ฉบับที่ 178 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2558“ฉลาดซื้อ” เป็นเจ้าภาพการประชุมองค์กรทดสอบระหว่างประเทศมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและนิตยสารฉลาดซื้อได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมร่วมกันในเรื่องของการทดสอบสินค้าและบริการต่างๆ ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2558 โดยในการประชุมครั้งนี้มีองค์กรผู้บริโภคจาก 7 ประเทศเข้าร่วมประชุม ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลี ฮ่องกง จีน  ไทย และองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT, International Consumer Research Testing) จากประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคมที่ผ่านมา     โดยในการประชุมครั้งนี้แต่ละองค์กรได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการทดสอบสินค้าและบริการต่างๆ ของแต่ละประเทศ ว่าในรอบปีที่ผ่านมาแต่ละประเทศประสบความสำเร็จ รวมทั้งต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้างในเรื่องการทดสอบ และผลทดสอบที่ได้มีการนำไปเผยแพร่และให้กับผู้บริโภคได้ใช้ประโยชน์อย่างไรกันบ้าง ซึ่งสำหรับประเทศไทยเราผลทดสอบทั้งหมดก็ได้ถูกนำเสนออยู่ในนิตสารฉลาดซื้อของเรานั่นเอง โดยในที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าในปีหน้าที่กำลังจะมาถึงนี้ จะเน้นเรื่องการยกระดับความปลอดภัยของรถยนต์ที่จำหน่ายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้เป็นมาตรฐานทัดเทียมกับประเทศในยุโรป     แฟนๆ ฉลาดซื้อก็สามารถติดตามผลการทดสอบสินค้าและบริการต่างๆ ทั้งในประเทศที่ฉลาดซื้อร่วมทดสอบกับทีมเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค และผลทดสอบในระดับสากลโดย ICRT ได้ที่นิตยสารฉลาดซื้อเช่นเดิม   ผิดสัญญา!!? ใกล้ครบ 1 ปี BTS ต้องมีลิฟท์ให้ผู้พิการ แต่ยังไร้ความคืบหน้าหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสต้องดำเนินการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการอย่าง ลิฟท์โดยสาร ให้ครอบคลุมทุกสถานีภายใน 1 ปี ซึ่งคำสั่งศาลมีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 58 ซึ่งอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันครบกำหนด แต่เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 58 ที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) ร่วมกับตัวแทนคนพิการจากหน่วยงานต่างๆ นำโดย คุณมานิตย์ อินทร์พิมพ์ ประธานคณะติดตามระบบรางภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ ลงสำรวจความคืบหน้าการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณรอบสถานีบีทีเอสพร้อมพงษ์ พบว่ายังไม่มีความคืบหน้าในการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการเท่าที่ควร ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจของเครือข่ายฯ พบว่ายังมีอีก 13 สถานีที่กำลังดำเนินการก่อสร้างลิฟท์ ได้แก่ สถานีทองหล่อ นานา พญาไท พร้อมพงษ์ พระโขนง ราชเทวี สนามกีฬา สนามเป้า สะพานควาย สุรศักด์ อนุเสาวรีชัยฯ อารีย์ และเอกมัย รวมทั้งยังมีอีก 8 สถานีที่ยังไม่เอื้อต่อคนพิการ ได้แก่ สถานีช่องนนทรี ชิดลม บางหว้า เพลินจิต ราชดำริ ศาลาแดง สะพานตากสิน และอ่อนนุช ซึ่งดูแล้วมีแนวโน้มว่าอาจจะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการได้ไม่เสร็จตรงตามเวลาที่กำหนด ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้อย่าง กองขนส่ง สํานักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงอุปสรรคที่ทำให้การดำเนินงานล่าช้าว่าเกิดจากระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน ระบบสื่อสารต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง ต้องมีการประสานจัดการก่อนซึ่งต้องใช้เวลานาน อย่าหลงเชื่อเครื่องตรวจสุขภาพ “ควอนตั้ม”อย.เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาเครื่องตรวจสุขภาพ “ควอนตั้ม” หรือ Quantum Resonance Magnetic Analyzer (QRMA) ที่อวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถตรวจวินิจฉัยโรคและตรวจร่างกายเบื้องต้นได้กว่า 40 รายการ โดยมีการอ้างว่าเครื่องนี้สามารถวิเคราะห์ไฟฟ้าที่ไหลเวียนในร่างกาย แล้วนำมาเทียบเคียงกับค่าเฉลี่ยของคนปกติที่สามารถบ่งชี้ความผิดปกติของร่างกายได้อย่างแม่นยำ อย. ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้วพบว่าเครื่องตรวจสุขภาพดังกล่าวไม่เคยมีการขออนุญาตนำเข้าหรือจำหน่าย นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่าผลิตภัณฑ์ในลักษณะดังกล่าวจะถูกนำเสนอพร้อมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางการค้าของผู้จำหน่ายในรูปแบบธุรกิจการขายตรงการตรวจสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและตรงตามความเป็นจริงที่สุดนั้น ควรดำเนินการตรวจวินิจฉัยโรคโดยแพทย์จากสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองแล้วเท่านั้น คัดค้าน พ.ร.บ.จีเอ็มโอเครือข่ายภาคประชาชน กลุ่มเกษตรกรรม นักวิชาการ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์ รวมตัวกันคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ “พ.ร.บ.จีเอ็มโอ” เนื่องจากไม่มั่นใจว่าการส่งเสริมให้มีการทำเกษตรจีเอ็มโอในประเทศไทย อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในธรรมชาติ ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ กระทบต่อการเกษตรอินทรีย์ และอาจเกิดการผู้ขาดเมล็ดพันธุ์โดยบรรษัทข้ามชาติเพียงไม่กี่เจ้า สร้างความเสียหายต่อเกษตรกรพื้นบ้านในประเทศ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการส่งร่างกฎหมายจีเอ็มโอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าว โดยให้มีตัวแทนจากกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากจีเอ็มโอ ตัวแทนจากเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์ องค์การคุ้มครองผู้บริโภค นักวิชาการด้านกฎหมายที่ติดตามเรื่องนี้ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการปรับปรุงร่างกฎหมายด้วย โดยการพิจารณากฎหมายต้องคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ และความเสียหายที่อาจจะเกิดกับพันธุ์พืชในประเทศ โดยจากนี้จะต้องมีการออกกฏหมายให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของจีเอ็มโอต้องแสดงฉลากให้ผู้บริโภคทราบเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค โดยล่าสุดรัฐบาลได้สั่งให้ยกเลิกการพิจารณา พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพแล้ว เจ็บป่วยฉุกเฉินยังมีปัญหาสิทธิเรื่องการรักษาพยาบาลยังคงเป็นปัญหาใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศไทยที่ต้องมีการปฏิรูปอย่างรวดเร็ว เพื่อคนไทยทุกคนจะได้มีสิทธิได้รับการรักษพยาบาลที่เท่าเทียมทั่วถึงและมาตรฐานเดียวกันทุกคน     ล่าสุดในงานเสวนาเรื่อง “สภาผู้บริโภคประเด็นบริการสุขภาพและสรุปบทเรียนการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ กรณีเข้ารับการบริการฉุกเฉิน” ที่จัดขึ้นโดยคณะอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านบริการสุขภาพ โดยในเวทีได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้สิทธิในเรื่องการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะกับกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ยังพบปัญหาการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ การถูกเรียกเก็บเงินก่อนการรักษา และการคิดค่ารักษาพยาบาลในราคาแพง ในเวทีได้มีการเสนอผลวิจัยเรื่องค่าใช้จ่ายกรณีรับบริการสุขภาพ โดยรวบรวมเรื่องร้องเรียนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน (หน่วยรับเรื่องร้องเรียน 50(5))ในช่วงปี 2558 ศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติ จากการถูกเรียกเก็บค่ารักษาจากโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามสิทธิ ในกรณีที่ใช้บริการฉุกเฉินตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน จากผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินกรณีเข้ารับการรักษากับสถานพยาบาลเอกชนหรือสถาพยาบาลนอกสิทธิ สามารถเบิกเงินคืนได้ในจำนวนเงินที่น้อยมาก ยกตัวอย่างโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเรียกเก็บค่ารักษาจากผู้ป่วย 3 แสนบาท แต่สามารถเบิกคืนได้เพียง 10,500 บาท ไม่ถึง 5% ของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด โดยในใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลไม่มีการแจกแจงรายละเอียดเรื่องค่าบริการต่างๆ นอกจากนี้ยังพบผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น ด้านคุณภาพมาตรฐานการรักษา บางรายต้องกลับมารักษาซ้ำในโรคเดิมหรือเสียชีวิต ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับการคุ้มครอง ช่วยเหลือ เยียวยา อย่างที่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า เจ็บป่วยฉุกเฉิน บางครั้งผู้ป่วยไม่มีโอกาสที่จะเลือกใช้เฉพาะสถานพยาบาลตามสิทธิหรือสถานพยาบาลของรัฐ จำเป็นต้องเลือกใช้บริการสถานพยาบาลที่พร้อมและอยู่ใกล้ที่สุด ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อาจเป็นสถานพยาบาลของเอกชน ดังนั้งหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องนี้ต้องมีมาตรการที่ทำให้สถานพยาบาลเอกชนให้การรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินที่ใช้สิทธิอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม คำนึงถึงการรักษาพยาบาลก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นค่อยดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 2558 ศาลสั่ง “BTS” ทำลิฟท์ทุกสถานีให้ผู้พิการ ศาลปกครองสูงสุดมีมติ ให้กลุ่มผู้พิการ โดยมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เป็นฝ่ายชนะคดีที่ฟ้องร้องต่อ กทม. และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กรณีร่วมกันก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) โดยไม่มีการก่อสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ หลังจากที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิมายาวนาน ตั้งแต่เริ่มมีการสร้างรถไฟฟ้าก่อนเปิดให้ใช้งาน นับเวลารวมแล้วเกือบ 20 ปี โดยมติของศาลมีว่า กทม. และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ต้องจัดทำลิฟต์ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้ง 23 สถานี (ปัจจุบันมีเพียง 5 สถานี ได้แก่ สยาม หมอชิต ช่องนนทรีย์ สนามกีฬาแห่งชาติ และอ่อนนุช โดยแต่ละสถานีมีลิฟต์เพียง 1 ตัวเท่านั้น) และให้จัดทำอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก ทั้ง 23 สถานี รวมทั้งจัดทำอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้า โดยให้จัดที่ว่างสำหรับเก้าอี้เข็นคนพิการ ให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า 120 ซม. และให้ราวจับสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 ซม. บริเวณทางขึ้นลงและติดสัญลักษณ์คนพิการไว้ทั้งในและนอกตัวรถที่จัดให้สำหรับคนพิการ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2542) ออกตามความใน พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 และตามระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ.2544 ทั้งนี้ให้ดำเนินการตามคำสั่งศาลให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังจากมีคำพิพากษา   ไม่อยาก “ซิมดับ” รีบไปลงทะเบียน ใครที่เป็นผู้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน แล้วยังไม่เคยลงทะเบียนซิม ต้องอ่านข่าวนี้ให้ดี เพราะ กทสช. ออกประกาศชัดเจนแล้ว หากใครยังไม่ยอมนำซิมไปลงทะเบียนก่อนวันที่ 31 ก.ค. 2558 ซิมจะถูกระงับการใช้งานโทรเข้า-โทรออกไม่ได้ เรื่องการบังคับให้ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน หรือ prepaid ต้องลงทะเบียนซิมนั้น เป็นไปตามประกาศตั้งแต่สมัย กทช. เพื่อผลในเรื่องของความปลอดภัย ทำให้ทราบถึงข้อมูลของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละหมายเลข รวมทั้งเป็นผลดีในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ช่วยในความสะดวกเวลาใช้สิทธิหรือร้องเรียนปัญหาต่างๆ อย่างเช่น การย้ายค่ายเบอร์เดิม ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินที่ยังไม่เคยลงทะเบียนซิม สามารถลงได้โดยนำซิมการ์ดที่ต้องการลงทะเบียนและบัตรประชาชนนำไปติดต่อขอลงทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เครือข่ายที่เราใช้บริการอยู่   “ไอโอดีน” ในวิตามินรวมสำหรับคนท้องตกมาตรฐานเพียบ มี “ทั้งขาด – ทั้งเกิน” กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยผลตรวจวิตามินรวมผสมเกลือแร่สำหรับหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 13 ตัวอย่าง ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ พบผิดมาตรฐาน 9 ตัวอย่าง (ร้อยละ 69) โดยพบว่าแต่ละตัวอย่างมีปริมาณไอโอดีนในแต่ละเม็ดแตกต่างอย่างมาก บางเม็ดยาตรวจไม่พบไอโอดีนเลย ขณะที่บางเม็ดพบปริมาณไอโอดีนสูง 40 เท่าของปริมาณที่แจ้งไว้ ไอโอดีนถือว่า 1 ในสารอาหารสำคัญสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพราะช่วงตั้งครรภ์หากมารดาขาดสารไอโอดีนจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทของเด็กทารกได้ จึงกลายเป็นช่องทางให้มีผู้ผลิตอาหารเสริมผสมไอโอดีนออกมาขาย แต่จากผลทดสอบที่ได้จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายอยู่ส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพของผู้ที่กินได้ ซึ่งหลังจากนี้ทาง อย.จะต้องมีการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ยาและอาหารเสริมที่มีสารไอโอดีนเป็นองค์ประกอบ และต้องมีการกำหนดข้อบ่งใช้กับสตรีมีครรภ์เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้   “สปาหอยทาก” เจอ “อีโคไล” วิวัฒนาการเรื่องความสวยความงามมีมาได้ไม่สิ้นสุดจริงๆ ที่มาสร้างความฮือฮาแบบสุดๆ ก็คือ “สปาหอยทาก” ที่จับเอาหอยทากมาไต่บนใบหน้า เพราะเชื่อว่าที่ตัวหอยทากมีสารช่วยบำรุงผิวหน้าเป็นสูตรลับจากฝรั่งเศส แต่งานนี้ดูไม่ชอบมาพากล เพราะหลายคนตั้งคำถามถึงเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย ร้อนถึงกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ต้องรุดเข้าไปตรวจสอบ สปาหอยทากนี้ตั้งอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ มีเจ้าของเป็นชาวฝรั่งเศส โดยนอกจากจะเปิดให้บริการในลักษณะเป็นร้านเสริมสวยที่ใช้หอยทากมาไต่ที่ผิวหน้าแล้วนั้น ยังมีฟาร์มหอยทากจำนวนกว่า 3 หมื่นตัว โดยเจ้าของระบุว่า เดิมนำเข้าแม่พันธุ์มาจากฝรั่งเศสประมาณ 100 ตัว แล้วค่อยมาขยายพันธุ์ที่เมืองไทย ซึ่งหลังจากการตรวจสอบโดยกรมประมง พบว่ามีเชื้ออีโคไลปนเปื้อนในตัวอย่างหอยทากที่นำไปตรวจ นอกจากนี้ยังอาจมีความผิดฐานนำเข้าสัตว์โดยผิดกฎหมาย ส่วนเรื่องของของเปิดบริการสถานเสริมความงาม พบเรื่องการใช้เครื่องมือแพทย์โดยผู้ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ได้รับใบอนุญาต และสถานบริการดังกล่าวยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สบส. แค่จดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น ใครที่จะไปใช้บริการก็ขอให้ระวังเรื่องของเชื้ออีโคไลให้ดี เพราะเป็นเชื้อที่ผลต่อระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้ท้องร่วงรุนแรงได้   จับตากฎหมาย “จีเอ็มโอ” หวั่นเอื้อประโยชน์บรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน นักวิชาการ กลุ่มธุรกิจอาหาร และกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ร่วมกันจัดเวทีเสวนา จับตาการผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ....” หวั่นเอื้อประโยชน์บรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ ซึ่งหลังจากที่คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) และผลิตภัณฑ์มาใช้ใน ประเทศไทย ได้มีมติร่วมกันว่า การทดลองเรื่องจีเอ็มโอนั้นให้กลับไปใช้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550 ที่มีเงื่อนไขควบคุมการทดลองจีเอ็มโอในภาคสนามที่เข้มงวด เช่น ต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องทดลองในสถานที่ของราชการเท่านั้น ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และนักวิชาการ และคณะรัฐมนตรีต้องเป็นผู้อนุมัติให้มีการทดลองเป็นรายกรณี ซึ่งจากข้อกำหนดนี้ จะส่งผลลบกับกลุ่มบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ ที่หวังจะนำเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเข้ามาขายในประเทศไทย ทำให้การพลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ....” นี้จึงเป็นเครื่องมือของเหล่าบรรษัทข้ามชาติ ที่ลดทอนความเข้มงวดในการควบคุมการใช้เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอในประเทศ ทั้งนี้เมล็ดดัดแปลงพันธุกรรมหรือ จีเอ็มโอนั้น ถูกทำให้เชื่อว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ให้ผลผลิตที่ดีกว่าเมล็ดพันธุ์ทางธรรมชาติปกติ แต่นั่นเป็นเพียงการสร้างมายาคติของบรรษัทผู้ถือสิทธิเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเท่านั้น การใช้เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเกษตรกรจะต้องซื้อจากบรรษัทเจ้าของสิทธิ ไม่สามารถเพาะได้เองเหมือนเมล็ดพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งในอนาคตจีเอ็มโออาจจะกลายเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ในการกีดกันทางการค้า เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอจะทำลายเมล็ดพันธุ์ทางธรรมชาติอื่นๆ ที่สำคัญคือเมืองไทยเราเป็นเมืองเกษตร มีความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูกพืชพรรณต่างๆ อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอจากต่างชาติ โดยหลังจากนี้จะมีการทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เอาไว้ก่อน โดยจะขอให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ และปรับปรุงเนื้อหาที่จะไม่เป็นการทำร้ายเกษตรกร ภาคธุรกิจ และผู้บริโภคในประเทศ  

อ่านเพิ่มเติม >