ฉบับที่ 184 เปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและเดบิตเป็น “บัตรชิปการ์ด” แต่ละธนาคารมีเงื่อนไขอะไรบ้าง?

ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะมีการเปลี่ยนแปลงบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต จากบัตรแบบเดิมที่เป็นแบบแถบแม่เหล็ก มาเป็นบัตรแบบ “ชิปการ์ด” (chip card) โดยการใช้งานยังคงสามารถใช้ได้ตามปกติเช่นเดียวกับบัตรแบบเดิม ทั้งการกดเงินหรือทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านตู้เอทีเอ็ม รวมทั้งการใช้บัตรเดบิตใช้จ่ายแทนเงินสดผ่านเครื่องรับบัตรโดยผู้ที่ขอทำบัตรใหม่กับทางธนาคารตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม เป็นต้นมา ก็จะได้รับบัตรแบบชิปการ์ดทันที ส่วนผู้ที่มีบัตรเดิมแบบแถบแม่เหล็กต้องไปดำเนินการขอเปลี่ยนบัตรเป็นแบบชิปการ์ดได้ที่ธนาคารผู้ให้บริการบัตรนั้นๆ ทั้งนี้บัตรชนิดแถบแม่เหล็กยังสามารถใช้งานได้ปกติ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 การขอเปลี่ยนบัตรจากแบบแถบแม่เหล็กเป็นแบบชิปการ์ดนั้น ธนาคารแต่ละแห่งก็มีเงื่อนไขในการเปลี่ยนแตกต่างกัน บางแห่งก็บริการเปลี่ยนฟรีไม่มีค่าบริการ บางแห่งเปลี่ยนฟรีแต่มีเงื่อนไขเรื่องระยะเวลา บางแห่งก็มีการคิดค่าธรรมเนียมปกติไม่ต่างจากการขอทำบัตรใหม่ “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้จึงได้สำรวจเงื่อนไขในการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบแถมแม่เหล็กเป็นแบบชิปการ์ดของแต่ละธนาคารว่ามีความแตกต่างอย่างไรบ้าง            ทำไมต้องเปลี่ยนเป็น “ชิปการ์ด”นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พูดถึงเหตุผลในการให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ในประเทศดำเนินการเปลี่ยนแปลงบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบแถบแม่เหล็กเป็นบัตรแบบชิปการ์ด ไว้ 2 เหตุผลสำคัญ คือ ข้อที่ 1.เรื่องของความปลอดภัย เนื่องจากช่วงก่อนหน้านี้มีข่าวเกี่ยวปัญหาการโจรกรรมปลอมแปลงข้อมูลบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต หรือการ skimming ปรากฏเป็นข่าวบ่อยครั้ง ซึ่งสร้างความเสียหายและมีผลต่อความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยกับผู้ใช้บัตร ซึ่งนางทองอุไรให้ความมั่นใจว่า บัตรแบบชิปการ์ดจะเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้บัตรมากขึ้นกว่าบัตรแบบแถบแม่เหล็ก โดยถือเป็นมาตฐานที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกใช้กัน ทั้งในยุโรป และในประเทศแถบภูมิภาคเอเซียอย่าง มาเลเซีย และ สิงคโปร์ ข้อที่ 2.เป็นการดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2558 ซึ่งนโยบายนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร โดยการปรับเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตจากชนิดแถบแม่เหล็กเป็นแบบชิปการ์ดอยู่ในแผนการดำเนินการโครงการที่ 2 จากทั้งหมด 4 โครงการ เรื่อง “การขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์” ที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงการใช้บัตรและใช้จ่ายทำธุกรรมการเงินต่างๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยภาครัฐจะรับหน้าที่กระจายอุปกรณ์ชำระเงินเพื่อรองรับการใช้จ่ายผ่านบัตร โดยจะเริ่มที่หน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งนี้การเปลี่ยนเป็นบัตรแบบชิปการ์ดก็เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยในการใช้บัตรเดบิตรูดชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ แผนยุทธศาสตร์ National e-Payment เป็นนโยบายที่ภาครัฐใช้เพื่อส่งเสริมการให้ประชาชนในประเทศหันมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ โดยแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ประกอบด้วย 4 โครงการหลัก คือโครงการที่ 1 การรับชำระเงินแบบ Any ID ซึ่งเป็นนโยบายที่จะให้ประชาชนนำเลขที่บัตรประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์มาใช้เป็นรหัสสำหรับทำธุรกรรมทางการเงิน แทนการใช้เลขที่บัญชี ซึ่งจะช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ง่ายมากขึ้น สอดรับไปกับระบบการโอนเงินแบบใหม่ที่มีชื่อว่า “พร้อมเพย์-PromptPay” ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียน พร้อมเพย์-PromptPay ด้วย Any ID ตั้งแต่วันที่ 15. ก.ค.59 เป็นต้นไปโครงการที่ 2 การขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ก็คือการสนับสนุนให้มีการเข้าถึงและใช้จ่ายผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เริ่มด้วยการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตเป็นบัตรแบบ “ชิปการ์ด” เพื่อเพิ่มความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บัตรโครงการที่ 3 ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการพัฒนาการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เพื่อช่วยให้ภาคเอกชนสะดวกสบายในการนำส่งภาษีผ่านระบบออนไลน์ คาดว่าจะพร้อมใช้ในปี 2560โครงการที่ 4 e-Payment ภาครัฐ เป็นแผนที่หน่วยงานภาครัฐจะเลือกใช้วิธีจ่ายค่าสวัสดิการเงินช่วยเหลือต่างๆ ที่จ่ายให้กับภาคประชาชนโดยตรงผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือนธันวาคม 2559 สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนบัตรชิปการ์ด-บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบแถบแม่เหล็กแบบเดิม ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ จนถึง 31 ธันวาคม 2562-จากการสำรวจค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบแถมแม่เหล็กเป็นบัตรแบบชิปการ์ด จะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์เจ้าใหญ่ๆ ที่มีสาขาบริการเยอะๆ ต่างก็ถือโอกาสช่วงปรับเปลี่ยนบัตร ยกเลิกการให้บริการบัตรเอทีเอ็ม(ธรรมดา) ไปในเวลาเดียวกัน เท่ากับว่าตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นปีที่บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตทุกใบจะต้องเป็นบัตรแบบชิปการ์ดทั้งหมด บัตรเอทีเอ็มก็จะไม่สามารถใช้งานได้อีก บัตรพื้นฐานที่สุดก็จะเป็นบัตรเดบิตแบบชิปการ์ดฉลาดซื้อ ฉบับที่ 169 เคยได้สำรวจราคาค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปีเปรียบเทียบระหว่างบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบพื้นฐานเมื่อเดือน มกราคม 2558 พบว่าราคาค่าธรรมเนียมของบัตรทั้ง 2 ชนิด ธนาคารส่วนใหญ่คิดค่าธรรมเนียมในอัตราเดียวกัน คือแรกเข้า 100 บาท รายปี 200 บาท ซึ่งก็ยังเป็นราคาเดียวกับบัตรเดบิตชิปการ์ดแบบพื้นฐานที่คิดค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปีที่ 100 บาท และ 200 บาท ตามลำดับ-บัตรแบบชิปการ์ด จะเพิ่มรหัสบัตรในการใช้งานกับตู้เอทีเอ็มเป็น 6 ตัว จากเดิมที่มีแค่ 4 ตัว ทั้งนี้อาจจะยังมีบางธนาคารที่ยังใช้ 4 ตัวตามเดิม-ควรนำบัตรเก่าไปยืนยันการขอบัตรใหม่ด้วย เพื่อแสดงให้ธนาคารรู้ว่ามา ขอเปลี่ยนบัตร ไม่ใช่ทำบัตรใหม่-จากการสำรวจพบว่าแม้ธนาคารหลายแห่งจะโฆษณาว่าสามารถเปลี่ยนบัตรแถบแม่เหล็กเป็นบัตรแบบชิปการ์ดได้ฟรีไม่มีค่าธรรมเนียม แต่ส่วนใหญ่ก็มีเงื่อนไขของเวลามากำหนด โดยจะให้เวลาถึงแค่ 31 ธ.ค. 59 นี้เท่านั้น ที่แตกต่างก็คือ ธนาคารกรุงไทย ที่ให้เปลี่ยนได้จนถึง 31 ธ.ค. 62 หรือกำหนดวันสุดท้ายที่ยังสามารถใช้บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบเดิม-ธนาคารกสิกรไทย แจ้งว่าไม่คิดค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยน แต่เมื่อไปขอเปลี่ยนบัตร ธนาคารจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งผู้ใช้บัตรสามารถขอคืนค่าธรรมเนียมรายปีของบัตรเก่าตามระยะเวลาที่ไม่ได้ใช้ได้แต่ยังไม่ทันไรก็มีปัญหาเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนบัตรชิปการ์ดของธนาคารกสิกรไทย เมื่อธนาคารมีการตัดค่าธรรมเนียมของผู้เปลี่ยนบัตรโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบ ในช่วงเวลา 02.00-05.00 น.ของวันที่ 12 มิถุนายน 59 ซึ่งมีผู้ร้องเรียนผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก สุดท้ายธนาคารกสิกรไทยก็ออกมายอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของธนาคารเอง โดยทางธนาคารก็ออกมาชี้แจงว่าได้ทำการโอนเงินที่ถูกตัดไปคืนให้กับผู้ใช้บริการที่ได้รับความเสียหายทั้งหมดที่มา: facebook.com/KBankLive-ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กรณีขอเปลี่ยนบัตรต่างสาขากับที่ออกบัตรเดิม จะมีค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 30 บาท-บัตรแบบชิปการ์ดสามารถใช้งานได้กับตู้เอทีเอ็มได้ตามปกติ แต่ในระยะแรกอาจมีตู้เอทีเอ็มบางตู้ในบางพื้นที่ของบางธนาคารที่ยังไม่พร้อมใช้งาน โดยเครื่องเอทีเอ็มที่ยังไม่พร้อมรองรับการใช้งานจะมีการแสดงข้อความให้ทราบที่หน้าตู้   คนไทยใช้บัตรเอทีเอ็มน้อยลง?ข้อมูลจากรายงานระบบการชำระเงิน 2557 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุเอาไว้ว่าการทำธุรกรรมทางการเงินของคนไทยผ่านตู้เอทีเอ็มพบว่า คนไทยชำระเงินและโอนเงินด้วยบัตรเอทีเอ็มในสัดส่วนที่ลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2548 คนไทยชำระเงินและโอนเงินด้วยบัตรเอทีเอ็มอยู่ 418.3 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 6.3% ของมูลค่าการทำธุรกรรมการชำระเงินต่างๆ ของคนไทย แต่ในปี 2557 มูลค่าการชำระเงินและโอนเงินด้วยบัตรเอทีเอ็มลดลงมาอยู่ที่ 373.8 พันล้านบาท หรือแค่ 1.5% ของมูลค่าการทำธุรกรรมการชำระเงินทั้งหมดโดยวิธีการทำธุรกรรมการชำระเงินที่คนไทยเลือกใช้มากที่สุดก็คือ การใช้จ่ายด้วยเงินสด โดยในปี 2557 คนไทยถอนเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มทั้งหมด 7,508. พันล้านบาท หรือ 30.5% ของมูลค่าการทำธุรกรรมการชำระเงินทั้งหมด รองลงมาคือ โอนเงินและตัดเงินล่วงหน้าอัตโนมัติ 6,312.4 พันล้านบาท หรือ 25.7% และการชำระเงินและโอนเงินด้วยบริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ 4,952.8 พันล้านบาท หรือ 20.2% โดยสถิติปัญหาแต่ละเรื่องจะประกอบไปด้วย การขอคำปรึกษา การร้องเรียน และการแจ้งเบาะแส/ให้คำแนะนำ ที่มา: รายงานผลการดำเนินงานของศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ในการให้ข้อมูล/คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียน ปี 2558, ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.)

อ่านเพิ่มเติม >