ฉบับที่ 274 ภัยครีมผิวขาวผิดกฎหมาย

ธันวาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงผลการทดสอบเครื่องสำอางที่ขายผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์พบสารห้ามใช้ 8 รายการ อาทิ ปรอท สารสเตียรอยด์ ที่อาจทำให้เกิดการแพ้ เกิดฝ้าถาวร เสี่ยงพิษร้ายแรง  ทำให้หวนนึกถึงเหตุการณ์เมื่อต้นปี 2566 ที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) EcoWaste Coalition จากประเทศฟิลิปปินส์ และเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IPEN-SEA) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีสมาชิกองค์กรภาคประชาสังคมจากกว่า 120 ประเทศทั่วโลกที่ติดตามปัญหามลพิษในระดับนานาชาติ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อวันที่  6 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อเรียกร้องให้ อย. เปิดเผยรายชื่อรายการเครื่องสำอางที่ปนเปื้อนสารปรอทที่มีการเพิกถอนแล้วให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงขอให้นำระบบการแจ้งเตือนภายหลังออกสู่ท้องตลาดของอาเซียน (ASEAN Post-Marketing Alert System: PMAS) มาใช้แจ้งเตือนหน่วยงานรัฐและผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนให้ทราบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตขึ้นโดยไม่คำนึงถึงข้อกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะที่ปนเปื้อนสารปรอทและสารต้องห้าม หรือสารควบคุมอื่นๆ  “ได้โปรดดำเนินการจัดการผู้กระทำความผิด เพื่อยุติการขายเครื่องสำอางที่มีการปนเปื้อนของสารปรอทอย่างผิดจริยธรรมและกฎหมาย และเพื่อปกป้องสิทธิทางสุขภาพที่ดีและสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ไร้มลพิษ”         เครื่องสำอางที่เอ็นจีโอฟิลิปปินส์ EcoWaste Coalition  ตรวจพบการปนเปื้อนของสารประกอบของปรอทนั้น ได้แก่       ครีมเลดี้โกลด์ สาหร่ายทองคำ ผสมกลูต้า, ครีม Super Gluta Brightening, ครีมหมอยันฮี จำนวน 5 สูตร (Dr. Yanhee), ครีม Dr. วุฒิ-ศักดิ์ จำนวน 2 สูตร (Dr. Wuttisak), ครีมสมุนไพรสาหร่ายเหมยหยง ซุปเปอร์ไวท์เทนนิ่ง (Meyyong Seaweeds Super Whitening), ครีมพอลล่าโกลด์ (Polla Gold Super White Perfects), ครีมไข่มุกนาโน (White Nano), ครีมบำรุงหน้า 88 สูตรกลางคืน (88 Whitening Night Cream), ครีมรักแร้ขาว 88 (88 Total White Underarm Cream) และครีมรักแร้ขาว สโนว์ไวท์ (Snow White Armpit Whitening Underarm Cream) ซึ่งพบสารปรอทในปริมาณที่สูงมากระหว่าง 2,486 ppm ไปจนถึง 44,540 ppm และทุกตัวอย่างฉลากระบุว่า “ผลิตในประเทศไทย”          ต่อมาทาง อย.ได้สื่อสารต่อสาธารณะในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 โดย ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ว่า  “อย. ตรวจสอบพบว่าเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง 13 รายการ จดแจ้งแล้ว 1 รายการ ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่ามีการกระทำผิดหรือลักลอบใส่สารห้ามใช้ จะถูกดำเนินการตามกฎหมายและประกาศผลวิเคราะห์ทันที สำหรับเครื่องสำอางเถื่อน อย. จะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบหาแหล่งผลิตและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” ในไทยก็ขายเกลื่อน         จากข้อสรุปข้างต้นคือ เครื่องสำอางที่เอ็นจีโอฟิลิปปินส์พบการปนเปื้อนสารประกอบของสารปรอทนั้น เกือบทั้งหมดเป็นเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ไม่มีการกำกับเบื้องต้นจากหน่วยงาน อย. หรือไม่มีเลขจดแจ้ง (เครื่องหมาย อย.สำหรับเครื่องสำอาง) สำหรับ 1 ตัวอย่างที่พบเลขจดแจ้ง ต้องรอดูว่า ทาง อย.จะดำเนินการอย่างไร จะยกเลิกสถานะและดำเนินคดีทางกฎหมายหรือไม่         อย่างไรก็ตามทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคกลาง ตั้งข้อสังเกตว่า แล้วทำไมสินค้าเครื่องสำอางปลอมจึงระบาดไกลไปถึงฟิลิปปินส์ และในประเทศไทยจะยังมีวางขายหรือไม่ หาซื้อง่ายหรือไม่  จึงได้ทดลองหาซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทอ้างว่าทำให้ผิวขาวหรือครีมผิวขาวผิดกฎหมาย โดยตั้งใจตามหายี่ห้อเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ทางเอ็นจีโอฟิลิปปินส์พบว่ามีการปนเปื้อนสารประกอบของปรอท ในเดือนมีนาคม 2566 หลังจากนั้นเพื่อยืนยันในเบื้องต้นว่า ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปรากฎแลขจดแจ้ง หรือจะเรียกอีกอย่างว่า เป็นสินค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ มีการใส่สารต้องห้าม อย่างปรอทจริงหรือไม่ (เมื่อจำหน่ายในประเทศ) ฉลาดซื้อและมูลนิธิบูรณะนิเวศ จึงได้ทดสอบผลิตภัณฑ์จำนวน 12 ตัวอย่างที่เก็บตัวอย่างมา โดยทดสอบด้วย  ชุดตรวจปรอทในเครื่องสำอางเบื้องต้น (Mercury test kit in cosmetic)    พบว่า มีสารประกอบของปรอททุกตัวอย่าง ในไทยก็ขายเกลื่อน         จึงฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้บริโภค อย่าซื้อ อย่าใช้เครื่องสำอางผิดกฎหมาย ถ้าไม่แน่ใจเลขจดแจ้งที่ผู้ผลิตระบุ ตรวจสอบได้ที่  https: //oryor.com/check-product serial ลิ้งก์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. ) (oryor.com)  อันตรายของเครื่องสำอางที่มีการพบสารปรอท อาจทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ       ข้อแนะนำ         1.ซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน น่าเชื่อถือ และมีหลักฐานการซื้อขายที่ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจน         2.ฉลากภาษาไทยมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน ได้แก่ ชื่อเครื่องสำอาง ชื่อทางการค้า ประเภทเครื่องสำอาง ชื่อของสารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตหรือปีเดือนที่ผลิต คำเตือน (ถ้ามี) และเลขที่ใบรับจดแจ้ง         3.กรณีที่พบผลิตภัณฑ์ ที่สงสัยว่าจะเป็นอันตราย สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ                   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ตรวจปลาทูน่ากระป๋อง พบปรอท ตะกั่ว แคดเมียม แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน เตือนคนรักสุขภาพหากทานบ่อยอาจสะสมโลหะหนักในร่างกาย

        จากข่าวองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงสุ่มตรวจปลากระป๋อง 46 ตัวอย่าง (ซาร์ดีน 19 ตัวอย่าง/ ทูน่า 20 ตัวอย่าง/ ปลาตะเพียน 7 ตัวอย่าง) พบว่าในปลาซาร์ดีน 19 ตัวอย่าง มีถึง 17 ตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนจากแคดเมียม และสองตัวอย่างในนั้นเป็นปลาซาร์ดีนจากเมืองไทยที่มีระดับการปนเปื้อนของแคดเมียม 0.11 mg/kg และ 0.13 mg/kg ซึ่งเกินระดับปลอดภัย (0.1 mg/kg) ตามกฎหมายใหม่ของฮ่องกงที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องจำนวน 28 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตในบ้านเรา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา และนำส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเพื่อหาการปนเปื้อนของโลหะหนักสามชนิด ได้แก่ ปรอท ตะกั่ว และแคดเมียมการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่ว ประเทศไทยกำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ สามารถตรวจพบปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และมีปริมาณตะกั่วได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่องอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทส่วนการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ประเทศไทยกำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 98 ) พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน  ผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของโลหะหนักทั้งสามชนิดในผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องทั้ง 28 ตัวอย่าง พบว่าทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม แต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการปนเปื้อนโลหะหนักแต่ละประเภทจะพบว่า ตัวอย่างที่พบปริมาณการปนเปื้อนของปรอทน้อยที่สุด (0.023 มก./กก.) มีสองตัวอย่างได้แก่ 1) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ  2) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำมันถั่วเหลืองตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของปรอทมากที่สุด (0.189 มก./กก.) ได้แก่ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือสำหรับการปนเปื้อนของตะกั่วนั้น ส่วนใหญ่ตรวจไม่พบ หรือพบแต่น้อยกว่า 0.008 มก./กก.การปนเปื้อนแคดเมียม ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของแคดเมียมน้อยที่สุด (0.004 มก./กก.) สองตัวอย่างได้แก่ 1) ยี่ห้อ ROZA โรซ่า ทูน่าก้อน ในน้ำมันพืช และ  2) ยี่ห้อ TCB ทีซีบี ทูน่าชนิดก้อนในน้ำแร่ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของแคดเมียมมากที่สุด (0.029 มก./กก.) หนึ่งตัวอย่างได้แก่ ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ          ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร  ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าโลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม ที่ปนเปื้อนในอาหารทะเล เกิดจากอุตสาหกรรม เช่น การทําเหมืองแร่ การผลิตกระดาษ  อุตสาหกรรมหนักต่างๆ หรือ การใช้อุปกรณ์ที่มีโลหะหนักเป็นองค์ประกอบ เช่น ท่อส่งน้ำ ท่อระบายน้ำ แบตเตอรี สายเคเบิล เม็ดสี พลาสติก พีวีซี ยาฆ่าแมลง  โลหะหนักเหล่านี้ปนเปื้อนแหล่งน้ำหรือกระจายในชั้นบรรยากาศและตกลงสู่ทะเล  สะสมในแต่ละลําดับชั้นของห่วงโซ่อาหารการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนโลหะหนักในอาหาร โดยหลักการจะกำหนดให้ต่ำกว่าระดับการบริโภคที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ โดยมีมาตรฐานกลางระหว่างประเทศ  แต่ประเทศหรือรัฐใด จะกำหนดมาตรฐานให้เข้มงวดกว่าเกณฑ์กลางก็ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนผู้บริโภคของตนได้ดียิ่งขึ้นผู้บริโภคที่เลือกรับประทานปลาทูน่ากระป๋องเพราะมีโปรตีนสูงและให้แคลอรีต่ำนั้น ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะสลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก แม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยเกินไปก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ด้านปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ จากข้อมูลโภชนาการบนฉลากบรรจุภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคน้อยที่สุด (45 มิลลิกรัม) ได้แก่ ยี่ห้อ Tops ท็อปส์ ทูน่าสเต็กในน้ำแร่  และตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคมากที่สุด (350 มิลลิกรัม) ได้แก่ ยี่ห้อ BROOK บรุค ปลาทูน่าในน้ำมันถั่วเหลือง จึงควรอ่านฉลากและบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศฉบับเดิมคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ให้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่  20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจานุเบกษา  ประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในปลาทูน่ากระป๋องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 28 ตัวอย่าง          อ่าน “ผลทดสอบโลหะหนักในปลาทูน่ากระป๋อง”  ฉบับเต็มได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3448ติดตามทุกเรื่องราวเกี่ยวกับผู้บริโภคได้ที่เพจ Facebook/นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค            

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 กระแสต่างแดน

หยุดมลพิษปรอท        แอนดริว เลวิทัส ผู้กำกับภาพยนตร์ “Minamata” เรียกร้องให้ออสเตรเลียหยุดเพิกเฉยต่อปัญหาพิษปรอทในสิ่งแวดล้อมทั้งๆ ที่ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะเมื่อ 7 ปีก่อน        ภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับการเปิดโปงให้โลกได้รับรู้สิ่งที่เกิดกับผู้คนในหมู่บ้านชาวประมงแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของญี่ปุ่น โดยยูจีน สมิธ (รับบทโดย จอหน์นี่ เดปป์) ช่างภาพของนิตยสาร Life ที่เสี่ยงตายเข้าไปถ่ายภาพเหยื่อ “โรคมินามาตะ” เมื่อปี 2514        ตัวการที่ลักลอบปล่อยน้ำเสียที่มีสารปรอทลงสู่อ่าวมินามาตะก็คือโรงงานสารเคมีชิสโสะ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บริเวณนั้นนั่นเอง        ที่น่าเศร้าคือแม้จะพบโรคดังกล่าวตั้งแต่ปี 2499 แต่กลับต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าบริษัทชิสโสะจะยอมชดเชยเยียวยาให้กับเหยื่อ 10,000 กว่าราย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีคนที่ยังไม่ได้รับการชดเชย        สารปรอทส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ระบบหายใจ ระบบย่อย และระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงทำให้เกิดโรคไตและโรคหัวใจด้วย ขณะที่ทารกในครรภ์ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดมาพร้อมความผิดปกติและอาจมีไอคิวต่ำ        เลวิทัสกล่าวในเทศกาลภาพยนตร์เบอลินว่าเขาหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้างกระแสให้คนออสซี่ลุกขึ้นมากดดันให้รัฐบาลออสเตรเลียจัดการกับปัญหามลพิษปรอทโดยด่วน        ออสเตรเลียมีการปล่อยสารปรอทเข้าสู่สิ่งแวดล้อมปีละ 18 ตัน หากคิดเฉลี่ยต่อหัวประชากร อัตราการได้รับปรอทของคนออสเตรเลียสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึงสองเท่า ส่วนใหญ่เป็นการรับปรอทเข้าสู่ร่างกายผ่านอาหารทะเลและปลาแม่น้ำ (สถิติการบริโภคอาหารทะเลของคนออสซี่ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเช่นกัน)        นอกจากนี้ปรอทยังเป็นผลพลอยได้จากโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน และปัจจุบันยังถูกใช้ในสารเคมีฆ่าเชื้อราในต้นอ้อยด้วย           หมายเหตุ ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทเช่นกันเตรียมลงดาบ        คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของออสเตรเลีย ACCC ประกาศว่าปีนี้จะจับตาและลงดาบธุรกิจรับจัดงานศพ หลังพบว่าเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอมานาน        ธุรกิจรับจัดงานศพในออสเตรเลียซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1,600 ล้านเหรียญ (ประมาณ 33,000 ล้านบาท) ทั้งๆที่มีผู้ประกอบการน้อยราย มักถูกร้องเรียนเรื่องค่าบริการที่ไม่เป็นธรรมและการผิดสัญญากับลูกค้า           ปลายปีที่แล้ว InvoCare ถูกเปิดโปงโดยนิตยสาร CHOICE ว่าเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียมการชำระเงินเกินเวลา” ทั้งๆ ที่ลูกค้าจ่ายเงินตรงเวลา        บริษัทนี้เป็นบริษัทแม่ของธุรกิจงานศพอีกสองแบรนด์ (White Lady Funerals และ Simplicity Funerals) รวมถึงแบรนด์อื่นๆ ในแต่ละรัฐของออสเตรเลียอีก 40 แบรนด์ ในปี 2561 InvoCare จัดงานศพ 36,000 งาน ทำรายได้ไป 290 ล้านเหรียญ (ประมาณ 5,900 ล้านบาท)        อีกเรื่องที่ ACCC ต้องตั้งรับคือการหาผลประโยชน์จากวิกฤติ เช่น การระดมทุนทางโซเชียลมีเดียเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากไฟป่า หรือผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา รวมถึงพวกที่กักตุนหน้ากากอนามัยไว้ขายเกินราคาด้วยบริการเสริมจากไปรษณีย์        แม้การส่งจดหมายจะลดลงเช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในโลก แต่ไปรษณีย์ฝรั่งเศส (La Poste) ยังไปได้สวยด้วยบริการ V.S.M.P หรือบริการเยี่ยมผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง          นอกจากส่งจดหมายหรือพัสดุแล้ว พนักงานไปรษณีย์จะเข้าไปเยี่ยมผู้สูงอายุในบ้าน ถามสารทุกข์สุกดิบ นำยาตามใบสั่งแพทย์มาส่ง ช่วยสั่งซื้อของออนไลน์ นำหนังสือไปคืนห้องสมุด ซ่อมแซมปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ด้วยค่าบริการรายเดือน 37.90 ยูโร (ประมาณ 1,300 บาท)        พนักงานจะบันทึกข้อมูลต่างๆ ลงในแอป และเมื่อผู้รับบริการพอใจแล้ว (ส่วนมากใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที) ก็จะลงชื่อในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นระบบจะแจ้งความคืบหน้าไปยังลูกหลาน          บริการนี้มาได้ถูกที่ถูกเวลา ขณะที่คนวัยหนุ่มสาวต้องย้ายถิ่นฐานไปหางานทำในเมืองใหญ่ ตามเมืองเล็กๆ ก็มีคนอายุมากกว่า 75 ปีอีกหลายล้านคนอยู่บ้านคนเดียว และใน 15 ปีข้างหน้า ประชากรหนึ่งในสามของฝรั่งเศสจะมีอายุมากกว่า 60 ปี        จุดเริ่มของโครงการนี้คือเหตุการณ์คลื่นความร้อนเมื่อ 7 ปีก่อน เมื่อรัฐบาลขอความร่วมมือจากที่ทำการไปรษณีย์ท้องถิ่นให้ส่งพนักงานออกไปตรวจเช็คความปลอดภัยของผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียว ต่อมาบริการนี้ได้รับความสนใจจากบริษัทประกันและเทศบาลท้องถิ่นว่าจ้างให้ทำงานแทนให้ และตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาก็พัฒนามาเป็นบริการผ่านแอปฯ สำหรับคนทั่วไป        La Poste ซึ่งเปลี่ยนสถานะเป็นองค์กรร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนเมื่อ 10 ปีก่อน มีจดหมายให้ส่งน้อยลงเกือบ 8,000 ล้านฉบับ ปัจจุบันรายได้บริการนี้เป็นเพียงแค่ร้อยละ 28 ของรายได้รวมเท่านั้น        ข่าวร้ายสำหรับคนที่ยังรักจดหมาย ปีนี้ค่าแสตมป์ภายในประเทศปรับขึ้นจาก 78 เป็น 86 เซนต์ (ประมาณ 30 บาท) แล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม ทำให้ลูกของเราเป็นออทิสติกจริงหรือ

ในต่างประเทศ มีการต่อต้านการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม และวัคซีนอื่นๆ ในเด็ก โดยเฉพาะในสายการแพทย์ทางเลือก เพราะเชื่อว่า จำนวนเด็กออทิสติกที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดจากการฉีดวัคซีนดังกล่าว เนื่องจากในวัคซีนนั้นมีสารปรอท(thimerosal) ซึ่งเป็นตัวการที่ไปทำลายเซลล์สมอง จริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะทำไมต้องใส่สารปรอทในวัคซีน มีการใช้สารปรอทในวัคซีนมาตั้งแต่ ค.ศ. 1930 เพื่อช่วยรักษาความคงทนของวัคซีน  สารปรอทอาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่ฉีดวัคซีนเกิดอาการแพ้ เป็นผื่นแดงและบวมเล็กน้อย  แม้จะไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า สารปรอทในวัคซีนก่อให้เกิดอันตราย แต่ในปี ค.ศ. 1999 หน่วยงานด้านการแพทย์แห่งชาติของอเมริกา สถาบันด้านเด็ก และโรงงานการผลิตวัคซีน ก็เห็นพ้องกันที่จะลดหรือไม่ใช้เพื่อความปลอดภัย สารปรอทนั้นพบได้ในธรรมชาติ ในดิน อากาศ และน้ำ สารปรอทที่มนุษย์สัมผัสเป็นประจำ ได้แก่ ปรอทเมทิล กับปรอทเอทิล  ปรอทเมทิลนั้นพบได้ในปลาบางชนิด ถ้าร่างกายกินปลาที่มีปรอท ร่างกายจะสะสมปรอทในปริมาณสูง จนเป็นพิษต่อร่างกาย ส่วนปรอทเอทิลนั้น ถูกขับออกจากร่างกายได้ง่าย จึงไม่ค่อยก่ออันตรายให้มนุษย์ สารปรอทในวัคซีนนั้นช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และเชื้อราในวัคซีน  เมื่อสารปรอทเข้าสู่ร่างกาย จะถูกเปลี่ยนเป็นปรอทเอทิลและขับออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว จึงไม่มีการสะสมจนมีระดับสูงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายงานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับวัคซีนกับการเกิดออทิสซึมในเด็ก จากความกังวลเรื่องสารปรอทในวัคซีนและจำนวนเด็กออทิสติกที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีงานวิจัยและการทบทวนงานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่องนี้  เราอาจสรุปงานวิจัยและการทบทวนได้ ดังนี้1. ในวารสาร “วัคซีน” ฉบับ 32 วันที่ 17 มิ.ย. 2014 น. 3263-3629 ได้ตีพิมพ์รายงานการทบทวนเอกสารงานวิจัยใน MEDLINE, PubMed, EMBASE, Google Scholar จนถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 2014  ได้ทำวิเคราะห์อภิมาณ การศึกษาแบบเหตุไปหาผล (Cohort study) 5 รายงาน ครอบคลุมเด็กจำนวน 1,256,407 ราย และการศึกษาแบบมีกลุ่มควบคุม 5 รายงาน  สรุปผลได้ว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หัด หัดเยอรมัน คางทูมนั้น ไม่มีผลต่อการเกิดออทิสซึมในเด็ก  รวมทั้งสารปรอทและวัคซีนไม่สัมพันธ์กับการเกิดออทิสซึมและอาการที่เกี่ยวพันกับออทิสซึม2. การทบทวนเอกสารจำนวน 139 รายงานของนักวิจัย ห้องสมุดคอเครน เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม ในเด็ก พบว่า วัคซีนช่วยป้องกันเด็กจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน พบการเกิดเลือดออกใต้ผิวหนัง อาการของหัด หัดเยอรมัน คางทูมน้อยมาก  ไม่พบหลักฐานว่าวัคซีนมีส่วนทำให้เกิดออทิสซึม3. วารสาร “Pedriatics” ฉบับเดือนกันยายน ค.ศ. 2004  พบว่า ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนที่มีสารปรอท (thimerosal) กับการเกิดออทิสซึม4. ยังมีรายงานการวิจัยอีกมากที่สรุปยืนยันว่า วัคซีนดังกล่าวไม่มีผลต่อการเกิดออทิสซึมสรุป คุณพ่อคุณแม่คงสบายใจได้แล้วว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม ให้กับลูกหลานนั้น ไม่ทำให้เกิดออทิสซึมอย่างแน่นอน  เด็กออทิสติกที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นเพราะสาเหตุอื่น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนสิงหาคม 2560ใช้ “รังสี” ต้องติดใบรับรองสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) แนะประชาชนสังเกตสัญลักษณ์แสดงสถานประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตครอบครองหรือใช้รังสีอย่างถูกต้องจาก ปส. ก่อนเข้ารับบริการ เพื่อให้มั่นใจปลอดภัยจากรังสีตามมาตรฐานสากลหลังจากที่พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ปส. ได้เร่งสร้างความเข้าใจต่อผู้ประกอบและประชาชนให้พร้อมต่อการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อกฎหมายลำดับรองแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2560 นี้ โดยล่าสุดมีสถานประกอบการยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาติจาก ปส. แล้วกว่า 3,500 แห่ง ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตแล้ว ปส. จะมอบสัญลักษณ์แสดงการได้รับอนุญาต สามารถนำไปติดบริเวณที่ให้บริการประชาชน เพื่อให้เป็นจุดสังเกตซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจก่อนเข้ารับบริการมากยิ่งขึ้นโดยปัจจุบันสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับรังสีมีมากมายหลายด้าน ทั้งด้านอาหาร การแพทย์ และด้านอุตสาหกรรม เช่น การทำอัญมณี ด้านเชื้อเพลง เป็นต้นอาหารทะเลปลอดภัยไม่มีปรอทข่าวนี้ถือเป็นข่าวดีของคนที่ชอบรับประทานอาหารทะเลเพราะมีผลตรวจการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า อาหารทะเล พวก กุ้ง หอย ปูปลา ที่ขายในตลาดจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง ปลอดภัยจากสารปรอทกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี ได้สุ่มเก็บตัวอย่าง อาหารทะเล จำนวน 54 ตัวอย่าง ได้แก่ ปลา หอย กุ้ง ปู ปลาหมึก และ กั้ง จากแหล่งจำหน่ายอาหารทะเลที่สำคัญ ได้แก่ ตลาดหนองมน และสะพานปลาอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ตลาดประมงพื้นบ้านหาดสวนสน จังหวัดระยอง นำมาตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารปรอท โดยใช้เครื่อง Mercury Analyzer หลักการ Cold Vapor Atomic Absorption Spectrometry (CVAAS) พบว่าอาหารทะเลทั้ง 54 ตัวอย่างมีปริมาณสารปรอทต่ำกว่ามาตรฐานที่ประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เท่ากับว่าตัวอย่างอาหารทะเลที่นำมาวิเคราะห์อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภคพบสารอันตรายในเครื่องสำอาง “โบวี่ คิ้ม”เรายังคงได้ยินข่าวคราว เครื่องสำอางอันตราย ปรากฎให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำการลงดาบจัดการเครื่องสำอางยี่ห้อ “โบวี่ คิ้ม”(BOWVY KIM) หลังจากมีผู้บริโภคร้องเรียนว่าใช้แล้วผิวเกิดขึ้นผื่นแดง ซึ่งจากการวิเคราะห์ก็พบสารอันตรายต้องห้ามปนเปื้อนอยู่ในเครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวโดยผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้เครื่องสำอางยี่ห้อ โบวี่ คิ้ม ได้ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแบบที่ขายเป็นเซ็ตผ่านทางเฟซบุ๊ค ประกอบด้วย  ครีมสมุนไพรเวียดนาม ครีมกันแดดหน้าเงา ครีมแตงกวา ครีมขมิ้น เซรั่มอโลเวล่าเจล และสบู่เมือกหอยทาก เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ 1 วัน พบว่า เกิดผื่นแดงและสิวขึ้นตามใบหน้า และมีอาการคัน ทำให้สงสัยว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจมีสารอันตรายปนเปื้อนอยู่ อย. ได้นำตัวอย่างครีมที่ได้รับการร้องเรียนส่งตรวจวิเคราะห์ให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี พบไฮโดรควิโนน และ กรดเรทิโนอิก ซึ่งเป็นสารห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชื่อว่า Bowvy Kim แตงกวา Night 1 สมุนไพรลดฝ้า กระ จุดด่างดำ และพบปรอทแอมโมเนียในผลิตภัณฑ์  Bowvy Kim ขมิ้น Night 2ซึ่งเมื่อมีการไปตรวจยังสถานที่ผลิตที่ตั้งอยู่ใน จังหวัดสกลนคร พบตลับบรรจุครีม ตัวครีม สติกเกอร์ ยี่ห้อผลิตภัณฑ์ของกลางจำนวนมาก แต่ไม่มีหลักฐานการจดแจ้งผลิตภัณฑ์หลายรายการ รวมทั้งยังตรวจพบการโฆษณาทางเฟซบุ๊คที่มีข้อความแสดงสรรพคุณรักษาโรค ซึ่งไม่ใช่จุดมุ่งหมายของการเป็นเครื่องสำอาง เช่น ลดสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำรอยสิว ริ้วรอย ลดอาการแพ้ ระคายเคือง เป็นต้น มีความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทดลองวิ่ง “รถเมล์ปฏิรูป” 8 เส้นทาง เปลี่ยนเบอร์ใหม่ เติมสีแบ่งโซนวิ่งกรมการขนส่งทางบก และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดทดลองเดินรถเมล์ตามโครงการปฏิรูปเส้นทางใหม่ นำร่องจำนวน 8 เส้นทาง  ประกอบด้วยสาย G21 (เทียบเคียงกับสาย 114) : รังสิต - ท่าเรือพระราม 5 สาย G59E (เทียบเคียงกับสาย 514) : มีนบุรี - ท่าเรือสี่พระยา (ทางด่วน) สาย R3 (เทียบเคียงกับสาย 11) : สวนหลวง ร.9 - สนามกีฬาแห่งชาติ สาย R41 (เทียบเคียงกับสาย 22) : ถนนตก - แฮปปี้แลนด์ สาย Y59 (เทียบเคียงกับสาย 189) : สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน - กระทุ่มแบน สาย Y61 (เทียบเคียงกับสาย 509) : หมู่บ้านเศรษฐกิจ - หมอชิต 2 สาย B44 (เทียบเคียงกับสาย 54) : วงกลมพระราม 9 - สุทธิสาร สาย B45 (เทียบเคียงกับสาย 73) : ม.เอื้ออาทรบึงกุ่ม - สะพานพุทธ โดยทำการแบ่งโซนเส้นทางวิ่งเป็น 4 สี 4 โซน ประกอบด้วย สีเขียว G (Green) ย่าน รังสิต บางเขน มีนบุรี, สีแดง R (Red) ย่าน ปากน้ำ คลองเตย สาธุประดิษฐ์, สีเหลือง Y (Yellow) ย่าน พระประแดง พระราม 2 บางแค ศาลายา และ สีน้ำเงิน B (Blue) ย่าน นนทบุรี ปากเกร็ด หมอชิต 2 ดินแดง สวนสยาม โดยสีที่กำหนดขึ้นจะนำมาติดไว้บนรถเมล์ที่วิ่งในโซนนั้นๆในการทดลองเดินรถจะใช้รถธรรมดา (รถร้อน) สายละ 5 คัน เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม - 15 กันยายน 2560 เวลา 06.30 - 18.30 น. และในช่วงการทดลองเดินรถ รถสายเดิมยังคงมีรถให้บริการตามปกติ หลังจากนั้นจะประเมินผลการให้บริการ พร้อมสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ทางแฟนเพจ Facebook ในชื่อ การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ กทม. เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพของระบบรถโดยสารประจำทางต่อไปไปรษณีย์ไทยยืนยันใช้กล่อง – ซองรีไซเคิลได้จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งได้โพสต์ภาพประกาศเตือนที่ถ่ายจากที่ทำการไปรษณีย์บางบัวทอง ซึ่งแจ้งประชาชนว่า ไม่ให้ใช้ซองที่ใช้แล้ว หรือกล่องที่มีตราสัญลักษณ์อื่นๆ โดยผู้โพสต์ได้ระบุว่า “#แจ้งมาเพื่อทราบครับ ต่อไปนี้จะเอาซอง กล่อง KERRY กล่องเบียร์ กล่องใช้แล้ว มาส่งที่ไปรษณีย์บางบัวทองไม่ได้แล้ว จะถูกปฏิเสธการรับของนะครับ #เมื่อวานมีคนโวยแล้วเจ้าหน้าที่บอก คำสั่งหัวหน้าครับ"ข้อมูลดังกล่าวสร้างความสงสัยให้กับผู้ที่ใช้บริการไปรษณีย์ไทยเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นการปฏิบัติในลักษณะเอาเปรียบผู้ใช้บริการมากเกินไปหรือไม่ซึ่งต่อมาทางไปรษณีย์ไทย ก็ได้ออกจดหมายมาชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวเกิดจากความเข้าใจผิดในการสื่อสารของไปรษณีย์สาขาดังกล่าว พร้อมทั้งยืนยันว่าผู้ใช้บริการสามารถใช้กล่องหรือซองที่เคยผ่านการนำส่งแล้วกลับมาใช้อีกได้ โดยไม่ถือเป็นข้อห้าม ทั้งนี้ หากผู้ใช้บริการนำกล่องและซองที่เคยผ่านการนำส่งแล้วมาใช้ในการห่อหุ้มสิ่งของเพื่อฝากส่งนั้น เจ้าหน้าที่รับฝากจะพิจารณาจากลักษณะของกล่องหรือซองว่ามีความมั่งคง แข็งแรง และต้องปิดผนึกจ่าหน้าใหม่ทับจ่าหน้าเดิมให้ถูกต้องตามที่ไปรษณีย์ไทยกำหนด เพราะหากกล่องหรือซองมีสภาพไม่แข็งแรงเพียงพออาจทำให้เกิดความเสียหายกับสิ่งของที่ฝากส่งได้ โดยเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำและแก้ไขหรือหุ้มห่อใหม่ เพื่อไม่ให้สิ่งของที่ฝากส่งทางไปรษณีย์เสียหาย ส่วนการใช้กล่องที่ผลิตจากบริษัทรับขนส่งเอกชนรายอื่นในการฝากส่งสิ่งของเข้าสู่เส้นทางไปรษณีย์ไทยผู้ใช้บริการก็สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ถือเป็นข้อห้ามเช่นเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 ปรอทในครีมหน้าขาว

นาทีนี้การมีผิวหน้าสะอาด ชุ่มชื้น เพียงอย่างเดียวมันไม่เพียงพอเสียแล้ว เรายังรู้สึกเหมือนเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีผิวอ่อนเยาว์ ไร้ริ้วรอย และที่สำคัญต้องขาวใสไร้จุดด่างดำอีกด้วย ผลิตภัณฑ์ที่จะตอบสนองความต้องการดังกล่าวจึงมีออกมาให้เลือกกันมากมายหลายสูตร จนเลือกกันไม่ถูกเลยทีเดียว   มูลนิธิบูรณนิเวศ และนิตยสารฉลาดซื้อได้ร่วมกันเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ครีมที่อ้างสรรพคุณว่าทำให้ผิวหน้ามีสีจางลงหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าครีมหน้าขาว มาตรวจหาสารปรอท ซึ่งกฎหมายประกาศห้ามใช้ งานนี้เรายังได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจังหวัด พะเยา ขอนแก่น กาฬสินธุ์ สมุทรปราการ สงขลา สุราษฎร์ธานี ในการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากพื้นที่เข้ามาให้ด้วย   ครั้งนี้เราตรวจหาสารปรอทใน 47 ผลิตภัณฑ์ ที่เราเก็บตัวอย่างครีมจากซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีก ร้านสินค้าสุขภาพ รวมถึงแผงขายเครื่องสำอางในตลาดนัด ระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2555 มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากกรุงเทพมหานคร 15 ตัวอย่าง และตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากพื้นที่ต่างจังหวัด ได้แก่ นนทบุรี สุราษฎร์ธานี พะเยา สงขลา สมุทรปราการ กาฬสินธุ์ และขอนแก่น อีก 32 ตัวอย่าง   ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ครีมหน้าขาวทั้งหมดถูกส่งไปวิเคราะห์หาปริมาณสารปรอททั้งหมด ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของบริษัท อินเตอร์เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยวิธีตามมาตรฐานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   เราบอกคุณไม่ได้ว่าทาครีมยี่ห้อไหนแล้วจะขาวกว่ากัน แต่เรารู้แน่ว่ามีถึง 10 ผลิตภัณฑ์ (จากทั้งหมด 47 ผลิตภัณฑ์) ที่มีสารปรอทปนเปื้อน โดย “ครีมน้ำนมข้าว” ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีคว้าแชมป์ผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรอทมากที่สุด มากถึง 99,070 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามด้วย “ครีมไวท์โรส” จากสงขลา ที่มีปริมาณปรอทปนเปื้อน 51,600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนที่เหลืออีก 8 ผลิตภัณฑ์นั้นดูได้จากรายละเอียดในหน้าถัดไป   ซื้อแพงไว้ก่อนดีหรือไม่? นี่เป็นอีกครั้งที่เราพบว่าราคาที่แพงกว่า ไม่ได้รับรองว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะปราศจากสารอันตรายเสมอไป เช่น ผลิตภัณฑ์ “ไบโอคอลลาเจน” ที่มีราคาถึง 28 บาท ต่อกรัม มีสารปรอทถึง 47,960 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือครีม “มาดาม” ที่ราคากรัมละ 30 บาท ก็มีสารปรอทถึง 3,435 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “เภสัช” ซึ่งเราตรวจพบปริมาณสารปรอทต่ำกว่า 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นั้นมีราคาต่อหน่วยเท่ากับ 0.4 บาทเท่านั้น                ที่มา : องค์การอนามัยโลก, 2011 ---   ยุทธศาสตร์ไซคัม ยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีระหว่างประเทศ หรือยุทธศาสตร์ไซคัม (Strategic Approach to International Organization on Chemicals Management หรือ SAICM) มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ส่งเสริมให้เกิดการจัดการสารเคมีอย่างเหมาะสมตลอดวงจรชีวิตของสารเคมีนั้น ๆ ภายในปี พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ. 2020 การผลิตและการใช้สารเคมีจะต้องให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่จะปกป้องสังคมโลกให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย   ความเคลื่อนไหวที่สำคัญภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ไซคัมที่กำลังจะเกิดขึ้น ได้แก่ การพัฒนาข้อตกลงสากลว่าด้วยเรื่องสารปรอท (Mercury Treaty) นั่นเอง   หลักการพื้นฐาน 5 ข้อของยุทธศาสตร์ไซคัม 1) ลดความเสี่ยงจากสารเคมีอันตราย 2) ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและการส่งเสริมองค์ความรู้ต่างๆ 3) สร้างธรรมาภิบาล 4) เสริมสร้างศักยภาพและความร่วมมือทางเทคโนโลยี และ 5) ห้ามการขนส่งของเสียอันตรายข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >