ฉบับที่ 170 ลุงบัวพันธ์ บุญอาจ ปราชญ์ชาวบ้านแห่งเมืองหนองบัวลำภู

คุณลุงบัวพันธ์ บุญอาจ  ปราชญ์ชาวบ้านแห่งเมืองหนองบัวลำภู หรือพ่อบัวพันธ์ที่ชาวบ้านเรียก  ที่แม้ปีนี้อายุจะย่างเข้าสู่ปี  70   แต่แกก็เดินก้าวฉับๆ นำพวกเราชมสวนที่มีพื้นที่กว้างกว่า  60 ไร่  ดวงตาฉายแววถึงความภาคภูมิใจ พร้อมกับบอกเล่าถึงความเป็นมาของที่ดิน จากจุดเริ่มต้น จนมาถึงวันนี้ กว่า 40 ปีแล้ว ที่พ่อนำความรู้ด้านการเกษตรระดับมหาวิทยาลัย(ทั้งที่พ่อจบแค่ ม.3) ถ่ายทอดออกมาให้ฟังง่ายแบบชาวบ้านๆ เพื่อเป็นความรู้ให้แก่ผู้คนมากมายนับไม่ถ้วน “อันดับแรกแนะนำก่อนที่นี่ชาวบ้านเรียกศูนย์อบรม เพราะเป็นที่ให้ความรู้กับคนทั่วไป สิ่งที่เราทำเรายึดหลักตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนำมาใช้ควบคู่กับหลักทฤษฎีใหม่ เพราะฉะนั้นมันจะเกี่ยวข้องแบบคละๆ กัน ตัวชี้วัดเศรษฐกิจพอเพียงตัวแรกคือ ชี้วัดการกิน สอง ชี้วัดการใช้สอย  สาม ชี้วัดการอยู่ สุดท้ายชี้วัดการร่วมมือ เราเอาตัวชี้วัด 4 ตัวนี้มาทำ การทำคือทำตั้งแต่เรื่องของป่า เรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องของคน ทำควบคู่กันไป ต้นไม้ที่เราปลูกเราไม่ได้เน้นว่าดี ไม่ดี แต่เน้นว่าปลูกแล้วนำมาทำอาหารได้ไหม กินได้ไหม กินเป็นอาหารไม่ได้ก็กินเป็นยาได้ไหม ภูมิทัศน์ในนี้จึงเต็มไปด้วยของกิน ของที่ทำเป็นยาได้เป็นอันดับแรก และที่นี่ก็มีบ้านพักคนมีไฟ ชั้นล่างจะเป็นฐานเรียนรู้ เรียกว่า “ ฐานคนมีไฟ ” คนมีไฟ คือการเรียนรู้เรื่องของพลังงานทดแทน เรื่องสบู่ดำ มะเยากู้ชาติ (คนอีสานเรียกสบู่ดำว่า มะเยา คนเหนือ เรียก ละหุ่งฮั้ว โคราชเรียก สีหลอด คนใต้เรียกหงเทศ) ขี้วัว ขี้ไก่ เศษใบไม้แทนที่จะเผาทิ้ง เราก็มาผสมกันหมักทำปุ๋ยอินทรีย์แล้วก็นำไปใช้ได้ดีเลย แต่ที่นี่ไม่ได้เอาหลักวิชาการมาใช้เท่าไร เพราะถ้าใช้หลักการให้ทำตามอย่างนั้น อย่างนี้ ชาวบ้านจะไม่เข้าใจ ต้องแปลง่ายๆ ถ้าเราพูดถึงจุลินทรีย์ที่เราเอาเชื้อมาใช้ในการหมัก บอกว่าต้องเอา พด.2, พด. 1 (เป็นชื่อสูตรเร่งเชื้อจุลินทรีย์ของกรัมพัฒนาที่ดิน) นะ เขาก็จะจำไม่ได้ แล้วการเดินทางไปกรมพัฒนาที่ดินในตัวจังหวัดก็เสียเงินค่ารถอีก เราก็บอกจุลินทรีย์มีทั่วไปในอากาศ ในน้ำมีหมด แต่เราไม่ทราบว่ามันสายพันธุ์อะไรเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นการหมักพวกนี้ก็ถ้าเราจะหมักพืชสด หมักอะไรในถังข้าวหลังบ้านมีเต็มหมด ที่หมักไว้ระยะเวลาปีกว่าทั้งหมดใช้ได้ดีแล้ว ก็แนะนำชาวบ้านว่า ถ้าคุณมีวัตถุดิบพร้อม เอาไปผสมกากน้ำตาล กากน้ำตาลเป็นของหวาน ซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์ พอคุณผสมพืชวัตถุดิบเข้าไปแล้วจะหมักพืชสมุนไพรรสไหน รสจืด รสหวาน รสเมา เบื่ออะไรก็แล้วแต่ เติมน้ำเข้าไปตามอัตราส่วนแล้วคนให้ดี แล้วคุณก็ท่องคาถาเป่าเพี้ยงเรียบร้อย จุลินทรีย์ลงไปแล้ว (หัวเราะ) ปิดฝาเรียบร้อย”   เคยอ่านหนังสือบอกว่าให้เอาดินใต้ต้นไม้ที่อยู่ริมแม่น้ำมาทำหัวเชื้อ ยาก  ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ผมไม่เอา ชาวบ้านเขาไม่ทำหรอก ถามว่ารถเหยียบหมาตายอยู่ในถนน มันย่อยสลายอยู่แล้วเพราะมันมีจุลินทรีย์ในอากาศมันก็ย่อยของมันเอง แต่มันต้องเกิดความชื้น และความร้อน ร้อนชื้นบวกกันสิ่งมีชีวิตถึงจะเกิดแค่นั้นเอง เนื้อที่ตรงนี้  17 ไร่เป็นไผ่รวก ไผ่ตาล ไผ่ไร่ ปลูกปนกับไม้สัก จริงๆ ตอนแรกปลูกไม้สัก แต่การปลูกไม้สักเพื่อใช้เนื้อไม้นี้ใช้เวลาไม่น้อย ถ้าไม่ใช่คนมีเงินจริงๆ การบริหารจัดการป่าจะล้มไปเอง เพราะความอดทนไม่พอ เพราะฉะนั้นต้องปลูกให้ผสมผสาน ก็มีเตาเผาถ่าน ไว้เก็บน้ำส้มควันไม้ แล้วก็มีแปลงผักอินทรีย์ กะหล่ำปลี บร็อกโคลี่ มะเขือเทศมีหมด โดยใช้น้ำจากบ่อ พืชที่อยู่ในที่ดินทั้งหมดนี้ก็ไม่เคยเอาสารเคมีมาใช้เลย ที่ผมปลูกไผ่หลายสายพันธุ์นี้เพราะ ไผ่นั้นถ้าให้คน 100 คน แต่ละคนจะเอาคำตอบเดียวถึงคำถามที่ว่าไผ่มีประโยชน์อะไร หนึ่งร้อยคนนั้นจะได้คำตอบที่เยอะมาก แค่ใบไผ่นี้ก็เอาไปทำปุ๋ยได้แล้ว ดินใต้ร่มไผ่นี่ถ้าเป็นสิบปีขึ้นไปเขาเรียกว่าดินขุยไผ่ รากไผ่ที่แก่แล้วก็จะมีรากใหม่ออกมา มันทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้นเรียกว่า ดินขุยไผ่นี่เป็นดินที่เยี่ยมเลย หน่อไผ่นี่ก็มีแต่คนจะให้ทำหน่อไม้ส้มให้ มีหลักอะไรไหมในเนื้อที่ 1 ไร่ ควรจัดสรรอย่างไร ถ้าใช้เป็นทฤษฎีแนวใหม่ ก็ต้องแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วน ถ้าจะทำการเกษตร พระเจ้าอยู่หัวทรงบอกว่าต้องให้ความสำคัญกับน้ำเป็นอันดับ 1 โดย 30 % ต้องเป็นแหล่งน้ำ ถ้าคนกรุงเทพฯ อยากเริ่มปลูกควรจะเริ่มอย่างไรบ้างโดยมีที่ดิน 1 แปลงเล็กๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บอกว่าให้แบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน ส่วนแรกคือน้ำ 30 % ส่วนที่ 2 คือแหล่งอาหาร 30 % ส่วนที่ 3 ป่าไม้ 30 % ส่วนที่ 4 คือ 10% ที่อยู่อาศัยคอกสัตว์และพืชผักสวนครัว ถ้าใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงมันจะได้หมดเลย ดิน น้ำ ป่าครอบคลุมหมดเลย และถ้าได้ดิน น้ำ ป่า สุดท้ายก็จะได้ความสมดุลทางธรรมชาติ ความร่มรื่นก็จะเกิดขึ้น แถวนี้ก็จะมีผักหวานป่า ปลูกแซมกับไม้พยุง ไม้พยุงนี้กว่าจะใช้ได้ใช้เวลา 30 ปี แล้วลูกหลานจะกินอะไร เพราะฉะนั้นต้องปลูกพืชระยะสั้นไปด้วย อย่างผักหวานป่าเก็บกินได้ตลอด สำหรับบ้านที่แทบไม่มีที่เลยสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ใช้หลักนี้แหละ เพียงแค่บังคับเนื้อที่ให้เล็กลงไป ลองนึกถึงพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมีมาตั้งแต่ปี 2517 แต่มีคนทำกี่คนในจำนวน 60 กว่าล้านนี้ ถ้าย่นเข้ามาย่านนี้มีกี่หลังคาเรือน แล้วทำกันกี่คน เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้แตกต่าง พอพูดเรื่องพอเพียงคนไม่ค่อยชอบ ถ้าพูดเรื่องรวยคนจะตาโตขึ้นมาเลย แต่เศรษฐกิจพอเพียงไม่อยากรวย ก็รวย มันรวยโดยอัตโนมัติ นั่นคือ รวยที่ใจ อย่างผักหวานนี่ถ้าอยู่ใต้ต้นตะขบ มันงามมาก ต้นที่ห่างออกไปจะไม่งาม เพราะผักหวานกับต้นตะขบเป็นไม้ที่ให้การเกื้อกูลกันและกัน   เป็นระบบรากและระบบร่ม คือเป็นพืชตระกูลถั่วแล้วรากมันอุ้มน้ำ ผักหวานจะได้น้ำจากรากตะขบอีกทีหนึ่ง สังเกตผักหวานที่กำลังงาม ถ้าตัดต้นตะขบออกนี้ผักหวานแทบจะตายตามเลย เรื่องสมุนไพรชงดื่มต่างๆ น้ำมันมะพร้าวกลั่นเย็น เอาจากก้นครัว เอาจากอะไรต่างๆ มาทำเอง พอเราทำเอง กินของเราเอง เรารู้ว่าปลอดภัยหรือไม่ของเราเอง แต่พอทำแล้วชาวบ้านก็จะถามว่าขายไหม ส่วนใหญ่ยังไม่ทันกลับบ้านก็ถามแล้วว่าขายไหม คือเอาสบาย นั่นคือจุดอ่อน เราไม่ได้พูดถึงเรื่องซื้อขายเลย เราสอนเพื่อให้เอากลับไปทำเองใช้เอง สบู่นี่ก็มีถามขายก้อนละเท่าไร มีหมดทั้งสบู่มะขาม สบู่สูตรน้ำผึ้ง สูตรเปลือกมังคุด สูตรน้ำส้มควันไม้ สูตรถ่านที่ทำจากเตาเผาต่างๆ มีหมด คนที่เข้ามาอบรม 50 คน ต้องได้อะไรอย่างน้อย 2 % เราตั้งเป้าไว้แค่นี้ ไม่ต้องเยอะ บางคนกลับไปบ้านแล้วพาแฟนมาอีก มาบอกให้เราอธิบายให้เขาได้เข้าใจ เพราะพอกลับไปแล้วเขาก็ไม่เข้าใจกัน อธิบายกันไม่เข้าใจ แล้วคุยกันไม่ได้ มาให้พ่ออธิบายให้หน่อย แต่คนเป็นเมียมานี่ดีกว่าผัวนะ ถ้าผัวมากลับไปบอกเมียแล้วเมียไม่สนใจแรงทัดทานจะเยอะกว่า แต่ถ้าเมียมานี้กลับไปบอกผัวไม่สนใจ เมียยังบังคับให้ผัวมาได้นะ (หัวเราะ) มีระบบสั่งการได้อยู่ เรื่องการลดสารเคมีลุงให้คำแนะนำกับชาวบ้านอย่างไรบ้าง บางคนปลูกโดยใช้สารเคมีไว้ขาย ส่วนที่กินเองปลูกไว้ต่างหาก ซึ่งมันไม่แฟร์ สิ่งที่เราจะช่วยได้คือ ทำอย่างไรจะให้ความรู้ชาวบ้าน ผมว่าปัญหานี้พอแก้ได้ ตอนนี้ก็เอามาร่วมเครือข่าย 2 – 3 รายอยู่ สิ่งแรกต้องสร้างศรัทธาให้เขา เพราะเขาไม่เชื่อว่าถ้าไม่ใช้สารเคมีมันจะขายได้ไหม เลยให้เขามาดูของที่นี่ มาดูว่ามันขายได้ไหม ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้สารเคมีเลย แถมต้นทุนยังถูกกว่าอีก เคยมีคนที่มาคุยว่ามีที่จำนวน 14 ไร่ มีการปลูกหมุนเวียนในที่ 14 ไร่นั้น รอบนี้ปลูก 4 ไร่ นอกนั้นปล่อยร้าง แล้วก็ปลูกทีละ 4  ไร่เวียนกัน อย่างนี้มันไม่ได้ นี่มันเวียนแปลงปลูก ถ้าไม่ปลูกพืชหมุนเวียนจะสู้กับโรคแมลงอะไรต่างๆ ไม่ได้ ถ้าซ้ำของเดิมเกิน 3 ครั้งนี่จบ มีนักเรียนมาดูงานบ่อยไหม มีบ้าง มากันเองก็มี ที่ครูบาอาจารย์พามาก็มี แต่ส่วนมากเป็นนักเรียนชั้นประถม คนดูงานก็มีมาบ่อยๆ ตอนหลังนี้ก็มีนิสิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มา 2 รุ่นแล้ว เพราะเขาไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน น.ศ.มีทั้งมาจากฟินแลนด์ จากอัฟริกา ถ้าของกรมป่าไม้พามาก็มีทางลาว พม่า เวียดนาม จีน พวกโซนเอเชียที่มา ที่ อบต. วังทองนี้นอกจากปลูกผักเพื่อรับประทานในท้องถิ่นแล้ว มีการปลูกเพื่อส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน อย่างลาวด้วยไหม มี แต่นั่นคือโครงการของผู้ว่าราชการกับนายอำเภอ แต่ก็ไม่ถึงขนาดเน้นแต่ส่งออกหรอก อันนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ว่ากับนายอำเภอคิดไว้ เพราะแหล่งนี้เป็นแหล่งที่ปลูกผักอยู่แล้ว ก็จะพัฒนาให้ได้ GMP แล้วก็ส่งออกไปประเทศลาว ระบบการซื้อขายผลิตภัณฑ์ของที่นี่มีรูปแบบอย่างไรบ้าง ผลิตภัณฑ์ต้องดูว่าเกี่ยวกับอะไร เพราะที่นี่ไม่ได้เน้นการทำเป็นธุรกิจ เน้นการถ่ายทอด ผักที่ปลูกก็ไปคุยกับโรงพยาบาลว่า รพ.รักษาโรคคนไข้ ดูแลเรื่องสุขภาพ แต่ผักที่เอาไปทำให้คนไข้กินมันก็เป็นผักที่มีสารเคมี มันสวนทางกัน ก็เลยเอาอย่างนี้ไหม ผมทำให้ ก็มีกลุ่มช่วยทำเพื่อจะเป็นต้นแบบก่อน ซึ่งก็จะมีหลายอำเภอมาดูงานแล้ว ลูกสาวผมก็มีแผงผักอยู่ในตลาด เป็นผักอินทรีย์ วันไหนไม่มีก็ไม่ไป ทุกวันศุกร์ก็จะมีตลาดสีเขียวในตัวเมือง แต่ของเราไม่สามารถจะมีไปได้ทุกวัน หลักในการบริหารผลผลิต คือ 1) กินให้ได้ก่อน 2) เหลือกินให้เอาไปแจก เหลือแจกให้แลก คนนี้มีไอ้นั้น คนนั้นมีไอ้นี้เอามาแลกกันกิน แล้ว 3) เหลือค่อยพูดถึงเรื่องขาย แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านมักจะพูดว่าจะเอาไปขายที่ไหน ถ้าเอาเรื่องขายเป็นตัวตั้งนั้นยาก อีกอย่างปัญหาชาวบ้านคือไม่มีเงินลงทุน ตลาดกับเงินลงทุนนี้เป็นปัญหา ถ้าผ่านสองอย่างนี้ได้ชาวบ้านเขาก็ทำ เอาเงินมาให้เขา พอเงินทุนหมดเขาก็หยุดทำ ถ้าทำเพราะเงินนั้นมันไม่ยั่งยืนอยู่แล้ว แต่ถ้าทำด้วยศรัทธาที่มาจากใจนั้นยั่งยืน ทุกวันนี้ก็เอาผักไปให้โรงครัวทำให้คนไข้ในโรงพยาบาล( รพ.นากลาง )กินทุกวัน เรามีสมาชิกในกลุ่ม 20 กว่าคนช่วยกันทำทุกวัน ก็จะเอามารวมกัน ใครมีอะไรก็เอามา แต่การไปส่งนั้นเวียนกันไป ราคาก็มีการตกลงเป็นกลางไว้เลย  ไม่มีขึ้นมีลง ถ้าช่วงผักราคา(ตลาด)ขึ้นก็ถือว่าเกษตรกรเสียหายนิดหน่อย แต่ถ้าผักราคา(ตลาด)ลงโรงพยาบาลก็อาจขาดทุน แต่ถ้าถามว่าคุ้มไหม มองในด้านธุรกิจไม่คุ้ม แต่เราทำเพื่อคนป่วย เราส่งวันต่อวันทุกวัน ทำให้คนป่วยได้มีอาหารที่ดีกิน   นายบัวพันธ์ บุญอาจ อายุ 70 ปี  ตำบลด่านช้าง  อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ลุงบัวพันธ์ ได้เริ่มทำการเกษตรบนที่ดิน 62  ไร่ มากว่า 40 ปี โดยในตอนนั้นยังไม่มีหน่วยงานใดๆ เข้ามาสนับสนุนเรื่องเกษตรผสมผสานหรือเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง แต่ลุงก็สนใจและทดลองทำตามแบบที่ตนเองคิดว่า น่าจะดี ด้วยความใฝ่รู้และสนใจศึกษาทดลองอย่างจริงจัง ทำให้ในที่สุดลุงได้เปลี่ยนพื้นที่แปลงนากว่า 60 ไร่ มาปลูกป่า  ปลูกผัก  ปลูกไม้ผล ทำบ่อเลี้ยงปลา  ฯลฯ ซึ่งในระยะเริ่มต้น การลองผิดลองถูกเช่นนี้เป็นเหตุให้ชาวบ้านทั่วไปมองว่า ลุงเป็นคนบ้า แต่ในที่สุดเมื่อสิ่งที่ลงทุนลงแรงไป ได้ก่อดอกผลอันน่าชื่นใจ ทุกคนก็ตระหนักและเริ่มเข้าใจหลักการเกษตรผสมผสานของลุง และในปี พ.ศ. 2550 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการคัดเลือกแต่งตั้งให้ลุงได้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน นอกจากนี้ลุงบัวพันธ์ยังได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการเกษตร จากอีกหลายสถาบันการศึกษา  ในทุกๆ ปี ทางกระทรวงฯ ยังจัดสรรงบประมาณให้มีการนำเกษตรกร นักเรียน นักศึกษาจากหลากหลายพื้นที่ มาอบรม ศึกษาดูงานในแปลงเกษตรของลุง  ปัจจุบันลุงมีทีมงานที่คอยให้คำแนะนำและคำปรึกษาทั้งหมด 9 คน   ซึ่งภายในพื้นที่ 62 ไร่แห่งนี้ มีทั้งไม้ยืนต้นอย่างต้นสัก พยุง ไม้ผล อย่าง ชมพู่  มะขาม มะปราง  มะพร้าว มะม่วง ตะขบ ตลอดจนพืชผักระยะสั้น เช่น ผักสลัด คะน้า  มะเขือเทศ  ฟักทอง และผักหวานป่าที่ปลูกแซมกับต้นสักและต้นตะขบ  ก่อให้เกิดรายได้ทั้งปี ทั้งยังเป็นแปลงเกษตรที่ปราศจากสารเคมีการเกษตรอีกด้วย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point