ฉบับที่ 250 เงินใครไม่รู้เข้าบัญชีเราต้องทำยังไง

        ถ้าเงินในบัญชีธนาคารของเรา จู่ๆ ก็หายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการด่วน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แล้วในทางกลับกันอยู่ดีๆ มีเงินใครจากที่ไหนไม่รู้มาเข้าบัญชีของเรา เราจะเอาเงินนี้ไปใช้ได้หรือไม่ ก็ลาภลอยเห็นๆ ตรงนี้ขอฝากให้คิด เพราะการนำเงินที่ไม่รู้ที่มานี้ไปใช้อาจนำเรื่องร้ายมาให้ก็เป็นได้         ขณะที่คุณจริงใจกำลังทำงานอย่างมุ่งมั่น ข้อความจากเอสเอ็มเอสแจ้งมาว่า มีเงินถูกโอนเข้ามาให้คุณจริงใจ 5,000 บาท คุณจริงใจก็งงว่า ใครว่ะ เพราะเธอก็ไม่มีใครที่เป็นลูกหนี้หรือใครจะมาหยิบยื่นเงินทองให้ตั้ง 5,000 บาท แต่เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจก็ลองโทรศัพท์ถามคนใกล้ชิดว่ามีใครโอนเงินมาให้หรือไม่ ก็ไม่พบว่ามีใครโอนมาให้ ตอนแรกคิดว่าเออ เอาเงินนี้ไปใช้ดีไหม แต่ไม่ดีกว่าเพราะยังไงก็ไม่ใช่เงินเราและหากมีใครโอนผิดมาเดี๋ยวธนาคารก็คงโทรศัพท์ติดต่อมา แต่รออยู่สามวัน ก็ไม่มีใครติดต่อมา จึงปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ควรดำเนินการอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         กรณีมีเงินไม่ทราบที่มาเข้ามาอยู่ในบัญชีเรา สิ่งแรกที่ต้องจำไว้คือ อย่านำเงินดังกล่าวไปใช้ และไม่ควรดำเนินธุรกรรมใดๆ กับเงินในบัญชีจนกว่าจะได้เคลียร์ตัวเองก่อน         สิ่งที่เป็นไปได้อย่างแรกในกรณีที่เราไม่รู้ว่ามีเงินเข้ามาในบัญชีของเรา ซึ่งอาจเกิดจากมีคนโอนเงินผิดบัญชีโดยไม่ตั้งใจ ปกติคนที่โอนผิดจะรีบติดต่อกับธนาคารเพื่อขอให้เราคืนเงินให้ ซึ่งคนที่จะติดต่อกลับมาคือพนักงานธนาคารเพื่อแจ้งเรื่องการโอนผิดและนัดหมายให้เรายินยอมให้ทางธนาคารดึงเงินกลับไปยังบัญชีต้นทาง โดยที่เราไม่ต้องโอนเงินเอง และธนาคารจะแจ้งผลการดำเนินการหรือการทำรายการให้เราเก็บไว้เป็นหลักฐาน         อย่างที่สองเช่นกรณีคุณจริงใจ ที่มีเอสเอ็มเอสแจ้งมา คุณจริงใจควรติดต่อกลับไปยังธนาคารเพื่อแจ้งว่ามีเงินที่ไม่ทราบว่าเป็นเงินโอนจากที่ไหนเข้ามาในบัญชีเรา เพื่อขอให้ทางธนาคารช่วยติดต่อประสานงานให้ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีวิธีปฏิบัติแตกต่างกันก็ปฏิบัติไปตามคำแนะนำของพนักงาน ซึ่งอาจจะยุ่งยากสักหน่อยเพราะเราต้องเป็นฝ่ายไปติดต่อเรื่องเอง (บางทีคนที่โอนผิดก็ไม่รู้ตัวว่าตัวเองโอนเงินผิด)        ทั้งสองกรณีนี้เราไม่ควรยุ่งกับเงินที่ไม่ใช่ของเรา เพราะหากเจ้าของเงินตามกลับมาแล้วเราไม่คืนให้ อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงได้         มีกรณีที่ควรต้องระวังคือ อาจเป็นการตั้งใจโอนเงินผิดเพื่อให้เราเป็นทางผ่านของเงินที่มีที่มาที่ไปไม่ถูกกฎหมาย เช่น อยู่ๆ ก็มีการติดต่อมาจากบุคคลที่เราไม่รู้จักโดยตรงและบอกให้เราโอนเงินกลับไปให้ ถ้าเรารีบร้อนโอนเงินกลับไป กรณีนี้เราอาจกลายเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดร่วมกับพวกมิจฉาชีพได้ ดังนั้นไม่ควรโอนเงินกลับไปเอง ควรดำเนินเรื่องผ่านธนาคาร และควรไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้ด้วยเป็นการยืนยันว่าเรามิได้มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นเกี่ยวกับการโอนเงินเข้ามาผิดนี้แต่อย่างใด   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 ธนาคารหักเงินในบัญชีเพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด

        หลายคนเคยเป็นหนี้บัตรเครดิต การชำระคืนอาจจะจ่ายขั้นต่ำบ้าง จ่ายมากกว่าขั้นต่ำบ้าง จ่ายเต็มจำนวนบ้างซึ่งแล้วแต่สถานการณ์การเงินช่วงนั้น แต่กรณีไม่จ่ายเต็มแน่นอนว่าต้องเสียดอกเบี้ยไปตามระยะเวลาและเงื่อนไขของบัตรเครดิต อย่างไรก็ตามบางครั้งเกิดกรณีรู้สึกว่า ทำไมธนาคารเอาเปรียบเราแบบไม่มีเหตุผล การขัดขืนและใช้สิทธิเพื่อต่อสู้ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ         ภูผา นำสมุดบัญชีธนาคารของตนเองไปปรับยอดบัญชีทุกเดือน แต่ล่าสุดเมื่อเขานำสมุดไปปรับยอดแล้วพบว่าเงินหายจากบัญชีไปประมาณ 4,000 บาท เขาจึงรีบไปสอบถามธนาคารว่า เงินเขาหายไปไหน 4,000 บาท ทั้งที่เขาไม่ได้เบิกเงิน ธนาคารบอกว่า เขาเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่ประมาณ 40,000 บาท ธนาคารจึงหักเงินฝากของเขาชำระหนี้ของธนาคาร เขาไม่แน่ใจว่าธนาคารสามารถหักเงินในบัญชีของเขาได้จริงเหรอ จึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีของคุณภูผา เมื่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำให้เขาทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรสอบถามไปยังธนาคารว่าเงินในบัญชีหายไปไหน เมื่อธนาคารตอบกลับมาเป็นหนังสือจึงทำให้ทราบว่า ปัจจุบันหนี้ของคุณภูผาถึงกำหนดชำระแล้ว ธนาคารจึงอาศัยอำนาจตามกฎหมายและข้อตกลงเงื่อนไขการใช้บัตรเพื่อใช้หักกลบลบหนี้กับบัญชีเงินฝากของเขา จำนวนเงิน 4,000 บาท (สงสัยกันใช่ไหมว่า ข้อตกลงเงื่อนไขการใช้บัตรเพื่อใช้หักกลบลบหนี้กับบัญชีเงินฝาก เราไปตกลงกับเขาตั้งแต่เมื่อไหร่ เรื่องที่หลายคนอาจไม่รู้คือ เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเราได้เซ็นเอกสารการขอใช้บริการบัตรเครดิต ข้อตกลงพวกนี้จะแทรกอยู่ในเอกสารต่างๆ ที่ธนาคารส่งให้เราเซ็นลายมือชื่อ)         คุณภูผาให้ข้อมูลว่า เขาเป็นหนี้บัตรเครดิตประมาณ 40,000 บาทจริง แต่เป็นปัญหาที่ยังค้างคากันในชั้นศาล เนื่องจากตอนที่เขาใช้บัตรเครดิตนั้น เขาจ่ายเงินชำระหนี้แบบมากกว่าขั้นต่ำแต่ไม่เต็มจำนวน และในช่วงเวลาที่บัตรเครดิตของเขาใกล้หมดอายุ ธนาคารไม่ได้ส่งบัตรใหม่มาให้ แต่มีพนักงานธนาคารโทรศัพท์มาบอกให้ชำระหนี้ทั้งหมดแทน  เขารู้สึกเหมือนว่าธนาคารไม่ไว้ใจให้เขาใช้บัตรเครดิตของธนาคารอีกหรือไม่ จึงไม่ส่งบัตรใหม่ให้และเรียกให้คืนเงินทั้งหมด เมื่อลองเจรจาว่าขอผ่อนชำระอย่างเดิมได้ไหม พนักงานบอกเขาว่าไม่สามารถผ่อนได้ต้องชำระเต็มจำนวนเท่านั้น เขาจึงกลายเป็นลูกหนี้ของธนาคาร ทั้งที่เขาก็สามารถผ่อนจ่ายบัตรเครดิตตรงงวดมาโดยตลอดไม่ใช่ว่าไม่เคยจ่ายจนเสียเครดิต  ตรงนี้เขาก็ไม่เข้าใจธนาคารเหมือนกันว่า ทำไมถึงทำกับเขาแบบนี้        จากนั้นเมื่อเขาได้สอบถามถึงเรื่องคะแนนสะสมในบัตรเครดิต ซึ่งบัตรนี้มีคะแนนอยู่ในบัตร 10,000 กว่าคะแนน ธนาคารตัดบัตรเขาอย่างนี้แล้วคะแนนในบัตรที่เขาสะสมไว้จะทำอย่างไร ส่วนนี้ธนาคารไม่มีคำตอบให้กับเขา เขาจึงไม่ต้องการจ่ายเงินให้ธนาคารจนกว่าจะได้คำตอบ เมื่อธนาคารทวงถามหนี้อยู่เรื่อยๆ และยืนยันว่าต้องชำระเต็มจำนวนไม่เช่นนั้นธนาคารจะฟ้องร้องดำเนินคดี เขาก็ตัดสินใจว่าคงต้องใช้วิธีสู้กันในศาล สุดท้ายจึงเป็นคดีกันในท้ายที่สุด         ณ เวลานั้น คุณภูผาไปขึ้นศาลต่อสู้คดีตามกฎหมาย ในชั้นศาล ทนายของธนาคารซึ่งเป็นทั้งทนายและผู้รับมอบอำนาจช่วงของธนาคาร ได้เจรจาและทำข้อตกลงกับคุณภูผาว่า ให้เขาชำระหนี้จำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยภายในเดือนนี้(เดือนที่มีการเจรจากันในชั้นศาล) ถ้าชำระเรียบร้อยนัดหน้าทนายจะมาถอนฟ้อง ซึ่งศาลก็บันทึกในรายการกระบวนพิจารณาคดีพร้อมลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายและนัดหมายครั้งถัดไป หลังกลับจากศาลเขาก็นำเงินไปชำระกับธนาคารตามข้อตกลงแต่พนักงานธนาคารบอกว่า เขาไม่สามารถชำระได้ต้องชำระยอดเต็มเท่านั้น(ยอดเต็มคือ 40,000 บาท) เขาพยายามอธิบายว่าเขาได้ไปขึ้นศาลและตกลงกับผู้รับมอบอำนาจของธนาคารแล้ว แต่ธนาคารก็ยืนยันว่ารับชำระหนี้ยอด 20,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ตามที่ตกลงกับผู้รับมอบอำนาจไม่ได้ ต้องชำระตามยอดเต็มตามฟ้องเท่านั้น         คุณภูผาได้รับคำแนะนำจากนักกฎหมายว่า ให้นำเงินที่ต้องชำระ(ตามข้อตกลง) จำนวน 21,000 บาทไปทำเรื่องขอวางเงินไว้ที่ศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ต่อมาเมื่อถึงวันที่ศาลนัดหมาย คุณภูผาถามทนายซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากธนาคารว่า เขาไปชำระหนี้ตามที่ตกลงกันแล้ว แต่ไม่สามารถทำได้ ทนายความกลับบอกเขาว่า ผมไม่มีอำนาจตัดสินใจ จะขอนำเรื่องลดยอดหนี้ไปปรึกษากับธนาคารว่าจะลดให้เขาได้มากน้อยเพียงใด เขาก็สงสัยว่าในเมื่อทนายความเป็นผู้รับมอบอำนาจก็ต้องถือว่าเป็นตัวแทนของธนาคารแล้ว เมื่อผู้รับมอบอำนาจทำข้อตกลงก็ต้องผูกพันถึงธนาคารด้วยในฐานะตัวแทน ทำไมมาให้เหตุผลย้อนแย้งอีก หลังจากนั้นก็มีการนัดมาศาลอีกหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะทนายความยืนยันให้เขาชำระเงินตามยอดที่ฟ้องมาให้ได้ สุดท้ายศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ภูผาชำระหนี้จำนวน 40,000 กว่าบาท ตามที่ธนาคารฟ้องมา คุณภูผาก็งงไปว่า การตกลงของเขากับทนายความที่รับมอบอำนาจและศาลก็บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาคดี ซึ่งทั้งเขาและทนายก็เซ็นชื่อยอมรับข้อตกลงนี้ด้วยแล้ว ทำไมศาลถึงพิพากษาให้เขาต้องชำระหนี้จำนวนเต็มตามที่ฟ้องอีก         เมื่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นออกมาแบบนั้น คุณภูผาก็ขอสู้ต่อในชั้นอุทธรณ์เพื่อให้คลายสงสัยว่า ข้อตกลงในรายงานกระบวนพิจารณาที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับและลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานไม่สามารถใช้บังคับได้จริงหรือ        แต่ในขณะที่รอคำตัดสินในชั้นศาลอุทธรณ์ธนาคารกลับมาหักเงินจากบัญชีของเขาไปก่อน ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงทำหนังสือให้ธนาคารยุติการหักเงินและคืนเงินให้แก่คุณภูผาก่อน เพราะถือว่าคดีความยังไม่สิ้นสุด         ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คุณภูผาชำระหนี้เพียง 21,000 บาท ตามข้อตกลงในรายงานกระบวนพิจารณา เพราะถือว่าข้อตกลงในรายการกระบวนพิจารณาเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันตามกฎหมาย         ดังนั้นแล้ว ธนาคารจะใช้สิทธิในการหักเงินจากบัญชีธนาคารเพื่อนำเงินไปใช้หนี้จำนวน 40,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยไม่ได้ ธนาคารต้องรับยอดหนี้ที่คุณภูผาฝากไว้ที่ศาล 21,000 บาทไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ต่อมาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิทราบว่า ธนาคารได้จัดการคืนเงินที่หักจากบัญชีธนาคารคืนกลับให้แก่คุณภูผาแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 กระแสต่างแดน

เปลี่ยนแล้วปังปัจจุบันผู้ประกอบการค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นเริ่มหันมาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมกันมากขึ้น นี่คือข้อสรุปจากรายงานของ Baptist World Aid Australia ที่สำรวจแบรนด์เสื้อผ้า 407 แบรนด์มีผู้ได้คะแนนสูงสุด (A+) แปดราย แต่ที่น่าสนใจคือแบรนด์ที่เคยได้คะแนน B- เมื่อห้าปีก่อนอย่าง Cotton On สามารถเพิ่มคะแนนจริยธรรมการประกอบการของตนเองขึ้นมาเป็นระดับ A ได้สวยๆ  บริษัทยอมรับว่าผลสำรวจคราวก่อนเป็นแรงผลักดันให้คิดใหม่ทำใหม่ ต้องเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบ บริษัทแสดงรายชื่อโรงงานกว่า 2,500 แห่งที่ผลิตสินค้าของบริษัทให้ผู้สนใจเข้าดูได้ในเว็บไซต์ นอกจากนี้ยังให้ทุนสนับสนุนไร่ฝ้ายในเคนยาที่มีการจ้างงานคนท้องถิ่นกว่า 1,500 คน และมีโครงการรับเสื้อผ้าเก่าจากลูกค้ากลับไปรีไซเคิลด้วย  ในขณะเดียวกันรายที่ได้คะแนนต่ำอ้างว่าการสำรวจนี้ให้เวลาน้อยเกินไป ถามคำถามจุกจิก และเกณฑ์ของผู้สำรวจไม่ตรงกับเกณฑ์ที่บริษัทใช้อยู่ อืม...นะ(เผื่อคุณสงสัย... Zara และ H&M ได้คะแนน A- และ B+ ตามลำดับ)  ปิดบัญชีตำรวจเซี่ยงไฮ้กำลังจับตาบัญชีธนาคารที่ไม่มีเงินฝาก เพราะมีแนวโน้มจะเป็นบัญชีที่แก๊งมิจฉาชีพใช้หลอกลวงให้คนโอนเงินผ่านมือถือหรืออินเทอร์เน็ต ล่าสุดเขาสั่งปิดบัญชีแบบนี้ไป 405 บัญชี หน่วยปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และโทรคมนาคมของเซี่ยงไฮ้ พบว่ามีโทรศัพท์ “น่าสงสัย” วันละไม่ต่ำกว่า 2,000 สาย โดยคนที่โทรมามักแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเป็นผู้ดูแลที่อยู่อาศัยที่ ทางการส่งมา การหลอกลวงรูปแบบนี้แพร่ระบาดมากขึ้น สองปีก่อนตอนที่เริ่มก่อตั้งหน่วยฯ สถิติโทรศัพท์โทรศัพท์หลอกลวงอยู่ที่วันละ 100 สายเท่านั้น นอกจากจะตามปิดบัญชีเปล่าแล้ว หน่วยนี้ยังจัดการอบรมให้กับกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่ผู้สูงอายุ นักศึกษา มหาวิทยาลัย และพนักงานฝ่ายบัญชีของบริษัทต่างๆ ด้วย  “คุณกำลังคิดอะไรอยู่”เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสมีที่อยู่อาศัยที่ดี กฎหมาย Fair Housing Act ของอเมริกาจึงห้ามการโฆษณาขายหรือให้เช่าที่อยู่อาศัยแบบเลือกปฏิบัติตามเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เพศ ความพิการ หรือสถานะครอบครัว  ล่าสุด กลุ่มผู้รณรงค์ด้านที่อยู่อาศัยร่วมกันฟ้อง facebook ที่ยอมให้มีการเจาะจงเลือกเสนอโฆษณาขายหรือให้เช่าบ้านกับคนบางกลุ่ม ในขณะที่ “ผู้หญิง” และ “ครอบครัวที่มีเด็ก” เสียโอกาสในการมีที่อยู่อาศัยเพราะไม่สามารถมองเห็นโฆษณานั้นได้  องค์กรพัฒนาเอกชน ProPublica เคยทดลองปลอมเป็นตัวแทนขายบ้านและซื้อโฆษณากับ facebook โดยระบุเงื่อนไขว่าไม่ต้องแสดงโฆษณาดังกล่าวกับ คนเชื้อสายยิว ชาวต่างชาติจากอาร์เจนตินา คนที่พูดภาษาสเปน คนที่เคยแสดงความสนใจเรื่องทางลาด และคุณแม่ชาวอัฟริกันอเมริกันที่มีลูกกำลังเรียนมัธยมปลาย สิ่งที่เขาพบคือ facebook ยินดีจัดให้ตามนั้นจริงๆ  จัดก่อนจรการใช้จักรยานร่วมกัน (bike sharing) กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในเยอรมนี ขณะนี้มีผู้ให้บริการไม่ต่ำกว่าสิบบริษัทในเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ แน่นอนการเปลี่ยนมาใช้จักรยานเช่านั้นมีข้อดีหลายอย่าง ตามข้อตกลงการใช้ ผู้ขับขี่สามารถจอดจักรยานไว้ตรงไหนก็ได้เพื่อให้คนที่ผ่านมาใช้แอปเปิดล็อกและใช้ต่อได้เลย แต่สิ่งที่เริ่มเป็นปัญหาตอนนี้คือ จักรยานที่จอดเกะกะอยู่ทั่วทั้งเมือง ตั้งแต่กลางทางเท้า เลนจักรยาน หรือแม้แต่ในสวนสาธารณะ เมื่อจำนวนจักรยานดูเหมือนจะมากเกินพื้นที่จอด หลายเมืองในเยอรมนีจึงต้องรีบออกมาจัดระเบียบ เมืองโคโลญกำหนดโซนห้ามจอดจักรยานแล้ว ในขณะที่มิวนิคและแฟรงค์เฟิร์ตจัดพิมพ์คู่มือให้ผู้ประกอบการนำไปใช้กำหนดพื้นที่จอด รวมถึงจำนวนจักรยานที่อนุญาตให้จอดได้ต่อหนึ่งจุดด้วยด้านสมาคมจักรยานก็กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนพื้นที่จอดรถเป็นพื้นที่จอดจักรยานเสียเลย วนิลาบุกป่าไม่นานมานี้ มาดากัสการ์เบียดเม็กซิโกขึ้นมาเป็นผู้ผลิตวนิลาอันดับหนึ่งของโลก ด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นถึงสิบเท่าในรอบห้าปีที่ผ่านมา(ปัจจุบันกิโลละประมาณ 16,000 บาท) ใครๆ ก็อยากปลูกสิ่งที่เกิดตามมาคือการถางป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกวนิลา และอัตราการเกิดอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่การลักขโมยผลผลิต การข่มขู่รีดไถโดยกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น ไปจนถึงการลงมือทำร้ายหรือสังหาร “ผู้ร้าย” โดยกลุ่มชาวบ้านที่ไม่ต้องการพึ่งพาตำรวจพืชที่ให้กลิ่นรสหอมหวานนี้ยังกลายเป็นสินค้าหลักในการฟอกเงินของขบวนการลักลอบค้าไม้พยูงไปยังประเทศจีนอีกด้วย  ถ้าเหตุการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป เกาะมาดากัสการ์ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกและมีความหลากหลายทางชีวภาพอันน่าทึ่งนี้คงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 เบื่อไหม ขายพ่วง

เดี๋ยวหากผู้บริโภค อย่างเราๆ เริ่มมีทางเลือกมากมาย แค่ไปเปิดบัญชีในธนาคาร   อันดับแรกของการเปิดบัญชีคือคำถามจากเจ้าหน้าที่ธนาคาร  ว่า “ทำบัตร ATM  ด้วยมั้ยคะ”  ถ้าคุณตอบว่าทำ คำถามต่อไปคือ “จะทำแบบไหนดีคะ  จะทำแบบบัตร ATM อย่างเดียว   หรือทำประกันด้วย” หากทำบัตรATM  อย่างเดียวโดยไม่ซื้อพ่วงประกันคุณจะกดเงินในบัญชีของคุณได้ 50,000 บาทต่อวัน   แต่หากซื้อประกันพ่วงด้วย  นอกจากความคุ้มครองตามวงเงินเอาประกันที่มีให้เลือกแบบหลากหลายแล้ว     ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ      คุณจะสามารถ กดเงินในบัญชีของคุณเองได้มากกว่าการทำบัตร ATM อย่างเดียว ถึง 3 เท่า  นั่นคือ วันละ 150,000  บาทประเด็นอยู่ตรงนี้ คือการกำหนดวงเงินที่กดใช้ได้แต่ละวันที่ไม่เท่ากัน ทั้งๆที่ ไม่ว่าผู้บริโภคจะเลือกทำบัตรแบบไหน  การกดเงินก็คือเงินในบัญชีของเราเอง   ไม่ได้เกี่ยวกับการซื้อประกันใดๆ เลย การนำเรื่องการใช้วงเงินในบัญชีของเรามาเป็นข้อกำหนด  เป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อประกัน น่าจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่ผู้เขียนได้ไปทำหน้าที่ สว.  และได้คุยแลกเปลี่ยนกับ กรรมาธิการ การเงินการธนาคาร บางท่าน ถึงเรื่องนี้ก็ได้คำตอบว่า   “ธนาคารเข้ามีสิทธิกำหนด ผู้บริโภค ก็มีทางเลือก หากผู้บริโภคไม่พอใจก็ไปธนาคารอื่นเลย”(คำตอบแบบนี้งง!  มากกว่าเก่าอีก) เพราะไปธนาคารไหนๆ ข้อกำหนดก็ล้วนเอาเปรียบผู้บริโภคอยู่ดี คำถาม คือปัญหา เหล่านี้ ใคร? หน่วยงานไหน? บ้างที่มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง   อย่าตอบนะว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย   เพราะวันนี้ก็มีอยู่แต่ไม่เห็นแก้ปัญหาอะไรได้เลย      สังคมไทยกำลังเข้าสู่ โหมดของการปฏิรูป   เรื่องสำคัญที่ต้องรีบปฏิรูป คือ เรื่องการเงินการธนาคาร  ที่แสนจะเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเช่นทุกวันนี้   การที่จะลดความขัดแย้งได้ดีที่สุดคือทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม ในระยะเวลาอันใกล้นี้คงไม่มีใครที่จะเป็นที่พึ่งได้ดีเท่าพี่ ทะ-หาน   และจะให้ดีมากขึ้น  พี่ทะ-หาน ช่วยผลักให้ “พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว  เพื่อเป็นที่พึ่งของผู้บริโภคในระยะยาว  อย่างยั่งยืน   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 ฝรั่งออสเตรเลีย ฟ้อง ธ.กรุงไทย หลังโดนหักเงินในบัตรเดบิตไม่ทราบเหตุ

ฝรั่งออสเตรเลียฟ้องธนาคารกรุงไทย ฐานหักค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้ใช้ เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1.25 แสน ศาลพิพากษาธนาคารผิดจริงให้จ่ายค่าเสียหายตามที่เรียกพร้อมค่าเสียหายเชิงลงโทษอีก 120,000 บาทเจฟฟรี ชายชราชาวออสเตรเลีย เข้ามาใช้ชีวิตบั้นปลายอาศัยอยู่ในเมืองไทยที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณปี 2548 เขาเปิดบัญชีออมทรัพย์ กับธนาคารกรุงไทย สาขาแม่สะเรียง เพื่อฝากเงินที่ได้รับจากสวัสดิการผู้สูงอายุประเทศออสเตรเลีย และเปิดใช้บริการบัตรเดบิตผ่านบัญชีดังกล่าวต่อมาราวปลายปี 2554 เจฟฟรี ใช้บัตรเดบิตเบิกเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม พบความผิดปกติว่าเงินในบัญชีลดลงอย่างมาก จึงติดต่อกับธนาคารกรุงไทย สาขาแม่สะเรียงเพื่อให้ตรวจสอบการหักเงินจากบัญชีเงินฝาก ผลการตรวจสอบของธนาคารพบว่า  มีรายการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่ประเทศสหรัฐอเมริกา  ติดต่อกันในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2554 เป็นเงินประมาณ 120,000 กว่าบาท ซึ่งการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นการใช้จ่ายที่ต้องใช้บัตรเดบิตพร้อมกับการลงลายมือชื่อของเจ้าของบัตรเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการซื้อสินค้าหรือบริการที่สามารถชำระด้วยการโอนเงินโดยใช้บัตรเดบิตพร้อมกับรหัสประจำตัวได้ปัญหาอยู่ตรงที่ รายการใช้จ่ายซื้อสินค้าดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่เจฟฟรียังพำนักพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย และบัตรเดบิตก็อยู่กับตัวเขาตลอดเวลา เจฟฟรีจึงมีหนังสือถึงธนาคารปฏิเสธรายการใช้บัตรเดบิตและเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธร จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานทันทีที่ทราบเรื่อง ต่อมาธนาคารกรุงไทยได้แจ้งผลการตรวจสอบรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต และปฏิเสธการคืนเงินให้กับเจฟฟรี อ้างว่าเป็นการใช้บัตรซื้อสินค้าและบริการตามปกติ ไม่ใช่การทำธุรกรรมของมิจฉาชีพ   แนวทางแก้ไขปัญหาหลังได้รับเรื่องร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ส่งอาสาสมัครขึ้นไปที่ จ.แม่ฮ่องสอนเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับเจฟฟรีและภรรยาชาวไทย และพยายามนัดเจรจากับ ธ.กรุงไทย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าใดนัก ด้วยข้ออ้างว่าธนาคารมีประสบการณ์ในการแยกแยะการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตของคนธรรมดาทั่วไปกับมิจฉาชีพ หากเป็นการใช้จ่ายของมิจฉาชีพจริง เมื่อปลอมบัตรหรือได้รหัสผ่านแล้วจะรีบนำเงินออกจากบัญชีให้เร็วที่สุด ไม่ใช่ใช้บัตรเดบิตเดินช้อปปิ้งซื้อของเล็กบ้างใหญ่บ้าง แถมยังใช้บัตรเดบิตจ่ายค่าแท๊กซี่ปรากฏอยู่ด้วย เป็นสภาพของการซื้อใช้สินค้าและบริการตามปกติของผู้คนทั่วไปที่ใช้บัตรเดบิตของตัวเอง จึงยืนกระต่ายขาเดียวปฏิเสธการคืนเงินให้แก่เจฟฟรีเมื่อหมดหนทางการพูดคุยในทางปกติ เราจึงถามใจเจฟฟรีว่าจะสู้กับธนาคารต่อหรือไม่ เจฟฟรีบอก ผมอยากได้รับความเป็นธรรม ผมไม่ได้เป็นคนซื้อสินค้าเหล่านี้ ธนาคารต้องคืนเงินให้กับผมวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 จึงเป็นวันที่เจฟฟรีเข้ายื่นฟ้องธนาคารกรุงไทย เป็นคดีผู้บริโภค กล่าวหาธนาคารกรุงไทยมีความผิดฐานผิดสัญญาการใช้บัตรเดบิต เรียกค่าเสียหาย 125,357 บาท พร้อมดอกเบี้ยในวันที่  7  พฤศจิกายน  2555   ศาลแขวงพระนครใต้ พิพากษาให้ ธนาคาร กรุงไทย จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้กับเจฟฟรี เป็นเงินตามจำนวนที่ฟ้อง พร้อมกับสั่งให้ธนาคารกรุงไทย จ่ายค่าเสียหายเชิงลงโทษตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เนื่องจากพบว่ามีการกระทำที่มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม เพิ่มอีก 120,599.35 บาท  รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 245,956.46 บาทเหตุที่ศาลชั้นต้นให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายชนะคดี เพราะว่าเมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงแล้วฟังได้ว่า กรณีนี้ธนาคารกรุงไทยยอมรับว่ามีผู้นำบัตรเดบิตที่ออกให้กับนายเจฟฟรี ไปใช้ในต่างประเทศจริงและทราบด้วยว่าใช้ที่ไหนบ้าง ซึ่งในการให้บริการดังกล่าวจะต้องมีเซลล์สลิปการใช้บริการหรือลายมือชื่อลูกค้าเป็นหลักฐาน แต่ธนาคารกลับไม่นำหลักฐานที่ว่ามาแสดงต่อศาล อีกทั้งพยานของธนาคารเองยังเบิกความย้ำว่า จากประสบการณ์ทำงานที่ยาวนานสันนิษฐานได้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากการถูกขโมยบัตรเดบิตไปใช้จริง ซึ่งหากมีกรณีบัตรถูกขโมยไปใช้นั้น ธนาคารจะไม่ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามสัญญาให้บริการ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับข้ออ้างของเจฟฟรีที่ยืนยันว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ใช้บัตรในช่วงขณะดังกล่าวดังนั้นเมื่อธนาคารไม่มีหลักฐานมาแสดงต่อศาลเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ว่าผู้บริโภคเป็นผู้ใช้เองหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นนำไปใช้ ธนาคารจึงไม่มีสิทธินำรายการดังกล่าวมาหักเงินจากบัญชีธนาคารของลูกค้า เมื่อธนาคารหักเงินจากบัญชีธนาคารของลูกค้าไปแล้ว ธนาคารจึงต้องคืนเงินที่หักไปจากบัญชีของลูกค้าทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยหักเงินไปจากบัญชี และการที่ธนาคารทราบอยู่แล้วว่า กรณีนี้เกิดจากการมีบุคคลอื่นขโมยบัตรเดบิตของลูกค้าไปใช้ เมื่อลูกค้าทวงถามแล้ว แต่ธนาคารกลับปฏิเสธไม่คืนเงินให้กับลูกค้า จึงถือว่าธนาคารมีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินชดเชยความเสียหายทั้งค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงและเงินในเชิงลงโทษให้กับเจฟฟรีตามจำนวนที่กล่าวมา และยังสั่งให้ธนาคารชำระค่าธรรมเนียมต่อศาลรวมทั้งค่าทนายความจำนวน 5,000 บาทแทนนายเจฟฟรีอีกด้วย“ผมรู้สึกพอใจกับคำพิพากษาของศาลไทยเป็นอย่างมาก ผมดีใจที่ได้ความยุติธรรมกลับคืนมา เนื่องจากการจ่ายเงินคืนของธนาคารเป็นการกระทำที่เอาเปรียบผู้บริโภคมาก ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวมีความจำเป็น แม้จะไม่มากมายแต่ก็เป็นเงินเพื่อใช้ในการยังชีพของผมที่อายุมากและภรรยา  ซึ่งผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ต้องเจอแบบนี้เหมือนกัน อยากให้ธนาคารให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมากกว่านี้” เจฟฟรี กล่าวนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า กรณีนี้เป็นคดีตัวอย่างสำหรับผู้บริโภค ที่ถูกธนาคารในฐานะผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบและจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะการกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษกับธนาคาร  ที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีของการป้องปรามหรือยับยั้งไม่ให้ผู้ประกอบการทำเช่นนี้กับใครอีก โดยเฉพาะการที่จำเลยในคดีนี้เป็นรัฐวิสาหกิจควรต้องมีการประกอบการที่สุจริตเป็นที่น่าเชื่อถือต่อนานาชาติ“ในคดีนี้กระบวนพิจารณาของศาลก็รวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคอย่างแท้จริง ทำให้ผู้บริโภคได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงทีโดยไม่ต้องรอนาน ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย  ทั้งนี้ศูนย์ทนายความอาสาฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะนำผลของคดีนี้ไปศึกษา เพื่อขยายผลและสร้างให้เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายต่อไป ” นายเฉลิมพงษ์กล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 ถูกตัดบัญชีเงินเดือนทั้งหมดโดยยังไม่มีหมายศาล

ต้องเรียกว่า 100% เต็มครับที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารกรุงเทพทั้งนั้นและได้ร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าถูกธนาคารดอกบัวหลวงยึดเงินในบัญชีไปโดยไม่มีการบอกกล่าวหรือมีหมายบังคับคดีจากศาลแต่อย่างใด ที่สำคัญคือบัญชีที่ถูกยึดเป็นบัญชีเงินเดือนวันที่ 24 ธันวาคม 2552 เป็นวันสุดช็อคของคุณสุวรรณ(นามสมมติ) เพราะอยู่ดีๆ เงินในบัญชีร่วมสี่หมื่นกว่าหายกลายเป็นศูนย์โดยไม่มีการบอกกล่าว“วันนั้นดิฉันไปกดเงินจากบัญชีธนาคารกรุงเทพซึ่งเป็นบัญชีสำหรับโอนเงินเดือนเข้าแต่พบเงินในบัญชีมียอดเงินเป็นศูนย์บาท ตกใจมากค่ะทีแรกคิดว่าเงินหายจึงโทรสอบถามไปที่คอลเซนเตอร์ ได้รับแจ้งให้ติดต่อไปอีกหมายเลขหนึ่ง ก็กดโทรไปถามจึงได้รับแจ้งว่า ธนาคารเป็นผู้หักเงินในบัญชีไปทั้งหมดจริงเพื่อนำไปชำระหนี้บัตรเครดิตของธนาคารกรุงเทพที่ดิฉันติดค้างชำระอยู่  เจ้าหน้าที่แจ้งว่าธนาคารมีสิทธิจะทำได้เนื่องจากดิฉันทำสัญญาไว้”คุณสุวรรณงงเหมือนเพลงไก่นาตาฟาง ว่าตนเองไปทำสัญญาบ้าๆ แบบนี้ตอนไหนที่ไปอนุญาตให้ธนาคารหักเงินซะหมดเกลี้ยงจนไม่มีจะกิน…คุณวรพลเป็นลูกหนี้บัตรเครดิตของธนาคารกรุงเทพอีกรายที่ประสบชะตากรรมในลักษณะเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 ญาติของคุณวรพลได้โอนเงินมาใช้หนี้ของพี่ชายจำนวน 12,500 บาท เข้ามาบัญชีของคุณวรพล พอวันที่  29 ธันวาคม 2552 คุณวรพลจะไปกดเงินมาให้พี่ชาย แต่ว่าไม่มีเงินอยู่แม้แต่บาทเดียว ไปสอบถามทางธนาคารบอกคุณเป็นหนี้บัตรเครดิต ทางบัตรเครดิตได้หักเงินไปแล้ว สุดท้ายคือคุณสมคิด ถูกธนาคารกรุงเทพอายัดเงินในบัญชีเงินเดือนไปทั้งหมด เพื่อชำระหนี้บัตรเครดิต จำนวนสองหมื่นกว่าบาท โดยคุณสมคิดเข้าใจว่า การที่ธนาคารจะทำเช่นนี้ได้จะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของบัญชีเสียก่อนการยึดเงินในบัญชีเพื่อนำไปชำระหนี้โดยไม่มีการบอกกล่าวกับลูกหนี้ของธนาคารแห่งนี้ ทำให้ลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก อย่างกรณีของคุณสุวรรณเธอบอกว่า เงินที่ถูกยึดไปนั้นเป็นเงินเดือนและโบนัสที่ได้มาและจะนำมาเคลียประนอมหนี้เจ้าหนี้ที่มี  และเป็นค่าใช้จ่ายจิปาถะในแต่ละเดือนของครอบครัว และเมื่อไม่มีเงินเหลือเลยแม้แต่บาทเดียว ทำให้ต้องไปกู้หนี้ยืมสินญาติพี่น้องเพื่อมาประทังชีวิตแนวทางแก้ไขปัญหาการที่ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้จะถูกยึดทรัพย์ อายัดเงินทั้งที่เป็นเงินเดือนหรือเงินในบัญชีที่ฝากไว้กับธนาคารได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่เจ้าหนี้จะทำได้โดยพลการ เพราะตามกระบวนการทางกฎหมายแล้วเจ้าหนี้จะต้องไปฟ้องร้องต่อศาลจนมีคำพิพากษาออกมา หากลูกหนี้ก็ยังไม่มีปัญญาหาเงินมาชำระหนี้ได้นั่นแหละ ทางเจ้าหนี้ถึงจะไปร้องขอต่อศาลอีกครั้งเพื่อออกหมายบังคับคดี อายัดเงินเดือน ยึดทรัพย์ หรือยึดบัญชีฝากเงินในธนาคาร ที่ว่ามานี้เป็นกรณีที่ไม่มีข้อสัญญาผูกกันไว้แต่ต้น แต่ถ้ามีสัญญาผูกพันกันไว้ว่าถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้จะยอมให้เจ้าหนี้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ได้และลูกหนี้ลงนามยินยอมให้เจ้าหนี้ทำเช่นนั้นได้ก็เสร็จเจ้าหนี้แน่นอนในการทำสัญญาเป็นสมาชิกบัตรเครดิตกับธนาคารกรุงเทพหรือกับสถาบันการเงินอื่นๆ ต้องยอมรับว่ามีผู้บริโภคน้อยรายที่จะสนใจอ่านข้อสัญญากันทุกบรรทัดก่อนลงลายมือชื่อเข้าทำสัญญา แต่ถ้าใครมีบัญชีเงินเดือนอยู่กับธนาคารกรุงเทพและถูกแนะนำให้ทำบัตรเครดิตด้วย ขอแนะนำว่าต้องอ่านครับหากจะทำบัตรเครดิตกับธนาคารแห่งนี้ เพราะในสัญญามีการระบุข้อความสำคัญว่า “ข้าพเจ้า(ผู้ถือบัตรเครดิต) ตกลงว่า หากข้าพเจ้าไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตของธนาคาร อันเป็นเหตุให้ธนาคารยกเลิกบัตร ข้าพเจ้ายินยอมให้ธนาคารมีสิทธินำเงินในบัญชีเงินฝากทุกประเภทของข้าพเจ้า มาชำระหนี้บัตรเครดิตที่มีอยู่กับธนาคารได้” ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ธนาคารยึดเงินในบัญชีไปชำระหนี้บัตรเครดิตที่ค้างได้จนกว่าจะหมดเนื่องจากผู้บริโภคได้ให้ความยินยอมไว้แล้วนั่นเอง และสามารถหักได้แม้จะอายุความของหนี้บัตรเครดิตจะขาดไปแล้วก็ตามข้อสัญญาในลักษณะดังกล่าวนี้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีการพิจารณาเห็นว่าเป็นข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เนื่องจากการไม่ชำระหนี้บัตรเครดิตอาจมีสาเหตุหลายประการ เช่น บัตรสูญหาย  บัตรถูกลักขโมย  ซึ่งยังไม่ได้พิสูจน์ความรับผิดประกอบกับเป็นการใช้ข้อสัญญาที่เลี่ยงกระบวนการยุติธรรมโดยไม่ไปใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อพิสูจน์ความผิดเสียก่อน  การกำหนดข้อสัญญาเช่นนี้ จึงน่าจะเป็นกรณีที่กำหนดข้อสัญญาที่ให้ผู้บริโภคต้องรับผิดชอบ หรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด  ซึ่งอาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร  ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 และยังขัดต่อประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2542 อีก ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อหาแนวทางกำหนดนโยบายและมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไปแต่ผู้บริโภคอย่างคุณสุวรรณ คุณวรพล คุณสมคิดที่โดนยึดเงินไปแล้วคงจะรอมาตรการของ สคบ. ไม่ไหว ข้อแนะนำที่มีให้คือให้ไปขอเจรจากับธนาคารเพื่อขอลดหย่อนการหักเงินในบัญชีลงส่วนหนึ่งซึ่งธนาคารจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป และที่สำคัญต้องไม่ผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตของธนาคารที่ตนมีสมุดบัญชีเงินเดือนหรือสมุดบัญชีเงินฝากอยู่อย่างเด็ดขาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 เจ้าหนี้อายัดเงินเดือน ทำไมไม่มีบอกกล่าว

 คุณธิดา ลูกหนี้นามสมมติ ได้ร้องทุกข์ออนไลน์มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าขอร้องเรียนเกี่ยวกับการอายัดเงินเดือนของธนาคารฮ่องกงแบงค์ โดยคุณธิดาได้ให้รายละเอียดว่าเนื่องจากได้เป็นหนี้กับธนาคารแห่งนี้และถูกฟ้องและไปขึ้นศาลเรียบร้อยแล้ว โดยมีการทำยอมที่ศาลโดยกำหนดชำระคืน 30 งวดๆ ละ 3,400 บาท คุณธิดาแจ้งว่าได้ชำระตามสัญญาประนีประนอมไปประมาณ 7 งวดแล้ว โดยงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 ชำระเงินตรงตามที่ทำยอมไว้ แต่ในงวดที่ 5-7 ชำระไม่ตรงตามจำนวน โดยชำระได้แค่งวดละ 2 พันกว่าบาทเท่านั้น เนื่องจากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ พอไม่ชำระตรงตามจำนวนในงวดที่ 5 มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาแจ้งให้ชำระให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอม แต่ในงวดที่ 6 และ 7 พอจ่ายไปงวดละ 2 พันกว่าบาท ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาอีก ก็คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่อีกไม่กี่วันต่อมาได้มีหมายอายัดเงินเดือนมาที่บริษัทที่ทำงานอยู่คุณธิดาได้พยายามติดต่อเจรจากับสำนักงานกฎหมายที่ดำเนินการอายัดเงินเดือน โดยสัญญาว่าจะเคลียร์ยอดที่ค้างจ่ายให้ครบและขอจ่ายในงวดต่อไปตามปกติที่ 3,400 บาท แต่สำนักงานกฎหมายปฏิเสธแจ้งว่าคุณธิดาได้ทำผิดสัญญาประนอมยอมความแล้ว ต้องบังคับคดีด้วยการอายัดเงินเดือนเพื่อนำมาชำระหนี้ก่อนทำสัญญาประนีประนอมคุณธิดาจึงถามมาว่า ทำไมการอายัดเงินเดือนถึงไม่มีเรียกไกล่เกลี่ยก่อน   แนวทางแก้ไขปัญหาการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ลูกหนี้จะต้องมั่นใจว่าตนจะสามารถชำระหนี้ได้ เพราะโดยทั่วไปแล้วทางเจ้าหนี้มักจะขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมโดยมีเงื่อนไขว่าหากลูกหนี้ผิดสัญญาประนีประนอมที่ได้ทำกันขึ้นให้เจ้าหนี้สามารถบังคับคดีให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ตามจำนวนที่ได้ฟ้องแต่แรกได้ มิใช่หนี้ที่เหลือจากการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมกันดังนั้นเมื่อลูกหนี้ผิดสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ไม่ชำระหนี้เต็มตามจำนวนที่ได้ตกลงกันไว้ในแต่ละงวด หรือชำระหนี้คลาดเคลื่อนไปจากกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา เจ้าหนี้อาจถือว่าลูกหนี้ผิดสัญญาได้ทันทีและสามารถนำสัญญาไปขอบังคับคดีได้โดยไม่ต้องฟ้องศาลอีกหรือต้องมีการบอกกล่าวหรือต้องมานั่งไกล่เกลี่ยกันอีก เพราะถือว่าลูกหนี้ทราบเป็นอย่างดีแล้วจากการทำสัญญาและยังกระทำผิดสัญญาอีกแต่ลูกหนี้อย่าเพิ่งวิตกเกินการณ์ เพราะการอายัดเงินเดือนจากลูกหนี้นั้นกฎหมายอนุญาตให้อายัดได้เพียงร้อยละ 30 จากยอดเงินเดือนเต็มก่อนหักภาษีหรือประกันสังคม หากใครมีเงินเดือนเกินหมื่นนิด ๆ กฎหมายยังช่วยลูกหนี้อีกเล็กน้อยด้วยการกำหนดว่า การอายัดเงินเดือนจะต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้ไว้อย่างน้อย 10,000 บาทเพื่อการดำรงชีพ จึงหมายความว่าลูกหนี้รายใดที่มีเงินเดือนต่ำกว่าหมื่นบาทจึงไม่มีสิทธิถูกอายัดเงินเดือนได้ และหากลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายราย ก็ไม่สามารถถูกอายัดเงินเดือนในคราวเดียวกันได้หากเจ้าหนี้รายแรกได้อายัดเต็มตามวงเงินที่กฎหมายอนุญาตแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 93 เปิดบัญชีเงินฝาก คุณเสียเปรียบอะไรบ้าง

คนไทยนิยมเก็บเงินหรือออมเงินในรูปเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์มากที่สุด เพราะเหตุว่ามีความเสี่ยงน้อยและยังได้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยเงินฝาก(อยู่บ้าง) บัญชีเงินฝากนั้นมีอยู่หลายประเภท แต่ที่นิยมและสะดวกในการเปิดบัญชีที่สุดคือ บัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์หรือออมทรัพย์ ซึ่งมีจุดเด่นที่ความคล่องตัวในการเบิกถอนเงิน และได้รับการยกเว้นภาษีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ช่วยให้เกิดความสะดวกในการจัดสรรเรื่องเงินๆ ทองๆ ในชีวิตประจำวันได้มาก เพราะเป็นได้ทั้งบัญชีเงินฝากสำหรับการออมเงิน รับเงินเดือน ใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภคอื่นๆ ค่าบัตรเครดิต หรือหนี้สินต่างๆ ตามแต่ที่เราจะกำหนด  แต่สิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องสะดวกสบายนี้ อาจมีเรื่องไม่คาดคิดที่ทำให้เราเสียเปรียบธนาคารพาณิชย์แบบเต็มๆ โดยเราไม่มีโอกาสล่วงรู้อะไรเลยจนกว่าจะเกิดปัญหาขึ้นเคยสังเกตกันบ้างไหมว่า เวลาเราไปขอเปิดบัญชีหรือขอใช้บริการ บัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย เราจะได้กระดาษมาหนึ่งแผ่นเพื่อกรอกขอความต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชื่อ ที่อยู่ …กระดาษแผ่นนี้เรียกว่า “คำขอเปิดบัญชี” ซึ่งไม่ได้มีอะไรสะดุดตาสะดุดใจ แต่สิ่งที่เราส่วนใหญ่พลาดไป คือเอกสารที่เป็น “ข้อตกลงและเงื่อนไขแนบท้ายคำขอเปิดใช้บริการบัญชีเงินฝาก” ที่จะมีทุกธนาคารแต่เราส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ หรือรู้แล้วก็ไม่สนใจเพราะช่างมีข้อความมากมาย ซับซ้อน และพนักงานธนาคารก็ไม่เคยมอบสำเนาให้เรา กลับมาอ่านหรืออ่านก่อนลงลายมือเลย ฉลาดซื้อเลยอาสาไปฉกเจ้าข้อตกลงและเงื่อนไขฯ ของธนาคารพาณิชย์ 5 รายใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อดูว่า มันมีข้อความอะไรที่ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบบ้าง โดยได้อาสาสมัครจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 11 จังหวัด (เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา เพชรบูรณ์ สระบุรี ขอนแก่น กาญจนบุรี สมุทรสงครามตราด พัทลุง สตูล) ช่วยกันทำเนียนๆ ไปเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ แล้วสังเกตวิธีการทำงานของพนักงานธนาคารพร้อมกับขอสำเนาข้อตกลงและเงื่อนไขฯ การเปิดบัญชีมาพิสูจน์อักษรทางกฎหมายกัน ได้ข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้ ข้อสังเกตจากการขอเปิดบัญชีเงินฝากโดยอาสาสมัคร1.อาสาสมัครของเราทำตัวใสซื่อ เปิดบัญชีด้วยเหรียญบ้าง ธนบัตรบ้างแบบปนๆ กันไป พนักงานธนาคารบางแห่งจะปฏิเสธเหรียญดำๆ และธนบัตรเยินๆ เช่น ธ.ไทยพาณิชย์ สาขาละงู สตูลบอกให้เปลี่ยนใหม่ แต่บางแห่งพนักงานก็แสดงอาการไม่พอใจชัดเจน เช่น ธ.กสิกรไทย ที่สาขาถนนหน้าเมือง ขอนแก่น และ ธ.กรุงเทพ สาขาท่าแพ เชียงใหม่ “อาสาสมัครรายงานว่า พนักงานแสดงอาการไม่ค่อยพอใจที่จะให้บริการ ถึงแม้อาสาสมัครจะบอกว่านับแยกมาเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าไม่รับฝากให้ไปแลกเงินที่ร้านสะดวกซื้อก่อน ยิ่งเหรียญ 25และ50 สตางค์ พนักงานบอกเลยว่าไม่รับ 2.เมื่ออาสาสมัครขอเปิดบัญชีเงินฝาก ไม่มีพนักงานธนาคารคนใดเลยที่จะบอกให้อ่านเอกสารข้อตกลงหรือเงื่อนไขฯ  หรือแม้แต่หยิบยื่นให้ผู้ขอใช้บริการได้อ่านก่อนเซ็นชื่อ อาสาสมัครสังเกตว่า พนักงานปฏิบัติแบบเดียวกันนี้กับทุกคน โดยส่วนใหญ่กรอกรายละเอียดแค่ใบคำขอเปิดใช้บริการและเซ็นชื่อตามที่พนักงานระบุตำแหน่งให้เซ็นเท่านั้น 3.เมื่ออาสาสมัครทำทีเป็นขอเอกสารมาอ่านหรือขอเอากลับไปอ่านที่บ้านได้ไหม อาสาสมัครบางคนบอกว่าขอไปอ่านก่อนวันนี้ยังไม่คิดเปิดบัญชี พนักงานส่วนใหญ่จะปฏิเสธโดยอ้างว่าเป็นเอกสารของทางธนาคารห้ามนำออกไป สำเนาให้ก็ไม่ได้  บางธนาคารเช่น ธ.กรุงไทย สาขาย่อยโลตัส หางดง เชียงใหม่ บอกว่า เป็นระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ห้ามไม่ให้นำเอกสารออกไป  หรือ ธ.กรุงไทย สาขาถนนกลางเมือง ขอนแก่น บอกว่า เงื่อนไขต่างๆ มีในสมุดบัญชีหมดแล้ว แต่ก็มีธนาคารที่ยินดีให้อาสาสมัครนำสำเนาคู่ฉบับออกมาได้แบบเต็มใจให้ คือ ธนาคารกรุงเทพ แต่จะให้ต่อเมื่อมีผู้ร้องขอเท่านั้น ส่วน ธ.กสิกรไทย ธ.กรุงไทย ธ.กรุงศรีอยุธยา และธ.ไทยพาณิชย์ มีบางสาขาเท่านั้นที่จะอะลุ้มอล่วยให้เอกสาร หรือให้ทำสำเนาข้อตกลงหรือเงื่อนไขฯ ออกมาได้ เช่น ธ.กสิกรไทย สาขาพะเยา แต่ต้องเซ็นชื่อรับเอกสาร ธ.กรุงไทย สาขาพัทลุง ธ.กรุงศรีอยุธยา สาขาพะเยาและสาขาพัทลุง ธ.ไทยพาณิชย์ สาขาพะเยา (คนพะเยาน่าฮักขนาด) 4.ยอดเงินขั้นต่ำการเปิดบัญชี ส่วนใหญ่ได้รับการแจ้งจากพนักงานแบบอัตโนมัติว่า 500 บาท ซึ่งตามความเป็นจริง อาสาสมัครในหลายพื้นที่สามารถฝากต่ำกว่านั้นได้ จากรายงานพบว่า มีตั้งแต่ 100 – 500 บาท  บางที่พนักงานก็ย้อนถามว่า “จะฝากเท่าไหร่ล่ะ” หรือบางแห่งก็บอกเลยว่า “ให้ฝาก 500 ดีกว่า เพราะหากต่ำกว่า 500 บาท ถ้าบัญชีไม่มีการเคลื่อนไหว จะโดนหักค่ารักษาบัญชีเดือนละ 50 บาท” (ธ.กรุงไทย สาขาพัทลุง) 5.พนักงานบางธนาคารแจ้งแก่อาสาสมัครว่า ต้องทำบัตรเอทีเอ็มด้วยจึงจะสามารถเปิดบัญชีเงินฝากได้ ได้แก่ ธ.กรุงเทพ สาขาหล่มสัก ธ.กรุงไทย สาขาย่อยโลตัส หางดง เชียงใหม่ และสาขาย่อยโลตัส ลำปาง ธ.กรุงศรีอยุธยา สาขาพะเยา สาขากาญจนบุรี เฉพาะที่ ธ.กรุงศรีอยุธยา สาขาเชียงใหม่ พนักงานแจ้งว่าถ้าไม่ทำบัตรเอทีเอ็ม ต้องเปิดบัญชีขั้นต่ำ 2,000 บาท ธ.ไทยพาณิชย์ท่าแพ เชียงใหม่ กับ ธ.กรุงเทพ สาขาท่าแพ ก็เล่นมุขเดียวกัน (เชียงใหม่เหมือนกันเน้อ)   6.ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิต จะต่างกันประมาณ 50 – 100 บาท โดยทุกธนาคารจะเพิ่มทางเลือกให้ปวดหัวอีก เช่น บัตรเอทีเอ็มธรรมดา บัตรเอทีเอ็มบัตรทอง บัตรเอทีเอ็มแบบมีประกันชีวิต ซึ่งค่าธรรมเนียมจะยกระดับขึ้นไปอีก แต่สำคัญคือ ทุกธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียมรายปีทันทีที่ขอเปิดใช้บริการเอทีเอ็ม จากนั้นเมื่อครบปีก็จะเก็บใหม่7.จากรายงานในพื้นที่พบว่า ส่วนใหญ่พนักงานจะส่งเสริมให้ทำบัตรเดบิตมากกว่าบัตรเอทีเอ็ม โดยให้เหตุผลว่าเป็นบัตรที่ใช้แทนเงินสดได้เลย เมื่อซื้อสินค้าหรือบริการในร้านค้าที่เปิดรับบัตรเดบิตและก็เป็นบัตรเอทีเอ็มไปพร้อมกันด้วย บางธนาคารบอกเลยว่า ถ้าทำบัตรเอทีเอ็มจะต้องรอนานเพราะไม่ค่อยมีคนนิยมทำ หรือบางแห่งก็บอกว่า บัตรเอทีเอ็มธรรมดา หมด8.บริการฝากเงิน กรณีที่เป็นเหรียญ ธนาคารจะคิดเงินเมื่อต้องนับเกินหลักพันบาทขึ้นไป ในอัตรา ร้อยละ 1-2 บาท ถ้าต่ำกว่านั้นก็ไม่คิดค่านับแต่อาจปฏิเสธแบบนุ่มนวลว่า ให้ไปแลกร้านสะดวกซื้อมาก่อนนะจ๊ะ ผู้บริโภคเสียเปรียบอะไรบ้างหลังจากอาสาสมัครของเราสามารถนำเอกสารข้อตกลงหรือเงื่อนไขแนบท้ายคำขอเปิดบัญชีเงินฝากจากธนาคารทั้ง 5 แห่งมาได้แล้ว ฉลาดซื้อสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ 5 ประการ ที่คิดว่าผู้บริโภคเสียเปรียบเห็นๆ คือ การชำระหนี้ การเปิดเผยข้อมูลผู้บริโภค การจัดส่งเอกสาร การสงวนสิทธิเปลี่ยนแปลงข้อตกลง และการปฏิเสธรับผิดชอบการถอนเงินโดยบุคคลอื่น ดูรายละเอียดในตาราง      

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point

ฉบับที่ 82 ผลสำรวจหนี้

ข้อมูลจากการสำรวจสาเหตุของการเป็นหนี้ ของลูกหนี้ที่เข้าร่วมการอบรม เรื่องเป็นหนี้จะแก้ไขชีวิตอย่างไร ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์  จำนวนทั้งหมด 378 คนเรียงลำดับสาเหตุของการเป็นหนี้1.    ภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว 2.    การไม่มีวินัยทางการเงิน 3.    การเปลี่ยนงาน/ ตกงาน 4.    การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย 5.    การกู้ยืมเงินมาทำธุรกิจ อันดับหนี้ยอดนิยมหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้สัญญาเช่าซื้อ หนี้นอกระบบน่าสนใจ•    ร้อยละ 23 ของคนที่ตอบแบบสอบถาม ถูกโทรศัพท์ทวงหนี้ตลอดเวลา โดยใช้วาจาไม่สุภาพ หรือข่มขู่•    การชำระหนี้มีร้อยละ 68.8 ที่ยังชำระเงินแก่เจ้าหนี้ทุกราย อย่างสม่ำเสมอมีร้อยละ 15 ที่ตัดสินใจหยุดจ่ายทุกรายแล้ว •    นำเงินที่ไหนมาชำระหนี้ร้อยละ 45 บอกว่าหาเงินมาใช้หนี้ จากเงินกู้ในระบบ  ร้อยละ 26 บอกว่าหาเงินมาใช้หนี้ จากเงินกู้นอกระบบ•    ปัญหาร้อยละ 60 มีปัญหาครอบครัวอันเกิดจากภาวะการเป็นหนี้สินร้อยละ 58 รู้สึกว่าปัญหาหนี้สินนำเป็นอุปสรรคต่อการทำงานและการใช้ชีวิตมีมากกว่าร้อยละ  14 ที่เคยคิดฆ่าตัวตายเพราะปัญหาหนี้•    ในกลุ่มคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต o    ในบรรดาคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต มีคนเป็นหนี้บัตรเครดิตมากกว่า 1 ใบ ถึงเกือบร้อยละ 70o    ในบรรดาคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต มีถึงร้อยละ 40 ที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท o    ในบรรดาคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต มีคนเคยคิดฆ่าตัวตายถึงร้อยละ 20o    กว่าร้อยละ 52.7 เป็นหนี้อันเกิดจากการไม่มีวินัยทางการเงินo    กว่าร้อยละ 35.4 เป็นหนี้จากการใช้เงินไปลงทุนทำธุรกิจo    มีถึงร้อยละ 33.2 ที่ถูกโทรศัพท์ถูกทวงหนี้ตลอดเวลา โดยใช้วาจาไม่สุภาพ หรือข่มขู่o    มีถึงร้อยละ 24.9 ที่มีโทรศัพท์ทวงหนี้ไปยังพ่อแม่หรือญาติo    มีถึงร้อยละ 24.5 ที่มีโทรศัพท์ทวงหนี้ไปยังที่ทำงานo    มีมากกว่าร้อยละ 24.2 ที่ได้รับจดหมายที่ทำขึ้นในรูปแบบที่เหมือนกับหมายศาล หรือจดหมายที่มีตราประทับทำนองว่าจะมีการยึดทรัพย์o    มีถึงร้อยละ 13.8 ได้รับโทรศัพท์จากผู้ที่แอบอ้างว่าโทรมาจากกรมบังคับคดี•    ในกลุ่มคนที่เป็นหนี้นอกระบบo    ในบรรดาคนที่เป็นหนี้นอกระบบ มีถึงร้อยละ 62.4 ที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท o    ในบรรดาคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต มีคนเคยคิดฆ่าตัวตายถึงร้อยละ 24o    กว่าร้อยละ 59.4 เป็นหนี้อันเกิดจากการไม่มีวินัยทางการเงินo    กว่าร้อยละ 31.5 เป็นหนี้จากการใช้เงินไปลงทุนทำธุรกิจo    มีถึงร้อยละ 33.1 ที่ถูกโทรศัพท์ถูกทวงหนี้ตลอดเวลา โดยใช้วาจาไม่สุภาพ หรือข่มขู่o    มีถึงร้อยละ 28.8 ที่มีโทรศัพท์ทวงหนี้ไปยังพ่อแม่หรือญาติo    มีถึงร้อยละ 21.6 ที่มีโทรศัพท์ทวงหนี้ไปยังที่ทำงานo    มีมากกว่าร้อยละ 28 ที่ได้รับจดหมายที่ทำขึ้นในรูปแบบที่เหมือนกับหมายศาล หรือจดหมายที่มีตราประทับทำนองว่าจะมีการยึดทรัพย์o    มีถึงร้อยละ 15.2 ได้รับโทรศัพท์จากผู้ที่แอบอ้างว่าโทรมาจากกรมบังคับคดี(หนี้บัตรเครดิต กับหนี้นอกระบบ ทวงแย่ๆ พอๆ กันเลย ???)รายได้  รายจ่ายต่อเดือน ภาระหนี้สินต่อเดือน ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------- รู้จักบัตรไว้ ใช้ให้ถูกทาง บัตรเครดิต บัตรเครดิต เหมาะที่จะใช้สำหรับรูดซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ต เติมน้ำมัน ทานอาหารในภัตตาคาร เพราะจะได้ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยประมาณ 40 วัน หากคุณชำระเต็มจำนวนที่เรียกเก็บ ดังนั้น ต้องคำนวนค่าใช้จ่ายให้ดีว่าพอใบแจ้งหนี้มาแล้วมีเงินในกระเป๋าที่จะชำระหนี้ทั้งหมดข้อควรระวัง -    หากคุณใช้บัตรเครดิตแล้ว ชำระหนี้ได้แค่บางส่วน คุณจะถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่คุณรูดบัตรเลยทีเดียว -    ไม่ควรกดเงินสดจากบัตรเครดิตออกมาใช้ เพราะจะเสียดอกเบี้ย+ ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน ตั้งแต่วันที่คุณกดเงินออกมาใช้ ไม่ว่าสิ้นเดือนคุณจะชำระหนี้เต็มจำนวนหรือไม่ก็ตาม บัตรเงินสดพร้อมใช้ / บัตรเงินสดฉุกเฉินสินเชื่อพวกนี้ อนุมัติวงเงินให้คุณเร็วมาก บางแห่งแค่คุณโทรศัพท์ไปแจ้งว่าต้องการเงินกู้ บริษัทไม่ถามเหตุผลด้วยซ้ำว่าคุณจะกู้ไปทำอะไร พอวางสายเงินกู้ก็โอนเข้าบัญชีให้คุณเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น บัตรพวกนี้เหมาะสำหรับใช้กรณีจำเป็นที่ฉุกเฉินจริง ๆ เท่านั้นข้อควรระวัง-    สินเชื่อพวกนี้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินสูงมาก และบางบัตรไม่สามารถปิดบัญชีได้ก่อนที่บริษัทกำหนด คุณจึงต้องจ่ายดอกเบี้ยจำนวนมาก ดังนั้น คุณต้องพยายามควบคุมตัวเองให้ดี อย่าให้ทุกเรื่องที่ต้องใช้เงินกลายเป็นเรื่องฉุกเฉินไปเสียทั้งหมด -    การ “กู้หนี้ออกมาใช้หนี้” ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาหนี้สินไม่รู้จบอีกต่างหาก -    ถ้าจะซื้อสินค้าหรือจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันใช้บริการเช่าซื้อหรือใช้บัตรเครดิตน่าจะดีกว่า ถ้าจะลงทุนทำธุรกิจ ก็มีสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ คุณต้องใช้เงินกู้ให้ถูกประเภทเพราะถ้าเลือกผิด คุณก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่า -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point

ฉบับที่ 108 บัตรเดบิตกับเรื่องที่ต้องรู้

“บัตรเดบิต” (Debit Card) คือบัตรที่ทางธนาคารออกให้กับเราเมื่อเราเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร เพื่อให้เราสามารถนำไปใช้ทำธุรกรรมทางการเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิคส์ผ่านตู้ ATM ไม่ว่าจะเป็นถอนเงิน โอนเงิน และชำระค่าบริการต่างๆ พูดง่ายๆ ก็คือ “บัตรเดบิต” มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับ “บัตร ATM” แต่บัตรเดบิตจะเพิ่มความพิเศษตรงที่สามารถนำไปจับจ่ายซื้อสินค้าต่างๆ ได้โดยตรงโดยที่ไม่ต้องใช้เงินสด ซึ่งก็คือการ “รูดปึ๊ด!” ตามสไตล์เงินพลาสติกแบบเดียวกับบัตรเครดิต แต่ว่าการใช้บัตรเดบิตไปรูดซื้อสินค้านั้น เงินจะถูกหักออกจากบัญชีของเราทันที ซึ่งต่างจากบัตรเครดิตที่เหมือนเป็นการนำเงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เราไปทำบัตรเครดิตไว้มาใช้ก่อนแล้วค่อยจ่ายทีหลัง ถือเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้นสำหรับคนที่ไม่อยากถือเงินสด ซึ่งบัตร ATM ไม่สามารถทำได้  บัตรเดบิต VS บัตร ATMหลายๆ คนอาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า บัตรกดเงินสดที่ธนาคารออกให้เราหลังจากเปิดบัญชีใหม่เป็นบัตร ATM หรือบัตรเดบิต ด้วยความที่หลายคนยังเข้าใจผิดว่า บัตรกดเงินสดที่ธนาคารออกให้คือบัตร ATM เท่านั้น ซึ่งในช่วงหลายปีมานี้ บัตรเดบิตถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ทางธนาคารพยายามผลักดันทำตลาดอย่างหนักให้กับลูกค้าที่ใช้บริการ ซึ่งทุกครั้งที่เราไปเปิดบัญชีใหม่ พนักงานของธนาคารจะแนะนำให้เราเลือกทำบัตรเดบิตมากกว่าบัตร ATM ด้วยความที่คุณสมบัติของบัตรเดบิตมีมากกว่า ใช้ได้ครอบคลุมทั้งถอนเงินจากตู้ ATM และใช้จับจ่ายได้แทนเงินสด แถมบัตรเดบิตยังมีเรื่องโปรโมชั่นส่งเสริมการขายจากร้านค้าหรือบริการที่ร่วมรายการเมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต เราอาจได้รับส่วนหรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งความพิเศษตรงนี้ก็ถือเป็นเงื่อนไขที่จูงใจให้กลายคนหันมาใช้บริการบัตรเดบิตแทนบัตร ATM กันมากขึ้นเมื่อคุณสมบัตรพิเศษมีมากกว่า เรื่องของค่าบริการที่เราต้องเสียให้กับธนาคารก็ต้องสูงตามไปด้วย บัตรเดบิตจะมีค่าธรรมเนียมทั้งในส่วนของค่าธรรมเนียมในการทำบัตรใหม่และค่าธรรมเนียมรายปีสูงกว่าบัตร ATM นี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ จึงพยายามจูงใจลูกค้าให้หันมาใช้บัตรเดบิตแทนบัตร ATM สำหรับผู้บริโภคอย่างเราก็ต้องลองพิจารณาดูกันเอาเองว่า เจ้าบัตรเดบิตแม้จะมีคุณสมบัติพิเศษเหนือกว่าบัตร ATM แต่ไอ้ความพิเศษของมันนั้นเราได้ใช้ประโยชน์คุ้มค่ากับค่าธรรมเนียมที่เราต้องเสียเพิ่มขึ้นจากบัตร ATM ธรรมดาหรือไม่บัตรเดบิต VS บัตรเครดิต“บัตรเครดิต” (Credit Card) ช่วยให้เราใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องเสียเงินจำนวนมากๆ ไปในครั้งเดียว บัตรเครดิตจะทำหน้าที่จ่ายเงินให้เราก่อน หลังจากนั้นเราจึงค่อยจ่ายเงินคืนไปตามเวลาและเครดิตที่เราตกลงไว้กับธนาคารหรือร้านค้าที่เราซื้อสินค้า พูดให้เห็นภาพ บัตรเครดิตก็คือการที่เรานำ “เงินในอนาคต” ออกมาใช้ก่อน ซึ่งหากเราไม่คุมการใช้จ่ายให้ดีหรือใช้จ่ายเกินตัวเกินวงเงินที่เราสามารถหาได้ในแต่ละเดือน ผลที่จะตามมาก็คือการเป็นหนี้บัตรเครดิต เพราะเราไม่สามารถหาเงินมาใช้คืนให้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เราไปทำสัญญาไว้ได้ ส่วนบัตรเดบิต เป็นการใช้จ่ายที่ดึงเอาเงินมาจากบัญชีของเราโดยตรง คือใช้ไปเท่าไรเงินก็จะถูกหักออกไปเท่านั้นเดี๋ยวนั้น ไม่สามารถใช้จ่ายเกินยอดเงินในบัญชีได้ ซึ่งแม้บัตรเดบิตจะไม่สร้างหนี้ให้เรากับธนาคารเหมือนบัตรเครดิต แต่ก็ต้องรู้จักควบคุมการใช้จ่ายและหมั่นเช็คยอดเงินในบัญชีเสมอ เพราะเราอาจเผลอรูดบัตรเดบิตซื้อนู้นซื้อนี้ จนเงินหมดบัญชีโดยไม่รู้ตัวบัตรเดบิต = บัตรอันดับหนึ่งการใช้บัตรเดบิตมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ทั้งการมุ่งทำการตลาดที่ผลักดันให้บัตรเดบิตเข้ามาแทนที่บัตร ATM ซึ่งตอนนี้ก็มีบางธนาคารที่ยกเลิกการใช้บัตร ATM ไปแล้ว สิ่งที่ธนาคารใช้เป็นกลยุทธ์ดึงดูดให้เราหันมาใช้บัตรเดบิตแทนบัตร ATM ที่เห็นชัดเจนก็คือ การปรับค่าธรรมเนียนทั้งแรกเข้าและรายปีของบัตร ATM ให้ขึ้นมาเท่ากับบัตรเดบิต ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อผู้ใช้ส่วนใหญ่ได้รับทราบถึงคุณสมบัติที่เหนือกว่าของบัตรเดบิต ก็ต้องย่อมเลือกบัตรเดบิตมากกว่าบัตร ATM นอกจากนี้บัตรเดบิตยังถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ไม่อยากพกเงินสดจำนวนมากๆ และอยากใช้จ่ายซื้อสินค้าต่างๆ ผ่านบัตร ซึ่งแต่ก่อนคุณสมบัติแบบนี้มีเฉพาะในบัตรเครดิต แต่ด้วยเงื่อนไขในเรื่องของรายได้และฐานเงินเดือน ทำให้มีคนจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่ก็คือคนที่มีรายได้ไม่สูงพอที่จะสมัครบัตรเครดิตได้ ทำให้บัตรเดบิตจึงกลายมาเป็นคำตอบสำหรับคนกลุ่มนี้***จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อปี 2551 มีจำนวนบัตรเดบิตที่ใช้ในประเทศไทย 26.3 ล้านใบ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึง 12.8% ขณะที่จำนวนบัตร ATM อยู่ที่ 22.4 ล้านใบ ลดลงจากปี 2550 0.9% ส่วนบัตรเครดิตมี่จำนวน 13 ล้านใบ เพิ่มขึ้น 8.1%บัตรเดบิต VS อุปสรรคแม้ว่าเวลานี้บัตรเดบิตจะถือบัตรอันดับหนึ่งที่มีคนใช้มากที่สุด แต่บัตรเดบิตกลับไม่ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างครบถ้วน เพราะจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยบัตรเดบิตยังคงถูกใช้เพื่อเบิกถอนเงินผ่านทางตู้ ATM เช่นเดียวกับบัตร ATM เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่การใช้เพื่อรูดซื้อสินค้าแทนเงินสดยังมีสัดส่วนที่ต่ำมาก ซึ่งมีที่มาจากหลายสาเหตุ ทั้งจากธนาคารเองที่มุ่งหวังเพิ่มปริมาณจำนวนผู้ใช้บัตรเป็นหลัก แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลหรืออธิบายสิทธิการใช้ประโยชน์ของบัตรเดบิตที่มากกว่าการถอนเงินจากตู้ ATM นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากร้านค้าที่รับชำระด้วยบัตรเดบิตยังมีน้อย บางแห่งมีเรื่องเงื่อนไขเงินขั้นต่ำในการใช้บัตร และสาเหตุหลักจากตัวผู้ใช้เองที่ส่วนใหญ่ยังคงไม่ถนัดกับการใช้จ่ายผ่านบัตร ยังคงสะดวกกับการใช้เงินสดมากกว่า***ในปี 2551 มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตรวมทั้งสิ้น 760 ล้านรายการ คิดเป็นการใช้จ่ายเพื่อชำระสินค้าและบริการเพียง ร้อยละ 1.5 เท่านั้น ขณะที่การเบิกถอนเงินจากตู้ ATM มีมากถึง ร้อยละ 83ตารางเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปีบัตรเดบิต ธนาคารชื่อประเภทบัตรเดบิตค่าธรรมเนียมแรกเข้า(บาท)ค่าธรรมเนียมรายปี(บาท)สิทธิพิเศษเพิ่มเติมธ.กรุงเทพบัตรเดบิตบีเฟิสต์100 200-บัตรบีเฟิสต์-บีทีเอส100200ใช้เป็นบัตรโดยสารบีทีเอสประเภทเติมเงิน บัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท100200มีไมโครชิพ EMV สามารถเก็บได้ทั้งข้อมูลและซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัย เพื่อให้มั่นใจได้ว่า บัตรของท่านจะยากต่อการปลอมแปลงATM100200กรณีบัตร ATM บัตรชำรุดหรือสูญหายแล้วต้องการบัตรใหม่ ธนาคารจะออกบัตรเดบิตบีเฟิสต์ทดแทนให้ธ.กรุงไทย บัตรเดบิตมาตรฐาน (Classic)ไม่มีรูปถ่าย 100มีรูปถ่าย 150200-บัตรเดบิต-ทิพยประกันภัย150300มีวงเงินความคุ้มครอง การเสียชีวิต หรือทุพพลภาพจากอุบัติเหตุจำนวน 200,000.- บาท / บัตร และได้รับการบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน จาก ทิพยประกันภัยATM50 150-ธ.กสิกรไทยK- Debit Card100200-K-My Debit Card  150200ใส่รูปภาพของตัวเองลงบนบัตรได้K-Max Debit Card  (  )100400ให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุสูงสุด 200,000 บาท ทันที 24 ชั่วโมงทั่วโลกพร้อมรับสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลสูงสุดครั้งละ 3,000 บาท เมื่อเข้ารักษาตัวจากอุบัติเหตุ ATM100200-ธนาคารไทยพาณิชย์ SCB Debit Card100200-SCB Debit Plus Card100599 บัตรเงิน1,499 บัตรทองเบิกค่ารักษาจากอุบัติเหตุได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง คุ้มครอง 24 ชั่วโมงทั่วโลก ไม่ต้องสำรองจ่ายเมื่อรักษากับสถานพยาบาลคู่สัญญากว่า 200 แห่งATM 100200-ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บัตรกรุงศรี วีซ่า เดบิต100200-ATM100150-ธนาคารทหารไทย บัตรเดบิต Basic100200-บัตรเดบิต No Limit Next200200ฟรี ค่าธรรมเนียมการถอนเงิน และสอบถามยอดที่เครื่อง ATM ทุกธนาคารบัตรเดบิต No Limit500ฟรีฟรี ค่าธรรมเนียมการถอนเงิน และสอบถามยอดที่เครื่อง ATM ทุกธนาคารATM100200-ธนาคารนครหลวงไทย SCIB D-card100150-ATM50100-ธนาคารออมสิน บัตรออมสินวีซ่า เดบิต50100-ATM50100- *ข้อมูลค่าธรรมเนียมทั้งหมดเป็นการสำรวจภายในวันที่ 1 ม.ค. 53 เท่านั้น-จะเห็นว่าเกือบทุกธนาคารปรับค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปีของบัตร ATM ให้เท่ากับบัตรเดบิตพื้นฐาน ยกเว้น ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารนครหลวงไทย ที่ค่าธรรมเนียมบัตร ATM ยังถูกกว่าบัตรเดบิต-ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมการเงินผ่านตู้ ATM ของบัตรเดบิต ทั้งการถอนเงิน โอนเงิน ชำระค่าบริการต่างๆ คิดค่าธรรมเนียมเท่ากับการทำผ่านบัตร ATM (แต่จะแตกต่างกันไปตามแต่ละธนาคาร)-บัตรเดบิต No Limit Next และ บัตรเดบิต No Limit ของธนาคารทหารไทย ไม่เสียค่าธรรมเนียมในการธุรกรรมการเงินผ่านตู้ ATM-เรื่องความปลอดภัยในการใช้บัตรเดบิตถือเป็นจุดขายที่หลายๆ ธนาคารนำมาใช้ดึงดูดคนที่จะใช้บริการ ที่ชัดเจนที่สุด บัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท ของธนาคารกรุงเทพ ที่การฝังมีไมโครชิพ EMV เพื่อเก็บข้อมูลของเจ้าของบัตร ป้องกันการแอบอ้างหรือปลอมแปลง ส่วนการลงรูปของเจ้าของบัตรลงบนหน้าบัตรในบัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทยและบัตร K-My Debit Card ของธนาคารกสิกรไทย ก็ถือเป็นการป้องกันการแอบอ้างใช้บัตร เพราะข้อเสียใหญ่ของบัตรเดบิตก็คือ หากเจ้าของบัตรทำบัตรหาย โอกาสที่จะถูกคนอื่นเอาบัตรไปรูดใช้ซื้อของสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมาก เพราะแม้จะมีการเซ็นลายเซ็นกำกับที่ใบเสร็จเพื่อเปรียบเทียบกับลายเซ็นที่หลังบัตร แต่ก็สามารถปลอมแปลงได้ง่ายมาก การป้องกันที่ดีที่สุดคือเมื่อบัตรหายต้องรีบติดต่อกับธนาคาร เพื่อระงับการใช้บัตรทันที-เรื่องการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพ ก็ถือเป็นจุดขายที่บัตรเดบิตของหลายธนาคารนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น บัตรเดบิต-ทิพยประกันภัย ของธนาคารกรุงไทย, บัตร K-Max Debit Card ของธนาคารกสิกรไทย และ SCB Debit Plus Card ของธนาคารไทยพาณิชย์ 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point