ฉบับที่ 263 ฟ้องปิดปาก เครื่องมือหยุดผู้บริโภคไม่ให้ส่งเสียง! ตอนที่ 1

“ที่ใดก็ตาม ไม่มีเสรีภาพของการแสดงออกที่แท้จริง ที่นั่นไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง” นี่คือปรัชญาที่สหภาพยุโรปใช้เป็นแนวทางการยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท มองมาที่ไทย ประเทศที่เสรีภาพการแสดงออกได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2475 แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อประชาชนใช้สิทธิ เสรีภาพ  เพื่อส่งเสียงเรียกร้องสิทธิของตนเอง  อาจกระทบต่อคนหลายฝ่าย อาจเกี่ยวพันไปถึงสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของผู้ประกอบการ  นักการเมือง ข้าราชการ ที่ในอีกด้านหนึ่งพวกเขาก็ย่อมมีสิทธิในการปกป้องรักษาชื่อเสียงเกียรติยศของตนเองด้วยเช่นกัน         ‘การฟ้องปิดปาก’ หรือ SLAPPs (strategic lawsuits against public participation) หรือเรียกว่า  “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” จึงถูกผู้ประกอบการ นักการเมือง ข้าราชการนำมาใช้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง         คดีจากการ‘การฟ้องปิดปาก’  นี้จึงแตกต่างจากคดีทั่วไปตรงที่ผู้ฟ้องไม่ได้มุ่งหมายที่จะชนะคดี แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อขู่อีกฝ่ายให้กลัวหรือทำให้เกิดภาระมากมายจนหยุดการกระทำหรือแกล้งขัดขวางยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่ายเท่านั้น เช่น ปัจจุบัน ผู้บริโภคหลายรายเพียงรีวิว การใช้สินค้าที่ซื้อมาใช้ด้วยความสุจริตลงในสื่อออนไลน์ กลับถูกประกอบการขู่ฟ้อง ดำเนินคดี ก็เพื่อให้หยุดแสดงความคิดเห็นหรือลบข้อความที่ได้เขียนลงไป         ในเวทีเสวนาเรื่อง “เสวนาปัญหาการถูกฟ้องคดีปิดปาก: ถอดบทเรียนจากการใช้สิทธิของผู้บริโภค” วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า ในต่างประเทศการฟ้องปิดปากเป็นคดีแพ่งเท่านั้น เช่น สหรัฐอเมริกา แต่สำหรับประเทศไทยประชาชนที่ออกมาพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะกลับถูกดำเนินคดีทั้งกระบวนการทางแพ่งและอาญา สุดท้ายทำให้ประชาชนที่ใช้สิทธิ ถอดใจ เรากล่าวขอโทษ ถอดบทความต่างๆ ความจริงก็จะไม่ปรากฏ และประโยชน์สาธารณะก็จะเสียไป        “ผมคิดว่า การฟ้องปิดปากมีสมการที่อธิบายได้แบบนี้ เสรีภาพ การแสดงออกซึ่งความคิดของประชาชน กับเรื่องสิทธิของผู้ประกอบการในการมีสิทธิทางธุรกิจ เกียรติยศ  ผมว่าเสมอกัน เสรีภาพของประชาชน เสมอกับเกียรติยศของคนที่เราพูดถึง   ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว  เราไปกล่าวหาคนอื่น เรื่องส่วนตัว เรามีความรับผิด ตรงกันข้าม ถ้าเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิด บวกประโยชน์สาธารณะเข้ามา มันควรจะมากกว่า ชื่อเสียง เกียรติยศของภาคธุรกิจหรือไม่  เราเป็นผู้บริโภคแสดงออกว่า สินค้านี้ไม่ดี เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เขาไม่ได้ทำเพื่อส่วนตัว เขาทำให้บ้านเมืองนี้ดีขึ้น เพื่อธุรกิจจะมีความรับผิดชอบ นำของที่ดีมาขาย ไม่ใช่เอาของไม่ดีมาขายแล้วตัดภาระให้ประชาชน เมื่อมีประโยชน์สาธารณะสุดท้ายจะปรับให้เกิดภาพรวมที่ดีของสังคมที่ได้ ได้ใช้สินค้าและบริการที่ดี ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองมากขึ้นเพราะทุกคนในประเทศไทยต่างเป็นผู้บริโภค เพราะเราต้องซื้อของ และใช้บริการ”          รายงานวิจัยของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พบว่า ตั้งแต่ปี 2540 มีคดีปิดปากอย่างน้อย 212 คดีที่นำเข้าสู่กระบวนการศาล  หนึ่งในสี่ของคดีปิดปากเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ประชาชนถูกฟ้องร้องจากความพยายามที่จะร้องเรียนเรื่องสภาพการทำงานที่ผิดกฎหมาย เรื่องการใช้ความรุนแรงของตำรวจ หรือ เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  โดยร้อยละ 95 ของคดีฟ้องปิดปากในประเทศไทย เป็นคดีอาญา และผู้ที่เป็นจำเลยส่วนใหญ่ คือ ประชาชนทั่วไป นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอาสาสมัคร ร้อยละ 39  ผู้แทนชุมชนและแรงงาน ร้อยละ 23% นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ร้อยละ16%และ นักข่าวร้อยละ9%  และกิจกรรมหลักที่เป็นสาเหตุสำคัญของการฟ้องร้องคือการแสดงความเห็นออนไลน์ ซึ่งคดีหมิ่นประมาทเป็นข้อกล่าวหาทางอาญา มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 2 ปี และ ปรับ 200,000 บาท หากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง         รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่าเขามองว่า ความหวัง และทางออกของเรื่องนี้คือ กฎหมายมาตรา 329 ที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายควรได้นำไปปรับใช้ให้มากขึ้น“มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต(1)   เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม(2)   ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่(3)   ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ(4)   ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล หรือในการประชุมผู้นั้น ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”         “ผมว่าตรงนี้คือกุญแจสำคัญในการที่ผู้บริโภค พิทักษ์สิทธิ์ ไปแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่เป็นความผิด แม้เป็นการใส่ความเขาเหตุผลเพราะ เรากำลังทำเพื่อความเป็นประธรรม ประโยชน์ส่วนร่วม ตามมาตรา 329”         อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติยังเป็นไปได้น้อย ศาลยังขาดข้อมูลว่าผู้ฟ้องมีเจตนาใช้กระบวนการยุติธรรมด้วยความไม่บริสุทธิ์ ทำให้มีคดีเข้าสู่ศาลแม้การฟ้องปิดปากจะเป็นคดีที่ไม่มีมูลเหตุ ถูกออกแบบมาให้มีความซับซ้อน กินระยะเวลายาวนาน และเสียค่าใช้จ่ายราคาแพงสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้าจำเลยไม่มีฐานะทางการเงินเพียงพอที่จะสู้คดี ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็ไม่มีทางเลือกและจำต้องยอมรับข้อเรียกร้องของโจทก์ ซึ่งมักจะมาในรูปของ การชดใช้ค่าเสียหาย การขอโทษ หรือ การลบข้อความที่ถือว่าละเมิด         การดำเนินคดีในกลุ่มผู้ใช้สิทธิผู้บริโภคก็มีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอข่าว และ บทความ ในเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า “ฉลาดซื้อเผยผลสุ่มตรวจ ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ร้อยละ 67 ไม่ผ่านมาตรฐานประกาศ สธ. …” โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ยี่ห้อ เคียวร์ซิส (CUREAYS) ผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยผลการทดสอบ ได้ผล ร้อยละ 69 และ ร้อยละ 64 ตามลำดับ พร้อมระบุข้อสังเกตจากการทดสอบ เรื่องคุณภาพการผลิต พบว่า ยังไม่มีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน … บริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด รับผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการหลายบริษัท แต่จากผลการทดสอบบางยี่ห้อผ่านเกณฑ์ บางยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏว่า บริษัทผู้ผลิต กลับยื่นฟ้อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยข้อหา “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” ทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำงานโดยสุจริต เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่กลับถูกข้อกฎหมายฟ้องปิดปาก มาปิดกั้นการทำงานเพื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ และยังมีอีกหลายกรณีของการทดสอบ หรือ เผยแพร่ข้อมูลโดยสุจริตเพื่อ เตือนภัย แต่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับถูกแทรกแซงจากผู้ประกอบการด้วยวิธีการต่างๆ และจากหลายกรณีที่ผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียน เช่น คดีกระทะโคเรียคิง ครีมเพิร์ลลี่ หรือ คดีสามล้อ ฯลฯ กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปากโดย ปปช.         คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ปัจจุบันมียุทธศาสตร์ ให้ประชาชน ‘ไม่ทำ’ และ ‘ไม่ทน’ ต่อการทุจริต  แต่เมื่อประชาชนที่มาชี้ช่อง เบาะแสกลับถูกดำเนินคดีฟ้องกลับ มากมาย ปปช.ในปี พ.ศ. 2564 จึงเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. ....” หรือ ปัจจุบันมีชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ...” ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งสุดท้าย         นายนิรุท  สุขพ่อค้า  ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า “ปปช. เรามีแนวคิดปกป้องคุ้มครองประชาชนมานานแล้วเราจึงมีกฎหมายในการคุ้มครองพยาน แต่ยังเป็นเรื่องของการคุ้มครองอันตรายทางกายภาพ เนื้อตัว ร่างกาย ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น  ผู้ถูกกล่าวหาเขามีความรู้ก็จะใช้กฎหมายดำเนินคดีกับผู้แจ้งเบาะแส หรือ ภาคประชาชนซึ่งเรื่องการชี้ช่องเบาะแส  บางอย่าง เป็นเรื่องของการก้ำกึ่งระหว่างเรื่องของการหมิ่นประมาทซึ่งเป็นคดีอาญา การที่เขาจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการฟ้องร้อง หรือ ดำเนินคดีปิดปาก มันเป็นการดำเนินการที่ไม่ต้องใช้ทุนอะไร แค่เดินไปยังพนักงานสอบสวน และร้องทุกข์ กล่าวโทษก็ถือว่าเป็นคดีได้แล้ว”         “เรื่องการทุจริตต่อหน้าที่ ปปช. มีหน้าที่รวบรวม พยานหลักฐาน  แต่คนที่จะมีส่วนรู้เห็น ก็มีบทบาทสำคัญที่จะมาช่วย  ปปช. ได้คือภาคประชาชน การฟ้องปิดปากจึงทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเดือดร้อน  ไม่ว่าจะภาคประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง ที่ถูกเจ้าหน้าที่เอาเปรียบ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับความเดือดร้อน เสียหายในเขตพื้นที่อันเกิดจากการทุจริต ในการจัดซื้อจัดจ้าง ถนนชำรุดทรุดโทรมง่าย ภาคประชาชนที่ทำหน้าที่ NGO ทำหน้าที่เป็นสื่อ ทำหน้าที่สอดส่อง ดูแล  การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง เป็นกลุ่มที่หลากหลาย ทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ”          “กฎหมายฉบับนี้จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชรตามคดี 3 ลักษณะกว้างๆ คือ เมื่อคนที่ชี้ช่องถูกดำเนินคดีอาญา ปปช. จะเข้าไปทำงานร่วมกับพนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความร้องทุกข์ฐานหมิ่นประมาท ทางในแพ่ง ปปช. จะตั้งทนายเข้าไปช่วยประชาชน และหากเป็นคดีทางปกครอง ถูกผู้บัญชาดำเนินการทางวินัย ปปช.มีอำนาจที่จะสั่งให้หยุดการดำเนินการทางวินัยได้เลย นี่ค่อนข้างจะเด็ดขาดมาก ทั้ง 3 ลักษณะคดีนี้  ปปช. มีอำนาจที่จะให้ข้อมูล เพื่อให้พนักงานสอบสวน/ อัยการ มีดุลยพินิจ สั่งไม่ฟ้อง และ ปปช.ดำเนินการด้วยงบประมาณของตนเองเพราะมีกองทุนอยู่แล้วจึงมีความพร้อมในการปฏิบัติ เราคาดหวังเต็มร้อยเพราะเรื่องการปราบปรามทุจริตได้ เราทำเองไม่ได้ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือให้ข้อมูล เบาะแส หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความสำคัญเป็นลำดับต้นกฎหมายฉบับนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับภาคประชาชนด้วยทุกฝ่าย ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสังคมโลกดีขึ้น ”นายนิรุทกล่าวยืนยัน        ฉบับหน้าติดตามตัวอย่างผู้บริโภคที่ได้รับผลจากการฟ้องคดี “ปิดปาก” และผลของคดีที่น่าสนใจ

อ่านเพิ่มเติม >