฝันเล็กๆ ของลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน และมนุษย์เงินเดือนในระบบประกันสังคมเป็นจริงด้วยเถิด*** ************************************************** “ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน” มาร่วมกันสร้างระบบหลักประกันสุขภาพให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน อยากเชิญชวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทุกคนมาร่วมกันสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่เท่าเทียม สิทธิประโยชน์ที่ดีและเหมาะสมสำหรับพวกเราผู้จ่ายเงินสมทบในระบบประกันสังคม เพราะเงินทุกบาทที่เราจ่ายไปมีความหมาย ประกันสังคมต้องสามารถเป็น “หลักประกันให้สังคมได้อย่างแท้จริงและมีประสิทธิ”  ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม สามารถเข้าร่วม หรือติดตามข่าวสาร ข้อมูลต่างๆ ของการประกันสังคม ได้ที่หน้า facebook ของ “ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน” **************************************************  ตัวอย่างสิทธิประโยชน์การบริการทางการแพทย์ที่แตกต่างกันของระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ***(O) = คุ้มครอง   (X) = ไม่คุ้มครอง   ลักษณะการบริการ ระบบประกันสังคม ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ โรคเดียวกันที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลเกิน 180 วัน X   O กรณีมีความจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เจ็บป่วยฉุกเฉิน แล้วไม่สามารถใช้บริการ รพ. ที่ลงทะเบียนไว้ได้ O ไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี O ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โรคหรือประสบอันตรายจากการใช้สารเสพติด X O เฉพาะหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข ได้รับอันตรายหรือทุพพลภาพจากการที่ตัวเองตั้งใจให้เกิด (กรณีพยายามฆ่าตัวตาย) X O การบริการรักษาตัวเองหรือฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ที่บ้านหลังออกจาก รพ. X O การส่งต่อผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพสูงกว่าทางอากาศยาน (เฮลิคอปเตอร์) X O ไม่เกิน 60,000 บาทต่อครั้ง การช่วยเหลือเบื้องต้นให้แกผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ X O 1.เสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงิยช่วยเหลือไม่เกิน 200,000 บาท 2.สูญเสียอวัยวะหรือพิการ จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 120,000 บาท 3.บาดเจ็บหรือเจ็บต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 50,000 บาท การให้ยาไวรัสโรคเอดส์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังสัมผัส เช่น ถูกข่มขืน หรือติดเชื้อระหว่างปฏิบัติงาน เช่น แพทย์ พยาบาล X O การบริการแพทย์แผนไทยหรือแพทย์ทางเลือก X O ข้อมูลประกอบบทความ : “สู่ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว สู่หลักประกันทั้งสังคม”.เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, “รายงานการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประจำปี 2552”, “รายงานประจำปีสำนักงานประกันสังคม 2552”, “คู่มือบัตรทองสำหรับอาสาสมัครสาธารณะสุข”, “สรุปสาระสำคัญพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ. 2537 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542”, บทความ “ระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย” สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย, http://www.posttoday.com/ข่าว/อาชญากรรม-สังคม/72522/เทียบผลประโยชน์-บัตรทองดีกว่าประกันสังคมทุกด้าน/page-1/   เปรียบเทียบบริการทางการแพทย์ของระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   ระบบประกันสังคม ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีประสบอันตราย/อุบัติเหตุ ขอรับค่าบริการได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง ทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อน สามารถเบิกคืนจากสำนักงานประกันสังคมในอัตราที่กำหนดดังนี้ 1.สถานพยาบาลของรัฐ -ผู้ป่วยนอก สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น -ผู้ป่วยใน สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ยกเว้น ค่าห้อง และค่าอาหารเบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท 2.สถานพยาบาลของเอกชน *ผู้ป่วยนอก สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,000 บาท และสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงเกิน 1,000 บาทได้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนด **ผู้ป่วยใน สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนด กรณีที่ใช้บริการที่หน่วยบริการซึ่งขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้รับบริการไม่ต้องเสียค่าบริการหรือค่าใช้จ่าย และสามารถใช้สิทธิใช้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ตามความจำเป็นโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง กรณีใช้บริการที่สถานบริการอื่น ผู้รับบริการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเฉพาะส่วนที่เกินจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายให้สถานบริการ โดยสถานบริการดังกล่าวจะต้องแจ้งให้ผู้ป่วยและญาติทราบก่อนการให้บริการทุกครั้ง   การคลอดบุตร ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีคลอดบุตรสำหรับตนเองหรือคู่สมรส มีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์ในการคลอดบุตรคนละ 2 ครั้ง รวมถึงประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร ได้แก่ ค่าตรวจรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด ค่ากินอยู่และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่าบริการและค่ารักษาพยาบาลทารกแรกเกิด ค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย ค่าบริการอื่นที่จำเป็น ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ โดยจะได้รับเงินเหมาจ่ายค่าคลอดบุตร จำนวน 13,000 บาท สำหรับการคลอดบุตร (อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป) ของผู้ประกันตนหรือภริยาของผู้ประกันตน หรือหญิงซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ประกันโดยเปิดเผยกรณีผู้ประกันไม่มีภริยา *กรณีผู้ประกันหญิง สามารถคลอดบุตรที่สถานพยาบาลใดก็ได้ จะได้รับเงินเหมาจ่ายค่าคลอดบุตร จำนวน 13,000 บาท และยังจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรอีก ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบเฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน และสามารถหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรครั้งหนึ่ง ไม่เกิน 60 วัน *กรณีผู้ประกันตนชายที่มีภรรยาจดทะเบียนสมรส หรือหญิงซึ่งอยู่กินฉันสามีภรรยาแต่มิได้จดทะเบียนสมรส สามารถคลอดบุตรที่สถานพยาบาลใดก็ได้ จะได้รับเงินเหมาจ่ายค่าคลอดบุตร จำนวน 13,000 บาท แต่ไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร *กรณีเป็นผู้ประกันตนทั้งสามีและภรรยา ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้คนละ 2 ครั้ง รวมกันได้ไม่เกิน 4 ครั้ง โดยบุตรที่นำมาใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตร ไม่สามารถนำมาขอรับค่าคลอดบุตรได้อีก และแนะนำให้ใช้สิทธิของภรรยาก่อนเนื่องจากจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรด้วยนอกเหนือจากค่าคลอดบุตร จำนวน 13,000 บาท สนับสนุนค่ารักษาพยาบาลตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม จำนวนไม่เกิน 2 ครั้ง (กรณีบุตรมีชีวิตอยู่) ครอบคลุมถึงค่าตรวจและรับฝากครรภ์ โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง จนสิ้นสุดการตั้งครรภ์ และการตรวจเยี่ยมดูแลหลังคลอด และจะได้รับวัคซีนทุกชนิดวัคซีนตามตารางแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน (EPI) ของกรมควบคุมโรค *คุ้มครองถึงหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นผู้ประกันตนสิทธิประกันสังคมที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 7 เดือน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย บริการทันตกรรม 1. กรณีถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ฐานอคริลิก และรากฟันเทียม 2.การผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ กรณีผู้ประกันตนไม่มีปัญหาด้านการกลืน แต่ช่องเพดานโหว่มีเพดานกว้างพอประมาณ ครอบคลุมอยู่ในเงินเหมาจ่ายรายหัว หมายเหตุ: 1) ผู้ประกันตนมีสิทธิเข้ารับการบริการสถานพยาบาลใดก็ได้ในกรณี ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน โดยสำรองเงินจ่ายไปก่อนและนำหลักฐานมาขอเบิกเงินคืนได้ในอัตราไม่เกิน 300 บาทต่อครั้ง ปีละไม่เกิน 600 บาท และมีสิทธิใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ฐานอคริลิก (พลาสติก) 1-5 ซี่ ในวงเงินไม่เกิน 1,200 บาท ตั้งแต่ 6 ซี่ขึ้นไปจะเบิกได้ไม่เกิน 1,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ฐานอคริลิก 2) ผู้ประกันยังต้องร่วมจ่ายในกรณีที่วงเงินเกินกำหนด โดยสามารถไปใช้บริการที่ใดก็ได้ 1.กรณีถอนฟัน การผ่าตัดช่องปาก (oral surgery) อุดฟัน ขูดหินปูน การเกลารากฟัน (root planing) ฟันเทียมฐานพลาสติก และทันตกรรมประดิษฐ์ 2.การรักษาโพรงประสาทฟันน้ำนมสำหรับเด็กเคลือบหลุมร่องฟัน (ในกลุ่มอายุไม่เกิน 15 ปี) นอกจากนั้นยังมีงานทันตกรรมเพิ่มทวีที่ดูแลเด็กชั้นประถมปีที่ 1 ทุกคนอย่างครบวงจร 3.ทันตกรรมรักษาในเด็กและหญิงตั้งครรภ์ 4.การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปาก ได้แก่ การตรวจสุขภาพช่องปาก การแนะนำด้านทันตสุขภาพ 5.การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคฟันผุ เช่น กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ 6.การผ่าตัดแก้ไขความพิการผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ รวมถึงการจัดฟัน และแก้ไขปัญหาด้านการพูด (สำหรับเด็ก) โดยค่าผ่าตัดสามารถรับค่าใช้จ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราที่กำหนด ค่าเพดานเทียมในอัตรา 500 บาทต่อชิ้น ค่าอรรถบำบัด/แก้ไขการพูด จ่าย 3,850 บาทต่อรายต่อปี ค่าทันตกรรมบำบัด (ฟื้นฟู) จ่าย 12,000 บาทต่อรายต่อปี หมายเหตุ: ผู้มีสิทธิไม่ต้องร่วมจ่ายในกรณีที่วงเงินเกินกำหนด การส่งต่อผู้ป่วยไปหน่วยบริการที่มีศักยภาพสูงกว่า กรณีมีความจำเป็น ต้องรับหรือส่งตัวผู้ป่วยไปตรวจวินิจฉัยหรือรักษาต่อยังสถานพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง สามารถเบิกค่าพาหนะตามอัตรา ดังนี้ 1.ภายในเขตจังหวัดเดียวกัน สำหรับค่ารถพยาบาลหรือเรือพยาบาลจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาทต่อครั้ง และ 300 บาทต่อครั้งสำหรับพาหนะรับจ้างหรือส่วนบุคคล 2.กรณีข้ามเขตจังหวัดจ่ายเพิ่มจากกรณีภายในเขตจังหวัดเดียวกันอีกตามระยะทางกิโลเมตรละ 6 บาท (ตามระยะทางกรมทางหลวง) ให้จ่ายตามราคาเรียกเก็บแต่ไม่เกินราคากลางที่กำหนดในแต่ละประเภทพาหนะและระยะทาง ดังนี้ 1.ค่าบริการรับส่งต่อทางรถยนต์ เป็นไปตามระยะทาง ถ้าไม่เกิน 50 กิโลเมตร ให้เบิกตามค่าใช้จ่ายจริงในอัตราไม่เกิน 500 บาท แต่ถ้ามากกว่า 50 กิโลเมตรขึ้นไป ให้เบิกจ่ายค่าชดเชยครั้งละ 500 บาท และให้ได้รับค่าชดเชยเพิ่มอีกกิโลเมตรละ 4 บาทต่อระยะทางจากหน่วยบริการต้นทางถึงหน่วยบริการปลายทาง (ตามระยะทางกรมทางหลวง) 2.ค่าบริการรับส่งต่อทางเรือ เป็นไปตามประเภทเรือ และระยะทางอัตราจ่ายไม่เกิน 35,000 บาทต่อครั้ง โรคไต 1) การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาแบบถาวร เหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลในความตกลง และจ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท และเบิกค่าวางท่อพร้อมอุปกรณ์ได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อรายต่อ 2 ปี 2) การฟอกเลือด เหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลในความตกลง และเบิกได้ครั้งละไม่เกิน 1,500 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 3,000 บาทต่อสัปดาห์ ค่าเตรียมเส้นเลือด (Shunt) อัตรา 20,000 บาทต่อรายต่อ 2 ปี 3) การปลูกถ่ายไต ค่าใช้จ่ายก่อนการปลูกถ่ายไต เหมาจ่ายให้สถานพยาบาลไม่เกิน 30,000 บาทต่อราย ค่าใช้จ่ายระหว่างปลูกถ่ายไต เหมาจ่ายให้สถานพยาบาลไม่เกิน 230,000 บาทต่อราย โดยครอบคลุมผู้ประกันตนและผู้บริจาคไตเป็นเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตรวมทั้งการรักษาภาวะสลัดไตอย่างเฉียบพลันของผู้ประกันเป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ทำการปลูกถ่ายไต ค่าใช้จ่ายหลังการปลูกถ่ายไต สำหรับสถานพยาบาลที่ปลูกถ่ายไตผู้ประกันตนที่มีสิทธิโดยครอบคลุมการตรวจรักษา ยากดภูมิคุ้มกัน ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตรวจปัสสาวะ ตรวจระดับยากดภูมิภูมิคุ้มกัน เหมาจ่ายในอัตรา ดังนี้ ปีที่ 1 เดือนที่ 1-6 เดือนละ 30,000 บาท เดือนที่ 7-12 เดือนละ 20,000 บาท ปีที่ 2 เดือนที่ 1-6 เดือนละ 15,000 บาท ปีที่ 3 เป็นต้นไป เดือนละ 10,000 บาท หมายเหตุ: การปลูกถ่ายไต จะไม่ได้รับคุ้มครองเมื่อผู้ป่วยเป็นไตวายเรื้อรังก่อนเป็นผู้ประกันตน 1) การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาแบบถาวร เหมาจ่ายค่าบริการให้โรงพยาบาล 220,000 บาทต่อรายต่อปี หรือ 18,320 บาทต่อรายต่อเดือน (ค่าน้ำยา 14,100 บาท ร่วมกับ ค่าดูแลครบวงจร) 2) การฟอกเลือด ผู้ป่วยลงทะเบียนก่อน 1 ต.ค. 51 1,000 บาทต่อครั้ง+ผู้ป่วยร่วมจ่าย 500 บาท 1,200 บาทต่อครั้ง (อายุเกิน 60 ปี+มีโรคเรื้อรัง) +ผู้ป่วยร่วมจ่าย 500 บาท ผู้ป่วยลงทะเบียนหลัง 1 ต.ค. 51 1,500 บาทต่อครั้ง 1,700 บาทต่อครั้ง (อายุเกิน 60 ปี+มีโรคเรื้อรัง) ค่าเตรียมเส้นเลือด (Shunt) จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาทต่อรายต่อ 2 ปี 3) การปลูกถ่ายไต ค่าใช้จ่ายก่อนการปลูกถ่ายไต ให้สิทธิผู้ป่วยที่สามารถหาไตบริจาคได้ โดยได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายคือ (1) ค่าเตรียมผู้รับบริจาคก่อนเข้ารับการผ่าตัดที่สมองตาย 40,000 บาท (2) ค่าเตรียมผู้รับบริจาคก่อนเข้ารับการผ่าตัดที่มีชีวิต ก่อนเข้ารับการผ่าตัด 40,000 บาท (จ่ายไม่เกิน 2 ครั้ง) ระหว่างเข้ารับการผ่าตัด 32,800 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับเตรียมผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด 31,300 บาทและค่าเตรียมผู้รับบริจาคระหว่างรอผู้บริจาคที่สมองตาย ทุก 3 เดือน ครั้งละ 1,800 บาท ค่าใช้จ่ายระหว่างปลูกถ่ายไต จ่ายตามความเสี่ยง ตั้งแต่ Protocol I-IV โดยมีค่าใช้จ่ายต่ำสุดคือ 143,000 บาท และสูงสุดคือ 292,000 บาท กรณีมีภาวะแทรกซ้อนจ่ายตาม Protocol ทั้งสิ้น 7 Protocol โดยมีค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายตั้งแต่ 23,000 บาทและสูงสุดคือ 493,000 บาท ค่าใช้จ่ายหลังปลูกถ่ายไต สนับสนุนค่าใช้จ่าย ยากดภูมิ ตรวจทางห้องปฏิบัติการตรวจปัสสาวะ ตรวจระดับยากดภูมิคุ้มกัน เหมาจ่าย ดังนี้ ปีที่ 1 เดือนที่ 1-6 เดือนละ 30,000 บาท เดือนที่ 7-12 เดือนละ 25,000 บาท ปีที่ 2 เดือนละ 20,000 บาท ปีที่ 3 เป็นต้นไป เดือนละ 15,000 บาท

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point