ฉบับที่ 241 ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องมี “สื่อกับการคุ้มครองผู้บริโภค”

        ชื่อนี้อาจดูแปลกใหม่ไม่เคยได้ยิน แต่ถ้าเป็นสื่อสายสังคม การเมือง เศรษฐกิจ หรือบันเทิง คงคุ้นเคยผ่านตากันมากกว่า ขณะที่ภาพของสื่อมวลชนทุกวันนี้อาจทำให้หลายคนนึกถึง นักเล่าข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว พิธีกร หรือนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์เท่านั้น แต่จริงแล้วสื่อมวลชนมีความหมายที่น่าสนใจมากกว่าแค่ตัวบุคคลนั่นคือ หมายถึง การกระจายข้อมูลข่าวสารจากบุคคลหนึ่งหรือจากองค์กรหนึ่งไปยังมวลชนจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนรับรู้ได้เป็นการทั่วไป         ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เข้าถึงสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือ หนังสือพิมพ์ ได้ง่าย เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ทุกครัวเรือนทุกเพศทุกวัย แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันที่ก้าวหน้า สภาพปัญหาของสังคมที่เปลี่ยนไป และการเข้ามาของ Social Media หรือ สื่อออนไลน์ ทำให้สื่อมวลชนหลายแขนงโดยเฉพาะสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือ สื่อสิ่งพิมพ์ ต้องปรับตัวตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงไปด้วย           การมาของสื่อออนไลน์หรือสื่อใหม่แบบนี้ ทำให้มิติการนำเสนอข้อมูลข่าวสารปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้มากขึ้น เพราะมีโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยไม่ต้องเปิดโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์แบบสมัยก่อน ส่งผลตรงต่อสื่อหลักที่ถูกลดทอนบทบาท สื่อหลายรายจึงต้องรีบปรับตัวเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ทันต่อเทคโนโลยี สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น          แม้ว่าปัจจุบันภาพรวมของสื่อหลักจะปรับเปลี่ยนบ้างแล้ว แต่รูปแบบการนำเสนอข่าวสารที่เป็นอยู่ก็ยังไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ต่างเน้นประเด็นที่กำลังเป็นกระแสเรื่องใกล้ตัว เรตติ้งดี เช่น ข่าวการเมือง อาชญากรรม และรายการบันเทิง รวมถึงข่าวกระแสสังคม ความเชื่อ ความศรัทธา ส่งผลให้พื้นที่และโอกาสการติดตามประเด็นปัญหาของผู้บริโภคมีน้อย เพราะต้องทำตามนโยบายแหล่งทุนผู้สนับสนุน และหากวิเคราะห์ถึงปัญหาอุปสรรคต่อการทำงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของสื่อมวลชน จะพบว่าเกิดจากนโยบายองค์กร หรือการให้ความสำคัญของแต่ละสื่อว่าเห็นความสำคัญ หรือสนใจประเด็นมากน้อยเพียงใด รวมถึงพฤติกรรมของสื่อมวลชนหรือนักข่าวในปัจจุบันที่ลงพื้นที่น้อย เน้นเก็บข่าวออนไลน์ ตลอดจนประเด็นข่าวสารรายวันที่ไหลไปมาอย่างรวดเร็วทำให้สื่อมวลชนต้องตามให้ทันกระแส ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้สื่อมวลชนสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคได้ไม่เต็มที่ หลายกรณีจึงพบเพียงการรายงานข่าวเหตุการณ์แต่บทบาทเรื่องการตรวจสอบอาจจะมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น         จากข้อจำกัดและอุปสรรคหลายประการ ปัญหาของผู้บริโภคจึงกลายเป็นประเด็นทางเลือกของสื่อมวลชน ทั้งที่หลายกรณีเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ และมีผลกระทบกับประชาชนวงกว้าง เช่น กรณีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ หรือล่าสุดกับประเด็นเรื่องระบบขนส่งมวลชน กรณีการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีความซับซ้อน ซึ่งแทบจะไม่เห็นข่าวเชิงลึกแบบนี้ผ่านสื่อกระแสหลักให้เห็นเลย         โดยเฉพาะกรณีปัญหาการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ภายหลังประเด็นข้อถกเถียงของสังคมขยับมาอยู่ที่ราคาค่าโดยสารว่าเท่าไหร่ถึงเหมาะสม เมื่อ กทม. เสนอตัวเลขราคาค่าโดยสารตลอดสายหลังต่อสัญญาสัมปทานให้ BTS อีก 30 ปีอยู่ที่ 65 บาท ขณะที่ตัวเลข 65 บาท ที่ กทม. เสนอนั้นไม่สามารถอธิบายหรือชี้แจงได้ว่ามีหลักคิดคำนวณอย่างไร ทำไมถึงกำหนดราคาที่ 65 บาท ขณะที่กระทรวงคมนาคมเสนอตัวเลขค่าโดยสาร 49.83 บาท และองค์กรผู้บริโภคเสนอตัวเลขค่าโดยสารที่ 25 บาท ซ้ำร้ายผู้แทน กทม. ได้ให้ข้อมูลในการประชุมคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรว่า กรุงเทพมหานครไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลต้นทุน ผลกำไร และรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการคำนวณหาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมต่อคณะกรรมาธิการได้         ยิ่งทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าเหตุใดข้อมูลที่เป็นประโยชน์สาธารณะแบบนี้กลับไม่ถูกขุดคุ้ยหรือเปิดเผยโดยสื่อมวลชน  ทั้งที่สื่อมวลชนควรทำข้อมูลให้ประชาชนเห็นถึงกระบวนการระหว่างทางที่ไม่ชอบมาพากล สะท้อนเรื่องสิทธิของประชาชนที่ถูกละเลย และถูกละเมิดออกมาให้ได้  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนควรได้รู้จากการข้อมูลเชิงลึกหรือตีแผ่ได้ในหลายแง่มุมจากกระบวนการทำงานของสื่อมวลชน แน่นอนว่าความคาดหวังของประชาชนต่างมุ่งตรงไปที่การทำงานของสื่อมวลชน ขณะที่ความพร้อมของสื่อเองยังมีจำกัดเช่นเดียวกัน อีกทั้งปัญหาของผู้บริโภคก็มีความหลากหลายและบางเรื่องเข้าใจยากมีความซับซ้อน แต่อย่าลืมว่าสื่อมวลชนมีต้นทุนทางสังคมสูง หากขยับตัวเกาะติดประเด็นใด ย่อมมีอิทธิพลต่อความคิดและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทุกด้าน         เพราะสุดท้ายแล้ว สื่อมวลชนต้องเป็นผู้นำทางความรู้มากกว่าเพียงตามกระแสในสังคม คือ สื่อมวลชนต้องกล้าที่จะนำเสนอข้อมูลความรู้ ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ และนำความรู้นี้ถ่ายทอดไปยังประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียม ทำเรื่องเงียบให้เป็นเรื่องดัง ทำประเด็นคนสนใจน้อยให้กลายมาเป็นกระแสสังคมให้ได้ นี่แหละ คือ บทบาทของสื่อเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง !!

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 โฮมสเตย์ไม่คืนเงินค่ามัดจำ

ปัจจุบันการจองที่พักตามสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง มักให้ลูกค้าโอนเงินค่ามัดจำส่วนหนึ่งมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าหากลูกค้าเปลี่ยนใจที่จะไม่เข้าพักตามที่ตกลงกันไว้ คู่สัญญาก็มีสิทธิริบเงินประกันดังกล่าว อย่างไรก็ตามการริบค่ามัดจำ ต้องเป็นไปอย่างยุติธรรม ไม่เช่นนั้นอาจเกิดการร้องเรียน ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสุชาติสนใจจะเข้าพักที่โฮมสเตย์ชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่ในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า จึงโทรศัพท์ไปสอบถามอัตราค่าห้องพัก ซึ่งทางโฮมสเตย์ได้แจ้งมาว่าห้องละ 600 บาท/คืน ด้านคุณสุชาติต้องนำข้อมูลไปพิจารณาก่อน จึงยังไม่ได้ตอบตกลงในวันนั้น อย่างไรก็ตามภายหลังเขาก็ตัดสินใจจะเข้าพักที่โฮมสเตย์แห่งนี้ จึงโทรศัพท์กลับไปอีกครั้งเพื่อยืนยันการจองห้องพัก แต่กลับพบว่าราคาห้องไม่เป็นไปตามที่คุยกันไว้ตอนแรก เนื่องจากพนักงานคนเดิมแจ้งว่าเธอได้บอกราคาผิด ซึ่งจริงๆ แล้วห้องพักราคา 800 บาท/คืน อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบก็จะลดราคาให้เหลือห้องละ 700 บาท/คืน ซึ่งคุณสุชาติเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรจึงตอบตกลงและจองห้องพักไปทั้งหมด 5 ห้อง พร้อมโอนเงินค่ามัดจำจำนวน 3,500 บาทไปให้ เนื่องจากทางโฮมสเตย์กำหนดให้ลูกค้าที่จองห้องพักต้องวางเงินมัดจำเต็มจำนวน ต่อมาภายหลังคุณสุชาติพบว่า เขาถูกยกเลิกกำหนดการที่จะต้องเดินทางไปทำงานที่จังหวัดดังกล่าวกะทันหัน ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าพักที่โฮมสเตย์นั้นอีกต่อไป จึงโทรศัพท์แจ้งไปยังโฮมสเตย์เพื่อขอให้คืนเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งขณะที่เขาโทรศัพท์กลับไปเหลือเวลาอีก 25 วัน ก่อนจะถึงกำหนดวันเข้าพักที่จองไว้ อย่างไรก็ตามทางโฮมสเตย์ได้ปฏิเสธการคืนเงินมัดจำทุกกรณี แต่เสนอทางเลือกมาว่าจะขยายเวลาเข้าพักให้ โดยคุณสุชาติจะเข้ามาพักเองหรือให้ผู้อื่นมาแทนก็ได้ ด้านคุณสุชาติเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบมากเกินไป จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิให้คำแนะนำว่า โดยปกติเงินมัดจำเป็นเงินที่จ่ายไว้กับคู่สัญญาเพื่อเป็นหลักประกันว่าเราจะทำตามสัญญา ซึ่งหากผู้ร้องผิดสัญญาไม่เข้าพักทางโฮมสเตย์ก็จะสามารถริบเงินมัดจำได้ทันที แต่การเก็บเงินมัดจำเต็มจำนวนราคาห้องพัก ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ควรลดลงได้เท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งในเบื้องต้นศูนย์ฯ จะช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยให้ อย่างไรก็ตามสำหรับเหตุการณ์นี้ผู้ร้องได้ไปดำเนินการเจรจาต่อเองที่ สคบ. และได้ผลสรุปว่าทางโฮมสเตย์จะคืนเงินค่ามัดจำให้ในอัตราร้อยละ 50 ของทั้งหมด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 ซอฟท์แวร์ / สื่อบันเทิง: ถูกก็ได้ ทำไมต้องแพง

  สองทศวรรษที่ผ่านมา การรับรู้ของเราในเรื่อง “การละเมิดลิขสิทธิ์” ที่เกิดขึ้นกับสื่อบันเทิงและซอฟท์แวร์นั้น มักผ่านมุมมองและการให้ข้อมูลของอุตสาหกรรมบันเทิงที่ทุ่มทุนมหาศาลเพื่อทำงานวิจัยหรือการสำรวจในเรื่องดังกล่าว หลายคนจึงอาจสงสัยว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นเครื่องมือของธุรกิจในการสร้างความเข้าใจของสังคมให้เป็นไปในแบบที่ธุรกิจเหล่านี้ต้องการ ซึ่งเป็นการคิดคำนวณเฉพาะเรื่องความเสียหายของผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์ แต่ไม่เคยมีการประเมินบทบาทหรือผลกระทบของ “การละเมิดลิขสิทธิ์” ที่มีต่อสังคมโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา ฉลาดซื้อ เล่มนี้จึงขอนำเสนองานวิจัยของสภาวิจัยสังคมศาสตร์ (Social Science Research Council) เรื่อง Media Piracy in Emerging Economies ซึ่งเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ทำการศึกษาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง ภาพยนตร์ และซอฟท์แวร์ ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่อย่าง บราซิล รัสเซีย อินเดีย อัฟริกาใต้ เม็กซิโก และโบลิเวีย ทีมนักวิจัย 35 คน ใช้เวลากว่า 3 ปี ในการเก็บข้อมูลเรื่องการเติบโตของการละเมิดลิขสิทธิ์ในยุคที่ ใครๆ ก็มีเทคโนโลยีดิจิตัลราคาถูกไว้ใช้ รวมถึงการเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมบันเทิง/ซอฟท์แวร์ เพื่อให้รัฐบาลในแต่ละประเทศปรับแก้กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่ว่าด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์ให้มีความเข้มข้นขึ้น การละเมิดลิขสิทธิ์ มีบทบาทอย่างไรในตลาดแต่ละประเทศหรือตลาดโลก มันตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างไร มีการละเมิดมากน้อยแค่ไหน การบังคับใช้กฎหมายได้ผลหรือไม่ การให้การศึกษาช่วยได้หรือไม่ มาเฟียมีบทบาทในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน --------------------------------------------------------------------------------------------------------------งานวิจัยนี้พบว่าความพยายามในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ในกลุ่มประเทศดังกล่าวนั้นไม่ประสบความสำเร็จ และเสนอว่าปัญหาลิขสิทธิ์นั้นควรถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวในการเข้าถึงสื่อบันเทิงที่ถูกกฎหมาย และปัญหาที่เกิดขึ้นก็ควรเรียกว่าปัญหาของการตั้งราคา แทนที่จะมองว่าเป็น ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์   --------------------------------------------------------------------------------------------------------------  HILIGHT จากงานวิจัย• ราคาที่สูงเกินสอยสินค้าประเภทสื่อบันเทิงนั้นถูกตั้งราคาไว้สูง ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านี้ยังมีรายได้น้อย และเทคโนโลยีดิจิตัลก็มีราคาถูก เมื่อพิจารณารายได้ของคนในบราซิล รัสเซีย หรืออัฟริกาใต้แล้ว จะพบว่าราคาขายปลีกของซีดี ดีวีดี หรือโปรแกรมไมโครซอฟต์ออฟฟิศ แพงกว่าในยุโรปหรืออเมริกา 5 ถึง 10 เท่า   • จะให้ดีต้องมีการแข่งขัน ตัวแปรที่จะทำให้สินค้าลิขสิทธิ์มีราคาที่ถูกลงได้แก่ การแข่งขันกันเองระหว่างผู้ประกอบการในประเทศเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด เพราะโดยส่วนมากแล้ว ทั้งในธุรกิจภาพยนตร์ เพลง และโปรแกรมซอฟท์แวร์ ในประเทศกำลังพัฒนา มักถูกครองตลาดโดยบริษัทข้ามชาติ   • การศึกษาช่วยอะไรไม่ได้ แม้อุตสาหกรรมบันเทิงจะพยายามบอกกับผู้บริโภคว่า “การละเมิดลิขสิทธิ์” นั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำด้วยสาเหตุนานาประการ แต่งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าประชากรของกลุ่มประเทศที่เข้าไปทำการสำรวจนั้นไม่ได้มีความรู้สึกรังเกียจพฤติกรรมการละเมิดแต่อย่างใด และที่สำคัญการละเมิดลิขสิทธิ์ยังเป็นสิ่งที่ทำกันเป็นปกติทั่วไปและมีแนวโน้มจะมากขึ้นด้วย   • เปลี่ยนพฤติกรรมไม่ง่ายเหมือนเปลี่ยนกฎหมาย ภาคธุรกิจประสบความสำเร็จในงานล็อบบี้เพื่อทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่กลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆลงมือใช้กฎหมายเหล่านั้นจริงๆ งานวิจัยพบว่าไม่มีวิธีการที่จะปรับให้เกิดสมดุลระหว่างการบังคับใช้กฎหมายและหลักความชอบธรรม • มาเฟียไม่มี แต่ “มาฟรี” นี่สิมาแรงไม่พบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างการละเมิดลิขสิทธิ์กับมาเฟียหรือผู้ก่อการร้ายในประเทศที่เข้าไปทำวิจัย และทุกวันนี้บรรดาพวกที่แอบทำสำเนางานเหล่านี้เพื่อขาย และพวกที่แอบลักลอบนำสินค้าไปขายในประเทศอื่นก็เจอโจทย์เดียวกันกับบรรดาค่ายหนังหรือเพลง นั่นคือปัญหา “ของฟรี” ที่บรรดาคอหนัง คอเพลง เขาแบ่งปันกันผ่านอินเตอร์เน็ตนั่นเอง   • การปราบปรามไม่ได้ผล หลังจากมีการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างเข้มข้นมากว่าทศวรรษ ทีมวิจัยก็ยังไม่พบว่ามันทำ การค้าเทปผี ซีดีเถื่อนพวกนี้ลดน้อยลงเลย   นโยบาย Global Pricingระบบราคาเดียว เสียวทั่วโลกงานวิจัยฉบับนี้เสนอว่าระบบการตั้งราคาแบบที่เรียกว่า Global Pricing ที่ยึดการตั้งราคาตามบริษัทแม่ (ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรป) เป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงค่าครองชีพของผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนา น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคใน รัสเซีย บราซิล อัฟริกาใต้ อินเดีย หรือเม็กซิโก (หรืออาจจะประเทศไทยด้วย) พากันหันไปหาทางเลือก “แผ่นผี”  งานวิจัยระบุว่า อุตสาหกรรมบันเทิงเองก็คาดการณ์ไว้ว่าจะมีการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ถึงร้อยละ 90 ของตลาดในอินเดีย ในขณะที่จะมีการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงประมาณร้อยละ 82 ของตลาดในเม็กซิโก และจะมีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ประมาณร้อยละ 68 ในตลาดรัสเซีย  เรามาดูตัวอย่างการเปรียบเทียบราคาดีวีดีภาพยนตร์ เรื่อง The Dark Knight   ราคาขายในแต่ละประเทศ (บาท) ราคาที่คำนวณตามกำลังซื้อของคนอเมริกัน ราคา “แผ่นผี” ราคา “แผ่นผี”คำนวณตามกำลังซื้อของคนอเมริกัน อเมริกา 720 - - - รัสเซีย 450 2,250 150 750 บราซิล 450 2,565 105 600 อัฟริกาใต้ 420 3,360 84 672 อินเดีย 427.75 19,230 36 1,620 เม็กซิโก 810 4,620 22.5 127.50   ราคาซีดีเพลง อัลบัม Viva La Vida ของวง Coldplay   ราคาขายในแต่ละประเทศ (บาท) ราคาที่คำนวณตามกำลังซื้อของคนอเมริกัน ราคา “แผ่นผี” ราคา “แผ่นผี”คำนวณตามกำลังซื้อของคนอเมริกัน อเมริกา 510 - - - รัสเซีย 330 1,650 150 750 บราซิล 420 2,400 75 420 อัฟริกาใต้ 615 4,920 81 660 อินเดีย 255 11,550 36 1,620 เม็กซิโก 420 2,415 30 172.50   ราคาโปรแกรม Microsoft Office 2007 Home and Student Edition   ราคาขายในแต่ละประเทศ (บาท) ราคาที่คำนวณตามกำลังซื้อของคนอเมริกัน ราคา “แผ่นผี” ราคา “แผ่นผี”คำนวณตามกำลังซื้อของคนอเมริกัน อเมริกา 4,470 - - - รัสเซีย 4,470 22,350 - - บราซิล 3,270 18,630 - - อัฟริกาใต้ 3,420 27,360 - - อินเดีย 3,000 135,000 60 2,700 เม็กซิโก 4,650 26,490 30 120   *ราคา คิดเป็นเงินบาทด้วยอัตรา 30 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ   เหตุที่ของแท้ ราคาไม่ถูก งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่าการตั้งราคาของบริษัทข้ามชาติ นั้นมีจุดประสงค์หลักสองประการคือ• เพื่อปกป้องโครงสร้างราคาในประเทศที่ประชากรมีรายได้สูง ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัท• เพื่อรักษาตำแหน่งผู้ครองตลาดในประเทศกำลังพัฒนาไว้ ในขณะที่รายได้ของประชากรกำลังเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ   ทั้งสองอย่างเป็นกลวิธีการสร้างกำไรสูงสุดสำหรับตลาดทั้งโลก ไม่ใช่ตลาดของแต่ละประเทศ ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้ไม่เกิดการแข่งขันทางราคาอย่างแท้จริงในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ แต่ข้อบกพร่องของแนวคิดนี้คือ ปัจจุบันเทคโนโลยีนั้นมีราคาถูกลงอย่างรวดเร็ว เร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้หลายเท่า จึงทำให้เกิดการบริโภคสื่อดิจิตัลในรูปแบบใหม่ๆ ที่บริษัทยักษ์ใหญ่บันเทิงเหล่านี้ ยังไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร ซึ่งเรารู้ๆ กันอยู่ว่าเทคโนโลยีนี้เองที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” งานวิจัยชิ้นนี้ฟันธงว่า ถ้าอุตสาหกรรมบันเทิงไม่ยอมลงมาแข่งขันกันในตลาดล่าง ก็ต้องยอมรับความแตกต่างระหว่างสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ราคาถูกกับฉบับถูกลิขสิทธิ์ที่ราคาแพงต่อไป --------------------------------------------------------------------------------------------------------3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ >> ราคาของสินค้าบันเทิงที่สูงเกินไป >> รายได้ของประชากรส่วนใหญ่ยังต่ำอยู่>> ความแพร่หลายของเทคโนโลยีราคาถูก-------------------------------------------------------------------------------------------------------- อย่างไรจึงจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เชื่อหรือไม่ว่า “การละเมิดลิขสิทธิ์” ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ นั้น ยังไม่เคยมีใครให้ความหมายหรือขอบเขตที่ชัดเจน งานวิจัยนี้ระบุว่า ความไม่ชัดเจนที่ว่าเกิดขึ้นโดยจงใจ เพราะไม่ต้องการให้เกิดการแยกแยะระหว่างการทำสำเนาด้วยเจตนาต่างๆ กัน ตั้งแต่การกระทำที่ชัดเจนว่าผิดกฎหมาย เช่น การทำสำเนาเพื่อขาย การทำสำเนาภายในขอบเขตของข้อยกเว้นตามกฎหมาย ไปจนถึงการทำสำเนาเพื่อใช้ส่วนตัวซึ่งเมื่อก่อนนี้ถือว่าทำได้ไม่ต้องวิตกว่าจะถูกดำเนินคดี แต่ที่แน่ๆ แม้การการละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายต้องสูญเสียรายได้บางส่วนไป แต่ในขณะเดียวกัน มันเป็นช่องทางในการเข้าถึงสินค้าบันเทิงรวมถึงซอฟต์แวร์ของผู้คนในประเทศกำลังพัฒนาด้วย --------------------------------------------------------------------------------------------------------ความเสียหายอันประเมินค่าไม่ได้สมาพันธ์ซอฟท์แวร์ทางธุรกิจ ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ที่จำนวนมหาศาลถึง 51,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2552 และยังระบุว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้ผู้คนกว่า 750,000 คนต้องตกงาน และทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 2 แสนล้านเหรียญ (กว่า 6 ล้านล้านบาท)  ข้อมูลนี้ฟังดูน่าตกใจและได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างท่วมท้น แต่เอาเข้าจริงไม่มีใครทราบว่าตัวเลขเหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร  บางครั้งก็มีการใช้ข้อมูลยอดขายของสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์มาแสดงถึงความเสียหายของธุรกิจของตนเอง เช่น สมาคมซอฟท์แวร์เพื่อความบันเทิงของสหรัฐฯ ระบุว่าในปี พ.ศ. 2550 นั้นธุรกิจของตนได้รับความเสียหายเป็นมูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 90,000 ล้านบาท) ซึ่งงานวิจัยเล่มนี้พบว่าเป็นการใช้ตัวเลขจากยอดขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นั่นเอง  ทั้งนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าการที่เราซื้อดีวีดีภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์มาหนึ่งแผ่น มันหมายถึงการที่ผู้ประกอบการ (ในที่นี้คือเจ้าของลิขสิทธิ์) ขาดโอกาสในการขายดีวีดีลิขสิทธิ์ของตนเองเสมอไปหรือไม่ พูดง่ายๆ มันก็มีความเป็นไปได้ไม่ใช่หรือ ที่แม้ว่าจะไม่มีแผ่นผีให้ซื้อ เราก็จะไม่ซื้อดีวีดีลิขสิทธิ์ที่มีราคาแพงอยู่ดี --------------------------------------------------------------------------------------------------------   ของแท้ ราคาถูก เป็นไปได้ เรามักได้ข้อมูลจากภาคธุรกิจว่า การมีกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดมากขึ้นจะนำไปสู่การเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมบันเทิงหรือซอฟท์แวร์ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มอัตราการจ้างงาน ส่งเสริมการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ผู้คนในประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสในการเข้าถึงสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ได้มากขึ้นไปเองโดยปริยาย   นี่คือเหตุผลที่ทำให้เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหัวข้อในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศตั้งแต่ช่วงปี 1980 เป็นต้นมา   แต่อุตสาหกรรมบันเทิงไม่เคยพูดถึงเรื่องของการแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยระบบการตั้งราคา   งานวิจัยชิ้นนี้เสนอว่าโลว์คอสต์โมเดล น่าจะเป็นไปได้ถ้ามีบริษัทที่แข่งขันกันด้านราคาและบริการในตลาดท้องถิ่น ซึ่งการแข่งขันลักษณะนี้มีอยู่แพร่หลายทั้งในอเมริกาและยุโรป ซึ่งมีการจำหน่ายสื่อบันเทิงราคาถูกผ่านช่องทางดิจิตัล   ในอินเดียก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จ เพราะที่นั่นบริษัทภาพยนตร์และค่ายเพลงท้องถิ่นครองตลาด และเป็นผู้ตั้งราคาที่ดึงดูดใจผู้คนทุกระดับรายได้ เรียกว่าราคาของแท้ที่นั่นสามารถแข่งกับฉบับละเมิดลิขสิทธิ์ได้เลย   บางแห่งก็ใช้วิธีสนับสนุนการมีซอฟท์แวร์แบบโอเพ่นซอร์ส ซึ่งช่วยจำกัดอำนาจและการตั้งราคาของซอฟท์แวร์ที่จัดจำหน่ายโดยบริษัทได้   งานวิจัยนี้ย้ำว่าผู้ประกอบการในท้องถิ่นนี้เองที่เป็นตัวแปรสำคัญ เพราะบริษัทเหล่านี้จะยอมลดราคาลงเพื่อจับลูกค้าในตลาดล่างให้มากขึ้น เมื่อมีบริษัทพวกนี้มาลงแข่งเพื่อแย่งชิงตลาดผู้บริโภคในท้องถิ่น การแข่งขันจึงสูงตามไปด้วย   ติดตามตอนต่อไป   “การละเมิดลิขสิทธิ์” นั้นนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น ด้วยปัจจัยภายนอกที่กล่าวมาแล้วข้างต้น – ราคาที่แพงเกินรายได้ เทคโนโลยีราคาถูกที่มีแพร่หลาย และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการถกเถียงกันให้ตกว่าทางออกของเรื่องนี้อยู่ที่ไหน การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดขึ้นทั้งในรูปแบบของการปราบปรามทางอินเตอร์เน็ตหรือการตรวจจับอย่างเข้มงวดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำไปสู่ผลเช่นใด และยังไม่เห็นความพยายามจากภาคอุตสาหกรรมในการตั้งเป้าว่า อย่างไรจึงจะถือเป็นความสำเร็จ ต้องใช้อำนาจแค่ไหน หรือจะต้องลงทุนต่อสังคมมากน้อยเพียงใด   แม้แต่ความพยายามในการให้การศึกษากับเด็กรุ่นใหม่ในเรื่องวัฒนธรรมของลิขสิทธิ์ทางปัญญา  ก็ยังไม่มีหลักฐานใดจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค ที่บ่งชี้ว่าจะเด็กรุ่นใหม่จะปฏิเสธการทำสำเนาเพื่อใช้ส่วนตัว หรือจะไม่ซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point