ฉบับที่ 245 บาปอยุติธรรม : ความ(อ)ยุติธรรมได้ทำงานของมัน

        ในรอบไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ประเด็นเรื่อง “ความยุติธรรม” แห่งสังคม กลายเป็นหัวข้อที่ผู้คนสนใจและให้ความสำคัญกันเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งอาจไม่ใช่แค่การพยายามค้นหานิยามว่า อะไรคือความยุติธรรม แต่อีกด้านหนึ่ง อาจเกิดมาจากการตั้งคำถามว่า สังคมทุกวันนี้ยังจะมีความยุติธรรมด้านต่างๆ ได้จริงหรือ         โดยทั่วไปแล้ว ความยุติธรรมจะมีความหมายในสองลักษณะ โดยในนิยามแรก ความยุติธรรมคือ “ความเท่าเทียม” หรือการที่ทุกคนต้องได้ต้องมีอย่างเท่ากัน กับอีกนิยามนั้น ความยุติธรรมหมายถึง “ความคู่ควร” เช่น คนที่ทำงานหนักหรือดีกว่า ก็พึงต้องได้ประโยชน์มากกว่าบุคคลอื่นๆ ด้วย         กระนั้นก็ดี ปัญหาเรื่องความยุติธรรมหาใช่จะเป็นเพียง “ผล” ที่จะนำไปสู่ความเท่าเทียมหรือคู่ควรแค่นั้นไม่ หากอยู่ที่ “การเข้าถึง” ซึ่งจะนำไปสู่ความยุติธรรมด้วยเช่นกัน เพราะหากกระบวนการจัดการหรือแบ่งสรรผลประโยชน์ยังถูกกำกับไว้ภายใต้โครงสร้างอำนาจบางอย่าง ความยุติธรรมก็ยากที่จะบังเกิดขึ้นได้จริง         หากความยุติธรรมสัมพันธ์กับโอกาสแห่งการเข้าถึงที่จะนำมาซึ่งความเท่าเทียมและความคู่ควรดั่งนี้แล้ว ชะตากรรมชีวิตของตัวละครพระเอกหนุ่มอย่าง “ชิดตะวัน” ผู้ถูกตัดสินให้ติดคุกกว่า 11 ปีด้วยคดีที่เขาไม่ได้ทำผิดแต่อย่างใด ก็คงเป็นภาพฉายให้เห็นลักษณาการอันผิดเพี้ยนของสถาบันหรือกลไกที่ทำหน้าที่สถิตไว้ซึ่งความยุติธรรมในสังคม         ต้นเรื่องของละครเปิดฉากขึ้นด้วยภาพที่ดูสดใสอบอุ่นของตัวละครชิดตะวันนักศึกษาแพทย์อนาคตไกล ทั้งนี้ ว่าที่หมอหนุ่มไม่เพียงแต่มุ่งมั่นฝึกฝนเพื่อจะเป็น “นักรบเสื้อกาวน์” ของคนไข้ทั้งหลาย หากแต่อีกด้านหนึ่ง เขาก็มีความฝันที่จะได้ลงเอยใช้ชีวิตคู่กับ “น้ำทิพย์” แฟนสาวที่คบหากันมายาวนาน         แต่แล้วจุดพลิกผันของกราฟชีวิตก็อุบัติขึ้น เมื่อ “ชลธี” บิดาของน้ำทิพย์ถูกยิงเสียชีวิต และหลักฐานทั้งมวลได้ชี้มาที่ตัวของชิดตะวันว่า เขาคือผู้ต้องสงสัยเพียงคนเดียว โดยมี “บัวบูชา” เด็กหญิงวัยสิบสามปี ที่ถูก “บริบูรณ์” ผู้เป็นพี่ชาย วางแผนให้เป็นพยานชี้ตัวชิดตะวันในครั้งนั้น ทั้งที่ลึกๆ แล้ว เด็กน้อยเองก็ไม่รู้ประสีประสากับแผนการครั้งนี้         จากผู้ต้องสงสัยกลายเป็นผู้ต้องขัง จากชายผู้มีอนาคตอันสวยงามสู่ชายผู้สิ้นหวังและถูกคนรักสะบั้นความสัมพันธ์ที่คบหามา และจากโทนอารมณ์ของละครซึ่งดูสดใสในตอนต้นเรื่อง ฉับพลันกลายเป็นโทนอารมณ์ดาร์กๆ มืดมนลง ชีวิตที่ภินท์พังลงด้วยความอยุติธรรมทำให้ชิดตะวันต้องกลายเป็นนักโทษคดีฆ่าคนตาย และสูญเสียโอกาสในชีวิตไปตลอดกาล         11 ปีผ่านไป หรืออีกนัยหนึ่งคือ 11 ปีที่เวลาแห่งชีวิตต้องหายไป ทนายสาว “ปลายฝน” นางเอกของเรื่อง ก็ได้ปรากฏตัวขึ้น พร้อมกับยื่นข้อเสนอที่จะรื้อฟื้นคดีเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับชิดตะวัน และด้วยหลักฐานใหม่ที่ปลายฝนนำมาอ้างอิงเพื่อต่อสู้คดีนี้เอง ในที่สุดชิดตะวันก็ได้ออกจากเรือนจำ และได้สูดลมหายใจแห่งเสรีภาพนอกกรงขังเป็นครั้งแรก         และพลันที่ได้ก้าวย่างออกจากเรือนจำ ชิดตะวันกลับพบว่า ความผิดเพี้ยนของระบบยุติธรรมไม่ได้แค่ทำให้เขาต้องถูกพรากอิสรภาพมานานกว่าทศวรรษเท่านั้น แม้แต่กับชีวิตนอกคุกของคนในครอบครัวอันเป็นที่รักของเขา ก็ยังกลายเป็นเหยื่อเซ่นสรวงต่อความอยุติธรรมไม่ยิ่งหย่อนกันเลย         เริ่มตั้งแต่ “อนุพงษ์” ผู้เป็นบิดา ก็ต้องตกงานเพราะตราประทับของสังคมที่ตีค่าให้เขากลายเป็นพ่อของนักโทษฆ่าคนตาย “มาลินี” ผู้เป็นมารดา ก็ไม่หลงเหลือรอยยิ้มเพราะชีวิตถูกผลักให้อยู่ในสภาวะระทมทุกข์อย่างเลี่ยงไม่ได้ และ “ศศิ” น้องสาวคนเดียวก็ต้องระเห็จลาออกจากโรงเรียน เนื่องจากฐานะที่อัตคัดลงของครอบครัวจึงไม่อาจส่งเสียให้เธอศึกษาเล่าเรียนต่อไปได้        ไม่ว่าความยุติธรรมจะหมายถึงความเท่าเทียมหรือคู่ควรที่มนุษย์พึงได้นั้น ชิดตะวันก็ตระหนักว่า ที่แน่ๆ ความยุติธรรมหาใช่จะ “ตกมาจากฟากฟ้า” หรือถูกจัดสรรให้มีอยู่แล้วสำหรับทุกคนในสังคม การได้มาซึ่งความยุติธรรมจึงเป็นสิ่งที่ปัจเจกบุคคลต้องต่อสู้ช่วงชิง “โอกาสแห่งการเข้าถึง” เพื่อให้ได้มาเท่านั้น         เมื่อสวรรค์ไม่ได้บันดาลความยุติธรรมมาให้ ชิดตะวันผู้ได้ลิ้มรสอิสรภาพเข้าไปจึงสมาทานตนที่จะสร้างโอกาสเข้าถึงความยุติธรรมดังกล่าวเอง เพราะแม้จะออกจากคุกมาแล้ว แต่เขาก็บอกตนเองและใครต่อใครว่า กับชีวิตคนที่เคยถูกตีตรา “บาปแห่งความอยุติธรรม” นั้น “อดีตหนีไปไม่พ้น มันตามไปทุกที่”         เพราะตัดสินใจกลับสู่สมรภูมิช่วงชิงความยุติธรรมคืนอีกครั้ง ข้อเท็จจริงบางอย่างก็ค่อยๆ เผยตัวออกมา ในขณะที่ “คทาเพชร” เพื่อนวัยเด็กของน้ำทิพย์ ก็คือตัวการวางแผนใส่ความพระเอกหนุ่มเพื่อพรากหญิงคนรักมาจากเขา แต่ทว่า ยิ่งเมื่อความลับนี้ถูกสาวไส้ออกมามากเท่าไร ชิดตะวันกลับยิ่งพบว่า ความอยุติธรรมมีความซับซ้อน และเกาะเกี่ยวเป็นโครงข่ายที่กัดกร่อนรากแก้วของสังคมไว้อย่างน่าสะพรึงกลัว         แม้ด้านหน้าฉาก คทาเพชรจะเป็นอดีตศัตรูหัวใจที่ชิดตะวันต้องสัประยุทธ์ต่อกรด้วย แต่ฉากหลังอันดำมืดของคทาเพชร ก็คือตัวแทนของกลุ่มทุนผู้วางโครงข่ายแห่งการเอารัดเอาเปรียบที่ผนวกผสานเข้ากับกลไกแห่งอำนาจรัฐเอาไว้ โดยมี “สารวัตรนิติ” นายตำรวจกังฉิน กับ “เตชินท์” ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจมืด เป็นฟันเฟืองหลักที่ทำให้วงจรแห่งความยุติธรรมออกอาการบิดเบี้ยวไป         และแม้แต่ปลายฝนเอง ก็มีความลับด้านหลังที่เธอคือเด็กหญิงบัวบูชา ผู้ชี้ตัวชิดตะวันจนเขาต้องโทษในคุกกว่าสิบปี แม้ปลายฝนจะเลือกใช้อาชีพทนายเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้พระเอกหนุ่ม เหมือนที่เธอกล่าวว่า “ความยุติธรรมมันพิกลพิการ เลยขับเคลื่อนไปช้าๆ แต่ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว มันก็จะไปสู่จุดหมาย” แต่จริงๆ แล้ว จุดหมายปลายฝันที่ขับเคลื่อนไป ก็ช่างเชื่องช้าริบหรี่จนไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เอาเลย         หลังจากที่พระเอกหนุ่มต้องสูญเสียบิดาเพื่อเซ่นสังเวยแก่ความอยุติธรรม เพราะไปรับรู้เบื้องหลังโครงข่ายอำนาจที่กลุ่มทุนประสานประโยชน์เพื่อขูดรีดโอกาสจากผู้เสียเปรียบ ดังนั้น “หลังที่ต้องพิงฝา” หรือ “สุนัขที่ถูกบีบให้ต้องจนตรอก” เมื่อความอยุติธรรมได้แทรกซึมอยู่ในทุกองคาพยพแห่งสังคม คงมีเพียงจิตสำนึกกับสองมือของปัจเจกบุคคลเท่านั้นที่จะรื้อถอนเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ “พิกลพิการ” นั้นได้         ตามสูตรเรื่องราวละครแนวดรามา ที่หลังจากตัวละครเอกต้องสูญเสียระลอกแล้วระลอกเล่า ในฉากท้ายเรื่องก็ถึงคราวที่ตัวร้ายจะต้องพบจุดจบ ไม่ตายก็ต้องติดคุกหรือถูกลงทัณฑ์ แบบเดียวกับที่ชิดตะวันได้พูดขมวดทิ้งท้ายไว้ว่า “ความยุติธรรมได้ทำงานของมัน” ภายหลังสถานการณ์ร้ายๆ คลี่คลายไปแล้ว         อย่างไรก็ดี ตราบใดที่ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ และโอกาสที่ถูกขูดรีดเอาเปรียบ ยังคุกรุ่นเป็นภูเขาไฟรอวันปะทุอยู่ในสังคม ละครอาจบอกนัยที่คู่ขนานไปอีกทางด้วยว่า เผลอๆ อาจไม่ใช่ “ความยุติธรรม” แต่เป็น “ความอยุติธรรม” ต่างหากกระมังที่เป็น “บาป” ซึ่งรอวัน “ทำงานของมัน” จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >