ฉบับที่ 137 แฟชั่นคอนแทคเลนส์ บิ๊กอายส์ : อันตรายและข้อควรระวังในการใช้

การสวมใส่คอนแทคเลนส์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะใส่เพื่อแก้ไขความผิดปกติของสายตา ใส่เพื่อรักษาโรคกระจกตาบางชนิด หรือเพื่อความสวยงาม หากใช้ไม่ถูกวิธี และไม่ดูแลรักษาความสะอาด อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้ใช้คอนแทคเลนส์จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดเลนส์อย่างเคร่งครัด ปัจจุบันนี้มีน้ำยาที่ใช้ทำความสะอาดเลนส์ และแช่เลนส์เพื่อฆ่าเชื้อโรคหลายชนิด วิธีการใช้อาจแตกต่างกันไปบ้าง สิ่งสำคัญคือ ควรดูวันหมดอายุของน้ำยาและควรใช้ให้หมดขวดภายในระยะเวลา 2 เดือน แม้ว่าน้ำยาที่ใช้ทำความสะอาดเลนส์เหล่านี้จะมีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อโรคส่วนใหญ่ได้แต่ก็ยังมีเชื้อโรคบางชนิดที่ไม่สามารถกำจัดได้ จึงควรศึกษารายละเอียดก่อนใช้ มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนจากการใส่คอนแทคเลนส์ได้ เช่น 1. การเกิดตุ่มอักเสบบนหนังตาด้านใน พบมากในผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม สาเหตุเกิดจากการระคายเคืองเนื่องมาจากเลนส์ถูกดึงขึ้นข้างบน ส่วนอาการอื่นที่เกิดต่อเนื่องมา คือ ภาวะหนังตาตก ตาแดง ระคายเคือง มองภาพไม่ชัด มีน้ำตาไหล และสายตาไม่สู้แสง   2. เกิดการอักเสบของกระจกตาและเยื่อตาขาวในส่วนที่สัมผัสกับคอนแทคเลนส์ อาการนี้ หากเกิดจากการแพ้หรือจากพิษข้างเคียงของวัตถุกันเสียหรือสารเคมีที่ใช้ฆ่าเชื้อ เยื่อตาขาวส่วนล่างจะแสดงอาการอักเสบ เนื่องจากน้ำยาที่ใช้ทำความสะอาดเลนส์จะไหลลงมาด้านล่าง เป็นอาการแพ้ที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ซึ่งอาจใช้เวลา 2-3 ปี นอกจากนี้ การเกิดสิ่งสะสมบนเลนส์หรืออาการตาแห้งจะทำให้อาการอักเสบเกิดมากขึ้น 3. อาการตาแห้ง พบในผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์มานาน 2-3 ปี การใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น การใช้ยาขับปัสสาวะหรือยารักษาโรคหัวใจบางประเภท เส้นประสาทตาอักเสบ ตาโปนผิดปกติ ผิวของลูกตาผิดปกติ เนื่องจากมีจุดเหลืองๆ บนกระจกตา หรือต้อลม หรือต้อเนื้อ และผิวคอนแทคเลนส์ไม่เรียบ 4. การอักเสบที่เยื่อบุผิวของกระจกตา ลักษณะเป็นจุดเล็กๆ ที่เยื่อบุผิวของกระจกตา เนื่องจากเกิดบาดแผลหรือการช้ำที่เยื่อตา ตาแห้ง มีอาการแพ้ หรือขาดออกซิเจน ซึ่งแผลจุดเล็กๆ อาจมารวมกันเข้าเป็นบริเวณใหญ่และเกิดการติดเชื้อซึ่งเป็นอันตรายได้ จึงจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยหยุดการใช้คอนแทคเลนส์จนกว่าแผลจะหายเสียก่อน 5. การติดเชื้อที่กระจกตา เป็นอาการของโรคที่เกิดจากการใช้คอนแทคเลนส์ที่เป็นอันตรายที่สุด อาจส่งผลให้ตาบอดถาวรได้ พบในผู้ที่ใช้เลนส์ชนิดที่ใส่ติดต่อกันได้นานๆ หรือจากการเกิดรอยถลอกเนื่องจากการเคลื่อนไหวของเลนส์ที่ใส่อยู่เป็นประจำจนทำให้เกิดแผลขึ้น โดยเฉพาะในกรณีผู้ป่วยโรคเบาหวานก็จะเกิดแผลที่กระจกตาได้ง่ายกว่าปกติ จากการวิจัยทางการแพทย์พบว่า 67% ของผู้ใช้คอนแทคเลนส์ที่มีอาการติดเชื้อที่กระจกตา มีประวัติการใส่เลนส์ขณะนอนหลับในตอนกลางคืน และ 33% เกิดจากขั้นตอนในการดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ไม่ได้มาตรฐาน ชนิดของคอนแทคเลนส์ที่พบว่ามีการใช้มากที่สุดเป็นคอนแทคเลนส์แบบนิ่ม   คำเตือน ข้อควรระวัง และข้อห้ามใช้สำหรับคอนแทคเลนส์ คำเตือน การใช้คอนแทคเลนส์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ที่ผิดวิธี มีความเสี่ยงต่อการอักเสบหรือการติดเชื้อของดวงตา อาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียสายตาอย่างถาวรได้ ข้อควรระวังในการใช้ l. การเริ่มต้นใช้คอนแทคเลนส์ ควรได้รับจากใบสั่งแพทย์เท่านั้น ไม่ควรไปซื้อเอง เพราะการใช้คอนแทคเลนส์ที่ไม่พอดีกับดวงตา อาจทำให้กระจกตาเป็นแผล ติดเชื้อหรือตาบอดได้ ผู้สวมใส่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และคู่มือ หรือฉลากอย่างเคร่งครัด 2. ผู้ที่มีสภาวะของดวงตาผิดปกติ เช่น ต้อเนื้อ ต้อลม ตาแดง กระจกตาไวต่อความรู้สึกลดลง ตาแห้ง กระพริบตาไม่เต็มที่ ไม่ควรใช้คอนแทคเลนส์ 3.  ควรใช้น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ที่ใหม่ และเปลี่ยนน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกครั้งที่แช่คอนแทคเลนส์ และแม้ไม่ได้ใส่คอนแทคเลนส์ ควรเปลี่ยนน้ำยาใหม่ในตลับทุกวัน 4.   ควรเปลี่ยนตลับใส่คอนแทคเลนส์ทุกสามเดือน 5. ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ขณะว่ายน้ำ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ตาได้และไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ทุกชนิดเวลานอน ถึงแม้จะเป็นชนิดใส่นอนได้ก็ตาม 6. ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสเลนส์ 7. หากเกิดอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหรือปวดตาเป็นอย่างมาก ร่วมกับอาการแพ้แสง ตามัวลง น้ำตาไหลมาก ตาแดง ให้หยุดใช้คอนแทคเลนส์ทันที และรีบพบจักษุแพทย์โดยเร็ว 8. ผู้สวมใส่คอนแทคเลนส์ต้องมีเวลาให้ดวงตาได้พักหรือปลอดจากการใส่เลนส์ ถ้าเป็นผู้มีความผิดปกติของสายตา ควรมีแว่นสายตาไว้ใช้ในระยะเวลาพักของดวงตา ข้อห้ามใช้ 1. ห้ามใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับบุคคลอื่น 2. ห้ามสวมใส่คอนแทคเลนส์เกินระยะเวลาใช้งานที่กำหนด 3. ห้ามใช้คอนแทคเลนส์ถ้าภาชนะบรรจุอยู่ในสภาพชำรุดหรือถูกเปิดก่อนใช้งาน   อย่างไรก็ตาม คอนแทคเลนส์ถึงแม้ว่าเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางสายตาแต่ไม่อยากสวมแว่น ปัจจุบันมีการดัดแปลงเพื่อใช้เพิ่มความสวยงามของดวงตาโดยการเปลี่ยนสีหรือรูปแบบของดวงตา แต่ไม่ว่าจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม เนื่องจากเลนส์ที่ใช้ต้องสัมผัสผิวของดวงตาที่บอบบาง การติดเชื้อหรือฉีกขาดอาจเกิดได้ง่าย ดังนั้น ถ้าผู้ใช้คอนแทคเลนส์ปฏิบัติตามคำเตือน ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ดังกล่าวข้างต้นก็จะมีความปลอดภัยและสามารถลดความเสี่ยงจากการใช้คอนแทคเลนส์ได้   เอกสารอ้างอิง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับคอนแทคเลนส์หรือเลนส์สัมผัส. กรกฎาคม 2552. Preechawat P, Ratananikorn U, Lerdvitayasakul R, Kunavisarut S. Contact Lenses -Related Microbial Keratitis. Journal of the Medical Association of Thailand. 2007; 90(4): 737-43.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 แฟชั่นคอนแทคเลนส์ บิ๊กอายส์: ข้อควรรู้ก่อนเลือกซื้อ

เลนส์สัมผัสหรือคอนแทคเลนส์ (Contact Lens) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา และขจัดความรำคาญของการสวมใส่แว่นตาสำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตา ช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพให้แก่ผู้ที่มีสายตาผิดปกติให้มีความสวยงามเหมือนธรรมชาติ ทำให้การมองเห็นภาพได้ชัดเจนเสมือนตาปกติโดยไม่ต้องสวมใส่แว่นตา ปัจจุบันได้มีกระแสแฟชั่นใส่คอนแทคเลนส์เพื่อความสวยความงามที่แพร่หลายอยู่ในหมู่วัยรุ่นและวัยทำงาน ตัวอย่างเช่น   คอนแทคเลนส์ที่ใส่แล้วปรับสีดวงตาให้เป็นสีต่างๆ ได้ดังใจ ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำตาล เทา ฟ้า เขียว หรือคอนแทคเลนส์บิ๊กอาย ที่ใส่แล้วดวงตาจะกลมโตแบบดาราเกาหลีหรือญี่ปุ่น ซึ่งคอนแทคเลนส์ประเภทนี้เหมือนกับคอนแทคเลนส์ที่ใส่แล้วช่วยปรับสีดวงตา แต่บริเวณตรงกลางของคอนแทคเลนส์บิ๊กอายมีลักษณะเป็นเลนส์ใสและบริเวณขอบเลนส์มีสีดำหรือสีเข้มต่างๆ ที่จะทำให้มองเห็นว่าผู้ใส่มีตาดำขยายใหญ่และกลมโตกว่าปกติ   คอนแทคเลนส์ คืออะไร ? คอนแทคเลนส์ คือ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุน้ำหนักโมเลกุลสูงที่เรียกกันว่าโพลีเมอร์หรือวัสดุอื่น มีลักษณะเป็นแผ่น ใช้ครอบบนกระจกตา (Cornea) เพื่อแก้ไขความผิดปกติของสายตา เพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับตา เพื่อความสวยงาม หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น คอนแทคเลนส์ที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นคอนแทคเลนส์ที่ใช้เพื่อแก้ไขความผิดปกติของสายตา จึงจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 อย่างไรก็ตามปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เลนส์สัมผัส เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันการใช้คอนแทคเลนส์ในทางที่ผิดโดยจะมีการบังคับใช้กับเลนส์สัมผัสทั้งชนิดที่ใช้แก้ไขความผิดปกติของสายตาเพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวกับตา และชนิดที่ใส่เพื่อความสวยงามหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น โดยกำหนดให้เป็นเครื่องมือแพทย์ที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องได้รับใบอนุญาตและต้องมีคุณภาพมาตรฐานและข้อกำหนดตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเห็นชอบ   ชนิดของคอนแทคเลนส์ คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (Hard Contact Lens) เป็นเลนส์ที่ทำจากพลาสติกเนื้อแน่นแข็ง จึงทำให้อากาศและน้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ เลนส์ชนิดนี้จึงมีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถใช้ติดต่อกันได้นานๆ และการใส่เลนส์ชนิดนี้ในระยะแรก(ประมาณ 1-3 อาทิตย์) จะเคืองตามาก แต่เลนส์ชนิดนี้สามารถแก้ไขภาวะสายตาเอียงได้ดี และมีอายุการใช้งานทนทาน ไม่ค่อยมีอาการแพ้ หรือติดเชื้อ ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยม 2.  คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม (Soft Contact Lens) เป็นเลนส์ที่ทำด้วยวัสดุประเภทซิลิโคนไฮโดรเจล ซึ่งเป็นพลาสติกนิ่ม ยืดหยุ่น บิดงอได้ และยอมให้อากาศและน้ำซึมผ่านได้ เลนส์ชนิดนี้มีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำสูง จึงเป็นที่นิยมใช้อย่างมากในปัจจุบัน เพราะสามารถใส่ได้ง่าย ใส่ได้นาน และไม่ค่อยมีอาการเคืองตา แต่มีข้อเสียคือ มีอาการติดเชื้อและแพ้ได้บ่อยกว่า อายุการใช้งานสั้นกว่า และสามารถแก้ไขภาวะสายตาเอียงได้น้อย คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มมีหลากหลายชนิด ขึ้นกับรูปแบบการใช้งาน ปัจจุบันมีทั้งแบบรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี ชนิดที่ใช้แล้วทิ้ง (Disposable Contact Lens) เช่น คอนแทคเลนส์ชนิดใส่วันเดียวทิ้ง  และคอนแทคเลนส์ชนิดที่ใส่ต่อเนื่อง สามารถสวมใส่ได้ติดต่อกันตามระยะเวลาที่ระบุ 3.  คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งที่อากาศซึมผ่านได้ เป็นเลนส์ที่มีคุณสมบัติคล้ายเลนส์ชนิดแข็ง แต่ สามารถให้อากาศซึมผ่านตัวเลนส์ไปสู่กระจกตาได้ในปริมาณสูง จะทำให้เห็นภาพชัดเจน ละเอียดขึ้น มีราคาถูกกว่าเลนส์ชนิดนิ่ม เนื่องจากใช้ได้นานกว่าและจะมีความคงทนต่อการเกิดรอยขูดขีดและการเกาะติดของคราบมากกว่า สวมใส่สบายตากว่าชนิดแข็ง จึงเป็นการรวมข้อดีของเลนส์ชนิดแข็งและชนิดนิ่มมาไว้ด้วยกัน   ข้อแนะนำในการเลือกชนิดของคอนแทคเลนส์ คอนแทคเลนส์เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่มีสายตาผิดปกติ การเลือกใช้คอนแทคเลนส์คู่แรก ควรได้รับการตรวจตาจากจักษุแพทย์ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์เสียก่อน เพื่อตรวจสภาพตาว่าเหมาะสมจะใช้หรือไม่? มีโรคตาที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้หรือไม่? เปลือกตาปกติดีหรือไม่? การกระพริบตาทำได้อย่างปกติหรือไม่? น้ำตามีพอเพียงหรือไม่? กระจกตาปกติดีหรือไม่? ตลอดจนทำการตรวจวัดระดับสายตาของผู้ใช้ว่าสั้น ยาว หรือเอียงเท่าไหร่? นอกจากนี้จักษุแพทย์จะถามถึงภารกิจประจำวัน ลักษณะของงานที่ทำ และความตั้งใจของผู้ใช้ว่า จะใช้เป็นประจำหรือเป็นบางโอกาส เพื่อจะได้เลือกคอนแทคเลนส์ชนิดและขนาดที่เหมาะสม อาทิ เช่น ถ้าต้องการใช้คอนแทคเลนส์ในขณะออกกำลังกายที่ต้องมีการเคลื่อนไหวรุนแรง ได้แก่ กีฬาเทนนิส ว่ายน้ำ ผู้ใช้ควรใช้คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม ชนิดแข็งไม่เหมาะเพราะหลุดง่าย ทั้งนี้จักษุแพทย์หรือผู้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์จะแนะนำวิธีใช้ วิธีใส่และถอด ตลอดจนการดูแลรักษา รวมทั้งการทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ และนัดผู้ใช้เพื่อการตรวจเป็นระยะๆ จนกว่าจะแน่ใจว่าผู้ใช้ใช้คอนแทคเลนส์ได้อย่างปลอดภัย ----------------------------------------------------------------- ข้อมูลที่ผู้บริโภคควรสังเกตบนฉลากของบรรจุภัณฑ์ก่อนการตัดสินใจซื้อ เมื่อตัดสินใจจะใช้คอนแทคเลนส์ และได้รับความเห็นชอบจากจักษุแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญแล้ว ผู้บริโภคควรพิจารณาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ก่อนการตัดสินใจซื้อ ในหัวข้อดังนี้ ชื่อคอนแทคเลนส์ และวัสดุที่ใช้ทำเลนส์ คุณสมบัติของคอนแทคเลนส์ เช่น กำลังหักเห ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางรัศมีความโค้ง เป็นต้น ชื่อของสารละลายหรือน้ำยาที่ใช้แช่คอนแทคเลนส์ และชนิดของวัตถุกันเสียในน้ำยา ระยะเวลาการใช้งาน ยกเว้นคอนแทคเลนส์ชนิดแข็งที่ไม่กำหนดระยะเวลาการใช้งาน มีการระบุเดือน ปีที่หมดอายุ เลขที่ใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์ ชื่อ และสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า   เอกสารอ้างอิง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับคอนแทคเลนส์หรือเลนส์สัมผัส. กรกฎาคม 2552.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 การเลือกคอนแทคเลนส์และบิ๊กอาย

โดย กอง บก. อ.ไพบูลย์ ช่วงทอง ติดภารกิจสำคัญขอพัก 1 ฉบับ กองบรรณาธิการจึงขอนำเสนอเรื่อง บิ๊กอาย ที่มีผู้อ่านขอให้ทางฉลาดซื้อนำเสนอบ้าง บิ๊กอาย เป็นคอนแทคเลนส์ชนิดหนึ่ง ถูกผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการพิเศษคือ ทำให้ตาของผู้ใช้มีลักษณะของลูกตาดำที่ใหญ่ขึ้น(เลนส์ของบิ๊กอายมีการวาดรูปตาดำให้ใหญ่กว่าตาดำจริง และใช้วัสดุที่มีความมันวาวมาก) ดวงตาดูกลมโตน่ารัก สมชื่อ “บิ๊กอาย” ซึ่งเป็นกระแสแรงมาจากฟากเกาหลี ญี่ปุ่น ที่ดารา นักร้องไอดอลทั้งหลาย เขาฮิตกัน วัยรุ่นไทยจึงไม่พลาด ขอตามแฟชั่นด้วย อันที่จริงการใช้คอนแทคเลนส์ ซึ่งเป็นวัสดุทางการแพทย์นั้นได้รับความนิยมกันมานานแล้ว เพราะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องสายตา แทนการใช้แว่นสายตาได้ จึงเป็นทางเลือกสำหรับคนที่อาจไม่ได้รับความสะดวกหรือรู้สึกรำคาญจากการสวมแว่นตา เมื่อมีผู้นิยมใส่คอนแทคเลนส์ ซึ่งเดิมเป็นเพียงเลนส์ใสๆ กันมากขึ้น ก็มีการพัฒนาให้มีเรื่องของสีสันเข้ามาเพิ่มเรียกว่า คอนแทนเลนส์สี โดยปกติจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 14 มิลลิเมตรและ 14.5 มิลลิเมตร ต่อมาก็ทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เป็น 15 มิลลิเมตร 15.5 มิลลิเมตร(ใหญ่กว่านี้ก็มี)ซึ่งจัดว่าเป็น บิ๊กอาย ทั้งหมด คือไม่ได้เน้นช่วยเรื่องการมองเห็นแล้วแต่จะเป็นเรื่องของแฟชั่น   “คอนแทคเลนส์ประเภทบิ๊กอาย พบว่า ไม่มีการอนุญาตให้จำหน่าย ซึ่งที่ได้รับการอนุญาตจะเป็นคอนแทคเลนส์ประเภทคัลเลอร์โทนขนาด 14.5 มิลลิเมตรเท่านั้น แต่ขนาดเกินกว่านี้คือ บิ๊กอาย โดยขณะนี้มีการจดทะเบียนกว่า 70 รายการ แต่กลับพบว่าในท้องตลาดมีการวางขายกว่า 1,000 ยี่ห้อ โดยคอนแทคเลนส์ถูกจัดให้อยู่ในประเภทวัสดุทางการแพทย์ ในปี 2551 และหากขายโดยไม่ได้การรับรองจาก อย.ถือว่าผิดกฎหมายทั้งสิ้น” นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวในรายการข่าวช่องไทยพีบีเอส เมื่อ วันที่ 4 สิงหาคม 2557 การใส่คอนแทคเลนส์ มีความเสี่ยงมากกว่าการใส่แว่นตา เพราะเลนส์จะเข้าไปปิดทับบนกระจกตา ซึ่งมีความอ่อนไหวมาก แต่คนที่มีปัญหาเรื่องสายตาส่วนใหญ่จะได้รับการให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการใส่ มีการวัดเคิร์ฟของเลนส์ที่เหมาะกับดวงตาของผู้ใช้ ตลอดจนได้รับคำแนะนำเรื่องการทำความสะอาด โดยส่วนใหญ่จึงดูแลและใช้คอนแทคเลนส์กันได้ดี เพราะต้องใส่กันประจำเนื่องจากความจำเป็น ขณะที่บิ๊กอายนั้น คนที่นิยมกลับเป็นพวกที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องสายตา เพียงแต่ต้องการทำตามแฟชั่น ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นวัยรุ่นและสาวหนุ่ม ที่สนใจเรื่องพวกนี้เป็นพิเศษ คนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยได้สนใจเรื่องความถูกต้องของการใช้งาน การทำความสะอาด และวัสดุที่นำมาทำเป็นเลนส์ อาศัยซื้อหาสินค้าราคาไม่แพง ซื้อกันง่ายๆ จากแผงลอยหรือเว็บออนไลน์ ขนาดซื้อมาคนละสีแล้วมาแบ่งกันใส่ก็มี ทำให้ความเสี่ยงที่ดวงตาจะได้รับความเสียหายมีมากขึ้น   อันตรายจากการใส่คอนแทคเลนส์ บิ๊กอาย 1.การติดเชื้อที่ตา สัญญาณอาการตาติดเชื้อโรค อย่างแรกคือ ขณะใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์จะรู้สึกเคืองตามาก ตาจะแดง เรียกว่าเริ่มมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับตา ยิ่งถ้าถึงขั้นตามัวลง หรือสังเกตเห็นจุดขาวๆ ที่ตาดำ แสดงว่า อาการรุนแรงมากแล้ว ต้องรีบไปพบจักษุแพทย์ด่วน เพราะจุดขาวๆ นี้ก็คือ การติดเชื้อที่กระจกตาดำ ซึ่งอาจจะลุกลามจนส่งผลร้ายแรงต่อไป ส่วนสาเหตุการติดเชื้อเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การดูแลความสะอาดที่ไม่ดีหรือไม่มีเลย การใส่คอนแทคเลนส์นานเกินไป การใส่คอนแทคเลนส์นอน รวมถึงใช้คอนแทคเลนส์ เกินระยะเวลาที่กำหนด เช่น ที่กล่องระบุให้ใช้ 1 เดือน ก็ไปใช้ 2 เดือน โดยเชื้อที่มักพบบ่อยคือ เชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ ซูโดโมแนส(Pseudomonas) ซึ่งเชื้อแบคทีเรียนี้  สามารถอยู่ได้ทุกที่ในสภาพแวดล้อมทั่วไป เป็นเชื้อที่ลุกลามรวดเร็วและค่อนข้างจะดื้อต่อการใช้ยารักษามากด้วย 2.กระจกตาทะลุ ตาบอด กระจกตาทะลุ ส่วนใหญ่ต่อเนื่องมาจากการติดเชื้อ และได้รับการรักษาช้าไป ผลของกระจกตาทะลุ คือต้องเปลี่ยนกระจกตาเลย กระจกตาที่เปลี่ยนก็ต้องเอามาจากคนที่เสียชีวิต ซึ่งเป็นที่ทราบว่าในประเทศไทยนั้นจำนวนกระจกตาไม่เพียงพอ มีความขาดแคลนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้ากระจกตามาไม่ทันก็เกิดความสูญเสียมากขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งถ้าเปลี่ยนไม่ทันเราก็ต้องใช้อย่างอื่นมาช่วย ทำให้ผลที่ได้รับไม่ดี เป็นต้อหินแทรก และก็มีโอกาสที่จะตาบอดได้ 3.อาการภูมิแพ้เรื้อรังที่ดวงตา ภูมิแพ้เรื้อรังเกิดจากใส่คอนแทคเลนส์ที่ผิดขนาด หรือแม้แต่คอนแทคเลนส์ที่มีมาตรฐานก็อาจทำให้เกิดโรคภูมิแพ้เรื้อรังที่ดวงตาได้ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุตาขาว กลายเป็นก้อนเนื้อและจะสูญเสียการทำงานของเยื่อบุตาขาวจะทำให้เกิดการแห้ง แสบ อาการเบื้องต้นคือ แสบตา หลับตาจะมีน้ำตาไหล โดยโรคนี้เมื่อเป็นในระยะแรกสามารถรักษาให้หายได้แต่หายเป็นระยะยาวจะรักษา หายค่อนข้างยากรวมถึงมีค่ารักษาพยาบาลที่สูง การใช้ขนาดเลนส์ที่ไม่พอดี(ผิดขนาด) กับความโค้งของตา ก่อให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งแต่ละคนจะมีเคิร์ฟหรือความโค้งของตาไม่เท่ากัน   “เคิร์ฟของลูกตาโก่งมากโก่งน้อย ถ้าโก่งมากเราต้องใช้ตัวที่มันใหญ่เกาะได้ มันเล็กก็ต้องใช้ตัวเล็ก แต่ที่ขายตามบูธเล็กๆ มันไม่มีหรอกแต่ถ้าเป็นร้านที่มีเครื่องวัดก็จะเช็คได้ว่าเคิร์ฟของลูกตาเป็นอย่างไร” รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ ให้สัมภาษณ์ไว้กับฉลาดซื้อ 4.การบาดเจ็บที่กระจกตาเนื่องจากเลนส์ไม่ได้มาตรฐาน 5.การที่แพ้สารประกอบในเลนส์หรือน้ำยาล้าง การเลือกคอนแทคเลนส์ หากจะใส่คอนแทคเลนส์ สำหรับมือใหม่ควรปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมและได้วัดขนาดความโค้งของตา เรียกว่าใช้ของได้เหมาะและจัดการดูแลได้ดี เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว เพราะอย่างไรเสียก็ต้องใช้งานกันประจำ และสำหรับกลุ่มที่ต้องการแค่ครั้งคราวเพื่อความสวยงามตามแฟชั่น ก็มีข้อแนะนำดังนี้ 1.เลือกจากแหล่งขายที่น่าเชื่อถือ เมื่อเกิดปัญหาจากสินค้าสามารถเรียกร้องได้ ไม่ใช่ร้านค้าที่หาตัวไม่เจอ และขายสินค้าที่มีใบรับรองมาตรฐาน 2.ตัวสินค้า กล่องบรรจุภัณฑ์คอนแทคเลนส์ จะต้องมีเอกสารกำกับการใช้ ข้อบ่งใช้ ข้อห้าม ข้อควรระวัง แจ้งเอาไว้อย่างชัดเจน คอนแทคเลนส์เป็นวัสดุทางการแพทย์ต้องมีเอกสารรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) 3.ศึกษาวิธีการใช้งานและเลี่ยงการใช้ในลักษณะไม่เหมาะสม ทั้งการแลกเปลี่ยนกันใช้ ไม่ทำความสะอาด ใส่นานเกินเวลา หรือแม้แต่เผลอใส่นอน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point