ฉบับที่ 247 รู้ว่าเสี่ยง เลยต้องกระจายความเสี่ยง

        รอบนี้ขอพูดถึง ‘ความเสี่ยง’ อีกสักครั้งแบบมัดรวมรวบตึง ก่อนนี้พูดแค่ว่าเวลาไปซื้อกองทุน ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต้องให้เราทำแบบประเมินความเสี่ยงว่าเราเป็นสายแข็งแค่ไหน แบกมันได้แค่ไหน เวลาเห็นตัวเลขเป็นสีแดงจะได้ไม่ตกอกตกใจ เป็นวิธีจัดการความเสี่ยงอย่างหนึ่ง         ความเสี่ยงมาในหลายรูปแบบ ถ้าตามอ่านกันมาแต่ต้นพื้นที่นี้พูดถึงการรับมือความเสี่ยงไว้หลายทางอยู่ เริ่มตั้งแต่การมีเงินฉุกเฉิน 6-12 เดือนที่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เอาชีวิตรอดได้หากตกงาน (แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ลากยาวมา 2 ปีกับความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐ เงินฉุกเฉินคงเกลี้ยงแล้ว ใครบอกการเมืองไม่เกี่ยวกับเรา)         ประกันชีวิต เดินอยู่ดีๆ เราอาจตกหลุมตกบ่อที่ขาดการบำรุงรักษาจากหน่วยงานรัฐ แข้งขาหัก ทำงานไม่ได้ การมีประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ จะช่วยแบกความเสี่ยงตรงนี้แทนเรา บางผลิตภัณฑ์จ่ายเงินชดเชยรายวันจากการเสียรายได้ให้ด้วย         ยังรวมถึงประกันชีวิต ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัยใดๆ ก็ตามที่เราสามารถถ่ายโอนความเสี่ยงออกไปได้ถือเป็นตัวเลือกที่ดี ลองนึกดูว่าบ้านที่อุตส่าห์ทุ่มเทผ่อนเกิดไฟไหม้ รถถูกขโมย หรือตัวคุณผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวเป็นอะไรขึ้นมา อย่างน้อยจะมีเงินก้อนหนึ่งให้คนอยู่หลังได้พอมีจังหวะตั้งตัว         จุดระวังคือต้องเลือกบริษัทประกันที่มีความน่าเชื่อถือ ไม่เบี้ยวผู้เอาประกันเหมือนที่เป็นข่าว และเลือกกรมธรรม์ที่พอเหมาะพอสมตามกำลัง ไม่เว่อร์วัง         ความเสี่ยงอีกประเภทหนึ่งเกิดจากการแทงม้าตัวเดียว หนังสือหรือคอร์สที่สอนการจัดการการเงินหรือการลงทุนต้องพูดเรื่องกระจายความเสี่ยงแน่นอน ถ้าไม่มีก็ไม่ควรซื้อแต่แรก         เคยได้ยินกันใช่ไหม? อย่าใส่ไข่ทั้งหมดลงในตะกร้าใบเดียว เพราะถ้าตะกร้าหลุดมือคุณจะเสียไข่ทั้งหมด เวลาลงทุนหุ้นถึงมีคำแนะนำว่าให้ลงในอุตสาหกรรมต่างกัน เช่น กระจายเงินลงในหุ้นกลุ่มสื่อสาร กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มค้าปลีก เป็นต้น         กองทุนรวมก็เหมือนกัน มีคนจัดการให้แต่เราเป็นคนเลือกธีมการลงทุนเองอยู่ดี เช่น ลงทุนหุ้นในประเทศ ลงทุนหุ้นจีน หุ้นเวียดนาม หุ้นสหรัฐฯ สารพัดสารเพ ถ้าถือแต่กองทุนรวมหุ้นไทยตอนนี้คงกุมขมับเพราะแกว่งไปมา แต่ถ้ามีกองทุนหุ้นต่างประเทศด้วยน่าจะเครียดน้อยลง         ยังมีกองทุนรวมผสมอารมณ์ว่ากระจายความเสี่ยง จัดพอร์ตให้เสร็จสรรพ ไม่ต้องซื้อหลายกองให้ยุ่งยาก         คร่าวๆ พอหอมปากหอมคอ รายละเอียดจริงเยอะกว่านี้มากมาย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 219 อ่านกรมธรรม์ประกันให้ละเอียดป้องกันการเสียประโยชน์

        การทำประกันภัย ประกันชีวิต คุณจะละเลยการอ่านรายละเอียดต่างๆ ในกรมธรรม์ไม่ได้ โดยเฉพาะเงื่อนไขต่างๆ หากพบว่าไม่เป็นไปตามที่ต้องการหรือมีความผิดพลาด ต้องรีบแก้ไขเพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์ที่พึงได้         คุณลลิตา กังวลใจมากเมื่อพบว่า ชื่อผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์ จากการที่เธอทำประกันภัยสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เพิ่งได้รับมานั้น มีการสะกดนามสกุลผิด เธอจึงรีบทำหนังสือถึงบริษัทประกันภัยทันที เพื่อให้บริษัทฯ แก้ไขให้ถูกต้อง พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนของผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ไปด้วย จะได้ไม่เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก         แต่เรื่องกลับเงียบหาย เธอส่งจดหมายไปตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 และรอการติดต่อกลับจนล่วงเข้าเดือนสิงหาคม 2561 ก็ไม่ได้รับข่าวสารใดๆ จากบริษัทประกันภัย “ดิฉันพยายามแจ้งกับตัวแทนของบริษัทรถยนต์ที่ดิฉันเช่าซื้อ เพื่อให้ช่วยประสานเรื่องให้ เขาก็รับปาก” ผ่านไปอีกสองอาทิตย์ ก็ไม่มีความคืบหน้า คุณลลิตาจึงขอความช่วยเหลือจากศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะหากปล่อยเรื่องนี้ไว้ เกรงว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้น อาจจะเสียผลประโยชน์ที่พึงได้ แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ทำหนังสือติดตามเรื่องที่คุณลลิตาเคยทำไปถึงบริษัทประกันภัยและขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคโดยเร็ว พร้อมกับทำสำเนาแจ้งไปที่ คปภ.หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย  ซึ่งต่อมาก็ได้รับการติดต่อกลับจากบริษัทฯ ว่าได้ดำเนินการแก้ไขกรมธรรม์ให้ผู้ร้องเรียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อติดต่อไปที่คุณลลิตาผู้ร้อง ได้รับการยืนยันว่าทางบริษัทประกันภัยได้ส่งกรมธรรม์ใหม่ที่ได้แก้ไขชื่อผู้รับผลประโยชน์ให้แล้วจริงหากผู้บริโภคท่านใดมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของการประกันภัย เบื้องต้นควรทำหนังสือขอให้บริษัทแก้ไขปัญหา พร้อมแนบสำเนาดังกล่าวส่งไปให้หน่วยงาน คปภ. ช่วยเหลือด้วยอีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์

เพราะการทำประกันชีวิตมีมากมายหลายแบบ ซึ่งมีลักษณะความคุ้มครองและผลประโยชน์แตกต่างกันออกไป ผู้บริโภคจึงควรศึกษารายละเอียดของประกันให้ดีก่อนตัดสินใจ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณธนพรได้รับการเชิญชวนให้ทำประกัน จากพนักงานของบริษัทกรุงไทยแอกซ่าประกันชีวิต เธอจึงแจ้งความประสงค์ไปว่าต้องการทำประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ ซึ่งพนักงานได้ตอบกลับมาว่ามีประกันชีวิตที่มีลักษณะคล้ายการออมแบบที่เธอต้องการ โดยเมื่อครบ 5 ปีจะได้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ย และที่สำคัญที่สุดคือลดเบี้ยประกันปีแรกอีก 10,000 บาท ทั้งนี้นอกจากข้อมูลที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นแล้ว พนักงานได้แจ้งรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเธอไม่ค่อยเข้าใจมากนัก แต่ก็ยินดีตกลงทำประกันดังกล่าว และตัดสินใจใช้บัตรเครดิตชำระค่าเบี้ยประกันไปจำนวน 40,000 บาทอย่างไรก็ตามเมื่อคุณธนพรถึงบ้าน และอ่านเอกสารการทำประกันที่ได้รับมากลับพบว่า ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่เธอต้องการ เพราะประกันดังกล่าวจะสามารถได้รับเงินออมต่อเมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิตไปแล้วเท่านั้น ในขณะที่เธอต้องการเพียงแค่ออมทรัพย์ไว้และได้รับเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายยามชราภาพ ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เป็นนี้ คุณธนพรจึงโทรศัพท์มายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้เมื่อผู้ร้องพบว่ากรมธรรม์ไม่ตรงกับที่พูดคุยเอาไว้ หรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการก็สามารถยกเลิกประกันได้ภายในกำหนดเวลาและได้เงินค่าเบี้ยประกันคืนทั้งหมด ตามประกาศของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่กำหนดให้บอกเลิกสัญญาภายได้ใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยได้รับกรมธรรม์ประกันภัยจากบริษัท หรือมากกว่า 15 วัน ขึ้นกับแบบกรมธรรม์ประกันภัยที่มีการเสนอขาย ซึ่งภายหลังศูนย์ฯ ได้ช่วยผู้ร้องทำจดหมายยกเลิกสัญญา และจดหมายปฏิเสธการชำระหนี้ของบัตรเครดิต และเมื่อได้รับเงินคืนเรียบร้อย ผู้ร้องก็ยินดียุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2556 ดื่มน้ำแร่...อาจจะแย่ก็ได้ ใครที่คิดว่าดื่มน้ำแร่ทุกวันดีต่อสุขภาพคงจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาเตือนคนที่ชอบนิยมดื่มน้ำแร่เป็นประจำว่า มีโอกาสเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับแร่ธาตุบางชนิดในปริมาณที่สูงเกินความจำเป็น ในน้ำแร่ซึ่งเป็นน้ำที่ได้จากใต้ดินจากแหล่งกำเนิดน้ำตามที่ต่างๆ เช่น บนภูเขา น้ำพุร้อนใต้ผิวโลก จะมีแร่ธาตุต่างๆ เป็นส่วนผสม เช่น ฟลูออไรด์ แมงกานีส ฯลฯ ซึ่งพวกแร่ธาตุเหล่านี้มีปริมาณที่เป็นมาตรฐานที่เหมาะสมกับร่างกาย อย่าง ฟูลออไรด์สำหรับดื่มค่ามาตรฐานไม่ควรเกิน 0.7 มิลลิลิตร/ลิตร หากเกินจากนี้อาจมีผลต่อกระดูกและฟัน ธาตุเหล็กไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม/ลิตร แมงกานีสไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัม/ลิตร ทองแดงไม่เกิน 1.0 มิลลิกรัม/ลิตร และสังกะสีไม่เกิน 5.0 มิลลิกรัม/ลิตร   เพราะฉะนั้นก่อนดื่มน้ำแร่ครั้งต่อไปอย่าลืมอ่านฉลากดูปริมาณแร่ธาตุต่างๆ ให้ดี ที่สำคัญการดื่มน้ำแร่ราคาแพงๆ ก็ไม่ได้การรันตีว่าจะทำให้เรามีสุขภาพที่ดี ได้เท่ากับการที่เราเลือกดื่มน้ำสะอาดธรรมดาๆ และรับประทานอาหารครบ 5 หมู่เป็นประจำ เท่านี้ก็เพียงพอแล้วต่อการดูแลสุขภาพร่างกายของเรา ------------------------------------------------   รับฝากเงินพ่วงทำประกันชีวิตเพิ่มมั้ยค่ะ!? ใครที่เคยเจอปัญหาถูกเจ้าหน้าที่ธนาคารกล่อมให้ซื้อประกันหรือให้ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ เช่นซื้อกองทุน ตราสารหนี้ พ่วงกับการฝากเงินหรือทำธุรกรรมการเงินอื่นๆ โดยยกมาเพียงแต่ตัวเลขของผลตอบแทนที่ได้ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดด้านการลงทุนหรือความเสี่ยงอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จากนี้ไปเหตุการณ์แบบนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศเรื่อง แนวนโยบายการกำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ หลังจากพบว่ามีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยของธนาคารพาณิชย์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศนี้จะมากำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ ที่ต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งการต้องเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ และผลตอบแทนที่ผู้บริโภคจะได้รับ ให้เห็นความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์หลักของธนาคารพาณิชย์ กับผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัย ซึ่งไม่ใช่เงินฝาก ที่อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับเงินต้นคืนไม่เต็มจำนวนเมื่อถอน ประเด็นสำคัญคือห้ามธนาคารพาณิชย์บังคับขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยควบคู่กับผลิตภัณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งเรื่องการส่งเสริมการขายและการเสนอขายต่างๆ ก็ต้องไม่เป็นการรบกวนผู้บริโภคและโฆษณาเกินจริง ผู้บริโภคต้องมีสิทธิปฏิเสธไม่ขอรับบริการได้ ------------------------------------------   เรื่องที่คนซื้อทองต้องรู้ ช่วงนี้ร้านทองตามที่ต่างๆ กำลังคึกคักกันน่าดู หลังจากที่ราคาทองถูกปรับลดลงมา หลายๆ คนต่างก็ไปจับจองเป็นเจ้าของทองคำกันจนแน่นร้านทอง แต่จะซื้อทองทั้งทีก็ต้องให้มั่นใจว่าทองที่ซื้อเป็นของดีมีคุณภาพ เป็นทองคำแท้ ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงฝากคำแนะนำสำหรับคนที่กำลังคิดจะซื้อทอง ก่อนซื้อทองทุกครั้งต้องไม่ลืมดูน้ำหนักทองให้ดี ต้องมีการชั่งน้ำหนักทองก่อนซื้อทุกครั้ง ทองคำ 1 บาทต้องมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 15.16 กรัม (ต้องเป็นทศนิยม 2 ตำแหน่ง) ที่สำคัญตราชั่งที่ใช้นั้นต้องมีความเสถียรที่ 0.00 หน่วย อย่าลืมสอบถามโรงงานที่ผลิตทองคำจากผู้ขาย เพราะในเนื้อทองคำต้องมีตราประทับของโรงงานที่ผลิต ซึ่งโรงงานที่ผลิตทองคำในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 64 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 61 แห่ง จ.ตรัง 1 แห่ง จ.สงขลา 1 แห่ง และ จ.ขอนแก่น 1 แห่ง โดยทั้ง 64 โรงงานนี้ สคบ. ได้เข้าไปตรวจสอบและให้การรับรองมาตรฐานของทองคำที่ผลิตว่าสัดส่วนทองคำที่ 96.5% และต้องเลือกร้านทองที่ได้มาตรฐาน มีการแสดงราคาขายทองแท่งและทองรูปพรรณของแต่ละวันชัดเจน มีการแสดงราคารับซื้อคืน รวมถึงค่ากำเหน็จ --------------     หนังสั้น “เล่าเรื่องผู้บริโภค” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ) และแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดกิจกรรมฉายหนังสั้น “เล่าเรื่องผู้บริโภค 6+1” เพื่อส่งต่อเรื่องราวสถานการณ์ด้านสิทธิผู้บริโภคไทยและการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนของการผลักดันกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของเครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชน โดยกิจกรรมมีขึ้นที่โรงภาพยนตร์ เอสเอฟ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 27 – 28 เมษายนที่ผ่านมา กิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วยการฉายภาพยนตร์ให้ชมฟรีจำนวน 3 รอบ ซึ่งแต่ละรอบได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าแน่นโรงภาพยนตร์ทุกรอบ ก่อนฉายภาพยนตร์ยังมีการเสวนากับเหล่าผู้กำกับที่มาร่วมทำหนังสั้น พูดคุยถึงมุมมองและแรงบันดาลใจที่นำไปสู่การทำภาพยนตร์เพื่อผู้บริโภค ซึ่งผู้กำกับที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้แก่ อาจารย์ไพจิตร ศุภวารี, คุณมานุสส วรสิงห์, คุณชาญ รุ่งเรืองเดชวัฒนา, คุณบุญส่ง นาคภู่ และ คุณพัฒนะ จิรวงศ์ นอกจากนี้ภายในงานยังมีการมอบรางวัลผู้บริโภคใช้สิทธิยอดเยี่ยมแห่งปี 2555 ให้กับผู้บริโภคภาคประชาชนที่ออกมาทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิของตัวเองและสังคม ผู้ที่ได้รับรางวัลประกอบด้วย นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ, นางจิตรทิวา อินอิ่น และ นางสายลา เจ๊ะไบ๊ ซึ่งหลังจากนี้หนังสั้นทั้ง 6 เรื่อง กับอีก 1 คลิปวิดีโอ จะเดินทางไปฉายตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องสิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนควรรู้ -----------     การแบนสารเคมีเกษตรยังไม่ถึงฝั่ง...เพราะมีใครบางคนขวางอยู่ เป็นเรื่องแปลกแต่จริง เมื่อสารเคมีเกษตรที่มีพิษร้ายแรง 4 ตัว คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และ อีพีเอ็น ที่ถูกประกาศโดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นวัตถุอันตรายห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายในประเทศไทย แต่สุดท้ายประกาศกับยังไม่มีโอกาสได้ใช้ เพราะถูกที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน สั่งเบรก ไม่ยอมรับข้อมูลที่กรมวิชาการเกษตรเสนอให้ยกเลิก แถมยังมีการเปิดช่องให้ภาคเอกชนผู้นำเข้าสารเคมีสามารถนำข้อมูลมาเสนอเพื่อโต้แย้งโดยไม่มีการระบุระยะเวลาในการนำเสนอ เป็นเสมือนการเปิดช่องให้บรรดาผู้นำเข้าสารเคมีได้ขายสินค้าของตัวเองต่อไปได้เรื่อยๆ ทั้งๆ ที่หลายประเทศได้สั่งแบนสารเคมีทั้ง 4 ชนิดแล้ว สารเคมีเกษตรทั้ง 4 ตัว ถือเป็นสารที่มีพิษร้ายแรง ซึ่งจากการสำรวจของภาคประชาชนและนักวิชาการที่ผลักดันให้มีการแบนสารเคมีดังกล่าว พบว่าสถานการณ์ตอนนี้มีผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมีเกษตรดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร รวมทั้งผู้บริโภคเองก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน จากนี้ไปเครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการที่ผลักดันให้มีการแบนสารเคมีทั้ง 4 ชนิด ก็จะค่อยติดตามการทำงานของภาครัฐอย่างใกล้ชิด และผลักดันให้เกิดการแบนโดยเร็วที่สุด   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 “แม่ต้อย”: จาก “ข้อยกเว้น” สู่ “กฏทั่วไป”

มีอะไรใน โคด-สะ-นา สมสุข หินวิมาน เมื่อช่วงสามถึงสี่เดือนที่ผ่านมา มีคำถามข้อหนึ่งที่เพื่อนหลายคนรอบตัวผมสงสัยยิ่งนัก นั่นก็คือคำถามที่ว่า “แม่ต้อย” มีตัวตนเป็นๆ จริงหรือ? หรือว่าจะมีก็แต่เพียงในโลกของโฆษณาเท่านั้น? เพื่อทบทวนความทรงจำกันสักนิดว่า แล้วแม่ต้อยคนนี้คือใคร ผมจะขออนุญาตสืบสาวท้าวย้อนตำนานชีวิตของแม่ต้อยกันสักนิดนะครับ แม่ต้อยก็คือผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ในโฆษณาบริษัทประกันชีวิตยี่ห้อหนึ่ง ตามความในโฆษณานั้น จะมีเสียงผู้บรรยายชายพากย์เอาไว้ว่า ผู้หญิงที่ชื่อต้อย อาศัยอยู่ในสลัม ยากจน สามีทิ้ง แต่กระนั้นเธอก็ยังมีน้ำใจเก็บเด็กสามคนมาเลี้ยง อันได้แก่ คิตตี้เด็กหญิงบ้านแตก แบ็คเด็กชายที่เป็นโปลิโอ และเฮียโตที่เป็นขี้ขโมย แม้เด็กๆ จะมีพื้นเพพื้นฐานต่างกัน แต่เด็กทุกคนก็มีแม่คนเดียวกัน นั่นก็คือ “แม่ต้อย” เสียงพากย์ของผู้ประกาศชายตัดสลับกับภาพของแม่ต้อยที่ผัดผักไฟแดงเลี้ยงน้องๆ สามคนในสลัม ภาพของแม่ต้อยที่ให้กำลังใจน้องแบ็คที่แม้จะเป็นโปลิโอ แต่ก็ยังลุกขึ้นสู้มาเตะฟุตบอล ภาพของแม่ต้อยที่ดีดกีตาร์กล่อมเด็กๆ จนนอนหลับ กับภาพของแม่ต้อยสวมหมวกสีชมพูหวาน จูงมือพาเด็กๆ ไปเที่ยวทะเล และวิ่งรี่เข้าไปโต้คลื่นเพราะเห็นทะเลเป็นครั้งแรกในชีวิต ภาพของผู้หญิงชนชั้นล่างแบบแม่ต้อยที่ดูแลเด็กๆ เหล่านี้ ถูกเปิดเสียงดนตรีคลอแบบ easy-listening เพื่อสื่อความหมายว่า เป็นชีวิตที่มีความสุขยิ่งในท่ามกลางความยากจน แบบที่เขาว่า “จนเงินอาจไม่ได้แปลว่าจนใจเสมอไป” แต่แล้วในท่ามกลางความสุขแบบจนๆ ก็เหมือนกับโชคชะตาฟ้าดินจะกลั่นแกล้งแม่ต้อย เมื่อโฆษณาผูกเรื่องให้เธอป่วยเป็นโรคมะเร็ง และจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินอีกสองปี แต่ผู้บรรยายก็บอกคนดูว่า สำหรับแม่ต้อยแล้ว นั่นคืออีกสองปีที่เธอกลับถือว่าโชคดีจัง เป็นสองปีที่ยังทำอะไรได้อีกมากมาย แล้วโฆษณาก็ตัดสลับมาที่ภาพของแม่ต้อยที่ป่วยเป็นมะเร็งและนั่งอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล แต่ก็ยังสู่อุตส่าห์ลุกขึ้นมาเล่นกีตาร์สนุกสนานกับเด็กๆ เสียงกีตาร์ของเธอช่วยทำให้ทั้งนางพยาบาล เด็กๆ ไปจนถึงคนไข้โรคมะเร็งคนอื่น ๆ มีกำลังใจลุกขึ้นมาต่อสู้กับชีวิตต่อไป โดยมีเสียงผู้บรรยายชายพูดปิดท้ายว่า “…เธอ(แม่ต้อย)สอนเด็ก ๆ ว่าชีวิตที่มีค่า ไม่ใช่ชีวิตที่ร่ำรวย มีเกียรติ หรืออายุยืน แต่ชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่ตัวเราเป็นคนมีคุณค่า และทำให้ชีวิตคนอื่นมีค่า” จากนั้นเสียงเพลงแห่งความสุขก็บรรเลงคลอจนโฆษณาชิ้นนี้จบลง หากจะถามว่า แก่นหรือธีมหลักของโฆษณาบริษัทประกันชีวิตชิ้นนี้คืออะไร คำตอบก็คงเดาได้ไม่ยากว่า เป็นการดึงคุณค่าของมนุษย์กลับคืนมา จากมนุษย์ผู้ที่มักจะเห็นแต่ตัวของตนเอง มาสู่มนุษย์ที่รู้จักทำอะไรให้กับผู้อื่น และทำให้ชีวิตของคนอื่นมีคุณค่าขึ้นมา หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การทำมนุษย์ให้เป็นมนุษย์นั่นเอง แต่หากจะถามต่อไปด้วยว่า แล้วชีวิตที่รู้จักทำให้คนอื่นมีคุณค่าเช่นนั้น จะเกี่ยวพันอันใดกับการโฆษณาองค์กรประกันชีวิตกันด้วยเล่า กับความข้อนี้ผมขอเดาเอาว่า ก็เพราะการดำรงอยู่ของธุรกิจประกันชีวิตจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการเน้นขายความรู้สึกที่มนุษย์เราอยากจะทำอะไรให้กับผู้อื่น โดยเฉพาะทำอะไรเพื่อเด็กๆ ลูกๆ ที่ใกล้ชิดกับชีวิตของเรานั่นเอง ภายใต้สังคมที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงนั้น การจัดการความเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การสร้างหลักประกันความอยู่รอดของทั้งตัวคุณและคนที่อยู่รอบตัวคุณ แต่อย่างไรก็ดี ก็คงคล้ายๆ กับที่ผมเคยเขียนเอาไว้ในนิตยสารฉลาดซื้อเมื่อหลายเล่มก่อนว่า แม้บริษัทประกันจะไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยในชีวิตของผู้ทำประกันได้ (เฉกเช่นเดียวกับแม่ต้อยที่อยู่ดีๆ ก็ต้องกลายเป็นโรคมะเร็งขึ้นมา) แต่บริษัทดังกล่าวก็อาจจะช่วยสร้างหลักประกันความอยู่รอดปลอดภัยของอนุชนลูกหลานผู้ทำประกันได้บ้างเป็นการทดแทน (หรือในกรณีนี้ก็คงเป็นการมอบหลักประกันชีวิตให้กับคิตตี้ แม็ค และเฮียโตนั่นเอง) ทีนี้ หากเราจะลองย้อนกลับไปสู่คำถามแรกที่ว่า แล้วคนอย่างแม่ต้อยที่เสียสละและทำอะไรเพื่อคนอื่นแบบนี้ ยังมีอยู่จริงบนโลกใบนี้จริงหรือ? ผมเองก็ขออนุญาต “ฟันธง” และ “คอนเฟิร์ม” ไปพร้อมๆ กันว่า ก็คงมีคนเช่นนี้อยู่บ้างแหละครับ แต่ที่สำคัญ ถ้าจะถามในเชิงปริมาณต่อไปว่า แล้วที่ว่ามีคนแบบแม่ต้อยอยู่นั้น จะมีกันอยู่ในปริมาณมากน้อยเพียงใด คุณผู้อ่านหลายท่านก็จะมาร่วมตอบกันได้ทันทีว่า ไม่น่าจะมีมากนักในยุคนี้สมัยนี้ ไม่ต้องไปดูอื่นใดให้ไกลนักนะครับ ทุกวันนี้แค่พอเราขึ้นรถโดยสารประจำทางไปไหนต่อไหน เราก็จะเห็นป้ายประกาศเตือนสติในทำนองที่ว่า “โปรดเอื้อเฟื้อแก่เด็ก สตรี และคนชรา” ข้อความทำนองนี้เป็นนัยในทางกลับกันว่า ถ้าต้องมาติดประกาศขอความร่วมมือกันแล้ว ก็คงจะแปลความได้ว่า สมัยนี้ความเอื้อเฟื้ออนาทรระหว่างเพื่อนมนุษย์เรา ท่าทางจะหดหายมลายเลือนไปเกือบหมดสิ้นแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีใครสักคนเก็บเด็กด้อยโอกาสมาเลี้ยงในสลัม หรือใครคนนั้นที่กำลังป่วยเป็นมะเร็งระยะเกือบ ๆ สุดท้าย แต่ก็ยังมีกะจิตกะใจมาเกาดีดกีตาร์ประโลมขวัญกำลังใจให้มนุษย์โลก คนๆ นั้นก็คงเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่คน หรือถ้าจะพูดให้จำเพาะเจาะจงก็คือ คงเป็นบางจำนวนคนที่มีสถานะเป็นเพียง “ข้อยกเว้น” ของสังคมเท่านั้น แต่ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นก็คือ ถ้าแม่ต้อยเป็นเพียง “ข้อยกเว้น” เช่นนี้แล้ว โฆษณามีกระบวนการเสกสร้างชีวิตของแม่ต้อยออกมาสู่ผู้ชมกันเช่นไร? สำหรับผมนั้น พบว่า แม้แม่ต้อยจะเป็นเพียง “ข้อยกเว้น” แต่โฆษณาก็ทำให้ชีวิตของเธอกลายเป็น “กฎทั่วไป” ของคนในสังคม กล่าวคือแม้เราจะยอมรับความจริงที่ว่า คนอย่างแม่ต้อยช่างเป็นบุคลากรที่หาได้ยากยิ่งในสามโลกของเราก็ตาม แต่ว่าโฆษณาก็พยายามทำให้เรากลับคิดไปว่า ชีวิตแบบแม่ต้อยเป็นชีวิตที่ธรรมดาสามัญชนทั่วไปรู้สึกดีๆ และรู้สึกอยากเป็น และยิ่งเมื่อทาบกับหลักการของนักโฆษณาที่ว่า จะต้องทำให้ผู้ชมได้เห็นชิ้นงานโฆษณาดังกล่าวถี่ๆ บ่อยๆ และต่อเนื่องเรื่อยมา (แม้ในขณะที่ผมกำลังนั่งปั่นต้นฉบับอยู่เช่นนี้) ก็ยิ่งทำให้เราเข้าใจไปด้วยว่า คนแบบแม่ต้อยที่เราเห็นกันถี่ ๆ ซ้ำ ๆ บ่อยๆ ก็กลายเป็นคนแบบที่ปุถุชนธรรมดาทั่วไปเขาน่าจะเป็นกัน (ทั้ง ๆ ที่เราเองก็อาจจะรู้อยู่ลึกๆ ว่า จะเป็นได้แบบนี้ก็ช่างยากยิ่งยากเย็นเสียเหลือเกิน) แล้วเหตุใดโฆษณาจึงต้องทำให้ “ข้อยกเว้น” กลายเป็น “กฎทั่วไป” แบบนี้? คำตอบก็คงเป็นเพราะว่า โลกจินตนาการอย่างโฆษณา มีหน้าที่บางอย่างที่มากไปกว่าแค่การขายสินค้าและบริการ นั่นคือหน้าที่ในการเติมเต็มสิ่งที่แร้นแค้นขาดหายไปแล้วจากโลกความจริง กล่าวกันว่า ปัญหาอันใดก็ตามที่มนุษย์เราไม่สามารถแก้ไขบรรเทาได้ในโลกจริงนั้น โฆษณาจะช่วยสร้างภาพที่ขจัดปัดเป่าปัญหาเหล่านี้ในลักษณะเติมเต็มความรู้สึกดีๆ กลับคืนมา การเติมเต็มดังกล่าวจึงเป็นการเปิดโอกาสให้มนุษย์ได้เยียวยาปัญหาความคับข้องใจต่างๆ ในโลกจินตนาการกัน ก่อนที่จะมาเผชิญหน้ากับปัญหาเช่นนั้นอีกครั้งในโลกความเป็นจริง และที่ชวนประหลาดใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ โดยปกติแล้ว คนที่เป็นลูกค้าหลักของบริษัทประกันชีวิตก็มักจะเป็นคนชั้นกลางที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ๆ แต่ก็ดูเหมือนว่า โฆษณากลับเลือกพรีเซ็นเตอร์อย่างแม่ต้อยให้เป็นคนชั้นล่าง ที่วิถีชีวิตของเธอไกลห่างยิ่งจากลีลาชีวิตแบบคนชั้นกลางเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นชีวิตแบบที่ไม่เคยไปเหยียบน้ำทะเลยเลยในชีวิต หรือจะเป็นชีวิตที่ต้องผัดผักไฟแดงเลี้ยงเด็กสลัม แต่ชีวิตแบบคนชั้นล่างเหล่านี้ก็ถูกโฆษณาทำให้กลายเป็น “กฏทั่วไป” ในชีวิตของคนชั้นกลางได้ในที่สุด ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ แม้ผู้ชมทางบ้านอีกเป็นแสนเป็นล้าน จะยังไม่ได้เป็นโรคมะเร็งแบบแม่ต้อยในวันนี้ แต่โฆษณาก็เริ่มต้นบอกเราแล้วว่า หากสักวันหนึ่ง เราเกิดโชคชะตาฟ้าเล่นตลก เป็นโรคร้ายขั้นสุดท้ายเช่นนี้แล้ว ในสองหรือสามปีที่เหลืออยู่ของเรานั้น จะเผชิญหน้ากับสภาวะดังกล่าวอย่างมีคุณค่าและเปี่ยมด้วยความหวังกันเช่นไร ทั้งนี้ก็เพราะว่า ชีวิตแบบ “ข้อยกเว้น” ก็มีสิทธิกลายมาเป็น “กฏทั่วไป” ในชีวิตของคุณหลายๆ คนขึ้นมาได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง...

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 121 เซลล์ขายประกัน “ไทยคาร์ดิฟ” ลวงผู้บริโภคทำประกันทางโทรศัพท์

ผู้บริโภคแฉตัวแทนประกันชีวิต “ไทยคาร์ดิฟ” ใช้เล่ห์ลวงล้วงข้อมูลส่วนตัวกลายเป็นการสมัครทำประกันภัยทางโทรศัพท์ ต้องเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายในการบอกเลิกการทำประกัน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่งซึ่งขอสงวนนามได้แจ้งว่า ตนถูกบุคคลซึ่งอ้างตัวว่าเป็นตัวแทนประกันของบริษัทประกันภัย ไทยคาร์ดิฟ ประกันชีวิต จำกัด โทรฯ มาเชิญชวนให้ทำประกันภัย ผุ้บริโภครายนี้ได้ให้ข้อมูลว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2554 เวลา 14.58 นาฬิกา ได้มีพนักงานโทรฯ เข้ามาเสนอการทำประกันภัยกับตน ในส่วนของประกันชีวิตกลุ่ม สำหรับลูกค้าแผนความคุ้มครอง AEON BETTER LIFE โดยขอบันทึกเสียงการสนทนาไว้ด้วย ซึ่งผู้บริโภคได้ปฏิเสธไปอย่างชัดเจนว่าไม่สนใจที่จะทำประกันภัยที่ทางพนักงานโทรฯ มาเสนอแทนที่ตัวแทนประกันจะยุติการสนทนาโดยทันที ตัวแทนประกันรายนี้กลับใช้เล่ห์ลวง แจ้งว่าให้ผู้บริโภคบอกข้อมูลเลขบัตรประชาชน และผู้รับผลประโยชน์เพื่อออกเอกสารส่งมาให้ดูก่อนเท่านั้น หากว่าได้รับเอกสารและอ่านแล้วไม่พึงพอใจที่จะทำประกันภัยผู้บริโภคก็เพียงฉีกเอกสารทิ้ง ไม่ต้องไปชำระเงินประกันภัยและจะไม่มีผลใดๆ กับตัวผู้บริโภค ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผู้บริโภคท่านนี้จึงบอกข้อมูลไป ในเวลาต่อมาก็ได้รับเอกสารจากทางบริษัทเป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ตนไม่ได้ต้องการตั้งแต่แรก ทำให้ต้องเสียเวลาเพื่อโทรศัพท์ยกเลิกการทำประกันภัยกับทางบริษัท และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแฟ็กซ์สำเนาบัตรประชาชนไปที่บริษัทเพื่อทำการยกเลิกและเป็นการยืนยันว่าไม่ประสงค์ที่จะทำประกันภัยกับทางบริษัท!!!!! แนวทางแก้ไขปัญหา ในปัญหาที่มีการร้องเรียนมาจากผู้บริโภครายนี้ มีข้อแนะนำคือ ในการเสนอขายประกันทางโทรศัพท์นั้นผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการเจรจาได้ตลอดเวลา ซึ่งการเสนอขายประกันทางโทรศัพท์ เมื่อผู้บริโภคไม่ประสงค์จะทำประกันภัย ไม่ต้องการรับการติดต่อ ตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิตต้องยุติการสนทนาทันทีการที่ยังมีความพยายามเจรจาที่จะเสนอขายประกันต่อไปและใช้วิธีล่อลวงเพื่อให้ได้ข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคในลักษณะนี้ถือเป็นการกระทำผิดต่อประกาศของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเสนอขายกรมธรรมประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ พ.ศ.2552 หากตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้อาจเป็นเหตุให้นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต หรือใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 เปิดเผยประกันชีวิต ใครกันแน่ที่ปกปิด ?

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน วันนี้ เราจะมากล่าวถึงเรื่องการทำประกันชีวิตกันนะครับ เชื่อว่าหลายท่านก็คงเคยมีประกันที่ตัวเองทำไว้ให้คนอื่น หรือพ่อแม่ของเราทำให้กับตัวเราใช่ไหมครับ แต่ทราบกันหรือไม่ว่า มีคนอีกมากมายที่ทำสัญญาประกันไปแล้ว พอถึงเวลาจะใช้สิทธิตามสัญญา กลับถูกบริษัทประกันปฏิเสธ และหนึ่งในเหตุที่บริษัทมักนำมาอ้างในการไม่จ่ายเงินก็คือ เรื่องของการปกปิดข้อมูลสุขภาพ  เนื่องจากสัญญาประกันชีวิต เอาความทรงชีพของผู้เอาประกันมาเป็นเงื่อนไขในการจ่ายเงิน ดังนั้น เรื่องของสุขภาพคนทำประกันจึงสำคัญมาก และยังอาศัยความสุจริตในการทำสัญญาอย่างมาก เพราะคนเอาประกันต้องเปิดเผยข้อมูลตนเองก่อนทำสัญญา และบริษัทผู้รับประกันก็มีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าสมควรจะรับทำประกันหรือเพิ่มเบี้ยประกันเพียงใด เมื่อต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติหน้าที่ กล่าวคือผู้เอาประกันฯ ปกปิดความจริง ส่วนจำเลยไม่ค้นหาความจริง จะถือว่าใครไม่สุจริตมากกว่ากัน เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้เอาประกันไม่สุจริตมากกว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2397/2536  ผู้เอาประกันภัยในสัญญาประกันชีวิตซึ่งการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของตนเป็นสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 วรรคแรก มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น หรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาให้ผู้รับประกันภัยทราบ และจะถือว่าการที่ผู้รับประกันภัยไม่ตรวจสุขภาพของผู้เอาประกันภัยก่อนเป็นการละเลยหาได้ไม่ แม้การประกันชีวิตในทุนประกันภัยต่ำตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพของผู้เอาประกันภัยก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้รับประกันภัย ไม่ถือเอาเรื่องสุขภาพของผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ สัญญาประกันภัยชีวิตที่กระทำโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 865 วรรคแรก เป็นโมฆียะมีผลให้ผู้รับประกันภัยใช้สิทธิบอกล้างได้ หากผู้รับประกันภัยไม่ใช้สิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวย่อมใช้บังคับได้ จึงเป็นสิทธิของผู้รับประกันภัยจะบอกล้างหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น แม้ผู้รับประกันภัยจะใช้สิทธิบอกล้างแต่เพียงเฉพาะสัญญารายใดก็หาเป็นการไม่ชอบไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8082/2542 แบบฟอร์มคำขอเอาประกันชีวิตข้อ 17 ถึง ข้อ 22 เป็นข้อความที่ถามไว้เป็นข้อย่อยเกี่ยวกับสุขภาพของผู้เอาประกันชีวิต เช่น มีความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจบ้างหรือไม่ ในระหว่าง 5 ปี ที่ผ่านมาเคยเจ็บป่วย เคยได้รับการผ่าตัด เคยรับการรักษาในสถานพยาบาล ถ้าเคยโปรดแจ้งรายละเอียด แบบฟอร์มที่มีข้อความเช่นนี้ตัวแทนจำเลย ผู้มาติดต่อขอเอาประกันชีวิตไม่จำเป็นต้องสอบถามตามข้อความที่ระบุไว้ แต่เป็นที่เชื่อได้ว่าผู้เอาประกันชีวิตจะต้องอ่านก่อน และปรากฏว่าโจทก์มีอาชีพค้าขายและมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการย่อมต้องรอบคอบ เมื่อโจทก์อ่านข้อความเหล่านี้แล้ว แต่กลับเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อ 23 ซึ่งระบุว่า ถ้าคำตอบในเรื่องสุขภาพเป็นคำตอบรับ เช่นเคยได้รับการผ่าตัด หรือเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาล จะต้องอธิบายรายละเอียดไว้ด้วย ข้อความเหล่านี้มีอยู่ก่อนโจทก์ลงชื่อในคำขอเอาประกันชีวิต หาใช่ตัวแทนจำเลยกรอกข้อความดังกล่าวภายหลังไม่ เมื่อโจทก์ไม่แจ้ง ก็ถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาปกปิดไม่แจ้งความจริงตามหน้าที่ที่ต้องชี้แจงแสดงข้อบกพร่องของผู้เอาประกันชีวิตซึ่งผู้รับประกันภัยอาจบอกปัด ไม่ยอมทำสัญญาประกันชีวิตให้ผู้รับประกันภัยทราบตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคหนึ่ง หน้าที่นี้มีน้ำหนักในการแสดงความสุจริตมากกว่าหน้าที่ของผู้รับประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 866 ที่จะต้องใช้ความระมัดระวังในการรับรู้ข้อความจริง โดยผู้รับประกันภัยพึงใช้ความระมัดระวังอย่างคนธรรมดาเช่นวิญญูชนทั่วไปก็พอแล้ว สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะ จำเลยย่อมมีสิทธิบอกล้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีประกันชีวิตที่มีเงื่อนไขว่า ผู้เอาประกันฯ ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาศาลฏีกา ผู้เขียนเห็นว่า การที่บริษัทประกันในฐานะผู้มีวิชาชีพในการประกันชีวิต ย่อมทราบดีว่าการตรวจสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญและกระทำได้โดยง่าย แม้ตัวผู้เอาประกันจะไม่ได้แจ้งข้อมูลเรื่องสุขภาพหรือไม่มีการตรวจสุขภาพ แต่เมื่อบริษัทผู้เอาประกันไม่มีการตรวจสอบ ยิ่งเห็นถึงการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างเช่นวิญญูชน ตามมาตรา 866  สัญญาประกันชีวิตจึงมีผลสมบูรณ์ ใช้บังคับได้  ซึ่งพฤติกรรมของบริษัทฯ จะรับทำสัญญาโดยไม่คำนึงว่าผู้เอาประกันฯ จะแจ้งข้อเท็จจริงตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ แต่เมื่อต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจึงตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อพบว่ามีโรคภัยซ่อนอยู่ก็จะใช้เป็นเหตุเพื่อจะไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทน หากผู้เอาประกันภัยไม่ตายก็เก็บเบี้ยประกันฯ ต่อไป และเชื่อว่าสัญญาประกันฯ ที่ทำไว้ส่วนใหญ่ก็คงอยู่ในสภาพโมฆียะ กล่าวคือยังมีผลใช้บังคับได้ จนกว่าผู้เอาประกันจะใช้สิทธิบอกล้าง ซึ่งส่วนใหญ่สัญญาที่ทำกันสามารถบอกล้างได้เกือบทั้งนั้น    ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แม้ดูผิวเผิน เหมือนคนทำประกันจะได้เปรียบเพราะไม่ตรวจสุขภาพก็รับทำประกัน แต่ในความจริง บริษัทผู้เอาประกันมักจะใช้เรื่องปกปิดสุขภาพเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายหลัง ดังนั้นผู้บริโภคที่จะทำสัญญาประกันแบบไม่ตรวจสุขภาพก็ต้องระวังไว้ด้วยนะครับ ไม่ควรหลงเชื่อเพียงคำโฆษณาชวนเชื่อที่บริษัททำขึ้นเท่านั้น ก่อนทำสัญญาก็ควรอ่านเงื่อนไขหรือข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วน      นอกจากนี้ กรณีที่ผู้ทำประกันปกปิดข้อมูลที่เคยถูกบริษัทอื่นปฏิเสธการรับประกันชีวิต กรณีนี้ บริษัทผู้รับทำประกันจะใช้เป็นเหตุอ้างปฏิเสธการจ่ายเงินประกันและบอกเลิกสัญญาว่าปกปิดข้อเท็จจริงไม่ได้ ถือว่าสัญญาประกันมีผลสมบูรณ์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1422/2516   บริษัทจำเลยไม่ถือว่าการที่ผู้ตายเคยถูกปฏิเสธการรับประกันชีวิตมาก่อนเป็นข้อสำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าขณะผู้ตายขอประกันชีวิตครั้งที่เกิดเหตุเรื่องนี้สุขภาพของผู้ตายสมบูรณ์ดีหรือไม่ ฉะนั้น เมื่อนายแพทย์ของบริษัทจำเลยตรวจสุขภาพผู้ตายและเสนอเรื่องให้บริษัทจำเลย จนบริษัทจำเลยพิจารณาอนุมัติให้ผู้ตายประกันชีวิต จึงแสดงว่าผู้ตายมีสุขภาพสมบูรณ์ บริษัทจำเลยจะมาปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่าผู้ตายแจ้งเท็จว่า ไม่เคยได้รับปฏิเสธในการขอเอาประกันชีวิตกับบริษัทจำเลยมาก่อนไม่ได้    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 การบอกล้างสัญญาประกันชีวิตที่ตกเป็นโมฆียะ

คดีนี้นายใจประกันชีวิตไว้กับจำเลย โดยมีโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมา นายใจถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุ โจทก์ขอรับเงินจากจำเลย จำเลยปฏิเสธการจ่าย โดยอ้างว่านายใจไม่เปิดเผยข้อความจริงเกี่ยวกับสุขภาพ จึงใช้สิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิต  ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง ระบุว่า “ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญานั้นก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป“ ซึ่งหน้าที่นำสืบในเรื่องนี้เป็นภาระการพิสูจน์ของผู้รับประกันภัย ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1137/2557  ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกา หรือไม่ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 วรรคสอง เห็นว่าโจทก์ฟ้องว่านายใจเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุในขณะที่กรมธรรมประกันชีวิตมีผลคุ้มครอง  จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ซึ่งเป็นผู้รับผลประโยชน์  จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยได้บอกล้างสัญญาประกันชีวิตที่ตกเป็นโมฆียะแล้ว  จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่า จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตั้งแต่เมื่อใด และได้บอกล้างสัญญาดังกล่าวภายใน 1 เดือน นับแต่วันทราบมูลอันจะบอกล้างแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง ทางนำสืบของจำเลยคงมีแต่นายวันชัย ผู้รับมอบอำนาจช่วงของจำเลย และนายวิศิษฐ์ พนักงานของจำเลย ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายบริการผู้ถือกรมธรรม์มีหน้าที่ตรวจสอบและให้บริการแก่ผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิต เป็นพยานเบิกความว่า นายใจเสียชีวิตภายในระยะเวลา 2 ปี นับจากวันที่เริ่มต่ออายุสัญญา อยู่ในช่วงเวลาที่จำเลยสามารถใช้สิทธิโต้แย้งได้ จำเลยจึงตรวจสอบสุขภาพของนายใจ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายใจมีสุขภาพไม่สมบูรณ์แข็งแรงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังก่อนที่จะขอต่อสัญญาประกันชีวิต ตามบัตรตรวจโรคของโรงพยาบาลบางมูลนากและเวชระเบียนผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลพิจิตร นายใจได้เคยตอบคำถามและแถลงข้อเท็จจริงในหนังสือรับรองสุขภาพเพื่อต่ออายุกรมธรรม์ว่า ในช่วงระยะเวลาที่ขาดการชำระเบี้ย มีสุขภาพแข็งแรงและร่างกายสมบูรณ์ดีทุกประการไม่เคยเจ็บป่วยด้วยโรคใดๆ ไม่เคยได้รับการตรวจหรือแนะนำจากแพทย์ที่เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพหรือการเจ็บป่วยแต่ประการใด หากนายใจเปิดเผยข้อเท็จจริงให้จำเลยทราบว่าเคยเข้ารักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง จำเลยจะไม่รับต่ออายุกรมธรรม์ จำเลยจึงใช้สิทธิบอกล้างสัญญา ซึ่งเป็นโมฆียกรรมและคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่โจทก์แล้ว ตามหนังสือบอกล้างโมฆียกรรมและคืนเบี้ยประกันภัย อันเป็นการบอกล้างสัญญาภายในระยะเวลา 2 ปีนับแต่ขอต่ออายุสัญญาประกันชีวิตจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์   โดยพยานจำเลยทั้งสองปากมิได้เบิกความว่า โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเมื่อใด และจำเลยทราบว่านายใจเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งถือว่าเป็นมูลอันจำบอกล้างได้ตั้งแต่เมื่อใด คงได้ความเพียงว่าจำเลยได้มีหนังสือบอกล้างสัญญาประกันชีวิต ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันต่ออายุสัญญาเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้นำสืบว่า จำเลยได้บอกล้างสัญญาประกันชีวิตภายใน 1 เดือน นับแต่วันทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตรายนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนหมายเหตุ ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยให้จำเลยผู้รับประกันภัย ที่ปฏิเสธการจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตมีภาระการพิสูจน์ ( ฎีกาที่ 6711/2553)  แต่คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ได้วางหลักเพิ่มเติมต่อไปว่า นอกจากผู้รับประกันภัยต้องมีภาระการพิสูจน์แล้ว ยังมีหน้าที่พิสูจน์ต่อไปตามข้อยกเว้นความรับผิดในมาตรา 865  วรรคสอง ให้ครบถ้วนสิ้นกระแสความด้วย กล่าวคือ ต้องนำสืบหรือพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า ผู้รับประกันภัยได้บอกล้างสัญญาประกันชีวิตภายใน 1 เดือน นับแต่วันทราบมูลเหตุอันจะบอกล้าง เมื่อใด ภายในกำหนดเวลา 1 เดือนแล้วหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 ถึงตายเวลาเมา ประกันก็ต้องจ่าย

  มีคดีน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่อง ประกันมาฝากครับ สัญญาประกันชีวิตนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 นั้นระบุว่า ในสัญญา ประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลหนึ่ง มีคดีตัวอย่าง ผู้เอาประกันภัยเมาแล้วขับรถยนต์ไปประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย แพทย์ตรวจพบว่าผู้เอาประกันภัยมีแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึงขนาดเรียกได้ว่าเมาสุรา บริษัทฯ ผู้เอาประกันภัยจึงปฏิเสธการจ่ายเงิน ผู้รับผลประโยชน์จึงมาฟ้องคดีต่อศาล มาดูกันสิว่าบริษัทฯ จะต้อง จ่ายเงินหรือไม่ เพราะเหตุใด   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1637/2538 นางสาวเจริญวัลย์ แซ่เตีย โจทก์บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำเลย โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ตกลงรับประกันชีวิตนาย พงษ์เดช แซ่เตีย โดยมีโจทก์เป็นผู้รับประ โยชน์ครั้น วันที่ 5 มีนาคม 2532 อันเป็นช่วง ระยะเวลา ที่อยู่ ใน ระหว่าง อายุ สัญญาประกันภัย นายพงษ์เดช ได้ขับรถยนต์คัน หมายเลข ทะเบียน 1ร-4173 กรุงเทพมหานครเกิด อุบัติเหตุเฉี่ยว ชน กับ รถยนต์ คัน อื่น ได้รับ บาดเจ็บ และถึงแก่ความตายในวันเดียวกัน ขอให้บังคับจำเลย ใช้เงินจำนวน 436,986.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ เจ็ดครึ่ง ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง   จำเลยให้การ ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในขณะหรือเนื่องจากนาย พงษ์เดช แซ่เตีย ขับรถยนต์ในขณะที่ เมาสุรา จึงอยู่ในบังคับของข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง   ศาลชั้นต้น พิพากษา ให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 400,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ เจ็ดครึ่ง ต่อปี นับแต่ วันที่ 5 มีนาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึง วันฟ้อง(1 มิถุนายน2533) มิให้คิดเกินกว่า 36,986.30 บาท   จำเลย อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ ฎีกา ศาลฎีกา วินิจฉัย ว่า "ข้อเท็จจริง ฟังได้ในเบื้องต้น ว่านายพงษ์เดช แซ่เตีย ขับรถยนต์ จากสะพาน พระรามหก มุ่งหน้าไปทางสี่แยกท่าพระ ตามถนนจรัญสนิทวงศ์ เมื่อขับมาถึงปากทางเข้าการไฟฟ้าคลองมอญ มีนายปรีชา บำรุงพืช ขับรถยนต์ มาจากทางสี่แยกท่าพระ ถึงปากทางเข้าการไฟฟ้าคลองมอญ ได้ ขับรถเลี้ยวกลับตัดหน้ารถ ที่นายพงษ์เดช ขับมาเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน รถของนายพงษ์เดช เสียหลักแล่นไปชนท้ายรถยนต์โดยสาร ที่จอดอยู่ริมทาง เป็นเหตุให้นายพงษ์เดช ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุ ดังกล่าว แพทย์โรงพยาบาลศิริราชตรวจศพนายพงษ์เดช ผู้ตาย แล้วปรากฏว่า พบ แอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ตาย สูงถึง 203 มิลลิกรัม เปอร์เซ็นต์ หรือ 0.203 กรัม เปอร์เซ็นต์ ซึ่งวงการแพทย์ ถือหลักว่า หากปริมาณแอลกอฮอล์ ในเลือดมีถึง 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือ 0.15 กรัม เปอร์เซ็นต์ หรือ มากกว่าถือว่าบุคคลนั้น เมาสุราแล้ว ทั้งนี้เนื่องจาก แอลกอฮอล์ ในเลือดที่มีจำนวนเท่านั้น จะมีผลทำให้ บุคคลที่มีร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์และเป็นปกติมีปฏิกิริยาในการตอบสนองช้าลง ระบบประสาท ซึ่ง ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ จะทำให้บังคับกล้ามเนื้อทำงานไม่ประสม ประสานกัน สติสัมปชัญญะผิดไปจากคนปกติ และมีความยากลำบาก ในการควบคุมเครื่องจักรกล และการบังคับ ยานพาหนะ ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริง ว่าขณะที่เกิดอุบัติเหตุ ผู้ตายเมาสุรา เข้าข้อยกเว้น การรับผิด ตามข้อ 11 (ฎ) จำเลย ไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย จำนวน 400,000 บาท ให้ แก่ โจทก์   มีปัญหาต้องวินิจฉัย ตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลย ได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย จำนวน 400,000 บาท ให้ แก่ โจทก์ตาม สัญญา ข้อ 11 (ฎ) หรือไม่ เห็นว่า สัญญา ข้อ 11(ฎ) ระบุ ไว้ว่า "สัญญา เพิ่มเติม นี้ ไม่คุ้มครองการสูญเสียหรือทุพพลภาพ อันเกิดขึ้นโดยทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งหมด หรือแต่บางส่วนจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ในขณะหรือเนื่องจากผู้เอาประกัน เมาสุราหรือแพ้ยา " นั้น มี ความหมายว่า สัญญาเพิ่มเติมนี้ ไม่คุ้มครองการมรณะของผู้เอาประกัน อันเกิดขึ้นโดยตรงจาก อุบัติเหตุ ที่ เกิดขึ้นจากผู้เอาประกันเมาสุรา ดังนั้นการที่จำเลย พิสูจน์ได้เพียงว่านายพงษ์เดช ผู้เอาประกัน ซึ่งถึงแก่กรรมโดยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในขณะผู้เอาประกันเมาสุราตามหลักวิชาการแพทย์ โดยพิสูจน์ไม่ได้ ว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นเนื่องจากผู้เอาประกันเมาสุรา จำเลยจึงไม่ได้ รับยกเว้น ตามข้อสัญญาดังกล่าว ต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องโจทก์ มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ ฟังขึ้น "พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้น”   สรุป ถึงตายเวลาเมา ประกันก็ต้องจ่าย เพราะไม่ได้ตายด้วยเหตุเมา  

อ่านเพิ่มเติม >