ฉบับที่ 253 ทวงหนี้ผิดกฎหมาย

        ชีวิน เป็นหนี้บัตรเครดิต เขาค้างยอดชำระหนี้อยู่ 20,000 บาท โดยเขาไม่ได้ชำระหนี้เลยเพราะหมดความสามารถ ต่อมาเขาถูกโทรทวงถามหนี้ แต่ว่าเจ้าหนี้ไม่ได้โทรมาทวงที่เขาโดยตรง แต่เป็นฝ่ายเร่งรัดหนี้สินของบริษัทบัตรเครดิตได้โทรศัพท์ไปหาผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านของเขา บอกเล่าให้ผู้ใหญ่บ้านฟังว่า เขาเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่กับบริษัทฯ ให้ผู้ใหญ่บ้านไปบอกชีวินว่า ให้รีบไปใช้หนี้ด่วน ซึ่งชีวินเครียดมาก เขาไม่ได้อยากให้ใครรู้ว่าเขาเป็นหนี้ และก็ไม่เคยบอกบริษัทบัตรเครดิตไว้ว่าให้ทวงหนี้กับผู้ใหญบ้านได้ การโทรทวงหนี้ที่ผู้ใหญ่บ้านของบริษัทบัตรเครดิต ทำให้เขาอับอายอย่างมาก จึงขอคำปรึกษามูลนิธิว่า บริษัทบัตรเครดิตสามารถทวงถามแบบนี้ได้หรือไม่ และเขาควรทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         ปัจจุบันเรื่องการทวงหนี้ได้มีกฎหมายควบคุมและคุ้มครองลูกหนี้ คือ พระราชบัญญัติทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ซึ่งกฎหมายบอกว่า การทวงหนี้ต้องทวงกับลูกหนี้หรือบุคคลที่ลูกหนี้แจ้งไว้ว่าให้ทวงได้เท่านั้น ห้ามแจ้งว่าลูกหนี้เป็นหนี้กับคนอื่นที่ลูกหนี้ไม่ได้แจ้งไว้ การที่บริษัทบัตรเครดิตแจ้งกับผู้ใหญ่บ้านว่าผู้ร้องเป็นหนี้บัตรเครดิตเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การกระทำดังกล่าวส่งผลให้ผู้ร้องเสื่อมเสียชื่อเสียง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย         เมื่อเกิดการทวงหนี้ผิดกฎหมายผู้ร้องสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง คณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ ณ ที่ว่าการอำเภอ เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทบัตรเครดิต  อย่างไรก็ตามเป็นหนี้ก็ควรชำระ หากไม่มีความสามารถชำระเงินได้ตามกำหนด ควรหาทางประนอมหนี้กับทางบริษัทบัตรเครดิต เพื่อไม่ให้ต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบจากการทวงหนี้ผิดกฎหมายและเพื่อไม่ให้เสียเครดิตทางการเงินด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 คนถือบัตรเสริมต้องรับผิดร่วมกับบัตร (เครดิต) หลักทุกกรณีหรือไม่

        ในปีนี้ เชื่อว่าหลายท่านคงมีการปรับตัวในการดำเนินชีวิตไปพอสมควรจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 เรื่องที่จะหยิบยกมาแบ่งปันในวันนี้ ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวการใช้บัตรเครดิต หลายท่านรู้จักและได้ใช้บัตรเครดิต เพราะในยุคนี้ต้องยอมรับว่าการใช้บัตรเครดิตทำให้เราสะดวกมากขึ้น แต่ภายใต้ความสะดวกก็ต้องมีสิ่งที่เราต้องพิจารณาคือการใช้จ่ายอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดหนี้ค้างจนกระทบต่อเงินในบัญชีของเรา          คดีที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง ก็เป็นเรื่องของคนใช้บัตรเสริมของบริการบัตรเครดิต ที่ตอนสมัครก็ไปลงลายมือชื่อในสัญญาสมัครบัตรเครดิตว่า ยอมรับผิดร่วมกับบัตรหลัก  ครั้นพอคนใช้บัตรหลักเป็นหนี้สถาบันการเงินก็มาฟ้องให้คนถือบัตรเสริมร่วมรับผิดด้วยก็เกิดการโต้แย้งกันเพราะคนใช้บัตรเสริมเห็นว่า ตนไม่ควรต้องรับผิดในหนี้ที่ตนเองไม่ได้ร่วมใช้ คดีก็สู้กันจนถึงศาลฏีกาและศาลได้ตัดสินคดีเป็นบรรทัดฐานเพื่อคุ้มครองสิทธิคนถือบัตรเสริม         กล่าวคือ คนถือบัตรเสริมไม่ต้องร่วมรับผิดใช้หนี้ของบัตรหลักเพราะตอนทำสัญญาสถาบันการเงินยึดถือผู้ใช้บัตรหลักเป็นลูกหนี้หลัก อีกทั้งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ระบุชัด ให้ผู้ถือบัตรหลักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด ดังนั้นข้อสัญญาที่ระบุให้คนถือบัตรเสริมต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้บัตรหลักจึงเป็นข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ไม่มีผลใช้บังคับได้          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2560         แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ลงลายมือชื่อในเอกสารเป็นคู่สัญญาและมีข้อกำหนดในข้อ 1 ระบุว่า สมาชิกบัตรหลักและสมาชิกบัตรเสริมตามที่ปรากฏในใบสมัครจะต้องผูกพันร่วมกันในฐานะลูกหนี้ร่วมรับผิดชอบชำระหนี้ค่าสินค้าและหรือบริการอันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตรวมทั้งค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวนั้นมิใช่นิติกรรมประเภทสัญญาที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม เพราะสัญญาบัตรเครดิตนั้นสามารถแยกการใช้จ่ายได้ระหว่างบัตรหลักคือบัตรเครดิตของจำเลยที่ 1 กับบัตรเสริมหรือบัตรเครดิตเสริมที่โจทก์ออกให้จำเลยที่ 2 นอกจากนี้เอกสารก็มิใช่สัญญาค้ำประกันที่จะผูกพันจำเลยที่ 2 ในอันที่จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม โดยเห็นได้ชัดว่าการทำบัตรเครดิตหลักและบัตรเครดิตเสริมนั้น โจทก์มุ่งหมายให้ผู้ใช้บัตรเครดิตหลักซึ่งเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือกว่าผู้ใช้บัตรเครดิตเสริมเป็นลูกหนี้หลัก ทั้งตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ระบุชัดให้ผู้ถือบัตรหลักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด          ดังนั้นข้อกำหนดเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตหลักจะต้องมีมากกว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตเสริมโจทก์จะพิจารณาดูจากเครดิตหรือความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการชำระหนี้จากผู้ถือบัตรหลักคือจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์จึงอนุญาตในการออกบัตรเครดิตเสริมให้แก่จำเลยที่ 2 โดยลักษณะของสัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลยทั้งสองเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ถึงเจตนาในการทำสัญญาของโจทก์ว่า โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตหลักเป็นผู้รับผิดชอบต่อหนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 1 เองและของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเสริมเท่านั้น มิใช่ต้องการให้จำเลยที่ 2 ผู้ถือบัตรเครดิตเสริมต้องมาร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แม้ในเอกสารที่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ในใบสมัครบัตรเสริมจะมีข้อความกำหนดให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมก็ตาม แต่ข้อกำหนดในเอกสารคำขอเปิดบัตรเครดิตเสริมนั้นไม่ถือว่าผูกพันจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ข้อสัญญาดังกล่าวยังถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บริโภคด้วยประกอบกับจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวเป็นผู้ใช้บัตรเครดิตหลักในการก่อหนี้โดยตรงกับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้โดยตรงเพียงคนเดียวที่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ เช่นนี้จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องผูกพันร่วมรับผิดกับหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระต่อโจทก์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ทวงหนี้โหดร้องเรียนได้แล้วนะ

หลายท่านคงหงุดหงิดรำคาญใจจากการถูกโทรศัพท์ทวงหนี้ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีกฎหมายทวงหนี้ (พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558) ออกมาแล้วก็ตาม ก็ยังมีเจ้าหนี้ทวงถามหนี้แบบข่มขู่คุกคาม และมีพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายอยู่ ถ้าเราเป็นหนี้แล้วถูกทวงถามแบบสุภาพชนถือว่าปกติ แต่ผู้ร้องรายนี้ไม่ได้เป็นหนี้และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกหนี้ที่บริษัททวงหนี้โทรมาตามเลย จะทำอย่างไรดี        คุณภูผาร้องเรียนศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ถูกเจ้าหน้าที่บริษัททวงหนี้แห่งหนึ่งโทรศัพท์มาทวงถามหนี้ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ลูกหนี้ชื่อคุณดวงรัตน์(นามสมมติ) เป็นคนที่คุณภูผาไม่รู้จัก ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ของตัวเอง ซึ่งคุณภูผาก็งงว่าทำไมโทรศัพท์มาทวงที่ตนเอง ดวงรัตน์เป็นใครตนเองไม่ได้รู้จักแม้สักนิด การทวงถามนี้คุณเจ้าหน้าที่ของบริษัทไม่แสดงตนว่าชื่อ-นามสกุลอะไร มาจากบริษัทอะไร เมื่อคุณภูผาขอให้แจ้งข้อมูล ชื่อ-นามสกุล ของพนักงานคนดังกล่าว เขาก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมตอบ ทั้งนี้ยังแสดงวาจาไม่สุภาพ ใช้ถ้อยคำหยาบคาบ และข่มขู่คุกคามอีกด้วย คุณภูผาปฏิเสธว่าไม่รู้จักลูกหนี้คนดังกล่าวและตนเองก็ไม่เคยเป็นหนี้บัตรเครดิตใคร จึงวางสายไป  แต่เจ้าหน้าที่ของบริษัทยังโทรศัพท์มาทวงถามซ้ำๆ อีกหลายครั้ง จนเหนื่อยใจ คุณภูผาจึงตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรมาทวงหนี้คือ 02-7912800 จากเว็ปไซด์ www.google.com พบว่าคือเบอร์โทรศัพท์ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ไอคอน แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนในการทวงถามหนี้ของธนาคาร แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นคุณภูผาได้ทำหนังสือไปยังกรรมการผู้จัดการธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ขอให้แก้ไขพฤติกรรมการทวงหนี้ และแสดงความรับผิดชอบโดยมีหนังสือขอโทษเป็นลายลักษณ์อักษรให้ นอกจากนี้ยังทำหนังสือไปถึงผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ขอให้ดำเนินการกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดตามกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้ เวลาผ่านมาหลายเดือนคุณภูผาไม่ได้รับการติดต่อจากธนาคาร หรือผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเลย จึงปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ว่าควรดำเนินการต่ออย่างไรดีประเด็นนี้การกระทำของบริษัททวงหนี้เข้าข่ายการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มาตรา 11 (1) ห้ามข่มขู่คุกคาม บทลงโทษอยู่ในมาตรา 41 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ (2) ห้ามใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้ บทลงโทษอยู่ในมาตรา 39 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   กรุงเทพมหานคร ผู้ร้องสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่ สำนักการสอบสวนและนิติกร กรมการปกครอง กองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสถานีตำรวจนครบาล สำหรับในส่วนภูมิภาค ได้แก่ ที่ทำการปกครองจังหวัดทุกจังหวัด ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอและสถานีตำรวจภูธรทุกท้องที่        ผู้ร้องอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงมีหนังสือไปยังประธานคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานคร (ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล) ขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัท เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และมีหนังสือถึงธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อติดตามผลการดำเนินการกรณีคุณภูผา         สถานการณ์ปัจจุบัน จากการที่ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ระดับประเทศ พบว่าในแต่ละจังหวัดมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมการทวงถามหนี้ค่อนข้างน้อย หรือบางจังหวัดไม่มีเรื่องร้องเรียนเลย ทำให้คณะกรรมการฯ ระดับประเทศเข้าใจว่าลูกหนี้ไม่ถูกละเมิดสิทธิ และบริษัททวงหนี้มีพฤติกรรมการทวงถามหนี้ที่ปฏิบัติตามที่พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558  ทั้งที่จริงๆ แล้วยังมีลูกหนี้อีกเป็นจำนวนมาก ที่ถูกบริษัททวงถามหนี้ข่มขู่ คุกคาม และมีพฤติกรรมการทวงถามหนี้ที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงขอให้ผู้บริโภคทุกท่านที่พบเห็นหรือถูกทวงหนี้ผิดกฎหมาย ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่แนะนำไว้ข้างต้น เพื่อให้บริษัทที่กระทำผิดกฎหมายถูกลงโทษ 

อ่านเพิ่มเติม >